วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 3 บริบทชุมชนบ้านกุงแกง (ตอน1)

บทที่ 3
ประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง


            การศึกษาเรื่อง ประเพณีปอยส่างลอง กรณีศึกษา หมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในบทนี้ผู้วิจัยได้ทำการศึกษา โดยสามารถแยกออกเป็นหัวข้อต่าง ๆ ได้ดังนี้
           1. บริบทชุมชนบ้านกุงแกง
           2. ประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง
           3. เปรียบเทียบประเพณีปอยส่างลอง
           4. ประเพณีปอยส่างลองกับหลักการบวชในพระพุทธศาสนา



            สภาพทั่วไปของชุมชน
          บ้านกุงแกง อยู่ห่างจากตัวอำเภอปายประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัดแม่ฮ่องสอน ประมาณ 116 กิโลเมตร เป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลทุ่งยาวซึ่ง แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 12 หมู่ ได้แก่ หมู่ 1 บ้านทุ่งโป่ง หมู่ 2 บ้านทุ่งยาวเหนือ หมู่ 3 บ้านทุ่งยาวใต้ หมู่ 4 บ้านสบแพม หมู่ 5 บ้านแพมกลาง หมู่ 6 บ้านแพมบก หมู่ 7 บ้านแม่อีแลบ หมู่ 8 บ้านปางตอง หมู่ 9 บ้านตีนธาตุ หมู่ 10 บ้านร้องแหย่ง หมู่ 11 บ้านกุงแกง และ หมู่ 12 บ้านมโนรา มีอาณาเขตติดต่อกับตำบลอื่น ๆ ดังนี้
            ทิศเหนือ       ติดต่อกับตำบลเวียงใต้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
          ทิศใต้           ติดต่อกับตำบลเมืองแปง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
          ทิศตะวันออก  ติดต่อกับแม่น้ำปาย ตำบลแม่ฮี้ อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
          ทิศตะวันตก   ติดต่อกับอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
       
   มีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ประมาณ 376 คน เป็นชาย 189 คน เป็นหญิง 187 คน มีจำนวนครัวเรือน 150 ครัวเรือน ประชากรส่วนใหญ่ในชุมชนเป็นชาวไทยเชื้อสายไทใหญ่ นอกจากนี้ยังมีกลุ่มคนไทยเชื้อสายจีน ลาว และไทย มาจากแต่งงานกับคนไทยเชื้อสายไทใหญ่ และอยู่อาศัยที่บ้านกุงแกงเป็นระยะเวลายาวนานแล้ว (องค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยาว, 2556)
          บริเวณที่หมู่บ้านตั้งอยู่ เป็นบริเวณที่ราบอยู่ริมแม่น้ำ ดังนั้นบริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่ของหมู่บ้านจึงเหมาะแก่การทำการเกษตร มีลักษณะสภาพอากาศโดยรวมร้อนชื้น
          ในอดีตประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ซึ่งมีการใช้แรงงานภายในครอบครัวเป็นหลัก เนื่องจากคนไทใหญ่มีความสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ ทำให้มีผลผลิตและแรงงานเกษตรได้จำนวนมาก แต่ปัจจุบันคนในหมู่บ้านยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น ค้าขาย อุตสาหกรรมในครัวเรือน รับจ้างทั่วไป รับราชการ ซึ่งเนื่องมาจากคนในหมู่บ้านได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ทั้งนี้ยังมีเส้นทางที่สะดวกต่อการเดินทาง การติดต่อค้าขาย เป็นผลทำให้แรงงานภาคเกษตรลดน้อยลงไป เกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องจ้างแรงงานภายนอกครอบครัวมาทำนา ดำนา เกี่ยวข้าวแทน เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่ติดกับแม่น้ำปาย ทำให้การคมนาคมและระบบขนส่งการผลิตทางการเกษตรในอดีตใช้เส้นทางน้ำโดยการล่องเรือเป็นหลัก และใช้ทางเกวียนเป็นเส้นทางการคมนาคมทางบก แต่ในปัจจุบันมีการตัดถนนลาดยางเลียบริมแม่น้ำและเส้นทางหลักในหมู่บ้าน การคมนาคมขนส่งจึงใช้จักรยานยนต์และรถยนต์เพื่อความสะดวกและรวดเร็วแทน
          ในการเดินทางเข้าสู่บ้านกุงแกงนี้ไม่มีรถประจำทางผ่าน คนในหมู่บ้านส่วนใหญ่จะเดินทางเข้าออกโดยรถจักรยานยนต์หากจะเดินทางเข้าหมู่บ้านจะต้องใช้บริการจักรยานยนต์รับจ้างในตัวอำเภอปาย
          บ้านกุงแกงนี้มีวัดกุงแกง เป็นศูนย์กลางทางจิตใจของชาวบ้าน ด้านในวัดมีพระธาตุเทพจรนิมิตมงคล เป็นที่สักการบูชา ซึ่งเกิดจากการร่วมแรงร่วมใจกันก่อสร้างของคนในชุมชน ชาวบ้านยึดวัดกุงแกงเป็นสถานที่ศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ทางศาสนา (สมจิตร ชื่นจิตร,  สัมภาษณ์, 5 เมษายน 2556)
          ความเป็นมาของชุมชน
            จากคำบอกเล่าที่เล่าสืบกันมาของคนในชุมชนนั้นเมื่อประมาณ 100 ปีเศษมาแล้วได้มีราษฎรกลุ่มแรกอพยพมาจากจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นชาวไทใหญ่มาตั้งรกรากอยู่บริเวณตำบลทุ่งยาว และกลุ่มต่อมาอพยพมาจาก อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากเป็นที่ราบอยู่ริมแม่น้ำ เหมาะแก่การทำการเกษตร มีทุ่งนายาวติดต่อกันประมาณ 5 กิโลเมตร เมื่อมีการจัดระเบียบการปกครองแยกออกเป็นหมู่บ้าน ตำบลจึงให้ชื่อว่า ตำบลทุ่งยาว ส่วนบ้านกุงแกงแต่เดิมนั้นมีต้นมะขามใหญ่อยู่บนเนิน ตรงทางเข้าหมู่บ้าน ต่อมาจึงมีการใช้ชื่อต้นมะขามมาเป็นชื่อหมู่บ้าน บ้านกุงแกง เป็นภาษาไทใหญ่ ถ้าเป็นภาษากลางเรียกว่า เนินมะขาม ตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.. 2397 อดีตยังรวมอยู่กับ หมู่ 1 บ้านทุ่งโป่ง ต่อมาเมื่อปี พ.. 2522 มีการขยับขยายประชากรเพิ่มมากขึ้น จึงแยกไปเป็นหมู่ 11 บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน โดยมีอาณาเขตติดต่อ
            ทิศเหนือจด              ตำบลเวียงใต้
            ทิศใต้จด                 หมู่ 1 บ้านทุ่งโป่ง ตำบลทุ่งยาว
            ทิศตะวันตกจด          หมู่ 7 บ้านแม่อีแลบ ตำบลทุ่งยาว
            ทิศตะวันออกจด         แม่น้ำปาย
(สมจิตร ชื่นจิตร, สัมภาษณ์, 6 เมษายน 2556)
            สภาพบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย
            คนไทใหญ่ในชุมชนบ้านกุงแกงจะแยกบริเวณการตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัยออกจากที่ทำมาหากินอย่างชัดเจนคือ พื้นที่ทำไร่นา จะอยู่ไปทางท้ายหมู่บ้าน หรือด้านหลังหมู่บ้านเกือบทั้งหมด ส่วนด้านหน้าหมู่บ้านตั้งแต่ริมน้ำเรื่อยไปจะเป็นที่อยู่อาศัย
            ลักษณะบ้านที่อยู่อาศัยนั้น คนไทใหญ่จะเรียกว่า เฮิน รูปแบบและโครงสร้างมีความเหมาะสมกับสภาพการดำรงชีวิตในสังคมเกษตรกรรม วัสดุหลักที่ใช้จะใช้ไม้เนื้อแข็งและไม้ไผ่เป็นวัสดุหลัก ส่วนหลังคาจะมุงด้วยใบตองตึงหรือหญ้าคา ปัจจุบันพบว่า หลังคามุงด้วยกระเบื้องแบบลอนภายในพื้นที่ของแต่ละครัวเรือนจะมี ยุ้งฉาง และจะปลูกพืชผักสวนครัวไว้ในพื้นที่พักอาศัยกันทุกครัวเรือนสำหรับรับประทาน นอกจากนี้ยังนิยมปลูกดอกไม้ชนิดต่าง ๆ ไว้ เพื่อนำไปถวายพระเวลาทำบุญที่วัด ปักบนหิ้งพระภายในบ้าน เพราะคนไทใหญ่เคารพเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างเคร่งครัด นอกเหนือจากเข้าวัดไปทำบุญตักบาตรฟังธรรมแล้ว ยังมีการสวดมนต์กราบไหว้บูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ตนเองและคนในครอบครัวนับถือที่บ้านของตนเองอีกด้วย (ตรีเนศ วรรณประเสิฐ, สัมภาษณ์, 25 เมษายน 2556)
            เนื่องจากบ้านกุงแกงถูกแยกออกจากบ้านทุ่งโป่ง ทำให้จำนวนประชากรอยู่ในระดับที่ผู้ใหญ่สามารถรู้จักกันได้ทุกหลังคาเรือน มีการพูดคุย กฎกติกาหมู่บ้าน ปัญหาอาชญากรรมในหมู่บ้านจึงไม่มีเลย
        
    ลักษณะการแต่งกายของคนในชุมชน


                                              ภาพที่ 1 การแต่งกายแบบไทใหญ่ 
            วันปกติหรือในงานสำคัญต้องไปทำบุญที่วัด ชาวไทใหญ่บ้านกุงแกง จะแต่งกายด้วยชุดสุภาพเรียบร้อยแบบไทใหญ่ คือ
            ชาย สวมเสื้อแขนยาว ผ่าหน้า ติดการะดุมขอดเป็นผ้าเย็บขมวด คอเสื้อเป็นคอกลมหรือคอตั้งแบบคอจีน มีกระเป๋าเสื้อตรงอกด้านซ้าย และด้านชายเสื้อทั้ง 2 ข้าง เรียกเสื้อแบบนี้ว่า เสื้อไต สวมกางเกงขายาวทรงหลวมคล้ายกางเกงขาก๊วยแบบจีน ชาวไทใหญ่เรียกกางเกงว่า ก๋นไต ทั้งเสื้อและกางเกงจะสีเดียวกัน เป็นผ้าฝ้าย และมีการเคียนหัว เป็นเอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่ โดยใช้ผ้าสีอ่อน มาโพกศีรษะ เป็นการแสดงออกความเป็นไทใหญ่อย่างชัดเจน
            หญิง  สวมเสื้อคอกลมแขนยาวพอดีตัว ตัวสั้นเอวลอย มีส่วนตรงอกเสื้อด้านหน้าเรียกว่าเสื้อปั๊ด กระดุมทำจากผ้าขมวดขัดกัน เหมือนกระดุมจีน นุ่งผ้าซิ่น ส่วนทรงผมจะเกล้ามวยไว้เหนือท้ายทอยอย่างเรียบร้อยสวยงาม ในโอกาสสำคัญมักจะนำดอกไม้สด ปิ่นปักผม หรือหวี มาปักประดับแซมมวยผมเพื่อความสวยงาม และจะใส่ แปหู หรือต่างหูขนาดใหญ่ (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551, หน้า 171 - 177)
            จากการสังเกตพบว่า การแต่งกายของชาวไทใหญ่ในปัจจุบัน ส่วนหนึ่งจะแต่งกายชุดธรรมดา ไม่ได้แต่งกายด้วยชุดไทใหญ่ อีกส่วนหนึ่งที่แต่งกายด้วยชุดไทใหญ่ ซึ่งเวลาปกติ ชาวไทใหญ่ ทั้งชายและหญิงจะแต่งกายด้วยชุดไทใหญ่ ที่ไม่มีลวดลายเป็นสีพื้นธรรมดา ส่วนเครื่องประดับ ชายจะไม่โพกผ้าที่ศีรษะ ส่วนหญิงจะไม่สวมต่างหู
            ภาษาที่ใช้คนไทใหญ่บ้านกุงแกง

ภาพที่ 2 หนังสือแบบเรียนสองภาษา ไทย-ไต
            คนไทใหญ่บ้านกุงแกงในปัจจุบันนี้ คนวัยกลางคนขึ้นไปยังคงมีการใช้ภาษาไทใหญ่ซึ่งมีลักษณะคล้ายกับภาษาพม่า ในการสื่อสาร พูดคุย โดยไม่สามารถพูดภาษาไทยได้แต่สามารถเข้าใจความหมายได้ (ธนพล ไชยะ, สัมภาษณ์, 9 เมษายน 2556) แต่สำหรับเด็กเล็กและกลุ่มวัยรุ่น จะสามารถพูดคุย ได้ทั้งภาษาไทใหญ่และภาษาไทย ได้เป็นอย่างดี (นันตะ ใจวัน, สัมภาษณ์, 9 เมษายน 2556) ภาษาไทใหญ่พบได้ในบทสวดของพระบวชใหม่ ซึ่งสะกดด้วยรูปภาษาไทย แต่ออกเสียงด้วยภาษาไทใหญ่ (บุญยวม หน้าละมุง, สัมภาษณ์, 9 เมษายน, 2556) โดยทางวัดกุงแกงได้มีการคัดลอกและเขียนบทอ่านเป็นคำภาษาไทยแทนตัวเขียนภาษาไทใหญ่
(พระอาจารย์จร ปะภัสโร, สัมภาษณ์, 13 เมษายน 2556)
            จากการสังเกตพบว่า นอกจากนี้แล้วการใช้ภาษาไทใหญ่ในชีวิตประจำวัน ของคนไทใหญ่บ้านกุงแกงนี้ พบว่ามีการปนภาษาไทย เพื่อสะดวกต่อการสื่อสารกับเด็กไม่รู้ศัพท์ภาษาไทใหญ่มากนักอีกด้วย ทำให้เด็กในปัจจุบัน หลายคนเกิดความเข้าใจและจดจำคำไทใหญ่ที่ผู้ใหญ่หรือคนในครอบครัวพูดกันได้
            การเรียนรู้และการศึกษา
            ในสมัยก่อนคนไทใหญ่บ้านกุงแกง จะนิยมส่งบุตรหลานที่เป็นผู้ชายเข้าไปเป็นลูกศิษย์วัดและบวชเรียน โดยมีเหตุผลสำคัญคือ เพื่อให้เด็กได้เล่าเรียนเขียนอ่านได้ เนื่องจากสมัยก่อนนั้นไม่มีการเรียนการสอน แบบที่เป็นโรงเรียนในปัจจุบัน ดังนั้นการอ่านเขียน ต้องอาศัยเรียนกับพระสงฆ์ที่วัด นอกจากนี้แล้วการเรียนหนังสือ จากการได้บวชเรียนตามความเชื่อในพระพุทธศาสนาเป็นวิธีหนึ่งทำให้ผู้บวชเรียน ได้รู้หนังสือ ทั้งยังถือว่าการบวชเป็นบุญอานิสงส์อย่างมาก (สามเณรเพชรประชา กลิ่นเขตกานต์, สัมภาษณ์, 10 เมษายน 2556)
            ในปัจจุบัน รัฐบาลได้กำหนดการศึกษาขั้นพื้นฐาน คือ เด็กทุกคนจะต้องจบการศึกษาในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น ทำให้คนในบ้านกุงแกงไม่ได้ส่งลูกหลานไปเป็นลูกศิษย์เหมือนเช่นในอดีต  แต่ก็ยังมีอยู่บ้างในกรณีที่ฐานะทางบ้านของเด็กยากจน หรือพ่อแม่ทอดทิ้ง ส่วนใหญ่เด็กในบ้านกุงแกงจะไปเรียนหนังสือที่ โรงเรียนบ้านทุ่งโป่ง หมู่ 1 เนื่องจากในบ้านกุงแกงยังไม่มีการสร้างโรงเรียนขึ้น เปิดการเรียนการสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาลจนถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 แต่เป็นโรงเรียนรัฐบาลขนาดเล็ก ทำให้โรงเรียนยังขาดงบประมาณในการสนับสนุน ด้านการเรียนการสอนที่จำเป็น (สมจิตร ชื่นจิตร, สัมภาษณ์, 14 เมษายน 2556)






ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น