วันอาทิตย์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2556

ธรรมชาตินิยม (naturalism)



ธรรมชาตินิยม (naturalism)

ความหมายของธรรมชาตินิยม

ก่อนอื่นเราต้องทราบพื้นฐานของสสารนิยม คือ การอธิบายความมีอยู่และลักษณะของโลก โดยไม่ต้องอาศัยพระเจ้าหรือภาวะเหนือธรรมชาติ นักสสารนิยมส่วนมากเป็นพวกอเทวนิยม แต่ที่จริง นักสสารนิยมรุ่นเก่า เช่น เอปิคูรุส (Epicurus พ.ศ. 202-273) และลูเครติส (Carus Lucretius พ.ศ. 445-489) ได้กล่าวไว้ว่า มีพระเจ้าหลายองค์ แต่พระเจ้าเหล่านั้นเป็นภาวะธรรมชาติ อาศัยอยู่ที่สงบ ซึ่งอยู่เหนือโลกนี้ขึ้นไป และไม่ได้มาเกี่ยวข้องกับมนุษย์




นักปราชญ์บางพวกถือว่า ทั้งลูเครติอุสและเอปิคูรุส ไม่ได้เชื่อเรื่องพระเจ้า แต่ที่กล่าวถึงพระเจ้า รวมไว้ในจักรวาลวิทยาของท่านนั้น ก็เพื่อไม่ให้ทำลายความรักชาติ (partriotism) และรสนิยมที่ดี นักสสารนิยมสมัยต่อมาอ้างว่า พระเจ้าไม่มี นอกจากพระเจ้าที่มนุษย์คิดสร้างสรรค์ขึ้นเองเท่านั้น


แต่นักสสารนิยมไม่ได้มีอภิสิทธิ์ เป็นเจ้าของความเชื่อเชิงปฏิเสธนี้แต่เพียงผู้เดียว นักปรัชญาท่านอื่น ก็อาจถือว่า นักสสารนิยมมีความเห็นไม่ถูกต้องในข้อที่อ้างว่า สรรพสิ่งเป็นสสารหรือพลังงาน และยังเข้าใจผิดในเรื่องนิยัตินิยมทางจักรกลด้วย แต่ข้ออ้างที่ว่าพระเจ้าไม่มีนั้น นักสสารนิยมเห็นถูกต้องแล้ว มีปัญหาว่า จะเรียกชื่อทรรศนะของนักปรัชญาผู้นั้นว่าอย่างไร เมื่อประมาณ 30 ปี ที่ผ่านมา มีผู้เสนอว่า ควรเรียกว่า ธรรมชาตินิยม (naturalism)


ธรรมชาตินิยม อาจนิยามตามที่ถือกันทั่วไปว่า ได้แก่ความเชื่อที่ว่า ทุกสิ่งและเหตุการณ์ทั้งหลายนั้นมีมูลเหตุมาจากธรรมชาติ มากกว่าสิ่งเหนือธรรมชาติ จักรวาลมีเหตุกำเนิดมาจากธรรมชาติ มากกว่าภาวะเหนือธรรมชาติ มนุษย์มีจุดหมายตามธรรมชาติมากกว่าสิ่งเหนือธรรมชาติ


ธรรมชาตินิยม คือ ทฤษฎีที่ว่าด้วยสิ่งทั้งหลายในโลกที่เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับโลกอื่น เช่น ธรรมชาตินิยมของนักปรัชญาของจีน คือ ปรัชญาของขงจื๊อ ขงจื๊อเกลียดคำอธิบายแบบเหนือธรรมชาติทุกแบบ และปัญหาที่สนใจพิเศษคือ ธรรมชาติและความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ ในขณะเดียวกัน เราจะเห็นว่า วิธีการตอบปัญหาของอาริสโตเติล ก็เป็นธรรมชาตินิยม ถึงแม้ว่าอาริสโตเติลจะเชื่อถือพระเจ้า ซึ่งแตกต่างกับโลกก็ตาม เวลาอธิบายสิ่งทั้งหลายก็ไม่ได้อ้างถึงโลกอื่นเลย ซึ่งแตกต่างกับเพลโตที่อ้างโลกอื่น คือ เพลโตถือว่า คำอธิบายสิ่งทั้งหลาย ที่ถูกต้องที่สุดนั้น มีอยู่ในโลกของสวรรค์ คือโลกแห่งมโนคติ


อาริสโตเติลวิจารณ์หลักคำสอนเรื่อง โลกในอุดมคติ ของเพลโตว่า ไม่จำเป็นต้องสร้างโลกอื่นขึ้นมาเพื่ออธิบายโลกนี้ ข้อวิจารณ์นี้จัดได้เป็นแบบเจตคติทางธรรมชาตินิยม


ธรรมชาตินิยมที่ใช้ในความหมายแคบๆ หมายถึง วิธีการเข้าสู่ปรัชญาวิธีหนึ่ง ซึ่งพัฒนาขึ้นในสหรัฐอเมริกา หลังจากพวกปฏิบัตินิยม (pragmatists) มีอิทธิพลกว้างกวาง ปรัชญาที่สอนกันในมหาวิทยาลัยในสหรัฐอเมริกา จนถึงสิ้นศตวรรษแล้ว โดยทั่วไปเป็นปรัชญาจิตนิยม นักปรัชญาบางท่าน มี ชาร์ลเพียร์ซวิลเลียมเจมส์ และจอห์น ดิวอี้ เป็นต้น ได้แสดงปฏิกิริยาต่ออภิปรัชญาจิตนิยม และโลกทรรศน์ในแนวกว้าง ไปสนใจค้นคว้าวิทยาการทางวิทยาศาสตร์ และวิธีการแก้ปัญหาทางศีลธรรมและสังคมกันมากขึ้น แต่ ประสบการณ์นิยมรุ่นใหม่ ก็ต้องการจุดยืนทางอภิปรัชญา เกี่ยวกับปัญหาธรรมชาติ กับเหนือธรรมชาติ โดยทั่วไปนักประสบการณ์นิยมจะประกาศว่า ตัวเองเป็นฝ่ายธรรมชาติ


ซันตายานา (George Santayana) ช่วยทำให้คำว่า ธรรมชาตินิยม เป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย แม้ว่า ท่านเองจะไม่สนใจทั้งในด้านประสบการณ์นิยม และวิธีการทางวิทยาศาสตร์ ท่านถือว่า ทรรศนะเกี่ยวกับโลกนี้เข้ากันได้กับอุดมคติเหตุผลและภาวะของสสาร ของนักปรัชญากรีก


ธรรมชาตินิยมกับศาสนา

ธรรมชาตินิยมถือว่า พระเจ้าไม่มีอยู่จริง ถ้าพระเจ้าเป็นจริงอีกอย่างหนึ่ง ต่างกับธรรมชาติที่สูงส่ง จึงมีปัญหาว่า นักธรรมชาตินิยมทุกคนเป็น พวกอเทวนิยมหรือไม่ หรือปัญหาที่ว่า ความเชื่อในธรรมชาตินิยมกับความเชื่อในความสำคัญของค่านิยม ทางศาสนานั้น สามารถประนีประนอมกันได้หรือไม่


เมื่อพิจารณาในด้านประวัติศาสตร์จะพบว่าธรรมชาตินิยมเชิงสสารนิยมนั้น เป็นอย่างเดียวกับอเทวนิยมซ้ายจัด คติโลกวิสัย ฝ่ายรุกราน และขบวนการต่อต้านศาสนากับคณะนักบวช แต่นักปรัชญาบางท่านในลัทธิธรรมชาตินิยม ได้พยายามเป็นอย่างยิ่งเพื่อรับรองประสบการณ์ทางศาสนาว่า เป็นประสบการณ์ ที่ดีเลิศ ทั้งนี้ เพื่อยอมรับค่านิยมทางศาสนา และเพื่อรวมศาสนาเข้าไว้ในโลกทรรศน์ของธรรมชาตินิยม


นักธรรมชาตินิยมร่วมสมัยอาจแบ่งได้เป็น 2 กลุ่ม คือ กลุ่มขวา และ กลุ่มซ้าย หรือเรียกตามศัพท์ของวิลเลียมเจมส์ ว่า กลุ่มใจอ่อน (tender-minded)และ กลุ่มใจแข็ง (tough-minded) นักธรรมชาตินิยมกลุ่มใจแข็งนั้นมีเจตนารมณ์ ใกล้เคียงกันมากกับนักสสารนิยมรุ่นเก่า คือพวกนี้มีทรรศนะไม่แตกต่างกันในเรื่องของค่านิยมทางศาสนา หรือไม่เห็นด้วยกับผู้พยายามดึงศาสนาเข้าไปรวมไว้ในโลกทรรศน์ของธรรมชาตินิยม ส่วนนักธรรมชาตินิยมกลุ่มใจอ่อนกลับเห็นใจศาสนา คือโดยปกติ กลุ่มนี้ปฏิเสธรูปแบบตามประเพณี แต่เขาเชื่อว่า ค่านิยมทางศาสนามีความสำคัญและสามารถรวมเข้าไว้ในปรัชญาธรรมชาตินิยมได้


เจตคติของชันตายานา ที่มีต่อศาสนานั้น มีผลกระทบอย่างมาก เพราะท่านมีความเห็นว่า มีโลกอยู่ 2 โลก คือ โลกแห่งข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ และโลกแห่งความจะเป็นสารัตถะ ท่านกล่าวว่า โลกแห่งสารัตถะนั้น เราสามารถเข้าถึงด้วยจินตนาการ การสร้างสรรค์ของมนุษย์ สารัตถะดังกล่าวนี้ต่างกับข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ แต่ถือว่าเป็นอุดมคติที่สามารถ ให้ความหมายแก่ชีวิตได้ สามารถให้สีสันความเข้มข้น และมีค่าแก่ประสบการณ์ได้ ในจำนวนอุดมคติเหล่านั้น มีบทกวีและศาสนารวมอยู่ด้วย “ศาสนาและบทกวีนั้น มีสัตถะอย่างเดียวกัน แต่ต่างกันในวิธีที่นำไปปฏิบัติเท่านั้น บทกวีที่แทรก อยู่ในชีวิต เรียก ศาสนา แต่เมื่อศาสนาทำหน้าที่ เพียงแต่ครอบงำชีวิตไว้เท่านั้น ศาสนาก็ไม่ใช่อะไรอื่นนอกจาก เป็นเพียงบทกวีนั้นเอง”


ตามทรรศนะของชันตายานาเห็นว่า พระเจ้าเป็นอุดมคติอย่างหนึ่ง ไม่ใช่เป็นข้อเท็จจริง สิ่งธรรมชาติทุกๆสิ่งมีความสมบูรณ์ตามอุดมคติ แต่อุดมคติทุกๆอย่างมีพื้นฐาน ทางธรรมชาติ ศาสนาทั้งหลายที่สืบทอดกันมา จนเป็นประเพณีนั้น สามารถบรรยายข้อเท็จจริงตามธรรมชาติ ให้เข้าใจถูกต้องได้และสามารถช่วยนำเราไปสู่จุดหมายปลายทาง คือแดนสงบได้


จอห์น ดิวอี้ เป็นนักธรรมชาตินิยมอีกท่านหนึ่ง ซึ่งถูกจัดไว้ในกลุ่มขวา แต่ท่านก็ยอมรับมโนภาพของชันตายานาที่ว่า ศาสนานั้นเกี่ยวข้องกับค่านิยมทางอุดมคติ ชันตานายา แบ่งองค์ประกอบทางศาสนาออกเป็น 2 อย่าง คือ ความรู้สึกทางศีลธรรม และมโนภาพทางกวี ที่เกี่ยวกับสิ่งทั้งหลาย จอห์น ดิวอี้ สนใจเฉพาะเรื่องศีลธรรม ของศาสนา ท่านที่เห็นว่า ศาสนามีความสัมพันธ์กับอุดมคติทั้งหลายที่มนุษย์ถือเป็นเป้าหมายชีวิต และนำมาประพฤติปฏิบัติเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้นๆ อุดมคติจึงเป็นเครื่องทำงานที่สำคัญ พระเป็นเจ้านั้นเป็นชื่อหนึ่งของอุดมคติทั้งหลาย ซึ่งเราถือว่า เป็นเอกภาพอย่างหนึ่งดังที่ท่านกล่าวไว้


สมมุติว่า คำว่า พระเป็นเจ้า หมายถึง จุดหมายทางอุดมคติ ซึ่ง ณ กาลและสถานที่หนึ่ง ที่บุคคลยอมรับกันว่ามีอำนาจเหนือเจตนาและอารมณ์ของเขาเป็นค่านิยมที่บุคคลเชื่อถืออย่างสูงส่งจนนึกเห็นว่าจุดหมายเหล่านี้รวมตัวกันเป็นเอกภาพ ถ้าเราเชื่อถือตามข้อสมมุตินี้ ผลจะปรากฏออกมาทางตรงกันข้ามกับหลักคำสอนของศาสนาที่ว่า พระเป็นเจ้า หมายถึง สัตบางชนิด ซึ่งมีอยู่เดิม จึงไม่ใช่ความมีอยู่ที่เป็นอุดมคติ


นักธรรมชาตินิยมร่วมสมัยผู้ปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะรวมค่านิยมทางศาสนาเข้าไว้ในธรรมชาตินิยม ก็ดำเนินตามแนวคิดของชันตายานาและจอห์น ดิวอี้นี้เอง วิธีการของนักธรรมชาตินิยมพวกนี้ ได้แก่วิธีการแบบมนุษยนิยม เนื่องจากพวกนี้เห็นว่า ค่านิยมทางศาสนาไม่ใช่มีพื้นฐานมาจากภาวะเหนือธรรมชาติ แต่มาจากจิตของมนุษย์เรานั่นเอง นักธรรมชาตินิยมกลุ่มขวาถือว่า ธรรมชาตินิยมมีส่วนเกี่ยวข้องกับศาสนาด้วยเพราะศาสนาเป็นข้อเท็จจริงอย่างหนึ่งของประสบการณ์ของมนุษย์ แต่โดยทั่วไปคำว่า ศาสนา ตามทรรศนะของพวกนี้ไม่ได้หมายถึงรูปแบบศาสนาตามประวัติศาสตร์ และไม่ได้หมายถึงศาสนาที่เป็นองค์การ ทรรศนะนี้ ชันดายานาไม่เห็นด้วย เพราะท่านเชื่อว่า นักธรรมชาตินิยมก็สามารถนับถือศาสนาที่สืบทอดกันมาเป็นปรัมปราประเพณีได้ ท่านกล่าวเป็นเชิงเปรียบเทียบว่า คนเราสามารถพูดภาษาใดภาษาหนึ่งได้ แต่ไม่สามารถพูดภาษาที่ใช้พูดกันโดยทั่วไปได้ทุกภาษาซึ่งก็คงหมายความว่า ให้เลือกนับถือศาสนาที่เห็นสมควร แต่นักธรรมชาตินิยมชาวอเมริกันนั้นได้ทอดทิ้งศาสนาตามคัมภีร์เสียแล้ว หันมานับถือศาสนาที่จอห์น ดิวอี้เรียกว่า “สามัญศรัทธา” (common faith) ซึ่งหมายถึงความเชื่อต่อเอกภาพแห่งอุดมคติที่บุคคลนำมาใช้เป็นเครื่องนำทางชีวิต จะเห็นได้ว่า ศาสนาที่กล่าวมานี้มีความหมายแตกต่างกับศาสนาที่เชื่อถือสืบๆ กันมา


สรุปว่า ธรรมชาตินิยมแยกกันเด็ดขาดกับเทวนิยมปรัชญาเทวนิยมสอนว่า พระเป็นเจ้ามีอยู่จริง พระเป็นเจ้าเป็นสัตอย่างหนึ่ง แต่ธรรมชาตินิยมสอนว่า ไม่มีพระเป็นเจ้า ไม่มีระเบียบเหนือธรรมชาติ ไม่มีทวิภาคระหว่างพระเป็นเจ้ากับโลกอย่างไรก็ตาม ยังมีธรรมชาตินิยมบางลัทธิเข้ากันได้กับหลักคำสอนที่ถือว่าพระเป็นเจ้าเป็นอุดมคติอย่างหนึ่ง อุดมคตินี้อาจมีอิทธิพลเหนือชีวิตมนุษย์ผู้ปรารถนาแสวงหาความดี


วิญญาณกับจิต



นักปรัชญารุ่นเก่ามักจะเปรียบเทียบมนุษย์กับโลกเล็กๆ หรือจุลจักรวาล (microcosm) ซึ่งมีอยู่ภายในโลกใหญ่หรือมหาจักวาล (macrocosm) นั่นคือเอกภพนี้ในระดับมหาจักวาลนักธรรมชาตินิยมปฏิเสธทวินิยมระหว่างธรรมชาติกับภาวะเหนือธรรมชาติ พระเป็นเจ้ากับโลก อย่างใดอย่างหนึ่ง ในระดับจุลจักรวาลหรือตัวมนุษย์ นักธรรมชาตินิยมปฏิเสธทวินิยมระหว่างกายกับจิต (mind) หรือกายกับวิญญาณ (soul) เพราะถือว่า จิตหรือวิญญาณเป็นหลักการทางจิต และแยกกันต่างหากจากกาย พวกนี้เห็นว่า จิตนั้นหาได้แยกออกจากกายอย่างเด็ดขาดไม่ ในขณะเดียวกัน ก็ยืนยันว่า จิตของมนุษย์มีความสำคัญ มนุษย์มีความสามารถที่จะใช้สติปัญญาหรือเชาวน์ได้ดีเยี่ยม และไม่เห็นด้วยกับนักสสารชั้นนำที่ถือว่าจิตมนุษย์นั้นไม่ใช่อะไรอื่นนอกจากวัตถุหรือสสารที่มีความสลับซับซ้อน


จิตตามทรรศนะของเพลโตและอาริสโตเติล


ทรรศนะเกี่ยวกับจิตในปรัชญาตะวันตกพัฒนาออกไปเป็น 2 สาย คือ สายของเพลโต และสายของอาริสโตเติล เพลโตให้ทรรศนะไว้ว่า จิตเป็นสมรรถพล (faculty) อย่างหนึ่งของวิญญาณ และวิญญาณก็คือ ตัวตนอันแท้จริงของเราซึ่งแตกต่างกับร่างกาย กล่าวคือ วิญญาณเป็นสัดอย่างหนึ่ง ซึ่งมีลักษณะตรงกันข้ามกับร่างกาย เพราะร่างกายประกอบขึ้นมาจากสสารมีน้ำหนัก ความเฉื่อยชา และความเฉื่อยเป็นลักษณะสำคัญร่างกายถ่วงวิญญาณให้ตกต่ำลง และปิดกั้นไม่ให้วิญญาณสำแดงทรรศนะภาพออกมาทางจิตได้ชัดเจนตามที่เป็นจริงวิญญาณไม่ได้ตายไปพร้อมกับร่างกาย เพราะวิญญาณเป็นอมตะดังที่โสกราตีสกล่าวไว้ว่า


ร่างกายเป็นบ่อเกิดแห่งความลำบากอันไม่มีที่สุด เพราะเหตุเพียงต้องการอาหาร ทั้งเป็นที่เกิดแห่งโรคทั้งหลาย และยังขัดขวางการแสวงหาสัดที่แท้จริงอีกด้วย ร่างกายทำเราให้เรามี ความรัก ความทะยานอยาก ความกลัว ความเพ้อฝันทุกชนิดและความโง่เขลาเบาปัญญาหาที่สุดมิได้ ความจริงก็เป็นดังที่คนทั้งหลายพูดกันคือ ร่างกายทำให้พลังความคิดหายไปจากเรา….ในชีวิตนี้ข้าพเจ้าคิดว่าเข้าไปใกล้ความรู้กันมากที่สุดแล้ว เมื่อเราติดต่อกับร่างกายน้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ และไม่มักมากในกายิกสุข แต่รักษาตัวให้บริสุทธิ์ จนกระทั่งถึงเวลาที่พระเป็นเจ้าโปรดปรานปลดเปลื้องให้หลุดพ้น


อาริสโตเติลมีทรรศนะตรงกับเพลโตในประเด็นที่ว่า จิตเป็นสมรรถพลอย่างหนึ่งของวิญญาณ แต่ในเรื่องสภาพของวิญญาณ อาริสโตเติลเห็นต่างกับเพลโต กล่าวคือ อาริสโตเติลเห็นว่า วิญญาณไม่ใช่ตัวการทางจิตที่ถูกขังอยู่ในร่างการเหมือนนกที่ถูกขังอยู่ในกรง วิญญาณเป็นรูปแบบของร่างกาย คือ เป็นกฎการจัดระเบียบสิ่งที่มีชีวิตทั้งปวง วิญญาณของคนแต่ละคนก็คือ ชีวิตของคนนั้นเอง จิตหรือเหตุผล (reason) เป็นกัมมันตภาพขั้นสูงสุดของชีวิตนั้นๆ ด้วยเหตุนี้ ร่างกายกับวิญญาณจึงเป็นสิ่งที่แยกออกจากกันไม่ได้ อุปมาเหมือนโครงสร้างของสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ซึ่งแยกออกจากวัสดุที่ประกอบกันเข้าเป็นโครงสร้างนั้นไม่ได้ ฉะนั้น อาริสโตเติลจึงกล่าวย้ำไว้ว่าคำถามที่คนส่วนมากตั้งคำถามว่า ร่างกายกับวิญญาณเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือไม่นั้น เป็นคำถามที่ไม่จำเป็นและไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง ทำนองเดียวกับคำถามที่ว่า ขี้ผึ้งกับรูปร่างของขี้ผึ้งเป็นอย่างเดียวกันหรือไม่นั้นแหละ


ศาสนาคริสต์ที่เชื่อถือกันเป็นประเพณีนิยมมีทรรศนะในเรื่องวิญญาณคล้ายกับทรรศนะของเพลโต คือ เชื่อว่าวิญญาณเป็นอมตะและแยกออกจากร่างกายได้ มีผู้ให้ความเห็นว่า ในสมัยแรกๆ บาทหลวงผู้สอนศาสนาไม่มีหลักปรัชญาของตัวเองสำหรับใช้อธิบายคำสอนทางศาสนาเกี่ยวกับลักษณะและจุดหมายของวิญญาณมนุษย์ จึงนำเอาทรรศนะและอุปมาของเพลโตมาใช้อธิบายหลักคำสอนเรื่องวิญญาณ แต่นักเทววิทยาชี้แจงว่า อมตภาพของวิญญาณนั้นมีเองตามธรรมชาติแต่หลักคำสอนของศาสนาคริสต์เห็นว่าเป็นพรสวรรค์อย่างหนึ่งของวิญญาณ เกิดจากอานุภาพแห่งพระกรุณาธิคุณของ พระเป็นเจ้า เซนด์ทอมัสอาควีนัส (St. Thomas Aquinas) ไม่เห็นด้วยกับทรรศนะที่ว่า วิญญาณอยู่ในร่างกาย “เหมือนลูกเรืออยู่ในเรือ” และพยายามประสานทรรศนะของอาริสโตเติลที่ว่า วิญญาณเป็นรูปแบบของร่างกายให้เข้ากับทรรศนะของศาสนาคริสต์ที่ว่า วิญญาณแยกออกจากร่างกายได้


จิตกับกายตามทรรศนะของเดการ์ต



เดการ์ตซึ่งได้รับสมญานามว่า “เป็นบิดาแห่งปรัชญาสมัยใหม่” มีความสนใจปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายเหมือนกัน และถือว่าเป็นปัญหาสำคัญปัญหาหนึ่ง ท่านเห็นว่าสารหรือสิ่งทั้งหลายในเอกภพนี้มีอยู่ 2 ชนิด คือ สิ่งที่เป็นจิตภาพ (mental things) และสิ่งที่เป็นกายภาพ (physical things) สิ่ง 2 ชนิดนี้ต่างกันมากทีเดียว แต่มีปัญหาว่าทำไมสิ่งทั้ง 2 นี้ เกิดมาอยู่ด้วยกันในคนเรา คือเราเป็นทั้งจิตและกายดังที่เดการ์ตกล่าว่า “ข้าพเจ้าเป็นสัตว์รู้คิด (thinking being) ประสบการณ์ตรงบอกข้าพเจ้าว่า ข้าพเจ้าคือจิต การคิดเป็นธรรมชาติของข้าพเจ้า เนื่องจากข้าพเจ้าเป็นสัตว์รู้คิด ข้าพเจ้าจึงไม่สงสัยในเรื่องความมีอยู่ของข้าพเจ้า แต่ข้าพเจ้าพบว่า ข้าพเจ้ามีกายซึ่งจัดเป็นสิ่งกายภาพด้วย ภาวะที่แตกต่างกันโดยสิ้นเชิงทั้ง 2 ชนิดนี้ สามารถร่วมกันสร้างเอกภาพ ซึ่งเป็นตัวตนของข้าพเจ้าขึ้นได้อย่างไร การกระทำร่วมกันระหว่างจิตกับกายนั้น ดูจะเป็นไปอย่างเงียบๆ ดีแท้ เช่น เมื่อจิตข้าพเจ้าได้รับข่าวไม่ดี หน้าข้าพเจ้าก็พลันซีดเผือดลง เมื่อร่างกายข้าพเจ้าได้รับบาดเจ็บ พลังความคิดของข้าพเจ้าก็สูญเสียไป เหตุการณ์นี้เป็นไปได้อย่างไรกัน ภาวะชนิดหนึ่งสามรถกระทบภาวะอีกชนิดหนึ่งซึ่งแตกต่างกันโดยสิ้นเชิงดังกล่าวนี้ ได้อย่างไร”


เดการ์ตให้ทรรศนะว่า จิตกับกายต่างก็กระทบซึ่งกันและกัน ผ่านตัวการซึ่งท่านเรียกว่า animal spirit ท่านเชื่อต่อไปว่า ต่อมที่มีลักษณะคล้ายผลต้นสนอยู่ในสมอง ทำหน้าที่เป็นที่แลกเปลี่ยนอิทธิพลกันระหว่างเหตุการณ์กับจิตภาพกับเหตุการณ์กายภาพ คำตอบของเดการ์ดดังกล่าวมานี้ยังไม่เป็นที่พอใจของผู้ศึกษามาตั้งแต่สมัยที่ท่านยังมีชีวิตอยู่แล้วแต่ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายนั้น เป็นปัญหาที่ผู้ใครศึกษาเรื่องนี้สนใจค้นคว้าหาคำตอบกันเรื่อยมา นักปรัชญาผู้ดำเนินตามแนวคิดของเดการ์ดพวกหนึ่ง ได้เน้นบทบาทแห่งธรรมชาติของมนุษย์ด้านจิตภาพมากกว่าด้านกายภาพแนวคิดนี้เองนำไปสู่จิตนิยมสมัยใหม่ อีกพวกหนึ่งเน้นความสำคัญของสสาร และพยายามอธิบายชีวิต พิชาน และจิตว่าเป็นส่วนย่อยของเหตุการณ์ทางกายภาพ แนวคิดนี้นำไปสู่สสารนิยมสมัยใหม่


จิตกับกายสัมพันธ์กันอย่างไร


ดังได้กล่าวแล้วว่า ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกาย เป็นที่สนใจของผู้ศึกษาค้นคว้าเรื่องนี้กันมาก เมื่อหลายคนคิดค้น ก็ย่อมได้คำตอบหลายอย่างตามสติปัญญาของผู้คิดค้น ขอประมวลคำตอบปัญหาดังกล่าวจากนักปรัชญาสำคัญๆ ของโลกตะวันตกมาเพื่อศึกษาเปรียบเทียบกันต่อไป


1. คำตอบของนักสสารนิยม นักสสารนิยมได้ตอบปัญหาดังกล่าวไว้อย่างง่ายๆว่า เมื่อพิจารณาถึงธาตุแท้ของคนแล้วจะพบว่า คนก็คือรูปร่างหรือกายนั่นเอง และกายนี้ก็คือสิ่งที่เกิดจากสสาร แต่ไม่ใช่เกิดได้ง่ายๆ อย่างเหรียญกระษาปณ์ หรือก้อนอิฐก้อนหิน หากแต่เกิดขึ้นจากการผสมผสานของสารต่างๆ อย่างสลับซับซ้อนที่สุด แต่เป็นระเบียบและพร้อมจะทำหน้าที่สัมพันธ์กันเป็นอย่างดี ส่วนทุกส่วนของคนเราจึงทำหน้าที่ของตนอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เช่นหน้าที่ของสมอง คือ การคิด การรู้สึกสัมผัส (เย็น-ร้อน-อ่อน-แข็ง) การรู้สึกอารมณ์ (สุข-ทุกข์-เฉยๆ) และความปรารถนาซึ่งเรียกรวมกันว่า เหตุการณ์ทางจิตภาพ (mental events) หน้าที่ของส่วนอื่นๆ ที่เรียกว่าเหตุการณ์ทางกายภาพ (physical events) เช่น การหมุนเวียนของโลหิต กิจกรรมของสมองส่วนมากปรากฏออกมาในลักษณะอย่างคลื่นไฟฟ้าที่สามารถวัดได้ด้วยเครื่องกล เช่น เครื่องบันทึกคลื่นไฟฟ้าสมอง แต่ในปัจจุบันเราไม่สามารถทราบได้ด้วยการสังเกตการทำงานของสมองว่า สิ่งที่แต่ละคนกำลังคิดอยู่นั้นคืออะไร อย่างไรก็ตาม ก็ไม่ได้หมายความว่า การไม่ทราบนั้นเป็นเหตุให้เราทึกทักเอาเหตุการณ์ทางจิตภาพต่างกับเหตุการณ์ทางกายภาพโดยสิ้นเชิง อันที่จริงเราสามารถบอกถึงเหตุการณ์ทางจิตภาพได้โดยสังเกตดูเหตุการณ์ทางกายภาพ เช่น เราสามารถบอกได้ว่า เด็กทารกคนใดกำลังไม่สบาย โดยวิธีการสังเกตพฤติกรรมที่เด็กนั้นแสดงออกทางกายภาพนั่นเอง นักพฤติกรรมนิยมที่ชื่อว่า วัดสัน ได้กล่าวไว้ว่า การคิดนั้นน่าจะเป็นการพูดชนิดหนึ่ง แต่เป็นการพูดที่เราไม่สามารถรับฟังและบันทึกเสียงได้


วิจารณ์ คำตอบของนักสสารนิยมอ้างว่า ความคิดนึก ความรู้สึก และเหตุการณ์ทางจิตภาพอื่นๆ เป็นเพียงการกระทำของสมอง ซึ่งมีลักษณะสลับซับซ้อนเท่านั้น ไม่ใช่การกระทำของจิต เพราะไม่มีจิตนั้น ผู้ตั้งข้อสังเกตได้ 2 ประเด็น ดังนี้


(1) ถ้าถือว่าคนเราแต่ละคนมีแต่กายไม่มีจิต หรือ กล่าวสั้นๆว่า คนคือกาย ดังที่นักสสารนิยมอ้างนั้นจริง คำกล่าวที่ว่า “ข้าพเจ้าสนุกสนานกับคอนเสิร์ต” กับ “กายข้าพเจ้าสนุกกับคอนเสิร์ต” ต้องเป็นคำเดียวกันและใช้แทนกันได้


(2) ถ้าความคิดนึกเป็นการกระทำของสมองจริง ก็น่าจะมีคนคิดสร้างเครื่องจักรกลพิเศษให้ใกล้เคียงกับสมองคนได้ และใช้ตรวจจับได้ว่า คนหนึ่งคนกำลังคิดอะไรอยู่ หรือว่า ผู้ใดโปรดปรานอะไรเป็นพิเศษ แต่ในปัจจุบัน ยังไม่มีเครื่องจักรกลที่มีประสิทธิภาพเช่นนี้ ทั้งนี้เพราะความคิดนึก ความรู้สึก และเหตุการณ์ทางจิตภาพอื่นๆ เป็นเรื่องจิตวิสัยของแต่ละบุคคล คนอื่นสังเกตไม่ได้ แต่ถ้าเป็นเรื่องของสมองจริงๆ ก็คงต้องมีผู้สร้างเครื่องจักรกลที่สามารถตรวจจับความคิดนึก ความรู้สึกต่างๆได้แน่นอน เพราะเรื่องของสมองเป็นวัตถุวิสัยที่บุคคลอื่นสังเกตได้


2. คำตอบของนักทวินิยม นักทวินิยมมีทฤษฎีเกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายว่า เหตุการณ์ทางจิตภาพกับเหตุการณ์ทางกายภาพนั้นต่างชนิดกัน แต่ไม่ต่างระดับกัน จิตกับกายของคนๆหนึ่ง เป็นเรื่องที่แตกต่างกัน 2 เรื่อง และอธิบายแทนกันไม่ได้ ทวินิยมของเดการ์ตนับว่าเป็นทวินินิยมสุดโต่ง เพราะท่านถือว่า เหตุการณ์ทางจิตภาพกับเหตุการณ์ทางกายภาพนั้น ต่างกันโดยสิ้นเชิง และจะอยู่ร่วมกันได้ก็เฉพาะในคนเราเท่านั้น สัตว์ทั้งหลายที่ไม่ใช่คน ก็คือเครื่องจักรกลที่ซับซ้อนนั่นเอง เช่น เสียงร้องของสุนัขที่ได้รับบาดเจ็บ กับเสียงบดกันของเครื่องจักรกลที่ชำรุด เกิดขึ้นทำนองเดียวกัน


วิจารณ์ คำตอบของนักทวินิยมดังกล่าว ดูเผินๆ จะเห็นว่า ไม่ขัดกับสามัญสำนึกของคนทั่วไปที่ยอมรบกันว่า คนเรามีทั้งจิตและกาย และต่างชนิดกันอย่างเห็นได้ชัด แต่ปัญหาที่นักทวินิยมยังตอบไม่จะแจ้ง ก็คือ เมื่อจิตกับกายต่างชนิดกัน การกระทำร่วมกันระหว่างจิตกับกายเกิดขึ้นได้อย่างไร


ไลบ์นิช (Baron Gottfried Wilhelm von Leibniz พ.ศ. 2189-2259) ปรัชญาเมธีชาวเยอรมันก็งงกับปัญหานี้เหมือนกัน ในที่สุดท่านก็ได้ให้คำตอบว่า เหตุการณ์ทางจิตภาพกับเหตุการณ์ทางกายภาพนั้น ไม่ได้กระทำร่วมกันจริงๆ แต่ดูเหมือนแค่กระทำร่วมกันเท่านั้น


3. คำตอบของไรล์ (Gilbert Ryle พ.ศ. 2443)ไรล์เป็นนักปรัชญาชาวอังกฤษ ได้ให้คำตอบปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายไว้ว่า ไรล์ปฏิเสธทวิภาพระหว่างเหตุการณ์ทางจิตภาพกับเหตุการณ์ทางกายภาพ และมีแนวโน้มไปทางทฤษฎีของพวกสสารนิยมที่ว่า เหตุการณ์ทางจิตภาพนั้น ก็คือเหตุการณ์ทางกายภาพชนิดพิเศษ ที่นักทวินิยมผู้ที่นับถือตามปรัมปราประเพณีประสบปัญหาข้อยุ่งยากอยู่นั้น เนื่องมาจากข้อสันนิษฐานที่ว่า เหตุการณ์ทั้ง 2 ต่างชนิดกันโดยสิ้นเชิง กล่าวคือ เขาถือว่าคนเราแต่ละคนประกอบด้วย 2 ส่วน คือ กาย ซึ่งเป็นสสาร มีลักษณะสำคัญ คือ กินเนื้อที่และมองเห็นได้ อีกส่วนคือ จิต ซึ่งเป็นส่วนที่ไม่ใช่สสาร มีลักษณะสำคัญ คือ ไม่กินเนื้อที่และไม่สามารถมองเห็นได้ เพราะเป็นเรื่องของบุคคลแต่ละคนโดยเพราะที่เรียกว่า จิตวิสัย สรุปว่า นักทวินิยม เชื่อว่า คนเรามีอัตตาหรือตัวตน อยู่ 2 อย่าง คือ อัตตากายภาพ กับ อัตตาจิตภาพ ซึ่งอยู่เบื้องหลังหรืออยู่ภายในอัตตากายภาพทุกๆอัตตา


ไรล์วิจารย์ข้อสันนิษฐานดังกล่าวนี้ว่า เป็นความสำคัญผิดประเภท ท่านได้อธิบายเป็นเชิงอุปมาโวหารไว้ว่า “สมมติว่า ข้าพเจ้าได้รับเชิญให้ไปเยี่ยมมหาวิยาลัยแห่งหนึ่ง ได้เห็นอาคารต่างๆ และพบกับศาสตราจารย์บางคน ได้เห็นนักศึกษาจำนวนมากในห้องบรรยายและยังได้ไปดูสำนักงาน ตลอดจนหอพักด้วย แล้วข้าพเจ้าพูดกับเขาว่า ‘ข้าพเจ้าได้เห็น ครูบาอาจารย์ อาคาร และทุกๆสิ่งในมหาวิทยาลัยแล้ว เมื่อไหร่จะแนะนำให้ข้าพเจ้ารู้จักตัวมหาวิทยาลัยเสียที’ ทำไมข้าพเจ้าจึงถามโง่ๆ อย่างนี้ เหตุผลก็คือ เพราะข้าพเจ้าคิดว่า มหาวิทยาลัยเป็นสิ่งหนึ่งซึ่งไม่ใช่นักศึกษา ครูบาอาจารย์ อาคาร เป็นต้น เพราะมหาวิทยาลัยไม่ได้อยู่ในประเภทเดียวกับนักศึกษา ครูบาอาจารย์ อาคาร ทั้งไม่ใช่สิ่งที่เหนือกว่า หรือที่เป็นส่วนเพิ่มเติมของสิ่งดังกล่าว ความคิดของข้าพเจ้า เรียกว่า ความสำคัญผิดประเภท และมีความเชื่อว่า อัตตากายภาพของข้าพเจ้ามีจิตเกี่ยวข้องอยู่ด้วย แต่เป็นภาวะส่วนบุคคล คนอื่นไม่รู้ไม่เห็น ข้าพเจ้าเท่านั้นสามารถรู้ได้นั้น ก็เป็นความสำคัญผิดประเภทฉันนั้น”


ไรล์ถือว่า มนุษย์ภาวะนั้นเป็นเอกภาพหนึ่ง ไม่มีช่องว่างระหว่างพฤติกรรมของกายกับความคิด และความตั้งใจของจิต กล่าวคือ เป็นชิ้นเดียวมาแต่เดิม ดังนั้น พอที่จะสรุปได้ว่า ที่นักสสารนิยมถือว่า ทุกๆสิ่งคือกายภาพ ไม่มีเหตุการณ์ทางจิตภาพอยู่จริงเลยนั้นไม่ถูกต้อง และที่นักทวินิยม ถือว่า มีจิตอยู่เบื้องหลังหรือภายในกาย ก็ไม่ถูกต้องเช่นกัน เพราะเปรียบเหมือนนักทวินิยมพยายามที่จะซ่อมแซมเรือนที่สั่นคลอนของนักสสารนิยม โดยวิธีเพิ่มเติมเงาของเรือนหลังนั้นเข้าไปเพื่อให้เป็นเรือนคู่ ความจริงเรือนหลังหนึ่งย่อมมีด้านในด้านนอกอยู่แล้ว


ถ้าเทียบกับทรรศนะทางตะวันออก โดยเฉพาะทรรศนะทางพุทธปรัชญา ซึ่งถือว่า คนเราประกอบขึ้นด้วยส่วนสำคัญ 2 ส่วน คือ จิตและกาย เช่นเดียวกับทรรศนะของนักทวินิยม แต่พุทธปรัชญาถือว่า จิตและกาย ต่างอิงอาศัยกันและกัน ลำพังกายอย่างเดียว ก็ไม่ต่างจากท่อนไม้ หรือก้อนหิน คือเป็นสิ่งที่ไม่มีความรู้สึกนึกคิด ส่วนจิต ก็ต้องอาศัยกายจึงจะปรากฏได้ หากไม่มีกาย จิตก็ปรากฏให้เรารับรู้ไม่ได้ เช่น การเห็น ต้องอาศัยประสาท การได้ยิน ต้องอาศัยประสาทหู เป็นต้น เมื่อพูดถึงความสำคัญกว่ากัน พุทธปรัชญาถือว่า จิตสำคัญกว่ากาย เพราะกายจะเคลื่อนไหวใดๆ ก็ต้องขึ้นอยู่กับการกำหนดของจิต หรือเรียกสั้นๆว่า จิตสั่ง เช่น นั่ง ลุก นอน กิน พูด ก็ต้องเป็นความต้องการของจิต หรือจิตสั่งก่อน กายจึงมีพฤติกรรม สรุปว่า พฤติกรรมต่างๆของกายนั้นเกิดขึ้นจากจิตสั่งทั้งสิ้น นอกจากนั้น จิตยังมีความสำคัญต่อพฤติกรรมทางศีลธรรมด้วย เช่น การทำดี ทำชั่ว พูดดี พูดไม่ดี ทุกครั้งสืบเนื่องมาจากจิตคิดดี คิดชั่วก่อน พูดง่ายๆคือ ถ้าจิตคิดดี พฤติกรรมทางกายดีด้วย ถ้าจิตคิดชั่ว พฤติกรรมทางกายก็ชั่วด้วย พฤติกรรมทางกายของแต่ละคนจึงแสดงสภาพของจิตได้ด้วย เปรียบว่า พุทธปรัชญายังถือว่าจิตของบุคคลที่กำลังตายนั้นสำคัญมาก เพราะถ้าจิตขณะนั้นเศร้าหมองด้วยผลบาปหรือกรรมชั่ว ตายลง จิตจะไปเกิดในทุคติตรงข้าม ถ้าจิตขณะนั้นผ่องใสด้วยผลบุญหรือกรรมดี ตายลงจิตจะไปเกิดในภพภูมิที่ดี ส่วนกายก็ถูกทอดทิ้งให้เป็นศพเน่าเปื่อยอยู่บนโลกนี้ ความสัมพันธ์ระหว่างจิตกับกายตามทรรศนะทางพุทธปรัชญา จึงเป็นแบบที่ว่า “จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น