วันพุธที่ 2 ตุลาคม พ.ศ. 2556

จริยศาสตร์สิ่งแวดล้อม ลุงสอน กล้าศึก

ลุงสอน กล้าศึก "คนปลูกต้นไม้" แห่งบ้านโนนเสลา

จริยศาสตร์สิ่งแวดล้อม ปี4 เทอม1
"การปลูกต้นไม้ สร้างป่า คือ การปฏิบัติธรรม"
ตลอดระยะเวลาเกือบ 15 ปีที่ผ่านมา ลุงสอน กล้าศึก จึงมุ่งมั่นทำงานแห่งชีวิตที่ยิ่งใหญ่แต่เรียบง่าย "งานปลูกต้นไม้" เพราะ "ป่าไม้เปรียบเสมือนอาจารย์ของพระพุทธเจ้า" หลักธรรมที่สร้างศรัทธาอันแน่วแน่แก่ "ผีบ้า" ผู้พรากเพียรสร้างผืนป่า "ภูมิใจ ที่ได้สร้างประโยชน์แก่คนทั้งโลก เพราะแม้ลุงจะปลูกต้นไม้ สร้างป่าอยู่ที่บ้านโนนเสลา แต่น้ำจากป่าก็ไหลรวมลงแม่น้ำ ลำคลอง ลงสู่ทะเล มหาสมุทรในที่สุด"
                 
   หลายคนคงอ่านบทประพันธ์ เรื่อง "คนปลูกต้นไม้" ผลงานของนักเขียนชาวฝรั่งเศส ฌ็อง ฌิโอโน เรื่องราวของบุฟฟิเยร์ คนปลูกต้นไม้ เมื่อกว่า 50 ปีมาแล้ว บุฟฟิเยร์ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของคนธรรมดาที่มีชีวิตอยู่จริง "ลุงสอน กล้าศึก: คนปลูกต้นไม้แห่งบ้านโนนเสลา" ขณะที่บุฟฟิเยร์เริ่มปลูกต้นไม้ ลุงสอน ยังเป็นเพียงเด็กชายคนหนึ่งที่บ้านโนนเสลา หมู่บ้านเล็กๆในจังหวัดชัยภูมิ ดำเนินชีวิตเรียบง่ายตามแบบชาวชนบททั่วไป ช่วยพ่อแม่ ทำนา เลี้ยงควาย โดยไม่มีใครคิดว่า ต่อมาเขาจะกลายเป็น "คนปลูกต้นไม้" ที่ยิ่งใหญ่ มุ่งมั่นปฏิบัติภารกิจสำคัญที่สุดของมนุษยชาติ คืองานปลูกต้นไม้ ซึ่งหลายคนไม่สนใจเห็นเป็นงานธรรมดาไม่สำคัญอะไร หากแท้จริงแล้วงานปลูกต้นไม้ คือ งานแห่งชีวิต เป็นการรังสรรค์ที่ยิ่งใหญ่ ที่เกิดขึ้นอย่างช้าๆ ด้วยคุณธรรม ความพากเพียร เมตตา กรุณา อ่อนน้อมถ่อมตน ของคนธรรมดาที่เฝ้าหว่านเมล็ดพันธุ์แห่งความอุดมลงบนผืนดิน ที่มิใช่ของตนโดยไม่หวังผลตอบแทน และไม่อวดอ้างผลงาน หากผลงานของเขาได้แสดงความยิ่งใหญ่ให้ผู้คนได้ประจักษ์ เพราะป่าไม้สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่โลก เป็นต้นกำเนิดของสรรพชีวิต แม่น้ำ ลำธาร อากาศบริสุทธิ์ ความร่มเย็น เป็นซุปเปอร์มาร์เก็ตขนาดใหญ่ของโลก เกื้อกูลปัจจัยสี่แก่มนุษยชาติและสัตว์โลกทั้งปวงโดยไม่ต้องซื้อหา แต่ในช่วงระยะการพัฒนาอุตสาหกรรมไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา ต้นไม้ถูกตัดโค่น ป่าไม้ถูกทำลายลงอย่างรวดเร็ว เพราะความมักง่ายขาดจิตสำนึกของคน โดยไม่ได้นึกถึงผลกระทบที่จะเกิดตามมา เรื่องราวของลุงสอนอาจกระตุ้นเตือนให้คนหันกลับมาเห็นคุณค่าของป่าไม้มาก ขึ้น เป็นแรงบันดาลใจให้หลายคนเริ่มต้นงานปลูกต้นไม้ เป็นกำลังใจ แก่ผู้ที่กำลังทำงานปลูกต้นไม้อยู่เช่นเดียวกับเขา
คนธรรมดาแห่งบ้านโนนเสลา...

วิถีชีวิตของลุงสอน กล้าศึก ชายชราวัย 67 ปี คนนี้ คงไม่แตกต่างจากชาวบ้านธรรมดาในชนบททั่วไปเท่าใดนัก ในวัยเด็กได้เรียนหนังสือเพียงแค่ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ที่โรงเรียนวัดตาแขก ก็ต้องออกมาช่วยครอบครัว ทำนา เลี้ยงควาย และเช่นเดียวกับชายไทยทั่วไป เมื่ออายุ 20 ปี ได้อุปสมบททดแทนคุณบิดา มารดา หลังจากนั้นก็เข้ารับการเกณฑ์ทหารรับใช้ชาติในปี พ.ศ. 2497 หลังปลดประจำการก็ออกมาช่วยพ่อแม่ทำนา ต่อมาได้สมรสกับนางเพ็ง มีลูกด้วยกันทั้งหมด 6 คน เป็นชาย 4 คน หญิง 2 คน ลุงสอนทุ่มเททำงานหนัก สร้างฐานะให้เป็นปึกแผ่น ส่งเสริมให้ลูกๆได้รับการศึกษา ปัจจุบันลูกชายคนโตได้รับราชการครู ส่วนคนอื่นๆก็แต่งงานมีครอบครัวไปหมดแล้ว
คนปลูกต้นไม้..."ผีบ้าสอน"
ภารกิจ การทำหน้าที่ลูกที่ดีช่วยเหลือครอบครัว บวชเรียน เป็นพลเมืองดีรับใช้ชาติ เป็นหัวหน้าครอบครัวที่ดี พ่อที่ดีได้ลุล่วง เมื่อลูกต่างเติบโตมีครอบครัว มีฐานะมั่นคงพออยู่พอกิน แบ่งปันที่ดินทำกินให้ทุกคนแล้วจึงหมดห่วงใดๆ ลุงสอนจึงเริ่มต้นเข้าวัดศึกษาธรรมะจากการศึกษาสนทนาธรรม อ่านหนังสือธรรมะ ทำให้ซาบซึ้งในพระธรรมคำสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า เกิดศรัทธาอยากทำความดี เพราะคิดว่าที่ผ่านมายังทำความดีไม่มากพอ จึงอยากทำความดีให้มากกว่านี้ เพราะเชื่อว่า
"คนเราเกิด มาทำดีย่อมได้ดี ทำชั่วย่อมได้ชั่ว การเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นเรื่องธรรมดาของคนเรา เมื่อเกิดมาแล้วก็อยากทำความดีให้ได้ก่อนตาย"
วิถีทางการ ทำความดีของคนเราอาจแตกต่างกันไป การคลุกคลีอยู่กับวัด มองเห็นลานวัดโล่งเตียน ที่พื้นมีแต่หญ้า ลุงสอนจึงเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยการถางหญ้าให้วัด เพราะคิดว่านั่นคือการสร้างกุศลเพื่อส่วนรวม ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2522 - 2528 ระยะเวลา 6 ปี ที่ลุงสอนมุ่งมั่นดายหญ้าบริเวณวัดบุญถนอมพัฒนารวม (วัดโนนเสลา) และวัดพระธาตุหนองสามหมื่น จนวันหนึ่งเมื่อได้มานั่งพักเหนื่อยหลบแดดอยู่ใต้ต้นไม้ในวัดโนนเสลา สังเกตเห็นนกบินมาเกาะกิ่งไม้ เห็นผึ้งอาศัยทำรังอยู่บนต้นไม้ มด แมลง อาศัยเกาะอยู่ตามกิ่งไม้ ใบไม้ ลุงสอนเริ่มเห็นและเข้าใจถึงคุณประโยชน์มากมายของป่าไม้ เป็นที่อาศัยของนก ผึ้ง มด แมลง ใบไม้ร่วงหล่นบนพื้นดินเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ไม้ใหญ่ได้ใช้สร้างบ้านเรือน ทำเชื้อเพลิง เข้าใจถึงความสัมพันธ์ของระบบนิเวศ และเมื่อหวนคิดถึงข่าวคราว ความเดือดร้อนเสียหายของราษฎรในพื้นที่ต่างๆจากความแปรปรวนของดินฟ้าอากาศ ฝนไม่ตกต้องตามฤดูกาล บางพื้นที่ฝนแล้ง ขณะที่บางภาคฝนก็ตกหนักจน น้ำท่วม ทำให้ลุงสอนเศร้าสลดใจ ตอกย้ำให้ใจถึงคุณค่ามหาศาลของต้นไม้ คิดได้ว่า การดายหญ้าไม่เกิดกุศลยั่งยืน เมื่อฝนตกหญ้าก็ขึ้นมาใหม่อีกไม่ได้สร้างประโยชน์อันใด จึงตั้งใจแน่วแน่ว่า ต้องหันหน้ามาสร้างป่าเท่านั้นจึงจะเป็นการสร้างกุศลที่ยั่งยืน เพราะ "การสร้างป่าเท่านั้นที่จะสร้างโลกให้สมบูรณ์ได้"
นับแต่นั้นเป็นต้นมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2528 ภารกิจอันยิ่งใหญ่ของลุงสอน ก็เริ่มต้นขึ้นด้วยการปลูกต้นบักเขียบ (น้อยหน่า) 200 กว่าต้น บริเวณลานวัดโนนเสลา แม้จะล้มเหลวต้นน้อยหน่าที่ปลูกไว้ตายเกือบหมดเหลือเพียง 2 - 3 ต้น แต่ไม่ทำให้ลุงสอนเปลี่ยนความตั้งใจ หากใช้ปัญญาไตร่ตรอง จนพบคำตอบว่า การปลูกไม้ผลประโยชน์ที่ได้อาจมีน้อยไม่เหมือนการปลูกป่า จึงเริ่มต้นใหม่อีกครั้งด้วยการศึกษาวิจัยแบบธรรมชาติ สังเกตว่าดินแบบนี่ควรปลูกต้นอะไร ซึ่งธรรมชาติเท่านั้นเป็นครูผู้ยิ่งใหญ่ ลุงสอนเฝ้าเดินขึ้นป่าภูเขาเขียว สังเกตสภาพดินที่ใกล้เคียงกับบริเวณวัดว่าต้นไม้ใดขึ้นได้งอกงามแล้วก็พบว่า ต้นประดู่เจริญเติบโตได้ดี การลงมือสร้างผืนป่าด้วยกำลังใจที่แน่วแน่กับสองมือและรถเข็นเก่าๆพร้อม เสียมอีก 1 อันก็เริ่มต้น ทุกวันลุงสอนจะเข็นรถเดินไปขอต้นประดู่จากหัวไร่ปลายนาของลูกหลานและเพื่อน บ้านที่จะหักร้างถางพง เริ่มแรกขุดเอาต้นเล็กๆ ใส่ถุงพลาสติกที่ซื้อมาใส่ต้นไม้กลับไปปลูกที่วัดประมาณ 100 กว่าต้น ขุมหลุมใหญ่ๆ เพื่อปลูก แต่ขณะนั้นเป็นช่วงเดือนตุลาคม ฝนตกชุก ต้นไม้ที่ปลูกไว้จึงตายเกือบหมดต้องหยุดรอจนเข้าหน้าหนาวแล้วเริ่มต้นใหม่ ครั้งนี้ ลุงสอนเปลี่ยนมาขุมต้นไม้ใหญ่พร้อมทั้งดินรอบโคน โดยไม่รู้ว่านั้นคือเทคนิคการ "บอน" ต้นไม้ทางเกษตรนั่นเอง ลุงสอนบอกว่า
"ขุดเอา ทั้งดินใส่ปุ๋ยวันละ 6 - 7 ต้น ปลูกแบบนี้ได้ผลดี แต่ใช้เวลานาน เวลาของลุงมีไม่มากแล้ว ก็เลยหาทางแก้ไข ปีต่อมาทดลองขุดโดยไม่เอาดินประมาณ 50 ต้นมาปลูก แล้วรดน้ำทุกวัน ได้ผลดี"
ลุงสอนเฝ้า สังเกตต้นไม้ที่ปลูกทุกระยะ จนเรียนรู้ว่าต้นไม้ที่ปลูกในหน้าแล้ง หากมีน้ำรดตลอดจะได้ผลดีกว่าปลูกในฤดูฝน เพราะกล้าไม้ที่ปลูกเริ่มตั้งตัวได้ เมื่อฝนตกลงมาจึงเติบโตได้เร็ว แต่ต้นไม้ที่ปลูกในฤดูฝน ต้องใช้เวลาตั้งตัวนาน พอตั้งตัวได้ก็หมดฝน หากไม่มีน้ำรดเพียงพอ การเจริญเติบโตก็ชะงักงัน ลุงสอนจึงปลูกต้นไม้ในหน้าแล้งเป็นส่วนใหญ่ ทว่าการปลูกต้นไม้ในหน้าแล้งก็เป็นภาระหนักสำหรับลุงสอน เพราะต้องต่อสายยางจากบ่อน้ำที่อยู่ไกลจากวัด เพื่อนำมารดต้นไม้ แต่ด้วยความมุ่งมั่น ลุงสอนลุกขึ้นมารดน้ำด้นไม้ที่ปลูกไว้ตั้งแต่ตีสามตีสี่เป็นประจำ "เราต้องมีความเพียร ทำแล้วรู้สึกสนุกและเป็นสุข บางคืนนอนไม่หลับอยากลุกมารดน้ำต้นไม้" อีกเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ต้องไปขุดหากล้าไม้ช่วงหน้าแล้ง เพราะชาวบ้านจะตัดถางต้นไม้ตามหัวไร่ปลายนาในช่วงนี้ จะหาขุดกล้าไม้ในหน้าฝนก็คงไม่ทันการเพราะเขาจะตัดฟันทิ้งหมด
ลุง สอนเฝ้าทำอยู่เช่นนี้ทุกวัน บางวันก็ไปขุดถึง 2 ครั้ง บางวันก็ขุดได้ถึง 100 - 200 ต้น มาถึงมืดก็ปลูกมืด โดยไม่มีเพื่อนบ้านคนใดช่วยเหลือ กลับมองเห็นการปลูกต้นไม้ในหน้าแล้งบนพื้นที่ที่ไม่ใช่ของตนเอง โดยไม่หวังผลตอบแทน เป็นวิธีการและแนวคิดที่แปลกแยก ต่างสงสัยถามไถ่ว่าปลูกทำไม ไม่ใช่ที่ของตัวเอง ปลูกแล้วได้อะไร มีใครให้ค่าจ้างรางวัลหรือไม่ ถ้าจะปลูกทำไมไม่ปลูกไม้ผล มะม่วง มะละกอ ที่กินได้ ลุงสอนได้แต่บอกเพื่อนบ้านไปว่า
"การปลูก ต้นไม้ ไม่ได้หวังเงินตรา ค่าจ้างตอบแทนจากผู้ใด ไม่มีใครจ้าง หรือให้รางวัลเพียงแต่อย่างน้อยก็ปลูกไว้ให้มด แมลงต่างๆ ได้มาอาศัย หรือได้เป็นที่พึ่งพิงของสัตว์โลก อย่างน้อยเวลาคนมาวัดก็ได้อาศัยหลบแดดหลบฝน หวังสร้างโลกให้สมบูรณ์ก็พอ"
แต่คำตอบ และการมุ่งมั่นเฝ้าปลูกต้นไม้อยู่เช่นนี้ทุกวัน ไม่ได้สร้างความเข้าใจให้เพื่อนบ้านได้สิ่งเหล่านี้ กลับกลายเป็นความแตกต่างจากคนอื่นที่ไม่มีใครเข้าใจ และมองว่าลุงสอนเป็น "ผีบ้า" หากหลักธรรมคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ลุงสอนยึดมั่นมาตลอดรวมถึงความเข้าใจ กำลังใจ การสนับสนุนจากครอบครัว ทั้งภรรยาและลูก ช่วยบรรเทาความรู้สึกเจ็บปวดให้คลายไป และเป็นพลังผลักดันมิให้หวั่นไหวหรือโกรธเอง ลุงสอนยังคงปลูกต้นไม้ต่อไป
"ลุงไม่โกรธ เพราะการปลูกต้นไม้ สร้างป่า คือ การปฏิบัติธรรม เราต้องอดทน ข่มความโกรธ ถ้ามีความโกรธ เราจะทำงานไม่สำเร็จ"

ผีบ้า...ผู้สร้างผืนป่า

กว่า 5 ปี ที่ลุงสอนยังคงพากเพียรปลูกต้นไม้ และเริ่มศีกษาค้นคว้าเพิ่มเติมจากหนังสือตำราต่างๆ นอกเหนือจากการสังเกตศึกษาจากธรรมชาติสภาพแวดล้อม ลองผิดลองถูกที่ทำมาแต่เดิม และความศรัทธามุ่งมั่นที่ใหญ่หลวงก็บังเกิดขึ้น เมื่อได้อ่านพบคำสั่งสอนขององค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า
"ผู้ใด บำรุงป่า ผู้นั้นบำรุงโลก เพราะป่าไม้ให้สติปัญญา พระพุทธเจ้าศึกษาธรรมสำเร็จเพราะป่า ป่าไม้จึงเปรียบเสมือนอาจารย์ของพระพุทธเจ้า"
ลุงสอนมัก บอกใครๆเสมอว่า "ป่าไม้เป็นผู้สร้างโลก เป็นผู้สร้างความอุดม สมบูรณ์ทั้งดิน น้ำ ลม ไฟ ใบร่วงหล่นเป็นปุ๋ยธรรมชาติ ป่าไม้ทำให้เกิดน้ำ ความชุ่มชื้น ป้องกันแดดลมพายุ"
"ป่าไม้เป็นอาจารย์ของพระพุทธเจ้า" ประโยคนี้เอง ที่ทำให้ลุงสอนเกิดปิติศรัทธาตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า จะทำ "งานปลูกต้นไม้" ต่อไปเพื่อสร้างผืนป่าให้ได้มากที่สุด จนกว่าชีวิตจะหาไม่
หลังจากใช้ เวลากว่า 9 ปี ลานวัดโนนเสลาพื้นที่ 4-5 ไร่ ก็เต็มไปด้วยต้นไม้ ไม่มีที่จะปลูกได้อีกแล้ว ปี พ.ศ. 2539 ลุงสอนจึงไปขอคณะกรรมการหมู่บ้าน อาสาปลูกต้นไม่รอบหนองตูม หน้องน้ำสาธารณะของตำบล เนื้อที่ประมาณ 250 ไร่ เพราะรอบหนองตูมแทบจะไม่มีต้นไม้ใหญ่เลย ถ้าปลูกต้นไม้อย่างน้อยจะได้เป็นร่มเงาแก่เด็กๆที่มาเล่นน้ำ หรือผู้ที่มาพักผ่อนและที่สำคัญ หนองน้ำแห่งนี้เป็นที่อาศัยของนกเป็ดน้ำนับหมื่นตัว ที่บินอพยพจากไซบีเรียมาอยู่ที่นี่ช่วงต้นฤดูหนาวของทุกปี ลุงสอนเริ่มนำไม้ประดู่มาปลูกเป็นรุ่นแรก หลังจากนั้นจึงนำไม้ยางนามาปลูก ด้วยจิตสำนึกที่อยากจะอนุรักษ์ไม้พื้นถิ่นชนิดนี้ไว้ให้คนรุ่นลูกรุ่นหลาน ได้รู้จักและใช้ประโยชน์ เพราะปัจจุบันยางนาแทบจะหมดไปจากพื้นที่แล้ว จากเดิมซึ่งเคยขึ้นอยู่ตลอดสองฝั่งลำน้ำพรมจากภูเขียวถึงบ้านโนนเสลา ลุงสอนเพียรพยายามเดินขึ้นไปเก็บลูกยางนาจากป่าบนภูเขาเขียวมาทดลองเพาะชำ เพื่อเป็นกล้าไม้ปลูกรอบหนองตูม
เมื่อปลูก ต้นไม้รอบหนองตูมแล้ว ในปีเดียวกันนั้นเอง ลุงสอนก็อาสาปลูกต้นไม้บริเวณป่าช้าบ้านโนนเสลาซึ่งเป็นพื้นที่ป่าสาธารณะ ของหมู่บ้าน หวังเพียงว่า ต้นไม้ที่ปลูกจะได้เป็นร่มเงาให้ ชาวบ้านที่มาเผาศพได้อาศัยหลบบังแดด จึงได้ไปขอพันธุ์กล้าไม้พื้นถิ่น เช่น สะเดา ประดู่ มะค่าโมง ฯลฯ จากตำบลบ้านหัน อำเภอเกษตรสมบูรณ์ มาปลูกจนเต็มพื้นที่ 30 - 40 ไร่
ผืนป่า...คือคำตอบ
ระยะ เวลายาวนานเกือบ 15 ปี หากเป็นเด็กก็คงเป็นวัยรุ่น บริสุทธิ์ สดใส กำลังเติบโตงดงาม ต้นไม้ที่ลุงสอนปลูกด้วยความรัก ความตั้งใจ เฝ้ารดน้ำพรวนดิน ดูแลเอาใจใส่ ก็เช่นเดียวกัน บัดนี้เติบโตเป็นไม้รุ่นหนุ่มที่สมบูรณ์งดงามเขียวชอุ่ม ทั้งที่วัดโนนเสลา รอบหนองตูมและป่าช้าบ้านโนนเสลา ลุงสอนได้ห่มสีเขียวสร้างผืนป่าเขียวชอุ่มขึ้นกลางชุมชน ให้ความร่มเย็นเป็นที่อาศัยของชาวบ้านและสัตว์โลกทั้งฝูงนก มด และแมลงต่างๆเป็นผลงานที่ประจักษ์ชัด และนี่คือคำตอบ ที่เพื่อนบ้านหลายคนเคยสงสัย ตั้งคำถาม หรือกระทั่งกล่าวหาว่าแกเป็น "ผีบ้า"

แต่ปัจจุบันชาวบ้านเหล่านี้ได้อาศัยผืนป่าของผีบ้าคนนี้
ลุงสอนไม่ เคยโอ้อวดถึงผลงานที่ยิ่งใหญ่ หากมีใครไต่ถามก็บอกเล่าด้วยความสง เยือกเย็น มีเพียงสีหน้าและแววตาทีเปี่ยมไปด้วยความปิติเป็นสุขในสิ่งที่ได้ทำ แต่ด้วยผลงานที่พิสูจน์ตัวเอง ปี พ.ศ. 2540 ข่าวการปลูกต้นไม้ที่วัดโนนเสลา รอบๆหนองตูม และที่ป่าช้าโนนเสลา พบว่ามีมากกว่า 20,000 ต้น ซึ่งความจริงอาจมากกว่านั้น เพราะเมื่อต้นไม้ตายลุงสอนก็ต้องปลูกซ่อมบางครั้งต้องปลูกมากกว่า 5 ครั้งจึงจะสำเร็จ
และแม้จะทำ งานปลูกต้นไม้โดยมิได้หวังรางวัลหรือสิ่งตอบแทน แต่ "ทำดี ย่อมได้ดี" หลักธรรมที่ลุงสอนยึดมั่นมาตลอด ได้ส่งผลให้เห็น เมื่อมูลนิธิสถาบันราชพฤกษ์ ได้มอบโล่เกียรติยศและใบประกาศเกียรติคุณผลงานด้านการริเริ่ม และส่งเสริมการปลูกต้นไม้อย่างสม่ำเสมอแก่ลุงสอนในปี พ.ศ. 2540 ต่อมาในปีพ.ศ. 2541 ก็ได้รับอีกหลายรางวัลโดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ารับพระราชทานเข็มทองคำจาก สมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ ที่พระตำหนักภูพานราชนิเวศน์ สร้างความภาคภูมิใจแก่ลุงสอนเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ผลงานของลุงสอนยังได้รับความสนใจจากสื่อมวลชนหลายแขนงทั้งหนังสือ พิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ นำไปเผยแพร่
หากเหนือ กว่ารางวัลใดๆที่ได้รับ ความเข้าใจจากเพื่อนบ้าน คือ รางวัลที่ยิ่งใหญ่ ทุกวันนี้ชาวบ้านเริ่มเข้าใจมากขึ้น หลายคนชื่นชม และนำแนวคิดไปปฏิบัติตาม ในปี พ.ศ. 2541 ที่ผ่านมา ชาวบ้านได้ขอให้ลุงสอนเป็นประธานโครงการ "ปลูกป่า 172 ต้น" บริเวณพื้นที่สาธารณะ ของหมู่บ้าน เนื้อที่ 2 งาน เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ เนื่องในวโรกาสพระชนมายุครบ 6 รอบ 72 พรรษา ลุงสอนร่วมกับชาวบ้านปลูกต้นไม้ 6 ชนิด คือ ยางนา สะเดา มะค่า ขี้เหล็ก ประดู่ และพญาสัตบรรณ ความเข้าใจ ของเพื่อนบ้านแสดงออกให้เห็นเป็นรูปธรรม เมื่อทางตำบลมีโครงการขุดลอกหนองตูม ในปี พ.ศ. 2542 นี้ และได้นำดินที่ขุดลอกหนองน้ำขึ้นใหม่ทดแทน เมื่อมีใครถามลุงสอนก็บอกว่า
"เราทำแล้ว (ปลูกต้นไม้) ความดีเราได้แล้ว จิตใจเราได้แล้ว เราถืออุเบกขา ปล่อยวางไม่ให้หงุดหงิด ทำใจให้สบาย เราได้ทำไว้ เขาจึงได้ทำสิ่งนี้ได้ ตามหลักอิฏฐปัจจัยตา เรามีหน้าที่ปลูก เขาจะตัดก็ตัดไป เราก็ปลูกใหม่"
แต่เมื่อ การขุดลอกครั้งที่ 2 กำลังจะเริ่มต้นขึ้น ชาวบ้านเริ่มรวมตัวกันการนำดินมาทับถมต้นไม้ที่ลุงสอนปลูกไว้ เพราะรู้และเข้าใจแล้วว่า ผืนป่า ที่ลุงสอนสร้างไว้มีประโยชน์เพียงใด เหตุการณ์นี้ลุงสอนมิได้สนใจรับรู้มากนัก ยังคงทำหน้าที่ของตนเองต่อไปอย่างสงบด้วยรู้ว่าผืนป่าที่เขียวชอุ่มคือคำตอบ อธิบายทุกสิ่ง...

แรงบันดาลใจจาก "คนปลูกต้นไม้"
ที่ผ่านมา แม้จะไม่มีใครเข้าใจ หลานเยาะเย้ยถากถาง เห็นว่าการกระทำของลุงสอนเป็นเหมือน "ผีบ้า" แต่ลุงสอนบอกว่า "เวลาเหนื่อยหรือท้อใจ ให้นึกถึงป่าไม้เอาไว้"
ลุงสอนบอกถึงหลักยึดเหนี่ยว 5 ประการในการทำงานว่า
"ก่อนจะทำสิ่งใดต้องมีศรัทธา ทำด้วยสติ สมาธิ ด้วยความเพียร จะทำให้เกิดปัญญา"
ลุงสอนคงไม่ รู้ว่าความมุ่งมั่นทำงานที่เรียบง่ายด้วยคุณธรรม คามศรัทธา เมตตา กรุณาอย่างต่อเนื่องยาวนาน ได้จุดประกายสร้างแรงบันดาลใจแก่ผู้คนที่ได้รับรู้หลายคน ได้สร้าง "คนปลูกต้นไม้" เพิ่มอีกหลายคน เช่น
นาย สังเวียน ชายหนุ่มบ้านนาไฮ ได้ชื่อว่าเป็น "ศิษย์ผีบ้า" เพราะเดิมตั้งใจจะละทิ้งครอบครัวมาบวชศึกษาพระธรรมที่วัดโนนเสลา แต่เมื่อได้พูดคุยกับลุงสอน ซึ่งได้ให้ข้อคิดเตือนสติว่า
"ธรรมะ คือ การปฏิบัติ แต่การปฏิบัติธรรมไม่จำเป็นต้องบวช ธรรมะอยู่ในตัวเราการทำเพื่อประโยชน์ส่วนรวมคือธรรมะ ลงมือทำจึงเรียกว่าธรรม ทางด้วยธรรม ให้ทำทาน"
แนวคิดที่ได้ ทำให้ "ศิษย์ผีบ้า" เปลี่ยนความตั้งใจหันมาดำเนินรอยตามลุงสอนมุ่งมั่นทำงานปลูกต้นไม้ที่บ้านเกิด
คุณ คู่ แขมภูเขียว เจ้าหน้าที่ป่าไม้อำเภอเกษตรสมบูรณ์ และนักเขียนอิสระ นับได้ว่าเป็นบุคคลแรกที่เข้าใจและศรัทธาการทำงานของลุงสอน พยายามนำเรื่องราวของลุงสอนไปเผยแพร่ในวงกว้าง ทั้งข้อเขียนผ่านสื่อหนังสือพิมพ์ท้องถิ่น อัดเทปคำบรรยาย พาไปสัมมนาให้ลุงสอนเป็นวิทยากรบรรยายให้เพื่อนบ้านในชุนชนต่างๆ ที่สนใจฟัง จัดโครงการกิจกรรมต่างๆเพื่อเสริมสร้างแนวคิดนี้ให้แพร่หลายออกไป
ผู้ใหญ่ บ้านชุมชนบ้านตลาดทราย ผู้ใหญ่บ้านนาไฮ และกำนันบ้านหัน นำแนวความคิดไปสานต่อ จัดทำโครงการปลูกป่าจนได้รับพระราชทานรางวัลจากสมเด็จพระนางเจ้าพระบรม ราชินีนาถฯ รวมทั้งได้จุดประกายให้เด็กนักเรียนจากโรงเรียนมัธยมบ้านหันวิทยาและ โรงเรียนบ้านนาไฮ นำแนวความคิดไปริเริ่มรวมกลุ่มกันตั้งกองทุน เพื่อจัดทำโครงการปลูกป่าในโรงเรียน
อาจารย์ ประสิทธิ์ กล้าศึก บุตรชายลุงสอน นำแนวคิดไปสอนนักเรียนที่โรงเรียนบ้านโนนเสลา นำเด็กนักเรียนไปร่วมปลูกป่าในพื้นที่สาธารณะของชุมชน
นอกจากนี้ อาจารย์มานพ ชมพูจันทร์ กองอนุรักษ์สัตว์ป่า กรมป่าไม้ อาจารย์สุรวิทย์ผู้อำนวยการโรงเรียนโนนกอกวิทยา ผู้ดำเนินรายการวิทยุ ร่วมกับคุณประกอบ สระดินดำ หัวหน้าสถานีวิทยุ อ.ส.ม.ท. ชัยภูมิ นำแนวคิดไปเผยแพร่ในวงกว้าง รวมทั้งเพื่อนบ้านหลายชุมชนทั้งในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง เข้ามาพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นศึกษาแนวความคิดของลุงสอนอยู่เสมอ ลุงสอนมักบอกใครๆที่มาเยี่ยมเยือนว่า
"ป่าไม้ไม่ ต้องการให้มนุษย์ช่วยเหลือ เขาเกิดเอง โตเอง อุดมสมบูรณ์เอง แต่มนุษย์ต้องการป่าไม้ ถ้าขาดป่าไม้โลกจะอยู่ไม่ได้ คงจะไม่มีสิ่งมีชีวิตใดเลย"
"เป็นผีบ้า อย่างลุง ไม่ต้องให้หมอรักษา ไม่ทำให้ใครเดือดร้อน อยากให้คนเป็นบ้าแบบลุงมากๆถ้าคนบ้าปลูกต้นไม้กันมากๆก็คงจะดี จะได้สร้างป่าในเมืองไทยให้มากขึ้น ถ้าคนไทยปลูกต้นไม้คนละต้น ปีหนึ่งก็ได้ 60 กว่าล้านต้นแล้ว"
"จะปลูก ต้นไม้สร้างป่าต่อไป เพราะยังไม่อิ่มใจ อยากสร้างป่าเพิ่มอีก เพื่อสนองแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ และสมเด็จพระนางเจ้าพระบรมราชินีนาถฯ"
"ภูมิใจที่ ได้สร้างประโยชน์แก่คนทั้งโลก เพราะแม้ลุงจะปลูกต้นไม้ สร้างป่า อยู่ที่บ้านโนนเสลาแต่น้ำจากป่าก็ไหลรวมลงแม่น้ำลำคลองลงสู่ทะเลในที่สุด"
การปลูกต้นไม้สร้างผืนป่า คือ การปฏิบัติธรรม คงเพราะสิ่งนี้เอง ทุกวันนี้ ลุงสอนจึงเปี่ยมไปด้วยความอิ่มเอิบ สีหน้า แววตาที่สุขสงบ เยือกเย็น อ่อนโยน ร่างกายผอมเพรียว ทว่าแข็งแกร่ง และเต็มเปี่ยมไปด้วยความมุ่งมั่นที่จะปลูกต้นไม้สร้างผืนป่าต่อไปจนกว่า ชีวิตจะหาไม่ ชื่อ "สอน" ได้สอนสิ่งที่ล้ำค่า ให้ธรรมะ ข้อคิดที่ลึกซึ้งแก่เพื่อนมนุษย์มากมาย "กล้าศึก" คือ ความกล้าหาญที่จะทำความดี สร้างประโยชน์แก่โลกต่อสู้กับอุปสรรคด้วยความอดทน












ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น