วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 3 เปรียบเทียบประเพณีปอยส่างลอง (ตอน 3)



เปรียบเทียบประเพณีปอยส่างลอง

การเปรียบเทียบประเพณีปอยส่างลองนั้น จะเป็นการเปรียบเทียบให้เห็นถึงความแตกต่างระหว่างประเพณีปอยส่างลอง ของหมู่บ้านกุงแกง กับประเพณีปอยส่างลองในปัจจุบันที่ปรากฏในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ว่ามีข้อแตกต่างกันอย่างไร โดยจะกล่าวถึง รูปแบบการจัดงานประเพณีปอยส่างลอง ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ก่อนเพื่อให้ได้ง่ายต่อการเปรียบเทียบพิจารณาถึงข้อแตกต่าง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้

การจัดงานประเพณีปอยส่างลองในปัจจุบัน
การจัดงานปอยส่างลองในปัจจุบัน ผู้วิจัยได้กำหนดขอบเขตพื้นที่ คือ ในอำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน เพื่อไม่ให้เกิดการแปลความหมายคลาดเคลื่อน


สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน (2549, หน้า 215 - 218) ได้กล่าวถึงการจัดงานปอยส่างลองในปัจจุบันเอาไว้ว่างานปอยส่างลองเป็นประเพณีตามวัฒนธรรมของคนไทใหญ่ ซึ่งมีการจัดเพียงแห่งเดียวที่แม่ฮ่องสอน ดังนั้น ประเพณีนี้จึงได้รับความสนใจที่จะได้ชมจากนักท่องเที่ยวจำนวนมาก การนำเสนอกิจกรรมประเพณีปอยส่างลอง ในงานฉลองกรุงรัตนโกสินทร์ครบ 200 ปี ในปี พ.ศ. 2525 ทำให้ชาวไทยภาคอื่นได้รู้จักประเพณีนี้เป็นครั้งแรกและตื่นเต้นกับความงดงามอลังการของขบวนแห่ปอยส่างลองเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องแต่งตัวของส่างลอง ความสนใจของนักท่องเที่ยวทำให้กิจกรรมนี้กลายเป็นเอกลักษณ์ของการท่องเที่ยวจังหวัดแม่ฮ่องสอน และทำให้ต้องมีการพัฒนารูปแบบของริ้วขบวนแห่งให้มีความงดงามอลังการมากยิ่งขึ้น



เนื่องจากในอดีตการจัดพิธีปอยส่างลองของชุมชนชาวไทใหญ่แต่ละหมู่บ้านจะจัดพิธีขึ้นเฉพาะชุมชนหมู่บ้านของตนเอง ขบวนแห่แม้ว่าจะมีความงดงามและยิ่งใหญ่ในทัศนะของคนในชุมชน แต่ก็ยังไม่น่าสนใจเพียงพอที่จะนำเสนอให้แก่นักท่องเที่ยว


ดังนั้นเพื่อให้ประเพณีนี้มีความยิ่งใหญ่สมกับเป็นกิจกรรมการท่องเที่ยวจึงต้องมีการรวบรวมส่างลองจากหมู่บ้านต่าง ๆ มาจัดพิธีร่วมกันในครั้งเดียว ซึ่งการที่จะประสานงานให้การจัดงานเป็นไปได้ตามเป้าหมาย จำเป็นที่ทางราชการจะต้องเข้ามามีส่วนช่วยเหลือและเป็นแกนนำในการจัดงาน ในปัจจุบัน ผู้ที่ทำหน้าที่เสมือนเจ้าภาพใหญ่ คือ จังหวัด และด้วยเหตุผลที่กิจกรรม นี้เป็นกิจกรรมหนึ่งในการส่งเสริมการท่องเที่ยว จึงได้มีการกำหนดวันจัดงานไว้ล่วงหน้า เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ได้ช่วยกันเผยแพร่ประชาสัมพันธ์การจัดงานได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบริการนักท่องเที่ยว การจัดงานปอยส่างลองจะอยู่ในราวอาทิตย์แรกของเดือนเมษายนของทุกปี โดยมีขั้นตอนการจัดงานเป็น 2 ขั้นตอน คือการเตรียมงาน และพิธีการ ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


1. การเตรียมงาน


ก่อนถึงกำหนดการจัดงานประมาณ 2 เดือน จังหวัดได้เรียกประชุมหน่วยงานองค์กรและผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทุกคนเข้าร่วมประชุม รวมทั้งผู้อาวุโสและผู้ทรงคุณวุฒิ ซึ่งเปรียบเสมือนตัวแทนของชาวไทใหญ่ในแม่ฮ่องสอนแล้ว ยังมีหัวหน้าส่วนราชการ เจ้าหน้าที่เทศบาล นายอำเภอเมือง กรรมการจังหวัด ชมรมธุรกิจท่องเที่ยว หอการค้าและตัวแทนธุรกิจท่องเที่ยวของเอกชนการประชุมมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน มีการประชุมเพื่อกำหนดวันงานซึ่งจะมีประมาณ 3 วัน และมีการมอบหมายหน้าที่รับผิดชอบให้แก่ส่วนราชการต่าง ๆ ไปดำเนินการ นายอำเภอจะเป็นผู้ประสานงานกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน เพื่อสำรวจว่า มีบุตรหลานใครบ้างที่จะเข้าร่วมพิธีครั้งนี้


เนื่องจากการจัดงาน มีขั้นตอนและรายละเอียดค่อนข้างมาก ดังนั้น จึงมีการแต่งตั้งคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการ ขึ้นมาเพื่อรับผิดชอบงานด้านต่าง ๆ ในการจัดเตรียมงานมีการประชุมเพื่อติดตามผลการทำงานและปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธานการประชุม การแก้ไขปัญหาและการสั่งการ มีการมอบหมายโดยจัดทำเป็นหนังสือราชการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลังจากมีการมอบหมายงานแล้ว จังหวัดได้จัดสรรงบประมาณการดำเนินงานให้แก่หน่วยงานต่าง ๆ ที่รับผิดชอบการจัดงาน ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้จะดำเนินงานจัดเตรียมงานต่าง ๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย ทั้งนี้โดยจะจัดจ้าง หรือทำหนังสือขอความร่วมมือการดำเนินงาน


เช่นการจัดทำต้นตะเปส่า จะจัดจ้างชาวบ้านที่มีความรู้ ความเข้าใจในการจัดทำต้นตะเปส่า เป็นผู้ทำโครงไม้ไผ่ ส่วนการจัดทำอาหาร จะใช้วิธีจ้างเหมาให้ร้านอาหารหรือผู้ประกอบอาหารจัดทำให้โดยจะทำเป็นอาหารกล่องตามจำนวนคนที่คาดว่าจะมาร่วมงาน


งานด้านอื่น ๆ ก็มีการจัดจ้างในลักษณะเดียวกัน ซึ่งรวมทั้งการจ้างคนที่ทำหน้าที่ตะแปส่างลองด้วยในการจัดพิธี มีการจัดสรรค่าใช้จ่ายสำหรับส่างลองแต่ละคน ในปี พ.ศ. 2536 ส่างลอง 1 คนต้องเสียค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 บาท ซึ่งค่าใช้จ่ายนี้ทางจังหวัดจัดสรรงบประมาณให้เป็นจำนวน 5,000 บาทต่อคน ที่เหลืออีก 3,000 บาท พ่อแม่ของส่างลองเป็นผู้รับผิดชอบ โดยพ่อแม่ส่างลองนำเงินจำนวน 3,000 บาทนั้นมาจ่ายสมทบให้ทางจังหวัด


2. พิธีการ


สถานที่จัดงานพิธี มีการปลูกประรำที่บริเวณลานวัดเพื่อใช้เป็นที่ทำพิธีฮ้องขวัญส่างลอง ที่เข้าพิธีส่วนใหญ่เป็นบุตรหลานข้าราชการและไม่ได้เป็นผู้ที่มีเชื้อสายไทใหญ่ เนื่องจากจำนวนส่างลองมีผลต่อความตระการตาของริ้วขบวน การมีส่างลองจำนวนมากจะทำให้ริ้วขบวนเพิ่มความยิ่งใหญ่มากขึ้นด้วย ซึ่งจะทำให้ผู้ชมเกิดความประทับใจ ดังนั้นข้าราชการหลายคนที่มีบุตรในวัยที่สมควรจะบวชเณรได้ จึงได้รับการขอความร่วมมือส่งบุตรหลานเข้าร่วมเป็นส่างลอง พิธีการส่างลองจะมีการจัดงาน 3 วัน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้


2.1วันแรกของพิธีการ


ในตอนเย็นมีการโกนผมเด็กที่จะเข้าพิธีที่วัด หลังจากพ่อแม่ของเด็กขลิบผมให้เด็ก จากนั้นจึงให้เด็กอาบน้ำส้มป่อยซึ่งทางวัดจัดเตรียมไว้ให้ เสร็จแล้วพ่อแม่จึงพาเด็ก ๆ กลับไปบ้าน บางบ้านที่เป็นชาวไทใหญ่มีการจัดเตรียมทำขนมและอาหารเพื่อเลี้ยงต้อนรับผู้มาร่วมงาน และมีการจัดหาดนตรีมาบรรเลงด้วยเพื่อเฉลิมฉลอง ผู้ที่มาร่วมงานส่วนใหญ่เป็นผู้ที่ได้รับเชิญจากเจ้าบ้านโดยการส่งบัตรเชิญไปให้


2.2 วันที่สองของงาน หรือวันรับส่างลอง


จะแบ่งพิธีการเป็น 2 ช่วงคือช่วงเช้า และช่วงบ่าย ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้


2.2.1 ช่วงเช้า


ตอนเช้ามืดพ่อแม่และญาติพี่น้องของเด็กที่จะบวชรวมทั้งช่างแต่งหน้า มาพร้อมกันที่วัดที่ใกล้บ้านที่สุดและช่วยกันแต่งตัวให้ส่างลองเครื่องแต่งกายของส่างลอง เป็นเสื้อผ้าแบบที่เคยใช้ในพิธีในอดีต แต่เครื่องประดับต่าง ๆ เช่น แคบคอ เป็นของทำเลียนแบบของจริง คือ ทำด้วยแผ่นโลหะปั๊มเป็นลวดลายต่าง ๆ ส่วนมวยผม ใช้ผมปลอมที่ทำด้วยไนล่อน และประดับตกแต่งศีรษะด้วยดอกไม้กระดาษหรือดอกไม้พลาสติก เครื่องแต่งตัวและเครื่องประดับส่างลองนี้ ปัจจุบันมีผู้จัดทำไว้ให้เช่าเป็นชุดพร้อมเสื้อผ้าหลังจากแต่งตัวเสร็จแล้ว มีขบวนแห่งส่างลองจากวัดต่าง ๆ มารวมกันที่วัดที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธี จากนั้นจึงไปทำพิธีที่ศาลเจ้าเมืองและเจ้าอาวาสวัดต่าง ๆ ผู้ร่วมขบวนมีเฉพาะญาติพี่น้องของส่างลองเท่านั้น และส่วนใหญ่ใช้รถปิกอัพเป็นพาหนะในการแห่ โดยส่างลองนั่งเก้าอี้ไปบนรถ ส่างลองบางคนก็มีตะแปให้ขี่คอ แต่ตะแปเหล่านั้นจะดื่มสุราหรือเครื่องดื่มบำรุงกำลังไปตลอดทางเพื่อความครึกครื้น ซึ่งทำให้ส่งลองที่ถูกแบกอยู่บนบ่าถูกเหวี่ยงไปมาตลอดทาง




2.2.2 ช่วงบ่าย


ตอนบ่ายมีการไปตามบ้านญาติของส่างลองคนใดจะอยู่ที่ใดบ้าง พิธีการในการยังเป็นแบบเดิม คือ เมื่อเข้าไปถึงในบ้าน ส่างลองจะขอขมาแล้วญาติผู้ใหญ่จะผูกข้อมือ พร้อมทั้งมอบเงินทำบุญให้ จากนั้น ส่างลองจะสวดให้พร แต่ส่างลองบางคนก็ไม่ได้สวดเพราะสวดไม่ได้ บ้านที่ส่างลองเข้าไปทำพิธีส่วนใหญ่จะมีน้ำเย็นหรือน้ำอัดลมมาเลี้ยงผู้ร่วมขบวน รวมทั้งส่างลองด้วย ผู้ที่จะเข้าร่วมขบวนแห่ครัวหลู่มาพร้อมกันที่วัดที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธี ผู้ที่ได้รับมอบหมายให้รับผิดชอบประจำแต่ละริ้วขบวนเข้าประจำที่ ทุกคนแต่งกายด้วยชุดไตทั้งหญิงและชาย และมีสีสันเหมือน ๆ กันคล้ายเครื่องแบบประจำแต่ละริ้วขบวน ผู้ร่วมขบวนคนอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับมอบหมายให้มีหน้าที่ประจำในริ้วขบวนชุดไตก็มีบ้างแต่ส่วนมากจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ การจัดขบวนแห่ประกอบด้วยริ้วขบวนต่าง ๆ ตามลำดับดังนี้ คือ ขบวนรถนำทาง ขบวนแห่ป้ายประชาสัมพันธ์การจัดงาน ขบวนผู้บริหารส่วนราชการและหน่วยงานเอกชน ขบวนแห่อุ๊พ ขบวนแห่ม้าเจ้าเมือง ขบวนแห่ต้นตะเปส่า ขบวนปุ๊กข้าวแตก ขบวนพุ่มเงินพุ่มทอง ขบวนหม้อน้ำต่า ขบวนแห่ครัวหลู่ ขบวนแห่ต้นส่างกาน และขบวนส่างลอง แต่ละริ้วขบวนจะมีการแสดงพื้นบ้านของภาคต่าง ๆ รวมทั้งของไทใหญ่คั่น โดยจะแสดงบนกะบะท้ายรถที่เข้าร่วมงานตามเส้นทางที่ขบวนแห่ผ่านไป มีประชาชนบางคนน้ำข้าวตอก ดอกไม้ มายืนอยู่ริมถนนเพื่อโปรยให้ส่างลอง สองฟากถนนมีนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศมารอดูขบวนเป็นจำนวนมาก ขบวนจะหยุดเป็นระยะเพื่อให้นักแสดงประจำริ้วขบวนได้แสดงการละเล่น และเพื่อรอริ้วขบวนที่เดินตามไม่ทัน เนื่องจากบางส่วนของขบวนใช้รถก็เป็นพาหนะ หลังจากแห่รอบตัวเมืองแล้ว ขบวนได้ไปสิ้นสุดที่วัดที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีและทุกคนต่างแยกย้ายกันกลับบ้านรวมทั้งส่างลองด้วย คงเหลืออยู่เฉพาะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบเตรียมงานฮ้องขวัญส่างลองผู้มาร่วมงานและช่วยเหลืองานต่าง ๆ ทางจังหวัดได้จัดอาหารเลี้ยงโดยจัดเป็นอาหารกล่อง ซึ่งจัดตามจำนวนผู้มีหน้าที่รับผิดชอบทำงานต่าง ๆ และจัดมาตามเวลาอาหาร ไม่มีการตั้งอาหารเตรียมพร้อมไว้ตลอดเวลาเหมือนการจัดงานในอดีต เนื่องจากงบประมาณที่ได้รับการจัดสรรมีจำกัดในตอนเย็น ส่างลองและบรรดาญาติพี่น้องมารวมกันที่ประรำในลานวัดที่ใช้เป็น สถานที่ประกอบพิธี เพื่อร่วมงานฮ้องขวัญและเลี้ยงอาหาร 12 อย่าง ส่างลองและพ่อแม่ถูกจัดให้นั่งบนยกพื้น ด้านหน้าสุดบนยกพื้นมีขันบายศรีและพานพุ่มดอกไม้ ที่ขันบายศรีมีด้ายสายสิญจน์ซึ่งผูกโยงขึ้นไปบนหลังคาประรำ และปล่อยชายลงมาเป็นระยะตามจำนวนและตำแหน่งที่ส่างลองแต่ละคนจะนั่ง ทั้งนี้เพราะส่างลองมีจำนวนมาก ไม่สามารถนั่งล้อมเป็นวงกลมได้พอ และผู้มาร่วมชมพิธีจะไม่สามารถมองดูพิธีได้อย่างทั่วถึง ในระหว่างการทำพิธี มีช่างภาพทั้งมืออาชีพและสมัครเล่นเต็มไปหมด ผู้สื่อข่าวและผู้ถ่ายทำสารคดีของบริษัทต่างๆ เดินกันสับสนและพยายามเข้าไปหามุมที่จะถ่ายภาพให้ได้ชัดที่สุด


นอกจากนี้ ยังมีนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศอีกจำนวนหนึ่ง ซึ่งพยายามจะเข้าไปชมพิธีให้ใกล้ชิดที่สุดเมื่อได้เวลาพิธี แม่ส่างช่วยนำสายสิญจน์ผูกข้อมือส่างลองไว้ ขณะที่ส่างลองนั่งพนมมือฟังการฮ้องขวัญ หมอฮ้องขวัญเริ่มอ่านคำฮ้องขวัญ ซึ่งบรรยายถึงความรักและความเสียสละของพ่อแม่ในการเลี้ยงดูลูก เสร็จแล้วเป็นการเลี้ยงอาหาร 12 อย่างแก่ส่างลอง ซึ่งส่างลองส่วนใหญ่เพียงแต่ชิมนิด หน่อย และบางคนไม่ยอมแตะต้องเลย รวมทั้งแม่ส่างลองที่ทำหน้าที่ป้อนอาหารบางคนก็ทำสีหน้าไม่ค่อยคุ้นเคยกับอาหารด้วย เนื่องจากอาหารไทใหญ่มักจะมีส่วนประกอบของน้ำมันค่อนข้างมาก มีกลิ่นเครื่องเทศและจะออกรสหวาน แม่ส่างลองที่ไม่ใช่ชาวไทใหญ่และไม่คุ้นเคยกับอาหารไทใหญ่ จึงเพียงแต่ดมอาหารแล้วไม่ได้ป้อนให้ส่างลอง แต่บางคนก็ขอร้องให้ส่างลอง เอาแตะริมฝีปากพอเป็นพิธี


2.3 วันที่สามของงาน หรือเป็นพิธีข่ามส่าง


เป็นการบรรพชาสามเณรในตอนเช้าผู้เฒ่าผู้แก่ไปวัดเพื่อฟังธรรมไทใหญ่ ในตอนสาย ส่างลองและญาติ ๆ จึงไปรวมกันที่วัดและทำพิธีบรรพชาผู้มาร่วมงานมีแต่ญาติพี่น้องของส่างลอง และผู้เฒ่าผู้แก่ที่เคยมานอนวัด หลังจากบรรพชาแล้วมีการเลี้ยงเพลพระสงฆ์และฟังเทศน์ตอนเย็นมีงานฉลองสามเณรจึงเป็นการเสร็จพิธี ซึ่งวันรุ่งขึ้นก็จะทำพิธีลาสิกขา

เปรียบเทียบประเพณีปอยส่างลอง


เปรียบเทียบประเพณีปอยส่างลอง ของหมู่บ้านกุงแกง กับประเพณีปอยส่างลองในปัจจุบันที่ปรากฏในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้เปรียบเทียบให้เห็นถึงข้อแตกต่าง ในประเด็นเรื่อง การเตรียมงานปอยส่างลอง การจัดงานปอยส่างลอง ความสัมพันธ์ของผู้มาร่วมงานปอยส่างลอง สถานภาพของงานปอยส่างลอง ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้


1. การเตรียมงานปอยส่างลอง


1.1 การเตรียมงานปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง


การเตรียมการจัดงานของหมู่บ้านกุงแกงนั้น จะมีเจ้าภาพใหญ่ และชาวบ้านวางแผนร่วมกัน ส่วนการเตรียมวันกำหนดการจัดงาน จะต้องมีการประชุมร่วมกันระหว่างชาวบ้าน เจ้าภาพใหญ่และพระสงฆ์ โดยการหาฤกษ์ยาม วันดี สำหรับการบรรพชา การกำหนดวันและช่วงจัดงานจึงไม่ตายตัว ช่วงเวลาตั้งแต่เดือนมีนาคมถึงเดือนพฤษภาคม การเตรียมงาน เจ้าภาพใหญ่และชาวบ้านจะร่วมกันเตรียม โดยจะมี พระสงฆ์ เจ้าอาวาสวัด และกำนัน ผู้ใหญ่บ้านเป็นที่ปรึกษา ใช้วิธีการพูดคุยปรึกษากันอย่างไม่เป็นทางการ ซึ่งการจัดงานจะไม่มีคณะกรรมการ แต่การแบ่งงานจะใช้วิธีการมอบหมายให้ทำโดยบอกด้วยวาจา ผู้ร่วมงานเป็นชาวบ้าน ญาติพี่น้องและคนในหมู่บ้าน หัวหน้าคณะการจัดงาน คือ เจ้าภาพใหญ่ โดยสถานที่การจัดงาน จะเป็นวัด และบ้านเจ้าภาพใหญ่ การจัดสถานที่จะเป็นชาวบ้าน ญาติพี่น้องของเจ้าภาพใหญ่ และส่างลองช่วยกันจัด จุดรวมของการจัดงานและสถานที่จัดงานกลางคือ บ้านเจ้าภาพใหญ่ในหมู่บ้าน งบประมาณการจัดงานอยู่ที่เจ้าภาพใหญ่และพ่อแม่ส่างลอง


1.2 การเตรียมงานปอยส่างลอง ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน


การเตรียมจัดการ จะเป็นในส่วนของราชการ เทศบาล อำเภอ ชมรม ธุรกิจ กรรมการจังหวัดร่วมกันเตรียมงาน โดยการกำหนดระยะเวลาการจัดงาน จะมีการประชุมกันระหว่าง ส่วนราชการ พระสงฆ์และนักธุรกิจ ชมรมการท่องเที่ยว ร่วมกันกำหนด การกำหนดงานและช่วงจัดงานตายตัวเพื่อการประชาสัมพันธ์ การเตรียมงานจะเป็นหน้าที่ของ จังหวัดและชมรมธุรกิจ เข้ามามีส่วนเตรียมจัดงานรวมทั้งพ่อแม่ส่างลอง โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด สส. สจ. สท. หัวหน้าส่วนราชการ เป็นที่ปรึกษาในการเตรียมงาน ใช้วิธีการประชุมอย่างเป็นทางการ การจัดงานใช้รูปแบบคณะกรรมการคณะอนุกรรมการ กรรมการ และเลขานุการ ฯลฯ ซึ่งการแบ่งงาน จะแบ่งเป็นคณะอนุกรรมการ และมีการสั่งการใช้เอกสารหนังสือราชการ ออกเป็นคำสั่งทำงาน หัวหน้าคณะจัดงาน เป็นหัวหน้าส่วนราชการ ประธาน ชมรม สมาคม ฯลฯ ผู้ร่วมจัดงานเป็นข้าราชการ ตำรวจ ทหาร คหบดี ชมรมธุรกิจต่างๆ และศูนย์วัฒนธรรม แม้จะมีชาวบ้านร่วมในการจัดงานด้วยแต่จะไม่กล้าแสดงความคิดเห็นในเรื่องต่างๆ ใช้วัดและสถานที่ราชการเป็นที่จัดงาน จุดรวมงานอยู่ที่อำเภอและที่ทำการส่วนราชการจังหวัด สถานที่สำคัญในการเตรียมงานอยู่ที่ศาลากลางจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ เทศบาลและส่วนราชการ ใช้ห้องประชุมศาลากลาง ที่ว่าการอำเภอ เทศบาลและโรงแรม โดยมีการแจ้งข่าวแจ้งข่าวโดยวิทยุ เสียงตามสาย โปสเตอร์โทรทัศน์ และการ์ดเชิญ งบประมาณการดำเนินงาน จังหวัดจะจัดสรรให้โดยมี หน่วยงานภาคเอกชนร่วมสนับสนุนรวมทั้งพ่อแม่ส่างลองจ่ายเงินสมทบด้วย


2. การจัดงานปอยส่างลอง


2.1 การจัดงานปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง


การโกนผมส่างลอง จะทำที่วัดและบ้านของเจ้าภาพใหญ่ โดยสถานที่ที่ส่างลองจะไปขอขมา คือ ศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน เป็นที่สักการะเคารพนับถือของคนในชุมชน สถานที่พักผ่อนของส่างลอง คือ วัดบ้าน และบ้านเจ้าภาพใหญ่ สถานที่ตั้งขบวนแห่ คือ วัดและบ้านเจ้าภาพใหญ่ ผู้ร่วมขบวนแห่เป็นชาวบ้านในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง รวมทั้งญาติพี่น้องของเจ้าภาพใหญ่และส่างลอง ผู้นำขบวนแห่ คือ ม้าที่เจ้าเมืองประทับ โดยทำพิธีอันเชิญจากศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ผู้ร่วมขบวนทั้งหมดมาร่วมด้วยความสมัครใจและเจตนาจะได้บุญ ไม่ได้มีการมอบหมายหน้าที่ ในขบวนแห่ ใครอยากช่วยยกหรือแบกหามหรือถือสิ่งใด เลือกตามความพอใจและศรัทธา ทุกคนที่ร่วมขบวน การแต่งกายเป็นแบบพื้นบ้าน หลากสีสัน ขบวนแห่ไม่ยิ่งใหญ่อลังการ เป็นรูปแบบชาวบ้าน การแห่ใช้ดนตรีพื้นบ้านประโคมในขบวน ไม่ใช้ยานพาหนะในขบวนแห่ ในการแห่ 2 ฟากถนนมีผู้คนเฝ้าชมน้อย มักจะนิยมร่วมขบวนมากกว่า ในขบวนแห่จะไม่มีการฟ้อนรำเป็นชุด


2.2 การจัดงานปอยส่างลอง ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน


การโกนผมส่างลอง จะทำที่บ้าน วัด ที่ว่าการอำเภอ เทศบาล ศาลากลางจังหวัดและร้านตัดผม โดยสถานที่ที่ส่างลองจะไปขอขมา คือ ที่วัด ศาลเจ้า ผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอหัวหน้าส่วนราชการ บิดามารดาและผู้ที่เคารพนับถือ สถานที่พักผ่อนของส่างลอง คือ บ้าน วัด ที่ว่าการตำบล ที่ว่าการอำเภอ ฯลฯ สถานที่ตั้งขบวนแห่ คือ บ้านเจ้าภาพใหญ่ วัดที่ว่าการอำเภอ ศาลากลางจังหวัด สนามบิน สนามกีฬา ผู้ร่วมขบวนแห่ผู้ร่วมคือ ชาวบ้าน ญาติ ข้าราชการ ผู้ร่วมบริจาคเงินจัดงาน นักท่องเที่ยว ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ ผู้นำขบวนแห่ คือผู้ว่าราชการจังหวัด นายอำเภอ หัวหน้าส่วนราชการ ประธานชมรมต่าง ๆ ตามด้วยม้าที่เจ้าเมืองประทับ ผู้ร่วมขบวนทั้งหมด ส่วนใหญ่มาร่วมงานตามคำสั่งเอกสาร หรือได้รับการว่าจ้างมาร่วมขบวน ทุกคนที่ร่วมขบวน การแต่งกายมีทั้งพื้นบ้าน ไทยกลาง ทันสมัย และสมัยนิยมและมีรูปแบบเหมือนกัน ขบวนแห่จะมีความยิ่งใหญ่อลังการ มีผู้คนมาร่วมมากมายมีการตกแต่งประดับประดาสวยงาม การแห่มีทั้งดนตรีพื้นบ้าน ไทยกลาง ไทยอีสานและดนตรีสากล มียานพาหนะ รถยนต์ รถแบบต่าง ๆ ในการแห่มีผู้คนเฝ้าชมมากมาย 2 ฟากถนน โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวในขบวนแห่ มีการแสดงร่วมขบวนเป็นชุด ๆ และมีป้ายประชาสัมพันธ์อยู่หน้าขบวน


3. ความสัมพันธ์ของผู้มาร่วมงานปอยส่างลอง


3.1 ความสัมพันธ์ของผู้มาร่วมงานปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง


ผู้มาร่วมงานจะมาด้วยความสมัครใจ จะไม่มีการจ้างแรงงานมาช่วยในการจัดงาน ไม่มีการกะเกณฑ์ และไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนอื่น ๆ เพราะถือว่าการมาร่วมงานจะได้อานิสงส์ผลบุญมากพอแล้ว และการมาร่วมงานเป็นเพราะมีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้จัดงานผู้บวช หลังเสร็จงานแล้วทุกคนถือเป็นภาระร่วมกันในการเก็บกวาดทำความสะอาดสถานที่และเครื่องใช้ การแสดงต่าง ๆ หรือการเล่นดนตรีจะไม่มีค่าจ้าง ทุกคนนำมาช่วยเพื่อสร้างความครึกครื้นให้กับงานและต้องการให้ทุกคนมีความสุขในการ่วมงาน ผู้มาร่วมงานรู้จักกันหมดหรือเป็นญาติพี่น้องกัน ผู้เป็นเจ้าภาพใหญ่ หลังจากเสร็จพิธีจะได้รับการยกย่องจากคนในสังคม โดยมีคำหน้านามใหม่ว่าพ่อส่าง แม่ส่าง และการเรียกคำนำหน้านามนี้ จะใช้ไปจนตลอดชีวิตของผู้เป็นเจ้าภาพใหญ่


3.2 ความสัมพันธ์ของผู้มาร่วมงานปอยส่างลอง ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน


ผู้ที่มาร่วมงานจะมีการจ้างแรงงานมาช่วยในการจัดงานตลอดงาน อย่างเช่น การจ้างมาล้านจาน เก็บกวาดทำความสะอาด ประกอบอาหารตลอดงาน จ้างตะแปส่างลอง ให้ส่างลองขี่ จ้างมาเป็นหัวหน้าตะแปส่างลอง จ้างทำต้นกัลปพฤกษ์ หรือต้นตะเปส่า จ้างมาเล่นดนตรี ฯลฯ ผู้มางาน มาตามหน้าที่ได้รับมอบหมายหรือจ้างโดยมีค่าตอบแทนเป็นเงิน อาหาร และสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ ไม่มีความสัมพันธ์ทางสังคมกับผู้จัดงานหรือผู้บวช มีการมอบหมายให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง เช่นเทศบาล อส. และมีการจ้างแรงงานทำ มีการจ้านดนตรี ลิเกมาแสดงในงาน ผู้มาร่วมงานส่วนใหญ่ไม่รู้จักกัน และไม่เคยเห็นหน้ากันมาก่อน ผู้เป็นเจ้าภาพใหญ่ ไม่มีตัวบุคคลที่ชัดเจนว่าเป็นใครกันแน่ จึงไม่มีใครได้รับการยกย่องทางสังคมตามระบบประเพณีนี้


สถานภาพของงานปอยส่างลอง


4.1 สถานภาพของงานปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง


งานปอยส่งลองเป็นงานประเพณีพื้นบ้านท้องถิ่น ที่สะท้อนคติความเชื่อทางศาสนาและระบบความสัมพันธ์ทางสังคมของคน การจัดงานปอยส่างลอง ผู้จัดได้บุญกุศลอิ่มอกอิ่มใจ คนท้องถิ่นให้ความสำคัญกับพิธีปอยส่างลองในฐานะเป็นงานบุญประเพณี ปอยส่างลองเป็นเรื่องของคนในท้องถิ่น การจัดงานเป็นการสร้างชื่อเสียง ความภูมิใจให้แก่คนในทำชุมชน เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาแก่คนในชุมชน เป็นสิ่งเชิดหน้าชูตาแก่หมู่บ้าน ญาติมิตร ผู้ร่วมงานรู้ประวัติความเป็นมาขั้นตอนวิธีการจัดงาน และวัตถุประสงค์ของการจัดงานปอยส่างลองเป็นเรื่องศาสนาและศรัทธา เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการ มีสามเณรเพื่อศึกษาพระธรรม สืบทอดพระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น วัดภาคภูมิใจที่ได้มีสามเณรมาเป็นผู้เผยแพร่พระพุทธศาสนาเพิ่มขึ้น แม้จะเป็นช่วงระยะเวลาสั้น ๆ ผู้จัดงานทุกคนอยากให้ถึงวันงานเร็ว ๆผู้ร่วมงานปลาบปลื้มใจกล่าวถึงการจัดงาน อย่างสุขใจและประทับอยู่ในความทรงจำยาวนาน ผู้เป็นเจ้าภาพใหญ่ไม่มีความวิตกกังวลเรื่องการใช้จ่าย และความสิ้นเปลือง เพราะถือว่าเป็นเกียรติแก่ตัวเองและวงศ์ตระกูล










4.2 สถานภาพของงานปอยส่างลอง ในอำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน


เป็นงานประเพณีที่สำคัญ ถือเป็นเอกลักษณ์ของชาวไทใหญ่ การจัดงานปอยส่างลองได้มีการประชาสัมพันธ์จังหวัดทำให้มีรายได้จากนักท่องเที่ยว คนต่างถิ่น นักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ ให้ความสำคัญมากกว่าคนในท้องถิ่น ประเพณีปอยส่างลองเป็นประเพณีสำคัญของจังหวัด จัดเป็นประเพณีสำคัญในการปฏิทินการท่องเที่ยวของประเทศไทย เผยแพร่ทั้งในและต่างประเทศ ผู้ร่วมงานไม่มีความรู้เกี่ยวกับการจัดงานต้องมีการจัดพิมพ์เอกสารเป็นความรู้ทางวิชาการเผยแพร่ให้ทราบ จึงเป็นเรื่องของเศรษฐกิจการท่องเที่ยว เมื่อเสร็จสิ้นพิธีการ ผู้เป็นสามเณรก็สึกในวันรุ่งขึ้น ไม่ได้ทำหน้าที่ศึกษาพระธรรมเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา วัดต่าง ๆ หนักใจเป็นทุกข์ วิตกกังวล เพราะต้องมีภาระดูแลเด็กๆ ที่บวชเป็นสามเณรทั้งที่ไม่ตั้งใจจะศึกษาพระธรรม ผู้ร่วมจัดงานทุกคนอยากให้งานผ่านไปโดยเร็ว จะได้หมดภาระ และไม่อยากให้มีอีก ผู้ร่วมงานส่วนใหญ่รู้สึกตื่นเต้น เหมือนดูการแสดงแล้วก็จบกัน ผู้รับผิดชอบงานต่าง ๆ รู้สึกเหน็ดเหนื่อย วิตกกังวลกับการควบคุมงบประมาณและการบริหารคนบริหารงาน บริหารเวลา






ประเพณีปอยส่างลองกับหลักการบวชในพระพุทธศาสนา


การบวชในสมัยพุทธกาลนั้น แต่เดิมมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาและประพฤติธรรม ต้องการจะให้ถึง พระอรหันต์ พ้นจากกองกิเลสและกองทุกข์ทั้งปวง และทำให้แจ้งพระนิพพาน เมื่อผู้บวชบำเพ็ญแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม ยังได้บอกหนทางสว่างแก่พ่อแม่ ญาติพี่น้อง เป็นเบื้องต้น ต่อมาคนที่บวชต้องการรู้หนังสือ อ่านออกเขียนได้ แต่ในปัจจุบันวัตถุประสงค์ดังกล่าวก็ได้ถูกนำมาประยุกต์ให้เหมาะสมกับสังคมปัจจุบัน เพื่อให้เด็กใกล้ชิดกับพระพุทธศาสนา อันจะเป็นเหตุให้เป็นคนดีต่อไปในภายหน้า การบวชที่แตกต่างกันออกไปหลาย ๆ ประการเช่น บวชเพราะต้องการศึกษาพระธรรม ต่าง ๆ เพื่อจะได้นำไปปฏิบัติเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิต บวชเพราะบิดามารดาต้องการให้บวช บวชตามประเพณีเพื่อให้เด็กได้รับการฝึกหัดอบรมกิริยามารยาททางกาย วาจา ให้เรียบร้อย ให้เด็กได้รับการฝึกอบรมจิตใจให้มีความอดทนให้พึ่งตนเองได้ เพื่อให้เด็กมีความรู้ทางศาสนา อันจะเป็นหลักประพฤติปฏิบัติในการดำเนินชีวิตไปในทางที่ถูกที่ควรต่อไป เป็นการอบรมจิตใจเด็กให้รู้จักสำนึกผิดชอบ ชั่วดี บุญ บาป คุณ โทษ ประโยชน์และมิใช่ประโยชน์ มีคุณธรรมประจำใจ ไม่ทำอะไรตามอารมณ์ต้องการ เพื่ออบรมให้เด็กมีความกตัญญูต่อบิดามารดาและผู้มีอุปการะคุณ เพื่อให้เด็กใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ในทางที่ถูกที่ควร เพื่อให้เด็กมีโอกาสสั่งสมอบรมบุญบารมี เพื่อความเจริญรุ่งเรืองต่อไปตามสมควรแก่วัยของเด็ก


โดยสรุปแล้ว วัตถุประสงค์ของการบรรพชาในพระพุทธศาสนา ก็เพื่อคัดสรรเอาบุคคลที่พร้อมที่จะเข้ามาใช้ชีวิตแบบนักบวชมาฝึกตามหลักการในพระพุทธศาสนาเพื่อให้เป็นบุคลากรที่มีศักยภาพในการดำรงชีวิตเป็นไปตามอุดมคติ คือการดับทุกข์ และการเข้าถึงพระนิพพาน ส่วนวัตถุประสงค์ที่เกิดจากการใช้ชีวิตตามแบบอุดมคติทางพระพุทธศาสนาซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ถือว่าเป็นผลพลอยได้ที่เกิดจากการใช้ชีวิตที่ได้รับการพัฒนาแล้วตามแนวแห่งพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง ในสมัยพุทธกาลแม้จะมีการกำหนดวัตถุประสงค์เอาไว้อย่างชัดเจนก็ตาม แต่เมื่อข้อกำหนดดังกล่าวได้ถูกนำมาใช้กับสภาพสังคมที่แตกต่างกัน ย่อมมีการตีความคุณสมบัติ ที่ระบุไว้ในพระไตรปิฎกเพื่อให้เกิดความรัดกุมและเหมาะสมกับความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นของสังคม โดยในการกำหนดคุณสมบัติต่าง ๆ ที่เพิ่มเข้ามาภายหลังนั้น เป็นมติของกรรมการมหาเถระสมาคมโดยออกมาเป็นพระราชบัญญัติเพื่อประกาศใช้ให้พระอุปัชฌาย์มีกรอบในการปฏิบัติเกี่ยวกับการบรรพชาแก่กุลบุตรที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา และเพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพสำหรับพระสงฆ์ต่อไป


ดังนั้นจะเห็นได้ว่า วัตถุประสงค์ของการบรรพชาตั้งแต่ครั้งพุทธกาลถึงปัจจุบันได้มีวิวัฒนาการเปลี่ยนแปลงไปบ้างตามความเหมาะสมสอดคล้องและกลมกลืนกับขนบธรรมเนียมประเพณี สภาพสังคม และสภาพเศรษฐกิจต่าง ๆ ในแต่ละสมัย ในแต่ละท้องถิ่นทั้งทางด้านแนวคิดความเชื่อ และวิธีการปฏิบัติทางการบวชในพระพุทธศาสนาปัจจุบันความหมายและคุณค่าของการบรรพชาเป็นสามเณรเปลี่ยนไปคือ จากเดิมที่มุ่งเน้นให้ผู้บรรพชาฝึกฝนและพัฒนาตนเอง เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์อย่างสิ้นเชิงจนสามารถบรรลุถึงพระนิพพาน แต่เมื่อถึงจุดเปลี่ยนแปลงแห่งยุคสมัยจุดประสงค์ในเชิงอุดมคติที่เกี่ยวข้องกับการบรรพชานั้น ก็จำเป็นที่จะต้องปรับเปลี่ยนตามกระแสสังคมที่กำลังเปลี่ยนไป ปัจจุบันวัตถุประสงค์ของการบรรพชาในประเทศไทย ได้มีความแตกต่างกันออกไปหลาย ๆ ประการ เช่น เพื่อมุ่งหวังการพ้นทุกข์ เพื่อทดแทนบุญคุณบิดามารดา เพื่อได้มีโอกาสศึกษาหลักธรรมอย่างลึกซึ้ง เพื่อให้เป็นไปตามประเพณี เพื่อไม่ต้องทำงาน เพื่อลาภสักการะ เพื่อใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์ เพื่อมีโอกาสศึกษาต่อ และเพื่อสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา เป็นต้น


นอกจากวัตถุประสงค์ของการบรรพชาในสังคมไทยได้มีวิวัฒนาการที่เปลี่ยนแปลงได้จากเดิมแล้ว ในสังคมไทใหญ่ ประเพณีปอยส่างลองหรือการบรรพชาแบบไทใหญ่ก็มีการเปลี่ยนแปลงไปด้วยเช่นกัน ประเพณีปอยส่างลอง ถือว่าเป็นวิวัฒนาการของการบรรพชา ที่เป็นเอกลักษณ์อันโดดเด่นของชาวไทใหญ่ประเพณีปอยส่างลอง เป็นพิธีกรรมหนึ่งที่สะท้อนถึงศรัทธา ความเชื่อมั่นทางศาสนาของชาวไทใหญ่ วัตถุประสงค์สำคัญของพิธีกรรมคือ การสร้างศาสนบุคคลเพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา ถือว่าเป็นประเพณีที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของชาวไทใหญ่


ประเพณีปอยส่างลอง นั้นจะให้ความสำคัญในขั้นตอนก่อนการบวช มากกว่าช่วงหลังจากที่บวช ซึ่งผิดกับหลักการทางพระพุทธศาสนา ที่จะมุ่งเน้นให้ความสำคัญและประโยชน์ที่ได้หลังจากการบวช สาระที่ได้จากการบวชในรูปแบบของปอยส่างลองจึงมีความแตกต่างในแง่ของการให้คุณค่า จะเห็นได้ว่าปอยส่างลองที่ปรากฏใน อำเภอเมือง แม่ฮ่องสอนนั้น มิได้ให้ความสำคัญในช่วงหลังการบวชเลย เพราะหลังจากพิธีการบรรพชาแล้ว วันรุ่งขึ้นก็ได้ทำการลาสิกขา สาระสำคัญกลับอยู่ที่การมุ่งเน้น ให้เห็นถึงพิธีกรรมอันยิ่งใหญ่ คุณค่าเดิมของปอยส่างลองจึงไม่ปรากฏ


แต่ประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง ผู้วิจัยกลับพบว่า ได้มีการรักษาไว้ซึ่งวัตถุประสงค์ของการบรรพชา เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนา สาระสำคัญของประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง มิได้มุ่งเน้นเพียงรูปแบบพิธีกรรมก่อนการบรรพชาเพียงอย่างเดียว หากแต่ยังให้ความสำคัญในช่วงระยะเวลาระหว่างการบรรพชา ตลอดระยะเวลา 1 เดือน ได้มีการฝึกอบรมสามเณรให้รู้จักข้อปฏิบัติ กิจวัตรและได้ศึกษาธรรม เป็นการฝึกฝนเพื่อเปลี่ยนถ่ายพฤติกรรมจากวัยเด็กสู่การเป็นผู้ใหญ่ต่อไป จึงจะเห็นได้ว่าการบวชในพระพุทธศาสนา กับประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกงนั้น มีความสอดคล้องกันโดยไม่ผิดไปจากวัตถุประสงค์ของการบวช ดังนั้นประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง เป็นไปเพื่อการสืบทอดต่อจากพระพุทธศาสนาอย่างแท้จริง

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น