วันพฤหัสบดีที่ 20 ธันวาคม พ.ศ. 2555

การศึกษาของคณะสงฆ์ไทย

ความเป็นมา รูปแบบ และเป้าหมายการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย

๑. ความเป็นมาของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย
  
        การศึกษาของคณะสงฆ์ในพระพุทธศาสนานั้น ได้เริ่มต้นขึ้นตั้งแต่วันเพ็ญเดือน ๘ ของทุกปีที่ ๔๕ ก่อนพุทธกาล ขณะที่พระพุทธเจ้าได้เสด็จมาประทับรอยธรรมจักรด้วยการแสดงธัมมจักกัปปวัตตนสูตรโปรดพระปัญจวัคคีย์ ณ ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ใกล้เมืองพาราณสี จนได้บังเกิดพระอริยเจ้าผู้ได้รับการพัฒนาจนข้ามพ้นขีดขั้นของการศึกษาทั้งปวงที่มีอยู่ในโลก มาสู่ฝ่ายโลกุตระเป็นท่านแรกนับจากการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า เมื่อลองเปรียบเทียบจากนิยามของการศึกษา จะพบว่ามีนักการศึกษาได้ให้นิยามไว้หลากหลายแต่คล้ายคลึง เช่น เพลโต้ ได้กล่าวว่า การศึกษา คือ การค้นหาความจริงแท้ซึ่งเป็นสิ่งสากล เป็นสัจจะและมีความเป็นนิรันดร์ หรือ จอห์น ดิวอี้ นักการศึกษาสมัยใหม่ได้นิยามการศึกษาไว้ว่า การศึกษา คือ ความเจริญงอกงาม การศึกษา คือ ขบวนการทางสังคม การศึกษา คือ ชีวิต ทางฝ่ายนักการศึกษาไทย ก็มองการศึกษาไม่ได้แตกต่างกันนัก โดยให้ความหมายว่า การศึกษา คือ ความเจริญงอกงามของชีวิต คือ กระบวนการกำจัดอวิชชาสำหรับมนุษย์ เป็นการนำความกระจ่างสู่จิตและทำให้เกิดปัญญา จนกระทั่งการศึกษา คือ การทำให้มนุษย์เป็นผู้ถูกต้องและสมบูรณ์ เพื่อให้ได้มาซึ่งสติปัญญา มีวิชาชีพ และมนุษยธรรมตลอดถึงการกำจัด ราคะ โทสะและโมหะ จากข้อมูลเหล่านี้อาจสรุปได้ว่า การศึกษา คือ การพัฒนาชีวิตให้เจริญงอกงามถึงขีดสุดด้วยการกำจัดราคะ โทสะและโมหะ เพื่อนเข้าถึงความจริงแท้ซึ่งเป็นสัจจะ และมีความเป็นนิรันดร์ เมื่อมองการศึกษาโดยความหมายนี้ก็จะสามารถนำสวมทับกับความหมายของการพัฒนาจนเข้าถึงโลกุตระในฝ่ายพระพุทธศาสนาได้อย่างมีเหตุมีผล ดังนั้นจึงกล่าวได้ว่าการศึกษาในพระพุทธศาสนา ได้เริ่มต้นขึ้นนับตั้งแต่มีผู้สามารถพัฒนาตนเองจนเข้าถึงโลกุตรธรรมได้ ซึ่งอีกนัยหนึ่งก็เป็นการรับรองคำกล่าวที่ว่า “ศาสนาพุทธเป็นศาสนาแห่งการศึกษา” เพราะศาสนาพุทธนั้นมีจุดเริ่มต้นมาจากการศึกษานั่นเอง

          ในการศึกษาช่วงต้นของพระพุทธศาสนานั้น เป็นการศึกษาที่เรียนรู้จากพระพุทธเจ้าโดยตรงบ้าง จากพระอรหันต์พุทธสาวกบ้าง ด้วยการท่องจำปากเปล่า เรียกว่า “มุขปาฐะ”บ้าง ซึ่งทั้งหมดเป็นกิจอันพึงกระทำในฝ่ายคันถธุระ เมื่อเรียนแล้วนำไปปฏิบัติเรียกว่าวิปัสสนาธุระ ครั้งประมารปี พ.ศ.๓๖๐ พระพุทธศาสนาถูกนำเข้ามาประดิษฐานในดินแดนสุวรรณภูมิ โดยพระโสณะและพระอุตตระ ซึ่งสันนิษฐานกันว่าเป็นที่จังหวัดนครปฐมโดยมีโบราณสถานและโบราณวัตถุต่างๆเป็นประจักษ์พยานอยู่จนบัดนี้ ภายหลังจากที่พระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ดินแดนสุวรรรภูมิแล้ว จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่ายังไม่ได้มีการจดบันทึกความเคลื่อนไหวใดๆในระยะนี้ จนกระทั่งมาถึงปี พ.ศ.๑๒๐๕ เมื่อพระนางจามเทวีได้ทรงอาราธนาพระสงฆ์ผู้ทรงพระไตรปิฎกจำนวน ๕๐๐ รูป ไปยังเมืองลำพูนเพื่อสร้างความเจริญทางด้านต่างๆให้แก่เมืองหริภุญไชย หลังจากนั้นพระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทก็เริ่มมีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างต่อเนื่องอยี่ในเมืองล้านนาและในเมืองสุโขทัย จนมีการบันทึกความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาที่เกิดขึ้นในอาณาจักรล้านนาไว้ว่า ในปี พ.ศ.๒๐๒๐ มีการสังคายนาพระไตรปิฎกครั้งที่ ๘ ของโลกขึ้นที่วัดเจ็ดยอดหรือวัดมหาโพธาราม นับตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์ของเมืองล้านนาจึงมีการศึกษาพระไตรปิฎกอย่างแตกฉาน และมีความเชี่ยวชาญในภาษาบาลีเป็นอย่างยิ่ง ทั้งนี้เห็นได้จากการที่พระสงฆ์สมัยนั้นสามารถรจนาหนังสือที่ทรงอิทธิพลต่อสังคม เป็นภาษาบาลีไว้หลายเล่มซึ่งก็ยังมีปรากฏให้เห็นอยู่ในปัจจุบัน ดังเช่น มงคลัตถทีปนี ที่แต่งโดยพระสิริมังคลาจารย์ใน พ.ศ.๒๐๖๗ หรือปัญญาสชาดกที่รจนาขึ้นในช่วงประมาณ พ.ศ.๒๐๐๐ ที่นับได้ว่าอยู่ในยุคสมัยเดียวกัน
          หลังจากพระพุทธศาสนาถูกถ่ายทอดออกสู่สังคมโลกแล้ว สิ่งที่เหมือนกันอย่างหนึ่งของการศึกษาฝ่ายคันถธุระของสงฆ์ในยุคหลังพุทธกาลสืบมา คือการนำเอาภาษามคธ หรือที่พระพุทธโฆสะ ได้นำคำว่า “บาลี” มาใช้เรียกแทนภาษามคธตั้งแต่ในพุทธศตวรราที่ ๑๐ มาเป็นภาษากลางในการจารึกพระไตรปิฎก ซึ่งเป็นคัมภีร์หลักในพระพุทธศาสนารวมทั้งอรรถกถา และฎีกาต่างๆซึ่งเป็นคัมภีร์ชั้นรอง ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นที่แห่งใดในโลกจึงต้องถูกเริ่มต้นด้วยการศึกษาภาษาบาลีก่อนเพื่ออ่านแปลพระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา และโยชนาต่างๆ ซึ่งกระบวนการศึกษาของสงฆ์ไทยตั้งแต่สมัยโบราณเองก็เริ่มจากการศึกษาภาษาบาลีก่อนเช่นเดียวกัน โดยจะเป็นไปตามลำดับขั้นตอน เรียกว่า “วงศ์ปริยัติ” คือเริ่มศึกษาจากคัมภีร์กลุ่มสัททาวิเสส จนแตกฉานในหลักไวยากรณ์แล้ว จึงเริ่มศึกษาคัมภีร์พระไตรปิฎก อรรถกถา ฎีกา อนุฎีกา คัณฐี และโยชนา ปัจจุบันการศึกษาของสงฆ์ฝ่ายไทยนั้นยังคงให้ความสำคัญกับการศึกษาบาลีเป็นอย่างมาก จนถึงกับมีความเข้าใจกันอย่างกว้างขวางว่า การศึกษาภาษาบาลีคือการศึกษาพระไตรปิฎก และในทางกลับกันการศึกษา
พระไตรปิฎกคือการศึกษาภาษาบาลี
ความเป็นมาของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย อาจแบ่งยุคสมัยตามหลักฐานที่มีปรากฏในหน้าประวัติศาสตร์ได้ดังต่อไปนี้ คือ
                   สมัยสุโขทัย
สมัยอยุธยา
สมัยธนบุรี
สมัยรัตนโกสินทร์ยุคต้น(รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔)
                   สมัยรัตนโกสินทร์ยุคใหม่(รัชกาลที่ ๕ ถึงปัจจุบัน)

๑.๑ สมัยสุโขทัย
          การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีนั้น ปรากฏหลักฐานว่ามีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในยุคของพ่อขุนรามคำแหง ดังจะเห็นได้จากการที่พระองค์ทรงมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนามากเป็นพิเศษ จนถึงกับทรงส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรมีการศึกษาคัมภีร์พระพุทธศาสนาจากพระไตรปิฎกอย่างจริงจัง แม้แต่ตัวพระองค์เองก็ทรงสั่งสอนประชาชนตามหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาไปพร้อมกันด้วย
          ตามบันทึกกล่าวว่า พ่อขุนรามคำแหงทรงมีความศรัทธาต่อพระเถระรูปหนึ่ง คือ พระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนี แห่งเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งท่านเป็นผู้ทรงความรู้แตกฉาน โดยมีความเป็นไปได้ว่าพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีนี้ จะได้รับการศึกษาบาลีมาในแบบลังกาวงศ์จนเชี่ยวชาญ จนถึงกับมีการจารึกข้อความที่เกี่ยวข้องกับการเดินทางไปสังเกตการณ์รูปแบบการศึกษาต่างๆของชาวศรีลังกาด้วยตนเอง ไว้ในบันทึกที่ปรากฏอยู่ในศิลาจารึกของวัดศรีชุม(ประมาณ พ.ศ.๑๘๘๔ ๑๙๑๐) โดยเนื้อหาในจารึกได้เล่าเรื่องการจาริกแสวงบุญของพระมหาเถรศรีศรัทธาราชจุฬามุนีไว้ว่า ท่านได้เดินทางไปตามปูชนียสถานต่างๆ จนกระทั่งถึงเกาะลังกา ต่อมาภไว้ว่า ท่านได้เดินทางไปตามปูชนียสถานต่างๆ จนกระทั่งถึงเกาะลังกา ต่อมาภายหลังเมื่อพ่อขุนรามคำแหงได้ทรงโปรดให้ไปอาราธนาท่านมายังเมืองสุโขทัยเพื่อแต่งตั้งให้เป็นหัวหน้าคณะสงฆ์ ท่านจึงได้นำเรื่องราวและวัฒนธรรมของลังกาวงศ์มาเผยแพร่ในสุโขทัย ท่านถึงกลับมีการส่งพระไทยไปศึกษากับคณะสงฆ์ลังกาพร้อมกับอาราธนาพระสงฆ์จากศรีลังกามาสอนในประเทศไทย จึงกลายเป็นว่ารากฐานการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยได้ยึดลังกาวงศ์เป็นแม่แบบตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา ดังปรากฎข้อความในจารึกว่า “มีวัตรปริบัติดูเยื่องสิงหลทุกอัน มักถเมรเทศแสวงหาปริชญาธุเศษ รู้ทุกภาษา มักกระทำเพียรพยายาม กลางคำบ่ยืน กลางคืนบ่อยู่ เทียรปรารถนาโพธิสมภาร..” ถอดความได้ดังนี้ “มีวัตรปฏิบัติเหมือนลังกาวงศ์ทุกอย่าง ชอบออกแสวงหานักปราชญ์ รู้ทุกภาษา ขยันหมั่นเพีนรทั้งกลางวันกลางคืน เพียรปรารถนาโพธิสมภาร”
          ในสมัยการศึกษาเล่าเรียน ปริยัติธรรมคงจะเป็นที่นิยมเรียนกันอย่างจริงจังทั้งฝ่ายบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งนี้อาจเป็นเพราะพ่อขุนรามคำแหงเองก็ทรงเป็นครูผู้สอนธรรมในสมัยนั้นด้วย ดังมีปรากฏใน ศิลาจารึกด้านที่ ๔ ตอนที่ ๔ ว่า “พ่อขุนรามคำแหงนั้นหาเป็นท้าวเป็นพระญาแก่ไทยทั้งหลาย หาเป็นครูอาจารย์สั่งสอนไทยทั้งหลายให้รู้บุญรู้ธรรมแท้”
          ข้อความในตอนนี้แสดงให้เห็นว่า ฐานะของครูอาจารย์ที่สอนธรรมในสมัยนั้นเป็นฐานะที่มีเกียรติยิ่ง เพราะแม้แต่ผู้เป็นพระมหากษัตริย์ก็ทรงดำรงอยู่ในฐานะนี้ นอกจากนี้พระราชนิพนธ์คัมภีร์ไตรภูมิ    พระร่วงของพระเจ้าลิไทก่อนเสด็จขึ้นเสวยราชสมบัติ ก็ถือกำเนิดในช่วงนี้อีกด้วย จึงเห็นได้ว่าประชาชนในสมัยนั้นให้ความสำคัญกับการศึกษาธรรม และยกย่องผู้ที่ศึกษาธรรม แม้แต่องค์พระมหากษัตริย์เองก็จะต้องเกี่ยวข้องกับการศึกษาธรรมไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง อันแสดงให้เห็นว่า ยุคสุโขทัยในช่วงนั้นการศึกษาพระปริยัติธรรมคงเจริญรุ่งเรืองมาก ทั้งนี้ก็เพราะได้รับพระบรมราชูปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์ มีพ่อขุนรามคำแหง เป็นต้น ทำมห้คุณค่าและค่านิยมของการศึกษาธรรมได้เจริญงอกงามขึ้นอย่างมั่นคงในแผ่นดินไทยสืบมาถึงปัจจุบัน
          ต่อมาในสมัยของพระเจ้าลิไท (พ.ศ.๑๘๙๐ ๑๙๑๑) การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยก็ยังคงได้รับการสนับสนุนอย่างต่อเนื่องจากฝ่ายสถาบันกษัตริย์ ทั้งนี้ก็ด้วยความที่พระเจ้าลิไททรงมีความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมากดุงเดียวกับพ่อขุนรามคำแหง จนถึงกับทรงมีรับสั่งให้นิมนต์พระมหาสามีสังฆราชเมืองลังกาชื่อว่า “สุมนะ” มาเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วทรงเสด็จออกผนวชเป็นพระภิกษุอยู่ชั่วคราว ณ วัดอรัญญิก ซึ่งการออกผนวชของพระเจ้าลิไทนี้ ถือได้ว่าเป็นการสร้างแบบแผนใหม่ที่เรียกว่า “การบวชชั่วคราว” ที่นับเป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของสังคมไทยนับตั้งแต่นั้นมา และอีกประการหนึ่งที่เป็นเครื่องยืนยันในความเลื่อมใสของพระองค์ คือพระอัจฉริยภาพด้านภาษาบาลีของพระองค์ที่ได้ทรงนิพนธ์คัมภีร์ไตรภูมิพระร่วงเป็นภาษาไทย โดยได้มีการระบุชื่อคัมภีร์บาลีที่มาของเรื่อง และเวลาดำเนินเรื่องก็จะมีการยกภาษาบาลีเป็นอารัมภบทไปตลอดคัมภีร์ นับว่าเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสยามประเทศที่พระมหากษัตริย์ทรงผนวช อีกทั้งทรงพระราชนิพนธ์คัมภีร์ทางศาสนา ซึ่งในเวลาต่อมาพระองค์ก็ทรงอนุญาติให้ใช้สถานที่ในพระราชวังคือ พระราชมณเฑียร เป็นที่ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเถรอีก ดังมีปรากฏในประชุมพงศาวดาร ภาค ๑ ความว่า “ทรงเผดียงสงฆ์ทั้งหลาย ให้มาเล่าเรียนพระไตรปิฎกธรรม และศึกษาศิลปะศาสตร์ต่างๆในบริเวณมหาปราสาทนั้น นี่เป็นอีกประการหนึ่งที่นักประวัติศาสตร์ได้ถือว่าเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีการสอนพระปริยัติธรรมในพระราชสำนัก สิ่งใหม่ๆที่เกิดขึ้นในยุคของพระเจ้าลิไทนี้นับเป็นประจักษ์พยานแห่งความรุ่งเรืองของการศึกษาฝ่ายสงฆ์ได้เป็นอย่างดี
          ต่อมาในตอนปลายของยุคเมื่อพระเจ้าลือไทยครองกรุงสุโขทัย การปกครองทางฝ่ายบ้านเมืองอ่อนแอลง การพระศาสนาก็เริ่มแตกแยกกันระหว่างฝ่ายอรัญญวาสี และฝ่ายคามวาสี ต่อมาเมื่อฝ่ายคามวาสีเริ่มมีอิทธิพลต่อราชสำนักและในหมู่ประชาชนทั่วไปมากขึ้น การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติก็ค่อยๆอ่อนแอตามลงไปด้วย
          โดยสรุปแล้วในสมัยสุโขทัยนี้ การศึกษาของฝ่ายสงฆ์เป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างความเจริญรุ่งเรืองให้แก่พระพุทธศาสนา ในทางกลับกันพระพุทธศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นก็เพื่อให้การศึกษาแก่สังคม จึงนับได้ว่าการพระศาสนาในยุคนั้นเป็นยุคทองของการศึกษา ที่มีหลักพระธรรมคำสั่งสอนเป็นสื่อกลางผ่านทางการศึกษาของคณะสงฆ์ คณะสงฆ์ยุคนี้จึงมีความขวนขวายและเอาจริงเอาจังกับการเรียนพระปริยัติธรรมเป็นอย่างยิ่ง จนเรียกได้ว่าการศึกษาของคณะสงฆ์ในยุคนี้เป็นการสร้างฐานอันมั่นคงให้แก่ฝ่ายสงฆ์สำหรับบทบาทความเป็นผู้นำในด้านความรู้และจิตวิญญาณของสังคม
๑.๒ สมัยอยุธยา
          เมื่อสมัยสุโขทัยอ่อนแอลงทั้งฝ่ายบริหารและฝ่ายการทหาร  ทางกรุงศรีอยุธยาก็เริ่มมีอำนาจขึ้น และไม่ยอมขึ้นตรงกับกรุงสุโขทัยเช่นแต่ก่อน  ในที่สุดก็จัดตั้งกรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานีทั้งยังรวมเอากรุงสุโขทัยมาขึ้นกับกรุงศรีอยุธยาอีกด้วย
          จากพระราชพงศาวดารกรุงศรีอยุธยาหลายฉบับ ในยุคต้นแห่งกรุงศรีอยุธยานั้นมิได้ระบุถึงการศึกษาของสงฆ์อย่างชัดเจนลงไป  ส่วนมากจะเป็นเรื่องราวทางการเมือง พระราชกรณียกิจ และการศึกสงคราม ในส่วนศาสนาจะพบเพียงแต่การสร้างวัดวาอารามเท่านั้น เมื่อศึกษาจากบริบทโดยรวมในบันทึกประวัติศาสตร์ก็จะพบว่ากษัตริย์ผู้ปกครองกรุงศรีอยุธยาในช่วงนี้ไม่ได้สนพระทัยเรื่องการศาสนาดั่งเช่นสมัยสุโขทัยเป็นราชธานี การศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมก็ปล่อยให้เป็นไปตามอัธยาศัย ฝ่ายคามวาสีที่เคยมีอำนาจในพระราชสำนักและหมู่ประชาชนในสมัยกรุงสุโขทัยพอมาถึงสมัยกรุงศรีอยุธยาก็เสื่อมอำนาจลง ตรงกันข้ามกับฝ่ายอรัญญวาสีที่กลับมามีความเจริญรุ่งเรืองขึ้นตามลำดับ เพราะเน้นการเรียนไสยศาสตร์เวทมนต์คาถาทำให้ประชาชนมีความหลงใหล ผู้ที่เข้ามาบวชก็ศึกษาอาคมเป็นต้นเหตุให้ละเลยการศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นเหตุให้พระศาสนาเสื่อมลง
          เมื่อต่อมาช่วงกลางของยุคอาณาจักรอยุธยาเริ่มตั้งแต่พ.ศ. ๒๐๓๑-๒๑๗๒มีปรากฏร่องรอยของการศึกษาพระปริยัติธรรมของคณะสงฆ์ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม (พ.ศ. ๒๑๕๓-๒๑๗๑) จากหลักฐานพบว่าการศาสนาจะเสื่อมลงไปแต่พระสงฆ์ในพระนครศรีอยุธยาก็ยังมีการจักการศึกษากันอยู่และพระหากษัตริย์เมื่อครั้งยังเป็นพระศรีศิลป์ผนวชอยู่วัดระฆังได้ศึกษาบาลีจนชำนาญพระไตรปิฎกจนได้รับสมณศักดิ์ที่พระพิมลธรรมอนันตปรีชา ต่อมาเมื่อพระองค์ได้เสด็จขึ้นเสวยพระราชสมบัติจึงได้ให้การสนับสนุนการศึกษาพระปริยัติธรรมแก่คณะสงฆ์เป็นอย่างมาก ดั่งที่เห็นจากการที่พระองค์ทรงเสด็จออกบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรด้วยตัวพระองค์เองอยู่เสมอ ซึ่งมีปรากฏอยู่ในพงศาวดารกรุงเก่าตอนหนึ่งว่า “สมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ทรงได้ศึกษาพระปริยัติธรรมชำนิชำนาญมาตั้งแต่ยังผนวช ครั้งเสด็จขึ้นครองราชย์สมบัติแล้วทรงศรัทธาเสด็จออกบอกหนังสือพระภิกษุสามเณรที่นั่งจอมเกล้า๓หลังเนืองๆ”
          จากบันทึก เยเรเมียส ฟาน ฟลีต (Jeremias van Vlite) หรือที่คนไทยเรียกว่า วันวลิต ได้สังเกตการณ์และจดบันทึกเรื่องราวของพระสงฆ์ในสมัยพระเจ้าปราสาททอง (พ.ศ. ๒๑๗๒-๒๑๙๙) ซึ่งทำให้เราเห็นภาพรวมของการศึกษาของคณะสงฆ์ดังนี้คือ “ในวัดทุกวัด เจ้าอาวาส สงฆ์ ไวยาวัจกรและคนรับใช้ประจำวัดอ่านและสวดมนต์ในช่วงตอนเช้าและตอนเย็น พวกสงฆ์ไม่สะสมทรัพย์สมบัติทั้งที่ไม่กระหายที่จะได้สิ่งของใดๆหรือความร่ำรวยของโลกอื่นใด”
          จนกระทั่งถึงสมัยของพระนารายณ์มหาราช(พ.ศ. ๒๑๙๙-๒๒๓๑) พระองค์ทรงเห็นว่าพระพุทธศาสนาต้องเผชิญทั้งภัยในและภัยนอกคือการถูกลัทธิภายนอกเข้ามาย่ำยีดูหมิ่นดังคำที่มงเซเญอร์ ปาลเลกัวซ์ ผู้ประกาศศาสนาชาวคริสตังกล่าวไว้ว่า
อาชีพของพระนั้นดูจะไดรับผลประโยชน์มากเพราะพวกผู้หญิงชอบเอาของไปถวายเสมอและถ้าพระนั้นเป็นนักเทศก็สะสมเงินทองและสึกออกไปตั้งเนื้อตั้งตัวได้ อนึ่ง พระมีอภิสิทธิ์มาก ด้วยเหตุนี้จึงอาศัยผ้าเหลืองหาผลประโยชน์ให้แก่ตนเองโดยไม่ต้องเสียแต่อย่างใด
          อีกทั้งยังประสบกับภัยในการเชื่อถือของประชาชนชาวไทยที่คลุกเคล้าอยู่กับไสยศาสตร์เวทมนต์คาถาอาคมทำให้เกิดการเห็นผิดเป็นชอบและมีการปลอมมาบวชในพระพุทธศาสนามากมาย พระองค์จึงมีการดำริว่าถ้าปล่อยให้พระพุทธศาสนาเป็นเช่นนี้ต่อไปคงถึงการอวสานไปในที่สุดแน่ พระองค์จึงอุปถัมภ์พระพุทธศาสนาโดยโปรดให้มีการฟื้นฟูการจัดการเล่าเรียนศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทยถ้าผู้ใดสอบได้ดีก็จะให้อยู่ในพุทธศาสนาต่อไป ส่วนผู้ใดสอบตกก็โปรดให้ลาสมณะเพศและดำเนินคดีตามกบิลเมืองต่อไป ด้วยเหตุนี้พระนารายณ์มหาราชจึงทรงโปรดให้คณะสงฆ์ดำเนินการด้านการสร้างโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น เพื่อให้กุลบุตรผู้เข้ามาบวชทุกรูปได้ศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมอย่างจริงจังคำว่า “บวชเรียน” จึงตั้งขึ้นมาตั้งแต่สมัยนั้นเป็นต้นมาโดยมีวัตถุประสงค์สามประการคือ
          ๑.เพื่อดำรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา
          ๒.เพื่อกำจัดผู้ที่เข้ามาอาศัยพระพุทธศาสนาโดยวิธีที่ไม่ชอบธรรม
          ๓.เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งพระสัทธรรม
          การศึกษาของฝ่ายสงฆ์ในช่วงปลายของกรุงศรีอยุธยาก็ยังได้รับการสนับสนุนจากฝ่ายบ้านเมืองอย่างต่อเนื่อง เพราะพระมหากษัตริย์ในสมัยอยุธยาส่วนใหญ่ยังคงบำเพ็ญพระราชกรณียกิจทางด้านศาสนาเป็นส่วนมาก เช่นการออกผนวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนาก่อนจะมีพระบรมราชาภิเษก ซึ่งการที่พระมหากษัตริย์ไทยทุกพระองค์ที่จะต้องทรงเสริมศาสนานี้ในทางหนึ่งอาจเป็นเพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือทางที่ช่วยส่งเสริมปกครองโดยเฉพาะการส่งเสริมเรื่อง “พระญาจักรพรรดิราช” ซึ่งถือว่ายิ่งใหญ่กว่ากษัตริย์ทั้งหลายผู้ที่เป็นพระญาจักรพรรดิราชต้องอาศัยอำนาจบุญที่ทำมาตั้งแต่อดีตทั้งจะต้องเป็นผู้รู้ทั้งทางธรรมและทางโลกดังในพระพุทธศาสนาการบ้านเมืองจึงต้องพึ่งพาอาศัยในลักษณะที่เรียกว่า “น้ำพึ่งเรือ เสือพึ่งป่า”
          ปัจจัยสำคัญที่สนับสนุนพระภิกษุสงฆ์สามเณรศึกษาเล่าเรียนพระปริยัติธรรมประการหนึ่ง ที่เกิดในสมัยกรุงศรีอยุธยาคือการกำหนดให้พระสงฆ์สามเณรที่บวชเรียนจนรู้ธรรมมีศักดินาสูงกว่าสามเณรและภิกษุที่ไม่รู้ธรรม เพื่อให้เป็นการให้กำลังใจแก่ภิกษุสามเณรที่มุ่งศึกษาพระปริยัติธรรมเมื่อมาบวชเรียนแล้วและจะได้ไม่ประพฤติผิดพระธรรมวินัยบัญญัติให้เป็นการเสื่อมเสียพระพุทธศาสนาซึ่งนับเป็นส่วนหนึ่งของการของพระราชกรณียกิจในด้านการทะนุบำรุงศาสนาที่พระมหากษัตริย์ได้ทรงยึดถือเป็นแบบแนวปฏิบัติมาโดยตลอด
          การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในช่วงสมัยอยุธยานี้ แม้ว่าบ้างช่วงจะเผชิญหน้ากับวิกฤตการศึกษาที่ภิกษุสามเณรบางกลุ่มหันหลังให้กับการศึกษาฝ่ายปริยัติแล้วหันไปเอาดีทางด้านการศึกษาไสยศาสตร์ เวทมนต์คาถา แต่พระศาสนายังได้รับการอุปถัมภ์ค้ำชูจากพระมหากษัตริย์ที่ปรีชาจนสามารถข้ามพ้นวิกฤตและสามารถส่งเสริมการศึกษาของฝ่ายสงฆ์ให้มั่นคงขึ้นได้ ทั้งนี้เพราะการศึกษาของฝ่ายสงฆ์เป็นการศึกษาต้นแบบทั้งด้านศีลธรรมจรรยาและด้านศิลปวิทยาของการบ้านการเมืองดังนั้นการศึกษาของฝ่ายสงฆ์จึงมีส่วนได้รับการพัฒนาจากฝ่ายบ้านเมืองอยู่เนื่องๆจนกระทั่งสิ้นยุคสมัยของกรุงศรีอยุธยา

๑.๓ สมัยธนบุรี
          หลังจากอยุธยาเสียกรุงเมื่อพ.ศ. ๒๓๑๐ ทั้งพระไตรปิฎกและเจดียสถานทั้งปวงก็เป็นอันตรธานสาบสูญ สมณะผู้ที่ศึกษาร่ำเรียนพระไตรปิฎกก็พลัดพรากล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อพระเจ้ากรุงศรีขึ้นครองราชทรงประกอบพระราชกรณียกิจอย่างหนักหน่วงถึงแม้ทรงตรากตรำรำศึกแทบตลอดรัชสมัยแต่พระองค์ก็มิได้ละเลยที่จะทะนุบำรุงศาสนาโดยเฉพาะเรื่องพระปริยัติธรรมดั่งที่พระองค์ได้มีพระบรมราชองค์การสั่งพระศรีภูวปรีชาราชเสนาบดีศรีสาลักษณ์ให้สืบเสาะหาพระสงฆ์เถรานุเถระผู้รู้อรรถและธรรมทรงแต่งตั้งให้พระเถรานุเถระทั้งหลายเป็นพระราชาคณะฐานานุกรมน้อยใหญ่ตามสมณะฐานันดรศักดิ์เหมือนอย่างแต่ก่อนให้อยู่ในพระอารามต่างๆในกรุงธนบุรีเพื่อคอยสั่งสอนกล่าวคันถธุระและวิปัสนาธุระแก่พระสงฆ์สามเณรทั้งปวงและในปลายรัชสมัย พระองค์ทรงส่งพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิและทรง     สมณศักดิ์แยกย้ายกันไปนำพระคัมภีร์วิสุทธิมรรคจากกัมพูชา และนครศรีธรรมราชมาดำเนินการคัดลอกไว้ในกรุงธนบุรี เพื่อให้การศึกษาและเล่าเรียนของบรรดาพระภิกษุสงฆ์ดำเนินไปตามแบบอย่างของกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ทำได้ไม่เต็มที่นักเพราะบ้านเมืองอยู่ในระหว่างกอบกู้เอกราช
๑.๔ สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น (รัชกาลที่ ๑ ถึงรัชกาลที่ ๔)
          การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในสมัยรัตนโกสินทร์นั้น ได้เริ่มต้นขึ้นใหม่พร้อมกับการสร้างเมืองอมรนครรัตนโกสินทร์แห่งใหม่เริ่มตั้งแต่การรวบรวมคัมภีร์ที่สูญหายไปในขณะแตกกรุงของอยุธยา ซึ่งในยุคสมัยนี้จะปรากฏภาพการฟื้นตัวและพัฒนาสู่ก้าวต่อไปของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยอย่างเด่นชัดกว่ายุคก่อนๆ โดยช่วงต้นแห่งรัตนโกสินทร์ การศึกษาของคณะสงฆ์จะผสมผสานกับการศึกษาในระบบใหม่ที่ค่อยๆแทรกซึมเข้ามา จนกระทั่งในที่สุดจะนำไปสู่การปฏิรูปใหญ่ของการศึกษาทั้งฝ่ายบ้านเมืองและฝ่ายการสงฆ์
          เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกทรงประดิษฐานกรุงเทพมหานครอมรรัตนโกสินทร์ฯแล้ว พระองค์ทรงเอาพระทัยปัญหาเกี่ยวกับพระพุทธศาสนาเป็นอันดับแรก เพราะพระองค์ทรงเชื่อว่าพระศาสนาเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่งต่อจิตใจของประชาชน โดยเฉพาะในขณะที่บ้านเมืองกำลังตกอยู่ในสภาพบ้านแตกสาแหรกขาด พระองค์ทรงเห็นว่าการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่สำคัญอันจะเป็นการสืบอายุพระพุทธศาสนานั้นจำเป็นต้องมีการชำระพระไตรปิฎกเสียใหม่ ดังนั้นในปี พ.ศ.๒๓๓๑ จึงเกิดการสังคายนาชำระพระไตรปิฎกขึ้น ซึ่งใช้เวลาทั้งสิ้น ๕ เดือนจึงแล้วเสร็จ นับว่าการชำระพระไตรปิฎกครั้งนี้เป็นการส่งเสริมการศึกษาของพระสงฆ์สามเณรที่สำคัญยิ่ง เพราะเมื่อมองย้อนไปในสมัยพุทธกาล พระพุทธศาสดาเองก็ได้ตรัสไว้แล้วว่า “อานนท์บางทีพวกเธออาจจะคิดว่า ปาพจน์มีพระศาสดาล่วงลับไปแล้ว พวกเราไม่มีพระศาสดา ข้อนี้พวกเธอไม่พึงเห็นอย่างนั้น ธรรมและวินัยที่เราแสดงแล้วบัญญัติแล้วแก่เธอทั้งหลาย หลังจากเราล่วงลับไป ก็จะเป็นศาสดาของเธอทั้งหลาย”
          พุทธดำรัสนี้แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของพระธรรมวินัยหรือก็คือสิ่งที่มีปรากฏอยู่ในประไตรปิฎก ที่เป็นประดุจองค์แทนของพระศาสดา ถ้าพระไตรปิฎกถูกชำระอย่างถูกต้อง การพระศาสนาก็ย่อมดำเนินไปได้ด้วยดี และสิ่งที่เด่นชัดอีกอย่างหนึ่งในรัชสมัยนี้คือการที่พระองค์ทรงเอาพระทัยใส่ในการเล่าเรียนพระไตรปิฎกของคณะสงฆ์เป็นอย่างยิ่ง จนถึงกับโปรดให้ราชบัณฑิตบอกพระปริยัติธรรมแก่พระภิกษุสามเณรที่หอพระมณเฑียรธรรมในวัดพระศรีรัตนศาสดารามมาแต่แรกสร้าง
          นอกจากนี้พระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลก ก็ยังมีการประกาศใช้กฎพระสงฆ์ ตั้งแต่ปีแรกที่ขึ้นครองราชย์ (พ.ศ.๒๓๒๕) จนถึงปี พ.ศ.๒๓๔๔ รวมจำนวนทั้งสิ้น ๑๐ ฉบับ เพื่อเป็นการกวดขันพระภิกษุให้ปฏิบัติตนให้ถูกต้องตามพระวินัยและเป็นการส่งเสริมให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาพระปริยัติธรรมอีกด้วย ดังกฎพระสงฆ์ข้อ ๔ ที่กำหนดให้ผู้ที่บวชเป็นภิกษุสามเณรศึกษาเล่าเรียนคันถธุระและวิปัสสนาธุระ โดยให้เป็นหน้าที่ของพระราชาคณะที่จะต้องเร่งตักเตือนพิจารณา ดังความตอนหนึ่งว่า
เปนประเวณีในพระพุทธสาศนาสืบมาแต่ก่อน มีพระพุทธฎักาโปรดไว้ให้ภิกษุสามเรรอันบวดในพระสาศนารักษาธุระสองประการ คือ คุนฐธุระวิปัศนาเปนที่ยุดหน่วงถึงน้ำ จิตรจะแปรไปในกิเลศวัดถุกามก็ดี ย่อมคิดถึงธุระทั้งสองประการ จิตรนั้นก็สงบลง . . . แต่นี้สืบไปเมื่อน่า ห้ามอย่าให้มีภิกษุโลเลละวัฏะประนิบัด แลปัติญาณตัวว่าเปนกิจวัด มิไดร่ำเรียนธุระทั้งสองฝ่าย อย่าให้มีได้เปนอันขาดทีเดียว อนึ่งบวดเข้าแล้วให้อยู่ในหมู่คณะ สำนักนิ์อุปรฌาอาจารยๆ จะตั้งใจประนิบัดรักษาสิกขาบท อย่าโลเลให้     ศิศยเอาเยี่ยงหย่าง และพระสาศนาจะรุ่งเรืองขึ้นนั้นเพราะพระราชาคณะ ให้พระราชาคณะเร่งตักเตือนพิจารณา
การที่พระมหากษัตริย์ทรงกวดขันให้ภิกษุสามเถรศึกษาเล่าเรียนนั้นก็น่าจะเป็นเพราะพระองค์ทรงเล็งเห็นโทษของการที่พระภิกษุสามเถรขาดความรู้ว่าเป็นอันตรายต่อพระศาสนาอย่างยิ่ง ดังมีหลักฐานว่า มีพระสงฆ์ในสมัยนั้นเทศน์โดยแสดงถ้อยคำที่ตลกคะนอง ซึ่งหาประโยชน์ไม่ได้ จนพระมหากษัตริย์ต้องมีราชปรารภว่า “เป็นพระสงฆ์ที่ มิได้เล่าเรียนพระไตรปิฎก ได้แต่เนื้อความแปลร้อยเป็นกาพย์กลอน แล้วก็มาสำแดงถ้อยคำที่ตลกขะนองหยาบช้า เห็นแต่ลาภเลี้ยงชีวิตมิได้คิดที่จะร่ำเรียนสืบไป ทำให้พระศาสนาฟั่นเฟือนเสื่อมสูญ”
          เมื่อถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่๒ ได้มีความเคลื่อนไหวในรูปแบบการเรียนพระปริยัติธรรม คือมีการปฏิรูปการเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นมาใหม่ ในปีพุทธศักราช ๒๓๕๙ ทั้งนี้ก็โดยพระราชดำรัสของสมเด็จพระสังฆราช (มี) เดิมอยู่วัดราชบุรณราชวรวิหาร ดำรงตำแหน่ง      สกลมหาสังฆปริณายกในระหว่าง พ..๒๓๕๙-๒๓๖๒ ถวายข้อแนะนำให้ทรงแก้ไขวิธีการเรียนการสอบไล่พระปริยัติธรรมเสียใหม่ ด้วยความมุ่งหวังจะกวดขันให้บรรดาพระภิกษุสามเถรได้เล่าเรียนพระปริยัติธรรมมากขึ้นและมีความรู้ยิ่งขึ้นกว่าแต่ก่อน พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย จึงโปรดเกล้าฯให้สมเด็จพระสังฆราช (มี) เป็นประธานจัดการปฏิรูปการเรียนการสอบเสียใหม่ ซึ่งทรงโปรดกไหนดวิธีสอบให้เป็นประโยคตั้งแต่ประโยค๑ถึงประโยค๙ คือ จัดแบ่งหลักสูตรให้กว้างขวางออกไปเป็น ๙ ชั้น โดยอาศัยหลัก๒ ประการ คือ
๑.     พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นประกอบด้วยองค์ ๙ ประการคือ สุตตะ เคยยะ เวยยากรณะ คาถา อุทาน อิติวุตตกะ ชาดก อัพภูตธรรม เวทัลละ
๒.     พระธรรมคำสั่งสอนนั้น มีผลที่จะพึงได้รับ ๙ ประการ คือ มรรค ๔ ผล ๔ นิพพาน๑
คำว่าประโยคนี้ คาดน่าจะมาจากการแปลบาลีนั้นเอง คือ ผู้แปลต้องรู้จักประโยค กัตตุวาจก  กรรมวาจก ประโยคนาม ประอาขยาตเป็นต้น ในยุคของรัชกาลที่ ๑ และ ๒ การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยยังมีรูปแบบที่ยังไม่สมบูรณ์นัก เนื่องจากแม้จะมีการกำหนดหลักสูตรออกเป็นประโยคแต่ก็ยังไม่มีการกำหนดสอบปริยัติธรรมเพื่อวัดผลที่ชัดเจนแน่นอน ทั้งนี้อาจจะเป็นเพราะเป็นยุคสร้างเมืองหลวงใหม่ พึ่งเริ่มมีการจัดรูปแบบการศึกษาและยังคงมีการสงครามอยู่เนืองๆ
ในรัชกาลของพระบาทสมเด็จนั่งเกล้าอยู่หัว กิจการคณะสงฆ์ถือได้ว่ามีความเฟื่องฟูมากเพราะพระมหากษัตริย์ทรงพระราชศรัทธาในการสร้างและปฏิสังขรณ์พระอารามและทรงให้พระราชวงศานุวงศ์และข้าราชการช่วยกันสร้างและปฏิสังขรณ์พระอาราม ดังนั้นวัดที่สถาปนาขึ้นในรัชกาลที่ ๓ นี้จึงมีมากว่าในรัชกาลอื่นๆ ซึ่งจำนวนพระภิกษุสามเถรก็มีมากกว่ารัชกาลอื่นๆด้วย แม้การศึกษาของคณะสงฆ์ในยุคนี้ได้รับการสนับสนุนเป็นพิเศษ คือ ทรงโปรดให้จ้างอาจารย์สอนบาลีแก่ภิกษุสามเถรทุกพระอารามหลวงแล้วทรงอุดหนุนการเล่าเรียนด้วยประการต่างๆเป็นต้นว่าถ้าสามเถรสอบได้ก็จะพระราชทานรางวัล ถ้าเป็นพระที่สอบได้ก็ให้เป็นเปรียญและเป็นพระราชาคณะ หากบิดามารดาตกทุกข์ได้ยากหรือเป็นทาสผู้อื่น ก็โปรดให้จ่ายพระราชทรัพย์ไถ่ถอนให้เป็นอิสระ หากพระรูปนั้นลาสิกขาแล้วจะใคร่รับราชการในกรมใดก็ทรงสนับสนุน ดังนั้น พระภิกษุสามเถรในสมัยนั้นจึงมีวิริยะอุตสาหะเล่าเรียนพระไตรปิฎกกันมากทั้งนอกกรุงและในกรุง
นอกจากนี้ในยุคของรัชกาลที่ ๓ ยังมีการตัดสร้างพระไตรปิฎกเป็นจำนวนมากถ้ามีตอนใดที่ขาดหายไปพระองค์ก็จะทรงส่งคนไปเสาะหามาเพิ่มให้สมบูรณ์ เช่น ส่งพระไปลังกา ๒ ครั้ง เพื่อขอยืมพระไตรปิฎกมาคัดลอก นอกจากนี้ยังได้โปรดให้พระมอญ ค้นหาคัมภีร์แบบมอญเข้ามาเทียบเคียงอีกด้วย
มาถึงรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเจ้ากรุงรัตนโกสินทร์พระองค์ที่ ๔ การศึกษาของพระสงฆ์ในสมัยนี้มีความเปลี่ยนแปลงไปมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในเรื่องกรอบแนวคิด ของการศึกษา ทั้งนี้เพราะความเชื่อในแบบดั้งเดิมที่เป็นเรื่องหลักของพระพุทธศาสนาทั้งเรื่องนรกสวรรค์หรือแม้กระทั่งนิพพานอันเป็นเป้าหมายสูงสุด ได้ถูกท้าทายด้วยโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ ประกอบกับทัศนคติที่มีต่อความเชื่ออันไม่อาจเห็นได้ด้วยตาถูกสั่นคลอน จึงทำให้มีพื้นที่ของสิ่งศักดิ์สิทธิ์ปาฏิหาริย์ลดน้อยลง ดังนั้นพระองค์จึงเอาจริงเอาจังกับการพัฒนาเนื้อหาและวิธีการศึกษาของพระภิกษุสามเถรผ่านทางการเรียนปริยัติธรรมให้มีความเป็นวิทยาศาสตร์มากขึ้นทั้งเนื้อหาและรูปแบบ ประกอบกับพระองค์ทรงมีความรอบรู้บาลี พระไตรปิฎก ยิ่งกว่าพระเจ้าแผ่นดินองค์ใดในกรุงรัตนโกสินทร์เพราะทรงได้ผนวชและศึกษาพระธรรมวินัยเป็นเวลา ๒๗ พรรษา จึงมีความชำนาญในด้านพระศาสนาเป็นพิเศษ
ดังนั้นการศึกษาพระปริยัติธรรมของฝ่ายสงฆ์ในเวลานี้ จึงอาจใช้คำว่าคึกคักก็ว่าได้ เพราะในเวลาที่มีการสอบพระปริยัติธรรมประจำปีที่จะมีขึ้นเมื่อออกพรรษาแล้วพระมหากษัตริย์จะให้ความสำคัญต่อพระภิกษุสามเถรที่เข้าสอบเป็นอย่างมากจนถึงกับต้องมีการเตรียมซ้อมสอบของบรรดาวัดที่มีนักเรียนจะเข้าสอบและถ้าวัดใดไม่มีนักเรียนทรงภูมิที่จะเข้าสอบได้ เจ้าอาวาสก็จะขวนขวายหานักเรียนในวัดอื่นมาเพื่อจะให้เข้าสอบเป็นเปรียญในวัดของตน เพราะในสมัยนั้นถือกันว่าบรรดาพระสงฆ์โดยเฉพาะที่อยู่ในพระอารามหลวง ได้อยู่เสนาสนะหลวงและได้รับพระราชทานนิตยภัตเป็นค่าอาหาร ถือว่าทรงอุปการระมิได้อาทรร้อนใจในการกินอยู่จะได้ตั้งหน้าเล่าเรียนศึกษาสืบอายุพระพุทธศาสนา ถ้าไม่มีเปรียญในวัดใดย่อมเป็นการเสื่อมเสียเกียรติคุณต่อคณะสงฆ์ในสัดนั้นเป็นอย่างมาก
พระภิกษุในช่วงนี้นอกจากการเรียนพระปริยัติธรรมแล้ว ยังคงมีการศึกษาวิชาชีพ เช่น เป็นหมอยา หมอนวด หมอดู ตลอดจนเป็นช่างฝีมือต่างๆซึ่งการศึกษาวิชาดังกล่าวของพระภิกษุนี้ก็เป็นที่ยอมรับของสังคมไทยในสังคมไทยสมัยนั้นด้วย ดังนั้นจะเห็นได้จากประกาศพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเกี่ยวกับการที่พระภิกษุศึกษาและประกอบอาชีพต่างๆเหล่านี้ว่าไม่ทรงห้ามแต่ขอให้ภิกษุสามเถรทั้งหลายศึกษาและใช้ความรู้เหล่านี้ “โดยชอบประกอบด้วยศีลสังวร” ซึ่งวิชาชีพที่ร่ำเรียนกันนี้ ก็อาจใช้เป็นอาชีพติดตัวไปเมื่อภิกษุสามเถรเหล่านี้ได้สึกออกมาเป็นฆราวาส ซึ่งก็เป็นการเพิ่มคุณค่าให้แก่บุคคลนั้น เพราะวิชาชีพเหล่านี้จะทำให้มี “ผู้นับถือตาว่าเป็นคนมีหลักแหล่งแปลงที่มีค่าแก่สังคม”
ภาพรวมการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในช่วงยุคนี้ ภายหลังจากการศึกษาสงครามเริ่มสงบลง การศึกษาพระปริยัติธรรมก็เริ่มมีการปรับปรุงสิ่งที่ตกหล่นขาดหายไปในช่วงเปลี่ยนราชวงศ์และเมืองหลวง จนเริ่มเข้าที่เข้าทางในสมัยรัชกาลที่ ๓ ต่อมาเมื่อถึงยุคของรัชกาลที่ ๔ กิจการพระศาสนาในด้านการศึกษาก็ได้ถูกจัดวางเค้าโครงเพื่อให้มีรูปแบบที่ชัดเจนเป็นหลักเป็นฐานมากขึ้นตามโลกทัศน์แบบวิทยาศาสตร์ จึงนับได้ว่าเป็นยุคแห่งการเตรียมการเพื่อปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยที่จะมีขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในสมัยต่อมา
๑.๕ สมัยรัตนโกสินทร์ยุคใหม่ (รัชกาลที่ ๕ ถึงปัจจุบัน)
ในช่วงก่อนหน้านี้การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยแม้มีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบหรือหลักสูตรไปบ้างแต่ก็จะยังคงรูปลักษณ์ของความเป็นพระปริยัติในแบบดั้งเดิมที่เน้นการเล่าเรียนพุทธวัจนะเป็นสำคัญแต่ในยุคสมัยนี้รูปโฉมของการศึกษาพระปริยัติธรรมได้เปลี่ยนแปลงไปขากดั้งเดิมมาก โดยมีการรับเอากระแสการศึกษาของโลกฝ่ายตะวันตกมาผนวกเข้ากับการศึกษาในแบบปริยัติธรรมดั้งเดิมทำให้การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยต้องมีการเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สอดคล้องกับสภาพการมากขึ้นโดยลำดับจนถึงปัจจุบัน
สมัยรัชกาลที่ ๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ในรัชกาลนี้พระมหากษัตริย์ทรงมีพระราชปณิธานในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอย่างเด่นชัด ดังมีพระราชดำรัสตอนหนึ่งเกี่ยวกับการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาไว้ว่า
เมื่อข้าพเจ้าได้ดำรงสิริราชสมบัติแล้ว ก็ตั้งใจทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา  และทำนุบำรุงพระผู้เป็นเจ้าทั้งปวงอยู่เป็นนิจแลอาไศรยความที่เป็นผู้เป็นเจ้าทั้งปวง   ปฏิบัติชอบเป็นหลักฐานที่จะดำรงพระพุทธศาสนาสืบไป ข้าพเจ้าอาจปฏิญาณใจได้ว่า  ถ้าชีวิตข้าพเจ้ายังอยู่ตราบใดแลข้าพเจ้าคงคิดจะทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาอยู่เป็นนิจ
ในด้านการศึกษาของคณะสงฆ์นั้น พระองค์ทรงเล็งเห็นว่าที่ผ่านมาการศึกษาพระปริยัติธรรมได้รับการอุปถัมภ์จากพระมหากษัตริย์และชั้นสูงเพราะถือเป็นหน้าที่ของพระมหากษัตริย์ไทยแต่การจัดการศึกษาของพระสงฆ์ในช่วงเวลาดังกล่าวนั้นมีลักษณะสำคัญคือ ไม่มีระบบแบบแผนเป็นรูปแบบที่ชัดเจน โดยเฉพาะใน     ด้านการเรียนการสอน ซึ่งตรงข้ามกับในการสอบวัดความรู้พระปริยัติธรรมที่กลับมีระเบียบปฏิบัติที่เคร่งครัดและยุ่งยากหลายประการ จึงเห็นได้ว่ามีความขัดแย้งกันอยู่ในตัวเอง ดังนั้นพระองค์จึงมีความคิดที่จะพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ให้มีระบบการศึกษาที่แน่นอนชัดเจนยิ่งขึ้น
พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงมีพระราโชบายเกี่ยวกับการส่งเสริมการศึกษาของคณะสงฆ์ให้มีรูปแบบที่ชัดเจน ด้วยการจัดตั้งสถาบันการศึกษาชั้นสูงของคณะสงฆ์ขึ้นเป็นครั้งแรก คือโปรดให้สถาปนามหามกุฎราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยขึ้น เพื่อจะให้เป็นสถาบันการศึกษาพระปริยัติธรรมชั้นสูงทั้งฝ่ายธรรมยุติและมหานิกาย ทรงอุปการะสถาบันการศึกษาทั้ง ๒ นี้ด้วยการพระราชทานพระราชทรัพย์และค่าใช้สอยำหรับวิทยาลัยทั้งสองเป็นประจำปี นอกจากนี้แล้วพระองค์ยังได้ทรงส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมโดยทั่วไปคือ ให้จัดตั้งสำนักเรียนขึ้นตามวัดต่างๆทั่วราชอาณาจักรและให้มีการสอบไล่พระปริยัติธรรมทุกปี ทรงสนับสนุนให้เจ้านาย ข้าราชการและพระภิกษุจัดตั้งโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้นในวัดทั้งในกรุงและหัวเมือง
การส่งเสริมการศึกษาพระปริยัติธรรมของพระภิกษุสามเถรในรัชสมัยนี้นอกจากจะเป็นไปเพื่อความเจริญก้าวหน้าของสถาบันสงฆ์แล้ว ยังมีผลสืบเนื่องกับพระราชดำริในเรื่องการจัดการศึกษาของบ้านเมืองที่กำลังเป็นงานสำคัญอย่างหนึ่งในการปฏิรูปประเทศขณะนั้น ซึ่งการจัดการศึกษาหัวเมืองเริ่มขึ้นในปี พ..๒๔๔๑ โดยมีกรมหมื่นวชิรญาวโรรส ซึ่งในขณะนั้นพระองค์ทรงดำรงตำแหน่งเป็นเจ้าคณะใหญ่คณะธรรมยุตินิกายและเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร ได้ทรงเป็นผู้อำนวยการจัดการศึกษา ผลจากการที่กรมหมื่นวชิรญาวโรรสและคณะสงฆ์ได้เข้าไปจัดการศึกษานี้ก่อให้เกิดผลดีต่อคณะสงฆ์ในด้านการศึกษาเป็นอย่างมากเพราะได้มีการเร่งรัดให้พระสงฆ์สามเถรตามหัวเมืองต้องศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม เพื่อนำมาใช้สอนให้แก่บุตรทั้งหลายและเป็นผลให้มีการตราพระราชบัญญัติการปกครองคณะสงฆ์ ร..๑๒๑ (พ..๒๔๔๕)ซึ่งพระราชบัญญัติฉบับนี้จะเป็นผลให้คณะสงฆ์ทุกระดับชั้นต้องมีหน้าที่บำรุงการศึกษาในวัดด้วย
จะเห็นได้ว่าในรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวนั้นทรงมีนโยบายมุ่งส่งเสริมการศึกษาทั้งของรัฐและของคณะสงฆ์ควบคู่กันไป ไม่ได้แยกการศึกษาของทั้ง ๒ ฝ่ายออกจากกันดังเช่นในสมัยต่อๆมา เพราะทรงเห็นว่าการศึกษาและศาสนานั้นเป็นสิ่งที่ไม่ควรแยกจากกัน เนื่องจากทรงเกรงว่า
เด็กชั้นหลังจะห่างเหินจากศาสนา จนเลยเป็นคนไม่มีธรรมในใจมากขึ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นจะถือว่าเหมือนอย่างทุกวันนี้ คนที่ไม่รู้อะไรก็มีมาก ต่อไปภายน่าถ้าเป็นคนที่ได้เล่าเรียนคงจะประพฤติตัวดีกว่าคนที่ไม่ได้เล่าเรียนนั้นหาถูกไม่คนที่ไม่มีธรรมเป็นเครื่องดำเนินตามตงจะหันไปหาทางทุจริตโดยมากถ้ารู้น้อยก็โกงไม่ใคร่คล่องฤๅโกงไม่สนิท ถ้ารู้มากก็โกงคล่องขึ้นแลโกงพิสดารมากขึ้น การที่หัดให้รู้อ่านอักขรวิธีไม่เป็นเครื่องฝึกหัดคนดีและคนชั่วเป็นแต่ได้วิธีสำหรับจะเรียนความดีความชั่วได้คล่องขึ้น
ด้วยเหตุดังกล่าวทำให้ความเจริญก้าวหน้าของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในขณะนั้นดำเนินไปอย่างมีความสำคัญทั้งต่อฝ่ายอาณาจักรและพุทธจักรไปพร้อมๆกันภายหลังจากรัชกาลรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว การศึกษาของชาติคณะสงฆ์ไทยเริ่มถูกจับให้แยกตัวออกจากการศึกษาของชาติ และมีลักษณะการจัดการศึกษาที่มุ่งหมายเพิ่มพูนความรู้ของพระสงฆ์สามเณรในด้าน “ธรรมวินัย”ให้มากกว่าการศึกษาแต่ภาษาบาลีเพียงเดียว ดังที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงมีความเห็นว่า “....เป็นประโยชน์กว้างขวาง ดีกว่าจะมัวบำรุงในด้านมคธภาษาอย่างเดียว...” ดังนั้นในระยะเวลาช่วงที่สมเด็จพระมหาสมเจ้ากรมพระยาวชิรญาณวโรรส ทรงดำรงตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชได้มีการเปลี่ยนแปลงแก้ไขการศึกษาของสงฆ์หลายประการ กล่าวคือ
๑. การจัดตั้งการศึกษาหลักสูตรนักธรรมขึ้น
๒. การรวมการศึกษาหลักสูตรนักธรรมกับการเรียนปริยัติธรรม
๓. การปรับปรุงแก้ไขการศึกษาและการสอบพระปริยัติธรรม
๔. การขยายการศึกษาของคณะสงฆ์ในหัวเมือง
๕. การจัดหลักสูตรเปรียญธรรม
เมื่อกล่าวโดยสรุป นับตั้งแต่การจัดตั้งสถาบันศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๓๒ ระบบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยก็เริ่มมีระบบแบบแผนที่ชัดเจนยิ่งขึ้นจนถึงปี พ.ศ. ๒๔๕๓ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายแห่งรัชกาลที่ ๕ การจัดการคณะสงฆ์ไทยได้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างไปมาก โดยมีแนวคิดการแยก “ธรรม” กับ “สังคม” ออกจากกันซึ่งแนวคิดดังกล่าวนี้น่าจะมีผลมาจากแนวความคิดเรื่องความ “ทันสมัย” ตามมาตรฐานตะวันตกในเวลานั้นด้วย ซึ่งอิทธิพลความทันสมัยนี้เริ่มก่อตัวขึ้นอย่างชัดเจนตั้งแต่ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว กษัตริย์พระองค์แรกของไทยที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากตะวันตกได้ขึ้นครองราชย์สมบัติ สิ่งที่เห็นได้ชัดจากการแยกธรรมะกับสังคมออกจากกันของพระองค์ คือ การจับการศึกษาของฝ่ายบ้านแยกออกจากการศึกษาของฝ่ายวัดซึ่งนับเป็นครั้งแรกของประวัติศาสตร์การศึกษาไทย กล่าวคือรัฐจะรับผิดชอบในการจัดการศึกษาแก่ประชาชนแต่ผู้เดียว ส่วนวัดทำหน้าที่ให้การศึกษาแก่พระภิกษุสามเณรเท่านั้นมิต้องก้าวก่ายกันอีก การแบ่งแยกหน้าที่ดังกล่าวมีความหมายรวมไปถึงว่ารัฐจะไม่เกี่ยวข้องกับการศึกษาของคณะสงฆ์ ขณะเดียวกันวัดก็ไม่มีหน้าที่ให้การศึกษาแก่ประชาชนดังที่เคยเป็นมาช้านานอีก นี่จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้คระสงฆ์จำเป็นต้องยกระดับการศึกษาของตนจนนำไปสู่การจัดการศึกษารูปแบบใหม่ที่เรียกว่า พระปริยัติธรรมแผนกธรรมขึ้นในปี พ.ศ. ๒๔๕๔ โดยการจัดการของสมเด็จพระมหาสมณเจ้ากรมพระยาวิชรญาณวโรรส ซึ่งการจัดการศึกษาแก่คณะสงฆ์ในครั้งนี้ ถือได้ว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างยิ่งในช่วงเวลาดังกล่าว กล่าวคือ การนำเอาหลักสูตรปริยัติธรรมมาผนวกเข้ากับหลักสูตรนักธรรมที่ทรงจัดขึ้นใหม่ เป็นผลให้การศึกษาของคณะสงฆ์ไม่ต้องมีการแบ่งแยกออกเป็น ๒ ฝ่าย อย่างที่เคยแบ่งแยกอยู่ในสมัยรัชกาลที่ ๕ การนำเอาหลักสูตรใหม่ที่ทรงตั้งขึ้นมารวมกับการศึกษาแบบเดิมได้นับเป็นการขจัดปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งในการศึกษาของคณะสงฆ์ คือ ค่านิยมแบบเก่าที่ไม่ยอมรับการเปลี่ยนแปลงทางด้านการศึกษา เพราะสมเด็จฯกรมเจ้าพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงนำเอาความรู้ภาษาไทย และความรู้ที่จำเป็นอื่นๆต่อพระสงฆ์มารวมเข้ากับความรู้ด้านปริยัติธรรมได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะเป็นแนวทางให้คณะสงฆ์ได้จัดการศึกษาวิชาอื่นๆที่เหมาะสมกับสถาบันสงฆ์ และสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบันของประเทศและโลกในสมัยต่อมา เช่น วิชาภาษาอังกฤษ วิชาครู ดังปรากฏในหลักสูตรของมหาวิทยาลัยสงฆ์ในปัจจุบัน ซึ่งสอดคล้องกับพระดำริของสมเด็จฯกรมพระยาวชิรญาณวโรรสที่ทรงต้องการให้พระสงฆ์ได้ศึกษาวิชาความรู้ใดๆที่เป็นอาภรณ์ของบุรุษ ซึ่งหมายถึง ความรู้ใดๆที่เป็นประโยชน์ก็สมควรที่จะจัดให้พระสงฆ์ได้ศึกษาทั้งสิ้นมิใช่จำกัดว่าจะต้องศึกษาแต่พระศาสนาอย่างเดียว เพราะความรู้ที่พระสงฆ์ได้รับย่อมจะส่งผลไปยังราษฎรด้วยเนื่องจากพระสงฆ์ยังคงเป็น “ครู” และ “ผู้นำท้องถิ่น” ที่สำคัญในชนบท ดังนั้นหลักสูตรการศึกษาปริยัติธรรมที่ได้จัดวางไว้ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๖ จึงได้เป็นมาตรบานในการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ในปัจจุบัน โดยมีการแก้ไขเปลี่ยนแปลงเพิ่มเติมให้เหมาะสมยิ่งขึ้นบ้าง แต่หลักการส่วนใหญ่ยังคงรูปแบบตามที่ สมเด็จฯกรมพระยาวชิรญาณวโรรสได้ทรงจัดไว้
การศึกษาของคณะสงฆ์เริ่มมีการขยับขยายตัวอีกครั้ง เมื่อผู้นำของมหามกุฏราชวิทยาลัย และมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย ได้มีแนวคิดร่วมกันที่จะจัดการศึกษาของทั้งสองแห่งให้ถึงระดับมหาวิทยาลัย ดังเห็นได้จากการกล่าวตอบในการเปิดสภาการศึกษาของมหามงกุฎราชวิทยาลัย “... บัดนี้สมควรแล้วที่จะฟื้นฟูวัตถุประสงค์ของมหามกุฏราชวิทยาลัยที่สมเด็จพระมหาสมณเจ้า ได้ทรงไว้นั้นให้สมบูรณ์ขึ้นเพื่อเป็นการรักษาสมบัติของบูรพาจารย์ ...”
ฝ่ายการรื้อฟื้นมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พระพิมลธรรม (ช้อย ฐานทตฺโต)ได้อธิบายถึงความคิดที่จะสถาปนามหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ว่า “...คิดจะจัดการศึกษาของพระภิกษุสามเณรให้ถึงระดับราชวิทยาลัยหรือมหาวิทยาลัยที่นิยมกัน เพื่อสนองพระบรมราชปณิธานของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว...”
ในสมัยปัจจุบันการศึกษาของคระสงฆ์ที่สืบเนื่องมาจากสมัยก่อนมี ๒ อย่าง คือ พระปริยัติธรรมแผนกบาลี และพระปริยัติธรรมแผนกธรรม ซึ่งมีการดำเนินงานติดต่อกันมาจนจัดได้ว่าเป็นการศึกษาตามประเพณี
ด้วยเหตุนี้มหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่ง จึงได้รับการจัดตั้งขึ้นเป็นสถานศึกษาชั้นสูงของคระสงฆ์ฝ่ายธรรมยุตินิกายและฝ่ายมหานิกาย ดังในวันที่ ๑๖ กันยายน พ.ศ. ๒๔๘๙สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัยอนุมัติให้เริ่มเปิดการเรียนพระพุทธศาสนาในระดับมหาวิทยาลัยขึ้น และในวันที่ ๑๘ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๔๙๐ ทางมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยเองได้เริ่มเปิดการศึกษาเป็นมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นครั้งแรกเช่นกัน แต่ในขณะนั้นคณะสงฆ์ยังมิได้รับรองให้เป็นการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างเป็นทางการ จนถึงวันที่ ๑๖ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๑๒ มหาเถรสมาคมจึงได้ออกคำสั่งมหาเถรสมาคมเรื่องการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ อันเป็นการรับรองการศึกษาของมหาวิทยาลัยสงฆ์ทั้ง ๒ แห่งนั้นเป็นการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างเป็นทางการในปัจจุบันทั้งมหามกุฏราชวิทยาลัยและมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยมีสภาพเป็นมหาวิทยาลัยในกำกับรัฐบาลสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ตามพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ และพระราชบัญญัติมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พ.ศ. ๒๕๔๐ โดยนายกสภามหาวิทยาลัยเป็นพระเถระที่พระสมเด็จพระสังฆราชทรงแต่งตั้ง และมีกรรมการสภามหาวิทยาลัยที่ประกอบด้วยทั้งพระภิกษุและฆราวาส ซึ่งผลิตบัณฑิตทั้งระดับปริญญาตรีและปริญญาสูงกว่าปริญญาตรีในสาขาวิชาการต่างๆ เช่น สาขาพุทธศาสนา สาขาศาสนาปรัชญา สาขามนุษย์ศาสตร์ สาขาสังคมศาสตร์ สาขาศึกษาศาสตร์ เป็นต้น
ในด้านการศึกษาพระปริยัติธรรม คณะสงฆ์ได้มองเห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงให้ภิกษุสามเณรได้ศึกษาวิชาการสมัยใหม่ด้วย จึงได้ประกาศใช้หลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมที่ได้ปรับปรุงใหม่เรียกว่า บาลีแผนใหม่ เมื่อวันที่ ๗ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๕๐๗ และเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๑๔ กระทรวงศึกษาธิการ ด้วยความเห็นชอบของคณะสงฆ์ได้ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษา พ.ศ. ๒๕๔๑ เพื่อให้ภิกษุสามเณรได้รับการศึกษาวิชาการทั้งทางฝ่ายพระปริยัติธรรมและฝ่ายสามัญศึกษาควบคู่กันไป
ความเป็นมาของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยนับตั้งแต่สมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานีจนถึงปัจจุบัน ที่ได้พรรณนามานี้เป็นการแสดงให้เห็นภาพของการเปลี่ยนแปลงของการศึกษาของคณะสงฆ์ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่แปรเปลี่ยนไปพร้อมกับความเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยอยู่ตลอดเวลา ซึ่งแต่ละยุคความสัมพันธ์ระหว่างสงฆ์ ผู้ปกครอง และประชาชน เป็นความสัมพันธ์ที่ช่วยเหลือเกื้อกูลกันอยู่ตลอดเวลาผ่านทางการศึกษาของคณะสงฆ์ ดังเช่นในสมัยสุโขทัย มีการใช้การศึกษาของคณะสงฆ์เป็นเครื่องมือแห่งการสร้างความสงบสุขร่มเย็นให้เกิดขึ้นแก่บ้านเมือง ในยุคต่อมาคือสมัยอยุธยาก็ใช้การศึกษาของคณะสงฆ์ในฐานะเครื่องมือแห่งการปกครองทั้งฝ่ายราชอาณาจักรและพุทธจักร พอถึงยุครัตนโกสินทร์ช่วงต้นการศึกษาของคณะสงฆ์เป็นแบบแผนการศึกษาของสังคม เช่นนี้เป็นต้น เมื่อพอจะมองเห็นภาพความเป็นมาของการศึกษาของคณะสงฆ์ดังที่ได้กล่าวแล้วนี้ ในลำดับต่อไปจะกล่าวถึงรูปแบบของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยซึ่งเป็นกลไกในการจัดการการศึกษาของคณะสงฆ์อีกชั้นหนึ่งควบคู่มากับความเป็นมาของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย
 ๒.รูปแบบของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย
          รูปแบบของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยนั้น จะไม่จัดลำดับตามยุคสมัยเช่นเดียวกับความเป็นมา แต่จะถือจัดตามยุคที่เกิดการเปลี่ยนแปลงการจัดรูปแบบการศึกษาของคณะสงฆ์อย่างชัดเจน เพราะรูปแบบการศึกษาของคณะสงฆ์ในบางช่วงเวลาของแต่ละยุคก็แทบจะหาความเปลี่ยนแปลงในรูปแบบได้น้อยมาก แต่บางช่วงเวลาที่อยู่ในยุคสมัยเดียวกันกับมีการเปลี่ยนแปลงอย่างเด่นชัดจนเกินไป จะเห็นได้ว่าปัจจัยสำคัญของการจัดรูปแบบการศึกษาของสงฆ์อาจไม่ได้อยู่ที่ยุคสมัย หากแต่อยู่ที่วิกฤตการณ์หรือปัจจัยภายนอกหรือภายในบางอย่างที่มีผลกระทบกระเทือนถึงอาณาจักรและพุทธจักรรูปแบบของการศึกษาของคณะสงฆ์จึงได้มีการเปลี่ยนแปลงและปรับปรุงขึ้น
          เพื่อให้เกิดความเข้าใจได้ง่ายขึ้นต่อการศึกษา จะแบ่งรูปแบบของการศึกษาออกเป็น 3 ช่วงเวลาดังต่อไปนี้
          ช่วงที่ ๑ สมัยสุโขทัยถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
          ช่วงที่ ๒ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์
          ช่วงที่ ๓ สมัยรัชกาลที่ ๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน รัชกาลที่ ๙

ช่วงที่ ๑ สมัยสุโขทัยถึงสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช
          รูปแบบของการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในช่วงยุคสุโขทัยได้ถือเอาว่าวัด เป็นสถานที่ศึกษา ส่วนพระ คือ ผู้บริการและผู้จัดการศึกษา พระที่เป็นผู้สอนในสมัยนี้มีอยู่ ๓ ระดับ คือ เจ้าอาวาสทำหน้าที่เป็นครูใหญ่ พระที่มีพรรษาสูงกว่า ๕ พรรษาขึ้นไปสอนพระภิกษุ และพระที่มีพรรษาน้อยกว่านั้นสอนเด็กวัด หลักสูตรที่ใช้ศึกษากันในสมัยนี้ยังไม่มีรูปแบบที่ซับซ้อนมากนัก คือมีการศึกษาภาษาบาลีพระไตรปิฎก โดยในการศึกษาพระไตรปิฎกก็จะให้ศึกษาแยกออกเป็นตอนๆกล่าวคือเบื้องต้นให้ศึกษาพระสุตตันตปิฎกเมื่อเรียนจบพระสูตรแล้วให้ศึกษาพระวินัยปิฎกต่อเมื่อศึกษาพระวินัยปิฎกจบแล้วจึงให้ศึกษาพระอภิธรรมปิฎกเป็นลำดับสุดท้ายนอกจากนี้พระภิกษุยังศึกษาคัมภีร์ซึ่งมิใช่พระพุทธวัจนะโดยตรงแต่แพร่หลายในสถานศึกษาพระปริยัติธรรม คือคัมภีร์พระวิสุทธิมรรค และนอกจากการเล่าเรียนพระไตรปิฎกและคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนาอื่นๆแล้ว พระสงฆ์ในสมัยสุโขทัยยังได้ศึกษาวิชาการทางโลก ได้แก่ศิลปะศาสตร์และวิชาการต่างๆดังมีปรากฏในประชุมพงศาวดารภาค ๑ ว่า “ทรงเผดียงสงฆ์ทั้งหลาย ให้มาเล่าเรียนพระไตรปิฎกธรรม และศึกษาศิลปะศาสตร์ต่างๆ”
          ต่อมาในยุคของกรุงศรีอยุธยา ในช่วงต้นรูปแบบการเรียนการสอนพระปริยัติธรรมยังถือว่าจัดทำกันอย่างจริงจัง คงเป็นแต่เพียงการเข้ามาศึกษาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องข้ออรรถและธรรมตามสมควร โดยที่ไม่ได้มีการสอบประเมินผลการเรียนการสอนอย่างเป็นกิจจะลักษณะ การเรียนการสอนจึงเป็นไปตามอัธยาศัยของผู้สอนและผู้เรียน
ช่วงที่ ๒ สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชแห่งกรุงศรีอยุธยาถึงกรุงรัตนโกสินทร์
          ในรัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช ได้โปรดทรงให้คณะสงฆ์เอาภารธุระในการเรียนการสอนอย่างจริงจัง จึงมีการกำหนดหลักสูตร เวลาเรียนการประเมินผล และกำหนดฐานะของผู้สอบไล่ได้ไว้เป็นการแน่นอน กล่าวคือมีการใช้พระไตรปิฎกภาษาบาลี จำนวน ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์เป็นผูกใบลานเป็นหลักสูตรในการกำหนดชั้นเรียน โดยแยกเป็นพระไตรปิฎกดังนี้คือ พระสุตตันตปิฎก จำนวน ๒๑,๐๐๐  พระธรรมขันธ์ พระวินัยปิฎก จำนวน ๒๑,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ และพระอภิธรรมปิฎก จำนวน ๔๒,๐๐๐ พระธรรมขันธ์ โดยแบ่งชั้นเรียนออกเป็น ๓ ชั้น หรือ ๓ประโยค ตามปิฎกทั้ง ๓ นั้น คือ
๑. บาเรียนตรี ต้องแปลจนจบพระสูตร (จากภาษาบาลี)
๒. บาเรียนโท ต้องแปลจนจบพระสูตรและพระวินัย
๓. บาเรียนเอก ต้องแปลจนจบพระสูตร พระวินัยและพระอภิธรรม
ผู้ที่เรียนจบบาเรียนตรี โท เอก คือผู้ที่แปลจบพระไตรปิฎกทั้งหมด เรียกว่ามหาบาลี โดยใช้อักษรย่อว่า บ.บ. สถานที่ศึกษาพระปริยัติธรรมนี้มีการจัดการเรียนการสอนอยู่ในบริเวณพระบรมมหาราชวังเป็นหลัก ส่วนตามวัดต่างๆก็มีการเรียนการสอนบ้างเป็นแหล่งย่อย ส่วนครูที่บอกปริยัตินั้นได้แก่พระมหากษัตริย์บ้าง ราชบัณฑิตทั้งหลายบ้าง พระเถระผู้ทรงความรู้พระไตรปิฎกบ้าง สำหรับกระบวนการเรียนการสอนนั้น กำหนดเอาพระไตรปิฎกที่จารึกลงในใบลานเป็นหนังสือแบบเรียนและหนังสือขั้นมูลฐานในการเรียน คือ มูลกัจจายน์ ซึ่งผู้เรียนทุกคนจะต้องเริ่มต้นจากการเรียนมูลกัจจายน์เพื่อให้รู้อักขรวิธีก่อนเป็นเวลาอย่างน้อย ๒ ปี แล้วจึงเรียนแปลพระไตรปิฎกได้ เมื่อตัวผู้เรียนเห็นว่าตนเองพอจะมีความรู้ ความสามารถในการแปลได้แล้ว ก็จะแจ้งให้ครูบาอาจารย์ได้ทราบ และให้เจ้าสำนักกราบทูลพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงทราบ เพื่อจะได้โปรดให้ประกาศการสอบไล่วัดความรู้ของพระภิกษุสามเณรขึ้น เรียกว่า “สอบสนามหลวง”ถ้าสอบไล่ได้ผู้สอบก็จะถูกยกย่องให้มีศักดิ์เป็น “มหา” นำหน้าชื่อและอาจจะได้รับการพระราชทานสมณศักดิ์ให้เป็นพระราชาคณะให้มีเกียรติเลื่องลือสืบไป ส่วนเรื่องการวัดผลเมื่อพระเจ้าแผ่นดินทรงประกาศให้มีการสอบพระปริยัติธรรมขึ้นแล้วเหล่าพระมหาเถระและราชบัณฑิตทั้งหลายก็จะจัดตั้งคระกรรมการขึ้น โดยมีพระเจ้าแผ่นดินเป็นประธานในการสอบ ในการสอบผู้เข้าสอบจะต้องท่องและแปลปากเปล่าต่อหน้าคณะกรรมการอย่างน้อย ๓ ท่าน ซึ่งจะมีโอกาสผิดได้เพียง ๓ ครั้ง ถ้ากรรมการทักเกิน ๓ ครั้ง (ผิดเกิน ๓ ครั้ง) ก็เป็นอันถือว่าตกในประโยคนั้นๆซึ่งถ้าตกก็ต้องรอสอบอีกอย่างน้อย ๓ ปี เพราะการสอบแต่ละครั้งนั้นจะใช้ระยะเวลาเรียน ๓ ปี และมีการวัดผล ๑ ครั้ง
นอกจากการเรียนพระไตรปิฎกแล้วพระภิกษุในสมัยนี้ก็ยังมีการศึกษาวิชาการอื่นๆ ดุจเดียวกับสมัยสุโขทัย ดังมีปรากฏในจดหมายเหตุของลาลูแบร์ว่า “พระสงฆ์อันเป็นอาจารย์ในวัดสอนเป็นต้นว่าให้อ่าน ให้เขียนหนังสือ และหัดคิดเลข ทำบัญชี” ตลอดจนเนื้อหาที่ปรากฏในบทเสภาเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็ได้มีการบันทึกการศึกษาของสามเณรแก้วไว้ว่า “นางทองประสี โยมมารดาก็นำสามเณรแก้วไปฝากเรียนกับ  ขรัวมี วัดป่าเลไลย์ เพื่อเรียนหนังสือวิชาการศาสนาและวิชาการทางโลกคือการต่อสู้ป้องกันตัวตลอดจนวิชาชั้นสูงทางการทหารคือตำราพิชัยสงครามว่าด้วยการจัดทัพ เดินทัพ การยกทัพเข้าต่อสู้รวมทั้งศิลปะการครองใจคน” ซึ่งแสดงให้เห็นว่าพระภิกษุจะต้องมีความรู้ในวิชาการทางโลกเพื่อสอนแก่ประชาชนด้วยรูปแบบการเรียนการสอนของคณะสงฆ์ไทยในสมัยนั้นก็ดำเนินมาในลักษณะนี้จนสิ้นสมัยกรุงศรีอยุธยา กรุงธนบุรี จนกระทั่งถึงกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น
         
ช่วงที่ ๓ สมัยรัชกาลที่๒แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ถึงปัจจุบัน (รัชกาลที่๙)
รูปแบบการจัดการศึกษาของสงฆ์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย มีการเปลี่ยนแปลงหลักสูตรจากเดิมที่เป็น ๓ชั้น (คือบาเรียนตรี โท เอก) ก็แก้ไขให้เป็น๙ชั้นหรือ๙ประโยค  โดยแต่ละประโยคต้องสอบแปลคัมภีร์ต่างๆตามที่กำหนดไว้ออกเป็นภาษาไทยให้ถูกต้องและได้ใจความ  ซึ่งการกำหนดคัมภีร์ในแต่ละประโยคมีลายละเอียดดังต่อไปนี้
ตารางการแบ่งหลักสูตรการสอบพระปริยัติธรรมและคัมภีร์ที่ใช้ในแต่ละประโยคในสมัยรัชกาลที่ ๒
ประโยค
คัมภีร์ที่กำหนดในแต่ละประโยค
หมายเหตุ
-




คัมภีร์อรรถกถาธรรมบท


คัมภีร์มังคลัตถทีปนี เบื้องต้น

คัมภีร์สารัตถสังคหะ
คัมภีร์มังคลัตถทีปนี เบื้องปลาย

คัมภีร์ปฐมสมัตปาสาทิกา
คัมภีร์วิสุทธิมรรค
คัมภีร์สารัตถทีปนี
ประโยค ๑-๓ ต้องสอบให้ได้ในคราวเดียวกันทั้ง๓ประโยค เมื่อสอบได้ถือเป็นเปรียญสามัญ
ผู้สอบได้จะได้รับการขนานนามว่าเป็น    “พระมหา” ได้รับการพระราชทานนิตยภัต
สอบได้เป็นเปรียญโท
สอบได้ยังคงเป็นเปรียญโท จึงมักเรียกว่า “ประโยคแปลบูชาพระ”
สอบได้เป็นเปรียญเอกสามัญ
สอบได้เป็นเปรียญเอกมัชฌิชา
สอบได้เป็นเปรียญเอกอุดม
         
ถึงแม้ว่าจะมีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างหลักสูตรการเรียนปริยัติธรรมในสมัยนี้ แต่สอบพระปริยัติธรรมก็ยังคงมีกำหนดไม่แน่นอน เพราะบ้านเมืองยังคงมีสงครามอยู่เนืองๆ เมื่อมีเวลาว่างจากศึกสงครามหรือกิจการปกครองภายในพระมหากษัตริย์จึงทรงพระกรุณาให้มีการสอบพระปริยัติธรรมเสียครั้งหนึ่ง ครั้งเมื่อถึงรัชกาลที่๓ ทรงพระกรุณาโปรดให้กำหนดสอบพระปริยัติธรรม๓ปีครั้งหนึ่ง ปละสืบต่อรูปแบบนี้จนถึงรัชกาลที่๕ โดยมีวิธีการสอบคือ จะให้พระนักเรียนเข้าแปลในที่ประชุมพระราชาคณะทีละรูป นักเรียนประโยค๓แปลรูปละ๓ลาน คือ ๓๐ บรรทัด มาในรัชกาลที่ ๕ ลดลงเหลือง ๒๐ บรรทัด ตั้งแต่ประโยค ๔ ขึ้นไป แปลรูปละ ๒๐ บรรทัด สำหรับประโยค ๙ แปลรูปละ ๑๐ บรรทัด ในระหว่างการสอบถ้าแปลไปไม่ตลอด อนุญาตให้ออกมาพิจารณาทบทวนข้างนอกได้แล้วค่อยกลับเข้าไปแปลต่อถ้ายังแปลต่อไม่ได้ตลอดเวลาหมดก็ถือว่าสอบตก หรือนักเรียนบางรูปแปลไม่ได้ตลอดและรู้สึกว่าเหลือกำลังที่จะแก้ไขได้ก็อาจหนี คือไม่แปลต่อ ยอมตกนั่นเอง สำหรับนักเรียนที่แปลได้จบประโยคในเวลาที่กำหนดเป็นอันว่าสอบได้
ปัจจุบันนี้หลักสูตรการเรียนพระปริยัติธรรมในแต่ละประโยคได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมในหลายส่วน กล่าวคือ ประโยค ๑-๒ ใช้คัมภีร์ธัมมปทัฏฐกถาภาค ๑ ถึง ภาค๔ ประโยค ๓ ใช้คัมภีร์                     ธัมมปทัฏฐกถา ภาค๕ ถึง ภาค ๘ ประโยค ๔ ใช้คัมภีร์มังคลัตถทีปนี ภาค ๑ ประโยค ๕ ใช้คัมภีร์                               มังคลัตถทีปนี ภาค ๒ ประโยค ๖ ใช้คัมภีร์ตติยสมันตปาสาทิกา ประโยค ๗ ใช้คัมภีร์ ปฐม-ทุติยสมันตปาสาทิกา ประโยค ๘ ใช้คัมภีร์วิสุทธิมรรค และประโยค ๙ ใช้คัมภีร์อภิธัมมัตถวิภาวินี
จุดเปลี่ยนครั้งสำคัญของรูปแบบการศึกษาแบบใหม่ของคณะสงฆ์ไทยอยู่ในสมัยของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อโรงเรียนแห่งแรกถูกตั้งขึ้นที่วัดมหรรณพาราม และพระราชบัญญัติการศึกษาภาคบังคับถูกประกาศใช้การจัดตั้งบาลีวิทยาลัยขึ้นที่วักมหาธาตุในปี พ.. ๒๔๓๒ โดยยุบเอาการบอกปริยัติธรรมซึ่งแต่เดิมบอกกันในบริเวณวัดพระศรีรัตนศาสดารามเข้ามารวมไว้ในที่เดียวกันนี้อีกด้วย เพื่อหาเป็นสถานศึกษาปริยัติธรรมโดยเฉพาะ นับเป็นการศึกษาพระปริยัติธรรมในรูปสถาบันขึ้นเป็นครั้งแรกโดยแยกขาดจากการศึกษาฝ่ายบ้านเมือง มีการจ่ายเงินแก่ครูและมีการจ่ายเงินค่าใช้สอยสำหรับวิทยาลัยด้วยโดยหลักสูตรและแบบเรียน แบ่งเป็น ๒ ฝ่าย ได้แก่ฝ่ายไทย และฝ่ายรามัญซึ่งฝ่ายไทยจะเรียนทั้งหมด ๙ ประโยคดังที่มีบัญญัติไว้ตั้งแต่สมัยของรัชกาลที่ ๒ ส่วนฝ่ายรามัญจะแบ่งระดับการเรียนออกเป็น ๔ ขั้น คือ ขั้น ๑ เรียนอาทิกัมม์หรือปาจิตตีย์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ขั้น ๒ เรียนมหาวัคค์หรือจุลวัคค์ ขั้น ๓ เรียน บาลีมูตตกะวินัยวินิจฉัย และขั้น ๔ เรียน ปฐมสมันตปาสาทิกา
ปีพุทธศักราช ๒๔๓๖ ในการเปิดมหามกุฏราชวิทยาลัยที่สมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอ กรมหมื่นวชิรญาณวโรรสทรงจัดขึ้นอย่างเป็นทางการ ได้มีการจัดรูปแบบการศึกษาของสงฆ์อย่างเป็นเอกเทศ และมีการสอบด้วยของเขียนอันเป็นแนวทางให้เกิดการสอบพระปริยัติธรรมด้วยข้อเขียนในสมัยต่อมา
          นับตั้งแต่การจัดตั้งสถาบันศึกษาพระปริยัติธรรมขึ้นใน พ.. ๒๔๓๒ จนถึงการสร้างระบบพระปริยัติธรรมแผนกธรรมขึ้นมาใน พ.. ๒๔๕๔ ก็ได้เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการศึกษาพระปริยัติธรรม โดยนำเอาองค์ความรู้ในนักธรรมมาเป็นบุรพภาคของเปรียญ ๓ ประโยคในปีถัดมา คือผูที่จะเข้าแปลประโยค ๔ ได้นั้น จะต้องสอบความรู้องค์นักธรรม ๔ อย่างให้ได้ก่อน คือ เรียงความแก้กระทู้ธรรม ตอบปัญหาธรรมวิภาค สอบวินัยบัญญัติ และสอบพุทธประวัติโดยใช้แบบเรียนนวโกวาท พุทธศาสนสุภาษิต และพุทธประวัติ ซึ่งผู้สอบผ่านองค์นักธรรมทั้ง ๔ นี้เรียกว่า นักธรรมชั้นตรี ในปีเดียวกันนี้เอง พระปริยัติธรรมแผนกบาลีได้มีการปรับปรุงการสอบแบบวิธีแปลด้วยปากมาเป็นการสอบด้วยวิธีเขียนในบ้างประโยค จนกระทั่งปี พ.. ๒๔๕๙ จึงได้ยกเลิกการสอบปากเปล่าและหันมาใช้การสอบแบบเขียนแทนทั้งหมด หลักสูตรนักธรรมชั้นตรี ต่อมาก็ขยายเป็นหลักสูตรนักธรรมชั้นโทและเอกจนสมบูรณ์ในปี พ.. ๒๔๖๔ โดยมีรายละเอียดวิชาดังนี้
ตารางแสดงหลักสูตรความรู้องค์นักธรรม พ.. ๒๔๕๔ - ๒๔๖๔
นักธรรมชั้นตรี
นักธรรมชั้นโท
นักธรรมชั้นเอก
. ธรรมวิภาค

. วินัยบัญญัติ

. พุทธประวัติ


. เรียงความแก้ไขกระทู้ธรรม
. ธรรมวิภาค แก้ปัญหาธรรม               วิภาคพิสดารออกไป
. วินัยบัญญัติ แก้ปัญหาวินัย  บัญญัติพิสดารออกไป
. พุทธประวัติ แก้ปัญหาอนุพุทธประวัติคือตำนานแห่งพระสาวก

. เรียงความแก้ไขกระทู้ธรรมชักสุภาษิตในที่อื่นมาอ้างไว้ด้วยต้องเชื่อมความให้สนิท
. ธรรมวิภาค แก้ปัญหาธรรมโดยปรมัตถเทศนา
. วินัยบัญญัติ แก้ปัญหาวินัยบัญญัติมีสังฆกรรม เป็นต้น
. พุทธประวัติแก้ปัญหาพุทธานุพุทธประวัติกับข้อธรรมในท้องเรื่องนั้น
. เรียงความแก้ไขกระทู้ธรรมให้หัวข้อธรรม ๓ ข้อ ที่ต่างกันแต่ต้องแต่งทำน้องเทศนาเชื่อมความ ๓ ข้อนั้นให้สนิทกัน

ต่อมาเมื่อการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยได้ก้าวเข้ายุคแห่งการศึกษาในรูปแบบของมหาวิทยาลัยสงฆ์ ก็นับได้ว่าเป็นการศึกษาที่รวมเอาทั้งปริยัติธรรม ทั้งแผนกธรรม แผนกบาลี สามัญศึกษา และการศึกษาวิชาการชั้นสูงทางพุทธศาสนา ปรัชญาและสังคมศาสตร์ ตลอดจนการฝึกหัดครูศาสนาศึกษาสำหรับโรงเรียนปริยัติธรรมและหน่วยเผยแผ่ของคณะสงฆ์ระดับต่างชาติเข้าไว้ด้วยกัน
          การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในปัจจุบัน เป็นการศึกษาที่จัดให้แก่ภิกษุสามเณรโดยคณะกรรมการการศึกษาของคณะสงฆ์และสภามหาวิทยาลัยสงฆ์ เป็นการศึกษาวิชาการของพุทธศาสนา ได้แก่ การศึกษาพระปริยัติธรรมเป็นหลักโดยที่วัตถุประสงค์สำคัญคือ ป้องกันมิให้มีการเปลี่ยนแปลงพระธรรมวินัยให้ผิดไปจากพระบาลีในพระไตรปิฎก ซึ่งปัจจุบันประกอบด้วยการศึกษาหลักสูตรต่างๆ ดังต่อไปนี้คือ
๑.หลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมมี ๓ ระดับ ได้แก่ นักธรรมชั้นตรี นักธรรมชั้นโท และนักธรรมชั้นเอก โดยคณะกรรมการข้าราชการพลเรือนเทียบวิทยฐานะนักธรรมชั้นตรีให้เท่ากับประโยคประถมศึกษาตอนต้น (ป.๔)
๒.หลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกบาลี มี ๘ ระดับ ได้แก่ ประโยค ๑-๒ และเปรียญธรรม ๓------๙ (ป..-..๙) กระทรวงศึกษาธิการเทียบความรู้ให้ตามประกาศลงวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๕๒๖ ให้เปรียญธรรม ๓ ประโยค (ป..๕) ที่สอนวิชาปริยัติธรรมแผนกธรรมแผนกบาลี หรือโรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญไม่น้อยกว่า ๑ ปี โดยมีเวลาสอนไม่น้อยกว่า ๓๐๐ ชั่วโมง เทียบเท่ามัธยมศึกษาตอนปลาย ส่วนเปรียญธรรม ๙ ประโยต (ป..๙) มีวิทยฐานะขั้นปริญญาตรี ตามมาตร ๔ (๑) แห่งพระราชบัญญัติกำหนดวิทยฐานะผู้สำเร็จวิชาการพุทธศาสนา (ฉบับที่๑) พ..๒๕๒๗
๓.หลักสูตรปริญญาตรีในมหาวิทยาลัย ได้แก่ พุทธศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย และศาศนศาสตรบัณฑิตของมหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัยซึ่งกำหนดให้นักศึกษาทุกคณะต้องศึกษาวิชาแกนพระพุทธศาสนาจำนวน ๕๐ หน่วยกิจ ประกอบด้วยวิชาบาลี , พระไตรปิฎกศึกษา,                  พระวินัยปิฎก, พระสุตตันตปิฎก, พระอภิธรรม, ธรรมประยุกต์, ธรรมปฏิบัติ และศาสนปฏิบัติ โดยหลังจากจบการศึกษาและต้องปฏิบัติศาสนกิจสนองงานในมหาวิทยาลัยในเพศบรรพชิตอีกอย่างน้อย ๑ ปี จึงจะได้รับปริญญาบัตร
๔.หลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษา จัดการเรียนการสอนตามหลักสูตรมัธยมศึกษาตอนต้นและตอนปลายของกระทรวงศึกษาธิการ โดยวิชาการพระพุทธศาสนา ได้แก่ ศาสนปฎิบัติ ภาษาบาลี และธรรมวินัย เป็นวิชาบังคับแกน ๓๖ หน่วย ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้น และ ๒๑ หน่วยกิจ ในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวมเป็น ๕๗ หน่วยกิจ
หลักสูตรทั้ง ๔ ประเภทสามาถาจำแนกได้เป็น ๒ กลุ่ม กล่าวคือ กลุ่มหลักสูตรที่เคยศึกษาเฉพาะวิชาการพระพุทธศาสนา ได้แก่ หลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกธรรมและหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกบาลี จัดเป็น “การศึกษาพระปริยัติธรรม” กลุ่มที่ ๒ เป็นหลักสูตรที่ศึกษาวิชาการพระพุทธศาสนาร่วมกับวิชาสามัญอื่นๆ ได้แก่ หลักสูตรมหาวิทยาลัยสงฆ์และหลักสูตรพระปริยัติธรรม แผนกสามัญศึกษาจัดเป็น “การศึกษาพระปริยัติธรรมประยุกต์” ดังแผนภูมิรูปแบบการจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย

               การเปิดสอนปริญญาตีในมหาวิทยาสงฆ์ ทำให้เกิดช่องว่างทางการศึกษาของคณะสงฆ์ เนื่องจากการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย ต้องอาศัยพื้นฐานวิชาการหลายสาขาประกอบกัน ขณะที่การศึกษาเฉพาะวิชาการพระพุทธศาสนา เพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยจึงได้จัดตั้งแผนกมัธยมขึ้นเรียกว่า “โรงเรียนบาลีมัธยมศึกษา” กำหนดให้มีการเรียนบาลี นักธรรม และความรู้ชั้นมัธยม โดยรับผู้ที่สำเร็จการศึกษาระดับประถมปีที่ ๔ ต่อมาโรงเรียนบาลีมัธยมศึกษานี้ ได้แพร่ขยายออกไปยังต่างจังหวัดหลายแห่งมีพระภิกษุสามเณรเรียนกันมาก ทางองค์กรการศึกษาของคณะสงฆ์จึงได้กำหนดให้เรียกโรงเรียนประเภทนี้ใหม่ว่า “โรงเรียนบาลีวิสามัญศึกษาสำนักเรียนวัด” โดยมติคณะสังฆมนตรี และกระทรวงศึกษาธิการก็ได้ออกระเบียบกระทรวงให้โรงเรียนบาลีวิสามัญศึกษาสำนักเรียนวัดนี้ เปิดทำการสอบสมทบในชั้นตัวประโยค คือ ชั้นประถมปีที่ ๖ และชั้นมัธยมศึกษาปีที่ ๓ ได้ตั้งแต่ พ.. ๒๕๐๐ เป็นต้นมา และเมื่อสอบได้แล้วก็ยังจะได้รับประกาศนียบัตร จากกระทรวงศึกษาธิการอีกด้วย แต่หลักสูตรบาลีวิสามัญสำนักเรียนวัดนี้ถูกยกเลิกไปเมื่อปี พ.. ๒๕๐๗ เนื่องจากทางการคณะสงฆ์เกรงว่าการศึกษาธรรมและบาลีจะเสื่อมลง เพราะทางภิษุสามเณรนิยมเรียนกันมาก เป็นการมุ่งวิชาทางโลกมากเกินไป จึงปรับปรุงหลักสูตรการศึกษาพระปริยัติธรรมแผนกบาลีขึ้นใหม่เป็นวิชาบาลี วิชาธรรมและวิชาทางโลกเรียกว่า บาลีศึกษา สามัญศึกษา และปริยัติธรรมศึกษา แต่ภิกษุสามเณรนิยมเรียนกันน้อยเพราะไม่ได้รับประกาศนียบัตรของกระทรวงศึกษาธิการ ในที่สุดกระทรวงศึกษาธิการจึงได้ประกาศใช้ระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วย โรงเรียนพระปริยัติธรรมแผนกสามัญศึกษาขึ้นเมื่อวันที่ ๒๐ กรกฎาคม พ.. ๒๕๑๔ เพื่อสนองความต้องการของพระภิกษุสามเณร โดยให้เรียนทั้งวิชาธรรมและวิชาสามัญศึกษา ควบคู่กันไป ดำเนินการโดยกรมศาสนา โดยมีวัตถุประสงค์ที่จะให้การศึกษาในโรงเรียนดังกล่าว เป็นประโยชน์ฝ่ายศาสนจักร และฝ่ายบ้านเมือง กล่าวคือทางฝ่ายศาสนจักรก็ได้ศาสนาทายาทที่ดี มีความรู้ความเข้าใจหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง เป็นผู้ประพฤติดีประพฤติชอบ ดำรงอยู่ในสมณธรรมสมควรแก่ภาวะ สามารถดำรงและสืบต่อพระพุทธศาสนาให้เจริญสถานพรต่อไปและถ้าหากพระภิกษุสามเณรเหล่านี้ถ้าลาสิกขาและก็สามารถเข้าศึกษาต่อไปในสถานศึกษาของรัฐได้ หรือเข้ารับราชการสร้างประโยชน์ให้ก้าวหน้าต่อไป และบ้านเมืองสืบต่อไปอีกด้วยเช่นกัน
               อาจกล่าวได้ว่าการปรับเปลี่ยนหรือปรับปรุงรูปแบบการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยที่ผ่านมาถือว่าเป็นไปได้อย่างช้าๆ เพราะในขณะที่ประเทศไทยมีการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปหลายด้านอย่างต่อเนื่อง แต่การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยในรอบ ๑๘๐ ปีทีผ่านมา (นับตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ ๒ ซึ่งจักให้มีการเรียนบาลีแบบ ๙ ประโยคเป็นครั้งแรกอีกทั้งหันมาเน้นคัมภีร์อรรถกถาเป็นหลักสูตรแทนพระไตรปิฎก) พูดได้ว่าเป็นการปฏิรูปอย่างจริงจังเพียงครั้งเดียวเท่านั้น คือ สมัยต้นรัชการที่ ๖ โดยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งไม่เพียงปรับปรุงหลักสูตรปริยัติธรรมแบบบาลีให้มีความทันสมัยขึ้น หากแต่ยังทรงริเริ่มให้มีหลักสูตรการศึกษาแบบนักธรรม โดยเน้นความรู้ทางด้านธรรมวินัยที่เข้ากับแนวความคิดทันสมัยของยุคใหม่ แต่แล้วในช่วงระยะเวลาไม่กี่สิบปีระบบที่จัดได้ว่าทันสมัยนี้ก็ถูกปล่อยให้ล้าหลัง พร้อมกันนี้ยังมีการแช่แข็งหลักสูตรนี้เอาไว้โดยต้องเลือกที่จะเปิดระบบการศึกษาแบบใหม่ๆแทน เช่นการจักเรียนในรูปแบบของมหาวิทยาลัยสงฆ์ขึ้นมาเพื่อรองรับความต้องการของพระภิกษุสามเณรแทนรูปแบบการศึกษาแบบเดิมที่ไม่สามารถรองรับความต้องการด้านการศึกษาของพระภิกษุสามเณรได้จึงต้องหันกลับไปดูว่าเราได้วางเป้าหมายการศึกษาของคณะสงฆ์ไว้อย่างไร จึงจะสามารถพัฒนารูปแบบให้ดำเนินไปในฐานะผู้นำการศึกษาได้อีกอย่างหนึ่ง

๓. เป้าหมายการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย      
พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาสำคัญกับการศึกษาเป็นอย่างยิ่ง จนสามารถกล่าวได้ว่าระบบปฏิบัติทั้งหมดในพระพุทธศาสนาก็คือระบบแห่งการศึกษาหรือฝึกฝนพัฒนาตนเอง ดังเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ไตรสิกขา ทั้งนี้ก็เพราะพระพุทธศาสนาถือว่าการศึกษาเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะทำให้มนุษย์มีชีวิตที่งอกงามจนบรรลุถึงอิสรภาพขั้นสูงสุด การให้ความสำคัญต่อการศึกษานี้จะเห็นชัดเจนเมื่อถึงบริบทแรกของการสร้างชุมชนสงฆ์และชีวิตบรรพชิต เริ้มต้นตั้งแต่การบวชซึ้งครั้งแรกพระพุทธเจ้าก็ได้ทรงบอกถึงเป้าหมายของการบวชไว้อย่างชัดเจนว่า “พรหมจรรย์นี้เป็นไปเพื่อความเบื่อหน่ายโดยส่วนเดียว เพื่อคลายกำหนัด เพื่อดับเพื่อสงบระงับ เพื่อรู้ยิ่ง เพื่อตรัสรู้ เพื่อนิพพาน
          เมื่อพระพุทธศาสนาถูกนำมาประดิษฐานไว้ที่ประเทศไทย วัตถุประสงค์ของผู้ที่เข้ามาบวชก็มีหลากหลายมากมายขึ้น ดังที่ในปัจจุบันคนไทยชอบพูดกันว่า บวชเล่น บวชลอง บวชครองประเพณี บวชหนีสงสาร คือ บวชเพื่อปฏิบัติออกจากทุกข์ซึ้งการบวชประเภทนี้คือเป้าหมายแท้จริงของการบวชในพระพุทธศาสนา บวชผลาญข้าวสุก คือบวชอาศัยพระศาสนาเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง ไม่เล่าเรียนศึกษาปฏิบัติ บวชสนุกตามเพื่อน คือเห็นเพื่อนบวชนึกสนุกก็จึงบวชตาม เมื่อมีความต้องการที่หลากหลายขึ้น เป้าหมายของการบวชจึงได้มีการจำแนกสาระออกเป็นเป้าหมายรอง ซึ่งจะได้แสดงให้เห็นดังต่อไปนี้
๑. เป้าหมายหลัก
เมื่อพระพุทธศาสนาเข้ามาสู่ประเทศไทย ในช่วงแรกการศึกษาของสงฆ์ไทยก็ยังคงมีเป้าหมายการศึกษาที่เป็นไปตามพุทธประสงค์เดิมผ่านการศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ ควบคู่ไปกับการเรียนคันถธุระเพื่อเป้าหมายแห่งความสถาพรของการพระพุทธศาสนา ดังที่พระธรรมปิฏก (ป.อ. ปยุตฺโต) ได้กล่าวถึงเป้าหมายหลักของการบวชเรียนในสังคมไทยโดยสรุปแล้วมีอยู่ ๒ ประการ คือ
๑. เป็นการทำหน้าทีของพุทธศาสนิกชน คือ เป็นการสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา ด้วยการรักษาพระธรรมวินัยให้เจริญมั่นคง ส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นเพื่อความเจริญงอกงามของมหาชนทั้งหลาย ยิ่งกว่านั้นคือเมื่อเรียนรู้แล้วประพฤติตามดำเนินชีวิตของงเราตามธรรม ก็เท่ากับเอาพระพุทธศาสนาเข้ามาไว้ในชีวิตของตนตราบใดที่ชาวพุทธแต่ละคนยังมีชีวิตอยู่พระพุทธศาสนาก็ยังคงอยู่สืบไป
๒. เป็นการศึกษาฝึกอบรมพัฒนาตนเอง เมื่อถึงที่สุดแล้วจุดหมายของการบวชก็ตกอยู่ที่ตัวเอง คือเป็นการพัฒนาชีวิต ทั้งในด้านความประพฤติ ทั้งทางกาย วาจา และจิตใจที่มีความดีงามเข้มแข็งมั่นคงเป็นสุข และในด้านปัญญา คือมีความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง
ต่อมาเมื่อพระภิกษุสามเณรถูกยกให้ดำรงตำแหน่งผู้นำทางด้านจิตวิญญาณแห่งสังคม การศึกษาของสงฆ์ก็ได้ขยายตัวออกไปอีกเป็น ๓ ด้าน โดยแต่ละด้านมีเป้าหมายหลักดังนี้คือ
๑.การศึกษาคันถธุระ หรือการศึกษาด้านปริยัติธรรม มีเป้าหมายหลักเพื่อการธำรงพระศาสนาให้ยั่งยืนสถาพร ด้วยการศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าที่แบ่งออกเป็น ๓ หมวด คือ วินัยปิฎก สุตตันตปิฎก และอภิธรรมปิฎก
๒.การศึกษาด้านวิปัสสนาธุระ มีเป้าหมายหลักเพื่อการชำระและฝึกฝนจิตใจให้บริสุทธิ์หมดจดจากความเศร้าหมอง หรือกิเลสทั้งปวง
๓.การศึกษาวิชาชีพอื่นๆ เช่น หมอยา หมอนวด หมอดู ตลอดจนเป็นชั่งฝีมือต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่มีเป้าหมายอยู่ ๒ ทาง คือเป็นการศึกษาเพื่อให้มีวิชาติดตัวเมื่อสึกออกมาจะได้มีอาชีพที่ทำให้หาเลี้ยงตัวเองได้ และเป็นการศึกษาเพื่อสืบทอดวิชาให้กับชาวบ้าน
ในการศึกษาทั้ง ๓ ด้านนี้ การศึกษาด้านคันถธุระของพระสงฆ์จะได้รับการส่งเสริมมากที่สุดจากทั้งรัฐและประชาชน ทั้งนี้เนื่องจากตามหลักของพระพุทธศาสนาถือกันว่าพระไตรปิฎกเป็นการสืบต่อพระพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่ยังมีผู้ศึกษาและปฏิบัติตามคำสั่งสอนในพระไตรปิฎก พระพุทธศาสนาก็คงดำรงอยู่ตราบนั้น
ในยุคต่อมาเมื่อศาสนามีความเจริญรุ่งเรืองมากขึ้น ก็มีบุคคลเข้ามาอาศัยผ้าเหลืองหากินในทางมิชอบกับศาสนา เป้าหมายของการจัดการศึกษาจึงได้มีเพิ่มขึ้นอีกขึ้นหนึ่ง ดังที่สมเด็จพระนารายณ์มหาราช ทรงโปรดให้คณะสงฆ์ดำเนินการด้านโรงเรียนพระปริยัติธรรมขึ้น เพื่อวัตถุประสงค์ ๓ ประการ คือ
๑. เพื่อธำรงไว้ซึ่งศาสนา
๒. เพื่อกำจัดผู้ที่เข้ามาอาศัยพระพุทธศาสนาโดยวิธีไม่ชอบธรรม
๓. เพื่อความเจริญรุ่งเรืองแห่งสัทธรรม
เมื่อถึงยุคสมัยแห่งการปฏิรูปการศึกษาของคณะสงฆ์ในช่วงรัชกาลที่ ๕ สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ทรงตั้งมหากุฎราชวิทยาลัยด้วยเป้าหมายเพื่อ
๑. เพื่อเป็นสถานที่ศึกษาปริยัติธรรมชั้นสูง
๒. เพื่อเป็นสถานศึกษาวิชาทั้งของชาติทั้งของต่างชาติ
๓. เพื่อเป็นสถานที่เผยแพร่ธรรมคำสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทั้งในและนอกประเทศ
๔. เพื่อให้ภิกษุสามเณร มีความรู้และความสามารถในการบำเพ็ญประโยชน์แก่ประชาชนได้ดียิ่งขึ้น
๕. เพื่อให้ภิกษุสามเณร มีความรู้และความสามารถในการค้นคว้า โต้ตอบหรืออภิปรายธรรมได้อย่างกว้างขวางแก่ชาวไทยและชาวต่างชาติ
๖. เพื่อให้ภิกษุสามเณร ได้เป็นกำลังสำคัญในการจรรโลงพระพุทธศาสนาและเป็นศาสนาทายาทที่เหมาะแก่กาลสมัย
๗. เพื่อความเจริญก้าวหน้า และคลอยู่ตลอดกาลนานของพระพุทธศาสนา
ส่วนเป้าหมายโดยสรุปของจุฬาลงกรณราชวิทยาลัยก็มีใจความแทบไม่แตกต่างกัน คือ เพื่อสร้างภิกษุสามเณรให้มีความรู้ความเข้าใจในพระพุทธศาสนาพร้อมทั้งหลักศาสนาและวิชาการอย่างอื่น อันจะช่วยให้สามารถดำรงไว้ซึ้งพระศาสนาและนำพุทธธรรมไปเผยแพร่ให้เกิดสันติสุขแก่ประชาชนโดยทั่วไป
จากการศึกษาพบว่า การศึกษาของคณะสงฆ์ไทยทุกยุคทุกสมัยนั้นจะมีเป้าหมายหลักของการศึกษาอยู่ ๒ ประการ คือ
๑.เพื่อการบรรลุคุณธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนา คือ พระนิพพานซึ่งข้อนี้จัดว่าเป็นเป้าหมายที่ได้แก่ผู้ศึกษาโดยตรง หรือเรียกว่าเป็นประโยชน์ส่วนตน
๒.เพื่อการรักษาและสืบอายุพระศาสนาให้มั่นคงถาวร ในข้อนี้จัดเป็นเป้าหมายที่สร้างประโยชน์ให้แก่สังคมและมหาชนส่วนใหญ่
ในข้อนี้ให้ถือว่าเป็นหลักใหญ่ เพราะมีความสอดคล้องกับเป้าหมายหลักของการศึกษาที่จะทำให้พระพุทธศาสนามีอายุยืนยาว มั่นคงตลอดระยะเวลาในกาลแห่งศาสนาของพระพุทธบรมศาสดา อันมีมาแต่ครั้งพุทธกาลดังที่พระพุทธเจ้าได้ทรงรับสั่งกับพญามารที่มาทูลเชิญให้เสด็จปรินิพานในตรัสรู้กาลว่า
มารผู้มีบาป เราจะยังไม่ปรินิพพานตราบเท่าที่ภิกษุทั้งหลายผู้สาวกของเรายังไม่เฉียบแหลม ไม่ได้รับการแนะนำ ไม่แกล้วกล้า ไม่เป็นพหูสูต ไม่ทรงธรรม ไม่ปฏิบัติธรรมสมควรแก่ธรรม ไม่ปฏิบัติชอบ ไม่ปฏิบัติตามธรรม เรียนกับอาจารย์ของตนแล้ว แต่ก็ยังบอก แสดงบัญญัติ กำหนด เปิดเผย จำแนก ทำให้ง่ายไม่ได้ ยังแสดงธรรมมีปาฏิหาริย์ปราบปรัปวาท ที่เกิดขึ้นให้เรียนร้อยโดยชอบธรรมไม่ได้
          เป็นการแสดงให้เห็นว่าพระองค์ทรงให้ความสำคัญต่อการสืบอายุพระพุทธศาสนาให้มั่นคงเป็นอย่างยิ่ง โดยมีการแสดงเหตุแห่งความมั่นคงสถาพรของพระพุทธศาสนาไว้ในพุทธวัจนะบทดังกล่าว
          ๒. เป้าหมายรอง
นอกจากเป้าหมายหลักที่เป็นเป้าหมายโดยตรงของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยแล้ว ยังมีเป้าหมายรองของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยที่ถูกติดอยู่กับสังคมโดย มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าเป้าหมายหลักดังต่อไปนี้
          ๑.เพื่อความมั่นคงของอำนาจด้านการปกครองคณะสงฆ์
          การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยนั้นมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อการปกครองในหมู่สงฆ์ด้วยกันเอง ซึ่งแต่เดิมเมื่อชุมชนสงฆ์อยู่ด้วยกันจะใช้การปกครองกันด้วยระเบียบแห่งธรรมวินัย คือ ผู้บวชใหม่จะต้องกล่าวคำขอนิสัยเพื่อขออยู่อาศัยหรืออยู่ในการปกครองของอุปัชฌาย์ ซึ่งการปกครองระหว่างอุปัชฌาย์และสัทธิวิหาริก จะเป็นไปด้วยการให้การศึกษา ผู้มีพรรษาน้อยให้ความเคารพผู้มีพรรษามากกว่า จนเกิดเป็นระบบความสัมพันธ์พื้นฐานที่เป็นรากฐานการปกครองในพระพุทธศาสนา เมื่อองค์กรสงฆ์มีขนาดใหญ่ขึ้นระบบการปกครองจึงซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ ดังนั้นเพื่อจะเป็นการสร้างความเข้มแข็งด้านการปกครองจึงจำเป็นต้องผูกองค์กรสงฆ์ไว้ด้วยการจัดการศึกษาที่สามารถเชื่อมโย่งหน่วยสงฆ์ทั้งหมดเข้าหากัน


          ๒.เพื่อความมั่นคงของอำนาจด้านการปกครองฝ่ายบ้านเมือง
          การจัดการศึกษาของคณะสงฆ์นับว่าเป็นการส่งเสริมการปกครองและฐานะทางการเมืองให้แก่พระมหากษัตริย์ไทยนับแต่อดีตประการหนึ่ง คือ การทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา เพราะหลักธรรมของพระพุทธศาสนาเป็นเครื่องมือที่สำคัญในการช่วยส่งเสริมการปกครองบ้านเมือง เช่น แนวคิดเรื่อง ปิตุราชา ที่กษัตริย์สมัยสุโขทัยใช่เป็นหลักในการปกครอง ซึ่งเป็นผลให้พระมหากษัตริย์ในสมัยสุโขทัยรักษาอำนาจได้ด้วยดีมาโดยตลอด หรือหลักธรรมในหมวดการปกครองบ้านเมืองเช่น ทศพิธราชธรรมสังคหวัตถุ ๔ ตลอดจนการรักษาศีล ๕ ศีล ๘ ศีล ๑๐ อยู่เสมอ รวมถึงการสั่งสอนประชาชนให้ประพฤติธรรมด้วยการบำเพ็ญทาน ศีล และการไม่เบียดเบียนหมู่สัตว์ต่างๆ ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพทางการเมืองให้แก่พระมหากษัตริย์เอง
          ๓.เพื่อส่งเสริมการศึกษาของบ้านเมือง
          ก่อนที่จะมีการปฏิรูปการศึกษาของบ้านเมืองในสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว วัดมีความสำคัญในฐานะที่ทำหน้าทีเป็นสถาบันการศึกษาของกุลบุตรนับตั้งแต่โบราณมา ซึ่งการศึกษาของคนในสมัยนั้นจะศึกษาด้วยการสืบทอดตลอดจนสร้างสรรค์วัฒนธรรมโดยอัตโนมัติ และเป็นเรื่องของการประพฤติตนเป็นคนดี สามารถใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับผู้อื่นในสังคมด้วยความสงบสุข การศึกษาสมัยนั้นอาจเรียกได้ว่าเป็นการศึกษาวิชาชีวิตที่มีแนวคิดภายใต้อุดมการณ์ของสังคมพุทธศาสนาและค่านิยมตามประเพณีในสังคม บรรดาพ่อแม่เมื่ออยากให้ลูกมีความรู้ก็มักจะนำบุตรไปฝากเป็นศิษย์ของพระ เพื่อจะได้มีโอกาสเล่าเรียนเขียนอ่านหนังสือ ทั้งนี้เพราะพระสงฆ์เป็นบุคคลกลุ่มเดียวที่ทรงคุณธรรมความรู้ นอกจากพระจะเป็นผู้ให้ความรู้ทางด้านการเล่าเรียนเขียนอ่านแล้ว พระยังเป็นผู้อบรมสั่งสอนศีลธรรมให้แก่เด็กอีกด้วย โดยเฉพาะเด็กที่แก่นแก้วหรือประพฤติตนเป็นเด็กเหลือขอก็จะถูกอบรมบ่มนิสัยจนถึงให้บวชเณรเพื่อให้อยู่ในกรอบวินัย การบวชเป็นเณรของเด็กชายนั้นถึงจะเป็นระยะเวลาสั้นๆ แต่พ่อแม่ของเด็กก็จะเห็นว่าเป็นบุญกุศล สำหรับการศึกษาชั้นสูง วัดก็ยังเป็นแห่งการศึกษาแห่งเดียวในสมมัยนั้น ดังที่ เอ. บี. กริสโวลด์ ได้กล่าวไว้
ประเทศไทยในสมัยรัชกาลของพระบาทสมเด็จพระนั่งเจ้าอยู่หัวนั้น ไม่มีมหาวิทยาลัยหรือโรงเรียนนอกจากวัด. . . พระสงฆ์เป็นเสมือนอาจารย์ในมหาวิทยาลัยคือมีหน้าที่ทั้งด้านการศึกษาและวิจัยพระสงฆ์บางรูปชำนาญในภาษาบาลี. . . แต่บางรูปก็ชำนาญในการฝึกฝนจิตตนเองให้บริสุทธิ์สะอาดด้วยการบำเพ็ญสมาธิ. . .
          การศึกษาภายในวัดของเจ้านายฝ่ายชาย จะควบคู่ไปกับการศึกษาในวังของเจ้านายฝ่ายหญิง ซึ่งจะเล่าเรียนประเพณี และระเบียบวินัยของกุลสตรี ซึ่งการบวชนั้นจะถือได้ว่าเป็นเสมือนการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เมื่อสิกขาลาเพศออกมาจะได้รับการยกย่องจากสังคมว่าเป็นผู้ที่ได้รับการอบนมศึกษามาเป็นอย่างดี และมีโอกาสก้าวหน้าต่อไป อาจได้เป็นเจ้าคุณ และสมเด็จก็ได้หรือถ้าฝากเนื้อฝากตัวกับเจ้าคุณมูลนายก็อาจเป็นใหญ่เป็นโตในราชการได้
          ๔.เพื่อจำกัดผู้ที่เข้ามาหากินกับพระพุทธศาสนา
          การศึกษามีส่วนช่วยให้พระศาสนามั่นคงจากการแฝงตัวเข้ามาหาผลประโยชน์ของอสัตบุรุษเป็นอย่างมาก เช่นการจัดรูปแบบการศึกษาของสงฆ์ในสมัยพระนารายณ์มหาราชก็มีเหตุผลหนึ่งที่มาจากการปลอมบวชเพื่อหากินกับพระศาสนาเป็นอันมาก หรือการจัดหลักสูตรนักธรรมในสมัยของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็มีเหตุมาจากการที่มีผู้เข้ามาบวชเพื่อหลบหนีการเกณฑ์ทหารมาก เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาของคณะสงฆ์จึงเป็นวิธีการหนึ่งในการปราบปรามเหลือบไรที่มาอาศัยเกาะกินกับศาสนา
          ๕.เพื่อการดำเนินสถานภาพความเป็นผู้นำของสังคม
ข้อนี้เป็นความพิเศษอันเป็นผลการสร้างสรรค์ของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยที่สถาบันสงฆ์ถูกสถาปนาให้รับบทความเป็นผู้นำทั้งในด้านจิตวิญญาณ  และในด้านการศึกษาทั้งวิชาการและวิชาชีพมาคู่กับสังคมแม้ว่าในปัจจุบันพระภิกษุสามเณรส่วนใหญ่จะขาดคุณภาพความเป็นผู้นำลงไปบ้าง แต่การศึกษาของคณะสงฆ์ในฝ่ายมหาวิทยาลัยสงฆ์ก็ยังเป็นเครื่องมือในการประดิษฐ์และค่ำจุนวัตถุประสงฆ์นี้เอาไว้อยู่จนปัจจุบัน
          เมื่อกล่าวโดยสรุปเป้าหมายหลักของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยตั้งแต่ต้นมานั้น ยังกล่าวเป็นไปตามพุทธฎีกาของพระพุทธศาสดาที่ได้ตรัสไว้ตั้งแต่สมัยแรกเริ่มแต่ในปัจจุบันความสำคัญของเป้าหมายหลักนี้ ดูค่อนข้างจะเป็นไปในทางอุดมคติเสียมากกว่า ดังนั้นความมุ่งหวังด้านเป้าหมายรองจึงเป็นสิ่งที่หวังผลได้ดีกว่าสำหรับการจัดการศึกษาของคระสงฆ์ไทย ด้วยความหวังว่าความสำเร็จแห่งเป้าหมายรองจะนำมาซึ้งความหวานชื่นแห่งเป้าหมายหลักไม่วันใดก็วันหนึ่ง ดังได้กล่าวมานี้ทั้งความเป็นมา รูปแบบ และเป้าหมายของการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยที่กล่าวมาแล้วนี้เป็นการสร้างพื้นฐานความเข้าใจอันจะนำมาสู่การศึกษาปัญหาการศึกษาของคณะสงฆ์ไทยต่อไป

บรรณานุกรม
คณาจารย์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย. ประวัติศาสนาพระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ :                           ห้างหุ้นส่วนจำกัด นวสาส์น การพิมพ์, ๒๕๕๐.
พุทธศาสนประวัติ. รวมบทความวิชาการทางพระพุทธศาสนาจัดพิมพ์ขึ้นในคราวฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ     ณ ประเทศอินเดีย พ.ศ.๒๔๙๙, ๒๕๔๑
พระเฉลิมชาติ ชาติวโร (อิทธะรงค์). ศึกษาวิเคราะห์การพัฒนาการศึกษาของคณะสงฆ์ไทย. กรุงเทพฯ :      หจก.นวสาส์น การพิมพ์, ๒๕๕๒.
พระธรรมกิติวงศ์(ทองดี สุรเตโช). บทบาทของสถาบันพระพุทธศษสนากับการจัดการศึกษา. กรุงเทพฯ :     บริษัท พิมพ์ดี จำกัด, ๒๕๔๖.
พระไพศาล วิสาโล. พุทธศาสนาไทยในอนาคต : แนวโน้มและทางออกจากวิกฤต. กรุงเทพฯ :                  มูลนิธิโกมลคีมทอง, ๒๕๕๒.
พระโสภณคณาภรณ์. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา. กรุงเทพฯ : กองทุนไตรรัตนานุภาพ, ๒๕๒๙.
ร.ศ.สิริวัฒน์ คำวันสา. ประวัติพระพุทธศาสนาในประเทศไทย. กรุงเทพฯ : มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย,    ๒๕๓๔.
วัชระ งามจิตรเจริญ. พุทธศาสนาเถรวาท. กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, ๒๕๕๒.
เสถียร โพธินันทะ. ประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ฉบับมุขปาฐะ : ภาค 2. กรุงเทพฯ :                          มหามกุฏราช วิทยาลัย, ๒๕๔๐.

เอส.เอส. อนาคามี. พุทธรัฐ. กรุงเทพฯ : สยามมิส พับลิชชิ่ง เฮ้าส์, ๒๕๕๓.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น