วันพฤหัสบดีที่ 21 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สันติอโศก

สันติอโศก

       
   โดยเหตุที่สมณะโพธิรักษ์ บวชที่วัดอโศการาม และไปบรรยายธรรมบริเวณ “ลานอโศก” วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ อยู่เนื่อง ๆ จนได้สมญานามว่า “ขวานจักตอก” และเมื่อทำหนังสือยุคแรกก็ใช้ชื่อ “เรวดียุครุ่งอรุณ ฉบับอโศก” ทั้งนามปากกาก็ใช้เป็นอย่างเดียวกันว่า “อโศก” ไม่วาใครเขียนก็ตาม
          เพราะได้มีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กับคำ “อโศก” หลายสถานะหลายเหตุการณ์ดังกล่าวแล้ว เราจึงนับเอาคำว่า “อโศก” มาเป็นฉายาของเราตั้งแต่บัดนั้น และร่วมเผยแพร่ธรรมะจนเกิดกลุ่มพุทธบริษัทอันมีทั้งนักบวชและฆราวาส
          ญาติธรรมรุ่นแรก ได้ร่วมมือกันก่อตั้งสถานที่ปฏิบัติธรรมถวายท่าน เนื่องจากมีสภาพเป็นสวนจึงได้ชื่อว่า “สวนอโศก” ตั้งอยู่ที่ อ.บางใหญ่ จ.นนทบุรี แต่ก็ยังไม่เข้ารูปรอยและไม่ลงตัวด้วยเหตุหลายประการ จึงได้ย้ายมาที่แห่งใหม่ เรียกชื่อว่า “ธรรมสถานแดนอโศก” ตั้งอยู่ที่ ต.ทุ่งลูกนก อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม เมื่อวันที่ ๒๒ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๖ และได้ใช้สถานที่นี้อบรมบำเพ็ญธรรม จนกระทั่งเกิดเหตุการณ์บีบคั้นมากมายทำให้ลำบากในการเผยแพร่ธรรมะ ซึ่งไม่มีทางเลือก สุดท้ายสมณะโพธิรักษ์ และหมู่สงฆ์คณะต้องตัดสินใจประกาศตนเป็น “นานาสังวาส” ตามพระธรรมวินัย เมื่อวันที่ ๖ สิงหาคม ๒๕๑๘ อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม

          จากนั้น สมณะโพธิรักษ์ จึงนำพาหมู่กลุ่มมาอยู่ที่ “พุทธสถานสันติอโศก” ซึ่งเดิมเป็นทรงเรือนไทยหลังใหญ่ที่คุณสันติยา (กิติยา) วีระพันธ์ ผู้เป็นเจ้าของ ได้ถวายท่านไว้ตั้งแต่ ๒๕๑๕
          คำว่า “พุทธสถาน” หมายถึง วัดของชาวอโศก ซึ่งมีอาณาเขตติดกับเขตชุมชนบุญนิยมของฝ่ายฆราวาส (ปัจจุบันมี ๙ แห่ง) คำว่า “สันติ” หมายถึง ความสงบ
          และเรือนไทยหลังใหญ่นี้เองได้เป็นจุดกำเนินของ “พระวิหารพันปีเจดีย์บรมสารีริกธาตุ” ในปัจจุบัน
          มูลเหตุที่ทำให้ คุณสันติยา (กิติยา) วีระพันธ์ ถวายที่ดินพร้อม “เรือนทรงไทย” หลังนี้ให้แก่สมณะโพธิรักษ์นั้น คุณสันติยาเคยบอกเล่าไว้ว่า เมื่อชีวิตประสบความทุกข์ใจอย่างมากจึงลองติดตามไปฟังธรรมที่วัดอาวุธวิกสิตาราม จนเกิดศรัทธาเลื่อมใส ซึ่งเป็นช่วงที่กำลังสร้างบ้านหลังนี้อยู่พอดี จึงแจ้งความประสงค์ถวายให้ท่านได้ใช้สอยเป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางดีกว่ามาอาศัยอยู่กันเพียงไม่กี่คน ส่วนคุณสันติและลูก ๆ ก็ย้ายไปอยู่เรือนหลังเล็กที่ได้สร้างไว้ให้คนงานก่อสร้างเรือนไทยพักนั่นเอง
          สมัยแรก ๆ พื้นที่ส่วนใหญ่ยังเป็นแอ่งน้ำ โดยเฉพาะด้านหน้าพุทธสถานฯ  มีแต่กอหญ้าและแอ่งน้ำอยู่ทั่วไป สภาพเรือนไทยเองก็ยังไม่เรียบรอยนัก เวลาฝนตกแต่ละครั้งก็จะสาดไปทั่ว ต้องปรับปรุงกันเรื่อยมา ทั้งถมที่ ปลูกกุฏิ ต่อเติมและซ่อมแซมเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้ดีขึ้นโดยชั้นบนใช้เป็นโบสถ์และสถานที่ทำงานเผยแพร่ธรรมะ ส่วนชั้นล่างเป็นที่แสดงธรรม ที่ฉันอาหาร ที่เก็บเล่มหนังสือ พับกระดาษ ฯลฯ เรียกว่า เป็นสถานที่หลักในการประกอบกิจวัตรและกิจกรรม
          นับเป็นการถืออุบัติของ “พุทธสถานสันติอโศก” เมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๙ จากนั้นจึงเกิด ๗ องค์กรหลักเกิดกลุ่ม เกิดชุมชนที่มีวิถีชีวิตใน ระบบบุญนิยม เกิดการรวมกลุ่มเครือแห เป็นชุมชนพึ่งตนเองแบบครบวงจรและส่วนเหลือส่วนเกินก็ได้ออกเกื้อกูลต่อสังคม (โลกานุกัมปา)
พระวิหารพันปีเจดีย์บรมสารีริกธาตุ
          ทุกอย่างย่อมเสื่อมไปตามสภาพธรรม เรือนทรงไทยหลังใหญ่ได้รับการใช้ประโยชน์อย่างมากมาย เพื่อมวลมนุษยชาติมานาน จนกระทั่งชำรุดทรุดโทรม
          เมื่อ คุณตะวัน สิริวรวิทย์ มาสำรวจจึงพบว่า เสาเรือนถูกปลวกกัดกินจนกร่อน น่ากลัวว่าจะพังลงมา จึงได้ประชุมตกลงกันเพื่อรื้อถอน และ สร้างพระวิหารหลังใหม่ ขึ้นมาแทน
          “เรือนทรงไทย” จึงถูกรื้อถอนออกไปทั้งหลัง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี ๒๕๓๖ และก่อสร้าง “พระวิหารพันปีเจดีย์บรมสารีริกธาตุ” ซึ่งมาแทนที่ ซึ่งออกแบบโดย คุณอภิสิน ศิวยาธร
          ตอกเสาเข็มลงไปเป็นต้นแรก เมื่อ วันอังคารที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ และยังคงดำเนินการก่อสร้างอยู่จนทุกวันนี้
          พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ได้กำหนดประเด็นได้กำหนดประเด็น อันเป็นเป้าหมายสำคัญในการก่อสร้างพระวิหาร ฯ ไว้เพื่อได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์ อย่างกว้างขวางหลายประการ เป็นต้นว่า
๑.     ให้เกิดความสัมพันธ์กับธรรมชาติและศิลปะ
๒.     เป็นการใช้สอยที่เนื่องเกี่ยวกับทางด้านศาสนา และใช้กิจกรรมทางสังคมโดยทั่วไปได้ด้วย
๓.     ให้มีผลกระทบทางจิตวิญญาณ
๔.     เป็นสถานที่ทำงาน (office)
๕.     เจตนาให้มีสารพัดประโยชน์สูงแต่ประหยัดสุด
๖.     เป็นเจดีย์ที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุ
๗.     เป็นวิหารเอนกประสงค์ที่แข็งแรงอยู่ยืนนาน
          ปี ๒๕๓๙ เป็นปีที่ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ทรงครองราชย์สมบัติเป็นปีที่ ๕๐ สมณะโพธิรักษ์และชาวอโศกจึงได้ถือว่า “พระวิหารพันเจดีย์บรมสารีริกธาตุ” อันเป็นที่เคารพสักการบูชาสูงสุดนี้ เป็นราชสักการะแต่องค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
          โดยเมื่อวันที่ ๓๐ พฤษภาคม ๒๕๓๙  ซึ่งตรงกับ วันวิสาขบูชา สมณะโพธิรักษ์ได้นำพาหมู่สงฆ์ และญาติธรรมกระทำพิธีอัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุ พร้อมทั้งพระพุทธรูปปางต่าง ๆ หลายสมัยรวม ๑๐ องค์ ขึ้นประดิษฐานไว้ในพระเจดีย์ทองคำ แล้วอัญเชิญเจดีย์ทองคำขึ้นสู่ยอดโดมสูงสุดของพระวิหาร ฯ เพื่อเตรียมเฉลิมฉลอง
          วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ อันเป็น “วันกาญจนาภิเษก” สมณะโพธิรักษ์ ก็นำพาหมู่กลุ่มประกอบพิธี มีการสวดมนต์ทำวัตรเช้า การแสดงธรรมก่อนฉันและกิจกรรมภาคบ่าย ส่วนญาติธรรมก็ได้ร่วมใจกันเปิด “โรงบุญมังสวิรัติ” หลายร้านตลอดทางเข้าด้านหน้าพุทธสถานและตลอดแนวในซอยนวมินทร์ ๔๔ (ซ.เทียมพร) เพื่อเฉลิมฉลองวาระอันเป็นมิ่งมหามงคลครั้งนี้ด้วย
          “พุทธสถานสันติอโศก” จึงเป็นที่ประดิษฐานของสิ่งสักการบูชาอันสูงสุด เป็นส่วนน้อมทำให้เกิดจิตศรัทธาเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา สมดังเจตจำนงของผู้ถวายที่ดินแปลงนั้น
          กาลเวลาผ่านไป ผู้สนใจฝ่ายธรรมก็เพิ่มมากขึ้นตามลำดับทั้งลาออกจากงานมาปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดและเขตชุมชนต่างช่วยกันทำงานที่เป็นสัมมาอาชีพตามหลักอาริยมรรคมีองค์ ๘ จนเกิดหน่วยงานต่าง ๆ ขึ้นหลายหน่วยงานภายในชุมชนซึ่งดำเนินงานโดยใช้หลัก “บุญนิยม” ตามที่พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ได้อบรมและพาทำ แล้วค่อย ๆ ขยับขยายซื้อที่ดินที่ติดกับพุทธสถาน ฯ เพิ่มขึ้นอีก
          เมื่อถึงปี ๒๕๔๖ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ หมู่สงฆ์ และชาวชุมชนสันติอโศก มีมติเห็นสมควรให้ซื้อที่ดินด้านหน้าพุทธสถานสันติอโศก คือบริเวณทาวน์เฮาส์ไปจนถึงอาคารพาณิชย์ที่ติดกับถนนนวมินทร์ (สุขาภิบาล ๑) มีเนื้อที่ประมาณ ๓ ไร่ภายใต้ “โครงการร่วมบุญปฐพีพุทธวิหารพันปีพระบรมสารีริกธาตุ”
          ปัจจุบันพุทธสถานสันติอโศกมีเนื้อที่ประมาณ ๑๓ ไร่
ขั้นตอนการบวชของนักบวชชาวอโศก
          การบวชหรือการเข้าสู่สถานะ “นักบวช” ของชาวอโสกมีขั้นตอนและระยะเวลาทอสอบความพร้อม คือ ต้องมีการกลั่นกรองว่า ผู้บวชมีความตั้งใจจริงที่จะใช้ชีวิตนักบวชตามพระธรรมวินัย มีศักยภาพของความเป็นผู้สละบ้านเรือนเข้าสู่ชีวิตนักบวชได้ มีความพร้อมทางร่างกายและจิตใจ มิได้อาศัยความเป็นนักบวชเพื่อหลบหนีปัญหาส่วนตัวบางประการ และปฏิบัติตนได้เหมาะสมกับฐานะพุทธทายาทและพุทธสาวก ที่สำคัญ คือ ต้องเป็นผู้ที่เรียนรู้ชีวิตในชุมชนชาวอโศก และปฏิบัติขัดเกลาจนได้รับการรับรองจากหมู่สงฆ์แล้ว มิใช่บุคคลทั่วไปที่นึกอยากจะบวชก็เข้าไปบวชได้เลย
ผู้ที่จะสมัครเข้าเป็นนักบวชชาวอโศก  มีข้อปฏิบัติดังนี้
          ๑. สมาทานรักษาศีล ๘ เป็นอารามิก (คนวัดชาย) หรือ อารามิกา (คนวัดหญิง) อยู่ภายใต้ขอบเขตการดูแลของพุทธสถาน ๑ ปีก่อน แล้วจึงขอเลื่อนฐานะเป็น “ปะ” (“ปฏิบัติ”) คือ ผู้ปฏิบัติธรรม โดยมีสมณะ ๕ รูป รับรองเป็นลายลักษณ์อักษรและคอยรับผิดชอบดูแล
          ๒. “ปะ” ปะชายนุ่งกางเกงสีน้ำตาล ปะหญิงผ้านุ่งสีน้ำตาลสวมเสื้อสีน้ำตาลแบบสุภาพตามที่มีอยู่แล้ว ไม่โกนศีรษะ และต้องยู่ปฏิบัติธรรมอย่างน้อย ๔ เดือน สำหรับชาย และ ๖ เดือนสำหรับหญิง
          ๓. “นาค” และ “กรัก” เมื่อครบกำหนดเป็น “ปะ” แล้วก็มีสิทธิเตรียมตัวบวช โดยแจ้งความจำนงค์ต่ออุปัชฌาย์เพื่อให้อุปัชฌาย์นำเรื่องเข้าพิจารณาในหมู่สมณะ
          เมื่อที่ประชุมมีมติเห็นชอบเป็นเอกฉันท์แล้ว จึงเลื่อนฐานะเป็น “นาค” (ชาย) และ “กรัก” (หญิง) หากพิจารณาแล้วยังไม่เห็นชอบ ก็ต้องอยู่ในฐานะเดิมต่อไปตามระยะเวลาที่มติในที่ประชุมเห็นสมควร
          “นาค” โกนศีรษะ สวมเสื้อคอกลมสีน้ำตาล มีขลิบสีน้ำตาลอ่อนที่คอเสื้อ
          “กรัก” โกนศีรษะ สวมเสื้อแบบเดียวกับ “นาค” และมีสไบสีกรัก
          ๔. “สามเณร” เมื่อฝ่ายชายอยู่ในฐานะ “นาค” มาได้อย่างน้อย ๔ เดือน ก็จะมีสิทธิ์ขอเลื่อนฐานะจากที่ประชุม เป็นสามเณร ถือศีล ๑๐
          ๕. “สมณะ” เมื่ออยู่ในฐานะสามเณรอย่างน้อย ๔ เดือนจึงมีสิทธิ์ขอเลื่อนฐานะเป็น “สมณะ” ที่สมบูรณ์ได้ (“สมณะ” คือ ผู้ที่ถือปฏิบัติจุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล และวินัย ๒๒๗ ข้อ)
          ส่วนฝ่ายหญิงต้องอยู่ในฐานะ “กรัก” อย่างน้อย ๑ ปี ๖ เดือน จึงมีสิทธิ์ขอบวชเลื่อนฐานะเป็น “สิกขมาตุ” ได้ ทั้งนี้การเลื่อนฐานะตั้งแต่ “ปะ” เป็นต้นไป ทั้งชายและหญิง ต้องอาศัยคะแนนเสียงเป็นเอกฉันท์
          สมณะที่บวชใหม่จะต้องศึกษาพระธรรมวินัยจาก “พระไตรปิฎก” โดยต้องอ่านพระไตปิฎก เล่ม ๑-๒ ให้จบเป็นอย่างน้อย ภายใน ๕ ปี
          ส่วนสามเณรที่บวชใหม่จะต้องรักษาศีลเป้าหมายของการบิณฑบาตจาหนังสือ “ศาสตร์และศิลป์ของการบิณฑบาต” ให้ชัดเจนก่อน มิฉะนั้นจะไม่มีสิทธิ์ออกบิณฑบาต
         
๗ องค์กรหลักในชุมชนบุญนิยมสันติอโศก
๑. มูลนิธิธรรมสันติ (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๐)
๒. กองทัพธรรมมูลนิธิ (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔)
๓. สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๗)
๔. ธรรมทัศน์สมาคม (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๔๓๑)
๕. มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๗)
๖. สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗)
๗. สมาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๗)
๘. มูลนิธิบุญนิยม (ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. ๒๕๔๙)

๑. มูลนิธิธรรมสันติ
วัตถุประสงค์
          ๑. ช่วงธำรงรักษาบำรุงส่งเสริมการเผยแพร่สัจธรรมของพระพุทธศาสนา
          ๒. ส่งเสริมการศึกษาปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา
          ๓. สนับสนุนส่งเสริมการจัดตั้งการดำเนินงานเกี่ยวกับการศึกษา พยาบาล สาธารณสุข หัตถกรรมอุตสาหกรรม
          ๔. บำรุงสาธารณประโยชน์โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
กิจกรรมสำคัญ
๑.     พิมพ์วารสารและหนังสือธรรมะเพื่อเผยแพร่ เช่น วารสารรายเดือน “สารอโศก” หนังสือพิมพ์อโศกรายปักษ์
๒.     โครงการ “โรงเรียนสัมมาสิกขา ฯ” โดยมีปรัชญาว่า “ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา”
๓.     โครงการสามอาชีพก็ชาติ (ขยะวิทยา-ปุ๋ยสะอาด-กสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ)
๔.     โครงการชุมชนปฐมอโศก (ต.พระประโทน อ.เมือง จ.นครปฐม)
๕.     โครงการฟื้นฟูและรักษาสุขภาพแวดล้อมในชุมชน
๖.     ร่วมกิจกรรมพุทธศาสนาและสาธารณกุศล โดยเฉพาะการบริจาคสิ่งพิมพ์อย่างสม่ำเสมอ
สถานที่ติดต่อ “มูลนิธิธรรมสันติ”
          ๖๗/๑ หมู่ ๕ ซ.นวมินทร์ ๔๔ ถ.นวมินทร์ คลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
          โทร.๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐ E-mail : thatfah2520@yahoo.com

๒. กองทัพธรรมมูลนิธิ
วัตถุประสงค์
๑.     ส่งเสริมการศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่สัจธรรมในพระพุทธศาสนา
๒.     สนับสนุนให้ประชาชนรักษาศีลในพระพุทธศาสนา
๓.     ร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
๔.     ไม่ดำเนินการเกี่ยวกับการเมืองแต่ประการใด
กิจกรรมสำคัญ
๑.     อบรมพัฒนาคุณภาพชีวิตแก่ข้าราชการและประชาชน
๒.     อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ
๓.     จัดรายการวิทยุเผยแพร่สารประโยชน์
๔.     สนับสนุนการจัดตั้งชุมชนพึ่งตนเองตามแนวทางพุทธศาสนา ได้แก่ “ชุมชนราชธานีอโศก” ตั้งอยู่ที่ริมฝั่งแม่น้ำมูล ต.บุ่งไหม อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เริ่มโครงการปี ๒๕๓๖ จนถึงปัจจุบัน
สถานที่ติดต่อ
          ๖๕/๕ หมู่ ๕ ซอยนวมินทร์ ๔๔ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตคลองกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
          โทร. ๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐ E-mail : ktf2524@doramail.com

๓. สมาคมผู้ปฏิบัติธรรม
วัตถุประสงค์
๑.     ธำรงรักษา บำรุงสงเสริม และเผยแพร่สัจธรรมของพระพุทธศาสนา
๒.     ส่งเสริมการศึกษาปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนา
๓.     ส่งเสริมการพิมพ์หนังสือธรรมะ เท็ปธรรมะ และอุปกรณ์ในการเผยแพร่ธรรมะออกสู่สาธุชน
๔.     บำรุงสาธารณประโยชน์โดยไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง
กิจกรรมสำคัญ
๑.     จัดทำวารสาร “ดอกหญ้า” ราย ๒ เดือน และวารสาร “ดอกบัวน้อย” ราย ๒ เดือน แจกแก่สมาชิก (ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘)
๒.     เผยแพร่อาหารมังสวิรัติ โดยชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย (ชมร.) ปัจจุบันมี ๓ สาขา
๓.     ชมรมสัมมาสิกขาพุทธธรรม รับนักเรียนพุทธธรรมวันอาทิตย์ ฯ
๔.     ห้องสมุดสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม
๕.     โรงสีสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม จ.ขอนแก่น รับสีเฉพาะข่าวกล้อง (ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๔)
๖.     โรงสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม จ.จันทบุรี (ก่อตั้งเมื่อปี ๒๕๓๕)
สถานที่ติดต่อ
          ๖๗/๓๐ หมู่ ๕ ซอยนวมินทร์ ๔๖ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
          โทร. ๐-๒๓๗๔-๕๖๓๑ E-mail : ppaniya@excite.com

๔. ธรรมทัศน์สมาคม
วัตถุประสงค์ และกิจกรรมสำคัญ
๑.     ส่งเสริมการศึกษาปฏิบัติจริยธรรมของสมาชิก และสาธุชนทั่วไป ตามหลักสัจธรรมที่เป็นแก่นแท้ของพระพุทธศาสนา
๒.     ส่งเสริมกิจกรรมสาธารณประโยชน์โดยไม่มุ่งผลทางการเมือง
๓.     ส่งเสริมงานเผยแพร่พุทธธรรม ด้วยสื่อสาระสัจจะทุกประเภท เช่น หนังสือเล่ม หนังสือพิมพ์นิตนสาร เท็ปเสียง วิทยุ โทรทัศน์ วิดีโอ สไลด์ จิตรกรรม ดนตรี แผ่นภาพ โปสเตอร์ ภาพยนตร์ สิ่งตีพิมพ์ และสื่อสารเผยแพร่ใด ๆ
๔.     ไม่มีนโยบายหรือเจตนาจัดตั้งโต๊ะบิลเลียดเพื่อเล่นการพนัน พนันเอาทรัพย์สินกัน และไม่มีเจตนาหาผลกำไรอย่างใด
สถานที่ติดต่อ “ธรรมทัศน์สมาคม”
          ๖๗/๕๐ หมู่ ๕ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
          โทร. ๐-๒๓๗ถ-๔๕๐๑ E-mail : tta2531@lycos.com

๕. มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน
วัตถุประสงค์
๑.     ส่งเสริมจริยธรรมในการแก้ไขปัญหาโรคเอดส์ ตลอดจนปัญหาต่าง ๆ ทางสังคม
๒.     ส่งเสริมให้คนในสังคมช่วยเหลือเกื้อกูลกัน มีความเอื้ออาทรต่อกันโดยการใช้สื่อเผยแพร่ต่าง ๆ รวมทั้งการฝึกอบรม
๓.     ส่งเสริมและสนับสนุนแบบวิถีชีวิตที่ช่วยรักษาธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
๔.     ดำเนินการเพื่อสาธารณประโยชน์ หรือร่วมมือกับองค์กรการกุศลอื่น ๆ เพื่อสาธารณประโยชน์
๕.     ไม่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับการเมืองแต่ประการใด
กิจกรรมสำคัญ
๑.     โครงการจัดรายการวิทยุทั้งภาค AM และ FM ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด เป็นเพื่อนทางจิต มิตรทางใจ และรายการทางโทรทัศน์
๒.     โครงการร่วมจัดกิจกรรมในงานสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา ในเทศกาลวันวิสาขบูชา
๓.     โครงการศึกษาพระไตรปิฎก เดินจงกลม นั่งเจโดสมถะสนทนาธรรมทุกวันอาทิตย์
๔.     โครงการบริจาคและเผยแพร่สื่อธรรมะในโอกาสต่างๆ
สถานที่ติดต่อ
          ๖๙/๑๕๔ ซอยนวมิทร์ ๔๘ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
          โทร. ๐-๒๗๓๓-๔๐๐๐ โทรสาร ๐-๒๗๓๓-๕๕๕๔
๖. สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา (สศส.)
วัตถุประสงค์
๑.     ส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นสาธารณประโยชน์ และสนับสนุนกิจกรรมทุกประเภทที่เป็นการเอื้อเฟื้อเกื้อกูล ยังผลประโยชน์แก่มวลสมาชิกโดยรวม โดยไม่ชัดต่อศีลธรรมอันดี และกฎหมายบ้านเมือง
๒.     แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร ประสานสัมพันธ์พี่น้องให้รักกลมเกลียวกันยิ่ง ๆ ขึ้น
๓.     มุ่งส่งเสริมการสร้างอาชีพเป็นสัมมาอาชีพแก่มวลสมาชิก
๔.     การดำเนินการทั้งปวงด้วยวิถีทางแห่งพุทธศาสนา
กิจกรรมสำคัญ
๑.     โครงการจัดกิจกรรมกลุ่มร่วมกันในนาม “เครือข่ายพลังเยาวชน (Young Power Network)”
๒.     โครงการจัดงาน “คืนสู่เหย้า เข้าคืนถ้ำ สัมมาสิกขา”
๓.     โครงการจัดโรงบุญมังสวิรัติในโอกาสต่าง ๆ
สถานที่ติดต่อ “สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา”
          ๖๔๔ หมู่ ๕ ซอยนวมินทร์ ๔๔ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
          โทร. ๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐
๗. สามาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม (นศ.ปธ.)
วัตถุประสงค์
๑.     ผนึกรวมตัว รวมแรง รวมใจกันของผู้ใฝ่ธรรม ให้เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันโดยไม่แบ่งแยกสี หมู่กลุ่มหรือสถาบัน มวลสมาชิกมีส่วนร่วมคิด ร่วมตัดสินใจ ร่วมใจทำกิจวัตร กิจกรรม กิจการ พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน
๒.     เชื่อมร้อยเครือข่าย ประสานสัมพันธ์ แลกเปลี่ยน ประสบการณ์ ข้อมูลข่าวสาร องค์ความรู้ต่าง ๆ ทั้งทางโลก และทางธรรม
๓.     สนับสนุนส่งเสริมสัมมาอาชีพ ทักษะการดำรงชีวิต คุณภาพชีวิต จริยธรรม คุณธรรม ตามทฤษฎีบุญนิยม และเศรษฐกิจพอเพียง
๔.     จัดหา จัดการทุนทรัพย์ อุปกรณ์ สถานที่ เพื่อสนับสนุน ส่งเสริมงานด้านการศาสนา การสื่อสาร เศรษฐกิจพาณิชย์ การศึกษา การเงินการคลัง อุตสาหกิจชุมชน สุขภาวะ การบริโภค กสิกรรม ชุมชนสังคมสิ่งแวดล้อม การเมืองในส่วนที่เหมาะสมโดยไม่มุ่งแสวงหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน
๕.     สนับสนุนส่งเสริมกิจกรรมที่เป็นการกุศลสาธารณประโยชน์ ซึ่งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมอันดีงามของประชาชน และบทบัญญัติของกฎหมาย
๖.     การดำเนินกิจวัตร กิจกรรม กิจการทั้งปวง ไม่ขัดกับหลักธรรมในพระพุทธศาสนา
กิจกรรมสำคัญ
๑.     โครงการจัดโรงบุญมังสวิรัติ ในโอกาสต่างๆ
๒.     โครงการจัดงาน “คืนสู่เหย้าเข้าคืนรัง นศ.ปธ.”
๓.     โครงการอบรมเยาวชน โครงการร่วมมือกับศูนย์บุญนิยมสิกขา
๔.     โครงการจัดรายการวิทยุ ๑๐๗.๗๕ MHz (เช่น รายการที่นี่มีแต่เพื่อน, กฎหมายเพื่อประชาชน ฯ)
สถานที่ติดต่อ “สมาคมนักศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม”
          ๖๔๔ หมู่ ๕ ซอยนวมินทร์ ๔๔ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพฯ ๑๐๒๔๐
          โทร. ๐-๒๓๗๔-๕๒๓๐

๘. มูลนิธิบุญนิยม
วัตถุประสงค์
๑.     เพื่อสนับสนุนการทำงานเผยแพร่อุดมการณ์บุญนิยม
๒.     เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานขององค์กรบุญนิยม และหรือสถาบันบุญนอยมที่ก่อตั้งขึ้นเพื่อทำงานตามอุดมการณ์บุญนิยม
๓.     ดำเนินการหรือร่วมมือกับองค์การการกุศลอื่นเพื่อสาธารณประโยชน์
๔.     ส่งเสริมการปกครองในระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์เป็นประมุขด้วยความเป็นกลาง และไม่ให้การสนับสนุนด้านการเงินหรือทรัพย์สินแก่นักการเมือง หรือพรรคการเมืองใด
สถานที่ติดต่อ “มูลนิธิบุญนิยม”
          ๖๕/๔๕ หมู่ ๕ ซอยนวมินทร์ ๔๔ ถนนนวมินทร์ แขวงคลองกุ่ม เขตบึงกุ่ม กรุงเทพ ฯ ๑๐๒๔๐
          โทร. ๐-๒๗๓๓-๖๐๖๓ โทรสาร. ๐-๒๓๗๕-๙๘๐๓ E-mail : Khonthan@gmail.com


วิถีชีวิตในระบบสังคมแบบบุญนิยม
          “ระบบบุญนิยม” เริ่มต้นจากการ “สร้างคนดีมีศีล” ให้ได้ก่อน คนดีที่ว่านั้นคือบุคคล ผู้ถือศีล ๕ ละอาบายมุขเป็นอย่างน้อย และจะต้องฝึกฝนตนสู่ทิศทางแห่งโลกุตระ คือ ลดละการบำเรอตน เข้าถึงอริยสัจธรรมไปตามลำดับขั้น จนเกิด “โลกุตรจิต” ซึ่งเป็นผลมาจากการปฏิบัติได้จริง ไม่หลบหลีกปลีกเดี่ยวอยู่ตามเขาตามถ้ำ
          หากแต่อยู่กับโลกอย่างรู้เท่าทัน (โลกวิทู) รู้เท่าทันความทุกข์ รู้เท่าทันความเป็นไปได้ของโลก เห็นชัดในกิเลสของตนที่ยังมัวเมาลุ่มหลงกับลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อันเป็นเหตุแห่งการแก่งแย่งเอารัดเอาเปรียบเบียดเบียนกันอยู่ในสังคม
          ดังนั้น คนดี จึงเข้าไปขวนขวายอนุเคราะห์สังคม อนุเคราะห์โลก (โลกานุกัมปายะ) ช่วยเหลือสังคมอย่างเสียสละจริงใจ ซึ่งตรงตามลักษณะของพุทธศาสนาที่ว่า เป็นไปเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงชนทั้งหลาย (พหุชนหิตายะ) และเพื่อความสุขแก่ปวงชนทั้งหลาย (พหุชนสุขายะ)
          เป้าหมายของการทำงานใน “ระบบบุญนิยม” จึงไม่ได้มุ่งค่าตอบแทนที่เม็ดเงินยิ่งไปกว่าการได้รู้จักตนเองด้วยอาวุธแห่งไตรสิขาและตรวจตน มองตน มีสัญชาติแห่งคนตรงไม่ย่อท้อต่อกิเลสตัวใด เพราะถ้าเราไม่เห็นกิเลส ไม่รู้จักตัวเองเราจะถูกกิเลสทำลาย ไม่สามารถพัฒนาตนเองให้พ้นกิเลสได้ และนี้คือค่าตอบแทนที่สูงค่าของผู้ทำงานทุกคน
          กิจการงานต่าง ๆ ของขาวอโศกใน “ระบบบุญนิยม” สามารถจัดแบ่งลักษณะให้เห็นได้ชัดในการค้าขาย ๔ ระดับ ดังนี้
          ขั้นที่ ๑ ขายให้ต่ำกว่าราคาท้องตลาดมากที่สุดเท่าที่จะทำได้เพียง แต่พอเป็นเครื่องอาศัยตามความจำเป็นของชีวิตซึ่งมีระดับความสันโดษไม่เท่ากัน ไม่เหมือนกัน ซึ่งยังไม่ถือว่าเป็นบุญนิยมทีเดียว
          ขั้นที่ ๒ ขายเท่าทุน ยังไม่มีบุญ แต่ก็ไม่มีบาป ให้พออาศัยต่อทุนทำงานต่อไป ถือว่าเป็นการเริ่มต้นบุญนิยมขั้นแรก
          ขั้นที่ ๓ ขายต่ำกว่าทุนลงไป โดยอาจไม่รวมค่าแรง ค่าโสหุ้ยต่าง ๆ ค่าวัตถุดิบซึ่งผลิตเอง หรือเก็บจากธรรมชาติ ขายต่ำลงได้มากเท่าไหร่ก็เป็นบุญมากเท่านั้น
          ขั้นที่ ๔ แจก (ให้เปล่า) เป็นการสงเคราะห์เกื้อกูลกันไป
          บริษัท พลังบุญ จำกัด  ซึ่งได้ทำพิธีเปิดดำเนินงานอย่างเป็นทางการ เมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๐ ด้วยทุนจดทะเบียน ๕ ล้านบาท ถือเป็นแม่บทของการค้าขายในระบบทุนนิยมอันสามารถปรากฏให้เห็นได้ทั้งด้านรูปธรรม และนามธรรม
          ด้าน รูปธรรม คือ การดำเนินกิจการค้า โดยมีเป้าหมายเพื่อรับใช้สังคมทั่วไปอย่างเปิดกว้างไม่เลือกตัวบุคคลผลประโยชน์ที่สังคมจะได้รับ คือ การได้ซื้อสินค้าในราคาถูกและยุติธรรม ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ก็เป็นผล สืบเนื่องมาจากความสำเร็จในการพัฒนาบุคลากรของบริษัท
          ด้าน นามธรรม คือ การพัฒนาปรับปรุงแก้ไขตัวตนให้เกิดญาณปัญญาในการฝึกหัดตนให้มีความเสียสละ ซื่อสัตย์ ลดละกิเลสโลภ ขยัน สร้างสรรค์ มีความประณีต และประหยัด โดยเน้นการฝึกกินอยู่อย่างเรียบง่าย กินน้อย ใช้น้อย ไม่จำเป็นต้องมีรายได้สูง หรือไม่มีเลย โดยสละรายได้เข้ากองทุนบุญนิยม ซึ่งจะเป็นส่วนสร้างระบบสวัสดิการดูแลพนักงานภายในบริษัท
          นอกจาก บจ.พลังบุญ แล้ว ปัจจุบันได้ก่อให้เกิดบริษัทต่างๆ ตามมา คือ บจ.แด่ชีวิต บจ.ฟ้าอภัย บจ.ขอบคุณ เป็นต้น
          ระบบบุญนิยม จึงคือ การประกอบกิจการค้า โดยเน้นความซื่อสัตย์สุจริต ไม่ค้ากำไรเกินควร ผลประโยชน์ทางการค้าจะต้องหมุนเวียนกลับคืนมาสู่ลูกค้า เป็นระบบที่จะ เกิดขึ้นได้ต่อเมื่อมนุษย์มีความเจริญทางปัญญาสูงสุดตามทฤษฎีของพระพุทธเจ้า คือจะต้องลกละกิเลสต่าง ๆ ทั้งความโลภ โกรธ หลง และรู้จักเสียสละเป็นมนุษย์พัฒนาหรือเรียกว่า มนุษย์วรรณะ ๙ ที่มีความขยันหมั่นเพียร มักน้อย สันโดษ ไม่สะสม ซึ่งจะพัฒนาได้มากน้อยก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพและคุณธรรมของบุคคล
          โดยมีความเชื่อมั่นว่า คุณค่าที่มนุษย์ควรจะได้รับเป็นทรัพย์ติดตัวไปอย่างแท้จริงคืออาริยทรัพย์ คือ เสียสละจริง ๆ ลดละกิเลสให้มากที่สุด ด้วยการให้ทาน บริจาคออกไป และช่วยเหลือเกื้อกูลผู้อื่น โดยมีหลักว่า ผลได้ น้อยกว่าต้นทุน เรียกว่า กำไรอาริยทรัพย์
          ผลได้ เท่ากับต้นทุน เรียกว่า เสมอทุน
          ผลได้ มากกว่าต้นทุน เรียกว่า ขาดทุน, เป็นหนี้


อุดมคติแห่งบุญนิยม
          เป็นอุดมคติที่พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ ต้องการปลูกฝังหยั่งลงในสังคม เพื่อสร้างให้เป็นวัฒนธรรมปะเพณี เหมือนชาวอินเดียที่ไว้หนวกเครา ไว้ผมยาวกันมาตลอดทุกยุคทุกสมัย ไม่วาสังคมจะเปลี่ยนไปทางแฟชั่นเป็นอย่างใด ชาวอินเดียก็ยังรักษาหยวกเครา และผ้าโพกผมยาวบนศีรษะมาโดยตลอด
          ในระบบบุญนิยม มีฐานะ ๔ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ อันประกอบด้วย นักบวช นักบริหาร นักบริการ และนักผลิต โดยท่านให้ความสำคัญกับ นักผลิต ที่เป็นชาวไร่ชาวนาผู้สร้างอาหารขึ้นมาเลี้ยงโลก แม้พระศาสดาก็ได้ตรัสไว้ว่า “อาหารเป็นหนึ่งในโลก”
          พ่อท่านฯ มีเจตนารมณ์นำพาชาวอโศกมาเป็นชาวไร่ชาวนา ในระบบกสิกรรมธรรมชาติให้มากขึ้น เพราะเป็น งานบุญ มากกว่าอาชีพอื่น ๆ
          “ค่านิยม” คนยิ่งเหยียดหยามชาวไร่ชาวนากรรมการต่ำลง ๆ เท่าใด “ค่าแท้” ของชาวไร่ชาวนากรรมกรยิ่งสูงจริงขึ้นมากเท่านั้น ๆ
          ส่วน นักบริหาร หรือพ่อค้า แม่ค้านั้น พ่อท่านให้หลักการค้าขายในระบบบุญนิยมเอาไว้ว่า
๑.     ต้องพยายามขายให้ต่ำกว่าราคาตลาดให้ได้มากยิ่งขึ้น ๆ ที่สุด
๒.     หากสามารถขายได้เท่าทุนยิ่งดี
๓.     ถ้าสามารถขายได้ต่ำกว่าทุน ก็จะได้บุญ เป็นกำไรอาริยะเพิ่มขึ้น
๔.     ยิ่งสามารถให้ฟรีได้เลย โดยที่ตัวเองก็สามารถอยู่ได้ ก็ยิ่งเป็นความยอดเยี่ยมของมนุษย์ในระบบบุญนิยมทีเดียว
          สำหรับ นักบริหาร นักปกครอง หรือนักการเมืองนั้น แบ่งเป็น ๓ ระดับ คือ
การเมืองปุถุชน – การเมืองกัลยาณชน – การเมืองอาริยชน
          การเมืองระดับอาริยชน คือ การเมืองที่เป็นโลกุตระ นักการเมืองจะต้องมีคุณธรรมถึงขั้นเป็นอาริยบุคคล ไม่เป็นทาสของโลกธรรม ลาภ ยศ สรรเสริญ โลกียสุข อย่างมั่นคงจริงใจ ตามฐานะแห่งความเป็นอาริยะจริงนั้นๆ (โดยได้มากบ้างน้อยบ้าง ตามลำดับฐานะแห่งภูมิธรรมของนักการเมืองแต่ละคน) ซึ่งจะต้องมีความเป็นอยู่ที่ ยากจน กว่านักบริหารและนักผลิต
          ส่วน นักบวช หรือสมณะ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์เตือนให้ระวังอันตรายจากเสือ ๒ ตัว คือ สตรี และ สตางค์ ต้องบริสุทธิ์ สะอาดจาก ๒ สิ่งนี้ ให้มีความรับผิดชอบต่อสังคม ไม่อยู่แบบฤๅษีหนีโลก นักบวชในพระพุทธศาสนาจะต้องมี มรรค ๘ เป็นเครื่องดำเนินชีวิต เพื่อยังประโยชน์ตน - ประโยชน์ท่าน ให้สมบูรณ์โดยมีสัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ (มีการงานที่เป็นสัมมาคุ้มค่าข้าวค่าน้ำที่เขาถวาย)
กิจการงานแห่งบุญนิยม
          กิจการในการพึ่งตนเองตามทฤษฎีเศรษฐกิจพอเพียงจนเป็นศูนย์ศึกษาและเรียนรู้ด้าย ชุมชนเข็มแข็ง ในแนวทาง “บุญนิยม” ประกอบด้วยกิจกรรมหลัก ๑๒ ด้านคือ
                    ๑. ด้านศาสนา ประกอบด้วยองค์กรทั้ง ๘ (มูลนิธิธรรมสันติ, กองทัพธรรมมูลนิธิ, สมาคมผู้ปฏิบัตืธรรม, ธรรมทัศน์สมาคม, มูลนิธิเพื่อนช่วยเพื่อน, สมาคมศิษย์เก่าสัมมาสิกขา, สมาคมนัดศึกษาผู้ปฏิบัติธรรม, มูลนิธิบุญนิยม)
                    ๒. ด้านการเมือง ประกอบด้วย พรรคเพื่อฟ้าดิน มีคำขวัญว่า “เศรษฐกิจพึ่งตนเองชุมชนเข็มแข็ง ประชามีธรรม ประเทศมีไท”
                    ๓. ด้านการสื่อสาร ประกอบด้วย บจ.ฟ้าอภัย สำนักพิมพ์กลั่นแก่น ธรรมปฏิกรรม ธรรมปฏิสันถาร ธรรมปฏิสัมพันธ์ ธรรมโสด ธรรมรูป โครงงานถอดเทปฯ ห้องสมุด กลุ่มสุดฝั่งฝัน กลุ่มสะพานดาว อินเตอร์เน็ตอโศก สถานีโทรทัศน์เพื่อมนุษยชาติ (FMTV) วิทยุชุมชน
                    ๔. ด้านเศรษฐกิจ พาณิชย์ ประกอบด้วย
-          บริษัท พลังบุญ จำกัด (ขายปลีก)
-          บริษัท แด่ชีวิต จำกัด (ขายส่ง)
-          บริษัท ขอบคุณ จำกัด (ตัวแทนจำหน่ายผลผลิตจากชุมชนชาวอโศก/ขายส่ง)
-          ร้านกู้ดินฟ้า ๑ จำหน่ายผัก ผลไม้ไร้สารพิษ จากเครือแห กสิกรรมไร้สารพิษ ฯ
-          สำนักงานทรัพย์สินทางปัญญา ชาวอโศก
          ๕. ด้านการศึกษา มีปรัชญาการศึกษาว่า “ศีลเด่นเป็นงาน ชาญวิชา” ประกอบด้วย
-          โรงเรียนสัมมาสิกขาสันติอโศก (สส.สอ.)
-          สัมมาสิกขาลัยวังชีวิต วิชชาเขตสันติอโศก (ม.วช.)
-          สถานแรกรับเด็กอ่อนวัยเรียนสันติบาล
          ๖. ด้านการเงิน การคลัง ประกอบด้วย
-          กลุ่มสัจจะออมทรัพย์สันตินาครบุญนิธิ
-          กองบุญสวัสดิการ
-          กองบุญคุ้มครองภัย
-          กองสาธารณโภคี
          ๗. ด้านอุตสาหกิจชุมชน ประกอบด้วย
-          เครือแห บจ.ขอบคุณ
-          ฐานสันติชีวภาพ (ท่านผลิตภัณฑ์ซักล้างโดยใช้น้ำหมักชีวภาพ ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม)
-          โรงสีสมาคมผู้ปฏิบัติธรรม (จ.ขอนแก่น)
-          แผงอาหารมังสวิรัติที่ ๒๒ (ภายในโรงอาหารที่ ม.รามคำแหง)

                   ๘. ด้านสุขภาวะ ประกอบด้วย
          - หน่วยตรวจสอบและพัฒนาคุณภาพผลผลิตของชาวอโศก (ต.อ.)
          - กลุ่มงานการพัฒนาระบบสุขภาพชาวอโศก (ที่ปฐมพยาบาล,คลินิกทันตกรรม)
                   ๙. ด้านการบริโภค ประกอบด้วย
          - ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาจตุจักร (ชมร.กทม.)
          - ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาหน้าสันติอโศก (ชมร.สตอ.)
          - ชมรมมังสวิรัติแห่งประเทศไทย สาขาเชียงใหม่ (ชมร.ช.ม.)
                   ๑๐. ด้านกสิกรรม ประกอบด้วย
          - เครือแหกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย (คกร.)
          - ฐานสันติชีวภาพ (ผลิตปุ๋ยน้ำหมักชีวภาพ “พลังขวัญดิน”)
          - สวนบุญผักพืช คลอง ๑๓
          พ่อท่าน สมณะโพธิรักษ์ ให้ความสำคัญในเรื่อง “กสิกรรม” มาก ท่านได้กล่าวไว้ว่า มีเพียง ๓ อาชีพ นี้เท่านั้นที่จะกู้ชาติได้ คือ กสิกรรมธรรมชาติ ขยะวิทยา และ ปุ๋ยสะอาด
          โดยเฉพาะประเทศไทย เป็นประเทศที่มีภูมิอากาศเหมาะอย่างยิ่งในการทำกสิกรรม ท่านจึงเน้นย้ำให้ชาวอโศก ต้องเป็นหลัก ในเรื่องของกสิกรรมธรรมชาติไร้สารพิษ เพราะ “อารเป็นหนึ่งของโลก” ซึ่งมีหลักอยู่ ๓ ประการ คือ ไม่ไถพรวนดิน ไม่ใช้ปุ๋ยเคมี และไม่ใช้ยาฆ่าแมลง
          “หัวใจ” ของการทำกสิกรรมธรรมชาติ คือ การบำรุงดินให้อุดมสมบูรณ์ก่อน เพราะดินที่ไม่ดีนั้น คือ ดินป่วย ผลผลิตที่ได้มาก็ไม่สมบูรณ์ ผู้บริโภคก็จะป่วยด้วย
          เรียกว่า sick soil – sick plant – sick people
                   ดินป่วย  -  ผักป่วย  -  ควนป่วย        
          ดังนั้น ความอุดมสมบูรณ์ของดิน ก็คือความอุดมสมบูรณ์ของธรรมชาติ และท่านได้ชี้ให้เข้าใจถึง “ปรัชญาธรรมชาติ” ว่า พึ่งตนเอง ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม สร้างสิ่งแวดล้อม เอื้อเฟื้อพี่น้อง
          ๑๑. ด้านศิลปะ วัฒนธรรม
          ส่งเสริมให้เกิดความเข้าใจศิลปะว่า คือ มงคลอันอุดม คือเหตุที่ก่อให้เกิดความประเสริฐแก่มนุษย์ นำพามนุษย์ไปสู่ความเจริญอันสูงสุด ซึ่งมีทั้ง สุนทรียศิลป์ มีทั้งแก่นศิลป์ และใช้ศิลปะในการสร้างสรรค์
          สุนทรียศิลป์ คือสิ่งที่สร้างที่ประกอบขึ้นเพื่อชี้ชวนให้คนสนใจ เพื่อไปเอา แก่นศิลป์หรือสาระ ไม่ว่าจะเป็นการวาด การเขียน การปั้น วรรณกรรม ท่าทาง ลีลา ฯ จะชี้ชวนนำไปสู่สารประโยชน์อันเป็นคุณค่าที่แท้จริงแก่มนุษย์ ไม่ใช่เป็นมหรสพมอมเมาหรือเป็นอนาจาร เช่น ถ้าเขียนภาพโป๊เปลือย เมื่อคนดูภาพแล้วเกิดการลดราคะได้ ก็เป็นศิลปะ แต่ถ้าดูแล้วราคะก็ขึ้น อย่างนี้เป็นอนาจาร
          งานศิลปะดังกล่าว สามารถมองเห็นเป็นรูปธรรมได้จาก “พระวิหารพันปีเจดีย์บรมสารีริกธาตุ”
          ๑๒. ด้านชุมชม สังคม สิ่งแวดล้อม
          ประกอบด้วย ชุมชนบุญนิยม เครือข่าย เครือแห และกลุ่มบุญนิยมต่าง ๆ ของชาวอโศก สถาบันขยะวิทยาด้วยหัวใจ (สขจ.) ศูนย์บุญนิยมสิกขาสันติอโศก


หลักการแห่งบุญนิยม
นโยบายการค้า
          ๑. ขายถูก
          ๒. ไม่ฉวยโอกาส
          ๓. ขยัน
          ๔. อุตสาหะ
          ๕. ประณีต ประหยัด
อุดมคติ
          ๑. ขายถูกกว่าตลาด
          ๒. ขายเท่าทุน
          ๓. ขายต่ำกว่าทุน
          ๔. แจก (ให้เปล่า)
อุดมการณ์
          ๑. แรงงานฟรี
          ๒. ปลอดหนี้
          ๓. ไม่มีดอกเบี้ย
          ๔. เฉลี่ยทรัพย์เข้ากอบุญ
หลักการตลาด
          ๑. ขายของที่ดี
          ๒. ราคาถูก
          ๓. ซื่อสัตย์
          ๔. มีน้ำใจ
          ๕. ขายสด งดเชื่อ (เครดิตเหนือเครดิต)
ประวัติ
“ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก”

          มกราคม ๒๔๔๐ ได้มีการประชุมร่วมกัน ณ ศาลาส่วนกลาง พุทธสถานสันติอโศก ระหว่างผู้ปฏิบัติธรรมในฐานะต่าง ๆ คือ อาคันตุกะจร (ผู้มาปฏิบัติพักค้างเป็นครั้งคราว) อาคันตุกะประจำ (ผู้มาปฏิบัติค้างประจำ) อารามิก (ผู้สมัครอยู่วัดฝ่ายชาย) อารามิกา (ผู้สมัครอยู่วัดฝ่ายหญิง) ตลอดทั้งผู้ที่พักอาศัยอยู่ใกล้พุทธสถาน ฯ รวม ๕๘ คน โดยมีนักบวช ๕ รูป เป็นประธาน
          นับเป็นการเริ่มต้นของการรวมกลุ่มเพื่อความสมานสามัคคี สร้างความเข้าใจอันดีต่อกัน ทำให้ได้ทราบทุกข์ สุข ปัญหาความเป็นไปของการทำงานในหน่วยงานด้านต่าง ๆ อันเป็นกิจการในระบบบุญนิยมดังได้กล่าวมาแล้ว รวมถึงชาวชุมชน ฯ ที่พักอาศัยอยู่ใกล้พุทธสถาน ฯ
          นับแต่นั้นก็มีการ “ประชุมชุมชน ฯ” กันทุกเดือน โดยมีพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ เป็นประธาน
          ต่อมาในปี ๒๕๔๔ จึงได้จัดตั้งเป็น ชุมชนขึ้นอย่างเต็มรูปแบบ และเนื่องจากเรามีวิถีชีวิตอย่างระบบ บุญนิยม ดังกล่าวแล้ว เราจึงใช้ชื่อว่า ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก เช่นเดียวกับ ชุชมชนบุญนิยมอื่น ๆ ของชาวอโศก (ชุชมบุญนิยมปฐมอโศก, ชุมชนบุญนิยมศีรษะอโศก, ชุมชนบุญนิยมราชธานีอโศก ฯ)
          ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก มิได้จำกัดขอบเขตเฉพาะผู้ปฏิบัติธรรมที่อยู่บริเวณใกล้เคียงพุทธสถานเท่านั้น ญาติธรรมในกรุงเทพ ฯ ที่มาฟังธรรม ร่วมกิจวัตร – กิจกรรม ตามแนวคำสอนของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (หลักอาริยมรรคมีองค์ ๘) ซึ่งมาพักค้างเป็นครั้งคราว และมีความตั้งใจจริงในการวิรัติตนด้วยการ ถือศีล ๕ ละอบายมุข รับประทานอาหารมังสวิรัติ ก็ถือเป็นสมาชิกชุมชนบุญนิยมสันติอโศกด้วยเช่นกัน
สาธารณโภคี : เป้าหมายและนโยบายของชุมชนบุญนิยมสันติอโศก
          ชาวชุมชน ฯ อยู่กันอย่างเอื้อเฟื้อเกื้อกูล โดยระบบส่วนกลาง เรียกว่า สาธารณโภคี คือการเฉลี่ย แบ่งปัน ตามหลักสาราณียธรรม ๖ คือ เมตตากายกรรม เมตตาวจีกรรม เมตตามโนกรรม สาธารณโภคี ศีลสามัญญตา
          ชาวอโศกจึงมีหลักปรัชญาว่า พึ่งตนเองได้ สร้างสรรค์ ขยันอดทน ไม่เอาเปรียบใคร ตั้งใจเสียสละ
          ทำให้เกิดอานิสงส์ หรือเกิดผลตาม พุทธพจน์ ๗ คือมีความระลึกถึงกัน รักกัน เคารพกัน สงเคราะห์กัน ไม่วิวาทกัน สมานสามัคคีกัน เป็นเอกีภาวะ (ความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกัน)
          เราจึงอยู่ร่วมกันอย่างอบอุ่นเสมือนครอบครัวใหญ่ พึ่งพาอาศัย ช่วยเหลือดูแลกันยามเจ็บป่วย แม้ไม่มีทรัพย์สมบัติ และเงินเดือนที่เป็นรายได้ส่วนตัวเลย
          ธุรกิจการค้าภายในชุมชน ฯ อันเป็น “บุญนิยม” ดังกล่าวแล้ว มีจุดมุ่งหมายเพื่อบริการสมาชิกในชุมชน ฯ เป็นหลัก แต่ก็ได้รับความนิยมจากประชาชนในสังคมเสมอมา ทั้งเพิ่มขึ้น เจริญขึ้นเรื่อย ๆ เพราะเราไม่เอาเปรียบผู้บริโภค และมิได้มุ่งหมายเอากำไรสูงสุดเป็นเป้าหมาย
          อนึ่ง ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก มี หน่วยตรวจสอบ และ พัฒนาคุณภาพผลผลิตของชาวอโศก (ต.อ.) เพื่อให้สินค้าที่ผลิตมีคุณภาพดี ไม่เป็นพิษ ไม่เป็นภัย ทำให้ประชาชนเชื่อถือไว้วางใจ
เราจึงมีเศรษฐกิจสัมพันธ์กับสังคมอย่างเจริญดีอย่างมีคุณภาพ

กิจวัตรประจำวันของชาวชุมชนบุญนิยมสันติอโศก
๐๓.๓๐ น. – ๐๕.๐๐ น.        ทำวัตรเช้า เสียงระฆังดังขึ้นทุกคนมารวมกันที่ ศาลาส่วนกลาง เพื่อทำวัตรเช้า (สวด                       มนต์ และฟังธรรมจากสมณะและสิกขมาตุ)
๐๕.๐๐ น. – ๐๕.๓๐ น.        นักเรียนสัมมาสิกขามาทำวัตรเช้า
๐๕.๐๐ น. – ๐๘.๔๕ น.        ชาวชุมชนแยกย้ายกันไปทำงานในฐานที่ตนรับผิดชอบ
๐๕.๕๕ น. – ๐๗.๓๐ น.        สมณะ สามเณร และสิกขมาตุออกบิณฑบาต
๐๘.๔๕ น. – ๑๑.๐๐ น.        ฟังธรรมและรับประทานอาหารร่วมกันเสียงระฆังดังขึ้น ทุกคนมารวมกันที่ศาลา                           ส่วนกลางอีกครั้ง เพื่อฟังธรรมจากสมณะ และสิกขมาตุ จากนั้นรับประทานอาหาร                        ร่วมกัน ระหว่างนี้มีวีดิทัศน์รายการที่น่าสนใจ สารคดี หรือข่าวสารให้ชมไปด้วย
๑๑.๐๐ น. – ๑๖.๓๐ น.        แยกย้ายกันไปทำงานในฐานงานที่รับผิดชอบ
๑๖.๓๐ น. – ๑๗.๓๐ น.        ฝึกเจโตสมถะ (นั่งสมาธิ)
๑๗.๓๐ น. – ๑๘.๐๐ น.        พักผ่อน ทำกิจส่วนตัว
๑๘.๐๐ น. – ๑๙.๓๐ น.        วิปัสสนาจอแก้ว (ชมวีดิทัศน์ที่ผ่านการตรวจสอบจากสมณะแล้ว โดยมีหลักการดู ๔                       ประการ คือ เกิดอาริยญาณ, ทำการปฏิบัติ, อัดพลังกุศล และฝึกฝนโลกวิทูเพิ่ม                                       พหูสูต)
๑๙.๓๐ น. – ๒๐.๓๐ น.        ศึกษา “พระธรรมก่อนนอน”
๒๐.๓๐ น. – ๒๑.๐๐ น.        ทำกินส่วนตัว (เข้านอนไม่เกิน ๓ ทุ่ม)

ประเพณีและวัฒนธรรมในชุมชนบุญนิยมสันติอโศก
          ชาวชุมชน ฯ ได้ร่วมกันจัดงานประจำปีขึ้นภายในชุมชน ฯ ดังนี้
๑. วันกตัญญูกตเวที
     จัดในช่วงเดือนเมษา (วันสงกรานต์) เป็นประเพณีรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่ในชุมชน ฯ
๒. อบรม “ยุวพุทธทายาท”
          จัดในช่วงเดือนเมษายน เป็นเวลา ๔ คือ ๕ วัน เพื่อฝึกฝนเยาวชนให้ได้เรียนรู้วิถีชีวิตชุมชนคนมีศีล กินอยู่เรียบง่าย แต่ไม่มักง่าย ตามคำขวัญที่ว่า “เราจะพึ่งตนจนเป็นที่พึ่งของผู้อื่นได้”
๓. งานอโศกรำลึกและบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
          เมื่อวันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๓๙ พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์พาหมู่สงฆ์และญาติธรรม ประกอบพิธีเฉลิมฉลองพระบรมสารีริกธาตุ ฯ ที่บรรจุอยู่ในเจดีย์ทองคำ บนยอดโดม พระวิหารพันปีเจดีย์บรมสารีริกธาตุ เนื่องจากปี ๒๕๓๙ นี้เป็นปีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ ทรงครองสิริราชสมบัติเป็นปีที่ ๕๐
          พ่อท่านสมณะโพธิรักษ์และชาวอโศกจึงร่วมฉลอง “วันกาญจนาภิเษก” ด้วยการถือเอาพระเจดีย์ทองคำ เป็นราชสักการะแด่พระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในมหามงคลนี้
          เราจึงถือเอาวันที่ ๙ มิถุนายน ของทุกปี เป็นวัน “บูชาพระบรมสารีริกธาตุ”
          และวันรุ่งขึ้น คือ วันที่ ๑๐ มิถุนายน ก็จะเป็นวัน “อโศกรำลึก” วึ่งเป็นวันผนึกคุณธรรมสำคัญของชาวอโศกทั้งมวลที่ตั้งใจปฏิบัติให้เป็นจริงตามความหมายของวันอโศกรำลึก
          ความหมายของวันอโศกรำลึก ๑๗ ประการ คือ เป็นวันส่วนตัว / วันเล็ก ๆ น้อย ๆ / วันสะอาด / วันเงียบ / วันอบอุ่น / วันสูญ / วันอิ่ม / วันอิสระ / วันให้ / วันง่าย ๆ / วันจริงใจ / วันกตัญญู / วันสดชื่อ / วันรัก / วันระลึกถึงพระคุณของบรรพชน / วันรวมแก่น / วันลึก
๔. บูชาบุพการี
          เป็นการรำลึกถึงพระคุณของแม่ หรือบุพการี ในโอกาส “วันแม่แห่งชาติ”
๕. การจัดโรงบุญ ๕ ธันวามหาราช
          ญาติธรรมทั่วทุกภาคร่วมใจกันจัดขึ้น ในช่วงเดือนธันวาคม เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล ในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ๕ ธันวามหาราช
หลักการดำเนินชีวิตของชาวอโศก
ลดละ ขยัน ทนเสียดสี หนีสะสม
นิยมสร้างสรรค์ สวรรค์นิพพาน
จุดหมายปลายทางของเรา คือ
เบิกบานแจ่มใส มัธยัสถ์ สุภาพ สงบ
หมดความอยาก สิ้นความเสพ



งานประจำปีของชาวอโศก

๑. งานตลาดอาริยะปีใหม่อโศก ณ ชุมชนบุญนิยมราชธานีอโศก
                   “อาริยะ” หมายถึง วัฒนธรรมของผู้เจริญ ผู้ประเสริฐเป็นความเจริญทางจิตวิญญาณ จัดระหว่างวันที่ ๓๐ ธ.ค. – ๒ ม.ค. มีวัตถุประสงค์ คือ
          ๑. รักษาประเพณีการบิณฑบาต
          ๒. ช่วยกันสร้างตลาดอาริยะ (ขายต่ำกว่าทุน)
          ๓. ฟังสัจจะสาระจากปฏิบัติกร
          ๔. ฝึกตื่นนอนแต่เช้า
          ๕. ชาวเราได้ร่วมสังสรรค์
          ๖. ช่วยกันทำงาน
          ๗. เบิกบานใจและผ่อนคลาย
                    อุดมการณ์ของ ตลาดอาริยะ
          ๑. กำไรของชีวิต คือ การให้ และการเสียสละ
          ๒. สินค้าที่ขาย ต้องขายต่ำกว่าทุน (ตั้งใจขาดทุนนั่นคือ “เสียสละ”)
          ๓. เจตนาให้ผู้ซื้อสินค้าได้แสดงน้ำใจ เปิดโอกาสให้ผู้อื่นซื้ออย่างแบ่งปัน ไม่โลภ
                   “ตลาดอาริยะ” เป็นที่จำหน่ายสินค้าของผู้ที่ตั้งใจผลิตเพื่อจำหน่ายจ่ายแจกอย่างเสียสละจริง ๆ เท่าที่สามารถทำได้ตามฐานะของแต่ละบุคคล (ยิ่งขายต่ำกว่าทุนได้มากเท่าไรก็ยิ่งได้ “กำไรอาริยะ” มากเท่านั้น) จึงต้องเป็นผู้มีเลือดแห่งการเสียสละอย่างแท้จริง และมีเลือดแห่งการสร้างสรรค์ที่แข็งแรงพอ การเอาผลผลิตของคนอื่นมาเสียสละนั้น ไม่ได้ผลเต็มที่เท่าผลิตจากแรงกายและหยาดเหงื่อของเราเอง โดยหัดเป็นผู้มักน้อย สันโดษ ไม่สะสมกักตุน ไม่เกียจคร้าน สะพัดส่วนที่เหลือออกไปอย่างตั้งใจเสียสละ อย่างมั่นใจในความขยันหมั่นเพียร และในสมรรถนะของเรา
๒. งานฉลองหนาวธรรมชาติอโศก ณ ชุมชนบุญนิยมภูผาฟ้าน้ำ
          จัดปลายเดือนมกราคม เป็นเวลา ๒ วัน มีจุดมุ่งหมายให้ชาวอโศกได้ไปพักผ่อน เที่ยวธรรมชาติ ได้ผ่อนคลายจากการตรากตรำมาตลออกทั้งปี และมีโอกาสพอปะคบคุ้นกันมากยิ่งขึ้นงานนี้มีการแข่งขัน กีฬาอาริยะ เช่น เก็บผักป่า สีข้าวด้วยมือ ผ่าฟืน เป็นต้น
๓. งานพุทธาภิเษกสุดยอดปาฏิหาริย์ ณ พุทธสถานศาลีอโศก
          จัดช่วงวันมาฆบูชา เป็นเวลา ๗ วัน เพื่ออบรมบำเพ็ญธรรมสติปัฏฐาน ๔
๔. งานปลุกเสกพระแท้ ๆ ของพุทธ ณ พุทธสถานศีรษะอโศก
          จัดเดือนเมษายน เป็นเวลา ๗ วัน เพื่ออบรมบำเพ็ญธรรมสติปัฏฐาน ๔ เช่นเดียวกับงานพุทธา ฯ
๕. งานคืนสู่เหย้าเข้าคืนถ้ำสัมมาสิกขา
    ณ ชุมชนบุญนิยมราชธานีอโศก
          จัดช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นเวลา ๓ วัน เป็นการคืนสู่เหย้าของนักเรียนสัมมาสิกขาที่จบการศึกษาแล้ว จะได้กลับมารวมตัวกันอีก เพื่อรื้อฟื้นความหลัง ดึงคุณธรรมดึงจิตวิญญาณเก่า ๆ คืนมาได้สนทนากับสมณะ สิกขมาตุ และพบปะพูดคุย ทักทาย ถามไถ่คุ้ยแคะ ขัดเกลากิเลสกันบ้าง อันจะเป็นทรัพย์แท้ติดตัวตลอดไป


๖. งานกสิกรรมไร้สารพิษเพื่อฟ้าดิน
    ณ ชุมชนบุญนิยมราชธานีอโศก
          จัดช่วงเดือนพฤษภาคม เป็นเวลา ๓ วัน เพื่อเผยแพร่และจำหน่ายผลผลิตของสมาชิกเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษ (คกร.) ในราคาบุญนิยมทั้ง ๔ ระดับ คือ ขายต่ำกว่าท้องตลาด ขายเท่าทุน ขายต่ำกว่าทุน และแจก (ให้เปล่า)
๗. งานโฮมไทวัง
    ณ ชุมชนบุญนิยมราชธานีอโศก (๔ – ๕ มิถุนายน)
          จัดวันที่ ๔ – ๕ มิถุนายน เป็นวันสำคัญของชาวสัมมาสิกขาลัยวังชีวิต (ม.วช.) วิชชาเขตต่าง ๆ ทั้งคุรุและนิสิตที่จะมารับฟังธรรมจากพ่อท่านสมณะโพธิรักษ์ แลละเป็นวันสอบสัมภาษณ์นิสิตใหม่ด้วย

๘. งานบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และงานอโศกรำลึก
    ณ พุทธสถานสันติโศก
          วันที่  ๙  มิ.ย. เป็นวันบูชาพระบรมสารีริกธาตุ
          วันที่ ๑๐ มิ.ย. เป็นงานอโศกรำลึก
๙. งานคืนสู่เหย้าเข้าคืนรัง นศ.ปธ.
    ณ ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก
          จัดช่วงเดือนกรกฎาคม (ก่อนวันเข้าพรรษา) เป็นเวลา ๒ วัน เป็นงานคืนสู่เหย้าของนักศึกษาที่กำลังศึกษา หรือจบแล้วในระดับอุดมศึกษา
๑๐. งานมหาปวารณา
      ณ พุทธสถานปฐมอโศก
          จัดช่วงเดือนพฤศจิกายนหมู่สงฆ์ชาวอโศกมาร่วมประชุม ชี้ข้อบกพร่องซึ่งกันและกัน เพื่อให้เกิดความบริสุทธิ์บริบูรณ์ทบทวนการงาน ปีที่ผ่านมา กำหนดวางหลักเกณฑ์ และเป้าหมายการทำงานในปีต่อไป ให้สอดคล้องกับสภาวะความเป็นจริงของสังคม


สภาวะ ๕ ประการ ในชุมชนชาวอโศก
          ลักษณะของชาวอโศก
          สภาพสัจธรรมที่เหมาะที่สุดที่มนุษย์พึงได้พึงเป็น
          จากวัฒนธรรมดังกล่าว ชาวชุมชนสันติอโศกจึงมีวิถีชีวิตที่เป็นไปตามสภาวะ ๕ ประการ คือ
                   ๑. อิสรเสรีภาพ (Independence)
                   ๒. ภราดรภาพ (Fraternity)
                   ๓. สันติภาพ (Peace)
                   ๔. สมรรถภาพ (Efficiency)
                   ๕. บูรณภาพ (Integrity)
อิสรเสรีภาพ (Independence)
          หมายถึงความไม่เป็นทาสผู้อื่น ไม่เป็นทาสค่านิยมของสังคม และไม่เป็นทาสกิเลสของตนเองด้วย จะรับใช้ผู้อื่นก็รับใช้ด้วยความยินดีเอง รับใช้ในทางที่ดีและพาทำด้วย
ภราดรภาพ (Fraternity)
          คือความเป็นญาติพี่น้องทางธรรม ต่างมารวมเป็นกลุ่มหมู่ที่แข็งแรง เหนียวแน่น แข็งแกร่งเหมือนหิน
สันติภาพ (Peace)
          เป็นผลของอิสรเสรีภาพและสมรรถภาพของแต่ละบุคคลจึงเกิดภราดรภาพขึ้นมาซ้อนเข้าไป ยิ่งเกิดอิสรภาพ สมรรถภาพจึงเกิดบูรณภาพขึ้นมาเรื่อย ๆ จนเกิดความเต็ม ความเจริญ เต็มแล้วโต ๆ
สมรรถภาพ (Efficiency)
          หมายถึงความสามารถ สมรรถนะ คนที่มีความรู้ ความสามารถสูง ลักษณะที่จำเป็นสำคัญ สามารถสร้างงานให้วิจิตร
บูรณภาพ (Integrity)
          เต็ม ทำให้เต็ม ทำให้เจริญมั่นคง ทำให้ได้สมบูรณ์ ทำทั้งปัจจัยสี่ และสิ่งประกอบธรรมะทั้งปวง
          สภาวะดังกล่าว หมายถึงความไม่ติดยึด ความเป็นอิสระเหนือวัตถุทรัพย์ศฤงคาร ไม่หอบหวง ทุกคนต่างมี อิสรเสรีภาพ ในการแบ่งปันกัน จนเกิดความเป็นพี่เป็นน้อง
          นั่นคือเป็น ภราดรภาพ เมื่ออยู่กันอย่างพี่น้องจึงเกิดความสงบสุขเป็น สันติภาพ ไม่แย่งชิงทรัพยากรซึ่งความสงบสุขนี้ ทำให้เรามีเวลาเพียงพอที่จะสร้างสมรรถภาพให้แก่ตนเองด้วยความขยันขันแข็ง โดยชาวอโศกจะเป็นผู้ที่กินน้อยใช้น้อย ที่เหลือจุนเจือสังคมอยู่แล้ว
          ชาวชุมชนจึงเป็นผู้มี สมรรถภาพ ที่ดีสามารถสร้างสรรค์กิจการงานโดยไม่เอาเข้าห่อของตนเองแต่นำไปสู่ส่วนรวม ชุมชน สังคม ประเทศชาติ และมวลมนุษยชาติจนเกิดเป็น บูรณภาพ
โครงการเข้าวัดปฏิบัติศีล
          โครงการเข้าวัดปฏิบัติศีล (เดิมเรียกว่า “โครงการปฏิบัติอุโบสถศีล”) จัดครั้งแรกเมื่อวันศุกร์ที่ ๒๖ ถึงวันอาทิตย์ที่ ๒๘ ม.ค. ๒๕๔๔ โดยคณะสงฆ์ชาวอโศกเป็นผู้ดูแลอบรม
          เป้าหมาย
          ๑. เพื่อพุทธศาสนิกชนได้รู้จัก เข้าใจ ชิดใกล้ คุ้นเคยพระพุทธศาสนายิ่งขึ้น
          ๒. เพื่อปลูกฝัง ตอกย้ำ ทบทวนสัมมาทิฏฐิซึ่งเป็นเบื้องต้นของสัมมาอาริยมรรค
          ๓. เพื่อพัฒนาสมาธิจิต และการปฏิบัติธรรมในระบบมรรคมีองค์ ๘ ให้เข้มข้นจริงจังมากขึ้น
          ๔. เพื่อเรียนรู้การอยู่ร่วมกับมิตรดี สหายดี สังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี ซึ่งเป็นสังคมพุทธบริษัท
          ๕. เพื่อสร้างจารีตประเพณีหรือรอยทางอันดี ไว้ให้เครือญาติ บุตรหลานและอนุชน
          ๖. เพื่อผนึกพลังคนดีมีศีลร่วมสร้างสังคมพุทธ สังคมเพื่อนหรือสังคมกัลยาณมิตรสืบไป
         

แนวทางการฝึกอบรม
๑. ถือศีล ๘ รับประทานอาหารมังสวิรัติ วันละ ๑ มื้อ
๒. ตื่นก่อนตะวันเพื่อฟังสัทธรรมของพระพุทธองค์
๓. ร่วมกิจกรรมสร้างสามัคคี ให้มีความคุ้นเคย ซึ่งเป็นญาติอย่างยิ่ง
๔. สร้างสรรค์เสียสละร่วมกันในฐานงานสัมมาอาชีพของชุมชน
๕. พบเกจิ สากัจฉา สนทนาธรรมเป็นกลุ่ม
๖. สวดมนต์ แผ่เมตตา อธิษฐานใจ ฝึกเดินจงกรม เรียนรู้บำเพ็ญเจโตสมถะ
          ระยะเวลาและการเข้าร่วมโครงการ ฯ
          ระยะเวลาในการฝึกอบรมคือ เย็นวันศุกร์ถึงเย็นวันอาทิตย์สัปดาห์ที่สามของทุกเดือน โดยเริ่มลงทะเบียนเย็นวันศุกร์เวลา ๑๗.๓๐ – ๑๙.๓๐ น. บริเวณใต้โบสถ์ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใด ๆ      ผู้เข้าอบรมต้องเป็นสาธุชนผู้สนใจปฏิบัติธรรมอย่างจริงใจต้องเตรียมเครื่องนอนและของใช้ส่วนตัวที่จำเป็นมาด้วย (รวมทั้งกางเกงวอร์มสำหรับฝึกโยคะ)
          เอกสารที่ใช้สมัคร
          ๑. บัตรประจำตัวประชาชน และสำเนา
          ๒. รูปถ่ายขนาด ๑ นิ้ว หรือ ๒ นิ้ว จำนวน ๑ รูป
โครงการพลังกู้ดินฟ้า ประชาเป็นสุข
สนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)
          ๓๐ ปี แห่งการพัฒนาองค์กรของชาวอโศก โดยเริ่มจากการพัฒนา “คน” ให้เข้าใจสาระของการดำเนินชีวิตทีเรียบง่ายและเป็นประโยชน์ตามแนวทางของพุทธศาสนา จนกระทั่งเกิดมวลหมู่ที่ตกผลึกทางความคิด ร่วมกันสร้างองค์กรที่เรียนรู้ "การพึ่งตนเอง” ด้วยการสร้างทรัพยากร และใช้อย่างมีประสิทธิภาพบนพื้นฐานของคำว่า “ประโยชน์สูง – ประหยัดสุด” จนเกิดองค์ความรู้ที่หลากหลายกระจายไปทั่วเครือข่าย เป็นที่ยอมรับขององค์กรต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งความรู้ในด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ให้พ้นทุกข์ และเป็นประโยชน์ต่อสังคมและความรู้ในการดำรงชีวิตบนสัมมาอาชีพที่พึ่งตนอย่างพอเพียงพร้อม ๆ กับการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งในปัจจุบัน และเพื่ออนาคต
          จากการที่มีผู้ให้ความสนใจมาศึกปฏิบัติจนเกิดผลกับตนทาง สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จึงสนับสนุนให้องค์กรของชาวอโศกจัด “โครงการพลังกู้ดินฟ้าประชาเป็นสุข” (เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน ๒๕๔๖) เพื่อร่วมกันสร้างกลุ่ม และพัฒนาสู่ความเป็น “ชุมชนต้นแบบ” ซึ่งถือเป็น “นวัตกรรมทางเลือกของสังคม” ที่อยู่ร่วมกันโดยถือเอา “บุญ” (คือการให้ การเสียสละ เป็นต้น) เป็นเป้าหมาย เป็นคุณค่าของชีวิตมิใช่ทรัพย์สมบัติภายนอก ทรัพยากรของชุมชน และองค์ความรู้ต่าง ๆ ที่มีอยู่ จะถูกพัฒนาขึ้นอย่างเป็น องค์รวม ทั้งระบบและมีประสิทธิภาพ เพื่อแจกจ่ายถ่ายทอด กระจายออกไปสู่บุคคลอื่น ชุมชนอื่นอย่างถูกต้องตามหลักเศรษฐศาสตร์ “บุญนิยม” ลดภาวการณ์แก่งแย่ง หรือภาวะบีบคั้น อันเป็นสาเหตุของทุกขภาวะ
          “โครงการพลังกู้ดินฟ้า ประชาเป็นสุข” จึงเป็นการสร้างเสริมสุขภาพแบบบูรณาการ ทั้งสุขภาพกายและสุขภาพจิตโดยชุมชนบุญนิยมสันติอโศก ได้จัดแผนงานการศึกษาอบรมหลักสูตรต่าง ๆ ในปีแรกเป็น ๗ กิจกรรม ดังนี้
          ๑. กิจกรรม “สร้างผู้นำ” อบรมรุ่นละ ๑๐๐ คน จัด ๔ ครั้ง ๆ ละ ๔ คืน ๕ วัน
          ๒. กิจกรรม “อบรมเยาวชนคนสร้างชาติ” อบรมรุ่นละ ๑๐๐ คน จัด ๔ ครั้ง ๆ ละ ๔ คืน ๕ วัน
          ๓. กิจกรรม “สร้างสุขภาพ ๗ อ.” อบรมรุ่นละ ๑๐๐ คน จัด ๔ ครั้ง ๆ ละ ๔ คืน ๕ วัน และเน้นคนชุมชนเท่านั้น
          ๔. กิจกรรม “มหกรรมกู้ฟ้าดิน” จัด ๑ ครั้ง
          ๕. กิจกรรม “ประชุมแกนนำเชื่อมร้อยเครือข่าย” จัด ๒ ครั้ง
          ๖. กิจกรรม “ศึกษาดูงาน” จัด ๑ ครั้ง
          ๗. กิจกรรม “สัมมานากสิกรในหมู่บ้าน” จัด ๕ ครั้ง
สำหรับปีที่ ๒ (พฤษภาคม ๒๕๔๘ – เมษายน ๒๕๔๙)
          มี ๒ กิจกรรม ดังนี้
          ๑. กิจกรรม “ติดตามสนับสนุนต่อเนื่อง” จัด ๕ ครั้ง
          ๒. กิจกรรม “อบรมเยาวชนคนสร้างชาติ” จัด ๒ ครั้ง
การเข้าพักค้างคืนและสถานที่พักค้าง
          ผู้ประสงค์จะมาพักในฐานะ “อาคันตุกะ” เพื่อศึกษาปฏิบัติทั้งชายและหญิง ต้องถือศีล ๘ เป็นอย่างต่ำ มีความสำรวมสังวรให้ดูเหมาะสม พักค้างได้ไม่เกิน ๗ วัน
          หากจะอยู่เกิน ๗ วัน ต้องแจ้งต่อหมู่สงฆ์ในช่วงทำวัตรเช้าเรียกว่า “วิกัปป์” เพื่อให้หมู่สงฆ์พิจารณาว่าสมควรให้อยู่ต่อไปได้หรือไม่ หากเห็นสมควร ก็อยู่ศึกษาปฏิบัติได้ตามกฎระเบียบและสามารถขอเลื่อนจาก อาคันตุกะจร เป็น อาคันตุกะประจำ เมื่อพร้อมและต้องการจะอยู่ศึกษาปฏิบัติให้เคร่งครัดยิ่งขึ้น
ก. ผู้ที่ตั้งใจมาศึกษาปฏิบัติธรรมและอยู่เป็นประจำ
          ผู้เข้ามาพักค้างจะต้องถือศีล ๘ ให้ได้เป็นอย่างต่ำ ฝ่ายชายจะต้องได้รับอนุญาตจาก “สมณะ” ผู้รับหน้าที่ดูแล ส่วนฝ่ายหญิงต้องได้รับอนุญาตจาก “สิกขมาตุ” ผู้รับหน้าที่ดูแล
ผู้เข้าพักในเขตพุทธสถาน ฯ ต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของพุทธสถาน ฯ อย่างเคร่งครัด
          ฝ่ายชาย สถานที่พักค้างของฝ่ายชาย
     ก. บนพระวิหารพันปี ฯ
     ข. บริเวณพุทธสถาน
          ฝ่ายหญิง สถานที่พักค้างของฝ่ายหญิง
     ตึกขาว – ตึกนวล
(ฝ่ายหญิงต้องแต่งกานสุภาพ เช่น ไม่สวมเสื้อยืด กางเกงรัดรูปเป็นต้น)
ข. ชาวชุมชน คือ ผู้ถือศีล ๕ ละอบายมุข รับประทานอาหารมังสวิรัติ มีสถานที่พำนัก คือ
          ๑. “อาคารตะวันงาย ๑” ซอยนวมินทร์ ๔๔
          ๒. “อาคารตะวันงาย ๒” ซอยนวมินทร์ ๔๘
          ผู้พักอาศัยที่ “อาคารตะวันงาย” ทั้งสองแห่งนี้ จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการอาคารตะวันงายในที่ประชุม “ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก” ก่อน
          ๓. ทาวน์เฮาส์ ซอยนวมินทร์ ๔๖ (เป็นซอยส่วนบุคคล) ด้านหน้าพุทธสถานสันติอโศก
          พุทธสถานสันติอโศก จึงเกิดจากการร่วมรวมพลังทั้งแรงกายแรงใจ สร้างสรรค์ด้วยความเสียสละอย่างเต็มใจ และด้วยแรงศรัทธาในพระพุทธศาสนาของกลุ่มพุทธบริษัทชาวอโศก อันประกอบด้วยนักบวช อุบาสก อุบาสิกา
          เป็นหารพิสูจน์และยืนหยัดยืนยันความเป็นไปได้ของการอยู่ร่วมกันเป็นสังคมทวนกระแส โดยมีรากฐานความคิด ความเชื่อมั่นในทฤษฎี มรรคองค์ ๘ ของสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอย่างเป็นรูปธรรม มีพ่อท่าน “สมณะโพธิรักษ์” เป็นผู้นำพา
          โดยเรียกแนวคิดและการประพฤติปฏิบัตินี้ว่า “ระบบบุญนิยม” ซึ่งเชื่อว่าจะนำพาสังคมไปสู่ความสงบสุข ร่มเย็นเป็นทางรอดอย่างแน่นอน
          ชาวอโศกมีจุดมุ่งหมายสร้างสังคมสิ่งแวดล้อมที่ดี เต็มใจเสียสละ เพื่อสร้างสรรค์ทำประโยชน์แก่สังคมอย่างมี “พลังร่วม” ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากวิกฤตเศรษฐกิจในปัจจุบัน ที่มิได้กระทบกระเทือนเศรษฐกิจระบบบุญนิยมในชุมชนของเราเลยแม้แต่น้อย เราสามารถอยู่ท่ามกลางสังคมหมู่ใหญ่ที่ประสบปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างแข็งแรง ทั้งยังเป็นที่พึ่งพิงของสังคมด้วย
          ชุมชนบุญนิยมสันติอโศก จึงสามารถยืนหยัดอยู่ในสังคมเมือง เพื่อพิสูจน์สัจธรรมในพุทธศาสนาว่ามีผลทำได้จริงในยุคปัจจุบันนี้ แม้จะอยู่ท่ามกลางกระแสของราคะ โทสะ โมหะ เบียดเบียนกันด้วยความโลภ โกรธ หลง และเอารัดเอาเปรียบอันเป็นความ “หลง – วน” อยู่ในวัฏฏะอย่างไม่รู้จบสิ้น

คดีสันติอโศก
          การจัดงานวันวิสาขบูชา วันสำคัญสากลของโลกในประเทศไทย ยังไม่ทันได้จัดงานให้ยิ่งใหญ่จนกลายเป็นงานวันวิสาขบูชาโลกให้สมตามเจตนารมณ์ของนายกรัฐมนตรีไทย ก็มีเหตุให้ขัดแย้งแตกแยกภายในคณะกรรมการการจัดงานเสียก่อน
          ขณะที่ศูนย์กลางการจัดงานที่เป็นทางการอยู่ในพุทธมณฑล งานวันวิสาขบูชาอีกแห่งหนึ่งกลับไปจัดขึ้นอย่างอึกทึกครึกโครมที่กลางท้องสนามหลวง
          โดยงานพิธีการในค่ำคืนเดือนเพ็ญที่ท้องสนามหลวง นายจาตุรนต์ ฉายแสง รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้รับมอบหมายให้เป็นประธานในพิธีเวียนเทียนรอบพระบรมสารีริกธาตุ
          สำหรับตัว พ.ต.ท. ทักษิน ชินวัตร นายกรัฐมนตรีในขณะนั้น กลับปลีกตัวจากความขัดแย้งที่เกิดขึ้น โดยไปร่วมงานพิธีเวียนเทียนวันวิสาขบูชาที่วัดสระเกศราชวรมหาวิหาร
บาดแผลจากอดีตที่กลับมาหลอกหลอน
          ความพยายามในการรวบรวมทุกสำนักสงฆ์ของพลตรีจำลอง ศรีเมือง เพื่อจัดงานวันวิสาขบูชาให้ยิ่งใหญ่ แทนที่จะได้รับดอกผลแห่งกรรมดี กลับกลายเป็นการสะกิดบาดแผลที่เกิดจากความขัดแย้งในอดีตให้ปริแตกออกมาอีกครั้ง
          เริ่มต้นจากกลุ่มต่อต้านสันติอโศกได้ร่วมกันเคลื่อนไหวคัดค้าน ไม่ต้องการให้คณะสมณะจากสันติอโศกเข้าไปมีส่วนร่วมในการจัดงานวันวิสาขบูชา จนในที่สุดมหาเถรสมาคมได้มีมติคัดค้าน ไม่ให้สันติอโศกมีส่วนเข้ามาร่วมจัดงานวันวิสาขบูชาที่พุทธมณฑล
          พระเทพวิสุทธิกวี เจ้าอาวาสวัดราชาธิวาส ในฐานะผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนสมเด็จพระสังฆราช ให้สัมภาษณ์ ว่า มหาเถรสมาคมได้ตัดสินไปแล้วว่าหลักคำสอนของสันติอโศกไม่ถูกต้อง เป็นการประพฤตินอกพระธรรมวินัย
          เมื่อวันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๓๒ สั่งให้พระพระโพธิรักษ์สึก ฐานละเมิดพระธรรมวินัยเป็นอาจิน โดยประพฤติส่อเจตนาทำลายพระพุทธศาสนาให้วิปริต
          สำหรับบริวารของพระโพธิรักษ์ ให้ถือว่าบุคคลเหล่านี้มิใช่ผู้ที่บวชถูกต้องตามพระวินัย มีผลทำให้ไม่ได้เป็นพระภิกษุ และห้ามภิกษุ สามเณรและพุทธศาสนิกชนคบหาสมาคม
ย้อนรอยวิสาขบูชา ๒๕๒๔
ความสำเร็จของการจัดงานวันวิสาขบูชา ในปี ๒๕๒๔ ซึ่งสันติอโศกได้มีส่วนร่วมในการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ที่เกาะลอย สวนลุมพินี กรุงเทพมหานคร ได้ปลุกเร้ากระแสของคนที่ไม่พอใจต่อการกระทำของสันติอโศก ที่ได้ประกาศแยกตัวออกจากมหาเถรสมาคมและวิภากษ์วิจารณ์คณะสงฆ์ไทยอย่างรุนแรง โดยนำไปสู่การรวมตัวของกลุ่มต่อต้านสันติอโศก โดยมีการตั้งข้อสังเกตว่า คณะบวชจากสันติอโศกมีพฤติการณ์คุกคามต่อคณะสงฆ์ไทย โดยการปฏิบัติตนถือลัทธิอย่างอื่น ประกาศตนไม่ขึ้นต่อการปกครองของคณะสงฆ์ไทย
สันติอโศกกับวังวนทางการเมือง
          การเกิดขึ้นและเติบโตอย่างรวดเร็วของกลุ่มทางการเมืองที่มีชื่อว่า กลุ่มรวมพลังและพรรคพลังธรรม ตั้งแต่ปี ๒๕๒๘ เป็นต้นมาส่งผลให้นักการเมืองและนักการศาสนาจำนวนไม่น้อยหวั่นกลัวว่า พลตรีจำลอง ศรีเมือง สานุศิษย์คำสำคัญของสำนักสันติอโศกและกำลังมีบทบาททางการเมืองสูงยิ่ง ตั้งแต่ครั้งดำรงตำแหน่งเลขาธิการนายกรัฐมนตรี
          ประชาชนจำนวนไม่น้อยมองว่า พลตรีจำลอง ศรีเมือง จะอาศัยกลุ่มศาสนาที่ชื่อว่าสันติอโศก เพื่อปูทางไปสู่การมีอำนาจทางการเมือง
          ความสัมพันธ์ระหว่างพลตรีจำลอง ศรีเมือง และพระสมณะโพธิรักษ์ เริ่มต้นเมื่อปี ๒๕๒๒ เมื่อทั้งคู่ได้มีโอกาสมาพบกันความเคารพศรัทธาที่มีต่อกันได้ก่อตัวขึ้นอย่างรวดเร็ว
          สมณะโพธิรักษ์ได้ให้สัมภาษณ์ว่า การที่พลตรีจำลอง ศรีเมือง เล่นการเมืองมีส่วนทำให้สันติอโศกเหนื่อยมากขึ้น อันที่จริงสันติอโศกไม่ต้องการเข้าไปยุ่งกับการเมือง ไม่เห็นเข้าท่าและไม่รู้จะเล่นการเมืองไปทำไม
          แต่ก็ยอมรับความจริงว่าบางทีตัวท่านเองต้องยื่นมือเข้าช่วยในงานบางเรื่อง ซึ่งต้องใช้มวลชนจำนวนมาก จนทำให้ดูเหมือนว่าถูกพลตรีจำลอง ศรีเมือง เข้ามานัวเนียจนชาวอโศกติดพัน

เมื่อการเมืองชักนำเภทภัย
          เมื่อพลตรีจำลอง ศรีเมือง ตัดสินใจเล่นการเมืองอย่างเต็มตัวโดยลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ในปี ๒๕๒๘ ในครั้งนั้นชาวกรุงเทพฯ ได้พร้อมใจกันเทคะแนนเสียง ให้มากถึง ๕๐๐๐๐๐ คะแนน
          และเอาชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ในสมัยที่สอง ในปี ๒๕๓๓ ด้วยคะแนนเสียงที่มากถึง ๗๐๐๐๐๐ คะแนนรวมทั้งสามารถเอาชนะการเลือกตั้งในสมัยที่สามในปี ๒๕๓๕
          ในจังหวะเดียวกันนั้น พรรคพลังธรรม ได้ถือกำเนิดขึ้นมาและได้ส่งสมาชิกพรรคลงสมัครรับเลือกตั้งเกือบทั่วทั้งประเทศ
          กลายเป็นพรรคการเมืองที่ได้รับความนิยมอย่างสูงกระแสความนิยมของพรรคพลังธรรมที่พุ่งพรวดขึ้นมาอย่างรวดเร็วได้สร้างความหวาดหวั่นให้กับคู่ต่อสู้ทางการเมือง
          พรรคพลังธรรม และสันติอโศกจึงกลายเป็นกลุ่มการเมืองและกลุ่มศาสนาที่อยู่คู่กัน ดังนั้นสำหรับผู้ไม่ประสงค์ดีต่อพรรคพลังธรรมหากคิดจะทำลาย ความนิยมทางการเมืองของพรรคพลังธรรม หลักเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องทำลายความเข้มแข็งของสันติอโศก
พายุลูกใหญ่สัดกระหน่ำ
          เป็นเวลาถึง ๑๓ ปี ที่คณะสงฆ์จากสันติอโศกได้ลุกขึ้นมาท้าทาย โดยการประกาศแยกตัวออกจากมหาเถระสมาคมและคณะสงฆ์ไทย เผชิญหน้ากันมรสุมจากแรงต่อต้าน ตลอดช่วงระยะเวลา ๑๓ ปี มหาเถระสมาคมได้รับรู้และติดตามการเคลื่อนไหวของสำนักสันติอโศก อย่างต่อเนื่อง ในเดือน พฤศจิกายน ๒๕๒๒ มหาเถระสมาคมได้มีมติให้สอดส่องดูแล พฤติการณ์คุมคามของสำนักสันติอโศก และหลักฐานชิ้นสำคัญที่สุดคือ นายธนู แสวงศักดิ์ อธิบดีกรมศาสนา ได้มีหนังสือข้อหารือของการรถไฟแห่งประเทศไทย เกี่ยวกับสิทธิลดค่าโดยสารรถไฟของพระสงฆ์จากสำนักสันติอโศก
          อธิบดีกรมการศาสนา โดยความเห็นชอบของมหาเถระสมาคม ได้ตอบข้อหารือของการรถไฟฯไปว่า เนื่องจากปัจจุบันพระภิกษุ สามเณร ในสำนักสันติอโศก ไม่ได้ขึ้นอยู่ในปกครองของคณะสงฆ์ไทย ตามพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี ๒๕๐๕ และไม่ได้อยู่ในความอุปการะของทางราชการ ดังนั้นสิทธิแห่งความเป็นภิกษุสมณะในพุทธศาสนาจึงไม่ควรได้รับ
          อย่างไรก็ตามกรมศาสนาในขณะนั้นคงจะลืมข้อเท็จจริงไปอย่างหนึ่งว่า สิทธิลดค่าโดยสารรถไฟนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทยได้มอบให้กับพระภิกษุสามเณรจากทุกนิกาย รวมไปถึงพระภิกษุสามเณรจากลาวและกัมพูชา ซึ่งไม่ได้อยู่ในการปกครองของคณะสงฆ์ไทยเช่นกัน
พระสังฆาธิการระดับเจ้าอาวาสและภิกษุสามเณรในเขตกรุงเทพมหานคร จำนวนรวมกันกว่า ๑๐๐๐๐ รูป ได้มาชุมนุมรวมตัวกันที่หอประชุมพุทธมณฑล เพื่อร่วมประกาศ ปกาสนียกรรม กรณีสันติอโศก โดยระบุความผิดของพระโพทธิรักษ์ไว้ถึง ๗ ข้อด้วยกัน คือ
          ละเมิดพระธรรมวินัยโดยการอวดอุตริมนุสธรรม คัดค้านพระธรรมวินัยที่ห้ามอวดคุณวิเศษ ล่วงละเมิดกฎหมายบ้านเมืองบ่อนทำลายพระพุทธศาสนา และความมั่นคงของบ้านเมือง ประกาศตนเล่นการเมืองและเกี่ยวข้องกับการเมืองอย่างเปิดเผย มุ่งมั่นทำพระธรรมวินัยให้วิปริต และประกาศตนแยกตัวไม่ขึ้นต่อการปกครองคณะสงฆ์ไทย
คำสั่งให้สึกภายใน ๗ วัน
          ในที่สุดเมื่อกระบวนการทุกอย่างได้ดำเนินไปอย่างรอบคอบรัดกุม จนถึงขั้นตอนสุดท้าย เมื่อวันที่ ๑๐ มิถุนายน ๒๕๓๒ มหาเถระสมาคมได้ประชุมด่วนวาระพิเศษที่ตำหนักเพชร วัดบวรนิเวศวิหาร โดยมีสมเด็จพระสังฆราชทรงเป็นองค์ประธานการประชุม โดยมติของการประชุมได้มอบหมายให้เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการนำคำสั่งของมหาเถระสมาคมไปมอบให้พระโพธิรักษ์เพื่อให้พระโพธิรักษ์สึกภายใน ๗ วัน อย่างไรก็ตามมีข้อที่น่าสังเกตุอย่างยิ่งคือ  ก่อนมติของมหาเถระสมาคมจะออกมาเพียง ๑ วัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ได้ล่วงหน้าไปเจรจาทำความตกลงประณีประนอมกับพระโพธิรักษ์โดยขอให้คณะสันติอโศกเปลี่ยนรูปแบบการแต่งกาย ให้แตกต่างจากคณะสงฆ์ไทย ไม่ใช้คำเรียกตัวเองว่าพระภิกษุสงฆ์ นักบวช นักพรตอีกต่อไป
          ข้อตกลงนี้รวมไปถึงการยินยอมให้คณะสันติอโศก ปฏิบัติธรรมตามแนวความเชื่อถือของตนซึ่งไม่ขัดต่อความสงบเรียบร้อยของชาติบ้านเมือง และกฎเกณฑ์ของกฎหมายและรัฐธรรมนูญ



การดำเนินคดีตามกฎหมาย
          เสกสรรค์ ประเสริฐกุล อดีตผู้นำนักศึกษาสมัย ๑๔ ตุลาคม ๒๕๑๖ ได้ให้ความเห็นในกรณีคดีสันติอโศกที่เกิดขึ้นในสมัยนั้นไว้อย่างน่าสนใจ ว่า
          เมื่อมหาเถระสมาคมมีมติเกี่ยวกับสันติอโศกออกมา ดูผิวเผินแล้วอาจจะคิดว่าเป็นเรื่องปกติธรรมดา แต่ต้องไม่ลืมว่า การใช้อำนาจรัฐมาตัดสินปัญหาศาสนานั้นเป็นเรื่องอันตรายอย่างยิ่ง และบรรดาอารยประเทศก็ได้เลิกการกระทำดังนี้มานานแล้ว ศาสนจักรกับอาณาจักรไม่ควรใช้อำนาจปะปนกัน
          เมื่อครบกำหนด ๗ วันตามที่มหาเถระสมาคมมีคำสั่งให้พระโพธิรักษ์สละสมณะเพศ นายเสนาะ พ่วงภิญโญ รักษาการอธิบดีกรมการศาสนา ได้เดินทางไปที่สันติอโศก
          ในที่นั้นได้มีญาติธรรมชาวอโศกประมาน ๕๐๐ คน ชุมนุมรออยู่แล้ว นายเสนาะ ได้เข้าไปเจรจากับพระโพธิรักษ์ โดยถามย้ำหลายครั้งว่า ท่านสึกแล้วหรือยัง แต่ไม่ได้รับคำตอบกลับจากสมณะโพธิรักษ์ ซึ่งมีความหมายเท่ากับว่า ไม่ยอมสึกแน่นอน
          นายเสนาะ จึงประกาศกับสื่อมวลชนว่าหมดหน้าที่ของตนที่นี่แล้ว จากนั้นได้เดินทางไปแจ้งความต่อเจ้าพนักงานสอบสวนสถานีตำรวจนครบาลลาดพร้าว ให้ดำเนินคดีอาญากับสมณะโพธิรักษ์ในข้อหาต้องคำวินิจฉัยให้สละสมณะเพศภายใน ๗ วัน
          วันรุ่งขึ้น กำลังตำรวจจำนวนหนึ่งไปควบคุมตัวสมณะโพธิรักษ์จากสันติอโศกไปยังสถานีตำรวจนครบาลดุสิตเพื่อแจ้งข้อหาให้ทราบ ฐานไม่สึกภายใน ๗ วัน
          และช่วงเย็นวันเดียวกัน ทางตำรวจได้ตัดสินใจย้ายที่ควบคุมตัวสมณะโพธิรักษ์ไปไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจนครบาล บางเขน ในค่ำคืนวันนั้น ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ได้นิมนพระราชรัตนเมธี เจ้าคณะเขตบางกระปิ เจ้าอาวาสวัดมหาธาตุ เพื่อขอให้ช่วยทำพิธีสึกสมณะโพธิรักษ์ การสึกสมณะโพธิรักษ์ในค่ำคืนวันนั้นไม่ประสบความสำเร็จ หลังจากที่ถูกจับกุมขังไว้ที่โรงเรียนพลตำรวจนครบาล บางเขน เป็นเวลานานถึง ๓ วัน ๓ คืนโดยไม่ให้ประกันตัวขณะนั้นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พรรคฝ่ายค้านคนสำคัญคือ นายปิยณัฐ วัชราภรณ์ เริ่มออกมาเคลื่อนไหวท้วงติงว่าคดีนี้ โทษไม่หนักหนาอะไร ตำรวจน่าจะให้ประกันตัวได้ เพราะเป็นสิทธิ มนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชน
          ตราบใดที่สมณะโพธิรักษ์ไม่เปร่งวาจาสึกออกมา แม้จะถูกดำเนินคดีโดยการคุมขังไว้ก็ยังไม่ได้สึกอย่างแท้จริง
          การฟ้องร้องดำเนินคดีหลังจากเวลาผ่านไป ๖ เดือน นับตั้งแต่มหาเถระสมาคมมีคำสั่งให้สมณะโพธิรักษ์ สละสมณะเพศ แต่เขขากลับขัดขืนไม่ยอมเปร่งวาจาสึกออกมา
          คดีทั้งหมดมี ๘๐ คดี คดีแรกเป็นคดีที่สมณะโพธิรักษ์ถูกฟ้องว่าถูกสั่งให้สละสมณะเพศแล้วไม่ยอมสละ ส่วนอีก ๗๙ คดีนั้น สมณะและสิกขมาตุ ของคณะสงฆ์สันติอโศกถูกฟ้องว่าไม่ไดเป็นพระแล้วแต่งกายเลียนแบบพระ
          คณะทนายของฝ่ายสันติอโศก ที่อาสาเข้ามาช่วยทำคดี มีจำนวนรวมกันถึง ๕๓ คน แต่เป็นทนายที่ดีรับการแต่งตั้ง ให้ขึ้นว่าความเพียง ๑๐ คน คณะทนายทั้งหมดมี นายทองใบ ทองเปาด์ เจ้าของรางวัลแม็กไซไซเป็นหัวหน้าคณะ และมีทนายอาวุโสที่สำคัญอีกหลายท่าน เช่น นายประดับ มนูรัษฎา นายสงบ สุริยินทร์ นายสัมผัส พึ่งประดิษฐ์ นายชำนาน พิเชษฐพันธ์ รวมทั้งนายไชยวัฒน์ สินสุวงศ์ ซึ่งต่อมาได้กลายเป็นนักการเมืองคนสำคัญของพรรคพลังธรรม
          แนวทางในการต่อสู้คดี ของคณะทนายได้อิงอยู่กับหลักการพื้นฐานสำคัญ ๕ ประการ คือ ๑. หลักการที่ยึดถือพระธรรมวินัยเป็นใหญ่ กฎหมายบ้านเมืองและกฎของมหาเถระสมาคมจะขัดแย้งกับพระธรรมวินัยไม่ได้ ๒. หลักการขอบเขตแห่งอำนาจของมหาเถระสมาคม ไม่ครอบคลุมถึงคณะสงฆ์ที่อยู่นอกสังกัด ๓.หลักการนานสังวาส ว่าด้วยหลักปฏิบัติตามพระธรรมวินัยของสงฆ์ต่างนิกายและต่างลัทธิความเชื่อ ซึ่งจะต้องไม่ก้าวก่ายกัน ๔. หลักการของเสรีภาพในการนับถือศาสนา ๕. ข้อต่อสู้ในสาระสำคัญอันได้แก่ การปฏิบัติตามกฎนิคหกรรมและหลักแห่งความยุติธรรม
          นานาสังวาสเป็นบทบัญญัติแห่งพระธรรมวินัยที่คณะทนายใช้เป็นหัวใจของการต่อสู้คดีสันติอโศก โดยอ้างอิงตั้งแต่ครั้งพุทธกาล พระพุทธเจ้าได้ทรงบัญญัติหลักการนานาสังวาสไว้ ให้ภิกษุที่มีวัตรปฏิบัติแตกต่างกันสามารถอยู่ร่วมกันได้ โดยรักษาความแตกต่างนั้นไว้
          การอยู่ร่วมกันอย่างสมานฉันท์โดยคงความแตกต่างอย่างนั้นไว้ และไม่พยายามบีบคั้นบังคับให้ทุกฝ่ายต้องคิดและปฏิบัติเหมือนกันทั้งหมด สิ่งนี้ตรงกันกับหลักการการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บนโลกของความหลากหลายซึ่งเป็นหัวใจของการแก้ปัญหาความขัดแย้งในโลกยุคปัจจุบัน
คำพิพากษาของศาล
          ศาลแขวงพระนครเหนือ ได้มีคำพิพากษาในคดีสันติอโศก เมื่อวันที่ ๒๙ ธันวาคม ๒๕๓๘ หลังจากที่ได้ดำเนินการสืบพยานเป็นระยะเวลายาวนานถึง ๖ ปีเต็ม ศาลได้พิพากษาให้จำเลยทั้งหมด มีความผิดตามที่โจทก์ฟ้อง
          โดยพิพากษาในคดีของสมณะโพธิรักษ์ ให้จำคุกจำเลยมีกำหนด ๖ เดือน แต่จำเลยไม่เคยได้รับโทษถึงจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้มีกำหนด ๒ ปี
          สำหรับคดีฟ้องสมณะและสิกขมาตุอีก ๗๙ คดี ศาลแขวงพระนครเหนือได้พิพากษาให้จำคุกจำเลยคนละ ๓ เดือน ส่วนจำเลยที่ ๘๐ คือสมณะโพธิรักษ์ ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิด จำคุกกระทงความผิดละ ๒ เดือน รวมเป็น ๖๖ เดือน แต่เนื่องจากจำเลยทั้งหมดไม่เคยได้รับโทษจำคุกมาก่อน โทษจำคุกจึงให้รอลงอาญาไว้ มีกำหนดคนละ ๒ ปี
          ศาลฎีกาได้พิพากษาในคดีสันติอโศก เมื่อวันที่ ๑๕ มิถุนายน ๒๕๔๑ แต่กว่าที่คำพิพากษาของศาลฎีกาจะส่งไปอ่านที่ศาลขั้นต้น เวลาได้ล่วงเลยไปจนถึงวันที่ ๑๖ กันยายน ๒๕๔๑ ซึ่งในที่สุดศาลฎีกาได้พิพากษายื่นตามคำพิพากษาของศาลอุทธรณ์
          คดีสันติอโศกจึงได้เวลาปิดฉากสุดท้ายลง รวมระยะเวลา ที่ถูกดำเนินคดีในชั้นศาลเกือบ ๙ ปีเต็มโดยผู้พิพากษาทั้ง ๓ ศาลได้พิพากษา ให้การฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของมหาเถระสมาคมนั้นมีความผิดตามกฎหมายแห่งอาณาจักร ซึ่งมีแต่โทษจำ โทษปรับ และการรอลงอาญา แต่มิได้บังคับให้จำเลยทั้งหมด ต้องลาสิกขาบทตามคำสั่งของมหาเถระสมาคม
          ซึ่งตลอดระยะเวลาในการถูกดำเนินคดีนับ ๑๐ ปี สมณะแห่งสันติอโศกได้ค้นหาแนวทางวิถีพุทธ วิถีพี่งตนเอง จนสามารถผสมผสานกลายเป็นแนวทางสันติอโศกในยุคปัจจุบัน ทำให้การพ่ายแพ้ในคดีสันติอโศกเป็นการเปิดศักราชยุคใหม่ของสันติอโศก ซึ่งแทบจะไม่ได้ผลกระทบจากคำพิพากษาของศาลแต่อย่างใด





วิหารพันปี
รหัสยนัยแห่งวิหารพันปี
          ชาวอโศกนับพันคนเดินทางจากทั่วทิศของประเทศมาชุมนุมกันที่วิหารแห่งนี้เป็นประจำทุกปี เพื่อร่วมงานวันบูชาพระบรมสารีริกธาตุ และวันอโศกรำลึกซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ ๙ - ๑๒ มิถุนายนของทุกปี
          การชุมนุมบนวิหารพันปี กลุ่มคนที่เดินทางมาร่วมชุมนุมบนวิหารพันปีแห่งนี้ ส่วนใหญ่หรือแทบทั้งหมดมาจากดินแดนทั้ง ๙ แห่งเครือข่ายอโศก ดินแดนที่อยู่เหนือสุดไกลโพ้นคือ ชาวอโศกแห่งภูผาฟ้าน้ำ อำเภอแม่แตง จังหวัดเชียงใหม่ และดินแดนใต้สุดคือ ชาวอโศกแห่งทักษิณอโศก อำเภอเมือง จังหวัดตรัง ดินแดนที่ราบสูงไกลโพ้นของภาคอีสานคือ ศรีษะอโศก และราชธานีอโศก ในจังหวัดศรีสะเกษ และจังหวัดอุบลราชธานี และปฐมอโศก จังหวัดนครปฐม ซึ่งเป็นแหล่งผลิตยาสมุนไพรที่มีชื่อเสียง
          สันติอโศกพุทธสถานที่ตั้งอยู่ใจกลางกรุงเทพมหานคร ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๑๙ ๑ ปีหลังจากการประกาศแยกตัวออกจากการปกครองของมหาเถระสมาคม
          ดินแดนแห่งสันติอโศกถือได้ว่าเป็นเมืองหลวงหรือเป็นศูนย์กลางของอาณาจักรอโศก รวมทั้งยังเป็นที่ตั้งของวิหารพันปี วิหารที่แฝงด้วยรหัสยนัยจำนวนมากมายที่ต้องขุดค้นและตีความ เจดีย์ซึ่งตั้งอยู่บนยอดโดมที่ลอยเด่นบนอากาศ และเป็นศูนย์กลางของวิหาร เมื่อเงยหน้ามองเจดีย์ ผ่านช่องโล่งวงกลมกลางวิหาร เป็นความว่างเปล่าหรือสุญญตา ซึ่งนำไปสู่วิมุติหรือความหลุดพ้น วงกลมวงนี้มีความกว้างมากถึง ๑๒ เมตร ฃ
          มีความหมายแทนอาการ ๑๒ ประการ ในอริยสัจ ๔ ประริวัฏ ๓ (การทบทวนอริยสัจ ๔ ถึง ๓ รอบ) เป็นหลักธรรมที่รองรับการบรรลุมรรคผลของพระอริยบุคคล กระทั่งการบรรลุสัมมาสัมโพธิญาณ
นัยยะของวิหารพันปี
          เมื่อได้ยินชื่อวิหารพันปีน่าจะแฝงความหมายไว้หลายนัยยะ โดยนัยยะแรกสุด เป็นความหมายที่ตรงไปตรงมาตามตัวอักษร เป็นสิ่งก่อสร้างที่มีความเป็น อกาลิโก ซึ่งไม่ถูกจำกัดจากกาลเวลาและยุคสมัย
          สามารถท้าทายการเปลี่ยนแปลงของโลกธรรมชาติและท้าทายการเปลี่ยนแปลงความนึกคิดของมนุษยชาติ ทุกยุคทุกสมัย จนมีอายุยืนยาวต่อเนื่องได้นานนับพันปี นัยยะแรกนี้แสดงถึงความมุ่งมั้นของชาวอโศก ที่มุ่งหวังว่า เจตนารมณ์และภารกิจของพวกเขาจะส่งผลให้อาณาจักรอโศก มีความยั่งยืนต่อเนื่องยาวนานไปถึงอนาคตอันไกลโพ้น
          นัยยะที่ ๒ เมื่อได้พบเห็นวิหารพันปีครั้งแรกสุด สิ่งก่อสร้างที่ได้ลงมือสร้างโดยการตอกเสาเข็มต้นแรกสุดตั้งแต่วันที่ ๒๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ กาลเวลาเดินทางผ่านพ้นไปอย่างรวดเร็ว เป็นเวลานานกว่าทศวรรษ วิหารพันปีแห่งนี้ ยังไม่มีวี่แววว่าการก่อสร้างจะแล้วเสร็จสมบูรณ์เมื่อไหร่
          พื้นบันไดขึ้นวิหารยังคงเป็นผิวขรุขระของคอนกรีตแต่ถูกขัดสีให้ราบเรียบ ลบความคมของเศษปูนด้วยฝ่าเท้าเปล่าของชาวอโศกนับหมื่นๆคนที่ได้เดินเหยียบย่ำผ่านไป
          ชาวอโศกอาจจะต้องใช้เวลานานนับพันปีในการสร้างวิหารที่เป็นอกาลิโกแห่งนี้ให้แล้วเสร็จโดยสมบูรณ์ นั่นหมายความว่า วิหารพันปีแห่งนี้ ได้ซ่อนนัยยะทางปรัชญาที่สำคัญไว้อีกอย่างหนึ่ง คือ ชาวอโศกให้ความสำคัญและยึดมั่นกับวิถีทางที่จะไปสู่ผลสำเร็จ มากกว่าผลสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในทันทีทันใด
          นัยยะสำคัญสุดท้าย ซึ่งอาจเป็นกุศโลบายที่แท้จริงและซ่อนอยู่เบื้องหลังของการสร้างวิหารพันปีแห่งนี้ โดยที่วิหารพันปีแห่งนี้เริ่มก่อสร้างตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ เจดีย์ที่อยู่บนยอดวิหารถูกนำมาประดิษฐานบนยอดวิหารพันปี ตั้งแต่เดือนมิถุนายน ๒๕๓๙
          การตัดสินใจสร้างฐานถาวรวัตถุอย่างเช่นวิหารพันปี ต้องยอมรับว่าไม่ใช่วิถีปฏิบัติปกติของสมณะโพธิรักษ์ ซึ่งไม่นิยมสร้างถาวรวัตถุใดๆแต่สิ่งนี้อาจจะเป็นกุศโลบายที่ดีที่สุดในเวลานั้น ที่ช่วยในการปลุกปลอบไม่ให้ขวัญกำลังใจของชาวอโศกแตกซ่าน
เจดีย์เพียงหนึ่งเดียว
          ในเมื่อวิถีของชาวอโศกที่เป็นอเทวนิยมอย่างเคร่งครัดไม่สร้างทั้งพระพุทธรูปและไม่สร้างทั้งเจดีย์ ไม่บูชาด้วยไฟไม่มีการจุดธูปและเทียนเพื่อสักการบูชา เหตุใดเจดีย์ดังกล่าวจึงได้รับการยกเว้นให้ประดิษฐานในพุทธสถานของชาวอโศก โดยไม่ต้องปฏิบัติตามวิถีของอโศก
          ชาวอโศกมองว่า องค์เจดีย์ที่นำไปประดิษฐานอยู่บนส่วนสูงสุดของวิหารพันปี เพื่อใช้แทนสัญลักษณ์ของดินแดนพุทธภูมิ ซึ่งหลุดพ้นจากกรอบปฏิบัติที่จำกัดทั้งหลาย เป็นวิมุติหรือความว่างเปล่าที่เกิดจากการไม่ยึดติดและการหลุดพ้น
          องค์เจดีย์สร้างตามแบบเจดีย์ทรงพุ่มข้าวบิณฑ์ ในยุคสุโขทัย ตัวเจดีย์ทำด้วยโลหะ ปิดทับหรือพ้นทับด้วยทองคำบริสุทธิ์ ทองคำทั้งหมดได้จากการบริจาคของชาวอโศก โดยการหลอมรวมแหวน สร้อยคอ กำไร สร้อยข้อมือ ตุ้มหู เครื่องประดับทั้งหลาย และทองคำแท่ง ที่ได้รับบริจาคทั้งหมดเข้าด้วยกัน และสิ่งนี้อาจเป็นเพียงสิ่งเดียวที่แสดงถึงความมั่งคั่งของชาวอโศก นับตั้งแต่ดินแดนของชาวอโศกถูกก่อตั้งขึ้นมาจากธรรมสถานแดนอโศก ในปี ๒๕๑๖
          ภายในองค์เจดีย์บรรจุด้วยพระบรมสารีริกธาตุและพระธาตุชนิดต่างๆพระพุทธรูปปางต่างๆซึ่งเป็นศิลปะหลายยุคหลายสมัยรวม ๑๐ องค์ จากดินแดนเวชนียสถาน ๔ ตำบลคือ สถานที่ประสูติ ที่อุทยานลุมพิณี สถานที่ตรัสรู้ ที่พุทธคยา สถานที่แสดงปฐมเทศนา ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน และสถานที่ปรินิพพาน ที่สาลวโนทยาน เมืองกุสินารา พร้อมใบโพธิ์ จากต้นโพธิ์ดั้งเดิมที่พุทธคยา และแผ่นทองคำจารึก อาศิรพจน์ และอาศิรวาทะประกาศ
          องค์เจดีย์ทองคำตั้งตระหง่านอย่างสง่างาม อยู่บนส่วนสูงสุดของวิหารพันปี ซึ่งสามารถมองเห็นได้แต่ไกล ฐานเจดีย์รองรับไว้ด้วยเสาโค้งที่ห่อหุ้มด้วยแผ่นแสตนเลสหนาจำนวน ๑๖ ต้น เสาโค้งทั้งหมด ประกอบรูปขึ้นมาเหมือนโดมครึ่งวงกลม
          แต่เมื่อมองมาจากท้องฟ้าองค์เจดีย์ เสาโค้ง ช่องโล่งและพื้นที่ทางเดินโล่งรูปวงแหวนชั้นบนสุด จะรวมกันกลายเป็นรูปธรรมจักร เป็นธรรมจักรที่มีกงล้อถึง ๑๖ ซี่เสาโค้งหรือกงล้อจำนวน ๑๖ ซี่นี้มีความหมายแทนอาณาปานสติ ๑๖ และเจโตปริยญาณ ๑๖ เป็นธรรมะระดับสูงที่ใช้รองรับ ตั้งแต่บุคคลธรรมดาจนถึงอริยสงฆ์
สัญลักษณ์ของชาวอโศก
          ภาพลักษณ์ของชาวอโศกที่คนภายนอกรู้จักกันคือ การเป็นนักมังสวิรัติ และผู้เคร่งครัดวินัยสงฆ์ และยังเป็นพวกที่ชอบประชดสังคมอย่างสุดขั้ว และถูกกล่าวหาว่าฝักใฝ่การเมือง รวมถึงการเป็นผู้ทำให้พุทธรรมสับสนและผิดเพี้ยน
          มีอยู่สิ่งหนึ่งที่สามารถพบเห็นได้โดยทั่วไปในองค์กรฆราวาสของชาวอโศกโดยสะท้อนออกมาในรูปแบบของสัญลักษณ์ที่เรียบง่ายที่สุด ซึ่งสามารถสื่อไปถึงปรัชญาและหลักคิดของชาวอโศกได้โดยตรง สัญลักษณ์ที่ว่านี้เป็นรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า มีวงกลมหนึ่งวงอยู่กลางสี่เหลี่ยมสองมุมที่อยู่ตรงกันข้ามของสี่เหลี่ยม ลบมุมให้เป็รรูปมนหรือโค้ง ส่วนอีกสองมุมที่เหลือยังคงรักษาความเป็นมุมฉากไว้
          ไม่ปรากฏว่าสัญลักษณ์นี้ มีชื่อเรียกเฉพาะว่าอย่างไร แต่ชาวอโศกบางท่านอาจเรียกสัญลักษณ์นี้ว่า เจโต – สุญญตา - ปัญญา
          ที่มาของสัญลักษณ์นี้ มาจากรูปทรงผังพื้นที่ปรากฏในวิหารพันปีนั่นเอง ผู้ออกแบบวิหารพันปี ซึ่งได้เพียรพยายามถ่ายทอดแก่นของพุทธศาสนาทั้งหมดไว้ในรูปทรง เส้นสาย ระยะวัด ตลอดจนโครงสร้างทางสถาปัตยกรรม สำหรับสัญลักษณ์ เจโต – สุญญตา - ปัญญา แต่ละคำและองค์รวมของทั้งสามคำมีความหมายสื่อไปถึงหลักคิดที่สำคัญ คือ
          เจโต แทนความหมายของสิ่งที่เป็นเหตุเป็นผล มีกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและมีความแน่นอนตายตัว เป็นทั้งความรู้และวินัยอยู่ในตัวเอง ดุจดั่งศีลในโลกบรรพชิต หรือศาสตร์ต่าง ๆ เช่น นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ในโลกของฆราวาส ราวกับมุมฉากในรูปสัญลักษณ์ดังกล่าว

          ปัญญา แทนความหมายของสภาวธรรมชาติที่เป็นจริง ต้องใช้การคิดวิเคราะห์ ใช้จินตนาการเชื่อมโยง และตีความ มีความยืดหยุ่นพลิกแพลง เปลี่ยนแปลงไปตามกาลเทสะ มีความซับซ้อนและไม่มีความแน่นอนตายตัว ดุจดั่งญาณในโลกบรรพชิต หรือหลักรัฐศาสตร์และศิลปะในโลกของฆราวาส จึงเทียบได้กับเส้นโค้งหรือวงกลม ซึ่งในสัญลักษณ์นี้แทนด้วยมุมที่มนหรือโค้ง
          โลกที่เป็นจริงนั้นจะต้องใช้ทั้งกฎเกณฑ์ ความรู้ หรือหลักการที่ชัดเจนแน่นนอน ตายตัว ควบคู่กับการใช้ปัญญาพิจารณาเลือกใช้ให้เหมาะสม จึงจะทำให้ผู้ใช้นั้น บรรลุมรรคผลได้
          ส่วนการที่จะทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและเลือกใช้กฎเกณฑ์ความรู้ตามความเป็นจริง จิตของผู้ใช้เจโต-ปัญญา จะต้องปล่อยวาง ไม่ยึดติดกับตัวเอง ผลประโยชน์ ปล่อยวางกิเลสออกไป เป็นจิตที่เข้าใกล้ความว่างเปล่า เป็นจิตที่วิมุติหรือสุญญตา ดุจดั่งวงกลมแสดงถึงความว่างเปล่า ซึ่งอยู่ระหว่างเจโตและปัญญา ปรัชญาของเจโต – สุญญตา - ปัญญา จึงใกล้เคียงกับคำว่า ศิล – สมาธิ - ปัญญา
รหัสธรรมในวิหารพันปี
          ใต้อาคารวิหารพันปีเป็นที่โล่งกว้างใหญ่ ปกติจะใช้เป็นที่พักผ่อน สนทนาธรรม และใช้เป็นที่ชุมนุมแสดงธรรมในเทศกาลสำคัญพื้นที่ส่วนนี้ตกแต่งเป็นสวน ป่าเขา น้ำตกและลำธารแทนโลกธรรมชาติและโลกมนุษย์ ตัวอาคารชั้นล่างสุดลอยสูงจากพื้นดินถึง ๘ เมตร  เปรียบเสมือนอาคารที่ลอยอยู่เหนือโลกธรรมชาติและเหนือแรงดึงดูดของโลก เป็นรหัสธรรมแทนโลกุตรธรรม เป็นธรรมะที่ช่วยให้มนุษย์หลุดพ้นจากโลกียวิสัย อยู่เหนือแรงดึงดูดของกิเลสทั้งหลายทั้งปวง
          ภายในวิหารพันปีแบ่งออกเป็น ๖ ชั้น แต่ละชั้นแทนระดับของอริยบุคคล หรือการเข้าถึงโลกุตรธรรม โดยเริ่มจากกัลป์ยาณชน ในชั้นแรกสุดหรือชั้นที่สอง โสดาบันในชั้นที่สาม สกิทาคามี ในชั้นที่สี่ อนาคามีในชั้นที่ห้า และอรหันต์ในชั้นที่หก ภายในอาคารเปิดเป็นช่องโล่งต่อเนื่องถึงกันทุกชั้น ช่องโล่งนี้ทำให้อากาศแต่ละชั้นถ่ายเทได้ดี โดยไม่ต้องมีเครื่องปรับอากาศ และช่องโล่งนี้เป็นรหัสธรรมแทน วิมุติ ความว่างเปล่าหรือการหลุดพ้น
          กรอบของช่องโล่งในชั้นแรกสุดเป็นรูปสี่เหลี่ยม ซึ่งมีความหมายว่า กัลป์ยาณชน ยังคงอยู่ในกรอบปฏิบัติของสังคมมนุษย์ ผนังริมนอกของชั้นแรกนี้มีลักษณะผายออกแล้วตั้งตรง
          สำหรับชั้นที่สามถึงชั้นที่ห้านั้น ช่องว่าตรงกลางเป็นรูปวงกลมแทนความว่างเปล่าและการหลุดพ้น ที่ไม่ได้อยู่ในกรอบจำกัด ส่วนชั้นที่หก ช่องว่างวงกลมจะขยายใหญ่ขึ้นซึ่งมีความหมายแทนว่า อริยบุคคล ที่เป็นอรหันต์ มีหน้าที่ขยายความว่างเปล่า หรือการหลุดพ้นให้กว้างขึ้น
          ชั้นที่ห้า หรือชั้นของอริยบุคคลระดับ อนาคามี จะเป็นลานโล่งแทนความหมายของนักแสวงบุญที่ไม่เน้นการมีชีวิตแบบฆราวาสครองเรือน
          ใจกลางของอาคารรองรับด้วยเสาจำนวนสี่ต้น ซึ่งใช้แทน อริยสัจ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ถือเป็นแก่นกลางของหลักธรรมที่ใช้ค้ำจุนพุทธศาสนา เสาทั้ง ๔ ต้นนี้ ห่างกันประมาน ๗ เมตร แทนความหมายของหลักธรรมโพชฌงค์ ๗ ประการ คือ สติ ธรรมวิจยะ วิริยะ ปิติ ปัสสัทธิ สมาธิ และอุเบกขา ซึ่งเป็นหลักธรรมที่ทำให้มีจักษุ มีวิญญาณ ส่งเสริมความเจริญแห่งปัญญา ไม่เป็นข้างความคับแค้น เป็นไปเพื่อนิพพาน เสาหลักทั้ง ๔ ต้นนี้ จะสูงขึ้นไปจนทะลุพื้นชั้นที่ ๕
          ช่องว่าสี่เหลี่ยมของชั้นแรก หรือระดับกัลยาณชน จะไม่สัมผัสกับเสาโดยตรง ส่วนช่องว่างวงกลมชั้นที่ ๓ ถึงชั้นที่ ๕ จะสัมผัสกับเสาทั้ง ๔ ต้นโดยตรง ซึ่งมีความหมายชัดเจนในตนว่า อริยบุคคลในระดับ โสดาบันสกิทาคามีและอนาคามี ล้วนเข้าถึงหลักอริยสัจ ๔
          รอบนอกของอาคารรองรับด้วยเสาจำนวน ๑๒ ต้น เสาทุก ๆ ๓ ต้น ที่ล้อมรอบเสากลาง ๑ ต้น มีความหมายแทนปริวัฏ ๓  โดยเริ่มที่สัจจญาณ การเข้าถึงความจริง เข้าถึงความรู้ กิจจญาณ การนำความรู้ที่ดีรู้แล้วไปปฏิบัติจนกลายเป็นหน้าที่ กตญาณ เป็นความรู้ที่เกิดจากการปฏิบัติแล้วนำไปขยายผล จนกิเลสเบาบาง เข้าถึงความว่างและความหลุดพ้น ปริวัฏ ๓ ของอริยสัจ ๔ จึงรวมกันได้ ๑๒ ประการ
          สำหรับเสาทุกต้นในชั้นล่างสุดนี้มีความสูง ๘ เมตร เป็นรหัสธรรมของมรรค ๘ ได้แก่ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ และสัมมาสมาธิ
          ชั้นบนสุดของวิหารพันปีมีความหมายแทนอริยบุคคลระดับอรหันต์ ซึ่งทำหน้าที่ขยายความว่างเปล่าหรือการหลุดพ้นให้กว้างขวางออกไป ชั้นนี้เป็นรูปวงแหวนหรือวงล้อของธรรมจักร
          ถัดขึ้นไปจากวงล้อของธรรมจักรก็คือเสาโค้งจำนวน ๑๖ ต้น ซึ่งห่อหุ้มด้วยแสตนเลสหนารวมกันเป็นรูปโดมครึ่งวงกลม รองรับเจดีย์ที่อยู่บนยอดสุดของวิหารพันปี ซึ่งถือเป็นพุทธภูมิ
          และด้วยการคิดแบบนอกกรอบ การคิดแบบแตกแยก การให้อิสระต่อจินตนาการของผู้อื่นอย่างเต็มที่ สิ่งนี้อาจจะเป็นนัยยะ สุดท้ายที่แฝงไว้ในวิหารพันปี













ราตรีกาลที่เป็นตำนาน
          เขาเลือกที่พักค้างแรมแต่ละแห่งอย่างชาญฉลาด โดยเลือกที่จะนอนพักค้างแรมที่ มหาวิชชาลัย ภูมิปัญญาไทยอีสานคืนถิ่น ที่บ้านดงบัง ตำบลดอนฉิม อำเภอแวงใหญ่ จังหวัดขอนแก่น เพื่อนัดพบและสนทนากับ ๑๒ ปราชญ์ชาวบ้านจากภาคอีสาน
          ภูมิปัญญาของปราชญ์ท้องถิ่นเหล่านี้ เคยเป็นบ่อเกิดของนโยบายทางการเมืองในยุคต้นที่เขาเพิ่งจะก้าวขึ้นสู่อำนาจของเขายังเยาว์วัย เป็นอำนาจที่ได้รับการยกย่องว่าสวยสดงดงามยิ่งกว่าอำนาจในช่วงใด ๆ ที่เขาเคยมี
          เขายอมอดทนนอนฟังเสียงไก่ขันในยามเช้ามืด เป็นไก่ที่ร้องประชันกันอย่างสุดเสียง เป็นเสียงไก่ที่แหบที่สุดเท่าที่เคยได้ยินมาแต่พวกมันกลับทำหน้าที่อย่างเที่ยงธรรมและสม่ำเสมอทุกวันคืน โดยปลุกทุกผู้คนให้ตื่นจากการหลับใหล ไม่ว่าคนผู้นั้นจะเป็นมหาเสนาบดีผู้ทรงอำนาจ บรรพชิตผู้แสวงหาการหลุดพ้น หรือสามัญชนที่ยากจนข้นแค้นและต่ำต้อย
          เพราะที่นั่นคือ วัดป่าบ้านตาด อำเภอเมือง จังหวัดอุดรธานี ถิ่นพำนักของหลวงตามหาบัว ที่มีสายใยผูกพันกับเขาอย่างซับซ้อน และเคยช่วยโอบอุ้มเขาให้หลีกหนีพ้นจากบ่วงกรรมที่ติดตามไล่ล่าเขาอย่างกระชั้นชิด
          เขากล้าหาญพอตัวที่เลือกพักค้างแรมในชุมชนศีรษะโศก เป็นดินแดนของเหล่านักกล้าฝ่าสังคมที่ถูกมหาเถรสมาคมประกาศบัพพาชนียกรรม ผลักไสไล่ส่งให้เป็นพวกนอกศาสนา และเป็นดินแดนแห่งมังสวิรัติที่ปราศจากเสียงไก่ขันและเสียงหมาหอน มีแต่เสียงจิ้งหรีดจักจั่น และเสียงของกัลยาณมิตรที่คอยพร่ำเตือนและอุ้มชูส่งเสริมเขาทางการเมือง
          โดยเฉพาะในช่วงเยาว์แห่งอำนาจ ที่เต็มไปด้วยกลิ่นไอของอุดมคติและความใฝ่ฝันในการสร้างชาติ สร้างเมือง และปลดพันธนาการของความยากจน
          ในคืนสุดท้ายของการเดินทาง เขาหยุดพักค้างแรมบำเพ็ญเพียรโดยการนอนรอให้ยุงกัดทั้งคืนที่วัดบ้านไร่ของพระราชวิทยาคม หรือหลวงพ่อคูณ ปริสุทโธ ที่นิยมเคาะหัวเคาะกะโหลกผู้นิยมเลื่อมใสศรัทธา เพื่อปัดป้องสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายไม่ให้กล้ำกรายเข้ามา และเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการดำเนินงานทางการเมืองของเขามาโดยตลอด
เจตนาที่แท้จริงในการรอนแรมของชายผู้นั้นจะเป็นอะไร ก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นการไปตอบแทนคุณอาจารย์แต่ละแห่งหรือเป็นการสะสมคะแนนเสียงก่อนการเลือกตั้งใหญ่ที่จะเกิดขึ้นในอีก ๑๐ เดือนข้างหน้า ดังเช่นที่พรรคฝ่ายค้านกล่าวอ้างถึง
          หรือเป็นการเดินทางเพื่อพลิกกระแสความนิยมของคนเมืองที่กำลังถดถอยลงอย่างรวดเร็ว จากการถูกเหล่าสื่อมวลชนและปัญญาชนปากกล้าวิพากษ์วิจารณ์ในทางลบทุกวี่วัน เท็จบ้างจริงบ้าง จนสึกหรอกัดกร่อนลึกเข้าไปถึงความเชื่อมั่นศรัทธา
          หรืออาจเป็นการเดินทางเพื่อหลีกหนีให้พ้นจากการถูกไล่ล่าอย่างกระชั้นชิดในคดีทางการเมืองเมื่อ ๓ ปีก่อนรวมทั้งอาจเป็นการเดินทางเพื่อแก้เคล็ด เสริมดวงชะตา และเสริมสร้างกำลังใจให้กับตนเอง ดังเช่นที่บรรดาโหราจารย์ใหญ่น้อยทำนายทายทักกัน
          แต่การเดินทางของเขาได้สร้างสีสันแห่งชีวิตและสีสันแห่งการแสดง ราวกับละครโรงใหญ่ที่มีผู้ชมทั่วทั้งประเทศ รวมทั้งเป็นการเดินทางที่กระจายเงินงบประมาณไปสู่ชาวรากหญ้าและชาวรากแก้วมากที่สุดเท่าที่ประเทศนี้เคยมีมา
          สำหรับชาวอโศกแล้วชายผู้นั้นหาได้เป็นคนแปลกหน้าไม่ ย้อนหลังไปเมื่อวันที่ ๒๕ พฤษภาคม ๒๕๔๔ เขาเป็นผู้นำประเทศคนแรกสุดที่มาเยี่ยมเยือนชาวอโศกถึงหมู่บ้านราชธานีอโศก ตำบลบุ่งไหม อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี ดินแดนอโศกแห่งแรกที่เปิดกว้างให้กับนักการเมืองไทยทุกพรรค
          แต่การเดินทางมาเยือนศีระษะอโศกในครั้งนี้ ถือเป็นเหตุการณ์ที่ต้องบันทึกอยู่ในความทรงจำและตำนานของชาวอโศก เพราะเป็นครั้งแรกสุดในรอบ ๓๐ ปี นับตั้งแต่ดินแดนของชาวอโศกได้ก่อกำเนิดขึ้น ได้มีมหาเสนาบดีของประเทศพร้อมกับเสนาบดีคนอื่น ๆ ที่สูงด้วยอำนาจและวาสนามาพักค้างแรมพร้อม ๆ กัน ในบ้านหลังเล็ก ๆ ของชาวชุมชน
          เป็นครั้งแรกสุดที่ชาวอโศกได้มีโอกาสสัมผัสผู้นำคนนี้อย่างใกล้ชิดได้เห็นถึงความละเอียด ใฝ่รู้สนใจในทุกสิ่ง ได้เห็นถึงความเรียบง่ายและเป็นกันเอง ในฐานะมหาเสนาบดี เขาอาจทำให้ขุนนางคนอื่น ๆ กลัวจนตัวสั่นงันงกในยามที่พบเห็นหรือยืนอยู่ต่อหน้า แต่เขากลับทำให้ประชาชนหัวเราะ ยิ้มร่า อบอุ่นและสบายใจ ราวกับว่าเขาถอดและใส่หัวโขนเข้าออกได้อย่างรวดเร็ว
          และเป็นครั้งสุดท้ายของชาวอโศกเช่นกันที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดกับผู้นำท่านนี้ แทบไม่น่าเชื่อว่าชะตาชีวิตของเขาจะพลิกผันได้อย่างรวดเร็ว เพราะในอีก ๒ ปีต่อมา ชาวอโศกบางส่วนต้องกล้ำกลืนฝืนใจ ที่ต้องตัดสินใจไปร่วมชุมนุมขับไล่ให้เขาพ้นจากตำแหน่ง ทั้ง ๆ ที่ในจิตใจของชาวอโศกจำนวนไม่น้อยยังคงนิยมชมชอบและรักใคร่เอ็นดู จนก่อให้เกิดความร้าวลึกภายในชาวอโศกครั้งใหญ่ ในที่สุดเขาก็ถูกบ่วงกรรมไล่ล่า ถูกรัฐประหารโค่นล้ม ต้องหลุดพ้นจากตำแหน่งและอำนาจในอีก ๖ เดือนต่อมา
          ดังนั้น ในค่ำคืนที่มืดมิดนั้น แม้จะเป็นระยะเวลาสั้น ๆ เพียงชั่วข้ามคืน แต่ก็เป็นวันคืนที่มีความหมายลึกล้ำ เป็นวันคืนที่จะอยู่ในความทรงจำและตำนานของชาวอโศก เพราะค่ำคืนนั้นเป็น
          หนึ่งราตรีกาล ของมหาเสนาบดีในศีรษะอโศก
          อ่านหนังสือของชาวอโศกให้ครบ ๗ เล่ม
          ชาววัย ห้าสิบเศษคนนั้นเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ ๒๓ ของประเทศไทย ได้รับการเลือกตั้งจากประชาชนด้วยคะแนนเสียงท่วมท้นถึง ๑๖ ล้านเสียง เมื่อเสร็จสิ้นการฟังรายงานกิจกรรมต่าง ๆ จากผู้ว่าราชการจังหวัดศรีสะเกษแล้ว ได้ซักถามข้อสงสัยและกล่าวปราศัยทักทาย ขอบคุณพี่น้องประชาชนจำนวนมากที่เดินทางมารอต้อนรับ อีกทั้งได้รับเรื่องราวร้องทุกข์ต่าง ๆ จากประชาชนด้วยสองมือของตนเอง สร้างความประทับใจยิ่งนักในความเป็นผู้นำที่ใกล้ชิดและเข้าหาประชาชนอย่างแท้จริง
          หลังจากนั้นนายกรัฐมนตรีและคณะได้เดินชมนิทรรศการต่าง ๆ ของทางจังหวัดและของเครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษที่จัดขึ้นหน้าชุมชนศีระษะอโศก ไม่ว่าจะเป็นการแสดงพืชผักผลไม้ที่ปลูกด้วยวิธีเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้ปุ๋ยเคมีและยาฆ่าแมลง การสีข้าวกล้องด้วยมือโดยเครื่องสีที่ประดิษฐ์คิดค้นโดยภูมิปัญญาชาวบ้าน ซึ่งเขาได้ทดลองสีข้าวด้วยตนเองอย่างสนุกสนาน ได้เข้าเยี่ยมชมกิจการโรงปุ๋ยของศีรษะอโศก ซึ่งถูกใช้เป็นต้นแบบไปทั่วทั้งจังหวัด
          เมื่อเสร็จสิ้นกิจกรรมทั้งหมดที่ทางจังหวัดจัดเตรียมต้อนรับแล้วนายกรัฐมนตรีซึ่งเริ่มเมื่อยล้าและเหนื่อยอ่อนจากการเดินทางรอนแรมมาทั้งวันได้เดินตรงเข้าที่พักในชุมชนทันที ตลอดเส้นทางที่เดินผ่านไปมีแต่ผู้นำของชาวชุมชนศีรษะอโศกและคณะผู้ติดตามใกล้ชิดเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่เดินเคียงข้าง
          ส่วนประชาชนจากที่อื่นที่มาชุมนุมรอต้อนรับ  ข้าราชการใหญ่น้อยที่คอยรายงานทุกเรื่องราว กองทัพนักข่าวนับร้อยที่ติดตามถ่ายทอดทุกเรื่อง และกองกำลังของตำรวจภูธรที่ถูกเกณฑ์มารักษาความปลอดภัย จำนวนราว ๓๐๐ คน ถูกกันไว้ให้อยู่รอบนอกชุมชน รัฐมนตรีคนอื่น ๆ ที่ติดตามมาด้วยราว ๗-๘ คน ได้แยกย้ายกันไปพักผ่อนตามบ้านหลังอื่น ๆ ในชุมชน
          ค่ำคืนนั้นเป็นคืนวันศุกร์ ขึ้น ๔ ค่ำ เดือน ๖ ปีวอก ท้องฟ้ายังคงมืดสนิท มีแต่แสงดาวและแสงไฟนีออนที่ส่องสว่างตามทางเดินเป็นระยะ ๆ บรรยากาศภายในชุมชนเงียบสงบ เช่นเดียวกันกับวันคืนอื่น ๆ ของศีรษะอโศก แต่รอบนอกชุมชนทั้งหมดกลับพลุกพล่านสับสนวุ่นวาย ผู้คนนับพันนอนรออย่างกระวนกระวายให้ถึงเช้าวันรุ่งขึ้น เพื่อจะได้พบกับนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง
          นายกรัฐมนตรีได้เข้าพักค้างแรมที่บ้านตะวันฟ้า บริเวณคุ้มคำพุทธ ซึ่งชั้นล่างใช้เป็นบ้านพักของคุณขวัญดิน สิงห์คำ และชั้นบนใช้รับรองแขกไปด้วยกัน เจ้าของบ้านมีฐานะเป็นผู้นำชุมชนและหัวหน้าพรรคเพื่อฟ้าดิน พรรคการเมืองเพียงหนึ่งเดียวของชาวอโศก ที่มีหญิงเป็นผู้นำและไม่หวังผลในการเลือกตั้ง
          การที่หัวหน้าพรรคการเมืองหนึ่ง ถึงแม้จะเป็นพรรคการเมืองเล็ก ๆ ที่มีสมาชิกเพียงไม่กี่หมื่นคน จัดบ้านพักของตนเองรับรองหัวหน้าพรรคการเมืองอีกคนหนึ่ง ที่เป็นพรรคการเมืองใหญ่โต มีสมาชิกกว่า ๑๐ ล้านคน ถือได้ว่าเป็นการรับรองที่มีศักดิ์และศรีทางการเมืองสูงทัดเทียมกันระหว่างผู้มาเยือนและผู้ต้อนรับ
         
บ้านพักดังกล่าวเป็นบ้านไม้สองชั้นหละงกะทัดรัด ขนาดเพียง ๕ คูณ ๕ เมตร ชั้นบนของบ้านมีสองห้องนอน ขนาดห้องละ ๑.๕ คูณ ๒.๕ เมตร และระเบียงที่ใช้พักผ่อนและรับแขกที่กว้างขวาง ห้องนอนทั้งสองห้องถูกจัดเตรียมไว้ให้อยู่ในสภาพสมถะเรียบง่ายคือ กางมุ้ง ปูที่นอนและผ้าสีขาวทับ พร้อมพัดใบตาล ไม้กดจุดนวดหลัง ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นทีวี วิทยุ ตู้เย็น หรือเครื่องปรับอากาศ
          การมาเยือนในครั้งนั้น ชาวอโศกรู้ล่วงหน้าเพียงไม่กี่วันจากการบอกกล่าวของนักข่าวที่สนิทสนม และกว่าที่จะได้รับการยืนยันอย่างเป็นทางการก็เพียงสองสามวันล่วงหน้าเท่านั้น ดังนั้น สิ่งเดียวที่ชาวอโศกทำได้สำหรับการเตรียมการต้อนรับในครั้งนั้นคือ การทาสีบ้านใหม่ปลูกต้นไม้เสริม โดยเฉพาะพรรณไม้หอมและไม้ไล่ยุง
          ไม่มีใครล่วงรู้เลยว่านายกรัฐมนตรีจะตัดสินใจเลือกเข้าพักที่ห้องนอนไหน หรือจะตัดสินใจนอนพักที่ระเบียงซึ่งลมพัดผ่านถ่ายเทได้สะดวกกว่า อาจจะเป็นเพราะปัญหาการรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวด หรือ อาจเป็นเพราะทุกห้องมีความไม่สะดวกสบายเท่า ๆ กันจนต้องปล่อยให้เขาเผชิญหน้ากับความจริงด้วยตนเอง
          นายกรัฐมนตรีพักค้างแรมที่ชั้นบนเพียงคนเดียว ส่วนชั้นล่างเป็นที่พักของผู้ติดตามใกล้ชิดถึง ๓ คน คนแรก เป็นเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยประจำตัวที่ติดตามไปทุกฝีก้าว คนที่สอง เป็นเลขาฯคนสนิทที่ผู้คนส่วนใหญ่เรียกว่าชายผมขาว และคนสุดท้ายเป็นรัฐมนตรีคนสนิท ที่มักถูกสำคัญผิดว่าเป็นคนจากฟากฝั่งเขมร ใกล้ชิดยิ่งกว่าเลขาฯเก่งกาจคล่องแคล่ว ใช้สอยได้ทุกเรื่อง
          การมาพักค้างแรมที่นี่ บรรยากาศเป็นธรรมชาติ สงบเงียบและนอนหลับสบาย ถึงแม้จะต้องตื่นนอนตั้งแต่เช้าตรู่ตอนตี ๕ ถูกปลุกจากเสียงเทศน์กล่าวถึงพิษภัยของระบบทุนนิยมที่กัดกร่อนจิตวิญญาณของคนให้เสื่อมทรุด โดยอาจตั้งใจให้นายกรัฐมนตรีได้รับฟังจนถึงห้องนอน
          ระบบสาธารณะโภคีของชาวอโศก หรือเรียกอีกนัยหนึ่งว่าระบบคอมมูน เกิดขึ้นตามธรรมชาติพร้อมกับวิถีอโศกอย่างอื่น ๆ ได้จัดให้กรรมสิทธิ์ที่ดินทั้งหมดในชุมชนพุทธสถานเป็นของสหกรณ์ชุมชนที่ทุกคนเป็นเจ้าของ พุทธสถานซึ่งไม่ได้รับการรับรองว่าเป็นวัด ที่ดินทั้งหมดจึงไม่ถือเป็นธรณีสงฆ์ตามกฎหมาย และไม่ถือเป็นทรัพย์สินสาธารณะที่ถูกควบคุมดูแลโดยกรมการศาสนา ดังนั้น จึงมีความยืดหยุ่นในการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน การหดและการขยายเขตพุทธสถาน
          สำหรับบ้านพักแต่ละหลัง ถึงแม้กรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์จะเป็นของผู้ปลูกสร้าง เป็นทรัพย์สินที่สืบทอดส่งต่อไปถึงลูกหลานได้ แต่ก็ถูกบังคับให้ส่งทอดต่อไปให้เฉพาะผู้ถือศีลห้าและถือมังสวิรัติครบถ้วนเท่านั้น หากครอบครัวใดหาผู้สืบทอดทรัพย์สินไม่ได้ สหกรณ์ชุมชนจะเป็นผู้รับซื้อทรัพย์สินดังกล่าวให้เป็นกรรมสิทธิ์ของส่วนรวม ดังนั้น ในระยะยาวชาวชุมชนทั้งหมดยังคงรักษาความเป็นชาวอโศกได้อย่างแน่นหนา
          บ้านพักแต่ละหลังในชุมชนกำหนดกติกาให้สร้างได้ในขนาดไม่เกิน ๕ คูณ ๕ เมตร และบ้านพัก ๔ หลังใช้บ่อน้ำร่วมกัน ๑ บ่อ ทำให้การใช้ที่ดินถูกจำกัด และมีขนาดพอเพียงสำหรับการอยู่อาศัยแบบเรียบง่าย ชาวอโศกยังคงรักษาแบบแผนชีวิตที่สมถะ ไม่แข่งขันกันแสดงความฟุ้งเฟ้อและร่ำรวย ไม่ว่าชาวอโศกผู้นั้นจะมาจากชนชั้นที่ร่ำรวยมีฐานะหรือมาจากชนชั้นที่ยากจนข้นแค้น
          ธรรมเนียมบุญนิยมของชาวอโศกแตกต่างจากการทำบุญของพุทธศาสนิกชนแห่งอื่น ๆ พวกเขาให้ความสำคัญกับคนมากกว่าเงิน ดังนั้นชาวอโศกจึงยึดถือนโยบายที่ห้ามมีกองทุนที่อยู่ในลักษณะสะสมกักตุนไว้ เพื่อเก็บกินใช้แต่ดอกผล เงินทุกบาททุกสตางค์ที่หามาได้จะใช้อย่างประหยัดสุดและพยายามสะพัดหมุนให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ยึดถือเงินแทนคุณค่าของคนและยอมให้เงินมากัดกร่อนจิตใจของคน
          ชาวอโศกถูกห้ามไม่ให้ทำกิจกรรมเรี่ยไร แม้ในเชิงแอบแฝงใด ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ถูกห้ามไม่ให้รับบริจาคหรือรับการทำบุญจากผู้ไม่รู้เป้าหมาย หรือไม่รู้กิจกรรมสารัตถะ หรือยังไม่รู้จักกันพอสมควร โดยกำหนดเป็นหลักเกณฑ์อย่างเข้มงวดกวดขันไว้ว่า ผู้มีสิทธิบริจาคหรือทำบุญให้แก่ชาวอโศกได้นั้น จะต้องคบคุ้นกับชาวอโศกเกิน ๗ ครั้งหรือต้องอ่านหนังสือของชาวอโศกให้ครบ ๗ เล่ม
          เช้าวันรุ่งขึ้น นายกรัฐมนตรีเปลี่ยนไปสวมกางเกงยีนสีน้ำเงินอ่อน เสื้อเชิ้ตแขนสั้นสีน้ำเงิน ระหว่างทางที่นายกเยี่ยมชมหมู่บ้านได้แวะทักทายชาวชุมชนที่มารอต้อนรับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เฒ่าวัย ๘๙ และเด็กเล็กวัย ๘-๙ ขวบ ท่านละเอียดและใส่ใจกระทั่ง ขณะที่ถ่ายรูปกับนักเรียนสัมมาสิกขาราชธานีอโศก ได้เหลือบเห็นน้องเจน เด็กนักเรียนหญิงตัวเล็กที่ยืนเคียงข้างท่านและถูกเพื่อนด้านหน้าบดบัง ได้อุ้มเด็กน้อยคนนั้นขึ้นมาเพื่อให้เห็นหน้าในรูปถ่ายพร้อมกันกับคนอื่น ๆ
          การพบกันของสองผู้นำระหว่างนายกรัฐมนตรีและสมณะโพธิรักษ์เป็นเรื่องทางการเมืองที่ละเอียดอ่อนอย่างยิ่งและอยู่นอกเหนือกำหนดการ สมณะโพธิรักษ์เดิมทีไม่คิดว่าจะมาพบกับนายกรัฐมนตรี โดยตระหนักว่าการที่มีคนต่อต้านชาวอโศกไม่น้อย หากปล่อยให้นายกรัฐมนตรีเป็นประธานอยู่คนเดียว จะทำให้สบายใจและไม่ต้องระมัดระวังมาก
          แต่นักสู้ที่ไม่เคยยอมแพ้อย่างนายกรัฐมนตรีหาได้คิดเช่นนั้นไม่เขากล้าหาญพอที่จะยอมรับความจริง เผชิญหน้ากับกระแสสังคมและคนที่คัดค้านอย่างไม่หวาดหวั่น โดยไม่ต้องเสแสร้ง ในที่สุดทั้งสมณะและพลตรีจำลอง ศรีเมือง จำเป็นต้องมาปรากฎกายที่ศีรษะอโศก เพื่อร่วมพบปะพูดคุยกับนายกรัฐมนตรี
          ก่อนที่จะนมัสการลากลับ นายกมีความประสงค์จะทำบุญถวายเงินจำนวน ๑ แสนบาทให้กับสมณะโพธิรักษ์ แต่ติดขัดด้วยกฎแห่งบุญนิยมที่ไม่ได้คบคุ้นกับชาวอโศกเกิน ๗ ครั้ง และยังไม่มีโอกาสอ่านหนังสือของชาวอโศกครบ ๗ เล่ม ดังนั้น จึงไม่สามารถบริจาคเงินให้แก่ชาวอโศก
          เขาได้ขอผ่อนผัน ให้นับรวมแต่ละครั้งของคณะรัฐมนตรีที่ได้เดินทางมาด้วยทั้ง ๗ คน ซึ่งเมื่อนับรวมกันแล้วจะครบและเกิน ๗ ครั้ง มีคุณสมบัติครบถ้วนที่จะบริจาคเงินตามหลักการแห่งบุญนิยมของชาวอโศก
          ในที่สุดจำเป็นต้องหาทางออกตามแบบฉบับของสังคมไทย ที่ยืดหยุ่น และไม่ใช้หลักการหักหาญให้ผู้ใดผู้หนึ่งต้องยอมจำนนและเสียหน้า โดยเฉพาะการทำให้ผู้มีอำนาจในขณะนั้นต้องยอมจำนนและเสียหน้า สุดท้ายต้องลงเอยด้วยการเลี่ยงไปมอบเงินดังกล่าวให้เป็นทุนการศึกษาของนักเรียนสัมมาสิกขา
          สมณะโพธิรักษ์ได้มอบกลดคันหนึ่งให้กับนายกรัฐมนตรีเป็นที่ระลึก ในโอกาสที่ได้เดินทางรอนแรมเป็นระยะทางหลายพันกิโลเมตรกลดซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งอนาคามีชน พร้อมสละทุกสิ่ง กระทั่งหลังคาบ้านที่คุ้มหัว เพื่อเดินทางไกลบนเส้นทางที่ตามรอยของพระพุทธองค์ และกลดคันนั้นอาจมีความหมายแทนว่า
         
          เป็นคำเตือนของกัลยาณมิตรที่มีถึงกัน
แทนคำพูดมากมาย ที่ต้องการจะบอกกล่าว 
กำเนิดของวัด ชุมชน และโรงเรียน
          นับถอยหลังไป ๓๑ ปีที่แล้ว เมื่อราวปลายปี ๒๕๑๘ สมณะสันตจิตโต และสมณะอัคควัณโณ สองสมณะที่เป็นสหายสนิทและเป็นสมณะรุ่นแรกสุดที่อยู่ในยุคบุกเบิกที่แดนอโศก ได้จาริกธุดงค์มาจนถึงบริเวณที่เรียกว่าวัดป่าช้า ตำบลกระแซงใหญ่ อำเภอกันทรลักษ์จังหวัดศรีสะเกษ อันเป็นเขตบ้านเกิดของสมณะทั้งสอง
          สถานที่ดังกล่าวเดิมทีเป็นเขตป่า มีอาณาเขตกว้างขวางนับร้อยไร่ แต่ถูกชาวบ้านบุกรุกจนเหลือเพียง ๔๔ ไร่ ต่อมาถูกทิ้งร้างเพราะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดน้ำและขาดธาตุอาหารในดิน ทำการเกษตรไม่ได้ผล เมื่อชาวบ้านอยู่ไม่ได้ ถึงกับทิ้งแผ่นดินให้รกร้าง ในที่สุดพระท่านก็อยู่ไม่ได้เช่นกัน ต้องทิ้งวัดให้ร้างตามกันไป
          สมณะทั้งสองได้มาปักกลดในบริเวณดังกล่าวเพื่อทดลองฝึกฝนปฏิบัติธรรม โดยเฉพาะการฝึกจิตให้สงบนิ่งและมั่นคง เมื่ออยู่ในบริเวณที่เปล่าเปลี่ยววิเวก เต็มไปด้วยซากศพที่ชวนให้หวาดหวั่น การจาริกธุดงค์ในครั้งนั้นไม่ได้มีแผนที่จะสร้างสำนักสงฆ์หรือสร้างพุทธสถานแต่อย่างไรทุกอย่างที่เกิดขึ้นหลังจากนั้นมันเป็นไปเองตามธรรมชาติ
          ชาวบ้านที่พบเห็นสมณะทั้งสอง แรก ๆ ก็ล่ำลือว่าเป็นพระคอมมิวนิสต์ที่แอบแทรกซึมปะปนเข้ามา ต่อมามีคนที่ใจกล้าแวะเวียนกันเข้าไปขอหวยบ้าง ให้รดน้ำมนต์บ้าง จึงถูกไล่ให้กลับไปทุกครั้ง หลังจากนั้นจึงมีชาวบ้านที่เข้าไปสนทนาธรรม โดยเฉพาะพวกแรก ๆ ที่เข้าไปพบมีอาชีพเป็นครู เมื่อได้มีโอกาสเห็นวัตรปฏิบัติที่เข้มงวดและฟังสมณะท่านเทศน์แล้วก็เกิดความประทับใจและเลื่อมใสศรัทธา
          ในที่สุด ทุกคนหันมาปฏิบัติธรรม พากันละทิ้งอบายมุข ถือศีลห้า มังสวิรัติ หลังจากการปฏิบัติธรรมแล้ว ชีวิตครอบครัวแต่ละคนก็ดีขึ้นตามลำดับ ความเชื่อมั่นศรัทธายิ่งมีมากขึ้น เลยช่วยกันชักชวน เป็นเรื่องที่เผยแพร่กันแบบปากต่อปาก
          ทำไปทำมาสมณะทั้งสองต้องจำพรรษาอยู่ที่วัดป่าช้าอีกนาน จึงถือโอกาสปลูกสร้างกุฏิหลังเล็ก ๆ และศาลาวัดขึ้นมา และจับจองพื้นที่ป่าช้าร้างนี้เพื่อสร้างเป็นพุทธสถานของชาวอโศก เรียกว่าศีรษะอโศก ซึ่งถือเป็นสถานแห่งแรกสุดของชาวอโศกที่ถูกจัดตั้งขึ้นมาหลังจากการประกาศแยกตัวออกจากมหาเถรสมาคมในเดือนสิงหาคม ปี ๒๕๑๘
          ชาวบ้านที่ชักชวนกันเดินทางมาปฏิบัติธรรม ส่วนใหญ่เดินทางไกล จะมาพักค้างแรมในวัดบ่อย ๆ ก็ดูไม่ดี จึงได้รวบรวมเงินซื้อที่ดินข้างเคียงพุทธสถานจำนวน ๘ ไร่ สร้างบ้านพักคนละหลัง ขนาด ๕ คูณ ๕ เมตร ไว้พักค้างแรมในระหว่างที่มาปฏิบัติธรรม
          ที่ดินที่รวมเงินกันซื้อเป็นทรัพย์สินของทุกคน จึงกลายเป็นต้นกำเนิดของระบบสาธารณโภคี หลังจากนั้นสภาพความเป็นอยู่แบบชุมชนจึงค่อย ๆ ก่อตัวขึ้น กลายเป็นชุมชนศีรษะอโศกในปี ๒๕๒๙ และถูกยกฐานะเป็นหมู่บ้านศีรษะอโศกในปี ๒๕๔๐
          ชีวิตความเป็นอยู่ของชาวชุมชนศีรษะอโศก ในระยะแรก ต้องยอมรับกันว่าแร้นแค้นเกินที่จะบรรยาย รสชาติและคุณภาพอาหารยังห่างไกลจากวิถีชีวิตเดิม ชาวอโศกหลายคนถึงกับยอมรับว่าแทบจะทนสภาพอาหารการกินในระยะแรกไม่ได้เลย ชาวชุมชนเริ่มต้นสร้างชีวิตใหม่ด้วยการขุดบ่อน้ำ ปลูกผัก และปลูกข้าว ในที่สุดจึงได้อาหารจำนวนเพียงพอมาเลี้ยงดูชาวชุมชน และสิ่งนี้กลายเป็นวิถีแห่งบุญนิยมในแบบฉบับของชาวอโศก และเป็นต้นกำเนิดของระบบเศรษฐกิจชุมชนที่พึ่งตนเอง
          เมื่อเริ่มเป็นชุมชนก็จะมีปัญหาเกี่ยวกับอนุชนรุ่นหลังตามมา เด็กส่วนหนึ่งเป็นลูกหลานของชาวชุมชนที่อาศัยอยู่เป็นประจำ อีกส่วนหนึ่งเป็นเด็กที่มาญาติธรรมที่มาปฏิบัติธรรมกัน ในช่วงวันเสาร์-อาทิตย์ ระหว่างที่ผู้ใหญ่ไปปฏิบัติธรรมกัน ต้องมีคนคอยดูแลเด็กเหล่านั้น ซึ่งบางครั้งมีเด็ก ๆ รวมกันนับเป็นร้อยคน โรงเรียนจึงเกิดขึ้นตามหลังชุมชนไม่นานนัก
          โรงเรียนที่ศีรษะอโศกเริ่มจากการมีคนอโศกที่เคยทำงานด้านการศึกษามาก่อน สิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอโศกจะเริ่มต้นจากการเกิดของวิญญาณก่อนคือ มีคนที่อาสาจะทำ มีครูที่เคยทำโรงเรียนมาก่อน แล้วจึงค่อยเกิดโรงเรียนตามมาทีหลัง นี่ก็เป็นอีกวิถีของชาวอโศก
          วัด ชุมชน และโรงเรียน ตามวิถีอโศกแล้ว สามสิ่งนี้จะต้องอยู่รวมกันเป็นองค์รวมและไม่แยกออกจากกันเป็นเชิงเดี่ยว กลายเป็นวิถีไตรลักษณ์ที่ชาวอโศกคุ้นเคย ทั้งหมดเริ่มโดยมีสมณะที่ถูกเคี่ยวรำฝึกฝนมาอย่างหนักทำหน้าที่เป็นศูนย์กลาง หรือเป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของคน ชาวอโศกจึงยึดถือแนวทางคนเป็นจุดเริ่มต้นของทุกสิ่ง
          สมณะเป็นผุ้ก่อตั้งวัดหรือพุทธสถาน จากนั้นสร้างคนที่ยึดมั่นในศีล ไม่เบียดเบียนเพื่อนร่วมโลก กินน้อยใช้น้อย แต่กลับแบ่งปันจุนเจือผู้อื่นมาก ทำงานอย่างขยันขันแข็งและทรหดอดทน ไม่เก็บสะสม และให้เงินทุนสะพัดหมุนเวียน คนเหล่านี้คือชาวอโศกผู้เคร่งครัด เป็นผู้สร้างชุมชนล้อมรอบวัด
          วัดหรือพุทธสถานรวมถึงสมณะไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว แต่กลับอยู่ร่วมกับชุมชน และห้อมล้อมด้วยชุมชน ซึ่งทำหน้าที่อุปัฏฐากสมณะและพระศาสนา ในขณะที่สมณะถือหลักการทำงานให้ชุมชน เป็นการฝึกฝนตนเองเพื่อความหลุดพ้นด้วยกันทั้งหมด
          โรงเรียนเป็นระบบการเรียนรู้ ที่ไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยม เป็นส่วนหนึ่งของวัด เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน และเป็นส่วนหนึ่งของระบบการผลิตเลี้ยงตัวเอง ไม่แยกตัวออกไปอยู่ในโลกที่โดดเดี่ยว ทำให้ไม่แยกจริยธรรมออกจากการเรียนรู้ ไม่แยกการเรียนรู้ออกจากชีวิตชุมชนที่เป็นจริง และไม่แยกการเรียนรู้ออกจากกระบวนการผลิตที่เป็นจริง
          สามสิ่งข้างต้นนี้ หากถูกแยกออกจากกันอย่างโดดเดี่ยวจะเป็นต้นตอของการผลิตอนุชนรุ่นหลังที่ไร้จิตวิญญาณ ไร้รากเหง้าของสังคมและไร้รากฐานของชีวิตที่เป็นจริง กลายเป็นคนที่หยิบโหย่งไม่ติดดิน เกาะกินและอาศัยอยู่บนหอคอยงาช้าง ซึ่งไม่ใช่สิ่งที่ชาวอโศกต้องการ
การสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่พึ่งตนเอง
          แก่นฟ้า แสนเมือง และขวัญดิน สิงห์คำ สองผู้นำชุมชนศีรษะอโศกได้เล่าให้ฟังว่า เพื่อที่จะพึ่งตนเองให้ได้ในเรื่องอาหาร จึงได้มีการจัดหาพื้นที่ข้างเคียงเพื่อทำการเกษตร ทำนา และทำสวน ใช้แรงงานของชาวชุมชนและแรงงานของเด็กนักเรียนที่มีจำนวนมาก โดยถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาจากชีวิตจริง ในที่สุดปีแรกผ่านพ้นไป ผลผลิตที่ได้ออกมาจึงมีจำนวนมากเพียงพอที่จะเลี้ยงดูคนในชุมชนและเลี้ยงดูเด็กนักเรียนจำนวนมาก
          ในช่วงที่ว่างจากการเกษตรได้ทำเรื่องเพาะถั่วงอกและเพาะเห็ดฟางไว้กินเอง ต่อมาได้หันมาริเริ่มทำเรื่องเห็ดนางฟ้า รวบรวมเงินทุนเริ้มต้นได้มาเพียง ๔ พันบาท ได้รถหกล้อเก่า ๆ คันหนึ่ง โอนมาจากสันติอโศกเรียกว่าช้างพัง ไปขนก้อนเห็ดจากที่กรุงเทพฯขนมาจึงค่อย ๆ มาสร้างโรงเพาะเห็ด ไม่นานนักก็เริ่มมีเห็ดนางฟ้าไว้บริโภคเอง
          เมื่อเห็ดนางฟ้าเริ่มมีจำนวนมากต้องช่วยกันนำไปขาย ในเวลานั้นตั้งราคาขายไว้ต่ำมาก เพียงกิโลกรัมละ ๒๐ บาท เห็ดนางฟ้าในขณะนั้นยังไม่เป็นที่รู้จักกัน วันแรกทั้งขายทั้งแจกได้เงินมาเพียง ๓๐ บาทเท่านั้น วันต่อ ๆ มาจึงค่อยขายได้มากขึ้น ถึงวันละ ๖๐๐ บาท ต้องรอให้คนที่ซื้อไปแล้วกินจนติดใจ หลังจากนั้นเงินหมุนเวียนเริ่มมีมากขึ้น
          ก้าวต่อมา เมื่อเพาะเห็ดและขายเห็ดจนชำนาญแล้ว จึงหันไปผลิตก้อนเห็ดขายเสียเอง ต้องสร้างโรงเพาะเห็ดใหม่ ผลิตก้อนเห็ดขาย ขายทั้งปลีกและส่ง ส่วนใหญ่ผู้ซื้อเป็นชาวบ้าน กิจการผลิตก้อนเห็ดทำรายได้ดีกว่าการเพาะเห็ดขายมาก ช่วยทำให้รายได้ของชุมชนเพิ่มพูนขึ้นถึงเดือนละ ๓-๕ หมื่นบาท
          เส้นทางการสร้างวิสาหกิจชุมชนหรืออุตสาหกรรมชุมชนของศีรษะอโศก เริ่มต้นจากการผลิตแชมพูสมุนไพรอัญชัน ซึ่งเป็นที่นิยมกันมากต้นตำรับการผลิตแชมพูสมุนไพรมาจากคุณสนชัย ซึ่งเป็นคนที่ศีรษะอโศก แต่ไปริเริ่มทำการผลิตแชมพูขึ้นที่ปฐมอโศก เมื่อคุณสนชัยย้ายกลับมา ได้ชุดอุปกรณ์ทำแชมพูมาชุดหนึ่งจากขอนแก่น
          ชุมชนศีรษะอโศกได้ยืมเงินลงทุนจำนวนห้าหมื่นบาทจากบริษัท พลังบุญ จำกัด ซึ่งเป็นเครือข่ายหนึ่งของชาวอโศก และเป็นผู้จัดจำหน่ายแชมพูสมุนไพรในกรุงเทพมหานครและจังหวัดใกล้เคียง การยืมเงินระหว่างกันของเครือข่ายอโศกเป็นเรื่องปกติที่มักเกิดขึ้นและถือเป็นการหนุนช่วยซึ่งกันและกัน การยืมเงินระหว่างกันไม่มีการคิดดอกเบี้ย
          การผลิตแชมพู เริ่มจากการวางแผนปลูกดอกอัญชันเพื่อใช้เป็นวัตถุดิบในการผลิตแชมพู เดือนแรกผลิตแชมพูขายได้ถึง ๗ หมื่นบาท สามารถคืนหนี้ทั้งหมดได้ จากนั้นได้ลงทุนซื้อรถ ๖ ล้อคันใหม่มาคันหนึ่งราคา ๕ แสนบาท ตั้งชื่อว่า ช้างเผือก เป็นเงินก้อนใหญ่สุดที่ต้องใช้เวลาในการรวบรวม และต้องผ่อนใช้อยู่นานถึง ๒ ปี ช่วงนั้นมีงานที่ไหนต้องใช้รถ ๖ ล้อคันนี้ บรรทุกทั้งคนทั้งของส่งกันไปมาโดยตลอด
          ในช่วงที่ชุมชนศาลีอโศกเพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่นั้น ล้มลุกคลุกคลาน พึ่งพาตัวเองยังไม่ได้ สมณะที่ย้ายไปอยู่ที่นั่นได้มาขอตลาดแชมพูให้กับศาลีอโศก โดยให้ศาลีอโศกเป็นผู้ผลิตและขายให้กับบริษัทพลังบุญ ส่วนที่ศีรษะอโศกให้ขายภายในชุมชนและในภาคอีสาน เฉพาะปีแรกศาลีอโศกทำรายได้จากการขายแชมพูถึง ๒๐ ล้านบาท ทำให้ระบบเศรษฐกิจของศาลีอโศกพึ่งตัวเองได้เร็วขึ้น
          ในปี ๒๕๓๗ เริ่มมีสมณะชุดใหม่เข้ามาสมทบ เป็นสมณะจากภาคกลาง และเคยเป็นนักศึกษาในยุค ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ มาเข้าทีมการศึกษา จึงคิดจะทำเรื่องสมุนไพร ได้ช่วยกันเขียนโครงการผลิตสมุนไพรขอทุนจากทางราชการมาจำนวน ๗ แสนบาท เป็นการได้ทุนโดยผ่านทางมูลนิธิโรงพยาบาลสงฆ์ ซึ่งชุมชนจะขอทุนโดยตรงไม่ได้ กิจการสมุนไพรจึงเริ่มต้นในวันนั้น
          อันที่จริงกิจการสมุนไพรเกิดขึ้นที่ปฐมอโศกก่อน ที่ศีรษะอโศกเป็นแหล่งปลูกสมุนไพรเป็นจำนวนมาก ขายทั้งวัตถุดิบและขายทั้งพันธุ์ซึ่งมีรวมกันทั้งหมดถึง ๔๐ ชนิด วัตถุดิบส่วนใหญ่ต้องส่งไปแปรรูปที่ปฐมอโศก ซึ่งที่นั้นมีบุคคลากรที่มีความรู้ความชำนาญครบถ้วน มีระบบการผลิตที่ค่อนข้างทันสมัย ได้มาตราฐาน และเป็นที่ยอมรับกันทั่วไป
          หลังจากนั้นได้พัฒนาโรงสีข้าว สร้างโรงงานทำปุ๋ย โรงงานหมักถั่วเหลือง และทำร้านค้าที่ชื่อว่า ร้านหนึ่งน้ำใจ เดิมทีร้านค้านี้อยู่ในมุมมืด เมื่อก่อนต้องซื้อของกันคราวละมาก ๆ ของส่วนเกินที่เหลือจึงนำมาแบ่งขาย เลยต้องเปิดร้านค้า พอดีมีทีมงานเป็นครูมาจากพังงา รู้เรื่องการค้าขายดี ร้านค้าจึงเริ่มขยายใหญ่โต บางวันมียอดขายถึง ๒ แสนบาททั้งหมดนี้เริ่มต้นเกือบจะพร้อม ๆ กันทั้งหมด
วิสาหกิจชุมชนที่ศีรษะอโศกมีผลิตภัณฑ์อยู่ราว ๑๔๐ ตัว ซึ่งรวมทั้งข้าว ยาสมุนไพร แชมพู ปุ๋ย น้ำส้มควันไม้ ส่งไปขายประมาณ ๓๐ จังหวัด ในปี ๒๕๔๖ มีรายได้ราว ๖๐ ล้านบาท ส่วนในปี ๒๕๔๗ รายได้เพิ่มเป็ฯ ๗๐ ล้านบาท เมื่อเทียบกับชุมชนอโศกทั้งหมดแล้ว ปฐมอโศกถือว่าเป็นชุมชนที่มีรายได้สูงสุด แต่ละปีมีรายได้มากกว่า ๑๐๐ ล้านบาท ที่สำคัญยิ่งกว่านั้นคือ ปัจจุบันศีรษะอโศกไม่มีภาระหนี้ค้างแต่อย่างไร
ชุมชนศีรษะอโศกมีประชากรราว ๘๕ ครัวเรือน สามารถทำรายได้ในปี ๒๕๔๘ เฉลี่ยคนละ ๑๓๕,๐๐๐ บาทต่อปี หรือราว ๘๒๕,๐๐๐ บาทต่อครัวเรือนถือได้ว่าเป็นชุมชนที่มีรายได้ค่อนข้างสูง เมื่อเทียบกับคนในภาคอีสานทั้งหมด บางแห่งค่อนข้างยากจน มีรายได้เพียงปีละ ๓๐,๐๐๐ บาทต่อครัวเรือนเท่านั้น แม้กระทั่งรายได้ของชุมชนเมืองบางแห่ง มีเพียง ๒๐๐,๐๐๐ บาทต่อครัวเรือนเท่านั้น
สหพันธ์ของชุมชนชาวอโศก
          การบริหารจัดการภายในชุมชนศีรษะอโศก แบ่งงานออกเป็น ๙ ส่วน จัดระบบคล้ายกระทรวง ได้แก่ อุตสาหกรรม พาณิชยกรรม กสิกรรม การศึกษา สาธารณะสุข การบริการ ปุ๋ย ขยะ และช่าง งานแต่ละอย่างมีคนรับผิดชอบดูแลชัดเจน การดูแลชัดเจน การประชุมแต่ละครั้งพูดกันทุกเรื่อง แต่ก็หมุนเวียนเจาะจงเฉพาะเรื่องใดเรื่องหนึ่งไป
          ชุมชนชาวอโศกมีทรัพย์สินถาวรซึ่งเป็นที่มาสำคัญของแหล่งรายได้คือ ที่ดินที่เป็นที่ตั้งของชุมชน โรงงาน ร้านค้า และพุทธสถานรวมกัน ๑๔๗ ไร่ และที่ดินที่ใช้ทำการเกษตรอีกราว ๖๐๐ ไร่ มีโรงงานทำแชมพู ทำปุ๋ย โรงสีข้าว โรงหมักถั่วเหลือง โรงสมุนไพร และร้านค้าขนาดใหญ่ทั้งหมดบริหารโดยกรรมการชุมชน
          ชุมชนอโศกแต่ละแห่งเป็นนิติบุคคลแยกออกจากกันและรวมกันคล้ายสหพันธ์ ขบวนการอนุมัติการลงทุนภายในชุมชนหรือการหนุนช่วยชุมชนอื่น ๆ เป็นมติของกรรมการภายในชุมชนนั้น สมณะไม่ได้เข้ามาก้าวก่าย อย่างไรก็ตาม สมณะทั้งหลายจะทำหน้าที่เป็นผู้เชื่อมร้อยและคอยกำกับดูแลทางด้านจิตวิญญาณ ไม่ให้เบี่ยงเบนออกไปไกล อีกทั้งการปลูกฝังทางด้านทัศนคติ ปรัชญา และวัฒนธรรม จะเป็นส่วนสำคัญที่เชื่อมร้อยชุมชนทั้งหมดเข้าด้วยกัน
          ประสบการณ์ที่ชุมชนศีรษะอโศกเคยได้รับความช่วยเหลือจากชุมชนอื่น โดยเฉพาะในยามที่ยากลำบาก จะช่วยสร้างทัศนคติในการเป็นผู้ให้หรือต่างตอบแทนได้ดีที่สุด
          วิกฤตสร้างคนขึ้นมาใหม่ ตอนเริ่มมีเงินมาก ๆ คนเริ่มเปลี่ยนไปโชคดีที่เราเจอวิกฤตก่อนคนอื่น ทำให้เห็นปัญหาในวันข้างหน้า ภายในหนึ่งปีหลังจากไฟไหม้ก็สามารถสร้างร้านค้าขึ้นมาใหม่ คำว่า “ร้านหนึ่งน้ำใจ” จึงมีที่มาของความหมาย มาจากน้ำใจของทุก ๆ ฝ่าย มาจากความช่วยเหลือของทุกชุมชนมารวมกัน
นโยบายการบริหารการเงินจึงต้องบริหารให้มีส่วนขาดนิด ๆ ไม่ได้มากนัก ถ้ามีส่วนเกินมากต้องสละให้หมด แต่ละปีถึงแม้จะมีรายได้เพิ่มเข้ามามาก แต่ก็ใช้หมดไปพอดี ส่วนหนึ่งนำไปลงทุนขยายกิจการภายในชุมชน อีกส่วนหนึ่งนำไปหนุนช่วยชุมชนแห่งอื่น ๆ เช่น ปฐมอโศกจะสร้างโรงพยาบาลก็ต้องช่วยกันลงขัน สันติอโศกต้องการซื้อที่ดินอีก ๕๓ ล้านบาท ก็ต้องช่วยกันลงขัน ถ้ามีเงินไม่พอ ก็ต้องช่วยกันทำงานหนักขึ้น
          แต่ละปียังมีงานบุญต่าง ๆ ที่จัดขึ้นเพื่อให้ประชาชนข้างเคียงต้องไปขายเท่าทุน หรือขายขาดทุนที่งานบุญนั้น ๆ ซึ่งทางจังหวัดก็ขอความช่วยเหลือมาตลอด เช่น ร้านค้าของศีรษะอโศกมีการขายเท่าทุนในวันพ่อ ซึ่งในวันนั้นขายได้ถึงห้าแสนกว่าบาท โรงปุ๋ยจะขายเท่าทุนครึ่งเดือน ท้องตลาดขายราคา ๒๙๐ บาท ที่นี่ขายเพียง ๑๘๐ บาท งานบุญที่ใหญ่ที่สุดคืองานปีใหม่ที่ราชธานีอโศก หรืองานตลาดอาริยะ มีการขายของขาดทุนครั้งใหญ่ จนแทบจะเรียกได้ว่าเป็นสิ่งมหัศจรรย์ของโลก
          นโยบายในยุคหลังของชาวอโศกเปลี่ยนแปลงไปมากพอสมควรโดยยินยอมรับงบประมาณสนับสนุนจากภายนอก โดยเฉพาะอย่างยิ่งนำงบประมาณเหล่านี้ไปสร้างถาวรวัตถุ เช่น สร้างโรงเรียน สร้างโรงสี สร้างโรงงานปุ๋ย ยิ่งยุคสมัยของรัฐบาลไทยรักไทย มีเงินทุนสนับสนุนเป็นจำนวนมาก แม้กระทั่งกองทุนหมู่บ้าน ที่หมู่บ้านศีรษะอโศกก็รับเข้ามาเหมือนกัน แต่เมื่อถึงเวลาจะนำไปคืน ทางการยังไม่ยอมรับรับคืน คงกลัวว่าจะมีปัญหาการรับคืนจากที่อื่น ๆ
ที่ชุมชนราชธานีอโศก เป็นแห่งแรกสุดที่เปลี่ยนแปลงนโยบาย เปิดกว้างให้นักการเมืองทุกพรรคเข้ามาหาเสียง เข้ามาสนับสนุนชาวชุมชนซึ่งก่อนหน้านี้นักการเมืองต่าง ๆ มักจะไม่ค่อยกล้าเข้ามาหาเสียง เพราะในอดีตชาวอโศกไปผูกติดกับพรรคพลังธรรม

ศีลเด่น เป็นงาน ชาญวิชา
          สมณะวินยธโรและสมณะวัฑฒโน เป็นสองสมณะที่ถูกกล่าวถึงว่าเป็นนักศึกษาในยุค ๖ ตุลาคม ๒๕๑๙ และเชี่ยวชาญด้านการศึกษาได้รับการมอบหมายให้ดูแลด้านการศึกษาที่ศีรษะอโศกและที่แห่งอื่น ๆ ได้ช่วยกันถ่ายทอดแนวคิดและปรัชญาการศึกษาของชาวอโศกไว้อย่างลุ่มลึกและน่าสนใจอย่างยิ่งว่า
          ชาวอโศกมองว่าการศึกษาเป็นเรื่องของจิตวิญญาณ สมณะโพธิรักษ์ให้แนวทางว่า การสร้างอนุชนรุ่นหลังต้องให้ถึงพร้อม ๓ ประการ คือ ศีลเด่น เป็นงาน และชาญวิชา คำว่าศีลเด่น หมายถึง ต้องมีคุณธรรมและจริยธรรมเป็นอันดับแรก มีจิตวิญญาณที่เป็นแกนกลางของคน ยิ่งคนสมัยนี้ขาดคุณธรรมกันมาก ยิ่งต้องตอกย้ำกันหนักขึ้น
          คำว่า เป็นงาน หมายถึง ต้องทำอะไรให้เป็นด้วย เป็นคนดีเฉย ๆ ไม่เพียงพอแล้ว ต้องทำงานให้เป็นด้วย ต้องทำให้เกิดความสำเร็จจึงจะมีคุณค่าและผลงาน ส่วนคำว่า ชาญวิชา หมายถึง ต้องรู้เท่าทันโลก ติดตามความรู้ใหม่ ๆ ได้ทันกาล ทุกวันนี้โลกหมุนเร็วมาก สิ่งที่เคยเรียนรู้มา ไม่ทันไรก็ล่าช้าไปแล้ว ตำราส่วนใหญ่ตามกันไม่ทัน ปัญหาสังคมทุกวันนี้ตามกันไม่ทัน หากตามโลกไม่ทัน ก็แก้ปัญหาโลกไม่ได้
          ในระบบการศึกษาของชาวอโศก มาตรฐานการประเมินผลแบ่งน้ำหนักให้ศีลร้อยละ ๔๐ น้ำหนักของการเป็นงานร้อยละ ๓๕ น้ำหนักของชาญวิชาร้อยละ ๒๕ ในยุคแรกต้องกำหนดน้ำหนักของศีลไว้ให้มากก่อน หน่วยกิตที่เรียนของสองเรื่องแรกจะมากเป็นพิเศษ อย่างไรก็ตามเด็กนักเรียนจะใช้เวลาเรียนหนึ่งวัน ๑๒-๑๕ ชั่วโมง มากกว่าระบบโรงเรียนปกติทั่วไป
          กิจกรรมทุกอย่างตั้งแต่ตื่นเช้ามาจนถึงเข้านอนถือเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาทั้งสิ้น เป็นการศึกษาเชิงบูรณาการที่สัมพันธ์กับชีวิตจริงโรงเรียนชาวอโศกจึงไม่ใช่ห้องสี่เหลี่ยมที่ใช้กักขังความคิดของนักเรียนไว้ และไม่ใช่อาคารสถานที่ที่ถูกกำหนดเป็นกฎเกณฑ์โดยกระทรวงศึกษาธิการ แต่เป็นระบบการปลูกถ่ายจิตวิญญาณให้กับอนุชนรุ่นหลัง บ่มเพาะฝึกฝนให้ถึงพร้อมทั้งสามด้าน
          วิธีวัดผลการศึกษา วัดจากผลิตผลที่ออกมา วัดจากพฤติกรรมจริงที่เด็กประพฤติปฏิบัติ เช่น วัดจากผลงานที่เด็กได้ทำออกมาในทางปฏิบัติและการอธิบายประสบการณ์จริงที่ได้ทำมา เป็นการวัดผลที่ค่อนข้างเน้นประสบการณ์ เพราะอัจฉริยภาพทั่วโลกจำนวนไม่น้อยมาจากประสบการณ์ บางเรื่องประสบการณ์ไปไกลกว่าทฤษฎี เช่น ความรู้ในเรื่องขบวนการกลุ่ม ส่วนระบบการสอบแบบเก่าที่เน้นการอ่านและการเรียนรู้ทางทฤษฎียังคงใช้ในบางเรื่อง
          สังคมของอโศกไม่ใช่สังคมปิด คนภายนอกชอบคิดว่า การที่ชาวอโศกไม่เหมือนกับคนอื่น ทำให้ชาวอโศกหลงอยู่ในโลกของตัวเองเพียงอย่างเดียว อยู่ในสังคมที่ปิดตัวเอง ไม่ได้ติดต่อสื่อสารกับโลกภายนอกไม่รับรู้ว่าโลกภายนอกเป็นอย่างไร เลยเป็นกังวลว่าเด็กนักเรียนที่นี่จะตามโลกภายนอกไม่ทัน หรือมีปัญหาการปรับตัวเมื่ออยู่ในสังคมภายนอก
          เปรียบเทียบกับในยุคปัจจุบันแล้ว เด็กภายนอกอาจอยู่ในสังคมที่ปิดมากกว่าเสียอีก เด็กภายนอกอาจรู้ในเฉพาะบางเรื่องที่ดีมาก แต่เรื่องส่วนใหญ่อาจไม่สนใจ หรือไม่รู้เรื่องเอาเสียเลย เด็กอโศกไม่ได้ตัดขาดจากเพื่อนและตัดขาดจากสังคมภายนอก เด็กข้างนอกก็มาอบรมร่วมกับเด็กที่นี่
          อันที่จริงความกังวลในเรื่องนี้ก็มีส่วนที่ดีอยู่เหมือนกัน ทำให้เด็กอโศกต้องพยายามเรียนรู้ เพราะกลัวโง่เหมือนกัน ยิ่งทำให้อยากให้รู้มากขึ้น กลัวตามเพื่อนไม่ทัน จนบางครั้งกลับรู้มากกว่าเด็กภายนอกเสียอีกแต่อีกเรื่องหนึ่ง เป็นความแข็งแรงของจิตใจ ถ้าเด็กจิตใจแข็งแรงก็ห้ามใจตัวเองได้
          เด็กที่นี่เมื่อออกไปสู่โลกภายนอก บางคนก็ไม่มีปัญหา กลับเป็นผู้นำทางสังคม เด็กบางคนก็มีปัญหา จิตใจอ่อนแอ ชอบโลกีย์ ก็ไปกับเขาเลย การศึกษาแบบอโศกที่แทบจะหลุดโลกออกไปจากระบบเก่าเป็นการศึกที่อยู่ท่ามกลางสิ่งเร้าของสังคมใหญ่ มองอีกแง่ก็เป็นความหลากหลายของการเติบโตอยู่แล้ว
         
เด็กนักเรียนชาวอโศก พ่อแม่ของนักเรียนส่วนใหญ่อยู่ภายนอก
นอกชุมชนอโศก พ่อแม่ตัดสินใจส่งลูกเข้ามาเรียนเพราะเห็นคนอื่นมาเรียนแล้วดี ๆค่อย ๆยอมรับแล้วส่งมาเรียน อีกส่วนหนึ่งได้มาจากการที่เด็กนักเรียนกลับบ้านไปพูดคุยกันเอง ไปชักชวนกันเอง ที่ศรีษะอโศกมีนักเรียนราว ๆ ๘๐ คน เครือข่ายชุมชุนทั้งหมดทั่วทั้งประเทศมีนักเรียนราว ๕๐๐ คน
          ระบบการศึกษาในชุมชนแต่ละแห่งยังคงต่างกัน ขึ้นอยู่กับตัวเด็ก ครู สภาพแวดล้อมที่ราชธานีอโศก เด็กส่วนใหญ่ไม่ค่อยสนใจวิชาการชอบกิจกรรมมากกว่า ส่วนที่สันติอโศกและปฐมอโศก เด็กจะชอบวิชาการมากกว่ากิจกรรม ถ้าเป็นการศึกษาในระบบเก่าจะจัดให้เหมือนกันหมด เด็กถูกบังคับให้พัฒนาตามสถานที่เรียน
          การรับเด็กเข้าโรงเรียน จะสัมภาษณ์ทั้งเด็กและผู้ปกครอง ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่เต็มใจจะไม่รับเข้ามาเรียนเป็นอันขาด ในระหว่างทางของการศึกษา ถ้าเด็กไม่ไหวก็อาจจะพิจารณาโยกย้ายตามความเหมาะสม
          ผู้ปกครองที่อยู่ใกล้หรือพ่อแม่ที่อยู่ในเมืองมักจะมาเยี่ยมเยียนเด็กบ่อย ๆ เข้ามาร่วมประชุม ติดตามผลการเรียนของเด็ก แต่ถ้าเป็นผู้ปกครองทางอีสานจะปล่อยลูกให้อยู่ในความดูแลของโรงเรียน พูดอยู่คำเดียวว่า แล้วแต่ท่านสมณะ ยิ่งถ้าเป็นเด็กบนดอย พ่อแม่ไม่เคยมาเยี่ยมเยียนเลย เพราะต้องเดินทางไกลและค่าใช้จ่ายสูง
          กระบวนการคัดครู อาศัยความสมัครใจ ให้ทดลองทำงาน ชาวอโศกถือหลักว่า ถ้าคุณสมัครใจจะให้ทดลองทำ แล้วดูประสิทธิภาพใช้กระบวนการตรวจสอบตามธรรมชาติ มีการประชุม สะท้อนให้เห็น เด็กจะเข้าร่วมประชุมสัปดาห์ละครั้ง มีสมุดบันทึก มีสภานักเรียน มีสมณะเป็นประธาน ครูก็นั่งฟังอยู่ด้วย มีการสะท้อนซึ่งกันและกัน
          เด็กอาจจะสะท้อนปัญหาผ่านทางครอบครัว เพราะบ้าน วัดโรงเรียนไม่แยกจากกัน อยู่กันเป็นธรรมชาติ ไม่มีศักดินา แต่มีลำดับคนที่ควรเคารพ ไม่ใช่แตะต้องไม่ได้ เป็นสมณะก็ว่ากล่าวได้ แต่ควรมีความเคารพ ไม่มีระบบที่แตะต้องไม่ได้ แต่ควรมีกาละที่เหมาะสม ใช้คำพูดที่เหมาะสม
          เด็กจะกล้าสะท้อนแม้ตัวสมณะเอง การตัดสินใจเอาใครเข้าและเอาใครออก ทุกอย่างมาจากกระบวนการที่ทุกคนเห็นตรงกัน การเอาเข้าออกใช้ที่ประชุมรวมฆราวาสกับสมณะ ถ้าเด็กสะท้อนภาพ ครูอาจเห็นแย้งหรืออธิบาย ซึ่งสุดท้ายสมณะจะเป็นผู้ตัดสิน
ได้ก็ให้ตักเตือน ถ้าไม่ไหวก็ถูกลงโทษ ขั้นหนักสุดคือให้ออก การจะตีเด็กไม่ใช่เรื่องที่ทำกันง่าย ๆ การตีเด็กจะทำโดยพลการไม่ได้ เช่น ถ้าเด็กไม่ทำการบ้าน ส่งงานสาย จะไม่ลงโทษโดยการตี การตีเด็กต้องเข้าที่ประชุมครู คู่กรณีที่เป็นครูจะไปตีเด็กด้วยตัวเองไม่ได้ ถ้าทำเช่นนั้นแล้วจะเกิดความพยาบาท ต้องให้ครูคนอื่นเป็นคนตี
          ก่อนจะตี ต้องอธิบายเด็กให้เข้าใจในความผิดที่ได้กระทำไปก่อน จะตีให้เด็กกราบครูก่อน ตีเพราะความจำเป็น การตีถือเป็นการใช้ความรุนแรง เป็นความเจ็บปวด เมื่อตีแล้วก็กราบอีกครั้ง ทุกคนทำด้วยความจำเป็นและเจ็บปวด เด็กเองจะรู้สึกว่าเขาสมควรถูกตีด้วยรู้สึกว่าผิดจริง โรงเรียนภายนอกในปัจจุบันที่เลิกตีเพราะครูใช้อารมณ์มากเกินไปครูที่นี่ห้ามพูดหยาบคายกับเด็กเป็นอันขาด
          ครูที่ประพฤติไม่ดีมีช่องทางการฟ้องมากมาย ผ่านผู้ปกครองผ่านสมุดบันทึก ผ่านสมณะ กระทั่งผ่านสมณะโพธิรักษ์โดยตรง ทำได้สารพัดวิธี ที่นี่ไม่ได้ปิดกั้น เพราะเป็นระบบโรงเรียนครอบครัว อยู่กันแบบใกล้ชิด บางครั้งปัญหาที่ขัดแย้งกันระหว่างครูกับนักเรียน บางทีไม่ได้เป็นเรื่องถูกหรือผิด เป็นเรื่องการถูกชะตากันหรือไม่
          ถ้าครูไม่ดี เด็กจะขอเปิดเวทีอภิปรายได้เลย ทุกอย่างที่ทำต้องมีเหตุผล การทำโดยใช้อำนาจเพียงอย่างเดียวเป็นเรื่องที่ไม่ควรทำ ควรใช้ปัญญา ใช้เหตุผล คำตอบต้องมีเหตุผล
          การศึกษาของชาวอโศกไม่เหมือนของชาวโลก ที่อื่นไม่มีเรื่องคุณธรรม เด็กที่นี่จบมาแล้ว ไม่รู้จักความมั่นคงของตัวเอง ไม่รู้จักว่าเงินเดือนคืออะไร แต่กลับรู้ว่า
          ชีวิตคือหน้าที่
          ชีวิตคือภารกิจ
          ชีวิตคือการแบกภาระ
          และชีวิตคือการทำบุญ








         



ชาวอโศกกับโลกสมัยใหม่
          คนส่วนใหญ่ในสังคมไทยไม่ได้มีโอกาสคบคุ้นอย่างสนิทสนมกับชาวอโศกจนครบ ๗ ครั้ง หรือสนใจที่จะหาหนังสือของชาวอโศกมาอ่านให้ครบ ๗ เล่ม ดังนั้น พวกเขาจึงขาดความเข้าใจในวิถีคิดและชีวิตของชาวอโศก บางคนถึงกับมองว่าชาวอโศกอาศัยอยู่ในสังคมที่ปิดและตัดขาดจากโลกภายนอก จนกลายเป็นคนกลุ่มน้อยในสังคม คล้ายกับกลุ่มอามิช (Amish) ซึ่งมีวิถีชีวิตที่เรียบง่ายและเคร่งศาสนาในสหรัฐอเมริกา
          ทั้งนี้ อาจเป็นเพราะว่า รูปแบบการแต่งกายของชาวอโศกขาดสีสัน แห่งโลกสมัยใหม่ และวัตรปฏิบัติของชาวอโศกที่ถือศีลกินเจอย่างเข้มงวด ทำให้ดูเหมือนว่าชาวอโศกฝืนโลกและฝืนหลักความหลากหลายแห่งชีวิตจนขาดความมีชีวิตชีวา รวมไปถึงว่าชาวอโศกอาศัยอยู่ในโลกที่แตกต่าง มีระบบเศรษฐกิจสังคมที่ตีความตามวิถีพุทธ วิถีธรรม อย่างเคร่งครัด แปลกแยกจากระบบทุนนิยมมายาและโลกาภิวัตน์ ที่อาศัยความอยากและความโลภเป็นแรงขับเคลื่อนของสังคม
          สังคมปัจจุบันของชาวอโศกมีขนาดใหญ่โตเท่าไรกันแน่ ยังไม่เคยมีใครสำรวจตัวเลขให้เห็นชัดเจน กระทั่งสมณะโพธิรักษ์ ผู้นำสูงสุดของชาวอโศกก็ยังตอบคำถามในเรื่องนี้ให้หายสงสัยไม่ได้ ในปี ๒๕๑๖ ชาวอโศกเริ่มต้นจากกลุ่มสงฆ์เล็กๆ ที่แดนอโศก อำเภอกำแพงแสน จังหวัดนคร ปฐม โดยมีพระสงฆ์เพียง ๒๑ รูป เณร ๒ รูป และสิกขมาตุอีกจำนวนหนึ่ง หลังจากเวลาผ่านไปกว่า ๓ ทศวรรษ ในปี ๒๕๔๙ อาณาจักรของชาวอโศกมีสมณะเพียง ๑๐๔ รูป สิกขมาตุอีก ๒๗ รูป ซึ่งเพิ่มขึ้นจากเดิมเพียง ๕ เท่าตัว
          ชุมชนอโศกที่กระจายกันอยู่ทั่วทั้งประเทศ ล้อมรอบพุทธสถาน และสังฆสถานทั้ง ๙ แห่ง มีจำนวนประชากรที่อาศัยอยู่ภายในชุมชนรวมกันแล้วไมน้อยกว่า ๓,๐๐๐ คน สำหรับญาติธรรมที่เป็นทั้งชาวอโศกและ เครือข่ายสนับสนุนชาวอโศกอย่างแข็งขัน รวมกันแล้วอาจมีจำนวนไม่น้อยกว่า ๒๐๐,๐๐๐ คน และถ้าหากคนเหล่านี้เคลื่อนไหวโดยพร้อมเพรียง อาจระดมผู้สนับสนุนได้อีกนับล้านคน
          วิธีการประเมินจำนวนชาวอโศกที่ใกล้เคียงสุดเป็นการวัดจากจำนวนคนที่เข้าร่วมกิจกรรมทางศาสนาและเข้าร่วมกิจกรรมทางการเมืองครั้งสำคัญ เช่น การชุมนุมในวันอโศกรำลึกและบูชาพระบรมสารีริกธาตุบนวิหารพันปีที่สันติอโศก การชุมนุมในวันมหาปวารณาที่ปฐมอโศก ซึ่งจัดกันทุกปี แต่ละครั้งจะมีชาวอโศกเข้าร่วมพิธีนับพันคน และการระดมคนจากทุกชุมชนรวมกันเป็นกองทัพธรรมเข้าร่วมชุมนุมทางการเมืองที่ยืดเยื้อยาวนานในเดือนมีนาคม ๒๕๔๙ มีจำนวนราว ๒,๐๐๐ คน
          ครั้งหนึ่งในปี ๒๕๔๔ ชาวอโศกได้ร่วมลงชื่อสนับสนุนนายกรัฐมนตรี (คนเดียวกับที่พวกเขาไปชุมนุมขับไล่) ให้หลุดพ้นจากคดีซุกหุ้น และให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีต่อไปมีจำนวนมากถึง ๑๒๐,๐๐๐ คน แต่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี ๒๕๔๗ ชาวอโศกระดมคะแนนสนับสนุนนายมานะ มหาสุวีรชัย อย่างเบาบางเพียง ๘๕,๐๐๐ คนเท่านั้น ในขณะที่การเลือกตั้งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครในปี ๒๕๓๓ พวกเขาได้ระดมจำนวนผู้สนับสนุนพลตรีจำลอง ศรีเมือง ได้มากถึง ๗๐๐,๐๐๐ คน
ของประชากรทั้งประเทศ และถูกมองว่าอยู่ในสังคมที่ปิดและแปลกแยกจากคนส่วนใหญ่ กลับมีบทบาทเสนอทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับสังคม เป็นทางเลือกที่พวกเขาได้ทดลองปฏิบัติด้วยตนเองมานานถึงสามทศวรรษ และพิสูจน์ตามหลักวิทยาศาสตร์สังคม จนได้รับความสำเร็จเป็นที่ประจักษ์ชัด
          ในระยะเริ่มต้นทดลองปฏิบัติของชาวอโศก ทางเลือกนี้ไม่ได้มีนัยยะสำคัญต่อโลกภายนอกมากนัก แต่เมื่อโลกหมุนไปพร้อม ๆ กับการเผยโฉมหน้าของปัญหาใหม่ ๆ ที่เป็นผลผลิตในทางลบของสังคมทุนมายา และโลกาภิวัตน์ ทางเลือกที่ชาวอโศกนำเสนอเริ่มดึงดูดให้ผู้คนในสังคมค้นหาว่า จะเป็นคำตอบสำหรับโลกในอนาคตได้หรือไม่
          ทรรศนะของชาวอโศกที่เกี่ยวกับโลกสมัยใหม่ในหลายเรื่องอาจจะไม่ใช่สิ่งที่ชาวอโศกเป็นผู้ริเริ่มนำเสนอ แต่การตีความวิถีพุทธ วิถีธรรมประยุกต์ใช้กับปัญหาของโลกสมัยใหม่ เป็นสิ่งที่ควรค่าแก่ความสนใจว่า ชาวอโศกนำหลักพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ได้อย่างไร จึงได้คำตอบในบางด้านที่สอดคล้องกับแนวโน้มของโลกสมัยใหม่
          อย่างน้อยก็เป็นเรื่องที่พิสูจน์ว่า ชาวอโศกไม่ได้เป็นกลุ่มคนที่ปิดตัวเองและตัดขาดจากโลกภายนอก พวกเขาเรียนรู้และเฝ้าติดตามปัญหาของโลกสมัยใหม่อย่างกระชั้นชิด สร้างทรรศนะของตนเองต่อเรื่องนั้น ๆ อย่างทันกาล สิ่งที่พวกเขาตัดสินใจเลือก ในระยะแรกดูเหมือนกับว่าอนุรักษ์นิยมและล้าหลัง แต่ต่อมากลับกลายเป็นว่าทางเลือกนั้นเป็นสิ่งที่นำสมัย น่าสนใจ และบางครั้งตรงกับแนวโน้มของโลกอนาคต หรือว่า วิถีพุทธ วิถีธรรม ทำให้ชาวอโศกมีสายตายาวไกลมากทว่าที่ทุกคนคาดคิด



มังสวิรัติกับทรัพยากรของโลก
          หนึ่งมื้อกินเจ หมื่นชีวิตรอดตาย เป็นทรรศนะในเชิงศาสนาของผู้ถือมังสวิรัติ ที่เป็นส่วนหนึ่งของการตีความศีลปาณาติบาตอย่างเคร่งครัด เป็นกุญแจที่เปิดประตูไปสู่ความบริสุทธิ์ความดีงาม ความเมตตา ต่อสัตว์และต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน รวมถึงการนำไปสู่สันติภาพและ ความสงบสุขในโลกที่มนุษย์ไม่เคยหยุดรบราฆ่าฟัน
          ถึงแม้ว่าฝ่ายกระแสหลักของพุทธศาสนานิกายเถรวาท โดยเฉพาะปราชญ์ใหญ่อย่าง พระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ ปยุตฺโต ชาตะ ๑๒ มกราคม ๒๔๘๑) หนึ่งในพระเถระชั้นผู้ใหญ่ที่เคยวิพากษ์สมณะโพธิรักษ์อย่างเข้มข้น และสมณะโพธิรักษ์ให้ความเคารพนับถือยิ่ง จะโต้แย้งและสอนสั่งชาวอโศกว่า “มังสวิรัติเป็นเพียงวัตรปฏิบัติอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นศีล ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น ขยายความสำคัญจนเกินจริง ควรปล่อยวาง ฉันอาหารทุกอย่างตามที่ได้ สุดแต่ชาวบ้านจะถวาย”
          การถือมังสวิรัติอย่างเคร่งครัดในพุทธศาสนามีรากเหง้ามาจากลัทธิพราหมณ์และพุทธศาสนานิกายมหายานในอินเดีย โดยในคัมภีร์เก่าแก่ “ลังกาวตารสูตร” หนึ่งในคัมภีร์หลักของพุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๙ ภาคด้วยกัน ในภาคที่ ๘ ได้กล่าวถึงการกินเนื้อสัตว์โดยเฉพาะ เรียกว่า มางสภักษนปริวรรต บันทึกในคัมภีร์ยังได้ระบุไว้ว่า สาวกของพุทธศาสนานิกายมหายานในสมัยนั้นทั่งที่เป็นบรรพชิตและเป็นฆราวาส ต่างไม่รับประทานเนื้อปลาหรือเนื้อสัตว์ชนิดใดชนิดหนึ่ง
          ท่านภิกขุพุทธทาส อินทปัญโญ (ชาตะ ๒๗ พฤษภาคม ๒๔๔๙ - มรณะ ๘ กรกฎาคม ๒๕๓๖) เป็นบุคคลสำคัญของโลกที่องค์การยูเนสโก ประกาศยกย่อง และเป็น ๑ ใน ๖ พระอริยสงฆ์ ที่ชาวอโศกให้ความเคารพนับถืออย่างสูง ถึงกับเรียกขานท่านว่า หลวงปู่พุทธทาสภิกขุ รวมทั้งได้จัดแสดงชีวประวัติของท่านในพิธีกรรมชาวหินฟ้าอโศก ที่พุทธสถานศีรษะอโศก พร้อมจารึกคำสอนเตือนใจทุกคนที่เข้าเยี่ยมเยือนว่า “ไม่ทำตามที่สอน อย่ามาอ้อนเรียกอาจารย์”
          ท่านพุทธทาสภิกขุเป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนการถือมังสวิรัติอย่างแข็งขัน ได้เคยแสดงข้อคิดเห็นไว้ในหนังสือ ชุมนุมข้อคิดอิสระ ไว้ว่าการกินผักไม่ได้ถือเป็นลัทธิหรือบัญญัติ เป็นข้อปฏิบัติฝ่ายธรรมทางใจ ซึ่งเมื่ออาศัยหลักกาลามสูตรหรือโคตมีสูตรเป็นเครื่องมือตัดสินแล้ว ก็พบว่าเป็นแต่ฝ่ายถูก ฝ่ายให้คุณโดยส่วนเดียว เป็นการขูดเกลากิเลสซึ่งพระพุทธองค์สรรเสริญ แต่ถ้าทำเพราะยึดมั่นว่าเป็นหนทางของการหลุดพ้น ก็กลายเป็นสีลัพพตปรามาสยิ่งขึ้น และถ้าบังคับกัน ก็กลายเป็นลัทธิของพระเทวทัต
          การไม่บริโภคเนื้อก็เป็นธุดงค์อย่างเดียวกับธุดงค์อื่น ๆ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ว่าเป็นการขูดเกลากิเลส แต่ก็ไม่ทรงบังคับกะเกณฑ์ให้ใครยึดถือ แต่เมื่อใครถือก็ทรงสรรเสริญเป็นอย่างมาก เช่น ทรงสรรเสริญพระมหากัสสป ธุดงค์ ๑๓ อย่าง บางอย่างเช่น เนสัชชิกังคะ (เว้นการนอน) ก็ไม่มีใครเชื่อว่าเป็นพุทธภาษิต เมื่อเช่นนั้น การขูดเกลาด้วยการเว้นเนื้อก็เป็นสิ่งที่รวมลงได้ในธุดงค์ หรือมัชฌิมาปฏิปทานั้นเอง เพราะเข้ากันได้กับสิ่งที่ทรงอนุญาตในฝ่ายธรรม มิใช่ฝ่ายศีลซึ่งเป็นการบังคับ
          ท่านพุทธทาสภิกขุยังให้ความเห็นเพิ่มเติมอีกว่า  “การจะช่วยเหลือการขูดเกลาจิตใจให้ละเลิกกิเลสไม่จำเป็นต้องกินผักเสมอไป ความจริงมันควรเป็นอาหารชั้นเลว ๆ ไม่ประณีตก็พอแล้ว แต่เมื่อใคร่ครวญดูแล้วก็มาตรงกับอาหารผัก เพราะเนื้อนั้นทำอย่างไรเสียก็ชวนกินตามธรรมชาติอยู่แล้ว แม้เพียงแต่ต้มเฉย ๆ มันก็ยังยั่วตัณหาอยู่นั่นเอง เพราะฉะนั้น ฝ่ายที่จะปราบตัณหาจึงกลายเป็นเกียรติยศของผัก คืออาหารที่จะข่มตัณหาได้ และมีแต่ทางบริสุทธิ์อย่างเดียวโดยไม่มีการระวังเลยก็ได้ เหมาะสำหรับผู้ที่ระแวงภัยในความประมาทอยู่เสมอ”
          “นอกจากนั้นแล้วธรรมชาติจะมีผักหญ้าและผลไม้ให้เราบริโภคพอเพียงเสมอ มนุษย์มีจำนวนมากขึ้น ๆ ทุกปี ส่วนสัตว์มีจำนวนน้อยลง ๆ ทุกปี โลกมนุษย์ขยายตัวออก โลกสัตว์เดรัจฉานหดสั้นเข้า ในที่สุดเนื้อจะไม่พอกินกัน ต้องเลี้ยงเป็นสัตว์เลี้ยง ที่ดินขนาดเท่ากัน สามารถเลี้ยงสัตว์เพื่อเป็นอาหารของมนุษย์ได้น้อยกว่าปลูกผักเพื่อเลี้ยงมนุษย์ในที่สุดที่ดินที่มีอยู่จะไม่เพียงพอเพื่อเลี้ยงวัว ๑ ตัวสำหรับกินเนื้อ ปัญหาจึงไปตกหนักอยู่ที่เนื้อสัตว์จะไม่พอ หาใช่ที่ผักจะไม่พอไม่ แม้ปลาในมหาสมุทรก็บอกสถิติตัวเองอยู่เรื่อย ๆ มาแล้วว่าจะต้องขาดมือลง แต่ข้อสำคัญที่สุดนั้นคือมันไม่ให้คุณไปกว่าผัก”
ชาวมังสริวรัติในโลกนี้มีจำนวนเป็นพันล้านคน หรือราวร้อยละ ๑๕
ของประชากรทั่วทั้งโลก และนับวันจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น การเป็นมังสวิรัติของชาวโลก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะไม่มีทางเลือกอย่างอื่น โดยเฉพาะประชากรที่อาศัยอยู่ในประเทศกำลังพัฒนาทั้งหลาย ต่างอยู่ในโลกที่อดอยากขาดแคลน มีแต่ผักหญ้าให้รับประทาน เนื้อสัตว์นั้นเป็นของหายากและมีราคาแพง ชาวโลกอีกส่วนหนึ่งตัดสินใจเลือกที่จะเป็นมังสวิรัติ ซึ่งในจำนวนนี้มีอยู่ในทุกชาติ ทุกศาสนา และทุกนิกาย รวมไปถึงผู้ที่ไม่นับถือศาสนาใด ๆ
          หลายคนหันมาเป็นนักมังสวิรัติหรือนักกินผัก ไม่ใช่ด้วยเหตุผลทางศาสนาหรือศีลธรรมจรรยา แต่เป็นเหตุผลด้านอื่น ๆ เช่น ปัญหาเรื่องสุขภาพและเรื่องสิ่งแวดล้อม รวมทั้งประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว ทั้งหลาย ซึ่งเคยบริโภคเนื้อสัตว์กันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน โดยเฉลี่ยปีละ ๘๐ กิโลกรัมต่อคน มากกว่าประชากรในประเทศกำลังพัฒนาถึง ๓ เท่าปัจจุบันในประเทศเหล่านี้เริ่มมีการรณรงค์อย่างกว้างขวางให้ประชากรของตนเองลดการบริโภคเนื้อลง (Eat less meat)
          อันตรายแฝงเร้นต่อสุขภาพของผู้บริโภคเนื้อสัตว์ก็คือมลพิษซึ่งมองไม่เห็นในเนื้อสัตว์นั้น เช่น แบคทีเรียในปลาแซลมอน สารโลหะหนักที่ถูกเก็บสะสมไว้ในอาหารทะเล ยาฆ่าแมลงที่ตกค้าง สารกันบูด ยาปฏิชีวนะ สารเคมีอื่น ๆ รวมทั้งวัคซีนและฮอร์โมนทีฉีดใส่เพิ่มเติมเข้าไป รายงานวิจัยบางชิ้นยังแสดงให้เห็นว่า สารที่มนุษย์ใส่เพิ่มเข้าไปในเนื้อสัตว์ โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดง อาจนำไปสู่โรคมะเร็งและโรคอื่น ๆ รวมทั้งความพิการของทารกในครรภ์
          พยายามรณรงค์ให้มนุษย์บริโภคเนื้อสัตว์ให้น้อยลง เพราะการใช้ที่ดินผืนหนึ่งปลูกพืชผัก จะให้ผลผลิตที่เป็นอาหารมากถึง ๔ เท่า เมื่อเทียบกับการใช้เนื้อที่เท่ากันปลูกหญ้าให้สัตว์กิน ในแต่ละไร่พืชผักที่ปลูกไว้สามารถให้พลังงานสูงถึง ๓๒๐,๐๐๐ แคลอรี่ แต่ถ้านำพืชเหล่านี้มาใช้เลี้ยงสัตว์และกินสัตว์นั้นเป็นอาหารอีกทอดหนึ่ง เนื้อสัตว์จำนวนนั้นจะให้พลังงานเพียง ๘๐,๐๐๐ แคลอรี่เท่านั้น
          องค์การอนามัยโลก (WHO) และองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้จัดทำตารางเปรียบเทียบผลผลิตของอาหารเมื่อเทียบกับการใช้ที่ดินจำนวน ๑ ไร่ ซึ่งให้ผลผลิตเป็นเนื้อวัวราว ๓.๖๔ กิโลกรัมต่อปี ส่วนผลิตภัณฑ์ทางเกษตรอื่น ๆ เมื่อเทียบเป็นสัดส่วนกับเนื้อวัวแล้ว ปรากฏว่าถั่วเหลืองให้ผลผลิตราว ๑๘ เท่า ข้าวให้ผลผลิตราว ๑๓ เท่า ข้าวโพดให้ผลผลิตราว ๑๐ เท่า และข้าวสาลีให้ผลผลิตราว ๗ เท่า
          ความกังวลต่อสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติยังอยู่ที่ปริมาณน้ำจืดที่ถูกใช้ในการหล่อเลี้ยงผลิตภัณฑ์อาหารต่าง ๆ โลกใบนี้มีแนวโน้มว่าจะขาดแคลนทรัพยากรน้ำที่สะอาด และมีปัญหาการจัดสรรทรัพยากรน้ำระหว่างกัน ซึ่งอาจพัฒนากลายเป็นสงครามแย่งชิงน้ำ ประเทศต้นน้ำจะกักเก็บและใช้สอยจนเหลือน้ำเพียงเล็กน้อยให้กับประเทศที่อยู่ปลายน้ำ แม่น้ำโขงเป็นตัวอย่างของการแย่งชิงทรัพยากรน้ำที่พอมองเห็นเป็นเค้าลาง
          ตามรายงานการวิจัยของมหาวิทยาลัยคอร์เนลล์ในสหรัฐอเมริกา ในปี ๒๕๕๐ พบว่า การสร้างเนื้อวัว ๑ กิโลกรัม ต้องใช้น้ำมากถึง ๑๐๐,๐๐๐ ลิตร ในขณะที่ถั่วเหลืองใช้น้ำ ๒,๐๐๐ ลิตร ข้าวใช้น้ำ ๑,๙๑๐ ลิตร ข้าวโพดใช้น้ำ ๑,๔๐๐ ลิตร ข้าวฟ่างใช้น้ำ ๑,๑๐๐ ลิตร ข้าวสาลีใช้น้ำ ๙๐๐ ลิตร และมันฝรั่งใช้น้ำเพียง ๕๐๐ ลิตรเท่านั้น
          ปริมาณสัตว์เลี้ยงที่มนุษย์เลี้ยงไว้กินเนื้อมีจำนวนเพิ่มมากขึ้นอย่างเหลือเชื่อและน่ากลัว จนในที่สุดอาจเพิ่มไม่ได้มากกว่านี้ ในปัจจุบันทั่วโลกเลี้ยงหมูอยู่ราว ๑,๖๐๐ ล้านตัว เลี้ยงวัว ๑,๓๐๐ ล้านตัว เลี้ยงแพะ และแกะรวมกัน ๑,๘๐๐ ล้านตัว และที่มากมายอย่างไม่น่าเชื่อคือ เราเลี้ยงไก่ซึ่งเป็นแหล่งแพร่ระบาดใหญ่ของโรคไข้หวัดนกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมามากถึง ๑๕,๔๐๐ ล้านตัว รวมสัตว์เลี้ยงทั้งหมดที่เลี้ยงไว้มาก ถึง ๒๐,๐๐๐ ล้านตัว มากกว่าจำนวนประชากรมนุษย์ทั่วโลกถึง ๓ เท่าตัว
          การประชากรโลกเพิ่มขึ้น ๑,๐๐๐ ล้านคน ทุก ๆ ๑๒ ปี จากปี ๒๕๐๔ ที่มีเพียง ๓,๐๐๐ ล้านคน เพิ่มเป็น ๔,๐๐๐ ล้านคนในปี ๒๕๑๘  ๕,๐๐๐ ล้านคนในปี ๒๕๓๐ และ ๖,๐๐๐ ล้านคนในปี ๒๕๒๔ และในปี ๒๕๔๙ มีประชากรทั้งโลกมากขึ้น ๖,๗๐๐ ล้านคน ทรัพยากรธรรมชาติและอาหารซึ่งยังคงมีจำนวนจำกัดเท่าเดิม แนวโน้มในอนาคตทรัพยากรเหล่านี้จะมีไม่เพียงพอสำหรับโลกมนุษย์ โดยเฉพาะอาหารจำพวกเนื้อสัตว์ ทางออกอย่างหนึ่งก็คือ มนุษย์ถูกผลักไสให้เปลี่ยนพฤติกรรมการกิน ให้เป็นนักมังสวิรัติมากขึ้น
          โลกใบนี้ ถ้าลดการเพิ่มของจำนวนมนุษย์ไม่ได้ ก็ต้องเพิ่มจำนวนอาหารให้มากเพียงพอ หรือลดการบริโภคของมนุษย์ให้น้อยลง การเพิ่มจำนวนของนักมังสวิรัติจะช่วยลดการบริโภคในทางอ้อม มังสวิรัติจึงเป็นหนึ่งในทางเลือกของโลกในอนาคต กลายเป็นแนวโน้มของโลก ซึ่งนับวันจะหลีกเลี่ยงได้ยาก
วิถีเกษตรอินทรีย์ปะทะกับจีเอ็มโอ
          เพรซี ชไมเชอร์ (Percy Schmeiser) เกษตรกรวัย ๗๐ ปีเศษ ในเขตแซสแคตเชวัน (Saskatchewan) ประเทศแคนาดา ทำการเพาะปลูกโดยเก็บเมล็ดพันธุ์ในไร่ของตนเองไปปลูกในฤดูถัดไป เป็นวิถีเกษตรกรรมที่เขาทำมานานกว่า ๕๐ ปี และยังเป็นวิถีปกติของเกษตรกรทั่วทั้งโลกในขณะที่เกษตรกรบางส่วนที่อยู่รายรอบไร่ของเขาปลูกพืชด้วยเมล็ดพันธุ์ที่ถูกดัดแปลงพันธุกรรมของบริษัทมอนซานโต (Monsanto)
          วันหนึ่งในเดือนสิงหาคม ๒๕๔๑ เขาถูกบริษัทมอนซานโตฟ้องศาลในข้อหาละเมิดสิทธิบัตร โดยอ้างว่าเขาได้นำเมล็ดพันธุ์คาโนลาชนิดจีเอ็มโอ (พืชน้ำมันชนิดหนึ่ง มาปลูกอย่างผิดกฎหมาย มอนซานโตเลือกฟ้องชไมเซอร์ เพราะเขาเป็นผู้นำชุมชนที่ไม่ยอมซื้อเมล็ดพันธุ์ของมอนซานโต วิธีการจัดผู้นำกลุ่มคัดค้านต่อต้านทั้งในประเทศด้อยพัฒนาและประเทศที่พัฒนาแล้ว ล้วนแล้วแต่ไม่แตกต่างกันมากนัก
          ชไมเซอร์เลือกที่จะยืนหยัดต่อสู้กับมอนซานโตอย่างสุดกำลัง จนเขาหมดเงินไปกับการต่อสู้ไม่น้อยกว่า ๑๒ ล้านบาท ถึงแม้ว่าเขาจะได้รับความเห็นอกเห็นใจและการสนับสนุนการต่อสู้จากคนทั่วทั้งโลก แต่ในที่สุดเทพเจ้าแห่งทุนมายาไม่ได้เลือกที่จะยืนอยู่ข้างเขา ศาลสูงของแคนาดาได้ตัดสินให้เขาแพ้คดีในปลายเดือนพฤษภาคม ๒๕๔๗
          ศาลสูงของแคนาดาเห็นด้วยกับข้อต่อสู้ของบริษัทมอนซานโตที่ว่า พวกเขาเป็นผู้ใส่ยีนเข้าไปในเมล็ดพันธุ์ เมล็ดพันธุ์นั้นจึงเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นสิทธิบัตรของบริษัท ดังนั้น ต้นทางของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอ จึงไม่เป็นส่วนสำคัญที่ยกเว้นการละเมิด นั่นก็คือ ไม่ว่าพืชจีเอมโอนี้จะมาโผล่ในที่ดินของชไมเซอร์ได้อย่างไร สิ่งที่เขาครอบครองโดยบังเอิญนั้นยังคงเป็นสมบัติของมอนซานโต
          คำตัดสินของศาลสูงแคนาดายังแสดงให้เห็นว่ากฎหมายสิทธิบัตรมีอำนาจเหนือสิทธิของเกษตรกรที่จะปฎิเสธพืชจีเอ็มโอ โดยหากมีการปนเปื้อนของเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอในไร่นา เกษตรกรต้องเป็นผู้รับผิดชอบเอง แม้ว่าจะเป็นการปนเปื้อนที่มาจากรรรมชาติ หรือมาจากฟาร์มข้างเคียงที่ไม่ได้ตั้งใจก็ตาม
          ทั่วทั้งโลกตื่นตัวจากภัยคุกคามผูกขาดและรวมตัวกันมากขึ้น วิถีจีเอ็มโอถูกมองไปในทางชั่วร้ายมากกว่าเดิม ทำให้นักวิทยาศาสตร์ที่ทำงานวิจัย ค้นคว้าพืชจีเอ็มโออย่างบริสุทธิ์ใจพลอยถูกต่อต้านดัดค้านไปด้วย ในทางตรงกันข้าม ชัยชนะของบริษัทมอนซานโต ทำให้พวกเขาฮึกห้าวเหิมหาญยิ่งขึ้น มอนซานโตได้ฉวยโอกาสใช้การปนเปื้อนของพืชจีเอ็มโอในคดีนี้เป็นตัวอย่างและเป็นบรรทัดฐานอ้างอิงทางกฎหมาย
          โดยรุกไล่เข้าไปตรวจค้นเมล็ดพันธุ์ในฟาร์มของเกษตรกรรายอื่น ๆ ข่มขู่เรียกค่าเสียหายจากการถูกละเมิดสิทธิบัตร รายละ ๑๐๐,๐๐๐ – ๑๕๐,๐๐๐ ดอลลาร์สหรัฐ หากไม่ยินยอมทำสัญญาซื้อเมล็ดพันธุ์และจ่ายค่าเทคโนโลยี รวมทั้งได้บีบบังคับไม่ให้เกษตรกรต่อสู้ปกป้องสิทธิของตนเอง กระทั่งสิทธิในการถูกละเมิด ตรวจค้นทรัพย์สินในเคหสถาน โดยไม่จำเป็นต้องมีหมายศาล
          บริษัทมอนชานโตได้บังคับให้เกษตรกรทำสัญญาจ่ายค่าสิทธิบัตร โดยต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จีเอ็มโอมาปลูกทุกครั้ง ห้ามใช้เมล็ดพันธุ์เดิมของตนเองไปปลูกซ้ำ รวมไปถึงต้องซื้อสารเคมีกำจัดศัตรูพืช ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสิทธิบัตรจากบริษัทมอนซานโตเท่านั้น นอกจากนั้นแล้ว เกษตรกรยังต้องจ่ายค่าเทคโนโลยีให้แก่บริษัทในจำนวน ๑๕ ดอลลาร์สหรัฐต่อหนึ่งเอเคอร์ (หรือราว ๒๒๐ บาทต่อไร่) และให้สิทธิบริษัทเข้าตรวจค้นในฟาร์มของเกษตรกรได้ตลอดเวลา
          พืชและสัตว์ที่ถูกตัดต่อพันธุกรรม หรือเรียกว่า GMOs (Genetically Modified Organisms) ลักษณะทางพันธุกรรมถูกเปลี่ยนแปลงโดยอาศัยเทคนิคในการนำยีนจากชีวิตอื่น ซึ่งอาจเป็นยีนของพืชหรือสัตว์ กระทั่งยีนของจุลินทรีย์แต่งเติมเข้าไป จนมีผลทำให้เกิดสิ่งมีชีวิตที่มีลักษณะข้ามสายพันธุ์เดิมตามธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใหม่นี้อาจทนทานต่อโรคภัย หรือเจริญเติบโตได้รวดเร็วเกินจากปกติ ซึ่งบางคนเรียกพืชและสัตว์ชนิดนี้ว่า พืชสัตว์ผีดิบ
          ในขณะที่วิถีเกษตรอินทรีย์กลับใช้กระบวนการคัดสายพันธุ์ตามธรรมชาติและกระบวนการทางชีวเคมี ซึ่งถือเป็นกระบวนการตามธรรมชาติที่สะอาดและบริสุทธิ์ เปลี่ยนแปลงโลกตั้งแต่ยุคเริ่มต้นที่มีแต่ก้อนหินและสินแร่ ให้กลายเป็นโลกที่มีชีวิตในทุกวันนี้ วิถีเกษตรอินทรีย์ยังปฏิเสธการใช้สารเคมีและยาฆ่าแมลง ซึ่งเป็นผลผลิตของโลกอุตสาหกรรม เพราะสองอย่างหลังนี้ได้ทำลายกระบวนการทางชีวเคมีดั้งเดิมจนเกือบหมดสิ้น
          ปรัชญาของวิถีเกษตรอินทรีย์ ถือว่าธรรมชาติเป็นองค์รวมของทุกสิ่งที่เรียกว่าระบบนิเวศ ธรรมชาติได้คัดสรรและจัดให้ทุกสิ่งเกี่ยวพันกันอย่างมีสมดุล โดยแยกแต่ละส่วนขาดออกจากกันไม่ได้ แต่เมื่อมีผู้คนพยายามแยกเฉพาะส่วนออกไปอย่างโดดเดี่ยว แต่ละส่วนอาจไม่พร้อม การแก้ไขความไม่สมบูรณ์พร้อมในแต่ละส่วนตามวิถีของเกษตรเคมีและจีเอ็มโอ จนลืมคิดถึงภาวะองค์รวมหรือระบบนิเวศ ในที่สุดจะเกิดผลเสียและผลข้างเคียงตามมามากมาย ทั้งสองวิถีจึงแตกต่างกันในระดับปรัชญาพื้นฐาน
          วิถีเกษตรอินทรีย์และจีเอ็มโอ เป็นสองแนวทางที่ต่อสู้กันอย่างดุเดือดในทุกวันนี้ หลังจากที่เกษตรอินทรีย์ได้ต่อสู้เอาชนะเกษตรเคมี และยาฆ่าแมลง กว่าที่โฉมหน้าอันชั่วร้ายของเกษตรเคมีและยาฆ่าแมลงจะถูกเปิดเผยออกมา มนุษย์ต้องทนทุกข์รับกรรมจากผลร้ายนั้นเป็นเวลานานกว่า ๕๐ ปี ดังนั้น การต่อสู้ยกใหม่ของทั้งสองแนวทางอาจใช้เวลาไม่น้อยกว่าการต่อสู้ในยกที่ผ่านมา
          วิถีจีเอ็มโอมาพร้อมกับความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยเฉพาะเทคโนโลยีการตัดต่อพันธุกรรม มันสามารถสร้างสายพันธุ์แห่งชีวิตที่ทนทานต่อโรคภัยและแมลง รวมทั้งให้ผลผลิตที่สูงขึ้น จนดูเหมือนว่าเป็นทางออกและทางรอดสำหรับโลกที่กำลังเผชิญหน้ากับการขาดแคลนอาหาร อันเนื่องมาจากการเพิ่มของประชากรปีละกว่า ๘๐ ล้านคน
          ความระแวงต่อผลร้ายที่ต้องใช้เวลาอีกนานในการเปิดเผยโฉมหน้าออกมา อีกทั้งบทเรียนจากเกษตรเคมีและยาฆ่าแมลง ทำให้คนส่วนหนึ่งเรียกร้องให้ระแวดระวังวิถีจีเอ็มโอให้มากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภายใต้หน้ากากของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ปกปิดความชั่วร้ายของทุนมายาและโลกาภิวัตน์ ที่ต้องการใช้กฎหมายสิทธิบัตร และการแผ่กระจายให้ปนเปื้อนอย่างจงใจ เพื่อผูกขาดและครอบงำไว้แต่ผู้เดียว
          คริสโตเฟอร์ คิท บอนด์ วุฒิสมาชิกอเมริกัน ที่ถูกระบุว่าเป็นตัวแทน ของบริษัทมอนซานโต และนักการเมืองไทยบางคนถึงกับยกย่องว่าเป็นหนึ่งในเฟรนด์ ออฟ ไทยแลนด์ ได้เข้ามาพบกับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีไทย และนายสุวิทย์  คุณกิตติ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเดือนมกราคม ๒๕๔๗ เพื่อขอให้ไทยเปิดเสรีการปลูกพืชจีเอ็มโอ
          หลังจากนั้นไม่นาน ในวันที่ ๘ เมษายน ๒๕๔๗ บริษัทมอนซานโตได้ทำหนังสือไปถึงสำนักงานตัวแทนการค้าของรัฐ (USTR) เพื่อขอให้ช่วยแก้ไขอุปสรรคที่ขัดขวางการปลูกพืชจีเอ็มโอในไทย ให้ประเทศไทยเปิดเสรีการปลูกพืชจีเอ็มโอ ให้เสร็จสิ้นก่อนการลงนามข้อตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ระหว่างไทยกับสหรัฐ
          อุปสรรคขัดขวางที่สำคัญในความหมายของบริษัทมอนซานโตคือ การมีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๔ ที่ห้ามมิให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา จนกว่าจะมีกฎหมายว่าด้วยความปลอดภัยทางชีวภาพมาบังคับใช้เสียก่อน ซึ่งเท่ากับว่ามอนซานโตไม่สามารถใช้กลยุทธ์การปนเปื้อนและการแพร่กระจายในประเทศไทย
          การรุกคืบหน้าของพืชจีเอ็มโอโดยผ่านบริษัทมอนซานโต เมื่อล่วงรู้ไปถึงชาวอโศก สมณะโพธิรักษ์ถึงกับกล่าวว่า แม้ว่าชาวอโศกจะปลูกพืชกินเองตามวิถีเกษตรอินทรีย์ แต่ในเมื่อกระแสของพืชจีเอ็มโอเข้ามาในประเทศอย่างกระชั้นชิด ชาวอโศกจะต้องตื่นตัว เพราะไม่มั่นใจว่าในอนาคตจะมีเมล็ดพันธุ์ที่เป็นจีเอ็มโอปนเปื้อนเข้ามาในสันติโศกหรือไม่
          จากข้อมูลที่ชาวอโศกทราบกันมาบ้าง การรับเอาจีเอ็มโอเข้าประเทศอย่างเป็นทางการ ทำให้คนไทยตกเป็นทาสเจ้าของผลผลิตชนิดนี้ในที่สุดเกษตรกรไทยก็จะต้องตายอย่างเขียด ชาวอโศกจึงต้องช่วยกันต่อต้าน และอาจจะต้องศึกษาเรื่องการทำห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์เพื่อตรวจสอบเรื่องนี้ด้วยตัวเอง และเมื่อศึกษามากพอแล้วจะทำการรณรงค์อย่างจริงจัง
          สมณะโพธิรักษ์เคยให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับเรื่องพืชจีเอ็มโอไว้อีกกว่า ชาวอโศกเป็นมังสวิรัติหรือนักกินผัก หากพืชผักซึ่งเป็นอาหารหลักปนเปื้อนจากพืชจีเอ็มโอ ผลร้ายจะเกิดกับชาวอโศกโดยตรง อีกทั้งวิถีพุทธนั้นเป็นวิถีธรรมชาติ มีแต่เกษตรอินทรีย์เท่านั้นที่เป็นวิถีธรรมชาติ ท่านจึงปฏิเสธทั้งเกษตรเคมีและยาฆ่าแมลง รวมทั้งเกษตรจีเอ็มโอที่รุกคืบหน้าเข้ามาใหม่
          วันที่ ๙ มิถุนายน ๒๕๔๗ ที่พุทธสถานสันติอโศก ในวันงานอโศกรำลึก ชาวอโศกได้เริ่มต้นการรณรงค์ต่อต้านพืชจีเอ็มโอเป็นครั้งแรกสุด โดยเชิญผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้เรื่องจีเอ็มโอมาบรรยาย อาทิ นายแพทย์เสม พริ้งพวงแก้ว ราษฎรอาวุโส นายประพัฒน์ ปัญญาชาติรักษ์ อดีตรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นางสาววรุณวาร สว่างโสภากุล เจ้าหน้าที่กลุ่มกรีนพืช
          นายแพทย์เสมได้แสดงความเห็นคัดค้านการปลูกพืชจีเอ็มโอว่าประเทศไทยแม้จะมีผลผลิตดีอยู่แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาต่างๆ เกี่ยวกับผลิตผลเหล่านั้นอีกมาก เช่น ผลผลิตราคาถูก ซึ่งยังไม่สามารถแก้ปัญหา เรื่องเหล่านี้ได้เด็ดขาด การเอาจีเอ็มโอเข้ามาโดยที่ยังไม่มีใครรู้ดีรู้ชัดว่า สิ่งนี้คืออะไรกันแน่ จะเพิ่มปัญหาเดิมให้หนักหน่วง และตนมั่นใจว่า สิ่งใดที่ไม่ใช่ธรรมชาติ จะดีกว่าธรรมชาติไม่ได้เด็ดขาด
          นายกรัฐมนตรีไทยได้ผลักดันผ่านคณะกรรมการนโยบายเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติที่เขานั่งเป็นประธานโดยตำแหน่ง ที่ประชุมในวันที่ ๒๐ สิงหาคม ๒๕๔๗ ได้มีมติให้เสนอคณะรัฐมนตรี ยกเลิกมติห้ามทดลองปลูกพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา พร้อมหนุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ โดยถึงกับอ้างว่า จำเป็นต้องเกาะขบวนรถไฟให้ทันความก้าวหน้า
          การตัดสินใจของนายกรัฐมนตรีในครั้งนี้ขัดต่อนโยบายที่พรรคไทยรักไทยเคยแถลงไว้ต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ ๒๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๔๔ ที่รัฐบาลจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางเกษตรอินทรีย์ของโลก ซึ่งเกษตรอินทรีย์ทั่วโลกปฏิเสธจีเอ็มโอ
          นอกจากนั้นแล้ว ภายในพรรคไทยรักไทยเริ่มมีความเห็นแตกแยกกันออกเป็นสองฝ่าย โดยเฉพาะนายพันธ์ศักดิ์ วิญญรัตน์ ประธานที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี กลับมีความเห็นคัดค้านต่อนโยบายเปิดเสรีจีเอ็มโอของนายกรัฐมนตรี
          ทำเนียบรัฐบาล ๒๔ สิงหาคม ๒๕๔๗ ได้มีกลุ่มประชาชนจำนวนมาก รวมตัวกันมาชุมนุมคัดค้านนโยบายการเปิดเสรีให้มีการทดลองและปลูกพืชจีเอ็มโอในไร่นา และอนุญาตให้นำพืชและสัตว์จีเอ็มโอเข้ามาภายในประเทศ โดยให้ยืนยันมติคณะรัฐมนตรีวันที่ ๓ เมษายน ๒๕๔๔ ที่ห้ามมิให้มีการปลูกทดลองพืชจีเอ็มโอในระดับไร่นา ในที่สุดคณะรัฐมนตรีจำเป็นต้องเลื่อนวาระดังกล่าวออกไปอย่างไม่มีกำหนด
          องค์กรภาคประชาชนที่ร่วมเคลื่อนไหวในครั้งนี้ ประกอบด้วย ตัวแทนกลุ่มกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหพันธ์องค์กรผู้บริโภคเครือข่ายชุมชนชาวอโศก เครือข่ายกสิกรรมไร้สารพิษแห่งประเทศไทย กลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรีภาคประชาชน เครือข่ายนักวิชาการปกป้องทรัพยากรชีวภาพ องค์กรความหลากหลายทางชีวภาพ และภูมิปัญญาไทย ฯลฯ ส่วนภาคธุรกิจที่ร่วมเคลื่อนไหวส่วนใหญ่เป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจเกี่ยวพันกับเกษตรอินทรีย์โดยตรง
          ป้อมค่ายของพืชจีเอ็มโอแข็งแกร่งใหญ่โต หนุนหลังโดยทุนข้ามชาติขนาดใหญ่ มาพร้อมกับโลกาภิวัตน์ ภายใต้หน้ากากของความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมกับคำขู่ที่ว่า หากไม่รับพืชจีเอ็มโอในวันนี้ วันข้างหน้าโลกจะเกิดการขาดแคลนอาหารครั้งใหญ่ พวกเขาใช้กลยุทธ์การปนเปื้อน แพร่กระจายพืชจีเอ็มโอไปทั่วทุกแห่ง และใช้กฎหมายสิทธิบัตรเข้ายึดครอง แสดงความเป็นเจ้าของในที่สุด
          กองทัพของวิถีเกษตรอินทรีย์ในไทยที่หาญกล้ามาต่อกรกับป้อมค่ายจีเอ็มโอเพิ่งเริ่มต้นก่อตัวขึ้น พวกเขาจะต้านทานพลังของทุนข้ามชาติและนักการเมืองที่ซ่อนเร้นหาผลประโยชน์ได้นานสักเพียงไร แต่อย่างน้อยที่สุด กองทัพนี้ได้ชาวอโศกมาร่วมเป็นพันธมิตรต่อสู้เคียงบ่าเคียงไหล่ร่วมไปด้วยกัน โดยไม่สนใจว่าเทพเจ้าของทุนมายาจะตัดสินใจเลือกยืนอยู่กับฝ่ายใด
โลกาภิวัตน์กับเศรษฐกิจชุมชน
          เสียงขานรับเศรษฐกิจพอเพียงดังกระหึ่มก้องมาจากทั่วทุกทิศและจากทุกวงการ ภายหลังจากที่รัฐบาล พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร ถูกรัฐประหารโค่นล้มในคืนวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ทุกนโยบายของคณะรัฐบาลที่มาจากการรัฐประหารและคำแถลงของรัฐมนตรีแต่ละท่านที่ผ่านสื่อสารมวลชนต่าง ๆ จะต้องต่อท้ายด้วยสร้อยพอเพียง
          ความพอเพียงในวันนี้ถูกตีความไปต่าง ๆ นานา ตั้งแต่ขั้นต้นที่เป็นเพียงแนวคิด ต่อต้านลัทธิบริโภคนิยม จนไปถึงขั้นสูงที่หมายถึง ระบบเศรษฐกิจชุมชน ที่ปัจจัยการผลิตและผลผลิตเป็นของชุมชน ความพอเพียงในวันนี้ ได้กลายเป็นมนต์คาถาที่ใช้เรียกเมตตามหานิยมจากผู้ทรงอำนาจ และเป็นสัญลักษณ์แห่งการสวามิภักดิ์ต่ออำนาจใหม่ ความพอเพียงมีมากมายจนกระทั่งดูละลานตาไปทั่ว ราวกับธงเล็ก ๆ รูปสามเหลี่ยมพื้นสีเหลือง ที่ปักบนอาหารนานาชนิดในเทศกาลกินเจเดือน ๙
          ดร.เสรี พงศ์พิศ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจชุมชน และผู้อำนวยการ โครงการมหาวิทยาลัยชีวิต และนักวิชาการอีกหลายท่าน มองว่าวิถีชุมชนไทยแบบดั้งเดิมที่สัมพันธ์และเกื้อกูลกันอย่างเป็นระบบระหว่างคนกับคน และคนกับธรรมชาติ ถูกผลักไสเข้าสู่สังคมทุนนิยมอย่างเต็มตัวตั้งแต่การเริ่มต้นใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับแรก ในปี ๒๕๐๔
          แผนพัฒนาเศรษฐกิจดังกล่าวได้เปลี่ยนแนวคิดของชาวชุมชน จากการทำมาหากิน หรือระบบเศรษฐกิจแบบทำเองใช้เองบางส่วน ไปสู่แนวคิดการทำมาหาเงิน หรือระบบเศรษฐกิจที่ผลิตเพื่อเป็นสินค้าขายแลกกลับมาเป็นเงิน แล้วใช้เงินกลับไปซื้อสินค้ามาบริโภคอีกครั้ง ทำให้ตัวกลางคือเงิน ใช้แทนความมั่งคั่งร่ำรวย เป็นที่หมายปองของทุกคนในที่สุดได้พัฒนากลายเป็นลัทธิบูชาเงิน
          นโยบายพัฒนาแบบทุนนิยมที่เน้นการบูชาเงินและส่งเสริมการบริโภค โดยการนำเอาทรัพยากรท้องถิ่นที่มีอยู่อย่างอุดมสมบูรณ์ที่บรรพบุรุษทิ้งไว้ให้ไปขายแบบล้างผลาญเพื่อแลกกับเงินจำนวนเพียงเล็กน้อย แต่กลับทำลายทั้งดิน น้ำ อากาศ ป่า ปลาและสัตว์ จนแทบไม่หลงเหลือทรัพยากรใด ๆ ไว้ให้ลูกหลาน
          เมื่อขายทรัพยากรจนเกือบหมดสิ้นไปแล้ว ผู้คนในชุมชนจึงหันไปขายแรงงาน ขายสิ่งสุดท้ายที่ยังหลงเหลืออยู่พร้อมกับลมหายใจ โดยการเข้าไปรับจ้างในเมืองหลวงและเมืองใหญ่ ต้องพลัดพรากจากบ้านและ ครอบครัว สุดท้ายระหกระเหเร่ร่อนไปรับจ้างขายแรงงานในต่างประเทศโดยต้องขายที่นาผืนสุดท้ายเพื่อแลกกับค่าเดินทาง ทำให้โครงสร้างชุมชนทั้งระบบที่เคยดำรงอยู่มานานนับร้อยพันปีคือ เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ถูกทำลายจนย่อยยับ

          ปรัชญาหรือวิธีคิดของระบบเศรษฐกิจชุมชน อยู่ที่การถือเอาชีวิตและถือเอาความเข้มแข็งของชุมชนเป็นตัวตั้ง เอาความสุขกายและสุขใจของคนเป็นเป้าหมาย โดยเริ่มต้นจากการค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของคนและชุมชน และพัฒนาศักยภาพดังกล่าว เพื่อก่อให้เกิดพลังการขับเคลื่อนด้วยตนเอง จากนั้นเชื่อมโยงกิจกรรมต่างๆ เข้าด้วยกัน จนเกิดระบบและเกิดความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สังคม จิตใจ สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม
          เศรษฐกิจชุมชนจะทำให้แต่ละชุมชนกลายเป็นหน่วยผลิตที่เป็นอิสระ ผลิตให้พอเพียงแก่การเลี้ยงตัวเอง จนเกิดสัดส่วนการพึ่งตนเองได้มากขึ้น แล้วส่วนที่เหลือจึงส่งขายโลกภายนอก พวกเขาจะอยู่แบบเดิมที่ทำการผลิตเพียงสองสามอย่างเพื่อแลกกับเงิน แล้วเอาเงินไปซื้อทุกอย่างที่จำเป็นไม่ได้อีกแล้ว วันนี้พวกเขาอาจต้องทำการผลิตสัก ๒๐ – ๓๐ อย่าง เพื่อลดรายจ่ายและขยายโอกาส ซึ่งจะเป็นหนทางนำไปสู่การปลดหนี้และสร้างความมั่นคั่งที่ยั่งยืน
          เศรษฐกิจชุมชนจะไม่เริ่มต้นโดยเน้นเอาแต่เงิน เอาแต่รายได้ เอาแต่ยอดขายและการทำกำไร หรือทำให้ธุรกิจมีขนาดใหญ่จนมีต้นทุนที่ต่ำสุด (Economy of Scale) หรือลดต้นทุนด้วยการผลิตให้เร็วขึ้น (Economy of Speed) หรือขยายธุรกิจจนไม่มีจุดสิ้นสุด (Limits to Growth) เพราะถ้าขืนทำเช่นนั้น เศรษฐกิจชุมชนจะต้องเริ่มต้นด้วยทุนจำนวนมหาศาล ในที่สุดจะกลายเป็นส่วนพ่วงของระบบเศรษฐกิจภายนอก
          เศรษฐกิจชุมชนจะหวนคืนกลับไปหาความเหมาะสมและพอเพียง (Appropriate and Optimum) ซึ่งเริ่มต้นจากสภาพที่เป็นจริงของชุมชน เกิดขึ้นโดยอาศัยเกราะคุ้มกันของชุมชน จนเติบโตขึ้นแล้วก้าวไปแข่งขันกับโลกภายนอก ถ้าไม่ใช่เศรษฐกิจชุมชน ปลายทางของการผลิตจะนำไปสู่ธุรกิจเอกชนหรือวิสาหกิจเอกชน และในที่สุดผลประโยชน์ทั้งหมดจะตกอยู่กับคนเพียงไม่กี่คน
          สินค้าโอท็อป (OTOP) หรือหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ที่รัฐบาลชุดที่แล้วป่าวประกาศสนับสนุนอย่างมากมายและอ้างว่าเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจชุมชนนั้น ถึงแม้ว่านโยบายดังกล่าวจะเกิดผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศบางส่วน แต่ในแง่ปรัชญาแล้ว สินค้าโอท็อปกลับเป็นการตัดยอดจากภูมิปัญญาท้องถิ่น ไปต่อยอดของระบบเศรษฐกิจแบบทุนนิยม ซึ่งในที่สุดแล้วไม่ได้ช่วยสร้างระบบเศรษฐกิจชุม รวมทั้งทำให้ธุรกิจนั้นต้องตกเข้าไปอยู่ในความเสี่ยงที่ขาดเกราะคุ้มกันจากชุมชน
          ระบบเศรษฐกิจชุมชนเป็นระบบเศรษฐกิจอีกระบบหนึ่ง ที่ชุมชน หรือส่วนรวมเป็นเจ้าของปัจจัยการผลิตและผลผลิต แยกออกจากระบบทุนนิยมที่ปัจเจกชนเป็นเจ้าของขณะเดียวกันก็อยู่ร่วมกับระบบทุนนิยมได้ ในยุโรปบางประเทศ เช่น เดนมาร์ก ระบบเศรษฐกิจของประเทศประกอบด้วย 3 ระบบ คือ ระบบทุนนิยมเอกชน ระบบวิสาหกิจแห่งรัฐ และระบบเศรษฐกิจชุมชนหรือสหกรณ์ แนวโน้มของโลกในหลายประเทศต้องการสร้างระบบเศรษฐกิจที่หลากหลาย รองรับโครงสร้างสังคมที่หลากหลายและแตกต่าง ทำให้ในประเทศเดียวมีระบบเศรษฐกิจที่มากกว่าหนึ่งระบบ
          การรัฐประหารเมื่อวันที่ ๑๙ กันยายน ๒๕๔๙ ได้ก่อให้เกิดแนวโน้มที่ปฏิเสธระบบทุนนิยม ปฏิเสธระบบโลกาภิวัตน์ และต้องการทำลายรากฐานระบบทุนนิยมทั้งหมดที่มีอยู่ในประเทศ เพราะถือว่าระบอบทักษิณเป็นทุนนิยม และต้องการนำระบบเศรษฐกิจชุมชนหรือเศรษฐกิจพอเพียงเข้าแทนที่ระบบเศรษฐกิจของประเทศทั้งหมดอย่างสุดขั้ว แทนที่จะเสริมสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนให้เข้มแข็ง ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจอันหลากหลายในสังคมไทย
          ระบบเศรษฐกิจชุมชนของชาวอโศก ชุมชนหรือสหกรณ์เป็นเจ้าของ ปัจจัยการผลิตและผลผลิตที่เรียกว่าสาธารณโภคี ระบบเศรษฐกิจเริ่มต้นจากความต้องการในการสร้างผลผลิตให้พอเพียงแก่การเลี้ยงคนในชุมชนและคนภายนอกทั้งหมดที่มาร่วมปฏิบัติธรรมตามวิถีทางบุญนิยม ทั้งหมดได้เริ่มจากการปลูกข้าวให้พอเพียง แล้วขยายไปสู่การปลูกพืชผักและธัญญาหารชนิดอื่น ๆ ให้พอเพียงสำหรับคนในชุมชน
          ส่วนกิจการต่าง ๆ ที่ขยายออกไปในภายหลังจนกลายเป็นวิสาหกิจชุมชนขนาดเล็กและขนาดกลาง ไม่ว่าจะเป็นการเพาะเห็ด ผลิตแชมพู ยาสมุนไพร ปุ๋ย โรงสีข้าว ทั้งหมดเริ่มต้นจากคน จากศักยภาพของคนในชุมชนและทรัพยากรที่มีอยู่ในชุมชน พัฒนากิจการจนเติบใหญ่กลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่สามารถพึ่งตัวเองได้ และมีส่วนเหลือจำนวนมากที่ขายออกไปสู่โลกภายนอก กลายเป็นระบบเศรษฐกิจที่เข้มแข็ง เป็นอิสระ และไม่เป็นส่วนพ่วงของระบบทุนนิยมและโลกาภิวัตน์
          ระบบเศรษฐกิจชุมชนของชาวอโศกได้เปรียบเศรษฐกิจชุมชนแห่งอื่น ๆ ตรงที่ไม่ได้อยู่อย่างโดดเดี่ยว มีการรวมตัวกันเป็นเครือข่ายขนาดใหญ่ถึง ๙ แห่ง โดยมีแนวคิดทางศาสนาเป็นแกนกลาง ทำให้สามารถเกื้อกูลสนับสนุนกันได้ โดยเฉพาะในยามเริ่มต้นที่ยากลำบากและในยามที่ประสบวิกฤตการณ์ ทำให้มีเกราะคุ้มกันที่เข้มแข็ง
          นอกจากนั้นแล้ว ชาวอโศกยังเป็นกลุ่มคนที่รู้จักปรับเปลี่ยนนโยบายให้ยืดหยุ่น แทนที่จะยึดมั่นกับการพึ่งตัวเองอย่างแข็งทื่อ โดยพากเขารู้จักการดูดซับทรัพยากรจากภาครัฐ โดยเฉพาะจากนโยบายประชานิยม และกองทุนสนับสนุนประเภทต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการลงทุนในสินทรัพย์ถาวร ซึ่งจะก่อให้เกิดรายได้ในภายหลัง จนทำให้ระบบเศรษฐกิจ ชุมชนของชาวอโศกเข้มแข็งขึ้นอย่างรวดเร็ว
          ความเข้มแข็งของชุมชนอโศกที่เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ยังสร้างภูมิคุ้มกัน ต่อต้านโรคบริโภคนิยม ที่สร้างภาระหนี้สินสวนตัวที่ไม่มีวันชดใช้คืน และการถูกผูกมัดจากฝ่ายการเมือง ที่เอาเงินทุนและหนี้สินมาแลกกับคะแนนเลือกตั้ง กลายเป็นยาเสพติดที่สลัดไม่พ้น
          เมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจครั้งใหญ่ในปี ๒๕๔๐ ระบบทุนนิยมในประเทศพังทลายและล่มสลายไปมากมาย ผู้คนบางส่วนต้องหนีภัยไปพึ่งระบบเศรษฐกิจชุมชนในชนบท ที่บางแห่งยังคงหลงเหลือความอุดมสมบูรณ์ของอาหารและทรัพยากรธรรมชาติ สำหรับเศรษฐกิจชุมชนของชาวอโศกในขณะนั้นกลับไม่ได้รับผลกระทบแต่อย่างไร เพราะพวกเขาสามารถยืนพึ่งตนเองได้ก่อนหน้านั้นนานแล้ว และยังคงความเป็นอิสระไม่เป็นส่วนพ่วงของระบบเศรษฐกิจใหญ่
          วิกฤตราคาน้ำมันในปี ๒๕๔๗ – ๒๕๔๙ ที่ราคาน้ำมันปรับสูงเพิ่มขึ้นถึง ๒ เท่าตัว ชุมชนชนบทหลายแห่งถูกกระทบอย่างรุนแรง รายได้สุทธิลดลงเกือบครึ่งหนึ่ง ความยากจนและหนี้สิ้นเพิ่มมากขึ้น สำหรับชาวอโศกแล้วได้รับผลกระทบเพียงเล็กน้อยเท่านั้น เพราะวิถีเกษตรอินทรีย์ของชาวอโศก ทำให้พวกเขาพึงพิงสินค้าอุตสาหกรรมจากโลกภายนอกไม่มากนัก
ชาวอโศกในวันที่โลกหมดสิ้นน้ำมัน
          ธรรมชาติมองการณ์ไกลและเกลี่ยความยุติธรรมอย่างชาญฉลาดใต้ผืนทรายที่แห้งแล้งกันดารและร้อนระอุ กลับมีบ่อน้ำมันขนาดใหญ่ซุกซ่อนไว้ เพื่อรอไว้ให้มนุษยชาติใช้สร้างอารยธรรมที่ยิ่งใหญ่ของโลกใหม่ แต่ใต้ผืนแผ่นดินที่เต็มไปด้วยพืชพรรณธัญญาหาร เป็นดินแดน
สวรรค์ที่มนุษยชาติใช้สร้างอารยธรรมเก่าที่ยิ่งใหญ่นานนับหลายพันปี ทุกวันนี้กลับยากไร้กันดาร ไม่มีน้ำมันกระทั่งสักหยดหยาด
          น้ำมัน ก๊าซธรรมชาติ และถ่านหิน เป็นพลังงานจากฟอสซิล (Fossil) หรือซากพืชและสัตว์ ที่ถูกทับถมและบีบอัดจากความร้อนใต้พิภพ เป็นเวลานานกว่า ๓๐๐ ล้านปี พลังงานชนิดนี้เป็นเส้นเลือดที่หล่อเลี้ยง และขับเคลื่อนโลกทุนนิยมอุตสาหกรรมและทุนนิยมมายามาตลอด ๑๕๐ ปีที่ผ่านมา เป็นหนึ่งในโลกาภิวัตน์ที่ทุกฝ่ายยังหลีกหนีเป็นอิสระไปไม่พ้น และยังพึ่งตัวเองไม่ได้
          พลังงานจากฟอสซิลโดยเฉพาะน้ำมันและก๊าชธรรมชาติเกิดขึ้นในบริเวณที่เหมาะสมและมีเพียงน้อยแห่งเท่านั้น เมื่อถูกสูบใช้หมดไปแล้วก็จะไม่เกิดใหม่ทดแทนอีก มนุษย์เริ่มขุดเจาะน้ำมันเพื่อใช้ในเชิงพาณิชย์ ครั้งแรกสุดตั้งแต่ปี ๒๔๐๒ ที่รัฐเพนซิลวาเนีย สหรัฐอเมริกา จากนั้นการผลิตน้ำมันได้แพร่กระจายออกไปทั่วทั้งโลก ในสมญานาม ทองคำดำ (Black Gold) ซึ่งสร้างความรํ่ารวยไม่แพ้การขุดหาทองคำ แต่น้ำมันที่ขุดเจาะได้กลับพบว่ากระจุกตัวอยู่เพียงไม่กี่ประเทศโดยเฉพาะในตะวันออกกลางซึ่งมีแหล่งน้ำมันสำรองถึงครึ่งหนึ่งของโลก
          การผลิตน้ำมันของโลกได้ไปถึงจุดสูงสุด (Peak Oil) เมื่อปี ๒๕๔๗ – ๒๕๔๘ ปริมาณที่ผลิตได้ยังคงเพียงพอสำหรับการบริโภคในแต่ละปีและจากจุดนั้นเป็นต้นไป ความต้องการบริโภคน้ำมันยังคงเพิ่มขึ้นอีกราว ร้อยละ ๒ ต่อปี ในขณะที่การผลิตน้ำมันจะเริ่มลดลง จนไม่เพียงพอแก่ความต้องการ ดังนั้น ตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ เป็นต้นมา ราคาน้ำมันดิบที่เคยทรงตัวอยู่ในระดับต่ำกว่า ๓๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลมานานกว่า ๒๐ ปี เริ่มขยับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ไปจนถึงระดับราคา ๘๐ ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรลในช่วงกลางปี ๒๕๔๙
          นํ้ามันสำรองในโลกนี้ เฉพาะส่วนที่มีการค้นพบและสามารถนำมาผลิตได้  (Proven Reserves) คาดว่ามีอยู่ราว ๑.๒๙ ล้านล้านบาร์เรล จากการบริโภคในอัตราวันละ ๙๐ ล้านบาร์เรลในปี ๒๕๔๙ และเพิ่มขึ้นร้อยละ ๒ ต่อปี น้ำมันที่มีสำรองอยู่นี้เพียงพอให้มนุษย์ใช้ได้อีกราว ๓๕ ปีหรือใช้บริโภคได้จนถึงปี ๒๕๘๕
          ก๊าซธรรมชาติที่ค้นพบแล้วมีสำรองอยู่ในโลกนี้ราว ๖,๓๕๐ ล้าน ล้านลูกบาศก์ฟุต จากอัตราการบริโภคราวปีละ ๑๑๐ ล้านล้านลูกบาศก์ฟุตในปี ๒๕๔๙ และเพิ่มขึ้นอีกราวร้อยละต่อปี ก๊าซธรรมชาติที่มีสำรองอยู่ในโลกนี้จะถูกใช้หมดไปในเวลาก่อนหน้า หรือไล่เลี่ยกับการหมดสิ้นของน้ำมันดิบในปี ๒๕๘๕
          ส่วนถ่านหินซึ่งมีปริมาณสำรองที่ถูกค้นพบแล้วราว ๒,๒๐๐ ล้านตัน และถูกใช้บริโภคเพียงปีละ ๑๐๐ ล้านตัน ทรัพยากรพลังงานถ่านหินจะมีอายุใช้งานยืนนานราว ๒๐๐ ปี มากกว่าน้ำมันและก๊าซธรรมชาติหลายเท่าตัว
          พลังงานสำรองที่คาดการณ์ไว้อาจมีมากกว่าที่ค้นพบแล้วถึง ๒ เท่า ถ้าหากใช้ตัวเลขการประเมิน โดยรวมไปถึงแหล่งพลังงานที่คาดว่าจะถูกค้นพบในอนาคต (Probable Reserves) โดยน้ำมันดิบคาดว่าจะมีสำรองมากถึง ๒.๓๙ ล้านล้านบาร์เรล ซึ่งหมายถึงว่า อายุการใช้พลังงานน้ำมันจะยืดยาวไปจนถึงปี ๒๖๒๐
          ประเทศไทย แผ่นดินที่ได้ชื่อว่าอุดมสมบูรณ์ด้วยธัญญาหาร จนสามารถสร้างมูลค่าส่งออกในปี ๒๕๔๘ สูงถึง ๔๒๐ พันล้านบาท แต่เพียงปีแรกของการไปถึงจุด Peak Oil ราคาน้ำมันดิบได้ขยับสูงขึ้นอีกกว่าเท่าตัว ทำให้ต้องนำเข้าพลังงานถึง ๘๔๓ พันล้านบาท หรือ ๒ เท่าของการส่งออกธัญญาหารและสินค้าเกษตรทั้งหมด มูลค่าการนำเข้าดังกล่าว เทียบได้เท่ากับร้อยละ 15 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP)
          ทุกวันนี้คนไทยบริโภคพลังงานเทียบได้เท่ากับน้ำมันวันละ ๑.๕๒ ล้านบาร์เรล โดยแบ่งเป็นน้ำมันทุกชนิดรวมกัน ๗๑๙ พันบาร์เรล ก๊าซธรรมชาติอีกวันละ ๔๓๘ พันบาร์เรล ลัดส่วนการใช้น้ำมันยังไปกระจุกตัวอยู่ที่น้ำมันดีเซลถึงวันละ ๓๓๙ พันบาร์เรล และเบนซินอีก ๑๒๕ พันบาร์เรล
          ภาคชุมชนในชนบทบริโภคน้ำมันรวมกันประมาณวันละ ๘๒ – ๑๐๗ พันบาร์เรล ส่วนใหญ่ใช้กับรถจักรยานยนต์ รถปิกอัพ และเครื่องจักรกลทางการเกษตร ความอุดมสมบูรณ์ของชีวมวล (Bio-mass) อันได้แก่ฟืนและถ่าน ช่วยให้ชุมชนชนบทลดการพึ่งพาน้ำมันลงไปได้บ้าง และถ้าหากเกษตรกรปลูกสบู่ดำครอบครัวละ ๑.๕ ไร่ เพื่อสกัดเป็นน้ำมันไบโอดีเซล ภาคชุมชนจะลดการพึ่งพาน้ำมันดีเซลได้ทั้งหมด
          ชาวอโศกยังคงอยู่ในเส้นทางที่เพียรพยายามลดการพึ่งพาพลังงาน จากน้ำมันให้มากที่สุด โดยเฉพาะตั้งแต่ปี ๒๕๔๗ ที่เป็นจุดเริ่มต้นของ Peak Oil และราคาน้ำมันดิบโลกขยับตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว ชาวอโศกตื่นตัวมากขึ้นในการแสวงหาพลังงานทางเลือกชนิดต่างๆ (Renewable Energy) ที่สามารถใช้ทดแทนพลังงานจากฟอสซิล ซึ่งในไม่ช้านี้กำลังหมดสิ้นไปจากโลก
          ชาวอโศกเริ่มทำโครงการวางแผนพลังงานในชุมชน โดยค้นหาแหล่งทรัพยากรในชุมชนที่มีศักยภาพนำมาใช้เป็นพลังงานทดแทน ลงทุนสร้างบ่อหมักก๊าชชีวภาพ เพื่อใช้ก๊าซชีวภาพเป็นพลังงานเดินเครื่องกำเนิดไฟฟ้า ใช้โซลาร์เซลล์และกังหันน้ำขนาดเล็กสร้างกระแสไฟฟ้าใช้ในชุมชนที่ห่างไกล ตามล่าหาเครื่องต้นแบบที่ใช้ในการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลที่มีประสิทธิภาพสูง
          รวมไปถึงการทำโครงการเตาเผาขยะพลาสติก เพื่อเปลี่ยนขยะพลาสติกมาเป็นน้ำมัน ทุกหนทุกแห่งที่เป็นแหล่งความรู้และสร้างพลังงานทางเลือก พวกเขาจะดั้นด้นไปค้นหา เพื่อแสวงหาทางเลือกที่จะนำมาใช้ในชุมชน
          วันหนึ่งข้างหน้า ชุมชนของชาวอโศกอาจจะเป็นชุมชนแรกสุดในประเทศไทยที่สามารถพึ่งตัวเองในเรื่องแหล่งพลังงานได้ทั้งหมด โดยไม่ต้องสนใจกับพลังงานจากฟอสซิลซึ่งกำลังจะหมดสิ้นไปจากโลก และราคาขยับตัวสูงขึ้นไป จนถึงจุดที่ชุมชนส่วนใหญ่เอื้อมไปไม่ถึง หากวันนั้นมาถึง ชาวอโศกจะปลดเปลื้องพันธนาการจากโลกทุนนิยมมายาและโลกาภิวัตน์ได้โดยสิ้นเชิง
          วันที่น้ำมันหมดสิ้นไปจากโลก ชาวอโศกได้เตรียมตัวพร้อมก่อนล่วงหน้าคนอื่น ๆ ทั้งหมด
ปัญญาชนกับชุมชนชาวอโศก
          มนุษย์ทุกคนคือปัญญาชน เพราะล้วนแล้วแต่มีความสามารถทางปัญญาที่จะเรียนรู้และฝึกฝนจนเกิดความรู้และความชำนาญ อีกทั้งยังมีจิตวิญญาณแห่งการแสวงหาและท้าทายเพื่อเข้าถึงความจริงที่ยิ่งใหญ่แต่ในทางองค์รวมของสังคม มนุษย์ทุกคนไม่ได้ทำหน้าที่เป็นปัญญาชนจะมีเพียงบางกลุ่มหรือบางคนเท่านั้นที่มีคุณสมบัติเหมาะสม ก้าวขึ้นมาทำหน้าที่เป็นปัญญาชนของสังคม
          ปัญญาชนของสังคมจะทำหน้าที่ถ่ายทอดหรือแปลความรู้ที่ได้เก็บสะสมไว้ให้กับคนในสังคมทั้งรุ่นปัจจุบันและรุ่นถัดไป ในอดีตกาลความรู้เป็นสิ่งหวงแหนที่ต้องปกปิด ถ่ายทอดกันเฉพาะคนกลุ่มน้อยเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่อาศัยความรู้นั้นผูกขาดอำนาจไว้ แต่ในยุคปัจจุบันในสังคมทุนนิยมมายา ความรู้ถูกถ่ายทอดกันอย่างแพร่หลาย เพราะได้กลายเป็นทรัพย์สินทางปัญญา เป็นสินค้าที่มีมูลค่าไว้ซื้อและขายสร้างความมั่งคั่งให้กับผู้ครอบครองความรู้นั้น
          สังคมและชุมชนที่เข้มแข็งจะขาดเสียซึ่งปัญญาชนของตนเองไม่ได้ เด็ดขาด เพราะพวกเขาจะเข้าใจถึงความจริง สิ่งซึ่งเป็นเอกลักษณ์และลักษณะเฉพาะของสังคมและชุมชนของตนเอง สามารถค้นหาศักยภาพที่แท้จริงของสังคม ชี้นำการสร้างสังคมและชุมชน กำหนดวิถีปฏิบัติ รวมถึงลงมืออำนวยการปฏิบัติ เพื่อนำสังคมให้ก้าวไปข้างหน้า และแก้ไขปัญหาดั้งเดิมที่ตกค้างสะสมอยู่ในสังคมนั้น
          ปัญญาชนเหล่านี้จะทำหน้าที่แสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากสังคมอื่น และสร้างองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่ได้จากการปฏิบัติของสังคมนั้น จนกลายเป็นภูมิปัญญาของสังคมและชุมชน ซึ่งนำไปสู่ความสามารถในการพึ่งตนเองได้ นอกจากนั้นแล้วปัญญาชนเหล่านี้ยังจะต้องทำหน้าที่ต่อสู้ทางความคิดกับปัญญาชนภายนอก หรือปัญญาชนของกลุ่มชนอื่น ที่ครอบงำความคิดของคนในสังคมนั้น
          หากปัญญาชนของสังคมไม่สามารถผนึกความคิดและจิตสำนึกของคนในสังคม ให้ยึดถือหลักการและคุณค่าที่คล้อยตามไปด้วยกัน จนสามารถรวมกันเป็นหนึ่งกลายเป็นสังคมที่มีแก่นแกนและมีรากแก้วหยั่งลึกค้ำจุนไว้ โดยที่คนส่วนใหญ่ความคิดสับสน มุ่งคิดถึงแต่สถานการณ์ และผลประโยชน์เฉพาะหน้า สังคมและชุมชนนั้นมีแนวโน้มที่จะแตกสลาย หรือกำลังอยู่ในเส้นทางของการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่
          ชาวอโศกเป็นตัวอย่างที่ประสบความสำเร็จในการสร้างอาณาจักร ของตนเองขึ้นมาใหม่ ซึ่งกุญแจสำคัญอยู่ที่การมีปัญญาชนของตนเอง ปัญญาชนเหล่านี้ส่วนหนึ่งเป็นสมณะที่ร่วมบุกเบิกก่อตั้งในยุคแดนอโศก เช่น สมณะโพธิรักษ์ สมณะติกขวีโร สมณะถิรจิตโต ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งเป็นปัญญาชนดั้งเดิมที่บวชเข้ามาใหม่ แต่ก็นานพอจนกลายเป็นปัญญาชนของชาวอโศกที่แท้จริง เช่น สมณะวินยธโร สมณะวัฑฒโน ฯลฯ และ ส่วนสุดท้ายเป็นญาติธรรม ที่เป็นปัญญาชนดั้งเดิม ที่ศรัทธาเชื่อมั่นในวิถีของอโศก เช่น หมอฟากฟ้าหนึ่ง คุณแก่นฟ้า คุณขวัญดิน ฯลฯ
          ปัญญาชนของชาวอโศกจะทำหน้าที่อธิบายหลักคิดของชาวอโศก ให้กับชาวโลกและต่อสู้ทางความคิดกับปัญญาชนของศาสนจักรดังเดิมที่ครอบงำความคิดของสังคมไว้ ถึงแม้ว่าในช่วงแรกของการก่อตั้งชาวอโศกจะเพลี่ยงพล้ำ ไม่อาจรับมือกับปัญญาชนของศาสนจักรที่เข้มแข็งกว่ามาก จนต้องถอยร่นกลับมาตั้งหลักใหม่ แสวงหาความรู้เพิ่มเติมจากสังคมอื่น และสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ จากการทดลองปฏิบัติทางสังคมของชาวอโศกด้วยตนเอง
          สามทศวรรษที่ผ่านมา ปัญญาชนของชาวอโศกได้ใช้ความรู้และความคิดของตนพัฒนาระบบเศรษฐกิจ การศึกษาตลอดจนการจัดความสัมพันธ์ระหว่างวัด บ้าน และโรงเรียน ให้สอดคล้องกับวิถีไตรลักษณ์ของพุทธศาสนา พวกเขาได้ช่วยกันสร้างระบบเศรษฐกิจชุมชนที่เป็นลักษณะโดดเด่นของชาวอโศก เท่าๆ  กับที่ยังคงเน้นหลักคิดทางศาสนาที่เป็นอเทวนิยม
          ปัญญาชนของชาวอโศกได้ช่วยชาวอโศกเปลี่ยนแปลงตัวเองไปไม่น้อย พวกเขายึดหลักนานาสังวาส เปลี่ยนจากท่าทีที่แข็งกร้าวดุดันไปสู่การแสวงหาความร่วมมือมากขึ้น นำเสนอวิถีปฏิบัติของตนเองมากกว่าการวิพากษ์จุดต่างของผู้อื่นอย่างเข้มข้น พวกเขาเปิดประตูต้อนรับ นักการเมืองจากทุกพรรคและอำนาจรัฐทั้งในท้องถิ่นและส่วนกลาง
          สังคมของชาวอโศกได้ใช้หลักศาสนาและอุดมคติดึงดูดปัญญาชน ยุคแรกจำนวนหนึ่งเข้าร่วมขบวน จนกลายเป็นขบวนปัญญาของชาวอโศก แต่เมื่ออาณาจักรของชาวอโศกถูกสถาปนาขึ้นจนเป็นรูปเป็นร่างที่พอมองเห็น ผ่านพ้นช่วงอุดมคติมาสู่ความเป็นจริงอีกขั้นหนึ่ง กลายเป็นระบบสังคมที่ทุกคนทำงานตามความสามารถ และได้รับผลตอบแทนพอเพียงกับความต้อการ
          ระบบสังคมดังกล่าว ฐานะของปัญญาชนเทียบเท่ากับชนชั้นอื่น ๆ อีกทั้งมีแรงเสียดทานอย่างเข้มข้นต่อลักษณะปัจเจกปัจเจกชนของปัญญาชน แต่กลับมีแรงดึงดูดต่อชนชั้นล่างมากกว่าปัญญาชน ซึ่งในที่สุดหากปล่อยตามธรรมชาติแล้ว อาณาจักรของชาวอโศกอาจขยายฐานของชนชั้นล่างออกไปอย่างกว้างขวาง โดยจำนวนของปัญญาชนค่อย ๆ ลดน้อยลงจนหมดไป เฉกเช่นที่เคยเกิดขึ้นในยุคปลายของศาสนาพุทธ
          ชาวอโศกยังจะต้องผ่านด่านพิสูจน์และทดสอบว่าพวกเขาจะมีวิธีการจัดการต่อไปอย่างไร ให้สังคมของพวกเขายังคงมีแรงดึงดูดต่อปัญญาชนรุ่นใหม่ ๆ ที่ต้องการเสรีภาพมากขึ้นและการมีส่วนร่วมทัดเทียมกับกลุ่มผู้นำ จนตัดสินใจกระโจนเข้าร่วมขบวนสังคม เพราะสิ่งนี้เป็นเรื่องที่บ่งบอกถึงการเติบใหญ่และความอยู่รอดของอาณาจักรอโศกในอนาคต
          อย่างน้อยชาวอโศกอาจต้องศึกษาบทเรียน ที่ครั้งหนึ่งในอดีต เมื่อ ๓๐ ปีก่อน ปัญญาชนไทยเคยมีประสบการณ์ หลั่งไหลเข้าสู่เขตป่าเขาเพื่อหลบหนีภัยเผด็จการทหารในปี ๒๕๑๙ และเผชิญกับระบบสังคมที่ใกล้เคียงกับชุมชนชาวอโศก ซึ่งในที่สุดไม่สามารถรองรับขบวนปัญญาชนในสมัยนั้นได้ ปัญญาชนนับพันจึงหลั่งไหลกลับออกมาอีกครั้งหลังจากที่ใช้เวลาทดสอบนานถึง ๕ ปี
          ชาวอโศกอาจค้นพบวิธีการจัดการปัญหาของปัญญาชนได้ดีกว่า



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น