วันอังคารที่ 18 ธันวาคม พ.ศ. 2555

ภิกษุณี

ภิกษุณี

ประวัติการเกิดภิกษุณี
ในสมัยพุทธกาลนั้น แรกเริ่มเดิมทีสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงอนุญาตให้มีภิกษุณีได้ เนื่องจากเห็นว่าจะทำให้อายุของพระพุทธศาสนาไม่ยั่งยืนต่อมา พระมหาปชาบดีโคตมีเถรีผู้เป็นพระน้านางและพระมาตุจฉา หรือพระมารดาเลี้ยงของเจ้าชายสิทธัทธัตถะ ท่านได้มีศรัทธาอยากออกบวชจึงทูลอ้อนวอนขอบวชต่อพระพุทธเจ้าถึงสามครั้งสามครา แต่ก็ไม่เป็นผล จนกระทั่งพระอานนท์ได้ทูลขอให้ พระพุทธเจ้าจึงทรงอนุญาต โดยมีเงื่อนไขว่า พระนางปชาบดีโคตมีจะต้องรับเอาครุธรรม8ประการ (แปลว่าข้อปฏิบัติที่หนักและทำได้ยาก) ไปปฏิบัติ ครุธรรม ๘ ประการ
นั้นคือ
๑.    ภิกษุณีอุปสมบทแล้ว ๑๐๐ ปี ต้องกราบไหว้ ลุกรับ ทำอัญชลีกรรม สามีจิกรรม แก่ภิกษุที่อุปสมบทในวันนั้น ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๒.    ภิกษุณีไม่พึงอยู่จำพรรษาในอาวาสที่ไม่มีภิกษุธรรม แม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ  นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๓.    ภิกษุณีต้องหวังธรรม ๒ ประการ คือ ถามวันอุโบสถ ๑ เข้าไปฟังคำสั่งสอน ๑ จากพระภิกษุสงฆ์ทุกกึ่งเดือน แม้ธรรมนี้ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๔.    ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์ ๒ ฝ่ายโดยสถานทั้ง ๓ คือ โดยได้เห็น  โดยได้ยิน หรือ โดยรังเกียจ ธรรมแม้นี้ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๕.    ภิกษุณีต้องธรรมที่หนักแล้ว ต้องประพฤติปักขมานัตในสงฆ์ ๒ ฝ่าย ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๖.    ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานา ผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๗.    ภิกษุณีไม่พึงด่า บริภาษ ภิกษุโดยปริยายอย่างใดอย่างหนึ่งธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต
๘.    ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป ปิดทางไม่ให้ภิกษุณีทั้งหลายสอนภิกษุเปิดทางให้ภิกษุทั้งหลายสอนภิกษุณี ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชาไม่ละเมิดตลอดชีวิต
ดังนั้นภิกษุณีที่ทรงอุสมบทให้องค์แรกได้แก่ พระมหาปชาบดีโคตมีเถรี ซึ่งบวชเป็นภิกษุณีรูปแรกในโลกด้วยการรับ ครุธรรมแปดประการ (ท่านเป็นรูปเดียวที่บวชด้วยวิธีเช่นนี้) ต่อมาพระพุทธองค์ได้ทรงวางหลักเกณฑ์ในการรับผู้ประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณี และวางวินัยของภิกษุณีไว้มากมาย เพื่อกลั่นกรองผู้ที่ประสงค์จะบวชและมีศรัทธาจริง ๆ เช่น ภิกษุณี เมื่อบวชแล้วต้องถือศีลถึง 311 ข้อมากกว่าพระภิกษุ ซึ่งถือศีลเพียง 227 ข้อ (วินัยของภิกษุณีที่มีมากกว่าพระภิกษุ เพราะผู้หญิงมีข้อปลีกย่อยในการดำรงชีวิตมากกว่าผู้ชาย เช่น ต้องมีผ้ารัดถัน (ผ้ารัดอก) ซึ่งผู้ชายไม่จำเป็นต้องมี เป็นต้น) 

กำเนิดภิกษุณีในประเทศไทย
ย้อนไปในประวัติศาสตร์พุทธศาสนาของประเทศไทย ก่อนที่เราจะเป็นพุทธศาสนาแบบเถรวาท ก่อนที่เราจะเป็นสุโขทัยในเนื้อที่ที่เป็นสุวรรณภูมินี้ เราก็มีการปฏิบัติทั้งของมหายานและทั้งของเถรวาทเคล้ากันอยู่ หลักฐานอันหนึ่งที่เห็นได้ชัดก็คือที่ลพบุรี เรามีหลักฐานทั้งของพราหมณ์และมหายานที่เข้ามาทางเขมร หรือแม้กระทั่งที่สวนโมกข์ ซึ่งก็เป็นหลักฐานที่แสดงว่าก็มีมหายานที่เข้ามาทางศรีวิชัยทางใต้ แต่เมื่ออาณาจักรแรกของเรา คือ สุโขทัยเกิดขึ้น เราได้อัญเชิญ “ปู่ครู” ในภาษาศิลาจารึกสมัยสุโขทัยเรียกว่า “ปู่ครู” ที่รุกจากศรีธรรมราชมา สายนี้จะเป็นสายศรีลังกา เพราะนครศรีธรรมราชจะมีการติดต่อสัมพันธ์กับศรีลังกา เพราะฉะนั้นเมื่อศรีลังกาเข้ามาโดยผ่านจาก “ปู่ครู” ที่รุกจากศรีธรรมราชขึ้นมาสู่สุโขทัย ดังนั้น สุโขทัยจึงเป็นอาณาจักรแรกที่ประกาศพุทธศาสนาเป็นรูปแบบพุทธศาสนาสายเถรวาท และเป็นสายเถรวาทของลังกาวงศ์ สมัยศตวรรษที่ ๑๓ สุโขทัยเป็นราชธานีของเราอยู่เกือบร้อยปี เริ่มมีการเคลื่อนย้ายลงมาสู่อยุธยา
        ในสมัยสุโขทัยเราถือว่าสุโขทัยเป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา เพราะชาวบ้านชาวเมืองทั้งผู้หญิงผู้ชายสามารถที่จะปฏิบัติศาสนาได้ทัดเทียมกัน มีการ “โอยศีลโอยทาน” หรือแม้กระทั่งพระเจ้าแผ่นดินเองก็มีความรู้ทางพระพุทธศาสนามาก ถึงขนาดออกมาสอนธรรมะแก่บรรดาพสกนิกรเอง ก็เป็นบรรยากาศที่เราหลับตาเห็นภาพว่า สุโขทัยก็เป็นยุคทองของพระพุทธศาสนา พอมาถึงอยุธยาที่กินเวลานาน ๔๑๗ ปี มีพระเจ้าแผ่นดินถึง ๓๓ องค์ ถ้าจะเฉลี่ยก็แต่ละพระองค์ครองราชย์อยู่ประมาณ ๑๒ ปี แต่ว่า ๑๒ ปีนี้ก็ปรากฏว่าบางช่วงบางสมัย อย่างพระเจ้าทองลันอยู่ในพระราชบัลลังก์เพียง ๗ วันก็ถูกทุบด้วยท่อนจันทน์ จะแสดงให้เห็นถึงความยากลำบาก บรรยากาศของประเทศที่เต็มไปด้วยการสู้รบ เรามีการสู้รบกับพม่าหลายครั้ง ถ้าไม่สู้รบกับพม่าก็สู้รบกับลาวทางเหนือ หรือเขมรทางตะวันออกเฉียงใต้ หรือไม่ก็สู้รบกันเอง ใครที่มีอำนาจคนนั้นก็ขึ้นครอง พระเณรศึกษาเฉพาะศาสนาพุทธไม่พอ เพราะว่าบรรดาประชาชนของเราต้องไปทำศึกสงคราม ศาสนาพุทธสอนแต่ว่า สันติ เมตตา แล้วจะทำยังไงนี่ ต้องไปทำสงคราม แล้วจะไปสันติ เมตตายังไง ก็เลยต้องหันไปใช้ศาสนาพราหมณ์ในการเรียนพระเวท ๔ พระเวท ในสมัยอยุธยาจะใช้พระเวทส่วนที่ ๔ ที่เรียกว่า “อาถรรพเวท” ซึ่งมีเวทมนตร์คาถามาก
        ตรงนี้เองที่ไสยศาสตร์เข้ามามีบทบาทในประเทศไทยมาก แล้วผู้ที่ศึกษาคัมภีร์พระเวทส่วนใหญ่เป็นพระนั่นเอง ตรงนี้เองที่ทำให้สังคมไทยในสมัยต่อมาแยกไม่ค่อยออกระหว่างสิ่งที่เป็นพราหมณ์กับสิ่งที่เป็นพุทธ เพราะว่าทั้งพุทธทั้งพราหมณ์ออกมาจากตัวพระสงฆ์เหมือนกัน เวลาที่พระสงฆ์ทำให้ชาวบ้านไม่ได้บอกนะว่า “สิ่งที่อาตมาทำนี่เป็นพราหมณ์นะ” เพราะฉะนั้นมันจะออกมาทั้งพุทธทั้งพราหมณ์ ออกมาเป็นรูปแบบใหม่ของไสยศาสตร์ อยุธยาจะเป็นอย่างนั้นเป็นส่วนใหญ่ แล้วนี่ไม่มีการตำหนิติเตียนกัน มันเป็นศิลปะของการอยู่รอด เราจำเป็นที่ต้องเอาชีวิตรอด แล้วจำเป็นที่จะต้องเอาชีวิตรอดในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เราไม่มีพลังงานทางจิตใจที่จะสู้กับพม่า เราก็ต้องวิ่งเข้าไปหาหลวงพ่อ หลวงพ่อไม่มีอะไรเลยจะมีแต่ เมตตาๆ ตัวเดียวก็ไม่ได้ มันก็ต้องมีของขลังๆ ในพุทธไม่มีก็ต้องไปเอาของพราหมณ์มาทำให้เป็นของขลัง ผลงานชิ้นหนึ่งที่ศึกษาและสะท้อนภาพอยุธยาได้ดีที่สุดก็คือ “ขุนช้างขุนแผน” ที่จะเห็นการทำไสยศาสตร์ในรูปแบบต่างๆ เช่น การรูดใบมะขามแล้วก็เสกเป็นต่อเป็นแตนไปโจมตีข้าศึกศัตรู ซึ่งไม่มีในพระไตรปิฎก ไม่มีในศาสนาพุทธ เราไม่เคยสอนอย่างนั้นแต่จำเป็นต้องใช้ เทคนิควิธีเหล่านี้จำเป็นต้องใช้ สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือการจับมือกันระหว่างพุทธกับพราหมณ์ภายใต้รูปลักษณ์ของพระสงฆ์
        ตรงนี้เองที่คิดว่าในท้ายที่สุดแล้วศาสนาพุทธเสียพื้นที่ให้กับพราหมณ์โดยที่พุทธเองก็ไม่รู้ตัว แล้วนับตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้เราก็ยังแยกแยะไม่ออก ถ้าถามว่าทำไมเรามีเครื่องรางของขลัง มีเกจิมากเหลือเกิน เกจิมีมาตั้งแต่อยุธยาแล้วมันแยกไม่ออก แล้วมันก็สืบเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพราฉะนั้นไม่ต้องถามว่าทำไมผู้หญิงไม่ลุกขึ้นมาถามเรื่องการบวช บริบทสังคมมันไม่ให้ บริบทประวัติศาสตร์มันไม่เอื้อ ผู้หญิงที่จะลุกขึ้นมาถามว่าผู้หญิงบวชได้ไหม จะต้องอยู่ในบริบททางสังคมที่สงบพอควร ได้ศึกษาธรรมะไปจนถึงจุดที่จะชโลมจิตใจพอที่จะรู้สึกว่าเราอยากบวช อย่าว่าแต่ผู้หญิงจะบวชเลย ผู้ชายยังไม่บวชเลยในสมัยอยุธยาจะมีหลวงพ่อปู่บางองค์ต้องสึกออกมา เพราะอะไร เพราะชาติต้องมาก่อน ศาสนาอยู่ไม่ได้ถ้าชาติไม่อยู่ เพราะฉะนั้นพระบางรูปก็ต้องเสียสละชีวิตความเป็นพระออกมานำทัพให้เป็นขวัญกำลังใจให้ประชาชนสู้
        คงต้องอาศัยนักวิชาการที่เขาศึกษาทางด้านสังคมวิทยาที่จะมาให้ความเข้าใจกับเราว่า ทำไมถึงไม่มีผู้หญิงลุกขึ้นมา บริบทมันไม่ให้ บริบททางสังคมประวัติศาสตร์มันไม่ให้ เพราะฉะนั้นในอยุธยาไม่มี แล้วยิ่งไปกว่าที่ไม่มีผู้หญิงสนใจจะออกบวชแล้ว ในสมัยอยุธยาตอนต้นที่เราไปโจมตีเขมรได้นั้น เราได้พราหมณ์มาจากราชสำนักของเขมร ตอนนี้อิทธิพลพราหมณ์ก็เข้ามาครอบงำราชสำนักของไทยมากขึ้น นับตั้งแต่พระนามของพระมหากษัตริย์ที่แต่ก่อนชื่อ พระร่วงเจ้า คำเดียว เวลานี้ก็คือ พระราชสุพรรณบัฏ นั่นหน้าหนึ่ง พระเจ้าแผ่นดินเองเผลอๆ จำไม่ได้ว่าพระนามว่าอะไร เพราะว่าบรรดาพราหมณ์ก็จะแต่งพระนามยาวมาก ฐานะของผู้หญิงก็เริ่มถดถอยเข้าไปจำกัดอยู่ในครัวเรือน เหมือนกับภายใต้ศาสนาพราหมณ์ ตรงนี้เองเป็นจุดที่ทำให้สถานภาพของผู้หญิงถอยหลังลงคลอง โดยเฉพาะผู้หญิงที่มีสถานะทางสังคมยิ่งสูงมากเท่าไร ก็จะยิ่งได้รับอิทธิพลพราหมณ์มากเท่านั้น ผู้หญิงชาวบ้านยังมีอิสระมากกว่า
        มาถึงช่วงธนบุรีที่มีช่วงเวลาเพียง ๑๕ ปี แต่ช่วงธนบุรีเป็นช่วงสมัยของการกอบกู้เอกราช ถ้าพูดเรื่องศาสนา สมเด็จพระเจ้าตากสินมหาราชเป็นพระมหากษัตริย์ไทยที่มีผลงานทางด้านศาสนาเด่นที่สุด ไม่มีเรื่องผู้หญิงเพราะว่าบ้านเมืองยังไม่สงบเลย ไม่มีบรรยากาศให้ทั้งผู้หญิงผู้ชายได้ปฏิบัติธรรม หรือแม้แต่พระสงฆ์ การที่จะครองความเป็นสมณเพศก็เป็นไปได้ยาก หรือแม้กระทั่งสังฆราชก็ยังถูกจับว่าประพฤติผิดในเรื่องเพศ เราพบว่าในสมัยธนบุรีและสมัยต้นจักรีวงศ์ ก็ยังพบว่าคณะสงฆ์ประสบความลำบากวุ่นวายมาตลอด จนกระทั่งจำเป็นที่จะต้องมีกฎหมายตราสามดวง ในกฎหมายตราสามดวง จะมีเรื่องกฎหมายสงฆ์ เราเห็นสภาพความเสื่อมของคณะสงฆ์ในการศึกษา ในกฎหมายสงฆ์ชัดเจนมากๆ เพราะฉะนั้นบริบทที่จะให้ผู้หญิงลุกขึ้นมาทำหน้าที่เป็นหนึ่งในพุทธบริษัทก็ไม่มีโอกาสเลย

นรินทร์  ภาษิต หรือ นรินทร์(กลึง)
นายนรินทร์กลึง(เกิด พ.ศ. ๒๔๑๗) ได้ชื่อว่าเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคมยุคบุกเบิกเลยทีเดียว กล่าวสำหรับการเรียกร้องให้มีการฟื้นฟูสามเณรีและภิกษุณีในประเทศไทยโดยนายนรินทร์กลึงในครั้งนั้น ถือเป็นเหตุการณ์สำคัญในประวัติศาสตร์ไทย ที่ได้ก่อให้เกิดการถกเถียงกันอย่างกว้างขวางสังคมไทย
        นรินทร์กลึง เป็นคนที่เห็นว่า พุทธศาสนาจำเป็นที่จะต้องมีครบทั้งพุทธบริษัท ๔ จึงต้องการให้บุตรสาวของตนออกบวช บุตรสาวก็เห็นชอบด้วย ขณะนั้น(พ.ศ. ๒๔๗๐ช่วงสมัยรัชกาลที่ ) บุตรสาวของเขาอายุประมาณ ๑๐ กว่าขวบ ผู้พี่ชื่อ สาระ ผู้น้องน้องชื่อ จงดี พร้อมกับกุลสตรีอีก ๖ คน พระสงฆ์ไทยได้ทำการบวชพวกเขาให้เป็นสามเณรี แต่ถูกกล่าวหาว่าไม่ครบองค์สงฆ์ แต่งกายเลียนแบบคณะสงฆ์ ข้อกล่าวหาทั้งหมดนี้เป็นการประสานความร่วมมือกันระหว่างสถาบันกษัตริย์และสถาบันสงฆ์ และสถาบันของรัฐไม่เห็นด้วย จริงๆ แล้วไม่ใช่ไม่เห็นด้วยกับเรื่องภิกษุณีสงฆ์ แต่ไม่เห็นด้วยกับนรินทร์กลึง แต่บังเอิญเรื่องภิกษุณีมันเป็นผลงานของนรินทร์กลึง จึงสั่งให้จับสึก และได้จับ ๒ คนพี่น้องไปเข้าคุก ผู้น้องไม่ได้ถูกจับเข้าคุกเนื่องจากอายุยังไม่ถึงตามกฎหมายในสมัยนั้น แต่ผู้พี่ถูกจับเข้าคุก ถูกดึงเอาจีวรออกจากตัว ไม่ให้ใส่จีวรสีนี้เป็นการเลียนแบบพระสงฆ์ และเมื่อคนพี่ออกจากคุกก็ยังใส่จีวรอยู่ แต่เปลี่ยนสีไปเป็นสีเทา และมีวัดอยู่ที่เมืองนนท์อยู่ริมแม่น้ำ วัดนั้นชื่อ วัดวัตรนารีวงศ์
พ.ศ. ๒๔๗๑ มีบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ เรื่อง “ห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิง เป็นบรรพชิต” ความว่า “หญิงซึ่งจักได้สมมุติตนเป็นสามเณรี โดยถูกต้องตามพุทธานุญาตนั้น ต้องสำเร็จด้วยนางภิกษุณีให้บรรพชา เพราะพระองค์ทรงอนุญาตให้นางภิกษุณีมีพรรษา ๑๒ ล่วงแล้วเป็น
ปวัตตินี คือเป็นอุปัชฌาย์ ไม่ได้ทรงอนุญาตให้ภิกษุเป็นอุปัชฌาย์ นางภิกษุณีหมดสาบสูญขาดเชื้อสายมานานแล้ว เมื่อนางภิกษุณีผู้รักษาขนบธรรมเนียมสือต่อสามเณรีไม่มีแล้ว สามเณรีผู้บวชสืบต่อจากภิกษุณีก็ไม่มี อันเป็นเสื่อมสูญไปตามกัน ผู้ใดให้บรรพชาเป็นสามเณรี ผู้นั้นชื่อว่า บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้าไม่บัญญัติ เลิกถอนสิ่งที่พระพุทธเจ้าทรงบัญญัติไว้แล้ว เป็นเสี้ยนหนามแก่พระศาสนา เป็นตัวอย่างไม่ดี ฯ”
        พ.ศ. ๒๔๗๖ สามเณรีทั้งสองซึ่งต่อมาได้บวชเป็นภิกษุณีจำเป็นต้องลาสิกขาบทในที่สุด หลังจากใช้ชีวิตเป็นนักบวชมาประมาณ ๖ ปี โดยภิกษุณีคนพี่(คุณสาระ) ถูกปลัดเช้า สุวรรณศร ดักฉุดขณะออกบิณฑบาต โดยไม่ทราบแน่ชัดว่าปลัดเช้ามีความพึงพอใจคุณสาระเป็นการส่วนตัวจริงๆ หรือว่าปลัดเช้าทำโดยคำสั่ง ตรงนี้ไม่มีข้อมูลใดๆ ได้กล่าวเอาไว้ ตัวปลัดเช้านั้น ไม่ถูกดำเนินคดี ภิกษุณีนั้นก็หาตัวไม่พบ ส่วนภิกษุณีคนน้องก็สึกไปด้วยปริยาย เรื่องการฟื้นฟูภิกษุณีโดยนายนรินทร์กลึงก็ต้องจบลง การกระทำครั้งนั้นก็เป็นการยุติภิกษุณีสงฆ์ไปโดยปริยาย
       
พระมหาโพธิรรมจารย์ วงศ์ศากยะ ภิกษุณีโพธิสัตต์  วรมัย กบิลสิงห์ มหาเถรี (หลวงย่า)
       
        ลูกหลานเรียกท่านว่า "หลวงย่า" "หลวงย่า" หรือ ภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ ถือกำเนิดที่ ต. หนองปลาดุก อ. บ้านโป่ง จ. ราชบุรี เมื่อ ๖ เมษายน ๒๔๕๑เป็นบุตรคนที่ ๖ ในครอบครัวที่มีบุตรธิดา ๖ คน มารดาชื่อส้มจีน ในบั้นปลายชีวิตซึ่งบวชเป็นแม่ชี และเสียชีวิตในผ้าขาว บิดาชื่อเตียง "หลวงย่า" ใช้สกุลกบิลสิงห์ ซึ่งเป็นสกุลพระราชทานแก่ นายฉัตร มหาดเล็กหลวง และเป็นลูกผู้พี่ของคุณยายส้มจีน เมื่อสามีตาย คุณยายส้มจีนอายุเพียง ๓๖ ปี ถูกผู้มีอิทธิพลรังแก จึงอพยพลูกๆ เข้ากรุงเทพฯ
        "หลวงย่า" ได้รับการศึกษาจากโรงเรียนมหาพฤฒาราม,อัสสัมชัญ คอนแวนต์ และเคยไปเรียนที่ปีนังในช่วงสั้นๆ และได้เข้าเรียนพลศึกษา เป็นครูพลศึกษาหญิงคนแรกของประเทศไทย มีความถนัดพิเศษ
ทางดาบฝรั่ง ท่านพูดถึงอาจารย์ของท่าน คือ อาจารย์กิมเส็ง ทวีสิทธิ์ อาจารย์ทีม อติปรมานนท์ ฯลฯ

ท่านสอบได้วุฒิทางการศึกษา (วุฒิ พ.ป.) เป็นครูสอนพลศึกษาที่ ร.ร. เบญจมราชาลัย กรุงเทพฯได้เคยเดินทางโดยจักรยานไปกับคณะลูกเสือไทยไปสิงคโปร์ ใช้เวลา ๒๙ วัน เมื่อ พ.ศ. ๒๔๗๕
เป็นสตรีไทยคนแรกที่ทำสถิตินี้ เป็นการยืนยันว่าความมานะอดทน ไม่จำกัดด้วยความแตกต่างทางเพศ

        นอกจากเป็นครูแล้ว ท่านยังเป็นนักเขียน ได้ใช้ชีวิตเป็นนักหนังสือพิมพ์อยู่หลายปี ในชีวิตส่วนตัว ท่านสมรสกับนายก่อเกียรติ ษัฏเสน สส. จังหวัดตรัง พรรคประชาธิปัตย์ พ.ศ. ๒๔๘๕ มีลูกหลาน
โดยสายโลหิต คือธิดา ได้แก่ รศ.ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ซึ่งต่อมาบรรพชาเป็นสามเณรีธัมมนันทา
(พ.ศ. ๒๕๔๔
) มีหลานยาย ๓ คน คือ นายเอกฉัตร นายวรฉัตร นายฉัตรฐากูร กบิลสิงห์ เหลนย่าทวด ๒ คน คือ ด.ญ. นนท์ชนก กบิลสิงห์ และ ด.ช. ปารมี กบิลสิงห์
        พ.ศ.๒๔๙๗ เมื่อท่านอายุได้ ๔๒ ปี ท่านเจ็บหนักในช่องท้อง นายแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ตรวจพบว่าท่านมีเนื้องอกในมดลูก ต้องเตรียมตัวผ่าตัด แม่ชีทองสุก จากวัดปากน้ำภาษีเจริญมาเยี่ยม ท่านได้ฝากเงินทำบุญไป วันรุ่งขึ้น แม่ชีกลับมาบอกว่าหลวงพ่อสด วัดปากน้ำภาษีเจริญรักษาให้แล้วไม่ต้องผ่า แต่หลวงย่าท่านเป็นคนสมัยใหม่ เวลาคุณหมอตรวจท่าน สัมผัสกับเนื้องอกได้เอง ครั้นวันรุ่งขึ้นท่านตัดสินใจรับการผ่าตัดจริงๆ ก็ยังความประหลาดใจให้แก่คณะแพทย์และพยาบาลเพราะไม่พบเนื้องอก เท่ากับผ่าฟรี เมื่อท่านฟื้นขึ้นมาและทราบผลการผ่าตัด ท่านตั้งใจมั่นว่า จะต้องค้นหาด้วยตัวเองว่าการทำสมาธิรักษาไข้นั้นได้ผลจริงอย่างไร
       
        เดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๔๙๗ พอท่านแข็งแรงดีแล้ว จึงเดินทางไปเรียนกับหลวงพ่อสดโดยตรง เรียน ๒๔ วัน ได้พระธรรมกายอรหันต์ เมื่อเวลา ๑๒.๓๐ น. วันจันทร์ ที่ ๒๒ มีนาคม ๒๔๙๗ แล้วตามทบทวน ๒ ครั้ง พระธรรมกายที่ท่านได้นั้น ไม่ใช่เกศดอกบัวตูมอย่างหลวงพ่อสดสอน แต่เป็นแบบจีน พระพักตร์สี่เหลี่ยมพระเกศมีเส้นพระเจ้า จอมกระหม่อมสูงแบบจีน พระเนตรอ่อนโยน มีแววตา พระโอษฐ์ยิ้มแย้มอำนวยพร อ่อนโยนเหมือนมีชีวิตจิตใจ ไม่เหมือนพระพุทธรูปหล่อทั่วไปทั้งหมด ขนาดเท่าองค์พระประธานในโบสถ์ หน้าตักกว้าง ๓ ว่าเศษ ทรงสมบูรณ์และแข็งแรงแต่เป็นแบบจีน สว่างไปทั่วห้อง เรียนให้หลวงพ่อทราบท่านก็รับรอง
        ท่านต่อ วิชชาครูธรรมกาย การรักษาไข้ ตลอดจนการแก้อุบัติเหตุต่างๆ อีก ๕ เดือน อาจารย์จึงได้ทำพิธีเชิญพรหม และมองสัตตรัตนะ ๗ ประการ พร้อมกับตั้งให้เป็นอาจารย์สอนตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ ๕ กันยายน พ.ศ.๒๔๙๗
        วันที่ ๑ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๙๘ เริ่มออกนิตยสารรายเดือนเพื่อเผยแพร่พระศาสนาและการปฏิบัติธรรม ชื่อ วิปัสสนาและบันเทิงสารต่อมาได้เปลี่ยนเพิ่มชื่อเป็น พระโพธิสัตต์ วิปัสสนาและบันเทิงสาร
        พ.ศ.๒๔๙๘ ท่านไปเรียนรูปนาม จากวัดมหาธาตุ จังหวัด พระนคร ภายใน ๒๘ วัน พระครูปลัดถ้วนเป็นผู้สอบอารมณ์ ได้เข้าฟังเทศน์ลำดับญาณ อันเป็นการรับว่าเรียนจบ
        พ.ศ.๒๕๐๐ ท่านเรียนอานาปานสติ กับท่านเจ้าคุณวิสุทธิธรรมรังสีคัมภีร์เมธาจารย์ (ท่านพ่อ ลี)
แห่งวัดอโศการาม
        ในช่วงนี้ท่านรู้จักหลวงพ่อหลวงปู่หลายๆองค์ การศึกษาพระพุทธศาสนาของท่านก็เริ่มเข้มข้นขึ้น เมื่อได้อ่านพระไตรปิฎก ศึกษาเรื่องของภิกษุณีในสมัยพุทธกาล และพุทธานุญาตให้ผู้หญิงออกบวชได้ ท่านจึงอุทิศตนรับใช้พระศาสนาด้วยการออกบวช เมื่อวันที่ ๒ พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๙๙
        โดยมีท่านเจ้าคุณพรหมมุณี (ผิน สุวโจ) รองเจ้าอาวาสวัดบวรฯ เป็นพระอุปัชฌาย์ เมื่อท่านขิถือศีลบรรพชา ท่านใส่ชุดขาว แต่ได้นำชุดเหลืองอ่อน ที่เรียกว่าสีดอกบวบ ให้อุปัชฌาย์ดู และได้เรียนท่านว่าจะใส่สีนี้ พระอุปัชฌาย์ก็ไม่ได้ว่าอะไร
         ท่านเป็นคนรุ่นเดียวกับสาระและจงดี แต่สาระและจงดีบวชเมื่ออายุประมาณ ๑๐ กว่าขวบ ส่วนท่านบวชเมื่ออายุ ๔๐ กว่าปีแล้ว ซึ่งทิ้งช่วงห่างกันประมาณ ๓๐ กว่าปี ในสมัยที่ท่านบวชใหม่ๆ ก็จะมีเสียงครหาว่า “นี่เป็นพวกนรินทร์กลึง ล่ะสิ นี่จะเป็นลูกศิษย์นรินทร์กลึง ล่ะสิ นี่เป็นวัตรนารีวงศ์ล่ะสิ” ฯลฯ
        ใน พ.ศ.๒๕๐๑ ท่านได้เริ่มสร้างวัตรทรงธรรมกัลยาณี ที่ จังหวัดนครปฐม โดยซื้อที่ดิน ๖ ไร่ จากพระนางเจ้าอินทรศักดิ์ดิศจี พระราชินีในพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ ๖) วัตร แปลว่าการปฏิบัติ  วัตรทรงธรรมกัลยาณี แปลว่า การปฏิบัติของสตรีผู้ทรงธรรม หลวงย่าลงมือสร้างพระอุโบสถ ใช้ชื่อว่า พระมหาปชาบดีโคตรมีเถรี ศรีอุโบสถาคาร
        ใน พ. ศ. ๒๕๐๓ ข้าหลวงนครปฐมฟ้องร้องว่า ภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ทำการแต่งกายเลียนแบบคณะสงฆ์ แต่เมื่อเรื่องจบไปโดยที่มหาเถรสมาคมในขณะนั้น ไม่เห็นว่าเป็นการเสียหายอย่างใดต่อคณะสงฆ์ เพราะสามเณรี วรมัย นุ่งห่มด้วยสีเหลืองอ่อน มิใช่สีกลัก ตั้งแต่บัดนั้นจนถึงบัดนี้ ก็ไม่ปรากฏปัญหากับคณะสงฆ์เลย ต่อมา สามเณรี วรมัย กบิลสิงห์ บวชเป็นภิกษุณีที่ประเทศไต้หวัน ในปี พ.ศ. ๒๕๑๔
        ภิกษุณี วรมัย กบิลสิงห์ จึงถือได้ว่าเป็นภิกษุณีองค์แรกของประเทศไทย แต่คนไทยบางส่วนบอกว่าท่านนั้นบวชเป็นภิกษุณีทางสายมหายาน ตรงประเด็นนี้สามารถอธิบายตามหลักฐานของวิชาการได้ว่า มหายานหรือเถรวาทนั้นไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องการบวช การบวชเป็นการสืบสายพระวินัย แล้วสายพระวินัยนั้นเป็นไปตั้งแต่พระเจ้าอโศกจากอินเดียส่งพระราชธิดาไปบวชก็เป็นสายเดียวกัน แล้วที่ศรีลังกานั้นใน ค.ศ. ๔๓๓ ภิกษุณีสงฆ์ไปบวชให้กับจีน แล้วปี ค.ศ. ๑๐๑๗ ภิกษุณีสงฆ์ในลังกาหมดสายลง แล้วก็ล่าสุด ค.ศ. ๑๙๗๗ ภิกษุณีสงฆ์ของจีนบวชให้กับภิกษุณีสงฆ์ของศรีลังกา จึงจะเห็นได้ว่ามันเป็นสายเดียวกัน เพียงแต่ถ้อยทีถ้อยอาศัยหยิบยืมกันมากันไปอย่างนี้ จึงไม่น่าจะเป็นเรื่องแปลก ประเทศไทยก็เหมือนกัน รับลังกาวงศ์มา คณะสงฆ์เราเป็นลังกาวงศ์ในสมัยสุโขทัย เมื่อทางศรีลังกาหมดสายลง ศรีลังกาก็มายืมของเราไป ในสมัยของสมเด็จพระเจ้าบรมโกศในตอนปลายอยุธยาไปบวชให้กับพระในศรีลังกา ในศรีลังกามี “สยามวงศ์” เราจะเห็นการขอหยิบยืมกันอย่างนี้ และแม้กระทั่งปัจจุบันนี้ สายมวงศ์ในศรีลังกาก็เป็นวงศ์ที่เก่าที่สุด
        วาระสุดท้าย ตั้ง พ.ศ.๒๔๙๙ ที่ท่านปลงผมบวชมา ท่านไม่เคยเจ็บหนักถึงส่งโรงพยาบาลเลย
อื่นใด กายสังขารของท่านไม่มีโรคภัยไข้เจ็บ แต่ความชราเข้ามาครอบงำ ร่างกายค่อยๆเสื่อมลง ตั้งแต่ 2 กรกฎาคม พ.ศ.๒๕๓๔ ท่านไม่ได้ลุกเดินอีกเลย แต่ยังลุกนั่งละฉันอาหารเองได้ ในช่วง ๒ ปีสุดท้าย เมื่ออายุได้ ๙๔ ปีเป็นต้นมา ท่านจะมีเวลาตื่นน้อยมาก ส่วนมากจะหลับนานจะตื่นขึ้นมาเดี๋ยวเดียว พอฉันอาหารแล้วจะหลับต่อ
        เย็นวันที่ ๒๓ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๔๖ ท่านบอกเพียงว่าท่านเหนื่อย และเช้าวันที่ ๒๔ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖ ท่านรู้ตัวและมีสติดีมาตลอด เพียงผู้ดูแลบอกท่านว่า หลวงย่า ไม่มีอะไรต้องห่วงอีกแล้ว อาจารย์ฉัตรสุมาลย์ก็ได้บวชเป็นภิกษุณีแล้ว วัตรที่ลำพูนก็เสร็จแล้วท่านพยักหน้ารับรู้ ปิดตาลง หัวใจเต้นช้าลง อ่อนลง ท่านจากไปอย่างสงบ เมื่อเวลา ๐๗.๔๐ น. ตรงกับเวลาตกฟากเกิด หรือ พระบิณฑบาต
รวมสิริอายุได้ ๙๕ ปี ๒ เดือน ๑๓ วัน นับเป็นปูชนียบุคคล มีอายุยืนยาวถึง ๕ รัชกาล
  
ภิกษุณี ธัมมนันทา
        ภิกษุณี ธัมมนันทา หรือที่รู้จักและเรียกขานกันว่า หลวงแม่มีชื่อเดิมขณะเป็นฆราวาสว่า
รอง ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์
  ถือกำเนิดเมื่อ พ.ศ.๒๔๘๗ ในตระกูลที่มีฐานะ คุณทวด คือ หลวงเรืองฤทธิ์เดชะราชรองเมือง (แหลม) คุณปู่ คือ หลวงพิทักษ์เหลียนสถาน (รื่น ษัฏเสน)ได้รับพระราชทานนามสกุล ษัฏเสนใน พ.ศ.๒๔๕๘ ทั้งสองท่านเวียนเป็นนายอำเภอทุกอำเภอในจังหวัดตรัง บิดา คือ นายก่อเกียรติ ษัฏเสน สมาชิกผู้แทนราษฎร์จังหวัดตรัง ๓ สมัย สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ (๒๔๘๙-๒๕๐๑) มารดา คือ นางวรมัย กบิลสิงห์ ซึ่งต่อมาอุปสมบทเป็นภิกษุณี
        นามสกุล กบิลสิงห์เป็นนามสกุลพระราชทาน ฝ่ายมารดา ต้นสกุลชื่อฉัตร เป็นมหาดเล็กหลวงในรัชกาลที่ ๖ เสียชีวิตด้วยไข้ป่า ที่ รร.มหาดเล็กหลวง เชียงใหม่ (เชิงทางขึ้นดอยสุเทพ)
        ท่านได้รับการศึกษาเบื้องต้นจากโรงเรียนราชินีบน จากนั้นไปศึกษาระดับปริญญาที่มหาวิทยาลัยวิศวภารตีศาสนตินิเกตัน ประเทศอินเดีย สำเร็จปริญญาตรีเกียรตินิยม แผนกปรัชญา ต่อมาได้รับทุนรัฐบาลแคนาดา ไปศึกษาวิชาศาสนาในระดับปริญญาโทและเอก ดุษฎีนิพนธ์ปริญญาเอกของท่านเรื่อง การศึกษาเปรียบเทียบภิกขุนีปาฏิโมกข์ พิมพ์ออกสู่ตลาดในภาษาอังกฤษในปี พ.ศ. ๒๕๒๔
        ท่านเริ่มงานสอนที่ มหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ ประเทศแคนาดา ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๑๖-๒๕๔๓ ต่อมาเป็นอาจารย์ภาควิชาปรัชญาและศาสนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันก็เป็นอาจารย์พิเศษคุมวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาโทและเอก ให้นักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดลและมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
        ท่านมีผลงานแปลพระสูตรมหายานที่สำคัญๆหลายเล่ม อีกทั้งเคยเป็นพิธีกรรายการธรรมะ ชีวิตไม่สิ้นหวังทางช่องสามติดต่อกันนาน ๗ ปี (พ.ศ.๒๕๓๗ ๒๕๔๓) รายการที่ท่านจัดให้รับรางวัลรายการธรรมะดีเด่นถึงสองปีซ้อน และ ลาออกเพื่อบรรพชาใน พ.ศ.๒๕๔๔
        ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๒๒ หลวงแม่ได้รับเชิญไปร่วมประชุมทางวิชาการในระดับนานาชาติ เดินทางไปเป็นองค์ปาฐกในต่างประเทศปีละหลายครั้ง ด้วยเป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงนักวิชาการนานาชาติด้านการศาสนา เรื่องสตรีกับศาสนาและสิ่งแวดล้อมซึ่งเป็นหัวข้อที่ท่านค้นคว้าเป็นพิเศษ หน้านี้ที่ยังคงทำต่อมาจนปัจจุบัน
        ด้วยความเป็นคนช่างสังเกต มีความตื่นตัวกับสิ่งรอบตัว และประกอบกับนิสัยเป็นนักเขียนที่ได้รับการบ่มเพาะจากมารดา เวลาเดินทางไปต่างประเทศ จะเขียนแบ่งปันความรู้และประสบการณ์ต่างๆ ปรากฏผลงานในมติชนสุดสัปดาห์ คอลัมน์ ธรรมลีลาติดต่อกันมาหลายสิบปี มีหนังสือทั้งในงานวิชาการและสารคดีธรรมะ ตลอดจนงานแปลพนะสูตรสำคัญหลายเล่มและยังแปลปรากฏสู่สายตาแล้วไม่น้อยกว่า ๘๐ เล่ม (บันทึกเมื่อเดือน มิถุนายน ๒๕๕๔)
        หลวงแม่เป็นผู้มีความสามารถในการพูดที่ต่างจากคนอื่น ตรงท่านพูดจากใจกล้าแสดงจุดยืน สามารถชี้ประเด็นได้กระชับและชัดเจน เป็นที่นิยมของสื่อต่างๆ จึงได้รับนิมนต์ไปออกรายการเกี่ยวกับศาสนาอยู่เนืองๆ ท่านเปิดศักราชใหม่ให้กับวงการโทรทัศน์โดยเป็นพิธีกรหญิงคนแรกที่นำสนทนาในรายการธรรมะ ชีวิตไม่สิ้นหวังทางช่อง ๓ ติดต่อกันนาน ๗ ปี (๒๕๓๗-๒๕๔๓) ได้รับรางวัลรายการธรรมะดีเด่น ๒ ปีซ้อน
        รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ บรรพชาเป็นสามเณรี พ.ศ.๒๕๔๔ มีฉายาว่า ธัมมนันทา และอุปสมบทเป็นภิกษุณี เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.๒๕๔๖ โดยสืบสายจากสยามวงศ์วัดดัมบุลละ ประเทศศรีลังกา นับเป็นภิกษุณีสายเภรวาทรูปแรกของประเทศไทย เป็นการวางอิฐก้อนแรกของประเทศไทย เป็นการวางอิฐก้อนแรกสำหรับสตรีไทยที่จะได้ก้าวย่างออกมาสู่ชีวิตภิกษุณี ณ วันที่บันทึกนี้ (มิถุนายน ๒๕๕๔) มีภิกษุณีสายเถรวาทในเมืองไทยแล้ว ไม่น้อยกว่า ๒๕ รูป สามเณรอีกประมาณ ๔๐ รูป
        มีนาคม พ.ศ.๒๕๔๗ หลวงแม่ได้รับรางวัลสตรีชาวพุทธดีเด่นจากสหประชาชาติ
        พ.ศ.๒๕๔๘ ได้รับการเสนอชื่อเป็น ๑ ในสตรีเพื่อสันติภาพ ๑,๐๐๐ คน เพื่อเข้ารับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ
        พ.ศ.๒๕๔๙ ได้รับรางวัล Prestige Woman ในฐานะนักการศึกษา และ Bangkok Post คัดเลือกเป็น ๑ ใน ๕๐ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงสังคม เมื่อหนังสือพิมพ์ฉลองวันเกิดครบ ๕๐ ปี เมื่อหนังสือพิมพ์ The Nation ฉลองครบ ๓๐ ปี ท่านก็ได้รับการคัดเลือกเป็น ๑ ใน ๓๐ ผู้นำการเปลี่ยนแปลงทางสังคมของหนังสือพิมพ์เช่นกัน
        พ.ศ.๒๕๕๒ ได้รับการยกย่องเป็นบุคคลเกียรติยศประจำปี จากมูลนิธิโกมล คีมทอง
        หลวงแม่ไม่ยึดถือว่าจะเป็นเถรวาทหรือมหายาน เวลาแนะนำตัวกับใคร จะบอกว่า ฉันเป็นชาวพุทธคือรวมเอาส่วนที่ประเสริฐของพุทธทั้งหลายมาไว้ด้วยกัน นอกจากชาวพุทธและผู้ที่สนใจศาสนาพุทธแล้ว ยังมีผู้นับถือศาสนาอื่นๆ มาเรียนวิชาศาสนากับหลวงแม่อยู่เสมอ มีนักศึกษาต่างชาติที่กำลังทำวิทยานิพนธ์ปริญญาโทและเอก มาปรึกษาขอความรู้และข้อมูลจากท่านประจำ ด้วยความรู้และความตั้งใจปฏิบัติธรรมเพื่อสร้างสรรค์สังคม หลวงแม่โดยไม่มีข้อจำกัดทางด้านเพศ เชื้อชาติ ศาสนา ท่านคิดว่าปัญหาที่สังคมเผชิญอยู่หนักหนาเกินกว่าที่จะมาตั้งเงื่อนไขใดๆอีก
        ภิกษุณี ธัมนันมา ซึ่งในขณะนั้นก็คือ รอง ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ได้เล่าถึงความรู้สึกเมื่อครองตนเป็นฆราวาสว่า “เมื่อใช้ชีวิตนานเข้าก็เริ่มเบื่อหน่ายทางโลก สมัยก่อนใช้ชีวิตทางโลกอย่างเต็มที่ ทำผม แต่งหน้า ชอบความสวยงามมาก ทุกเช้าได้แต่งหน้าสวยแล้วมีความสุขมาก วันนี้ไปลุยได้อีกวัน เผลอๆ ก็ยิ้มกับตัวเองในกระจก แต่อยู่ดีๆ วันหนึ่งแต่งหน้าเสร็จแล้วคิดขึ้นมาเองเลยว่า เราต้องแต่งอย่างนี้ไปอีกนานเท่าไร บอกตัวเองว่าพอแล้ว หมายถึงการแต่งหน้าแต่งตา และวิถีทางโลก”
        รอง ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ ออกบวชเมื่ออายุ ๕๖-๕๗ ปี สิ่งที่ใช้เป็นเหตุผลในการเลือกเส้นทางชีวิตอันงดงามของท่านนี้ ก็เพราะต้องการถวายตัวรับใช้พระพุทธศาสนาเพื่อทำหน้าที่เผยแผ่พระธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และตั้งใจมุ่งมั่นที่จะช่วยดูแลสืบสานในหน้าที่ของพุทธบริษัท ๔ อันประกอบไปด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา จากนั้นก็ได้เลือกไปบวชที่ประเทศ
ศรีลังกา เนื่องจากไม่สามารถบวชที่เมืองไทยได้ เพราะการบวชต้องบวชโดยสงฆ์ ๒ ฝ่าย คือ บวชจากภิกษุณีสงฆ์อย่างต่ำ ๕ รูป เช่นกัน ในเมื่อเมืองไทยยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์ จึงเริ่มต้นบวชที่นี่ไม่ได้ การที่รอง ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์ เลือกไปบวชที่ประเทศศรีลังกา เพราะคณะสงฆ์ไทยเป็นลังกาวงศ์ คือ มีความสัมพันธ์กันมาแต่เดิมในสมัยสุโขทัย เมื่อพระสงฆ์ในศรีลังกาหมดสายลง ก็มาสืบไปจากไทยอีกในสมัยพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ ปลายอยุธยาจึงเกิดสยามวงศ์ขึ้นที่นั่น ภิกษุณีสงฆ์จากอินเดียเข้าสู่ศรีลังกา ตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๓ แต่มาหมดไปในพ.ศ. ๑๕๖๐ โดยการรุกรานของกษัตริย์ฮินดู ต่อมามีการเริ่มต้นสายภิกษุณีอีกครั้งในปี พ.ศ. ๒๕๔๑ เป็นการบวชที่ถูกต้องโดยสงฆ์สองฝ่าย และเพื่อให้เกิดความมั่นคงในศรีลังกา ได้มีการบวชซ้ำเฉพาะพระเถระฝ่ายเถรวาท นับเป็นการสืบสายเถรวาทอย่างถูกต้องตามพระธรรมวินัย การที่รอง ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์เลือกไปบวชที่ศรีลังกา ก็เพราะต้องการสืบทอดการบวชแบบเถรวาทกลับมาประเทศไทยจากสายที่ใกล้เคียงกับประเทศไทยที่สุด
เมื่อบวชเป็นสามเณรีก็มีฉายาว่า “ธัมมนันทา” และต่อมาได้อุปสมบท เป็นภิกษุณี เมื่อ พ.ศ.๒๕๔๖ และ พ.ศ. ๒๕๔๘ปัจจุบันจำพรรษาอยู่ที่ วัดวัตรทรงธรรมกัลยาณี ตำบลพระประโทน จังหวัดนครปฐม
        ดังที่กล่าวมานี้ คือจุดเริ่มต้นของภิกษุณีสงฆ์ในประเทศไทย ซึ่งมีมาแล้วถึง ๓ รุ่นด้วยกัน รุ่นแรกคือสมัยนายนรินทร์ กลึง เมื่อปีพ.ศ. ๒๔๗๒ รุ่นต่อมาคือภิกษุณีวรมัย กบิลสิงห์ ในปีพ.ศ. ๒๔๙๙ และรุ่นที่ ๓ คือภิกษุณีธัมมนันทา เมื่อปีพ.ศ. ๒๕๔๔ ซึ่งภิกษุณีธัมมนันทา ถือได้ว่าเป็นภิกษุณีเถรวาทรูปแรกในประเทศไทย หลังจากนั้นจึงมีสตรีกว่าร้อยชีวิตตัดสินใจร่วมเดินตามรอยของการประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์ให้เกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อทำให้พุทธบริษัทครบองค์ ๔ และเพื่อสืบทอดพุทธศาสนาตามพุทธดำรัส

ความแตกต่างระหว่างภิกษุณีฝ่ายเถรวาทกับภิกษุณีฝ่ายมหายาน
ภิกษุณีฝ่ายเถรวาท
การบวชเป็นภิกษุณีฝ่ายเถรวาท
        ในการบวชของฝ่ายชายแบบพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทนั้นจะมีเพียง ๒ ขั้นตอน คือ การบวชเป็นสามเณร และบวชเป็นภิกษุ แต่ทางฝ่ายหญิงจะมีถึง ๓ ขั้นตอน คือ เพิ่มการบวชเป็นสิกขมานา เข้ามา โดยจะอธิบายขั้นตอนการบวชเป็นภิกษุณีได้ดังต่อไปนี้
๑.    การบวชเป็นสามเณรี
การบวชเป็นสามเณรีนั้นก็เหมือนกับสามเณร เป็นการบรรพชา มีสิกขาบทที่จะต้องรักษา ๑๐ ข้อ ที่เรียกว่าศีล ๑๐ นั่นเอง ผู้บวชนั้นเดิมกำหนดว่าเป็น กุมารหรือกุมารี ที่รู้ความพอที่จะไล่นกไล่กา (ที่ลงมากินข้างในนา) ได้ ต่อมาในอรรถกถากำหนดให้เป็น ๗ ขวบ บางครั้งผู้มีอายุมากแล้วเกรงว่าจะรักษาศีลของภิกษุณี ภิกษุณีไม่ได้ครบก็อาจบรรพชาเป็นสามเณรหรือสามเณรีเช่นกัน
๒.   การบวชเป็นสิกขมานา
ก่อนที่ผู้หญิงจะบวชเป็นภิกษุณีได้นั้น ต้องบวชเป็น “สิกขมานา” เสียก่อน สำหรับสิขมานานั้น เป็นขั้นตอนการบวชที่กำหนดขึ้นสมัยต่อมา เมื่อมีกรณีของหญิงครองเรือนที่มาขออุปสมบทโดยที่ไม่รู้ตัวว่าตั้งครรภ์ ครั้งบวชเป็นภิกษุณีแล้วจึงทราบว่าตั้งครรภ์ จึงกำหนดให้หญิงที่เข้ามาขออุปสมบทเป็นภิกษุณีนั้นให้อยู่ในขั้นสิกขมานา สิกขมานาเป็นสามเณรีที่ต้องรักษาอนุธรรม ๖ ประการคือ ศีลข้อ ๑ ถึงข้อ ๖ ในอุโบสถศีล อย่างเคร่งครัดเป็นเวลา ๒ ปี หากศีลขาดแม้แต่ข้อเดียวจะต้องเริ่มนับเวลาใหม่ การบวชเป็นสิกขมานา จะบวชได้ต้องอายุครบ ๑๘ ปี เพราะว่าคนที่จะบวชเป็นภิกษุณีได้นั้นต้องอายุครบ ๒๐ ปี แต่สำหรับหญิงที่แต่งงานแล้ว พระพุทธองค์อนุญาตให้บวชเป็นสิกขมานาได้ตั้งแต่อายุ ๑๒ ปี เพราะว่าคนที่แต่งงานจะได้เรียนรู้ความยากลำบากของชีวิต รู้จักสุข ทุกข์ เมื่อรู้จักทุกข์ก็จะรู้จักสมุทัย นิโรธ มรรค ได้ จนนำไปสู่การบรรลุในที่สุด ครั้นรักษาอนุธรรมสิกขมานา โดยไม่ขาดตกบกพร่องติดต่อกันครบ ๒ ปี จึงจะขออุปสมบทเป็นภิกษุณีได้
๓.   การบวชเป็นภิกษุณี
        สำหรับการบวชเป็นภิกษุณีจะต้องมีอายุไม่ต่ำกว่า ๒๐ ปี ไม่บ้า ใบ้ บอด หนวก สำหรับผู้ที่แต่งงานต้องได้รับการอนุญาตจากคู่ครอง สำหรับหญิงที่มีครอบครัวแล้วอนุญาตให้อุปสมบทได้เมื่อมีอายุ ๑๒ ปี เมื่อผู้ที่ประสงค์จะบวชเป็นภิกษุณี ได้เป็นสิกขมานา ถือศีล ๖ ข้อครบ ๒ ปีแล้ว แล้วจึงมีสิทธิ์ที่จะเข้าพิธีอุปสมบท โดยต้องอุปสมบทในฝ่ายของ ภิกษุณีสงฆ์ ก่อน แล้วไปเข้าพิธีอุปสมบทในฝ่าย ภิกษุสงฆ์ อีกครั้งหนึ่งจึงจะเป็นภิกษุณีได้โดยสมบูรณ์ (บวชในสงฆ์สองฝ่าย)
การถือสิขาบทของภิกษุณีฝ่ายเถรวาท
        พุทธศาสนาในนิกายเถรวาท ที่คุ้นเคยกันดีในประเทศไทยนั้น พระภิกษุรักษาสิกขาบท ๒๒๗ ข้อ พระภิกษุณี ๓๑๑ ข้อ ซึ่งตรงนี้เองมีข้อเปรียบเทียบว่า เพราะเหตุใดฝ่ายภิกษุณีถึงได้ถือสิกขาบทมากกว่าพระภิกษุ จนทำให้บางครั้งมีผู้เข้าใจผิดว่าพระพุทธองค์ไม่มีพระประสงค์จะให้ผู้หญิงบวช จึงวางกฎระเบียบให้เข้มเข้าไว้ เป็นการกันผู้หญิงเสียตั้งแต่แรก
        จากการศึกษาเปรียบเทียบพระปาฏิโมกข์ของพระภิกษุและภิกษุณี พบว่าถ้านับโดยหมวดแล้ว ภิกษุณีมีวินัยที่รักษา ๘ หมวด ภิกษุมีเพียง ๗ หมวด หมวดที่เพิ่มขึ้นมาคือ หมวดอนิตย นั้นมี ๒ ข้อ ห้ามมิให้ภิกษุอยู่ในที่ลับหูลับตากับมาตุคามสองต่อสอง การตัดสินความผิดว่าจะหนักหรือเบานั้นขึ้นอยู่กับพยานผู้ให้ปากคำ ที่น่าสังเกตคือผู้เสนอให้เพิ่มสิกขาบทนี้เป็นผู้หญิง ได้แก่นางวิสาขา พระพุทธองค์ทรงวางสิกขาบทตามที่นางเสนอ เพื่อเป็นมาตรฐานความประพฤติที่เหมาะสมของภิกษุ
        ในหมวดปาราชิก ซึ่งเป็นหมวดที่จักว่าเป็นอาบัติหนักที่สุด ภิกษุหรือภิกษุณีใดที่ละเมิดสิกขาบทในหมวดนี้แม้ข้อใดข้อหนึ่งถือว่า ขาดจากความเป็นภิกษุหรือภิกษุณีทันทีที่กระทำความผิด สำหรับของภิกษุมี ๔ ข้อ ภิกษุณีมี ๘ ข้อ สิกขาบทที่เพิ่มขึ้นมาของภิกษุณีนั้น มีความคล้ายคลึงกับของภิกษุ แต่ของภิกษุกลับถูกจัดอยู่ในหมวดถัดไป คือสังฆาทิเสส ซึ่งมีโทษปรับอาบัติน้อยกว่า ทำให้ตั้งข้อสันนิษฐานว่า การจัดหมวดหมู่ของสิกขาบทนั้น ทำขึ้นสมัยหลังและอาจกระทำโดยพระภิกษุ
        ในหมวดของปาฏิเทสนียะ ของภิกษุณีมีสิกขาบท ๘ ข้อ พระภิกษุก็มีสิกขาบทเหมือนกันในเนื้อหา แต่ถูกจัดอยู่ในหมวดเสขิยะ และนับรวมเป็นข้อเดียว เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้จำนวนสิกขาบทของพระภิกษุณีมากกว่าของพระภิกษุถ้ามองจากภายนอกโดยไม่ทำความเข้าใจในเนื้อหา
        อีกประการหนึ่งในหมวดปาจิตตีย์ซึ่งเป็นหมวดที่พระภิกษุณีมีสิกขาบทถึง ๑๖๖ ข้อ ในขณะที่ภิกษุมีเพียง ๙๒ ข้อ ในจำนวนสิกขาบทที่เพิ่มขึ้นของภิกษุณีนี้ มีจำนวนมากที่เกี่ยวข้องกับกฎเกณฑ์การบรรพชาอุปสมบท ซึ่งของภิกษุก็ต้องถือปฏิบัติแต่ไม่ได้นับรวมอยู่ในปาฏิโมกข์ ด้วยเหตุเหล่านี้จึงทำให้ดูเหมือนว่าจำนวนสิกขาบทที่ภิกษุณีต้องรักษามีมากกว่าของพระภิกษุ
การสูญวงศ์ของภิกษุณีฝ่ายเถรวาท
        เมื่อพระพุทธองค์ประดิษฐานพุทธบริษัท ๔ คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกานั้น ทรงประดิษฐานภิกษุณีสงฆ์โดยมิได้จำกัดว่าเป็นมหายานหรือเถรวาท พัฒนาการในประวัติพุทธศาสนาที่แยกออกมาเป็นเถรวาทมหายานนั้นเป็นงานสมัยหลังหลายร้อยปีต่อมา
        ภิกษุณีสงฆ์จากลังกาที่ไปประดิษฐานในประเทศจีนนั้นเป็นนิกายเถรวาท สังเกตจากพระวินัยที่ภิกษุณีฝ่ายจีนถือปฏิบัติเป็นวินัยของนิกายธรรมคุปต์ ซึ่งเป็นนิกายที่แยกย่อยออกไปจากเถรวาท
        ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ประมาณพุทธศตวรรษ ๓๐๐ นั้น ปรากฏว่ามีการแบ่งแยกนิกายในพุทธศาสนาถึง ๓๒ นิกายแต่ละนิกายหลักที่มีหลักฐานปรากฏชัดเจนนั้นมี ๑๘ นิกาย คือ แยกไปจากเถรวาท ๑๒ นิกาย และแยกไปจากมหายาน ๖ นิกาย พระวินัยที่ฝ่ายจีนถือปฏิบัตินั้นแยกไปจากเถรวาทนั่นเอง
        เพราะฉะนั้นเหตุผลที่ทางฝ่ายเถรวาทไม่ยอมรับภิกษุณีสงฆ์ โดยอ้างว่าเป็นสายของมหายานก็ยังเป็นการกล่าวอ้างเหตุผลที่ยังไม่ได้ศึกษาให้รอบคอบ โดยสายของการบวชซึ่งเป็นการสืบสายทางด้านพระวินัย ภิกษุณีสงฆ์ที่มีอยู่ในปัจจุบันล้วนมาจากสายเถรวาททั้งสิ้น
        จากศรีลังกา ภิกษุณีสงฆ์ได้ไปสืบสายไว้ในจีน ไต้หวัน และอื่น ๆ อีกมาก จนกระทั่งพุทธศาสนาที่อินเดียและศรีลังกาเสื่อมลงลงไปในช่วงหลัง ทำให้ภิกษุณีฝ่ายเถรวาทซึ่งมีศีลและข้อปฏิบัติที่ยุ่งยากไม่สามารถรักษาวงศ์ของภิกษุณีเถรวาทไว้ได้ จึงทำให้ไม่มีผู้สืบทอดการบวชเป็นภิกษุณีสายเถรวาท


การพยายามรื้อฟื้นภิกษุณีฝ่ายเถรวาทในปัจจุบัน
        ในปัจจุบัน มีความเชื่อว่ายังมีภิกษุณีฝ่ายเถรวาทเหลืออยู่ และอ้างหลักฐานยืนยันว่าภิกษุณีทางฝ่ายมหายาน วัชรยานนั้นสืบสายไปจากภิกษุณีฝ่ายเถรวาท โดยถือกันว่าหากภิกษุณีฝ่ายเถรวาทสืบสายไปเป็นมหายานได้ (ภิกษุณีจากลังกาไปบวชให้คนจีน) ภิกษุณีมหายานก็สืบสายมาเป็นเถรวาทได้เช่นกัน
        ในกรณีนี้เคยมีประเด็นถกเถียงอยู่ช่วงหนึ่งว่าปัจจุบันนี้สามารถบวชภิกษุณีได้หรือไม่ มีข้อสรุปจากทางพระสงฆ์ฝ่ายเถรวาทว่าพระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีการบวชเป็นภิกษุณีได้ก็ต่อเมื่อบวชต่อสงฆ์ทั้ง ๒ ฝ่าย คือต้องบวชทั้งฝ่ายพระภิกษุสงฆ์ และฝ่ายภิกษุณีสงฆ์เป็นการลงญัตติจตุตถกรรมวาจาทั้งสองฝ่าย จึงจะสามารถเป็นภิกษุณีได้ ดังนั้นในเมื่อภิกษุณีสงฆ์เถรวาทได้เสื่อมสิ้นลงไม่มีผู้สืบต่อ จึงทำให้ในปัจจุบันไม่สามารถทำการบวชผู้หญิงเป็นภิกษุณีฝ่ายเถรวาทได้ การที่มีข้ออ้างว่าฝ่ายมหายานสืบสายวงศ์ภิกษุณีสงฆ์ไปก็ไม่สามารถอ้างได้ เพราะการสืบสายทางมหายานมีข้อวินัยและการทำสังฆกรรมบวชภิกษุณีที่ไม่ถูกต้องกับพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
        ปัจจุบันศรีลังกาพยายามฟื้นฟูภิกษุณีสงฆ์ จนมีหลายร้อยรูป ที่เมืองไทยเองก็มีคนบวชเป็นภิกษุณีหลายรูปแล้วเช่นกัน โดยบวชมาจากคณะภิกษุณีสงฆ์ในประเทศศรีลังกา เช่นภิกษุณีธัมมนันทา ซึ่งถือว่าเป็นภิกษุณีฝ่ายเถรวาทรูปแรกของไทย และมีสำนักภิกษุณีป็นเอกเทศคือ วัตรทรงธรรมกัลยาณีแต่คณะสงฆ์ไทยไม่ยอมรับเป็นภิกษุณีสงฆ์เพราะสาเหตุดังกล่าวมาแล้วข้างต้น

ภิกษุณีฝ่ายมหายาน
        ลักษณะของภิกษุณีฝ่ายมหายาน
        การเป็นภิกษุณีฝ่ายมหายานจะต้องฉันอาหารเจ การฉันอาหารเจจึงเป็นสาเหตุให้ภิกษุณีไม่มีการออกบิณฑบาต เพราะต้องทำเป็นอาหารเจภายในวัดกันเอง ไม่มีภิกษุณีฝ่ายมหายานรูปไหนสวมผ้าโพกหัว เพราะถ้าสังเกตบนหัว จะมีจี้ธูป หากรับศีลมาจะมีการจุดธูปจี้ ๓, , , ๑๒ จุด
       

การถือศีลของภิกษุณีฝ่ายมหายาน
        การถือศีลของฝ่ายมหายานนั้นก็ไม่ได้แตกต่างจากฝ่ายเถรวาทมากนัก ภิกษุณีของมหายานจะถือศีลทั้งหมด ๓๑๑ ข้อ อีกทั้งยังมีศีลของพระโพธิสัตว์อีก รวมแล้วภิกษุณีจะถือศีลทั้งหมดประมาณ ๕๐๐ ข้อ

หลักธรรมมหายานแตกต่างจากเถรวาทอย่างไร
        หากพูดถึงแก่นก็คงจะเหมือนกัน ส่วนแนวทางการปฏิบัติอาจจะแตกต่างกัน อย่างของมหายานจะเน้นเรื่องของการปฏิบัติในแนวทางของพระโพธิสัตว์ ที่จะช่วยเหลือผู้อื่น พร้อมกับช่วยเหลือตัวเอง และต้องให้ความยินดี ความหวัง ความสะดวก แล้วก็ให้ความเชื่อมั่นกับผู้อื่น แต่ถ้าเป็นแนวของพระโพธิสัตว์ก็จะมีจตุมหาปณิธาน ๔ คือ
๑.    สรรพสัตว์ทั้งหลายอันประมาณมิได้ เราจักโปรดให้หมดสิ้น เราจะต้องปลดเปลื้องให้พ้นทุกข์ ข้อนี้เทียบด้วยอริยสัจ ๔ ในข้อทุกขสัจ ซึ่งมีหน้าที่ต้องกำหนดรู้ คือเมื่อเรารู้ว่าเราทุกข์ เราก็ย่อมแจ้งให้คนอื่นๆ ทราบว่า เขาก็มีทุกข์เช่นเดียวกัน แต่พระโพธิสัตว์จะต้องปรารถนาความพ้นทุกข์แห่งสรรพสัตว์อีกด้วย
๒.    กิเลสทั้งหลายที่ไม่สงบระงับ เราจะกำจัดให้หมดสิ้น เราจะต้องละทิ้งทำลายให้หมด และปรารถนาที่จะให้สรรพสัตว์ทำลายกิเลสเหล่านั้นด้วย ข้อนี้เทียบด้วยข้อสมุทัยคือตัณหาซึ่งเราจะต้องละ จะเจริญไม่ได้ ข้างฝ่ายมหายานถือว่า นอกจากตัวเราจะทำลายกิเลสของเราเองแล้ว จึงต้องช่วยแนะนำให้สรรพสัตว์ทำลายกิเลสของเขาด้วย
๓.    ธรรมทั้งหลายอันไม่มีประมาณ เราจะต้องศึกษาให้เจนจบ เราจักต้องเรียนรู้และทำความศึกษาปฏิบัติ เทียบด้วยมรรคสัจซึ่งต้องเจริญให้มีขึ้น เราจึงจะกำหนดรู้ทุกข์และสมุทัยได้ และจะต้องยังสรรสัตว์ให้ศึกษาในพระธรรมด้วย
๔.    พุทธมรรคอันประเสริฐ เราจะต้องบรรลุให้จงได้ เทียบด้วยทำนิโรธสัจให้แจ้ง และจะต้องยังสรรพสัตว์ให้บรรลุถึงด้วย เพราะฉะนั้น ตามปณิธานทั้ง ๔ นี้ เมื่อเทียบกับหลักอริยสัจแล้วจะเห็นว่า ฝ่ายมหายานต้องการจะปลดเปลื้องสรรพสัตว์ให้พ้นทุกข์

ทัศนะของสังคมไทย ต่อสตรีและการบวชเป็นภิกษุณี
ทัศนะในมุมมองของบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ
ประเด็นข้อขัดแย้งระหว่างฝ่ายที่สนับสนุนการบวชภิกษุณี กับฝ่ายที่คัดค้านการบวชภิกษุณีนั้นสามารถแยกออกได้เป็น ๒ ประเด็นหลัก คือ
๑.    ข้อขัดแย้งทางกฎหมาย
๒.    ข้อขัดแย้งทางพระธรรมวินัย
โดยในที่นี่ จะเป็นการนำเสนอข้อมูลต่างๆ เฉพาะประเด็นข้อขัดแย้งทางกฎหมาย ดังต่อไปนี้
๑.    ฝ่ายสนับสนุนการบวชภิกษุณี ยกข้อกฎหมายนี้ขึ้นอ้างดังนี้ว่า
บทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทย ในการนับถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธิในทางศาสนา เอาไว้อย่างชัดเจน โดยรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ๒๕๔๐ ระบุเอาไว้ในมาตราที่ ๓๘ ส่วนรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช ๒๕๕o ระบุเอาไว้มาตราที่ ๓๗ มีข้อความตรงกันดังนี้ว่า
บุคคลย่อมมีเสรีภาพบริบูรณ์ในการถือศาสนา นิกายของศาสนา หรือลัทธินิยมทางศาสนา และย่อมมีเสรีภาพในการปฏิบัติตามศาสนาบัญญัติหรือปฏิบัติพิธีกรรมตามความเชื่อถือของตนเมื่อไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อหน้าที่ของพลเมือง และไม่เป็นการขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน
ในการใช้เสรีภาพดังกล่าวตามวรรคหนึ่ง บุคคลย่อมได้รับความคุ้มครองมิให้รัฐกระทำการใดๆ อันเป็นการรอนสิทธิหรือเสียประโยชน์อันควรมีควรได้เพราะเหตุที่ถือสาสนา นิกายของศาสนาลัทธินิยมในทางศาสนา หรือปฏิบัติตามศาสนาบัญญัติ หรือปฏิบัติพิธีกรรมความเชื่อถือ แตกต่างจากบุคคลอื่น
๒.   ฝ่ายที่คัดค้านการบวชภิกษุณี ได้ยกข้อกฎหมายขึ้นอ้างเช่นกันคือ
(.) พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช กรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ..๒๔๗๑ เรื่องห้ามพระเณรไม่ให้บวชหญิงเป็นบรรพชิต
(.) คำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ในการประชุมครั้งที่ ๒๘ /๒๕๒๗ และครั้งที่ ๑๘/๒๕๓o ห้ามภิกษุทำพิธีอุปสมบทให้สตรีเป็นภิกษุณี
(.) พระวรธรรมคติ สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๔๔ ห้ามบวชให้แก่สตรีเพื่อเป็นภิกษุณี
ฝ่ายสนับสนุนการบวชภิกษุณี ยกกฎหมายรัฐธรรมนูญขึ้นมาเพื่อหักล้างพระบัญชาของสมเด็จชินวรสิริวัฒน์ พ.. ๒๔๗๑ หรือคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมฯ โดยอ้างว่า พระบัญชา พ.ศ. ๒๔๗๑ เป็นของเก่าตั้งแต่สมัยก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง ซึ่งขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญในสมัยปัจจุบัน ซึ่งปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่ให้สิทธิในทางศาสนาฯ จึงมีผลทำให้พระบัญชานั้นเป็นโมฆะ ไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้อีกต่อไป อีกทั้งคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมฯ ถือได้ว่าเป็นกฎหมายที่มีลำดับชั้นต่ำกว่า จะมีเนื้อหาที่ขัดกับกฎหมายรัฐธรรมนูญไม่ได้ เพราะถ้าขัดก็ต้องถือว่ากฎหมายนั้น (ประกาศมหาเถรฯ) เป็นโมฆะไม่สามารถนำมาบังคับใช้ได้เช่นกัน
สำหรับประเด็นทางกฎหมายนี้ ผู้เขียนมีความเห็นว่า การที่ฝ่ายสนับสนุนการบวชภิกษุณี อ้างกฎหมายรัฐธรรมนูญด้วยลักษณะการเช่นนี้ ถือได้ว่าเป็นการอ้างกฎหมายแบบผิดฝาผิดตัว เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายรัฐธรรมนูญนั้นก็คือ การให้อิสระกับประชาชนในการเลือกนับถือศาสนา แต่มิใช่ว่า จะให้อิสระในการบีบบังคับองค์กรศาสนาให้ทำอะไรก็ได้ตามใจชอบ(ของตน)
ประเด็นสำคัญที่ ฝ่ายสนับสนุนการบวชภิกษุณี จะต้องทำความเข้าใจให้ดีก็คือ พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช และคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมฯ ที่ประกาศออกมานั้น เป็นแต่เพียง
ห้ามมิให้ภิกษุณีสามเณรบวชให้แก่ภิกษุณี เท่านั้น แต่ มิได้ห้ามสตรีบวชภิกษุณี นั่นจึงหมายความว่า
(๑) พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช และคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมฯ มิได้ริดรอนสิทธิของสตรีตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแต่อย่างใดทั้งสิ้น เพราะมิได้ห้ามสตรีบวชภิกษุณี
(๒) พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช และคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมฯ ก็มิได้ริดรอนสิทธิของเหล่าภิกษุสามเณรในฐานะที่เป็นประชาชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญเช่นกัน เพราะแท้ที่จริงแล้วสิทธิในการให้บวชนั้นเป็นของคณะสงฆ์ มิได้เป็นสิทธิของภิกษุหรือสามเณรรูปหนึ่งรูปใดเป็นการเฉพาะ ดังนั้น พระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช และคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคมฯ จึงใช้บังคับแก่ภิกษุและสามเณรในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของคณะสงฆ์ มิใช่ในฐานะที่ภิกษุและสามเณรเหล่านั้นเป็นปัจเจกชนประชาชนตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ

(๓) สิทธิในการตัดสินใจว่าจะบวชให้ หรือไม่บวชให้กับใครนั้น เป็นสิทธิอันชอบธรรมของคณะสงฆ์ไทย ผู้อื่นจะไปบังคับเอาตามอำเภอน้ำใจมิได้ ต่อให้เป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญ ก็นำมาใช้ขู่บังคับคณะสงฆ์ไทย ให้บวชใครต่อใครตามใจชอบไม่ได้(ตราบเท่าที่คณะสงฆ์ไทยไม่ยินดีที่จะบวชให้) หมายความว่า การที่คณะสงฆ์ใดๆ ก็ตาม จะอนุญาตให้บวชภิกษุณีได้หรือไม่นั้น ล้วนขึ้นอยู่กับมติความเห็นชอบของคณะสงฆ์นั้นๆ มิได้ขึ้นอยู่กับวิจารณญาณของภิกษุหรือสามเณร รูปหนึ่งรูปใดเพียงลำพัง อีกทั้งบุคคลอื่นใดก็ตาม ที่นอกเหนือไปจากภิกษุและสามเณรในนามของคณะสงฆ์แล้ว ย่อมไม่มีสิทธิ์ที่จะไปบังคับบัญชาหรือชี้นำคณะสงฆ์ได้ตามใจชอบ เพราะการบวชนั้นเป็นการบวชด้วยพระธรรมวินัยโดยคณะสงฆ์มิใช่การบวชด้วยกฎหมายบ้านเมืองโดยภิกษุหรือสามเณรรูปใดรูปหนึ่ง หรือโดยบุคคลอื่นใดหรือบุคคลอื่นใดที่มิใช่คณะสงฆ์
(๔) ดังนั้น ถ้าหากสตรีท่านใด มีศรัทธาอย่างแรงกล้าในการที่จะอุปสมบทเป็นภิกษุณี ก็สมควรที่จะขวนขวายเสาะหาคณะสงฆ์อื่นใดก็ตาม ที่มีความพร้อมในการให้อุปสมบท(ภิกษุณี) แก่สตรีนั้นได้แต่ไม่ควรเลยที่สตรีท่านใดหรือคณะบุคคลใดๆ ก็ตาม จะพยายามบีบบังคับเอาตามใจชอบด้วยการอ้างกฎหมายบ้านเมืองเพราะวิธีการเช่นนี้มิใช่วิธีการที่ถูกต้องชอบธรรมเนื่องจากการบวชนี้ เป็นการบวชด้วยพระธรรมวินัยมิใช่การบวชด้วยกฎหมายบ้านเมือง ดังนั้นจะอ้างกฎหมายบ้านเมืองมาบีบบังคับมิได้ อีกทั้งสิทธิในการบวชนั้นเป็นของคณะสงฆ์ ซึ่งมีที่มาจากพุทธบัญญัติจึงเป็นไปมิได้ ที่ใครผู้ใดจะมาแอบอ้างสิทธิ์หรือช่วงชิงสิทธิ(ในการให้บวช)ของคณะสงฆ์ไปเป็นของตน
(๕) กล่าวโดยสรุปก็คือ สตรีไทยยังมีสิทธิเสรีภาพอย่างเต็มที่ตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญ ในการที่จะอุปสมบทภิกษุณีได้ โดยที่คณะสงฆ์ไทยก็ไม่มีสิทธิ์ขัดขวางหรือทักท้วงใดๆ ทั้งสิ้น แต่ขณะเดียวกัน คณะสงฆ์ไทยก็มีสิทธิความชอบธรรมโดยสมบูรณ์ที่จะให้หรือไม่ให้อุปสมบทแก่สตรี นั่นจึงหมายความว่า แท้ที่จริงแล้วทั้งพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราช และคำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ฯ ก็มิได้ขัดต่อบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางศาสนาแต่อย่างใดเลย สตรีไทยยังสามารถรักษาสิทธิของตนเองไว้ได้อย่างเต็มที่ โดยที่คณะสงฆ์ไทยก็มิอาจล่วงละเมิด พร้อมกันนั้น สิทธิในการให้บวชหรือไม่ให้บวช ก็ย่อมเป็นของคณะสงฆ์ไทยอย่างสมบูรณ์ถูกต้องและชอบธรรม ซึ่งใครๆ ก็มิอาจล่วงละเมิดได้เช่นกัน


จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า ประเด็นปัญหาและการแก้ปัญหาอันเกี่ยวกับภิกษุณีนั้น
(๑) มิได้เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญว่าด้วยสิทธิเสรีภาพทางศาสนา
(๒) มิได้เกี่ยวข้องกับพระบัญชาของสมเด็จพระสังฆราชกรมหลวงชินวรสิริวัฒน์ พ.. ๒๔๗๑
(๓) มิได้เกี่ยวข้องกับ คำวินิจฉัยของมหาเถรสมาคม ฯ ครั้งที่ ๒๘ /๒๕๒๗และครั้งที่ ๑๘/๒๕๓o
(๔) มิได้เกี่ยวข้องกับพระวรธรรมคติ สมเด็จพระญาณสังวร ฯ เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม๒๕๔๔
ด้วยเหตุที่ แม้คณะสงฆ์ไทยจะไม่ยินดีให้อุปสมบทแก่ภิกษุณีแต่ก็ยังมีคณะสงฆ์อื่นอีกที่พร้อมและยินดีให้อุปสมบท เช่น คณะสงฆ์ศรีสังกา เป็นต้น และถึงแม้จะเป็นการลำบากแก่สตรีไปบ้างในการที่จะต้องข้ามน้ำข้ามทะเลไปบวชไกลถึงเกาะลังกา เพราะนี่เป็นเพียงทางเลือกทางเดียวที่มีอยู่ เนื่องจากไม่มีใครสามารถบีบบังคับให้คณะสงฆ์ไทยบวชภิกษุณีได้ ในทางกลับกันก็ไม่มีใครสามารถเข้าไปก้าวถ่าย วิจารณญาณ ของคณะสงฆ์ลังกาที่ยินดีบวชให้ภิกษุณีได้เช่นกัน
ในที่สุดแล้ว ปัญหาอันเกี่ยวเนื่องกับข้อกฎหมาย จึงไม่ใช่ประเด็นที่เกี่ยวเนื่องกับการบวชภิกษุณี แต่กลับเป็นประเด็นที่ว่า เมื่อบวชภิกษุณี(จากคณะสงฆ์อื่น) แล้ว จะจัดการกับภิกษุณีเหล่านั้นอย่างไรเสียมากกว่า เพราะถ้าไม่มีกฎหมายรองรับภิกษุณีเหล่านี้อย่างถูกต้องชัดเจน บรรดาภิกษุณีที่บวชมาจากคณะสงฆ์อื่น(ลังกา) ก็จะมีสถานะเป็นเพียงแค่ นักบวชเถื่อน ในประเทศไทยเท่านั้นเอง
จากพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.. ๒๕o๕ แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ (ฉบับที่ ๒) พ.. ๒๕๓๙ มาตรา ๕ ทวิ หรือร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.. ….. มาตรา ๔ มีข้อความตรงกันดังนี้
๑)    คณะสงฆ์ หมายความว่า บรรดาพระภิกษุที่ได้รับบรรพชาอุปสมบทจากพระอุปสมบทจากพระอุปัชฌาย์ตามพระราชบัญญัตินี้ หรือตามกฎหมายที่ใช้บังคับก่อนพระราชบัญญัตินี้ ไม่ว่าจะปฏิบัติศาสนากิจในหรือนอกราชอาณาจักร
๒)    คณะสงฆ์อื่น หมายความว่า บรรดาบรรพชิตจีนนิกายหรือ อนัมนิกาย
จะเห็นได้ว่า สถานะทางกฎหมายที่จะรองรับภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกานั้นยังไม่มีอย่างชัดเจน ด้วยเหตุที่พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ได้แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๒ ส่วน คือ คณะสงฆ์ไทยกับคณะสงฆ์อื่น ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกาย่อมมิได้สังกัดคณะสงฆ์ไทยอยู่แล้ว แค่ตามข้อกฎหมายดังที่ปรากฏอยู่นี้ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา มิได้สังกัดคณะสงฆ์อื่นด้วย เพราะว่า คณะสงฆ์อื่นตามพระราชบัญญัตินั้นหมายความถึงเพียงแค่บรรดาบรรพชิตจีนนิกาย(จีนมหายาน) หรืออนัมนิกาย (ญวนมหายาน ) แต่ภิกษุที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ก็มิได้เป็นภิกษุณีมหายานอยู่ดี ดังนั้น จึงสามารถกล่าวได้ว่า ภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกา ยังมิได้มีการรับรองสถานะความเป็นนักบวชอย่างถูกต้องตามกฎหมายแต่อย่างใดทั้งสิ้น
จำเพาะในส่วนที่เกี่ยวกับกฎหมายนั้น ย่อมเป็นไปมิได้เลยที่กฎหมายพระราชบัญญัติ จะไปขัดแย้งกับกฎหมายรัฐธรรมนูญได้ ในเมื่อบทบัญญัติรัฐธรรมนูญได้รับรองสิทธิเสรีภาพของประชาชนชาวไทยในการนับถือศาสนาเอาไว้ชัดเจน อีกทั้งภิกษุณี อีกทั้งภิกษุณีเหล่านั้นก็มีการอุปสมบทจากคณะสงฆ์ลังกาอย่างเปิดเผยมีที่มาที่ไปดังนั้น ผู้ที่ส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด จะทำวางเฉยไม่รับรู้ต่อกรณีนี้มิได้เป็นอันขาดแน่นอนว่า คณะสงฆ์ย่อมมิอาจรับเอาภิกษุณีเหล่านี้เข้าไว้ในคณะสงฆ์ไทยได้ แต่ก็ควรอย่างยิ่งที่จะรับรองภิกษุณีที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังการเหล่านี้ ในฐานะนักบวชในคณะสงฆ์อื่นเช่น เรียกว่า คณะสงฆ์ศรีลังกา หรือ ฯลฯ เหมือนที่ใช้กับภิกษุณีจีนนิกายและภิกษุอนัมนิกาย เพราะถ้าแก้ข้อกฎหมายโดยเพิ่มเติมข้อความดังนี้แล้ว
๑)    พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ก็จะไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งพระราชอาณาจักรไทย และ
๒)    คณะสงฆ์ไทยก็จะไม่สูญเสียจุดยืนทางพระธรรมวินัยที่จะไม่อุปสมบทภิกษุณี เพราะนี่มิได้เป็นการรับภิกษุณีเหล่านี้เข้าไว้ในคณะสงฆ์ไทย เป็นแต่ให้สังกัดอยู่ในคณะสงฆ์อื่น ตามชื่อคณะสงฆ์ผู้ให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณีเหล่านั้น นั่นเอง

ทัศนะในมุมมองของพระธรรมวินัย
ประเด็นข้อขัดแย้งที่ถือว่ามีความสำคัญที่สุดในกรณีปัญหาภิกษุณีก็คือ ข้อขัดแย้งทางพระธรรมวินัย โดยสามารถสรุปใจความสั้นๆ ได้ดังนี้ว่า
๑)    ฝ่ายที่คัดค้านการบวชภิกษุณีอ้าง “คุรุธรรม ๘ ประการ” จากพระไตรปิฎก เล่มที่๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค๒ ข้อ ๕๑๖ ความตอนหนึ่งว่า “ภิกษุณีต้องแสวงหาอุปสัมปทาในสงฆ์ ๒ ฝ่าย เพื่อสิกขมานา ผู้มีสิกขาอันศึกษาแล้วในธรรม ๖ ประการ ครบ ๒ ปีแล้ว ธรรมแม้นี้ ภิกษุณีต้องสักการะ เคารพ นับถือ บูชา ไม่ละเมิดตลอดชีวิตฯ” หมายความว่า ภิกษุณี ต้องบวชจากสงฆ์สองฝ่าย แต่ในปัจจุบัน  มีเพียงแต่ภิกษุสงฆ์เท่านั้น ส่วนภิกษุณีสงฆ์ ไม่มีแล้ว ดังนั้นจึงบวชภิกษุณีไม่ได้ แต่ฝ่ายที่สนับสนุนการบวชภิกษุณีแก้ว่า ภิกษุณีสงฆ์ มีอยู่ในฝ่ายมหายาน ซึ่งโดยที่แท้แล้วก็ได้รับการบวชมาจาก ภิกษุณีสงฆ์เถรวาท(ลังกา) เมื่อราวปี พ.ศ. ๙๗๒ นั่นจึงเท่ากับว่า ภิกษุณีสงฆ์เถรวาท ยังไม่ขาดเชื้อสาย ทางฝ่ายที่คัดค้านการบวชภิกษุณี ก็แย้งว่า ข้อเท็จจริงตามที่ปรากฏก็คือ ภิกษุณีตามที่กล่าวถึงนั้น แม้จะบวชโดยภิกษุณีฝ่ายเถรวาทก็จริง แต่ภิกษุสงฆ์ที่บวชให้นั้น กลับกลายเป็นภิกษุสงฆ์ฝ่ายมหายาน ซึ่งฝ่ายเถรวาทถือว่า ยังไม่บริสุทธิ์ถูกต้องตรงตามหลักพระไตรปิฎกอยู่ดี
๒)    ฝ่ายที่สนับสนุนการบวชภิกษุณี อ้างพุทธานุญาต จาก พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก จุลวรรค ภาค ๒ ข้อ ๕๑๙ ความว่า “ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตให้ภิกษุณีทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี” ซึ่งฝ่ายที่สนับสนุนการบวชภิกษุณี อ้างว่า ไม่ปรากฏหลักฐานว่า พระพุทธองค์ได้เคยเพิกถอนพุทธานุญาตนี้ เปรียบเสมือนบทเฉพาะกาล ที่ใช้ในช่วงแรกเมื่อยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์ ต่อเมื่อมีภิกษุณีสงฆ์แล้ว พุทธานุญาตนี้ก็เท่ากับเลิกใช้ไปโดยปริยาย ไม่สามารถนำมาอ้างได้อีก
ก็ในเมื่อมีข้อขัดแย้งมากกันถึงเพียงนี้ อีกทั้งแต่ละฝ่ายต่างก็อ้างพุทธพจน์ จาก พระไตรปิฎก ด้วยกันทั้งคู่ ดังนั้น จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่เราทั้งหลาย ในฐานะที่เป็นพุทธบริษัท จึงควรที่จะได้มีโอกาสสอบทานและตรวจสอบข้อเท็จจริงจากพระธรรมวินัย เพื่อที่จะสามารถนำมาพินิจพิจารณาตามกำลังสติปัญญาของตนเองได้ว่า คำใดจริง และคำใดเท็จ

ภิกษุณีกับบทสรุปสำหรับสังคมไทย
ทางออกสำหรับสตรีไทยผู้มี “ฉันทะ” ในการอุปสมบทภิกษุณี
(๑) ถ้าสตรีไทยมีฉันทะในการอุปสมบท ก็ต้องขวนขวายแสวงหาการอุปสมบทจากคณะสงฆ์อื่น เนื่องจากคณะสงฆ์ไทยมีมติว่า “ห้ามภิกษุสามเณรบวชภิกษุณี” ซึ่งมตินี้ เป็นสิทธิโดยชอบของคณะสงฆ์ไทย โดยที่ผู้ใดจะล่วงละเมิดสิทธิของคณะสงฆ์ซึ่งได้รับการสืบทอดมาโดยตรงจากพระพุทธองค์มิได้เป็นอันขาด
(๒) การที่คณะสงฆ์ลังกาให้การอุปสมบทแก่ภิกษุณี นั้นเป็นการกระทำที่ไม่ขัดต่อพระธรรมวินัย อีกทั้งยังมิได้ล่วงละเมิดมติของพระอรหันตเถระเมื่อครั้งปฐมสังคายนาที่ว่า “จะไม่เพิกถอนหรือเพิ่มเติมพระธรรมวินัย” ซึ่งนี้ก็เป็นสิทธิอับชอบธรรมของคณะสงฆ์ลังกาที่ผู้อื่นก็มิอาจล่วงละเมิดได้เช่นกัน
(๓) ดังนั้น สตรีไทยผู้มี “ฉันทะ” ในการอุปสมบท จึงต้องขวนขวายในการขออุปสมบทเป็นภิกษุณี จากคณะสงฆ์ลังกา ด้วยวิธี “ญัตติจตุตถกัมอุปสัมปทา” คือ การอุปสมบทจากภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว ซึ่งสามารถนับได้ว่าเป็นภิกษุณีที่ถูกต้องสมบูรณ์ ตรงตามพุทธบัญญัติทุกประการ ทั้งนี้ สตรีไทยผู้มี“ฉันทะ” ในการอุปสมบท ย่อมไม่จำเป็นต้องสืบประวัติเชื้อสาย “ภิกษุณีสงฆ์” ให้ยุ่งยากเพราะถ้าไม่มีภิกษุณีสงฆ์ มันก็คือไม่มี และนั้นก็มิใช่สาระสำคัญอะไรเลยแม้แต่น้อย สาระสำคัญของเรื่องนี้คือ ถ้ายังมีภิกษุณีสงฆ์ตั้งมั่นอยู่จริง สตรีนั้นก็สามารถอุปสมบทด้วยวิธี “อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา” คืออุปสมบทด้วยสงฆ์ ๒ ฝ่าย ตรงตามพุทธบัญญัติ แต่ถ้าภิกษุณีสงฆ์ไม่มีอยู่หรือเสมือนว่าไม่มีอยู่  ในกรณีนี้ สตรีไทยผู้มี “ฉันทะ” ในการอุปสมบท ย่อมสามารถอุปสมบทด้วยวิธี “ญัตติจตุตถกัมอุปสัมปทา” โดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียวได้ ซึ่งก็ไม่ผิดพุทธบัญญัติเช่นกัน ดังกรณีของเหล่าศากิยนารีประมาณ ๕๐๐ นั้นเป็นตัวอย่าง
(๔) หากแม้นผู้ใดกล่าวว่า พุทธานุญาตที่ให้ “ภิกษุทั้งหลายอุปสมบทภิกษุณี” นั้นใช้ไม่ได้ ก็ต้องถามกลับคืนไปว่า พระพุทธองค์ได้ทรงเพิกถอนพุทธานุญาตนี้เมื่อใด และมีหลักฐานปรากฏอยู่ที่ใดหรือไม่ และที่สำคัญก็คือ ชาวพุทธเถรวาท สามารถเพิกถอนพุทธานุญาตนี้ได้เองหรือไม่
(๕) เมื่อใดก็ตาม ที่ปรากฏว่าภิกษุณีสงฆ์สามารถตั้งมั่นได้ในประเทศไทยแล้ว เมื่อนั้นครุธรรม ๘ ประการ ข้อที่ ๖ ก็ย่อมมีผลบังคับใช้กับภิกษุณีในประเทศไทยโดยอัตโนมัติ ถัดจากนี้ไป สตรีไทยผู้มี “ฉันทะ” ในการอุปสมบท ก็ต้องอุปสมบทภิกษุณีด้วยวิธี “อัฏฐวาจิกาอุปสัมปทา” หรือ “ทูเตนะอุปสัมปทา” อย่างใดอย่างหนึ่ง
(๖) แต่ถ้าภายหลังจากนั้น กลับปรากฏว่าภิกษุณีสงฆ์หมดไปจากประเทศอีกครั้ง สตรีไทยผู้มี “ฉันทะ” ในการอุปสมบท ก็เพียงแต่ กลับไปขออุปสมบทภิกษุณี จากคณะสงฆ์ลังกา ด้วยวิธี “ญัตติจตุตถกัมอุปสัมปทา” จากสงฆ์เพียงฝ่ายเดียวอีกครั้งเท่านั้นเอง มิจำเป็นจะต้องไปจับจดอยู่กับการสืบสาวเชื้อสายของภิกษุณีสงฆ์แต่อย่างใดทั้งสิ้น และทั้งหมดนี้ก็คือกระบวนวิธีในการอุปสมบทภิกษุณีที่ถูกต้องตรงตามพุทธบัญญัติ และมติของพระอรหันตเถระ เมื่อครั้งปฐมสังคายนาทุกประการ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ชาวพุทธเถรวาททั้งหลาย จะสามารถพิจารณาตามกฎเกณฑ์และหลักการที่ถูกต้องชอบธรรมด้วยสติปัญญา อย่างรอบคอบและสร้างสรรค์
ปัญหาข้อขัดข้องเล็กน้อยบางประการเกี่ยวกับภิกษุณีในประเทศไทยขณะนี้คือ ยังมิได้มีการแก้ไขข้อกฎหมาย เพื่อรับรองสถานะนักบวช ซึ่งทางออกที่ดีที่สุดสำหรับเรื่องนี้คือ เป็นการสมควรอย่างยิ่ง ที่คณะสงฆ์จะร่วมมือกับผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด ดำเนินการแก้ไขกฎหมายพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ เพื่อรับรองสถานภาพภิกษุณี ที่ได้รับการอุปสมบทจากศรีลังกาเหล่านี้ ในฐานะนักบวชคณะสงฆ์อื่น เช่นเรียกว่า คณะสงฆ์ลังกา หรือ ฯลฯ เหมือนที่ใช้กับภิกษุจีนนิกาย และภิกษุอนัมนิกาย เพราะถ้าแก้ไขข้อกฎหมายโดยเพิ่มเติมข้อความดังนี้แล้ว
(๑) พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ ก็จะไม่ขัดแย้งกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย และ
(๒) คณะสงฆ์ไทยก็จะไม่สูญเสียจุดยืนทางพระธรรมวินัยที่จะไม่อุปสมบทภิกษุณี เพราะนี่ไม่ได้เป็นการรับภิกษุณีเหล่านี้เข้าไว้ในคณะสงฆ์ไทย เป็นแต่ให้สังกัดอยู่ในคณะสงฆ์อื่น ตามชื่อคณะสงฆ์ผู้ให้การอุปสมบทแก่ภิกษุเหล่านั้น จึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่าจะได้รับความเมตตาจากคณะสงฆ์ไทยตามสมควร

องค์กรพัฒนาสตรีชาวพุทธในประเทศไทย และ ฯลฯ
ในเนื้อหานี้จะกล่าวถึงองค์กรที่พัฒนาสตรีจากฐานพุทธศาสนา ที่รู้จักกันในวงกว้างมี่อยู่ ๔-๕ แห่ง จะขอกล่าวโดยย่อพอให้เห็นภาพรวม
๑.    เครือข่ายพุทธศาสนิกสัมพันธ์เพื่อสังคม (International Network of Engaged เรียกย่อว่า INEB) เป็นหนึ่งในเครือข่ายงานที่อาจารย์สุลักษณ์ ศิวรักษ์ดำริขึ้น ในเครือข่ายงานนี้เองมีหน่วยงานที่พัฒนาสตรีและนักบวชสตรีชาวพุทธอย่างเป็นระบบและต่อเนื่อง โดยจัดให้มีการอบรม ประชุม พบปะ ทั้งภายในประเทศและต่างประเทศ เป็นหน่วยงานที่พยายามสร้างองค์ความรู้และสานความเข้าใจโดยองค์รวม ให้มีความเข้าใจในพุทธศาสนาและองคาพายพที่เชื่อมโยง ทั้งระบบนิเวศน์ สังคม ศาสนา เศรษฐกิจ การเมือง เพื่อให้เกิดกลุ่มชาวพุทธที่เข้าใจคำสอนที่แท้จริง ขณะเดียวกันเข้าใจและเอื้ออาทรต่อสังคมและโลก มีหนังสือของหน่วยงานนี้และหน่วยงานในเครือข่ายที่ออกประจำ เช่น Seeds of Peace เสขิยธรรม ปาจารรยสาร เป็นต้น
๒.    มูลนิธิพุทธสาวิกา ดำเนินงานโดยธัมมนันทา สามเณรี (ดร. ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์) โครงการพุทธสาวิกาจัดอบรมสตรีชาวพุทธติดต่อกันมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๗ เพื่อสร้างฐานความรู้ให้แก่สตรี ขณะเดียวกันฝึกการสร้างสมดุลทางกายและจิต ตลอดจนฝึกให้สมาชิกได้รู้จักการมองปัญญาเชื่อมโยงกับปัญหาของตนและสังคม เพื่อนำไปสู่ความรู้จักเอื้ออาทรต่อสังคมโดยองค์รวม นอกจากนี้ยังฝึกสมาธิและสนทนาธรรมทุกอาทิตย์ ณ ที่ทำการของมูลนิธิ วัดทรงธรรมกัลยาณี ถนนเพชรเกษม กม. ๕๒ อ. เมือง จ. นครปฐม
มีจดหมายข่าวภาษาอังกฤษชื่อ Yasodtara รายงานความเคลื่อนไหวของสตรีชาวพุทธนานาชาติ ตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๒๗ จนถึงปัจจุบัน
๓.    มูลนิธิเสถียรธรรมสถาน ดำเนินงานโดยแม่ชีศันสนีย์ เสถียรสุต มีโครงการหลายโครงการ รวมทั้งบ้านสายสัมพันธ์ ซึ่งดูแลสตรีที่มีปัญหาจากความรุนแรงในสังคม ขณะเดียวกันก็มีโครงการอบรมสตรีให้รู้จักประยุกต์คำสอนในพระพุทธศาสนามาใช้ในการเจริญชีวิตในสังคมให้ดีขึ้น ออกนิตยสารชื่อ สาวิกา
๔.    วิทยาลัยมหาปชาบดีโคตมีเถรี ริเริ่มโดยแม่ชีคุณหญิงกนิษฐา วิเชียรเจริญ เป็นวิทยาลัยในสังกัดมหามกุฏราชวิทยาลัย เปิดให้การศึกษาระดับปริญญาตรีแก่แม่ชีและสตรีตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นต้นมา มีจุดประสงค์เพื่อยกระดับความรู้ให้แก่แม่ชี
๕.    ร.ร.ธรรมจาริณี ที่ปากช่อง ราชบุรี ดำเนินงานโดยแม่ชี



บรรณานุกรม
จำเนียร ทรงฤทธิ์.  ชีวประวัติพุทธอุบาสิกา.  กรุเทพฯ : บริษัท พิมพ์สวย จำกัด, ๒๕๕๑
ดร.ปาริชาต สุวรรณบุบผา.  รายงานการศึกษาวิวัยเรื่อง แม่ชีกับภารกิจทางการศึกษาในประเทศไทย. 
             กรุงเทพฯ
: โรงพิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย,๒๕๔๕
ธัมมนันทา สามเณรี.การสืบสายภิกษุณีสงฆ์ในศรีลังกา.กรุงเทพฯ : บริษัท ส่องสยาม จำกัด,๒๕๔๔
ธัมมนันทา. ถามตอบ เรื่อง ภิกษุณี.นครปฐม : มูลนิธิพุทธสาวิกา,๒๕๕๔
ธัมมนันทาภิกษุณี. ธัมมนันทา ธรรมะต้องธรรมดา.นครปฐม : มูลนิธิพุทธสาวิกา,๒๕๕๕
ธัมมนันทาภิกษุณี.  เรื่องของภิกษุณีสงฆ์.กรุงเทพฯ : บริษัท ส่องสยาม จำกัด,๒๕๔๗
นรินทร์ ภาษิต.  แถลงการณ์เรื่อง สามเณรี วัตร์นารีวงศ์.  พิมพ์ครั้งที่ ๒.  กรุงเทพฯ : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์ 
              พับลิสชิ่ง จำกัด
, ๒๕๔๔
ผศ. มานพ นักการเรียน.  พุทธศาสนากับสตรีศึกษา (Buddhism and Women’s Studies).  กรุงเทพฯ : โรง
              พิมพ์มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย
,๒๕๔๕
พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต).  ทัศนของพุทธศาสนาต่อสตรี และการบวชเป็นภิกษุณี.  พิมพ์ครั้งที่ ๗.  
              กรุงเทพฯ
: มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๔๔
พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตโต).  ปัญหาภิกษุณี บททดสอบสังคมไทย.  พิมพ์ครั้งที่ ๓.  กรุงเทพฯ
             : มูลนิธิพุทธธรรม, ๒๕๔๕
พิมพ์พันธุ์  หาญสกุล.  ธัมมนันทา : บนเส้นทางภิกษุณีโพธิสัตต์.  กรุงเทพฯ
             : อัมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิสชิ่ง จำกัด, ๒๕๕๔
ภิกษุณีธัมมนันทา.อรหันต์เถรีผู้เป็นเอตทัคคะ.นครปฐม : มูลนิธิพุทธสาวิกา,๒๕๕๐
ภิกษุณีธัมมนันทา.  ภิกษุณีกับบทบาทเรื่องเพศสภาพในสังคมไทย.  เชียงใหม่ : ศูนย์สตรีศึกษา
               คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
,๒๕๔๗
ภิกษุณีปุญสิมา.  ประมวลกำหนดสิขาบทในอุตตรนิกายว่าด้วย “สิขาบทของภิกษุณีตามคติพุทธศาสนา
                 มหายาน” (ฉบับแปลไทย).
กรุงเทพฯ
: เจี้ยน เทียน เจิน จำกัด, ๒๕๕๓
รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์.  ผู้ฟื้นภิกษุณีสงฆ์. พิมพ์ครั้งที่ ๒. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ร่วมด้วยช่วยกัน,
           ๒๕๔๗
รศ.ดร.ฉัตรสุมาลย์ กบิลสิงห์.  ผู้ฟื้นภิกษุณีสงฆ์ พลิกประวัติศาสตร์พุทธศาสนาไทย.  กรุงเทพฯ :
           สำนักพิมพ์พระอาทิตย์
, ๒๕๔๔
สามเณรีธัมมนันทา.  ภิกษุณี ผู้หญิงเก่งในดงขมิ้น.  กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ มงคลเทพ, ๒๕๔๕
หลวงพ่อประสิทธิ์ ถาวโร.  สตรีบรรลุธรรมเหมือนบุรุษ.  พิมพ์ครั้งที่ ๓.  กรุงเทพฯ
               : โรงพิมท์ศาลาแดง,๒๕๔๗
Ritti Janson.  ภิกษุณี...วิกฤต ฤา โอกาส.  กรุเทพฯ : บริษัท ส่องสยาม จำกัด, ๒๕๕๓


ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น