วันพฤหัสบดีที่ 10 ตุลาคม พ.ศ. 2556

บทที่ 2 เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

บทที่ 2
เอกสารและงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง 

          การศึกษาเรื่อง ประเพณีปอยส่างลอง กรณีศึกษา หมู่บ้านกุงแกง ตำบลทุ่งยาว อำเภอปาย จังหวัดแม่ฮ่องสอน ผู้วิจัยได้ศึกษาแนวคิด เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยอธิบายและเป็นแนวทางในการดำเนินงานวิจัย การศึกษาดังกล่าวครอบคลุมเนื้อหาดังนี้  
   1. แนวคิดเรื่องการบรรพชาสามเณรในพระพุทธศาสนา         
   2. แนวคิดเรื่องความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม            
   3. แนวคิดเรื่องประเพณีปอยส่างลอง            
   4. งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง



แนวคิดเรื่องการบรรพชาสามเณรในพระพุทธศาสนา

            ความหมายของคำว่า “บรรพชา”            พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2546, หน้า 462) ได้ให้ความหมายว่า บรรพชา หมายถึง การบวช เช่น บรรพชาเป็นกิจที่ทำได้ยาก ถ้าใช้ควบกับคำว่าอุปสมบท บรรพชา หมายความว่า การบวชเป็นสามเณร อุปสมบท หมายความว่า การบวชเป็นภิกษุ            สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (2539, หน้า 247 - 248) ได้ให้ความหมายของคำว่าบรรพชา หมายถึง การบวชทั่วไปรวมทั้งการอุปสมบทด้วย รวมถึงการบวชเป็นสามเณร ในสมัยแรกของการตรัสรู้ ผู้ที่มีความประสงค์ประพฤติพรหมจรรย์ จะกล่าวทั้งคำทูลขอบรรพชาและอุปสมบทควบกันไป โดยพระพุทธองค์ทรงพระอนุญาตให้พระสาวกบวชกุลบุตรด้วย  ไตรสรณคมน์ ทั้งบรรพชาและอุปสมบท ดังจะเห็นได้จากการที่พระอัญญาโกญฑัญญะ เมื่อได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว ได้กราบทูลแด่พระผู้มีพระภาคเจ้าว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์พึงได้บรรพชา พึงได้อุปสมบทในสำนักพระผู้มีพระภาคเจ้า ภายหลังทรงอนุญาตการบวชสามเณร จึงได้ทรงยกเลิกการให้อุปสมบทด้วยไตรสรณคมน์ แต่ยังคงไว้ซึ่งการบรรพชาด้วย ไตรสรณคมน์ ของสามเณร            พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) (2543, หน้า 132) ได้ให้ความหมายไว้ว่า การบวช แปลว่า เว้นความชั่วทุกอย่าง หมายถึง การบวชทั่วไป การบวชอันเป็นบุรพประโยคแห่งอุปสมบท การบวชเป็นสามเณร (เดิมทีเดียว คำว่า บรรพชา หมายความว่า บวชเป็นภิกษุ เช่นเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกบรรพชา พระอัครสาวกออกบรรพชา เป็นต้น ในสมัยต่อมาจนถึงยุคปัจจุบันนี้ คำว่า บรรพชา หมายถึง บวชเป็นสามเณร ถ้าบวชเป็นภิกษุ ใช้คำว่า อุปสมบท โดยเฉพาะเมื่อใช้ควบกันว่า บรรพชาอุปสมบท)
            พุทธทาสภิกขุ (2549, หน้า 9) ได้ให้ความหมายของคำว่า บรรพชา นั้นมาจากคำบาลีว่า ปพฺพชฺชา หรือ ปพฺพชิโต หมายถึง การไปหมด เว้นหมดจากความคับแคบในบ้านเรือน จากปัญหา ต่าง ๆ ในโลกนี้ หรือไปหมด เว้นหมดจากสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการก้าวหน้าทางวิญญาณ            กรมการศาสนา (2527, หน้า 1) การบรรพชา คือ การละด้วยการงดเว้นจากสิ่งที่เป็นโทษต่ออกุศล คำว่า บวช ก็มาจากบาลีว่า ปพฺพชา (ป + วช) แปลว่า ออกไปจากตระกูล จากบ้าน จากเรือน ออกไปใช้ชีวิตเพื่อตัดกามและกิเลสทั้งหลาย แต่คำว่า บวชในปัจจุบัน หมายทั้งบวชเป็นพระและบวชเป็นสามเณร ดังนั้น จึงมีข้อบัญญัติว่า บวชเป็นพระ เรียกว่า อุปสมบท บวช เป็นสามเณร เรียกว่า บรรพชา            พระเอกชัย พัฒนะสิงห์ (2550, หน้า 47) ได้ให้ความหมายว่า คำว่าบรรพชา มาจากภาษาบาลีว่า ปพฺพชฺชา (ปัพพัช - ชา) มีความหมายดังต่อไปนี้            1. หมายถึง การไป, ถึง, เป็นไป ออกจากการครองเรือนไปสู่ความเป็นผู้ไม่มีเรือน            2. หมายถึง การออกไป เช่น ออกไปจากแว่นแคว้น            3. หมายถึง การค้นหา, การแสวงหา            4. หมายถึง การละ, การเว้น, การงด            พระโสภณคณาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ) (2528, หน้า 132) ได้ให้ความหมายของการบรรพชา ไว้ 3 ความหมาย คือ            1. การบวชเป็นสามเณรของผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 20 ปี            2. การบวชแบบทั่วไป หมายรวมเอาการอุปสมบทด้วย            3. วิธีการเบื้องต้นแห่งการอุปสมบทเป็นภิกษุในพระพุทธศาสนา            แปลก สนธิรักษ์ (2515, หน้า 139) ได้ให้ความหมายไว้ว่า ได้แก่ การบวช มาจากศัพท์ว่า ปวช อ่านว่า ปะวะชะ แปลว่า เว้นจากสิ่งที่ควรเว้นทั่ว ๆ ไป สิ่งใดที่เป็นไปเพื่อความหมกมุ่นมัวเมาหรือกิเลส ก็เว้นสิ่งนั้นเสีย การบวช ถ้าบวชเป็นสามเณร เรียกว่า บรรพชา ถ้าบวชเป็นพระ เรียกว่า อุปสมบท            สุชีพ ปุญญานุภาพ (2514, หน้า 177) ได้ให้ความหมายไว้ว่าการบวช, การบวชของสามเณร คำว่าบวช” มาจากคำบาลีว่าบรรพชา (+ วช)” แปลว่าออกไปจากตระกูล จากบ้านจากเรือน ออกไปจากชีวิตแบบโลก ๆ ออกจากกามและกิเลสทั้งหลายแต่คำว่าการบวชในปัจจุบันนี้มีนัยที่ส่อแสดงให้เห็นถึงการบวชเป็นพระและบวชเป็นสามเณรด้วย ดังนั้น จึงมีข้อบัญญัติว่า บวชเป็นพระ เรียกว่าอุปสมบทบวชเป็นสามเณรเรียกว่าบรรพชา
            โดยสรุปแล้วคำว่า บรรพชาจึงหมายถึง การออกจากการใช้ชีวิตแบบทางโลก เข้ามาสู่การใช้ชีวิตแบบนักบวชในทางพระพุทธศาสนา เพื่อแสวงหาความหลุดพ้นจากทุกข์ ดังนั้นการบรรพชา จึงมีความหมายครอบคลุมใน 2 ลักษณะ คือ            1. หมายถึงการบรรพชาเป็นสามเณรของเยาวชนที่มีอายุยังไม่ครบ 20 ปี แต่มีศรัทธาต้องการใช้ชีวิตแบบเดียวกับพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนาโดยการปฏิบัติตามศีล 10 ข้อ และ   เสขิยวัตร 75 ข้อ            2. หมายถึงการบรรพชาเป็นสามเณรอันเป็นบุรพบทแห่งการอุปสมบทของผู้ที่มีอายุครบ 20 ปี คือก่อนที่จะอุปสมบทเป็นพระภิกษุ ทุกคนที่มีศรัทธาจะอุปสมบทต้องผ่านกระบวนการบรรพชาเป็นสามเณรก่อน หลังจากนั้น จึงจะสามารถบวชเป็นพระภิกษุในลำดับต่อไปได้            ความหมายของคำว่า “สามเณร”            พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2546, หน้า 1177) ได้ให้ความหมายของสามเณรว่า คือผู้ดำรงเพศอย่างภิกษุ แต่สมาทานศีล 10 เรียกสั้น ๆ ว่า เณร            สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส (2539, หน้า 542) ได้ให้ความหมายของสามเณรว่า คือบรรพชิตในพระพุทธศาสนา ผู้ถือสิกขาบท 10 และกิจวัตรบางอย่าง            พระธรรมปิฎก (ป.อ. ปยุตฺโต) (2543, หน้า 333) ได้ให้ความหมายของสามเณรว่า คือเหล่ากอของสมณะเป็นบรรพชิตในพระพุทธศาสนาผู้ยังมิได้อุปสมบทเพียงแต่รับบรรพชาด้วยไตรสรณคมน์ ถือสิกขาบท 10 และเสขิยวัตร 75 ข้อตามปกติ มีอายุไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์            เสถียรพงษ์ วรรณปก (2541, หน้า 1) ได้ให้ความหมายของสามเณรว่า มาจากการกระจายคำตามรูปไวยากรณ์บาลี ว่า “สมณสฺส อปจฺจํ สามเณโร” แปลว่า เหล่ากอแห่งสมณะชื่อว่าสามเณร คือ พระ (สมณะ) มาจากเณร เมื่อไม่มีเณรก็ไม่มีพระ เปรียบดังไม่มีหน่อไผ่ก็ไม่มีกอไผ่ ฉันใดก็ฉันนั้น สามเณรเป็นผู้สืบเชื้อสายของพระภิกษุ ในกรณีพระภิกษุนั้นลาสิกขา หรือมรณภาพไป สามเณรก็จะทำหน้าที่เป็นหลักสำคัญในการสืบทอดอายุพระพุทธศาสนาต่อไป            ดังนั้น จึงพอสรุปความหมายของสามเณรได้ คือ ผู้สืบเชื้อสาย เป็นธรรมทายาทของพระพุทธศาสนา มีอายุยังไม่ครบ 20 ปี บริบูรณ์ โดยต้องปฏิบัติตามศีล 10 ข้อ และเสขิยวัตร 75 ข้อจากความหมายของสามเณร ซึ่งมีผู้ให้ความหมายไว้ดังกล่าวแล้วข้างต้น ย่อมเห็นได้อย่างชัดเจนถึงสถานภาพที่แตกต่างกันระหว่างสามเณรและเด็กโดยทั่วไป อย่างไรก็ตาม โดยวัยแล้วสามเณรก็คือวัยรุ่นเช่นเดียวกับเด็กทั่วไป เพราะมีอายุยังไม่ครบ 20 ปีบริบูรณ์


แนวคิดเกี่ยวกับความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม

            ในแต่ละชุมชนนั้นจะต้องมีความเชื่อ ประเพณี และพิธีกรรม ที่ชุมชนได้สืบทอด ปฏิบัติกันมาอย่างต่อเนื่อง โดยความเชื่อ ประเพณีและพิธีกรรมนั้นมีส่วนสำคัญ ต่อการกำหนดพฤติกรรมของคนในชุมชน มีส่วนสำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิต และเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวทางจิตใจ เป็นหลักให้เกิดความรัก หวงแหน ซึ่งมีรายละเอียด ดังนี้

            1. ความเชื่อ

                1.1 ความหมายของความเชื่อ
                นักวิชาการได้อธิบายความหมายของคำว่าความเชื่อไว้ ดังนี้
                อุทัย หิรัญโต (2526, หน้า 17) ได้กล่าวถึงความเชื่อว่า หมายถึง การยอมรับข้อเสนออย่างใดอย่างหนึ่งว่าเป็นความจริง การยอมรับเช่นว่านี้อาจจะเกิดขึ้นได้จากสติปัญญา เหตุผลหรือความศรัทธาโดยไม่มีเหตุผลก็ได้ ความเชื่ออาจเกิดขึ้นได้จากสาเหตุหลายอย่าง เช่นการพบเห็นด้วยตนเอง การพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์และอาจเกิดโดยเชื่ออย่างงมงายก็ได้
                ประเทือง คล้ายสุบรรณ (2531, หน้า 118 - 119) ได้กล่าวถึงความเชื่อว่า หมายถึง เห็นตามด้วย มั่นใจ หรือไว้ใจ ความเห็นด้วยทั้งความรู้สึกและการไตร่ตรอง ถือว่าเป็นความเชื่อทั้งสิ้น
                มณี พยอมยงค์ (2530, หน้า 66) ได้กล่าวถึงความเชื่อว่า หมายถึง ความยึดถือของคนในคำสั่งสอนหรือในบุคคล หรือในหลักการ หรือในสิ่งที่มีอำนาจเหนือมนุษย์ เช่น อำนาจของดิน ฟ้า อากาศ ภัยจากธรรมชาติ หรือเหตุการณ์ที่มนุษย์ไม่ทราบว่าเกิดจากอะไร จึงเกิดความรู้สึกยอมรับและเชื่อถือในอำนาจสิ่งนั้น บางครั้ง วิงวอนขอความช่วยเหลือ ความเชื่อของคนในแต่ละถิ่นจะแตกต่างกัน ความเชื่อก่อให้เกิดลัทธิบูชา ธรรมชาติมีพระอาทิตย์ น้ำ ลม ไฟ เป็นต้น ต่อมาลัทธิความเชื่อได้พัฒนามาเป็นศาสนา มีการเชื่อและยึดถือในเทพเจ้าต่าง ๆ ซึ่งเรียกว่ามีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์สามารถช่วยคนได้ ความเชื่อมีพัฒนาการมาเรื่อย ๆ ในยุคที่ความเจริญทางวิทยาการมีมากขึ้น ความเชื่อในสิ่งต่าง ๆ ค่อยลดลงและคนหันมาเชื่อในความมีเหตุผลมากขึ้น
                ธวัช ปุณโณทก (2522, หน้า 95) ได้ให้ความหมายของความเชื่อไว้ว่า ความเชื่อเป็นการยอมรับ อันเกิดอยู่ในจิตสำนึกของมนุษย์ต่อพลังอำนาจเหนือธรรมชาติเป็นผลดีหรือผลร้ายต่อมนุษย์นั้น ๆ หรือสังคมมนุษย์นั้น ๆ แม้พลังอำนาจเหนือธรรมชาติไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าเป็นความจริงแต่มนุษย์ในสังคมหนึ่งยอมรับ และให้ความเคารพเกรงกลัวเรียกว่าความเชื่อ ซึ่งมีขอบเขตกว้างขวางมากไม่เพียงแต่ความเชื่อในดวงวิญญาณทั้งหลาย ภูตผี คาถาอาคม โชคลาง ไสยเวทย์ต่าง ๆ ยังรวมไปถึงปรากฏการณ์ธรรมชาติที่มนุษย์ยอมรับนับถือ เช่น ต้นไม้ (ต้นโพธิ์ ต้นไทร) ป่าเขา เป็นต้น
                ภิญโญ จิตต์ธรรม (2522, หน้า 5 - 6) ได้กล่าวถึงเหตุที่ทำให้เกิดความเชื่อว่า ความกลัวและความไม่รู้เป็นเหตุให้เกิดความเชื่อ และความเชื่อก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดศาสนา ในสังคมมนุษย์สมัยโบราณ (Primitive society) อย่างไรก็ตาม แม้ในปัจจุบันนี้วิทยาศาสตร์เจริญก้าวหน้าไปมากแต่มนุษย์ก็ยังมีพฤติกรรมแสดงออกทางความเชื่อกันอยู่ในชีวิตประจำวัน

         2. ประเพณี

                2.1 ความหมายของประเพณี
                นักวิชาการได้กล่าวถึงความหมาย ของคำว่าประเพณี ดังนี้
                อุทัย หิรัญโต (2526, หน้า 264 - 265) ได้กล่าวว่า ประเพณี หมายถึงระเบียบปฏิบัติในโอกาสต่าง ๆ ที่มีพิธีการ ซึ่งเคยยึดถือกระทำกันมาแต่โบราณกาล เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมอันเป็นแบบแผนของความประพฤติ หรือการปฏิบัติที่คนในสังคมเดียวกันยึดถือเป็นหลักปฏิบัติกิจการต่าง ๆกลุ่มคนแต่ละชาติ แต่ละภาษา แต่ละศาสนา จะมีประเพณีประจำ กลุ่มของตนซึ่งแตกต่างกันไป แบ่งได้เป็น 3 ชนิด ได้แก่ ประเพณีที่เกี่ยวกับชีวิต ประเพณีที่เกี่ยวกับสถาบันทางสังคม และประเพณีเบ็ดเตล็ด ประเพณีใดที่กฎหมายเข้ามาแทนที่วางเป็นกฎข้อบังคับ ประเพณีนั้นเป็นที่มาของกฎหมาย ประเพณีนิยม หมายถึง ทัศนคติหรือปรัชญาที่ยอมรับ หรือเทิดทูนสิ่งที่ปฏิบัติมาแล้ว ตั้งแต่อดีตว่าปฏิบัติถูกต้องแล้วหรือพึงปฏิบัติ โดยไม่คำนึงถึงเหตุผลหรือความถูกต้อง
                แปลก สนธิรักษ์ (2515, หน้า 10) ได้กล่าวว่าประเพณี คือ ความประพฤติสืบต่อกันมาจนเป็นที่ยอมรับของส่วนรวม เรียกว่า เอกนิยม หรือพหุนิยม เช่น การแต่งงาน การเกิด การบุญ
                วิชาภรณ์ แสงมณี และประเสริฐ ลีลานันท์ (2525, หน้า 1) ได้กล่าวว่าประเพณีว่าหมายถึง ความประพฤติของคนในส่วนรวมที่ถือกัน เป็นระเบียบแบบแผนสืบต่อกันมาจนลงรูปเป็นพิมพ์หรือแบบเดียวกัน เป็นกฎบังคับอย่างหนึ่งของสังคม บางอย่างก็ถือเคร่งครัด บางอย่างก็ไม่ถือเคร่งครัด
                ประเพณีเป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเช่นเดียวกับสิ่งอื่นที่มนุษย์สร้างขึ้น กล่าวคือ มีทั้งเกิดใหม่ เจริญขึ้น เปลี่ยนแปลงและสูญหายไปตามกาลเวลาและสิ่งแวดล้อมทั้งทางภูมิศาสตร์และทางสังคม มีผู้ให้ทรรศนะว่าประเพณี คือ วัฒนธรรมหรือวัฒนธรรมคือประเพณี เพราะเป็นสิ่งที่ไม่เกิดขึ้นโดยธรรมชาติ แต่เป็นสิ่งที่มนุษย์สร้างขึ้นเพื่อเป็นวิถีชีวิตของบุคคลในส่วนรวม และมีการถ่ายทอดปรับปรุงสืบต่อกันมาให้เป็นความก้าวหน้าโดยลำดับ ประเพณีโบราณบางประเพณีแม้จะหมดความสำคัญและความหมายเดิมไปแล้ว แต่ยังมีผู้ปฏิบัติตามอยู่เพราะความเคยชิน ถ้าเลิกเสียจะรู้สึกไม่สบายใจเกิดวิตกไปต่าง ๆ นา ๆ และถ้าเกิดเหตุการณ์ที่ไม่พึงปรารถนาขึ้นโดยไม่ทราบเหตุผลก็มักจะโทษว่าเป็นการฝ่าฝืนประเพณีเดิม (ภารดี มหาขันธ์, 2532 หน้า 162 - 264)


           พิธีกรรม

                3.1 ความหมายของพิธีกรรม
                นักวิชาการได้กล่าวถึงความหมายของพิธีกรรม ไว้ดังนี้
                ราชบัณฑิตยสถาน (2524, หน้า 314) พิธีกรรม หมายถึง แบบอย่างของพฤติกรรมที่กำหนดไว้ด้วยกฎเกณฑ์หรือธรรมเนียมประเพณีให้กระทำ และเพื่อให้มีความขลัง สังคมแบบดั้งเดิมจึงมักถือว่าพิธีกรรม ถ้าทำ อย่างถูกต้องเคร่งคัดจะเป็นที่พอใจของเทพเจ้า ถ้าทำ ผิดพลาดหรือไม่ทำ เบื้องบนจะลงโทษ พิธีกรรมในสังคมปัจจุบันมักถือเป็นเรื่องใหญ่ เมื่อเกี่ยวกับกิจกรรมทางศาสนา หรือของสมาคมลับและโอกาสงานสังคมอย่างเป็นรูปแบบพิธีทั้งหลาย พิธีกรรมกระทำ ในเวลารับสมาชิกใหม่หรือแนะนำ สมาชิกหรือในเวลารับตำแหน่งและพิธีกรรมอาจปรากฏในรูปลักษณะของการเต้นรำ ทำเพลง การเลี้ยง การสังเวย ฯลฯ ส่วนประกอบของพิธีกรรมอาจมีทั้งการสวด การขับร้อง กิริยาท่าทางลุกนั่งเดินเหิน การแห่แหนประโคมบรรเลงเพลงขับกล่อมพร้อมอุปกรณ์เครื่องยศและสัญลักษณ์ต่าง ๆ
                อุทัย หิรัญโต (2526, หน้า 97) ได้ให้ความหมายของคำว่า พิธีกรรม หมายถึง การปฏิบัติที่เป็นมาตรฐานทางวัฒนธรรมอันเกี่ยวกับสัญลักษณ์ที่กระทำในโอกาสต่าง ๆ หรือหมายถึงพฤติกรรมทางสังคมอันละเอียดอ่อน ที่ถูกกำหนดขึ้นโดยขนบธรรมเนียม กฎหมาย หรือระเบียบของสังคมซึ่งแสดงออกถึงสัญลักษณ์ของค่านิยม หรือความเชื่อ พิธีกรรมเป็นรูปแบบหนึ่งของพิธีการแต่ไม่ได้มีความหมายตรงกัน ข้อแตกต่างของที่สำคัญคือพิธีการเป็นการปฏิบัติในสังคมที่มีคนจำนวนมากกว่าหนึ่งคน แต่พิธีกรรมอาจปฏิบัติเพียงคนเดียวได้ นอกจากนี้พิธีการมักจะจัดให้มีขึ้นในเหตุการณ์สำคัญ ลักษณะสำคัญของพิธีกรรรมคือเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา และมักเกี่ยวข้องกับสัญลักษณ์ต่าง ๆ มีการแสดงให้เห็นถึงความมหัศจรรย์หรือความสำคัญต่าง ๆ ก่อให้เกิดความน่าเกรงขาม
            สุเมธ เมธาวิทยานุกูล (2532, หน้า 1 - 3) ได้ให้ความหมายของคำว่าพิธีกรรม คือ การกระทำที่คนเราสมมติขึ้น เป็นขั้นเป็นตอนมีระเบียบวิธี เพื่อให้เป็นสื่อหรือหนทางที่จะนำมาซึ่งความสำเร็จในสิ่งที่คาดหวังไว้ ซึ่งทำให้เกิดความสบายใจ และมีกำลังใจที่จะดำเนินชีวิตต่อไป เช่น พิธีกรรมทางศาสนาพุทธ ก็มีพุทธบริษัทเป็นผู้ร่วมประกอบพิธี โดยแฝงไว้เป็นหลักธรรมของพิธีกรรมนั้นด้วย โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะให้รู้หลักธรรมโดยไม่รู้ตัว ลักษณะของพิธีกรรมเป็นสื่อสัญลักษณ์แสดงถึงความเป็นจริง เช่น การกราบ การไหว้ เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงความเคารพ พิธีกรรมจึงเป็นเหมือนเครื่องหมายของกลุ่มชนกลุ่มหนึ่ง เป็นสัญลักษณ์ช่วยแผ่ขยายพฤติกรรมทางจิตใจ ทำให้เกิดความสบายใจ เกิดกำลังใจ แบ่งเป็น 3 ประเภทใหญ่ ๆ ได้แก่ พิธีกรรมตามปฏิทิน พิธีกรรมหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต และพิธีกรรมพิเศษ
            พิธีกรรมเป็นส่วนประกอบของศาสนาซึ่งประชาชนให้ความสนใจมาก และพยายามปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พิธีกรรมบางอย่างอาจมีลักษณะผสมผสานระหว่างศาสนาและไสยศาสตร์หรือมีส่วนประกอบของหลายศาสนาผสมกันทั้งในระดับความเชื่อและการปฏิบัติหรือการประสานความเชื่อต่าง ๆ เข้าด้วยกันจนเกือบจะเป็นเนื้อเดียวกัน คนโดยทั่วไปไม่สามารถแยกได้ว่าส่วนใดเป็นของศาสนาใด และในทางปฏิบัติตามสภาพความเป็นจริงก็ไม่มีความจำเป็นที่จะแยกให้ชัดเจน (อมรา พงศาพิชญ์, 2533, หน้า 41 - 46)
            พิธีกรรมมีบทบาทสำคัญในการสร้างความศรัทธา ความเชื่อมั่น และความรู้สึกร่วมกันก่อให้เกิดความเคร่งขรึม ความขลัง ตลอดจนความปลื้ม ปิติยินดีแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในงานพิธีกรรม พิธีกรรมแบ่งออกเป็น 6 ประเภท คือ เกี่ยวกับที่อยู่อาศัย การทำมาหากิน วัฏจักรชีวิต การแต่งกายและการประดับตกแต่ง การป้องกันรักษาโรคภัยไข้เจ็บ และศาสนา (เสถียร โกเศศ, 2524, หน้า 98)

แนวคิดเรื่องประเพณีปอยส่างลอง

            ปอยส่างลอง เป็นประเพณีการบวชเณร ที่สำคัญของชาวไทใหญ่ ที่สามารถทำให้รู้ว่านี่คือตัวตนของชาวไทใหญ่ เป็นประเพณีที่ชาวไทใหญ่ทุกชุมชนถือปฏิบัติอย่างเคร่งครัดตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน จัดว่าเป็นแก่นวัฒนธรรมที่ผูกพันกับชีวิตประจำวันผูกพันกับพุทธศาสนามาอย่างยาวนาน แต่ละปีเมื่อถึงฤดูแล้ง ก็จะมีการบวชสามเณรให้กับลูกหลานซึ่งจะมีรูปแบบ และอัตลักษณ์ที่แตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่น ๆ

            ความหมายของคำว่า ปอยส่างลอง
            นักวิชาการผู้มีความรู้ ได้ให้ความหมายของ ปอยส่างลอง ไว้ดังนี้
            สารานุกรมวัฒนธรรมไทย ภาคเหนือ (2542, หน้า 3655) ได้กล่าวว่า ปอยส่างลอง  เป็นภาษาไทใหญ่มาจากคำว่า ปอย แปลว่างาน การจัดงาน คำว่า ส่าง มาจากคำว่า สาง แปลว่า สามเณร  ส่วนคำว่าลอง มาจากคำว่า อะลอง  แปลว่า พระโพธิสัตว์หรือหน่อพุทธางกูร ดังนั้นงาน ปอยส่างลอง จึงหมายถึงงานบรรพชาเป็นสามเณร นัยหนึ่งเป็นคำผสมระหว่างคำว่า ส่าง หมายถึง เจ้าส่าง คือสามเณรในภาษาไทย กับคำว่าลอง หรือ อลอง หมายถึงหน่อกษัตริย์หรือผู้ที่เตรียมจะเป็นส่างลอง คือผู้ที่เตรียมจะบวชเป็นสามเณร การเป็นส่างลองนั้นเป็นการเลียนแบบประวัติของพระพุทธเจ้าตอนที่เป็นเจ้าชายสิทธัตถะครองกรุงกบิลพัสดุ์ก่อนจะออกผนวชการกระทำทุกอย่างในช่วงเวลาการเป็นส่างลองจะปฏิบัติเสมือนการปฏิบัติต่อพระมหากษัตริย์
            สมัย สุทธิธรรม (2531, หน้า 28) ได้กล่าวว่า ปอย หมายถึง งาน ซึ่งหมายถึง งานเทศกาล งานรื่นเริง งานมงคลต่าง ๆ ส่าง แปลว่า เณร และ ลอง มาจาก คำว่า อะลอง แปลว่า กษัตริย์ ราชา เกี่ยวกับเจ้าแผ่นดิน เมื่อรวมกันก็หมายถึง งานเตรียมบรรพชาเป็นสามเณรของเด็ก ที่แต่งตัวเลียนแบบเป็นกษัตริย์หรือราชา
            ซึ่งสามารถสรุปได้ว่า ปอยส่างลอง เป็นภาษาไทใหญ่ มีความหมายแยกศัพท์ออกได้คือ ปอย แปลว่า งานหรือพิธีการ ส่าง หมายถึง สามเณร ส่วน ลอง แปลว่า ยังไม่ได้เป็น เมื่อรวมกันแล้ว ก็หมายถึง พิธีเตรียมตัวเป็นสามเณร

            ความเชื่อความเป็นมาของ ประเพณีปอยส่างลอง
            จากการศึกษา ผู้วิจัยพบว่า ความเชื่อความเป็นมาของประเพณีปอยส่างลอง มาจาก ความเชื่อในวรรณกรรมไทใหญ่ และ ความเชื่อของชุมชนไทใหญ่ มีรายละเอียด ดังนี้

            1. ความเชื่อในวรรณกรรมไทใหญ่
            วรรณกรรมไทใหญ่ที่มีความเชื่อเรื่องประเพณีปอยส่างลอง แบ่งเป็น 2 เรื่อง คือ
                1.1 อะหน่าก้าดตะหว่าง
                อะหน่าก้าดตะหว่าง ได้กล่าวว่าเมื่อครั้งพุทธกาลในกรุงราชคฤห์มีกษัตริย์พระนามว่าพระเจ้าพิมพิสาร ได้สร้างพระวิหารถวายพระพุทธเจ้าและปวารณาตัวเป็นทายกของพระพุทธเจ้าตลอดชีวิต พระเจ้าพิมพิสาร มีโอรสพระองค์หนึ่ง นามว่าอชาตศัตรู (อ่าจ่าตะซาดมังจี) วันหนึ่งเจ้าชายอชาตศัตรูได้เสด็จมายังลานพระวิหารที่พระพุทธเจ้าประทับอยู่ได้พบกับพระเทวทัต พระเทวทัตจึงได้อัญเชิญเสด็จขึ้นไปบนกุฏิพร้อมทั้งยกย่องว่าเป็นผู้มีบุคลิกเฉลียวฉลาดปราดเปรื่อง สมควรเป็นกษัตริย์ปกครองบ้านเมืองโดยเร็ว พร้อมกับยุแหย่ว่าพระเจ้าพิมพิสารนั้นแก่ชราแล้ว ไม่ควรเป็นกษัตริย์อีกต่อไป เพราะไม่สามารถนำทัพไปสู้รบกับใครได้ อาจสูญเสียแผ่นดินให้กับเมืองอื่น จึงแนะนำให้ฆ่าเสีย เจ้าชายอชาตศัตรู เมื่อได้ฟังดังนั้นก็เกิดความขุ่นเคืองไม่พอพระทัย จึงตำหนิว่าใครจะฆ่าบิดาของตัวเองได้ลงคอ แล้วรีบกลับไป ฝ่ายพระเทวทัตไม่ลดละความพยายามได้หาโอกาสมาพบกับเจ้าชายอชาตศัตรูอีกครั้ง พร้อมทั้งทูลกระซิบว่า ให้พระองค์จับพระบิดาขังไว้ ไม่ให้เสวยอาหาร 7 วัน ก็จะสิ้นพระชนม์ไปเอง ซึ่งเราก็จะฆ่าพระพุทธเจ้าโดยงัดก้อนหินขนาดใหญ่ให้กลิ้งลงมาทับ แล้วเราก็จะได้เป็นพระพุทธเจ้า ส่วนพระองค์ก็จะได้เป็นกษัตริย์และเป็นทายกของเรา จากนั้นเราทั้งสองจะได้ช่วยกันพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นปึกแผ่นต่อไป เจ้าชายอชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นก็หลงเชื่อและสั่งให้ทหารนำบิดาไปขังไว้และไม่ให้ผู้ใดนำอาหารไปให้เสวย ฝ่ายพระมเหสีด้วยความรักและความสงสารในพระสวามี จึงได้ทำขนมใส่มวยผม บางครั้งใส่รองเท้า และทาตามตัวเข้าไปเยี่ยมและให้เสวย จนครบ 7 วัน พระเจ้าพิมพิสารก็ยังไม่สิ้นพระชนม์ แต่สามารถนั่งนอนและเดินออกกำลังกายได้
                ในที่สุดเจ้าชายอชาตศัตรู ได้สั่งให้ทหารเฉือนเนื้อฝ่าเท้าของพระบิดาแล้วเอาน้ำเกลือทาไม่ให้เดินไปมาได้ ในขณะเดียวกันเจ้าชายอชาตศัตรูได้พาพระโอรสไปเยี่ยมพระมารดาและทรงตรัสว่าลูกชายคนนี้ข้ารักมาก แต่ตัวข้าเมื่อยังเล็ก พระบิดาจะรักเหมือนข้าหรือเปล่าไม่ทราบ พระมารดาจึงตรัสว่าเจ้ารักลูกเจ้ามากนั้นไม่จริงเพราะของเล่นต่าง ๆ ที่มีค่ามหาศาลที่ลูกเจ้าเล่นอยู่ขณะนี้ ล้วนเป็นของที่พ่อเจ้าซื้อให้ทั้งสิ้น เจ้าไม่ได้ซื้อหามาให้ลูกเจ้าแม้แต่ชิ้นเดียว เจ้าชายอชาตศัตรูเมื่อได้ฟังดังนั้นจึงสำนึกผิดและรีบเสด็จไปยังที่คุมขัง เพื่อนำพระบิดาออกมารักษาพยาบาล
                แต่พบว่าพระบิดาได้สิ้นพระชนม์ไปเสียแล้ว จึงรู้สึกเสียใจมากและรีบเสด็จไปเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าพร้อมกับเล่าเรื่องให้ฟังโดยตลอดพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่าเพราะคบคนผิดจึงได้ทำบาปมหันต์ เช่นนี้ แต่เพื่อผ่อนหนักให้เป็นเบา ให้นำพระโอรสมาถวายเป็นทานในพระพุทธศาสนา โดยให้เขาสมัครใจ เมื่อทราบดังนั้นเจ้าชายอชาตศัตรูจึงได้นำพระโอรส พระนามว่า อชิตกุมาร 
(จิตตะมังซา) ขณะนั้นพระชนมายุได้ 10 ชันษา พระองค์เองก็มีพระทัยอยากจะผนวชอยู่แล้ว การตัดสินพระทัยออกผนวชของพระโอรส ทำให้เจ้าชายอชาตศัตรู เกิดความปิติยินดีในบุญกุศลครั้งนี้อย่างยิ่ง จึงมีการจัดเฉลิมฉลองขึ้นเป็นการใหญ่ ถึง 7 วัน  7 คืน โดยให้โอรส อชิตกุมาร แต่งองค์อย่างเต็มยศให้สมกับที่เป็นองค์พระยุพราช โดยเริ่มแรกให้อาบน้ำขมิ้นส้มป่อยน้ำอบน้ำหอมที่แช่ด้วยเพชร พลอย ทองคำ และเงินไปรับศีล 5 จากพระพุทธเจ้า และแต่งกายด้วยเครื่องนุ่งห่มของส่างลอง นำไปแห่ตามถนนสายต่าง ๆ ในกรุงราชคฤห์ เมื่อครบ 7 วัน จึงนำส่างลองไปบรรพชาเป็นสามเณรต่อหน้าพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสงฆ์สาวกทั้งหลาย เมื่อบรรพชาแล้ว พระพุทธเจ้าตรัสว่า ต่อไปในภายภาคหน้า อชิตกุมาร จะได้เป็นพระพุทธเจ้าองค์ต่อไป
                ดังนั้น ปอยส่างลอง จึงถือกำเนิดขึ้น โดยสมมติก่อนการบวชเหมือนพระโอรส อชิตกุมาร (จิตตะมังซา) ดังนั้น การถือกำเนิดของปอยส่างลองนั้น จึงยึดเอาหลักปรัชญาขั้นพื้นฐาน อันเกี่ยวข้องกับความเชื่อทางพุทธศาสนา (สมัย สุทธิธรรม, หน้า 26 - 28)
                1.2 อ่าหนั่นต่าตองป่าน
                อ่าหนั่นต่าตองป่าน หรือ เรื่องการทูลถามของพระอานนท์ ที่ทูลถามเกี่ยวกับการเป็นส่างลองว่ามีอานิสงส์มากน้อยอย่างไรและพระพุทธเจ้าทรงชี้แจงว่า ถ้านำบุตรของตนบวชจะได้สวรรค์สมบัติเป็นเวลา 8 ก่ำผ่า (กัลป์)  ถ้ารับเป็นพ่อข่ามแม่ข่าม (พ่อแม่อุปถัมภ์) จะได้อานิสงส์ 4 ก่ำผ่า (กัลป์และวรรณกรรมดังกล่าวได้บรรยายเรื่องราวส่างลองไว้ว่า ในอดีตบรรดากษัตริย์และเศรษฐีคหบดีได้ร่วมกันเป็นเจ้าภาพจัดงานปอยส่างลองขึ้น บังเอิญมีบุตรชายของหญิงหม้ายคนหนึ่งมีรูปร่างอัปลักษณ์และมีศรัทธาอยากบรรพชาแต่ไม่มีทรัพย์สมบัติที่จะเป็นเจ้าภาพบวชด้วยบุญบารมีและแรงศรัทธาของบุตรชาย ได้บันดาลให้พระอินทร์เกิดเมตตาจึงเสด็จมา นำไปพยาบาลให้อาบน้ำเงินน้ำทองขัดสีฉวีวรรณ ล้างคราบไคลต่าง ๆ กลายเป็นกุมารที่มีรูปร่างสวยงาม และขุนสาง (พระพรหม) ได้ลงมามอบชฎา (ปานกุม) และสร้อยสังวาล (ลอแป) ให้  พร้อมทั้งรับภาระเป็นพ่อข่าม (พ่ออุปถัมภ์) ในการจัดงานปอยส่างลองครั้งนั้นบุตรชายหญิงหม้ายได้เป็นลูกข่าม (ลูกอุปถัมภ์) ของขุนสาง         (พระพรหม) จึงเรียกกุลบุตรที่ได้รับการยกย่องในช่วงก่อนบรรพชาว่า ส่างลอง คือลูกอุปถัมภ์หรือลูกบุญธรรมของพระพรหมสืบต่อมาจนปัจจุบัน  แสดงให้เห็นว่ากุลบุตรที่จะได้เป็นส่างลองนั้นเป็นผู้มีบุญบารมีมากกว่าคนธรรมดาสามัญ  จึงมีโอกาสได้รับการยกย่องให้เป็นหน่อกษัตริย์ หรือบุตรบุญธรรมของพระพรหมในช่วงเวลาก่อนบรรพชา (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551, หน้า 136 - 137)
            2. ความเชื่อของชุมชนไทใหญ่
            ประเพณีปอยส่างลองเกิดจากศรัทธายึดมั่นในบวรพุทธศาสนาอย่างมั่นคงของชาวไทใหญ่ซึ่งถือว่าการที่กุลบุตรสามารถอุทิศตนบรรพชาอุปสมบทในพุทธศาสนาเป็นผู้มีบุญอันยิ่งใหญ่ เจ้าภาพจะยอมเสียสละสิ่งของ เงิน ทอง อันเป็นโลกียทรัพย์ภายนอกเท่าไรก็ได้เพื่อสนับสนุนให้กุลบุตรได้มีโอกาสพบกับอริยทรัพย์ในทางพระพุทธศาสนาคือ การบรรพชา  เสียสละ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุขมุ่งดำเนินตามอริยมรรคเส้นทางไปสู่พระนิพพาน
            ในอดีตที่ผ่านมาการจัดงานปอยส่างลองใช้เวลานานประมาณ 7 - 15 วัน  ในการจัดงานปอยส่างลองต้องใช้เงินเป็นจำนวนมากทำให้ผู้ที่มีฐานะยากจนไม่สามารถจะจัดงานปอยส่างลองได้   ส่วนผู้มีฐานะดีที่แต่ไม่มีบุตรชายหรือมีแต่บุตรชายไม่ต้องการบวช   ทำให้เกิดการเชื่อมโยงช่องว่างระหว่างคนรวยกับคนจนขึ้น กล่าวคือผู้ที่มีฐานะยากจนที่ต้องการให้บุตรชายส่างลองจะมอบบุตรของตนแก่ผู้ที่มีฐานะซึ่งต้องการจัดงานปอยส่างลองแต่ไม่มีบุตรชาย การมอบในลักษณะนี้  ผู้ที่รับเป็นเจ้าภาพบวชจะต้องยอมรับหน้าที่เป็นบิดามารดาคนที่สองของผู้ที่ซึ่งตนรับบวช  จะให้ความอุปถัมภ์ค้ำจุนในขณะที่บวชและหลังจากสึกแล้วด้วย  บางรายถึงกับมอบมรดกให้เหมือนกับเป็นบุตรคนหนึ่งทีเดียว ผู้ที่ได้บวชลักษณะนี้จะเรียกผู้ที่รับเป็นเจ้าภาพบวชให้ตนว่า พ่อแม่ หรือ พ่อขาม แม่ข่าม คำว่า ข่าม แปลว่ารับรอง หรือรับภาระอุปถัมภ์ ในอดีต พ่อข่าม แม่ข่าม หรือ ผู้ที่รับอุปถัมภ์บรรพชาสามเณรจะได้รับการยกย่องยอมรับนับถือในสังคมเป็นอย่างมาก โดยจะได้รับการยกย่องและเรียกคำนำหน้าว่า พ่อส่าง แม่ส่าง ส่วนผู้ที่รับอุปถัมภ์อุปสมบทพระภิกษุจะได้รับการยกย่องและเรียกคำนำหน้าว่า พ่อจาง แม่จาง ผู้ที่ผ่านการบรรพชาเป็นสามเณรมาแล้วเมื่อสึกออกมาจะเรียกว่า ส่างสำหรับผู้ที่ผ่านการอุปสมบทเป็นภิกษุ เมื่อสึกออกมาจะเรียกว่า ทาก หรือ หนานนำหน้าชื่อ (สถาบันวิจัยสังคม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, 2551, หน้า 136 - 137)

            วัตถุประสงค์การบวชส่างลอง
            1. เพื่อให้เด็กได้มีโอกาสเข้าถึงพระพุทธศาสนา (คือการถือเป็นพุทธมามกะ)
            2. เพื่อให้เด็กได้ศึกษาเล่าเรียนพระธรรมวินัยและให้มีวิชาความรู้ในแขนงต่าง ๆ และให้เด็กมีจิตใจติดอยู่ในด้านศีลธรรมคุณธรรมและจริยธรรมต่าง ๆ
            3. เพื่อสืบสานวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามตลอดไป
            4. มีความเชื่อถือว่าถ้าได้บรรพชาเป็นส่างลอง จะได้แทนคุณน้ำนมมารดา
            5. ผู้ที่ได้รับเป็นเจ้าภาพบรรพชานั้น จะได้รับอานิสงส์มาก เมื่อสิ้นชีพนี้ก็จะได้สมบัติในสวรรค์ และตลอดถึงพระนิพพาน (จุฬาลักษณ์ สีดาคุณ, 2556)

            ขั้นตอนการจัดงานปอยส่างลอง
            ปอยส่างลองนั้นเป็นพิธีการเฉลิมฉลองของการบรรพชาสามเณรในศาสนาพุทธซึ่งปกติจะมีการจัดงานตั้งแต่ 3 - 7 วัน ซึ่งงานดังกล่าวนี้จะนิยมจัดขึ้นในช่วงปลายเดือนมีนาคม ถึงต้นเดือนพฤษภาคม ซึ่งเป็นช่วงหน้าแล้งที่ชาวบ้านส่วนใหญ่ว่างเว้นจากการทำนาทำไร่ และเป็นช่วงปิดเทอมภาคฤดูร้อนของเด็ก ๆ ด้วย ซึ่งมีขั้นตอนต่าง ๆ ดังนี้
            1. ขั้นเตรียมงาน
            ก่อนถึงวันประเพณีปอยส่างลอง อย่างน้อย 10 วัน พ่อแม่จะนำเด็กที่จะเข้ารับการบรรพชาไปฝากไว้กับหลวงพ่อ หรือพระอาจารย์ที่วัด เพื่อรับการฝึกสอนคำรับศีล คำให้พร คำขอบรรพชา รวมถึงการกราบไหว้ แล้วพ่อแม่จะต้องจัดเตรียมเงิน ข้าวของเพื่อใช้ในการบรรพชา
                1.1 การเตรียมหาเครื่องบรรพชา - เครื่องนุ่งห่มส่างลอง
                   1.1.1 เครื่องแต่งกายส่างลอง มี ชุดไตสีเหลือง และสีอื่น ๆ, ผ้ามัดเอว, ผ้าพันหัว, ลอแป (สร้อยสังวาลย์), จ้องคำ (ฉัตรทอง), น้ำเต้า 
                   1.1.2 เครื่องบรรพชาพร้อมกับเครื่องอัฐบริขารต่าง ๆ มี ผ้าไตรจีวรประคตเอวบาตร, รองเท้าเสื่อ, หมอน, ผ้าห่ม, มีดโกนผม, ผ้ากลองน้ำด้าย, เข็ม, กล่องเข็ม, ลูกประคำ, พัด, ถ้วยชามแก้วน้ำขันตักน้ำ, มุ้ง, สบู่, แปรงสีฟัน, ยาสีฟัน, และผ้ารองนั่ง เป็นต้น
            2. บอกบุญแก่ญาติพี่น้อง
            ใกล้ถึงวันบรรพชา พ่อแม่หรือญาติจะไปบอกบุญกับญาติพี่น้องที่อยู่ต่างบ้านต่างตำบลหรือแม้แต่ต่างอำเภอ ของที่นำไปในการบอกบุญนั้นมีขัน คือ พานใส่ดอกไม้ ธูปเทียน และผ้าสบงหรือผ้าจีวรวางบนพาน แล้วอุ้มไป จึงเรียกการไปบอกญาติอย่างนี้ว่า ไปผ้าอุ้ม คือการอุ้มผ้าเหลืองไปบอกเกี่ยวกับการบวชลูกบวชหลาน พร้อมทั้งบอกวัน เวลา และสถานที่ที่จะบวช
            3.การเตรียมงาน
            ก่อนจะเป็นส่างลอง เด็กซึ่งเป็นผู้ชายจะต้องโกนผม และอาบน้ำสะอาด ชำระร่างกายด้วยน้ำหอมน้ำอบ (น้ำส้มป่อย) น้ำไม้จันทน์หอม ตัดเล็บมือเล็บเท้าให้สะอาด เพื่อเป็นสิริมงคล
            ส่วนชาวบ้านเดียวกันจะมาช่วยกันจัดเตรียมทุกอย่างจัดของถวาย ผูกต้นคาเพื่อทำเป็นที่ปักธนบัตร เรียกว่า ต้นเงิน เตรียมเรื่องอาหารหวานคาวสำหรับถวายพระสงฆ์และญาติมิตรที่มาร่วมงาน
            4. วันแรกของปอยส่างลอง
            เรียกกันว่า วันเอาส่างลอง จะแต่งกายด้วยชุดเสื้อผ้าเครื่องประดับต่าง ๆ อย่างอลังการ มีการแต่งหน้าแต่งตาด้วยสีสันที่จัดจ้านให้ส่างลอง ดูสวยงามเสมือนเจ้าชายซึ่งมีสง่าราศีเหนือคนทั่วไป หลังจากส่างลองได้ทำพิธีรับศีล 5 แล้ว ผู้เป็นพ่อแม่รวมถึงเจ้าภาพจะจัดเลี้ยงอาหาร 12 อย่าง เป็นมื้อแรกแก่ส่างลอง จากนั้นจะนำส่างลองแห่รอบวิหาร 3 รอบและแห่ไปกราบคารวะศาลหลักเมือง จากนั้น ในช่วงบ่ายก็จะนำส่างลองไปคารวะตามวัดต่าง ๆ ซึ่งในขบวนแห่ก็จะประกอบไปด้วยเสียงดนตรีอันแสดงถึงความสนุกสนานรื่นเริงจากเครื่องดนตรีของไทใหญ่ ได้แก่ มองเซิง (ฆ้องชุด) ฉาบ และกลองมองเซิง (กลองสองหน้า)
            5. วันรับแขก
            ทั้งส่างลอง และเจ้าภาพ จะคอยให้การต้อนรับแขกจากที่ต่าง ๆ ที่ได้มีการเชิญไว้ก่อนล่วงหน้า ซึ่งจะมาร่วมทำบุญด้วย ซึ่งวันนี้จะเป็นวันที่มีการเลี้ยงฉลองแขกและญาติ ๆ ที่มาร่วมงานอย่างสนุกสนานก็จะมีขบวนแห่คล้าย ๆ กันกับวันแรกแต่ในวันที่สองนี้ในขบวนแห่จะประกอบด้วย เครื่องสักการะ ธูปเทียนต่าง ๆ เพื่อถวายพระพุทธ และเครื่องจตุปัจจัยถวายพระสงฆ์
            ในช่วงเย็น หลังจากที่ส่างลองรับประทานอาหารแล้วเสร็จ ก็จะมีพิธีทำขวัญและการสวดคำขวัญ เพื่อเตรียมตัวให้ส่างลองซึ่งจะเข้ารับการบรรพชาในวันรุ่งขึ้น โดยผู้นำที่ประกอบพิธีก็จะเป็นผู้อาวุโสที่ศรัทธาวัดทุกคนให้ความเคารพนับถือ
            6. วันบรรพชา
            พิธีของวันนี้จะเริ่มด้วยการนำส่างลองไปแห่รอบวิหาร 3 – 7 รอบ จากนั้นจะนำส่างลองขึ้นวัดเพื่อขออนุญาตทำการบรรพชาจากพระผู้ใหญ่ เมื่อท่านเจ้าอาวาส หรือพระผู้ใหญ่ได้อนุญาตแล้ว ส่างลองก็จะพร้อมกันกล่าวคำบรรพชาและอาราธนาศีล แล้วจึงเปลี่ยนเครื่องแต่งกายจากชุดเสื้อผ้าส่างลองที่สวยงามมาเป็นผ้ากาสาวพัตร์สีเหลือง และเป็นสามเณรอย่างสมบูรณ์โดยอาจจะอยู่หลายเดือนเพราะว่าเป็นช่วงปิดเทอมหรืออยู่ 2 - 3 อาทิตย์ก็ได้
            แต่ละแห่งจะมีการจัดแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับความสะดวกและลำดับขั้นตอนของที่นั้น ๆ โดยเฉพาะกำหนดวัน ซึ่งที่ที่มีการจัดงานมากกว่า 3 วัน จะเลื่อนวันรับแขกออกไปวันอื่น และในช่วงการจัดงานจะมีการนำส่างลองไปเยี่ยมบ้าน หรือ ไปคารวะวัดและเยี่ยมเยือนหมู่บ้านต่าง ๆ ที่ขาดไม่ได้คือ ตลอดงานจะต้องมีการแห่ส่างลอง รอบวิหารของวัดพร้อมมีการรับศีลทุกเช้าเย็น ที่สำคัญตลอดงานส่างลองจะต้องไม่แตะพื้นที่ดิน ซึ่งหากจำเป็นจะไปไหนมาไหน ผู้เป็น ตะแป จะคอยดูแลโดยให้ขี่คอ และจะมี ตะแป อีกคนคอยกางร่มให้ตลอดเวลา

งานวิจัยที่เกี่ยวข้อง

            พระครูปลัดชินกร แก้วนิล (จริยเมธี) (2550) ได้ศึกษาเรื่องการเปลี่ยนแปลงความหมายและคุณค่าของปอยส่างลองในสังคมไทใหญ่ปัจจุบันพบว่าเป็นประเพณีที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวไทใหญ่ในท้องถิ่น ด้านการสร้างความสัมพันธ์ทางสังคมให้แน่นแฟ้น และมีความรักใคร่กันฉันญาติพี่น้อง ประชาชนในท้องถิ่นให้ความสำคัญกับพิธีปอยส่างลองมาก สามเณรที่ผ่านพิธีปอยส่างลองในอดีตมีวัตถุประสงค์เพื่อตอบแทนพระคุณบิดามารดา และศึกษาพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธองค์เพื่อสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยั่งยืนประเด็นเกี่ยวกับความหมายและคุณค่าที่เปลี่ยนไป ในปัจจุบันความคิดเห็นต่อความหมายของประเพณีปอยส่างลอง เป็นพิธีกรรมหนึ่งอันเป็นเครื่องหมายที่แสดงถึงความมีตัวตน และความเป็นชนชาวไทใหญ่ ส่วนความคิดเห็นต่อคุณค่าของประเพณีปอยส่างลองในปัจจุบัน ชาวไทใหญ่ยังให้ความสำคัญต่อประเพณีปอยส่างลอง โดยถือว่าเป็นพิธีกรรมหนึ่งที่สะท้อนถึงความศรัทธาของชาวไทใหญ่ที่มีต่อพระพุทธศาสนา สามเณรที่ผ่านพิธีปอยส่างลองในปัจจุบันมีวัตถุประสงค์ที่เปลี่ยนไปจากเดิม คือ เด็ก ๆ ที่เข้าพิธีเป็นเพียงส่วนหนึ่ง เพื่อทำให้พิธีกรรมสมบูรณ์เท่านั้นปัจจัยที่ทำให้ความหมายและคุณค่าของประเพณีปอยส่างลองเปลี่ยนแปลงไปมากที่สุด ที่ค้นพบคือ ปัจจัยภายใน ได้แก่ ความหลากหลายของผู้มาร่วมงาน ทั้งที่เป็นชาวไทใหญ่และที่ไม่ใช่ชาวไทใหญ่ และปัจจัยภายนอก คือ การหลั่งไหลเข้ามาของวัฒนธรรมตะวันตก กระแสทุนนิยม รวมทั้งอัตราการเพิ่มขึ้นของประชากร ก็มีส่วนทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงความหมายและคุณค่าของปอยส่างลองเช่นกัน
            ดนัย สิทธิเจริญ (2535) ได้ศึกษาเรื่อง ความสัมพันธ์ระหว่างพุทธศาสนาหรือวัดกับชุมชนไทใหญ่ จังหวัดแม่ฮ่องสอนที่เห็นได้อย่างชัดเจนคือ ไทใหญ่แทบทุกคนจะผ่านการบวชเรียนมาแล้ว โดยเลื่อมใสการบวชเด็กเป็นเณรมากกว่าการอุปสมบทผู้ใหญ่เป็นพระภิกษุเพราะถือว่าการบรรพชาสามเณรมีอานิสงส์มากกว่า งานบวชเด็กเป็นเณรจึงจัดเป็นงานใหญ่เรียกว่า ปอยส่างลองการจัดงานปอยส่างลองที่แม่ฮ่องสอนกระทำราวเดือนมีนาคม เมษายน มักจัด 3 วัน การส่างลองนับว่ามีความสำคัญต่อการศึกษาของไทใหญ่เนื่องจากเมื่อเด็กอายุ 8 – 9 ขวบ พ่อแม่จะนำไปฝากที่วัดเพื่อศึกษาเล่าเรียน หัดอ่านหนังสือ เรียนรู้ระเบียบวินัยกิริยามารยาท และเรียนรู้วิธีการบวช เพราะสมัยก่อนนั้นโรงเรียนประชาบาลยังไม่แพร่หลายวัดจึงได้กลายเป็นสถานศึกษาพื้นฐานของสังคม และเป็นแหล่งถ่ายทอดวัฒนธรรมของคนในชุมชน แม้ว่าในปัจจุบันกระบวนการส่างลองถูกแทนที่ด้วยระบบการศึกษาตามหลักสูตรที่รัฐกำหนด แต่ส่างลองก็ยังคงเป็นที่นิยมของไทใหญ่เพราะเชื่อว่าผู้ที่ผ่านการเป็นส่างลองและได้บวชเรียนมาแล้วนั้นเป็นผู้ที่ได้รับได้รับการอบรมนิสัยและปลูกฝังคุณธรรมทางพุทธศาสนา เปลี่ยนสภาพจาก คนดิบเป็น คนสุกก้าวสู่วัยผู้ใหญ่พร้อมทั้งที่จะมีครอบครัว ประเพณีส่างลองจึงกลายเป็นประเพณีประจำปีที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอนในปัจจุบัน การศึกษาผ่านกระบวนการส่างลองจะมีการอ่านเขียนภาษาไทใหญ่เป็นพื้นฐานควบคู่ไปกับภาษาพม่าหรือภาษาเมือง กระบวนการจัดการศึกษา เทคนิค วิธีสอนจะเป็นแบบเน้นการท่องจำ ครูเป็นศูนย์กลางของการเรียน มีการสอนรายบุคคล ไม่มีหลักสูตรการเรียนที่แน่นอน เพียงแต่มีวัตถุประสงค์เพื่อให้อ่านเขียนสืบทอดคัมภีร์ศาสนาได้ ในปัจจุบันกระบวนการส่างลองได้เปลี่ยนแปลงไปภายหลังระบบโรงเรียนเข้าถึง ด้วยการสูญเสียเนื้อหาและการเรียนรู้ภาษาท้องถิ่น แต่สาระการอบรมระเบียบวินัยและความพฤติเมื่อครองตนอยู่ในวัดนั้นยังไม่สูญสิ้นไป การศึกษาระบบวัดที่ยังคงอยู่ในกระบวนการส่างลองจึงเป็นการศึกษาที่มีวิธีและสืบทอดความเชื่อในฐานะเป็นกระบวนการขัดเกลาทางสังคมตามวัฒนธรรมแบบสังคมหมู่บ้านและแบบนิยมด้านความรู้สึกนึกคิด ตลอดจนพฤติกรรมที่ได้กระทำร่วมกันจนกลายเป็นขนบธรรมเนียม
            พระมหาหรรษา นิธิบุณยากร (2545) ได้ศึกษาวิกฤตพุทธศาสนา: ศึกษากรณีการบรรพชาเป็นสามเณรในประเทศไทย (2523 - 2543) พบว่า สามเณรเป็นนักบวชที่ได้ผ่านกระบวนการของการบรรพชาเข้ามาเพื่อทำหน้าที่ที่สำคัญ คือสืบต่อและดำรงรักษาพระพุทธศาสนา เพราะสามเณรมีสถานะเป็นผู้รับการบ่มเพาะคุณธรรมและจริยธรรมต่าง ๆ เพื่อเตรียมอุปสมบทเป็นพระภิกษุเมื่ออายุ 20 ปีบริบูรณ์ สามเณรจึงเป็นเหล่ากอของสมณะซึ่งหมายถึงเหล่ากอของบุคคลผู้เพียบพร้อมไปด้วยองค์ความรู้ที่ประสานคล้องกับพฤติกรรมของตนทั้งการคิด การพูดและการกระทำ อันจะเป็นประโยชน์เกื้อกูลต่อการทำหน้าที่เป็นศาสนทายาทที่สำคัญในการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ยาวนานต่อไป
            สุนทรียา สุนทรวิภาต (2529) ได้ศึกษาความสำคัญของการบวชในพระพุทธศาสนาที่มีผลต่อสังคมไทยในปัจจุบัน: ศึกษาเฉพาะกรณีในกรุงเทพมหานครและจังหวัดสุพรรณบุรี ผลการศึกษาพบว่า เหตุจูงใจในการบวชเพื่อตอบแทนพระคุณบิดา มารดา และผู้มีพระคุณ



ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น