วันพุธที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2556

ชุมชนกับป่า



ชุมชนกับป่า

ความหมายของป่า

ป่าไม้ หมายถึง บริเวณที่มีต้นไม้หลายชนิด ขนาดต่างๆ ขึ้นอยู่อย่างหนาแน่นและกว้างใหญ่พอที่จะมีอิทธิพลต่อสิ่งแวดล้อมในบริเวณนั้น เช่น ความเปลี่ยนแปลงของลมฟ้าอากาศ ความอุดมสมบูรณ์ของดินและน้ำ มีสัตว์ป่าและสิ่งมีชีวิตอื่นซึ่งมีความสัมพันธ์ซึ่งกันและกัน

ป่า ตามพระราชบัญญัติป่าไม้ หมายถึง ที่ดินที่ไม่มีบุคคลใดบุคคลหนึ่งได้มาซึ่งกรรมสิทธิ์ครอบครองตามกฎหมายที่ดิน




ประเภทของป่า


ในประเทศไทยเราสามารถแบ่งประเภทของป่าออกได้เป็น 2 ประเภทด้วยกันได้แก่


1. ป่าไม่ผลัดใบ (Evergreen Forest) ป่าประเภทนี้มีประมาณ 30% ของเนื้อที่ป่าทั้งประเทศ สามารถแบ่งย่อยออกไปได้อีก 4 ชนิด ดังนี้


1.1 ป่าดิบเมืองร้อน (Tropical Evergreen Forest) เป็นป่าที่อยู่ในเขตที่มีมรสุมผัดผ่านอยู่เกือบตลอดทั้งปี มีปริมาณน้ำฝนมากดินมีความชื้นอยู่ตลอดเวลาขึ้นอยู่ทั้งในที่ราบและที่เป็นภูเขาสูง มีการกระจ่ายอยู่ทั่วไปทั้งภาคเหนือไปถึงภาคใต้ แบ่งเป็นย่อมตามสภาพความชื้นและความสูงต่ำของภูมิประเทศ


1.2 ป่าสน (Coniferous Forest) มักจะกระจายเป็นหย่อม ๆ ทางภาคเหนือ ภาคระวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันออก และภาคตะวันตกเฉียงใต้ ที่สูงจากระดับน้ำทะเล 200– 1600 เมตร มีปริมาณน้ำฝนระหว่าง 1000 - 1500 เมตร พรรณไม้ที่ขึ้นมีไม่มากชนิด มีสนสองใบกับสนสามใบเป็นหลัก นอกนั้นก็มีพวกไม้เหียง ไม้พลวง ก่อ กำยาน ไม้เหมือด พืชชั้นล่างมักเป็นพวกหญ้าต่าง ๆ และพืชกินแมลงบางชนิด


1.3 ป่าพรุ (Swamp Forest) เป็นป่าตามที่ลุ่มและมีน้ำขังอยู่เสมอ พบกระจายทั่วไปและพบมากทางภาคใต้ อยู่ระดับเดียวกับน้ำทะเลเป็นส่วนมาก เป็นป่าอีกประเภทหนึ่งที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูง เท่าที่มีการสำรวจพบว่ามีพรรณไม้ไม่น้อยกว่า 470 ชนิด และในจำนวนนี้เป็นชนิดที่พบครั้งแรกของประเทศถึง 50 ชนิด ปริมาณน้ำฝนระหว่าง 2300 - 2600 มิลลิเมตร ต่อปี พรรณไม้หลักมีพวกมะฮัง สะเตียว ยากา ตารา อ้ายบ่าว หว้าน้ำ หว้าหิน ช้างไห้ ตีนเป็ดแดง จิกนม เป็นต้น พืชชั้นล่างเป็นพวกปาล์ม เช่น หลุมพี ค้อ หวายน้ำ ขวน ปาล์มสาคู รัศมีเงิน กระจูด เตยต่าง ๆ เป็นต้น


1.4 ป่าชายหาด (Beach Forest) เป็นป่าที่อยู่ตามชายฝั่งทะเลที่มีดินเป็นกรวด ทราย และโขดหิน พรรณไม้น้อยชนิด และผิดแผกไปจาก ป่า อื่นอย่างเด่นชัด ถ้าเป็นแหล่งดินทรายจะมีพวกสนและพรรณไม้เลื้อยอื่น ๆ บางชนิด ถ้าดินเป็นกรวดหิน พรรณไม้ส่วนใหญ่จะเป็นพวกกระทิง ไม้เมา หูกวาง และเกด เป็นต้น

2. ป่าผลัดใบ (Deciduous Forest) แบ่งได้ 3 ชนิด คือ


2.1 ป่าเบญจพรรณ (Mixed Deciduous Forest) มีอยู่ทั่วไปตามภาคต่าง ๆ ของประเทศ ที่เป็นที่ราบหรือตามเนินเขาที่สูงจากระดับน้ำทะเล ระหว่าง 50 – 600 เมตร ดินเป็นได้ตั้งแต่ดินเหนียว ดินร่วน จนถึงดินลูกรัง ปริมาณน้ำฝนไม่เกิน 1000 มิลลิเมตร ต่อปี เป็นสังคมพืชที่มีความหลากหลายทางมวลชีวะมากสังคมหนึ่ง พรรณไม้จะผลัดใบมากในฤดูแล้ง เป็นเหตุให้พรรณไม้เหล่านี้มีวงปีในเนื้อไม้หลายชนิด พรรณไม้ขึ้นคละปะปนกัน ที่เป็นไม้หลักก็มี สัก แดง ประดู่ มะค่าโมง พยุง ชิงชัน พฤกษ์ถ่อน ตะเคียนหนู หามกราย รกฟ้า พี้จั่น และไผ่ขึ้นเป็นป่าหนาแน่น


2.2 ป่าแพะ ป่าแดง ป่าโคก หรือป่าเต็งรัง (Deciduous Dipterocarp Forest) ป่าเต็งรัง ป่าแพะ ป่าแดงหรือป่าโคก พบมากที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ 80เปอร์เซนต์ของป่าชนิดต่างๆ ที่มีอยู่ในภาคนี้ทั้งหมด นอกจากนี้ยังพบทั่วไปในภาคเหนือ และค่อนข้างกระจัดกระจายลงมาทางภาคกลาง พบทั้งในที่ราบและเขาที่ต่ำกว่า 1,000 เมตรลงมา ขึ้นได้ในที่ดินตื้นค่อนข้างแห้งแล้งเป็นดินทรายหรือดินลูกรัง ถ้าเป็นดินทรายก็มีความร่วนลึกระบายน้ำได้ดี แต่ไม่สามารถจะเก็บรักษาความชุ่มชื้นไว้ได้เพียงพอในฤดูแล้ง ถ้าเป็นดินลูกรังดินจะตื้นมีสีค่อนไปทางแดงคล้ำ บางแห่ง จึงเรียกป่าชนิดนี้ว่า “ป่าแดง”


2.3 ป่าหญ้า (Savanna Forest) เป็นป่าหญ้าที่ขึ้นอยู่ในที่ราบอาจมีต้นไม้เล็กๆหรือไม้ปล้องขึ้นอยู่บ้าง ซึ้งไม่มีความสำคัญในทางการค้า คงใช้ประโยชน์ในทางอ้อมเท่านั้น


ความสำคัญและประโยชน์ของป่า

1.เป็นส่วนที่สำคัญมากส่วนหนึ่งของวัฏจักร


2.ป่าช่วยในการอนุรักษ์ดินและน้ำ


3.ช่วยปรับสภาพบรรยากาศ


4.ป่าไม้เป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร


5.ป่าไม้เป็นแหล่งปัจจัยสี่ ป่าไม้เป็นแหล่งผลิต/ผู้ผลิต


6.เป็นที่อยู่อาศัยของสัตว์ป่า


7.เป็นแนวป้องกันลมพายุ


8.ช่วยลดมลพิษทางอากาศ


ความหมายของชุมชน


ชุมชนในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542 ให้ความหมายของ “ชุมชน” ว่าหมายถึง หมู่ชน กลุ่มคนที่อยู่รวมกันเป็นสังคมขนาดเล็กอาศัยอยู่ในอาณาบริเวณเดียวกันและมีผลประโยชน์


ความหมายของป่าชุมชน

ป่าชุมชน หมายถึง ที่ดิน หรือ ที่ดินป่าไม้ ที่ชุมชนได้ดำเนินการหรือได้รับอนุญาตตามกฎหมายให้ดำเนินการร่วมกับพนักงานเจ้าหน้าที่ จัดการกิจการงานด้านป่าไม้อย่างต่อเนื่อง ภายใต้กฎหมาย กฎระเบียบ ข้อบังคับ ข้อปฏิบัติและแผนงานที่เกี่ยวข้องซึ่งอาจสอดคล้องกับความเชื่อและวัฒนธรรมของชุมชนท้องถิ่นนั้นด้วย การจัดการ หรือดำเนินการดังกล่าว ก็เพื่อการอนุรักษ์ และให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน




ป่าชุมชนเป็นรูปแบบการใช้ที่ดิน ป่าและทรัพยากรต่างๆจากป่าที่ชาวบ้านตามชุมชนในชนบทที่อยู่ในป่าหรือใกล้ป่าได้ใช้กันเป็นเวลานานแล้ว โดยมีระบบการจำแนกการใช้ที่ดิน ป่าและทรัพยากรต่างๆ มีอาณาเขตและกฎเกณฑ์การใช้เป็นที่รับรู้และยอมรับกันทั้งภายในชุมชนและชุมชนใกล้เคียง พร้อมทั้งมีองค์กรชาวบ้านรูปแบบหนึ่งรับผิดชอบด้านการจัดการอย่างเหมาะสม บนพื้นฐานของภูมิปัญญาชาวบ้านอันเกิดจากการสะสมประสบการณ์แห่งการปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อม ทางกายภาพและทางสังคมวัฒนธรรมของแต่ละท้องถิ่น โดยผ่านกระบวนการถ่ายทอดและสะสมภูมิปัญญานั้นมาหลายชั่วอายุคน


รูปแบบและความสัมพันธ์ทางสังคมอันเกิดจากการใช้ทรัพยากรดังกล่าวนี้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานของการดำรงชีวิตที่ต้องอาศัยป่าหรือที่ดินรอบๆ ป่า เพื่อการเพาะปลูกและการอุปโภคบริโภค โดยอาศัยป่าเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร เป็นแหล่งที่มาของอาหาร สมุนไพร วัสดุเพื่อการสร้างที่อยู่อาศัย เครื่องมือ การผลิตเชื้อเพลิง และประโยชน์ใช้สอยอื่นๆ ภายในชุมชน “รูปแบบการใช้ทรัพยากรนี้ส่งผลให้ชุมชนมีเสถียรภาพ ถาวรภาพและก่อให้เกิดความเป็นธรรม ทำให้ชุมชนนั้นๆ สามารถสืบทอดความเป็นชุมชนมาได้จนทุกวันนี้ พร้อมกันนั้นก็มีศักยภาพที่จะดำรงความเป็นชุมชนต่อไปได้”


ป่าชุมชนกับความสำคัญต่อการอนุรักษ์ป่าไม้


ความเชื่อมั่นที่ว่าป่าชุมชนสามารถอนุรักษ์ป่าไม้ไว้ได้ ตั้งอยู่บนพื้นฐานข้อเท็จจริงว่า เมื่อชีวิตของชุมชนขึ้นอยู่กับความอยู่รอดของป่า ไม่ว่าในฐานะที่ป่านั้นเป็นแหล่งน้ำก็ดี ที่ดินเพื่อการเพาะปลูกก็ดี อาหารและวัสดุปัจจัยที่จำเป็นในการดำรงชีพของชุมชนก็ดี หลายอย่างหรือทุกอย่างรวมกันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้ชุมชนต้องอนุรักษ์ป่าโดยที่ไม่จำเป็นต้องมีอำนาจภายนอก ไปบังคับ

พระราชบัญญัติป่าชุมชนพ.ศ. 2550


พระราชบัญญัตินี้มีบทบัญญัติบางประการเกี่ยวกับการจำกัดสิทธิและเสรีภาพ ของบุคคล ซึ่งมาตรา 29 ประกอบกับมาตรา 32 มาตรา 34 และมาตรา 41 ของรัฐธรรมนูญ แห่งราชอาณาจักรไทย บัญญัติให้กระทำได้โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมาย


มาตรา 1 พระราชบัญญัตินี้เรียกว่า “พระราชบัญญัติป่าชุมชน พ.ศ. 2550”


มาตรา 2 พระราชบัญญัตินี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไปมาตรา 3 ในพระราชบัญญัตินี้


“ป่า” หมายความว่า ที่ดินที่ยังไม่มีบุคคลได้มาตามประมวลกฎหมายที่ดิน


“ชุมชน” หมายความว่า กลุ่มของประชาชนที่ตั้งถิ่นฐานและสืบทอดวัฒนธรรมร่วมกันมาโดยต่อเนื่อง


“ป่าชุมชน” หมายความว่า ป่าที่ได้รับอนุมัติให้จัดตั้งเป็นป่าชุมชนโดยมีการจัดการตามพระราชบัญญัตินี้


“เขตอนุรักษ์” หมายความว่า เขตอุทยานแห่งชาติ เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าตามกฎหมายว่าด้วยการนั้น หรือเขตอื่นที่เป็นพื้นที่ต้นน้ำลำธารหรือพื้นที่ ที่มีคุณค่าของสิ่งแวดล้อมอันควรแก่การอนุรักษ์ตามที่กำหนดในกฎกระทรวง


“ไม้” หมายความว่า ไม้ทุกชนิดทั้งที่เป็นต้น กอ หรือเถา ไม่ว่ายังยืนต้นหรือล้มลงแล้ว และให้หมายความรวมถึงราก ปุ่ม ตอ หน่อ กิ่ง ตา หัว เหง้า เศษ ปลายหรือส่วนหนึ่งส่วนใดของไม้ไม่ว่าจะถูกตัด ฟัน เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุด หรือกระทำโดยวิธีการอื่นใด


“ทำไม้” หมายความว่า ตัด ฟัน กาน โค่น ลิด เลื่อย ผ่า ถาก ทอน ขุดหรือชักลากไม้ที่มีอยู่ในป่า หรือนำไม้ที่มีอยู่ในป่าออกจากป่าด้วยประการใดๆ


“ของป่า” หมายความว่า สิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นหรือมีอยู่ในป่า ดังต่อไปนี้


(1) ฟืน ไม้ไผ่ เปลือกไม้ ใบไม้ ดอกไม้ เมล็ด ผลไม้ หน่อไม้ ชันและยางไม้


(2) หญ้า อ้อ พง แขม ปรือ คา กก กระจูด กูด เห็ด และพืชอื่น


(3) ครั่ง รังผึ้ง น้ำผึ้ง ขี้ผึ้ง มูลค้างคาว


(4) สัตว์น้ำ สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ แมลง รวมทั้งไข่ของแมลง ที่ไม่ใช่สัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครองตามกฎหมายว่าด้วยการสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า


(5) ดิน หิน กรวด และทราย ที่ไม่ใช่แร่ตามกฎหมายว่าด้วยแร่


“ฟืน” หมายความว่า เศษไม้ปลายไม้หรือไม้ล้มขอนนอนไพรตามธรรมชาติอันมีลักษณะและคุณภาพเหมาะสมที่จะใช้เป็นเชื้อเพลิงยิ่งกว่าใช้ประโยชน์อย่างอื่น


“ความหลากหลายทางชีวภาพ” หมายความว่า ความหลากหลายของสิ่งมีชีวิตทั้งมวล และให้หมายความรวมถึงความหลากหลายทางพันธุกรรม ทางชนิดพันธุ์ และทางระบบนิเวศอันเป็นถิ่นกำเนิดของสิ่งมีชีวิตเหล่านั้น


“สมาชิกป่าชุมชน” หมายความว่า สมาชิกของชุมชนที่มีการประกาศจัดตั้งป่าชุมชนและได้ปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้


“ทรัพย์สินส่วนกลาง” หมายความว่า เงินและทรัพย์สินที่ได้มาเพื่อใช้ในการจัดการป่าชุมชน ไม้ที่สมาชิกป่าชุมชนร่วมกันปลูกในบริเวณเพื่อการใช้สอย หรือทรัพย์สินที่สมาชิกป่าชุมชนร่วมกันจัดทำในการจัดการป่าชุมชน


“องค์กรเอกชน” หมายความว่า องค์กรที่ได้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลที่มีวัตถุประสงค์ด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติหรือองค์กรอื่นที่ไม่ได้เป็นนิติบุคคลแต่มีผลงานด้านการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเป็นที่ประจักษ์ และมีคุณสมบัติอื่นๆ ตามระเบียบที่คณะกรรมการนโยบายป่าชุมชนกำหนดองค์กรเอกชนตามวรรคหนึ่งต้องดำเนินการโดยมิใช่เป็นการหาผลกำไรหรือรายได้มาแบ่งปันกัน และจะต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาแล้วไม่น้อยกว่าสองปี


“เจ้าหน้าที่ป่าชุมชน” หมายความว่า ผู้ซึ่งคณะกรรมการป่าชุมชนประจำจังหวัดพิจารณาแต่งตั้งจากข้าราชการสังกัดกรมป่าไม้ ข้าราชการสังกัดกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ข้าราชการสังกัดกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สมาชิกป่าชุมชนซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยคณะกรรมการจัดการป่าชุมชน หรือบุคคลซึ่งได้รับการเสนอชื่อโดยองค์กรเอกชนในท้องถิ่นหรือองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเพื่อให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้


“พนักงานเจ้าหน้าที่” หมายความว่า ผู้ซึ่งอธิบดีแต่งตั้งให้ปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้


“อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมป่าไม้หรืออธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชเฉพาะที่เกี่ยวกับเขตอนุรักษ์


“รัฐมนตรี” หมายความว่า รัฐมนตรีผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้

การกินทำให้เราได้สัมผัสทางกายโดยตรงกับสิ่งอื่นๆ ทุกวัน วันละหลายมื้อ เราติดต่อกับสิ่งอื่นๆ โดยวิธีการของการกินทีเรียบง่าย จำเป็น และต่อเนื่อง ด้วยการกิน สิ่งอื่นๆ กลายเป็นตัวเราอย่างเป็นรูปธรรมและทางกายภาพ ชีวิตของพวกมันถูกมอบให้เพื่อหล่อเลี้ยงชีวิตเรา หรือบางทีอาจจะมากกว่านั้นตามทัศนะของชไนเดอร์ นั่นคือชีวิตของพวกมันถูกแปรเปลี่ยนรูปแบบในกระบวนการของการถูกเรากิน เช่นเดียวกับที่ชีวิตของเราในที่สุดแล้วก็จะแปรเปลี่ยนเมื่อเราตายและร่ายของเรากลายเป็นอาหารของสิ่งอื่น กล่าวโดยสรุป สิ่งทั้งปวงต่างก็เกี่ยวข้องในกระบวนการแลกเปลี่ยนพลังงานที่เข้มข้นและเป็นรูปธรรม ซึ่งในกระบวนการนี้สิ่งทั้งปวงต่างก็เชื่อมโยงกันและกัน และอาศัยกันและกัน


ทัศนะของชไนเดอร์ที่มองการกินว่าเป็นพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ที่สิ่งหนึ่งๆ ได้ยอมมอบตัวเองต่อสิ่งอื่นในรูปแบบของการแลกเปลี่ยนพลังงานพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์นี้ ทำให้เรานึกถึงแก่นความคิดบางประการที่สำคัญในวัฒนธรรม การล่าแบบดั้งเดิม ซึ่งเราได้อภิปรายในภาคที่ 1 สัตว์ที่ถูกล่าในฐานะที่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ซึ่งต้องควรแก่การเคารพ พิธีกรรมในการมอบอาหาร หรือบางครั้งก็เลือดของมนุษย์ (เช่นในออสเตรเลีย) แก่จิตวิญญาณของสัตว์ที่ถูกล่า และการยืนยันว่ามนุษย์และสัตว์ต่างก็สัมพันธ์กันและพึ่งพิงกันและกันโดยแท้ ทั้งหมดนี้ล้วนสอดคล้องกับภาพลักษณ์ที่ชไนเดอร์มองการกินในฐานที่เป็นการแลกเปลี่ยนพลังงานอันศักดิ์สิทธิ์


การติดต่อสัมพันธ์กับโลกป่าดง


ในบทกวีของชไนเดอร์มีความรังเกียจอารยธรรมที่พยายามอย่างยิ่งยวดที่จะปราบป่าดงรกร้าง พยายามควบคุมโลกที่ไม่ใช่มนุษย์เพื่อที่จะให้เข้ากับความจำเป็นของมนุษย์อย่างใดอย่างหนึ่ง สำหรับชไนเดอร์แล้ว การประสบความสำเร็จในการปิดตัวเองจากเสียงของป่าดงก็คือการปิดเสียงเรียกร้องที่เชิญเราให้กลับคืนสู่ความสัมพันธ์อันลึกซึ้งกับสิ่งอื่นๆและจังหวะลึกล้ำของจักรวาลที่มีชีวิตใน“ เสียงเพรียกจากพงไพร” เสียงร้องของสุนัขป่าโคโยตี คือมิติป่าดงของความเจริญที่มนุษย์ ซึ่งนำเสนอผ่านตัวชายชราเห็นว่าน่ารำคาญและน่าอึดอัด


ชายชราร่างใหญ่ในเตียงนอนยามค่ำคืน ได้ยินเสียงหมาป่าทุ่งร้องเพลงในทุ่งหญ้าด้านหลังตลอดทั้งปีเขาเลี้ยงสัตว์ ขุดแร่ และตัดต้นไม้


ชาวคาทอลิกชาวพื้นบ้านแคลิฟอร์เนียและหมาป่าทุ่งหอน ในปีที่แปดสิบของเขาเขาจะเรียกรัฐบาลคนดักสัตว์ที่ใช้กับดักฆ่าสัตว์ทำด้วยเหล็กมาดักหมาป่าทุ่งพรุ่งนี้ ลูกชายของฉันจะสูญเสียงเพลงที่พวกเขาเพิ่งจะเริ่มจะรัก


ชไนเนอร์เห็นว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะรักษา “เสียงเพลง” ของสุนัขป่าทุ่งให้มีชิวิตอยู่ เสียงเพลงเสียงร้องนี้สำหรับชไนเดอร์แล้วมันก็คือหลักฐานว่าคนคนหนึ่งยังคงติดต่อสัมพันธ์กับจักรวาลที่กว้างใหญ่และมีชีวิต เมื่อเสียงนี้เงียบไปถูกฆ่าโดยอารยธรรมสมัยใหม่ การแยกตัวออกโดดเดี่ยวก็ยัดเยียดตัวเองให้กับมนุษย์ ไม่ว่าเสียงครึกโครมของชีวิตสมัยใหม่จะดังหรือน้าตื่นเต้นเพียงไร มันก็ไม่อาจแทนเสียงที่มีอยู่ดึกดำบรรพ์ตามธรรมชาติและทำให้จิตใจที่มีพลังได้ ในบทสรุปของกวี“เสียงเพรียกจากพงไพร”


บาร์รี โลเปซ: ดินแดนอาร์กติก ในฐานะผู้ไถ่


บาร์รี โลเปซ(Barry Lopez) เป็นนักเขียนร่วมสมัยผู้ที่ใช้เวลามากพอสมควรในการท่องเที่ยว ศึกษา และพำนักในเขตขั้วโลกเหนือ(อาร์กติก) หนังสือของเขา ความฝันขั้วโลกเหนือ: จินตนาการและความปรารถนาในดินแดนภาคเหนือ (Artic Dreams: Imagination and Desire in a Northen Landscape) เป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง หนังสือเล่มนี้มีความคิดและแรงจูงใจบางประการที่ได้กลายมาเป็นสิ่งสำคัญของแง่มุมต่างๆของขบวรการนิเวศ/สิ่งแวดล้อมร่วมสมัย แม้ว่าหนังสือเล่มนี้และงานเขียนของเขาทั่วไปจะไม่ใช่เชิงศาสนาชัดเจน และแม้ว่ายากที่จะรู้ว่าโลเปซเป็นสวนหนึ่งของจารีตทางศาสนาที่นับถือกันอยู่หรือไม่ก็ตาม แต่งานเขียนของเขาก็แทรกไว้ด้วยแก่นความคิดและสิ่งที่ได้ศึกษาในหนังสือเล่มนี้ เราอาจกล่าวได้ว่าโลเปซประสบความสำเร็จในการกล่าวถึงจิตวิญญาณเชิงนิเวศอย่างน่าดึงดูดใจและเหมาะสมกับผู้คนร่วมสมัยจำนวนมากที่ไม่ได้เห็นว่าตนเองยึดถือจารีตทางศาสนาที่เป็นที่นับถือกันอยู่ใดๆ หรือแม้แต่ไม่มีความโน้มไปในทางจารีตหรือทัศนะคติของจารีตศาสนาใดๆ ในระดับจิตสำนึก


สำหรับโลเปซแล้ว การเผชิญหน้ากับแผ่นดิน การได้รับกำลังใจจากแผ่นดิน การมีสายสัมพันธ์ที่ลึกซึ่งกับแผ่นดิน ก็คือการไถ่ (redemptive) (คำของข้าพเจ้าเอง ไม่ใช่ของเขา) เป็นการไถ่ (หรือการแปลเปลี่ยน) ในนัยของการชำระล้างและการขยายขอบเขตการรับรู้ การได้มาซึ่งปัญญาและความเข้าใจ และส่งเสริม หรืออาจจะเรียกร้องถึงการบ่มเพาะศักดิ์ศรีของมนุษย์ โลเปซเห็นว่าแผ่นดินเป็นสิ่งปลดปล่อยเพราแผ่นดินแสดงให้เห็นถึงความงามความลึกลับ ความซับซ้อน และความสมบูรณ์แบบ ซึ่งข้ามพ้นประดิษฐ์ของมนุษย์ไปอย่างสิ้นเชิง และเช่นนั้น แผ่นดินจะนำมนุษย์ไปยังทางที่จะระเบิดการปลูกสร้างแบบที่เอามนุษย์เป็นศูนย์กลางทิ้ง แผ่นดินสามารถยกระดับชีวิตมนุษย์


การเสริมแต่งธรรมชาติโดยมนุษย์


ความสนใจประการหนึ่งของเบอร์รีก็คือข้อเท็จจริงที่ว่าแม้มนุษย์ไม่สามารถมีชีวิตแยกออกห่างจากธรรมชาติ แต่ก็ไม่อาจมีชีวิตอยู่ภายในธรรมชาติโดยไม่ได้เปลี่ยนแปลงในทางใดทางหนึ่ง ยิ่งกว่านั้น เขายังชี้ว่านี่เป็นความจริงของสัตว์อื่นเช่นกัน การถือว่าสัตว์ใดๆ โดยเฉพาะมนุษย์สามารถมีชีวิตอยู่ได้โดยไม่เปลี่ยนแปลงโลกที่ตนเป็นส่วนหนึ่งอยู่ด้วยไม่ทางใดก็ทางหนึ่งนั้นเป็นเรื่องไร้เดียงสา และเบอร์รีก็ไม่ถือว่ามนุษย์คนไหนต้องการจะมีชีวิตอยู่ในธรรมชาติโดยไม่ปรับเปลี่ยนอะไรเลย แม้ว่ามันอาจจะฟังดูน่าดึงดูดใจและชวนฝันที่จะบอกว่า เราสามารถอยู่ในป่าดงรกร้างอย่างมีความประสานสอดคล้องกับธรรมชาติโดยไม่เข้าไปแตะต้องมันเลยก็ตาม แต่ในความเป็นจริงแล้ว มนุษย์จำนวนน้อยอย่างยิ่งจะเห็นว่าเรื่องดังกล่าวเป็นไปได้หรือน่าสนใจ “ธรรมชาติบริสุทธิ์ อย่างไรก็ไม่เหมาะที่มนุษย์จะอาศัยอยู่ และมนุษย์ไม่ได้ต้องการจะอยู่อย่างนั้น หรือหากอยู่ได้ก็ไม่นานนัก การเผชิญกับสิ่งเหล่านี้มากกว่าสองสามชั่วโมงจะเตือนใจเราถึงความน่าพึงปรารถนาของสิ่งจำเป็นพื้นฐานของมนุษย์ เช่น เสื้อผ้า ที่อยู่อาศัย อาหารปรุงสุก การอยู่ร่วมกับญาติและเพื่อน หรืออาจเป็นการอาบน้ำอุ่นๆ แล้วก็ดนตรีกับหนังสือด้วย


ดังนั้น สถานการณ์ที่ประจันหน้ามนุษย์อยู่ทุกวันนี้มิได้เรียกร้องว่าการจมอยู่ในธรรมชาติเป็นวิธีการแก้ไขวิกฤติด้านสิ่งแวดล้อม มนุษย์มักจะดัดแปลงธรรมชาติอยู่เสมอมาในทุกๆแห่งหนเพื่อสร้างวัฒนธรรมของมนุษย์เป็นเรื่องไร้เดียงสาที่จะถือว่าเราควรจะหยุดทำอย่างนั้นกันทั้งหมด เบอร์รีกล่าวว่า การถือว่ามนุษย์นั้นสามารถปรับเปลี่ยนธรรมชาติได้เพียงผู้เดียวก็ผิดเช่นกัน เพราะเผ่าพันธุ์สิ่งมีชีวิตอื่นก็ทำอย่างเดียวกัน บีเวอร์เป็นตัวอย่างที่ชัดเจนประการหนึ่ง แต่เผ่าพันธุ์อื่นส่วนมากก็ดัดแปลงธรรมชาติทางใดทางหนึ่งอย่างที่เป็นส่วนใหญ่ในการสร้างพื้นที่ที่เหมาะสมให้แก่ตนเอง ปัญหาไม่ได้อยู่ที่ว่ามนุษย์เปลี่ยนแปลงธรรมชาติเพื่อตอบสนองความต้องการเฉพาะบางประการ แต่ปัญหาก็คือมนุษย์ได้พัฒนาความรู้ เทคโนโลยี และความคิดที่ทำให้มนุษย์สามารถดัดแปลงธรรมชาติในทางทำลายล้างเสียมากกว่า และปัญหาไม่ได้อยู่ที่ตัวความรู้หรือเทคโนโลยี หากแต่อยู่ที่วิธีที่มนุษย์ใช้ สิ่งเหล่านี้และความคิด ความเชื่อ และความเห็นที่สนับสนุนการใช้ผิดๆ


เบอร์รีกล่าวว่า ปัญหาสำหรับมนุษย์ก็คือการหาหนทางอันเหมาะสมที่จะมีชีวิตสอดคล้องกับธรรมชาติซึ่งเป็นการหาหนทางเพ่อเสริมแต่งธรรมชาติแทนที่จะทำลาย สำหรับเบอร์รี การเกษตรแบบยังชีพที่ทำอยู่ในชุมชนชนบท ที่ประกอบด้วยไร่นาขนาดเล็กเป็นหลัก เป็นตัวอย่างหนึ่งของความสอดคล้องที่เหมาะสม ดังที่มนุษย์ในชุมชน และในไร่นาดังกล่าว และในที่ต่างๆทั่วโลกได้สาธิตมาเป็นพันๆปีแล้วว่าพวกเขาสามารถเปลี่ยนแปลงธรรมชาติได้ และบ่อยครั้งก็ทำได้อย่างทรงพลัง โดยการเสริมปรับปรุงธรรมชาติ มิใช่ทำร้ายมัน เบอร์รีกล่าวว่าการล่าสัตว์ การเลี้ยงสัตว์ การกสิกรรม อารยธรรมเมืองใหญ่ และการจัดการทางเศรษฐกิจต่างๆนานา อันเป็นลักษณะพื้นฐานของวัฒนธรรมมนุษย์ได้เปลี่ยนแปลงธรรมชาติในทางที่ไม่ทำลายล้าง ดังนั้นจึงไม่ใช่ธรรมชาติหรือลักษณะนิสัยของเผ่าพันธุ์มนุษย์ที่นำไปสู่ความหายนะเชิงนิเวศ หากแต่เป็นความคิดและท่าทีบางประการ ประกอบกับความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสมัยใหม่นั่นเองที่เป็นปัญหาอย่างสำคัญ ไม่ต้องสงสัยว่ามนุษย์สามารถจะมีพฤติกรรมแบบสัตว์ร้ายที่นำมาซึ่งความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ แต่พฤติกรรมดังกล่าวสามารถเหนี่ยวรั้งได้ และเบอร์รีกล่าวว่านั่นคือสิ่งที่ท้าทาย และเป็นแก่นแท้ของสภาวะของมนุษย์


ทัศนะของเบอร์รีซึ่งเรียกร้องให้มนุษย์กระทำอย่างรับผิดชอบในการตัดเปลี่ยนธรรมชาติ เป็นการเตือนให้คิดถึงความคิดแบบขงจื๊อที่ว่า มนุษย์ยึดครองสถานะของความรับผิดชอบในฐานะผู้คุ้มครองหรือผู้พิทักษ์โลกธรรมชาติในคำสอนของขงจื๊อ มนุษย์มีตำแหน่งเป็นพี่ใหญ่ แม้ว่าเป็นสถานภาพที่มีอภิสิทธิ์อยู่บ้าง แต่ก็เรียกร้องให้มนุษย์ใช้ปัญญา การยับยั้งชั่งใจ และความเคารพอย่างสูงต่อสิ่งที่ได้รับมอบให้ดูแล เป้าหมายสูงสุดของทัศนะนี้เกี่ยวกับตำแหน่งของมนุษย์เมื่อเทียบกับธรรมชาติซึ่งคล้ายกับทัศนะของเบอร์รีอย่างมากก็คือ การเปลี่ยนแปลงธรรมชาติไปในทางที่ดีขึ้นโดยใช้การกระทำที่ชาญฉลาดและมีเมตตา


การรับรองอาณาจักรของพระเจ้า


ถ้าหากมนุษย์และธรรมชาติไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อกันแล้ว เหตุใดคนจำนวนมากในวัฒนธรรมของเราจึงถือว่าทั้งสองเป็นปฏิปักษ์กัน และถือว่าชะตากรรมของมนุษย์ปรากฏอยู่ในกระบวนการปราบและควบคุมธรรมชาติแทนที่จะเป็นการหนุนเสริม แม้ว่าเบอร์รีจะไม่ได้เริ่มต้นตอบคำถามนี้อย่างเป็นระบบแต่เขาก็วิพากษ์วิจารณ์สิ่งที่เขาเรียกว่าเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมอย่างมากที่ขาดแง่มุมบางอย่างของปรัชญาของมนุษย์แบบดั้งเดิมหรือเทววิทยา โดยพื้นฐานแล้วปัญหาของเศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมก็คือมันไม่ได้รับรองแบบแผนอื่นใดนอกไปจากแบบแผนเศรษฐกิจที่เน้นมนุษย์แล้ว ไม่มีอะไรอื่นอีกที่สำคัญ กล่าวโดยสรุป เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมไม่ได้รับรองเรื่องลี้ลับ ไม่มีความละเอียดอ่อนต่อข้อเท็จจริงว่าในแบบแผนอันสูงสุดของสรรพสิ่ง มีความซับซ้อน ความละเอียด และความจริงมากมายที่ท้าทายความเข้าใจของมนุษย์ เศรษฐกิจแบบอุตสาหกรรมสนใจเป็นประการแรกและประการเดียวด้วยซ้ำไปในการผลิตสินค้าเพื่อการบริโภคของมนุษย์ และสร้างระบบคุณค่าที่อยู่บนฐานของความจำเป็นเชิงอรรถประโยชน์ มันมีความโน้มเอียงไปในทางทัศนะต่อโลกและมนุษย์แบบลดทอนที่เห็นทุกสิ่งว่าเป็นทรัพยากรและสินค้าโภคภัณฑ์ เบอร์รียืนยันว่าทัศนะนี้ไม่มีพื้นที่ให้กับสิ่งใดๆที่ไม่เข้าใจทัศนะต่อความจริงแบบเศรษฐกิจที่คับแคบ ซึ่งสิ่งเหล่านั้นก็คือส่วนใหญ่ของความจริง


มีความจริงที่ใหญ่กว่าสิ่งใดๆ ที่มนุษย์สามารถคิดหรือเข้าใจ และวัฒนธรรมส่วนมากได้รับรองสิ่งนี้ วัฒนธรรมส่วนมากได้ดำรงการโอนอ่อนผ่อนตามสิ่งที่เบอร์รีเรียกว่า แบบแผนเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่ (Great Economy) ซึ่งคือความจริงที่ผนวกรวมเอาเผ่าพันธุ์ทั้งหมด สิ่งทั้งหมด และเหตุการณ์ทั้งหมด เข้าไว้ในแบบแผนอันโอบล้อมทุกสิ่งที่อยู่ภายในนั้นซึ่งต่างก็มีตำแหน่งแห่งที่ ในจินตภาพแบบพระคัมภีร์ไบเบิลแบบดั้งเดิมแล้ว สิ่งนี้เรียกว่าอาณาจักรของพระเจ้า ไม่มีอะไรถูกทิ้งอยู่นอกแบบแผนเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่หรืออาณาจักรของพระเจ้านี้ และในแบบแผนอันยิ่งใหญ่ตามแบบพระคัมภีร์นี้ ทุกสิ่งเชื่อมโยงกับสิ่งอื่นเช่นกัน ท้ายที่สุดมนุษย์ไม่อาจเข้าใจระเบียบนี้อย่างเต็มที่ได้เลย แม้ว่าพวกเขาจะอยาภายในระเบียบนี้และต้องรับโทษรุนแรงหากละเมิด


สภาวะของมนุษย์ควรจะรองรับการจัดการสังคม วัฒนธรรม และมนุษย์ที่มีขนาดเล็กกว่าเข้าไว้ในแผนเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่โดยที่การจัดการเหล่านั้นประสานสอดคล้อง หรืออย่างน้อยก็ไม่ละเมิดแบบแผนทางเศรษฐกิจอันยิ่งใหญ่อย่างรุนแรง จำเป็นต้องมีความนอบน้อมและการควบคุมจำกัดในส่วนของมนุษย์ โดยเฉพาะเมื่อคำนึงถึงข้อเท็จจริงที่ว่าพวกเขาไม่เคยเข้าใจแบบแผนอันยิ่งใหญ่นี้เลย และแบบแผนจำต้องคงความลึกลับบางอย่างไว้เสมอ


โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ


ทฤษฎีที่ว่าด้วยการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรอันเป็นสาธารณะเพื่อประโยชน์ส่วนตัว จนทำให้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดหมดไปในที่สุด


เดวิด ฮิวม์ (David Hume : 1711 - 1776) นักปรัชญาประจักษ์นิยมเคยกล่าวถึง โศกนาฏกรรมของสาธารณสมบัติ (Tragedy of the Commons) ไว้ว่า บรรดาสาธารณสมบัติ ไม่ว่าจะเป็นทุ่งหญ้า บ่อน้ำ หรือป่าชุมชน อันเป็นสมบัติของสาธารณชน ถูกใช้สอยอย่างปู้ยี้ปู้ยำ ไม่ถนอมรักษา จนสาธารณสมบัติเหล่านั้นมีสภาพยับเยิน ถือเป็นโศกนาฏกรรม


การ์เร็ตต์ฮาร์ดิน(Garrett Hargin) นักนิเวศวิทยาชาวอเมริกัน ได้เผยแพร่แนวคิดที่ว่า ทรัพยากรเป็นสมบัติสาธารณะ (Common Property) ซึ่งทุกคนมีโอกาสเข้าถึงเพื่อใช้ประโยชน์ แต่ท้ายที่สุดทรัพยากรเหล่านั้นก็จะล่มสลาย ไม่ว่าทรัพยากรนั้นจะเป็นทรัพยากรทางทะเล ป่าไม้ ทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ หรืออื่นๆ โดยถือว่าการล่มสลายนี้เป็นโศกนาฏกรรมสาธารณะ เพราะการมุ่งหาแต่ประโยชน์ส่วนตัวจากทรัพยากรสาธารณะ จะส่งผลกระทบต่อผู้คนส่วนรวม


ตัวอย่างเช่น ในทุ่งหญ้าที่มีความอุดมสมบูรณ์ จะมีคนนำแกะมาเลี้ยง ช่วงแรกทุกคนพอใจที่จะใช้ทุ่งหญ้าร่วมกัน แต่หากมีคนนำแกะมาเลี้ยงหลายๆ ตัว เพื่อให้ตนได้ประโยชน์สูงสุด สุดท้ายทุ่งหญ้าก็จะเสื่อมโทรม มีหญ้าไม่พอเพียงสำหรับแกะทั้งหมด เป็นไปตามแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่ว่า“ทรัพย์สมบัติที่เป็นของทุกคน จะไม่เป็นของใครเลย” (everybody’s property is no one’s property)


แนวคิดนี้สอดคล้องกับแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ที่เสนอให้เปลี่ยนทรัพยากรสาธารณะไปเป็นสมบัติของรัฐ (State Property) หรือเป็นสมบัติของปัจเจกชน (Private Property)โดยเชื่อว่าภาครัฐสามารถออกกฎระเบียบ เพื่อจัดสรรทรัพยากรสาธารณะให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในประเทศได้ ขณะเดียวกันการให้กรรมสิทธิ์กับปัจเจกชนหรือภาคเอกชนก็จะช่วยสร้างระบบความเป็นเจ้าของ ซึ่งจะเป็นทั้งผู้ดูแลและใช้ประโยชน์จากสมบัติที่ตนมี


เอลินอร์ ออสตรอม ได้เสนอ แนวทางในการจัดการทรัพยากรสาธารณะ ซึ่งมีการใช้ร่วมกัน (common-pool resources : CPRs) ทรัพยากรสาธารณะ หรือที่เรียกกันว่า สาธารณสมบัติ อาจจะเป็นทรัพยากรธรรมชาติหรือเป็นทรัพยากรที่มนุษย์สร้างขึ้น เช่น ป่า น้ำ ทรัพยากรในป่า ทรัพยากรสัตว์น้ำทั้งหลาย หรือเขื่อนชลประทาน เป็นต้น


ลักษณะของสาธารณสมบัติเหล่านี้ยังรวมถึงสาธารณสมบัติร่วมกันของชาวโลก เช่นกรณีการยิงดาวเทียม ใครยิงก่อนยึดพื้นที่ไป ซึ่งทำให้ประเทศที่ยากจนและไม่มีเทคโนโลยีเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ และหมดโอกาสที่จะใช้เองในอนาคต


ปัญหาของทรัพยากรสาธารณะในประเทศก็คือ ทุกคนมีสิทธิที่จะใช้ แต่ไม่มีใครแต่เพียงผู้เดียวเป็นเจ้าของ เพราะคนที่เป็นเจ้าของคือสาธารณชน ถือเป็นทรัพย์สินร่วมกันของทุกคน แต่การใช้ทรัพยากรของแต่ละคนจะกระทบความสามารถในการใช้ของคนอื่นๆ


ปัญหาที่ตามมาก็คือ การเสื่อมสภาพลงอย่างรวดเร็วของทรัพยากรดังกล่าว เพราะเกิดสภาพการเร่งรีบหรือกอบโกยในการใช้ทรัพยากร เพราะต่างตระหนักว่าถ้าตนไม่รีบใช้ คนอื่นก็จะใช้ และตนก็จะได้ใช้น้อยลงหรือทรัพยากรนั้นหมดไป


ปัญหาเหล่านี้ทำให้ปริมาณและคุณภาพของทรัพยากรสาธารณะลดลงอย่างรวดเร็ว เช่นมีการตัดป่าไม้ ทำลายป่าอย่างรวดเร็ว หรือการจับปลาหรือสัตว์น้ำอื่นๆ จนกระทั่งไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ทัน ปริมาณของป่าและสัตว์น้ำจึงลดลงอย่างรวดเร็ว


ปัญหาความยากลำบากในการจัดการทรัพยากรที่เป็นสาธารณสมบัติเหล่านี้ ถูกเรียกขานว่าเป็น โศกนาฏกรรมของสาธารณะสมบัติ (tragedy of the commons) ปัญหานี้ยังนำไปสู่ปัญหาความขัดแย้งในการแย่งชิงทรัพยากรของคนกลุ่มต่างๆ โดยฝ่ายชาวบ้านซึ่งไม่มีเงินทุนมักจะเป็นฝ่ายที่เสียเปรียบ กลุ่มทุนที่มีทั้งอำนาจและความมั่งคั่ง สามารถใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่มาเพื่อกอบโกยทรัพยากรเหล่านี้ไปเป็นประโยชน์และสร้างความร่ำรวยให้กับตนเอง ทรัพยากรสาธารณะจึงถูกแย่งยื้อเอาไปใช้ประโยชน์โดยคนกลุ่มน้อยที่มั่งคั่ง ปล่อยคนส่วนใหญ่ของประเทศให้จมปลักอยู่กับความยากจน และหมดโอกาสในการใช้ประโยชน์จากทรัพยากรสาธารณะเพื่อการยังชีพ


ปัญหาเหล่านี้แต่เดิมนักเศรษฐศาสตร์ได้เสนอแนวทางออกอยู่ 2 แนวทางคือ


1. รัฐซึ่งเป็นตัวแทนประชาชนต้องทำหน้าที่ในการกำกับดูแล เพื่อให้สาธารณสมบัติเหล่านี้ สามารถถูกนำไปใช้ประโยชน์ให้กับประเทศอย่างยั่งยืน


คำถามที่ผ่านมาก็คือ รัฐสามารถเข้ามาดูแลได้อย่างมีประสิทธิภาพจริงหรือ ในประเทศไทยตัวอย่างก็ชัดเจนอยู่แล้ว ปริมาณป่า และปริมาณทรัพยากรสัตว์น้ำที่ลดจำนวนลงอย่างรวดเร็ว ทั้งนี้ ก็เพราะต้นทุนในการควบคุม ดูแล และจัดการนั้นสูงมาก รัฐจึงเป็นกลไกการกำกับดูแลที่อ่อนแอ กลไกการกำกับดูแลที่ไม่พอเพียงเหล่านี้ ยังมีปัญหาแทรกซ้อนด้วย การแสวงหาผลประโยชน์ของเจ้าหน้าที่รัฐและนักการเมืองที่จะนำทรัพยากรเหล่านี้ไปสร้างความมั่งคั่งให้กับตนเอง โดยการร่วมมือกับกลุ่มทุนที่เข้ามาแสวงหาผลประโยชน์


2. นักเศรษฐศาสตร์เสนอว่า เมื่อปัญหาหลักของการเสื่อมลงอย่างรวดเร็วของทรัพยากรสาธารณะก็คือ การขาดความเป็นเจ้าของอย่างชัดเจน จึงขาดคนที่มีจิตสำนึกในการที่จะดูแล และทำให้เกิดการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน จึงควรสร้างระบบความเป็นเจ้าของขึ้นมา คือการให้กรรมสิทธิ์กับเอกชนรายใดรายหนึ่งในการครอบครอง และดูแลการใช้ประโยชน์


ข้อเสนอนี้ยังให้ความสำคัญกับความเป็นเจ้าของที่เป็นลักษณะปัจเจก กล่าวคือให้เอกชนเข้ามาเป็นเจ้าของ ซึ่งก็ยากที่จะจัดการกับปัญหาเรื่องสาธารณสมบัติได้ เพราะลักษณะของสาธารณสมบัติก็คือ มีการใช้ประโยชน์ร่วมกันของคนเป็นจำนวนมาก การที่จะจัดสรรให้ใครเป็นผู้มีสิทธิ จึงไม่ใช่เป็นประเด็นที่จะดำเนินการกันได้อย่างง่ายๆ


ออสตรอม ได้นำเสนอในแนวทางที่สามก็คือ การทำให้เกิดกรรมสิทธิ์ร่วมกัน ของคนที่ใช้ประโยชน์ และมีการดูแลรักษาร่วมกัน เพื่อให้เกิดความยั่งยืนของทรัพยากร


ตัวอย่างที่อาจจะเห็นได้ชัดเจนในประเทศไทยก็คือ กรณีการผลักดันในเรื่องป่าชุมชน ซึ่งเป็นแนวคิดที่จะให้ชุมชนมีส่วนร่วมในการดูแล และใช้ประโยชน์จากพื้นที่ป่า หรือกรณีการรวมตัวกันของเครือข่ายประมงพื้นบ้านที่พยายามเข้าไปดูแลพื้นที่ประมงชายฝั่ง ไม่ให้กลุ่มทุนเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาจับสัตว์น้ำแบบชนิดที่ไม่เหลือให้เกิดการเพาะพันธุ์ต่อไป หรือในปัจจุบันที่มีความพยายามจะผลักดันให้เกิดโฉนดชุมชนและธนาคารที่ดิน เพื่อให้ชาวบ้านสามารถมีที่ดินทำกินทางด้านเกษตรกรรม และสามารถรักษาและพัฒนาคุณภาพของที่ดินตลอดจนปัจจัยอื่นๆ เช่นน้ำ เพื่อการทำเกษตรกรรมอย่างยั่งยืนต่อไปได้


ออสตรอมชี้ว่า การทำให้เกิดระบบกรรมสิทธิ์ร่วมกัน เป็นการสร้างสถาบันรูปแบบหนึ่ง ที่จะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการรักษาและใช้ประโยชน์จากสาธารณสมบัติ โดยการสร้างสถาบันที่ประสบความสำเร็จในการดูแลทรัพยากรสาธารณะเหล่านี้ มีเงื่อนไขทั้งที่เป็นเงื่อนไขเฉพาะ ซึ่งขึ้นอยู่กับลักษณะของสาธารณสมบัติแต่ละประเภทแล้ว ยังมีเงื่อนไขที่ร่วมกันในการจัดการให้ประสบความสำเร็จ ประกอบด้วย


1.ลักษณะของกลุ่ม หรือการรวมกลุ่มต้องมีขอบเขตที่ชัดเจน


2.กติกาหรือกฎเกณฑ์ที่จะใช้ในการควบคุมหรือกำกับการใช้ทรัพยากรสาธารณะ จะต้องสอดคล้องกับความต้องการ วัฒนธรรม และเงื่อนไขในชุมชนท้องถิ่น


3.การมีส่วนร่วมของบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากการกำหนดกฎ กติกาดังกล่าว


4.สิทธิของชุมชนในการเปลี่ยนแปลงกฎ กติกา จะต้องได้รับการยอมรับจากเจ้าหน้าที่ของรัฐ


5.มีระบบการกำกับดูแลพฤติกรรมของสมาชิกในชุมชน โดยสมาชิกในชุมชน


6.มีระบบการลงโทษหรือจัดการในชุมชนที่ชัดเจน เมื่อมีการทำผิดจากกติกาที่กำหนด เช่น sanction


7.สมาชิกในชุมชน มีกลไกในการแก้ไขความขัดแย้งที่มีต้นทุนต่ำ


8.สำหรับทรัพยากรสาธารณะที่เป็นส่วนหนึ่งของระบบใหญ่ จะต้องมีเครือข่ายในแต่ละระดับชั้นที่จะดำเนินการหรือสร้างกลไกในการจัดหา กำกับดูแล บังคับ และการแก้ไขความขัดแย้ง ในภาพรวมทั้งหมดได้ แม้ว่างานของ ออสตรอมจะได้นำเสนอไว้เป็นเวลากว่า 20 ปีแล้วก็ตาม วันนี้การตัดสินของคณะกรรมการรางวัลโนเบล สาขาเศรษฐศาสตร์ ได้ทำให้เห็นชัดเจนถึงการยอมรับในคุณค่า และแนวคิดที่ออกนอกกรอบจากเศรษฐศาสตร์ดั้งเดิม ซึ่งเป็นหนทางสำคัญในการแก้ไขปัญหาทรัพยากรสาธารณะ


สำหรับประเทศไทย มีข้อสรุปจากงานวิจัยหลายชิ้น ชี้ให้เห็นตรงกันว่า ปัญหาการเข้าถึงทรัพยากรสาธารณะเป็นสาเหตุหนึ่งของความยากจนการแก้ไขปัญหาความยากจน จึงต้องแก้ที่ฐานทรัพยากรก่อนอื่นใด การเคลื่อนไหวของชาวบ้านเพื่อให้เกิดการยอมรับในสิทธิชุมชน สิทธิในการจัดการทรัพยากรเพื่อให้เกิดความยั่งยืน เพื่อให้ทรัพยากรเหล่านั้นสามารถดำรงอยู่ไปชั่วลูกหลาน เพื่อให้เกิดการมีชีวิตที่มีศักดิ์ศรี มิใช่ต้องคอยให้รัฐบาลเอาเงินไปแจก ไม่ใช่เป็นเรื่องที่คิดกันเฉพาะในกลุ่มชาวบ้านเท่านั้น แต่เป็นเรื่องที่ยอมรับกันในระดับโลกแล้ว เมื่อไรที่รัฐบาลหรือผู้มีอำนาจจะหันมายอมรับกันบ้าง


เรียนรู้การปลูกป่า….จากป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติ


แต่ละย่างก้าวในการปลูกและฟื้นฟูป่า


1.การเลือกพื้นที่ปลูก


การคัดเลือกพื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับการปลูกและฟื้นฟูป่า เป็นขั้นตอนที่มีความสำคัญอย่างยิ่งจึงควรชักนำให้ผู้ที่มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายได้เข้ามามีส่วนร่วมด้วย เพื่อร่วมพิจารณาถึงความเหมาะสมของพื้นที่ การกำหนดขอบเขตแปลงปลูก โดยพิจารณาสิทธิในการถือครองพื้นที่ รวมถึงเพื่อวางแผนในการดำเนินงานและแรงงานที่ต้องใช้ ซึ่งภายหลังจากการสำรวจแล้วควรจัดประชุมกลุ่มชาวบ้านเพื่อทำความเข้าใจร่วมกันและรับฟังความคิดเห็นของชุมชนต่อการปลูกป่า โดยการประชุมยังทำให้ได้รับข้อเสนอแนะและรับทราบภูมิปัญญาของชุมชนที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานปลูกป่า และช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานในพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะได้ด้วย


2.การเลือกชนิดพันธุ์ไม้


ในการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนมาเป็นสภาพป่าธรรมชาติที่สมบูรณ์ ไม่ควรกำหนดชนิดของพันธุ์ไม้ชนิดใดชนิดหนึ่งไว้ตายตัว แต่ให้คำนึงถึงความเหมาะสมและความสามารถในการเจริญเติบโตของต้นไม้และควรเลือกใช้ชนิดพันธุ์ไม้หลากหลายชนิดคละกันไปเช่นเดียวกับป่าธรรมชาติ โดยเลือกพันธุ์ไม้ที่เคยเจริญเติบโตในพื้นที่นั้นเป็นหลัก และเลือกใช้พันธุ์ไม้อื่นๆ ที่เอื้อประโยชน์ต่อการพึ่งพิงของชุมชนและสัตว์ป่าปลูกเสริม จำนวนชนิดของพันธุ์ที่ปลูกควรอยู่ระหว่าง 20-30 ชนิดซึ่งในโครงการปลูกป่าถาวร กฟฝ. ได้กำหนดจำนวนชนิดของพันธุ์ไม้ที่ปลูกไว้ไม่ต่ำกว่า 5 ชนิดพันธุ์ต่อพื้นที่เนื่องจากการปลูกพันธุ์ไม้มากกว่าชนิดจะช่วยเร่งให้ความหลากหลายทางชีวภาพฟื้นตัวได้เร็วขึ้น เพราะต้นไม้แต่ละชนิดสามารถดึงดูดสัตว์ป่าที่ต่างชนิดกันเข้ามาในพื้นที่


นอกจากนี้ชุมชนยังสามารถนำส่วนต่างๆของพืชในป่ามาใช้สอยในชีวิตประจำวันอย่างหลากหลาย เช่น นำใบของต้นพลวงมาใช้มุงหลังคาอาคาร ใช้ต้นปอสาเลี้ยงหมู ส่วนเปลือกนำไปใช้ทำเยื่อกระดาษและผลิตเป็นกระดาษสา ชุมชนในจังหวัดตากใช้ในพิธีกรรมไล่ผีหรือการนำหญ้าคาซึ่งเป็นวัชพืชในแปลงปลูกป่ามาเย็บเป็นตับใช้มุงหลังคาหรือส่งขายเป็นรายได้เสริมให้กับครัวเรือน การเพิ่มขึ้นของป่ายังเป็นการเพิ่มแหล่งพลังงานและเชื้อเพลิงให้กับชุมชน และลดรายจ่ายด้านเชื้อเพลิง โดยการเก็บหากิ่งไม้แห้ง ใบ เปลือกไม้ และต้นไม้ตายในแปลงปลูกป่ามาทำฟืน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มชุมชนที่อยู่บนภูเขาสูงที่มีอากาศหนาวเย็น


ป่าไม้แต่ละประเภทมีความแตกต่างของชนิดพืชและสัตว์ป่าจึงเปรียบได้กับห้องสมุดธรรมชาติเป็นสื่อการเรียนรู้ที่มีชีวิต และเป็นแหล่งค้นคว้าวิจัยที่มีความสับซ้อนและน่าค้นหาทั้งของนักวิทยาศาสตร์และผู้ที่สนใจศึกษาโดยทั่วไป รวมถึงเป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจของชุมชนแปลงปลูกป่าถาวร ของ กฟฝ. ในหลายพื้นที่ เป็นห้องเรียนธรรมชาติเป็นสถานที่ศึกษาดูงานเรื่องระบบนิเวศป่าไม้ของทั้งเยาวชนและประชาชนที่สนใจ เช่น พื้นที่ป่าถาวร ในป่าสงวนแห่งชาติป่าแม่สิน แม่สาน แม่สูง ในอำเภอศรีสัชนาลัย จังหวัดสุโขทัย ป่าได้ฟื้นตัวจนมีความสมบูรณ์ มีพันธุ์ไม้ที่หลากหลายสามารถพบเห็นสัตว์ป่าขนาดเล็กและนกชนิดต่างๆมากมาย ซึ่งการที่ชุมชนได้เชื่อมโยงวิถีชีวิตกับป่าอย่างกลมกลืนนี้ ได้สร้างเสริมให้ชุมชนมีจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่าเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน สร้างให้ชุมชนเกิดความเข้มแข็งและสามัคคีกันมากขึ้น เห็นได้จากชุมชนในหลายพื้นที่มีส่วนร่วมและร่วมกลุ่มในการทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการอนุรักษ์อย่างเป็นรูปธรรม อีกทั้งยังมีความกระตือรือร้นในการปลูกป่าเพิ่มเติมในพื้นที่ต่างๆอย่างต่อเนื่อง


ปัจจัยที่มีผลต่อความสำเร็จ


การปลูกต้นไม้เป็นเพียงจุดเริ่มต้นของงานฟื้นฟูป่าเท่านั้น ความสำเร็จของโครงการยังขั้นอยู่กับการดูแลพื้นที่หลังการปลูกป่าด้วย การรวบรวมผู้คนในชุมชนให้มาร่วมกันปลูกป่าอาจไม่ใช่เรื่องที่ยากนัก แต่การให้ชุมชนช่วยกันดูแลรักษาต้นไม้ที่ได้ลงแรงปลูกไปกลับเป็นสิ่งที่ยากยิ่ง การฟื้นฟูป่าจึงไม่ใช่เพียงการปลูกต้นไม้แต่เป็นกิจกรรมที่ต้องการความต่อเนื่อง ถ้าหากต้นไม้ที่ลงทั้งแรงและเงินในการปลูกไปนั้นไม่ได้รับการดูแลแผ้วถางวัชพืช ใส่ปุ๋ย และป้องกันไฟแล้ว ต้นไม้ก็ไม่สามารถเจริญเติบโตจนเป็นไม้ใหญ่ได้ ซึ่งการดำเนินงานปลูกป่าถาวรเฉลิมพระเกียรติฯ ของ กฟผ. ถือว่าเกิดผลสำเร็จตรงตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ในการฟื้นฟูพื้นป่าเสื่อมโทรมให้กลับคืนสู่ความสมดุลทางธรรมชาติ โดยมีปัจจัยที่ส่งเสริมให้เกิดความสำเร็จ ดังต่อไปนี้


1.ความตั้งใจและมุ่งมั่นอย่างจริงจังของ กฟผ. ซึ่งถือเป็นจุดเริ่มต้นที่นำโครงการสู่ความสำเร็จ
2.การได้รับความร่วมมือจากภาคีร่วมดำเนินการ อันประกอบด้วย กรมป่าไม้ ซึ่งเป็นหน่วยงานสนับสนุนด้านการสรรหาพื้นที่ การเตรียมกล้าไม้ และการให้คำแนะนำทางด้านวิชาการป่าไม้ หน่วยงานส่วนท้องถิ่นซึ่งให้ความร่วมมือในการประสานกับชุมชนในการคัดเลือกพื้นที่ กำหนดพื้นที่ปลูก และในการสนับสนุนการดำเนินงานในพื้นที่ รวมถึงประชาชนและองค์กรท้องถิ่น ได้ให้ความร่วมมือในการดำเนินงานอย่างดี


3.การเลือกใช้เทคนิควิธีที่เหมาะสม ตั้งแต่การเตรียมพื้นที่ การคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ วิธีการปลูกและบำรุงรักษา ซึ่งบางเทคนิควิธีเกิดจากการเรียนรู้จากประสบการณ์ทำงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ป่าไม้และชุมชนในพื้นที่
4.การบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ ซึ่งนับเป็นหัวใจสำคัญที่ทำให้การดำเนินงานเป็นไปตามวัตถุประสงค์และกรอบระยะเวลาที่ตั้งไว้ซึ่ง กฟผ. ถือว่าเป็นหน่วยงานที่มีประสบการณ์สูงด้านการบริหารจัดการโครงการที่มีขนาดใหญ่


ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจเป็นแรงจูงใจสำคัญที่ทำให้ชาวบ้านเข้ามามีส่วนร่วมในการปลูกและฟื้นฟูป่า โดยที่ผลประโยชน์นั้นอาจอยู่ในรูปของการจ้างงาน ผลิตภัณฑ์จากป่า หรือรายได้จากการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ตลอดเวลาในการดำเนินงานปลูกป่า กฟผ. ได้ให้ความสำคัญกับพลังมวลชนในการดูแลรักษาป่า เนื่องจากทราบดีว่าป่าที่ได้ปลูกไปนั้นจะไม่สามารถเจริญเติบโตเป็นป่าถาวรได้ หากประชาชนในพื้นที่ไม่ให้ความสนใจในการอนุรักษ์และดูแลป่า ฉะนั้น นอกจากการจ้างแรงงานท้องถิ่นในการปลูกและดูแลรักษา รวมถึงการจัดเวทีระดมความคิดเห็นถึงแนวทางการดำเนินงานปลูกป่าแล้ว กฟผ. ยังให้ความสำคัญกับงานประชาสัมพันธ์และมวลชนสัมพันธ์อย่างต่อเนื่องตลอดระยะเวลาของโครงการ


แนวทางการสร้างการมีส่วนร่วมจากชุมชน


การประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร


1. สื่อสิ่งพิมพ์ ได้แก่ ภาพข่าวโครงการปลูกป่าฯ และสื่อสิ่งพิมพ์ภายในองค์กร เช่น ข่าวร่มไม้ชายป่า ข่าวสัปดาห์ กฟผ. โปสเตอร์ แผ่นพับ และเอกสารเผยแพร่อื่นๆตามความเหมาะสม รวมถึงสื่อสิ่งพิมพ์ภายนอก ได้แก่ หนังสือพิมพ์ นิตยสารรายสัปดาห์ รายปักษ์และรายเดือน


2. สื่อโทรทัศน์ ได้แก่ สารคดี โฆษณา รายการข่าว รายการเกษตรกร ภูมิปัญญาชาวบ้าน


3. สื่อวิทยุ ได้แก่ สปอตวิทยุ รายการเพลง ทุ่งเขียวพัฒนา ไพรพิทักษ์ ปลูกป่าพบประชาชน


4. การจัดนิทรรศการ ซึ่งทำในรูปแบบสื่อผสม ได้แก่ บอร์ดนิทรรศการ วีดีทัศน์ สไลด์


5. การประชาสัมพันธ์ผ่านสื่อของชุมชน เช่น หอกระจายข่าว และป้ายประกาศของชุมชน


การจัดกิจกรรมให้ความรู้ และรณรงค์สร้างจิตสำนึกในการอนุรักษ์ป่า


1. การจัดกิจกรรมวันปลูกป่า โดยเชิญชวนทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องร่วมปลูกป่า เพื่อให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมท้องถิ่นของตน


2. จัดค่ายเยาวชนรักษ์ป่า เพื่อเป็นการปลูกฝังและสร้างจิตสำนึกให้เยาวชน ซึ่งเป็นกำลังสำคัญของชาติได้ตระหนักถึงคุณค่าของทรัพยากรป่าไม้ และช่วยกันดูแลรักษาป่าให้เสมือนสมบัติของตนเองจนนำความรู้ที่ได้ไปเผยแพร่ต่อ เป็นการสร้างเครือข่ายให้แก่งานประชาสัมพันธ์ที่ดีกว่าสื่อชนิดใด


3. จัดอบรมป้องกันไฟป่า ให้ราษฎรได้เกิดความรู้ ความเข้าใจในระดับรากหญ้าและสามารถปฏิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพหากเกิดปัญหาจริง


4. จัดอบรมอาสาสมัครพิทักษ์ป่า เป็นการสนองต่อพระราชปณิธานของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ ในการป้องกันการบุกรุกทำลายทรัพยากรป่าไม้ตลอดจนสร้างจิตสำนึกในชุมชนรักษ์ป่า



บรรณานุกรม


Owen J. Lynch, Janis B. Alcorn. การดูแลป่าของชาวบ้าน. กรุงเทพฯ : สถาบันวิจัยสังคม


จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย , 2535.


กรมป่าไม้. การปลูกไม้ป่า : หนังสือคู่มือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ตามโครงการพัฒนาป่าชุมชน พ.ศ. 2536


กรุงเทพฯ : สวนป่าชุมชน สำนักส่งเสริมการปลูกป่า, 2536.


ชูพักตร์ สุทธิสาและคณะ. การวิจัย การจัดระบบแนวคิดในการอนุรักษ์ป่าชุมชนของชาวบ้าน


มหาสารคาม : มหาวิทยาลัยมหาสารคาม, 2542.


เสน่ห์ จามริกและคณะ. ป่าชุมชนในประเทศไทย : แนวทางการพัฒนา. พิมพ์ครั้งที่ 2. กรุงเทพฯ :


สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, 2536.


พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต). คนรักษ์ป่า ป่ารักษ์คน. พิมพ์ครั้งที่ 1. นครปฐม : มูลนิธิปัญญา


ประทีป, 2554.

















ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น