วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 4 สรุปผลการศึกษา อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

บทที่ 4
สรุปผลการศึกษา อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

          การศึกษาเรื่อง ประเพณีปอยส่างลอง กรณีศึกษา หมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน ในบทนี้ ผู้วิจัยจะได้ สรุปผลการศึกษา อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ จากผลการศึกษาผู้ศึกษาสามารถสรุปได้ดังนี้



สรุปผลการศึกษา
การแต่งกายปอยส่างลอง
            ในการศึกษาเรื่อง ประเพณีปอยส่างลอง กรณีศึกษา หมู่บ้านกุงแกงตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง การศึกษาครั้งนี้ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบพรรณนาวิเคราะห์ โดยการเก็บข้อมูลภาคสนามจากแหล่งข้อมูลพื้นที่ศึกษาการสังเกตการณ์แบบมีส่วนร่วม และเข้าร่วมประเพณีจริงและเอกสารต่าง ๆ ในการวิเคราะห์ ประเพณีปอยส่างลอง
            ประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง มีความเชื่อเรื่องความเป็นมาอยู่ 2 เรื่องคือ ความเชื่อที่อิงมาจากพุทธประวัติ ตอนที่พระนางยโสธราแต่งองค์ให้พระราหุลเพื่อทูลขอสมบัติจากพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าพระราชทานอริยทรัพย์ คือ ให้พระราหุล บรรพชาสู่ผ้ากาสาวพัสตร์ และความเชื่อที่ อิงมาจากพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะผู้เจริญด้วยโภคทรัพย์แต่ทรงสละทรัพย์สมบัติเพื่อแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้น พบว่า ชาวบ้านกุงแกงมีความเชื่อในเรื่อง ความเป็นมาของประเพณีปอยส่างลอง มาจากพุทธประวัติ ตอนที่พระนางยโสธราแต่งองค์ให้พระราหุลเพื่อทูลขอสมบัติจากพระราชบิดา     วัตถุประสงค์หลักในการจัดงานปอยส่างลองมี 2 ประการ คือ เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดา หรือต่อผู้ให้อุปการะเลี้ยงดู
และเพื่อการศึกษาอบรมเป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวผ่านจากวัยเด็ก สู่วัยผู้ใหญ่ โดยมีคุณสมบัติของผู้จะเข้าพิธีปอยส่างลองจะต้อง เป็นเด็กชายที่มีอายุครบ 7 - 12 ปี และมีร่างกายสมบูรณ์ ครบ 32 ส่วน ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง นอกจากนี้ยังต้องได้รับคำยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองด้วย
            ขั้นตอนการการจัดงานปอยส่างลอง ของหมู่บ้านกุงแกง มี 3 ขั้นตอน คือ
            1. ช่วงเตรียมงาน การเตรียมการจัดงานของหมู่บ้านกุงแกงนั้น จะมีเจ้าภาพใหญ่ และชาวบ้านวางแผนร่วมกัน ส่วนการเตรียมวันกำหนดการจัดงาน จะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างชาวบ้าน เจ้าภาพใหญ่และพระสงฆ์ โดยการหาฤกษ์ยาม วันดี สำหรับการบรรพชา การกำหนดวันและช่วงจัดงานจึงไม่ตายตัว ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม การเตรียมงาน เจ้าภาพใหญ่และชาวบ้านจะร่วมกันเตรียม โดยจะมี พระสงฆ์ เจ้าอาวาสวัด และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นที่ปรึกษา ใช้วิธีการพูดคุยปรึกษากันอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งการจัดงานจะไม่มีคณะกรรมการ แต่การแบ่งงานจะใช้วิธีการมอบหมายให้ทำโดยบอกด้วยวาจา ผู้ร่วมงานเป็นชาวบ้าน ญาติพี่น้องและคนในหมู่บ้าน หัวหน้าคณะการจัดงาน คือ เจ้าภาพใหญ่ โดยสถานที่การจัดงาน จะเป็นวัด และบ้านเจ้าภาพใหญ่ การจัดสถานที่จะเป็นชาวบ้าน ญาติพี่น้องของเจ้าภาพใหญ่ และส่างลองช่วยกันจัด จุดรวมของการจัดงานและสถานที่จัดงานกลางคือ บ้านเจ้าภาพใหญ่ในหมู่บ้าน งบประมาณการจัดงานอยู่ที่เจ้าภาพใหญ่และพ่อแม่ส่างลอง มีการเตรียมเครื่องแต่งกายส่างลอง เครื่องอัฐบริขาร เครื่องไทยธรรม ต้นตะเป่ส่า เครื่องครัวทาน และมีการจัดตกแต่งสถานที่ ทั้งที่บ้านเจ้าภาพใหญ่ และวัดให้เรียบร้อย


           2. ช่วงพิธีกรรม การโกนผมส่างลอง จะทำที่วัด โดยสถานที่ที่ส่างลองจะไปขอขมา คือ ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน โดยหมู่บ้านกำหนดการจัดงานไว้ 5 วัน ซึ่งจะมีวันสำคัญอยู่ 3 วันด้วยกัน คือ
                2.1 วันแรก หรือเรียกกันว่า วันแฮก ส่างลองอาบน้ำด้วยเครื่องหอม มะกรูด ส้มป่อย และแต่งหน้าให้ส่างลอง เมื่อเสร็จแล้วก็จะนำส่างลองไปแต่งตัวที่วัด หลังจากเสร็จพิธีรับส่างลองแล้ว ตะแปส่างลอง จะให้ส่างลองขี่คอลงมาจากวัดแล้วฟ้อนรำ ตอนบ่ายหลังจากพักผ่อนแล้ว  คณะขบวนแห่ส่างลองจะออกไปตามบ้านญาติพี่น้อง คนรู้จักหรือผู้ที่เคารพนับถือ ญาติผู้ใหญ่จะผูกข้อมืออวยพรให้พรแก่ส่างลอง การผูกข้อมือจะผูกด้ายสายสิญจน์พันด้วยธนบัตร ม้วนกลมผูกด้ายสายสิญจน์
                2.2 วันที่สอง หรือเรียกกันว่า วันข่ามแขก ซึ่งหมายถึง วันรับแขกนั่นเอง จัดเตรียมเครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารที่จะนำไปเข้าขบวนแห่โคหลู่ หรือเครื่องไทยธรรม เครื่องไทยธรรมทุกชิ้นจะนำมาแห่พร้อมกันในวันนี้ ในการแห่นั้นจะมีญาติและประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่อย่างเพรียงกันโดยจะถือช่วยกันแบก ช่วยกันหามอัฐบริขารเครื่องไทยธรรมทุกชิ้นทั้งเล็กและใหญ่ โดยจะเริ่มจากบ้านของเจ้าภาพใหญ่ และเดินขบวนไปยังวัด ระหว่างทางจะมีผู้สูงอายุถือ ขันออกมาโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็นการอนุโมทนาสาธุในการทำบุญ จากนั้น ตอนเย็นจะทำพิธีเรียกขวัญส่างลองซึ่งกล่าวพรรณนาถึงบุญคุณของบิดา มารดา เมื่อเสร็จแล้ว จะมีการเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบ อาหาร 12 อย่าง ก่อนวันรุ่งขึ้นจะมีการบรรพชาเป็นสามเณร
                2.3 วันที่สาม หรือเรียกกันว่า วันข่ามส่าง เป็นวันสุดท้ายของการเป็นส่างลอง จะนำส่างลองแห่ไปเที่ยวรอบ ๆ หมู่บ้านเพื่อรอเวลาที่จะเข้าวัดทำพิธีการบรรพชาเป็นสามเณร โดยทางเจ้าภาพจะจัดเลี้ยงอาหารแก่ผู้มาร่วมงาน
            3. ช่วงการบรรพชา เมื่อถึงเวลา ก็จะถอดชุดส่างลองออก มาห่มจีวรแทน และกล่าวคำบรรพชา รับศีล 10 เป็นอันเสร็จพิธี โดยช่วงระหว่างการบรรพชา สามเณรก็จะแยกไปศึกษาและปฏิบัติตามพระวินัย จากการสังเกตพบว่า สามเณร ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่จากหมู่บ้านอื่น มาร่วมทำพิธีปอยส่างลอง ที่วัดกุงแกง จะแยกไปปฏิบัติธรรม บริเวณวัดใกล้บ้าน กับกลุ่มที่เป็นเด็กในหมู่บ้านกุงแกง จะปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดกุงแกง เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ก็จะจัดพิธีลาสิกขาในบนศาลาวัด ด้วยการบูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์ไหว้พระอย่างย่อ สามเณรผู้จะลาสิกขา กล่าวคำขมาต่อพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์รับขมาแล้วให้โอวาท เกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพจากบรรพชิตเป็นฆราวาสและแนะนำวิธีปฏิบัติตนให้ดำรงตนเป็นอุบาสกที่ดี จากนั้นเปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากตัวสามเณรแล้วให้ไปนุ่งห่มขาว อาราธนาศีล 5 แล้ว กล่าวคำประกาศตนเป็นอุบาสก เป็นอันเสร็จพิธี

อภิปรายผล
            จากผลการศึกษาพบว่า ประเพณีปอยส่างลอง ของหมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปายจังหวัดแม่ฮ่องสอน นั้นได้สะท้อนให้เห็นถึงความศรัทธาในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก และเพื่อแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดา หรือต่อผู้ให้อุปการะเลี้ยงดู ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณอย่างสูงในการให้กำเนิด และเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ จนผ่านพ้นวัยที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ จนพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ และเพื่อการศึกษาอบรม เมื่อผ่านพ้นวัยเด็กแล้ว เด็กชายก็ต้องก้าวออกไปเป็นผู้นำในสังคม จึงต้องได้รับการศึกษาและอบรม เพื่อให้เป็นผู้มีสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถที่จะเลี้ยงชีพและดูแลสังคมตามกรอบ ของชาวไทใหญ่ มุ่งเน้นให้เด็กชายที่ได้รับการเป็นส่างลอง เพื่อเตรียมที่จะบรรพชาเป็นสามเณร เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวผ่านจากวัยเด็ก สู่วัยผู้ใหญ่ สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ สุนทรียา สุนทรวิภาต (2529) ที่ทำการศึกษาความสำคัญของการบวชในพระพุทธศาสนาที่มีผลต่อสังคมไทยในปัจจุบัน : ศึกษาเฉพาะกรณีในกรุงเทพมหานครและจังหวัดสุพรรณบุรี ผลการศึกษาพบว่า เหตุจูงใจในการบวชเพื่อตอบแทนพระคุณบิดา มารดา และผู้มีพระคุณ
            ส่วนรูปแบบของประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกงนั้น ยังคงมีการจัดรูปแบบคงเดิม แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงไปบ้างเล็กน้อย แต่ในเรื่องระบบความสัมพันธ์ของคนในชุมชนพบว่า มีการสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่น อันเนื่องมาจากผู้นำชุมชนและคนในชุมชนมีความเข้มแข็ง ไม่ยอมให้อำนาจรัฐเข้ามาจัดการ รัฐเป็นเพียงผู้สนับสนุนเพียงส่วนหนึ่งเท่านั้น คนที่มาช่วยงานจะรู้จักกันหมด ทุกคนเต็มใจที่จะร่วมงาน และรู้สึกอิ่มใจที่ได้มาร่วมงาน คนในชุมชนจะให้ความสำคัญกับประเพณีปอยส่างลองเป็นอย่างมาก เนื่องจากมีความรู้สึกว่า ตนเองสำคัญและรู้สึกเหมือนเป็นเจ้าของงาน ขัดแย้งกับผลงานวิจัยของ พระครูปลัดชินกร แก้วนิล (จริยเมธี) (2550) ได้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงความหมายและคุณค่าของปอยส่างลองในสังคมไทยใหญ่ปัจจุบัน พบว่าเป็นประเพณีปอยส่างลอง ได้มีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมเป็นอย่างมาก ได้แก่ ความหลากหลายของผู้มาร่วมงาน ทั้งที่เป็นชาวไทใหญ่และที่ไม่ใช่ชาวไทใหญ่ การหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก กระแสทุนนิยม รวมทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร ก็มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายและคุณค่าของปอยส่างลอง ประเพณีปอยส่างลองเป็นเหมือนการแสดงอย่างหนึ่งให้นักท่องเที่ยวเข้ามาเยี่ยมชมเท่านั้น คนมาร่วมงานไม่มีปฏิสัมพันธ์กัน
สัมภาษณ์นายอำเภอปาย

ข้อเสนอแนะ
            ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย
            จากการศึกษาพบว่า ประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง มีการจัดรูปแบบคงเดิม แสดงให้เห็นว่า มีผู้นำชุมชนและคนในชุมชนมีความเข้มแข็ง แต่รูปแบบนี้จะคงอยู่ให้คนรุ่นหลังได้รับรู้มากน้อยเพียงใด ท่ามกลางกระแสแห่งการเปลี่ยนแปลงของวัฒนธรรมโลกทั้งในวันนี้และวันหน้า  ดังนั้นในการจะรักษาไว้ซึ่งประเพณีปอยส่างลอง ให้ยังคงอยู่ถึงเยาวชนรุ่นหลังให้มากที่สุด ผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้
            1. องค์การบริหารส่วนตำบล หรือหน่วยราชการ ควรจัดทำข้อมูล รวบรวมข้อมูลของประเพณีปอยส่างลอง จัดตั้งเป็นหน่วยการเรียนรู้กับประเพณีนี้โดยเฉพาะ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ ให้กับผู้ที่สนใจ และอนุรักษ์ให้ประเพณีปอยส่างลองยังคงอยู่ต่อไป
            2. ผู้นำชุมชน สัมพันธ์เครือข่ายกับชุมชนอื่น ๆ ผนึกกำลังร่วมกัน ในการอนุรักษ์ประเพณีปอยส่างลอง โดยให้ชุมชนมีอำนาจ รัฐเข้ามามีส่วนช่วยในการสนับสนุน แต่ไม่แทรกแซงและไม่ทำเป็นนโยบายการท่องเที่ยว


            ข้อเสนอแนะสำหรับการศึกษาครั้งต่อไป
            การศึกษาครั้งต่อไป ผู้ที่สนใจประเพณีปอยส่างลองในเชิงลึก ควรทำวิจัยต่อยอดจากงานวิจัยฉบับนี้ได้ที่ หมู่บ้านม่วงสร้อย ตำบลแม่นาเติง อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เนื่องจากหมู่บ้านม่วงสร้อย มีการจัดประเพณีปอยส่างลองทุกปี ในช่วงเวลาเดียวกับหมู่บ้านกุงแกง แต่ยังคงประเพณีดั้งเดิม เนื่องจากเป็นชุมชนของชาวไทใหญ่ขนาดใหญ่



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น