วันศุกร์ที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2557

ฟรีดริช นิตเช่



ประวัติและผลงานของฟรีดริช นิตเช่


ประวัติของนิตเช่


ฟรีดริช วิลเฮล์ม นิตเช่ (Friedrich Wihelm Nietzsche : 1844 – 1990) เกิดเวลาประมาณ 10 นาฬิกาของวันที่ 15 ตุลาคม ค.ศ. 1844 ในหมู่บ้านเล็ก ๆ ชื่อรอคเคน เมืองไลพ์ซิก แคว้นแซกโซนี ประเทศเยอรมันนี ซึ่งตรงกับวันคล้ายวันประสูติของพระเจ้าฟรีดริช วิลเฮล์มที่ 5 กษัตริย์แห่งปรัสเซีย ขณะมีพระชนมายุ 49 พรรษา ชื่อนิตเช่จึงได้รับการตั้งชื่อตามพระนามของพระองค์ อันเป็นการถวายพระเกียรติและแสดงออกถึงความจงรักภักดี
นิตเช่นิตเช่เกิดในครอบครัวเคร่งศาสนา เขามีบิดาชื่อ คาร์ล ลุดวิค (Karl Ludwig : 1813 - 1849) และมารดาชื่อ ฟรานซิสก้า (Franziska : 1826 - 1897) บิดาและปู่ซึ่งชื่อ ฟรีดริช ออกุส ลุดวิค (Friedrich August Ludwig) ของนิตเช่เป็นพระในนิกายลูเธอลัน เมื่อนิตเช่มีอายุได้ 4 ขวบ บิดาของเขาเสียชีวิต ต่อมาอีก 6 เดือน โจเซฟ พี่ชายของนิตเช่ ซึ่งมีอายุแก่กว่าเขา 2 ปี ก็เสียชีวิตตามมา นิตเช่จึงได้รับการเลี้ยงดูและเติบโตในครอบครัวที่มีแต่ผู้หญิง อันประกอบไปด้วย มารดาของเขา ยายชื่อเอดมูท น้าสาว 2 คน ชื่อออกุสและโรสาลี และน้องสาวของนิตเช่ 1 คน ชื่ออลิซาเบธ (Elisabeth) ซึ่งตั้งตามชื่อของเจ้าหญิงปรัสเซียพระองค์หนึ่ง ฟริตซ์ (Fritz) เป็นชื่อที่ใช้เรียกนิตเช่กันภายในครอบครัว ในวัยเยาว์นิตเช่มีร่างกายอ่อนแอและสุขภาพไม่แข็งแรง เขามักรู้สึกว่าตัวเขาเองอยู่เพียงลำพังคนเดียวเสมอ เขาเคยเขียนในวารสารเด็กว่า “ฉันเสาะหาการอยู่เพียงลำพังและได้ค้นพบถึงความสุขของฉัน ณ ที่ไม่มีสิ่งใดมารบกวนเพื่อที่ฉันจะเข้าถึงตัวเอง” นิตเช่เป็นคนที่มีความเฉลียวฉลาดและมีพรสวรรค์ตั้งแต่เด็ก จนได้รับฉายาบาทหลวงน้อย (The little pastor) เนื่องจากเป็นเด็กฉลาดเกินวัย อายุ 10 ปีสามารถแต่งเพลงประสานเสียงในโบสถ์ และเป็นที่เคารพนับถือจากเพื่อนในวัยเดียวกัน

เมื่อเขามีอายุ 14 - 19 ปี นิตเช่ได้ทุนเข้าเรียนที่ฟอร์ตา (Schulpforta) เป็นสถาบันการศึกษาที่ผลิต นักคิด นักเขียนเยอรมันที่มีชื่อเสียงหลายต่อหลายท่าน ซึ่งเป็นโรงเรียนประจำ ตั้งอยู่ไม่ไกลจากเมืองเนาม์แบร์กเท่าไหร่นัก วิชาที่เรียนได้ดีคือวิชาศาสนา เขาเป็นเด็กหัวรั้น เชื่อมั่นในตนเอง และนิตเช่มีนิสัยชอบขีดเขียนจึงมีหนังสือเล่มเล็ก ๆ ไว้คอยจดเรื่องราวต่าง ๆ เช่น ดนตรีและวิจารณ์การศึกษาในโรงเรียน นอกจากนี้นิตเช่ยังได้ก่อตั้งชมรมดนตรีและวรรณกรรมที่โรงเรียน มีชื่อว่าเยอรมาเนีย (Germania) เมื่อนิตเช่จบการศึกษาจากโรงเรียนฟอร์ตา นิตเช่เข้าศึกษาด้านเทววิทยา ภาษา และวรรณกรรมคลาสสิค ที่มหาวิทยาลัยบอนน์ในปี ค.ศ. 1864 แต่ต่อมาเขาได้เลิกศึกษาเทววิทยา และมุ่งให้ความสนใจด้านภาษาและวรรณกรมคลาสสิคเพียงอย่างเดียว ปี ค.ศ. 1865 นิตเช่ย้ายไปศึกษาที่ไลพ์ซิก เขาได้มีโอกาศอ่านหนังสือของโชเปนฮาวเออร์ เรื่อง The World as Will and Representation (1818) ซึ่งเขาพบในร้านขายหนังสือมือสอง ในหนังสือเล่มนี้ว่าด้วยทัศนะเกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ของโชเปนฮาวเออน์ โดยกล่าวถึงความจริงว่าเป็นเหมือนพลังอันมืดบอดร่วมกับการยกย่องดนตรีว่าเป็นศิลปะขั้นสูงสุด และความคิดของโชเปนฮาวเออร์ก่ออิทธิพลทางความคิดของนิตเช่ค่อนข้างมาก หลังจากที่เขาได้อ่านงานของโชเปนฮาวเออร์ นิตเช่ได้อ่านงานของแลงค์ (F.A. Lange) เรื่อง History of Materialism and of its Present Significance (1866) ที่มีกรอบความคิดเกี่ยวกับวัตถุนิยม ที่วิพากษ์ทฤษฎีเชิงอภิปรัชญาด้านวัตถุนิยมจากอภิปรัชญาทั่วไปของค้านท์ ซึ่งมีอิทธิพลต่อความสนใจเชิงอภิปรัชญาของนิตเช่ที่ใช้การอธิบายในรูปแบบของบทกวี ในเดือนพฤศจิกายนปี ค.ศ. 1868 นิตเช่ได้รู้จักกับริชาร์ด วากเนอร์ คีตะกวีชื่อดังชาวเยอรมันสมัยนั้น ซึ่งนิตเช่ยกย่องและชื่นชมวากเนอร์อย่างมาก ดังปรากฏในงานเขียนยุคต้นของนิตเช่ อาทิเช่น The Birth of Tragedy (1872) และ Richard Wagner in the Bayrecth (1876) ที่กล่าวถึง วากเนอร์ด้วยความนับถือ แต่ภายหลัง 20 ปีต่อมา นิตเช่ไม่เห็นด้วยในความคิดของวากเนอร์อย่างมาก ดังจะเห็นได้จากงานเขียนในยุคหลัง ๆ อาทิเช่น เรื่อง The Case of Wagner , A Musician’s Problem (1888) , Nietzsche contra Wagner (1895) เป็นต้น นิตเช่ได้เขียนตำหนิและโจมตีความคิดของวากเนอร์อย่างรุนแรง

ในเดือนพฤษภาคม ปี ค.ศ. 1869 นิตเช่ในวัย 24 ปี ขณะที่เขายังไม่จบการศึกษาปริญญาเอก เขาได้รับการแต่งตั้งให้เป็นอาจารย์สอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยบรัสเซง ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในตำแหน่งศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชานิรุกติศาสตร์ ด้วยจดหมายแนะนำของ ริทเชล วากเนอร์ ซึ่งเป็นอาจารย์ผู้ควบคุมวิทยานิพนธ์ของนิตเช่ ได้บรรยายถึงความกระตือรือร้น และความสามารถอันฉลาดปราดเปรื่องทางภาษาของนิตเช่ที่หาตัวจับได้ยาก

ปี ค.ศ. 1870 นิตเช่อาสาสมัครไปเป็นทหารในหน่วยพยาบาลของกองทัพปรัสเซีย ในสงคราม ฟรังโค – ปรัสเซีย (The Franco – Prussian War : 1870 - 1871) ผลจากสงครามส่งผลให้สุขภาพของนิตเช่ไม่ดีเรื่อยมา เขาลาออกจากอาชีพสอนหนังสือเพราะปัญหาด้านสุขภาพและสายตาในปี ค.ศ. 1879 และได้อุทิศเวลาทั้งหมดให้กับการเขียนหนังสือ และใช้ชีวิตอยู่อย่างสันโดษในประเทศอิตาลี ฝรั่งเศส และสวิตเซอร์แลนด์

วันที่ 3 เดือนมกราคม ปี ค.ศ. 1889 นิตเช่เกิดอาการทางประสาท สูญเสียสติสัมปชัญญะและร่างกายเป็นอัมพาต มีข้อสันนิษฐานหลาย ๆ สาเหตุด้วยกัน ว่าอาจจะเกิดจากอุบัติเหตุที่นิตเช่ตกจากหลังม้า หรือ อาจเป็นผลจากการติดเชื้อซิฟิลิสขณะที่นิตเช่เป็นทหารอาสาสมัครในหน่วยพยาบาลของสงครามฟรังโค – ปรัสเซีย หรือ อาจเป็นผลข้างเคียงมาจากการใช้ยา Chloral hydrate ที่ใช้ระงับอาการเจ็บปวดของนิตเช่ หรืออาจเป็นเพราะกรรมพันธุ์จากบิดาที่ป่วยเป็นโรคทางสมอง ซึ่งยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าเป็นด้วยสาเหตุใด นิตเช่จึงอยู่ในความดูแลของมารดา จนกระทั่ง ปี ค.ศ. 1897 มารดาของเขาถึงแก่กรรม อลิซาเบธน้องสาวของเขาจึงรับนิตเช่ไปอยู่ด้วยที่ไวมาร์ และดูแลนิตเช่ตราบจนวาระสุดท้าย เขาถึงแก่กรรมด้วยวัย 56 ปี ของวันที่ 25 สิงหาคม ปี ค.ศ. 1900



ผลงานของนิตเช่


การที่จะศึกษาแนวคิดทางปรัชญาของนิตเช่ ซึ่งตัวเขาไม่ได้แสดงออกมาเป็นระบบชัดเจน การศึกษางานเขียนของเขาจึงเป็นสิ่งที่สำคัญในการจะเข้าใจแนวคิดทางปรัชญา เพราะนิตเช่เอง แสดงออกมาทางวรรณคดี วรรณกรรม และความเรียงร้อยแก้วเป็นส่วนมาก ลำดับงานเขียนของนิตเช่ โดยเรียงจากปีที่ตีพิมพ์ได้ดังนี้

1) The Birth of Tragedy (1872)

2) On Truth and Lies in a Nonmoral Sense (1873)

3) Untimely Meditations (1876)

4) Human, All Too Human (1878; เพิ่มเติม 1879, 1880)

5) Daybreak (1881)

6) The Gay Science (1882)

7) Thus Spoke Zarathustra (1883–1885)

8) Beyond Good and Evil (1886)

9) On the Genealogy of Morality (1887)

10) The Case of Wagner (1888)

11) Twilight of the Idols (1888)

12) The Antichrist (1888)

13) Ecce Homo (1888)

14) Nietzsche contra Wagner (1888)

15) The Will to Power

แนวคิดทางปรัชญาของนิตเช่

จากการศึกษา ผลงานของนิตเช่ไม่ค่อยมีความเป็นเอกภาพและเป็นระบบนัก เห็นได้จาก แนวคิดที่ปรากฏในผลงานของเขา จะขึ้นกับช่วงระยะเวลาที่เขาได้รับอิทธิพลจากโชเปนฮาวเออร์ และวากเนอร์ ภาวะความเจ็บป่วยเรื้อรัง สัมพันธภาพกับบุคคลที่เขารัก และบุคลิกภาพส่วนตัวของเขาเอง ประกอบกับเขามีความรู้และอัจฉริยภาพทางด้านปรัชญาและนิรุกติศาสตร์สูง วิธีการประพันธ์ของเขาจึงเต็มไปด้วยวรรณศิลป์ที่มีการใช้อุปมา (Simile) และอุปลักษณ์ (Metaphor) มากซึ่งยากต่อทำความเข้าใจและตีความ ดังนั้นผู้วิจัยจึงขอสรุปแนวคิดหลักที่น่าสนใจ ซึ่งเรียบเรียงมาจากงานเขียนของเขา เพื่อง่ายต่อการทำความเข้าใจแนวคิดของเขา ในที่นี้จะกล่าวเน้นแนวความคิดหลักทางปรัชญาของนิตเช่ อันแระกอบไปด้วย แนวคติดเรื่องเจตจำนงที่จะมีอำนาจ แนวคิดเรื่องนิจวัฏฎ์ และแนวคิดเรื่องศีลธรรม



เจตจำนงที่จะมีอำนาจ (The Will to Power)

เจตจำนงที่จะมีอำนาจ หรือ The Will to Power เป็นแนวคิด ด้านอภิปรัชญาของนิตเช่ โดยเขามีความเห็นสอดคล้องกับโชเปนฮาวเออน์ที่ว่า ความจริงสูงสุดของโลกและจักรวาลคือเจตจำนง (The Will) ซึ่งโชเปนฮาวเออน์อธิบายว่า เป็นพลังของกิเลสตัณหาอันมืดบอดไร้จุดหมายที่แสดงตัวปรากฏออกมาเป็นพลังต่าง ๆ ในธรรมชาติ ทั้งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต โดยที่มนุษย์จะมีพลังนี้อย่างเข้มข้นมากที่สุด พลังนี้จะมีลักษณะเป็นกิเลสตัณหาในการที่จะดำรงสภาพของตนอยู่ต่อไปตลอดกาล ด้วยเหตุที่ชีวิตมนุษย์มีพลังเช่นนี้มากที่สุด มนุษย์จึงเป็นคนที่ต่อสู้ดิ้นรนอยู่ตลอดเวลาเพื่อที่จะมีชีวิตรอดต่อไปได้

ถึงแม้ว่านิตเช่จะเห็นด้วยกับโชเปนฮาวเออน์ที่ว่า ความจริงสูงสุดของโลกและจักรวาลมีลักษณะเป็นเจตจำนงอันมืดบอดไร้เหตุผล แต่เขาก็มีความคิดที่แตกต่างไปจากโชเปนฮาวเออน์ในแง่ที่ว่า เจตจำนงของโชเปนฮาวเออน์ มีลักษณะเป็นกิเลสตัณหาในการยึดอยู่กับชีวิตเท่านั้นโดยไม่ได้คำนึงถึงคุณภาพของชีวิต แต่เจตจำนงของนิตเช่เป็นเจตจำนงที่จะมีอำนาจ ซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์ของชีวิต ที่ผลักดันให้ชีวิตมีการพัฒนารูปแบบของชีวิตให้ดีขึ้นและสูงขึ้นไปซึ่งไฮเดกเกอร์นักปรัชญาที่ยิ่งใหญ่ของเยอรมันในสมัยต่อมา ได้วิเคราะห์และอธิบายว่า เจตจำนงสู่พลังอันยิ่งใหญ่ของนิตเช่ เป็นพลังที่มีสารัตถะในตัวของมันเอง และเป็นพลังที่สร้างสรรค์ในตัวมันเองไม่ได้เป็นพลังที่รับมาจากสิ่งเหนือธรรมชาติหรืออำนาจจากภายนอก

นิตเช่ ได้เขียนถึงเจตจำนงที่จะมีอำนาจเป็นครั้งแรกในงานที่ชื่อว่า Daybreak หรือ The Down ในหนังสือเล่มนี้นิตเช่ได้อธิบายว่า เจตจำนงที่จะมีอำนาจ เป็นแรงขับหรือแรงกระตุ้นทางธรรมชาติที่สำคัญของมนุษย์ในการดิ้นรนเพื่อที่จะให้ตนเองมีชีวิตอยู่รอด ซึ่งแรงขับทางธรรมชาติที่ว่านี้ ให้มนุษย์สามารถทำสิ่งที่ยิ่งใหญ่ในชีวิตขึ้นมาได้ และแรงขับนี้มีความเกี่ยวข้องกับความสุขของมนุษย์ด้วย อย่างไรก็ตาม โดยทั่วไปคนส่วนใหญ่มักจะเข้าใจว่าเจตจำนงที่จะมีอำนาจคือ เจตจำนงหรือแรงกระตุ้น เพื่อไปสู่อำนาจเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ซึ่งอำนาจในที่นี้มักจะเป็นอำนาจทางการเมือง ซึ่งเป็นอำนาจของผู้ที่แข็งแรง ที่ต้องการปกครองผู้ที่อ่อนแอกว่า หรืออำนาจที่จะได้มาซึ่งความสำเร็จและชื่อเสียงเกียรติยศ แต่สำหรับทัศนะที่แท้จริงของนิตเช่เกี่ยวกับเจตจำนงที่จะมีอำนาจ หรือ The Will to Power มีความหมายลึกซึ้งมากกว่านั้น โดยจะเห็นได้จากหนังสือเรื่อง Thus Spoke Zarathustra ในบทที่กล่าวถึงการเอาชนะตนเอง

ซึ่งนิตเช่กล่าวถึงเจตจำนงที่จะมีอำนาจ คือความจริงสูงสุดซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์และเป็นแรงกระตุ้นพื้นฐานของชีวิตมนุษย์ นิตเช่กล่าวว่ามนุษย์ทุกคนมีความต้องการที่จะมีพลังอำนาจเหนือคนที่อ่อนแอกว่า แต่พวกที่มีเจตจำนงที่จะมีอำนาจ ที่แท้จริงจะเป็นพวกที่ต้องการจะเอาชนะตนเองเพื่อที่จะมีการพัฒนาตนเองเพื่อนำไปสู่การมีพลังอำนาจอย่างแท้จริง การเอาชนะตนเองเช่นนี้เอง ก็คือ พลังที่พัฒนาผลักดันให้มนุษย์ก้าวไปสู่จุดหมายที่สูงกว่า และไกลกว่าความต้องการในระดับธรรมดา นิตเช่เน้นว่าการไปสู่มนุษย์ที่สมบูรณ์อย่างแท้จริงจะขาดเจตจำนงที่จะมีอำนาจ ซึ่งเป็นพลังสร้างสรรค์ตามธรรมชาติในมนุษย์ทุกคนไม่ได้

ดังนั้น เจตจำนงที่จะมีอำนาจ จึงไม่ใช่พลังหรือแรงกระตุ้นในการปรารถนา หรือความต้องการถึงชื่อเสียง เงินทอง แต่เป็นกระแสพลังที่ดิ้นรนต่อสู้และผลักดันมนุษย์ ให้พยายามเอาชนะอุปสรรคที่ขัดขวางทั้งมวลไม่ว่าจะเป็นนิสัยส่วนตัว ตลอดจนไปถึงขนบธรรมเนียม ประเพณี เพื่อให้มนุษย์พัฒนาไปสู่ความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แท้จริงด้วยตัวเอง เพื่อสร้างโลกที่ดีกว่าเดิมได้



นิจวัฏฎ์ (The Eternal Recurrence)

นิจวัฏฎ์ หรือการเวียนว่ายตายเกิดของชีวิตอย่างเป็นนิรันดร์ เป็นแนวคิดหนึ่งที่สำคัญของนิตเช่ จะเห็นได้จากใน Twilight of the Idols นิตเช่ได้ประกาศว่าตนนั้นเป็นสาวกคนสุดท้ายของนักปรัชญาไดโอนีซุส และเป็นผู้สอนเรื่องนิจวัฏฎ์โดยแนวคิดเรื่องนิจวัฏฎ์เป็นแนวคิดพื้นฐานจากงานเรื่อง Thus Spoke Zarathustra ยกตัวอย่างเช่น ในตอนที่มีชื่อว่า On the Vision and the Riddle โดยซาราทุสตราได้กล่าวว่า “ปัจจุบันคือจุดบรรจบของอดีตและอนาคตที่ไม่มีที่สิ้นสุด และจากประตูแห่งปัจจุบัน ขณะทางจะทอดยาวถอยหลังไปไม่มีที่สิ้นสุดและไม่ว่าอะไรก็ตามที่สามารถเดินทางได้ก็ย่อมต้องผ่านเส้นทางนี้มาก่อน และทุกสิ่งที่เกิดขึ้นย่อมต้องผ่านมาก่อนแล้วทั้งสิ้น”

หรือในตอนที่ชื่อว่า Convalescent ที่ซาราทุสตรากล่าวถึง การดำรงอยู่ของมนุษย์ว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจและน่าสะอิดสะเอียน แต่การดำรงอยู่ของมนุษย์นี้ก็จะเกิดขึ้นอีกซ้ำ ๆ ชั่วนิรันดร์ และโชคชะตาจะกำหนดให้ซาราทุสตราเป็นผู้สอนในเรื่องนิจวัฏฎ์ตลอดไป ถ้าจะกล่าวอย่างคร่าว ๆ นิจวัฏฎ์ก็คือความจริง ไม่ว่าอะไรก็ตามที่เกิดขึ้นได้เคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายครั้งไม่ถ้วน และจะเกิดขึ้นซ้ำเดิมอีกในเวลานับไม่ถ้วนอย่างไม่มีที่สิ้นสุดโดยจะเป็นเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นอยู่ในปัจจุบัน

นิจวัฏฎ์ จึงเป็นการแสดงถึงความเชื่อของนิตเช่ที่ว่า ชีวิตมนุษย์ในทุกขณะจะกลับมาซ้ำเดิมชั่วนิรันดร์ในเรื่อง The Gay Science ในตอน The Greatest stress เขาได้กล่าวว่า การที่มนุษย์รู้ว่าการดำรงชีวิตในปัจจุบันนี้ ได้เคยดำรงเช่นนี้มาก่อน และมนุษย์จะดำรงชีวิตเช่นนี้อีกตลอดไปนับไม่ถ้วน ไม่มีสิ่งใดในชีวิตที่เปลี่ยนแปลงไป เพราะทุกสิ่งที่เกิดกับชีวิตไม่ว่าจะเป็นความเจ็บปวดทรมานหรือความสุขหรือความคิด แม้กระทั่งสิ่งที่ยิ่งใหญ่ที่สุดหรือสิ่งที่เล็กน้อยที่สุด ทุก ๆ หนที่เคยผ่านมาในชีวิต ก็จะหวนกลับมาเกิดกับมนุษย์แต่ละคนต่อไปอีกครั้งเรื่อยไป ไม่เว้นแม้กระทั่งธรรมชาติที่แวดล้อมตัวมนุษย์อยู่ในขณะนั้นก็ตาม และสิ่งเหล่านี้นี่เองที่เปรียบเสมือนแรงบีบคั้นอันยิ่งใหญ่ ที่จะทำให้มนุษย์เปลี่ยนแปลงการใช้ชีวิตในปัจจุบันของตนให้ดีขึ้น หรือทำลายตนเองได้

ดังนั้น ในแง่หนึ่งแนวคิดเรื่องนิจวัฏฎ์ เป็นการสะท้อนภาพของความรู้สึกสะอิดสะเอียนและหวาดกลัว เมื่อมนุษย์รู้ว่าการซ้ำรอยเดิมชั่วนิรันดร์จะนำบรรดาคนที่อ่อนแอน่าเบื่อหน่ายกลับมาเกิดอีกนับครั้งไม่ถ้วน หรือการยอมรับในโชคชะตาที่ถูกกำหนดมาล่วงหน้า ซึ่งผูกพันในการยืนยันที่จะมีชีวิตอยู่

การที่นิตเช่เสนอความคิดเช่นที่กล่าวมา ก็เพราะเขาต้องการเปลี่ยนทัศนคติในการดำรงชีวิตของมนุษย์ เพราะเมื่อมนุษย์รู้ว่าชีวิตอย่างที่เป็นอยู่นั้นไม่มีวันจบสิ้น ก็จะทำให้มนุษย์กลับมาให้ความสำคัญกับชีวิตในโลกนี้มากขึ้น ความคิดในเรื่องนี้จึงเป็นการสนับสนุนความคิดเรื่องการให้คุณค่าใหม่ของเขานั่นเอง การที่ต้องมีการตีคุณค่าทางศีลธรรมเสียใหม่ เนื่องจากนิตเช่ต้องการยกย่องชีวิตของคนในโลกนี้ เพราะไม่มีโลกหน้าให้แก้ตัวให้ดีขึ้น และไม่มีสวรรค์ให้หลบหนีไปเมื่อสิ้นชีวิต มนุษย์จึงต้องต่อสู้ดิ้นรนให้เป็นคนดีที่สุดด้วยตัวเองโดยไม่ต้องพึ่งอำนาจของพระเจ้า หรือกฏเกณฑ์ของสังคม

คำสอนเรื่องนิจวัฏฎ์ จึงเป็นการเน้นความสำคัญสูงสุดของการเป็นตัวของตัวเองในโลกนี้ เพราะมนุษย์จะต้องตัดสินใจทั้งหมดด้วยตนเอง ในทุก ๆ สิ่งที่ตนกระทำ ดังนั้นก่อนกระทำสิ่งใดก็ตาม มนุษย์จะตอบตนเองได้ว่า ยินดีจะกระทำให้สิ่งเหล่านี้ จะเกิดขึ้นซ้ำกับชีวิตของตนอีกอเนกอนันต์หรือไม่ นอกจากนี้ที่สำคัญที่สุดก็คือมนุษย์ควรยินดีในโชคชะตาทุก ๆ อย่างที่เกิดกับชีวิตถึงแม้ว่าตนจะต้องทำสิ่งเดิมอีกชั่วนิรันดร์ก็ตาม นิตเช่ได้กล่าวถึงความรักในชะตากรรมหรือAmor Fati ซึ่งเป็นการยืนยันสูงสุด ในการยอมรับในชะตากรรมและต่อชีวิตทั้งหมด

Amor Fati จึงเป็นสูตรแห่งความยิ่งใหญ่ของมนุษยชาติ นั่นคือ การรักในชีวิตในโลกนี้โดยไม่รังเกียจหรือกลัวโลก มนุษย์จึงไม่ควรปรารถนาสิ่งที่ไม่ได้มีอยู่ในปัจจุบัน และอนาคตเพราะมนุษย์จะต้องมีชีวิตอยู่อย่างที่ตนตั้งความปรารถนาที่จะมีชีวิตอยู่เหมือนเดิม ซึ่งจะเห็นได้อย่างชัดเจนใน Thus Spoke Zarathustra ตอน The Seven Seals ที่ซาราทุสตราได้พรรณาว่า เขารักความเป็นนิรันดร์ (For I love you, O eternity!) นั่นเอง

กล่าวโดยสรุปคือ นิตเช่ถือว่าทรรศนะเรื่องนิจวัฏของเขาเป็นแนวความคิดที่สำคัญที่สุด โดยกล่าวว่าทรรศนะนี้เป็น “ความคิดแห่งความคิดทั้งหลาย” และเป็น “แนวคิดที่ยิ่งใหญ่ที่สุด” ในกระบวนความคิดทางปรัชญาของเขาทรรศนะเรื่องนิจวัฏก็คือ ทรรศนะที่เชื่อว่าชีวิตของแต่ละคนรวมทั้งการผันแปรทุกอย่างของโลก จะหมุนเวียนซ้ำรอยเดิมทุกประการอย่างไม่มีสิ้นสุดแนวคิดในการอธิบายโลกเช่นนี้เองที่นิตเช่ถือว่าเป็น “สมมติฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ที่สุดในบรรดาสมมติฐานที่เป็นไปได้ทั้งหมด” แต่ปรากฏว่าในตัวสมมติฐานที่เป็นวิทยาศาสตร์ของนิตเช่นี้เองก็ยังมีความคลุมเครืออยู่มาก และการพิสูจน์ทรรศนะนี้ก็ยังไม่เป็นที่ยอมรับว่าถูกต้องน่าเชื่อถือจากนักวิทยาศาสตร์ทั่วไป ดังนั้น ความสำคัญของทรรศนะเรื่องนิจวัฏที่มีต่อนิตเช่จึงไม่น่าจะอยู่ว่า ทรรศนะนี้เป็นแนวทางอธิบายโลกและเอกภพเพียงอย่างเดียวหากแต่อยู่ที่ความสัมพันธ์ระหว่างทรรศนะนี้กับแนวทางการวิจารณ์จริยศาสตร์ของเขาเองมากกว่า ทรรศนะเรื่องนิจวัฏในฐานะเป็นทฤษฏีทางจักวาลทางวิทยา ได้อธิบายเอกภพในลักษณะที่หมุนเวียนเป็นวงจรซ้ำรอยเดิม การอธิบายเช่นนี้เองเป็นการยืนยันว่า โลกที่มีอยู่จริงนั้นมีเพียงโลกที่ปรากฏให้เห็นเท่านั้น ไม่มีโลกอื่นที่อยู่เหนือประสบการณ์ของมนุษย์ การยืนยันว่าประสบการณ์เท่านั้นที่เป็นจริงเช่นนี้ ย่อมนำไปสู่การปฏิเสธสิ่งที่เป็นพื้นฐานสำหรับศีลธรรมแบบเก่า เช่น “โลกที่แท้จริง” ตัวตน เจตจำนงเสรี พระเจ้า ตลอดจนกระทั้ง ระบบศีลธรรมตายตัว และทำให้มาตรฐานทางคุณค่าที่นิตเช่เสนอ คือ มาตรฐานแห่งอำนาจ กลายเป็นมาตรฐานทางคุณค่าเพียงมาตรฐานเดียวที่ควรแก่การยอมรับแทนคุณค่าแบบเก่า ทรรศนะเรื่องนิจวัฏซึ่งนำไปสู่การปฏิเสธพระเจ้าและศีลธรรมตายตัวแบบเดิมนี้เองทำให้ต้องปฏิเสธความหมายของโลกที่เคยยึดถือกันมาแต่เดิม และจัดเป็นลัทธิสุญนิยมจัดที่สุดรูปแบบหนึ่ง

แนวความคิดแบบลัทธิทำลายล้างนี้ นิตเช่เชื่อว่าก่อให้เกิดวิกฤติทางคุณค่าขึ้นและกระตุ้นให้มนุษย์เรา โดยเฉพาะพวกที่แข็งแกร่ง ค้นให้คุณค่าใหม่ที่เหมาะสมกับตน โดยเป็นอิสระจากคุณค่าแบบเดิมที่เคยผูกมัดสัญชาตญาณตามธรรมชาติของเขาไว้ เมื่อพวกที่เข้มแข็งได้กลับคุณค่าใหม่แล้ว พวกเขาก็สามารถคืนสู่ความเป็นตัวของตัวเอง กลับคืนมาสู่สัญชาตญาณตามธรรมชาติของเขา รวมทั้งกลับคืนสู่ความเป็นธรรมชาติของโลก แต่การกลับคืนสู่ธรรมชาติดั้งเดิมเท่านั้นยังไม่เพียงพอ เพราะว่าทรรศนะเรื่องนิจวัฏสอนว่ามนุษย์จะต้องเผชิญกับชีวิตแบบเดิมซ้ำแล้วซ้ำเล่าจนชั่วนิรันดร ดังนั้นผู้ที่มีความแข็งแกร่งย่อมจะต้องพบกับนิรันดรภาพของตนเองอย่างที่ตนพอใจที่สุด นั่นคือ เขาจะต้องเป็นผู้สร้างคุณค่าและกฎเกณฑ์สำหรับตนเอง สร้างสรรค์ตนเองให้สมบูรณ์ที่สุดในทุกๆด้าน และก้าวข้ามจากความเป็นมนุษย์ธรรมดาไปสู่ความเป็นผู้เหนือมนุษย์ และโดยนัยกลับกัน ผู้ที่เป็น “อภิมนุษย์” ย่อมต้องการตัวเองในแบบเดิมไม่เปลี่ยนแปลง เขาย่อมต้องการนิรันดรภาพเพราะความสุขที่เขาได้รับในชีวิตที่เขาเองเป็นผู้สร้างสรรค์ขึ้นมา และถึงแม้ว่าชีวิตของเขาจะมีความทุกข์ทรมานอยู่ด้วยก็ตาม แต่เขาก็ยังคงยืนยันชีวิตในแบบเดิมนี้ เพราะเขารู้ความสุขที่เขาได้รับไม่อาจแยกออกจากความทุกข์ที่เขารู้จัก

ดังนั้น อภิมนุษย์ ซึ่งนิตเช่เรียกในนาม “ไดโอนีซุส” นั้นจึงเป็นผู้ที่ยืนยันในชีวิตอย่างสูงสุด เพราะเขาไม่เพียงแต่เป็นผู้ยอมรับชีวิตไม่ว่าทุกข์หรือสุขในปัจจุบันนี้เท่านั้น แต่เขายังปรารถนาชีวิตแบบเดียวกันนี้ซ้ำแล้วซ้ำเล่าไปจนชั่วนิรันดร นิตเช่เรียกความปรารถนาเช่นนี้ว่า ความรักในชะตากรรม



การให้คุณค่าในทัศนะของนิตเช่

สำหรับนิตเช่แล้วนั้น อะไรคืออุดมคติสูงสุดหรือคุณค่าที่ควรเลือกของชีวิต เขาอธิบายว่า “เจตจำนงที่จะมีอำนาจ” คือจุดหมายสูงสุดของชีวิตและเป็นเจตจำนงเดียวเท่านั้นที่สำคัญที่สุดที่ทุกชีวิตปรารถนาและพยายามดิ้นรนเพื่อสิ่งนี้ เจตจำนงที่จะมีอำนาจของนิตเช่จึงเป็นสิ่งมีค่าในตัวเอง(Intrinsic value) ทุกคนทำอะไรต่อมิอะไรก็เพื่อสิ่งนี้ที่เป็นจุดหมายสุดท้าย ไม่ว่าพวกเขาจะมีสถานภาพทางสังคมอย่างไรก็ตาม วิธีการเข้าถึงนั้นอาจมีความแตกต่างกันแต่มีจุดหมายเดียวกันนั้นคือเจตจำนงที่จะมีอำนาจ แม้บางอย่างหรือบางการกระทำโดยทั่วไปอ้างหรือมองว่าไม่ได้มุ่งหวังเพื่อสิ่งนี้ แต่นิตเช่คิดว่าจริง ๆ แล้วเขาปกปิดความปรารถนานี้ไว้ สิ่งที่ทุกผู้คนกระทำไปล้วนมีเจตจำนงที่จะมีอำนาจทั้งสิ้น และความรู้สึกถึงอำนาจของมนุษย์นี่เองเป็นบ่อเกิดแท้จริงของการให้คุณค่าทางศีลธรรมในทัศนะของนิตเช่ โดยเขาได้สะท้อนภาพของคนที่สถานะภาพแตกต่างกัน มีมุมมองการดำเนินชีวิตต่างกัน แต่กระนั้นมีเจตจำนงที่จะมีอำนาจเป็นแรงบังคับชีวิตเหมือนกันไม่ต่างกัน

ฉะนั้นกฎเกณฑ์การตัดสินทางศีลธรรมจึงไม่ได้เกี่ยวข้องกับอะไรนอกเสียจากอำนาจ นิตเช่อธิบายความตรงนี้ว่า โดยทั่วไปตามที่คนส่วนใหญ่มักเข้าใจคิดว่ากฎเกณฑ์การตัดสินศีลธรรมเป็นเรื่องของประโยชน์ อะไรที่เป็นประโยชน์ก็ถือว่าดี กล่าวคือ ดีสำหรับผู้ได้รับประโยชน์ อันที่จริงแล้วดีไม่ได้มีที่มาจากการบอกของผู้ได้รับประโยชน์ แต่ดีมาจากการที่ผู้มีอำนาจเป็นกำหนดกรอบการจัดสินต่างหากว่าอะไรดี หรือไม่ดี ซึ่งนิตเช่ได้ย้อนกลับไปพิจารณาในประวัติศาสตร์แล้วได้ใจความว่า ดีเลวมาจากการกำหนดการเรียกขานโดยผู้มีอำนาจ มีวามเข้มแข็ง ถือว่าตนเป็นนาย มีสถานะเหนือกว่าอีกฝ่ายซึ่งมีสถานะเป็นไพร่ต่ำต้อยหรือทาส อ่อนแอ และมีอำนาจน้อยกว่า ดีจึงมีความหมายเป็นคำเรียกแทนลักษณะของนายผู้มีอำนาจ ผู้ดี สูงส่ง ส่วนเลว หมายถึง ทาส คนอ่อนแอไร้อำนาจ ลักษณะอันต่ำต้อย กรอบการตัดสินดีเลวจึงเป็นเรื่องของอำนาจ ใครเป็นผู้มีอำนาจมากกว่าผู้นั้นก็จะมีสิทธิกำหนดกรอบการจัดสินศีลธรรม

นิตเช่คิดว่าคำว่า “ดี” ไม่ได้มีมาจากคนทั่วไปหรือบุคคลผู้ได้รับประโยชน์ ในอันที่จริง ผู้ที่มีอำนาจ มีวามสูงส่ง หรือผู้ที่เป็นชนชั้นสูงต่างหากที่เป็นผู้กำหนดว่าอะไรดีเลว และการกำหนดนี้ก็ไม่ได้ดูจากผลประโยชน์ที่ตัวเองได้รับ ที่พวกเขาเห็นว่าตนเองมีสิทธิที่จะกำหนดคุณค่าเนื่องจาก พวกเข้าเห็นว่าตนเป็นนาย มีความเหนือกว่าคนอีกกลุ่มที่เป็นไพร่ต่ำต้อย จะเห็นว่านิตเช่ได้วิเคราะห์อยู่บนพื้นฐานความแตกต่างระหว่างสถานะทางสังคม

จากข้างต้น “ดี” หมายถึง คนขั้นสูง หรือ ผู้ดี (Noble) เต็มไปด้วยอำนาจ (Powerful) สูงส่ง (Superior) และจิตใจสูงส่ง (High-minded) ตรงข้ามกับคำว่า “เลว” ที่มีความหมายทุกอย่างจัดอยู่ในระดับล่าง อาทิ ชนชั้นต่ำ (Low) จิตใจต่ำ (Low - minded) สามัญชน หรือไพร่ (Common) ทาส (Plebeian) ดังนั้นจึงเห็นได้ว่า “ดี” ไม่ได้มีความสัมพันธ์อะไรกับการไม่เห็นแก่ประโยชน์ส่วนตนเลย ความเห็นว่าดีมีนัยยะเชิงปรัตถะนิยมนั้นเกิดขึ้นเมื่อการให้คุณค่าแบบชนชั้นสูงหมดอิทธิพลและการให้คุณค่าแบบไพร่เข้ามาแทนที่ต่างหาก หรืออีกนัยหนึ่ง มันเกิดจาก “สัญชาตญาณการเข้าฝูง” (Herd instinct) ที่ยึดถือตามมติชนเสียงข้างมากของสังคมซึ่งก่อให้เกิดความเข้าใจผิดพลาด

นั่นคือต้นกำเนิดของการแบ่งระหว่าง ดี และ เลว (สิทธิอันชอบธรรมของผู้เป็นนายในการกำหนดชื่อเรียกนั้นได้ขยายความออกไปจนถึงขั้นที่ทำให้เข้าใจได้ว่าต้นกำเนิดของกฎเกณฑ์ในตัวมันเองนั้นเป็นการแสดงออกของอำนาจของผู้ปกครอง กล่าวคือ พวกเขาจะกล่าวว่า ‘สิ่งนี้เป็นอย่างนั้นและอย่างนั้น’ พวกเขาประทับตราบนแต่ละสิ่งแต่ละเหตุการณ์ด้วยเสียงเรียก และในกระบวนการนี้ก็ถือว่าได้เข้าครอบครองกฎเกณฑ์ของสังคมแล้ว) จากต้นกำเนิดที่ว่านี้ความสัมพันธ์ระหว่างคำว่า ‘ดี’ และการกระทำไม่เห็นแก่ตัว ไม่ได้มีวามสัมพันธ์กันมาแต่แรกเริ่ม ดังที่หลาย ๆ คนหลงเชื่อถืองมงายกันมา เมื่อการตัดสินคุณค่าของขนขั้นสูงเสื่อมถอยลง ความสัมพันธ์ระหว่าง ‘เห็นแก่ตัว’ และ ‘ไม่เห็นแก่ตัว’ จึงได้ประกาศตัวเองอยู่ในมโนธรรมของมนุษย์เพิ่มขึ้นและเพิ่มขึ้นเรื่อยมา หากเรียกตามความหมาย มันคือสัญชาตญาณการเข้าฝูง กระนั้นก็ดี ต้องใช่ระยะเวลายาวนานก่อนที่การตัดสินคุณค่าจะติดยึดและฝังแน่น

ตามมโนทัศน์ของนิตเช่ในเชิงประวัติศาสตร์เขาได้ให้ภาพตัวแทนลักษณะนายและทาส นายหมายถึงโรมันซึ่งเป็นชาตินักรบที่แกร่งกล้า เข้มแข็ง มีอำนาจมาก เป็นผู้ปกครองเหนือชนชาติต่างๆที่อ่อนแอด้อยกว่าตน ตรงข้ามกับทาส ผู้อ่อนแอไร้อำนาจ ซึ่งนิตเช่หมายถึงพวกยิวผู้ตกอยู่ใต้อาณัติการปกครองของพวกโรมันผู้เป็นนาย โดยที่นายมีลักษณะเปิดเผยตนเองกล้ายืนยันชีวิตตนเอง ไม่ปฏิเสธตัวเอง ซึ่งตรงข้ามกับทาสผู้หวาดกลัว ปฏิเสธตนเองและหลีกหนีชีวิต

นิตเช่คิดว่าดีเลวเป็นการกำหนดคุณค่าที่มีมาก่อนแต่เริ่มแรกโดยพวกนายที่มีอำนาจเหนือกว่ามาก่อน แต่ต่อมาอำนาจของพวกนายหมดอิทธิพลลง การกำหนดคุณค่าของพวกทาสถึงได้ก้าวเข้าเข้ามามีบทบาทแทนที่ฐานะเป็นศีลธรรมเบื้องต้นของสังคมมนุษย์และครอบงำอารยธรรมเรื่อย ๆ จนมาถึงยุคปัจจุบัน ซึ่งเป็นการให้คุณค่าทีหลังโดยพวกทาส จากการนิยาม “ดี-เลว” แบบนาย พวกทาสได้อธิบายคุณค่าแบบกลับหัวกลับหาง กลายเป็น “ดี-ชั่ว” กล่าวคือลักษณะสูงส่งที่ถือว่า “ดี” พวกทาสนิยามให้คุณค่าใหม่ว่านั่นคือ “ชั่ว” และลักษณะพื้น ๆ ต่ำช้าของทาสที่นายถือว่า “เลว” พวกทาสเห็นว่านั่นแหละคือ “ดี”ในความหมายของพวกเขา

การให้คุณค่าใหม่โดยพวกทาสบ่งชี้ถึงความต้องการเป็นนาย ปรารถนาอำนาจเหนือฝ่ายตรงข้าม แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเนื่องจากพวกเขาอ่อนแอไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะแสวงหาอำนาจด้วยวิธีการเช่นเดียวกับพวกนาย พวกทาสจึงคิดค้นกลวิธีใหม่โดยใช้ การกลับข้างคุณค่าของพวกนาย กล่าวโทษสิ่งที่อยู่ตรงข้ามกับตน ขณะเดียวกันก็ปรับกระบวนความคิดใหม่ยกย่องสิ่งที่ตนเป็นอยู่แทนที่ ซึ่งเป็นวิธีที่พวกเขาถนัดเพราะเป็นธรรมชาติ นิสัย ความเคยคิดของเขาอยู่แล้ว ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่การส่งเสริมแนวคิดที่ปฏิเสธตนเองให้มีบทบาททางความคิดครอบงำสังคม ถือเป็นการปฏิวัติทางศีลธรรม เปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จากดำเป็นขาว จากความไม่มีเหตุผลสู่วามมีเหตุผล เป็นแนวคิดทางศีลธรรมอันดีงามดังที่เรารับเป็นกฎเกณฑ์ใช้กันทั่วไปในปัจจุบัน

นิตเช่เรียกว่าเป็น “การปฏิวัติของทาสในทางศีลธรรม” (Slave revolt in moral) นิตเช่ระบุว่าพวกยิวทาสต่ำทรามใช้วิธีการนี้ปลดปล่อยตัวเองให้เป็นอิสระจากอำนาจการกดขี่ของพวกโรมันที่เป็นนายได้สำเร็จ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเผยแผ่ศาสนาคริสต์ ผลที่ตามมาคือแนวคิดปรัตถนิยม การปฏิเสธตัวเอง การเสียสละตัวเอง การละเว้นใช้กำลังความรุนแรงโหดร้ายตามสัญชาตญาณดิบของมนุษย์แบบนาย กลายเป็นคุณค่าพื้นฐานหลักที่มีอิทธิพลต่อการตัดสินการกระทำทางศีลธรรมของมนุษย์ในสังคมตะวันตกจนกระทั่งปัจจุบัน โดยผ่านทางการสั่งสอนคุณค่าแบบคริสเตียน

อย่างไรก็ตามนิตเช่คิดว่าการจับพระเยซูตรึงบนไม้กางเขนโดยพวกยิวไม่ได้มีนัยแสดงออกถึงความรักของคริสเตียนตามที่เชื่อถือกัน นิตเช่เห็นว่าจริง ๆ แล้วมันเป็นการแสดงออกถึงความเกลียดชังแฝงต่อนายโรมันผู้มีอำนาจปกครองเหนือพวกเขา ฉะนั้นแนวคิดปฏิเสธตัวเอง เสียสละตัวเอง มีใจกรุณา จึงมาจากความคับแค้นใจ เคียดแค้นชิงชัง อยากแก้แค้นศัตรูของผู้มีอำนาจน้อยต่างหาก แต่ไม่อาจแสดงออกได้โดยตรงต้องเก็บกดและผิดบังไว้ นิตเช่เรียกความรู้สึกนี้ว่า “ความขุ่นเคืองใจ” (Resentment) จากจุดเริ่มต้นการปฏิวัติการปฏิบัติทางศีลธรรมของทาสให้ครอบงำอารยธรรมเป็นผลสำเร็จนี่เอง ทำให้แนวคิดจริยปรัชญาทั้งหลายของสังคมตะวันตกต่อมาภายหลังได้รับอิทธิพลบางอย่างจากศีลธรรมแบบคริสเตียนไป นิตเช่เห็นว่าเป็นเรื่องของผู้มีอำนาจต่างหาก หรืออย่างความคิดของค้านท์ ที่นิตเช่ได้วิจารณ์ถึงเรื่องที่คนมุ่งให้ความสนใจตามกระแสนี้ (ค่าแบบคริสเตียน) อยู่ในเรื่องการให้สัญญา ความสามารถที่จะกำหนดตัวเอง มโนธรรม ความยุติธรรม และการลงโทษ เป็นต้น



พัฒนาการและการจำแนกศีลธรรม

นิตเช่อธิบายโครงสร้างพื้นฐานของสังคม โดยเขาเห็นว่าหน่วยชีวิตแต่ละหน่วยมีความแตกต่างกันและไม่เสมอภาค แต่ละหน่วยล้วนดิ้นรนต่อสู้เพื่อความอยู่รอด เป็นเงื่อนไขของการดำรงอยู่ของกฏธรรมชาติ สอดคล้องกับทฤษฎีเชิงชีววิทยาของดาร์วิน ว่าด้วยทฤษฎีการคัดเลือกโดยธรรมชาติ กล่าวว่า “ผู้ที่เหมาะสมที่สุดจึงจะอยู่รอด” หรือ ตามที่โชเปนฮาวเออร์ เชื่อว่ามีเจตจำนงอย่างเดียวเท่านั้นคือ “เจตจำนงที่จะมีชีวิต” (Will to life) นิตเช่เห็นว่าแรงผลักดันเหล่านี้ไม่เพียงพอ ยังมีแรงผลักดันอื่นที่เหนือกว่าเพียงการดำรงเพื่อจะดำรงอยู่ หรือ มีโอกาสที่จะได้รับการคัดเลือก มันเป็นแรงผลักดันภายในที่อธิบายวามรู้สึกถึงอำนาจของตนเอง การมีสิทธ์ที่จะยืนยันตนเอง นิตเช่เรียกแรงผลักดันที่เหนือกว่านี้ว่า “เจตจำนงที่จะมีอำนาจ”(Will to power) ถือเป็นสารัตถะแห่งชีวิต เป็นเจตจำนงเดียวเท่านั้นที่ทุกสิ่งปรารถนาและอยู่เบื้องหลังทุกอย่างในธรรมชาติ เจตจำนงที่จะมีอำนาจของแต่ละสิ่งมีอำนาจมากน้อยไม่เท่ากัน ขึ้นอยู่กับความหมายของหน้าที่และผลประโยชน์ส่วนตัว มนุษย์เองก็เช่นกันถือเป็นหน่วยชีวิตรูปแบบหนึ่งที่มีความภูมิใจและรู้สึกถึงกำเนิดที่สูงกว่าอยู่เหนือสัตว์อื่น คำว่า “มนุษย์” แสดงถึงการรับรู้ตนเอง การมีอยู่ของตนเอง เป็นผู้ประเมินคุณค่า ให้และกำหนดคุณค่า กล่าวได้ว่ามนุษย์คือมาตรวัด (Measuring animal) ถือเป็นการตระหนักถึงอำนาจของมนุษย์เองเบื้องต้น

ศีลธรรมแบบนายและศีลธรรมแบบทาส

นิตเช่แบ่งระบบศีลธรรมพื้นฐานออกเป็น 2 ประเภท คือ ศีลธรรมแบบนาย (Master morality) และศีลธรรมแบบทาส (Slave morality) โดยการสังเกตเห็นถึงความแตกต่างระหว่างชนชั้นและอำนาจของกลุ่มนในสังคม

ศีลธรรมแบบนาย

ศีลธรรมแบบนาย “นาย” หมายถึง ผู้ปกครอง ผู้มีอำนาจ นักรบ ผู้ดี ชนชั้นสูง ผู้มีฐานะมั่งคั่ง สมบูรณ์พูนสุข ผู้ที่เข้มแข็งกว่า ผู้ที่มีสถานะเหนือกว่า สูงส่ง และมีคุณลักษณะมาจากการตีความหมายของคำว่า “ดี” ซึ่งตรงข้ามจากการตีความหายของคำว่า “เลว” อันเป็นคุณลักษณะของทาส กล่าวโดยรวมแล้วนายมีภาพลักษณ์ในด้านต่าง ๆ ที่เต็มไปด้วยอำนาจ มีความเข้มแข็ง เป็นผู้ที่เหนือกว่าทาสทุกประการทั้งในแง่จิตและกาย ซึ่งพวกนายจะพบเห็นได้อยู่ในสังคมว่าเป็นชนส่วนน้อย วิถีการดำเนินชีวิตของนายเน้นการดำรงอยู่แบบปัจเจกบุคคล กระทำเพื่อผลประโยชน์ส่วนตัวเป็นหลัก กล้ายืนยันตัวเอง ไม่ปฏิเสธหลีกหนีชีวิต เชื่อมั่นในอำนาจตัวเอง เป็นตัวของตัวเอง มีลักษณะเปิดเผย และตั้งมั่นอยู่ในความสัตย์ซื่อต่อตนเอง พึงพอใจในตัวเอง มีความสุขจากการเป็นผู้กระทำ(Active) และเป็นความสุขปัจจุบัน นายจะใช้ชีวิตอยู่กับปัจจุบัน ซึ่งต่างจากทาส ที่เห็นว่าการอยู่เฉย เฉื่อยชาทางกาย และอารมณ์เป็นความสุข ฉะนั้นทาสจึงมีความสุขจากการไม่ริเริ่มกระทำ (Passive) ทาสขาดความพึงพอใจในตัวเอง ชอบหลอกลวง ปิดบังตัวตน เน้นคำสอนการเสียสละตนทำเพื่อส่วนรวม

“สิ่งนี้สืบทอดมาแต่โบราณกาล การประเมินคุณลักษณะที่สูงส่งกว่าของผู้ปกครอง ซึ่งไม่ปฏิเสธตัวเอง การได้รับการอบรมเลี้ยงดูที่ดีรู้สึกว่าตัวเอง เป็นผู้ ‘โชคดี’ พวกนายจะไม่อธิบายถึงความโชคดีของตนอย่างจอมปลอมด้วยวิธีมองไปยังศัตรู เพื่อชักจูงให้ตนเองเชื่อว่าดีกว่า เพื่อทำให้ตนเองเชื่อด้วยการโกหก(ดั่งที่มนุษย์ยุคสุดท้ายนิยมทำ) เช่นกัน ในฐานะคนที่พัฒนาเต็มที่แล้ว มีพละกำลัง และจึงเป็นคนกระตือรือร้น พวกเขารู้ว่าไม่ควรแยกการกระทำออกจากความสุข ด้วยว่าการกระทำ สำหรับพวกเขาแล้วถือว่าเป็นส่วนหนึ่งของความสุข ทั้งหมดนี้ตรงกันข้ามกับ ‘ความสุข’ ในความเข้าใจของชนชั้นผู้ไร้อำนาจ ถูกกดขี่ ผู้เป็นอักเสบด้วยความรู้สึกเป็นศัตรูอันเป็นพิษ สำหรับคนเหล่านี้ความสุขเป็นความมึนเมา สลบไสล ความสงบ สันติ การหยุดพัก นั่นคือการไม่ทำอะไรนั่นเอง ขณะที่มนุษย์ผู้สูงส่งมีชีวิตอยู่เพื่อตัวเขาเอง ตั้งอยู่ในความสัตย์และเปิดเผยตน มนุษย์ยุคสุดท้ายเป็นผู้ไม่มีความซื่อตรง และคดโกงเมื่อสมัพันธ์ติดต่อกับผู้อื่น อีกทั้งไม่ซื่อสัตย์และไม่เปิดเผยต่อตนเอง”

นิตเช่เชื่อว่าความเป็นสัตว์ผู้ล่ามีอยู่ในทุกเผ่าพันธุ์ รวมถึงมนุษย์โดยเฉพาะมนุษย์แบบนายที่เรียกตนว่าเป็นผู้สูงส่ง นิตเช่เปรียบเทียบลักษณะผู้ล่าของนายว่ามีลักษณะคล้ายกับสัตว์ป่ามีขนสีบลอนด์ หรือสิงโต (Blond beast) ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่เต็มไปด้วยวามสง่างาม ดุร้าย ท่องเที่ยวไปด้วยวิญญาณของนักล่า เจือปนด้วยกิเลสความทะเยอทะยานอยาก เสาะแสวงหาอำนาจ การครอบครองเป็นเจ้าของ และชัยชนะ อันเป็นแก่นความต้องการของสัตว์โลกที่ต้องปลดปล่อยออกมา ความต้องการเหล่านี้ถูกเก็บกดไว้เมื่อการให้คุณค่าแบบทาสครอบงำอารยธรรม ทำให้มนุษย์ไม่แตกต่างไปจากสัตว์เลี้ยงเชื่อง ๆ ตัวหนึ่ง สูญเสียวามสง่างาม นิตเช่เห็นว่ามนุษย์ต้องเผชิญกับความจริง หวนกลับไปสู่ความดิบอันเป็นสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ เพื่อเรียกความสง่างามกลับคืนมาให้เป็นเฉกเช่นสิงโต ความต้องการดั้งเดิมของมนุษย์นี่มีอยู่ในทุกเผ่าพันธุ์ของมนุษย์ การเปลี่ยนให้เป็นมนุษย์เชื่อง ไม่ได้ช่วยให้มนุษย์มีศีลธรรมที่ดีขึ้น หากแต่เป็นการถดถอยของมนุษยชาติ ทำให้มนุษย์ขาดการเรียนรู้ที่จะนับถือตัวเองว่าเป็นจุดหมายและปลายทาง การยึดถือตนเองคือความถูกต้อง ตราบเท่าที่มนุษย์ปฏิบัติตนอย่างผู้สูงกว่า ไม่ปฏิเสธชีวิต

นิตเช่ได้ยกตัวอย่างลักษณะของเผ่าพันธุ์ผู้สูงส่งของมนุษย์ ได้แก่ ชาวโรมัน อาหรับ เยอรมัน ญี่ปุ่น เหล่าวีรบุรุษในตำนานของโฮเมอร์ พวกไวกิ้งแห่งคาบสมุทรสแกนดิเนเวีย ซึ่งมีคุณสมบัติสอดคล้องกับคำเรียกขานของพวกบาบาเรียน หรือพวกอนารยชน ผู้มีวามเข้มแข็ง ป่าเถื่อน และ ดุร้าย ฉะนั้นเผ่าพันธุ์ผู้สูงส่งของพวกนายสำแดงออกถึงวัฒนธรรม และการตระหนักในความภูมิใจในลักษณะสูงส่ง เต็มเปี่ยมด้วยอำนาจ เข้มแข็ง ดุร้าย และกล้าหาญของตน นิตเช่ยกตัวอย่างวลีที่มีชื่อเสียงยกย่องความกล้าหาญซึ่งจารึกบนป้ายหลุมศพของเพริเซล นักการเมืองชาวเอเธนส์ในศตวรรษที่5 ก่อนคริสตกาล เมื่อครั้งเขากล่าวแก่พลเมืองเอเธนส์ทั้งหลายว่า ไม่ว่าที่ใดก็ตามความกล้าหาญของเราจะทำให้เราเข้าถึงแผ่นดินและท้องทะเลเพื่อที่เราจะได้สร้างอนุสรณ์แห่งความดีและความชั่วร้ายไม่มีวันสิ้นสุด

กล่าวโดยรวมคือ ศีลธรรมนี้ไม่มีหลักตายตัว ความคิดของปัจเจกบุคคลหนึ่งคือกฏศีลธรรมของบุคคลนั้นเอง ไม่มีการยึดถือหลักเกณฑ์หรือกติกาหรือกฏทางศีลธรรมของใครเป็นบรรทัดฐานในการปฏิบัติตน ผู้ที่เข้มแข็ง มั่นใจในตัวเอง เป็นตัวของตัวเองทั้งความคิดและการปฏิบัติ จะเลือกยึดถืออุดมการณ์และการปฏิบัติจากการตรึกตรองจนเกิดความเชื่อมั่นโดยตนเองเท่านั้น คนที่มีศีลธรรมแบบนายจะมีความคิดที่เฉียบ มองอะไรจะมองตลอดสายและทะลุปัญหาที่มอง เมื่อเห็นปัญหาและหาทางแก้ปัญหาที่มองแล้วจะสร้างกฎศีลธรรมขึ้นมาเอง พร้อมกับลงมือปฏิบัติอย่างจริงจังทันที เพื่อให้บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ คนประเภทเป็นบุคคลอัจฉริยะมีความคิดหลักแหลมไม่เชื่อใครง่าย ๆ อย่างไร้เหตุผล จะเชื่อใครก็ต่อเมื่อได้ปฏิบัติตามคำแนะนำนั้นแล้วเห็นผลจริงอย่างชัดเจนจึงปลงใจเชื่อ สังคมมนุษย์และโลกเจริญรุ่งเรืองมาอย่างที่เป็นอยู่ปัจจุบันนี้ เพราะด้วยอำนาจความคิดและการปฏิบัติของคนที่มีศีลธรรมแบบนาย ถ้าปราศจากคนประเภทนี้แล้วสังคมมนุษย์ และโลกคงย่ำอยู่กับที่ คงจะไม่มีวิวัฒนาการอย่างในปัจจุบัน และบุคคลที่มีศีลธรรมแบบนายจะทำให้มนุษย์ชาติก้าวหน้าต่อไป

ศีลธรรมแบบทาส

ศีลธรรมแบบทาส ตรงกันข้ามโดยสิ้นเชิงกับศีลธรรมแบบนาย “ทาส” หมายถึง ผู้ที่ถูกปกครอง ชนชั้นต่ำ ไพร่ สามัญชน ต่ำ ผู้ที่ไร้ซึ่งอำนาจ และคุณลักษณะสอดคล้องตามความหมายของคำว่า “เลว” ทาสจึงเป็นสัญลักษณ์ของความอ่อนแอ ทั้งในแง่กายภาพและจิตใจ ซึ่งนิตเช่เรียกศีลธรรมแบบทาสอีกชื่อหนึ่งว่า “ศีลธรรมฝูง” (herd morality) คล้ายกับการรวมตัวของสัตว์ที่อยู่รวมกันเป็นฝูง เนื่องจากความกลัว รู้ว่าตนเองอ่อนแอ มีอำนาจน้อยจึงรวมตัวกันอยู่เป็นฝูงเพื่อป้องกันตัวเองและสร้างความรู้สึกปลอดภัย ซึ่งทาสนั้นมักพบเห็นจับกลุ่มรวมตัวกัน และเป็นชนส่วนใหญ่ของสังคม

ย้อนกลับไปพิจารณาประวัติศาสตร์สมัยกรีก-โรมัน ซึ่งนิตเช่ถือว่าเป็นรากฐานสำคัญของพัฒนาการวามคิดและวัฒนธรรมของสังมตะวันตกสมัยใหม่ ในทางการเมืองนั้นเมื่อชนชั้นปกครองที่ถือว่าเป็นผู้กำหนดคุณค่า ซึ่งมีบางส่วนที่ในขณะเดียวกันต้องทำหน้าที่รับผิดชอบอยู่ในฐานะเป็นผู้นำด้านจิตวิญญาณด้วย ทำหน้าที่มีลักษณะคล้ายพระ (Priestly asristocracy) ดังนั้นจึงเกิดการประดิษฐ์คิดอธิบายหน้าที่ของพระขึ้น ตัวอย่างเช่น คำว่า “บริสุทธิ์” และ “ไม่บริสุทธิ์” เป็นคำตรงข้ามกัน

แรกเดียวคำสองคำนี้มีวามหมายตรงไปตรงมา แคบ ไม่ได้แฝงสัญลักษณ์ คำว่า “บริสุทธิ์” หมายถึง คนที่อาบน้ำชำระล้างทำวามสะอาดร่างกาย คนที่ปฏิเสธที่จะบริโภคอาหารบางอย่างที่ก่อให้เกิดโรคภัย ที่ละเว้นหลับนอนกับหญิงสกปรกชั้นต่ำ คนที่รังเกียจเลือด แต่ต่อมาพวกผู้ปกครองที่ต้องทำหน้าที่ลักษณะคล้ายพระนี้ เสนอแนวทางที่ผิดแผกธรรมดาเป็นอันตรายและเป็นการกลับคุณค่าลักษณะของนาย เพื่อแสดงให้เห็นความเป็นชนชั้นวรรณะพระเด่นชัดขึ้น ท้ายที่สุด ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างมนุษย์ห่างกันเพิ่มมากยิ่งขึ้นกว่าเดิม

คำว่า “บริสุทธิ์” และ “ไม่บริสุทธิ์” พัฒนาเป็นคำประเมินค่าทางศีลธรรมแทนที่คำว่า “ดี” และ “เลว” และได้กำหนดข้อปฏิบัติของพระขึ้น กล่าวคือ เป็นผู้ละเว้นจากการบริโภคเนื้อสัตว์ ละเว้นจากการเดินเร็ว ละเว้นจากเรื่องเพศ รักความสงบ รวมถึงการบำเพ็ญตนเพื่อให้บรรลุอันติมะไปสู่ความว่างเปล่า (Nothingness) หรือ ได้เข้าไปรวมอยู่เป็นหนึ่งเดียวกับพระเจ้า เช่นการบำเพ็ญเพียรทรมานร่างกายของคนวรรณะพราหมณ์-ฮินดูของอินเดียโบราณ หรือวามต้องการเข้าสู่นิพพานในศาสนาพุทธ เป็นต้น

นิตเช่เห็นว่าข้อปฏิบัติของคนพวกนี้ผิดหลักธรรมชาติและกักขังสัญชาตญาณดั้งเดิมของมนุษย์ พระแยกเอาวิญญาณมนุษย์ออกจากลักษณะวิถีของสัตว์โลก หากข้อกำหนดนี้เป็นการเยียวยารักษาอาการเจ็บป่วยของโรคมันยิ่งทำให้อาการทรุดหนักและมีผลอันตรายมากตามมาภายหลัง มากกว่าจะเป็นการรักษาให้บรรเทาอาการเจ็บปวดลง นิตเช่คิดว่าเกิดจากอาการผิดปกติภายใน และโรคประสาทซึ่งอยู่ในพวกพระตลอดเวลา นอกจากจะไม่ใช่การเยียวยารักษาแล้วแต่ยังเป็น การอวดดี พยาบาท เล่ห์เหลี่ยม ความเลวทราม ความรัก ความปรารถนาที่จะเป็นเจ้าของคุณธรรม และความเจ็บป่วยอีกด้วย ซึ่งเป็นรูปแบบพื้นฐานอย่างจำเป็นของการมีอยู่ของมนุษย์ที่มีลักษณะทีทำหน้าที่คล้ายบักบวช ทำให้วิญญาณที่มีนัยเหนือกว่ามนุษย์จมดิ่งกลายเป็นความชั่วร้าย นักบวชมีนัยหมายถึงลักษณะของทาส เป็นเครื่องหมายของความอ่อนแอ ไร้อำนาจ เป็นปฏิปักษ์กับคุณค่าของชนชั้นปกครองและทำให้ชนชั้นปกครองเสื่อมทราม ด้วยการทำหน้าที่ของนักบวช

อนึ่งศีลธรรมแบบทาสได้ปรากฏอยู่มนุษย์จำพวกนักบวช ตรงข้ามกับศีลธรรมแบบนายที่พบในวรรณะผู้ปกครองที่ทำหน้าที่นักรบ นักรบเป็นผู้ที่มีความเข้มแข็งทั้งในด้านร่างกายและจิตวิญญาณ ชื่นชอบการผจญภัย การต่อสู้ศึกสงคราม การล่า การละเล่นบันเทิง เกมการแข่งขัน ความเป็นอิสระ ซึ่งเป็นเงื่อนไขข้อปฏิบัติแตกต่างจากพวกนักบวช ทั้งนี้ทั้งนั้นที่นิตเช่เลือกใช้นักบวชเป็นตัวแทนของศีลธรรมแบบทาส เพราะเป็นบุคคลที่ดำเนินตามกฎเกณฑ์ต่าง ๆ อย่างง่าย จนนำให้บุคคลทั่วไปปฏิบัติตามศีลธรรมแบบทาสต่อไป

ดังนั้น ศีลธรรมแบบทาสจึงเป็นหลักศีลธรรมของคนอ่อนแอทั้งจิตใจและร่างกาย ไม่กล้าเผชิญปัญหาต่าง ๆ ด้วยตัวของตัวเอง ไม่มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ แต่จะยอมรับหลักการใดหลักการหนึ่งที่คิดว่าจะคุ้มครองทำให้ตนปลอดภัย หลักการนั้น ๆ คือสิ่งที่บุคคลอื่นสร้างไว้แล้วที่สังคมยอมรับเพื่อความสบายใจของตนเอง และเพื่อปกป้องคนอื่นไม่ให้มาเบียดเบียนตนได้ ศีลธรรมแบบทาสจึงเป็นหลักศีลธรรมของบุคคลที่ไม่เคยคิดจะหาหลักการของตนเองรวมถึงไม่กล้าเป็นตัวของตัวเอง ถึงจะคิดหาเหตุผลของหลักการนั้น ก็คิดหาเหตุผลมาสนับสนุนหลักการที่ตนยอมรับ ไม่ใช่หาเหตุผลมาขัดขวางหรือคัดค้าน จึงเป็นลักษณะของ “ทาส” มนุษย์ประเภทนี้มีอยู่มากมายและไม่ใช่กลุ่มชนที่สร้างวัฒนธรรมใหม่ ๆ ให้สังคมโลก เป็นเพียงประชากรโลกเท่านั้น

ตามวิธีการของนิตเช่นั้น เขาถือว่าเหตุผลนั่นเองที่เป็นเครื่องมือของเจตจำนงที่จะอำนาจและเป็นเครื่องมือพิเศษซึ่งทุกคนจะขาดเสียมิได้ การที่คนเราจะมีอำนาจหรือครอบครองอำนาจอยู่ได้นานนั้นต้องอาศัยเหตุและผลเป็นเครื่องนำทาง เพราะอาศัยเหตุผลนั้นเอง คนเราจึงสามารถใช้ตัณหาให้เป็นประโยชน์ ถ้าเราใช้ตัณหาให้เป็นประโยชน์ไม่ได้ ก็เท่ากับว่าเรายังเป็นสัตว์ป่าต้องเป็นทาสของตัณหาตลอดไป เมื่อตกเป็นทาสของตัณหาแล้ว โอกาสที่จะมีอำนาจหรือใช้อำนาจไปในทางสร้างสรรค์ นั้น ย่อมหมดไปอย่างแน่นอน จึงสมควรหรือที่มนุษย์เราผู้มีสติปัญญาและเหตุผลเช่นนี้จะต้องเป็นทาสของตัณหาอยู่ร่ำไป

มนุษย์ทุกคนย่อมปรารถนาถึงแม้ว่าจะประสบความทุกข์ความเดือดร้อนบ้างก็ตาม ความสุขเช่นนี้ใคร ๆ ย่อมต้องการแน่นอน แม้จะมีความทุกข์บ้างก็ตาม ขอแต่ให้ได้พลังอำนาจที่ต้องการ การที่จะให้ได้ความสุขเช่นนี้ ก็ต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด เพราะเรายอมสูญเสียพลังอำนาจยิ่งใหญ่ ในขณะเดียวกัน ก็ต้องพยายามฟื้นฟูความต้องการเยี่ยงสัตว์ หรือแบบทารุณโหดร้ายขึ้นแทนที่เพื่อจะได้บรรลุคุณธรรม ซึ่งบูรพาจารย์ทางปรัชญา เห็นว่าเป็นสิทธิที่มนุษย์ทุกคนย่อมทำได้ ผู้บรรลุภาวะเช่นนี้ได้นามว่า “อภิมนุษย์” ซึ่งนิตเช่เชื่อว่าอภิมนุษย์ดังกล่าวจะต้องเป็นนิรันดร และกล่าวว่า “ความยิ่งใหญ่ ที่เกิดเพราะการกระทำดังกล่าว จึงไม่มีปรากฏเพราะในชาตินี้หรือในโลกนี้เท่านั้น แต่จะต้องกระจายไปทั่วทุกมุมโลกอย่างแน่นอน”

นี่คือมาตรการทางศีลธรรมของนิตเช่ อันมีจุดประสงค์ เพื่อสร้างพลังอำนาจให้แก่ตนเอง หากมีความคิดเห็นตรงกันข้ามนี้ ถือว่าเป็นคนประพฤติกรรมชั่วร้ายเลวทรามสังคมประณามอย่างยิ่ง เพราะขัดขวางหน่วงเหนี่ยวการพัฒนาเจตจำนง อันเป็นสิทธิของมนุษย์ทุกคน ควรมุ่งไปข้างหน้าอยู่เสมอ ตราบใดที่อำนาจกิเลสตัณหายังนำพาอยู่




บรรณานุกรม




กีรติ บุญเจือ. (2522). แก่นปรัชญาปัจจุบัน. กรุงเทพฯ: ไทยวัฒนาพานิช.

ชัยวัฒน์ อัตพัฒน์. (2522). ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่ 2. กรุงเทพฯ: มหาวิทยาลัยรามคำแหง.

บุญมี แท่นแก้ว. (2544). ญาณวิทยา (ทฤษฎีความรู้). กรุงเทพฯ: โอเอส พริ้นติ้ง เฮ้าส์.

ประยงค์ แสนบุราณ. (2548). ปรัชญาตะวันตกสมัยใหม่. กรุงเทพฯ: โอเดียนสโตร์.

ฟรีดริช นิตเช่. (2524). วิถีสู่อภิมนุษย์ (กีรติ บุญเจือ, แปล). กรุงเทพฯ: พิมพลักษณ์.

ยุวยง ศรีบุญเรือง. (2547). แนวคิดทางจริยศาสตร์อัตนิยมของนิตเช่. หลักสูตรปริญญาศิลปศาสตร มหาบัณฑิต, สาขาวิชาจริยศาสตร์ศึกษา, มหาวิทยาลัยมหิดล.

ลอเรน เกน. (2549). นิทเช่ นักปรัชญาชาวเยอรมัน ผู้ก่อกบฏต่ออารยธรรมตะวันตก (เทพทวี โชค วศิน, แปล). กรุงเทพฯ: มูลนิธิเด็ก.

วนิดา คุตตวัส. (2522). ความสัมพันธ์ระหว่างทรรศนะเรื่องนิจวัฏกับการวิจารณ์จริยศาสตร์ของ นีทซ์เช่. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชาปรัชญาและศาสนา, จุฬาลงกรณ์ มหาวิทยาลัย.

วิลล์ ดูแรนท์. (2535). ชีวิตและวามคิดของนักปรัชญา (วันเพ็ญ บงกชสถิตย์, แปล).กรุงเทพฯ: มูลนิธิ โครงการตำราสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์.

วีราศณี โภคสุวรรณ. (2550). อิทธิพลของปรัชญาอัตถิภาวนิยมในงานของนิตซ์เช่ ที่มีต่อวรรณกรรม ของเฮอร์บันน์ เฮสเส. หลักสูตรศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, สาขาวิชา ปรัชญาและศาสนา, มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น