วันศุกร์ที่ 22 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2556

สำนักปฏิบัติธรรม

สำนักปฏิบัติธรรม
ปฏิบัติธรรมเพื่ออะไร
          จุดหมายแห่งการปฏิบัติธรรมนั้น เพียงเพื่อฝึกจิตให้รู้เท่าทันสภาพความจริงแท้ของอุปทาน ในความหลงยึดถือรูปร่างกายและสิ่งต่างๆในโลกนี้ อันเป็นธาตุ ๔ ว่าเป็นตัวเราของเรา ออกให้หมดสิ้นเท่านั้นเอง
          มิใช่เพื่อความมีความเป็นใดๆทั้งสิ้น ผลคือเพื่อความไม่ทุกข์ทางใจอีกต่อไปเท่านั้นเอง เพราะการมีตัวเราของเราเกิดขึ้นในจิตเมื่อไหร่ทุกข์จะเกิดขึ้นเมื่อนั้นทันที เช่นสิ่งของผู้อื่นหาย ใจเราเฉยๆแต่พอของเราหาย ใจเราจะเกิดทุกข์ขึ้นมาทันที จริงไหม เพราะมี “ของเรา” เกิดขึ้นนั่นเอง
ดังนั้น จุดหมายแท้ของการปฏิบัติธรรม เพื่อออกจากทุกข์ใจให้หมดสิ้นเท่านั้น ส่วนทุกข์ทางกายเป็นเรื่องธรรมดาของสังขารอันไม่เที่ยงเท่านั้นเอง
ทำไมวิธีปฏิบัติธรรมจึงมีมากมาย
ทำไม การปฏิบัติธรรม หรือวิธีการปฏิบัติธรรม จึงมีมากมายหลายอย่างแตกต่างกันออกไป แล้วจะดูจะเลือกได้อย่างไร ว่าควรปฏิบัติแบบไหน วิธีไหน
ขออธิบายว่าวิธีการปฏิบัตินั้น เปรียบเสมือนกับทางที่ใช้ในการเดินเท่านั้น
ในทางโลก การเดินทางนั้น มีวิธีเดินได้หลายอย่าง เช่น ทางเรือ ทางรถยนต์ รถไฟ เครื่องบิน หรือเดินด้วยเท้า เป็นต้น ซึ่งใครจะสะดวกสบายถนัดที่จะเดินทางแบบไหน ก็มีสิทธิ์เลือกเอาเองได้ตามใจชอบ ในทางธรรมก็เช่นกัน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเลือกทางเดินของตนได้อย่างอิสระ เสรี ตามถนัด ตามจริตนิสัย ตามความพอดีของแต่ละบุคคล ซึ่งตนจะรู้จะรับได้ด้วยตนเอง คือปัจจัตตัง ที่รู้ว่าตนพอดีแค่ไหนเท่านั้น
เพราะความพอดีของแต่ละบุคคลนั้น ไม่เหมือนกันไม่เท่ากันแนวทางปฏิบัติจึงต้องแตกต่างกันไปบ้างเป็นธรรมดา ดังนั้นความแตกต่างของวิธีการปฏิบัติ  จึงมิใช่ความผิดหรือถูก สูงหรือต่ำ ดีหรือไม่ดี เก่งหรือไม่เก่ง เคร่งหรือไม่เคร่ง แต่ ธรรมแท้ๆ คือความปกติพอดีของใจ ธรรมแท้ๆ เป็นสิ่งที่อยู่เหนือความถูก ผิด ดี ชั่ว ตัว ตน ธรรมแท้ๆ คือความเป็นกลางๆ เท่านั้น ขอให้ทำความเข้าใจให้ถูกต้อง จะได้ไม่หลงยึดถือ หรือผลักต้านวิธีในการปฏิบัติอยู่อีกต่อไป

อาจจะเปรียบได้ดังเช่น การชอบรสของอาหาร ทุกคนย่อมมีธรรมชาติใน รสชอบ ไม่เหมือนกัน บางคนชอบรสเค็ม บางคนชอบรสจืดๆ แตกต่างกันออกไปฉันใดก็ฉันนั้น
การชอบรสเป็นความพอดี เป็นธรรมชาติของแต่ละบุคคลที่มีสิทธิ์จะเลือกได้ ไม่ผิดอะไร ใครชอบรสไหน ถนัดอย่างไหน ก็เลือกเอาตามสบายไม่มีการห้ามหรือบังคับที่จะเป็นกฎตายตัวได้
สำคัญแต่เพียงว่า ชอบแล้วทานจริงหรือไม่ แค่ไหนอย่างไร ใครทานจริงก็อิ่มจริง ใครไม่ทานก็ไม่อิ่ม อยู่ที่การทานอีก หมายถึงการกระทำนั่นเอง คือ รู้แล้วทำจริงแค่ไหน
ธรรมจะเน้นลงตรงการกระทำ คือต้องกระทำที่ตนเองอีกทีด้วย จึงจะรู้ผล เมื่อข้าพเจ้ามั่นใจในปัจจัตตังที่ชัดกับตนเองจริงๆ แล้ว จึงขอยืนยันและเปิดเผยความจริงของการปฏิบัติ เพื่อเป็นกำลังใจแก่ผู้ใฝ่ใจในธรรมทุกๆท่านว่า ทางนั้นมีอยู่ โอกาสก็มีอยู่ สำหรับทุกๆคน
แม้ผู้ที่มีภาระหน้าที่ ที่จะต้องรับผิดชอบต่อครอบครัวก็ดี ผู้ที่มีภาระหน้าที่รับผิดชอบต่อหน้าที่การงานต่างๆ ไม่ค่อยได้ ก็อย่าได้คิดน้อยอกน้อยใจเสียอกเสียใจ หรือ คิดท้อแท้ใจจนหมดกำลังใจว่า เรานี้ช่างมีบุญน้อย มีวาสนาน้อย ช่างมีเวรมีกรรมมากเสียจริงๆ คนอื่นเขาไปกันได้ เรากลับไปไม่ได้ ชาตินี้คงไม่มีโอกาสไปได้เช่นคนอื่นเขา เป็นต้น
นั่นคือการเข้าใจผิด อันจะเป็นการปิดทางหรือปิดโอกาสของตัวเองไปโดยไม่รู้ตัว น่าเสียดายจริงๆ หากจะคิดเช่นนั้นขออธิบายว่า ธรรมแห่งการหลุดพ้นมิได้อยู่ที่ภายนอก มิได้อยู่ที่นั่นที่นี่ หรือ อยู่ที่ผู้นั้นผู้นี้
แต่ธรรมแท้แห่งการหลุดพ้นนั้น อยู่ที่ภายในกายในใจของทุกคนที่ตนเองเห็นตนเองจริงๆ ว่าขณะนี้จิตตนมีความโลภ ความโกรธ ความหลง มากหรือน้อย หรือไม่มีเลย ในการกระทำในแต่ละขณะๆแล้ว ผลในแต่ละขณะๆนั้นเป็นอย่างไร จะทำอย่างไรจึงจะละความโลภ ความโกรธ ความหลงที่มีอยู่ในจิตตน ที่ตนมี ที่ตนรู้อยู่ ให้ออกไปจากใจตนให้หมดสิ้นได้ต่างหากธรรมแท้ๆ ปฏิบัติอย่างนี้ ส่วนข้างนอกนั้น เป็นเพียงส่วนประกอบเท่านั้นเอง
ขอยืนยันว่า โอกาสนั้นมีอยู่สำหรับทุกคน เพียงแต่เราไม่เข้าใจ เราไม่รู้วิธีการปฏิบัติ และความเป็นจริงของการปฏิบัติธรรมว่าเป็นอย่างไร ควรทำอย่างไรเท่านั้นเอง วิธีนั้นมีอยู่ หากเราเข้าใจและพยายามทำตัวเองอยู่เสมอ ฝึกฝนตัวเอง บังคับตัวเองแต่เนิ่นๆ การปฏิบัติคือการบังคับตัวเองให้ได้ โดยวิถีแห่งธรรมชาติซึ่งมันมีอยู่ตลอดเวลา
ทางมีอยู่เสมอ สำคัญผู้เดินจะเดินจริงแค่ไหน หมายถึง จะตามใจจะเข้าข้างกิเลสตนหรือไม่เท่านั้นเอง เพราะผู้เขียนโชคดีได้พบด้วยตนเองไม่รู้ตัวต่อวิธีทำนั้น จึงยินดีเปิดเผย และยืนยันในสัจธรรมนั้นว่า ทุกๆคนมีโอกาสทำได้ ไม่เลือกเพศ วัย ชาติ ชั้น วรรณะ หรือสถานที่ใดๆ ทั้งสิ้น เพราะการปฏิบัติที่แท้จริงนั้น เอากายตนเป็นสถานที่ทำ เอาใจตนเป็นผู้ทำเท่านั้น ขอให้เข้าใจจริงๆและทำจริงๆเท่านั้น ก็จะเห็นผลจริง เพราะผลนั้นรู้ได้ด้วยตนเองทางภาษาธรรมเรียกว่า “ปัจจัตตัง” ขอให้รู้แล้วทำจริงเท่านั้นจึงจะเห็นผลจริง หากรู้แล้วยังไม่ยอมทำจริงก็เท่ากับยังไม่รู้ แม้จะรู้มากแค่ไหนก็ตาม หากยังไม่ธรรมก็เท่ากับยังไม่รู้ แล้วผลนั้นจะเกิดขึ้นได้อย่างไร จริงไหม เพราะรู้แท้เป็นเรื่องรู้จากภายในใจเท่านั้น
สำหรับผู้ที่มีโอกาสบวชก็ดี ผู้ที่มีโอกาสหรือมีเวลาปลีกไปตามวัด ตามถ้ำ ตามป่า ตามเขา ก็ดี นับว่าเป็นโอกาสอันดีของท่านแล้ว ขออนุโมทนา
แต่หากท่านเข้าใจจุดหมายและหลักอันแท้จริงของการปฏิบัติธรรม และมิได้ตั้งใจที่จะปฏิบัติธรรมแล้ว โอกาสเช่นนั้นก็หาได้เกิดประโยชน์อันใดกับท่านไม่  เพราะธรรมแท้มิใช่เป็นเรื่องของสถานที่ แต่เป็นเรื่องของจิตใจที่อยู่ภายในใจตนต่างหาก
ดังนั้น ท่านจะต้องเข้าใจถึงจุดหมายของการปฏิบัติด้วยว่า ปฏิบัติเพื่ออะไร ควรปฏิบัติอย่างไร และผลของการปฏิบัติธรรมนั้นให้สังเกตได้ง่ายๆว่า ขณะปัจจุบันนี้ เรามีความทุกข์ทางใจมากขึ้น กว่าเดิม หรือทุกข์น้อยกว่าเดิม ก็ให้นำมาเทียบกับอดีตของตนดู
สมมติว่า อดีตเราเป็นคนโกรธง่ายและทนต่อการถูกเบียดเบียนไม่ค่อยได้ จิตจะเป็นทุกข์อยู่เสมอ ขณะนี้เมื่อเรามาปฏิบัติธรรมแล้วความโกรธค่อยเบาบางไปหรือไม่ และเราสามารถทนต่อสิ่งต่างๆที่เกิดขึ้นรอบตัวได้หรือไม่ เช่น หากถูกเบียดเบียน จิตยอมได้ไหม จิตเกิดความอาฆาตพยาบาทไหม จิตอภัยได้หรือไม่ ต่อความผิดพลาดของผู้อื่นที่ทำกับตน
จิตมีความยึดถือ ในความมีตัวเราของเรามากน้อยเพียงใด ถ้ามีน้อยทุกข์ก็น้อย ถ้ามีมากทุกข์ก็มากก็นาน ให้สังเกตดูง่ายๆว่าทุกข์มากหรือน้อย หากปฏิบัติถูกหลักวิธี ทุกข์จะน้อยลงๆ จนกระทั่งไม่ทุกข์เลยในจิต ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม จิตก็ยังปกติ รู้อยู่เห็นแต่ไม่ทุกข์ใจต่อสิ่งนั้นเท่านั้นเอง ขอให้รู้ไว้ว่าการปฏิบัติธรรมนั้นจุดหมายแท้เพื่อความไม่ทุกข์ใจอีกต่อไปเท่านั้นเอง ในที่สุดไม่มีอะไร    
พระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา นั้นได้มาปฏิบัติพร้อมกัน สำหรับ พระเณรนั้นที่อยู่จะคับแคบไปหน่อย ก็ให้อภัยซึ่งกันและกัน สำหรับอุบาสก อุบาสิกา ร่วมกันฟัง สวดมนต์ และร่วมปฏิบัติธรรม บางครั้งพระสวดมนต์ ถ้าเราสวดไม่ได้ ก็ฟังไป บทสวดมนต์ก็เป็นธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น เป็นมหากุศล เราอยู่ร่วมกันก็ต้องสวดตามหน้าที่ของภิกษุ สามเณร และยังได้เป็นมหากุศล
ธรรมะคืออะไร "ธรรมะ" คือ ภาวะที่นำจิตไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว รักษาจิตของบุคคลไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ยังมีสัตว์โลกไม่ให้ตกไปในอบาย พวกเปรต อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน การปฏิบัติธรรมนั้นทำได้ทั้งสมถะ และ วิปัสสนา การตั้งอยู่ในศีล 5 ศีล 8 อุโบสถศีล เป็นการปฏิบัติธรรม ธรรมนั้นนำจิตของบุคคลไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ธรรมของพระพุทธเจ้า ก็คือ ศีล จุดม่งหมายนั้นก็เพื่อไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว ธรรมของพระพุทธเจ้า ก็คือ ศีล
จุดมุ่งหมายนั้นก็เพื่อไม่ให้ตกไปในที่ชั่ว การที่เราจะมานอนวัดมาปฏิบัติ ตั้งอยู่ในศีล 5 ศีล 8 อุโบสถศีล ศีล 227 ก็ถือเป็นการปฏิบัติธรรม
ประโยชน์ของการปฏิบัติธรรมนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้มี 10 อย่าง
1. การฟังธรรม และรักษาศีล ปฏิบัติธรรม ก็เป็นมหากุศลทั้งนั้น การฟังธรรมอยู่บ้านก็ได้เป็นมหากุศล อย่างน้อยฟังสวดก็เป็นมหากุศลฟังธรรมอยู่บ้าน หรือศาลา ก็ได้บุญ อันนี้เป็นมหากุศล พูดถึงมหากุศลนั้นได้เสมอกันหมดเลย ที่เราพร้อมกันรักษาศีล ปฏิบัติธรรมนั้นกว้างขวางมากก็ได้มหากุศล
2. ไม่ประมาท ไม่ประมาทอย่างไร ก็ไม่ประมาทในวัย ในอายุ ในความไม่มีโรค ไม่ว่าคนแก่ และหนุ่ม เป็นผู้ไม่ประมาทในวัย ในโลกนั้น มีอายุแก่อ่อน เพราะไม่รู้ว่าจะตายเมื่อไร่ ในความไม่มีโรคนั้น ก็ไม่รู้ว่าโรคจะเกิดขึ้นเมื่อใดเป็นผู้ไม่ประมาท
3. รักษาพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าไว้ พระสัทธรรมคืออะไร คือปริยัติสัทธรรม ปฏิบัติสัทธรรม ปฏิเวธสัทธรรม พวกเราที่มานี่ล้วนเป็นผู้รักษาพระสัทธรรมของพระพุทธเจ้าทั้งนั้น
4. ผู้นำศาสนาให้เจริญ พวกภิกษุ สามเณร แม่ชี โยคี พากันมาปฏิบัติธรรม นำให้พระศาสนาเห็นเป็นรูปธรรมขึ้นมา พระศาสนาเจริญทางไหน พระพุทธเจ้าตรัสว่า เป็นพุทธบริษัทมีการประพฤติปฏิบัติธรรมอยู่ตราบใดพระศาสนาของเราก็เจริญรุ่งเรืองอยู่ตราบนั้น ดุจดั่งพระจันทร์ที่ลอยเด่นอยู่ในท้องฟ้าตราบนั้น
5. ความสุข ในชาตินี้และชาติหน้า ในชาตินี้สุขอย่างไร ความสุขมี 4 อย่าง
5.1 สุขายะ จะมีความสุขในโลกนี้ ถ้าเราพากันปฏิบัติธรรม
5.2 ยถาภูตาญาณ เป็นผู้รู้เกิดญาณ เกิดความรู้ ในขณะนั่ง
5.3 สติสัมปชัญญะ ไม่หลงลืมในชีวิตประจำวัน เราศึกษาด้วยตนเอง ตอนเช้านั่งสมาธิว่า        เราจะทำอะไร จะต้องทำอย่างไรบ้ารง ก็จะไม่มีอุปสรรคปัญหาอันใด มีแต่ความสุข
5.4 คะยายะ สังวัตตะตุ กิเลส 3 เมื่อเราเดิน นั่ง อยู่เสมอ กิเลสนั้นจะน้อยลง ถ้าเรามีโรคใน   ตัว ก็จะน้อยลง เหมือนเรากินยา ในสมัยพระพุทธเจ้าก็มีเหมือนกัน ท่านก็ตอบอยางนี้ ประโยชน์ในโลกนี้ ประโยชน์ในโลกหน้า อัสสะมิง โลเก ปะระมิจะ..... เมื่อลาจากโลก นี้ไปแล้วก็จะได้อยู่บนโลกสวรรค์ เป็นสุคติ
6. เป็นผู้ไม่มีเวรภัย การปฏิบัติธรรมนั้นเป็นกันชน ถ้ามีเวรกลับมาก็จะน้อยลง เราต้องต่อสู้กับเจ้ากรรมนายเวร ต้องให้อภัย กรรมเวรก็จะน้อยลงภัยในวัฏฏะสงสาร ภัยจากการเกิด แก่ เจ็บ ตาย ภัยจากการพลัดพรากจากของรัก และภัยจากเหตุการณ์ต่าง ๆ โจร ไฟ จะพ้นไปทั้งหมด
7. เป็นผู้มีอภัยทาน ผู้ปฏิบัติธรรมนั้นจะมีคำว่า ช่างมัน เราวางอุเบกขาในอารมณ์ พ้นจากเวรภัย เฉยในอารมณ์ เฉยอย่างเดียว มีเมตตาแล้วกรุณาแล้ว มุทิตาก็แล้ว ก็ตั้งใจอุเบกขาในอารมณ์ ไม่เป็นไปตามความปรารถนาของเรา เราก็เลยจะไม่มีเวร ไม่มีภัยกับเรา ไม่มีบุญไม่มีบาป ให้พ้นไปด้วยการวางเฉย ชีวิตของเราอยู่ท่ามกลางกิเลสทั้งหลายเราจะต้องมี 4 หน้า คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา พระพุทธเจ้าตรัสว่าต้องมี อะปะมัญญสญา คือ วางเฉย เป็นผู้อภัยทาน ทานอย่างหนึ่งคือให้ชีวิต แต่ทานที่ไม่ต้องเสียเงินเสียทองคือ อภัยทาน คือว่าช่างมันหมดเลย
8. เป็นผู้ทำตามโอวาทของนักปราชญ์ มีพระพุทธเจ้า เป็นต้นทั้งครูอาจารย์ที่ได้สั่งสอนกันมา ให้รักษาศีล 5 ศีล 8 ศีล 227 เจริญสมถะและวิปัสสนา ที่เราทำตามกันมา
9. ความห่างเหินจากความเดือดร้อนทั้งภายนอกและภายในมีเทวดาองค์หนึ่ง ได้ทูลถามพระพุทธเจ้า ดูก่อนผู้มีทุกข์ ดูก่อนเทวดาผู้ต้องการพ้นทุกข์ บุคคลใดต้องการสะสางความยุ่งเหยิงให้หมดไปได้ จงตั้งอยู่ในศีล ทำสมาธิให้ตั้งมั่น ยังวิปัสสนาให้บังเกิด แล้วจะเป็นผู้สะสางความยุ่งเหยิงทั้งภายใน และภายนอกให้หมดไปได้  โลกที่วุ่นวายเพราะไม่ตั้งอยู่ในศีล ฟุ้งซ่าน ไม่มีสมาธิทำตามอารมณ์ถูกผิดไม่รู้ ไม่ยังวิปัสสนาปัญญาให้เกิดนั้น ไม่รู้แจ้งทั้ง 3 อย่าง คือ ความไม่แน่ เป็นทุกข์    อนัตตา คือโลกนี้ไม่แน่นอน โลกนี้เป็นทุกข์ โลกนี้ไม่อยู่ในอำนาจของเราคือ อนัตตา คนที่ตายไปไม่มีสมบัติอะไรติดตัวไปได้แม้พระเจ้าจักรพรรดิก็เอาอะไรไปไม่ได้ อนัตตาไม่ใช่ของเรา ไม่อยู่ในอำนาจบังคับไม่ได้ อย่างการเจ็บปวดจากการเดิน นั่ง ก็เช่นกัน ให้รู้ว่าโลกทั้งหมดมีการเปลี่ยนแปลง มันเป็นอย่างนี้เอง ไม่แน่นอน เราอยู่บ้านไม่มีความเจ็บปวดอะไรเลย แต่พอมานั่งก็ปวดเมื่อย พระพุทธองค์ก็ให้เห็นว่าในคัณธโลกก็เป็นอย่างนี้ ไม่แน่นอนเป็นทุกข์ ไม่อยู่ในอำนาจของเรา โลกทั้งหลายการรู้จักตัวเอง ก็เท่ากับรู้จักโลกทั้งปวง ผู้เจริญวิปัสสนาจะอยู่ในโบกนี้อย่างมีความสุข เมื่อครั้งที่อาจารย์ได้เดินทางไปประเทศอิตาลี ไปประชุมได้มีการพูดถึงว่าเราจะเข้าถึงพระเจ้าได้อย่างไร ก็ได้แนะนำว่าการที่เข้าถึงพระเจ้าต้องรู้ก่อนว่าโบกเป็นอย่างไร ก็คือ โลกนี้เป็นทุกข์ โลกนี้ไม่แน่นอน โลกนี้ไม่อยู่ในอำนาจของเรา คือ อนัตตา ถึงจะเข้าถึงพระเจ้าได้ เขาก็ตกลง ให้นำมาประกาศทางวิทยุของเขาเลย ถ้าเห็นอารมณ์ 3 อย่างนี้ คือ อารมณ์วิปัสสนา เราได้ปฏิบัติธรรม จะห่างเหินจากความเดือดร้อน ทั้งภายนอกและภายใน
10. เป็นผู้ได้สมบัติทั้ง 3 คือ 1 โภคะสมบัติ 2. ภพสมบัติ 3. นิพพานสมบัติ โภคะสมบัติเวลานี้เราได้สร้างแล้วตั้งแต่อายุ 25-55 ปี เมื่ออายุ 55 ปี ไปแล้ว ก็ควรจะสร้างภพสมบัติ แล้วก็นิพพานสมบัติพระพุทธเจ้าตรัสว่า บุคคลใด เมื่อรู้สึกว่าตนเป็นที่รัก จงรักษาตนไว้ให้ดี นี้เป็นคำที่อาจารย์ชอบมาก ให้ประคองตนอยู่ในสมบัติทั้ง 3 คือ มนุษย์สมบัติ สวรรค์สมบัติ นิพพานสมบัติ ในปฐมวัย มัชฌิมวัย ปัจฉิมวัย ในปฐมวัย การทำมนุษย์สมบัติเราได้แล้ว ภพสมบัติ ก็มานอนวัด พอมาปฏิบัติธรรมก็ได้ภพสมบัติแล้ว นิพพานสมบัติ มรรค ผล นิพพาน ในวันหน้าก็จะได้เมื่อลาจากโลกนี้ไปแล้วก็จะได้สบาย ไม่ไปเกิดในอบายภูมิ ประตูทั้ง 4 (อบายภูมิ)ปิดรอ พระศรีอารยเมตตรัย หรือธาตุของพระพุทธองค์ จะรวมกันที่ลังกา แล้วไปที่พุทธคยาเป็นพระพุทธเจ้า 7 วัน พวกเราจะมาฟังธรรมแล้วหลุดพ้นไป ถ้าไม่หลุดพ้น ก็ไปในสมัยของพระศรีอารยเมตตรัย ถ้าไม่หลุดพ้นก็มีคติติดตัวไปทุกภพทุกชาติ การปฏิบัติก็ให้รู้ว่ามีประโยชน์อย่างนี้ไม่ให้ทำด้วยความงมงาย ต่อไปเราก็เดินจงกรม นั่งสมาธิแล้วแต่อัธยาศัยการเดินจงกรมนั้นก็มีประโยชน์ ดังนี้ 1.อดทนต่อการเดินทางไกล 2. อดทนต่อการทำความเพียร 3. อาหารที่กินแล้วจะย่อยดี 4. ไล่โรค ไล่ลม 5. สมาธิมีกำลัง เดินตามที่ได้สอนมา ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ แม้ 10 นาทีก็สำคัญ สำคัญที่สมาธิอยู่ที่ เท้าขวา และเท้าซ้าย บางคนเดินเป็นชั่วโมงไม่อยู่ที่ขวาที่ซ้าย ใจไปที่ไหนไม่รู้ แต่เดิน 3ก้าวยังบรรลุอรหันต์ได้
คุณประโยชน์ของการปฏิบัตินั่งสมาธิ
1. ทางร่างกาย
1.1 อัตราการหายใจลดลง คาร์บอนไดออกไซด์น้อยลง เป็นผลดีต่อปอด
1.2 อัตราเต้นของหัวใจน้อยลงเป็นผลดีต่อหัวใจ
1.3 ปริมาณ กรดแลคเตท ในเลือด ซึ่งเกี่ยวกับความคิด ความวิตกกังวล จะลดลงเป็นลำดับทำให้คิดรอบคอบมากขึ้นก่อนที่จะทำอะไรลงไป
1.4 เลือดจะมีความเป็นกรดสูงขึ้นเล็กน้อย แสดงถึงสุขภาพที่ดี
1.5 คลื่นสมองของผู้นั่งสมาธิ จะมีความราบเรียบ และทิ้งช่วงห่างมากกว่าผู้ที่นอนหลับปกติ
1.6 ความต้านทานของผิวหนังสูงขึ้นทันทีที่เริ่มมีสมาธิ
1.7 อายุยืน
          2. ทางจิตใจ
2.1 ทำให้ลดทิฐิ ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในตนเอง
2.2 ทำให้จิตใจได้ผ่อนคลายความตึงเครียด ผ่องใส เกิดความสงบเยือกเย็น
2.3 ทำให้เกิดประสิทธิภาพในการศึกษาเล่าเรียนและในการทำงานต่าง ๆ
2.4 ทำให้เป็นผู้มีความเมตตากรุณา และเห็นอกเห็นใจผู้อื่น
2.5 เป็นผู้ที่มีสติ ไม่หลงลืม มีความรู้สึกตัวอยู่เสมอว่า กำลังทำอะไรอยู่
2.6 เป็นผู้มีศีล คือทำดี ไม่ทำชั่ว
2.7 ทำให้เป็นผู้ที่มีจิตใจมั่นคง
2.8 ทำให้เป็นผู้มีปัญญา คือ รอบรู้ในสิ่งต่าง ๆ ทั้งที่เป็นประโยชน์และโทษภัยต่าง ๆ
2.9 เป็นกุศล นำไปสู่สุคติ ไม่ตกไปสู่อบาย
การปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธ
การปฏิบัติธรรมในศาสนาพุทธนี้ มี ๒ ส่วน ส่วนหนึ่งเรียกว่า สมถกรรมฐาน อีกส่วนหนึ่งเรียกว่า วิปัสสนากรรมฐาน
สมถกรรมฐาน ทำไปเพื่อให้จิตใจสงบ ให้มีความสุข ให้จิตใจดี ส่วนวิปัสสนากรรมฐานเนี่ย ไม่ได้มุ่งเอาความสุข ความสงบ ความดี
วิปัสสนากรรมฐาน มุ่งให้เห็นความจริงของกายของใจ ให้เราเรียนรู้จนเห็นความจริงของกายของใจ ว่ากายนี้ใจนี้มันไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์ มันไม่ใช่ตัวตนที่แท้จริง มิใช่ตัวเรา
ถ้าเห็นอย่างนี้แล้วมันจะวางความยึดถือ แล้วมันจะสัมผัสกับความสุขที่ยิ่งใหญ่ เมื่อไรพ้นกายพ้นใจ เมื่อนั้นจะสัมผัสกับนิพพาน เพราะฉะนั้นอยากรู้จักนิพพานต้องรู้กายรู้ใจจนแจ่มแจ้ง แล้วจะเห็นนิพพานด้วยตัวของเราเอง
สำนักปฏิบัติธรรมของฆราวาสในสมัยพุทธกาล
ในสมัยปัจจุบัน     มีการสร้างสำนักปฏิบัติธรรมของฆราวาสขึ้นมากมายหลายแห่ง เพื่อใช้เป็นที่อบรมเจริญสมถกรรมฐานบ้าง  หรือเจริญวิปัสสนากรรมฐานบ้าง  แต่ในสมัยพุทธกาล     ไม่มีหลักฐานในพระไตรปิฎก   ว่ามีสำนักปฏิบัติธรรมของฆราวาส  เช่นว่า  ท่านอนาถปิณฑิก  หรือนางวิสาขา ที่ได้ชื่อว่าเป็นคฤหบดีมีทรัพย์สินเงินทองมากมายและได้ถวายหรือบริจาคสร้างสิ่งต่างๆ    ในพุทธศาสนามากมายนั้น    ไม่มีหลักฐานว่าท่านได้เคยสร้างสำนักปฏิบัติธรรมเพื่อใช้อบรมเจริญสติปัฏฐานสำหรับฆราวาสโดยเฉพาะในสมัยครั้งพุทธกาลไม่มีสำนักปฏิบัติธรรมของบรรพชิต  หรือสำนักปฏิบัติธรรมของคฤหัสถ์  เพราะผู้ที่ฟังพระธรรมศึกษาพระธรรมในยุคนั้น     ท่านมีปกติเจริญสติปัฏฐานคือ   ไม่มีการจำกัดหรือเลือกสถานที่   กาลเวลา  และอารมณ์       คือทุกที่ทุกเวลาเป็นปกติเพราะฉะนั้น            จึงไม่มีหลักฐานใดๆแสดงว่ามีการสร้างสำนักปฏิบัติธรรมของบรรพชิตหรือสร้างสำนักปฏิบัติธรรมของฆราวาส   ในยุคนี้มีความเข้าใจว่า ถ้าจะปฏิบัติธรรมต้องอยู่ในห้องหรือสำนักปฏิบัติ    สถานที่อื่นๆปฏิบัติไม่ได้      จึงมีการสร้างสำนักปฏิบัติเพื่อการปฏิบัติวิปัสสนา   ซึ่งไม่ถูกต้องตามหลักพระธรรม  
การเจริญพระกรรมฐาน: สมถภาวนาและวิปัสสนาภาวนา
๑. สมถภานา
สมถะภาวนาและวิปัสสนาภาวนา แท้ที่จริงอยู่ควบคู่กันไป จะแยกทำอย่างหนึ่งอย่างใดไม่ได้ พระพุทธเจ้าท่านสอนแยกตามความหมายตามตัวอักษรเพื่อความเข้าใจเท่านั้น ในทางปฏิบัติแล้วเป็นไปด้วยกัน ถ้าเอาอย่างหนึ่งอย่างใดก็ไม่สำเร็จมรรคผล แม้ผู้ที่คิดว่าเจริญวิปัสสนาญาณอย่างเดียวนั้น ท่านที่เจริญวิปัสสนาญาณได้ ก็ต้องมีจิตเป็นสมาธิเสียก่อน จึงพิจารณาเป็นวิปัสสนาญาณ เห็นทุกข์โทษของขันธ์ 5 ได้ ถ้าไม่มีสมาธิ ก็ไม่สามารถคิดวิปัสสนาตามความต้องการได้ เพราะจิตคิดฟุ้งซ่าน ไปเรื่องทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ที่ชอบใจ หรือวิตกกังวล ตามประสาปุถุชน
สมถะพระกรรมฐานมี ๔o กอง ทุกกองทำเป็นวิปัสสนาได้ทุกรูปแบบ ถ้าฉลาดทำเป็นไตรลักษณ์ เป็นอุบายเพื่อรักษากำลังใจให้สงบจากอารมณ์ชั่วคือนิวรณ์ นิวรณ์มี ๕ ประการดัง
๑) มัวเมาในสมบัติโลก รูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส พอใจในคน สิ่งของที่หลงรัก
๒) ความโกรธ ความไม่พอใจ รำคาญ พยาบาท
๓) ความง่วงเหงา หาวนอน ในขณะที่ทำสมาธิภาวนา
๔) จิตความฟุ้งซ่าน วิตกกังวล ก็ระงับโดยตั้งอารมณ์จิตไว้เฉพาะลมหายใจเข้าออกหรือพิจารณาเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ให้เป็นอารมณ์เดียว
๕) สงสัยในผลของการปฏิบัติ สมาธิ ภาวนา ว่าจะมีผลดี หรือไม่มีผล เป็นวิจิกิจฉาลังเลใจอยู่ในสังโยชน์ กิเลสเครื่องร้อยรัดในข้อ ๒ ทำให้ต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป ไม่มีที่จบสิ้น
๒. วิปัสสนาภาวนา
คือการค้นคว้าหาความจริงของร่างกาย ว่าการเกิดเป็นคนนั้น เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ เกิดมาแล้ว แก่ ทรุดโทรม ต้องเหนื่อยยากลำบากกายใจ หาเลี้ยงชีวิตครอบครัว มีป่วยไข้ ไม่สบาย ต้องต่อสู้กับอารมณ์ของคน ภัยธรรมชาติสิ่งแวดล้อม พอจะสบายหน่อยก็หูตาฝ้าฟาง ฟันร่วง กระดูกกรอบ เจ็บป่วย ตายในที่สุด ถ้าร่างกายยังแข็งแรงดีอยู่ ก็ดูคนป่วยคนตาย เราจะหนีไม่พ้นภาวะแบบนี้
วิปัสสนาพระท่านสอนไว้มี ๓ แบบ คือ
๑. พิจารณาตามแบบวิปัสสนาญาณ ๙ ตามหนังสือวิสุทธิมรรคที่ท่านพระ พุทธโฆษาจารย์แปลไว้จากพระไตรปิฎก คือ
๑.๑ อุทยัพพยานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความเกิดขึ้น ดับไป ตายไปของขันธ์ 5 ร่างกาย ความคิด ความเจ็บปวด เกิด ๆ ตาย ๆ ตลอดเวลา
๑.๒ ภังคานุปัสสนาญาณ พิจารณาเห็นความสูญสลาย ดับไปของร่างกาย ความคิด ความจำ ความรู้สึกสุขทุกข์ ความรัก ความเจ็บปวด (วิญญาณ) ความรู้สึกประสาททั้ง 6 เป็นของร่างกาย ไม่ใช่จิตดับ เป็นเพียงวิญญาณระบบประสาทตาย
๑.๓ ภยตูปัฏฐานญาณ สังเกตวิจัยรูป กายเขากายเรา เป็นของน่ากลัว มีภัย อันตรายรอบด้าน ให้จิตต้องแก้ไขตลอดเวลา เป็นปัญหา เป็นทุกข์ เป็นของน่ากลัวตั้งแต่เกิดจนแก่ เป็นภาระหนัก
๑.๔ อาทีนวานุปัสสนาญาณ อาทีนวานุปัสสนาญาณ สังเกต วิจัย หรือเฝ้าดูว่าร่างกาย รูป นาม ความคิด ความรู้สึก ความจำ ประสาท ความรู้สึกทั้ง ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นของยุ่งยาก เป็นโทษ เป็นทุกข์ มีภาระปรับปรุง ต้องแก้ไขตลอดเวลา เพราะมีการเปลี่ยนแปลงมิได้หยุดยั้ง ต้องเหน็ดเหนื่อย คอยเอาใจใส่ดูแลใจใส่ดูแลให้ดี
๑.๕ นิพพิทานุปัสสนาญาณ คิดพิจารณาดูว่าร่างกาย ( รูป นาม ) หรือขันธ์ ๕ เป็นของน่าเบื่อหน่าย เป็นภาระ เป็นทุกข์ เป็นโทษ เป็นของหน้ากลัวมีแต่สลายตัว ทำให้เจ็บปวดกายปวดใจตลอดเวลา ที่ยังไม่รู้สึกเบื่อหน่ายเพราะเรามัวแต่วิ่งเอาความสุขทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส มาปกปิดไว้ จึงมองไม่เห็น เรียกว่า อวิชชา ไม่มีปัญญาเห็นความเป็นจริงของรูปร่างกาย เป็นความหลง หรือ มีอุปาทาน คิดว่าเกิดเป็นคนมีความสุข
๑.๖ มุญจิตุกามยตาญาณ คิดพิจารณาเพื่อให้จิตที่อาศัยอยู่ชั่วคราวในขันธ์ ๕ (รูป นาม) นี้ พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิดเสีย โดยตั้งใจจะทำความด้วย ศีล สมาธิ วิปัสสนาภาวนา เพื่อให้มีปัญญา กำจัดอวิชชา กิเลส ตัณหา อุปาทาน อกุศลกรรม ให้หมดไปในชาตินี้ (ภพ นาม รูป วิญญาณ สังขาร)
๑.๗ ปฏิสังขานุปัสสนาญาณ คิดพิจารณาปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากสังขารคือ ขันธ์ ๕ (รูป นาม)นี้ โดยเดินทางสายกลาง มรรค ๘ ตามพระพุทธองค์ทรงสั่งสอน เพื่ออริยมรรคผลมีพระนิพพานเป็นที่อยู่เป็นสุข
๑.๘ สังขารุเปกขาญาณ คิดพิจารณาใคร่ครวญ เห็นว่าควรจะทำให้จิตวางเฉยในความทุกข์ ความสุขของร่างกาย (รูป นาม ขันธ์ ๕ ) ตลอดจนทรัพย์สมบัติที่เสียไปก็ปลงใจตัดได้ว่าเป็นธรรมดาของโลกจะต้องสูญสลายไปแบบนี้ มีจิตสบายไม่มีความหวั่นไหว เสียใจน้อยใจเกิดขึ้น ร่างกายเจ็บป่วยตาย ก็เป็นเรื่องของร่างกาย รู้แล้วว่าจิตไม่ตายตามร่างกาย จิตเป็นคนละส่วนกับกาย จิตเป็นธรรมชาติที่แท้จริง ไม่สูญสลาย กายขันธ์ ๕ เป็นธรรมชาติของโลกมีสูญสลายเป็นปกติ เป็นของโลก เป็นของหลอกลวง
๑.๙ สัจจานุโลมิกญาณ พิจารณาใคร่ครวญ ย้อนไปย้อนมา ให้เห็นความจริงของชีวิตว่า ร่างกายเป็นแดนของความทุกข์ทั้งปวง เพราะร่างกายเป็นสมบัติของกิเลส ตัณหา อุปาทาน ถ้าเอาจิตไปยึดติดกับร่างกาย ก็มีแต่ปัญหา วุ่นวายใจ ไม่จบสิ้น
จุดที่จะดับความทุกข์ให้หมดสิ้นไป ก็เดินตามสายกลาง ไม่ง่ายไม่ยาก ไม่ขี้เกียจ ไม่ขยัน ไม่เคร่งเครียดเกินไป ในทางปฏิบัติ มรรค ๘ ย่อลงมาเป็น ศีล สมาธิ ปัญญา เพราะมีศีล ๕ ครบ จึงมีสมาธิ เป็น(ฌาน คือความชิน เมื่อมีสมาธิเป็นความชิน ก็มีปัญญาความฉลาด หรือ วิชชา รู้เท่าทันสภาวะ ความเป็นจริงของชีวิตของโลก หมดความมัวเมาในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ที่ได้ชื่อว่ามีความเห็นจริง ในอริยสัจ ๔ ทำให้คล่องแคล่วจนจิตหมดความโลภ ความโกรธ ความหลง มัวเมาในชีวิต จนหมดกิเลสในสังโยชน์ ๑o ประการ
 ๒. วิปัสสนาโดยการตั้งจิตให้ระลึกถึง มหาสติปัฏฐานสูตร
วิปัสสนา โดยการตั้งสติให้ระลึกถึง มหาสติปัฏฐานสูตร เอกายโน อยัง ภิกขเว มัคโค สัตตานัง วิสุทธิยา แปลว่า ทางนี้เป็นทางเอก เป็นทางของบุคคลคือเราผู้เดียวเท่านั้นที่รับ สุข รับทุกข์ เราผู้เดียวเท่านั้นปฏิบัติตนพ้นทุกข์ ถึงระนิพพานได้ ไม่มีใครมาช่วยเราได้ นอกจากเราผู้เดียว พิจารณาตนเองเป็นเพียงธาตุ ๔ ดินน้ำ ลม ไฟ ประกอบกันชั่วคราว แล้วสลายตัว เปื่อยเน่า เมื่อยังไม่ตาย ก็มีแต่โรคภัยรบกวน เร่าร้อน ทุกข์สาระพัด ต้องดูแลร่างกาย เพื่อความสะอาดของจิต ให้มีสติ รู้ตัวพิจารณา
๑) กาย คือ กายในที่อาศัยกายเนื้ออยู่ ดูลมหายใจ ดูความน่าเกลียด ดูเหมือนศพเน่า
๒) เวทนา พิจารณาอารมณ์เป็นสุข ทุกข์ เฉย ของตนเองอยู่เสมอว่าว่า ไม่คง
๓) จิต สติพิจารณาจิต มีนิวรณ์๕ รบกวน พิจารณาขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ (ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) โพชฌงค์ ๗ ธรรมที่เป็นปัญญาช่วยให้ตรัสรู้ คือ หนึ่ง สติ สองธัมมวิจยะ สามวิริยะ มีความเพียร สี่ปิติ อิ่มใจ สี่วิปัสสัทธิ ความสงบใจ หกสมาธิ ความตั้งใจมั่น เจ็ดอุเบกขา การวางเฉย
๔) ธรรม คือ การพิจารณาให้เห็นว่ารูป ร่างกาย นาม คือ ความรู้สึก ความจำ ความคิดอารมณ์ต่าง ๆ เป็นทุกข์ แปรปรวน และเสื่อมสลายตลอดเวลา มีวิญญาณคือประสาททั้ง ๖ (อายตนะ ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ) ไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่ของจิต ไม่ควรเอาจิตสนใจกับอายตนะทั้ง ๖ นั้น ถ้าจิตไปสนใจกายหรือวิญญาณ (อายตนะทั้ง ๖) ก็มีแต่ความทุกข์ใจ ต้องเวียนว่ายตายเกิด ไม่มีที่สิ้นสุด
วิปัสสนาแบบในพระไตรปิฏก ที่มีมาในขันธวรรค
          พิจารณาขันธ์ ๕ คือร่างกาย ความคิด ความจำ เวทนา ความรู้สึกทุกข์หรือเฉย ๆ วิญญาณในขันธ์ ๕ ที่พระพุทธองค์ทรงสอนนั้น ไม่ใช่จิตใจตามแบบที่คนทั่วไปคิด วิญญาณไม่ใช่จิต คนละอย่างกัน จิตคือผู้รู้ ผู้มีความนึกคิด จิตเป็นนาย จิตเป็นนายของวิญญาณ คือความรู้หนาวรู้ร้อนหิว กระหาย เผ็ดเปรี้ยว นุ่มนิ่ม แข็งกระด้างเป็นวิญญาณ ใจคืออารมณ์ พระองค์สอนว่าทั้ง ๕ อย่างนี้ ไม่ใช่ตัวเราเป็นของปลอม เป็นสมบัติของโลก ของธรรมชาติ เกิดขึ้นจากพ่อแม่ อาหาร ธาตุดินน้ำลมไฟ ประชุมกันชั่วคราว ตัวเราจริงๆคือจิตแรกเริ่มประภัสสร สะอาด แต่มามัวหมอง สกปรก เพราะมีความอยาก ความรัก ความหลง ความโกรธ ความไม่รู้ความจริงของโลก มาครอบงำจิต จึงต้องเวียนว่ายตายเกิดต่อไป นึกว่าจิตกับขันธ์ ๕ เป็นอันเดียวกันแบบนี้ เป็นการเห็นผิด เป็นมิจฉาทิฏฐิ ก็ต้องเดินหลงทางผิด ก็เวียนว่ายตายเกิดต่อไป ให้ดูร่างกายว่าไม่ใช่ของเรา จิตไม่ควรไปยึดถือจริงจังกับขันธ์ ๕ อาศัยร่างกาย ทำความดี เพื่อจิตจะได้สะอาด ปราศจากกิเลส ไปอยู่พระนิพพาน หรือยังไม่ตาย จิตก็เป็นสุขยิ่งคือพระนิพพาน
จิตมาอาศัยขันธ์ ๕ อยู่ชั่วคราว ขันธ์ ๕ ตาย ร่างกายตายพร้อมกับวิญญาณ ความรู้สึกประสาท สมอง ความคิดดีชั่ว ความจำ ความรู้สึกสุขทุกข์ ตายร่วมกับร่างกาย จิตก็ท่องเที่ยวไปแสวงหาที่อยู่อาศัยใหม่ ตามบุญ บาป ผลกรรมส่งจิตไปที่สุข ที่ทุกข์ แล้วแต่ความดี ทำดีก็ไปสวรรค์ ทำชั่วก็ไปนรก ไปเกิดเป็นสัตว์หรือเป็นคนที่มีทุกข์ต่อไป จิตสะอาดไม่ยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย รูป นาม ขันธ์ ๕ ก็ไปเสวยสุขแดนอมตะนิพพาน ไม่ต้องเกิดตายเป็นทุกข์อีก เคล็ดลับจริงของการปฏิบัติเพื่อพ้นทุกข์คือจิตเราไม่อาลัย ยินดี ติดอยู่ในร่างกายเรา ร่างกายบุคคลอื่น โดยมีจิตฉลาด จิตรู้ จิตมีวิชชา รู้ความจริงของร่างกาย(ขันธ์ ๕) ว่าเป็นสาเหตุแห่งการทุกข์ยากลำบากกายใจ เพราะร่างกายคือของชำรุดทรุดโทรม ต้องดูแลชำระล้าง ต้องหาอาหารเติมให้ร่างกายวันละ ๓ มื้อ เป็นของที่ดองไว้ด้วยกิเลสร้อยแปดประการ เป็นของว่างเปล่า สูญสลาย เป็นอนัตตาในที่สุด ก่อนตายจิตก็จะต้องเจ็บปวด ทรมานกับกายจนทนไม่ไหว ร้องครวญคราง ร่างกายตาย จิตก็แสวงหาที่อยู่ใหม่ จิตฉลาดก็ไม่ต้องการกาย หมดตัณหามุ่งพระนิพพาน
๓. วิปัสสนาแบบที่ ๓ คือ พิจารณาตามแบบอริยสัจ ๔
อริยสัจคือความจริงทำให้บุคคลเข้าถึงความเป็นพระอริยะเจ้าหรือความจริงที่ทำให้ใจเราสะอาดบริสุทธิ์ กายก็ยังสกปรกเช่นเดิม เราปฏิบัติทางจิต ทางกายไม่ใช่ของเรา เป็นของเน่าเหม็นของโลก
๓.๑ ทุกข์ ความทุกข์มีจริงตลอดเวลา แต่คนเห็นทุกข์ไม่ค่อยมี ข้าวคำเดียวจะใส่ในปากก็มาจากหยาดเหงื่อแรงงานเรา ทำงานหาเงิน ไปตลาด ทำอาหารหุงต้มจึงจะได้กิน เป็นไปโดยความเหนื่อยยาก ไม่ได้มาง่าย ๆ ต้องใช้สติปัญญาต่อสู้เพื่อหาวิชชา หาเงินมาเลี้ยงครอบครัว อยู่คนเดียวก็หนัก ดูแลตัวเราเอง มีครอบครัว ก็ดูแลร่างกายหลายคน หนักเพิ่มขึ้น ความเจ็บป่วยกายมีตลอด คือ ความหิวต้องหาอาหาร เติมไว้ในกระเพาะ ไม่มีอาหารก็หิวทุกข์ทรมาน พระพุทธองค์ตรัสว่า ความหิวเป็นโรคอย่างยิ่ง ความทุกข์ จริง ๆ มันอยู่ที่ใจ เข้าไปยึดมั่นในร่างกายว่าเป็นตัวตน ตัวเขาตัวเรา ถ้าทำจิตแยกจากกายได้ ตอนที่ได้มโนมยิทธิแยกจิตออกจากกาย ไปอยู่บนพระนิพพานหรือว่าเข้าฌาน ๔ ขณะนั้น จิตแยกจากกายเด็ดขาด จิตจะไม่ยอมรับรู้เรื่องประสาท ความทุกข์ของร่างกาย จิตจะเป็นสุขอย่างยิ่ง แสดงว่าร่างกายมันไม่รู้เรื่องจริง ๆ มันไม่ทุกข์ด้วย แต่อาการที่ทุกข์ คือเอาจิตไปจับไว้ในร่างกาย จึงทุกข์ทรมานเวลาเจ็บป่วย ไม่สบายกาย ทำจิตเฉยไว้ ปล่อยให้กายเจ็บ จิตไม่เจ็บด้วย ถ้าทำสมาธิถึงฌาน ๔ ไม่ได้ ก็ใช้จิตดูความเจ็บปวดของร่างกายไว้ ใจจะไม่เป็นทุกข์ ปวดตามกาย
๓.๒ สมุทัย คือ สาเหตุของความทุกข์ หรือเหตุให้เกิดทุกข์ พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ตัณหา ความทะเยอทะยานอยากหรือความดิ้นรนอยากได้ตามความต้องการ ทำให้กระวนกระวาย เดือดร้อนใจ มีกาม ตัณหา ความใคร่ อยากได้ทางรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส เกินพอดี ความจำเป็นของร่างกายมีอยู่เป็นธรรมดา เช่น หิวก็ต้องหาอาหารกิน พระท่านไม่เรียกว่าตัณหา การแสวงหาทรัพย์สินมาได้โดยชอบธรรม ท่านเรียกว่า สัมมาอาชีวะ พระองค์สนับสนุนให้มีความขยันหมั่นเพียรในการทำมาหากิน เลี้ยงชีวิต เพื่อความเจริญทางโลก เพื่อช่วยเหลือผู้เดือดร้อน ผู้ยากจน คำว่า ตัณหานี้ คืออยากได้เกินพอดี อยากลักขโมยเขา อยากโกงเขา เป็นคนจนทำมาหากินจนรวยท่านไม่เรียกว่าตัณหา เป็นสัมมาอาชีวะ การประกอบอาชีพถูกต้องไม่ผิดศีล
ภวตัณหา มีอยู่แล้วอยากให้ทรงตัวอยู่ เช่น อยากหนุ่มสาว อยากแข็งแรงตลอดไป เป็นการฝืนธรรมชาติ ซึ่งต้องเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา
วิภวตัณหา มีอยู่แล้วเช่นคนรักจะต้องแตกสลายตายไป ก็หาทางทุกอย่าง ปกป้องกันไม่ให้มันพัง คือ พวกที่ทำผ่าตัดตกแต่งความแก่เฒ่าให้ดูอ่อนวัย ผลที่สุดก็คือฝืนธรรมชาติไม่ได้
พระพุทธองค์สอนว่า ให้เอาจิต ยอมรับนับถือกฎธรรมดาของร่างเราเอง อะไรจะเกิดขึ้น เจ็บป่วยใกล้ตายก็ยิ้มรับเพราะรู้แล้วว่า เป็นความจริงที่หนีไม่พ้น แต่ความจริงนั้นร่างกายตายแต่ตัวนอก ตัวในคือ กายในกาย พระท่านเรียกว่า อทิสมานกาย อทิสมานากาย คือ กายที่มองไม่เห็นโดยตาเนื้อ จะเห็นได้ด้วยจิตที่สะอาด ปราศจากกิเลส เศร้าหมอง กายนอกคือขันธ์ ๕ พระท่านสอนไว้ว่าอย่าสนใจกายนอก คือ กายเนื้อ กระดูก เลือด ที่เหม็นสกปรกทุกวัน เหมือนซากศพเคลื่อนที่ พระท่านว่าอย่าสนใจกายเนื้อ สนใจกับมันมากก็ทุกข์ใจมาก สิ่งที่ท่านให้เราสนใจพิจารณาดูมาก ๆ คือ กายในกาย เรียกว่า อทิสมานกาย หรือจิตอันเดียวกันนั้นจริง ๆ   เราก็คือจิตหรืออาทิสมานกายมาอาศัยอยู่ในขันธ์ ๕ หรือกายเนื้อชั่วคราว เพื่อ
๑. รับผลบุญ ผลบาป ผลกรรมจากอดีตชาติ
๒. เพื่อตอบแทนท่านผู้มีพระคุณที่เลี้ยงเรามา ได้แก่ คุณพ่อคุณแม่
๓. เพื่อปฏิบัติ จิตให้สะอาดบริสุทธิ์ พ้นจากวงกลมเวียนว่ายตายเกิด ไปเสวยสุขแดนทิพย์ อมตะ นิพพาน ตราบใดที่จิตยังไม่เข้าถึงแดนทิพย์นิพพาน จิตก็แสวงหาที่เกิดใหม่ เป็นเทพเทวดา นางฟ้า เป็นคน เป็นสัตว์นรก เป็นผีสลับกันไป เนื่องจากผลกรรมดี กรรมชั่ว เราเองเป็นผู้สร้าง
ในมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าตรัสถึงกายในกายไว้ สำหรับนักปฏิบัติขั้นต้น ก็ถือเอาอวัยวะภายในเป็นกายในกาย ส่วนท่านที่มีจิตเป็นทิพย์ มีสมาธิสูง มีความรู้พิเศษ คือ ทิพจักขุญาณ มีญาณความรู้วิเศษจากผลของสมถะ มีประโยชน์มากในวิปัสสนาญาณ เป็นนิพพิทาญาณ คือความเบื่อหน่ายในการเกิด รู้ใจผู้อื่น อารมณ์ดี จิตดีหรือชั่ว จะเห็นกายในกายของตนเองและผู้อื่นได้ดี เป็นเจโตปริยญาณ จะช่วยแก้ไขตัดกิเลสได้ง่าย
กายในกาย(อทิสมานกาย เรียก สั้น ๆ ว่า จิต) แบ่งเป็น ๕ ขั้น
๑. กายอบายภูมิ รูปกายในกายซูบซีด ไม่ผ่องใส เศร้าหมอง อิดโรย ได้แก่ กายของผู้ที่อยู่ในอบายภูมิ เช่นสัตว์นรก เปรต สัตว์เดรัจฉาน
๒. กายมนุษย์ เป็นคนแตกต่าง สวยสดงดงามไม่เท่ากัน ร่างกายเป็นมนุษย์ชัดเจนเต็มตัว
๓. กายทิพย์ กายในกาย ผ่องใส ละเอียดอ่อน เป็นเทพ รุกขเทวดา อากาศเทวดา มีเครื่องประดับมงกุฏแพรวพราว ได้แก่กายของเทวดาชั้นกามาวจรสวรรค์
๔. กายพรหม ลักษณะกายในกายคล้ายเทวดา แต่ผิวกายละเอียดกว่าใสคล้ายแก้ว มีเครื่องประดับสีทองดูเหลืองแพรวพราวไปหมด ได้แก่ กายของพรหม ท่านมีฌานอย่างต่ำปฐมฌานสูงถึงฌาน ๔ สมาบัติ ๘ มีพรหมวิหาร ๔ ประจำใจ
๕. กายแก้วหรือกายธรรมหรือพระธรรมกาย แบบที่หลวงพ่อสด วัดปากน้ำท่านสอนไว้ กายในกายของท่านที่เป็นมนุษย์แต่จิตสะอาด ปราศจากกิเลส ตัณหา อุปาทาน หมดอวิชชา ฉลาดสว่างไสว เป็นกายของพระอรหันต์จะเป็นกายในกายของท่าน เป็นประกายพรึก ใสสะอาด สว่างยิ่งกว่ากายพรหมเป็นแก้วใส
การรู้อารมณ์จิตตนเองมีประโยชน์มาก ในการคอยสกัดกั้นอารมณ์ชั่วร้าย กิเลสและอุปกิเลสของเราไม่ให้มาพัวพันกับจิต ยิ่งฌานสูง จิตก็ยิ่งสะอาดสามารถตัดกิเลสได้ง่าย อย่าคิดว่าสมถะไม่สำคัญ แม้พระพุทธองค์เป็นพระพุทธเจ้า ท่านก็เป็นผู้เลิศด้วยอานาปานุสสติ เพื่อระงับทุกข์ของร่างกาย เพื่อความเป็นอยู่สุข แม้ท่านปรินิพพาน พระพุทธองค์ก็เข้าฌาน ๔ และจิตออกจากกายด้วยฌาน 4 เคลื่อนจิตบริสุทธิ์ของพระองค์ท่านเสวยสุข อมตะ พระนิพพาน ผู้ที่มีสมาธิจิตถึงฌาน ๔ ก็สามารถสัมผัสถึงพระองค์ได้ ปัจจุบันนี้ท่านไม่สูญสลายหายไปไหน แม้ปรินิพพาน นาน ๒๕๔๒ ปีล่วงมาแล้ว พระองค์ยังส่งกระแสจิตที่เป็นอภิญญาช่วยโลกตลอดเวลาด้วยพระเมตตาคุณ หาที่สุดมิได้ กลับมาคุยเรื่อง อริยสัจ ๔ ต่อ ข้อ ๓ ด้วย
๓. นิโรธ คือการดับทุกข์ จะกำจัดทุกข์ออกไปจากจิตก็ต้องดับ หรือ กำจัดเหตุ ที่ทำให้เกิดทุกข์ คือร่างกาย ขันธ์ ๕ นี้เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ ร่างกายขันธ์ ๕ นี้เป็นสาเหตุที่มาของตัณหา กิเลส อุปาทาน อวิชชา อกุศลกรรมต่าง ๆ การดับทุกข์ก็ทำได้ง่าย ๆ ไม่ยาก คือจิตเราไม่สนใจ อาลัยใยดีร่างกายขันธ์ ๕ อีกต่อไป เลิกคบ ไม่เอา แต่จิตก็ต้องดูแลร่างกายตามหน้าที่ให้กายกินนอนอยู่สบาย แต่จิตไม่ยึดมั่น คิดว่าร่างกายขันธ์ เป็นของเราอีก ต่อไปคิดเพียงว่าเราคือ จิต กายในกาย หรือ อาทิสมานกาย มาอาศัยบ้านเช่าที่แสนสกปรก เหม็นเบื่อนี้ชั่วคราว ร่างกายนี้แตกทำลายเมื่อไร เราจิตเราจะดีใจมาก เราจะทำความดีเพื่อไปเสวยสุขแดนที่พระพุทธองค์ทรงชี้ทางให้ไป คืออมตะนิพพาน
๔. มรรค คือทางเดินเข้าสู่ความบริสุทธิ์ สะอาดสว่างของจิตอาทิสมานกาย กายภายใน มรรค ๘ ประการนี้ พระองค์ทรงชี้ทางปฏิบัติ แบบสบาย ๆ สายกลาง ไม่ขี้เกียจจนเกินไป ไม่ขยันจนเกินไป ไม่ง่ายและไม่ยากจนเกินไป คือ
๑) สัมมาวาจา พูดจริง พูดไพเราะ พูดเป็นประโยชน์
๒) สัมมาวาชีโว ทำงานหาเลี้ยงชีวิตที่สุจริต
๓) สัมมากัมมันตะ ทำงานที่ดี คือ งานกำหนดลมหายใจเข้าออก ดูว่าร่างกายไม่ใช่ของเรา มันเป็นของธรรมชาติ เช่น ลมหายใจมันเป็นของมันโดยอัตโนมัติ ห้ามไม่ให้หัวใจหยุดเต้นไม่ได้ต้องตายตามเวลา
(ปฏิบัติในขั้นสมาธิ มี ๓)
๔) สัมมาวายาโม ความเพียรที่จะกำจัดกิเลสตัณหา ให้หมดไปจากจิตให้ได้
๕) สัมมาสติ ระลึกถึงความดี เห็นว่าร่างกายเป็นเพียงของปลอม ไม่ใช่ของเรา เป็นที่อาศัยชั่วคราว ระลึกถึงคุณพระพุทธเจ้า พระธรรมคือทุกอย่างในโลกเป็นไตรลักษณะ ไม่ทนทาน เป็นปัญหายุ่งยากเมื่อสลายไป และอนัตตา ไม่ใช่ของใครทั้งสิ้น ไม่มีใครควบคุมให้อยู่ตลอดไปได้
๖) สัมมาสมาธิ มีจิตตั้งมั่นอยู่ในที่ระลึกถึงอย่างใดอย่างหนึ่ง เช่นกำหนดลมหายใจเข้าออก ก็ทำได้ตลอด จิตไม่วุ่นวาย ผู้ที่มีสติระลึกได้ในความดีของจิต สะอาด ปราศจากความโกรธ ความโลภ ความหลง เรียกว่า ผู้ทรงฌาน คือ ผู้มีสมาธิ ตั้งแต่ ฌาน ๑ ฌาน ๒ ฌาน ๓ จนถึงฌาน ๔ จะมีความฉลาดเฉลียว ทั้งทางโลกทางธรรมิ
(ปฏิบัติในขั้นปัญญา)
๗) สัมมาทิฏฐิ ความเห็นว่าร่างกาย โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นสุขจริง ความเห็นว่า มีการเกิด การตาย มีชีวิตอยู่เพราะกรรม จะหมดกรรมได้ต้องหมดกิเลส ความเห็นว่าตายแล้วไม่สูญดังที่คิด บาป กรรม บุญ มีจริง สิ่งที่สูญจริง คือขันธ์ จิตที่สะอาดแจ่มใสไปสุคติ จิตที่ชั่ว มัวหมอง ผิดศีลธรรม ไปทางนรก สัตว์ เปรต อสุรกาย มีความเห็นตรงตามพระพุทธองค์ทรงสั่งสอน
๘) สัมมาสังกัปปะ ระลึกถึงพระนิพพาน พระรัตนตรัย ระลึกไม่ยึดติดในขันธ์ ๕ ร่างกายเป็นทุกข์ โทษ ระลึกว่าทุกอย่างในโลกนี้ไม่มีอะไรเหลือ ไม่น่ารักใคร่ ยินดี จิตไม่อาลัยทุกสิ่งในโลก
สายของสำนักปฎิบัติธรรม
จากหนังสือสำนักปฏิบัติพระกรรมฐานในประเทศไทย ฉลอง ๖๖ พรรษาของหลวงพ่อจรัญ ฐิตธัมโม เมื่อปี ๒๕๓๗ โดย อ.กรีสุดา เฑียรทองและคณะ ม.ราชภัฎพระนครศรีอยุธยา ทำงานวิจัยนี้ไว้  ได้จัดสำนักใหญ่ๆไว้ตามภาคต่างๆรวม ๓o สำนัก ใน ๘ รูปแบบ ดังนี้
.สายพุทธานุสติ ๖ สำนัก
-วัดหินหมากเป้ง อ.ศรีเชียงใหม่ หนองคาย
-วัดอรัญญบรรพต อ.ศรีเชียงใหม่ หนองคาย
-วัดป่าบ้านตาด อ.เมือง อุดรธานี
-วัดป่าสาลวัน อ.เมือง นครราชสีมา
-วัดป่าบ้านค้อ อ.ขื่อน้ำ อุดรธานี
-วัดอรัญญวิเวก อ.แม่แตง เชียงใหม่
.สายวัดมหาธาตุฯ หรือสายพองหนอ ยุบหนอ มี ๕ สำนัก
-คณะ ๕ วัดมหาธาตุ เขตพระนคร กทม.
-วัดร่ำเปิง(ตโปทาราม) อ.เมือง เชียงใหม่
-วัดคีรีวงศ์ อ.เมือง นครสวรรค์
-วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี สิงห์บุรี
-วัดดอนพุด อ.ดอนพุด สระบุรี
 .สายอานาปานสติ มี ๔ สำนัก
-สวนโมกขพลาราม อ.ไชยา สุราษฎร์ธานี
-ศูนย์ส่งเสริมพระพุทธศาสนาแห่งประเทศไทย วัดบวรนิเวศวิหาร กทม.
-วัดปิปผลิวนาราม อ.บ้านค่าย ระยอง
-สำนักเกาะมหามงคล อ.ไทรโยค กาญจนบุรี
.สายสติปัฏฐาน มี ๔ สำนัก คือ
-วัดไทรงาม อ.เมือง สุพรรณบุรี
-วัดถ้ำเสือวิปัสสนา อ.เมือง กระบี่
-วัดถ้าผาจม อ.แม่สาย เชียงราย
-สำนักทับมิ่งขวัญ อ.เมือง เลย
.สายอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ หรือ สายรูป-นาม มี ๔ สำนัก คือ
-สำนักมูลนิธิอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ นครปฐม
-วัดโพธิ์เอน อ.วิเศษไชยชาญ อ่างทอง
-วัดโกโรโกโส อ.อุทัย พระนครศรีอยุธยา
-สำนักนักวิวัฏฏะ อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์
.สายอภิญญา แบ่งเป็น ๓ กลุ่ม ๕ สำนัก คือ
ก.ธรรมกาย
-วัดปากน้ำ ภาษีเจริญ เขตภาเจริญ กทม.
-วัดพระธรรมกาย อ.คลองหลวง ปทุมธานี
ข.มโนมยิทธิ
-วัดจันทาราม(วัดท่าซุง) อ.เมือง อุทัยธานี
-วัดสะแก อ.อุทัย พระนครศรีอยุธยา
ค.ธรรมเปิดโลก
-วัดเขาสมโภชน์ อ.ลำนารายณ์ ลพบุรี
.สายโพธิสัตต์ มี ๑ สำนัก คือ
-วัตรทรงธรรมกัลยาณี อ.เมือง นครปฐม
.อื่นๆ มี ๓ สำนัก คือ
-สายสัญญา อ.บุญมี นพสันเทียะ
-สายอสุภะ สำนักปฏิบัติธรรมศีล-สมาธิ-ปัญญา อ.ท่ายาง เพชรบุรี อ.สุริยนณ์ เหมกรณ์
-สายแสงทิพย์อริยธรรม+มโนมยิทธิกรรมฐาน(ใหม่ล่าสุด)- อ.คุณแม่เกษร สุทธจิต จันทร์ประภาพ  สถาบันแสงทิพย์อริยธรรมที่กรุงเทพ และมีสาขาในต่างจังหวัดทุกภาคของประเทศไทย รวมทั้งในต่างประเทศ เช่น อเมริกา สาธารณรัฐประชาชนลาว
วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของสำนักต่างๆ
          เพื่อให้ได้หลักสูตรการปฏิบัติกรรมฐานที่จะนำไปสู่ภาคปฏิบัติได้อย่างแท้จริง จึงขอนำวิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของสำนักต่างๆ ที่ได้เผยแผ่และปฏิบัติได้ผลเป็นที่นิยมกันมากในประเทศไทย ซึ่งแต่ละสำนักอาจจะมีแนวทางปฏิบัติที่แตกต่างกันไปบ้างมากล่าวไว้ สัก ๕ สำนัก คือ
วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของพระธรรมธีรราชมหามุณี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร
๑. วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ แห่งสำนักปฏิบัติธรรมบุณย์กาจนารามมูลนิธิ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
๒. วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของ ดร.สิริ กรินชัย
๓. วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
๔. วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวัน (สาขาของวัดอัมพวัน จ.สิงห์บุรี) บ้านเนินทอง ต.บ้านค้อ อ.เมือง จ.ชลบุรี
โดยมีรายละเอียด
๑.วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของพระธรรมธีรราชมหามุณี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏ์ กรุงเทพมหานคร
๑.ประวัติความเป็นมา
วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙) หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “สายวัดมหาธาตุ” หรือ “สายยุบหนอ พองหนอ” เป็นวิธีปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่เป็นระบบ ทั้งมีหลักสูตรที่ชัดเจน มีสำนักวิปัสสนาสาขาอยู่ทั่วประเทศ ได้เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทย ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เมื่อปี พ.ศ. ๒๔๙๖ โดยพระพิมลธรรม (อาจ อาสนะมหาเถระ สกุลเดิม ดวงมาลา) ต่อมาคือสมเด็จพระพุฒาจารย์ อดีตผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พระมหาเถระรูปนี้นับเป็นอัจฉริยบุคคลท่านหนึ่ง ท่านเกิดที่บ้านโต้น ตำบลบ้านโต้น อำเภอพระยืน จังหวัดขอนแก่น (สมัยนั้นเป็นอำเภอเมืองขอนแก่น) เป็นลูกชาวนา บรรพชาเป็นสามเณร อุปสมบทเป็นพระภิกษุอุทิศชีวิตเพื่อพระพุทธศาสนา เพื่อประโยชน์และความสุขแก่มหาชนโดยแท้ เวลาท่านมรณภาพไม่มีสมบัติอะไรเป็นส่วนตัวเหลือไว้เลย ท่านได้พัฒนาด้วยการศึกษาเล่าเรียน จนได้เปรียญธรรม ๘ ประโยค ได้ดำรงตำแหน่งทางการปกครองของคณะสงฆ์ในตำแหน่งที่สำคัญ เช่น อธิบดีสงฆ์วัดมหาธาตุฯ เป็นสมาชิกสังฆสภา (พ.ร.บ. คณะสงฆ์ ๒๔๘๔) เป็นสังฆมนตรีช่วยว่าการองค์การศึกษาแล้วขึ้นดำรงตำแหน่งสังฆมนตรีว่าการองค์การปกครอง ในสมัยนั้น พระพุทธศาสนาเจริญในทุกๆด้าน ด้านการปกครอง มีองค์การปกครอง มีสังฆมนตรีว่าการและสังฆมนตรีช่วยว่าการ เป็นผู้รับผิดชอบทำให้สังฆมณฑลสงบเรียบร้อย เปิดการเรียนการสอนครั้งแรกในประเทศไทยหลายอย่าง อาทิเช่น โรงเรียนบาลีสาธิต โรงเรียนพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์ เปิดให้มีการเรียนการสอนพระอภิธรรม สนับสนุนให้พระภิกษุสามเณรได้ศึกษาคดีโลก หรือสายสามัญ ซึ่งถูกคัดค้านจากพระเถระผู้ใหญ่ในสมัยนั้นเป็นอย่างมาก ด้านการเผยแพร่ได้วางรากฐานการเผยแผ่พระพุทธศาสนาอย่างเป็นระบบขึ้นเป็นครั้งแรก ทั้งในประเทศและต่างประเทศโดยประกาศตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศไทย ซึ่งท่านได้ดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระแห่งประเทศไทยรูปแรกภายในประเทศ ท่านได้เปิดสำนักวิปัสสนาสาขาขึ้นทั่วประเทศ อบรมพระวิปัสสนาจารย์ ให้มีความรู้ความชำนาญแล้วส่งไปประจำสำนักสาขาต่างๆ ด้านต่างประเทศ ท่านได้ดำริที่จะเผยแผ่พระพุทธศาสนาไปยังต่างประเทศเป็นครั้งแรก แต่ถูกคัดค้านทั้งราชการชั้นผู้ใหญ่ และพระเถระผู้ใหญ่ทั้งหลาย ถึงกระนั้น ท่านก็ไม่หวั่นไหว ได้ส่งพระภิกษุสามเณรไปศึกษายังต่างประเทศ (พม่า) และได้ร่วมขบวนการ เอ็ม อาร์ เอ ไปปฏิบัติกิจต่างๆ ทั่วโลก เพื่อนำสันติภาพมาสู่โลกด้วยความเป็นอัจฉริยบุคคล มีจิตใจหนักแน่นมั่นคง  มีวิสัยทัศน์ยาวไกล ตั้งใจทำงานเพื่อความเจริญของประเทศชาติ ของพระพุทธศาสนา และของชาวโลกอย่างแท้จริง ทำให้มีผู้อิจฉา ทั้งคิดตามไม่ทัน ก็พากันคัดค้านทุกเรื่อง ในที่สุดก็หาทางทำลายถึงกับจะหมายเอาชีวิต ทำให้ท่านต้องถูกใส่ร้ายป้ายสี ถูกจับกุมขังข้อหาอุกฉกรรจ์หลายข้อหา ถูกกักบริเวณในสันติบาลเป็นเวลา ๕ ปี ถูกบังคับให้ลาสิกขา ซึ่งท่านก็ไม่ยอมและปฏิญญาว่า “ข้าพเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต ต่อพระพุทธศาสนา ถ้าหากใครลุแก่อำนาจมาแย่งจีวรไป จะถือว่าเป็นมหาโจรแย่งจีวร และจะสมาทานความเป็นพระภิกษุตลอดไป” ท่านถูกถอดยศ ถอดจากทุกๆตำแหน่ง ต่อแต่นั้นมา วงการพระพุทธศาสนา ก็เปลี่ยนแปลงมีการร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. ๒๕o๕ ขึ้นมาใช้ จนเป็นเหตุให้พระพุทธศาสนาไม่เจริญก้าวหน้ากลับมีปัญหามากมาย ในปัจจุบันนี้ท่านก็ชนะทุกคดี โดยศาลทหารกรุงเทพฯ ยกฟ้องทุกข้อหา ทั้งได้คืนตำแหน่งต่างๆดังเดิม
  ในที่สุดได้เป็นสมเด็จพระพุฒาจารย์ เป็นกรรมการมหาเถรสมาคม เป็นเจ้าคณะหนใหญ่ตะวันออก และเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่สมเด็จพระสังฆราชสกลมหาสังฆปรินายก
  พระพิมลธรรม หรือสมเด็จพระพุฒาจารย์ (อาสภมหาเถร) เป็นผู้ตั้งสำนักวิปัสสนากรรมฐานสายวัดมหาธาตุฯ (สายยุบหนอ พองหนอ) ขึ้น เป็นผู้ที่ทำให้เกิดการตื่นตัวในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ซึ่งต่อมาก็มีวิปัสสนากรรมฐานเกิดขึ้นมามากมาย ทั้งที่เป็นสายวัดมหาธาตุและสายอื่นๆ ยิ่งในปัจจุบันนี้ก็ยิ่งมีมาก และเป็นที่น่าสังเกตว่าเริ่มมีพระวิปัสสนาจารย์ชื่อดังปรากฏตัวออกมามากมาย หลังจากที่ได้ตั้งสำนักวิปัสสนาขึ้นที่วัดมหาธาตุฯ แล้ว ทั้งที่ก่อนหน้านี้ไม่เป็นที่รู้จักกันเท่าไหรนัก
          พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙) เป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนารูปแรกแห่งประเทศไทย ท่านมีนามเดิมว่า ค้าน นามสกุล นามโสม ภายหลังสมเด็จพระวันรัต (เขมจารี มหาเถร) วัดมหาธาตุฯ เปลี่ยนชื่อให้ใหม่ว่า โชดก ท่านเกิดที่บ้านหนองหลุบ ตำบลบ้านทุ่ม อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น เมื่อวันที่ ๑๖ เมษายน ๒๔๖๑ ตรงกับวันอังคารขึ้น ๖ ค่ำ เดือน ๖  ปีมะเมีย บิดาชื่อ เหล้า มาดารชื่อ น้อย ท่านเป็นบุตรคนที่ ๙ ในบรรดาบุตรทั้ง ๑o คน ท่านเป็นกำลังสำคัญของสมเด็จพระพุฒาจารย์ ในการเผยแพร่วิปัสสนากรรมฐาน ผ่านการศึกษาพระปริยัติธรรมได้เปรียญธรรม ๙ ประโยค เคยผ่านการฝึกวิปัสสนากรรมฐานทั้งในประเทศและต่างประเทศเป็นเวลานาน มีความรู้ความเชี่ยวชาญทั้งปริยัติ และปฏิบัติ ตลอดถึงแตกฉานในพระไตรปิฏกและอรรกถาทั้งหลาย จนได้รับฉายาว่ ตู้พระไตรปิฏกเคลื่อนที่ ดังนั้น แนวทางที่ท่านปฏิบัติและสั่งสอน จึงตรงตามหลักฐานทางพระพุทธศาสนาเถรวาททุกประการไม่ว่าจะเป็นหลักสติปัฏฐาน ๔ หลักไตรสิกขา หลักสุทธิ ๗ หลักวิปัสสนาญาณ ๙ หรือหลักอริยสัจ ๔ นอกจากนี้ยังถูกต้องตามวิธีปฏิบัติในคัมภีร์ปกรณ์วิเสสวิสุทธิมรรคทุกประการ
  ในระยะแรกๆ มีผู้ไม่เห็นด้วย กล่าวหาว่าเป็นวิธีการที่ผิด เป็นวิธีสะกดจิต เป็นการล้างสมอง ทำให้เป็นโรคจิต และถูกโจมตีว่าเป็นแนวปฏิบัติของประเทศพม่า จนถึงกับนำไปเป็นข้อกล่าวหาในการจับกุมคุมขังพระพิมลธรรม ซึ่งศาลได้พิพากษาว่าวิธีวิปัสสนากรรมฐานของสำนักวัดมหาธาตุฯ นั้น ถูกต้องตามหลักฐานทางพระพุทธศาสนาทุกประการ มีสักขีพยานที่ได้ปฏิบัติและประสบผลดีมากมาย เช่น สมเด็จพระราชชนนีศรีสังวาล ต่อมาคือ สมเด็จพระศรีนครินทรา บรมราชนนี ฯพณฯ สัญญา ธรรมศักดิ์ อดีตนายกรัฐมนตรี ม.ร.ว. คึกฤทธิ์ ปราโมช อดีตนายกรัฐมนตรี นายเศวต เปี่ยมพงศานต์ เป็นต้น
  วิธีปฏิบัติกรรมฐาน
การปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของพระธรรมธีรราชมหามุนี (สำนักวัดมหาธาตุ) นี้เป็นการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานโดยตรง การเจริญสมถะหรือสมาธินั้น ปฏิบัติพอเป็นพื้นฐาน ดังนั้นผู้ปฏิบัติต้องทำความเข้าใจว่า สมถกรรมฐานเป็นการฝึกสติ ทำให้จิตนิ่งอยู่ในอารมณ์ที่กำหนดและระวังไม่ให้จิตแล่นออกไปสู่อารมณ์อื่น วิปัสสนากรรมฐานเป็นการใช้สติสัมปชัญญะ (สติปัญญา) ในการพิจารณาสภาวธรรมหรืออารมณ์ที่กำลังเกิดขึ้นกับจิตใจขณะบัดเดี๋ยวนี้ (อารมณ์ปัจจุบัน) เพื่อให้รู้ให้เข้าใจสภาวะนั้นๆ ตามความเป็นจริง เพื่อจะทำลายตัณหา มานะทิฐิ ทำลายอภิชฌาและโทมนัส ทำลายอวิชชาเป็นที่สุด วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของพระธรรมธีรราชมุนี ท่านแบ่งออกเป็น ๒ ขั้นตอน คือ
ก.   ขึ้นฝึกกับพระอาจารย์
ข.   ขั้นของการปฏิบัติด้วยตนเอง
๑.ฝึกปฏับัติกรรมฐาน เป็นเวลา ๗ วัน ซึ่งพระอาจารย์จะให้กรรมฐาน ดังนี้
(๑)วันแรก  ฝึกปฏิบัติ ๖ ข้อ คือ
, เดินจงกรม
การเดินจงกรม คือ การเดินกลับไปกลับมาอย่างมีสติ เวลาเดินให้ทอดสายตาไปประมาณ ๔-๕ ศอก สติจับอยู่ที่ส้นเท้า เดินช้าๆ เวลายกเท้าขวา ภาวนาว่า “ขวา-ย่าง-หนอ” ขณะที่ใจนึกว่า ขวาต้องยกขึ้นทันที เท้าที่ยกกับใจที่นึกต้องให้พร้อมกัน ขณะว่า ย่าง ต้องเคลื่อนเท้าไปพร้อมกัน ขณะว่า หนอ เท้าต้องถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้าย ก็เหมือนกัน ภาวนา “ซ้าย-ย่าง-หนอ” ปฏิบัติเหมือนกับ ขวา-ย่าง-หนอ ส้นเท้ากับปลายเท้า ห่างกันประมาณ ๒ หรือ ๓ นิ้ว เมื่อเดินสุดเสื่อ สุดถนน หรือสุดสถานที่ให้เอาเท้าเคียงกัน แล้วหยุดยืน ภาวนาว่า “ยืนหนอ-ยืนหนอ-ยืนหนอ” ว่าช้าๆ สัก ๓ ครั้ง หรือ ๔ ครั้ง ขณะนั้นสติอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกไปนอกร่างกายแล้วกลับ จะกลับข้างขวา หรือข้างซ้ายก็ได้ ถ้ากลับข้างขวา เวลากลับ ส้นเท้าติดอยู่กับพื้นยกปลายเท้าขึ้นให้พ้นพื้นแล้วหมุนไปช้าๆ พร้อมกับภาวนาว่า “กลับหนอ” ส่วนเท้าซ้ายให้ยกขึ้นพ้นพื้นแล้วหมุนตามไปพร้อมกับภาวนาว่า “กลับหนอ กลับหนอ”  เช่นเดียวกัน
๒. นั่ง
วิธีนั่ง  ให้นั่งขัดสมาธิ คือเอาขาขวาทับขาซ้าย เอามือขวา ทับมือซ้าย ตั้งตัวให้ตรง แต่จะนั่งเก้าอี้ หรือนั่งพับเพียบ ก็ได้
เมื่อนั่งเรียบร้อยแล้วให้หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่ท้องเวลาหายใจเข้า ท้องพอง ให้ภาวนาว่า พองหนอ ใจที่นึกกับท้องที่พอง ต้องให้ทันกันพอดี อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน เวลาหายใจออก ท้องยุบ ให้ภาวนาว่า ยุบหนอ ใจที่นึกกับท้องที่ยุบ ต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน
ข้อสำคัญ  ให้สติจับอยู่ที่อาการพอง ยุบ เท่านั้น อย่าไปดูลมที่จมูกและอย่าตะเบ็งท้อง ให้นั่งภาวนาอย่างนี้ตลอดไป อย่างต่ำประมาณ ๓o นาที อย่างสูงประมาณ ๑ ชั่วโมง หรือ มากกว่านั้นยิ่งดี
. เวทนา
    ในขณะที่นั่งอยู่นั้น ถ้าเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่งเกิดขึ้น เช่น เจ็บ ปวดเมื่อย คัน เป็นต้น ให้ปล่อยพอง ยุบ ถ้าเอาสติไปกำหนดที่เจ็บ ปวดเมื่อย คัน เป็นต้นนั้น พร้อมกับภาวนาว่า เจ็บหนอ เจ็บหนอ หรือ ปวดหนอ ปวดหนอ สุดแต่เวทนาอย่างใดจะเกิดขึ้น เมื่อเวทนาหายแล้ว ให้เอาสติไปกำหนดที่ท้อง ภาวนาว่าพองหนอ ยุบหนอ ต่อไปอีก จนกว่าจะครบเวลาที่ตนกะไว้    
๔. จิต
ในเวลาที่นั่งอยู่นั้น ถ้าจิตคิดถึงบ้าน  คิดถึงทรัพย์สมบัติ หรือกิจการต่างๆ ให้เอาสติปักลงไปที่หัวใจพร้อมกับภาวนาว่าคิดหนอๆๆ จนกว่าจะหยุดคิด เมื่อหยุดคิดแล้วให้กลับไปกำหนดพองหนอ ยุบหนอ ต่อไปอีกแม้ดีใจ เสียใจ โกรธ เป็นต้น ก็กำหนดเช่นกัน คือถ้าดีใจ ก็กำหนดว่าดีใจ หนอๆ ถ้าเสียใจ ก็กำหนดว่าเสียใจหนอๆๆ ถ้าโกรธ ก็ให้กำหนดว่า โกรธหนอๆๆ จนกว่าความโกรธนั้นจะหายไป เป็นต้น
          . เสียง
          ในขณะที่นั่งอยู่นั้น ถ้ามีเสียงดังหนวกหู ให้ใช้สติกำหนดที่หูพร้อมภาวนาว่าได้ยินหนอๆ จนกว่าจะหายหนวกหู เมื่อหายหนวกหูแล้ว ให้กลับไปกำหนด พอง ยุบ ต่อไป
          .นอน
          เวลานอน ให้ค่อยๆเอนตัวลง พร้อมกับภาวนาตามไปว่า นอนหนอๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติมาไว้ที่ท้องพร้อมภาวนาว่า พองหนอ ยุบหนอ ต่อไป ให้คอยสังเกตให้ดีว่า จะหลับตอนพอง       หรือยุบ               
         การปฏิบัติธรรม  เป็นเรื่องสงบ  ไม่ใช่เรื่องยุ่ง  เย็นใจตลอดเวลา  การเจริญวิปัสสนา  เป็นการปฏิบัติธรรมขั้นสูงสุดของพระพุทธศาสนา  เป็นหัวใจของพระพุทธศาสนา  เป็นการปฏิบัติเพื่อให้พ้นจากกิเลสและกองทุกข์  ถึงสันติสุขอย่างแท้จริง  ผู้ที่ซาบซึ้งและเห็นความอัศจรรย์ของพระพุทธศาสนา  ก็มีเพียงทางเดียวเท่านี้
         ข.  ขั้นลงมือปฏิบัติด้วยตนเอง
         เมื่อได้ฝึกปฏิบัติกรรมฐานกับพระอาจารย์จนมีความชำนาญดีแล้ว  ผู้ปฏิบัติควรหาเวลาปฏิบัติอย่างจริงจังด้วยตนเอง  ซึ่งขั้นตอนของการปฏิบัตินั้น  พระธรรมธีรราชมหามุนี  ได้แนะนำไว้  แบ่งเป็น  ๒  ภาค  ดังนี้
         ภาคสมถกรรมฐาน  มีลำดับการปฏิบัติดังนี้
         (๑)  ชำระสถานที่ให้สะอาดเรียบร้อยก่อน
         (๒)  ตัดปลิโพธกังวลทุกสิ่งทุกอย่างก่อน  เช่น  กังวลในเรื่องญาติ  ในเรื่องที่อยู่  ตระกูล  ลาภ  คณะ  การงาน  เป็นต้น
         (๓)  ถึงเวลาที่กำหนดไว้ให้จุดธูปเทียนบูชาพระ
         (๔)  มอบการถวายตัวต่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า  และต่อท่านอาจารย์ผู้ให้กรรมฐาน
         (๕)  ขอกรรมฐานต่ออาจารย์
         (๖)  แผ่เมตตา  การแผ่เมตตาเป็นการเจริญสมถกรรมฐาน  ซึ่งก่อนจะลงมือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น  จะต้องแผ่เมตตาไปในตนและในสรรพสัตว์ทั้งหลาย  การแผ่เมตตานั้น  เป็นสิ่งที่เป็นผลดีต่อการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานเป็นอย่างยิ่ง  เพราะเป็นเครื่องป้องกันอันตรายต่างๆ  ที่จะเกิดขึ้น  ในเมตตานิสังสสูตร  พระพุทธองค์ทรงแสดงอานิสงส์ของการแผ่เมตตา  ไว้  ๑๑  ประการ  คือ  หลับเป็นสุข  ตื่นเป็นสุข  ไม่ฝันร้าย  เป็นที่รักใคร่ของมนุษย์  เป็นที่รักใคร่ของอมนุษย์ทั้งหลาย  เทวดาย่อมรักษา  ไฟ  ยาพิษ  ศัสตราวุธ  ไม่อาจทำร้ายได้  จิตย่อมตั้งมั่น  สีหน้าย่อมผ่องใส  ไม่หลงตาย  ตายแล้วย่อมเข้าถึงพรหมโลก  นอกจากนี้ยังปรากฏในที่ต่างๆ  มากมาย  เช่น  ขันธปริต  อหิราชสูตรซึ่งแผ่เมตตาไปในงูแล้ว  ไม่ถูกงูกัด  ในกรณียเมตตสูตร  ซึ่งเมื่อสาธยายแล้ว  ทำให้เทวดาทั้งหลายมีความเมตตารักใคร่  พากันต้อนรับเป็นอันดีเป็นต้น
         (๗)  ให้ระลึกถึงคุณพระรัตนตรัย  คือ  การสวดอิติปิโส  ภะคะวา  ฯลฯ
         (๘)  ให้เจริญมรณสติ  คือ  ระลึกถึงความตายว่าชีวิตของเราไม่แน่นอน  เราจะต้องตายแน่  เพราะชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุด  ซึ่งการเจริญมรณสตินี้  เป็นการเจริญสมถกรรมฐาน  เพื่อให้จิตเป็นสมาธิอันจะเป็นบาทฐานของวิปัสสนาต่อไป
        การเจริญมรณสตินั้น  มีอานิสงส์  คือ  เมื่อผู้ปฏิบัติระลึกถึงความตายด้วยอาการ  ๘  อย่างนี้  เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง  จิตย่อมได้ความคุ้นเคยในภาวนา  ด้วยอำนาจที่ใฝ่ใจบ่อยๆ  สติมีความตายเป็นอารมณ์  ย่อมตั้งมั่น  นิวรณ์  ย่อมสงบ  องค์ฌานย่อมปรากฏ  แต่เพราะเหตุที่อารมณ์เป็นเพียงสภาวธรรมเป็นที่ตั้งแห่งความสลด  ญาณจึงไม่ถึงอัปปนา  ถึงเพียงอุปจาร  เท่านั้น
         ผู้ปฏิบัติหมั่นเจริญมรณสตินี้เนืองๆ  ย่อมเป็นผู้ไม่ประมาทติดต่อกัน  ย่อมได้อนภิรติสัญญาในภพทั้งปวง  ละความใคร่ในชีวิต  มีปกติเตียนบาปไม่สั่งสมจนเกินส่วน  ไม่มีความตระหนี่ในบริขาร  แม้อนิจจสัญญา  ก็ย่อมปรากฏ  ผู้ที่ไม่ได้เจริญมรณสติ  ในเวลาใกล้จะตาย  ย่อมถึงความกลัว  สะดุ้งงมงาย  ดุจถูกเนื้อร้าย  ยักษ์  งู  โจร  หรือเพชฌฆาต  ครอบงำโดยฉับพลัน  ฉันใด  ผู้ได้เจริญมรณสติ  ไม่เป็นอย่างนั้น  ไม่กลัว  ไม่หลงตาย  ถ้าหากไม่ได้ชมอมตะในภพปัจจุบัน  เมื่อแตกกายทำลายขันธ์  ย่อมมีสุคติโลกเป็นที่ไปในเบื้องหน้า
         เพราะฉะนั้น  ผู้มีปัญญา  พึงทำความไม่ประมาทในมรณสติ  ซึ่งมีอานุภาพมากอย่างนี้ในกาลทุกเมื่อเทอญฯ
          (๙)  ให้ระลึกถึงพระอริยเจ้าว่า  พระอริยเจ้าทุกๆ  พระองค์ที่ล่วงไปแล้วก็ดี  ที่ยังไม่มาถึงก็ดี  ที่กำลังเดินทางในปัจจุบันนี้ก็ดี  ท่านเดินทางเส้นนี้  ฉะนั้น  เราจะเดินทางเส้นนี้ตามท่าน  เราจะไม่ละความเพียร  เราจะบากบั่นก้าวไปสู่คุณเบื้องหน้าเสมอ
         (๑o)  ให้มีสติระลึกไว้ก่อนว่า  บัดนี้เราจะเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
         ๒)  ภาควิปัสสนากรรมฐาน
         เมื่อทำบุพพกิจตามที่กล่าวมานั้นเสร็จแล้วให้เริ่มลงมือปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานต่อไป  คือ
         ๑)  มีสติกำหนดทุกขสัจจะ  คือ  รูปนามตามประธานอิริยาบถทั้ง  ๔  คือ  ยืน  เดิน  นั่ง  นอน  ดังต่อไปนี้
         (๑)  อิริยาบถยืน  ขณะยืนให้ท่องสูตรเสียก่อนว่า  “ยืนหนอ  ยืนเป็นรูป  รู้เป็นนาม”  ให้ว่าเพียงครั้งเดียวแล้วค่อยๆ  ยืนขึ้น  ขณะกายกำลังเคลื่อนที่ยืนขึ้นนั้น  ให้บริกรรมในใจว่า  “ยืนหนอ  ยืนหนอ”  ดังนี้  ขณะกำลังยืนอยู่ก็บริกรรมว่า  “ยืนหนอ  ยืนหนอ”  เช่นเดียวกัน
          (๒)  อิริยาบถเดิน  ให้ตั้งสติไว้ที่ส้นเท้า  หรือกลางเท้า  หรือปลายเท้าก็ได้  ทอดสายตาไปพอประมาณราวชั่วแอกหนึ่ง  ก้าวแรกท่องสูตรเสียก่อนว่า  “ย่างหนอ  ย่างเป็นรูป  รู้เป็นนาม”  ว่าเพียงครั้งเดียว  ก้าวที่  ๒---  ไป  ไม่ต้องว่าอย่างนี้อีก  นึกบริกรรมอยู่ในใจว่า  “ย่างหนอ  ย่างหนอ”  เท่านั้น  เวลายกเท้าขึ้นพ้นพื้น  สติก็รู้ตามไปจนกระทั่งเท้าลงถึงพื้น  ทำอย่างนี้ไปตลอดจนกว่าจะหยุดเดิน
         (๓)  อิริยาบถนั่ง  ให้ท่องสูตรเสียก่อนว่า  “นั่งหนอ  นั่งเป็นรูป  รู้เป็นนาม”  ว่าเพียงครั้งเดียว  ต่อไปให้บริกรรมในใจว่า  “นั่งหนอ  นั่งหนอ”  ดังนี้ให้ว่าติดต่อกันไปจนกว่าจะยืนหรือนอน
         (๔)  อิริยาบถนอน  เวลานอน  ขณะกำลังเอนตัวลงนอน  ให้ท่องสูตรเสียก่อนว่า  “นอนหนอ  นอนเป็นรูป  รู้เป็นนาม”  ว่าครั้งเดียว  ต่อไปให้บริกรรมว่า  “นอนหนอ  นอนหนอ”  ดังนี้  ให้ว่าติดต่อกันไปจนกว่าจะหลับและสังเกตว่าจะหลับตาไปตอนไหน
       ) มีสติกำหนอไปตามอิริยาบถย่อย หรือตามอายตนะทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ดังต่อไปนี้
              () ทางตา เวลาเห็น ให้ตั้งสติไว้ที่ตา บริกรรมว่า” เห็นหนอ เห็นหนอ”   ดังนี้ ข้อ สำคัญให้สติจับอยู่ที่ตาและให้รู้แค่เห็น หรือสักแต่ว่า เห็น คือเห็นหมด เท่านั้น ไม่ให้รู้ต่อไปว่า เห็นอะไร ก็พอแล้ว
              () ทางหู เวลาได้ยินเสีย ให้ตั้งสติไว้ที่หู บริกรรมว่า “ได้ยินหนอ   ได้ยินหนอ”  นานๆ เข้า ใช้คำว่า  ยิน หนอ ยิน หนอ ก็พอแล้ว
               () ทางจมูก เวลาได้กลิ่น  ให้ตั้งสติไว้ที่ฆานประสาทคือ จมูก บริกรรมว่า  “กลิ่นหนอ กลิ่นหนอ “
              () ทางลิ้น  เวลารับประทานอาหาร  ให้ปฏิบัติ ดังนี้
๑ เวลาเคี้ยว ให้หลับตา ตั้งสติไว้ที่ขากรรไกรล่าง ให้บริกรรมว่า  “เคี้ยวหนอ เคี้ยวหนอ” ดังนั้น ถ้ารสปรากฏชัด ให้หยุดเคี้ยว  กำหนดรสว่า” รสหนอ รสหนอ” ดังนี้  แล้วจึงเคี้ยวต่อไป
๒  เวลากลืน  ให้สติจับอยู่ที่ลูกกระเดือก บริกรรมว่า “ กลืนหนอ กลืนหนอ” ดังนี้
๓   เวลาหมด  ให้ตั้งสติคอยกำหนดตามไป   บริกรรมว่า  “ หมดหนอ   หมดหนอ”  ดังนี้
๔ เวลาจะเคลื่อนมือไปจับอาหารมารับประทาน  ให้ตั้งสติไว้ที่ข้อมือแล้วกำหนดเป็นระยะๆ ไป นับตั้งแต่ อยาก พลิก ยก ไป ลง ถูก จับ ยก มา ถูก อ้า เอียง อม ออก ลง ถูก พลิก หลับ เคี้ยว รส กลืน หมด อิ่ม เป็นต้นไปจนอิ่ม
            (.)  ทางกาย เวลาถูกต้องโผฏฐัพพะ คือ เย็น ร้อน อ่อน แข็ง ให้มีสติลักษณะที่เย็น ร้อน อ่อน แข็ง นั้นอยู่แค่ถูกเท่านั้น บริกรรมว่า ถูกหนอ ๔ หนอ ให้รู้ใน
            (.) ทางใจ เวลานึกอะไรๆ ก็ตาม เช่น นึกถึงบ้าน ให้ตั้งสติกำหนดที่หัวใจให้ทันพร้อมกับบริกรรมว่า “นึกหนอ นึกหนอ” ดังนี้  ทางใจนี้ บางทีอารมณ์ที่เป็นอดีตที่มาปรากฏได้ทั้งทางดีและทางชั่ว คือ
.ทางชั่ว เช่น ถ้าเราเคยฆ่าปลา หรือฆ่าไก่ ปลา หรือ ไก่ นั้น จะมาปรากฏทางมโนทวารได้ ให้ตั้งสติกำหนดให้ทัน  ถ้าอารมณ์ผ่านมาเมื่อไร ให้บริกรรมว่า “รู้หนอ รู้หนอ” เท่านั้น
.  ทางดี   เช่น ถ้าเราเคยทำบุญกุศลไว้คือ เคยสร้างกุฏิ ทำบุญมหากฐิน บวชนาค แสดงธรรม เป็นต้น อารมณ์เหล่านั้น ย่อมมาปรากฏทางมโนทวารได้ เมื่ออารมณ์เช่นนั้นเกิดขึ้น ให้มีสติกำหนดรู้ทุกขณะที่เกิดขึ้นว่า” รู้หนอ รู้หนอ”  แล้วอารมณ์นั้น จะหายไปเองเมื่อเรารู้ทัน
            ผู้ปฏิบัติวิปัสสนานี้ อยากจะทำอะไร ก็ทำได้แทบทุกอย่าง มีที่ห่ามบ้าง เป็นบางอย่าง เช่น เขียนหนังสือ อ่านหนังสือ  หรือออกไปพูด ไปสนทนากับคนข้างนอก จะพูดได้เฉพาะกับ  ท่านอาจารย์ผู้สอนกรรมฐานเท่านั้น คนอื่นนอกจากนั้น ห้ามเป็นอันขาด เพราะจะทำให้กรรมฐานรั่วได้ผลช้าเสียเวลา
           การจะทำอะไร ก็ทำได้ แต่ต้องอยู่ในขอบเขต มิใช่ทำด้วยอำนาจกิเลส จะอาบน้ำ นั่ง นอน กิน ดื่ม ทำ พูด คิด ขยับ จับ ก้ม เงย คู้ เหยียด เหลียวแล นุ่มห่ม เป็นต้น ก็ทำได้ ข้อสำคัญให้มีสติอยู่ที่ตัวทุกขณะ อย่าให้เผลอเท่านั้นเป็นพอดี ถึงเผลอ ก็ให้เผลอน้อยที่สุดเป็นดี
           ๓.   ผลสำเร็จของการเจริญวิปัสสนากรรมฐาน
           ชีวิตที่เกิดมาย่อมคลุกเคล้าอยู่กับทุกข์ตลอดเวลา ผู้ที่มิได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานชีวิตย่อมไม่ประสบความสบความสุขอย่างแท้จริง ส่วนผู้เจริญวิปัสสนากรรมฐาน ย่อมเกิดปัญญา
          อานิสงส์จาการเจริญวิปัสสนา ท่านกล่าวไว้ว่า  เป็น อเนก สหัสสา แปลว่า การเจริญวิปัสสนานั้น มีประโยชน์มีอานิสงส์หลายร้อยหลายพัน จนไม่สามารถจะประมาณได้ ดั้งนั้น  ในที่นี้จะขอยกมาพอเป็นตัวอย่างเพียงเล็กน้อยเท่าที่สามารถจะนำมาได้เท่านั้น   คือ
           ๑ทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าใจธรรม ทั้งด้านปริยัติและด้านปฏิบัติได้ดี และละเอียดลออ ยิ่งขึ้น เช่น เข้าใจคำว่า รูปนาม ไตรลักษณ์ เป็นต้น ดีขึ้นกว่าไม่ได้ปฏิบัติหลายเท่า
            ๒) ทำให้มีกำลังใจเข้มแข็ง มีความขยัน อดทน มีความรู้จักประหยัดยิ่งขึ้นเป็นพิเศษกว่าแต่ก่อนเข้าในหลักที่ว่า วินัย ขยัน อดทน ประหยัด พัฒนา ลดปัญหาได้ทุกอย่าง
           ๓) พัฒนาจิตใจให้เป็นนักเสียสละขึ้นอีกมาก เห็นแก่ส่วนรวม ทำงานไม่เห็นแก่เหน็ดเหนื่อย และไม่เบื่อหน่าย ยิ่งทำยิ่งเพลิน
           ๔ทำให้อ่านหนังสือธรรมะ เพลิดเพลิน ไม่รู้จักเบื่อ
          ๕) ทำให้อธิบายธรรมได้ดีขัน ละเอียด สุขุมมกขึ้นกว่าเดิม เพราะสามารถอธิบายได้ทั้งปริยัติ ปฏิบัติปฏิเวธ ซึ่งกลุ่มลึกไปตามลำดับดุจทะเล มหาสมุทร ฉะนั้น
           ๖)   ทำให้สติดีขึ้น ความจำดีขึ้น จำได้แม่นยำ จำได้แล้ว ไม่ค่อยหลง ไม่ค่อยลืม
           ๗) เป็นมหากุศล เป็นบุญทุกขณะที่ลงมือปฏิบัติ หรือลงมือสอนผู้อื่น แนะนำผู้อื่น
           ๘)  เป็นคนไม่ประมาท เพราะมีสติระลึกอยู่กับรูปนามเป็นส่วนมาก
           ๙) ได้บำเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ตามพระพุทธโอวาท         
          ๑o) ได้เดินทางสายกลาง คือ มรรค 8
 ๑๑) ได้เดินทางสายเอก คือ หนึ่งไม่มีสอง
 ๑๒) ได้บำเพ็ญบารมี ได้รีบสร้างบารมี ได้เตรียมตัวก่อนตายไว้พร้อม
 ๑๓) ทำให้ฉลาดรู้จักความจริง และรู้จักหลักชีวิตประจำวันขึ้น
  ๑๔) ทำให้รู้จักปรมัตถธรรม ไม่หลงติดอยู่ในสมบัติบัญญัติ อันเป็นเพียงโรงละครของชาวโลก
๑๕) ทำให้คนรักใคร่ ปรองดองกัน สนิทสนมกัน เข้ากันได้ดี เป็นเสมือนหนึ่งญาติสนิท
 ๑๖) ทำให้คนมีเมตตากรุณาต่อกัน เอ็นดูกัน สงสารกัน พลอยยินดีอนุโมทนาสาธุการในเมื่อเห็นผู้อื่นได้ดี ไม่มีความริษยากันและกัน
๑๗) ทำให้คนเป็นคน ให้ดีกว่าคน ให้เด่นกว่า ให้เลิศกว่าคน ให้ประเสริฐกว่าคนและทำคนให้เป็นพระ
๑๘) ทำคนไม่ให้เบียดเบียนกัน ไม่ให้เอารัดเอาเปรียบกัน ไม่ให้อิจฉาริษยากัน
๑๙) ทำให้เป็นผู้ว่าง่าย สอนง่าย ไม่มีมานะทิฐิ ไม่ถือตัว ไม่เย่อหยิ่งจองหอง
o) ทำคนให้รู้จักตัวเอง รู้จักปกครองตัวเอง คือ อ่านตัวออก บอกตัวได้ ใช้ตัวเป็นหรืออ่านตัวออก บอกตัวได้ ใช้ตัวฟัง
. วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของอาจารณ์แนบ มหานีรานนท์ แห่งสำนักปฏิบัติธรรมบุณย์กาญจนารามมูลนิธิ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี
. ความเป็นมาและประวัติของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์
อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เกิดเมื่อวันที่ ๑๓ มกราคม ๒๔๔o บิดามารดาของท่านคือพระยาสุทธยานุกูล กับคุณหญิงแปลก ขณะที่ท่านเกิดนั้น บิดาของท่านดำรงตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เมื่อท่านอายุได้ ๓๗ ปี มีประสบการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับท่าน ซึ่งจัดเป็นการเปลี่ยนทั้งชีวิต ของท่านเลยทีเดียว เหตุการณ์นั้นก็คือเมื่อท่านมองดูวัตถุสิ่งหนึ่งท่านก็ได้เห็นภาวะอันแท้จริงดังกล่าวนี้ ท่านไม่เคยเข้ารับการฝึกธรรมะ หรือฝึกปฎิบัติวิปัสนากรรมฐานมาก่อนเลย ท่านจึงเริ่มสนใจการฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน และ ได้พบกับพระพม่ารูปหนึ่งคือมหาวิลาส ญาณวโร (เดิมจำพรรษาและสอนวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุ ปัจจุบันเป็ฯพระราชาคณะที่พระพรหมมุนี วัดยานนาวา กรุงเทพฯ แต่ขณะนี้ท่านได้มรณภาพแล้ว)
          อาจารณ์แนบเริ่มปฏิบัติกรรมฐานตั้งแต่ พ.. ๒๔๗๕ หลังจากฝึกได้ ๔ เดือน ท่านก็ประสพความสำเร็จเป็นอันมาก ท่านได้ศึกษาพระอภิธรรมจนแตกฉาน จนได้ชื่อว่าเป็น ผู้นำของขบวนการอภิธรรมเนื่องจากท่านเป็นบุคคลแรกที่ได้นำเอาการสอนอภิธรรมเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ท่านเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานตามศูนย์ปฏิบัติสมาธิต่างๆ เป็นเวลากว่า ๔o ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำนักปฏิบัติธรรมบุณย์กาจญจนารามมูลนิธิเมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๒๖ เมื่ออายุ ๘๖ ปี
           แนวทางปฎิบัติกรรมฐานของอาจารณ์แนบ มหานีรานนท์  
หลักสำคัญในการปฏิบัติกรรมฐานในสำนักปฎิบัติธรรม บุณย์กาญจนารามมูลนิธินี้ คือ มหาสติปัฏฐานสูตร อันเป็นพระสูตรที่ยิ่งใหญ่ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงธรรมเบื้องสูง อันนำไปสู่ความพ้นทุกข์ มหาสติปัฏฐานสูตรนั้น แบ่งออกเป็น ๔ หมวดได้แก่
          หมวดที่ ๑ กายานุปัสสนสติปัฏฐาน ได้แก่ พิจารณาเห็นกายในกายเนืองๆ โดยมีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกให้หมดสิ้นไป ซึ้งมีข้อพิจารณา ๖ ข้อดังนี้
๑. อานาปานะ ได้แก่ ข้อกำหนดรู้ลมหายใจเข้า ยาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น รวม ๔ อย่าง โดยตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเพียงสองแห่งเท่านั้น
๒. อิริยาบถ ๔ ได้แก่ ข้อกำหนดอิริยาบถใหญ่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน โดยตั้งกายอยู่ในอาการอย่างไรๆ ก็ให้รู้ในอาการนั้นๆ หรือท่าทางนั้นๆ
๓. สัมปชัญญา ๗ ได้แก่ ข้อกำหนดรู้อิริยาบถบ่อยๆ คือ ในการก้าวไป ในการถอยกลับ
๔. ปฏิกูลได้แก่ ข้อกำหนดรู้อาการ ๓๒ มี
-                        ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง (เรียกว่าหมวดตจปัญจกะ)
-                        เนื้อ เอ็น กระดูก เยื่อในกระดูก ม้าม (เรียกว่าหมวด วักกปัญจกะ)
-                        หัวใจ ตับ พังผืด ไต ปอด (เรียกว่าหมวด ปัปผาสปัญจกะ
-                        ไส้ใหญ่ ไส้น้อย อาหารใหม่ อาหารเก่า มันสมอง (เรียกว่าหมวด มัตถลุงคปัญจกะ)
-                        ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น (เรียกว่า หมวดเมทฉักกะ)
-                        น้ำตา เปลวมัน น้ำลาย น้ำมูก ไขข้อ มูตร (เรียกว่า หมวดมุตตฉักกะ)
โดนกำหนดจิตพิจารณาให้รู้เห็นโดยความเป็นของไม่สะอาด น่าเกลียด โสโครก
๕. ธาตุได้แก่ กำหนดรู้ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ
๖. ซากศพ ได้แก่กำหนดรู้ซากศพในป่าช้า มี ๙ ข้อคือ
หมวดที่ ๒ เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจรณาเวทนาในเวทนาเนื่องๆ โดยมี ความเพียร มีสติสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชา และ โทมนัส ในโลกให้หมดสิ้นไป ซึ่งมีข้อพิจารณา ๙ ข้อดังนี้
๑. สุขเวทนา ก็รู้ว่าเสวยสุขเวทนา
๒. ทุกขเวทนา ก็รู้ว่าเสวยทุกขเวทนา
๓. อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่าเสวยเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข
๔. สามิสสุขเวทนา ก็รู้ว่าเสวยสุขเวทนาที่มีอามิส
๕. สามิสทุกขเวทนา ก็รู้ว่าเสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส
๖. สามิสอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่าเสวยเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ที่ไม่มีอามิส
๗. นิรามิสสุขเวทนา ก็รู้ว่าเสวยสุขเวทนาที่ไม่มีอามิส
๘. นิรามิสทุกขเวทนา ก็รู้ว่าเสวยทุกขเวทนาที่ไม่มีอามิส
๙. นิรามิสอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่าเสวยเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุข ที่ไม่มีอามิส
หมวดที่ ๓ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจรณาจิตในจิตเนืองๆ โดยมีความเพียร มีสติสัมปชัญญะ มีสติกำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกให้หมดสิ้นไป ซึ่งมีข้อพิจรณา ๑๖ ข้อคือ
(๑)สราคจิต เมื่อจิตมีราคะก็รู้ว่าจิตมีราคะ
(๒)วีตราคจิต เมื่อจิตไม่มีราคะก็รู้ว่าจิตไม่มีราคะ
(๓)สโทสจิต เมื่อจิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ
(๔)วีตโทสจิต เมื่อจิตไม่มีโทสะ ก็รู้ว่าจิตไม่มีโทสะ       
(๕) สโมหจิต เมื่อจิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ
(๖) วีตโมหจิต เมื่อจิตไม่มีโมหะ ก็รู้ว่าจิตไม่มีโมหะ      
(๗) สังขิตตจิต เมื่อจิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตหดหู่
(๘) วิกขิตตจิต เมื่อจิตฟุ้งซ่านก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน
(๙) มหัคคตจิต เมื่อจิตเป็นรูปาวจรหรืออรูปาวจร ก็รู้ว่าจิตเป็นรูปาวจรหรืออรูปาวจร
(๑
o) อมหัคคตจิต เมื่อจิตไม่เป็นรูปาจร หรืออรูปาวจร ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นรูปาจร หรืออรูปาวจร
(๑๑) สอุตตรจิต เมื่อจิตเป็นกามาวจร ก็รู้ว่าจิตเป็นกามาวจร
(๑๒) อนุตตรจิต เมื่อจิตไม่เป็นกามาวจร ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นกามาวจร
(๑๓) สมาธิตจิต เมื่อจิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ
(๑๔) อสมาธิตจิต เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ
(๑๕) วิมุตตจิต เมื่อจิตพ้นจากกิเลส ก็รู้ว่าจิตพ้นจากกิเลส
(๑๖) อวิมุตตจิต เมื่อจิตไม่พ้นจากกิเลส ก็รู้ว่าจิตไม่พ้นจากกิเลส
          หมวดที่ ๔ ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาธรรมในธรรมเนืองๆ โดยมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัส ในโลกให้หมดสิ้นไป ซึ่งมีข้อพิจารณา ๕ ข้อ คือ
(๑)นิวรณ์ ๕ คือ ข้อกำหนดพิจารณานิวรณ์ มี ๕ ประการ คือ กามฉันท์ พยาบาท ถีนมิทธะ อุทธัจจกุกกุจจะ วิจิกิจฉา
(๒)ขันธ์ ๕ คือ ข้อกำหนดพิจารณาขันธ์ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
(๓)อายตนะ ๑๒ คือ ข้อกำหนดพิจารณาอายตนะ ๑๒ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖
(๔)โพชฌงค์ ๗ คือ ข้อกำหนดพิจารณาในโพชฌงค์ ๗ ประการ คือ สติสัมโพชฌงค์ ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ วิริยสัมโพชฌงค์ ปิติสัมโพชฌงค์ ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ สมาธิสัมโพชฌงค์ อุเบกขาสัมโพชฌงค์
(๕)อริยสัจ ๔ คือ ข้อกำหนดพิจารณาอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
มหาสติปัฏฐานนี้ เป็นธรรมที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา แต่โดยทั่วไปในปัจจุบันนี้ คนเรามักหมกมุ่นอยู่แต่ในเรื่องของวัตถุ ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนกิเลสและเป็นเหตุให้ปัญญาที่จะเห็นธรรมอ่อนลง ด้วยเหตุนี้เอง อาจารย์จึงเน้นเฉพาะหมวดที่ ๑ เท่านั้น คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านแนะนำให้ผู้ปฏิบัติใหม่ใช้การกำหนดรูป (กาย) เฉพาะอิริยาบถ ๔ และอิริยาบถย่อยซึ่งเป็นการง่ายในการปฏิบัติสำหรับผู้เริ่มฝึกปฏิบัติ เพราะรูปเป็นของหยาบเห็นได้ง่าย กายนั้นเรียกว่ารูป ส่วนใจนั้นเรียกว่านาม นามคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ส่วนรูปคือสิ่งที่ถูกรู้ ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความรู้สึกตัวอยู่ในรูปหรือนามที่เป็นอารมณ์ปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ดังที่อาจารย์แนบได้อธิบายไว้ในหนังสือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เล่มหนึ่ง ของท่านว่า
“ในเวลาที่นั่งอยู่ ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดูรูปนั่ง เวลานอน ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดูรูปนอน เวลายืน ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดูรูปยืน เวลาเดิน ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดูรูปเดิน ผู้ปฏิบัติ จะต้องมีความรู้สึกตัว อย่างนี้อยู่เสมอ”
“อนึ่ง อาการท่าทางของรูปแสดงการนั่งอย่างไร แสดงการยืนอย่างไร แสดงการนอนอย่างไร แสดงการเดินอย่างไร ก็ให้รู้อาการหรือท่าทางของรูปนั้นๆ ไม่ใช่รู้ที่ตรงนั้นตรงนี้ เช่น รูปนั่ง ก็ไม่ใช่รู้ตรงก้น หรือที่เขาว่าเป็นรูปนั่ง หรือไม่ใช่รู้ที่ท่อนบน หรือท่อนล่างของร่างกายว่าเป็นรูปนั่งและไม่ใช่รู้ที่รูปถูกกับพื้น เพราะรูปที่ถูกกับพื้นกับรูปนั่งเป็นคนละรูปและคนละกาล ฉะนั้น การกำหนดอิริยาบถนั่ง นอน ยืน เดิน ก็คือกำหนดรู้ในอาการหรือท่าทางของรูปนั้นว่าเป็นรูปอะไร เพราะรูปแต่ละรูปมีลักษณะอาการท่าทางไม่เหมือนกัน เป็นคนละรูปๆไป การกำหนดอย่างนี้เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน”
ความจริง อาจารย์แนบ เคยปฏิบัติแบบ ยุบหนอ-พองหนอ ตามวิธีทางของวัดมหาธาตุฯหรือของพระธรรมธีรราชมหามุนี มาก่อน แต่เห็นว่า วิธีแบบพองยุบ ก็เป็นการอาศัยลมหายใจเข้าออกจึงเท่ากับเป็นการปฏิบัติอานาปานสติเหมือนกัน แต่แทนที่จะดูลมที่ริมฝีปาก หรือที่จะงอยจมูกก็มากำหนดลมที่ท้องพองท้องยุบ เท่านั้นเอง เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุดในทรรศนะของอาจารย์แนบที่จะบรรลุสัจธรรมได้ก็คือ วิธีเจริญสติปัฏฐาน ซึ่งก็เพื่อให้วิปัสสนาปัญญาเกิดและที่สุดของวิปัสสนาก็คือ การรู้แจ้งอริยสัจ ๔ จึงจะได้นิพพานอันเป็นผลของการปฏิบัติที่จะให้ถึงความพ้นทุกข์ทั้งปวง
๓. วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของ ดร.สิริ กรินชัย
๑. ความเป็นมาและประวัติของ ดร.สิริ กรินชัย
ดร.สิริ กรินชัย มีนามสกุลเดิมว่า “พจนสิทธิ์” เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม ๒๔๖o ที่จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นธิดาคนโตของหลวงสิทธิโยค (สังวาล พจนสิทธิ์) กับนางสาคร มีพี่น้องร่วมบิดา มารดา ๖ คน เมื่ออายุ ๑๙ ปี บิดามารดาได้จัดให้สมรสกับนายไชย กรินชัย บุตรชายคนสุดท้ายของหลวงพลภักดิ์พานิช กับนางหริ่ง กรินชัย ท่านทั้งสอง มีบุตรธิดาด้วยกันรวม ๔ คน คือ นางกาบแก้ว ไชยะบุรินทร์ นายวีระเกียรติ กรินชัย นายพันธุ์เทพ กรินชัย และนางสาวพรทิพย์ กรินชัย
ดร.สิริ กรินชัย เป็นผู้สนใจใฝ่ธรรมะมาตั้งแต่วัยเยาว์ ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมะกับครูอาจารย์ ๕ ท่าน คือ คุณยายชีพัฒน์ ดั่นประดิษฐ์ แม่ชีแดง พจนสิทธิ์ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ ป.ธ.๙ อดีตรองเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เจ้าคณะภาค ๙ หัวหน้าพระธรรมทูตสายที่ ๖ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ) และพระครูภาวนาวิสิฏฐ์ เจ้าอาวาสวัดแสงธรรมเวฬุวนาราม จังหวัดนครราชสีมา
ในการศึกษาและปฏิบัติธรรมช่วงแรกๆนั้น ดร.สิริ กรินชัย มีความคิดเพียงปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ต่อมาท่านเกิดกุศลจิต จึงได้อบรมสั่งสอนแก่ผู้อื่น โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ อาชีพ และศาสนา โดยการรับผู้ต้องฝึกปฏิบัติธรรมซึ่งท่านเรียกว่า “ลูกโยคี” เข้าปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่บ้านกรินชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านตึก ๒ ชั้น ท่านเอาใจใส่ดูแล อบรม สั่งสอนผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านี้ด้วยตนเองตลอด ๗ วัน ๗ คืน โดยไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายใดๆทั้งสิ้น
ต่อมา ท่านได้รับเชิญไปสอนวิปัสสนากรรมฐานตามหมู่บ้านลูกโยคีที่ได้เคยปฏิบัติกับท่านแล้ว ตามมหาวิทยาลัย วิทยาลัย ตามวัดและสถานที่อื่นๆอีกมาก ทั้งหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน ทั้งในประเทศและในสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าฝึกปฏิบัติครั้งละประมาณ ๑oo-๕oo คน แล้วแต่ว่าสถานที่นั้นๆจะรับได้มากน้อยเพียงใด ผู้ฝึกอบรมมีตั้งแต่อายุ ๖ ปี จนถึง ๙๑ ปี มีความรู้ตั้งแต่อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จนกระทั่งถึงระดับปริญญาเอกมีฐานะตั้งแต่ยากจนไปจนถึงมหาเศรษฐีและเชื้อพระวงศ์

๒. แนวการสอนกรรมฐานของสำนัก ดร.สิริ กรินชัย
แนวทางการสอนการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ ดร.สิริ กรินชัย ใช้คือ การเจริญสติปัฏฐาน ๔ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เพื่อสร้างสติและสมาธิขึ้นเพื่อจะได้ปัญญาที่สามารถหยังรู้สิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ ซึ่งก็มีรายละเอียดในทำนองเดียวกับแนวการปฏิบัติของอาจารย์แนบมหานีรานนท์ จึงจะไม่ขอกล่าวซ้ำ เพียงแต่จะกล่าวถึงวิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ ดร.สิริ กรินชัย ให้ลูกโยคีปฏิบัติซึ่งมีวิธีการสำคัญ ดังนี้
(๑)การไหว้พระสวดมนต์
(๒)การรักษาศีล
(๓)การเดินจงกรม
(๔)การนั่งสมาธิ
(๕)การเจริญสติให้ทันปัจจุบันอารมณ์ หรืออิริยาบถ
(๖)การส่งอารมณ์และการสอบอารมณ์
อนึ่ง การเจริญสติให้ทันปัจจุบันอารมณ์ หรืออิริยาบถ หรือการทำสติ การกำหนดปัจจุบัน การกำหนดอิริยาบถทุกขณะ (ข้อ ๕) นั้น ดร.สิริ กรินชัย ถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติวิปัสสนา ส่วนการเดินจงกรมนั้น สำคัญเป็นอันดับ ๒ และการนั่งสมาธินั้นสำคัญเป็นอันดับสุดท้ายในอันดับที่จะทำให้เกิดปัญญา ซึ่งเจริญสติกำหนดรู้ให้ต่อเนื่องกันแล้ว จิตจะสงบลงได้ ความฟุ้งซ่านจะน้อยลง จะเกิดความคิดถูก พูดถูก ทำถูก ซึ่งเรียกว่า ปัญญา หรือวิปัสสนาญาณ
ด้วยเหตุนี้ หากจะเปรียบเทียบแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานของ ดร.สิริ กรินชัย กับแนวทางของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ซึ่งต่างก็เน้นการเจริญสติปัฏฐานทั้ง ๔ ทั้งสองสำนัก ก็จะพบว่า แนวทางการปฏิบัติของ ดร.สิริ กรินชัย นั้น เน้นสติปัฏฐาน ๔ ทั้ง ๔ หมวด ในขณะแนวทางการปฏิบัติกรรมฐานของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ นั้น เน้นเฉพาะหมวดที่ ๑ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เน้นพิจารณาอิริยาบถ ๔ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน และ อิริยาบถพักผ่อนเท่านั้น

๔. วิธีปฏิบัติกรรมฐานตามแนวทางของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
          ๑. ความเป็นมาและประวัติหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
          หลวงพ่อเทียนเกิดที่บ้านบุฮม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เกิดเมื่อวันที่ ๕ กันยายน ๒๔๕๔ มีชื่อจริงว่า พันธ์ อินทผิว แต่เหตุที่รู้จักกันในนามว่า “เทียน” นั้นเนื่องจากเป็นความนิยมของท้องถิ่น ที่จะเรียกชื่อพ่อแม่ตามชื่อลูกคนหัวปี ทั้งนี้บุตรชายคนแรกของท่านชื่อเทียน ขณะเดียวกันภรรยาของท่านชื่อ หอม ก็ได้รับการเรียกว่าแม่เทียน เช่นกัน
          เมื่ออายุได้ ๑o ขวบ ก็ได้บวชเป็นสามเณรติดตามคอยรับใช้ภิกษุที่เป็นญาติ คือ “หลวงน้า” จึงทำให้หลวงพ่อเทียนมีโอกาสเรียนหนังสือโดยเรียนอักษรลาวและอักษรธรรมในใบลาน ได้เรียนรู้วัตรปฏิบัติในศาสนา นอกจากนี้ก็ได้ฝึกการปฏิบัติธรรมจากหลวงน้าในการเดินจงกรมและการฝึกสมาธิ โดยการนั่งสมาธิเพชรหลับตาภาวนาหายใจเข้าภาวนาว่า “พุท” หายใจออกว่า “โธ” ได้ฝึกเพ่งกสิณ โดยใช้เท้าขีดเป็นวงกลมห่างสายตาประมาณ ๑ เมตร แล้วเพ่งห็เห็นแสงจนสายตาสู้แสงพระอาทิตย์ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เป็นฤๅษีตาไฟได้
          ระยะเวลาที่บวชเป็นสามเณร ๑ ปี ๖ เดือนนี้ ทำให้หลวงพ่อเทียนได้เรียนรู้ทางคาถาอาคม ทำให้เมื่อลาสิกขาออกมาแล้วได้มาเป็นหมอกลางบ้านช่วยรักษาคนเจ็บไข้ด้วยเวทมนต์คาถาดังกล่าว ครั้นอายุได้ ๒๑ ปี หลวงพ่อเทียนก็มีโอกาสได้บวชเป็นพระภิกษุ เป็นเวลา ๖ เดือน โดยเป็นการบวชตามประเพณีก่อนการแต่งงาน ซึ่งต่อมา ท่านก็ได้แต่งงาน มีภรรยาชื่อ หอม มีบุตรชาย ๓ คน ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน และทำการค้าขายทางเรือติดต่อระหว่างประเทศลาว และจังหวัดหนองคาย มีฐานะดี บางครั้งก็เป็นหมอกลางบ้านช่วยรักษาโรคให้ชาวบ้านด้วย
          จากที่หลวงพ่อเทียน เคยบวชเรียนและได้ปฏิบัติธรรมมาบ้างในวัยเยาว์ ทำให้ท่านสนใจที่จะนำกรรมฐานมาใช้ในชีวิตการครองเรือน ต่อมาเกิดความทุกข์ใจ จึงมุ่งที่จะนำธรรมปฏิบัติมาช่วยให้หมดทุกข์ร้อนในใจ แต่ก็ยังไม่มีวิธีการที่เหมาะสมที่จะสามารถช่วยได้ สิ่งหนึ่งที่ทำให้ท่านทุกข์ใจมาจากความขัดแย้งกับภรรยาในเรื่องค่าใช้จ่ายค่าจ้างมหรสพงานทำบุญกฐิน ซึ่งทำให้ท่านเก็บความรู้สึกในใจไว้ จึงเป็นเหตุให้ท่านเป็นทุกข์ ต่อมาเมื่อได้ปรับความเข้าใจกับภรรยาแล้ว ท่านจึงรู้ว่า ความรู้สึกดังกล่าวเป็นทิฐิมานะของท่าน ความโกรธดังกล่าว จึงเป็นเหตุให้ท่านรู้จักทุกข์และเข้าใจความทุกข์ ทำให้ท่านเกิดความตั้งใจที่จะหาวิธีออกจากสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย ไม่นานหลังจากนั้น ท่านก็เตรียมตัวที่จะออกไปปฏิบัติธรรมโดยการทำการค้าให้น้อยลง สะสางภาระหน้าที่ จนเลยเวลา ๓ ปี ท่านจึงออกจากบ้าน ออกแสวงหาสัจธรรม ขณะนั้น ท่านได้อายุ ๔๕ ปี
          ก่อนจะเลิกทำการค้าเพื่อแสวงหาสัจธรรมนั้น หลวงพ่อเทียนได้เคยศึกษาธรรมะกับพระมหาศรีจันทร์ในจังหวัดหนองคายโดยได้มีการซักถามถึงปัญหาวิปัสสนาเป็นอย่างมาก จนได้ข้อสรุปว่า เรื่องวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากจะถามไปก็ไม่รู้จักจบสิ้น ผู้ใดอยากรู้ต้องลงมือปฏิบัติเอง ดังนั้น เมื่อเลิกทำการค้าแล้ว ท่านจึงไปศึกษาปฏิบัติธรรมที่วัดสังสีมุกนาราม ศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยมีพระอาจารย์ชาวลาวชื่ออาจารย์ปาน เป็นผู้สอบอารมณ์ ซึ่งพระอาจารย์ปานผู้นี้เคยไปเรียนวิธีกำหนดสติยุบ-พอง และวิธีติง-นิ่ง มาจากประเทศพม่า ซึ่งวิธี ติง-นิ่ง นั้นเป็นการฝึกสติกำหนดรู้อาการประกอบคำบริกรรมว่า “ติง-นิ่ง” คือ เมื่อเคลื่อนมือจะภาวนาว่า “ติง” เมื่อหยุดเคลื่อนไหว จะภาวนาว่า “นิ่ง” ก่อนการคิดแนวของตนเอง หลวงพ่อเทียนได้ไปปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงพ่อวันทอง ในจังหวัดหนองคาย โดยพิจารณากำหนดสติที่หายใจเข้า-ออก แล้วภาวนาว่า “ตายๆๆ”
          เมื่อหลวงพ่อเทียนออกแสวงหาสัจธรรมอย่างจริงจัง ตอนแรกยังเป็นฆราวาสอยู่ ยังไม่ได้บวช ก็ได้ไปปฏิบัติธรรมอยู่หลายแห่งดังกล่าวข้างต้น แต่ที่รู้ธรรม ก็เกิดจากการคิดเทคนิควิธีการของตนเอง ดังคำที่ท่านกล่าวไว้ว่า
          “หลวงพ่อรู้จักธรรมะ ให้ว่าพริบตาเดียวก็ได้ หรือจะว่าอึดใจเดียวก็ได้ ในขณะนั้นหลวงพ่อรู้เรื่องรูปเรื่องนาม รู้รูปธรรม นามธรรม รู้รูปโรค นามโรค รูปโรค นามโรค มี ๒ อย่าง โรคทางเบื้องหน้าอันหนึ่ง โรคทางจิตอันหนึ่ง...เมื่อหลวงพ่อรู้จักรูปโรค นามโรค โรคทางจิตใจดีขึ้นแล้ว”
  ๒.วิธีการปฏิบัติวิปัสสนากรรมบานเบื้องต้น
 ๒.๑ การเดินจงกรม
ก่อนเดินให้ยกมือไขว่หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย วางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับที่กลางกระหม่อม กำหนดว่ายืนหนอข้าๆ ๕ครั้ง เริ่มจากศีรษะจากปลายตัวและจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงมา๕ครั้ง แต่ละครั้งแบ่งเป็น ๒ ช่วง คือ
ช่วงแรก คำว่า ยืน”  จิตวาดมโนภาพร่างกายจากศีรษะมาลงหยุดที่สะดือ คำว่า หนอจากสะดือไปปลายเท้า กำหนดขึ้นคำว่า ยืนจากปลายเท้าขึ้นมาที่สะดือ คำว่า หนอจากสะดื้อไปกลางกระหม่อม กำหนดกลับไปกลับมาจนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกายอย่าให้ออกไปข้างนอกกาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้า ตามองที่ปลายเท้าที่กำหนด สติคุมจิตอยู่ที่เท้า การเดินกำหนดว่า ขวา-ย่าง-หนอ กำหนดในใจ คำว่า ขวา ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจจึงต้องนึกพร้อมกัน ย่าง ต้องก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าที่สุด เท้ายังไม่เหยียบพื้น คำว่า หนอ เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า ซ้าย-ย่าง-หนอ คงปฏิบัติเหมือนกันกับ ขวา-ยาง-หนอระยะเท้าในการเดินห่างประมาณ ๑ คืบเป็นอย่างมาก เพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่แล้ว ให้นำมาเคียงกัน เงยหน้า หลับตา กำหนดยืนหนอ ช้าๆ ๕ ครั้ง เหมือนกับได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า
ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า กลับหนอ๔ครั้ง คำว่า กลับหนอ ครั้งหนึ่งยกปลายเท้าขวา ใช้สันเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา ๙0 องศา ครั้งที่ ๒ ลากเท้าซ้ายมาติดกับเท้าขวา ครั้งที่ ๓ ทำเหมือนครั้งที่หนึ่ง ครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒ ขณะนี้จะอยู่ในท่ากลับหลังแล้ว ต่อไป กำหนด ยืน หนอช้าๆอีก ๕ ครั้ง ลืมตา ก้มหน้า แล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้ จนหมดเวลาที่ต้องการ
.๒  การนั่ง การนั่ง กระทำต่อจากการเดินจงกรม อย่าให้ขาดตอนลง เมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนดยืนหนอ อีก ๕ ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า “ปล่อยมือหนอๆๆๆๆ” ช้าๆ จนกว่าจะลงสุดเวลานั่งค่อยๆ ย่อตัวลง พร้อมกับกำหนดตามอาการที่ทำไปจริงๆ เช่น ย่อตัวหนอๆๆ คุกเข่าหนอๆๆ เป็นต้น
วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิ คือขาขวา ทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่สะดือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้า ท้องพอง กำหนดว่า พองหนอ ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่ท้องยุบเท่านั้น อย่าดูลมที่จมูกหรืออย่าตะเบ็งท้อง ให้มีความรู้สึกตามความเป็นจริงว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด
เมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นแก่ผู้ปฎิบัติอย่างแน่นอน ผู้ปฎิบัติจะต้องมีความอดทน เพื่อเป็นการสร้างสันติบารมีไปด้วย  ถ้าผู้ปฎิบัติขาดความอดทนเสียแล้วการวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว
ในขณะที่นั่ง หรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาความเจ็บปวด เมื่อย คัน เกิดขึ้น ให้หยุดเดิน หรือหยุดกำหนดยุบพอง ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า ปวดหนอๆๆ เจ็บหนอๆๆ เมื่อยหนอๆๆ คันหนอๆๆ เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อยๆจนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ก็ให้กำหนดนั่ง หรือเดินต่อไป
จิต เวลานั่งอยู่ หรือเดินอยู่ ถ้าจิต คิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สิน  หรือคิดฟุ้งซ่าน ต่างๆนานา ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่ พร้อมกับกำหนดว่า คิดหนอๆๆไปเรื่อยๆจนกว่าจิตจะหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ ก็กำหนดเช่นกันว่า ดีใจหนอๆๆ เสียใจหนอๆๆ โกรธหนอๆๆ เป็นต้น
เวลานอน เวลานอนค่อยๆ เอนตัวนอน พร้อมกับกำหนดตามไปว่า นอนหนอๆๆ จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติมาจับที่ท้องแล้วกำหนดว่า พองหนอ ยุบหนอ ต่อไปเรื่อยๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่าจะหลับไปตอนพอง หรือตอนยุบ
อิริยาบถต่างๆ การเดินไปในที่ต่างๆ การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหารและการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้มีสติกำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริงคือ มีสติสัมปชัญญะ เป็นปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา
.๓ สรุปการกำหนดต่างๆพอสังเขปดังนี้
..๑ ตาเห็นรูป จะหลับตา หรือลืมตาก็แล้วแต่ ให้ตั้งสติไว้ที่ตา กำหนดว่าเห็นหนอๆๆไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้ ถ้าหลับตาอยู่ ก๊กำหนดไปจนกว่าภาพนั้นจะหายไป
..๒ หูได้ยินเสียง ให้ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า เสียงหนอๆๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเสียงก็สักแต่ว่าเสียง ละความพอใจและความพอใจออกเสียได้
..๓ จมูกได้กลิ่น ให้ตั้งสติไว้ที่จมูก กำหนดว่า กลิ่นหนอๆๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกว่า กลิ่นสักแต่ว่ากลิ่น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
..๔ ลิ้นได้รส ให้ตั้งสติไว้ที่ลิ้น กำหนดว่า รสหนอๆๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ารสสักแต่ว่ารส ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้
..๕ การถูกต้องสัมผัส ตั้งสติไว้ตรงสัมผัส กำหนดตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ละความพอใจ และความไม่พอใจออกเสียได้
..๖ ใจนึกคิดอารมณ์ ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า คิดหนอๆๆ ไปเรื่อยๆ จนกว่าความนึกคิดจะหายไป
..๗ อาการบางอย่างเกิดขึ้น กำหนดไม่ทัน หรือกำหนดไม่ถูกว่า จะกำหนดอย่างไร ให้ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า รู้หนอๆไปเรื่อยๆ จนกว่าอาการนั้นจะหายไป
การที่เรากำหนดจิตและตั้งสติไว้เช่นนี้ เพราะเหตุว่าจิตของเราอยู่ใต้บังคับของ ความโลภ ความโกรธ ความหลง เช่น ตาเห็นรูป การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับตามอายตนะนั้น เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าตัดที่ต่อของอายตนะต่างๆ เหล่านั้นมิให้ติดต่อกันได้ คือว่า เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ทำความรู้สึกนึกคิด ปรุงแต่งให้เกิดความพอใจ หรือความไม่พอใจในสิ่งที่ปรากฏให้เห็นและได้ยินนั้น รูปและเสียงที่ได้เห็น และได้ยินนั้น ก็จะดับไป เกิดและดับอยู่ที่นั่นเอง ไม่ไหลเข้ามาในอกุศลธรรม ความทุกข์ร้อนใจที่คอยจะติดตามรูป เสียงและอยาตนะภายนอกอื่นๆ จะเข้ามาก็ไม่ได้
สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นอกุศลธรรมและความทุกข์ร้อนใจที่จะเข้ามาทางอยาตนะแล้ว สติเพ่งอยู่ที่รูปนาม เมื่อเพ่งเล็งเห็นอยู่ก็ย่อมเห็นความเกิด ดับ ของรูป นาม ที่ดำเนินไปตามอยาตนะต่างๆ อย่างไม่ขาดสาย การเห็นความเกิด ดับ ของรูปนามนั้น จะนำไปสูการเห็นพระไตรลักษณ์ คือความไม่เที่ยง ความทุกข์และความไม่มีตัวตนของสังขารหรืออัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง
อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม
๑. มีวินัยในตัวเอง ๓ ประการคือ
๑) รู้จักระวังตัว
๒) รู้จักควบคุมตัวได้
๓) รู้จักเชื่อฟังผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเด็กจะไม่เถียงผู้ใหญ่
๒. มีกิจนิสัย ๔ ประการ
๑) ขยันไม่จับจด รักงาน สู้งาน
๒) ประหยัด รู้จักใช้ชีวิตและทรัพย์สินอย่างถูกต้องและคุ้มค่า
๓) พัฒนา รู้จักพัฒนาตัวเอง และอาชีพให้ดีขึ้น
๔)สามัคคี รักครอบครัว รักหมู่คณะ และรักประเทศชาติ
๓. มีลักษณะนิสัย ๔ ประการ
๑) มีสัมมาคารวะ
๒) อุตสาหะพยายาม
๓) ปฏิบัติตามระเบียบวินัย
๔) รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ วางตัวได้เหมาะสม
๔. มีความรู้คู่กับคุณธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ๔ ประการได้
๑) รู้จักคิด
๒) รู้จักปรับตัว
๓)รู้จักแก้ปัญหา
๔) มีทักษะในการทำงานและค่านิยมที่ดีงามในอนาคต เจ้านายทิ้งลูกน้องไม่ได้ ลูกน้องทิ้งเจ้านายไม่ได้ เข้าหลักที่ว่า ผู้ใหญ่ดึง ผู้น้อยดัน คนเสมอกันจะได้อุปถัมภ์ค้ำจุนต่อไป
๕. อานิสงส์ในการเดินจงกรม
๑) อดทนต่อการเดินทางไกล
๒) อดทนต่อความเพียร
๓) มีอาพาธน้อย
๔) ย่อยอาหารได้ดี
๕) สมาธิที่ได้ขณะเดินตั้งอยู่ได้นาน (ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๓๒)

บรรณานุกรม
คณะผู้วิจัยวิริยา ชินวรรโณ. (๒๕๔๓). สมาธิในพระไตรปิฏก. กรุงเทพฯสำนักพิมพ์แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
ธรรมะกับการปฏิบัติธรรม .พิมพ์เป็นธรรมทาน. กรุงเทพฯ . พิมพ์ที่ บริษัทรุ่งเรืองวิริยะพัฒนาโรงพิมพ์ จำกัด .
รศ.ดร.สุจิตรา อ่อนค้อม. (๒๕๔๙). การฝึกสมาธิ. ครั้งที่พิมพ์ ๑o . กรุงเทพฯ .สำนักพิมพ์ดอกหญ้ากรุ๊ป.
รองศาสตราจารย์คูณ โทขันธ์. (๒๕๔๘). การพัฒนาจิต. กรุงเทพฯ .พิมพ์ที่ โอ.เอส. พริ้นติ้ง เฮ้าส์.
๒๕๕๖. สำนักปฏิบัติธรรมของฆราวาสในสมัยพุทธกาล. แหล่งที่มา http://www.dhammahome
.com/front/webboard/show.php?id=2666. วัน เดือน ปี ที่สืบค้น ๒๑/๑/๒๕๕๖
          ชัย แสงทิพย์อริยธรรม. ๒๕๕๖.สำนักปฏิบัติธรรมในประเทศไทย. แหล่งที่มา http://www.   buddhapoem .com/index.php?lay=boardshow&ac=webboard_show&WBntype=1&No=236529. วัน เดือน ปี ที่สืบค้น ๒๑/๑/๒๕๕๖
          หลวงปู่ พระเดชพระคุณพระธรรมมังคลาจารย์ (พระอาจารย์ทอง สิริมงฺคโล). ๒๕๕๖. จุดมุ่งหมาย และประโยชน์ของการปฏิบัติธรรม. แหล่งที่มา http://www.watrampoeng.com/index.php?option=com_
fireboard&Itemid=20&func=view&catid=12&id=28. วัน เดือน ปี ที่สืบค้น ๒๑/๑/๒๕๕๖







                                                                                                                                                                                          



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น