วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 3 ประเพณีปอยส่างลองของหมู่บ้านกุงแกง (ตอน 2)

            ผู้วิจัยได้ลงพื้นที่ศึกษาหมู่บ้านกุงแกง และสัมภาษณ์ชาวบ้านในชุมชน พบว่า ปอยส่างลอง  เป็นภาษาไทใหญ่มาจากคำว่า ปอย แปลว่างาน คำว่า ส่าง หมายถึง สามเณรในภาษาไทย กับคำว่าลอง นั้นมาจากคำว่า อะลอง หมายถึง กษัตริย์ เมื่อรวมกันก็หมายถึง งานเตรียมบรรพชาเป็นสามเณร ที่แต่งตัวเลียนแบบเป็นกษัตริย์ การเป็นส่างลองนั้นเป็นการเลียนแบบประวัติของพระพุทธเจ้าตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะครองกรุงกบิลพัสดุ์ก่อนจะออกผนวชการกระทำทุกอย่างในช่วงเวลาการเป็นส่างลองจะปฏิบัติเสมือนการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์บวช (สิงห์ทอง เรือนแก้ว, สัมภาษณ์, 19 เมษายน 2556)
            ความเป็นมาของประเพณีปอยส่างลองบ้านกุงแกง
ภาพที่ 3 หนังสือปอยส่างลอง
            ชาวไทใหญ่ในหมู่บ้านกุงแกง ได้เล่าสืบทอดกันถึงที่มาของประเพณีปอยส่างลองไว้ 2ตำนานด้วยกันดังนี้
            1. การบรรพชาเป็นสามเณรนั้นก็เพื่อศึกษาธรรมและเพื่อเป็นการทดแทนคุณบิดา มารดา โดยอิงมาจากพุทธประวัติ ตอนที่พระนางยโสธราแต่งองค์ให้พระราหุลเพื่อทูลขอสมบัติจากพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าพระราชทานอริยทรัพย์ คือ ให้พระราหุล บรรพชาสู่กาสาวพัสตร์ และนับเป็นสามเณรองค์แรกของพระพุทธศาสนา (ฉายแสง ยอดคำ, สัมภาษณ์, 26 เมษายน 2556)
            2. อิงพุทธประวัติตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะผู้เจริญด้วยโภคทรัพย์แต่ทรงสละทรัพย์สมบัติเพื่อแสวงหาหนทางแห่งความหลุดพ้น (สมพร กันทาคำ, สัมภาษณ์, 19 เมษายน 2556)
            จากทั้งสองตำนานนี้เองที่เป็น ขนบธรรมเนียมประเพณีให้คนไทใหญ่ยึดถือให้เครื่องทรงของส่างลองมี ความวิจิตรงดงาม
            จากการตั้งข้อสังเกตพบว่า ชาวบ้านกุงแกงมีความเชื่อในเรื่อง ความเป็นมาของประเพณีปอยส่างลอง นั้นอิงมาจากพุทธประวัติ ตอนที่พระนางยโสธราแต่งองค์ให้พระราหุลเพื่อทูลขอสมบัติจากพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธเจ้าพระราชทานอริยทรัพย์ คือ ให้พระราหุล บรรพชาสู่กาสาวพัสตร์ เป็นการจำลองสถานการณ์ ที่พระราหุล แต่งองค์เต็มยศ เพื่อไปหาพระราชบิดา มากกว่า เหตุการณ์ที่เจ้าชายสิตธัตถะสละราชสมบัติ
      
      ความเชื่อที่เกี่ยวข้องกับประเพณีปอยส่างลอง
            เนื่องจากชาวไทใหญ่ มีความศรัทธานับถือในพระพุทธศาสนามาก จนมีคำกล่าวว่า อย่ากินอย่าม่าน อย่าตานอย่างไต (สันแก้ว ประยูนไพร, สัมภาษณ์, 23 เมษายน 2556) หมายถึง อย่ากินอย่างพม่า อย่าทำบุญแบบคนไตหรือไทใหญ่ ที่บ่งบอกถึงความศรัทธาทำบุญบำรุงพระศาสนาของคนไทใหญ่อย่างแรงกล้า ความศรัทธาในการสืบทอดพระพุทธศาสนาของคนไทใหญ่ สะท้อนผ่านสถาปัตยกรรมของวัด พระพุทธรูป ที่งดงามเป็นเอกลักษณ์ และที่สำคัญที่บ่งบอกถึงความเป็นไทใหญ่คือ การบรรพชาสามเณรในช่วงฤดูร้อน หรือที่เรียกว่า ปอยส่างลอง เป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในพุทธศาสนาของคนไทยซึ่งมีเชื้อสาย เป็นคนไทใหญ่ (ปันติ๊ ปันแก้ว, สัมภาษณ์, 25 เมษายน 2556)
            รัตน์ ถาคำ (สัมภาษณ์, 20 เมษายน 2556) ผู้ดูแลเรื่องพิธีกรรม วัดกุงแกงได้กล่าวถึงความสำคัญของงานปอยส่างลอง ว่าประเพณีสำคัญของคนไทใหญ่ ในครอบครัวที่มีลูกชายจะตั้งตารอคอยเพื่อร่วมประเพณีนี้ ด้วยความเชื่อที่ว่าอานิสงส์จากการบวชปอยส่างลองนี้จะทำให้บิดามารดาได้ขึ้น สวรรค์ ดังนั้นการบวชปอยส่างลองจึงถือเป็นพิธีกรรมที่ยิ่งใหญ่และมีอานิสงส์มาก อย่างไรก็ตาม รัตน์ ถาคำ เห็นว่าอาจเป็น กุศโลบายหนึ่งที่ให้ลูกหลานได้บวชเรียนหลักธรรม ในพระพุทธศาสนาในช่วงปิดภาคเรียน เป็นการใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์
            อัครเดช วันไชยธนวงศ์ (สัมภาษณ์, 24 เมษายน  2556) นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้กล่าวถึงงานประเพณีปอยส่างลองว่า ชาวไทใหญ่เชื่อกันว่าการบวชส่างลองนั้นมีอานิสงส์อันยิ่งใหญ่กว่าการบวชพระ เพราะเด็กที่บวชนั้นยังมีจิตใจที่บริสุทธิ์ และการบวชส่างลองถือเป็นการสนับสนุนบุตรหลานได้บรรพชาในพุทธศาสนา พ่อแม่จึงยอมเสียสละสิ่งของเงินทองอันเป็นโลกียทรัพย์สนับสนุนให้บุตรหลานพบกับอริยทรัพย์ในพุทธศาสนา
            ธนพล เปงนาค (สัมภาษณ์, 19 เมษายน 2556) หนึ่งใน 25 ส่างลองที่เข้าบวชวัดกุงแกงในปีนี้ เล่าถึงความตั้งใจของตนเองในการบวชส่างลองนี้อย่างภาคภูมิใจว่า การบวชส่างลองเป็นการตอบแทนพระคุณพ่อแม่ ศึกษาหลักพระพุทธศาสนา และต้องการสืบสานประเพณีของไทใหญ่ต่อไป
            ทุน ทศพล (สัมภาษณ์, 22 เมษายน 2556) หนึ่งใน ส่างลองที่เข้ามาร่วมบวชกล่าวว่า    “ที่อยากบวช ไม่มีใครบังคับ ผมสมัครใจที่จะบวช เพราะเห็นพี่ ๆ เขาก็บวชกัน”
            ซึ่งจะเห็นได้ว่า ความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนาของไทใหญ่นั้นมีการปลูกฝังกันตั้งแต่เด็ก แสดงให้เห็นถึงพลัง ความเข้มแข็งของพระพุทธศาสนายังคงดำรงอยู่ต่อไป
            วัตถุประสงค์ของปอยส่างลอง
            จากการสัมภาษณ์มีผู้รู้ ได้กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของปอยส่างลอง ไว้ดังนี้
            สมศักดิ์ โพธิ์ศรีทอง (สัมภาษณ์, 22 เมษายน 2556) ได้กล่าวว่า ส่างลอง หมายถึง เด็กชายที่ปลงผมและผ่านพิธีกรรมในการประกาศเป็นผู้เตรียมตัวเข้าพิธี เพื่อเป็นเจ้าส่างหรือสามเณร ซึ่งชาวไทใหญ่มีความหมายว่าผู้บริสุทธิ์ ชาวไทใหญ่มีความเชื่อว่า ส่างลอง คือผู้มีบุญอันบริสุทธิ์จึงเป็นผู้ที่สามารถสร้างมหากุศล ให้เกิดแก่บิดามารดา แก่ตนเอง และผู้ให้การสนับสนุน ปอยส่างลอง
            วัตถุประสงค์ของการจัดงานปอยส่างลอง โดยทั่วไปผู้เข้าพิธีปอยส่างลองจึง มีวัตถุประสงค์ 2 ประการ คือ
            1. เพื่อแสดงความกตัญญูต่อบิดามารดา หรือต่อผู้ให้อุปการะเลี้ยงดู ซึ่งเป็นผู้มีพระคุณอย่างสูงในการให้กำเนิด และเลี้ยงดูจนเติบใหญ่ จนผ่านพ้นวัยที่ไม่สามารถช่วยตัวเองได้ จนพอที่จะสามารถดำรงชีวิตอยู่ในสังคมได้ (พระมหาสมศักดิ์ สุภเมธี, สัมภาษณ์, 21 เมษายน 2556)
            2. เพื่อการศึกษาอบรม เมื่อผ่านพ้นวัยเด็กแล้ว เด็กชายก็ต้องก้าวออกไปเป็นผู้นำในสังคม จึงต้องได้รับการศึกษาและอบรม เพื่อให้เป็นผู้มีสติปัญญา มีความรู้ ความสามารถที่จะเลี้ยงชีพและดูแลสังคมตามกรอบ ของชาวไทใหญ่ (พระอาจารย์จร ปะภัสโร, สัมภาษณ์, 4 เมษายน 2556)
            เมื่อผู้วิจัยได้ศึกษาพบว่า วัตถุของของปอยส่างลองนั้น มุ่งเน้นให้เด็กชายที่ได้รับการเป็นส่างลอง เพื่อเตรียมที่จะบรรพชาเป็นสามเณร เป็นจุดเริ่มต้นของการก้าวผ่านจากวัยเด็ก สู่วัยผู้ใหญ่นั่นเอง



            คุณสมบัติของผู้จะเป็นส่างลอง
            การที่จะเข้าพิธีปอยส่างลอง ได้นั้นจะต้องมีคุณสมบัติ ดังนี้
            รัตน์ ถาคำ (สัมภาษณ์, 20 เมษายน 2556) ได้กล่าวว่า ประเพณีเดิมของการจะเป็นส่างลองได้นั้น กำหนดคุณสมบัติของผู้ที่จะเข้ามาเป็นส่างลองไว้ว่า ต้องเป็นเด็กชายไทใหญ่ ที่มีอายุครบ 15 ปีบริบูรณ์ และมีร่างกายสมบูรณ์ ครบ 32 ส่วน ไม่เป็นโรคติดต่อร้ายแรง นอกจากนี้ยังต้องได้รับคำยินยอมจากบิดามารดา หรือผู้ปกครองด้วย และจะนำไปอยู่วัดกับพระครู ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสหนึ่งพรรษาก่อนบรรพชาเพื่อเรียนธรรมคำ บรรพชา และฝึกฝนรายการบรรพชาให้พร้อมทุกประการก่อนถึงเวลาบรรพชา เด็กที่อยู่วัดก่อนบรรพชานี้ภาษาไทใหญ่ เรียกว่า กับปิยะ
            แต่ในปัจจุบัน ถือเอาตามระเบียบใหม่ตามกาลเวลา อายุของส่างลอง ที่สามารถเข้ารับการบรรพชาได้ คือ เด็กชายไทใหญ่ ที่มีอายุครบ 7 - 12 ปี มีความสมัครใจที่จะบรรพชา จะเตรียมการก่อนบรรพชาแค่ 15 วันหรือ 1 เดือน โดยเฉพาะเด็กที่กำลังศึกษาอยู่ในช่วงประถม
            จากการสัมภาษณ์ผู้วิจัยเห็นว่า เหตุที่ปัจจุบันนั้นได้มีการเปลี่ยนแปลงอายุของ ผู้ที่จะเป็นส่างลอง เพื่อเตรียมการบรรพชาเป็นสามเณรนั้น มาจากสาเหตุที่ อายุ 15 ปี เป็นวัยที่กำลังเรียนอยู่ในช่วงระดับมัธยม เป็นวัยที่กำลังเปลี่ยนถ่ายพฤติกรรมจากวัยเด็ก สู่วัยรุ่น ทำให้ยากต่อการอบรมขัดเกลา จึงลดอายุของส่างลอง เพื่อให้ง่ายต่อการปลูกฝัง ค่านิยม ความเชื่อ ประเพณี และวัฒนธรรม
            ขั้นตอนการจัดปอยส่างลอง
            ในการจัดปอยส่างลองนั้น รูปแบบของงานจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ช่วงเตรียมงาน ช่วงพิธีกรรรม และช่วงบรรพชา ซึ่งมีรายละเอียดและพิธีการดังนี้
            1. ช่วงเตรียมงาน
            ช่วงเตรียมงานนั้นมีความละเอียดอ่อน มีปลีกย่อยต่าง ๆ ดังนี้
                1.1 กำหนดผู้รับเจ้าภาพใหญ่
                เมื่อมีผู้รับเป็น เจ้าภาพใหญ่ ในการจัดการบวชส่างลองแล้ว ผู้ที่ต้องการจะบวชลูกชาย และเป็นผู้มีความเคารพนับถือในคนที่รับเป็นเจ้าภาพใหญ่ ก็จะนำลูกชายมาร่วมบวชกับเจ้าภาพใหญ่ ดังนั้น การบวชส่างลองแต่ละครั้ง จึงมีส่างลองหลายคน ผู้ที่รับเป็นเจ้าภาพใหญ่นี้จะเป็นผู้รับผิดชอบในค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ทั้งหมดตลอดพิธีการจัดงาน โดยพ่อแม่ของส่างลองที่ให้ลูกมาร่วมบวช จะออกค่าใช้จ่ายหรือสิ่งของสมทบด้วยตามแต่กำลัง (อุ๊ก แสงศิริ, สัมภาษณ์, 4 เมษายน 2556) ซึ่งจากการลงพื้นที่พบว่า ผู้รับเป็นเจ้าภาพใหญ่ของหมู่บ้านกุงแกงคือ ผู้ใหญ่บ้าน ซึ่งเป็นที่เคารพของคนในหมู่บ้าน
                1.2 การประชุม
                ภายหลังจากที่มีการตกลงกันแล้ว่าจะมีส่างลองกี่องค์ที่จะบวชกับเจ้าภาพใหญ่ ก็จะมีการนัดวันประชุมและวางแผนงานร่วมกันว่าจะจัดงานกี่วัน จะเริ่มงานวันใด เพราะการจัดงานปอยส่างลองเป็นงานที่ยิ่งใหญ่ที่สุด ไม่มีกิจกรรมใดในรอบปีที่จะยิ่งใหญ่เท่า จึงต้องมีการเตรียมงานกันนานเป็นเวลาหลายเดือน เมื่อเจ้าภาพใหญ่และพระสงฆ์ในชุมชนได้จัดการหาวันมงคลในการจัดงานได้แล้ว ก็จะมีการบอกกล่าวไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ให้ทราบล่วงหน้าเพื่อที่แต่ละหมู่บ้านจะได้จัดงานไม่ตรงกัน เนื่องจากการจัดงานหมู่บ้านอื่น ๆ จะต้องไปช่วยงาน จึงต้องมีการกำหนดการจัดงานไม่ให้ตรงกัน เพื่อที่ชาวบ้านแต่ละหมู่บ้านจะสามารถไปร่วมงานกันได้โดยทั่วถึง (สี ปันแก้ว, สัมภาษณ์, 4 เมษายน 2556) เนื่องจาก ปอยส่างลอง เป็นพิธีกรรมที่ทางหมู่บ้านจะมีการจัดสม่ำเสมอทุกปี  ยกเว้นแต่ว่าในปีนั้น ไม่มีเด็กชาย ที่มีอายุครบวัยที่จะเข้าสู่พิธีกรรม ดังนั้นการจัดงาน ปอยส่างลอง ของหมู่บ้านกุงแกง จึงมีการเตรียมงานกันข้ามปี
                1.3 แบ่งหน้าที่การรับผิดชอบ
                เมื่อกำหนดวันงานเสร็จเรียบร้อยแล้ว จะมีการแบ่งหน้าที่ในการทำงานกันว่าใครจะรับผิดชอบด้านใด เช่น งานด้านพิธีใช้ต่าง ๆ ในพิธี โดยเจ้าภาพใหญ่จะเป็นผู้มอบหมายหน้าที่ให้ส่วนการจัดเตรียมคนที่จะรับผิดชอบเป็น ตะแป คือผู้ที่ทำหน้าที่ดูแลส่างลองในระหว่างพิธี จะเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ส่างลองจัดหาในการทำหน้าที่ที่ได้รับมอบหมาย ทุกคนที่ได้รับมอบหมายจะต้องมีการประชุมร่วมกันหลายครั้ง เพื่อให้ทราบถึงความก้าวหน้าของงาน แต่ละส่วนและปัญหาที่เกิดขึ้น โดยมีเจ้าภาพใหญ่ผู้เฒ่าผู้แก่ของชุมชนชาวไทใหญ่ และเจ้าอาวาสวัดที่จะทำพิธีบวชเป็นที่ปรึกษา (ไหล ต๊ะแก้ว, สัมภาษณ์, 4 เมษายน 2556) โดยจากการลงพื้นที่พบว่า ในหมู่บ้านกุงแกง จะมีการแต่งตั้งหัวหน้าฝ่ายในการรับผิดชอบในเรื่องต่าง ๆ เมื่อมีการประชุมหัวหน้าจะมารับฟังคำชี้แจง และนำไปบอกต่อกับสมาชิกภายในทีม
                1.4 การเตรียมเครื่องแต่งกายส่างลอง
                การเตรียมเครื่องแต่งกายส่างลอง ผู้ที่เป็นพ่อแม่ หรือผู้อุปการะเลี้ยงดู จะรับผิดชอบในส่วนนี้ เพื่อจัดเตรียมไว้สำหรับในงานพิธี ซึ่งเครื่องแต่งกายต่าง ๆ ต้องมีการเตรียมล่วงหน้าไว้ โดยอาจจะยืมจากบ้าน ที่เคยมีผู้บวชเป็นส่างลองก็ได้ (ยุพิน วงศ์จัน, สัมภาษณ์ 19 เมษายน 2556) โดยเครื่องแต่งกายส่างลองนั้น มีดังนี้
                   1.4.1 ผ้าถุง 1 ผืน สีสดจับกลีบ
                   1.4.2 เข็มขัด 1 เส้น จะเป็นเข็มขัดเงินหรือนาค
                   1.4.3 เสื้อ 1 ตัว เป็นเสื้อคอกลมแขนกระบอก ชายเสื้อโค้งงอนปักฉลุด้วยดิ้นเงินดิ้นทองเป็นลวดลายดอกไม้ต่าง ๆ สีเสื้อกับผ้าถุงจะใกล้เคียงกัน
                   1.4.4 ที่คาดเสื้อ หรือที่เรียกกันว่า ลอแป มีลักษณะเป็นสายสะพาย ไขว้กัน ทำจากหนังสัตว์ ปักฉลุด้วยดิ้นเงิน ดิ้นทอง
                   1.4.5 หมวกดอกไม้ ไว้สำหรับใส่ในขั้นตอนสุดท้ายของการแต่งตัวส่างลอง
                   1.4.6 สายสร้อยสำหรับห้อยคอ เป็นเหรียญกลม ๆ หลายเหรียญ หรือที่เรียกกันว่า แคบคอ เหรียญเหล่านี้ใช้ทองคำตีเป็นแผ่นกลมมีลวดลายดุนเป็นรูปสัตว์ต่าง ๆ รูปที่นิยมกันมากคือ
รูปนกยูง ซึ่งเป็นนกที่สวยงามที่สุด ชาวไทยใหญ่ไม่ใช่รูปหงส์ เพราะหงส์เป็นสัญลักษณ์ของกษัตริย์พม่า รูปช้าง เป็นสัตว์ใหญ่ที่สุดและรูปเสือ เป็นสัตว์ที่น่าเกรงขามที่สุด ซึ่งในปัจจุบันวัตถุดิบได้มีการเปลี่ยนแปลงเป็น แผ่นเงินแทน         
(บัวตอง เปงนาค, สัมภาษณ์, 20 เมษายน 2556)
                   1.4.7 กำไลแขน ไว้สำหรับรัดกับปลายแขนเสื้อ
                   1.4.8 แหวน อาจมีวงเดียว หรือ หลายวงก็ได้
                   1.4.9 ผ้ามัดหัว 3 ผืน ไว้สำหรับโพกศีรษะ มีสีสด เช่น ชมพู แดง เขียว เป็นต้น
                   1.4.10 ผ้ารองหัว 1 ผืน เป็นผ้าขนหนู โพกที่ศีรษะ ไว้เป็นการซับเหงื่อ
                   1.4.11 ผ้ามัดเอว 3 ผืน
                   1.4.12 เสื้อกล้ามสีขาว 1 ตัว ไว้สำหรับใส่เป็นชั้นแรก
                   1.4.13 กางเกงสีขาวขาสั้น 1 ตัว
                   1.4.14 กางเกงในสีขาว 1 ตัว
                   1.4.15 ถุงเท้าสีขาว 1 คู่
                   1.4.16 พัด 1 อัน ไว้สำหรับพัด
                   1.4.17 ลูกประคำ 1 เส้น ไว้สำหรับห้อยคอเป็นลำดับสุดท้าย
(แก้ว สุขศรี, สัมภาษณ์, 18 เมษายน 2556)
                1.5 การเตรียมอุปกรณ์และเครื่องใช้ของส่างลอง
                การเตรียมนี้จะเป็นหน้าที่ของ ผู้ที่เป็นพ่อแม่ หรือผู้อุปการะเลี้ยงดู โดยมีดังต่อไปนี้                              1.5.1 ร่มขนาดใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า ทีคำ ทำด้วยกระดาษหนาลงรักปิดทอง  มีคันถือยาวขนาดถือแล้วเลยศีรษะอยู่ที่คอของอีกคนหนึ่ง ใช้กั้นเป็นร่มบังแดดต่างฉัตร คำว่า ที แปลว่า ร่ม คำ คือ ทองคำ  ทีคำ ก็คือ ร่มทองคำนั่นเอง (พนม เรือนแก้ว, สัมภาษณ์ 18 เมษายน 2556)
                   1.5.2 น้ำเต้า หรือคนโท ใส่น้ำดื่มสำหรับส่างลอง
                   1.5.3 พานหมาก เครื่องเสริมยศของส่างลอง บรรจุหมาก พลู บุหรี่ ไม้ขีด เมี่ยง
                   1.5.4 พรม ใช้ปูให้ส่างลองนั่ง
                   1.5.5 หมอน ใช้สำหรับให้ส่างลองนั่งอิงพักผ่อน ใช้คู่กับพรม
(กิตติพงศ์ เดือนเด็น, สัมภาษณ์, 18 เมษายน 2556)
                1.6 การเตรียมเครื่องอัฐบริขาร
                การเตรียมเครื่องอัฐบริขารนั้น ถ้าผู้เป็นพ่อแม่ หรือผู้อุปการะเลี้ยงดู ไม่มีความเข้าใจ นิยมขอร้องท่านผู้มีความรู้ มีความชำนาญ หรือขอนิมนต์พระภิกษุ ไปร่วมในการจัดซื้อหาเครื่องอัฐบริขารด้วย มีรายการดังต่อไปนี้
                   1.6.1 สบง
                   1.6.2 จีวร
                   1.6.3 รัดประคต
                   1.6.4 อังสะ
                   1.6.5 ผ้าสรงน้ำ 1 ผืน
                   1.6.6 บาตร
                   1.6.7 ผ้าห่มนอน 1 ผืน
                   1.6.8 ผ้าเช็ดตัว ผ้าเช็ดหน้า ร่ม รองเท้า
                   1.6.9 จาน ช้อน ปิ่นโต กระโถน
                   1.6.10 ขันน้ำ แปรง ยาสีฟัน สบู่ถูตัว ผงซักฟอก
                   1.6.11 อาสนะปูนั่ง
                   1.6.12 และสิ่งที่จำเป็นจะต้องใช้อื่น ๆ
(สามเณรเพชรประชา กลิ่นเขตกานต์, สัมภาษณ์, 5 เมษายน 2556)


                จากนั้นนำมาตกแต่งด้วยไหมพรมถักตารางสี่เหลี่ยมเล็ก ๆ เป็นผืนหุ้มอุปกรณ์เหล่านี้ นำไปผูกติดกับไม้คานยาวประมาณ 3 เมตร เพื่อสะดวกในการให้คนหามนำเข้าขบวนแห่ในวันพิธีแห่เครื่องไทยธรรม 
1.7 การจัดเตรียมต้นตะเป่ส่า
                การจัดทำ ต้นตะเป่ส่า หรือต้นกัลปพฤกษ์ มาจากคติความเชื่อทางพระพุทธศาสนาว่า ต้นกัลปพฤกษ์ เป็นต้นไม้บนสรวงสวรรค์ที่จะเนรมิตทุกสิ่งที่เจ้าของอธิษฐานในพิธีปอยส่างลอง ต้นตะเป่ส่าหรือต้นกัลปพฤกษ์นี้จะมี 2 ต้น ต้นหนึ่งจะจัดวางสิ่งของสำหรับบูชาพระพุทธเจ้า ส่วนอีกต้นหนึ่งจะจัดวางสิ่งของสำหรับบูชาพระสงฆ์ และความเชื่อตามคติดังกล่าวในการจัดเตรียมสิ่งของสำหรับต้นตะเป่ส่าบูชาพระพุทธ จึงมีข้าวของเครื่องใช้นานชนิดแล้วแต่ว่าใครอยากจะต้องการสิ่งใดในภพหน้า ก็จะนำเอาของสิ่งนั้นมาผูกหรือแขวนไว้ที่ต้นตะเป่ส่า แล้วอธิษฐานขอสิ่งนั้น เช่น อยากเรียนหนังสือ ก็อาจจะหาสมุดดินสอมาผูกไว้ เป็นต้นสำหรับต้นตะเป่ส่าที่จะถวายพระสงฆ์ มักจะมีข้าวของเครื่องใช้ที่วัดจำเป็นต้องใช้ เช่น ถ้วยชามจาน ช้อน กะละมัง เตา เครื่องครัวชนิดต่าง ๆ แม้กระทั่งเครื่องนอน ผู้ที่สามารถทำต้นตะเป่ส่าได้มักจะเป็นผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน เนื่องจากต้องมีการออกแบบและประดิดประดอยอย่างสวยงามและต้องสามารถรับน้ำหนักข้าวของเครื่องใช้ต่าง ๆ ที่จะนำไปถวายเป็นพุทธบูชาได้ การจัดทำต้นตะเป่ส่านี้ใช้เวลาค่อนข้างนาน ในการตระเตรียมจะต้องร่วมมือกันทั้งผู้หญิงและผู้ชาย โดยผู้ชายจะทำหน้าที่ในด้านการจัดสร้าง ขณะที่ผู้หญิงจะเป็นผู้จัดทำรายละเอียดของการตกแต่งต่าง ๆ (เขียว จันผาสุก, สัมภาษณ์, 21 เมษายน 2556)
                1.8 การจัดเตรียมเครื่องครัวหลู่ หรือครัวทาน
                เครื่องครัวหลู่ หรือครัวทาน คืออาหารแห้งชนิดต่าง ๆ ที่จะนำไปถวายวัด เช่น ข้าวสาร น้ำปลา พริกแห้ง หอม กระเทียม ถั่วเน่า ซึ่งเป็นเครื่องปรุงรสอาหารของชาวไทใหญ่ ของเหล่านี้จะรวบรวมใส่กะละมัง ถักเชือกเป็นตาข่าย เพื่อสอดไม้คานหาบ รวมทั้งสิ่งของเครื่องใช้อื่น ๆ เช่น ถาด ชาม ฯลฯ ซึ่งเป็นสิ่งของจำเป็นสำหรับใช้สอยในวัด ข้าวของเหล่านี้ชาวบ้านจะช่วยกันนำมา แล้วแต่ใครจะร่วมทำบุญด้วยสิ่งใด (ดี ใจคำ, สัมภาษณ์, 24 เมษายน 2556)
                1.9 การจัดเตรียมอาหารและขนม
                เป็นสิ่งที่จะต้องจัดเตรียมล่วงหน้าเพราะจะต้องจัดทำให้มีจำนวนเพียงพอสำหรับผู้ที่มาร่วมงานตลอดระยะเวลากระจัดงาน ซึ่งหมู่บ้านกุงแกงนั้น ได้กำหนดการจัดงานไว้ 4 วัน ก่อนจะถึงวันงาน จึงต้องช่วยกันเตรียมเครื่องใช้และวัตถุดิบในการจัดทำอาหารและขนมไว้ล่วงหน้า ผู้ชายจะมีหน้าที่จัดหาฟืน เตาไฟ สถานที่ที่จะเป็นโรงครัวจะอยู่ในวัด
                หัวหน้าผู้รับผิดชอบการเลี้ยงอาหาร จะเป็นผู้กำหนดรายการอาหารและวัตถุดิบต่าง ๆ ที่จะต้องใช้ในการประกอบอาหาร ขนมบางชนิดจำเป็นต้องจัดทำล่วงหน้าก่อนวันงาน ซึ่งเป็นขนมที่สำคัญของงานปอยส่างลองมีดังนี้
                   1.9.1 ข้าวแตกปั้น
                   เตรียมข้าวแตก หรือข้าวตอก คือนำข้าวเปลือกเหนียวมาคั่วในหม้อดินให้แตกเป็นช่อคล้าย ๆ ข้าวโพดคั่ว  เพื่อใช้เป็นเครื่องสักการะในพิธีบรรพชา และนำไปคลุกกับน้ำอ้อยเชื่อมปั้นเป็นก้อนโต
                   1.9.2 ข้าวพองต่อ
                   นำแป้งมาคลุกเคล้ากันนวดทำเป็นแผ่น ๆ ตัดให้กว้างยาวประมาณนิ้วคูณนิ้ว  นำไปตากแห้งแล้วนำมาทอดและฉาบน้ำอ้อยสำหรับเป็นของหวานและไทยธรรม
                วิธีจัดเตรียมข้าวแตก  เจ้าภาพจะเตรียมอุปกรณ์ต่าง ๆ ไว้ให้ครบ ในสมัยก่อนจะเชิญสาว ๆ หรือเพื่อนบ้านใกล้เคียง  มาช่วยกันคั่วข้าวแตกในเวลากลางคืนหลังจากเลิกประกอบอาชีพประจำวันแล้ว สาว ๆ จะมาช่วยคั่วข้าวแตกเป็นกลุ่ม ๆ พวกหนุ่ม ๆ ก็จะมาจีบสาวและช่วยงานคั่วข้าวแตกไปด้วย  โดยเฉพาะงานหนักหรือเสี่ยงภัย เช่น แบกข้าวสาร  แบกฟืน  ยกภาชนะร้อน ๆ ลงจากเตา ฯลฯ จะจัดทำอย่างนี้ทุกคืนหรือตามโอกาสไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ปริมาณข้าวแตกเพียงพอที่จะใช้ในงาน แต่ละคืนจะคั่วไปจนถึงประมาณ 4 - 5 ทุ่ม (นวล ถาคำ, สัมภาษณ์, 7 เมษายน 2556) เมื่อผู้วิจัยได้ทำการสอบถามพบว่าในปัจจุบัน การเตรียมข้าวแตกกลับมาอยู่ในความรับผิดชอบของผู้สูงอายุ แทนหนุ่มสาว เพราะเด็กรุ่นใหม่ทำไม่เป็น บางทีเพื่อลดขั้นตอนนี้ ก็จะไปซื้อที่ตลาดแทน เนื่องจากง่าย และสะดวก
                ในการจัดเตรียมอาหารและขนมนี้ ชาวบ้านยังนำสิ่งของต่าง ๆ เช่นพริก หอม กระเทียม ข้าวตอก น้ำอ้อย ฯลฯ ซึ่งต้องใช้เป็นจำนวนมากในระหว่างเวลางานมาร่วมบริจาคด้วย เพื่อเป็นการช่วยเหลือกันและได้ร่วมทำบุญอีกทางหนึ่งด้วย
                การจัดเตรียมอาหาร ขนมและเครื่องดื่มนี้ จะต้องจัดให้เพียงพอไม่ให้ขาดได้ ไม่ว่าผู้ร่วมงานจะมาเวลาใดหรือจะมีผู้มาร่วมงานมากเพียงไร จะต้องมีอาหารให้เพียงพอและพร้อมสำหรับการเลี้ยงดู เพราะเป็นสิ่งสะท้อนถึงระดับฐานะของผู้เป็นเจ้าภาพใหญ่ด้วย
                   1.9.3 การจัดเตรียมบุหรี่ เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือจาก อาหารและขนม แต่ผู้รับผิดชอบฝ่ายนี้ก็จะมีการเตรียมบุหรี่ด้วย
                   บุหรี่มี 2 ชนิด คือ ยาฉุนกับขี้โย ยาฉุนมวนจากยาสูบพื้นเมืองด้วยใบตองกล้วยอบแห้ง หรือใยกาบต้นหมาก ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 1 เซนติเมตรยาว 6 เซนติเมตร ส่วนบุหรี่ขี้โยมวนจากยาฉุนผสมไม้ไคร้สับ หรือเปลือกฝักมะขามคลุกน้ำอ้อยและน้ำมะขามเปียกตากแห้ง เป็นบุหรี่รสจืดสำหรับผู้หญิงสูบ  เมื่อมวนเสร็จแล้ว จะมีขนาดยาวประมาณ 15 เซนติเมตร ด้านปลายที่จุดไฟจะสอบแหลมขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1 เซนติเมตรด้านโคนสำหรับสูบมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.5 เซนติเมตรด้านโคนนี้จะกรองด้วยเส้นใยจากกาบมะพร้าวหรือเปลือกข้าวโพดพันด้วยกระดาษสีกว้าง 1 เซนติเมตร จะต้องเตรียมมวนบุหรี่ไว้เป็นจำนวนพัน ๆ มวน เพื่อใช้ในการต้อนรับแขกที่มาร่วมงาน และเป็นเครื่องไทยธรรม (อุ๊ก แสงศิริ, สัมภาษณ์, 4 เมษายน 2556) วิธีเตรียมทำเช่นนี้ ทำเช่นเดียวกับการเตรียมข้าวแตก ผู้วิจัยได้ทำการสอบถามพบว่า ปัจจุบันภาระการเตรียมบุหรี่จะน้อยลงเพราะมีบุหรี่ของโรงงานยาสูบจำหน่าย แต่หมู่บ้านกุงแกง ก็ยังจัดเตรียมกันอยู่ เพราะยังมีผู้รู้ในหมู่บ้าน เป็นผู้สืบทอดรักษาธรรมเนียมนี้ไว้
                1.10 การจัดเตรียมเครื่องไทยธรรม
                เมื่อใกล้ถึงกำหนดเวลาพิธีประมาณ 7 วัน จะมีการเตรียมตกแต่งเครื่องไทยธรรมต่าง ๆ เช่น จัดทำต้นปุ๊กข้าวแตก โดยนำข้าวแตกมาห่อด้วยกระดาษสาผูกติดกับธงสามเหลี่ยมเป็นช่อ ๆ แล้วนำไปผูกไขว้เป็นคู่ ๆ ติดกับลำไม้ไผ่ หรือไม้รวกยาวประมาณ 5 - 6 เมตร ห่อข้าวแตกนี้จะนำมาแจกผู้เข้าร่วมพิธีในวันสุดท้าย  เพื่อใช้เป็นเครื่องสักการะ (กิตติพงศ์ เดือนเด็น, สัมภาษณ์, 18 เมษายน 2556)
                1.11 เตรียมสถานที่
                จะต้องมีการเตรียมในหลายส่วน ภายในวัดกุงแกง จะมีการจัดเตรียมเช่น ที่พักของส่างลอง บริเวณวัดที่ใช้เป็นสถานที่รับแขก  สถานที่รับประทานอาหาร โรงครัว เป็นต้น และสร้างปะรำขึ้นอีกต่างหากจากอาคารที่มีอยู่ ปะรำนี้เป็นปะรำชั่วคราวทำด้วยโครงไม้ไผ่ มุงใบตองตึง หรือที่เรียกกันว่า พลวง (ปันติ๊ ปันแก้ว, สัมภาษณ์, 9 เมษายน 2556)
                1.12 การเตรียมของประดับตกแต่ง
                การเตรียมประดับตกแต่งส่วนมากจะทำที่บ้านเจ้าภาพใหญ่หรือไม่ก็ทำที่วัดซึ่งจะเป็นสถานที่จัดงาน ดังนั้น ในช่วงตระเตรียมงาน ใครมีเวลาว่างช่วงใดก็จะไปช่วยกันที่บ้านเจ้าภาพใหญ่ พวกผู้หญิงนอกจากจะช่วยจัดเตรียมอาหารและขนมแล้ว ยังช่วยทำงานในส่วนที่เป็นรายละเอียดการประดับตกแต่งด้วย คือการทำดอกไม้ เป็นการติดลวดลายกระดาษ จัดเตรียมเครื่องบูชาคือ เครื่องสักการะพระพุทธ หรือที่เรียกกันว่า อุ๊พ การมาร่วมกันทำงานนี้ ไม่มีการกำหนดแน่นอนว่าใครจะต้องรับผิดชอบในงานใดหากแต่เป็นความสมัครใจของผู้มาร่วมงานเอง ว่าจะต้องการทำงานใด ส่วนมากแล้วทุกคนจะช่วยกันในทุก ๆ เรื่องตามความถนัด และไม่มีการเลือกว่างานนั้นจะเป็นงานที่เหมาะสมกับสถานภาพทางสังคมของตนหรือไม่ การทำงานทุกคนจะมีจุดมุ่งหมายเดียวกัน คือ ช่วยกันทำงานให้สำเร็จและพร้อมสำหรับวันจัดงาน
                1.13 การเตรียมคนที่จะเป็นตะแป
                การจัดเตรียมที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ส่างลองโดยเฉพาะคือ การเตรียมคนที่จะเป็นตะแปเพราะหน้าที่ของตะแปส่างลองนั้น นับว่ามีความสำคัญมากเนื่องจากต้องดูแลส่างลองตลอดงานพิธี ตั้งแต่การอาบน้ำ กินข้าวแต่งตัว และให้ส่างลองขี่คอไปตามที่ต่าง ๆ ตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายของงาน ทั้งนี้ ตามประเพณีนั้นจะไม่ให้เท้าของส่างลองแตะพื้นดินเลย ตลอดช่วงระยะเวลางาน โดยเฉพาะวันสุดท้ายของงานจะต้องคอยดูแลส่างลองไม่ให้คลาดสายตาทีเดียว เพราะมักจะมีการแอบนำเอาส่างลองไปหลบซ่อนที่ใดที่หนึ่ง ไม่ยอมให้มีการบรรพชาเจ้าภาพจะต้องนำ รางวัลไปมอบให้ จึงจะได้ส่างลองกลับคืนมา ตะแปส่างลอง ส่วนมากจะเป็นญาติพี่น้องของส่างลองหรือเป็นคนในหมู่บ้านเดียวกับส่างลอง แต่ถ้ามีส่างลองจำนวนมากอาจไปขอคนจากหมู่บ้านอื่นมาช่วยเป็นตะแปบ้างก็ได้ ส่วนมากผู้ชายไทใหญ่ ก็ยินดีจะเป็นตะแป เพราะถือว่าได้บุญมาก ตะแปส่างลองนี้อย่างน้อยที่จะสุดจะต้องมี คน แต่ส่วนมากจะเตรียมไว้ 5 คน โดยจะมีผู้ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าตะแป 1 คน ตะแปแต่ละคนจะมีหน้าที่ ดังนี้
                   1.13.1 ตะแปคนที่ 1 คือหัวหน้าตะแป มักจะเป็นผู้อาวุโสหรือเป็นญาติผู้ใหญ่ของส่างลอง หัวหน้าตะแปจะทำหน้าที่ดูแลตะแปที่เหลือ และมีหน้าที่สำคัญ คือ ดูแลเครื่องประดับที่ใช้แต่งตัวให้ส่างลอง เนื่องจากในวันพิธี ส่างลองจะได้รับการตกแต่งด้วยเครื่องประดับอย่างงดงามที่สุด จึงต้องมีคนคอยดูแลอย่างใกล้ชิดไม่ให้เครื่องประดับตกหล่นหรือหายระหว่างเวลางานพิธี
                   1.13.2 ตะแปคนที่ 2 ทำหน้าที่ดูแลเรื่องอาหาร น้ำดื่มและอำนวยความสะดวก   ต่าง ๆ ให้แก่ส่างลอง
                   1.13.3 ตะแปคนที่ 3 ทำหน้าที่ดูแลเงินบริจาคที่คนร่วมทำบุญระหว่างพิธี
                   1.13.4 ตะแปคนที่ 4 ทำหน้าที่กางร่มทอง ให้ส่างลอง
                   1.13.5 ตะแปคนที่ 5 ทำหน้าที่แบกส่างลองโดยให้ส่างลองขี่คอต่างม้า
                ตะแปคนที่ 4 และ 5 นี้อาจจะสลับหน้าที่กันในบางครั้ง แต่ตะแปคนที่ 1 และ 2 จะไม่สลับหน้าที่กัน (แก้ว สุขศรี, สัมภาษณ์, 18 เมษายน 2556)
                1.14 การจัดเตรียมคณะดนตรี
                ในช่วงเตรียมงาน เจ้าภาพจะเชิญผู้มีความรู้ความชำนาญ จัดหากลุ่มศิลปิน คณะดนตรีชุดกลองก้นยาว ประกอบด้วยกลองหน้าเดียวยาวประมาณวาเศษ ฆ้องขนาดใหญ่ 1 ใบ ขนาดกลาง 1 ใบ ขนาดเล็ก 1 ใบ ฉาบขนาดกลาง 1 คู่ คณะดนตรีชุดนี้จะมีประมาณ  5 - 6 คน สับเปลี่ยนกันบรรเลงเครื่องดนตรีชิ้นต่าง ๆ มาร่วมกันขับร้อง เรียกว่า เฮ็ดความ เป็นการร้องเพลงไทใหญ่ และบรรเลงให้เกิดความครึกครื้นสนุกสนาน ซึ่งการจัดงานภาคบันเทิงนี้จะมีต่อเนื่องไปจนเสร็จสิ้นงาน (สิงห์ทอง เรือนแก้ว, สัมภาษณ์, 22 เมษายน 2556)
                1.15 การเตรียมการต้อนรับแขก
                เมื่อมีแขกมาถึงบ้านก็ต้อนรับ ทั้งหมากเมี่ยง บุหรี่  ข้าวปลาอาหารคาวหวาน ที่หลับที่นอน บางทีแขกที่มาร่วมงานก็อาจนำสิ่งของที่ใช้ปรุงอาหารหรือเงินหรือสิ่งของอื่น ๆ มาร่วมทำบุญกับเจ้าภาพ เจ้าภาพก็จะนำของดังกล่าวมาต้อนรับทุกคนไป ช่วงก่อนวันงาน 2 - 3 วัน ผู้คนจะเริ่มทยอยมาช่วยกันทำงานที่บ้านเจ้าภาพ จัดเตรียมสถานที่หุงหาอาหารที่หลับที่นอนของส่างลอง ผู้วิจัยเห็นว่า ชาวไทใหญ่มีน้ำใจโอบอ้อมอารียินดีต้อนรับผู้มาเยือน แม้ไม่ใช่ญาติหรือคนรู้จักก็ตาม
                1.16 การฝากตัวผู้ที่จะบรรพชา
                ก่อนถึงวันงาน 10 หรือ 20 วัน พ่อแม่จะส่งเด็กที่จะบรรพชาไปศึกษาอบรมวิธีการใช้ชีวิตในวัด หัดท่องบทสวดมนต์ และเรียนรู้ระเบียบวินัยและข้อปฏิบัติสำหรับสามเณร
                1.17 ก่อนจะถึงกำหนดงาน 1 วัน
                ในช่วงเวลาประมาณ 3 โมงเย็น พ่อแม่เด็กหรือเจ้าภาพก็จะนำเด็กที่จะเป็นส่างลองไป โกนผมที่วัด พ่อแม่ของเด็กหรือพระผู้ใหญ่ จะตัดให้ก่อนแล้วจึงพระเณรโกนให้ เสร็จแล้วนำไปอาบน้ำขมิ้น ส้มป่อย เพื่อเป็นสิริมงคล แล้วปะแป้งผัดหน้า นุ่งขาวห่มขาว แล้วจึงกลับมานอนที่บ้าน หรือบางทีก็นอนที่วัดนั้นเลย (เณรเพชรประชา กลิ่นเขตกานต์, สัมภาษณ์, 5 เมษายน 2556)
2. ช่วงพิธีกรรม
            เป็นช่วงสมมติว่าส่างลองมีฐานะเป็นกษัตริย์เช่นเดียวกับตอนที่เจ้าชายสิทธัตถะดำรงฐานะก่อนออกผนวช โดยหมู่บ้านกุงแกงกำหนดวันงานทั้งหมด 5 วัน ซึ่งแต่ละวัน จะมีพิธีการและข้อปฏิบัติ และขั้นตอนดังนี้
                2.1 วันแรก หรือเรียกกันว่า วันแฮก
                คือการเริ่มงานนั่นเอง โดยจะเริ่มงานตั้งแต่ตอนเช้ามืดประมาณ ตี 5 โดยมีขั้นตอน  ต่าง ๆ ดังนี้
                   2.1.1 ให้ผู้ที่จะเป็นส่างลองทำการอาบน้ำด้วยเครื่องหอม มะกรูด ส้มป่อย
                   2.1.2 ให้ผู้ที่จะเป็นส่างลอง สวมเสื้อกล้ามสีขาว กางเกงในสีขาว กางเกงขาสั้นสีขาว ถุงเท้าสีขาว โดยจะมีตะแปเป็นผู้แต่งตัวให้ จากการสังเกตการณ์ พบว่า แม้แต่ถุงเท้า ตะแปก็จะเป็นผู้สวมให้
                   2.1.3 ผู้เป็นแม่หรือพ่อ จะเป็นคนแต่งหน้า ให้ผู้ที่จะเป็นส่างลอง โดยเริ่มจากการ ทาแป้งที่ศีรษะ จากนั้นจะทาครีมรองพื้น ทาแป้ง เขียนคิ้ว กรีดอายไลเนอร์ ทาปากด้วยสีแดง เขียนแก้ม ด้วยแป้งพม่า ลักษณะจะวนเป็น วงกลมจุด ๆ ซึ่งเป็นการสืบทอดกันมา เป็นเอกลักษณ์ของไทใหญ่ (ส่างออ วงศ์จัน, สัมภาษณ์, 21 เมษายน 2556) เมื่อเสร็จจากการแต่งหน้าแล้ว ก็จะไปแต่งตัวเป็นส่างลองที่วัด
เครื่องแต่งกายส่างลอง
                   2.1.4 พิธีการ จะเริ่มประมาณ 9 โมง โดยเริ่มจากการ ให้เด็กชายที่เป็นหัวหน้าส่างลอง จุดธูป เทียน บูชาพระรัตนตรัย เพื่อสมาทานเบญจศีล เมื่อเสร็จแล้วเจ้าอาวาสจะอนุญาต ให้ไปแต่งเป็นชุดส่างลองได้
                   2.1.5 ตะแปส่างลองที่เป็นคนแต่งตัว จะเป็นผู้แต่งเครื่องทรงให้ โดยการแต่งกายชุดส่างลองนั้น จะแต่งกายคล้ายเจ้าชายไทใหญ่ โดยภายนอกจะนุ่งโจงกระเบนสีสด ปล่อยชายด้านหลังยาวจับกลีบ คาดด้วยเข็มขัดเงินหรือนาค สวมเสื้อแขนกระบอกชายโค้งงอน เสื้อปักฉลุลวดลายดอกไม้สีต่าง ๆ สีเสื้อและโจงกระเบนจะใกล้เคียงกันหรืออยู่ในเฉดเดียวกัน ที่ไหล่ทั้งสองข้างจะติดโบว์กลม ๆ มีชายห้อยลงมา 3 - 5 เส้น และสวม แคบคอ เรียงตามแผงอกคล้ายกับเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ใส่สไบเฉียงนำมาไขว้กัน  ส่วนที่สวยงามเป็นพิเศษของส่างลองคือส่วนศีรษะ โดยเริ่มจากการ ใช้ผ้าขนหนูรองศีรษะ แล้วใช้เข็มกลัด กลัดที่ผ้าขนหนู เพื่อซับเหงื่อไม่ให้ไหล และรองรับเครื่องประดับที่จะอยู่บนศีรษะ ซึ่งจะใช้ผ้าแพรโพก มีเกล้ามวยเสียบแซมด้วยดอกไม้ ที่ทำจากผ้าหรือกระดาษ ตะแปผู้แต่งตัวส่างล่องจะตรวจดูความเรียบร้อยจนพอใจ
            2.1.6 เมื่อแต่งตัวเสร็จแล้ว จึงนำส่างลองไปรอรับศีลจากพระสงฆ์อีกครั้งหนึ่ง โดยมีผู้ดูแลอย่างใกล้ชิด เมื่อแต่งตัวเสร็จแล้วถือว่าเป็นส่างลองเต็มตัว การปฏิบัติต่อส่างลอง ในช่วงต่อไปนี้จะสมมติเสมือนการปฏิบัติต่อกษัตริย์ ส่างลองจะไม่มีโอกาสเหยียบดินจนกว่าจะถึงวันบรรพชาเป็นสามเณร  เมื่อส่างลองทุกองค์แต่งตัวเสร็จพร้อมกันหมดแล้วตัวแทนส่างลองจะกล่าวนำขอศีลจากพระสงฆ์ พระสงฆ์ก็จะให้ศีลให้พรและอบรมสั่งสอนให้วางตัวให้เหมาะสมกับการเป็นส่างลอง จากนั้นก็จะมีการขอขมาพระสงฆ์เป็นอันเสร็จพิธี
                   2.1.7 หลังจากเสร็จพิธีรับส่างลองแล้ว ตะแปส่างลอง จะให้ส่างลองขี่คอลงมาจากวัดแล้วฟ้อนรำ มีการบรรเลงดนตรีบริเวณหน้าวัดเป็นการเฉลิมฉลองต้อนรับส่างลองจากนั้นจะแห่รอบวัดสามรอบ จะมีตะแปอีกคนคอยถือร่มให้ส่างลอง บรรดาพ่อแม่ของส่างลองและญาติจะโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็น การอนุโมทนา โดยจะโปรยตลอดการแห่รอบ พระสงฆ์จะคอยรดน้ำมนต์ให้กับผู้ร่วมงาน
                   2.1.8 หลังจากฟ้อนรำฉลองการต้อนรับส่างลองจนเป็นที่น่าพอใจแล้ว คณะส่างลองจะเคลื่อนขบวนไปยังศาลเจ้าประจำหมู่บ้าน ที่ปกปักรักษาหมู่บ้านกุงแกง และแห่รอบศาลเจ้าสามรอบ ในขณะที่แห่ส่างลอง ตะแปส่างลองจะเต้นตามไปด้วย ส่างลองก็จะโยกตัวตามจังหวะ เมื่อไปถึงศาลเจ้าจะมีการบอกกล่าวเพื่อขอขมาลาโทษและขอความคุ้มครองป้องกันอย่าให้มีภยันตราย ขอให้ปลอดภัยร่มเย็นเป็นสุข จากนั้นจะฟ้อนรำถวาย
                   2.1.9 จากนั้นเคลื่อนขบวนไปแห่รอบหมู่บ้านจนใกล้เวลาเที่ยงวันจึงนำส่างลองกลับเข้าที่พักหรือบ้านของส่างลองเพื่อพักผ่อนและรับประทานอาหารกลางวัน และจะถอดเสื้อให้กับส่างลอง เพื่อระบายความร้อน เป็นการเสร็จพิธีกรรมในช่วงเช้า
                   2.1.10 ตอนบ่ายหลังจากพักผ่อนกันอย่างเต็มอิ่มแล้ว  คณะขบวนแห่ส่างลองจะออกไปตามบ้านญาติพี่น้อง คนรู้จักหรือผู้ที่เคารพนับถือ ญาติผู้ใหญ่จะผูกข้อมืออวยพรให้พรแก่ส่างลอง การผูกข้อมือจะผูกด้ายสายสิญจน์พันด้วยธนบัตรหรือเหรียญธรรมดา ซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ธนบัตรใบละ 20 บาท ม้วนกลมผูกด้ายสายสิญจน์
                   2.1.11 ชาวบ้านอีกส่วนหนึ่ง ก็จะมารวมกลุ่มกันที่วัด เพื่อจัดเตรียมงานสำหรับพิธีวันต่อไป โดยช่วงตลอดระยะเวลาของการจัดงาน คนในหมู่บ้านจะต้องหยุดงาน แล้วมาช่วยกัน มีการลงชื่อกับหัวหน้าฝ่ายแต่ละฝ่าย ซึ่งทางหมู่บ้านกุงแกง มีระเบียบให้ปฏิบัติ คือ ถ้าบ้านใดไม่มีคนมาช่วยงาน จะปรับเงินหลังคาเรือนละ 300 บาท เป็นข้อตกลงที่ยอมรับทั่วกัน (สมจิตร ชื่นจิตร, สัมภาษณ์, เมษายน 2556)
                   2.1.12 ตอนเย็น หลังจากคณะขบวนแห่ส่างลองกลับมาจาก การออกไปตามบ้านญาติพี่น้องแล้ว จะมีการแห่ส่างลอง รอบศาลาวัดสามรอบ แล้วเคลื่อนขบวนเพื่อจะไปอัญเชิญ     พระอุปคุต เพื่อมาปกปักรักษางาน โดยมีความเชื่อว่า พระอุปคุตจะเป็นผู้ปกปักรักษางาน ให้บรรลุผ่านไปด้วยดี ซึ่งจะตั้งขบวนจากวัดกุงแกง เคลื่อนขบวนไปยัง แม่น้ำปาย ที่ไหลผ่านหมู่บ้านกุงแกง เมื่อไปถึงผู้ทำพิธี จะลงไปในแม่น้ำ และเดินหา หินที่มีลักษณะสีขาว กลมมน ขึ้นจากน้ำ ซึ่งมีความเชื่อว่า เป็นตัวแทนของพระอุปคุต แล้วให้พระสงฆ์ทำพิธีเชิญ พระอุปคุตไปไว้ที่วัด จากนั้นก็จะมีการตีฆ้องหนึ่งครั้งเป็นการส่งสัญญาณ ว่าเสร็จพิธีของวันแรก
                    2.1.13 ส่างลองจะกลับมาพักผ่อน อาบน้ำ ทานข้าว เป็นการเสร็จสิ้นพิธีในวันแรก แต่ช่วงกลางคืนก็จะมีผู้คนมาเยี่ยมเจ้าภาพ มาร่วมทำบุญบ้าง มาร่วมงานจะมีจำนวนมากมาย เจ้าภาพจะจัดเตรียมน้ำดื่ม ขนม หมาก เมี่ยง บุหรี่ มาเลี้ยง และมีกลองมองเซิงมาตั้งไว้ให้บรรเลงกันเป็นที่สนุกสนานเป็นช่วง ๆ ไป พอตกดึกก็จะมี การร้องเพลงไทใหญ่และบรรเลงกลองมองเซิงสลับกันจนถึงรุ่งเช้า
 2.2 วันที่สองของงาน
                พิธีจะเริ่มประมาณเวลา 9 โมง โดยมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
                   2.2.1 นำส่างลอง ขึ้นไปทำพิธีบนศาลาวัด โดยพระสงฆ์จะสวดมนต์เป็นภาษา      ไทใหญ่ จากนั้นจะเป็นการให้ส่างลอง สวดให้พรกับผู้มาร่วมงานเป็นครั้งแรก
                   2.2.2 เวลาประมาณ 10 โมงจะนำส่างลองไปแห่รอบอำเภอปาย โดยรถยนต์ โดยเริ่มขบวนจากวัด ไปที่ว่าการอำเภอปาย ลำดับแรก เมื่อไปถึง ตะแปจะให้ส่างลองขี่คอ แล้วขึ้นไปหอประชุม พบนายอำเภอ โดยให้ส่างลองนั่งบนเก้าอี้ที่เตรียมไว้ให้ โดยมีตะแปคอยดูแลอยู่ข้าง ๆ จากนั้นนายอำเภอจะกล่าวให้โอวาทกับส่างลอง เมื่อจบการให้โอวาท ส่างลองจะสวดมนต์ให้พร เป็นการเสร็จพิธี แล้วนำส่างลองไปแห่ขบวนต่อไป ยังวัดหลวง ซึ่งอยู่ใจกลางเมืองอำเภอปาย โดยให้ส่างลองขึ้นไปทำพิธีบนศาลากับอดีตเจ้าคณะอำเภอ โดยผู้ร่วมงานจะรอด้านล่าง และมีการเล่นดนตรีไปด้วย เมื่อเสร็จแล้วก็มีการแห่ไปรอบตัวเมือง และกลับไปยังวัด โดยระหว่างทาง จะมีผู้ศรัทธามาบริจาคเงินเป็นจำนวนมาก เป็นการเสร็จสิ้นพิธีในช่วงเช้า
ส่างลองเยี่ยมบ้าน
                   2.2.3 ตอนบ่ายเป็นการนำส่างลอง ไปเยี่ยมบ้านต่าง ๆ โดยไม่ได้แจ้งให้ทราบล่วงหน้า แต่ทุกบ้านก็จะมีการเตรียมตัว เนื่องจากจะเป็นการทราบว่า ช่วงเวลานี้เป็นช่วงของการจัดงานปอยส่างลอง บ้านใดที่ส่างลองไปเยี่ยม เจ้าของบ้านจะให้การต้อนรับเป็นอย่างดีถือว่าเป็นเกียรติและเป็นมงคลแก่บ้านนั้น เจ้าของบ้านจะเตรียมน้ำส้ม น้ำหวานมาต้อนรับและจะผูกข้อมือสู่ขวัญ พร้อมกับมอบเงินให้ตามแต่ศรัทธาและฐานะ เงินที่ได้จากการผูกข้อมือสู่ขวัญจะมีตะแปที่เป็นหัวหน้าเก็บรักษาไว้และจะนำถวายเมื่อส่างลองได้บรรพชาเป็นสามเณรแล้ว (ธงชัย ยอดคำ, สัมภาษณ์, 22 เมษายน 2556)
                   2.2.4 การนำส่างล่องไปเยี่ยมบ้านต่าง ๆ จะดำเนินไปจนถึงเย็นจนได้เวลาพอสมควร จึงจะกลับไปพักผ่อนและรับประทานอาหารเย็น บ้านเจ้าภาพส่างลองทุกบ้านจะมีคนมาช่วยกันเตรียมอาหารไว้บริการส่างลอง ตะแปส่างลอง และผู้มาร่วมงานทุกคนตลอดทั้งวัน
                   2.2.5 ช่วงกลางคืน เป็นวันแรกที่จะมีการจัดงานวัดขึ้น โดยวันแรกจะมีหนัง       กางแปลง มาฉาย สร้างความคึกครื้นกับงาน
                2.3 วันที่สามของงาน
                หลังจากมีการเยี่ยมญาติของส่างลองและคนในหมู่บ้านครบแล้ว ก็จะนำส่างลองไปเยี่ยมยังหมู่บ้านต่าง ๆ ใกล้เคียง ตะแปจะเรียกว่า พาส่างลองไปเที่ยว เพราะสังคมไทใหญ่มักจะรู้จักกัน ทุกครัวเรือน ถ้าบ้านไหนส่างลองไม่ได้เข้าไป เจ้าของบ้านนั้นจะรู้สึกเสียใจมาก ที่ปีนี้ไม่มีส่างลองขึ้นบ้านตนเอง เพราะการที่ส่างลองขึ้นมาบนบ้าน ถือว่าเป็นการนำนำโชคมาสู่ครอบครัว (รังสรรค์ ยอดคำ, สัมภาษณ์, 23 เมษายน 2556) โดยชาวบ้านอีกส่วนหนึ่งก็ยังคง เตรียมของทำบุญ สำหรับงานวันต่อไปเช่นเดิม ช่วงกลางคืนจะมีลิเกไทใหญ่ ต่อยมวย รำวงย้อนยุค มีคนมาเที่ยวงานจำนวนมาก ส่างลองก็สามารถมาเที่ยวงานได้ แต่ต้องขี่คอ ตะแป่ มาเท่านั้น
            2.4 วันที่สี่ หรือที่เรียกกันว่า วันข่ามแขก
                ซึ่งหมายถึงวันรับแขกนั่นเอง จะเป็นวันที่ญาติพี่น้องจากหมู่บ้านอื่นมาร่วมงานอย่างพร้อมเพรียงกัน วันนี้นับว่าสำคัญยิ่งเพราะจะมีพิธีต่าง ๆ 3 พิธี ดังต่อไปนี้ คือ
                   2.4.1 พิธีการแห่โคหลู่ หรือ เครื่องไทยธรรม
                   ตอนเช้าจะมีผู้คนจากทั่วทุกหมู่บ้านแต่งกายกันอย่างสวยงาม จะมาช่วยกันจัดเตรียมเครื่องไทยธรรมและอัฐบริขารที่จะนำไปเข้าขบวนแห่โคหลู่ หรือเครื่องไทยธรรม เครื่องไทยธรรมทุกชิ้นจะนำมาแห่พร้อมกันในวันนี้ เป็นกิจกรรมแสดงถึงความหรูหราและความพร้อมเพรียงของงานปอยส่างลอง ในการแห่นั้นจะมีญาติและประชาชนเข้าร่วมขบวนแห่อย่างเพรียงกันโดยจะถือช่วยกันแบก ช่วยกันหามอัฐบริขารเครื่องไทยธรรมทุกชิ้นทั้งเล็กและใหญ่ โดยจะเริ่มจากบ้านของเจ้าภาพใหญ่ และเดินขบวนไปยังวัด มีการลำดับการเดินขบวนดังนี้
                       2.4.1.1 ขบวนจะเริ่มด้วยผู้อาวุโสแต่งชุดขาว อุ้มขันข้าวตอกดอกไม้ซึ่งถือว่าเป็นผู้มีศีลธรรม เป็นผู้บริสุทธิ์เดินนำหน้าขบวน
                       2.4.1.2 จีเจ่ กังสดาลใหญ่ หรือระฆังวงเดือน ใช้คนหาบ 2 คน คนหนึ่งตีเป็นจังหวะ ๆ เมื่อตีหรือเคาะก็จะมีเสียงดังกังวานไป การนำจีเจ่ มาตีในขบวนแห่นั้นเชื่อกันว่าเป็นการประกาศการทำบุญให้ ผู้คนทั่วไปได้รู้กัน เมื่อใครได้ยินแล้วให้ร่วมอนุโมทนาหรือเดินทางมาร่วมทำบุญ รวมทั้งเป็นการบอก เทวดา เทพาอารักษ์ทั้งหลายให้ได้ทราบถึงการทำบุญใหญ่ของชุมชน
                       2.4.1.3 อุ๊บเจ้าพารา คือเครื่องสักการะพระพุทธ มีดอกไม้ ธูปเทียน ขนม บรรจุอยู่ในภาชนะใช้คนแบกหาม จำนวน 2 คน เมื่อถึงวันทำบุญจะนำไปถวายพระพุทธ
                       2.4.1.4 ม้าเจ้าเมือง เป็นม้าทรงของเจ้าเมือง ที่จะต้องอัญเชิญมาร่วมในขบวนแห่โคหลู่ในประเพณีปอยส่างลองทุกครั้งเป็นการให้เจ้าเมืองที่เคารพของชุมชนรับทราบและช่วยปกป้องคุ้มครองให้งานดำเนินไปด้วยความเรียบร้อยปราศจากเหตุร้ายทั้งปวง เป็นส่วนสำคัญของขบวนม้าเจ้าเมืองจะคัดม้าที่สวยที่สุด สง่างามและเชื่อง นำมาตกแต่งด้วยดอกไม้ ปูด้วยผ้าหรือใส่อาน แล้วไปอัญเชิญเจ้าพ่อหลักเมืองหรือศาลเจ้าประจำหมู่บ้านมาประทับ ถือว่าจะนำความร่มเย็นมาสู่การจัดงาน
                       2.4.1.5 ต้นตะเป่ส่า หรือเรียกว่า ต้นกัลปพฤกษ์ การถวายต้นตะเป่ส่า มุ่งให้เกิดในสวรรค์ มีต้นกัลปพฤกษ์บันดาลสิ่งที่ปรารถนาได้ทุกอย่าง มี 2 ประเภท คือ
                          2.4.1.5.1 ต้นตะเป่ส่าพระพุทธ คล้ายจองพารา โครงสร้างทำด้วยไม้ไผ่กรุกระดาษสาตกแต่งลวดลายสวยงาม เป็นส่วนที่เด่นที่สุดในขบวน ใช้สำหรับถวายพระพุทธเจ้า
                           2.4.1.5.2 ต้นตะเป่ส่าถวายวัด คล้ายต้นตะเป่ส่าพระพุทธต่างกันตรงเครื่องห้อยซึ่งเป็นเครื่องใช้สำหรับวัด เช่น ถ้วยชาม จาน แก้วน้ำ หม้อ ฯลฯ ตามแต่ศรัทธาเพื่อนำไปถวายวัด
                       2.4.1.6 ขบวนโคหลู่นำเครื่องอัฐบริขารที่ใช้ในการบรรพชาและเครื่องไทยธรรมทุกชิ้นมาเข้าขบวนแห่ให้ยิ่งใหญ่และสวยงาม มีดังต่อไปนี้
                          2.4.1.6.1 ปุ๊กข้าวแตก คือห่อข้าวตอกด้วยกระดาษสา ผูกติดกับธงสามเหลี่ยมที่เรียกว่า จ๊ากจ่า ใช้แทนดอกไม้สำหรับแจกให้ผู้ไปร่วมงานบรรพชาไหว้พระ ปุ๊กข้าวแตกจะขาดไม่ได้และจะต้องมีจำนวนเท่ากับส่างลอง ซึ่ง จ๊ากจ่า หมายถึงลิ้นแม่กาเผือกจากหนังสือธรรมะกล่าวว่า กาเผือกเป็นแม่ของพระพุทธเจ้า 5 องค์ เมื่อครั้งเสวยชาติเป็นแม่กา (เขียว จันผาสุก, สัมภาษณ์, 24 เมษายน 2556)
                           2.4.1.6.2 เทียนเงิน เทียนทอง คือธูปเทียนแพ เป็นเครื่องบูชาส่างลองสำหรับถวายแด่พระอุปัชฌาย์
                           2.4.1.6.3 พุ่มเงิน พุ่มทอง  สำหรับส่างลองถวายพระพุทธและประดับขบวน
                           2.4.1.6.4 อูต่อง ปานต่อง คือกรวยหมากพลูและกรวยดอกไม้
                           2.4.1.6.5 หม้อน้ำต่า คือหม้อดินห่อผ้าขาวใส่ใบไม้ 9 ชนิดจัดไว้เพื่อความร่มเย็น และเป็นสิริมงคล ได้แก่ ใบสะเป่หรือใบหว้า เหน่จ่าหรือหญ้าแพรก ก๊าด เป็นต้นไม้ชนิดหนึ่งคล้ายพริกไทย ยอดหมากก่า หรือยอดฝรั่ง ใบก้ำก่อหรือใบบุญนาค ยอดผักกุ่ม ยอดปานแข ยอดถั่วแห้ะหรือยอดถั่วแระ และไม้กางคล้ายต้นหางนกยูง
                   2.4.1.7 ขบวนกลองมองเซิง ใช้บรรเลงประกอบขบวนทำให้เกิดความไพเราะรื่นเริงในขบวนเครื่องแห่โคหลู่ ส่วนใหญ่จะมีแต่คนแก่เท่านั้นที่ตีกลองมองเซิงได้
                   2.4.1.8 เครื่องไทยธรรมที่เป็นปัจจัยถวายพระสงฆ์ที่นิมนต์มาในงานตกแต่งด้วยดอกไม้จัดไว้อย่างสวยงามโดยมากหญิงสาวจะเป็นผู้ถือ อัฐบริขารที่เป็นเครื่องใช้สามเณร ประกอบด้วยจีวร เครื่องนอนและเครื่องใช้อื่น ๆ ของสามเณร
                   2.4.1.9 ขบวนส่างลอง เป็นกลุ่มซึ่งจะอยู่เกือบท้ายขบวน วันนี้ทั้งส่างลอง ตะแปส่างลอง และผู้ถือร่ม จะแต่งกายสวยงามเป็นพิเศษ
                   2.4.1.10 ขบวนกลองก้นยาว ขณะขบวนเคลื่อนที่ตามขบวนส่างลอง ปิดท้าย
                   ส่างลองจะฟ้อนรำไปด้วยตามจังหวะกลองก้นยาว ไม่ใช่การเดินตรงไปตรงมา แต่เป็นการเต้น ยักย้าย ออกลวดลาย ทำให้เกิดความสนุกสนานครึกครื้นมากยิ่งขึ้น ขบวนแห่ส่างลองเป็นเสมือน การแสดงแสนยานุภาพของกษัตริย์ มีบริวารแห่แหนรายรอบเป็นขบวนยาวมีการฟ้อนรำเข้ากับจังหวะดนตรี กลองก้นยาว บริวารส่างลองประกอบด้วย ผู้ที่ที่ให้ส่างลองขี่คอมี 2 - 3 คนสับเปลี่ยนกัน ผู้ที่ทำหน้าที่กางทีคำหรือร่มใหญ่ปิดทอง ผู้ที่ทำหน้าที่ถือพานหมาก และคณะดนตรีชุดกลองก้นยาว
                   ขบวนแห่โคหลู่งานปอยส่างลองถือว่าเป็นขบวนแห่ที่ยิ่งใหญ่และสวยงาม เป็นขบวนแห่ที่มีผู้คนมาร่วมกันมาก ขบวนแห่จะออกจากจุดตั้งต้นไปตามถนน เส้นทางไปวัด ระหว่างทางจะมีผู้สูงอายุถือ ขันออกมาโปรยข้าวตอกดอกไม้เป็นการอนุโมทนาสาธุในการทำบุญ
                    เมื่อแห่ขบวนรอบหมู่บ้านแล้วขบวนแห่จะไปสิ้นสุดที่วัด จะมีผู้คนออกมาต้อนรับ มีน้ำดื่มมาคอยบริการ และก็มารอโปรยข้าวตอกดอกไม้ ขบวนแห่จะเวียนรอบวัดสามรอบ แล้วนำโคหลู่ขึ้นไปจัดไว้บนวัด เพื่อรอไว้สำหรับจะใช้ในการประกอบพิธีในวันรุ่งขึ้น
2.4.2 พิธีเรียกขวัญหรือฮ้องขวัญ
                   จะพิธีในช่วงเวลาประมาณ 2 ทุ่ม จะนำส่างลองขึ้นไปบนศาลาวัด ทำพิธีเรียกขวัญแบบพิธีไตหรือไทใหญ่ โดยพิธีจะเริ่มจากหมอขวัญจะทำการ รวนสายสิญจน์ไปยังส่างลองทุก ๆ องค์ส่างลองจะประนมมือเพื่อรับสายสิญจน์ รับฟังโอวาท และคำสอนสั่งจากหมอขวัญ เมื่อถึงเวลาฤกษ์ หมอขวัญจะเริ่มอ่านคาถา และคำสอนจากคัมภีร์โบราณเป็นภาษาไทใหญ่ ซึ่งกล่าวพรรณนาถึงบุญคุณของบิดา มารดา โดยใช้เวลาประมาณ 15 นาที และหลังจากที่หมอขวัญอ่านคัมภีร์ทำขวัญเสร็จแล้ว ผู้มาร่วมงานพร้อมทั้งบิดามารดาและญาติ ๆ จะช่วยกันผูกข้อมือส่างลองด้วยสายสิญจน์ เพื่อเป็นการรับขวัญ (ปันติ๊ ปันแก้ว, สัมภาษณ์, 25 เมษายน 2556)
                   2.4.3 การเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบ คือกับข้าว 12 อย่าง
เลี้ยงอาหารส่างลอง
                   หลังจากทำพิธีเรียกขวัญเสร็จแล้ว จะมีการเลี้ยงอาหารส่างลองเต็มรูปแบบ โดยสถานที่ที่จะเลี้ยงอาหารจะจัดไว้ที่บ้านเจ้าภาพใหญ่ ในวันนี้พ่อแม่ของส่างลอง ญาติทั้งฝ่ายพ่อและแม่รวมจะมาร่วมงานกันอย่างพร้อมหน้าพร้อมตา เมื่อถึงเวลาพ่อแม่ส่างลองจะยกสำรับอาหาร 12 อย่างมาให้ส่างลองรับประทานพร้อมทั้งป้อนอาหารให้ส่างลองและคอยดูแลเอาอกเอาใจ สำหรับส่างลองที่ไม่มีพ่อแม่ป้อนอาหารให้ก็จะมีพ่อข่ามแม่ข่ามเป็นผู้ป้อนอาหารแทน ซึ่งอาหาร 12 อย่างมีดังนี้
                       2.4.3.ผักทุกชนิด
                       2.4.3.ผลไม้ ลูกไม้ ทุกชนิด
                       2.4.3.เนื้อสัตว์ทุกชนิด
                       2.4.3.ปลาทุกประเภทกินได้ทุกชนิด
                       2.4.3.ถั่ว งา ทุกชนิด
                       2.4.3.นม เนย
                       2.4.3.เผือก มัน  
                       2.4.3.ยอด หรือดอกไม้ที่กินได้ทุกชนิด
                       2.4.3.ไข่ทุกอย่าง เช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด ไข่ปลา และไข่มด
                       2.4.3.10 ข้าวและแป้งทุกชนิด
                       2.4.3.11 น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล
                       2.4.3.12 หน่อไม้ต้นอ่อน ๆ ของไม้ทุกชนิดที่กินได้
                   ทั้งนี้จากความเชื่อที่ว่า ในอดีตแม่จะเลี้ยงลูกด้วยการนำข้าวมาเคี้ยวให้ละเอียด แล้วนำไปนึ่งเพื่อให้ลูกได้กินอาหารที่อ่อนนุ่ม จะได้โตเร็ว ๆ อาหาร 12 อย่างเปรียบเสมือนระยะเวลาในจักรราศี 12 ปี ซึ่งทั้งพ่อและแม่ได้ช่วยกันดูแลและเลี้ยงดูลูกตั้งแต่ยังเล็กจนเติบใหญ่ด้วยความยากลำบาก (แก้ว สุขศรี, สัมภาษณ์, 18 เมษายน 2556) แต่ผู้วิจัยพบว่า หมู่บ้านกุงแกงนั้นไม่ได้กำหนดว่าต้องเป็นอาหารชนิดใด แต่ขอให้ครบ 12 อย่าง ทั้งคาวหวาน การที่พ่อแม่คอยป้อนข้าวให้นั้น เป็นการเตือนใจส่างลอง ว่าพรุ่งนี้จะเป็นสามเณรแล้ว ให้คิดถึงพระคุณพ่อแม่ที่มีแก่ตน
                   ตอนกลางคืน วันสุดท้ายของการจะได้เป็นส่างลอง จะมีการการร้องเพลงไตด้วยทำนองต่าง ๆ  ตอนหัวค่ำจะเป็นการว่ากลอนร่ายชมเครื่องไทยธรรม สรรเสริญเจ้าภาพ ยกย่องเชิดชูส่างลอง ดำเนินการโดยศิลปินอาวุโส ตกดึกจะเป็นการโต้คารมกันด้วยเชิงกลอนหรือร่ายสด ระหว่างหญิง - ชาย การโต้คารมนี้จะมีระหว่างงานทุกคืนไม่เฉพาะแต่วันรับแขกเท่านั้น จะโต้กันจนสว่างหรือจนกว่าจะเหน็ดเหนื่อยเลิกรากันไปเองทำนองกลอนหรือร่ายเป็นทำนองเพลงไทใหญ่ มีหลายทำนอง
                2.5 วันที่ห้า หรือที่เรียกกันว่า วันข่ามส่าง
เป็นวันที่จะนำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณร โดยพิธีการจะเริ่มเวลาประมาณ ตี 4 มีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
                   2.5.1 ตะแปจะแต่งตัวให้ส่างลองและนำส่างลองแห่ไปเที่ยวรอบ ๆ หมู่บ้าน โดยตีฆ้องนำขบวน และอาจมีดนตรีกลองก้นยาวร่วมขบวนไปด้วย เพื่อรอเวลาที่จะเข้าวัด
                   2.5.2 เมื่อถึงวัดก็จะเวียนรอบศาลาวัด สามรอบ แล้วขึ้นไปรอบนศาลา เพื่อรอทำพิธีบรรพชาผู้คนจะมาชุมนุมกันที่วัดตั้งแต่เช้า โดยเฉพาะคนเฒ่าคนแก่จะไปถึงวัดก่อน
                   2.5.3 จนได้เวลาพอสมควรก็จะมีการอ่านหนังสือธรรมะให้ทุกคนฟังอันเป็นการกล่อมเกลาจิตใจให้ตั้งมั่นอยู่ในความดีซึ่งถือเป็นประเพณีสืบทอดกันมานานผู้ฟังก็จะนั่งฟังอย่างสงบและสำรวมกิริยาอาการ ผู้อ่านหนังสือธรรมะนี้คือ จเร ซึ่งหมายถึงผู้รอบรู้หรือผู้เชี่ยวชาญในด้าน ลีกไต หมายถึงธรรมของชาวไทใหญ่ ส่วนใหญ่จะเป็นผู้สูงอายุ มีคุณธรรม จริยธรรม และเป็นที่เคารพนับถือของชุมชน เวลาอ่านหนังสือจะนุ่งขาวห่มขาวหรือไม่ก็แต่งชุดไทใหญ่ โดยนั่งอ่านตรงหน้าพระประธานบนศาลาการเปรียญวัด ข้าง ๆ จเร จะมี เผิน คือเครื่องยกครูบาอาจารย์ซึ่งจะมีข้าวสาร กล้วยน้ำว้าดิบ 1 หวี หมากพลู ดอกไม้ธูปเทียน บรรจุใน กาละมัง และมีปัจจัยใส่ซองตามแต่ศรัทธา เมื่ออ่านหนังสือจบ จะยกเผินบูชาถวายวัดไป ส่วนปัจจัยจะนำไปไว้ใช้จ่ายต่อไป
                   2.5.4 เมื่อถึงเวลาฉันเพลจะมีการถวายภัตตาหารแด่พระสงฆ์ที่นิมนต์มาร่วมพิธีบรรพชา
                2.5.5 จากนั้นจึงเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานในพิธี อาหารที่เลี้ยงในงานปอยส่างลองที่จะขาดไม่ได้คือ แกงฮังเล น้ำซดหรือต้มจืด น้ำพริกอ่อง ผัดผัก หรือยำใหญ่ เป็นต้น ของหวานจะมี ข้าวแตกปั้น และ ข้าวพองต่อ
                   2.5.6 หลังจากที่พระฉันเสร็จแล้วก็จะเลี้ยงอาหารส่างลองและผู้ที่มาร่วมงานทุกคน ช่วงนี้ เจ้าภาพจะต้องคอยจับตามองส่างลองให้ดี เพราะบางทีจะมีการนำส่างลองไปแอบซ่อนไว้เพื่อชะลอการบรรพชาสามเณร ซึ่งเจ้าภาพจะต้องนำรางวัล ไปมอบให้จึงจะได้ส่างลองคืนกลับมา พิธีบรรพชาสามเณร จะเริ่มขึ้นหลังจากเลี้ยงอาหารผู้มาร่วมงานทุกคนจนอิ่มแล้ว ก็จะช่วยกันเก็บกวาดภาชนะต่าง ๆ จนแล้วเสร็จ ตะแปก็จะนำส่างลองไปนั่งต่อหน้าพระผู้ใหญ่เพื่อทำพิธีบรรพชาสามเณรต่อไป
 3. ช่วงบรรพชา
            ก่อนที่จะนำส่างลองเข้ารับการบรรพชา เป็นช่วงการเก็บกวาด ทำความสะอาด เลี้ยงตอบขอบคุณผู้มาช่วยงาน ตะแปส่างลองจะได้รับการตอบแทนเป็นคำขอบคุณ เช่น ผ้าขาวม้า ผ้าเช็ดตัว และได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเล็ก ๆ น้อย ๆ แต่ที่เป็นธรรมเนียมเพื่อความครึกครื้นก็คือ การไถ่ถอน เครื่องประดับเครื่องแต่งตัวส่างลอง ซึ่งหัวหน้าตะแปเป็นผู้เก็บรักษาไว้ ซึ่งเจ้าภาพใหญ่หรือพ่อแม่ส่างลองจะต้องไถ่ถอนคืน การไถ่ถอนนี้แล้วแต่พวกตะแปจะเรียกร้องเป็นอะไร หรือเป็นเงินเท่าไร อย่างไรก็ดี ของขวัญหรือเงินที่พวกตะแปได้รับจากเจ้าภาพ หรือพ่อแม่ส่างลองนี้ พวกตะแปจะนำมารวบรวมกันทำบุญ หรือทำผ้าป่าถวายวัดต่อไป จะไม่นำไปไว้ใช้สอยเพื่อตนเองหลังจากการบวชสามเณรเสร็จเรียบร้อย จะมีการจัดงานฉลอง ซึ่งอาจมีการละเล่นพื้นเมืองต่าง ๆ
            ในช่วงเวลาประมาณ 5 โมงเย็นของวันสุดท้ายของงาน จะนำพระอุปคุตกลับไปยังที่เดิม โดยมีการแห่เช่นเดียวกับวันที่ อัญเชิญพระอุปคุตมา จึงเป็นการเสร็จสิ้น ประเพณี ปอยส่างลอง
            โดยช่วงการบรรพชา ขั้นตอนการบรรพชาสามเณร เป็นพิธีทางสงฆ์ปฏิบัติคล้ายกับท้องถิ่นอื่น รูปแบบของงานจะแบ่งเป็น 3 ช่วง คือ ดำเนินการบรรพชา ระหว่างการบรรพชา การลาสิกขา ซึ่งมีรายละเอียดพิธีการ ดังนี้
                3.1 ดำเนินงานบรรพชา
                การบรรพชานิยมทำกันในตอนบ่ายเริ่มเวลาประมาณ บ่าย 2 โดยมีขั้นตอนดังนี้
                    3.1.1 เมื่อมานั่งบนศาลา โดยพร้อมเพรียงกันแล้ว จะรับผ้าจีวรจากบิดา มารดา หรือพ่อข่าม แม่ข่าม ซึ่งแสดงถึงความผูกพันและสนับสนุนกันระหว่าง พ่อ แม่ กับลูก
                    3.1.2 เสร็จแล้วหันกลับไปหาพระอุปัชฌาย์ กราบพระอุปัชฌาย์ 3 ครั้ง เปล่งวาจาขอบรรพชา
                    3.1.3 พระอุปัชฌาย์รับผ้าจีวรไปแก้ห่อและนำผ้าอังสะ หรือผ้าชิ้นใดชิ้นหนึ่งในห่อผ้าจีวรคล้องคอส่างลอง เพื่อนำไปให้เปลี่ยนเครื่องส่างลอง ซึ่งจะถอดชุดส่างลองออก แต่ยังคงใส่สร้อยลูกประคำ และพระภิกษุจะช่วยนุ่งผ้าจีวรให้ ส่วนตะแปจะเป็นผู้เช็ดหน้าให้กับ เด็กชายที่จะทำการบรรพชา
                    3.1.4 เมื่อเสร็จแล้ว กลับมานั่งที่เดิม พร้อมเปล่งวาจาขอรับศีล 10 พระอุปัชฌาย์ให้ศีล ให้โอวาทสามเณรผู้บวชใหม่ ซึ่งได้กลายเป็นเหล่ากอของสมณะ คือสามเณรเป็นเพศพรหมจรรย์สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์ เป็นผู้เข้าสู่เส้นทางพุทธศาสนา
                    3.1.5. หลังจากเสร็จพิธีจะมีเทศนา 1 กัณฑ์ เจ้าภาพใหญ่เจ้าภาพร่วมและผู้มาร่วมงานในพิธีถวายจตุปัจจัยไทยธรรม
3.2 ระหว่างการบรรพชา
                หลังจากที่มีการบรรพชาเสร็จแล้ว สามเณร จะอยู่ในเพศบรรพชิตของสามเณร ประมาณ 30 วัน พระสงฆ์จะจัดให้สามเณรได้ปฏิบัติกิจวัตรประจำวัน ตามแนวทางที่ทางวัดกำหนด และดำเนินการฝึกอบรมสามเณรตามตารางการฝึกอบรมที่ทางวัดจัดเตรียมขึ้น ในช่วงระยะที่อยู่ในเพศบรรพชิตจะจัดให้สามเณรไปบำเพ็ญสมณกิจ โปรดญาติโยมตามประเพณี


                การดำเนินชีวิตประจำวันของสามเณรจะเริ่มต้นตั้งแต่ ตี 5 ซึ่งสามเณรจะได้รับมอบหมายหน้าที่ให้จัดสถานที่ฉันภัตตาหารเช้า และ เพล และจัดสำรับอาหารจากที่พระภิกษุสามเณร บิณฑบาตมา โดยผลัดเวรหมุนเวียนกันภายหลังฉันภัตตาหารเช้าเสร็จแล้ว (นพเก้า ใจเขื่อนคำ, สัมภาษณ์, 28เมษายน 2556) สามเณรต้องปฏิบัติกิจของสงฆ์ คือ ไหว้พระสวดมนต์ ต่อจากนั้นสามเณรต้องศึกษาพระธรรมวินัยทุกวัน เมื่อถึงเวลาเย็นถึง สามเณรต้องปฏิบัติกิจของสงฆ์ คือไหว้พระสวดมนต์ เช่นเดียวกับในเวลาเช้าของทุกวัน และสามเณรยังต้องทำหน้าที่ คอยประเคนสิ่งของต่าง ๆ ทำความสะอาดกุฏิ ทำความสะอาดบริเวณวัด จะเป็นเช่นนี้จนถึงวันลาสิกขา
                3.3 การลาสิกขา
                เมื่อสามเณรได้บรรพชา ก็จะแยกไปศึกษาและปฏิบัติตามพระวินัย จากการสังเกตพบว่า สามเณร ได้แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มที่อยู่จากหมู่บ้านอื่น มาร่วมทำพิธีปอยส่างลอง ที่วัด      กุงแกง จะแยกไปปฏิบัติธรรม บริเวณวัดใกล้บ้าน กับกลุ่มที่เป็นเด็กในหมู่บ้านกุงแกง จะปฏิบัติธรรมอยู่ที่วัดกุงแกง (พัฒนไชย คำป่วน, สัมภาษณ์, 28 เมษายน 2556) เมื่อครบกำหนดเวลาแล้ว ก็จะจัดพิธีลาสิกขาในบนศาลาวัด ซึ่งมีขั้นตอนดังนี้
                   3.3.1 พิธีลาสิกขาเริ่มด้วยการบูชาพระรัตนตรัย สวดมนต์ไหว้พระอย่างย่อ สามเณรผู้จะลาสิกขา กล่าวคำขมาต่อพระอุปัชฌาย์ พระอุปัชฌาย์รับขมาแล้วให้โอวาท เกี่ยวกับการเปลี่ยนสภาพจากบรรพชิตเป็นฆราวาสและแนะนำวิธีปฏิบัติตนให้ดำรงตนเป็นอุบาสกที่ดี
                    3.3.2 สามเณรเปล่งวาจาขอลาสิกขาเป็นภาษาบาลี 3 ครั้ง พระอุปัชฌาย์ เปลื้องผ้ากาสาวพัสตร์ออกจากตัวสามเณรแล้วให้ไปนุ่งห่มขาว
                    3.3.3 จากนั้นก็กลับมานั่งที่เดิม เข้ามาอาราธนาศีลต่อพระอุปัชฌาย์ รับศีล 5 แล้ว กล่าวคำประกาศตนเป็นอุบาสก แล้วอุปัชฌาย์ให้โอวาทและพร
                    3.3.4 ผู้ลาสิกขาถวายจตุปัจจัยไทยธรรมแด่พระอุปัชฌาย์ พระสงฆ์อนุโมทนาเป็นเสร็จพิธี
                    3.3.5 พ่อและแม่ รับเด็กกลับบ้าน







ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น