วันพุธที่ 27 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

ท่านพุทธทาสภิกขุ


ท่านพุทธทาสภิกขุ
บทที่ ๑ประวัติท่านพุทธทาสภิกขุ
กำเนิดแห่งชีวิต
            ท่านพุทธทาสเดิมชื่อ เงื่อม พานิช โยมบิดาชื่อ นายเซี้ยง ส่วนโยมมารดาชื่อ นางเคลื่อน เกิดเมื่อวันอาทิตย์ที่  ๒๗  เดือน พฤษภาคม พุทธศักราช  ๒๔๔๙   ณ  ตำบลพุมเรียง  อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎธานี บรรพบุรุษฝ่ายโยมบิดามาจากเมืองจีน แต่โยมบิดาเกิดที่พุมเรียง สกุลเดิมทางบรรพบุรุษคือ แซ่โข่ว หรือ ข่อ ออกเสียงแต้จิ๋ว เป็นแซ่โค้ว ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ ๖ มีพระราชบัญญัตินามสกุล  ทางการจึงเปลี่ยนให้เป็น พานิชเพราะทำการค้าขาย ส่วนทางโยมมารดาเป็นคนไทย  เป็นชาวท่าฉาง  ท่านพระพุทธทาสมีพี่น้อง ๓ คน ท่านเป็นคนโต น้องคนรองเป็นชายชื่อ ยี่เกย หรือ นายธรรมทาส น้องสุดท้องเป็นหญิงชื่อ กิมซ้อย
            ท่านพุทธทาสได้นิสัยประหยัดมาจากโยมมารดาซึ่งเป็นผู้ประหยัดในทุกๆเรื่องแม้แต่กระทั่งเวลา กล่าวคือ ต้องใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ ท่านสนิทกับโยมมารดามากกว่าเพราะโยมบิดาไม่ค่อยอยู่บ้าน ท่านจึงสามารถทำอาหารและขนมได้เป็นอย่างดี สำหรับสิ่งที่ท่านได้รับการถ่ายทอดจากโยมบิดา คือช่างไม้ และการแต่งโคลงกลอน โยมบิดามีอาชีพคือ ช่างไม้ต่อเรือ นอกจากนี้โยมบิดายังสนใจเรื่องยาแผนโบราณ ซึ่งศึกษาจากวัดและหนังสือที่พิมพ์ จึงทำให้ท่านพุทธทาส มีความรู้ทั้งเรื่องยาแผนโบราณ  การแต่งโคลงกลอนและช่างไม้ เป็นอย่างดี
       
     เมื่ออายุได้ ๘ ขวบ ท่านพุทธทาสได้ไปอยู่วัด เรียนหนังสือไปจนถึงมูลบทบรรพกิจ     เมื่ออายุได้ ๑๑ ปี  จึงได้กลับมาอยู่บ้านและเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาที่วัดเหนือ (โพธาราม)  ต่อมาเมื่อโยมบิดามาเปิดร้านอีกแห่งที่ตลาดไชยา  จึงได้ย้ายมาเรียนชั้น ม. ๑ ที่โรงเรียนสารภีอุทิศ อำเภอไชยา หลังจากจบชั้น ม.๓ ได้ลาออกจากโรงเรียน เพราะโยมบิดาถึงแก่กรรมด้วยโรคลมปัจจุบัน  จึงปิดร้านที่ไชยาและมาช่วยโยมมารดาค้าขายที่พุมเรียงต่อ  ทำทุกอย่างคล้ายกับเป็นผู้จัดการเลยทีเดียว
            ครั้งถึง พ.ศ. ๒๔๖๙ ท่านพุทธทาสมีอายุครบ ๒๐ ปี จึงอุปสมบทที่วัดนอก(อุบล) และ มาประจำอยู่ที่วัดใหม่ (พุมเรียง)โดยมีท่านพระครูโสภณเจตสิการาม (คง วิมโล) เป็นพระอุปัชฌาย์ พระปลัดทุ่ม  อินทโชโต  เจ้าอาวาสวัดนอก และพระครูศักดิ์  ธมฺมรกขิโตซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดหัวคู เป็นพระคู่สวด  ท่านได้ฉายว่า อินฺทปญฺโญ”
            ท่านได้เรียนนักธรรมที่วัดเหนือ โดยก่อนที่จะบวชท่านได้เคยศึกษาอ่านตำรานักธรรมตรี-โท-เอก มาก่อนแล้ว  ในพรรษาแรกที่บวชได้ไม่กี่วัน  ท่านสมภารก็ให้ท่านพุทธทาสเทศน์แทนท่าน  และการเทศน์ในครั้งนั้นก็เป็นที่เลื่องลือมาก  มีศรัทธาญาติโยมมาฟังกันมากมาย  ด้วยท่านดัดแปลงการเทศน์  ขยายความ  และนำชาดกเข้ามาประยุกต์  เข้ากับธรรมะ  ท่านพุทธทาสเทศน์เป็นประจำถึง ๓ วัด  ได้แก่  วัดสมุหนิมิตร (วัดล่าง) วัดใหม่  และวัดโพธาราม  ทั้งนี้โดยสับหลีกเวลากัน    เดิมทีนั้น ท่านพุทธทาสจะบวชเพียงพรรษาเดียวตามประเพณี แต่เมื่อออกพรรษาแล้วท่านเห็นว่า ทางบ้านมีน้องชายมาช่วยรับผิดชอบแทน และโยมมารดาก็ไม่ต้องการให้ท่านสึกแต่ต้องการให้ท่านอยู่สืบพระศาสนาต่อไป
            ท่านจึงเรียนและสอบนักธรรมโทได้ในพรรษาที่  ๒  ต่อมาเมื่อต้นปี พ.ศ. ๒๔๗๑  ท่านได้เดินทางไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ แต่หลังจากนั้นเพียงไม่กี่เดือน ตัวท่านเองมีความรู้สึกเบื่อหน่ายจนต้องขอกลับพุมเรียงและจะขอสึก  ขณะนั้นเป็นช่วงเวลาก่อนเข้าพรรษาเพียง ๔-๕ วัน จึงมีคนทักท้วงและขอให้ผ่านพรรษาก่อน ซึ่งเมื่อออกพรรษาจริงๆท่านก็ไม่ได้สึก ในพรรษาที่ ๓ ท่านได้ศึกษานักธรรมด้วยตนเองโดยไม่ยอมเข้าโรงเรียนนักธรรมและสามารถสอบนักธรรมได้ ต่อมาในพรรษาที่ ๔ ท่านพระครูโสภณเจตสิการาม (เอี่ยม) ให้ท่านพุทธทาสมาช่วยสอนนักธรรมที่โรงเรียนนักธรรมวัดพระธาตุไชยา ซึ่งเพิ่งสร้างขึ้นจากเงินบริจาคของคุณนายหง้วน เศรษฐภักดี ญาติผู้ใหญ่ของท่าน ท่านสอนอยู่ ๑ ปี จึงยังไม่ได้สึกอีก
            ในปีนั้นนักเรียนสามารถสอบผ่านทั้งหมด คุณนายหง้วนจึงให้รางวัลท่านเป็นเครื่องพิมพ์ดีดกระเป๋าหิ้วรุ้นแรกของเรมิงตัน ซึ่งต่อมาเวลาท่านเขียนบทความหรือเขียนหนังสือ ท่านจะพิมพ์ดีดด้วยเครื่องนี้แทนการร่างด้วยปากกาดินสอในพรรษาที่ ๕ ท่านได้กลับมาที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนบาลีอีกครั้ง  โดยเรียนเป็นพิเศษตอนกลางคืนกับท่านพระครูชยาภิวัตน์และสามารถเข้าสอบไล่ได้ทั้งๆที่ไม่ได้เรียนในโรงเรียน พรรษานี้ ท่านเริ่มมีงานอดิเรกหลายอย่างเพิ่มขึ้น ได้แก่  การเล่นพิมพ์ดีด  เล่นจานเสียง  เล่นวิทยุ  และเล่นกล้อง  เป็นต้น
            ในขณะนั้นความคิดที่จะสึกหายไปหมดแล้ว  และในยุคสมัยนั้นพระสงฆ์ส่วนมากมุ่งเรียนเอาดีกรีไปหาเงินแต่งงาน บ้านใดที่มีลูกสาวก็มักจะยินดีให้คุ้นเคย  คลุกคลีกับพระสงฆ์  เพราะแน่ใจว่า ถ้าเป็นพระแล้วจะไม่มีนิสัยเลว  สำหรับท่านพุทธทาสเองนั้น  ท่านกลับไม่ได้สนใจเรื่องผู้หญิงหรือเรื่องเพศ  ถึงแม้ว่าจะมีหลายบ้านที่สนับสนุนให้ลูกสาวเข้ามาถวายการปรนนิบัติรับใช้ก็ตาม  ท่านจะบอกปัดเสมอพรรษาที่ ๖ ท่านได้เล่าถึงสภาพพระศาสนาในยุคนั้นว่า มีการแบ่งแยกระหว่างคณะธรรมยุตกับมหานิกาย ไม่ค่อยรุนแรงเท่าใดนักในกรุงเทพฯ แต่ในต่างจังหวัดมีรุนแรงบ้างโดยเฉพาะที่นครศรีธรรมราชและสงขลาจะรุนแรงมากที่สุดและนอกจากนั้นมีพระหนุ่มที่เป็นดาวเด่นเป็นผู้นำคนหนุ่มยุวพุทธคือ คุณสุชีพ หรือ สุชีโวภิกษุ เป็นผู้ก่อหวอดก่อรากมหาวิทยาลัยสงฆ์ วัดบวรฯ และเป็นสงฆ์องค์แรกที่เทศน์เป็นภาษาอังกฤษในเมืองไทยอีกด้วย
            ในระหว่างพรรษานี้ ช่วงครึ่งปีหลังของการเรียนเปรียญธรรม ๔ ประโยค ท่านเรียนแบบซังกะตายเริ่มไม่สนุกและเบื่อ ท่านจึงสอบตกเปรียญธรรม ๔ ประโยค การที่ท่านรู้สึกเบื่อหน่าย ท่านให้เหตุผลว่า เบื่อฝุ่น กลิ่นคลองเสียงรถ และอากาศในฤดูร้อน ซึ่งเหตุผลทั้งหมดนี้เกิดขึ้นภายหลังจากที่ท่านคิดจะกลับบ้าน ส่วนเหตุผลที่ล้ำลึกกว่านั้น แม้ท่านจะไม่ได้ขยายความว่าอย่างไร แต่พอจะนึกคิดได้ว่า เป็นเพราะความคิดที่จะฟื้นฟูการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา
            ท่านอาจารย์ พุทธทาส ได้ละสังขาร กลับคืนสู่ธรรมชาติอย่างสงบ ณ สวนโมกขพลาราม เมื่อวันที่ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖ สิริรวม อายุ ๘๗ ปีนับได้ ๖๗ พรรษา คงเหลือไว้แต่ ผลงานที่ทรงคุณค่า แทนตัวท่านให้อนุชนคนรุ่นหลังได้ สืบสานปณิธานของท่าน รับมรดกความเป็น "พุทธทาส" เพื่อ พุทธทาส จะได้ไม่ตายไปจากพระพุทธศาสนา ดังบทประพันธ์ ของท่าน ที่ว่า
พุทธทาสจักอยู่ไปไม่มีตาย                แม้ร่างกายจะดับไปไม่ฟังเสียง
ร่างกายเป็นร่างกายไปไม่ลำเอียง                  นั่นเป็นเพียงสิ่งเปลี่ยนไปในเวลา
พุทธทาสคงอยู่ไปไม่มีตาย                ถึงดีร้ายก็จะอยู่คู่ศาสนา
สมกับมอบกายใจรับใช้มา                 ตามบัญชาองค์พระพุทธไม่หยุดเลย
พุทธทาสยังอยู่ไปไม่มีตาย                 อยู่รับใช้เพื่อนมนุษย์ไม่หยุดเฉย
ด้วยธรรมโฆษณ์ตามที่วางไว้อย่างเคย  โอ้เพื่อนเอ๋ยมองเห็นไหมอะไรตาย
แม้ฉันตายกายลับไปหมดแล้ว            แต่เสียงสั่งยังแจ้วแว่วหูสหาย
ว่าเคยพรอดกันอย่างไรไม่เสื่อมคลาย   ก็เหมือนฉันไม่ตายกายธรรมยัง
ทำกับฉันอย่างกะฉันนั้นไม่ตาย           ยังอยู่กับท่านทั้งหลายอย่างหนหลัง
มีอะไรมาเขี่ยไค้ให้กันฟัง                           เหมือนฉันนั่งร่วมด้วยช่วยชี้แจง
ทำกับฉันอย่างกะฉันไม่ตายเถิด                    ย่อมจะเกิดผลสนองหลายแขนง
ทุกวันนัดสนทนาอย่าเลิกแล้ง             ทำให้แจ้งที่สุดได้เลิกตายกัน

ปณิธานแห่งชีวิต
อุดมคติที่หยั่งรากลึกลงแล้วนี้ ทำให้ท่านสนใจใฝ่หาความรู้ทางธรรมะตลอดเวลาไม่เฉพาะแต่พระพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาทหรือหินยาน แต่ครอบคลุมไปถึงพระพุทธศาสนา แบบมหายานและศาสนาอื่น เช่น คริสต์ อิสลาม ฮินดู สิกข์ เป็นต้น จากความรอบรู้ที่กว้างขวางและลึกซึ้งนี้เอง ทำให้ท่านสามารถประยุกต์ วิธีการสอนและปฏิบัติธรรมะได้อย่างหลากหลาย ให้คนได้เลือกปฏิบัติ ให้สอดคล้องกับพื้นความรู้และอุปนิสัยของตนได้ โดยไม่จำกัดชนชั้นเชื้อชาติและศาสนา เพราะท่านเชื่อว่า มนุษย์ทุกคนก็คือ เพื่อน ร่วม เกิด แก่ เจ็บ ตาย ด้วยกันหมดทั้งสิ้น และหัวใจของทุกศาสนาก็เหมือนกันหมด คือ ต้องการ ให้คน พ้นจากความทุกข์ เพราะฉะนั้นท่านจึงได้ตั้งปณิธานในชีวิตไว้ ๓ ข้อ คือ
๑. ให้พุทธศาสนิกชน หรือ ศาสนิกแห่งศาสนาใดก็ตามเข้าถึง ความหมายอันลึกซึ้ง ที่สุดแห่งศาสนาของตน
๒. ทำความเข้าใจอันดีระหว่างศาสนา
๓. ดึงเพื่อนมนุษย์ให้ออกมาเสียจากวัตถุนิยม
แม้ในความพยายามที่จะทำตามปณิธานนี้ จะทำให้บางคนไม่เข้าใจท่าน ไม่ชอบท่าน ด่าว่าท่าน หาว่าท่านจ้วงจาบพระพุทธศาสนา เป็นเดียรถีย์ เป็นคอมมิวนิสต์หรือรับจ้างคนคริสต์ มาทำลายล้างพระพุทธศาสนาก็ตาม แต่ท่านกลับรับฟังคำวิจารณ์เหล่านี้ด้วยใจเป็นกลาง ถือเป็นการแลกเปลี่ยนทางความคิด ในเรื่องเนื้อหาและหลักการมากกว่าที่จะก่อความขัดแย้งส่วนตัว
เพราะท่านมีหลักในการทำงานว่า " พุทธบุตรทุกคน ไม่มีกังวล ในการรักษาชื่อเสียง มีกังวล แต่การทำความบริสุทธิ์เท่านั้น เมื่อได้ทำความบริสุทธิ์ มองเห็นชัดเจนใจอยู่แล้วว่า นี่มันบริสุทธิ์เป็นธรรมแท้ ใครจะชอบหรือไม่ชอบก็ตาม เราต้องทำด้วยความพยายามอย่างสุดชีวิต จะมีชื่อเสียง หรือไม่นั้น อย่านึกถึงเลย เป็นอันขาด จะกลายเป็นเศร้าหมอง และ หลอกลวง ไปไม่มาก ก็น้อย"
ในที่สุดท่านก็ได้รับการยอมรับจากวงการคณะสงฆ์ไทย วงการศึกษาของไทยและวงการศึกษาธรรมะของโลกได้รับการยอมรับให้เป็นเสนาบดีแห่งกองทัพธรรมในยุคหลังกึ่งพุทธกาลเยี่ยงพระมหากัสสปะในครั้งพุทธกาล
รวมทั้งในการประชุมสมัยสามัญองค์การศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ(ยูเนสโก) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อวันที่ 20 ตุลาคม 2548 พิจารณาการยกย่องเฉลิมฉลองบุคคลสำคัญหรือผู้มีผลงานดีเด่นและเหตุการณ์สำคัญทางประวัติศาสตร์ ประจำปี 2549-2550 รวม 63 คน/สถาบัน รวมถึงท่านพุทธทาสภิกขุ ถือได้ว่าท่านเป็นคนไทยคนที่ 18 ที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก
ผลงานแห่งชีวิต
ตลอดชีวิตของ ท่านอาจารย์พุทธทาส ท่านย้ำอยู่เสมอว่า "ธรรมะ คือ หน้าที่" เป็นการทำหน้าที่ เพื่อความอยู่รอด ทั้งทางฝ่ายกายและฝ่ายวิญญาณของมนุษย์และท่านได้ทำหน้าที่ในฐานะทาสผู้ซื่อสัตย์ของพระพุทธเจ้า ทุกอณูแห่งลมหายใจเข้าออก จนแม้วาระสุดท้ายแห่งชีวิตจึงไม่น่าสงสัยเลยว่า ผลงานที่ท่านสร้างสรรค์ ไว้ เพื่อ เป็นมรดกทางธรรมนั้น จะมีมากมาย สักปานใด ซึ่งจะขอนำมากล่าวเฉพาะ ผลงานหลักๆ ดังนี้ คือ
๑. การจัดตั้ง สถานปฏิบัติธรรม สวนโมกขพลาราม และ สวนโมกข์นานาชาติ
๒. การร่วมกับ คณะธรรมทาน ในการออกหนังสือพิมพ์ "พุทธสาสนา" ราย ๓ เดือน นับเป็นหนังสือพิมพ์ ทาง พระพุทธศาสนา เล่มแรก ของไทยเริ่มตีพิมพ์ เมื่อเดือน พฤษภาคม พ.ศ.๒๔๗๖ และ ต่อเนื่องมา จนถึงปัจจุบันเป็นเวลารวม ๖๑ ปี นับเป็นหนังสือพิมพ์ ทาง พระพุทธศาสนา ที่มีอายุยืนยาวที่สุดของไทย
๓. การพิมพ์หนังสือ ชุด "ธรรมโฆษณ์" ซึ่งเป็นหนังสือที่ รวบรวม พิมพ์จากปาฐกถาธรรม ที่ท่านแสดงไว้ในวาระต่างๆ และ งานหนังสือเล่ม เล่มอื่นๆของท่าน โดยแบ่งออก เป็น ๕ หมวด คือ
๓.๑. หมวด"จากพระโอษฐ์" เป็นเรื่องที่ท่านค้นคว้าจากพระไตรปิฎกฉบับภาษาบาลี โดยตรง
๓.๒. หมวด"ปกรณ์พิเศษ" เป็นคำอธิบายข้อธรรมะ ที่เป็นหลักวิชาและหลักปฏิบัติ
๓.๓. หมวด"ธรรมเทศนา"เป็นคำบรรยายแบบเทศนาในเทศกาลต่างๆ
๓.๔. หมวด"ชุมนุมธรรมบรรยาย" เป็นคำขยายความข้อธรรมะ เพื่อให้เข้าใจได้อย่างถูกต้อง
๓.๕. หมวด"ปกิณกะ" เป็นการอธิบายข้อธรรมะ เบ็ดเตล็ด ต่างๆประกอบ ความเข้าใจ
ปัจจุบัน หนังสือชุดนี้ได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือ ขนาด ๘ หน้ายก หนาเล่มละประมาณ ๕๐๐ หน้า จำนวน ๖๑ เล่ม แล้วที่ยังรอการจัดพิมพ์ อีกประมาณร้อยเล่ม
๔. การปาฐกถาธรรมของท่าน ที่ก่อให้เกิดกระแสการวิพากษ์ วิจารณ์ ทั้งในแง่วิธีการ และการตีความพระพุทธศาสนาของท่าน กระตุ้นให้ผู้คนกลับมาสนใจธรรมะกันอย่างลึกซึ้งแพร่หลายมากขึ้นอย่างเช่น ปาฐกถาธรรม เรื่อง "ภูเขาแห่งวิถีพุทธธรรม" "อภิธรรมคืออะไร" "ปฏิจจสมุปบาท คืออะไร" "จิตว่าง หรือ สุญญตา" "นิพพาน" "การทำงาน คือ การปฏิบัติธรรม" "การศึกษาสุนัขหางด้วน" เป็นต้น
๕. งานประพันธ์ ของท่านเอง เช่น "ตามรอยพระอรหันต์" "ชุมนุมเรื่องสั้น" "ชุมนุมเรื่องยาว" "ชุมนุมข้อคิดอิสระ" "บทประพันธ์ของ สิริวยาส" (เป็นนามปากกา ที่ท่านใช้ ในการเขียน กวีนิพนธ์) เป็นต้น
๖. งานแปลจากภาษาอังกฤษของท่าน เล่มสำคัญ คือ "สูตรของเว่ยหล่าง" "คำสอนของฮวงโป" ทั้งสองเล่ม เป็นพระสูตรที่สำคัญของพุทธศาสนานิกายเซ็น เป็นต้น
เกี่ยวกับ งานหนังสือนี้ ท่านเคยให้สัมภาษณ์ กับพระประชา ปสนฺนธมฺโม ว่า "เราได้ทำสิ่งที่มันควรจะทำ ไม่เสียค่าข้าวสุกของผู้อื่นแล้ว เชื่อว่า มันคุ้มค่าอย่างน้อย ผมกล้าพูดได้อย่างหนึ่งว่า เดี๋ยวนี้ ไม่มีใครในประเทศไทยบ่นได้ว่าไม่มีหนังสือธรรมะอ่าน ก่อนนี้ ได้ยินคนพูดจนติดปาก ว่า ไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน เราก็ยังติดปาก ไม่มีหนังสือธรรมะจะอ่าน ตอนนี้ บ่นไม่ได้อีกแล้ว"



หัวข้อธรรมในคำกลอน
เรื่องรสคำประพันธ์นั้น ท่านพุทธทาสเขียนไว้ใน มุ่งธรรมรส-งดกวีว่า รสคำประพันธ์อาจไม่จำเป็นต้องไพเราะ อ่อนช้อยในเชิงกวี แต่ต้องให้แสดงธรรมะได้แจ่มชัด ใช้ชุบชูจิตใจผู้อ่าน เน้นสาระในรสธรรมมากกว่ารสคำกวี
ลูกศิษย์ที่ใกล้ชิดเล่าถึงที่มาของบทกวีธรรมะของท่านพุทธทาสว่า เมื่อท่านมีความคิดอะไรแวบขึ้นมาหรือเห็นประเด็น เหตุการณ์ที่น่าสนใจ ท่านจะมีคำคม ๆ ขึ้นมาคำหนึ่ง แล้วเอามาบรรยายขยายความในการเทศน์ แล้วอีกไม่เกินสัปดาห์ท่านจะแต่งเป็นบทกลอน ธรรมะเรื่องหนึ่งท่านจะแต่งเป็นกลอน ๘-๑๒ วรรค ให้ใจความจบลงในนั้นต่อมางานชุดนี้ถูกรวบรวมนำมาตีพิมพ์เป็นเล่มชื่อ หัวข้อธรรมในคำกลอน (ฉบับสมบูรณ์) งานชิ้นสำคัญที่มักถูกนำมาพิมพ์ซ้ำบ่อยครั้งก็เช่น การงาน, มองแต่แง่ดีเถิด, อาจารย์ไก่, ตายก่อนตาย, พุทธทาสจักไม่ตาย
ตัวอย่างเช่น...
การงาน
อันการงาน คือค่า ของมนุษย์ 
ของมีเกียรติ สูงสุด อย่าสงสัย
 
ถ้าสนุก ด้วยการงาน เบิกบานใจ
 
ไม่เท่าไร รู้ธรรม ฉ่ำซึ้งใจ
ตัวการงาน คือตัวการ ประพฤติธรรม
พร้อมกันไป หลายส่ำ มีค่ายิ่ง
ถ้าจะเปรียบ ก็เหมือนคน ฉลาดยิง
นัดเดียววิ่ง เก็บนก หลายพกเอยฯ
มองโลกแต่ดีเถิด
เขามีส่วน เลวบ้าง ช่างหัวเขา
จงเลือกเอา ส่วนดี เขามีอยู่
เป็นประโยชน์ โลกบ้าง ยังน่าดู
ส่วนที่ชั่ว อย่าไปรู้ ของเขาเลย
จะหาคน มีดี อยู่ส่วนเดียว
อย่ามัวเทียว ค้นหา สหายเอ๋ย
เหมือนเที่ยวหา หนวดเต่า ตายเปล่าเอย
ฝึกให้เคย มองแต่ดี มีคุณจริงฯ










บทที่ ๒ ลักษณะเฉพาะตัวคำสอน
จุดยืนของท่านพุทธทาส
            สาเหตุที่ทำให้ท่านไม่เข้าใจในสิ่งที่คนอื่นพูด ก็เพราะท่านไม่มีหลักในการฟัง และสาเหตุที่ท่านไม่มีหลักในการฟัง ก็เพราะท่านไม่หลักในการพูดของเขา ซึ่งท่านจะรู้หลักในการพูดของได้ก็ต่อเมื่อท่านจับความเห็นหลักของเขาออก โดยได้ค้นหาจากความซ้ำหรือความลงรอยกันของสิ่งที่เขาได้พูดไว้ในหลายๆ ที่หลายๆ ครั้ง เรียกความซ้ำหรือลงรอยกันเสมอนี้ว่า “จุดยืน”
            คนที่มีจุดยืนเท่านั้นที่ท่านควรฟังและศึกษาในสิ่งที่เขาพูด แม้ว่าสิ่งที่เขาพูดจะผิด ท่านก็ยังได้รับประโยชน์อยู่บ้าง เพราะเมื่อตรวจสอบสิ่งที่เขาพูดแล้ว อย่างน้อยท่านก็จะรู้ว่าอะไรผิด แต่สำหรับคนที่ไม่มีจุดยืนแล้ว ท่านจะสับสนจนคว้าประโยชน์ได้ยาก
            ท่านพุทธทาสเป็นบุคคลหนึ่งที่มีจุดยืนชัดเจน ท่านไม่เคยปฏิเสธสิ่งหนึ่งกับคนกลุ่มหนึ่งแล้วยอมรับสิ่งเดียวกันนั้นกับคนอีกกลุ่มหนึ่ง ธรรมบรรยายของท่านจึงไม่อิงกระแสสังคม ไม่ขึ้นกับบุคคล แม้ว่าจะตรงกันข้ามกับความคิดเห็นของบุคคลผู้มีชื่อเสียงเป็นที่นับหน้าถือตาของสังคม หรือไม่ตรงกับความคิดเห็นส่วนใหญ่ หรือแม้แต่ไม่ตรงกับคำสอนของพระทั่วไปก็ตาม บุคคลที่สามารถยืนในจุดของตนเองได้ตลอดเวลาโดยไม่โอนเอนตามสังคมนั้น จะต้องเป็นผู้รอบคอบ กล้าหาญและเคารพความจริงเป็นใหญ่
            จุดยืนของท่านพุทธทาส คือ บรรยายธรรมโดยไม่มุ่งหมายให้ผู้ฟังรู้จักสาเหตุและสามารถแก้ไขปัญหาในการดำเนินชีวิตประจำวันได้ ครบถ้วนทั้งเรื่องงาน คน ตนเอง ธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสจึงเป็นคำสอนเพื่อนสร้างความพร้อมในการรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆ ที่จะเป็นปัญหาแก่ชีวิตได้ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทุกเวลาทุกสถานที่ในชาตินี้และบนโลกนี้ ดังที่ท่านได้ให้ความหมายของพระพุทธศาสนาส่า “ระบบปฏิบัติเพื่อความรอดในทุกๆ ขึ้นตอนแห่งวิวัฒนาการของชีวิต”
            ความมุ่งหมายดังกล่าว ทำให้ธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสมีลักษณะเฉพาะตัวที่ไม่เหมือนใคร และความเฉพาะตัวนี้เองทำให้บางคนเห็นว่า ธรรมบรรยายของท่านยากถึงขนาดที่ต้องปีนบันไดอ่านกันเลยทีเดียว ซึ่งความจริงแล้ว สาเหตุของการต้องปีนบันไดอ่านั้น ไม่ใช่อยู่ที่การทำความเข้าใจแล้วพิสูจน์คำสอนของท่าน แต่สาเหตุประการหนึ่งคือ ความแปลกหู ที่แตกต่างจากคำสอนของสำนักอื่นทั่วไป เช่นเดียวกับคำสอนของกาลิเลโอที่ในช่วงต้นทุกคนก็รับไม่ได้ เพราะแตกต่างจากคำสอนของอริสโตเติลและคริสต์ศาสนา และสาเหตุอีกประการหนึ่งก็คือ ฟังแล้วขัดแย้งกับความรู้สึกโดยทันที โดยเฉพาะเรื่องคำสอนเรื่อง “ตัวกู ของกู” เพราะแตกต่างจากความรู้สึกนึกคิดที่เคยมีมาตลอด

ลักษณะเฉพาะคำสอน
ลักษณะเฉพาะตัวของคำสอนของท่านพุทธทาส ที่เมื่อรู้จักแล้วจะทำให้ศึกษาธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสได้เข้าใจง่าย ขึ้น มีดังนี้
๑.     ภาษาคน  -  ภาษาธรรม                                                            
เมื่อเป้าหมายในการบรรยายธรรมของท่านพุทธทาสอยู่ที่การนำธรรมะไปใช้แก้ปัญหาในการดำเนินชีวิต ดังนั้น ศัพท์ต่างๆ ที่เป็นคำสำคัญของพุทธศาสนาจึงหมายถึงสภาวะของจิตที่สามารถพบได้ในชาตินี้ โดยไม่ต้องรอให้ตายก่อนแล้วจึงได้พบ (จิตคือสภาวะหนึ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ โดยมีเฉพาะในสิ่งมีชีวิต ทำให้รับรู้ รู้สึกจดจำ คิดคำนวณ และลงความคิดเห็น ต่อสิ่งเร้าที่เข้ามาทางอวัยวะรับสัมผัส หรือที่สมองหวนรำลึก หรือสร้างขึ้นเองได้)
นิพพานในธรรมบรรยายของท่านพุทธทาส จึงไม่ได้หมายถึงเมืองแก้วที่จะได้พบในชาติน้าหลังจากตายแล้ว หากแต่มายถึงสภาวะจิตที่ปราศจากอาการเร่าร้อน
นรก ก็ไม่ได้หมายถึงเมืองใต้พิภพ ซึ่งที่ทำบาปจะถูกส่งตัวไปรับการทรมานหลังจากการตายแล้วหากแต่หมายถึงสภาวะจิตที่เร่าร้อน โดยอยากดิ้นรนให้พ้นจากสภาวะนั้นให้เร็วที่สุด (เปรียบดั่งไฟร้อน)         สวรรค์ ก็ไม่ได้หมายถึงเมืองเหนือท้องฟ้า อันเป็นวิมานของนางอัปสรและเทวดา  ซึ่งคนที่ทำบุญจะได้ขึ้นไปเสวยสุขอันเป็นของทิพย์   หากแต่หมายถึงสภาวะของจิตใจที่เร่าร้อน แต่กลับอยากรัดตรึงตนให้อยู่กับสภาวะนั้นนานๆ (เปรียบดั่งไฟเย็น) สวรรค์ตามหลักของท่านพุทธทาสจึงเป็นสิ่งที่น่าเกลียดที่ควรหลีกหนีไปให้ไกล เพราะทำให้จิตสูญเสียสภาวะ ที่สงบสมดุลและน่ากลัวยิ่งกว่านรกเสียอีก เพราะเป็นความเหน็ดเหนื่อยที่ไม่รู้ตัว สวรรค์จึงเป็นคุกที่ออกยากกว่านรก ซึ่งนิยามของคำว่า “สวรรค์ นี้ตรงกันข้ามกับความเห็นเก่าของคนส่วนใหญ่โดยสิ้นเชิง
ชาติ ก็ไม่ได้หมายถึงการเกิดใหม่ของร่างกาย แต่หมายถึงที่จิตรู้สึกขึ้นมาแต่ละครั้งว่า ตนมีความสำคัญ ตนเป็นศูนย์กลางของทุกสิ่ง การรู้สึกเช่นนี้ครั้งหนึ่งก็คือเกิดชาติหนึ่ง เมื่อเลิกรู้สึกแล้วก็คือการตายชาติหนึ่ง ดังนั้น ตามธรรมบรรยายของท่านพุทธทาสจึงมีการเกิดและการตายของสภาวะจิตที่รู้สึกว่าตนเองสำคัญ ซ้อนอยู่ระว่างการเกิดและการตายของร่างกายได้นับครั้งไม่ถ้วนหลายภพหลายชาติหลายกัปกัลป์
คำเหล่านี้เป็นคำศัพท์เทคนิคของพุทธศาสนา ที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า ภาษาธรรม ซึงจะต้องแปลไปในทางนามธรรมหรือในทางจิตใจ กล่าวในทางกลับกันก็คือ จะต้องไม่แปลไปในทางรูปธรรมหรือในทางวัตถุตามภาษาชาวบ้านทั่วไป ที่ท่านพุทธทาสเรียกว่า “ภาษาคน” จึงจะเข้าถึงธรรมะของพระพุทธเจ้าและนำไปแก้ไขปัญหาชาติได้

๒.     คำสอนที่เน้นมาก
          สัญชาตญาณ เป็นสมรรถภาพรู้ที่ใช้ความรู้สึกจากผัสสะของตนเอง เป็นเกณฑ์การวัดความจริงของสิ่งเร้าที่เข้าสู้ระบบประสาท   โดยผ่านอวัยวะรับสัมผัสทั้ง ๕ หรือจากการที่สมองรำลึกหรือสร้างขึ้นใหม่เอง (เรียกการเข้าสู้ระบบประสาทว่า “ผัสสะ”) สัญชาตญานจะตีความสิ่งเร้านั้นตามความรู้สึกแล้วบอกให้ระบบประสาทตอบสนองต่อสิ่งเร้านั้นตามความรู้สึกของตนเอง ซึ่งไปในทางที่เห็นว่าจะช่วยให้ตนเองรอดและดำรงสายพันธุ์ต่อไปได้ สัญชาตญาณจึงทำให้เกิดตัวกู เมื่อผัสสะคือยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง
          โลกแห่งผัสสะนั้น แท้ที่จริงแล้วจึงไม่ใช่อะไร นอกจากเป็นแค่การเชื่อมต่อสือความกันระหว่างสิ่งต่างๆ ที่มีอยู่นะรรมชาติกับโลกประสาทของเรา ซึ่งสรรพสิ่งที่มีอยู่ในธรรมชาติก็เป็นของมันอยู่อย่างนั้นแต่ใครจะเข้าใจอย่างไร จะถูกต้องหรือไม่ ครบถ้วนหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับสมรรถภาพรู้หรือญาณของแต่ละคนนั้นเอง
          สัญชาตญาณตามธรรมชาติของสัตว์อื่นทั่วไป จะอยู่ในกรอบวงของการหนีภัย การกิน และการสืบพันธุ์ อวิชชาที่เกิดจากสมรรถภาพรู้ที่บกพร่องของสัตว์ทั่วไปจึงเป็นแรงขับของพฤติกรรมเฉพาะแค่เรื่องการหนีภัย การกิน และการสืบพันธ์เท่านั้น แต่อวิชชาในคนซึ่งเป็นสัตว์ซึ่งได้สร้างระบบสังคมและค่านิยมขึ้นมาโดยเฉพาะ กับมีแรงขับชนิดใหม่งอกเพิ่มขึ้นอีกอย่างหนึ่ง คือ เกียรติ เกียรติยศ ศักศรี จึงเป็นกรอบวงที่คนสร้างมาขังตัวเองซึ่งไม่มีในสัตว์ชนิดอื่น และเป็นกรอบใหม่ที่สามารถกลบทับแรงขับดังเดิมของสัตว์ทั่วไป คือ การหนีภัยได้ ผู้ใหญ่บางคนจึงยอมเสียชีวิตดีกว่าจะเสียเกียรติ วัยรุ้นช่างกลจึงยอมแรกชีวิจเพื่อเกียรติของสถาบัน แรงขับเด่นๆของอวิชชาในคนจึงการมาเป็นเรื่องกิน กาม เกียรติ
          ใช่ว่าสัญชาตญาณจะมีแต่ผลเสีย ด้านดีก็มีอยู่บ้างโดยเฉพาะที่เป็นเด็กเล็กๆ เพราะการที่สัญชาตญาณมุ่งที่ความรอดจึงทำให้เด็กร้องบอกเมื่อหิวและไม่สบาย สัญชาตญาณมองแค่ใกล้ๆจะกลับมาสร้างปัญหา เมื่อโตขึ้นเราอาจไม่ใช่ผัสสะเป็นเกณฑ์ในการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นเพราะถ้าใช้ความรู้สึกเป็นเกณฑ์อาจเกิดปัญหาขึ้นมาได้ถ้าความรู้สึกจากผัสสะไม่ตรงกัน แม้ผู้ใหญ่ปลีกตัวจากสังคมก็ไม่สามมารถใช่สัญชาตญาณเป็นเครื่องนำทางชีวิตได้ตลอด เพราะความรู้สึกจากผัสสะที่ได้รับจากสิ่งเร้า ไม่อาจประกันความจริงจากสิ่งเร้านั้นเลย เราจึงสนองสิ่งเร้านั้นผิดๆได้ เช่น การเห็นภาพลวงตาของเรารถไฟที่มาบรรจบกัน  การรู้สึกว่ารถไฟที่เรานั่งซึ่งจอดสนิทอยู่กำลังวิ่งอย่างรวดเร็ว เมื่อรถไฟอีกขบวนหนึ่งวิ่งสวนมา ซึ่งถ้าเราไม่สังเกตุว่ารถไฟที่เรานั่งโยกเอน ก็จะคิดว่าจริงตามที่เห็น
เราจึงใช้สัญชาตญาณตีความโลกแห่งผัสสะตลอดไปไม่ได้ คงใช้ได้แค่เฉพาะตอนเป็นเด็กเล็กๆ ที่ยังสังเกตและพิจารณาอะไรเองได้เท่านั้น แต่เมื่อโตขึ้นพอที่จะสังเกตและพิจารณาได้เองแล้ว พ่อแม่และผู้ใหญ่ก็ต้องพัฒนาสมรรถภาพรู้ของเด็กให้สมบูรณ์ขึ้น เพื่อเปลี่ยนจากการใช้สัญชาตญาณในการตีความโลกแห่งผัสสะ มาใช้ปรีชาญาณหรือปัญญาในการตีความโลกแห่งผัสสะแทน ปรีชาญาณจะทำให้ความรู้สมบูรณ์ ไม่แหว่งวิ่นเหมือนสัญชาตญาณที่ใช้ตนเองเป็นศูนย์กลาง แต่ปรีชาญาณจะใช้ความจริงของธรรมชาติเป็นศูนย์กลาง ปรีชาญาณจึงไม่ได้ทำให้ความรู้ของคนหนึ่งเหมือนกับอีกคนหนึ่ง ตลอดจนไม่ทำให้ต้องเห็นและทำตามคนส่วนใหญ่ด้วย แต่ปรีชาญาณจะทำให้รู้ตรงตามความจริงของธรรมชาติและปฏิบัติตามความจริงนั้น
          สัญชาตญาณจึงเปรียบได้กับเปลือกไข่ที่หุ้มตัวอ่อนของลูกไก่ ซึ่งในระยะแรกเมื่อโผล่พ้นจากก้นแม่ไก่ก็จะรีบ ห่อหุ้มตัวอ่อนทันที โดยไม่ต้องมีความหนา เพื่อให้ตัวอ่อนได้พัฒนาอย่างปลอดภัยภายในเปลือกที่แข็งแรง แต่จะค่อยๆบางลงตามกาลเวลาที่ล่วงเลยไป ซึ่งตัวอ่อนจะต้องรีบพัฒนาตนเองอย่างแข่งขันกับเวลา เพื่อให้แข็งแรงพอที่จะเจาะเปลือกไข่ออกมาได้เองก่อนอาหารที่แม่วางไว้ให้ในไข่จะหมด จึงจะรอด
          สมัยนี้คนเลี้ยงไก่มีตู้ฟักไข่ เมื่อครบกำหนดเวลาฟักแล้ว ถ้าลูกเจี๊ยบยังไม่เจาะเปลือกไข่ออกมา คนเลี้ยงไก่ก็จะช่วยแกะเปลือกไข่ออกให้ การเลี้ยงไก่สมัยนี้จึงเจริญกว่าการเลี้ยงเด็กมาก เพราะพ่อแม่สมัยนี้ทำในทางที่กลับกัน คือละทิ้งหน้าที่ที่เคยช่วยแกะเปลือกสัญชาตญาณให้ลูก เนื่องจากมั่วเอาเวลาไปสะสมอาหารและเตรียมข้าวของ รวมทั้งเสาะหาศาสตร์ต่างๆ ให้ลูก โดยไม่รู้ว่าการทำเช่นนั้นเป็นการทิ้งลูกตัวเองให้ตายอยู่ในเปลือกที่ตนเองได้พอกให้หนาขึ้น เพราะหลงกระแสไม่รู้ว่าอะไรที่ควรทำก่อนหลังมากน้อยอย่างไร พ่อแม่สมัยนี้ไม่รู้ว่าพระพุทธศาสนานั้นเป็นศาสตร์แห่งศาสตร์ เพราะเป็นศัสตราชนิดเดียวที่จะใช้เจาะเปลือกของสัญชาตญาณให้ลูกมีชีวิตรอดโดยมีความสุขอย่างแท้จริงได้ เด็กไทยทุกวันนี้จึงมีปัญหาและสร้างปัญหาได้อย่างมากมาย พ่อแม่สมัยนี้จึงควรเอาไก่เป็นครู คือ รีบช่วยลูกให้ออกมาเสียจากเปลือกของสัญชาตญาณก่อน แล้วพัฒนาให้เขามีปรีชาญาณที่จะพึ่งพาตนเองให้รอดได้
          คำถามใหญ่ก็คือ พ่อแม่สมัยนี้เจาะตัวเองออกมาจากเปลือกของสัญชาตญาณได้หรือยัง ถ้ายังก็ควรแยกตัวเองออกมาเสียจากตัวกูโดยเร็วเถิด มิฉะนั้นจะพากันไปตายทั้งกรม (ไม่ใช้ “กลม ล. ลิง” เพราะแคบอยู่แค่แม่กับลูกเท่านั้น แต่กรมตัวนี้หมายถึงผู้คนในสังคมเลยทีเดียว ที่จะพลอยได้รับผลร้ายด้วย)




บทที่ ๓ การก่อตั้งสวนโมกข์และหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
ความเป็นมาของสวนโมกข์
สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งการหลุดพ้น
“ เราเดินตามโลกตั้งแต่นาทีที่เกิดมา
จนถึงนาทีที่มีความรู้สึกนี้
ต่อนี้ไป เราจะไม่เดินตามโลก
และลาโลกไปค้นหาสิ่งที่บริสุทธิ์
ตามรอยพระอริยะที่ค้นแล้วจนพบ...”
สวนโมกข์ คือ แหล่งธรรมะ ในคำขวัญประจำจังหวัดก่อตั้งโดย พระธรรมโกศาจารย์ “ (เงื่อม อินทปญโญ ) หรือที่คนส่วนใหญ่รู้จักในนามของท่านพุทธทาสภิกขุ  สวนโมกขพลารามก่อตั้งครั้งแรกในปี พ.ศ. ๒๔๗๕ ที่ตำบลพุมเรียง อำเภอไชยา เกิดจากความต้องการหาที่สงบสำหรับศึกษาธรรมะของท่านพุทธทาส
หลังจากที่ท่านเดินทางไปศึกษาธรรมะในกรุงเทพมหานครพบเห็นการปฏิบัติตัวของพระที่มิได้สำรวมเคร่งครัดในธรรมวินัยและเบื่อหน่ายความวุ่นวายสับสนของเมืองหลวง จึงมีความคิดจะหาสถานที่เรียบง่าย เหมาะสำหรับศึกษาและปฏิบัติด้วยตนเอง หลังจากที่เรียนจบเปรียญธรรมสามประโยคแล้ว และเห็นว่าพอจะมีพื้นฐานความรู้ในภาษาบาลี และภาษาอังกฤษในการศึกษาเองได้ รวมทั้งท่านพุทธทาสเป็นผู้มีนิสัยรักการอ่านได้ศึกษาค้นคว้าตำราด้านต่างๆ อยู่เป็นประจำและชอบสะสมหนังสือธรรมะต่างๆ รวมทั้งพระไตรปิฎก เมื่อทราบถึงเรื่องราวความสนใจของคนที่พุมเรียงในเรื่องพุทธศาสนา จึงตัดสินใจกลับพุมเรียง
ท่านพุทธทาสให้นายธรรมทาส พานิช ผู้เป็นน้องชายและคณะธรรมทานสำรวจหาที่ทีมีความเหมาะสม คณะสำรวจจึงเลือกเช่าที่วัดร้างแห่งหนึ่งชื่อ วัดตระพังจิก อยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้านพุมเรียง วัดนี้มีสภาพเป็นป่ารกทึบห่างไกลจากผู้คน จึงมีความเหมาะสมที่จะพำนักเพื่อศึกษาค้นคว้าธรรมะในพระไตรปิฏก และศึกษาค้นคว้าทางจิตใจ ท่านพุทธทาสได้ตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า สวนโมกขพลาราม” เพราะบริเวณนั้นมีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่มากขึ้นอยู่มาก
ท่านพุทธทาสจึงนำคำว่าโมก พลาและอารามมารวมกันได้ชื่อสำนักปฏิบัติธรรมที่มีความหมายตรงกับธรรมะว่า อารามที่ทำให้เกิดกำลังแห่งงความหลุดพ้น” ซึ่งในช่วงเวลา ๒ ปีแรก ท่านพุทธทาสพำนักอยู่เพียงลำพัง เพราะสวนโมกข์ยังไม่เป็นรู้จักและเข้าใจของคนทั่วไป ต่อมาท่านพุทธทาสและคณะธรรมทานได้ออกหนังสือพิมพ์ พุทธศาสนาพิมพ์เผยแพร่จุดประสงค์ของการจัดตั้งสวนโมกขพลาราม ซึ่งมีเจตนารมณ์ที่ตั้งไว้ครั้งแรก ๓ ข้อ คือ
๑.     การค้นคว้าพระไตรปิฎก (ปริยัติ)
๒.    การตามรอยพระอรหันต์ (ปฏิบัติ)
๓.    การเผยแพร่ความรู้ธรรมะชั้นลึก
และได้มีการตั้งปณิธานเพิ่มอีก ๓ ข้อ คือ ให้ทุกคนเข้าถึงหัวใจของศาสนาของตนๆ ให้เกิดความเข้าใจกันระหว่างศาสนาและช่วยกันเข็นโลกให้ออกจากวัตถุนิยม รวมทั้งลงบทความเผยแพร่ความรู้ในพระไตรปิฎก ในแง่มุมต่างๆและในฉบับปฐมฤกษ์นั้น ท่านพุทธทาสได้เขียนปฏิญาณตน ในบทความของท่านว่า ข้าพเจ้ามอบชีวิตและร่างกายนี้ ถวายแด่พระพุทธเจ้า ข้าพเจ้าเป็นทาสของพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าเป็นนายของข้าพเจ้า เพราะเหตุดังว่ามานี้ ข้าพเจ้าจึงชื่อว่า พุทธทาส
หลังจากนั้นก็มีภิกษุสามเณร ที่เห็นด้วยเดินทางมาขอพำนัก ที่อยู่สวนโมกข์ ตำบลพุมเรียงเป็นเวลา ๑๐ กว่าปี จึงได้ขยับขยายเพราะความจำเป็นในเรื่องต่างๆ มีมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องน้ำและชาวบ้านเข้ามาอยู่อาศัยรอบๆมากขึ้น ซึ่งเป็นเหตุให้สวนโมกข์ที่ตำบลพุมเรียง ไม่เหมาะกับการเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมอีกต่อไป
ท่านพุทธทาสและคณะธรรมทาน ได้ออกสำรวจสถานที่แห่งใหม่เพื่อสร้างสโมสรธรรมทานและได้พบที่ดิน เรียกว่า ด่านน้ำไหล ซึ่งเป็นช่องแคบ เดิมเป็นที่ดักจับโจร เพราะด้านหนึ่งเป็นเขานางเอ อีกด้านหนึ่งเป็นพรุลึกและเจ้าของได้บอกขายในราคาถูก ท่านจึงขอซื้อที่ดิน ในบริเวณใกล้เคียงและมีผู้บริจาคให้อีก รวมเนื้อที่ได้ประมาณ ๓๑๐ ไร่ จึงจัดตั้งสวนโมกข์พลารามแห่งใหม่นี้ขึ้น
ชาวบ้านเรียกวัดแห่งใหม่นี้ตามชื่อภูเขากลางวัดว่า วัดเขาพุทธทอง” แต่ท่านพุทธทาสได้จดทะเบียนเป็นวัดใช้ชื่อว่า วัดธารน้ำไหล” เพราะมีห้วยธารน้ำไหลจากเขานางเอไหลผ่านมาทางด้านทิศใต้ของวัดและต้องการให้สวนโมกข์ เป็นองค์กรอิสระแยกกันตามกฎหมายกับวัดธารน้ำไหล เพื่อความสะดวกในการดำเนินงานที่ไม่ต้องทำตามระเบียบ ของวัด ภายหลังจึงมอบกิจการของสวนโมกขพลารามให้เป็นของวัดธารน้ำไหลทั้งหมด เพราะไม่มีปัญหาในการดำเนินการในระยะแรกๆ
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เป็นหอจดหมายเหตุศาสนธรรม (Religious Archives) ที่ทำการเก็บรักษา อนุรักษ์ ศึกษาค้นคว้าและเผยแผ่ผลงานของท่านพุทธทาสฯ ให้แพร่หลาย ซึ่งจะช่วยส่งเสริม ให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงหัวใจของศาสนา ตามปณิธาน ๓ ประการของท่านพุทธทาส ได้แก่
๑. พยายามทำตนให้เข้าถึงหัวใจแห่งศาสนาของตน
๒. พยายามช่วยกันถอนตัวออกจากอำนาจของวัตถุนิยม
๓. พยายามทำความเข้าใจระหว่างศาสนา
การจัดตั้ง
หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ จัดตั้งภายใต้มูลนิธิหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งได้จดทะเบียนมูลนิธิกับกรุงเทพมหานครแล้ว ทะเบียนเลขที่ กท ๑๕๙๘ โดยจะได้รับการโอนมอบหน้าที่ในการจัดเก็บดูแลรักษา จัดระบบบริการพร้อมทั้งร่วมดูแลรับผิดชอบ เอกสาร บันทึก ภาพ แผนที่ สื่อโสตทัศนะ และผลงานต่างๆ ของท่านพุทธทาส จากสวนโมกขพลารามและธรรมทานมูลนิธิให้มาอยู่ภายใต้การดูแลร่วมของหอจดหมายเหตุฯ เพื่อดำเนินการตามวัตถุประสงค์และขอบเขตของโครงการ เพื่อเป็นธรรมทานต่อไป
ความเป็นมา
ตลอดช่วงชีวิต ๘๗ ปี ระหว่างปีพุทธศักราช ๒๔๔๙-๒๕๓๖ ของท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านได้ศึกษาปฏิบัติ และเผยแผ่ธรรม อย่างสม่ำเสมอและแพร่หลาย มีผลงานการเผยแผ่รูปธรรมและประจักษ์พยานอย่างมาก ไม่เฉพาะเพียงที่สวนโมกขพลาราม และ คณะธรรม ทานเท่านั้น เกิดการเคลื่อนไหวใหม่ในสังคม และแวดวงศาสนา อย่างต่อเนื่องกว้างขวางมากมาย สืบเนื่องมาจนกระทั่งปัจจุบัน ได้รับการยอมรับนับถือทั่วไปทั้งในระดับ ท้องถิ่น ประเทศ และสากล ไม่จำเพาะเฉพาะพุทธศาสนาเท่านั้น หลังมรณกรรมของท่านแล้ว สวนโมกขพลารามคณะธรรมทานและ คณะศิษยานุศิษย์ ตลอด จนกลุ่มผู้สนใจใฝ่ศึกษาปฏิบัติ ได้ประมวลรวบรวมสิ่งศึกษาเรียนรู้ ตลอดจนเครื่องมือเครื่องใช้ทั้งหลายของท่านไว้ สิ่งศึกษาเรียนรู้ ทั้งหมดนี้ เป็นมรดกทางปัญญาอันยิ่งใหญ่ สมควรจัดเก็บอนุรักษ์ไว้ให้เป็นระบบเพื่อความสะดวก ในการสืบค้นเพื่อเผยแผ่ และเป็น ประโยชน์เกิดสันติสุขแห่งมวลมนุษยชาติ
ในเบื้องต้นจากการสำรวจเอกสาร สิ่งพิมพ์ ภาพ แถบเสียงโสตทัศน์ และวัตถุสิ่งของต่างๆ ของท่านพุทธทาส มีปริมาณเบื้องต้นมากกว่า ๒๗,๓๔๗ รายการ ซึ่งในปัจจุบันทุกอย่างอยู่ในสถานภาพที่เสี่ยงต่อการชำรุดเสียหาย เสื่อมสภาพ ควรได้รับการอนุรักษ์ รักษาอย่างเร่งด่วน ถึงแม้ทางสวนโมกขพลาราม คณะธรรมทาน ตลอดจนคณะผู้ศึกษาและ ศรัทธาในท่านจะได้พยายามดำเนินการต่างๆ เพื่อจัดเก็บ รักษาและอนุรักษ์ แต่ก็พบว่ายังไม่สามารถดำเนินการให้ได้ดีและสมบูรณ์ สมกับคุณค่าของงานต่างๆ ที่มีอยู่ และพบว่าเกินกำลังและวิสัยของวัด มูลนิธิและอาสาสมัคร ด้วยเหตุนี้คณะผู้ศรัทธาอันประกอบด้วยผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้เชี่ยวชาญงานจดหมายเหตุ ผู้เชี่ยวชาญงานระบบ ฐานข้อมูล ผู้เชี่ยวชาญงานสถาปัตยกรรม อาสาสมัคร และผู้แทนฝ่ายต่าง ๆ โดยความเห็นชอบของ สวนโมกขพลารามและคณะธรรมทาน ได้ร่วมกันวางแนวทางในการจัดตั้งหอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ ซึ่งเป็นหอจดหมายเหตุศาสนธรรม (Religious Archives) เพื่อทำการเก็บรักษา อนุรักษ์ ศึกษาค้นคว้าและเผยแผ่ผลงานของท่านพุทธทาสฯ ให้แพร่หลาย ซึ่งจะช่วยส่งเสริม ให้ประชาชนทั่วไป สามารถเข้าถึงหัวใจของศาสนา ตามปณิธาน ๓ ประการของท่านพุทธทาส
การดำเนินงาน
การดำเนินงานมีพระภาวนาโพธิคุณ (โพธิ์ จันทสโร) และ นายเมตตา พานิช เป็นที่ปรึกษา และมีคณะทำงานอาสาสมัครฝ่ายต่างๆ ทั้งจากสวนโมกข์ ภาคธุรกิจ ภาคเอกชน ภาคพัฒนา ภาควิชาการ และภาครัฐ ในเบื้องต้นประกอบด้วย คณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญงานจดหมายเหตุ, คณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญงานระบบฐานข้อมูล, คณะที่ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ งานสถาปนิก, อาสาสมัครสนับสนุนการประสานงานและบริหารจัดการ, อาสาสมัครสนับสนุนการประสานงานทางกฎหมาย, อาสาสมัครสนับสนุนการจัดระบบงานทางบัญชี, อาสาสมัครงานสวนโมกข์ และ อาสาสมัครกิจกรรมสนับสนุน
วัตถุประสงค์
 ๑. เป็นศูนย์การเรียนรู้และสถานบริการด้านศาสนธรรมอันรื่นรมย์ เป็นกำลังเพื่อการบรรลุธรรมลักษณะ SPIRITUAL FITNESS & EDUTAINMENT CENTER
๒. สืบสานงานพระพุทธศาสนา ผ่านงาน ปณิธาน และอุดมการณ์ของพุทธทาสภิกขุ ในการนำพาความถูกต้องและสันติสุขทั้งทางกาย จิตใจ และปัญญา ให้กลับคืนสู่สังคมมนุษยชาติ ด้วยการเข้าถึงหัวใจของพระพุทธศาสนา การทำความเข้าใจกันระหว่างศาสนิกชนและการออกมาเสียจากอำนาจวัตถุนิยม จนเป็นพุทธทาสกันได้ทุกคน - ผู้รับใช้ในการเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการปฏิบัติให้ดู เป็นอยู่ให้เห็น จนผู้อื่นพากันทำตาม และเป็นสวนโมกข์ได้ทุกที่ – บุญสถานเพื่อการบรรลุธรรม
๓. ทำหน้าที่รวบรวม ดูแล รักษา และจัดระบบบริการสืบค้นมรดกธรรม เอกสารข้อเขียนต้นฉบับต่าง ๆ ของพุทธทาสภิกขุ ตลอดจนการให้บริการสนับสนุนการศึกษา ค้นคว้า วิจัย พัฒนาเผยแผ่และแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านศาสนธรรม การจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างสติปัญญาและจิตใจให้เจริญจนกล้าแข็งในความถูกต้องดีงาม จนเป็นผู้สงบ เย็น และเป็นประโยชน์ มีศักยภาพในการเป็นผู้อยู่ใน ใจเหนือ และเกื้อโลก ยิ่ง ๆ ขึ้นไปขอบเขตงานของโครงการ - การรวบรวม อนุรักษ์และจัดเก็บรักษาตามมาตรฐานงานหอจดหมายเหตุ การจัดระบบฐานข้อมูลสารสนเทศเพื่อเอื้ออำนวยความสะดวกในการสืบค้น ศึกษาและเผยแผ่ การจัดกิจกรรมบริการ ส่งเสริมการศึกษา ค้นคว้า วิจัยพัฒนา ตลอดจนกิจกรรมอื่นๆ รวมทั้งการเป็นห้องสมุด พิพิธภัณฑ์ ศูนย์รวมหนังสือธรรมะ โรงมหรสพทางวิญญาณ และการประชุม เสวนา ศึกษาและปฏิบัติธรรม





บทที่ 4 อิทธิพลของพุทธทาสกับคนไทย
พุทธทาสกับการศึกษา
ทรรศนะของท่านพุทธทาสภิกขุต่อการศึกษามีประโยชน์อย่างมากต่อการศึกษาของสังคมไทยและสังคมโลก ด้วยเหตุที่ท่านพุทธทาสภิกขุให้ความสำคัญเรื่องการศึกษาที่ทำให้คนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ การศึกษาที่แท้มุ่งสู่การดับทุกข์และทำให้เกิดสันติภาพขึ้นในโลกการศึกษาต้องทำให้คนเห็นแก่ตัวน้อยลงหรือเลิกความเห็นแก่ตัว
โดยส่วนตัวท่านเป็นนักการศึกษาและเป็นผู้ให้การศึกษาที่มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่ง ท่านมีผลงานเป็นที่ยอมรับของวงการวิชาการและของสังคมโดยทั่วไป ท่านเป็นนักค้นคว้า เป็นนักเขียน เป็นนักแปลทั้งภาษาบาลีและภาษาอังกฤษ เป็นนักบรรยาย เป็นนักกวี เป็นนักบันทึก
ที่สำคัญที่สุดท่านพุทธทาสเป็นนักการศึกษาที่มีใจเปิดกว้าง ไม่ปิดกั้นตนเอง ไม่ติดสังกัด ไม่ยึดติดลัทธิ เมื่อท่านเห็นว่าคำสอนใดดีมีประโยชน์ต่อสังคม ท่านจะนำสิ่งที่ท่านได้ศึกษาค้นคว้ามาถ่ายทอดให้ประชาชนได้รับรู้ ดังในกรณีการแปล สูตรของฮวงโป สูตรของเว่ยหล่าง ทั้งๆที่หนังสือทั้งสองเล่มนี้ท่านแปลจากข้อเขียนของพระภิกษุในนิกายเซ็น ท่านพุทธทาสภิกขุใช้วิธีการที่หลากหลายในการให้การศึกษาและทุกวิธีที่ท่านใช้ ล้วนประสบผลสำเร็จตามที่ท่านมุ่งหวัง
วิธีการที่ท่านพุทธทาสภิกขุนิยมนำมาใช้ในการให้การศึกษา
การบรรยายธรรม มีการกำหนดหัวข้อธรรม สารธรรมที่ต้องการเน้นเป็นการเฉพาะ
การแปลคัมภีร์สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแปลพระไตรปิฎกและเลือกแปลพระสูตรที่ต้องการบรรยายให้ประชาชนเข้าใจ
การเขียนบทกวี     ท่านอาจารย์พุทธทาสภิกขุชอบเขียนบทกวีในเชิงธรรมะ บทกวีของท่านได้รับการยอมรับอย่างสูงจากสังคม
การตีความคำสอน ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นนักตีความพระไตรปิฎกและคัมภีร์อื่นๆเช่นคริสตธรรม ฮินดูธรรม ตลอดจนสุภาษิต คำพังเพยโดยให้ความหมายใหม่
การสนทนาธรรม  ท่านพุทธทาสภิกขุต้อนรับศาสนิกต่างๆที่ไปหาท่านด้วยการสนทนา ธรรม และในการให้ความรู้แก่พระสงฆ์ ท่านมักนำสนทนา บางครั้งท่านตั้งคำถามให้พระตอบ บางครั้งพระถาม ท่านตอบ เป็นการสื่อสารสองทางทำให้เกิดความรู้ความเข้าใจลึกซึ้งในหลักธรรม การสอนเป็นขั้นตอนและสอนเป็นเรื่องๆ
การสอนของท่านพุทธทาสภิกขุ ท่านสอนเป็นขั้นเป็นตอนและสอนเป็นเรื่องๆ อธิบายขยายความเรื่องต่างๆได้ลุ่มลึก และสรุปประเด็นต่างๆได้ชัดเจน
วิธีการสอนของท่านทำให้ท่านมีผลงานมากมาย ผลงานที่สำคัญและท่านพอใจมากที่สุดคือหนังสือชุด ธรรมโฆษณ์ เพราะท่านถือว่าหนังสือชุดนี้เป็นตัวแทนของท่าน ทำให้ท่านเป็นอมตะ โดยท่านยืนยันว่าแม้ตัวท่านจะตายไป แต่ความเป็นพุทธทาสจักไม่มีวันตาย
การให้การศึกษาของท่านพุทธทาสภิกขุ มุ่งสู่เป้าหมายสูงสุดคือสันติภาพของมนุษยชาติ และสันติภาพที่กล่าวถึงนั้นวางอยู่บนพื้นฐานการศึกษาที่ประกอบด้วยศีลธรรม ที่ช่วยให้คนมีศีลธรรมเพิ่มขึ้น เพราะศีลธรรมเท่านั้นช่วยโลกได้ ดังที่ท่านพุทธทาสกล่าวไว้ว่า ศีลธรรมไม่กลับมา โลกาจะวินาศท่านยืนยันอย่างนี้ตลอดมานับตั้งแต่มีการสถาปนาสวนโมกข์ที่อำเภอไชยาให้เป็นแหล่งบ่มเพาะศีลธรรม
การศึกษาในทรรศนะของท่านพุทธทาสภิกขุ คือการเปลี่ยนวิธีคิด เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดจากการที่คนไม่เห็นความสำคัญของจิตวิญญาณมาสู่การให้ความสำคัญต่อจิตวิญญาณ จากความเห็นแก่ตัว สู่ความไม่เห็นแก่ตัว จากการตกเป็นทาส สู่อิสรภาพ นี่คือทรรศนะเชิงปฏิวัติเกี่ยวกับการศึกษาของท่านพุทธทาสภิกขุ
พุทธทาสกับการเมือง
ธรรมะกับการเมือง” เป็นชื่อหนังสือเล่มหนึ่งในชุดธรรมโฆษณ์ เป็นธรรมะบรรยายเกี่ยวกับการเมือง ท่านพุทธทาสเห็นการเมืองมามากตั้งแต่ก่อนการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ ทั้งการเมืองในรูปแบบของสมบูรณาญาสิทธิราชย์และระบอบประชาธิปไตยทั้งครึ่งใบและเต็มใบ ทั้งระบอบเผด็จการเต็มรูปแบบอย่างลัทธิคอมมิวนิสม์และระบอบเสรีนิยม ทรรศนะทางการเมืองของท่านจึงมีความน่าสนใจ
ท่านพุทธทาสยืนยันว่าระบอบการปกครองชนิดใดๆล้วนมีความดีอยู่ในตัวเอง ใช้ได้ทั้งนั้น มีประโยชน์ทั้งสิ้น ระบอบเผด็จการก็มีส่วนดี ถ้าผู้เผด็จการตั้งอยู่ในธรรมะหรือเผด็จการโดยธรรม ผู้เผด็จการสามารถสั่งการและทำงานได้รวดเร็วกว่า ไม่ต้องมีขั้นตอนมากมาย ระบอบประชาธิปไตย ก็มีส่วนดี ถ้าเป็นประชาธิปไตยที่คำนึงถึงประโยชน์สุขของประชาชนเป็นใหญ่ มิใช่ประชาธิปไตยของคนพาลที่ใช้พวกมากลากไป ประชาธิปไตยของพวกคนพาลเป็นประชาธิปไตยบ้าบอ ไม่เป็นประโยชน์แต่อย่างใด
การเมืองที่ดีและมีความหมายจริงๆ ต้องเป็นการเมืองแบบพระโพธิสัตว์ นักการเมืองต้องพัฒนาตนเองให้เข้าสู่การเมืองแบบพระโพธิสัตว์ให้ได้ นั่นคือ นักการเมืองที่ดีต้องอุทิศตนเองในการช่วยเหลือประชาชนผู้ทุกข์ยากทุกคนให้หลุดพ้นจากความทุกข์ยากนานาประการโดยไม่เห็นแก่ความเหน็ดเหนื่อย ตราบใดที่ยังมีประชาชนลำบากอยู่แม้เพียงคนเดียว นักการเมืองต้องช่วยเหลือประชาชนจนวาระสุดท้าย
ประการสำคัญที่สุด นักการเมือง แบบพระโพธิสัตว์ ช่วยเหลือประชาชนโดยไม่หวังผลตอบแทนใดๆทั้งสิ้นจากประชาชน การเมืองแบบพระโพธิสัตว์ เล่นการเมืองโดยไม่ต้องใช้อำนาจ แต่อาศัยคุณธรรมคือ เมตตา คือความรักผู้อื่น สัจจะคือ ความจริงใจ ทมะคือการรู้จักข่มใจตนเอง ขันตี คือ มีความอดทนต่อสิ่งเย้ายวนต่างๆและ วิสุทธิ คือความบริสุทธ์ใจในการช่วยเหลือประชาชน เรียกว่าเล่นการเมืองอาศัยคุณธรรมเป็นแรงผลักดันปราศจากความเห็นแก่ตัว มุ่งหวังอย่างเดียว ประชาชนมีความสุขถ้วนหน้า
ท่านพุทธทาสกับการเดินตามรอยบาทพระอรหันต์
ท่านพุทธทาสคงมองเห็นว่ายิ่งนานปี ชาวพุทธยิ่งเดินออกนอกทางหลักคำสอนของพระพุทธศาสนามากยิ่งขึ้น ท่านเห็นความจำเป็นเรื่องการดึงคนเข้าสู่ทางธรรมคือให้หันมาสนใจและให้ความสำคัญกับการดำเนินชีวิตที่มีคุณค่าและมีความหมาย ไม่ต้องเสียเวลากับการเดินทางที่ผิดๆ หนังสือตามรอยพระอรหันต์ จึงอุบัติขึ้นมาเพื่อยืนยันว่าพระอรหันต์มีอยู่จริงดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า ตราบใดที่ยังมีผู้ปฏิบัติตามหลักอริยมรรคมีองค์แปดประการ ตราบนั้น โลกนี้ไม่ว่างเว้นจากพระอรหันต์ ท่านพุทธทาสภิกขุเคยได้รับนิมนต์จากศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ให้บรรยายให้ผู้ที่เข้ามาเป็นผู้พิพากษาก่อนปฏิบัติหน้าที่เพื่อให้ดำรงอยู่ในคุณงามความดี
ท่านพุทธทาสภิกขุนำเรื่องตามรอยพระอรหันต์มาบรรยายเพื่อชี้ให้เห็นว่าการดำเนินชีวิตตามรอยพระอรหันต์สามารถเกิดขึ้นได้จริงและพระอรหันต์มีอยู่จริง ผู้ดำเนินตามย่อมมีชีวิตสะอาด สงบและสว่างได้ ประชาชนส่วนมากคิดว่าการเข้าถึงธรรมเป็นเรื่องของพระสงฆ์เท่านั้น แต่ท่านพุทธทาสกลับเห็นแย้ง ท่านจึงนำเอาคำสอนที่เป็นแก่นสาระมาสอน เช่น เรื่องอนัตตา ( ความมิใช่ตัวมิใช่ตน) เรื่องสุญญตา ( ความว่างหรือการทำใจให้ว่างจากกิเลส ) เรื่องนิพพาน ( การดับทุกข์) การที่ท่านนำเรื่องสำคัญเหล่านี้มาสอน เพราะท่านเห็นว่าพระสงฆ์ส่วนใหญ่มิได้สอน หากทำเช่นนั้นเรื่อยไป คำสอนหลักที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนานานไปจะไม่มีใครนำมาสอน จะทำให้คำสอนเหล่านั้นเลือนหายไปในที่สุด
ประชาชนก็จะได้ฟังเฉพาะเรื่องที่เป็นกระพี้ของพระพุทธศาสนา ยิ่งนานไป ประชาชนยิ่งห่างเหินพระพุทธศาสนาเพราะไม่รู้ไม่เข้าใจหลักคำสอนที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร การที่ท่านพุทธทาสยืนยันนำหลักพุทธธรรมสำคัญมาสอนให้คนได้รู้ได้เข้าใจ ทำให้เห็นว่าทุกเรื่องควรนำมาสอน แต่ผู้สอนต้องมีความเข้าใจเสียก่อน ต้องค้นคว้าพระไตรปิฎก เพราะในพระไตรปิฎก พระพุทธเจ้าทรงอธิบายทุกเรื่องไว้แล้ว ท่านพุทธทาสจึงให้ความสำคัญในการค้นคว้าพระไตรปิฎก ดังจะเห็นว่าท่านแปลปฏิจจสมุปบาทจากพระโอษฐ์ อริยสัจสี่ พุทธประวัติจากพระโอษฐ์ จนทำให้ประชาชนมีความเข้าใจพระพุทธศาวสนาเพิ่มขึ้น และทำให้คำสำคัญในพระพุทธศาสนาได้รับการกล่าวถึง เช่น ปฏิจจสมุปบาท อิทัปปัจจยตา นิพพาน สุญญตา อตัมมยตา ตถตา บางครั้ง ท่านพุทธทาสประดิษฐ์คำพูดภาษาไทยเพื่อให้ประชาชนจำง่ายและเข้าใจง่ายขึ้น เช่น ตัวกู-ของกู / เป็นเช่นนั้นเอง/ อย่ายึดมั่น-ถือมั่น
พุทธทาสกับเศรษฐศาสตร์
            พุทธทาสภิกขุ เป็นพระสงฆ์ปัญญาชนผู้ศึกษาด้วยตนเองเป็นส่วนใหญ่ ท่านเป็นผู้ศึกษาพุทธศาสนาและเผยแพร่ธรรมแบบคิดวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล ในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ เป็นต้นมา คือยุคสงครามเย็นระหว่างค่ายทุนนิยมและค่ายสังคมนิยม
            ในขณะที่ระสงฆ์ส่วนใหญ่จะคล้อยตามแนวคิดกระแสหลักของชนชั้นนำผู้สนับสนุนทุนนิยม  ท่านพุทธทาสเป็นนักคิดอิสระที่มองข้ามความขัดแย้งแบบ ๒ ขั้ว และมองว่ามีสิ่งที่น่ากลัวยิ่งกว่าสังคมนิยมที่เราจะต้องหาทางช่วยกันกำจัดนั้น คือ กิเลสของมนุษย์
          คำว่า ลัทธิทุนนิยม หรืออุดมการณ์เศรษฐกิจทุนนิยมตลาดเสรี หมายถึงการเน้นให้เอกชนมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน ทรัพย์สิน ที่จะลงทุนทำการผลิตเพื่อหากำไรสูงสุดตามกลไกของตลาด ส่วนสังคมนิยม ( หรือคอมมิวนิสต์ ) นั้น เน้นที่การให้สังคมเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ปัจจัยการผลิตสำคัญร่วมกัน โดยผ่านรัฐหรือสหกรณ์หรือประชาคมต่างๆ เพื่อจะได้มีการวางแผนการกระจายผลผลิตและบริวารให้เห็นประโยชน์กับประชาชนอย่างทั่วถึง เพื่อแก้ปัญหากดขี่ขูดรีดคนจนส่วนใหญ่โดยนายทุนส่วนน้อย
          การต่อสู้ทางการเมืองระหว่างกลุ่มอุดมการณ์ซึ่งแตกต่างกันสุดขั้วนี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเมื่อ ๒๐๐ กว่าปีแล้ว ในประเทศไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๔๗๕ได้มีผู้พยายามเสนอแนวทางสังคมนิยมอยู่บ้าง แต่ชนชั้นที่มีทรัพย์สมบัติมากและห่วงว่าทรัพย์สมบัติส่วนตัวจะถูกรวมเป็นของส่วนรวม จะปราบปรามและโจมตีผ่านระบบการเมือง การศึกษาสื่อต่างๆ ว่าสังคมนิยมเป็นเผด็จการที่ต้องการยึดอำนาจโดยใช้ความรุนแรง
          พุทธทาสภิกขุมีจุดยืนที่จะไม่เข้าข้างฝ่ายหนึ่งฝ่ายใดดังข้อวิจารณ์ของท่านที่ว่า “ เพราะเกิดผู้เอารัดเอาเปรียบ ( ระบบทุนนิยม ) ทำให้เกิดความเหลื่อมล้ำต่ำสูงมาก จึงทำให้เกิดระบบที่คิดตรงกันข้าม คืออยากทำให้เสมอภาคกัน ( ที่เรียกว่าสังคมนิยม หรือคอมมิวนิสต์ ) จึงต้องเกิดคอมมิวนิสต์ขึ้นนั้น”  แสดงให้เห็นว่าท่านพุทธทาสเข้าใจสัจธรรมทางสังคมมากกว่าคนไทยส่วนใหญ่ในสมัยนั้น ซึ่งมักเชื่อและเข้าข้างฝ่ายที่มีทุน มีอำนาจบารมีหนุนหลัง
          การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลกับคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย ในช่วงปี ๒๕๐๗๒๕๒๕ ได้เกิดให้ก่อความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สินของคนไทยด้วยกันจำนวนมาก สงครามยุติลงได้เราะฝ่ายรัฐบาลสมัยนายกพลเอกเกรียงศักดิ์ ชมะนันท์ เริ่มเข้าใจว่าการจะแก้ปัญหาการลุกขึ้นสู้ของฝ่ายคอมมิวนิสต์อย่างได้ผลนั้นทางรัฐต้องลดการกดขี่ข่มเหงประชาชนลงและพยายามปฏิรูประบบเศรษฐกิจการเมืองให้เป็นธรรมและเป็นประชาธิปไตยขึ้น
          ปัจจุบันสงครามเย็นยุติลง สังคมนิยมหรือคอมมิวนิสต์ในประเทศต่างๆ หมดบทบาทไป หรือมีลักษณะประนีประนอมมากขึ้น ขณะที่ทุนนิยมโลกขยายตัวเป็นทุนนิยมข้ามชาติเสรีหรือที่นิยมเรียกให้ดูหรูว่าโลกาภิวัตน์ ระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยมจะแก้ปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจในประเทศต่างๆได้เป็นบางส่วน แต่ยังไม่ได้ดำเนินการปฏิรูปโครงสร้างทางเศรษฐกิจให้สมดุลและเป็นธรรม หรือมีการกระจายทรัพย์สินและรายได้ให้คนส่วนใหญ่เท่าที่ควร ประเทศไทยในปัจจุบันถึงเศรษฐกิจจะเจริญเติบโต มีการผลิตและการค้าทันสมัย แต่เศรษฐกิจไทยที่เป็นทุนนิยมผูกขาดแบบบริวาร ( ของประเทศทุนนิยมศูนย์กลาง ) หรือแบบด้อยพัฒนา มีปัญหาความเหลื่อมล้ำต่ำสูง การเอารัดเอาเปรียบ และการทุจริตฉ้อฉลมากขึ้น
          แม้สังคมนิยมแบบเก่าคือวางแผนจากส่วนกลางจะล้าสมัยไป แต่ยังมีกระแสความคิดที่คัดค้านทุนนิยมอุตสาหกรรมผูกขาดอยู่ เช่น กระแสของการพัฒนาแบบทางเลือกที่เน้นการพัฒนาคุณภาพชีวิตมากกว่าวัตถุ การกระจายรายได้และทรัพย์สินให้คนส่วนใหญ่ มากกว่าการพัฒนาอุตสาหกรรมและการค้าที่ทำให้คนส่วนน้อยร่ำรวยขึ้น
          เศรษฐศาสตร์แนวพุทธเศรษฐศาสตร์แนวอนุรักษ์ธรรมชาติและทรัพยากร เศรษฐศาสตร์แนวสังคมประชาธิปไตย อยู่ในกระแสทางเลือกที่คัดค้านการพัฒนาทุนนิยมแบบผูกขาด คัดค้านการหากำไรส่วนตัว และการบริโภคมากเกินไป จนทำให้คนอื่นๆไม่ได้รับส่วนแบ่งที่เป็นธรรม รวมทั้งทำให้สภาพแวดล้อมทั้งธรรมชาติและวัฒนธรรมเสื่อมทรามลง
แนวคิดของพุทธศาสนาที่เน้นการกินอยู่แต่พอดี ไม่บริโภคการพอดี ไม่โลภเป็นหลักคิดง่ายๆที่ฉลาดล้ำ เพราะเมื่อเรามองดูผลทางด้านลบของการพัฒนาโลกทุนนิยมปัจจุบันอย่างวิพากษ์วิจารณ์ จะเห็นได้ว่าแนวคิดเศรษฐศาสตร์เชิงพุทธที่เสนอมากกว่าสองพันห้าร้อยปีแล้วนั้นเป็นแนวคิดที่มีความลึกซึ้ง และทันสมัยเหมาะนำมาประยุกต์ใช้กับโลกทุนนิยมในยุคปัจจุบัน ที่เรากำลังมีปัญหาวิกฤติทั้งทางเศรษฐกิจการเมืองสังคมและระบบนิเวศ อันเนื่องมาจากความเห็นแก่ตัวแก่ได้ของมนุษย์ ความไม่สมดุลของการพัฒนาทางเศรษฐกิจการเมือง ธรรมชาติและสภาพแวดล้อม ทั้งในประเทศและทั่วโลกได้อย่างมากทีเดียว

บรรณานุกรม
กวีวงศ์.(๒๕๕๐).สรรนิพนธ์พุทธทาสว่าด้วยวิถีประชาธิปไตยและหัวใจเศรษฐกิจพอเพีย.กรุงเทพฯ:    บริษัท ตถาตา พับลิเคชั่น จำกัด.
ชัยยศ จิรพฤกษ์ภิญโญ.(๒๕๕๐).มองชีวิตและสังคมด้วยความว่าง.กรุงเทพฯ:มูลนิธิโกมลคีมทอง.
ธรรมปราโมทย์.(๒๕๔๙).๑๐๐ ปี พุทธทาส.กรุงเทพฯ:ธรรมสภา.
______.(๒๕๔๙).ตามรอยพุทธทาส ฉบับสมบูรณ์:ภาคชีวิตผลงาน หลักธรรม.กรุงเทพฯ:        ธรรมสภา.
พระธรรมปิฎก (ป.อ ปยุตฺโต).(๒๕๔๖).พุทธธรรม(ฉบับเดิม).(พิมพ์ครั้งที่ ๒).กรุงเทพฯ:กองทุน อริยมรรค.
พระธรรมโกศาจารย์  (พุทธทาสภิกขุ). (๒๕๔๘).๙๙ ปี พุทธทาสภิกขุ ศาสนากับฟิสิกส์ใหม่.กรุงเทพฯ:          สถาบันวิถีทรรศน์.
พิทยา ว่องกุล.(๒๕๔๙).พุทธทาส พุทธธรรม.กรุงเทพฯ:สายธาร.
วิทยากร เชียงกูล.(๒๕๕๑).แก้วิกฤตเศรษฐกิจแนวพุทธ.กรุงเทพฯ:สายธาร.
อภิชัย พันธเสน.(๒๕๔๗).พุทธเศรษฐศาสตร์วิวัฒนาการ ทฤษฎี และการประยุกต์กับเศรษฐศาสตร์     สาขาต่างๆ.(พิมพ์ครั้งที่ ๓ แก้ไขปรับปรุง ).กรุงเทพฯ: อมรินทร์.
อรุณ แสงทอง.(๒๕๕๐).ธรรมวาทะของท่านพุทธทาส.(พิมพ์ครั้งที่ ๒).กรุงเทพ:บุพนิมิต.

อินทุวรรณา เชยชื่นสกุล.(๒๕๕๒).ท่านพุทธทาสกับอำนาจวัตถุนิยม. กรุงเทพฯ  : สุขภาพใจ.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น