วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา

บทที่ 1
บทนำ



ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
            การบรรพชาเป็นสามเณรของกุลบุตรมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล สามเณรองค์แรกคือ พระราหุลกุมาร ซึ่งเป็นพระราชโอรสของเจ้าชายสิตธัตถะ กับนางยโสธรา ประวัติการบรรพชาเป็นสามเณรของพระราหุลกุมาร มีว่า สมัยที่พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จกรุงกบิลพัสดุ์ ตามคำทูลเชิญของพระเจ้าสุทโธทนะ เพื่อทรงโปรดพระประยูรญาติ พระนางยโสธรา ทรงแนะนำให้พระราหุลกุมาร ไปทูลขอพระราชสมบัติจากพระบิดา สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงรำพึงว่า หากพระองค์จะพระราชทานสมบัติเยี่ยงบิดาให้แก่บุตรทั่ว ๆ ไปแล้ว สมบัตินั้นก็จะเป็นห่วงผูกพันพระโอรส ไว้ในวัฏสงสาร ไม่มีความเที่ยงแท้แน่นอน สู้การพระราชทานสมบัติอันประเสริฐ คือ อริยทรัพย์ 7 ประการ ไม่ได้ พระพุทธองค์จึงได้แสดงธรรมอริยทรัพย์ 7 ประการ โปรดพระราหุลกุมาร แล้วทรงโปรดให้พระสารีบุตร เป็นผู้จัดการบรรพชา ให้พระราหุลกุมารเป็นสามเณร และพระโมคคัลลานะเป็นผู้ปลงเกศา และให้ผ้ากาสาวพัสตร์ พระสารีบุตรให้ไตรสรณคมน์ พระมหากัสสปะเป็นผู้ให้โอวาทการบรรพชาให้แก่     พระราหุลกุมาร จึงเป็นการบรรพชาครั้งแรกในพระพุทธศาสนา และพระราหุลกุมารก็ทรงเป็น สามเณรองค์แรกในพระพุทธศาสนา ด้วยเหตุที่พระราหุลกุมารยังทรงพระเยาว์อยู่มีพระชันษายังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์ จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุไม่ได้ การบรรพชาเป็นสามเณรของเยาวชนชาย จึงเริ่มต้นตั้งแต่พุทธกาลเป็นต้นมา (กรมการศาสนา, 2525, หน้า 11)
           
ต่อมาเมื่อพระพุทธศาสนาได้เผยแผ่เข้ามาสู่ประเทศไทย พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาประจำชาติไทย มีบทบาทสำคัญต่อประวัติศาสตร์ของประเทศไทยมายาวนานตั้งแต่เริ่มตั้งถิ่นฐาน  ทั้งในด้านการเมือง การปกครอง ตลอดจนประเพณีและวัฒนธรรมต่าง ๆ ของไทย พุทธศาสนานอกจากจะเป็นศาสนาอันเป็นที่พึ่งทางจิตใจของชนชาวไทยแล้ว ยังเป็นเสมือนหนึ่งในรากเหง้าสำคัญที่ทำให้ไทยเป็นชนชาติที่สมบูรณ์จวบจนทุกวันนี้ ประเทศไทยจึงมีประเพณีและวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องหรือ ก่อเกิดมาจากศาสนาพุทธเป็นจำนวนมาก พิธีกรรมการบวชถือเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากในทางพุทธศาสนา เพราะการบวชหรือการอุปสมบทเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ยังคงมีพุทธสาวก การบรรพชาสามเณรถือเป็นหนทางหนึ่งที่ปลูกฝังให้เด็กรุ่นหลังซึมซับ และมีความศรัทธาต่อ       พุทธศาสนา ชาวพุทธก็นิยมส่งบุตรหลานของตนเข้าบรรพชาเป็นสามเณรกันมากขึ้น แม้บุตรเจ้านายในวังต่างก็ได้รับ การสนับสนุนให้บรรพชาเป็นสามเณร เช่น สมเด็จกรมพระปรมานุชิตชิโนรส ก็ทรงได้รับการบรรพชามาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ ในวรรณคดีเรื่องขุนช้างขุนแผน ก็ได้กล่าวถึงการบรรพชาของสามเณรแก้ว สามเณรเงิน (กรมการศาสนา, 2525, หน้า 12)
            การบรรพชาสามเณรแต่ละท้องถิ่น แต่ละท้องที่ในประเทศไทยถึงแม้ว่าส่วนใหญ่จะมีความคล้ายคลึงกัน แต่ในบางพื้นที่ก็มีลักษณะเฉพาะที่แตกต่างจากวิธีการบรรพชาสามเณรทั่วไป เพราะสังคมไทยเองก็มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม เชื้อชาติ และสายพันธุ์
            กลุ่มชนชาวไทใหญ่เป็นหนึ่งในกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ทางภาคเหนือ เพราะได้อพยพมาจากประเทศพม่า จึงมีลักษณะจารีตประเพณี และวัฒนธรรมที่แตกต่างจากชาวไทยพื้นเมือง แต่ชาว     ไทใหญ่เองก็นับถือพุทธศาสนาเถรวาทเช่นเดียวกัน พิธีกรรมทางศาสนาส่วนใหญ่จึงมีความคล้ายคลึงกับพิธีกรรมทางศาสนาของชนชาวไทย การบวชก็เป็นพิธีกรรมทางศาสนาที่ชาวไทใหญ่ให้ความสำคัญ แต่จะมีความแตกต่างในเรื่องของรายละเอียดทางพิธีกรรม เช่น การบวชสามเณรของชาวไทใหญ่นั้น เรียกว่าการบวชปอยส่างลอง
            ประเพณีปอยส่างลอง ถือว่าเป็นการบรรพชา ที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวไทใหญ่ เป็นพิธีการเตรียมตัวก่อนการบรรพชา โดยสมมุติเหตุการณ์ให้เหมือนกับการบวชของพระโอรส      จิตตะมังซา ซึ่งเป็นพระโอรสของกษัตริย์พระองค์หนึ่งในสมัยพุทธกาล เมื่อพระโอรสทรงมีพระชนมายุได้ 10 ชันษา พระชนกซึ่งมีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า มีพระประสงค์ที่จะให้พระโอรสผนวชเป็นสามเณรแต่ก็มิได้บังคับแต่ประการใดเมื่อเป็นพระราชประสงค์ของพระชนก โอรสจิตตะมังซาก็มิได้ขัด เพราะว่าพระองค์เองก็มีพระทัยอยากจะผนวชอยู่แล้ว การตัดสินพระทัยออกผนวชของพระโอรสยังความปลาบปลื้มแก่พระชนกยิ่งนัก ทำให้เกิดความปิติยินดีในบุญกุศลครั้งนี้อย่างยิ่ง พระชนกจึงให้มีการจัดงานเฉลิมฉลองขึ้นเป็นการใหญ่ถึงเจ็ดวันเจ็ดคืน โดยให้โอรส แต่งองค์อย่างเต็มยศให้สมกับที่เป็นองค์พระยุพราช จากนั้นจึงได้จัดขบวนแห่พระโอรสที่แต่งองค์แบบเต็มยศไปผนวชกับพระพุทธองค์ ครั้นเมื่อผนวชแล้วโอรสจิตตะมังซาก็ได้รับฉายาใหม่ว่าจิตตะมาแถ่ ทรงผนวชอยู่นานจนมีพระชันษาครบที่จะเป็นพระภิกษุเมื่อกาลเวลาผ่านเลยไป จิตตะมาแถ่ก็ได้สำแดงบุญบารมีจนเป็นที่ประจักษ์ และการผนวชของท่านได้เป็นต้นแบบของการบรรพชาของชาวไทใหญ่จนกลายเป็นประเพณีที่สำคัญที่สุด (สมัย สุทธิธรรม, 2531, หน้า 27 - 28) ประเพณีปอยส่างลอง เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่สะท้อนถึงศรัทธา ความเชื่อมั่นทางศาสนาของชาวไทใหญ่ วัตถุประสงค์สำคัญของพิธีกรรมคือ การสร้างศาสนบุคคลเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวไทใหญ่ แต่ในปัจจุบันรูปแบบของการจัดงาน และปฏิสัมพันธ์ของคนในชุมชนได้มีการเปลี่ยนแปลงไป จากการผสมกลมกลืนทางโครงสร้างของสังคมเมือง และวิถีชีวิตแบบหลากหลายจากคนต่างถิ่น รวมถึงการรับเอาค่านิยมทางตะวันตกเข้ามาในระบบคิดของการดำรงชีวิตในปัจจุบันมากขึ้น ความโดดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์นี้ เป็นจุดสนใจ ก่อให้เกิดธุรกิจ เป็นแหล่งท่องเที่ยวโดยมีภาครัฐเข้ามาดูแล กลายเป็นรัฐบาลเข้ามาดูแลแทนที่จะเป็นความรับผิดชอบของชุมชนชาวไทใหญ่ บทบาทของพิธีกรรมที่ส่งผลต่อความเชื่อของในชุมชนจึงเปลี่ยนไป
            หมู่บ้านกุงแกง ที่ ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน เป็นหมู่บ้านที่ไม่ใหญ่มากนัก อดีตอยู่ในการการดูแลของหมู่บ้านทุ่งโป่ง ต่อมาเมื่อมีการขยายตัวของประชากร ชุมชนมากขึ้น จึงมีการแยกออกมา เป็นอีกหมู่บ้านหนึ่ง เป็นหมู่บ้านที่มีชาวไทใหญ่อาศัยอยู่ ปะปนกับชาวไทยพื้นเมือง แต่มีการเผยแผ่วัฒนธรรมของตนได้ผสมกลมกลืนกับชาวไทยพื้นเมืองได้เป็นอย่างดี ชุมชนมีความเป็นอยู่ที่เรียบง่าย เป็นไปอย่างสงบสุข ในด้านการสืบทอดประเพณีปอยส่างลองก็เช่นกัน มีการเผยแผ่ให้คนพื้นเมืองได้มีส่วนร่วม ศูนย์กลางการจัดงานจะเป็นคนในหมู่บ้าน วัด ร่วมมือกัน เน้นการสืบทอดโดยมิได้มุ่งเน้นในเรื่องของการท่องเที่ยว ไม่มีหน่วยงานภาครัฐมาเกี่ยวข้อง จึงเป็นการร่วมมืออันเกิดจากพลังศรัทธาโดยชุมชนอย่างแท้จริง
            ดังนั้นผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษา ประเพณีปอยส่างลอง ว่ามีประวัติความเป็นมา ขั้นตอนพิธีกรรม ของคนในชุมชนบ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ที่มีต่อประเพณีปอยส่างลองอย่างไร
วัตถุประสงค์ของการวิจัย
            เพื่อศึกษาประเพณีปอยส่างลอง หมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน



ขอบเขตของการวิจัย
            1. ขอบเขตพื้นที่ของการวิจัย ในงานวิจัยนี้ผู้วิจัยจำกัดขอบเขตการศึกษาอยู่เฉพาะ ในเขตพื้นที่ หมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นเขตที่มีการจัดงานประเพณีปอยส่างลอง
            2. ขอบเขตเนื้อหาของงานวิจัย เน้นการศึกษาเรื่องประเพณีปอยส่างลอง ประวัติความเป็นมา ขั้นตอน พิธีกรรม

วิธีดำเนินการวิจัย
            งานวิจัยนี้ เป็นการวิจัยแบบพรรณนาวิเคราะห์ โดยได้กำหนด วิธีการและขั้นตอนในการวิจัยไว้ดังนี้
            1. ขั้นรวบรวมข้อมูล
                1.1 รวบรวมข้อมูลขั้นต้นจากเอกสาร โดยรวบรวมข้อมูลจากเอกสารและงานศึกษาวิจัยที่เกี่ยวข้องคือ (1) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับความเป็นมาของการบรรพชา (2) เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเพณีปอยส่างลอง
                1.2 รวบรวมข้อมูลภาคสนาม โดยผู้วิจัยได้ทำการรวบรวมข้อมูล จากการเข้าไปสังเกตการณ์และสัมภาษณ์
                ในการสังเกตการณ์ผู้วิจัยได้ลงพื้นที่เข้าร่วมสังเกตการณ์ ช่วงการเตรียมงานปอยส่างลอง และช่วงขั้นพิธีกรรมของหมู่บ้านกุงแกง ช่วงก่อนและระหว่างประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้าน กุงแกง เข้าไปฝังตัว ในพื้นที่เพื่อสังเกต การจัดงานปอยส่างลอง บุคคลที่เกี่ยวข้องในงานปอยส่างลอง และประชาชนที่เข้าร่วมงาน ในการสัมภาษณ์ ผู้วิจัยได้ใช้การสัมภาษณ์แบบเจาะลึก โดยมีผู้ให้สัมภาษณ์หลัก จนข้อมูลอิ่มตัวได้แก่
                1. พระมหาสมศักดิ์ สุภเมธี             เจ้าคณะอำเภอปาย
                2. พระอาจารย์จร ประภัสโร          เจ้าอาวาสวัดกุงแกง
                3. สามเณรเพชรประชา กลิ่นเขตกานต์ สามเณรที่ผ่านการบรรพชาแบบปอยส่างลอง
                4. นายสมศักดิ์ โพธิ์ศรีทอง             นายอำเภอปาย 
                5. นายสมจิตร ชื่นจิตร                 กำนันตำบลทุ่งยาว, ผู้ใหญ่บ้าน หมู่บ้านกุงแกง
                6. นายอัครเดช วันไชยธนวงศ์          นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน
                7. นายธนพล ไชยะ                     รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลทุ่งยาว
                8. นายสิงห์ทอง เรือนแก้ว             คณะกรรมการหมู่บ้านกุงแกง      
                9. นายรัตน์ ถาคำ                      มัคคทายกวัดกุงแกง
                10. นายปันติ๊ ปันแก้ว                  ผู้ดูแลพิธีกรรม
                11. นางสี ปันแก้ว                      ผู้ดูแลขั้นตอนพิธีการ
                12. นายสมพร กันทาคำ               ปราชญ์ชุมชน
                13. นายส่างออ วงศ์จัน                พ่อข่าม
                14. นางยุพิน วงศ์จัน                   แม่ข่าม
                15. นางบัวตอง เปงนาค                แม่ของส่างลอง
                16. นางอิง ใจวัน                       แม่ของส่างลอง
                17. นายฉายแสง ยอดคำ               พ่อของส่างลอง
                18. นายนันตะ ใจวัน                   พ่อของส่างลอง
                19. เด็กชายรังสรรค์ ยอดคำ           ส่างลอง
                20. เด็กชายธงชัย ยอดคำ              ส่างลอง
                          21. เด็กชายธนพล เปงนาค             ส่างลอง
                22. เด็กชายทุน ทศพล                  ส่างลอง
                23. เด็กชายนพเก้า ใจเขื่อนคำ         ส่างลอง
                24. เด็กชายพัฒนไชย คำป่วน          ส่างลอง
                25. นายบุญยวม หน้าละมุง            ตะแปส่างลอง
                26. นายกิตติพงศ์ เดือนเด็น            ตะแปส่างลอง
                27. นายตรีเนศ วรรณประเสิฐ         ตะแปส่างลอง
                28. นางสันแก้ว ประยูนไพร           ผู้มาร่วมงาน
                29. นางนวล ถาคำ                     ผู้มาร่วมงาน
                30. นางอุ๊ก แสงศิริ                     ผู้มาร่วมงาน
                31. นางไหล ต๊ะแก้ว                    ผู้มาร่วมงาน
                32. นางแก้ว สุขศรี                     ผู้มาร่วมงาน
                33. นางพนม เรือนแก้ว                ผู้มาร่วมงาน
                34. นางเขียว จันผาสุก                 ผู้มาร่วมงาน
                35. นางดี ใจคำ                         ผู้มาร่วมงาน
            2. ขั้นวิเคราะห์ข้อมูล
                2.1 จัดระบบข้อมูลต่าง ๆ ที่ได้จากการศึกษาค้นคว้า สำรวจ สัมภาษณ์ สังเกต แยกประเภทตามเนื้อหาที่กำหนดไว้
                2.2 วิเคราะห์ ในประเด็นที่ได้ศึกษามาตามจุดประสงค์ที่วาง
                2.3 เขียนนำเสนอรายงานผลการวิจัย แบบพรรณนาวิเคราะห์ เป็นรูปเล่มฉบับสมบูรณ์ โดยใช้ข้อมูลที่ได้จากเอกสารและการสัมภาษณ์

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
            เพื่อเป็นข้อมูลทางวัฒนธรรมท้องถิ่นของชุมชนบ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน

นิยามศัพท์เฉพาะ
            ปอยส่างลอง หมายถึง ประเพณีการบรรพชาสามเณรแบบไทใหญ่ ในหมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งมีลักษณะพิธีคล้ายกับการบวชลูกแก้วของคนไทย ในภาคเหนือ
            ชาวไทใหญ่    หมายถึง ชาวไทใหญ่ ในหมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน
           
           







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น