วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทคัดย่อ ประเพณีปอยส่างลอง

53021138สาขาวิชา: ศาสนาและปรัชญา; ศศ.บ. (ศาสนาและปรัชญา)
คำสำคัญ:     ประเพณีปอยส่างลอง / บรรพชาสามเณร / ส่างลอง
            สุภาวดี ขวัญม่วง: ประเพณีปอยส่างลอง กรณีศึกษา หมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว    อำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน อาจารย์ผู้ควบคุมงานนิพนธ์
ปัทวี สัตยวงศ์ทิพย์, ศศ.ม., 116 หน้า.  ปี พ.ศ. 2556.      


            การศึกษาวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเพณีปอยส่างลอง โดยขอบเขตพื้นที่ของการวิจัย ได้จำกัดขอบเขตการศึกษาอยู่เฉพาะ ในเขตพื้นที่ หมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเขตที่มีการจัดงานประเพณีปอยส่างลอง ขอบเขตเนื้อหาของงานวิจัย เน้นการศึกษาเรื่องประเพณีปอยส่างลอง ประวัติความเป็นมา ขั้นตอน พิธีกรรม โดยงานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยแบบพรรณนาวิเคราะห์ โดยได้รวบรวมข้อมูลภาคสนาม จากการเข้าไปสังเกตการณ์และสัมภาษณ์ และนำข้อมูลมาสรุปผลการศึกษา
สัมภาษณ์กำนันสมจิตร ชื่นจิตร ต.ทุ่งยาว

             ผลการศึกษาตามวัตถุประสงค์พบว่า ประเพณีปอยส่างลอง หมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีความเชื่อในเรื่องความเป็นมาของปอยส่างลอง จากเหตุการณ์ที่  พระราหุลกุมาร แต่งองค์ด้วยชุดกษัตริย์เพื่อไปขอราชสมบัติจากพระพุทธเจ้า
      ปอยส่างลองจึงเป็นการจำลองมาจากเหตุการณ์นี้ในพุทธประวัติ การบรรพชาปอยส่างลองมี
วัตถุประสงค์ 

2 ประการ คือ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบิดา มารดา และเพื่อให้ก้าวพ้นวัยเด็ก สู่ความเป็นผู้ใหญ่ไปสู่สังคม คุณสมบัติต้องเป็นเด็กชายที่มีอายุ 7 - 12 ปี ร่างกายครบ 32 ประการ ขั้นตอนการจัดงานประเพณีปอยส่างลองประกอบไปด้วย 3 ขั้นตอน คือ (1) ช่วงเตรียมงาน จะมีเจ้าภาพใหญ่ และชาวบ้านวางแผนร่วมกัน งบประมาณการจัดงานอยู่ที่เจ้าภาพใหญ่และพ่อแม่ส่างลอง มีการเตรียมเครื่องแต่งกายส่างลอง เครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรม ต้นตะเป่ส่า เครื่องครัวทาน และมีการจัดตกแต่งสถานที่ ทั้งที่บ้านเจ้าภาพใหญ่ และวัดให้เรียบร้อย (2) ช่วงพิธีกรรม จะโกนผมส่างลอง และจัดงานไว้ 5 วัน ซึ่งจะมีวันสำคัญอยู่ 3 วันด้วยกัน คือวันแรก หรือเรียกกันว่า วันแฮก แต่งหน้าให้ส่างลอง เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำส่างลองไปแต่งตัวที่วัด หลังจากเสร็จพิธีรับส่างลองแล้ว คณะขบวนแห่ส่างลองจะออกไปตามบ้านญาติพี่น้อง วันที่สอง หรือเรียกกันว่า วันข่ามแขก ซึ่งหมายถึง วันรับแขกนั่นเอง จัดเตรียมเครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารที่จะนำไปเข้าขบวนแห่โคหลู่ หรือเครื่องไทยธรรม โดยจะเริ่มจากบ้านของเจ้าภาพใหญ่ และเดินขบวนไปยังวัด ตอนเย็นจะทำพิธีเรียกขวัญส่างลอง และจะมีการเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบ อาหาร 12 อย่าง วันที่สาม หรือที่เรียกกันว่า วันข่ามส่าง เป็นวันสุดท้ายก่อนที่จะนำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณร โดยนำส่างลองแห่ไปเที่ยวรอบ ๆ หมู่บ้าน เจ้าภาพจะเลี้ยงอาหารแก่ผู้มาร่วมงาน และรอเวลา ทำพิธีบรรพชาเป็นสามเณร (3) ช่วงบรรพชา จะถอดชุดส่างลองออก มาห่มจีวรแทน และกล่าวคำบรรพชา โดยช่วงระหว่างการบรรพชา สามเณรก็จะแยกไปศึกษาและปฏิบัติตามพระวินัย สามเณรแบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่จาก

หมู่บ้านอื่น มาร่วมทำพิธีปอยส่างลองที่วัดกุงแกง จะแยกไปปฏิบัติธรรม บริเวณวัดใกล้บ้าน 
กับกลุ่มที่เป็นเด็กในหมู่บ้านกุงแกง จะปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัด กุงแกง เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ก็จะจัดพิธีลาสิกขา เป็นการเสร็จสิ้น 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น