วันพุธที่ 19 ธันวาคม พ.ศ. 2555

สรุปปรัชญาฮั่นเฟ่ยจื้อ


สรุปปรัชญาฮั่นเฟ่ยจื้อ

 สรุปใจคความสำคัญของปรัชญาฮั่นเฟ่ยจื้อก็คือ เขาต้องการให้พลเมืองมีความสุข สังคมเป็นระเบียบ ประเทศมั่นคงและมั่งคั่ง การที่จะบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้รัฐจะต้องดำเนินการต่อไปนี้
 ๑. แต่งตั้งให้มีฮ่องเต้หรือกษัตริย์เป็นผู้นำของรัฐ มีอำนาจเด็ดขาดในการปกครอง มีหน้าที่ออกกฎหมาย กำหนดคุณและโทษไว้ให้ชัด และคอยดูแลให้ทุกอย่างดำเนินไปตามกฎหมายอย่างเคร่งครัด
๒. ผู้นำของรัฐจะต้องแต่งตั้งบุคคลอื่นๆให้ดำรงตำแหน่งต่างๆลดหลั่นกันไปตามลำดับ เพื่อช่วยแบ่งเบาภาระของพระองค์ ทุกตำแหน่งต้องมีอำนาจและหน้าที่อยู่ในตัว ใครทำไม่ได้ตามที่กำหนดไว้ให้ปลดออก ตั้งคนอื่นแทน
๓. ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการปกครองประเทศ ใช้กฎหมายเป็นบรรทัดฐานของการตัดสินปัญหาทุกอย่าง ให้เลิกชนชั้นสูงชั้นต่ำ ทุกคนมีฐานะเท่าเทียมกันในสายตาของกฎหมาย
๔. รณรงค์ให้ชาวเมืองเป็นชาวไร่ ชาวนา และทหาร เพราะชนชาวไร่ชาวนาสามารถหารายได้เข้ารัฐได้ ทำให้ประเทศมั่งคั่ง ส่วนทหารก็จะทำให้ประเทศชาติมั่นคงไม่ถูกรุกราน ทำให้บ้านเมืองมีเสถียรภาพสงบสุข บุคคลทั้ง ๒ ประเภทจึงได้รับการยกย่องมากว่าเป็นกำลังสำคัญของชาติ เป็นพลเมืองที่มีค่าของประเทศ
 ปรัชญาของฮั่นเฟ่ยจื้อเป็นที่ชอบใจของคนจีนยุคใหม่สมัยหลังสงครามระหว่างแคว้นต่างๆเพราะคนเบื่อหน่ายสงคราม เห็นความไม่ดีของการแบ่งแยกชนชั้น และเมื่อมาพบแนวความคิดใหม่ที่ใช้กฎหมายแทนจารีตประเพณีและคุณธรรม ทำให้เกิดความหวังใหม่ว่า กฎหมายคงจะช่วยได้ คงจะไม่ล้มเหลวอย่างการใช้ระบบจารีตประเพณีและคุณธรรมดังที่ผ่านมา รัฐจิ๋นเป็นรัฐแรกที่นำปรัชญานิตินิยมไปใช้ และก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ทำให้รัฐจิ๋นเป็นเลิศในทางกสิกรรมและทางทหาร จนรัฐจิ๋นซึ่งแม้เป็นรัฐเล็กๆแต่ก็สามารถกำจัดแคว้นปรปักษ์ได้หมด จนกระทั่งสามารถรวบรวมแคว้นทั้งหมดเข้าเป็นอาณาจักรประเทศจีนประเทศเดียวกันได้สำเร็จเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์จีน ฮั่นเฟ่ยจื้อได้ปฏิวัติปรัชญาจีนที่ผ่านมาโดยใช้กฎหมายแทนที่จารีตประเพณีและคุณธรรม เป็นการนำเอาทฤษฎีใหม่มาใช้แทนทฤษฎีเก่าซึ่งยึดถือกันมานาน และจากอิทธิพลของปรัชญาฮั่นเฟ่ยจื้อ ทำให้คนจีนยุคถัดๆมาเห็นความสำคัญของกฎหมาย จึงหันมาใช้กฎหมายเข้าแก้ปัญหาต่างๆจนเป็นเหตุให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองต่อมา จนชนชั้นกรรมาชีพเป็นพลังสำคัญของประเทศ




 กล่าวกันว่าปรัชญาของฮั่นเฟ่ยจื้อถูกกับอัธยาศัยใจคอของคนจีนในภาคเหนือ ซึ่งมีลักษณะชอบความแข็งกร้าว ทำนองเดียวกับปรัชญาธรรมชาติของเหลาจื้อและจวงจื้อเป็นที่โปรดปรานของคนจีนในภาคใต้ และปรัชญามนุษยนิยมของขงจื้อและสานุศิษย์เป็นที่ต้องใจของคนจีนในภาคกลาง
วิจารณ์ปรัชญาฮั่นเฟ่ยจื้อ
    ปรัชญาของฮั่นเฟ่ยจื้อถึงแม้จะเป็นความจริง แต่ก็ไม่ใช่ความจริงทั้งหมด ถึงแม้จะเป็นความดี ก็เป็นความดีส่วนหนึ่ง ไม่ใช่ความดีทั้งหมด ปรัชญาของฮั่นเฟ่ยจื้อจึงเหมาะกับบางยุคบางสมัยโดยเฉพาะก็สมัยที่บ้านเมืองกำลังทำสงครามหรือเกิดความวุ่นวายไร้ระเบียบ ก็จำเป็นต้องใช้อำนาจและกฎหมายเพื่อความเป็นเอกภาพและความเฉียบขาดในการนำความเป็นระเบียบและความสงบสุขกลับคืนมา แต่ถ้าบ้านเมืองปกติ พลเมืองมีความสงบสุขแล้วอำนาจเผด็จการและกฎหมายก็ลดความสำคัญลง จารีตประเพณีที่ดีงามและคุณธรรมที่เคยมีความสำคัญ ก็กลับมีความสำคัญขึ้นมาดังเดิม อีกประการหนึ่ง คนมีชีวิตจิตใจ มีความสำนึกว่าอะไรดีอะไรชั่ว ไม่ใช่มีแต่ความเห็นแก่ตัว เห็นแก่ผลประโยชน์ของตนเป็นที่ตั้ง ดังที่ฮั่นเฟ่ยจื้อกล่าวไว้  ปรัชญาของฮั่นเฟ่ยจื้อดูจะเป็นการลดศักดิ์ศรีของมนุษย์ลงเท่ากับสัตว์โลกทั้งหลาย ความจริงมนุษย์มีระดับจิตใจแตกต่างกันบางคนจิตใจต่ำ บางคนจิตใจปานกลาง และบางคนมีจิตใจสูง ดังนั้นการจะเหมาให้เหมือนกันหมดย่อมไม่สมควร มนุษย์ที่มีคุณธรรมมิใช่มีแต่ความเห็นแก่ตัว ไม่ใช่คบกับใครก็มุ่งเพื่อผลประโยชน์ให้ตนเท่านั้น แต่มนุษย์ยังมีความรัก ความเคารพนับถือต่อกันได้อีกด้วย เช่น บางคนยอมทำทุกอย่างแม้ชีวิตก็สละได้เพื่อผู้ที่ตนรักเคารพบูชาและก็เป็นความจริงอยู่ว่า การที่บุคคลจะให้ความรักความเคารพ ความนับถือบูชาผู้ใด ก็ต่อเมื่อผู้นั้นมีคุณธรรมความดีสูงส่ง หรือมิเช่นนั้นก็เป็นผู้ที่เคยมีบุญคุณต่อตนมาก ส่วนผู้ปกครองที่มีอำนาจตามที่ฮั่นเฟ่ยจื้อกล่าวไว้ว่าไม่จำเป็นต้องมีคุณธรรมความดีอะไร มีอำนาจอย่างเดียวก็เพียงพอ เมื่อเป็นเช่นนั้นผู้นำนั้นก็ไม่มีคุณธรรมน่านับถือแต่อย่างไร ทั้งไม่ได้ทำบุญคุณแก่ใคร ผลก็คือเขาก็ย่อมไม่เป็นที่นับถือของใครเช่นกัน ผู้ปกครองนั้นจึงเป็นผู้ที่อยู่บนหัวไม่ใช่อยู่ในจิตใจของประชาชน ประชาชนจะรู้สึกหนัก อยากจะสลัดให้พ้นออกไป แต่ก็ยังทำไม่ได้ เพราะผู้นำนั้นมีอำนาจค้ำไว้ แต่เมื่อใดมีผู้ทรงอำนาจมากกว่ามาปฏิวัติขับไล่ผู้นำเก่าให้ออกไป ประชาชนก็จะยินดีช่วยผลักดันให้ เพราะผู้นั้นไม่ได้เป็นที่รักดังกล่าวแล้ว
    อนึ่ง การใช้อำนาจและกฎหมายย่อมได้ผลชั่วคราวไม่คงทนเพราะอำนาจและกฎหมายก็เป็นอนิจจัง จึงจำต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เหมาะสมกับสภาวการณ์ของยุคสมัย นอกนี้ยังเสี่ยงต่อการถูกปฏิวัติของผู้มีอำนาจดังกล่าวแล้ว เมื่อมีผู้นำใหม่ก็มักเปลี่ยนแปลงการปกครองใหม่ กฎหมายใหม่ เหตุการณ์หมุนเวียน อย่างนี้ได้เรื่อยไป   แล้วบ้านเมืองจะมีเสถียรภาพและเจริญรุ่งเรืองได้อย่างไร หลักการที่ดีเด่นทั้งหลายที่ฮั่นเฟ่ยจื้อตั้งไว้ก็เป็นอันต้องพังลงหมดเช่นกัน เพราะอำนาจก็จำเป็นต้องมีอำนาจมาหักล้างเช่นกัน เพราะฉะนั้นระบอบการปกครองที่มุ่งใช้อำนาจและกฎหมายจึงไม่ใช่มาตรการที่ดีแท้ ความจริงจารีตประเพณีและคุณธรรม ตลอดทั้งอำนาจกฎหมายจำต้องอิงอาศัยไปด้วยกัน จะแยกจากกันโดยเด็ดขาดมิได้ จึงจะเป็นมาตรการที่ดีแท้ คงทนถาวร หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง การปกครองที่ดีจะต้องมีทั้งพระเดชพระคุณควบคู่กันไป จะใช้เพียงอย่างหนึ่งอย่างใดเท่านั้นย่อมไม่พอ เพียงแต่บางครั้งเน้นพระเดช และบางคราวเน้นพระคุณให้เหมาะสมกับสถานการณ์เท่านั้น

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น