วันอาทิตย์ที่ 22 ธันวาคม พ.ศ. 2556

ลักษณะทั่วไปของปรัชญาอินเดียร่วมสมัย

            ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยเป็นปรัชญาที่ผสมผสานกันระหว่างปรัชญาอินเดียโบราณกับปรัชญาตะวันตกทั่วไป ซึ่งก่อนที่จะอธิบายลักษณะของปรัชญาอินเดียร่วมสมัยนั้นต้องเข้าใจถึงความแตกต่างของปรัชญาอินเดียโบราณกับปรัชญาตะวันตกก่อนดังนี้ 

ทรรศนะต่อเรื่องต่างๆ
ปรัชญาอินเดียโบราณ
ปรัชญาตะวันตก
1. ปรัชญาชีวิต
ผ่านการปฏิบัติ, นำคำสอนมาปฏิบัติ
ผ่านทฤษฎี, รู้เพื่อรู้
2. โลก
สนใจโลกภายใน, มีลักษณะมองโลกในแง่ร้าย
สนใจโลกภายนอก, มีลักษณะมองโลกในแง่ดี
3. คุณค่าแห่งชีวิต
ปฏิเสธชีวิตในโลกนี้, ส่งเสริมให้หลุดพ้น
ส่งเสริมชีวิตในโลกนี้
4. เวลา
ความดีได้รับผลในอนาคต
ความดีได้รับผลในปัจจุบัน
5. ธรรมชาติ
อยู่ร่วมกับธรรมชาติ
ต้องการชนะธรรมชาติ, ต้องการครอบครอง
6. มูลกำเนิด
มาจากศาสนา
มาจากศาสนาน้อยมาก ส่วนใหญ่มาจากนักคิด
7. นักปรัชญา
เป็นนักบวช
เป็นคนธรรมดา
            ปรัชญาอินเดียร่วมสมัยนั้นเกิดขึ้นช่วงหลังจากที่อินเดียถูกอังกฤษและศาสนาอิสลามเข้ามาครอบงำ พวกที่ยึดหลักความคิดเดิมก็ยังยึดมั่นความคิดเดิมของเขาเพื่อแสดงความเป็นชาติตนเอง ก่อให้เกิดการฟื้นฟูปรัชญาอินเดียโบราณขึ้นมา สร้างหลักการแนวคิดรูปแบบใหม่ เป็นแบบสังเคราะห์ และบูรณาการ กับปรัชญาตะวันตกก่อให้เกิดเป็น ปรัชญาอินเดียร่วมสมัย โดยลักษณะของปรัชญามีทั้งยอมรับความคิดเดิม และปฏิเสธหลักการเดิมบางประการ ดังนั้นลักษณะสำคัญบางประการของปรัชญาอินเดียร่วมสมัยเปรียบเทียบกับปรัชญาอินเดียโบราณจึงมีลักษณะดังนี้
            1. ทรรศนะต่อโลก โลกเป็นจริงตามที่ปรากฏต่อประสาทสัมผัสของเรา ไม่ได้เป็นมายา หรือ ภาพลวงตา รุ่นใหม่จึงมีลักษณะเป็นสัจนิยม รุ่นใหม่ยังเห็นว่าโลกไม่ใช่แค่วัตถุเท่านั้น ยังมีลักษณะเป็นจิต หรือ วิญญาณด้วย จึงมีลักษณะเป็นจิตนิยม รุ่นใหม่จึงไม่ยอมรับทรรศนะเชิงปฏิเสธโลก ส่งเสริมให้แสวงหาโมกษะ โดยวิธีบำเพ็ญพรตเพื่อความหลุดพ้นไปจากโลก ดังนั้นลักษณะการมองโลกของรุ่นใหม่จึงเป็นไปในแง่ดีมากขึ้น คือให้ความสำคัญกับโลกนี้ด้วย
            2. ทรรศนะสากลนิยมและเจตนิยม รุ่นใหม่มองว่าต้องพัฒนาร่วมกันทุกสิ่งต้องมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด รุ่นเก่าจะให้ความสำคัญเป็นปัจเจกภาพ คือ วิธีที่บรรลุ การปฏิบัติ เพื่อตนเอง ไม่สนใจผู้อื่น รุ่นใหม่มองว่าถ้าสภาพแวดล้อมรอบข้างไม่ดี ต่ำทรามเราก็ไม่สามารถที่จะพัฒนาได้ เหมือนกับปลาที่ว่ายอยู่ในน้ำเน่า มันจะมีสภาพที่ดีไม่ได้ ลักษณะเช่นนี้มีความสอดคล้องกับศาสนาพุทธเถรวาทกับมหายาน ที่เถรวาทมุ่งเน้นการปฏิบัติเพื่อตนเอง แต่มหายานเน้นการปฏิบัติเพื่อสังคม
            3. ทรรศนะบูรณาการและการสังเคราะห์ รุ่นใหม่มีการอธิบายผสมผสานระหว่างอินเดียโบราณกับตะวันตกเข้าด้วยกัน ซึ่งรุ่นใหม่ไม่มีทัศนะคับแคบเหมือนกับโบราณ
            4. ประณีประนอม ระหว่างเทวนิยมกับสัมบูรณนิยม แบบเก่านั้นมีความเชื่อใน ๒ ลักษณะคือ เทวนิยม ที่เชื่อว่าพระเจ้าสร้างโลก โลกกับพระเจ้ามีลักษณะแตกต่างกัน เป็นทวิภาพ และแบบสัมบูรณนิยมของศังกราจารย์ ที่มองว่าโลกกับพระเจ้าเป็นหนึ่งเดียวกัน รุ่นใหม่จึงมีทรรศนะต่อเรื่องนี้ในลักษณะของการประณีประนอม คือประสานเทวนิยมกับสัมบูรณนิยมเข้าด้วยกัน มองพระเจ้าเป็น ๒ ส่วนคือมีตัวตนละไม่มีตัวตน เป็นภาคเทียมและภาคแท้
            5. เอกนิยมในเรื่องสสารนิยมกับจิตนิยม รุ่นเก่าบอกว่า สสารกับจิตนั้นมีอิสระต่อกัน แต่รุ่นใหม่บอกว่า ความจริงมีหนึ่งเดียวทั้งจิตและสสารต่างเป็นภาคแสดงของพรหมมัน มันไม่ได้ต่างกันเพียงแต่พัฒนาต่างกัน สสารคือพรหมมัน จิตก็คือพรหมมันเช่นกัน แต่สสารเป็นภาคแสดงที่ต่ำกว่า ส่วนจิตเป็นภาคแสดงที่สูงกว่า เป็นความจริงขั้นต่าง ๆ ของพรหมมัน แต่โดยเนื้อแท้แล้วต่างก็เป็นพรหมมันเช่นกัน
       
     6. อาตมันกับเทวภาพ รุ่นเก่ามองว่า อาตมันมีลักษณะที่อยู่นิ่ง ๆ ไม่เคลื่อนไหว เราทำอะไรไม่ได้จนกว่าจะตาย เพื่อจะเข้าถึงพรหมมัน แต่รุ่นใหม่มองว่า อาตมันมีความสัมบูรณ์อยู่แล้วแต่เพราะถูกจำกัดในร่างกาย มีลักษณะเป็นพลวัต มีการเติบโตพัฒนาด้วยพลังอำนาจ คือต้องพัฒนาจิต ถ้าพัฒนาจิตแล้วพลังแห่งเทพก็แสดงออกมา ก็จะกลายเป็นเทวดาในร่างมนุษย์ ไม่จำเป็นต้องตาย เปรียบดังพระอรหันต์ ที่เมื่อบรรลุแล้วก็ยังสามารถใช้ชีวิตได้อยู่ในโลกนี้ เมื่อตายไปก็เข้าสู่นิพพาน
            7. ทรรศนะเรื่องวิวัฒนาการของอภิมนุษย์ รุ่นเก่าบอกว่าตายแล้วถึงจะเข้าถึงพรหมมันแต่แบบใหม่เชื่อว่าเมื่อบรรลุโมกษะแล้ว ก็จะไม่กลับไปรวมกับพรหมมันอีก กล่าวคือเป็นอภิมนุษย์ ที่พัฒนามาจากมนุษย์ ที่เข้าถึงโมกษะได้แล้ว อภิมนุษย์เมื่อมีชีวิตอยู่ก็สมบูรณ์แล้ว ตายไปก็ไม่เกิดอีก แต่ถ้ายังหลงในมายาก็จะกลับมาเกิดอีก เปรียบดังพระพุทธเจ้าที่เป็นอภิมนุษย์ในร่างคน
            8. ทรรศนะเรื่องโมกษะ รุ่นเก่ามองว่าโมกษะที่เข้ามาสู่กายเป็นสิ่งที่สกปรก การเข้าถึงโมกษะได้ก็ต่อเมื่อตายแล้วเท่านั้น ต้องสละร่าง กิเลส กรรมทั้งหมดออกไป แต่รุ่นใหม่มองว่า มันไม่ใช่การสละร่าง แต่การเข้าถึงโมกษะนั้นอยู่ภายในร่าง เมื่อเรารู้จิต เราก็แสดงออกได้อย่างเต็มที่ โมกษะไม่ได้หลุดออกจากโลกนี้ แต่เข้าใจถึงโลกนี้อย่างถ่องแท้
            9. ทรรศนะต่อศาสนา แบบเก่ามีทรรศนะคับแคบ แต่แบบใหม่มีจุดมุ่งหมายเหมือนกัน แต่พิธีกรรม วิธีการปฏิบัติต่างกัน
            10. แนวโน้มทางมนุษยนิยม รุ่นใหม่ให้ความสำคัญ และคุณค่าของมนุษย์มากกว่ารุ่นเก่า

            ดังนั้นลักษณะสำคัญของปรัชญาอินเดียร่วมสมัยจึงเป็นการผสมผสานกันระหว่างปรัชญาอินเดียโบราณกับตะวันตก โดยมีการยึดถือแบบเดิม แต่นำเอาปรัชญาตะวันตกมาในการอธิบาย เพื่อโลกนี้มากขึ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น