วันอาทิตย์ที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2556

เรอเน เดส์การ์ต


เรอเน เดส์การ์ต


                     เรอเน เด็สการ์ตส์ หรือ เรอเน เดส์การ์ตส์ (Rene Descartes) เป็นบุตรของตระกูลขุนนางใน
เมืองตูเรน (Touraine) เขาได้รับการศึกษาในวิทยาลัยลีซูร์ (Le Sueur) ที่ลาฟูร์ช (Lafourche) และแสดงความเฉลียวฉลาดมาตั้งแต่เด็กๆ อย่างไรก็ดีเมื่ออายุได้ 16 ปีก็ต้องออกจากโรงเรียน เขาเขียนรำพันไว้ในหนังสือ Discourse on Method (ดิโคซ ออน เมธ-อัด) ในภายหลังว่า ในบรรดาวิชาการต่างๆที่เขาร่ำเรียนมานั้น วิชาปรัชญาเป็นที่ต้องกับนิสัยเขามากกว่าวิชาอื่น และเนื่องจากเป็นวิชาที่ยังไม่กำหนดหลักอะไรแน่นอนลงไป เขาจึงคิดว่าคงจะประสบความสำเร็จในทางนี้
ฉะนั้น เมื่อมีอายุพอสมควร เขาจึงออกท่องเที่ยวไปตามประเทศต่างๆในยุโรป โดยได้แวะเยี่ยมราชสำนักและกองทัพต่างๆ เขาได้เข้าวิสาสะกับบุคคลซึ่งมีฐานะและนิสัยต่างๆกัน แล้วก็ได้รับความจัดเจนหลายประการจากการนี้ เช่นนี้เขาจึงเข้าใจว่า คงจะทำให้ประสบข้อเท็จจริงสำหรับใช้คิดปรัชญาขึ้นเองได้ เขามีจุดมุ่งหมายอยู่ว่า “..ฉันก็เกิดความกระหายอยากรู้ขึ้นอย่างแรงกล้าว่าอย่างไหนเป็นความเท็จอย่างไหนเป็นความจริง ทั้งนี้ก็เพื่อนำมาใช้ดำเนินชีวิตด้วยความมั่นคง และความสามารถเข้าใจการกระทำของตนเองได้อย่างแจ่มแจ้ง”

รอเน เดส์การ์ตส์ เข้าประจำการเป็นทหารอยู่ 2 ปีในประเทศฮอลันดา ทั้งนี้โดยร่วมกรมเดียวกับเจ้าชายมอริซ (Maurice) บุตรของวิลเลียม อ็อฝ ออเรนจ๎ (William of Orange ต่อมาอีก 2 ปีเขาคงเป็นทหารอยู่ และคราวนี้ได้เข้ารบในสงครามจริงๆกับพวกโบฮีเมีย (Bohemian โบะฮีเมียน)ซึ่งมีเฟรเดอริก (Frederick V) ที่ 5 เป็นจอมทัพ การเป็นทหารไม่ได้ทำให้เดส์การ์ตส์ละทิ้งนิสัยชอบคิด แม้เมื่ออยู่กับมอริซ เขาก็มีเวลาว่างเหลือเฟือสำหรับค้นคว้าทางคณิตศาสตร์ เขาได้พิจารณาข้อเกี่ยวพันระหว่างปริมาณสองจำนวน เพราะว่าระหว่างนั้นวิทยาศาสตร์กำลังสาละวนอยู่กับการหาสูตรแสดงความเกี่ยวข้องของประมาณตั้งแต่สองอย่างขึ้นไป ในความพยายามเขียนภาพของการเกี่ยวพันเช่นนี้ เขาก็พบ (Coordinate Geometry โคะออ-ดิเน็ท จิออม-อิทริ่) ซึ่งต่อมาก่อให้เกิดการรู้จักใช้และเขียนกราฟ (Graph กรัฟ) ขึ้น นี่คือการแสดงความเกี่ยวข้องเป็นเส้นตรงหรือเส้นโค้ง โดยวัดที่ตั้งของจุดไปจากแกนสมมติ X (เอ็กซ๎) กับ Y (ไว) นั่นเอง

ด้วยประการฉะนี้ การหาความเกี่ยวข้องระหว่างประมาณซึ่งเป็นเหตุเป็นผลแก่กันก็สามารถเกิดขึ้นได้ ทำให้วิทยาศาสตร์มีเครื่องมืออันสำคัญยิ่งในการค้นคว้าทางปริมาณ และการค้นคว้าทางวิทยาศาสตร์นั้นก็เป็นการค้นคว้าทางปริมาณเสียเป็นส่วนใหญ่ การค้นคว้าทางคุณภาพ (Quality ควอล-อิทิ่) เป็นเพียงชั้นรอง และติดมากับการค้นคว้าทางปริมาณเท่านั้น การค้นคิดทางคำนวณ ทำให้เขาได้สหายเป็นนักคณิตศาสตร์ชาวฮอลันดาชื่อไอแซ็ก บิแคม (Isaac Beecham) ต่อมาเขาเริ่มค้นคิดทางปรัชญาและเอาความแจ่มแจ้งในความคิดทางคณิตศาสตร์ไปใช้ในการคิดปรัชญาบ้าง ชีวิตในปารีสอึกทึกครึกโครมเกินไปเขาจึงไปตั้งรกรากอยู่ในประเทศฮอลันดา แล้วติดต่อกับโลกภายนอกโดยผ่านมิตรสหายที่เชื่อถือได้ อาศัยความเงียบสงัดในฮอลันดา เดส์การ์ตส์จึงสามารถแต่งตำราปรัชญาและวิทยาศาสตร์ธรรมชาติขึ้นได้

ในทางปรัชญานั้นเขาพยายามละทิ้งความคิดออกจากคนโบราณ และพยายามคิดขึ้นใหม่ เขาได้ค้นวิชาอื่นๆด้วยเหมือนกัน เช่นทัศนศาสตร์ (Optics ออพ-ทิคซ๎) ดาราศาสตร์ และจิตวิทยา นักปราชญ์ในสมัยก่อนมักเก่งหลายวิชา เช่นเดส์การ์ตส์เป็นตัวอย่าง ปรัชญาและวิทยาศาสตร์ของเดส์การ์ตส์ไปปะทะเข้ากับสำนัก Romanist (โร-แม็น-อิสท๎) ซึ่งเขาเป็นสมาชิกอยู่ แต่เขาก็ยอมคล้อยตามมติของศาสนาเสมอ เขามีความเชื่อมั่นว่ามติทางปรัชญาและวิทยาศาสตร์ของเขานั้นเข้ากับศาสนาได้ ปรัชญาของเรอเน เดส์การ์ตส์ ถูกรับรองโดยทั่วกันและได้แพร่ หลายออกไป นักคิดสมัยนั้นยอมรับว่า ต้องเริ่มคิดปรัชญาไปจากความสงสัยในความมีอยู่ของตัวตนเสียก่อน แล้วจึงใช้ความคิดอันไม่คลุมเครือต่อทอดความรู้ของเขาออกไป และเดส์การ์ตส์ก็ไม่พ้นไปจากหลักคิดที่ปัญญาทางปรัชญาครอบงำอยู่นั่นเอง คือที่ว่า ความรู้ได้มาจากการคิด

มิตรที่เกิดจากการเที่ยวสอนปรัชญาของเขาก็มีสตรีอยู่สองคน คนแรกคือเจ้าหญิงอลิซาเบธ (Elizabeth) แห่งโบฮีเมีย (Bohemia) ซึ่ง เดส์การ์ตส์ เคยไปรบพร้อมกับเธอด้วย เดส์การ์ตส์อุทิศเรื่อง Principle of Philosophy (พรีน-ซิพ'ล อ็อฝฟิลอซ-โอะฟิ่) ให้กับเจ้าหญิงองค์นี้ และยังเขียนบทความชื่อ The Passions of the Soul (ฑิ แพฌ-อันส อ็อฝ ฑิ โซล) ให้ด้วย สานุศิษย์ผู้มีชื่อยิ่งกว่านี้ คือ ควีน คริสตินา (Queen Christina) แห่งประเทศสวีเดนในปี ค.ศ.1649 เดส์การ์ตส์ได้รับเชิญให้ไปอยู่ที่สต็อกโฮล์ม (Stockholm) ทั้งนี้เนื่องจากองค์การศาสนาในฮอลันดาพากันต่อต้านปรัชญาของเขา และอากาศอันหนาวเย็นในประเทศนั้นไม่เหมาะกับเดส์การ์ตส์เลย สมเด็จพระบรมราชินียังทรงนิยมให้มีปุจฉาวิสัชนาทางปรัชญาตอนเช้าๆ ซึ่งมีอากาศหนาวมากด้วย เดส์การ์ตส์จึงทรุดโทรมลงไป แล้วถึงแก่กรรมใน ปี ค.ศ.1650 มีผู้เศร้าโศกต่อการจากไปของเขาเป็นอันมาก


แนวคิดของเรอเน เดส์การ์ต

เรเน เดส์คาร์ตส เป็นนักปรัชญาลัทธิเหตุผลนิยม ทั้งยังเป็นนักคณิตศาสตร์ ฟิสิกส์ และเสรีศาสตร์ โดยอุทิศตนเพื่อค้นคว้า ในทางวิทยาศาสตร์ และปรัชญา ปรัชญาของเขาจึงมีความเกี่ยวเนื่องทางคณิตศาสตร์ รังสรรค์วิทยา และฟิสิกส์ จัดได้ว่าเป็นผู้หนึ่งที่คิดค้นเรขาคณิตวิเคราะห์ขึ้น ในเรื่องของกลไก เขาพยายามให้ข้อสังเกตในเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความเคลื่อนไหวกับการหยุดนิ่ง สร้างกฎทั่วไปเกี่ยวกับกิริยาและปฏิสัมพันธ์ กฎที่แสดงการเคลื่อนไหวของวัตถุสองสิ่ง ในรังสรรค์วิทยา เขาได้วางหลักแนวทางการคิดใหม่เพื่อพัฒนาธรรมชาติในระบบสุริยะว่า การเคลื่อนไหวของวัตถุถือว่าเป็นรูปแบบสำคัญในการเคลื่อนไหวของวัตถุใหญ่โตได้ นี้คือการสร้างโลกและจุดเริ่มต้นของดาวต่างๆบนท้องฟ้า
                     คำสอนของ เดคาร์ตส เน้นหนักในวัตถุหรือสิ่งของที่เป็นรูปธรรม โดยอาศัยการคิดทบทวน ตามแนวทางคณิตศาสตร์และฟิสิกส์ เค้าพยายามพิสูจน์สสารให้สามารถขยายออกไปอย่างกว้างขวางได้เช่นเดียวกับอวกาศ โดยอนุมานว่า การแผ่ขยายออกไปไม่จำเป็นต้องอาศัยวัตถุอย่างเดียวและจะต้องมีเงื่อนไขอันเป็นสมบัติเฉพาะของสิ่งนั้นอีกด้วย อย่างไรก็ดี ลัทธิทวินิยมยังต่อต้านฟิสิกส์ทางวัตถุของเดส์คาร์ตสและยืนยันว่า การเคลื่อนไหวนั้นเกิดจากพระเป็นเจ้า เพราะพระเป็นเจ้าได้สร้างวัตถุรวมทั้งความเคลื่อนไหวและความหยุดนิ่ง และในทำนองเดียวกันปริมาณการเคลื่อนไหวและการหยุดนิ่งก็อยู่ที่วัตถุ คำสอนของเดคาร์ตส ก็เกี่ยวกับมนุษย์เนื่องด้วยทวินิยมนั่นเอง แล้วยังกล่าวยืนยันอีกว่า ลัทธิกลไกนิยมแม้จะมีรูปร่างแต่ไร้จิตวิญญาณ ก็ยังมีปรากฏอยู่ในมนุษย์ที่มีจิตวิญญาณอันมีอำนาจและมีเหตุผลอีกด้วย

                  ร่างกายกับจิตแม้จะต่างกันโดยลักษณะ แต่ยังมีปฏิกิริยาภายในอันเป็นองค์กรพิเศษ ที่เราเรียกว่า ปุ่มกระตุ้นในด้านสรีรวิทยา เดร์คาร์ตส ได้วางกฎของการเคลื่อนไหวแบบจักกล จัดได้ว่าเป็นอันเดียวกันกับที่กล่าวมาแล้ว อย่างไรก็ดี สรีรวิทยาในทัศนะของเดส์คาร์ตส จะขัดแย้งกับแนวคิดทางด้านจิตวิญญาณ ที่เป็นทางวัตถุ ที่ว่าขัดแย้งกันนั้น สาระแก่นแท้ของวัตถุ ย่อมขยายให้กว้างขวางออกไปได้ ส่วนสาระแก่นแท้ของวิญญาณอยู่ที่ความนึกคิด การใคร่ครวญรอบรู้
                     เดส์คาร์ตส พิจารณาเห็นว่า สัตว์ทั่วไปจึงไม่แตกต่างไปจากมนุษย์กลที่บรรจงทำขึ้นโดยปราศจากวิญญาณและมันสมอง เช่นเดียวกับเบคอนที่กล่าวว่า จุดหมายของความรู้ที่แท้จริง อันเป็นจุดสำคัญของมนุษย์ก็คือเข้าใจพลังธรรมชาติ สามารถค้นคว้าและประดิษฐ์กลไกโดยอาศัยวิธีการต่างๆ สามารถเข้าใจในเหตุและผลและสามารถปรับปรุงสิ่งที่เป็นแก่นสารของตนเองได้ เพื่อให้บรรลุวัตถุประสงค์ดังกล่าว มนุษย์จะต้องไม่เชื่ออะไรง่ายๆ จนกว่าจะได้พิสูจน์ให้เห็นจริงแล้ว การที่ไม่เชื่ออะไรง่ายๆ มิได้หมายความว่ามนุษย์จะไร้ความนึกคิด เนื่องจากเป็นวิธีการค้นหาจุดเริ่มต้นความรู้ที่แท้จริงโดยไม่มีเงื่อนไขใดๆ ที่เดส์คาร์ตสเรียกว่า Cogito ergo sum เดส์คาร์ตส ใช้สูตรนี้ในการอนุมานไปในเรื่องความเป็นอยู่ของพระเป็นเจ้า และความมีจริงของโลกภายนอก


ด้านญาณวิทยา

                    ในด้านญาณวิทยา เดส์คาร์ตส เป็นผู้สถาปนาลัทธิ “เหตุผลนิยม” ซึ่งถือเป็นการเข้าใจในแง่หนึ่งของเดส์คาร์ตส เพื่อให้รู้ในด้านธรรมชาติทางตรรกะ ทางคณิตศาสตร์ โดยที่เชื่อว่าลักษณะทางความรู้คณิตศาสตร์สากล และจำเป็น ได้มาจากธรรมชาติของสมอง เพราะฉะนั้น เดส์คาร์ตส จึงเชื่อมั่นในพลังเฉพาะที่มีอยู่ทางความนึกคิดสามารถอนุมานได้โดยตรงเรื่องการรู้แจ้งในตัวเอง เรื่องสชาติกมโนภาพ และเรื่องนี้รวมไปถึงความคิดในเรื่องพระเป็นเจ้า และสิ่งที่มีวิญญาณและเป็นรูปธรรม และอีกประการหนึ่ง คำสอนที่เป็นพื้นฐานเกี่ยวกับในเรื่องวัตถุธรรมตามธรรมชาติ ในการพัฒนาธรรมชาติสรีรวิทยาและวิธีการเคลื่อนไหวที่จัดว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อเทววิทยา มีอิทธิพลมากในสายตาของชาวโลก เนื่องจากเดส์คาร์ตส เป็นนักเหตุผลนิยมในด้านญาณวิทยา โดยพยายามจะแยกออกจากปรัชญาออกจากศาสนา และวิทยาศาสตร์อย่างอิสระ เพราะเข้าใจว่า ปรัชญาศึกษาในเรื่องโลก เรื่องพระเป็นเจ้าหรือสิ่งสมบูรณ์ และเรื่องวิญญาณหรือจิตด้วยเหตุผล โดยใช้การวิจารณ์และรวบรวมความรู้ไว้อย่างชัดเจน มีเหตุผลและเป็นระบบ
                   ความรู้เรื่องศาสนาจะรวบรวมไว้ไม่ชัดแจ้งหรือละเอียดนัก และส่วนมากจะไม่ค่อยสมบูรณ์และมีเหตุผลเพียงพอเท่าที่ควรจะเป็นหรือให้เข้าใจง่ายเพื่อการประพฤติปฏิบัติ ทั้งนี้ยกเว้นหลักคำสอนในศาสนาหรือหลักศาสนาที่มีลักษณะเป็นปรัชญาในตัวเอง เช่นพระพุทธศาสนาเป็นต้น สำหรับเรื่องวิทยาศาสตร์ เป็นความรู้ที่ว่าด้วยลักษณะของข้อเท็จจริง แล้วข้อเท็จจริงเหล่านั้นจะต้องมีความสัมพันธ์กัน ย่อมมีลักษณะสากล เป็นความรู้ที่แน่นอน เพราะอาศัยหลักฐานที่มีเหตุผลและได้รับการพิสูจน์ทดลองแล้ว เป็นความรู้ที่แม่นตรง เพราะอาศัยการสังเกตที่ถูกต้อง โดยอาศัยการพิสูจน์ทดลอง และอาศัยการวัดปริมาณ จัดเป็นความรู้ที่เป็นระบบ และมีวิธีการของตนเอง
                   ในทรระศนะของเดส์คาร์ตส เชื่อว่า ปรัชญาเมธีจะต้องเป็นอิสระจากความรู้ทั้งสองดังกล่าว และจะต้องมีเครื่องมือในการแสวงหาความรู้ นั่นคือ เหตุผลบริสุทธิ์ (Pure Reason)
เนื่องจากเหตุผลบริสุทธิ์นี้ เมื่อนำไปใช้ในคณิตศาสตร์ จัดเป็นระบบแห่งความถูกต้องที่สุด ในขณะเดียวกัน ก็จะนำมาใช้ได้ในปรัชญาอีกด้วย เดส์คาร์ตสเชื่อว่า เหตุผลเท่านั้นเป็นที่มาแห่งความรู้ที่ถูกต้อง และจะต้องใช้สติปัญญาใคร่ครวญพิจารณาอย่างมีเหตุผลเพื่อให้เห็นแจ้งชัด และเดส์คาร์ตสยังปฏิเสธแข็งขันในการปฏิเสธความรู้ที่ได้จากประสบการณ์ เพราะความรู้ประเภทนี้ไม่สามารถให้เกิดความรู้ที่แท้จริงได้ เนื่องจากเป็นความรู้ที่ต้องผ่านระบบสัมผัส ทางประตูใดประตูหนึ่ง เช่น ตาเห็นรูป หูฟังเสียง ลิ้นได้ลิ้มรส เป็นต้น จะเกิดความรู้จริงไม่ได้ ต่างคนจะต่างความรู้สึก เป็นความรู้เพียงมายา หรือไม่จริง เป็นเพียงความลวงนึกไปเท่านั้น เช่น บางคนเห็นเชือกนึกว่างู เห็นกิ่งไม้หักนึกว่าผีหลอกเป็นต้น เพื่อให้เป็นความจริงที่แท้จริง เดส์คาร์ตสจึงใช้วิทยาศาสตร์เป็นมูลฐานในการสวงหาความรู้
ในการคิดหาเหตุผลเพื่อให้เกิดความรู้จริง เดส์คาร์ตส มีทัศนะว่า จะต้องอาศัยการคิดหาเหตุผลแบบการอนุมานนั่นเอง บางทีเรียกว่า “การเก็ง การคาดคะเนหรือพยากรณ์ การทำนาย” ในการคิดหาเหตุผลแบบนี้จะต้องมีประพจน์อันเป็นสมมติฐานทั่วไปหรือเฉพาะแล้วแต่กรณีที่ถูกต้องแน่นอน มีจำนวนเพียงพอ เป็นรูปธรรม ซึ่งมีอยู่ 2 วิธี เช่น
ก. รูปนิรนัยหรือซิลโลยิสม์ มีรูปแบบที่ตายตัว จะต้องประกอบด้วย 3 ญัตติ คือ
ญัตติเหตุ 2 ญัตติ
ญัตติผล 1 ญัตติ ญัตติเหตุเรียกว่า ข้อเสนอหรือข้ออ้าง ญัตติผลเรียกว่า ข้อสรุปหรือนิคม จะต้องใช้เทอม หรือศัพท์ 3 เทอม ในรูปนิรนัยหนึ่ง และแต่ละเทอมจะต้องใช้ใน 2 ครั้ง เช่น

สัตว์ที่ขยันทุกตัวเป็นสัตว์ที่ฉลาด

ปลวกทุกตัวเป็นสัตว์ฉลาด

เพราะฉะนั้น ปลวกทุกตัวเป็นสัตว์ขยัน


รูปนิรนัยนี้ถือว่า สมเหตุสมผล เพราะถูกต้องทั้งรูปแบบและเนื้อหา
 ตัวอย่างที่ผิด เช่น

ไม้ทุกชนิดเป็นสิ่งลอยน้ำได้
รองเท้าฟองน้ำเป็นสิ่งลอยน้ำได้
เพราะฉะนั้น รองเท้าฟองน้ำเป็นไม้

ข้อสังเกตในการหาเหตุผลแบบนิรนัย คือ
1. จะต้องดำเนินจากส่วนรวมมาหาส่วนย่อย หรือข้อเสนอจะต้องมีความหมายกว่าขอสรุป และข้ออ้างต้องมี 2 ญัตติ ส่วนข้อสรุปต้องมี 1 ญัตติ ข้ออ้างะต้องอาศัยเหตุผลหรือความรู้เดิม
2. จะต้องใช้เทอม หรือศัพท์ 3 เทอม คือ เทอมเอก หรือเทอมใหญ่ เทอมกลาง และเทอมโท หรือเทอมเล็กแต่ละเทอมต้องใช้ 2 ครั้ง
3. จะต้องมีประธาน ตัวเชื่อม และภาคแสดงครบทั้ง 3 ส่วน ในแต่ละญัตติ
4. จะต้องใช้เทอมกลางได้เฉาะในญัตติเหตุหรือข้อเสนอเท่านั้น


ข. รูปอุปนัย เป็นการหาเหตุผลที่ดำเนินการจากส่วนย่อยไปหาส่วนรวม หรือเป็นการสรุปความจริงสากลหรือความจริงทั่วไปโดยอาศัยความจริงเฉพาะที่ได้จากประสบการณ์ กล่าวคือ การที่จะรู้อะไรบางอย่างเกี่ยวกับสิ่งเฉพาะอันเป็นประเภทเดียวกัน จึงนำมาสรุปว่า บรรดาสิ่งทั้งหลายที่นำมาอยู่ร่วมกันนี้ เป็นปกระเภทความจริง คือ เป็นความจริงทั่วไปหรือความจริงสากล เช่น


นายแดง นายดำ นายขาว เป็น ผู้สวมเสื้อลาย

นายแดง นายดำ นายขาว เป็น ชาวจังหวัดนครราชสีมา

เพราะฉะนั้น ชาวจังหวัดนครราชสีมาทุกคน เป็น ผู้สวมเสื้อลาย


ข้อสังเกตในการหาเหตุผลแบบอุปนัย คือ
1. จะต้องมีข้ออ้างที่มีความหมายแคบกว่าข้อสรุป เพราะเป็นการหาเหตุผลจากความจริงเฉพาะ ไปสู่ความจริงสากลหรือความจริงทั่วไป ข้ออ้างจะต้องอาศัยประสบการณ์
2. จะต้องหาหลักฐานที่น่าเชื่อได้มาอ้าง เช่น ผู้ทรงคุณวุฒิ ตำรา ปริมาณ คุณภาพและอื่นๆ จะต้องให้เป็นที่น่าเชื่อถือได้ และไม่ควรนำสิ่งที่เป็นนามธรรม เช่น วิญญาณ จิต และสิ่งอื่นๆ ในทำนองนี้มาเป็นข้ออ้าง
3. เหตุผลที่นำมาอ้างต้องมีมากพอและต้องเป็นรูปธรรมมากกว่าที่จะเป็นนามธรรม
4. ถ้ามีการอ้างเหตุผลแบบเปรียบเทียบควรเปรียบเทียบในลักษณะที่ตรงกันและมีการเปรียบเทียบในหลายๆแง่และมีหลายตัวอย่าง
เนื่องจาก เรเน เดส์คาร์ตส์ เป็นปรัชญาเมธีที่มีความนึกคิดเรื่องนาม ในยุคใหม่นี้ได้ให้ทรรศนะในเรื่อง “ความมีอยู่ของตัวตน” ไว้ว่า ตัวตนจะมีอยู่จริง โดยตั้งสมมติฐานที่ความสงสัย โดยเดส์คาร์ตมีความสงสัยในทุกสิ่งทุกอย่างนอกจากตัวตน เพราะความสงสัยในทรรศนะของเดส์คาร์ตส์หมายเอา “ความคิด” ถ้าคนเรามีความคิด ผู้คิดนั่นเองจะต้องมีตัวตนอยู่ ด้วยเหตุนี้ ถ้าไม่มีตัวตนแล้วจะคิดได้อย่างไร เมื่อเป็นเช่นนี้จึงอาจจะสรุปตรงนี้ได้ว่า ตนนั่นเองเป็นต้นเหตุแห่งความคิด จึงเป็นความจริงในตัวเองอยู่แล้ว ดังนั้น เดส์คาร์ตจึงตั้งทฤษฏีขึ้นว่า เพราะความมีอยู่ของตัวตนนี้เองจึงเป็นต้นเหตุให้มีการคิด อันเป็นสิ่งที่แน่ใจอันแรก เมื่อมีความแน่ใจว่ามีตัวตนเช่นนี้ อันเป็นพื้นฐาน สิ่งอื่นก็ย่อมให้ความแน่ใจไปด้วย
สรุปการศึกษาแล้วพบว่า ในเรื่องทฤษฏีความรู้ (ญาณวิทยา) เดส์คาร์ตมีทรรศนะว่าความรู้เกิดเหตุผล แต่ต้องเป็นเหตุผลที่อาศัยจิตหรือความคิดติดมาแต่แรกเกิด ที่พระเป็นเจ้าประทานมาให้เท่านั้น ไม่ใช่เป็นความรู้ที่อาศัยประสาทสัมผัส อาศัยประสบการณ์ อาศัยการใคร่ครวญ การวินิจฉัยอาศัยจิตสร้างขึ้นหรือการอนุมานอย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะความรู้ที่อาศัยความคิดที่ติดมาแต่แรกเกิด เป็นสภาพที่ชัดแจ้ง เป็นความรู้จริง เพราะพระเป็นเจ้าทรงประทานหรือประกาศิตมาให้โดยตรง ซึ่งความรู้เช่นนี้ไม่ต้องมีการพิสูจน์ ไม่ต้องทดลองเพียงแต่เราจะต้องพยายามคิด เพราะบารมีของพระเป็นเจ้าหรือเพราะพระเป็นเจ้าได้วิวรณ์ (Revelation) ให้ปรากฏ อาจจะมีคำถามขึ้นว่า เราจะมีหลักเกณฑ์อย่างไรในการที่จะกระตุ้นให้จิตทำหน้าที่ของตน เพื่อให้เกิดความรู้เช่นนั้น เดส์คาร์ตให้ทรรศนะไว้ว่า

1. เราจะต้องไม่รับว่าอะไรเป็นจริงก่อน จนกว่าจะได้ประจักษ์แจ้งด้วยตนเอง

2. เราจะต้องมีการพิจารณา วิเคราะห์ แยกแยะจนความรู้ของเราเป็นที่ประจักษ์แจ่มแจ้งชัดเจน จนไม่มีความสงสัย

3. เราจะต้องพินิจพิจารณาถึงผลที่เราติดได้นั้นให้ถี่ถ้วน

4. เราจะต้องใช้หลักตรรกะวิทยา มีเหตุมีผลเป็นแนวทางในการคิด

ความคิดในทรรศนะของเดส์คาร์ต ในการแสวงหาความรู้จริง เดส์คาร์ตได้แบ่งควมคิดเป็น 3 ประการคือ

1. ความคิดที่ได้จากประสาทสัมผัส (Adventitious Ideas) เป็นความคิดที่คลุมเครือ ไม่แจ่มแจ้งและไม่ชัดเจน

2. ความคิดเกิดจากการปรุงแต่ง (Factitious Ideas) เป็นความคิดที่ประมวลเอาสิ่งที่ได้รับจากประสาทสัมผัสมาผสมเข้าด้วยกัน ความคิดชนิดนี้ก็ยังไม่แจ่มแจ้งไม่ชัดเจนแต่ดีกว่าความคิดประเภทแรก

3. ความคิดเกิดจากสชาตปัญญา (Innate Ideas) เป็นความคิดรวบยอดซึ่งแจ่มแจ้ง ไม่คลุมเครือ พร้อมที่จะนำไปใช้ เป็นความคิดที่ทำลายความสงสัยเกี่ยวกับสิ่งทั้งปวงได้โดยประการทั้งปวง
เดส์คาร์ต ได้เริ่มใช้ความคิดจากความสงสัยทั่วไป เพราะปรัชญาคือการเก็งความจริง โดยการอนุมานจากข้อเท็จจริงที่แน่วแน่แล้วว่าเป็นจริง แม้ข้อเท็จจริงนั้นจะไม่มากพอเพื่อจะนำมาตั้งเป็นสมมติฐานก็ตาม แต่ก็ยังดีกว่าไม่มีข้อเท็จจริงเสียเลย เมื่อข้อสมมติฐานไม่เพียงพอหรือน้อยไป บทสรุปที่ได้อาจไม่เป็นจริงสมบูรณ์นักหรือไม่ถูกต้อง แต่ส่วนมากเดการ์ตจะสร้างความสงสัยขึ้นเป็นสมมติฐานก่อน ซึ่งอาจจะได้บทสรุปที่ถูกต้องกว่าการตั้งสมมติฐานอื่น เพราะสิ่งที่เราเห็น เราสัมผัสมาด้วยตัวเราเอง ยังหลอกหลวงเราได้เสมอ เช่น การมองเห็นใหญ่ๆ ในที่ใกล้ อาจจะเห็นเป็นสิ่งเล็กในที่ไกลได้ ความฝันเมื่อเรานอนหลับ แต่เมื่อเราตื่นขึ้นจะเป็นจริงเช่นนั้นก็หาไม่ แม้หลักวิชาการอย่างอื่นก็เป็นเพียงสมมติเท่านั้นจะถือว่าเป็นจริงดังที่เราคิดย่อมไม่ได้ ดังนั้น เดส์คาร์ตส์จึงตั้งข้อสงสัยขึ้นว่า “สิ่งนั้นที่ว่ามีอยู่จริง จะจริงหรือไม่อย่างไร” เดส์คาร์ตส์จึงสรุปไว้ก่อนหน้าว่า “ต้องมีจริงแน่นอนตามที่เราคิดเพราะตราบใดเรามีความคิด สิ่งนั้นย่อมมีอยู่ตราบนั้น”
ดังนั้น เมื่อมีความสงสัยเป็นต้นเหตุ จะต้องยืนยันว่าจะต้องมีอยู่ สิ่งนั้นคือตัวผู้สงสัยนั่นเอง ถ้าไม่มีตัวผู้สงสัย ความสงสัยจะมีได้อย่างไร เดส์คาร์ตส์จึงสรุปข้อคิดนี้ว่า “ตราบใดที่ข้าพเจ้าคิดได้ ข้าพเจ้าต้องมีอยู่แน่นอน ดังนั้น เดส์คาร์ตส์ จึงกล่าวว่า “ตัวตนหรือวิญญาณหรือจิตอันมีมโนภาพหรือมีความรู้สึกจึงมี” และว่า “ถ้าจะกล่าวให้แจ้งชัดแล้ว ข้าพเจ้าก็คือสิ่งซึ่งรู้จัดคิดที่เป็นจิตนั่นเอง” และกล่าวต่อไปว่า ตัวตนนี้จะต้องมีอิสระ เพราะข้าพเจ้ารู้สึกว่ามีอิสระที่จะเลือกอะไรอย่างไรก็ได้ และมีเจตจำนงเพียงพอสามารถที่จะคิดข้ามเขตที่กำหนดหรือกว้างขาวงเท่าไรก็ได้”
ในฐานะเดส์คาร์ตส์เป็นนักปรัชญาประเภทเหตุผลนิยม โดยมีความเชื่อมั่นในความคิดของตนเอง เพราะเหตุว่ามนุษย์สามารถคิดค้นหาความจริงได้ เนื่องจากยึดมั่นในทรรศนะดังกล่าวนี้เองซึ่งมีอยู่ในตัวเองเป็นนิตย์และทุกขณะจิต จึงชอบสร้างทฤษฎีสากลที่ใครก็ยอมรับได้ คิดค้นหาความจริงเช่นเดียวกับกฏเรขาคณิต โดยมีอุทาหรณ์ประกอบและใช้หลักเรขาคณิตนั่นเองมาเพิ่มเติมไว้ในภาคผนวกในหนังสือที่เขาให้ชื่อว่า “สมาธิหรือการทำจิตให้ตั้งมั่น” วิธีนี้เองจึงทำให้สปิโนซา มีความเห็นพ้องด้วยกันดี ซึ่งท่านได้รจนาไว้ในหนังสือชื่อ Cogitata metaphysica อันเป็นหนังสือที่ว่าด้วยวิธีการนำเอาความรู้ด้านปรัชญาของเดส์คาร์ตส์ออกเผยแผ่ให้กว้างขาวงออกไป ด้วยเหตุนี้เองวิธีการทางคณิตศาสตร์โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรขาคณิตจึงมีอิทธิพลยิ่งต่อความนึกคิดของสปิโนซา ดังจะเห็นได้จากคำกล่าวของสปิโนซาที่ว่า “จุดหมายปลายทางแห่งปรัชญาคือจะต้องค้นหาความรู้เกี่ยวกับทุกสิ่งให้สมบูรณ์ กล่าวคือ บุคคลจะรู้แจ่มแจ้งได้จะต้องอาศัยความคิดอย่างละเอียดถี่ถ้วน ถ้าอาศัยความเชื่อมั่นในตนเองและพิสูจน์ในปัญหานั้นในทุกกรณีแล้ว เราจะประสบความจริงอย่างแน่นอนและเป็นสากลเช่นคณิตศาสตร์”
ดังนั้น เดส์คาร์ตส์จึงให้ทรรศนะไว้ว่า คณิตศาสตร์เท่านั้นที่จัดว่าเป็นแบบความรู้ที่แจ่มแจ้งแน่นอน ส่วนวิทยาศาสตร์ดูเหมือนว่าจะให้ความรู้ที่แจ่มแจ้งแน่นอนได้ยาก เพราะขาดระบบที่แน่นอนตายตัว วิธีการของเดส์คาร์ตส์ขั้นต้นก็คือ เอาคณิตศาสตร์แบบนิรนัยโดยอาศัยเหตุผลหรือความรู้ที่เรามีอยู่ก่อนแล้วมาเป็นข้อสมมติฐานเพื่อนำไปสู่ข้อสรุป และจัดกฏเกณฑ์ทางปรัชญาให้มีระบบเดียวกัน โดยอาศัยกฏเกณฑ์และวิธีการต่างๆ ที่ถูกต้อง เราก็สามารถสร้างแนวความคิดเพื่อให้เกิดความรู้จริงลงบนพื้นฐานที่ถูกต้องแน่นอนแจ่มชัดได้ ดังนั้น ระบบกฎเกณฑ์ที่ถูกต้องแจ่มชัดแน่นอนของปรัชญาก็คือจะต้องเริ่มต้นจากความจริงที่ง่ายที่สุดและแจ่มชัดที่สุด และใช้ความคิดอย่างง่ายๆ ก็สามารถเข้าใจได้แล้วค่อยๆ ก้าวไปสู่ความจริงที่สับสนสลับซับซ้อนมากขึ้นตามลำดับ พยายามสร้างความมั่นใจให้มีในตนว่า การให้เหตุผลแต่ละครั้งจะต้องไม่มีใครโต้แย้งได้ ในการที่เราจะย้อนกลับไปเริ่มต้นคิดปรัชญาอีกไม่ว่าในเรื่องใด เราไม่ควรอย่างยิ่งที่จะยอมรับข้อความทุกอย่างซึ่งอาจจะซับซ้อนยุ่งเหยิงมากเพราะอาจจะก่อให้เกิดความสงสัยขึ้นได้ นอกจากว่าเราจะเข้าใจถึงความจริงนั้นได้แจ่มแจ้งแล้วเท่านั้นและไม่มีความสงสัยใดๆ อีกแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ แสดงว่าเราความรู้ความเข้าใจและมั่นใจในตนเองได้เป็นอย่างดี และการที่เรารู้เช่นนี้จัดเป็นความรู้ที่แท้จริงได้เพราะเป็นความรู้ด้วยเชาวน์ปัญญาของตนเองหรืออาศัยเหตุผล ซึ่งเดส์คาร์ตส์เรียกปัญญาประเภทนี้ว่า “สชาตปัญญาหรือสัญชาตญาณ” เพราะเป็นแหล่งให้เกิดความรู้ที่แท้จริงซึ่งเกิดขึ้นภายในบุคคล คล้ายญาณวิเศษ เพราะอาศัยจิตเป็นสิ่งนึกคิด เป็นสิ่งนิรันดร มีความคิดเป็นกิจ เพราะจิตเมื่อทำกิจสมบูรณ์และถูกต้อง ก็แสดงตัวปัญญาอันเลิศที่ติดมากับจิตนั่นเอง
เดส์คาร์ตส์กล่าวว่า ความคิดที่เกิดจากวิถีทางคณิตศาสตร์เป็นวิถีทางให้เกิดความรู้ที่แน่นอนสมบูรณ์ที่สุด เราจึงเริ่มต้นที่ตัวเองก่อน เพราะเป็นเหตุแห่งปัญญา ปัญญาดังกล่าวก็อาศัยบารมีของพระเจ้านั่นเอง โดยกล่าวว่า


“พระเป็นเจ้าย่อมมีจริง เราจะมีความรู้หรือความคิดที่ฝังอยู่ภายในที่พระเป็นเจ้าได้ประทานให้ ความคิดในเรื่องพระเจ้าเป็นความคิดที่หาที่สิ้นสุดมิได้ ความคิดเช่นนี้เราจะคิดขึ้นมาเองไม่ได้ เพราะเรามีความคิดมีขอบเขตจำกัดมีที่สิ้นสุด” ภาวะที่ไม่มีที่สิ้นสุดไม่สามารถจะให้สิ่งที่มีขอบเขตจำกัดสร้างขึ้นมาได้ อีกอย่างหนึ่งสิ่งที่มีจำนวนจำกัดแน่นอน ไม่สามารถสร้างความคิดที่ไม่มีที่สิ้นสุดได้ อย่างน้อยระหว่างเหตุกับผลจะต้องสมดุลกันหรือมีคุณลักษณะเสมอกัน นั่นคือ เหตุจะต้องมีความเป็นจริงปรากฏอยู่ในผลบ้าง ดั้งนั้น พระเป็นเจ้าซึ่งมีลักษณะเป็นภาวะที่หาที่สิ้นสุดมิได้ จึงเป็นเหตุของความคิดเกี่ยวกับพระเจ้าที่ฝังอยู่ในจิตมนุษย์ เพราะฉะนั้น พระเป็นเจ้าจึงมีอยู่ พระองค์มีลักษณะสมบูรณ์ยิ่ง มีความดีสูงสุด เป็นอมตภาวะและมีสัจภาวะ เราเชื่อมั่นว่า สิ่งภายนอกตัวเราย่อมมีอยู่และมีอยู่อย่างแน่นอน เดส์คาร์ตส์อนุมานเอาว่า เมื่อโลกภายนอกมีพระเป็นเจ้าจะต้องมี ถ้าโลกภายนอกไม่มี พระเป็นเจ้าก็ย่อมจะไม่มี ถ้าพระเป็นเจ้าไม่มี พระเป็นเจ้าย่อมหลอกลวงแน่นอน เพราะคุณสมบัติดังกล่าว เช่น สมบูรณ์ยิ่ง มีความดีสูงสุดเป็นอมตภาวะและมีสัจภาวะ เป็นคุณสมบัติของพระเจ้าเท่านั้น ดังนั้น เดส์คาร์ตส์จึงสรุปลงได้ว่า


1. ตัวตนมีจริง เพราะมีความนึกคิด ถ้าไม่มีตัวตน ความนึกคิดย่อมไม่มี


2. พระเป็นเจ้ามีจริง เพราะโลกภายนอกมีอยู่ และคุณสมบัติเช่นสมบูรณ์ยิ่งมีความดีสูงสุด เป็นอมตะภาวะและมีสัจภาวะ ย่อมมีคุณสมบัติเฉพาะพระเป็นเจ้าเกิดเท่านั้น


3. โลกมีจริง เพราะจัดอยู่ในโลกภายนอก อาศัยสัจภาวะของพระเป็นเจ้าเกิดขึ้นถ้าสัจภาวะของพระเป็นเจ้าไม่มี โลกย่อมไม่มีด้วย


อนึ่ง เดส์คาร์ตส์กล่าวย้ำว่า เพราะความคิดที่ฝังมาแต่แรกเกิด ฝังอยู่ในจิต ที่มีอยู่ในตัวตน ตัวตนจึงต้องมีจริง ความคิดเช่นนี้สามารถแบ่งแยกออกไปให้ละเอียดอ่อน เรามีความเชื่อมั่นในตัวเองจึงมีความคิดว่า พระเป็นเจ้าต้องมีและโลกภายนอกจะต้องมีเช่นกัน เพราะเมื่อพระเป็นเจ้ามี เป็นสัจภาวะ ย่อมสร้างมูลฐานแห่งความเป็นจริงคือโลกให้เกิดขึ้น เพราะโลกเป็นผลของสัจภาวะคือพระเป็นเจ้า หรืออาจจะกล่าวให้สั้นก็คือ ตัวตนมี โลกมี เพราะอาศัยความจริงที่เรียกว่าสัจภาวะ สิ่งที่มีความคิดหาที่สุดมิได้นั่นคือพระเป็นเจ้า หรือเมื่อมีตัวตน สามารถคิดได้ พระเป็นเจ้าและโลกจึงมีจริง เพราะเป็นผลของการมีตัวตนเป็นผู้คิดนั่นเอง


ด้านอภิปรัชญา


ในเรื่อง “ความมีอยู่ของพระเป็นเจ้า” เดส์คาร์ตส์ได้ใช้หลัก 2 อย่างเพื่อพิสูจน์ว่าพระเป็นเจ้ามีอยู่ คือ
1. ทฤษฎีภววิทยา ทฤษฎีภววิทยานี้เดส์คาร์ตส์ดำเนินตามทฤษฎีภววิทยาของแอนเสล์มแห่งแคนเตอร์บูรี่ ซึ่งเป็นนักเทววิทยาและปรัชญา ในการศึกษาเบื้องต้น แอนเสล์ม กล่าวว่า “ศรัทธาจะต้องเกิดก่อนความรู้ บุคคลจึงจำเป็นต้องมีศรัทธาความเชื่อเพื่อจะได้เข้าใจสิ่งอื่นต่อไป อย่างไรก็ดี ศรัทธาดังนี้จะต้องตั้งอยู่บนหลักเหตุผลเพื่อให้เป็นกฎสากล แอนเสล์ม ก็ยอมรับลัทธิสัจนิยมอย่างจริงจังเพื่อพัฒนาวิธีการหาเหตุผลทางภววิทยาเพื่อพิสูจน์ความมีอยู่ของพระเจ้าดังที่เขาได้ตั้งเป้าประสงค์ไว้ว่าอาร์ชบิชอปแห่งแคนเตอร์บูรี่จะต้องเป็นประมุขในนิกายคาทอลิกฉะนั้น” และจักรวาลวิทยาที่พวกเทวนิยมใช้กันอยู่ในสมัยนั้น
ภววิทยานั้น เดส์คาร์ตได้ศึกษาจากธรรมชาติที่มนุษย์เราคิดที่มีต่อพระเป็นเจ้าและมีความเชื่อมั่นกัน โดยตั้งสมมติฐาน 2 แบบคือ


ก. ความคิดขึ้น การมีความคิดเช่นนี้ ข้าพเจ้าจึงมีอยู่ ในทำนองเดียวกัน ในเรื่องพระเป็นเจ้า เมื่อข้าพเจ้าคิดถึงพระองค์ พระองค์จะต้องมีแน่นอน เพราะอาศัยความคิดของข้าพเจ้าเป็นต้นเหตุนั่นเอง
ข. แบบเรขาคณิต เมื่อเราคิดถึงเรื่องใดเรื่องหนึ่งด้วยความจำเป็น เราจะต้องคิดถึงคุณสมบัติของสิ่งเหล่านั้นด้วย เช่น ความคงที่ กินที่ การมีกลิ่น เป็นต้น ไปพร้อมๆกัน มิฉะนั้นแล้วเราจะไม่สามารถเข้าใจเรื่องนั้นได้ เมื่อเราคิดถึงรูปสามเหลี่ยม เราจะต้องคำนึงถึงคุณสมบัติของรูปสามเหลี่ยมนั้นไปด้วยว่ามีคุณสมบัติอย่างไร ซึ่งเรามักจะทราบว่า มุมทั้งสามของสามเหลี่ยมจะเท่ากับสองมุมฉากเสมอ ในทำนองเดียวกัน เมื่อเราคิดถึงพระเป็นเจ้า ความสมบูรณ์ก็ดี ความเป็นอมตะก็ดี ความมีสติปัญญายอดยิ่งก็ดี เหล่านี้ย่อมเป็นคุณสมบัติของพระเป็นเจ้าที่เราจะต้องคำนึงถึงด้วยทั้งนั้น
2. ทางจักรวาลวิทยา เดส์คาร์ตส์ได้พยายามศึกษาจากความมีอยู่ระหว่างเหตุกับผล ผลจะเกิดมีได้ต้องอาศัยเหตุ เดส์คาร์ตส์เริ่มด้วยพิชานที่บุคคลจะต้องรู้ด้วยตนเอง นั่นคือความนึกคิดของพระเป็นเจ้าจะต้องมีมากมาย ไม่มีที่สิ้นสุดและสมบูรณ์ยิ่ง ซึ่งความนึกคิดเช่นนี้เดส์คาร์ตส์เชื่อว่ามันเกิดมีมาแล้วตั้งแต่แรกเกิดหรือเกิดมาพร้อมกันกับมนุษย์เกิดนั่นเองที่เรียกว่า “ความคิดที่ติดมาตั้งแต่แรกเกิด” เพราะความคิดเช่นนี้ มิได้อาศัยประสบการณ์ภายนอก หรือมิได้อาศัยจิตเราได้สร้างสรรค์ขึ้นมาแต่อย่างใดเลย แต่เป็นการเปิดเผยความนึกคิดหรือความรู้ที่พระเป็นเจ้าได้ประทานให้แก่มนุษย์เพราะความภักดี ความศรัทธาของมนุษย์นั้นที่มีต่อพระเป็นเจ้า ถ้าจะถามว่าอะไรเป็นสาเหตุที่แท้จริงในการเกิดความรู้ เช่นนี้ อาจจะตอบได้ว่า สาเหตุที่แท้จริงที่ทำให้เกิดความรู้เช่นนี้ย่อมมีแตกต่างกันไปแล้วแต่ละบุคคล เพราะบุคคลแต่ละคนย่อมมีขอบเขตจำกัดและไม่สมบูรณ์ เพราะฉะนั้น จึงต้องมีสิ่งที่ไม่มีขอบเขตจำกัดและสมบูรณ์อื่นอีก อันจะเป็นต้นเหตุให้เกิดความรู้นั้นได้ ต้นเหตุดังกล่าวนี้คือ พระเป็นเจ้านั่นเอง
แม้เดส์คาร์ตจะกล่าวว่า พระเป็นเจ้ามีตัวตนก็ตาม แต่เดส์คาร์ตไม่ได้อธิบายว่าลักษณะของพระเป็นเจ้ามีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร? แต่ได้ให้ข้อสังเกตสั้นๆว่า “พระเป็นเจ้าต้องมีแน่นอน” โดยให้ข้อพิสูจน์ในเรื่องพระเป็นเจ้าไว้ว่า


ก. พระเป็นเจ้าเป็นต้นเหตุให้เราเกิด เพราะมนุษย์เราจะเป็นต้นเหตุของเราเองไม่ได้จะต้องมีเหตุที่มีสมรรถภาพสูงสุด สิ่งที่มีสมรรถภาพดังกล่าวคือพระเป็นเจ้า


ข. พระเป็นเจ้ามีสภาวะสมบูรณ์ยิ่ง มีกฏอยู่ว่าเหตุทำให้เกิดผล เมื่อเหตุยังไม่ทำให้ผลเกิดขึ้น เหตุจะต้องผลิตอยู่เรื่อยไป เมื่อผลมีสมบูรณ์ เหตุจึงจะหยุดผลิต สิ่งที่ผลิตเมื่อสมบูรณ์จึงเป็นคุณลักษณะของพระเป็นเจ้า


ค. พระเป็นเจ้ามีอยู่จริง อำนาจ คุณธรรม ความรู้หรือปัญญาและอื่นๆ เป็นสิ่งสมบูรณ์อันเป็นคุณลักษณะของพระเป็นเจ้าผู้ทรงคุณความมีอยู่ (Being) แน่นอน ถ้าไม่มีความมีอยู่จริง คุณลักษณะดังกล่าวจะมีไม่ได้ เหมือนรูปสามเหลี่ยม เมื่อรวมกันเข้าเท่ากับสองมุมฉาก เมื่อรูปสามเหลี่ยมมีอยู่อยู่จริงจึงจะเท่ากับสองมุมฉากได้ ถ้าไม่มีรูปสามเหลี่ยมอันเป็นเหตุ ผลที่ว่าเท่ากับสองมุมฉากจะมีไม่ได้เลย


ง. พระเป็นเจ้าย่อมสมบูรณ์และยิ่งใหญ่ ตัวเราไม่สมบูรณ์และไม่ยิ่งใหญ่จึงได้นามว่า มนุษย์ เมื่อตัวเรามีอยู่ พระเป็นเจ้าจึงต้องมี แต่เราจะสมบูรณ์และยิ่งใหญ่เหมือนพระเป็นเจ้าไม่ได้ พระเป็นเจ้าเท่านั้นที่สมบูรณ์และยิ่งใหญ่
ในเรื่องความมีอยู่ของสสาร เดส์คาร์ตส์ก็อนุมานจากความมีอยู่ของจิตที่มีความรู้สึกหรือมีพิชานในตัวเอง ไปถึงพระเป็นเจ้า เมื่ออนุมานว่าพระเป็นเจ้าย่อมมีอยู่ จึงอนุมานต่อไปว่า เมื่อพระเป็นเจ้ามีอยู่ สสารก็ย่อมมีอยู่ด้วย จริงอยู่มนุษย์เราย่อมมีประสาทสัมผัสด้วยกันทุกคนเพราะเรามีร่างกาย แต่ประสาทสัมผัสเหล่านี้แม้จะมีอยู่จริง แต่ปราศจากความนึกคิดจึงไม่เกิดความรู้หรือพิชานในตัวเรา จะทำให้เกิดความรู้หรือพิชานได้จะต้องอาศัยสาเหตุบางอย่างซึ่งอยู่ภายนอกตัวเรา สาเหตุดังว่านั้นคือพระเป็นเจ้านั่นเอง เราจึงสามารถมีความรู้หรือพิชานในตัวเราได้ เพราะพระเป็นเจ้ามีสภาวะที่สมบูรณ์ มีความรู้ยิ่ง มีอมตะภาวะไม่ตาย มีสัจภาวะ ภาวะที่ให้ความรู้แก่เราเช่นนี้ ไม่ใช่ภูต ถ้าเป็นภูตแล้วเราคงจะถูกหลอกลวงเป็นนิตย์ แต่โดยธรรมชาติแล้วหาเป็นเช่นนั้นไม่ และเราไม่สามารถจะเข้าไปเกี่ยวเนื่องกับสัจจะของพระเป็นเจ้าได้เลยถ้าเราขาดความภักดีต่อพระองค์ด้วยใจจริง ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่สามารถจะหลีกเว้นจากพระเป็นเจ้า เพื่อให้ความนึกคิดของเราแจ่มชัดไม่ผิดพลาด ดังนั้น ในทรรศนะของเดส์คาร์ตส์จึงได้ตั้งสมมติฐานในเรื่องความมีอยู่ของสสารไว้ดังนี้


ก. สาเหตุหลัก ในสมมติฐานข้อนี้ เดส์คาร์ตส์ กล่าวว่า ถ้าสสารมีอยู่ตามที่เป็นจริงจะต้องมีอะไรเป็นลักษณะที่สำคัญของสสารนั้น ประสาทสัมผัสที่มนุษย์เรามีอยู่เพราะสามารถสัมผัสกับวัตถุหรืออารมณ์ภายนอกได้ตามที่เรามีอยู่นั้น จะแจ่มแจ้งชัดเจนไม่ได้ แต่มักจะยุ่งเหยิงคลุมเครือสลับซับซ้อน จึงไม่ชัดเจนแจ่มแจ้ง ดังนั้นประสาทสัมผัสดังกล่าวนั้นจึงไม่สามารถให้เกิดความจริงได้ แต่การเปิดเผยธรรมชาติแห่งความจริงที่เป็นสาเหตุหลักและสูงสุดของประสาทสัมผัสของมนุษย์ย่อมเป็นความจริงใจที่มนุษย์ต้องการ สิ่งที่เป็นสาเหตุหลักและสูงสุดนั้นจะต้องเป็นสสารซึ่งมีสภาพที่มีอยู่จริงโดยธรรมชาติ เพราะไม่จำเป็นต้องอิงอาศัยสิ่งอื่นเพื่อความเป็นอยู่
ข. สัจจะของพระเป็นเจ้า สมบัติอันหนึ่งของพระเป็นเจ้าคือสัจจะ ด้วยเหตุนี้พระเป็นเจ้าเท่านั้นสามารถมีเนื้อสารเช่นนั้นได้ ดังนั้น เดส์คาร์ตส์จึงพยายามชี้นำให้เห็นความแจ่มแจ้งระหว่างพระเป็นเจ้าในฐานะพระองค์เป็นเนื้อสารสูงสุด กับร่างกายและจิตใจในฐานะที่มีความสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันหรือขึ้นอยู่กับเนื้อสารทั้งหลาย สาเหตุที่มีการสร่างสรรค์หรือมีประสาทสัมผัสเกี่ยวข้องอยู่กับเนื้อสารที่เราเรียกในที่นี้ว่า “สสาร” ถึงแม้ว่าร่างกายของเราหรือความรู้สึกนึกคิดทั้งหลายจะไม่บอกเราว่า อะไรเป็นธรรมชาติที่แท้จริงของสสารนั้น เราย่อมจะมีเหตุผลเพื่อให้รู้ถึงความจริงได้ จึงจำเป้นอย่างยิ่งจะต้องทราบถึงลักษณะของสสารหรือคุณสมบัติของสสารว่ามีอยู่จริง เช่น การกินที่ ความแข็งแกร่ง ความมีกลิ่น เหล่านี้เป็นต้น ดังนั้น
เดส์คาร์ตส์ จึงกล่าวว่า สสารเท่ากับการกินที่ การกินที่เท่ากับการมีสถานที่ (เทศะ) และช่องว่าง (อากาศ) พอสสารนั้นตั้งอยู่ได้ แต่การกินที่มีสถานที่และช่องว่างจะต้องผ่านการเปลี่ยนแปลงที่เรียกกันว่า “อัญรูป” อัญรูปนี้อันเป็นรากฐานของสสารต่อไปก็คือการเคลื่อนไหวหรือการหยุดอยู่กับที่แล้วแต่กรณี ว่าโดยธรรมชาติแล้ว การกินที่ก็คือการอยู่เฉยๆในสภาวะเดิมนั่นเอง แต่โดยธรรมชาติของสสารเองจะเคลื่อนไหวไม่ได้ ดังนั้น ความเคลื่อนไหวของสสารจะมีได้จะต้องอาศัยสัจจะของพระเป็นเจ้า แม้แต่การเคลื่อนไหวของจักรวาลต้อง
อาศัยสัจจะของพระเป็นเจ้าทั้งนั้น พระเป็นเจ้าจึงเป็นทั้งสาเหตุเบื้องต้นและสาเหตุสุดท้ายอีกประการหนึ่ง ความเคลื่อนไหวและการหยุดอยู่กับที่จะต้องมีสาเหตุมาจากพระเป็นเจ้าตามกฏที่แน่นอนเรียกว่า “สัจจะของพระองค์” ดังนั้น โลกแห่งวัตถุทั้งหมดที่ปรากฎอยู่จึงเป็นโลกแห่งการเคลื่อนไหวและโลกแห่งการอยู่กับกับที่อันเป็นกฏแห่งจักรวาล แม้แต่พืช สัตว์ และร่างกายมนุษย์ก็จะต้องอาศัยกฏอันนี้เช่นเดียวกัน กล่าวได้ว่า เดส์คาร์ตเป็นปรัชญาเมธีประเภททวินิยม (Dualism) คือเชื่อมั่นในจิตนิยมแบบเก่า และวิทยาศาสตร์สมันใหม่ โดยกล่าวว่า ทรรศนะทางปรัชญาและทรรศนะทางวิทยาศาสตร์สามารถประสานกันได้กับทางศาสนา
สรุปได้ว่า อภิปรัชญาของเดการ์ต เชื่อทั้งเรื่องจิตและสสาร แต่ก็คิดว่าจิตกับสสารเป็นคนละเรื่อง อยู่คนละมิติ มีกฎที่เป็นระบบเครือข่ายควบคุมอยู่คนละระบบ ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่โยงใยถึงกัน แต่ทว่าสมองมนุษย์มีสมองเดียวที่จะเข้าใจทั้งสองระบบ สองระบบนี้จึงไม่ควรขัดแย้งกัน เดการ์ตแยกสสารออกจากจิตอย่างเด็ดขาด เพื่อให้สสารเป็นอิสระเดินตามกฎกลศาสตร์และจิตก็จะเป็นอิสระเดินตามกฎของจิตซึ่งเป็นผู้คิดบริสุทธิ์ แนวคิดอภิปรัชญาของเดการ์ตสรุปได้จากญาณปรัชญา โดยเดการ์ตได้เสนอวิธีคิดค้ำประกันความน่าเชื่อโดยเลียนแบบวิธีพิสูจน์ด้วยทฤษฎีเรขาคณิต คือให้เริ่มจากปฐมบทที่แจ่มแจ้งชัดเจนที่ไม่มีใครสงสัยได้เลย ต่อจากนั้นก็ดำเนินการพิสูจน์ชนิดที่แน่ใจได้ว่าพิสูจน์ได้ถึงไหนก็แน่ใจได้ถึงนั่น นอกจากนั้นให้ถือว่าเป็นการเดาที่ยังไม่รับรอง เดการ์ตจึงชี้ว่าความรู้ของมนุษย์สัมพันธ์กันเป็นระบบเครือข่าย พระผู้สร้างที่ไม่อาจจะหลอกลวงมนุษย์ได้ พระองค์ทรงสร้างมนุษย์มาให้รู้ความจริงของเอกภพ เอกภพจึงต้องแบ่งเป็นหน่วยย่อยได้ตามที่มนุษย์เข้าใจ และหน่วยย่อยต่าง ๆ ของเอกภพจะต้องประสานกันเป็นเครือข่ายเหมือนกับเครื่องจักรกลมหึมาเครื่องเดียวที่ทำงานเรียบร้อยอย่างไม่มีที่ติ ดังนั้นเมื่อมนุษย์สังเกตส่วนใดของเอกภพก็ตามเอามาตรึกตรองตามกฎคณิตศาสตร์จะได้กฎของเอกภพในส่วนนั้น และจากส่วนนั้นอาจจะอนุมานไล่เลียงไปสู่ส่วนอื่น ๆ ได้ หากใช้ถูกวิธี (สมเหตุผลตามหลักตรรกะ) ไล่เลียงไปถึงไหนก็แน่ใจว่าเป็นความจริงวัตถุวิสัยได้ถึงนั่น แนวคิดนี้คือเกณฑ์ของลัทธิวจนศูนย์นิยม (logocentrism) ซึ่งกลายเป็นความเชื่อหลักของนวยุคนิยม

ด้านจริยศาสตร์

ในด้านจริยศาสตร์เดส์คาร์ตได้นำเอาทรรศนะส่วนหนึ่งมาจากอภิปรัชญา อีกส่วนหนึ่งมาจากเทววิทยาที่เขาได้กำหนดไว้ ในด้านอภิปรัชญาดูเหมือนจะเอนเอียงไปทางความคิดแบบโบราณโดยกล่าวว่า “คุณธรรม (ความดี) สูงสุดจำเป็นต้องพิจารณาจากความบริสุทธิ์ทางจิตใจที่เรียกว่า “มโนสุจริต” และจะต้องมีการปลูกฝังที่อารมณ์เพื่อให้ควบคุมอำนาจกิเลสหรือธรรมชาติฝ่ายต่ำให้ได้ ส่วนในแง่เทววิทยาจะเห็นได้ว่าเดส์คาร์ตจะเป็นนักการศึกษาอยู่บ้าง ถึงจะเน้นในเรื่องให้ภักดีต่อพระเป็นเจ้าด้วยความบริสุทธิ์ใจก็ตาม เพราเห็นว่าการภักดีต่อพระเจ้านั้นเป็นคุณธรรม (ความดี) สูงสุด”
ในด้านจริยธรรม พระเป็นเจ้าเป็นสิ่งสมบูรณ์ ยิ่งใหญ่และเป็นต้นเหตุของสิ่งทั้งหลาย พระองค์เป็นสัจภาวะมีลักษณะเป็นสัตย์ ไม่หลอกลวงมนุษย์ เนื่องจากสิ่งสูงสุดในจักรวาลมี 2 ชนิด คือ จิตและสสาร ทั้งสองอย่างเป็นจริงและสูงสุดเช่นกัน และเป็นสิ่งคู่กันถ้าขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งเราจะไม่รู้ว่าอะไรเป็นอะไร เช่น ถ้าขาดจิต เราก็ไม่มีอะไรเป็นผู้สงสัย เป็นผู้คิด และถ้าขาดวัตถุหรือสสารเราก็ไม่เห็นว่าเป็นอะไร เรียกสิ่งนั้นว่าอะไรหรือสิ่งนั้นมีรูปร่างอย่างไรจิตและสสารจึงเป็นจริงเท่ากัน จึงเรียกเดส์คาร์ตว่า “นักปรัชญาประเภททวินิยม” เพราเชื่อว่า ความจริงมีสองอย่าง คือ จิตกับสสาร เดส์คาร์ตยืนยันว่า เราจะรู้ว่าสิ่งต่างๆ มีอยู่เพราะเรามีจิตและสสารนี้เอง เนื่องจากจิตเป็นสภาวะที่รับรู้สิ่งนั้นๆ ส่วนสสารก็เป็นวัตถุที่ให้จิตรับรู้ จิตถ้าไม่สามารถรับรู้สิ่งใดได้ จิตก็ไม่มีความหมายเนื่องจากไม่สามารถทำหน้าที่ของตนคือการคิด สสารก็เช่นเดียวกันจะอยู่อย่างอิสระโดยไม่มีจิตเป็นสภาวะที่รับรู้ไม่ได้ เราจะรู้ว่ามีสสารก็ต่อเมื่อมีจิตเป็นผู้รับรู้ เนื่องจากจิตมีลักษณะเป็นความคิด เป็นมโนภาพ เป็นนามธรรม ไม่มีรูปร่าง จึงมีหน้าที่คือความคิด สร้างมโนภาพ สร้างสรรค์รูปวัตถุต่างๆ ขึ้น ดังนั้น ทั้งจิตและสสารจึงมีความจริงเท่ากัน มีความเกี่ยวข้องกัน ทั้งจิตและสสารย่อมขึ้นอยู่กับพระเป็นเจ้า จริงอยู่ทั้งจิตและสสารมีธรรมชาติเป็นอิสระในตัวเอง ส่วนพระเป็นเจ้าเป็นสารสูงสุดเหนือสสารใดๆ ดังนั้น ทั้งจิตและสสารจึงต้องอาศัยพระเป็นเจ้าจึงสามารถมีเป็นอยู่ได้
มนุษย์มีผัสสะต่างๆ จากภายนอกตัวเราและมักจะเห็นว่าเป็นจริง เพราะมนุษย์เราเป็นอยู่ได้ด้วยพลานุภาพหรือพรบารมีของพระเป็นเจ้า ดังนั้น ความจงรักภักดี ความซื่อสัตย์ต่อพระเป็นเจ้าผู้เป็นต้นเหตุให้เกิด จึงเป็นความประพฤติที่ดีงาม และเป็นคุณธรรมขั้นสูงสุด คุณธรรมอันประเสริฐยิ่ง ซึ่งมนุษย์ทุกคนควรประพฤติ





ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น