วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557

เซน


กำเนิดพุทธศาสนานิกายเซน


ช่วงก่อกำเนิดในจีน

ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 1

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา (ตั๊กม้อโจ้วซือ)

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 1 (อิ๊วโจ้ว) ประวัติเดิมเป็นราชโอรสองค์ที่ 3 ของพระเจ้าแผ่นดินแคว้นคันธาราษฎร์ ประเทศอินเดีย ท่านมีความสามารถนั่งเข้าฌานสมาบัติชั้นสูงตั้งแต่พระชนมายุยังเยาว์วัย

ท่านเคยนั่งเข้าฌานต่อหน้าพระศพของพระบิดาได้นานตลอดถึง 7 วัน เป็นนักปราชญ์ผู้แตกฉานในคัมภีร์ของทุก ๆ ศาสนาและวรรณคดีอักษรศาสตร์โบราณอีกด้วย เป็นเอกแห่งยุค หลังจากพระบิดาสิ้นพระชนม์แล้ว ก็ได้ไปศึกษาธรรมต่ออยู่กับ พระสังฆปริณายกองค์ที่ 27 (คือพระสังฆราชปรัชญาตาระเถระ)


พระสังฆราชปรัชญาตาระเถระ ได้หยิบลูกแก้วให้ท่านโพธิธรรมดูเป็นปริศนาธรรมะในทันทีนั้น ท่านโพธิธรรม ก็เกิดความสว่างไสว บรรลุธรรมที่ตนสงสัยมาทั้งหมด และสามารถตอบปัญหาธรรมได้หมด พอบรรลุธรรมแล้วได้อุปสมบทเป็น พระภิกษุ

พระสังฆราชปรัชญาตาระเถระ เห็นปัญญาบารมีพระโพธิธรรมสูงมาก จึงได้เรียกประชุมสงฆ์ ประกาศว่า พระโพธิธรรมได้บรรลุธรรมสมบูรณ์ดีแล้ว บัดนี้ฉันจะถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้ท่านโพธิธรรมเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 28 (มาในเมืองจีนนิยมนับเป็น 1 คือองค์แรก) เพื่อเป็นพระสังฆราช สืบหลักธรรมและอายุพระพุทธศาสนาต่อไป



บัดนี้ท่านบรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ดีแล้ว บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะที่ถ่ายทอดด้วย “จิต ถึง จิต” นี้เป็นของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ครั้งแรกพระธรรมได้ถ่ายทอดมาสู่ พระอริยเจ้า แต่ละสมัยสืบกันลงมาดังนี้

พระสังฆปริณายกเป็นประธานในคณะสงฆ์

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 1 พระมหากัสสปะเถระ (เป็นประธานทำสังคายนาพระธรรมวินัย ครั้งที่ 1) คือพระสังฆราชในพระพุทธศาสนาองค์ที่ 1 ดั้งเดิมนับมาอย่างนี้

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 พระอานนท์เถระ

” 3 พระสันนวสเถระ

” 4 พระอุปคุปตเถระ

” 5 พระธริตกเถระ

” 6 พระมิฉกเถระ

” 7 พระวสุมิตรเถระ

” 8 พระพุทธนันทิเถระ

” 9 พระพุทธมิตรเถระ

” 10 พระปาสวเถระ

” 11 พระปุนยยสัสเถระ

” 12 พระอัสวโฆส มหาโพธิสัตว์

” 13 พระกปิมลเถระ

” 14 พระนคารชุน มหาโพธิสัตว์

” 15 พระคนเทวเถระ

” 16 พระราหุลตเถระ

” 17 พระสังฆนันทิเถระ

” 18 พระสังฆยสัสเถระ

” 19 พระกุมารตเถระ

” 20 พระขยตเถระ

” 21 พระวสุพันธุเถระ

” 22 พระมนูรเถระ

” 23 พระฮักเลนยสัสเถระ

” 24 พระสินหเถระ

” 25 พระวสิอสิตเถระ

” 26 พระปุนยมิตรเถระ

แล้วถ่ายทอดมาสู่ฉันเป็นพระสังฆราชปรัชญาตาระเถระ เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 27 สืบอายุพระพุทธศาสนา บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารับช่วงไว้

บัดนี้ฉันได้ถ่ายทอดให้ท่านพระโพธิธรรมเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 28 รับช่วงต่อจากฉันไปเพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนา โดยเรียบร้อยแล้ว ต่อจากนี้ไปเป็นสิทธิหน้าที่ของท่านที่จะทำให้แพร่หลายไปทั่วทุกหนแห่งในโลก และคัดเลือกศิษย์ที่บรรลุธรรม หรือมีความรู้ทางธรรมะที่มั่นคงดีแล้วให้รับทอดสืบอายุ บาตร จีวร สังฆาฏิ พระธรรม จงระวังรักษาอย่าให้ขาดตอนลงไปได้ ท่านมีบุญลักษณะบารมีดีพร้อม (โหงวเฮ้งดี) อายุจะยืนมากกว่าพระสังฆปริณายกองค์ใด ๆ หลังจากฉันดับขันธ์ไปแล้ว 67 ปี บ้านเมืองจะเกิดมีภัยสงครามใหญ่ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ท่านควรจะไปทำการเผยแพร่พระธรรม ของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านี้ไว้ ณ ประเทศจีน

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา (อายุ 120 พรรษา) ได้ลงเรือโต้คลื่นฝ่ามรสุม 3 ปี มาถึงเมืองกวางตุ้ง สมัยราชวงศ์เหลียงบู๊ตี่ (ประมาณ พ.ศ. 1067) ฉะนั้นทางจีนเริ่มนับพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาเป็นองค์ที่ 1 คือองค์แรกถึงเมืองจีน

ท่านข้าหลวงชื่อ “เซียวงัง” จึงแจ้งข่าวนี้ไปยังราชสำนักพระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ พอได้ทรงทราบข่าวนี้ก็พอพระทัยมาก จึงได้มีพระกระแสรับสั่งให้อาราธนา ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา เข้าเฝ้าทันที

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ได้ถามพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาว่า “ข้าพเจ้าได้ก่อสร้างวัดและโบสถ์และพระวิหาร อนุญาตให้คนบวช โปรยทาน และถวายภัตตาหารมังสวิรัติ (เจ) แด่พระภิกษุสงฆ์ ในรัชกาลของพระองค์เป็นจำนวนมาก แล้วจะได้ กุศล อย่างไรและมากไหม?”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “การกระทำเช่นนั้นไม่ได้เป็นทางนำมาซึ่ง กุศล แต่อย่างใดเลย เป็นเพียงแค่เทวสมบัติเท่านั้น กุศลที่แท้จริงนั้น คือ ความรู้แจ้งทางจิตใจ”

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ถามอีกว่า “อริยสัจ คือ อะไร”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “ไม่มี”

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ถามอีกว่า “ต่อหน้าข้าพเจ้านี้ คือใคร?”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “ไม่รู้จัก”

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ฟังคำตอบนี้แล้วก็ไม่ค่อยพอพระทัย พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาเห็นว่า พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ ยังไม่เข้าใจในความหมายของท่านจึงทูลลาจากไป

พอพ้นจากเมืองไปแล้ว พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ จึงถามท่านธรรมาจารย์ “ปอจี่เซี้ยงซือ (พระจี่กง)” คือ พระเถระผู้ทรงคุณพระไตรปิฎกว่า “ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาได้พูดแบบนี้จะถูกหรือ”

ท่านพระธรรมาจารย์ “ปอจี่เซี้ยงซือ” (พระจี่กง) ตอบว่า “พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบานั้น คือ พระกวนอิมมหาโพธิสัตว์อวตารมาทีเดียว”

พระเจ้าเหลียงบู๊ตี่ พอได้ยินคำพูดเช่นนี้ จึงคิดจะให้ทหารออกไปอาราธนา พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบากลับมาอีก ฝ่ายท่านพระธรรมาจารย์ “ปอจี่เซี้ยงซือ” ได้ทูลต่อไปอีกว่า “ไม่ต้องไปตามพระมหาครูบาองค์นี้ พระเบบนี้ต่อให้ยกทัพไปแสนคน ท่านก็ไม่ยอมกลับมา”

จากนี้ พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ก็เดินทางมายังวัดแห่งหนึ่ง เห็นภิกษุองค์หนึ่ง กำลังแสดงธรรมเทศนาสอนสานุศิษย์อยู่เป็นจำนวนมาก พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาจึงแวะเข้าไปนั่งฟังอยู่ตรงแถวหลังสุด นิ่งฟังดูคำอรรถาธิบาย ตรงไหนถูก...ท่านก็ยิ้ม แล้วผงกหน้าหน่อย ๆ ตรงไหนอธิบายผิด...ท่านก็ส่ายหน้าหน่อย ๆ

ฝ่ายท่านอาวาสชื่อ “พระซิ่งกวง” ผู้ซึ่งกำลังแสดงธรรมอยู่บนธรรมาสน์ เมื่อมองเห็นภิกษุชาวอินเดีย มีเขี้ยวยาวยื่นออกมานอกปาก 2 ซี่ มาแสดงกริยาเช่นนั้น เป็นการตำหนิว่าเรายังเทศน์ผิดบ้าง...ถูกบ้าง..จึงคิดในใจว่าขอให้เทศน์นี้จบเสียก่อนเถิดจะถอนเขี้ยวพระแขกองค์นี้ออกมาให้สานุศิษย์ดูกันเสียทีเลย...

พอเทศน์จบท่านจึงใช้เณรให้ยกน้ำชาไปถวายพระแขกองค์นั้นที่นั่งอยู่สุดแถวนั้นพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ในเมื่อมีเณรยกน้ำชามาถวาย ท่านก็รับประเคนแล้วยกขึ้นมาดื่ม เสร็จแล้วจึงถอนเขี้ยวของท่านออกมา 2 เขี้ยว ใส่ถ้วยน้ำชาคืนเณรไปแล้วท่านก็ออกจากวัดนั้นไปทันที

ฝ่ายเณรก็นึกแปลกใจ จึงนำเขี้ยวทั้ง 2 นี้กลับไปให้ท่านเจ้าอาวาสดู

พระซิ่งกวง พอได้เห็นเขี้ยวทั้ง 2 ซี่เท่านั้น ก็นึกเอะใจ นี่เพียงแค่เรานึกคิดอยู่ในใจเท่านั้น พระแขกองค์นี้ก็รู้ได้ทันทีเลย... จึงมองออกไป แต่ก็ไม่เห็นพระแขกเสียแล้ว จึงสั่งให้สานุศิษย์ทุกคนช่วยกันออกตามหาว่าไปทางไหน ได้ตามไปจนพบท่านพระแขกยืนอยู่ริมแม่น้ำ “ท่านซิ่งกวง” ก็รีบเดินเข้าไป จวนจะถึงตัวท่านอยู่แล้ว

พระแขกองค์นั้นก็ถอนต้นหญ้าออกมาต้นหนึ่ง แล้วโยนต้นหญ้าทิ้งไปในแม่น้ำที่กำลังไหลเชี่ยว แล้วท่านก็กระโดดลงไปยืนลอยอยู่ได้บนต้นหญ้าเล็ก ๆ นั้น

พระซิ่งกวง กราบลงไปที่ริมแม่น้ำนั้น ร้องขอขมาโทษ ขออาราธนาให้ท่านกลับมาอีก

พระแขก ก็ยิ้ม แล้วกวักมือทำทีว่า ให้กระโดดตามท่านลงมาซิ

พระซิ่งกวง นั้น มีความศรัทธายิ่งสูงขึ้น แต่ว่ายน้ำไม่เป็น จึงไม่กล้ากระโดดตามลงไป เพียงได้แต่ยกมือขึ้นไหว้ ขอร้องให้ท่านกลับมาเท่านั้น

พระแขก ก็เฉย ๆ ได้แต่กวักมืออยู่อย่างเดียว

มียายแก่ คนหนึ่งกำลังมัดต้นปอเดินมา แกเห็นเข้าก็ยุให้กระโดดตามเขาไป

พระซิ่งกวง บอกว่าฉันว่ายน้ำไม่เป็นเลย

ยายแก่ คนนั้นว่าท่านกลัวตายหรือ ทำไมเขาจึงไม่กลัวตาย...ว่าแล้วยายแก่คนนั้นก็บอกว่า เอ้า ฉันจะให้มัดปอนี้

พระซิ่งกวง ก็รับมัดปอจากยายแก่คนนั้นมา แล้วตัดสินใจโยนมัดปอลงไปในน้ำแล้วกระโดดตามไปอีกด้วย จากนี้ก็หายตัวไปกับท่านพระแขก คือ “พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา”

ท่านทั้งสองเดินทางไปยังภูเขาซงซัว พักอยู่ที่ “วัดเซียวลิ่มยี่” พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ท่านนั่งสมาธิเข้าฌานอยู่ถึง 9 ปี

พระซิ่งกวง ที่กระโดดน้ำติดตามไปก็คอยเฝ้าปรนนิบัติท่านพระอาจารย์อยู่ไม่ยอมไปไหนเลย

มาคืนหนึ่ง หิมะตกหนัก ท่านยืนคอยเฝ้าท่านพระอาจารย์อยู่จนหิมะตกมาก หนาท่วมสูงแค่หัวเข่า

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงถามว่า “ท่านมายืนตากหิมะอยู่ที่นี่...เพื่อประสงค์อะไร

พระซิ่งกวง น้ำตาไหลซึมออกมาแล้วพูดว่า “จะมาขอเรียนธรรมะจากท่านพระอาจารย์ครับ นิ่งสักครู่ พอเห็นท่านพระอาจารย์ไม่ตอบ ก็ถามตอบไปอีกว่า หัวใจแห่งธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น เป็นสิ่งทึ่จะพูดหรือแสดงออกมาให้เห็นและฟังได้ไหมครับ

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “หัวใจแห่งธรรมะของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทั้งหลายนั้น ไม่ใช่ได้มาจากผู้อื่น แล้วธรรมะนั้นจะเรียน หรือจะสอนให้แก่กันไม่ได้ง่าย ๆ นัก ท่านมีความศรัทธาอยู่แค่ไหน

พระซิ่งกวง พอได้ยินท่านพระอาจารย์พูดเช่นนั้นแล้ว จึงหันหลังกลับไปหยิบมีดขึ้นมาฟันลงไปบนแขนซ้ายตนจนขาดออกมา แล้วก็นำเอาแขนนี้ไปถวายบูชาท่านพระอาจารย์ เพื่อให้ท่านเห็นว่ามีความศรัทธาที่จะศึกษาธรรมสูงมากถึงเพียงนี้

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา เห็นท่านซิ่งกวง “ปลงสังขารตก” มีความศรัทธาในธรรมะมากกว่าชีวิต แล้วจึงพูดว่า ท่านอยากจะเรียนธรรมอะไร

พระซิ่งกวง บอกว่า “จิตของผมมันไม่สงบ” ขอให้ท่านพระอาจารย์ช่วยทำจิตให้สงบที

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “ท่านจงเอาจิตออกมาซิ ฉันจะทำให้จิตมันสงบ”

พระซิ่งกวงนิ่ง คิดอยู่สักครู่หนึ่ง แล้วก็ตอบท่านพระอาจารย์ว่า “ผมหาจิตไม่พบครับ”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ตอบว่า “ฉันได้ทำจิตของท่านสงบแล้ว”

พระซิ่งกวง ก็เกิดความสว่างไสว บรรลุธรรม ทันที และได้ศึกษาธรรมต่าง ๆ อีกมากมายด้วย

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา (อายุ 140 พรรษา) จึงได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้แก่ “พระซิ่งกวง” แล้วเปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่จาก “ซิ่งกวง” มาเป็น “พระหุยค้อมหาครูบา”

ท่านพูดอีกว่า จากนี้เป็นต้น ท่านหุยค้อ เป็นพระสังฆปริณายก องค์ที่ 2 ของนิกายเซ็น (ฌาน) ในเมืองจีน สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป แล้วยังไม่กล่าวโศลกให้ไว้อีกว่า :

“ฉันเดินมาถึงแผ่นดินนี้

ถ่ายทอดธรรมช่วยผู้หลงงมงายอารมณ์

หนึ่งดอกไม้บานครบ 5 กลีบแล้ว

ผลที่สุดธรรมชาติจะปรากฏขึ้นมาเอง”

จากนี้ ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ได้เดินทางต่อไปกับศิษย์พักอยู่ ณ วัดไซเซี่ยยี่ เมืองอู๋มึ้ง ใกล้วันที่จะมรณภาพ ท่านได้เรียกประชุมคณะศิษย์ต่าง ๆ ประมาณ 1,000 องค์

ท่านได้บอกกับ พระหุยค้อมหาครูบา ว่า ปัญญาบารมีของท่านนี้ จะทำได้อย่างดีที่สุดก็คือเพียงแค่ทำหน้าที่ของการปลูกกุศลจิตให้แก่ชาวจีนไว้เป็นอนุสัยสืบไปก่อน คือการหว่านเชื้อเมล็ดพืชพันธุ์แห่งพุทธะ หรือบุกเบิกทางแห่งอริยภูมิทิ้งไว้ก่อนเท่านั้น แล้วผลมันจะไปเกิดขึ้นมาเอง หลังจากฉันได้กับขันธ์ไปแล้ว 200 ปีหลัง จะได้มี “บัณฑิตใต้ต้นไม้” (ท่านเว่ยหล่าง) มาเกิด แล้วจะมาทำให้พระธรรมคำสอนที่ฉันถ่ายทอดด้วย “จิต ถึง จิต” นี้แพร่หลายไปทุกมุมเมือง ผู้ได้บรรลุธรรมจักษุจะมีมากมาย

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ได้เรียกประชุมศิษย์ที่สำคัญ ๆ อีกครั้งหนึ่ง เพื่อที่จะทดสอบดูภูมิธรรมของศิษย์ต่าง ๆ ว่าใครจะรู้โลกุตรธรรม ที่ท่านสอนไว้ที่นี่มีมากน้อยกว่ากันแค่ไหน จึงได้ตั้งปัญหาถามเป็นเชิงสอบไล่มีดังนี้ คือ “เรื่องเซ็นเนื้อ เซ็นกระดูก”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ถามว่า “ธรรมะที่แท้จริงนั้น คืออะไร”

ศิษย์ชั้นอาวุโสองค์แรก ชื่อ “เต๋าหู่ภิกขุ” ลุกขึ้นยืนแล้วตอบว่า “ตรงที่ไม่ยึดติดตัวหนังสือ (พระคัมภีร์) และก็ไม่ทิ้งไปจากตัวหนังสือ (พระคัมภีร์) และตรงที่อยู่เหนือการยอมรับและเหนือการปฏิเสธ นั่นแหละ คือธรรมะที่แท้จริงครับ”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงพูดว่า “เอ้า ถูก แกได้หนังของฉันไป”

ศิษย์องค์ที่สองเป็นภิกษุณี ชื่อ “จ้งที้ภิกขุ” ลุกขึ้นยืนแล้วตอบว่า เหมือนกันกับที่ “พระอานนท์เถระ” ได้เคยเห็นพุทธภูมิของ “พระอักโษภยาพุทธเจ้า” ได้เห็นเพียงแวบเดียว แล้วก็ไม่เคยเห็นอีกเลย นั่นแหละ คือธรรมะที่แท้จริงค่ะ

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงพูดว่า “เอ้า ถูก แกได้เนื้อของฉันไป”

ศิษย์องค์ที่สาม ชื่อ “เต๋ายกภิกขุ” ลุกยืนขึ้นแล้วตอบว่า “มหาภูตรูปทั้ง 4 นั้นเดิมว่าง ขันธ์ 5 ก็ไม่มีตัวตน ข้าพเจ้าเห็นว่า ไม่มีธรรมะอะไรเลย แม้แต่หนึ่งสิ่ง ที่จะต้องบรรลุถึงได้ นั่นแหละ คือธรรมะที่แท้จริงครับ”

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงพูดว่า “เอ้า ถูก แกได้กระดูกของฉันไป”

ศิษย์องค์ที่สี่เป็นศิษย์ก้นกุฏิ ชื่อ “พระหุยค้อมหาครูบา” ลุกยืนขึ้น “หุบปากนิ่ง แล้วยังเม้มลึกเข้าไปอีกหน่อย ซึ่งเป็นการแสดงว่า นิ่งเงียบ อย่างที่สุดหมดแล้ว เป็นการแสดงบอกแก่ท่านพระอาจารย์ว่า นี่แหละ คือธรรมะที่แท้จริงละครับ

พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา จึงพูดว่า “เอ้า ถูก แกได้ไขในกระดูกของฉันไป”

หลังจากนี้ พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ได้กล่าวเป็นครั้งสุดท้ายอีกว่า ฉันอายุครบ 150 พรรษาแล้ว ฉันได้เสร็จกิจหน้าที่ของ “พระโพธิสัตว์” ที่มุ่งหมายแห่งการมาถึงแผ่นดินนี้ ฉันได้บุกเบิกทางแห่งการไปสู่อริยภูมิไว้ให้แล้ว จากนี้เป็นต้นไป เป็นหน้าที่ของพวกเธอทั้งหลาย ที่จะปฏิบัติธรรมให้ได้บรรลุถึงธรรมะที่ฉันสอนไว้นี้ แล้วจงช่วยกันหาอุบายวิธีประกาศธรรมนี้ ถ่ายทอดไปยังอนุชนแต่ละรุ่น ๆ รับช่วงสืบไปตามเมืองต่าง ๆ พร้อมด้วยความไม่ประมาท แล้วผลบุญกุศลบารมีนี้จะเกิดขึ้นในอนาคตกาล สืบไปอีกหลายร้อย หลายพันชั่วอายุคน สูงสุดจะส่งผลถึง “พุทธภูมิ” อย่างต่ำที่สุดที่ทำให้มนุษย์จะได้มหาสติพบแสงสว่างแห่งปัญญาญาณบ้าง แล้วจะส่งผลไปถึงการได้ช่วยชีวิตสัตว์เดรัจฉานให้รอดตายไปอีกนับไม่ทั่วถ้วนชีวิตด้วย เพราะอำนาจแห่งพระเมตตาพระกรุณาธรรมแนวทางนี้เอง เป็นเหตุส่งผลได้คุ้มครองชีวิตสัตว์โลกที่น่ารัก เป็นเพื่อนเกิดแก่เจ็บตาย ได้อย่างมากมายมหาศาลทีเดียวแล

แล้วทางที่มาหรือบ่อเกิดของ “พระอริยเจ้า พระอรหันต์ พระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้า” ทุก ๆ พระองค์ในอนาคตกาล ก็จะออกมาจากประตูธรรมาณาจักรใจนี้ ฉะนั้นถ้าพวกเธอทั้งหลายได้สละกายใจมุ่งประกาศสัจธรรมนี้แล้ว ก็เท่ากันกับว่าพวกเธอทั้งหลายได้ทำหน้าที่อันสูงสุด ของ “พระโพธิสัตว์” นั่นก็คือการได้ช่วยแบกคอนหาบหามเทิดทูนบูชา “พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณ” ไว้ มิให้ทางนี้ดับสูญไปจากโลกนี้เร็วจนเกินไปนักนั่นเอง จะเป็นมหาบุญกุศลบารมีอย่างมหาศาลแก่พวกเธอ และสรรพสัตว์ทุกชาติภพไม่มีวันจบสิ้นทีเดียว สาธุ

ฉันขอเตือนพวกเธอเป็นครั้งสุดท้ายอีกหน่อยว่า จงอย่าประมาทเลยนา วันเวลาหมดไปไม่คอยใครเลยนา อายุความชราภาพของสังขารก็ไม่คอยใครเลยนา ธรรมะก็ไม่คอยใครเลยนา “จิตตนคิด กายตนทำ ปากตนพูด” ใครทำใครก็ได้เองนา สิ่งเหล่านี้จะช่วยกันทำ หรือทำแทนกันจริง ๆ นั้นไม่ได้เลยนา บุญกุศลหรือมรรคผลนิพพานนั้นต้องปฏิบัติเอง ทำกับมือตนเองให้ทันตาเห็น จึงจะเป็นของเธอเองไปได้นา

จากนั้น ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ก็พูดว่า ฉันขออำลาพวกเธอทั้งหลาย ฉันจะจากโลกนี้ไปแล้ว ท่านก็นิ่งนั่งอยู่ในสมาธิดับขันธ์ในฌานสมาบัตินิพพานไป ต่อหน้าคณะศิษย์ทั้งหลาย ข่าวนี้ได้แพร่ไปถึงเมืองหลวง “พระเจ้าเหลียงบุ๊ตี่” ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้ จารึกที่พระเจดีย์บรรจุพระศพของท่านนามว่า “อี่กักไต้ซือ” และพระเจดีย์หลวงอันนั้น ก็ยังได้พระราชทานนามให้ชื่อว่า “เจดีย์โคงกวง” อยู่ ณ บนภูเขา “ฮิ่งยื้อซัว”




ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 2

พระเว่ยโหมหาครูบา (พระหุยค้อไต้ซือ)

พระสังฆปริณายก องค์ที่ 2 (ยี่โจ้ว) เกิด ณ เมืองบู๊ล้อ แซ่กี ขณะเกิดมีรัศมีแสงสว่างขึ้นมาหมดทั้งบ้าน บิดาจึงตั้งชื่อให้ว่า “ซิ่งกวง” สมัยเป็นเด็กชอบนั่งแต่สมาธิ สามารถอ่านกาพย์กลอนโคลงฉันท์วรรณคดีโบราณ บรรยายพระไตรปิฎกได้อย่างแตกฉานตั้งแต่ยังเป็นสามเณรอยู่

ภายหลังได้ติดตาม พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา คือ ภิกษุอินเดียไปอยู่ที่ “วัดเซียวลิ้มยี่”

วีรกรรมอันยิ่งใหญ่ของท่านก็ คือ “ตัดแขนซ้ายบูชาพระธรรม ปลงสังขารตก รักธรรมะมากกว่าชีวิต”

พอบรรลุธรรมดีแล้ว พระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบาได้เปลี่ยนชื่อให้เสียใหม่ จาก ซิ่งกวง มาเป็น เว่ยโห (แต้จิ๋วอ่านเป็นหุยค้อไต้ซือ) และได้รับการถ่ายทอด บาตร จีวิต สังฆาฏิธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า จากพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา ให้เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 (ในเมืองจีน) สืบอายุพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายสืบต่อไป

พระเจ้าเหลี่ยงบู๊ตี่ ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้ (พระหุยค้อไต้ซือ) มีนามว่า “ไต้โจ้วเซี้ยงซือ” ท่านนั่งสมาธิดับขันธ์นิพพานในฌานสมาบัติเมื่ออายุ 107 พรรษา ณ เมืองอ๊วงเซี้ย (สมัยเต็กจง)

ก่อนนิพพาน ได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดให้แก่พระซังซานมหาครูบา (แต้จิ๋วอ่านเป็น เจ็งฉั่งไต้ซือ)




ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 3

พระซังซานมหาครูบา (เจ็งฉั่งไต้ซือ)

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 (ซาโจ้ว) เดิมเป็นอุบาสก มีโรคอัมพาตเบียดเบียน (ความดันโลหิตสูง) ทนทุข์ทรมานไม่ไหว จึงไปหาท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 กราบเรียนท่านว่า “ผมมีบาปมาก ขอให้พระคุณเจ้า ช่วยกรุณาชำระบาปให้ผมทีครับ

ท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 (พระหุยค้อไต้ซือ) ตอบว่า “เจ้าจงเอาบาปออกมาซิ ฉันจะช่วยชำระให้”

ท่านซังซาน (เจ็งฉั่ง) ก็นิ่ง นึกอยู่สักครู่ แล้วจึงตอบว่า “ผมหาบาปไม่พบครับ”

ท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 (พระหุยค้อไต้ซือ) ตอบว่า “ฉันได้ชำระบาปให้เธอแล้ว”

ในทันทีนั้น ท่านซังซาน (เจ็งฉั่ง) ก็เกิดความสว่างไสวเข้าใจ “โลกุตรธรรม (สุญตา) ที่ตนยังสงสัยมานานแล้วทั้งหมด” จึงถวายตัวเป็นศิษย์ ศึกษาธรรมให้แตกฉานยิ่งขึ้นไปอยู่อีก 2 ปี ได้ถือมังสวิรัติจริง ๆ แล้วโรคภัยก็ค่อยหายไป

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 2 (พระหุยค้อไต้ซือ) ได้อุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ (เจ็งฉั่ง) แล้วพูดว่า เธอได้บรรลุธรรมโดยสมบูรณ์ดีแล้ว ฉันจะถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้ท่านเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 (ในเมืองจีน) เพื่อสืบอายุพระพุทธศาสนาให้แพร่หลายต่อไป บัดนี้ขอให้ท่านเดินทางไปหาที่สงัดวิเวกอยู่บนภูเขาอ๊วงกงซัว แขวงเมืองโซวจิว จงหลบซ่อนตัวอยู่ตามป่าแถว ๆ นั้นไว้ก่อน อย่าเพิ่งด่วนออกไปทำการเผยแพร่พระธรรม เพราะว่าอนาคตบ้านเมืองจะมีภัยสงคราม

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 (ท่านเจ็งฉั่งโต้ซือ) พออายุ 85 พรรษา ท่านได้ประชุมสานุศิษย์ที่ใต้ต้นโพธิ์ แล้วมือของท่านจับกิ่งโพธิ์ยืนดับขันธ์ปรินิพพานในฌานสมาบัติ ณ ที่นั้นต่อหน้าสานุศิษย์เป็นจำนวนมาก ข่าวนี้ได้ทราบถึง “พระเจ้า

เฮี่ยงจง” ท่านจึงพระราชทานสมณศักดิ์ให้นามว่า “ก่ำตี่เซี้ยงซือ” พระศพของท่านได้บรรจุไว้บนเจดีย์หลวง ภูเขาอ๊วงกงซัว แขวงเมืองโซวจิว

ก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน ได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดให้แก่ศิษย์ ชื่อ พระตูชุนมหา ครูบา (เต้าสิ่นไต้ซือ)




ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 4

พระตูนชุนมหาครูบา (เต้าสิ่นไต้ซือ)

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 (สี่โจ้ว) เกิด ณ ตำบลกวงจี่ เมืองคีจิว แซ่ซีเบ้ บวชเป็นสามเณร เมื่ออายุ 14 ปี ได้เดินทางไปหาท่านพระสังฆปริณายก องค์ที่ 3 (พระเจ็งฉั่งไต้ซือ) กราบเรียนท่านว่า “ขอให้ใต้เท้าช่วยกรุณาสอนธรรมะ เพื่อความหลุดพ้นให้กระผมด้วย ครับ”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 (พระเจ็งฉั่งไต้ซือ) พูดว่า “ใครเขาผูกเจ้าไว้ล่ะ”

สามเณรเต่าสิ่น นั่งคิดดูสักครู่ แล้วตอบว่า “ไม่มีใครเขาผูกกระผมไว้ ครับ”

ท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 (พระเจ็งฉั่งไต้ซือ) พูดว่า “ถ้าไม่มีใครเขาผูกเจ้าไว้แล้ว ทำไมเจ้าจึงจะต้องมาหาคนแก้ด้วยเล่า”

สามเณรเต้าสิ่น ก็เกิดความสว่างไสว และได้บรรลุธรรมในข้อที่ตนสงสัยขึ้นมาทันที จึงเกิดความศรัทธาท่านพระสังฆปริณายก เลยถวายตัวเป็นศิษย์ศึกษาธรรมะอยู่ 9 พรรษา ท่านพระอาจารย์ได้ทดลองภูมิปัญญาอยู่เสมอ ๆ แล้วต่อมาได้บรรลุธรรมก็จัดการอุปสมบทให้เป็นพระภิกษุ “เต้าสิ่นไต้ซือ”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 3 (พระเจ็งฉั่งไต้ซือ) ภายหลังเห็นว่า “พระเต้าสิ่นไต้ซือ” มีการศึกษาและปัญญาบารมีสร้างสมมาพอแล้ว ท่านจึงได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าให้เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อจากท่านไป

จากนั้น “พระเต้าสิ่นไต้ซือ” ได้ไปประกาศธรรมะ พักอาศัยอยู่ที่ภูเขาพัวเถ้าซัว กลางคืนท่านไม่เคยนอนลงจนหลังแตะถึงที่พื้นเสื่อเลย พอตกค่ำท่านนั่งสมาธิเข้าฌานอยู่ตลอดจนสว่างทุก ๆ คืน เป็นระยะเวลาตลอดถึง 58 พรรษา

พระเจ้าถังไทจง ได้ยินเกียรติคุณของท่านแล้ว ได้ทรงมีพระราชสาสน์อาราธนาให้จาริกมายังเมืองหลวงถึง 3 ครั้งท่านก็ยังสงบอยู่

พออายุครบ 72 พรรษา (พระเต้าสิ่นไต้ซือ) ได้ประชุมสานุศิษย์พร้อมกันแล้ว ท่านได้นั่งสมาธิดับขันธ์นิพพานในฌานสมาบัติไปอย่างสงบ พระศพได้บรรจุในเจดีย์หลวงชื่อ “ชื่อฮุ้น”

อีกหลายปีผ่านไป ประตูเจดีย์ได้เปิดออกมาเอง ปรากฏว่ารูปซากพระศพของท่านยังมีราศีสดใสยิ้มเหมือนอย่างมีชีวิต ร่างกายมิได้บุบสลายเน่าเปื่อย นั่งอยู่ในท่าสมาธิเหมือนตอนนิพพาน พระเจ้าถังไท้จง เกิดศรัทธาสูงมาก เสด็จมานมัสการได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้อีกนามว่า “ไต้โจ้วเซี้ยงซือ”

ก่อนดับขันปรินิพพาน ได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมด ให้แก่ศิษย์ชื่อ พระฮวางยานมหาครูบา (แต้จิ๋ว อ่าน ฮงยิ้มไต้ซือ)


ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 5

พระฮวางยานมหาครูบา (ฮ่งยิ้มไต้ซือ)

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (โหวงเจ้ว) เกิด ณ ตำบลอึ้งบ๊วย เมืองคีจิว มณฑลโอ้วปัก เดิมมีตาแป๊ะแก่ถือศีลกินเจชอบปลูกต้นสนไม้ดัดต่าง ๆ ไว้ดูเพ่งพิจารณาให้เกิดอารมณ์สมถะ (ผลคือสมาธิ) แล้วก็ต่อยอดยกขึ้นไปสู่วิปัสสนาปัญญาคนหนึ่งเกิดเบื่อหน่ายสังขารโลกขึ้นมา จึงได้เดินทางไปนมัสการท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 (เต้าสิ่นไต้ซือ) กราบเรียนท่านว่ากระผมชื่อ “ฮ่งยิ้ม” จะมาขอศึกษาธรรมะกับพระคุณเจ้าครับ

ท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 (พระเต้าสิ่นไต้ซือ) พอมองเห็นตาแป๊ะแก่คนนี้ใบหน้ามีราศีเขียว อมดำซ้ายมาก ก็รู้ได้ด้วยญานจักษุทันที ว่าความชราภาพของสังขารใกล้วาระจะแตกดับอยู่แล้ว คงจะไม่เกินวันนี้แน่ ท่านจึงพูดเป็นเชิงปริศนาว่า

“พ่อเฒ่า อายุสังขารก็ชรามากแล้ว ถึงจะเรียนรู้ไปก็สอนใครไม่ทัน เอาไว้ชาติหน้าเถิด ฉันจะคอยสอนให้”

จากนั้น ตาแป๊ะแก่ (ฮงยิ้ม) ก็กราบลาท่านพระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 แล้วได้เดินทางไปยังริมแม่น้ำแห่งหนึ่ง เห็นหญิงสาวพรหมจารีคนหนึ่ง กำลังซักผ้าอยู่ จึงร้องถามไปว่า

“แม่หนู ลุงขออาศัยบ้านพักสักหน่อยได้ไหม”

หญิงสาวตอบว่า “ให้ไปถามบิดาของฉันก่อน” ตาแป๊ะแก่ก็พูดว่า “ไม่ใช่ ขอพักบ้านของหนูนั่นเอง”

หญิงสาวผู้นี้ฟังคำพูดของตาแป๊ะแก่ (ฮ่งยิ้ม) แล้วก็ไม่รู้ความหมาย อึดอัดใจ จึงตอบไปว่า “ได้”

จากนี้ ตาแป๊ะแก่ (ฮ่งยิ้ม) ก็ได้เดินทางไปอีกไม่นานก็ถึงแก่วาระสุดท้ายของชีวิต

ส่วนหญิงสาวพรหมจารี คนที่กล่าวมานั้น อยู่ ๆ ก็เกิดตั้งครรภ์ขึ้นมา โดยมิได้ร่วมประเวณีกับชายใด ๆ เลย ฝ่ายบิดามารดาก็โกรธ เป็นเดือดเป็นแค้นยิ่งนัก จึงขับไล่ให้ออกจากบ้านไป หญิงสาวจึงซัดเซพเนจรเที่ยวขอทานเขากินไปวันหนึ่ง ๆ พอครบกำหนดก็คลอดบุตรออกมาเป็นชาย ด้วยความโกรธ เพราะไอ้ลูกเจ้ากรรมคนนี้เอง เราจึงต้องตกระกำลำบากเรื่อยมา จึงอุ้มลูกเอาไปโยนทิ้งลงในคลอง พอรุ่งเช้า ด้วยสัญชาตญาณของความเป็นแม่ ก็นึกคิดถึงลูกขึ้นมา จึงเดินไปดูก็รู้สึกแปลกใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะเห็นเด็กน้อยยังอยู่ที่ริมคลองและไม่เป็นอันตรายใด ๆ ทั้งสิ้น จึงเดินลงไปอุ้มขึ้นมาดู เห็นว่ายังไม่ตายก็เอากลับมาเลี้ยงไว้ตามมีตามเกิด ขอทานเขากินเรื่อยไปจนเด็กโตอายุ 7 ขวบ

อยู่มาวันหนึ่ง พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 (พระเต้าสิ่นไต้ซือ) ได้เดินทางฝ่านมาเห็นเด็กคนนี้ มีหน้าตากิริท่าทางบ่งถึงความเป็นอัจฉริยะพิเศษกว่าเด็กทั้งหลายมาก ซึ่งขาดอีกเพียง 7 อย่าง ก็มีลักษณะ (โหงวเฮ้ง) เหมือนกับพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทีเดียว

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 จึงถามเด็กว่า “หนูแซ่อะไร”

เด็กขอทานตอบว่า “มีแซ่ แต่ไม่ใช่แซ่ธรรมดา”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 (พระเต้าสิ่นไต้ซือ) จึงได้ถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้นแซ่อะไร”

เด็กน้อยตอบว่า “แซ่ พุทธะ (ฮุกแส่)”

พระสังฆปริณายก ได้พูดว่า “หนูไม่มีแซ่ของหนูเองดอกหรือ”

หนูน้อยตอบว่า “เพราะแซ่ ว่าง (พุทธะ) จีงไม่มี”

พระสังฆปริณายก ก็รู้ด้วยญาณทันทีว่า นี่คือ ตาแป๊ะแก่ชื่อ “ฮ่งยิ้ม” ที่เคยมาขอเรียนธรรมะเมื่อ 7 ปีก่อนโน้น บัดนี้ (ข้ามชาติ) มาเกิดเป็นเด็กชายคนนี้แล้ว

ท่านจึงออกปากขอแก่มารดา ฝ่ายมารดาเห็นว่า ท่านพระสังฆปริณายกมาขอลูกไปเป็นศิษย์ ลูกคงจะได้เล่าเรียนหนังสือจึงได้ถวายให้ท่านไปเลย (หมดหนี้ความเป็นแม่ลูกกันแค่นี้)

เมื่อเด็กน้อยซึ่งมีอายุได้เพียง 7 ขวบ พอมาถึงวัดแล้วก็บอกกับ พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 ว่า “หลวงพ่อครับ ผมอยากจะขอเรียนธรรมะครับ”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 ก็พูดเป็นเชิงแบบจะทดลองสติปัญญาของเด็กไปว่า “เจ้าอายุยังน้อยอยู่เป็นเด็กยังเล็กมากเกินไป”

เด็กน้อย ก็ตอบทันทีว่า ทำไมเมื่อชาติก่อน ท่านหลวงพ่อ ก็พูดว่า “อายุสังขารของผมแก่ชรามากเกินไปแล้วล่ะ ทีมาตอนนี้ก็ว่าผมเป็นเด็กเกินไปอีก แล้วเมื่อไรท่านหลวงพ่อ จึงจะสอนให้ผมสักทีกันล่ะครับ หลวงพ่อ

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 นิ่ง ไม่รู้ว่าจะตอบอย่างไรดี คิดว่าเจ้าเด็กน้อยผู้นี้คงจะระลึกชาติได้ด้วย จึงได้ทดลองสอบถามชื่อ และญาติวงศ์ทั้งบิดามารดาเรื่องต่าง ๆ ในชาติก่อนเด็กน้อยก็ตอบได้ถูกหมด

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 4 ก็ได้เริ่มสอนหนังสือ เด็กน้อยอ่านทีเดียวจำได้หมดตราบไปจนกระทั่งพระคัมภีร์ต่าง ๆ ได้เรียนเพียงจบเดียวก็สามารถท่องจำได้หมด

เด็กน้อยบอกว่าชาติก่อนเคยสวดสาธยายพระคัมภีร์เหล่านี้มากมายแล้ว

พระสังฆปริณายกจึงได้ทำการบวชให้เป็นสามเณร แล้วขึ้นธรรมมาสน์เทศน์ให้ประชาชนฟังได้อย่างไพเราะเพราะพริ้ง ชื่อเสียงโด่งดังไปทั่วเมือง พอบรรลุธรรมแล้ว และอายุครบบวช ก็ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ ภายหลังได้รับการถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ให้เป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (ในเมืองจีน) สืบอายุพระพุทธศาสนาต่อไป

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (ฮ่งยิ้ม) มีสานุศิษย์เป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา มากว่าองค์ใด ๆ มาวันหนึ่งท่านมีมรณญาณ จากนี้ได้ประชุมสานุศิษย์นั่งสมาธิดั้บขันธ์นิพพานในฌานสมาบัติไป อายุได้ 88 พรรษา พระศพท่านได้บรรจุไว้ในเจดีย์หลวง ชื่อ “ฮวบโหว” เมืองคีจิว ตำบลอึ้งบ๊วย ภายหลังพระเจ้าต่อจง ได้พระราชทานสมณศักดิ์ให้นามว่า “ไต้มั้วเซี้ยงซือ”

ก่อนดับขันธ์ปรินิพพาน 3 ปี ได้ถ่ายทอด บาตร จีวร สังฆาฏิ ธรรมะทั้งหมดให้แก่ศิษย์ชื่อ “พระเว่ยหล่างมหาครูบา” (แต้จิ๋ว อ่านว่า “หุยเล้งไต้ซือ)




ชีวประวัติพระสังฆปริณายกองค์ที่ 6

พระเว่ยหล่างมหาครูบา (หุยเล้งไต้ซือ)

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 (ลั๊กโจ้วไต้ซือ) เกิด ณ ตำบลซุนเจา มณฑลกวางตุ้ง สมัยแผ่นดินถัง บู๊เต๊ก ปีที่ 3 เดือนที่ 9 บิดาชื่อเฮ่งเทา แซ่โล้ว มารดาชื่อ นางลี้ษี เป็นข้าราชการในเมืองหลวง ภายหลังถูกถอดออกจากตำแหน่ง ถูกเนรเทศไปอยู่ที่ซุนเจา บ้านเดิม ด้วยความยากจนตลอดมา

คืนหนึ่ง “นางลี้ษี” ได้เกิดนิมิตฝันเห็นว่าดอกไม้หน้าบ้านบานสะพรั่งขาวหมดทุกดอก มีกลิ่นหอมฟุ้งขจรไปทั่วเมือง และยังมีหงส์ขาวบินร่อนอยู่บนท้องฟ้าอีก 2 ตัว หลังจากนี้ นางได้ตั้งครรภ์จิตใจก็เกิดศรัทธาในพุทธศาสนา อยากถือศีลกินเจ อุ้มท้องอยู่ถึง 6 ปีจึงคลอดลูกออกมาเป็นผู้ชาย ขณะที่คลอดออกมานั้นได้มีสิ่งมหัศจรรย์อย่างหนึ่ง คือ มีแสงสว่างพวยพุ่งเป็นรังษีออกจากบ้านไปลอยอยู่ท่ามกลางนภากาศเป็นเวลานานจนถึงรุ่งเช้า มีพระภิกษุแปลกหน้า 2 องค์ เข้ามาในบ้านบอกับบิดาของ ท่านเว่ยหล่าง ว่าฉันรู้ว่าภรรยาของท่านคลอดบุตรเป็นผู้ชายมีบุญมาก ฉันจะขอตั้งชื่อให้ว่า “เว่ยหล่าง” (ภาษาจีน แต้จิ๋ว อ่านว่า “หุยเล้ง”)

บิดาท่านจึงถามว่า ทำไมจึงชื่อ “หุยเล้ง”

พระภิกษุตอบว่า “หุย” ตัวนี้ คือ หุย มีความอารีอารอบ เมตตากรุณา ในทางให้ธรรมเป็นทานไปยังสรรพสัตว์ แล้ว “เล้ง” ตัวนี้ คือ เล้ง มีความสามารถที่จะทำหน้าที่ของพระพุทธเจ้า พอพูดจบคำพระภิกษุ 2 องค์นั้นก็ออกจากบ้านหายไปทันที

เว่ยหล่าง อายุ 3 ขวบ บิดาก็ได้ถึงแก่กรรม มารดาเป็นหม้ายเลี้ยงบุตรจนโตด้วยความยากจน ไม่สามารถจะส่งบุตรชายเรียนหนังสือได้ “เว่ยหล่าง” ต้องไปตัดฟืนมาขายเลี้ยงมารดาด้วยความกตัญญู จนอายุย่าง 24 ปีได้พบอุบาสกท่านหนึ่งกำลังบริกรรม “วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” อยู่ พอได้ฟังข้อความในสูตรเท่านั้น ใจก็ลุกโพลง สว่างไสวในพุทธธรรมขึ้นมาทันที จึงได้พูดว่าอยากจะไปศึกษาธรรมเหลือเกิน แต่ไม่มีผู้อุปถัมภ์เลี้ยงมารดา ด้วยผลของบุญกุศลที่เคยได้สร้างสมแจกธรรมทานมาแต่ปางก่อน จึงได้มีผู้ชายอารีคนหนึ่งเกิดความศรัทธามากได้ให้เงิน 10 ตำลึงเพื่อมอบให้มารดาไว้ใช้สอยในระหว่างที่ “เว่ยหล่าง” ไม่อยู่

แล้วเว่ยหล่างได้ออกเดินทางไปร่วม30วันจึงถึงวองมุย (อึ้งบ๊วย) ได้นมัสการพระสังฆปริณายกองค์ที่ 5

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) ได้ถามว่า “มาจากไหน และต้องการประสงค์อะไร”

เว่ยหล่าง ตอบว่า กระผมเป็นคนพื้นเมืองซุนเจา แห่งมณฑลกวางตุ้งเดินทางมาแสนไกล เพื่อมาสักการะเคารพแด่คุณพ่อ และกระผมไม่ต้องการอะไร “นอกจากธรรมชาติ แห่งการเป็นพุทธะ อย่างเดียวเท่านั้น”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้ม) พูดว่า “เจ้าเป็นชาวเมืองกวางตุ้งหรือ เป็นคนป่าคนเยิง แล้วเธอจะหวังเป็นพุทธะ ได้อย่างไรกัน”

เว่ยหล่าง ตอบว่า “แม้ว่าจะมีคนชาวเหนือ และคนชาวใต้ก็จริง แต่ทิศเหนือและทิศใต้นั้น หาได้ทำให้ความเป็นพุทธะ ซึ่งมีอยู่ในคนนั้น ๆ แตกต่างกันได้ไม่ คนป่าคนเยิงจะแตกต่างจากคุณพ่อ ก็แต่ในทางร่างกายเท่านั้น แต่ไม่มีความแตกต่างกันในทางธรรมชาติ แห่งความเป็น พุทธะ ของเราทั้งหลายเลย”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) นิ่ง เลยชี้บอกใช้ไปสมทบทำงานตำข้าวตัดฟืนกับหมู่คนทางโน้นก่อน

เว่ยหล่าง ได้พูดต่อไปอีกว่า “กระผมขอเรียน คูณพ่อว่า วิปัสสนาปัญญา เกิดขึ้นในใจของกระผมอยู่เสมอ ๆ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งไม่ได้มีจิตใจเลื่อนลอยไป จากธรรมชาติแห่งนิสัยเดิมแท้ของตนเองแล้ว ก็ควรที่จะเรียกเขาผู้นั้นว่าผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลกเหมือนกัน แล้วกระผมไม่ทราบว่างานอะไร ที่คุณพ่อจะให้กระผมทำ”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) พูดว่า “เจ้าคนป่านี้ มีรากเหง้าของนิสัยที่จะเป็นประโยชน์อย่างมหาศาล” จงไปที่โรงตำข้าวโน้นก่อน แล้วอย่าพึ่งพูดอะไรอีกเลยนา

ต่อมา เว่ยหล่าง พอได้ฟังเด็กท่องโศลกของ “ครูชินเชา ภิกษุ (ซิ้งซิ่ว)” ที่แอบไปเขียนไว้บนฝาผนังนั้นกล่าวว่า :

“กาย คือ ต้นโพธิ์

จิต เหมือน กระจกเงาใสบนแท่น

ทุก ๆ เวลาต้องหมั่นปันเช็ด

อย่าใช้ยั่วเย้า (ก่อ) ฝุ่นละออง”

เว่ยหล่าง พอได้ยินโศลกนั้นแล้ว ก็ทราบทันทีว่าผู้แต่งโศลกนั้น (คือครูชินเชาภิกษุ) มีปัญญาเก่งเพียงแค่โลกียธรรมรู้แจ้งอนัตตา (อนัตตาธรรม) เท่านั้น ยังไม่พบนิสัยเดิมแท้ของตนเอง ยังไม่รู้แจ้งทางจิตใจตนเอง เข้าไม่ถึง (สุญตาธรรม)

เว่ยหล่าง จึงได้แต่งโศลกขึ้นใหม่ แล้วบอกกับ “จางตัดยูง (เตียยิกเอ่ง)” ว่าช่วยกรุณาเขียนโศลกผมไว้บนฝาผนังนั้นให้ทีเถิด

จางตัดยูง พูดเป็นเชิงดูถูกว่า คนอย่างเอ็งนี้หรือ จะมาแต่งโศลกเป็นกับเขาด้วย หือ มันแปลกพิลึกกึกกือกันนะซีโว้ย

เว่ยหล่าง ตอบไปทันทีว่า “ถ้าท่านจะศึกษา พระโพธิญาณ อันสูงสุดกันแล้ว อย่าได้ดูถูกดูหมิ่น คนที่เริ่มศึกษาธรรมะ ท่านควรรู้ไว้ว่า คนที่ถูกทางโลกเขาจัดไว้ว่าเป็นคนชั้นต่ำ ๆ นั้น บางทีก็อาจจะมีปัญญาชั้นสูงเกิดแวบ ขึ้นมาก็ได้เหมือนกัน แล้วคนที่ถูกทางโลกเขาจัดไว้ว่าเป็นคนชั้นสูง ๆ นั้น บางทีก็อาจจะมีการเผลอสติบ่อย ๆ แสดงความโง่ ๆ ออกมาก็มีเหมือนกัน”

จางตัดยูง จำนนด้วยเหตุผล จึงพูดว่า เอ้า บอกมาซี จะช่วยเขียนโศลกให้ แล้วถ้าเอ็งบรรลุธรรมเมื่อไร ต้องอย่าลืมมาช่วยโปรดกันก่อนนะโว้ย

เว่ยหล่าง จึงได้กล่าวโศลกให้ “จางตัดยูง” เขียนไว้บนฝาผนังนั้นว่า :

“โพธิ์ เดิม ไม่มีต้นไม้

กระจกเงาใส ก็ มิใช่แท่น

เดิมมาไม่มีแม้แต่หนึ่งสิ่ง

ที่ไหนจะยั่วเย้า (ก่อ) ฝุ่นละออง”

เมื่อ พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) ได้มาพบโศลกของ “เว่ยหล่าง” อีกเข้าแล้ว ท่านก็รู้ได้ทันทีว่ามีปัญญาณาณมองทะลุได้ผ่าน “อนัตตา” คือโลกียธรรมไปแล้ว เข้าถึง “สุญตา” คือโลกุตรธรรมแล้ว จิตหลุดพ้นเข้าถึงสุญตา (สุญตาธรรม) เป็นความว่างไปได้บ้างแล้ว และผู้ที่เราคอยคัดเลือกมานานแล้ว ที่จะสืบอายุพระพุทธศาสนาต่อจากเราไปนั้นก็คือ “เว่ยหล่าง” นี้เอง ท่านจึงได้ทำการลบโศลกของ “เว่ยหล่าง” กล่าวไว้นั้นทิ้งไปเสียก่อน เพื่อที่จะได้ปกปิดเป็นความลับไว้ก่อน

หลังจากนี้ไป พอวันรุ่งขึ้น “เว่ยหล่าง” ก็ได้รับฟังคำสอนอันเร้นลับต่าง ๆ และฟังการอรรถาธิบายข้อความอันลึกซึ้งใน “พระคัมภีร์มหาสุญญตา คือ วัชรปรัชญาปารมิตาสูตร” จีนเรียกว่า “กิมกังปัวเยี้ยปอล่อมิกเก็ง” จาก พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มมหาครูบา) ในตอนกลางคืนนั้นอีกมากมายว่า “พึงยังจิตมิให้บังเกิดมีความยึดถือผูกพันในสถาวะใด ๆ” (หรือจิตเกิดอย่างไม่ติด จิตเกิดอย่างไม่ติดในสภาวะใด ๆ) เว่ยหล่าง พอได้ฟังมาถึงใจความตรงนี้ เข้าเท่านั้นจิตใจก็ลุงโพลง สว่างไสวออกมาอย่างแจ่มแจ้งในธรรมชาตินั้นขึ้นมาทันที ได้เกิดปัญญาบรรลุถึงสภาวะที่แท้แห่งจิตทันที คือ ปัญญาญาณเบื้องสูง ได้มองทะลุเห็นอย่างชัดแจ้งว่า “โอ ที่แท้ทุก ๆ สิ่งหรือสรรพธรรมทั้งปวง มิได้ห่างจากธรรมชาตินิสัยเดิมแท้ของเราไปเลย”

เว่ยหล่าง ได้ร้องขึ้นมาทันที ในเฉพาะหน้า พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 ในทันทีนั้นอีกว่า “แหม ใครจะไปคิดว่าธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้น เป็นของบริสุทธิ์ ใครจะไปคิดว่าธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้น ไม่เกิดและไม่ดับสูญ ใครจะไปคิดว่าธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้นเป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์ในตัวมันเอง ใครจะไปคิดว่า ธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้น ไม่ส่าย ไม่หวั่นไหว ไม่กวัดแกว่ง เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลง ใครจะไปคิดว่าธรรมชาตินิสัยเดิมแท้นั้น สามารถที่จะเกิดนานาธรรมชาติ ทุก ๆ สิ่งได้แล”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) พอเห็นว่า “เว่ยหล่าง” ได้บรรลุธรรมรู้แจ้งแล้ว คือพบสภาวะที่แท้แห่งธรรมชาติของนิสัยเดิมแท้ของตนเองแล้ว (คือจับจุดได้รู้แจ้งธาตุแท้ทางจิตใจอันมั่นคงดี) ท่านได้บอกอีกว่า พึงจำเอาไว้ให้ดี ๆ นะ “ถ้าบุคคลใด ๆ ไม่รู้จักจิตเดิมแท้ (สภาวะที่แท้แห่งจิต) ของตนเองว่าคืออะไรแล้ว ป่วยการไปศึกษาธรรมะ หรือจะศึกษาธรรมะไปก็ไร้ผล ไม่ได้ประโยชน์ ตรงกันข้าม ถ้าบุคคลใด ๆ รู้จักจิตเดิมแท้ของตนเองบ้าง ว่าเป็นอะไร และได้พบธรรมชาตินิสัยเดิมแท้ของตนเองบ้าง ว่าคืออะไร และเห็นแจ้งด้วยปัญญาญาณของตนเองแท้ อย่างซึมซาบว่าในธรรมชาติแท้ ๆ ของสภาวะจิตใจของตนเอง ว่ามีลักษณะวาระจิตอย่างไร คืออะไรอีกด้วยแล้ว เขาผู้นั้นชื่อว่า วีรบุรุษ คือ ครูบาของเทวดาและมนุษย์คือ พุทธะ

ดังนั้น ในฐานะที่ความรู้ย่อมไม่เป็นของบุคคลใดผูกขาดไว้แต่ผู้เดียว ผลก็คือ ท่านอุบาสกเว่ยหล่างอายุ 24 ปี ได้รับการถ่ายทอดหัวใจธรรมะทั้งหมดด้วย “จิต ถึง จิต” ในเที่ยงคืนนั้นเอง

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) ท่านได้กล่าวอีกว่า บัดนี้ท่านเป็นพระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 (ถ้านับจากอินเดียตามสายลงมาเป็นอันดับองค์ที่ 33) สืบต่ออายุพระพุทธศาสนาจากฉันไปแล้ว ฉันจะมอบ “บาตร จีวร สังฆาฏิ” ซึ่งเป็นปูชนียวัตถุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ “ท่านพระสังฆราชโพธิธรรมมหาครูบา” ได้นำมาจากอินเดียให้ท่านไปเป็นธรรมเนียมซึ่งทำกันมาแต่ดั้งเดิมอย่างนี้ บัดนี้ท่านจะต้องรักษาตัวของท่านไว้ให้ดี ๆ นา และคุ้มครองปูชนียวัตถุเหล่านี้สืบไว้ให้ดี ๆ นา เพราะว่าความลับในสัจธรรมทั้งหลายอยู่ในตัวท่านหมดแล้ว จงช่วยสอนธรรมโปรดมนุษย์ทั้งหลายให้ได้มหาสติ จงช่วยสัตว์เดรัจฉานให้รอดตาย ให้มากที่สุดเท่าที่จะช่วยได้เป็นมหาอุดมคติ จงหาวิธีพยายามทำการเผยแพร่ พระธรรมคำสอนที่สืบทอดไปนี้ให้อนุชนแต่ละรุ่นรับช่วงไป จงระวังอย่าให้ขาดตอนลงไปได้ ส่วนการถ่ายทอดมอบ บาตร จีวร สังฆาฏิแบบเดิมนั้นจะทำให้พวกเบาปัญญา ที่ยังไม่บรรลุธรรมคิดโลภอยากได้ แล้วจะเกิดมีภัยในการยื้อแย่งกัน ฉะนั้นมาถึงยุคที่พระธรรมคำสอนแพร่หลายแล้ว ท่านสมควรหยุดการถ่ายทอดเรื่องวัตถุนี้เสีย จงถ่ายทอดธรรมด้วย “จิต ถึง จิต” จิตถึงจิตก็พอแล้ว ถือเอาผู้ใดบรรลุธรรม ผู้นั้นเป็นผู้สืบอายุพระพุทธศาสนาเอง

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้มไต้ซือ) บอกกับท่านเว่ยหล่างอีกว่า เวลานี้ตัวท่านเสี่ยงภัยจากอันตรายมาก อาจจะมีพวกที่ไม่เห็นธรรมะใจบาปคิดอิจฉาทำร้ายต่าง ๆ นานา ใจบาปกรรมอย่างนี้จะต้องตกนรกอย่างหนัก ท่านจะต้องหนีออกไปจากวัดในคืนนี้ทันที

ท่านเว่ยหล่าง บอกท่านพ่อว่า “กระผมเป็นคนชาวใต้ แล้วก็ไม่รู้จักหนทางภูเขาแถบนี้เลย ว่าจะเดินทางออกไปลงเรือที่ปากแม่น้ำได้อย่างไร”

ท่านพ่อ โอ อมิตาพุทธ อย่างเป็นห่วงเลย ฉันจะช่วยนำทางไปส่งจนถึงปากแม่น้ำกิวกังด้วย แล้วหลังจากเราได้จากกันในคืนนี้ไป เราก็จะไม่ได้พบกันอีกแล้ว เพราะว่าฉันจะมีอายุอยู่ไปอีกได้ก็เพียง 3 ปี แล้วก็จะจากโลกนี้ไป ท่านจงเดินทางลงไปหลบซ่อนตัวไว้ในภาคใต้นั้นก่อน ไปให้เร็วที่สุดที่จะเร็วได้ อย่าด่วนทำการเผยแพร่ให้เร็วเกินไปนัก เพราะว่าพุทธธรรม (เซ็นหรือฌาน) นี้ ไม่ใช่จะสอนมนุษย์ได้ง่าย ๆ นัก ต่อไปนี้ฉันเชื่อว่าด้วยปัญญาญาณของท่านนี้เองจะทำให้หัวใจธรรมะของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย คือ พุทธธรรมคำสอนต่าง ๆ นี้ จะแผ่ไพศาลไปได้อย่างกว้างขวางที่สุดแห่งยุคแน่นอน สาธุ

จากนี้ “ท่านเว่ยหล่าง” ได้หนีไปหลบซ่อนตัวอยู่กับพวกพรานในป่าทึบอยู่นานถึง 15 ปี ท่านถือมังสวิรัติ (กินผัก) ไม่ได้เบียดเบียนชีวิตเลือดเนื้อสัตว์ใหญ่ที่มีมือมีตีน ท่านเดินสายกลางยามจนมุมเข้าแล้วก็เอาผักลงไปอาศัยต้มในหม้อเนื้อของพวกพรานป่า แล้วก็หยิบฉันแต่พวกผักล้วน ๆ คือสายกลางยามหมดทางหลีกได้แล้ว ก็เอาตรงนั้นเป็นกลางฉันแต่ผักในจานเนื้อของเขา จนพวกพรานป่าเห็นแล้วนึกแปลกใจ ท่านก็ฉวยโอกาสที่เขาเกิดอารมณ์นี้ชี้แจงแสดงธรรมเท่าที่พอจะพอโปรดเขาได้ไปพลางด้วยเสมอ ๆ (ตรงนี้เป็นแบบอย่างที่ดีของการเดินสายกลาง)

ได้อุปสมบทเป็น “พระภิกษุเว่ยหล่าง” เมื่ออายุ 39 ปี ได้ทำการประกาศธรรมโปรดสัตว์อยู่นานถึง 37 พรรษา พระเจ้าจักรพรรดินี “บูเช็กเทียง” ได้พระราชทาน บาตรไพฑูรย์และนิสีสันทัด 1 ชุด ใบชาหอม 5 ห่อ เงินแท่ง 300 ก้วง มอบให้ราชเลขาธิการ ชื่อ “โง้วฉุ่งเท่ง” นำไปถวาย แล้วยังได้รับสั่งให้ข้าหลวงแห่งชิวเจา (เซี่ยวจิว) เป็นผู้ปฏิสังขรณ์วัดของท่านให้เป็น พระอารามหลวง และให้ดัดแปลงบ้านเกิดของท่านให้เป็น “พระวิหาร” ขึ้นมาอีกด้วย ได้พระราชทานนามว่า “กว๊อกเยนยี่ (ก๊กอึงยี่)”

พระสังฆปริณายกองค์ที่ 6 (เว่ยหล่าง) พอมีพระชนมายุ 76 พรรษา ได้เกิดมรณญาณ คือ รู้วันเดือนปีที่จะแตกดับของสังขาร จึงได้เรียกประชุมสานุศิษย์ต่าง ๆ มาพร้อมกันแล้วได้กล่าวโศลก ต่าง ๆ อีกมากมายเป็นครั้งสุดท้าย แล้วรับสั่งว่าฉันจะจากโลกนี้ไปแล้ว ท่านก็นั่งนิ่งเข้าสมาธิดับขันธ์ในฌานสมาบัตินั้นไป พระศพของท่านได้บรรจุไว้ในเจดีย์หลวง ณ เมืองโซกาย (เช่าโคย) ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์นามว่า “ไต้ก่ำเซี้ยงซือ”




ชีวประวัติของท่านฮวงโป

ฮวงโป เป็นหลานศิษย์ (หรือศิษย์ของศิษย์) ของท่านเว่ยหล่าง กล่าวคือ เมื่อเว่ยหล่าง สังฆปริณายกองค์ที่ 6 แห่งนิกายเซนได้รับการถ่ายทอดธรรมโดยตรง ที่เรียกว่าจากจิตถึงจิต จากพระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 แล้ว นิกายเซนก็แตกออกเป็น 2 สาย สายเหนือนำโดยชินเชา คู่แข่งของท่านเว่ยหล่าง สอนวิธีปฏิบัติการตรัสรู้อย่างเชื่องช้าคือ ค่อยเป็นค่อยไป เจริญรุ่งเรืองอยู่พักหนึ่งโดยราชูปถัมภ์ของพระจักรพรรดิ ตั้งอยู่ไม่นานก็เงียบหายไป ส่วนสายใต้คือของท่านเว่ยหล่าง สอนวิธีปฏิบัติที่เป็นการตรัสรู้ฉับพลัน จนได้นามว่าสำนักฉับพลัน ได้เจริญรุ่งเรืองและขยายตัวออกมาจนแตกนิกายย่อย ๆ ลงไป

ศิษย์คนสำคัญองค์หนึ่งของท่านเว่ยหล่างมีนามว่า มา ตสุ หรือ มาซู ต้นตำรับตรัสรู้ฉับพลัน ท่านฮวงโปเป็นศิษย์ที่รับช่วงต่อจากท่าน มา ตสุ ท่านพุทธทาสภิกขุกล่าวถึงประวัติของท่านฮวงโปไว้ดังนี้

“ศิษย์คนที่สำคัญองค์หนึ่งของเว่ยหล่างมีนามว่า มา ตสุ เป็นสองอย่างอยู่ และกล่าวกันว่า ถึงแก่มรณภาพในปี ค.ศ. 850 ท่านได้ถ่ายทอดคำสอนนิกายนี้ให้แก่ อาย สื่น ซึ่งเป็นผู้ก่อตั้งนิกายหลินฉิ เอียง หรือที่เรียกอย่างญี่ปุ่นว่ารินซาย อันเป็นนิกายที่ยังคงมีอยู่ในประเทศจีน และแพร่หลายที่สุดในญี่ปุ่น โดยเหตุนี้ ฮวงโป จึงได้ชื่อว่าเป็นผู้ก่อกำเนิดพุทธศาสนานิกายนี้ ตามธรรมดานั้น บรรพชิตจีนที่มีชื่อหลายชื่ออย่างท่านฮวงโปนี้ เมื่อมีชีวิตอยู่ เรียกกันโดยมากว่า ซิหยิน บ้าง ตวนชิ บ้าง แต่ชื่อที่เรียกกันเมื่อท่านมรณภาพนั้น เรียกว่า ฮวงโป โดยถือเอาชื่อของภูเขาที่ท่านอาศัยอยู่เป็นส่วนมากในชีวิตของท่านเป็นต้นเหตุและด้วยธรรมเนียมที่เป็นการแสดงความเคารพ คือไม่ออกชื่อตัวโดยตรงในญี่ปุ่น ท่านมีชื่อว่า โอบากุ อันเป็นชื่อเสียงที่ใช้กับอักษรจีน เนื่องจากมิได้เป็นสังฆปริณายก ในที่นี้จึงเรียกท่านว่า ครูบา”

ท่านเว่ยหล่างไม่ได้แต่งตั้งผู้สืบทอดตำแหน่งสังฆปริณายกไว้แต่อย่างใด แต่ท่านก็ได้มอบจีวรแห่งพุทธเจ้า และบาตรซึ่งเป็นสัญลักษณ์แห่งตำแหน่งที่สืบทอดกันมาไว้กับลูกศิษย์ เสอิเง็น เงียวชิ พร้อมกับสั่งให้เก็บจีวรและสิ่งของเหล่านั้นไว้ที่ประตูวัดโซเคอิ ซึ่งเป็นวัดที่ท่านเว่ยหล่างสร้างไว้ที่ซูเคอิ ใกล้มณฑลกวางตุ้ง

หลังจากนั้นพุทธศาสนานิกายเซนได้แตกออกเป็น 5 สาขาใหญ่ ได้แก่

1. เว่ยหยาง (Wen - Yang)

2. หยุนเหมิน (Yun - Men)

3. ฟาเหยน (Fa - Yen)

4. เฉาต้ง (Ts’ao - Tung)

5. หลินฉิ (Lin - Chi)

สาขาที่สำคัญและได้รับการสืบทอดมาจนทุกวันนี้มีเพียง 2 สาขา คือ เฉาต้ง (โซโตะ) และหลินฉิ (รินไซ)

เซนเหนือ และ เซนใต้

หลังจากที่พระสังฆปริณายกองค์ที่ 1 (พระโพธิธรรม) ได้ไปเผยแพร่ศาสนาพุทธนิกายเซนในประเทศจีน จนตกทอดมาถึง พระสังฆปรินายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้ม) ครั้งหนึ่ง ท่านสังฆปรินายกองค์ที่ห้า ได้ประกาศให้ศิษย์ทั้งหมด เขียนบทโศลก เกี่ยวกับการบรรลุธรรม เพื่อเป็นการทดสอบความสามารถของศิษย์แต่ละคน

ท่านชินเชา (ซิ่งซิ่ว) ซึ่งเป็นศิษย์คนโต และคาดว่าจะได้เป็นผู้สืบทอดจีวรและบาตร (คือการสืบทอดวิชาและตำแหน่งนั่นเอง) ต่อจากพระสังฆปริณายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้ม) ได้เขียนบท โศลกไว้บนกำแพงว่า :

“กาย คือ ต้นโพธิ์

จิต เหมือน กระจกเงาใสบนแท่น

ทุก ๆ เวลาต้องหมั่นปันเช็ด

อย่าใช้ยั่วเย้า (ก่อ) ฝุ่นละออง”

บทโศลกนี้ได้รับการชื่นชมจากท่านสังฆปรินายกองค์ที่ 5 (พระฮ่งยิ้ม) ไม่น้อยแต่ลึกๆแล้วท่านก็ทราบดีว่าภูมิธรรมของศิษย์ผู้นี้แม้จะสูงส่ง แต่ยังไม่ถึงขั้นหลุดพ้น

พอดีขณะนั้นท่านเว่ยหล่าง (ฮุ้ยเน่ง) ทำงานอยู่ในวัด โดยยังไม่ได้ออกบวช ท่านผ่านมาเห็นเข้า แต่อ่านไม่ออกจึงได้ขอให้คนที่ยืนดูอยู่อ่านให้ฟัง ท่านฟังแล้วจึงแต่งบทโศลกขึ้นบทหนึ่งเช่นกัน

“โพธิ์ เดิม ไม่มีต้นไม้

กระจกเงาใส ก็ มิใช่แท่น

เดิมมาไม่มีแม้แต่หนึ่งสิ่ง

ที่ไหนจะยั่วเย้า (ก่อ) ฝุ่นละออง”

เมื่อท่านสังฆปรินายกอ่านบทโศลกแล้วจึงตัดสินใจมอบบาตรและจีวรให้กับท่านเว่ยหล่าง พร้อมทั้งถ่ายทอดธรรมะแบบใจถึงใจให้กับท่านด้วย และเพื่อป้องกันคนริษยาจะทำร้าย ท่านบอกให้เว่ยหล่างหนีไปทางใต้

ดังนั้นเองศาสนาพุทธนิกายเซนจึงแตกออกเป็นสองสาย

สายแรกคือเซนสายเหนือ ของท่านชินเชา (ซิ่งซิ่ว) ซึ่งได้รับความนิยมทางตอนเหนือของจีน เน้นการฝึกตน และการบรรลุธรรมอย่างค่อยเป็นค่อยไป ตามแบบแผน อย่างมีขั้นตอน เห็นได้ชัดจากบทโศลกของท่านเสินซิ่วเอง ว่าให้หมั่นขัดใจกำจัดกิเลสอย่างไม่ย่อท้อ

สายที่สอง เซนสายใต้ ของท่านเว่ยหล่าง ได้รับความนิยมทางตอนใต้ เน้นการบรรลุอย่างฉับพลัน ดังที่ปรากฏในโศลกข้างต้น เมื่อตะหนักรู้ถึงความว่าง เมื่อเกิดปัญญา ก็ไม่มีอะไรให้ปฏิบัติ ให้เรียนรู้อีก “เมื่อไม่มีกระจกเสียแล้ว จะไปเช็ดฝุ่นที่ไหนกันเล่า?”

เซนสายเหนือรุ่งเรืองอยู่พักใหญ่ ภายใต้การอุปถัมภ์ของพระนางอู่เจ่อเทียน หรือ บูเช็กเทียน ที่พวกเรารู้จักกันดี แต่ในที่สุดก็เสื่อมสลายไปเพราะหลายสาเหตุ เซนที่พวกเราศึกษากัน คุ้นเคยกันอยู่ในทุกวันนี้จึงเป็นเซนสายใต้




ช่วงก่อกำเนิดในญี่ปุ่น

เซน 2 สำนักในญี่ปุ่น

1. สำนักรินไซ (หรือสำนักหลินฉิ)

ท่านเอไซซึ่งมีชีวิตอยู่ในช่วง พ.ศ.1684 – 1758 ไปศึกษาเซนในเมืองจีน กลับมาเผยแผ่เซนนิกายรินไซในญี่ปุ่นเมื่อ พ.ศ.1734 เริ่มสร้างวัดเซนขึ้นในเมืองเกียวโต และเกียวโตนี่แหละเป็นฐานที่มั่นของรินไซ ท่านเอไซนำวัฒนธรรมและวิถีชีวิตแบบจีนมาเผยแผ่ คือ ประเพณีการดื่มชา เอามาประกอบกับหลักคำสอนของเซน เชื่อว่าการดื่มชาจะทำให้อายุยืน และความเป็นจริงก็น่าจะเป็นตามนั้น เพราะคนญี่ปุ่นมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 80 ปี ในขณะที่คนไทยมีอายุโดยเฉลี่ยประมาณ 68 ปีเท่านั้น

วิธีปฏิบัติธรรมแบบนิยกายรินไซใช้วิธีสนทนาโต้ตอบกันระหว่างอาจารย์กับศิษย์ใช้บทปริศนาธรรม 2 แบบ คือวิธีแบบโกอาน และวิธีแบบมอนโด

“โกอาน” คือ ถ้อยคำที่มีลักษณะคล้ายขัดกันหรือไร้สาระ เป็นประโยคที่ไม่มีความหมาย เป็นวลีที่ไม่มีความหมาย แต่มีนัยเชิงปรัชญาแฝงอยู่ เป็นปริศนาธรรมที่ไม่สามารถหาคำตอบได้ด้วยวิธีการให้เหตุผลหรือพุทธิปัญญา ลักษณะของโกอานคือ ถามประโยคเดียว ตอบประโยคเดียว แต่ไม่ตรงคำถาม เช่น

ศิษย์ถามอาจารย์ว่า “เมื่อเช้าท่านไปไหนมา ?”

อาจารย์ตอบว่า “ผมกินข้าวแล้ว”

จุดประสงค์ของนิกายรินไซที่ใช้วิธีโกอาน คือเพื่อจำกัดกรอบความคิดที่ไร้ขอบเขต วิธีการจำกัดกรอบความคิดนี้ตรงกับกรอบที่เรียกว่าองค์ของรูปฌาน 4 และอรูปฌาน 4 เซนใช้วิธีแบบโกอาน เพื่อสร้างกรอบความคิดให้อยู่เหนือการแบ่งแยกทั้งหลาย การถามตอบ ถามประโยคเดียว ตอบประโยคเดียว แล้วคำตอบก็ไม่ตรงกับคำถาม

“มอนโด” คือ การถามตอบอย่างฉับพลัน โดยไม่ผ่านการใช้ความคิดพิจารณาปริศนาธรรมอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพราะการใช้มนโดจะเป็นการบังคับให้เราตอบในทันทีโดยไม่ผ่านการคิดหรือเหตุผลใดๆ เพื่อให้หลุดพ้นจากกรอบความคิดแบบเดิมไปสู่การรับรู้โลกตามความเป็นจริง ไม่ผ่านการปรุงแต่งหรือการครอบงำของอวิชชาและกิเลส

ตัวอย่างของมอนโด

พระรูปหนึ่งถามท่านอาจารย์โจวชูว่า “กระผมเพิ่งมาถึง ณ สถานปฏิบัติธรรมนี้ โปรดให้คำชี้แนะด้วย”
ท่านอาจารย์โจวชูตอบว่า “เธอกินข้าวแล้วหรือยัง”
พระรูปนั้นตอบว่า “กระผมทานแล้ว”
ท่านอาจารย์โจวชูตอบว่า “งั้นก็ไปล้างจานเสียสิ” (Mumonkan, Case 7)

จากตัวอย่างมอนโดข้างต้น พระที่ขอคำชี้แนะอาจารย์โจชูได้ลืมว่าแท้ที่จริงแล้วหลักคำสอนแห่งพุทธะเป็นเรื่องของการปฏิบัติธรรมที่มีอยู่ในทุกขณะจิตของชีวิตประจำวัน บทสนทนาของอาจารย์โจชูเป็นการเตือนพระรูปนั้นว่าอย่าได้แสวงหาธรรมะที่อยู่นอกตัว หรืออย่าถามหาหลักคำสอนที่แยกออกจากวิถีชีวิตปกติ แต่ให้หันกลับมาพิจารณาประสบการณ์แห่งพุทธะในตนเอง

ทั้งปริศนาธรรมและมอนโดต่างก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการบรรลุธรรมได้ ปริศนาธรรมเป็นปัญหาที่อาจารย์ใช้ถามลูกศิษย์เพื่อเป็นการตรวจสอบว่าลูกศิษย์ของตนมีความก้าวหน้าทางจิตเพียงใด เมื่อศิษย์ได้รับปริศนาธรรมมา แล้วก็จะต้องพยายามขบคิดปริศนาธรรมที่ได้รับมาเพื่อเป็นการทดสอบประสบการณ์ทางจิตของตน ในขณะที่มอนโดเป็นระบบการถามตอบอย่างปัจจุบันทันด่วนโดยไม่ผ่านการขบคิดพิจารณาอย่างต่อเนื่องอย่างปริศนาธรรม กล่าวคือ ในบางครั้งอาจารย์เซ็นอาจมอบปริศนาธรรมแก่ศิษย์ไปขบคิด แต่ในบางครั้งอาจารย์เซ็นอาจถามปริศนาธรรมในกระบวนการของมอนโด โดยที่การตอบในกระบวนวิธีมอนโดจะเป็นการตอบอย่างฉับพลัน ไม่ปล่อยให้ใช้ระบบคิดหรือเหตุผลในการไตร่ตรองคำถาม คำตอบที่ได้จากวิธีการมอนโดนี้เป็นคำตอบที่มาจากจิตที่บริสุทธิ์ปราศจากกรอบมโนทัศน์ใด ๆ ที่อาจบิดเบือนโลกแห่งความเป็นจริง

ในขณะที่กระบวนการแห่งปริศนาธรรมเป็นการ อาศัยการคิดไตร่ตรองด้วยเหตุผลจนเกิดความงุนงงสงสัยอย่างต่อเนื่อง จากการตระหนักรู้ว่าเหตุผลไม่สามารถทำความเข้าใจปริศนาธรรมได้จนเกิดการระเบิดออกสู่การรู้แจ้งอย่างฉับพลัน กระบวนการมอนโดเป็นการถามตอบอย่างฉับพลันที่เป็นการตัดกระแสการคิดเชิงตรรกะไปในตัว ทำให้เข้าใจความจริงแท้ที่อยู่เหนือการคิด เหตุผล และการแยกแยะต่าง ๆ ฉะนั้น ไม่ว่าจะเป็นวิธีการแห่งมนโดหรือ วิธีการแห่งปริศนาธรรมนั้นต่างก็พยายามตัดกระแสสำนึกแห่งเหตุผลที่เป็นตัวบดบังการเข้าถึงความจริงแท้




2. สำนักโซโตะ (หรือสำนักเฉาต้ง)

ท่านโดเกนมีชีวิตอยู่ใน พ.ศ.1743 – 1796 ไปศึกษาเซนในจีนเป็นเวลา 4 ปี กลับมาตั้งเซนนิกายโซโตะในพ.ศ. 1770 โซโตะปฏิบัติธรรมด้วยวิธี “ซาเซน” คือนั่งกรรมฐาน ทำสมาธิ เพ่งพิจารณาภายใน นั่งเงียบๆ บนเสื่อตาตามิหันหน้าเข้าผนัง เวลาปฏิบัติที่เหมาะสมก็คือในช่วง 03.00 น. – 04.00 น. ซึ่งเป็นช่วงที่เงียบสงัด เป้าหมายสูงสุดของซาเซนคือรู้แจ้งธรรมชาติที่แท้จริงของสิ่งทั้งหลาย ค้นหาพุทธธาตุ หรือพุทธภาวะในตัวตน

ซาเซ็นหมายถึงการนั่งสมาธิอันเป็นพื้นฐานในการเตรียมจิตเพื่อ การขบคิดพิจารณาสภาวะธรรมและปริศนาธรรมต่าง ๆ เพื่อการบรรลุซาโตริ เพราะหากไม่มีการฝึกซาเซ็นเพื่อพัฒนาจิตให้แข็งแกร่งแล้วก็จะเป็นการยากยิ่งในการขบคิดปริศนาธรรมให้ กระจ่างแจ้งได้และเมื่อไม่สามารถขบคิดปริศนาธรรมได้สภาวะซาโตริก็จะเกิดขึ้นได้ยาก ในการบรรลุซาโตรินั้น มักต้องอาศัยการขบคิดปริศนาธรรมอย่างต่อเนื่องเพื่อให้เกิดความงุนงงสงสัยคุกรุ่นเต็มเปี่ยมอยู่ในจิตแล้ว “ระเบิดออก” สู่การรู้แจ้งอย่างทันทีทันใด

ในการปฏิบัติซาเซ็นนี้ ท่านโดเก็นได้อธิบายไว้ดังนี้

ณ ที่นั่งประจำของท่าน ปูเสื่อหนา ๆ แล้ววางหมอนลงบนเสื่อ นั่งขัดสมาธิเพชร หรือสมาธิดอกบัว ในท่าสมาธิเพชร ให้วางเท้าขวาบนขาซ้ายและเท้าซ้ายบนขาขวา ในท่าสมาธิดอกบัว ท่านเพียงวางเท้าซ้ายบนขาขวาเท่านั้น ท่านควรห่มจีวรและคาดรัดประคดแต่หลวม ๆ แต่เข้าที่ให้เรียบร้อย แล้ววางมือขวาบนขาซ้ายและวางฝ่ามือซ้ายในท่าหงายขึ้นบนฝ่ามือขวาโดยให้ปลายนิ้วโป้งจรดกัน นั่งตรงในท่าที่ถูกต้อง อย่าเอียงไปทางซ้ายหรือขวา อย่าเอียงไปข้างหน้าหรือข้างหลัง…เมื่อท่านั่งเรียบร้อยแล้ว สูดลมหายใจลึก ๆ หายใจเข้าออก โคลงร่างไปทางซ้ายทีขวาทีแล้วปล่อยให้หยุดนิ่งสมดุลในท่านั่ง คิดถึงการไม่คิด จะคิดถึงการไม่คิดได้อย่างไร โดยปราศจากการคิด สิ่งนี้เองคือ หัวใจแห่งศิลปะการนั่งซาเซ็น (สุวรรณา สถาอานันท์, 2534: 49 - 50)

การนั่งซาเซ็นนี้เป็นปัจจัยที่เกื้อหนุนให้จิตหลุดพ้นจากกรอบอ้างอิงเดิมที่เคยคิด เคยเชื่อ เคยยึดมั่นถือมั่น ไปสู่การปราศจากการคิดซึ่งหมายถึงการที่จิตพ้นไปจากการแบ่งแยกเชิงทวิลักษณ์ เพื่อก้าวเข้าสู่ความว่างอันเป็นหนึ่งเดียวกับจิตเดิมแท้ ประเด็นเรื่องปราศจากความคิดนี้ อาจารย์คาสุลิส (T. P. Kasulis, 1981: 71 - 77) ได้อธิบายไว้ว่า “การคิด” คือ การกำหนดมโนทัศน์ต่าง ๆ อันเป็นกิจกรรมทางจิตให้กับสิ่ง ๆ หนึ่ง ซึ่งรวมถึงการตัดสินใจด้วยว่า ชอบ ไม่ชอบ เชื่อ ไม่เชื่อ เป็นต้น เช่น การรับรู้ว่าอะไรคือโต๊ะ อะไรคือเก้าอี้ “การไม่คิด” คือ การปฏิเสธที่จะยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นภายในจิตใจ หรือกล่าวได้ว่าการไม่คิดคือการปฏิเสธกระบวนการรับรู้สิ่งต่าง ๆ ทั้งหมด แต่การจงใจปฏิเสธการคิดนี้ในแง่หนึ่งก็เป็นตัวการคิดนั้นเอง คือมีกรอบกำหนดเพื่อการปฏิเสธ ส่วน“การปราศจากความคิด” แตกต่างจากการคิดและการไม่คิดในแง่ที่ว่าการปราศจาก การคิดจิตไม่มีความมุ่งหมายใด ไม่ใช่ทั้งการยืนยันและปฏิเสธ ไม่ใช่ทั้งเชื่อและไม่เชื่อ ไม่ได้มุ่งปฏิเสธอย่างเดียวกับการไม่คิด แต่เป็นการปล่อยให้สิ่งต่างๆ ปรากฏอย่างที่มันเป็น (pure presence of things as they are) หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ เป็นสภาวะก่อนการแยกแยะเชิงมโนทัศน์ การปราศจากการคิดนี้อาจเปรียบได้กับการที่เรายืนดูความงามของธรรมชาติบนยอดเขา โดยเราจะซาบซึ้งและซึมซับความงามจนอยู่ในสภาวะที่ปราศจากคำพูดหรือคำบรรยายใดๆ

การปฏิบัติซาเซ็นจึงมิใช่การนั่งสมาธิแบบปฏิเสธการรับรู้ แต่เป็นการนั่งสมาธิที่เต็มไปด้วยการรับรู้ แต่เป็นการรับรู้โลกและประสบการณ์ตามอย่างที่เป็นโดยปราศจากความจงใจใด ๆ การรับรู้นี้เป็นการรับรู้ที่ตัวผู้รับรู้กับสิ่งที่ถูกรับรู้ได้หลอมรวมเป็นหนึ่งเดียวกัน เป็นการดำรงอยู่ภายใต้กาลภาวะนั้นๆ การปฏิบัติซาเซ็นเป็นฐานของการฝึกใช้ปัญญาในการคิดพิจารณาสภาวะธรรมและปริศนาธรรม แต่สำหรับโดเก็น ตัวซาเซ็นเองก็คือปริศนาธรรม มิใช่เป็นฐานสำหรับการฝึกใช้ปัญญาเพื่อขบคิดปริศนาธรรม

เซนตอบสนองความต้องการของคนที่อิ่มคัมภีร์ ประสงค์ที่จะรู้ธรรมชาติที่แท้จริงของตนเอง จึงมีคาถาพิเศษประจำนิกายว่า

“ถ่ายทอดพิเศษนอกเหนือคัมภีร์

ไม่อาศัยคำพูดและตัวอักษร

ชี้ตรงไปยังจิตของมนุษย์

รู้แจ้งภายในธรรมชาติของตัวเอง”

ท่านโพธิธรรมเดินทางเข้าไปจีน ด้วยจุดประสงค์อย่างหนึ่งคือ ปฏิวัติองค์กรทางพระพุทธศาสนาในจีนที่กำลังหมกมุ่นอยู่กับคำพูดและตัวหนังสือ ท่านโพธิธรรมถือว่า คำพูดและตัวหนังสือคืออุปสรรคสำคัญในการบรรลุธรรม มันมีคำที่ชอบใช้ซ้ำ ๆ อยู่ ว่า สิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อความคิดสร้างสรรค์มากที่สุดก็คือ บรรดาสิ่งเก่า ๆ ทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นความคิดเก่า ความเชื่อเก่า ความตั้งใจหรือเจตจำนงเก่า แผนเก่า หลักการเก่า กฎศีลธรรมเก่า ความใฝ่ฝันเก่า และอุดมการณ์เก่า

สิ่งเก่าเหล่านี้เหมือนฝูงเพรียงเกาะอยู่ในหัวเรา คำพูด ตัวหนังสือ เป็นสิ่งถ่ายทอดความเก่า ๆ ที่กล่าวมาข้างต้นจึงต้องกำจัดคำพูดและตัวหนังสือ ความจริงสูงสุดคือ ศูนยตาเท่านั้นท่านฮ่งยิ้ม (สังฆปริณายกองค์ที่ 5) พิจารณาว่า จะมอบตำแหน่งสังฆปริณายกให้แก่ใครระหว่างฮุยเน้ง(หรือเว่ยหล่าง) กับชินเชา ฮุยเน้งเป็นพ่อครัว บรรลุธรรม(ซาโตริ) มาก่อนแล้วเพราะฟังปรัชญาปารมิตา ส่วนชินเชาเป็นนักวิชาการ ท่านฮ่งยิ้มมีจุดประสงค์ที่จะให้ศิษย์ ๒ คนสะท้อนสุญญตาออกมาโดยใช้บทกลอน




ท่านชินเชา เสนอบทกลอนว่า :

“กายคือต้นโพธิ์

ใจคือกระจกเงาใส

หมั่นปัดกวาดอยู่เป็นนิตย์

อย่าให้ฝุ่นละอองลงจับ”

ส่วนฮุยเน้งอ่านไม่ค่อยอออกเขียนไม่คล่อง จึงขอร้องคนอื่นให้เขียนว่า :

“ไม่มีกาย ไม่มีต้นไม้

ไม่มีกระจกเงาใส

เมื่อไม่มีอะไรตั้งแต่ต้น

ฝุ่นละอองจะลงจับอะไร”

ระหว่างแนวคิดที่ 1 ของชินเชากับแนวคิดที่ 2 ของฮุยเน้ง แนวคิดที่ 2 สะท้อนความหมายได้ชัดเจนที่สุด ฮุยเน้งจึงได้ตำแหน่งสังฆปริณายกไป ศูนยตาคือความจริงสูงสุด(ความว่าง) ความว่างคือ สภาพเดิมแท้ของสิ่งทั้งหลาย มนุษย์ประกอบด้วยความว่าง จิตเดิมแท้มีลักษณะขาว ใส บริสุทธิ์ ที่เรียกว่า จิตประภัสสร กรอบเก่า ๆ ทั้งหลายตามที่กล่าวมาเป็นตัวทำให้ธรรมชาติจิตดับสูญเสียไป ถ้าหมายถึงจิตเดิมแท้ นั่นคือ อจิต (True mind is No-mind จิตที่แท้จริงคืออจิต)

ภาษาของเซนไม่ปฏิเสธกิริยา แต่ปฏิเสธสิ่งที่รองรับกิริยา มีปฏิบัติการแต่ว่าไร้ที่ยึดเหนี่ยว เช่น Going nowhere ควรจะแปลอย่างไรดี ? สังฆนายกองค์ที่ 6 ในจีนคือท่านฮุยเน้ง บอกว่า “ความพยายามที่จะควบคุมจิต ถือเป็นความพยายามที่เลวร้าย ความพยายามที่จะชำระจิต เท่ากับเพิ่มความสกปรกให้แก่จิต” ท่านสรุปว่า อย่าพยายามชำระจิตให้บริสุทธิ์หรือทำจิตให้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ แต่จงปล่อยให้ดำเนินไปตามวิถีของมัน มีอีกวลีหนึ่งที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นสาระสำคัญของเซนคือ “The Voice of the Silence” เสียงเรียกจากความเงียบ เสียงกู่ร้องในใจของแต่ละคนมันดังมาก แต่ถ้าอยากได้ยินต้องเงียบ วิธีการต่อมาของเซนที่ชอบใช้คือ อทวิภาวะ (Non-duality) คำว่า ”นี่” “นั้น” “โน้น” คือคำที่แบ่งแยก ภาษาทางตะวันตกจะต้องมี “I” “Myself” มีประธานมาก ประธานคือคำที่แบ่งแยก ในภาษาญี่ปุ่นไม่นิยมประธาน มีแต่กิริยา เป็นภาษาที่ไม่มีประธาน เป็นภาษาประเภทอทวิภาวะ แสดงความไม่เป็นสอง

การที่อาจารย์พยายามบรรยายประสบการณ์ ของตัวเองให้ลูกศิษย์ฟังเหมือนกับสัตว์บกกับสัตว์น้ำที่พยายามอธิบายสภาพของบนบกกับในน้ำให้กันและกันฟัง แม้สัตว์น้ำจะบรรยายอย่างไรก็ตาม แต่ความเข้าใจของสัตว์บกเกี่ยวกับน้ำ ก็เป็นความเข้าใจแบบสัตว์บก ไม่มีทางสมบูรณ์หรือตรงตามความจริงได้ร้อยเปอร์เซ็นต์

ในปัจจุบัน กิจกรรมสำคัญ 3 ประการที่ปรากฏให้เห็นโดยทั่วไปในวัดเซน คือ

(1) การทำงาน(ซามู) เช่น กวาดลานวัด คติประจำใจของศาสนิกเซนคือ “วันที่ปราศจากการทำงาน คือวันที่ปราศจากการกิน”

(2) ปฏิบัติกรรมฐาน (ซาเซน-ของนิกายโซโตะ)

(3) สวดมนต์ (กังคิน) การสวดมนต์คือการดึงแก่นสารของตัวเองให้เข้ามาอยู่ในบทมนต์

********************************************************************************
บทที่ 2

คำสอนในนิกายเซน

ซาโตริ

อิทธิพลของนิกายเซนหรือควรจะพูดว่าความสัมพันธ์ที่เซนมีต่อวัฒนธรรมญี่ปุ่นเหมาะกว่า ข้าพเจ้าก็ปรารถนาจะพูดถึงลักษณะที่สำคัญ ๆ บางประการของพระพุทธศาสนานิกายเซนที่มีต่อภาวะทางด้านจิตใจของชาวญี่ปุ่นโดยเฉพาะ แม้จะเพียงย่อ ๆ ก็ตามไม่ต้องสงสัยละว่า ปรัชญาของเซนก็คือปรัชญาของพระพุทธศาสนามหายานโดยทั่ว ๆ ไปนั่นเอง แต่มันก็มีวิธีที่จะรู้แจ้งปรัชญานั้นที่เป็นอัตลักษณ์ของมันเอง ข้อนี้เกิดจากการเห็นความลึกลับแห่งภาวะของตนเองโดยตรง ซึ่งถ้าจะว่าตามแบบเซนก็ได้แก่ตัวความแท้จริงนั่นเอง ดังนั้นเซนจึงแนะนำไม่ให้เราถือคำสอนของพระพุทธเจ้าตามที่เขาพูดกันหรือเขาเขียนไว้ ไม่ให้เชื่อในภาวะอื่นนอกจากตัวเอง ไม่ให้ปฏิบัติตามสูตรว่าด้วยการฝึกฝนตามแบบนักบวช แต่ให้ได้มีประสบการณ์ในภายในซึ่งเกิดในการถอยกลับที่ลึกที่สุดแห่งภาวะของเขานี่เป็นการเรียกร้องต่อฐานนิยมเชิงสหัชญาณเกี่ยวกับการเข้าใจ ซึ่งเกิดจากการมีประสบการณ์ในสิ่งที่ภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า “ซาโตริ” ( หวู ในภาษาจีน ) ถ้าไม่มี ซาโตริ ก็ไม่มีเซน เซนกับ ซาโตริ เป็นไวพจน์ของกันและกัน ดังนั้นบัดนี้เราจะต้องถือว่า ความสำคัญแห่งประสบการณ์ใน

ซาโตริ นี้เป็นอะไรบางอย่างที่เกี่ยวข้องกับเซนโดยเฉพาะ

หลักการแห่ง ซาโตริ มิได้ขึ้นอยู่กับมโนภาพเพื่อที่จะได้บรรลุถึงความจริงของสิ่งทั้งหลายเลย ทั้งนี้เพราะมโนภาพจะมีประโยชน์ก็เฉพาะในการจำกัดความจริงของสิ่งทั้งหลายเท่านั้น มิใช่ในการทำให้เรามีความคุ้นเคยกับความจริงขิงสิ่งทั้งหลายเป็นส่วนตัวเลย ความรู้ในทางมโนภาพอาจทำให้เราฉลาดในบางแง่ แต่ข้อนี้ก็เป็นเพียงสิ่งตื้นๆเท่านั้นเอง ตัวมันเองมิได้เป้นความจริงที่มีชีวิตชีวาเลย และดังนั้นจึงไม่มีภาวะสร้างสรรค์ในตัวมันเอง เป็นเพียงการสะสมเพิ่มพูนสิ่งที่ตายแล้วเท่านั้น ในแง่นี้เซนจึงทำให้เจตนารมณ์แห่งการคิดแบบตะวันออกสะท้อนออกมาได้อย่างสมบูรณ์แบบ

มีความจริงอยู่ในคำพูดที่ว่า จิตแบบตะวันออกเป็นเชิงสหัชญาณส่วนจิตแบบตะวันตกเป็นเชิงเหตุผลและชอบพูดอย่างยืดยาว นับว่าเป้นความจริงที่จิตเชิงสหัชญาณย่อมมีความอ่อนแออยู่หลายอย่าง แต่จุดที่เข้มแข็งที่สุดแห่งจิตเชิงสหัชญาณจะถูกแสดงออกมาให้ปรากฏต่อเมื่อมันได้เกี่ยวข้องกับสิ่งทั้งหลายที่เป็นพื้นฐานที่สุดในชีวิต นั่นคือสิ่งทั้งหลายที่เกี่ยวกับศาสนา ศิลปะ และอภิปรัชญา และเซนนี่แหละได้สถาปนาข้อเท็จจริงนี้ขึ้นมาโดยเฉพาะนั้นคือ ซาโตริ มโนคติที่ว่าความจริงอันติมะแห่งชีวิตและสิ่งทั้งหลาย โดยทั่วไปนั้น เราจะต้องยึดถือในเชิงสหัชญาณไม่ใช่ในเชิงมโนภาพ และว่าการยึดมั่นเชิงสหัชญาณนี้เป็นพื้นฐานมิเพียงแห่งปรัชญาเท่านั้น แต่ทว่าแห่งกิจกรรมด้านวัฒนธรรมอื่นๆ ทั้งปวงด้วย เป็นสิ่งที่พระพุทธศาสนาแบบเซนอำนวยเพื่อปลูกฝังให้เกิดความนิยมในศิลปะขึ้นในหมู่ประชาชนญี่ปุ่น

และตรงนี้แหละที่ได้มีการสถาปนาความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจระหว่างเซนกับการสร้างมโนภาพเกี่ยวกับศิลปะของญี่ปุ่นขึ้น ไม่ว่าเราจะใช้บทนิยามว่าอย่างไรก็ตาม สัมพันธภาพก็เกิดจากความนิยมความสำคัญของชีวิต หรือเราอาจกล่าวว่าความลึกลับของชีวิตได้เข้ามาสู่การสร้างศิลปะอย่างล้ำลึกทีเดียว เพราะฉะนั้นเมื่อศิลปะเสนอสิ่งที่ลึกลับเหล่านั้นในลักษณะการเชิงสร้างสรรค์ที่ลึกซึ้งที่สุด มันก็ทำให้เราเคลื่อนไปสู่ความล้ำลึกของภาวะของเรา และศิลปะก็กลายเป็นงานเทวดาไป ผลิตผลแห่งศิลปะที่นับว่ายิ่งใหญ่ที่สุด ไม่ว่าจะเป็น จิตรกรรม ดนตรี ประติมากรรม หรือบทร้อยกรองก็ตาม ย่อมจะต้องมีคุณสมบัตินี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งถือว่าเป็นอะไรบางอย่างที่เข้าถึงงานของพระผู้เป็นเจ้า ศิลปินในขณะที่ภาวะสร้างสรรค์ของเขาขึ้นถึงขั้นสูงสุดจะเปลี่ยนรูปเป็นตัวแทนของผู้สร้างสรรค์ไป ขณะที่สูงสุดในชีวิตของศิลปินนี้ เมื่อจะพูดในแง่ของเซนแล้ว ก็คือประสบการณ์เกี่ยวกับ ซาโตริ นั่นเอง การมีประสบการณ์ ซาโตริ นี้ถ้าพูดในแง่จิตวิทยาแล้วก็คือ การกลายเป็นสิ่งที่มีพิชานหรือความรู้สึกนึกคิดของสิ่งที่ไม่มีพิชานหรือความรู้สึกนึกคิด (มุชิน สิ่งที่มิใช่จิต) ศิลปะจึงมีอะไรบางอย่างของสิ่งที่ไม่มีพิชานหรือความรู้สึกนึกคิดเกี่ยวกับศิลปะเสมอ

เพราะฉะนั้น เราจึงไม่อาจประสบ ซาโตริ โดยทางการสอนหรือเรียนตามปรกติธรรมดาเลย มันมีเทคนิคของมันเองในอันที่จะชี้ให้เกินว่ามีความลึกลับที่อยู่นอกเหนือการวิเคราะห์ทางพุทธิปัญญาอยู่ในตัวเรา ความจริงชีวิตก็เต็มไปด้วยสิ่งที่ลึกลับมากมาย และเมื่อความรู้สึกเกี่ยวกับสิ่งที่ไม่ลึกลับไม่ว่า ณ ที่ใดก็ตาม เราก็อาจกล่าวว่ามีเซนอยู่ ไม่ในความรู้สึกใดความรู้สึกหนึ่งเสมอไป

ดังนั้น ซาโตริ จึงไม่ยอมรวมเข้าในประเภทใดๆ ทางตรรกศาสตร์ และเซนก็ได้ให้วิธีเฉพาะที่จะทำให้รู้แจ้ง ซาโตริ แก่เรา ความรู้ทางมโนภาพย่อมมีเทคนิคของมันเอง นั่นคือวิธีการก้าวหน้าของมัน ซึ่งจะทำให้เราเข้าใจไปทีละขั้น แต่มิได้ทำให้เราสัมผัสกับความลึกลับของภาวะ ความสำคัญของชีวิตความงามของสิ่งทั้งหลายที่อยู่รอบๆตัวเราเลย เมื่อไม่มีความรู้แจ้งในคุณค่าเหล่านี้ ก็เป็นไปไม่ได้ที่จะเป็นผู้เชี่ยวชาญหรือศิลปินเกี่ยวกับสิ่งใดๆ ศิลปะทุกอย่าสงย่อมมีความลึกลับเป็นของมันเอง มีท่วงทำนองทางด้านจิตใจของมันเอง มีสิ่งที่ชาวญี่ปุ่นเรียกว่า เมียว ของมันเอง ดังที่เราเห็นมาแล้ว นี่คือที่ที่เซนได้กลายเป็นมีความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมกับศิลปะทุกสาขา

ซาโตริ ย่อมมีห่วงพุทธโดยเฉพาะอยู่รอบตัว เพราะมันจะต้องแทรกซึมเข้าไปในสัจธรรมคำสอนทางพระพุทธศาสนาที่เกี่ยวกับเรื่องความแท้จริงของสิ่งทั้งหลายหรือความลึกลับและความหมายของชีวิต เมื่อ ซาโตริ แสดงตัวเองมาอย่างมีศิลปะ มันย่อมผลิตงานที่สั่นรั่วไปด้วย “ท่วงทำนองทางด้านจิตใจ ( หรือ ที่เป็นทิพย์ )” อันแสดง “เมียว” (หรือสิ่งที่ลึกลับ) หรือให้เห็นสิ่งที่ไม่อาจหยั่งได้ซึ่งก็ได้แก่ “ยูเงน” นั่นเองแวบหนึ่ง ดังนั้น เซนจึงได้ช่วยชาวญี่ปุ่นให้ได้สัมผัสกับความมีอยู่แห่งแสงกระตุ้นเชิงสร้างสรรค์ที่ลึกลับในศิลปะทุกสาขาอย่างมากทีเดียว

สิ่งที่ลึกลับก็คืออะไรบางอย่างที่ไม่อาจจับกุมได้ และไม่อาจทำให้มันต้องทำงานโดยวิธีการวิเคราะห์ทางด้านพุทธิปัญญา หรือโดยวิธีการทำให้เป็นระบบหรือวางแผนอย่างรู้ตัวเลย และดังนั้นเราจึงอาจสรุปได้ว่า ซาโตริ ก็คือการกระทำอย่างที่คริสต์ศาสนิกชนประกาศว่าเป้นพระเมตตาของพระผู้เป้นเจ้าและเป็นการผูกขาดของผู้ชาญฉลาดในด้านศิลปะ แต่เซนได้ประดิษฐ์วิธีที่จะทำให้รู้แจ้ง ซาโตริ ของตนขึ้นมาเอง เพื่อที่จะทำให้จิตที่ธรรมดาสามัญทุกดวงสามารถบรรลุถึงได้ และตรงนี้ที่มำให้เซนแตกต่างจากพระพุทธศาสนานิกายอื่นๆ แต่วิธีของเซนนี้ความจริงก็มิใช่วิธีใดๆ ตามความหมายของคำตามปรกติธรรมดาเลย บางทีก็เป็นวิธีที่ “ป่าเถื่อน”น่าสพึงกลัว ทั้งนี้เพราะมิใช่วิธีแบบวิทยาศาสตร์ หากเป็นวิธี “ที่ทารุณโหดเหี้ยม”

เมื่อกล่าวโดยทั่วๆไปแล้ว ซาโตริ จะเกิดก็ต่อเมื่อคนเราอยู่ปลายสุดแห่งความฉลาดของเขา เราจะมีความรู้สึกขึ้นมาในตัวเองว่ามีอะไรบางสิ่งบางอย่างเหลืออยู่ ซึ่งอาจจะทำให้เขาเป็นผู้เชี่ยวชาญในศิลปะได้สำเร็จสมบูรณ์ ไม่ว่ามันจะเป็นอะไรก็ตาม เขาไม่มีอะไรจะต้องศึกษาในส่วนที่เกี่ยวกับเทคนิคเลย แต่ถ้าหากเขาอุทิศตัวให้แก่งานสาขาที่เขาเลือกแล้ว ก็แน่ใจได้ว่าเขาจะมีความรู้สึกว่าไม่ใช่ของง่ายเลย ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากอะไรบางอย่างในสิ่งที่มิใช่ความรู้สึกนึกคิดของเขานั่นเอง ซึ่งบัดนี้กำลังพยายามเคลื่อนออกมาสู่ที่โล่งแห่งความรู้สึกนึกคิดอย่างกระวนกระวายใจ

หลักการซาโตริ

การรู้แจ้ง นั่นแหละคือจุดศูนย์กลางแห่งคำสอนในพระพุทธศาสนาทุกนิกาย คือทั้งหีนยานและมหายาน ทั้ง “อำนาจในตัวเอง” และ “อำนาจจากภายนอก” ทั้งวิถีทางที่บริสุทธิ์และสุขาวดี ทั้งนี้เพราะคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหมด เริ่มต้นจากตอนที่พระองค์ได้ตรัสรู้อนุตรสัมมาสัมโพธิญานทางภาคเหนือของประเทศอินเดีย เมื่อประมาณ 2500 ปีเศษมาแล้ว เพราะฉะนั้นจึงหวังกันว่าพุทธศาสนิกชนทุกคนจะต้องได้รับความรู้แจ้ง คือตรัสรู้ ความจริงเซนนี่ที่ทำให้เกิดการตรัสรู้หรือ “ซาโตริ” เพื่อที่จะได้รู้แจ้ง “ซาโตริ” เซนก็เปิดเผยวิถีทางทั่ว ๆ ไปให้แก่เรา 2 ทางด้วยกัน คือ ทางการพูดและทางการกระทำ

ประการแรก การยึดถือตามถ้อยคำเกินไปแบบเซนนับว่าเป็นลักษณะที่สำคัญของเซน แม้ว่าเราจะทำให้มันแตกต่างไปจากปรัชญา สัทศาสตร์ หรือวาทวิจารณ์อย่างสมบูรณ์แบบถึงขนาดนั้น แต่ก็อาจไม่ถูกต้องนักที่จะเอาคำว่า “การยึดถือตามถ้อยคำเกินไป” มาใช้กับเซนเลย แต่ดังที่พวกเราก็รู้กันทุกคน

ตัวอย่าง เช่น อาจารย์เซนรูปหนึ่งได้ชูไม้เท้าขึ้นมาเบื้องหน้า ฝูงชนที่มาฟังธรรมและประกาศว่า “(ถ้า) ท่านไม่เรียกมันว่าไม้เท้า ท่านจะเรียกมันว่ากระไร?” มีชายผู้หนึ่งก้าวออกมาจากที่ประชุมฉวยเอาไม้เท้าอาจารย์ไปหักเป็น 2 ท่อน แล้วก็โยนลงที่พื้น ทั้งหมดนี้เป็นผลแห่งการประกาศที่ไม่สมเหตุสมผลของอาจารย์เซน

อาจารย์เซนอีกรูปหนึ่ง ชูไม้เท้าขึ้นพลางกล่าวว่า “ถ้าท่านมีไม้เท้าอันหนึ่ง ข้าพเจ้าจะให้ไม้เท้าของข้าพเจ้าแก่ท่าน ถ้าท่านไม่มีเลย ข้าพเจ้าจะเอาไม้เท้าไปจากท่าน” ในถ้อยคำนี้ไม่มีลัทธิเหตุผลใด ๆ อยู่เลย

ยังมีอาจารย์เซนอีกรูปหนึ่ง ครั้งหนึ่งได้เทศน์ว่า “เมื่อท่านทราบว่าไม้เท้านี้คืออะไรแล้ว ท่านก็จะทราบสิ่งทั้งปวง ท่านได้เรียนเซนจบแล้ว” แล้วท่านก็ออกจากห้องประชุมนั้นไปโดยมิได้กล่าวอะไรอีกเลย

นี่คือสิ่งที่ข้าพเจ้าเรียกว่า การยึดถือตามถ้อยคำเกินไปของเซน ปรัชญาของเซนก็มาจากการยึดถือตามถ้อยคำเกินไปนี้แหละ อย่างไรก็ดี ปรัชญามิได้เกี่ยวข้องกับการที่จะชี้แจง “ปริศนาธรรม” ที่เป็นคำพูดเหล่านี้ หากเพื่อให้บรรลุถึงจิตเอง ซึ่งจะไหลซึมหรือซับปริศนาธรรมเหล่านั้นตามธรรมชาติอย่างหลีกเลี่ยงไม่พ้น ดุจดังเมฆที่โผล่ขึ้นจากยอดเขา ฉะนั้น สั่งที่เกี่ยวข้องกับเรา ณ ที่นี้หาใช่เนื้อสารที่จะไหลซึมหรือซับ นั่นคือคำพูดหรือภาษาเช่นนั้นไม่ แต่จะเป็น “อะไรบางอย่าง” ที่บินร่อนอยู่รอบ ๆ นั้น แม้ว่าเราจะไม่สามารถกำหนดให้แน่นอนได้ว่ามันอยู่ตรงไหนก็ตาม แล้วก็กล่าวว่า “อยู่นี่เอง!” การเรียกมันว่า จิต ก็นับว่าห่างจากข้อเท็จจริงแห่งประสบการณ์อยู่ มันคือ “X” ซึ่งไม่อาจบอกชื่อได้ว่าคืออะไร มันมัได้เป็นนัยนามธรรมใด ๆ หากเป็นรูปธรรมอย่างเพียงพอและโดยตรงดังที่นัยน์ตามองเห็นว่า ดวงอาทิตย์เป็นอะไร แต่ดวงอาทิตย์ก็มิได้เป็นสิ่งที่เราจะเอามารวมไว้ในประเภทของสัทศาสตร์เลย พอเราทำสิ่งนี้ มันก็หายไป เพราะฉะนั้นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายจึงเรียกมันว่า “สิ่งที่ไม่อาจบรรลุถึงได้” “สิ่งที่ไม่อาจยึดได้”

ประการที่ 2 คือการเข้าถึงทางการกระทำ คือการยึดถือตามถ้อยคำก็เป็นการเข้าถึงทางการกระทำด้วยเช่นกัน ตราบเท่าที่มันเป็นรูปธรรมและเป็นบุคคลอยู่ แต่ในการเข้าถึงทางการกระทำนั้น เมื่อว่าตามหลักฐานทางประสาทสัมผัสของเราแล้ว ย่อมเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เราเรียกว่า “กาย”

การสอนโดยการกระทำฟัง โดยการดู มีอะไรบางอย่างในทำนองนั้นอยู่ ในการเข้าถึงการรู้แจ้งโดยการกระทำ แต่การกระทำโดยตรงในพระพุทธศาสนิกายเซนมีความหมายอีกอย่างหนึ่ง มีวัตถุประสงค์ที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้นอยู่อย่างหนึ่งที่เกิดจากการปลุกวิญญาณบางอย่างที่ได้รับการปรับปรุงให้ถูกจังหวะแห่งความแท้จริง ให้เกิดมีขึ้นในจิตของศิษย์ เรื่องต่อไปนี้มีลักษณะแตกต่างออกไปอีกแบบหนึ่ง เป็นเรื่องที่เพียงแสดงให้เห็นว่าการยึดมั่น กลเม็ด โดยการดำเนินไปตามสถานการณ์ด้วยตัวเองตามลำพังโดยมิต้องมีอะไรจากภายนอกมาช่วยเหลือนั้นมีความสำคัญเพียงใด นับว่าเป็นตัวอย่างแห่งวิถีการสอนเกี่ยวกับเรื่องเจตนารมณ์แห่ง “การพึ่งตัวเอง” ของเซนตามหลักวิชาครู ถ้าทำได้สมบูรณ์ก็นับว่าสอดคล้องต้องกันกับคำสอนของพระพุทธเจ้าและอาจารย์คนอื่น ๆ ที่ว่า “จงอย่างพึ่งผู้อื่น หรือสิ่งอื่น จงอย่าอ่านสูตรหรือศาสตร์ใด ๆ จงเป็นประทีปของตนเอง”

“ถ้ามีคนถามข้าพเจ้าว่าเซนเหมือนอะไร ข้าพเจ้าก็จะกล่าวว่า เซนเปรียบเสมือนการเรียนศิลปะการขโมยนั่นเอง บุตรของหัวขโมยเห็นว่าบิดาของตนแก่ลงไปทุกที จึงคิดว่า ‘ถ้าหากพ่อเราไม่สามารถประกอบอาชีพนี้ได้อีกต่อไปแล้ว นอกจากตัวเราแล้ว ใครเล่าจะเป็นผู้หาเลี้ยงครอบครัว? เราจะต้องเรียนเรื่องการค้า’ เขาได้นำเอาความคิดนี้ไปเล่าให้บิดาฟัง บิดาก็เห็นชอบด้วย

คืนหนึ่งบิดาพาบุตรไปยังบ้านหลังใหญ่หลังหนึ่ง ตัดรั้วแล้วพากันเข้าไปในบ้าน เมื่อบิดาเปิดตู้ใหญ่ลูกหนึ่งได้แล้ว ก็บอกให้บุตรชายเข้าไปขโมยเอาเสื้อผ้าออกมา พอบุตรชายเข้าไปในตู้ลูกนั้นบิดาก็ปิดตู้ลั่นกุญแจเลย แล้วบิดาก็ออกมาที่สนามหญ้าและเขย่าประตูโดยแรง ทำให้คนในครอบครัวนั้นตื่นขึ้นมาหมด แล้วก็ย่องหนีออกไปทางช่องรั้วอย่างเงียบ ๆ พวกที่อยู่ในบ้านพากันตกอกตกใจ แล้วก็จุดเทียนขึ้น แต่ขโมยได้หนีออกไปเสียแล้ว”

“บุตรหัวขโมยที่ติดอยู่ในตู้อย่างปลอดภัยนั้นได้คิดถึงบิดาผู้โหดร้ายของเขา เขาได้รับทุกข์ทรมานมาก แล้วความคิดที่วิเศษก็วูบขึ้นมาในสมองของเขา เขาได้ทำเสียงเหมือนเสียงหนูกัดตู้ ครอบครัวนั้นได้บอกให้สาวใช้เอาเทียนมาส่องดูตู้เมื่อเปิดตู้ออก บุตรหัวขโมยก็ออกมาแล้วดับไฟเสียแล้วก็ผลักสาวใช้กระเด็นไป แล้วตัวเองก็หลบหนีไปได้ คนทั้งหลายก็วิ่งตามเขาไป เขามองเห็นสระน้ำสระหนึ่งข้างถนน จึงยกหินก้อนใหญ่ขึ้นมาก้อนหนึ่งแล้วก็ทุ่มลงไปในน้ำ พวกที่วิ่งติดตามมาก็มามุงกันอยู่รอบ ๆ สระพยายามส่ายสายตาหาขโมยที่จมอยู่ในสระอันมืดมิดนั้น”

“พร้อมกันนั้น บุตรหัวขโมยก็กลับไปถึงบ้านบิดาโดยปลอยภัย เขาได้ต่อว่าบิดาอย่างรุนแรงที่หนีเอาตัวรอดมาตามลำพัง บิดาได้กล่าวว่า ‘ลูกรัก อย่างลงโทษพ่อเลย เพียงลูกช่วยบอกพ่อหน่อยเถิดว่าลูกหนีออกมาได้อย่างไร’ เมื่อบุตรเล่าเรื่องการผจญภัยทั้งหมดให้ฟังแล้ว บิดาก็กล่าวว่า ‘นั่นแหละลูกได้เรียนศิลปะแล้ว’ ”

หัวใจของเรื่องนี้อยู่ที่จะสาธิตให้เห็นถึงว่าคำสอนด้วยปากและการเสนอความคิดนั้น เป็นสิ่งที่ไร้ประโยชน์ตราบเท่าที่ยังเกี่ยวข้องกับประสบการณ์แห่งการรู้แจ้งอยู่ “ชาโตริ” จะต้องเป็นผลที่เกิดจากชีวิตชั้นในของเรา และต้องไม่ใช่การปลูกฝังด้วยคำพูดที่ได้มาจากภายนอก

ซาโตริในชีวิตประจำวัน

บัดนี้เราก็สามารถจะพูดถึงเซนแบบย่อ ๆ ได้บ้างไม่มากก็น้อย ดังนี้

1. ระเบียบวินัยของเซนเกิดจากการรู้แจ้ง (หรือที่เรียกเป็นภาษาญี่ปุ่นว่า “ซาโตริ”)

2. นับตั้งแต่นั้นมา“ซาโตริ”ก็ได้พบความหมายซ่อนอยู่ในประสบการณ์เฉพาะที่เป็นรูปธรรมในชีวิตระจำ วันของเรา เช่น การกิน ดื่ม หรือธุรกิจทุกชนิด

3. ความหมายที่เปิดเผยแล้วเช่นนั้นมิได้เป็นอะไรบางอย่างที่ได้เพิ่มมาจากภายนอกเลย มันอยู่ในความเป็นตัวมันเอง ในความหมายเป็นตัวมันเองในตัวเองที่ยังมีชีวิตอยู่นี้ ในภาษาญี่ปุ่นเรียกว่า ชีวิตของ “โคะโนะ-มะมะ” หรือ “โซะโนะ-มะมะ” “โคะโนะ-มะมะ” หรือ “โซะโนะ-มะมะ” หมายถึงความเป็น(ภาวะ)ของสิ่งสิ่งหนึ่ง นั่นคือความแท้จริงในความเป็น (ภาวะ) ของมันเอง

4. บางคนอาจกล่าวว่า “ไม่อาจมีความหมายใด ๆ เพียงในความเป็น (ภาวะ) นั้น” แต่นี่มิใช่ทัศนะที่เซนยึดถือเลย เพราะเซนเห็นว่าความเป็น (ภาวะ) เป็นความหมาย เมื่อข้าพเจ้ามองเข้าไปในเซน ข้าพเจ้าก็เห็นเซนอย่างแจ่มแจ้ง เหมือนข้าพเจ้าเห็นภายตัวเองที่สะท้อนอยู่ในกระจกเงา ฉะนั้น

5. นี่คือสิ่งที่ทำให้ โฮ โคยิ (ผัง จื่อชือ) ศิษย์ผู้เป็นคฤหัสถ์สมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๓ ประกาศว่า
มันช่างประหลาดอะไรเช่นนั้น มันช่างลึกลับอะไรเช่นนั้น ! ข้าพเจ้าถือเชื้อเพลิง ข้าพเจ้าทำให้น้ำไหล
ตัวการถือคบเพลิงหรือการทำให้น้ำไหลนั่นเอง นอกจากลัทธิอรรถประโยชน์นิยมของมันแล้ว ก็นับว่าเต็มด้วยความหมาย ดังนั้นจึงเป็น “ความประหลาด” ของเซน เป็น “ความลึกลับของเซน”

6. ดังนั้น เซนจึงไม่ยอมปล่อยตัวไปในนัยนามธรรม หรือในการสร้างมโนภาพ ในสิ่งที่บอกกันด้วยปากของเซนนั้น บางทีอาจปรากฏว่าในเรื่องนี้เซน ได้ทำไว้มาก แต่ข้อนี้นับว่าเป็นความบกพร่องซึ่งพวกที่ไม่รู้เซนเลยได้ก่อให้เกิดมีขึ้นมาเป็นส่วนใหญ่

7. “ซาโตริ” เป็นความหลุดพ้น ทั้งทางด้านศีลธรรม ด้านจิตใจ และด้านพุทธิปัญญา เมื่อข้าพเจ้าอยู่ในความเป็น (ภาวะ = isness) ของข้าพเจ้าที่ถูกทำให้สะอาดหมดตะกอนทางด้านพุทธิปัญญาทั้งปวง ข้าพเจ้าก็มีเสรีภาพในความรู้สึกขั้นแรก

8. เมื่อจิตซึ่งบัดนี้อยู่ในภาวะ (isness) ของมันแล้ว ซึ่งถ้าหากเอาคำของเซนมาใช้ ก็คือไม่ใช่ภาวะ และดังนั้นย่อมพ้นจากความสลับซับซ้อน ทางด้านพุทธิปัญญาและความยึดมั่นอยู่กับคำอรรถาธิบายทุกอย่างทางด้านศีลธรรมย่อมสำรวจโลกแห่งประสาทสัมผัสที่มีอยู่มากมาย มันได้ค้นพบคุณค่ามากชนิดอยู่ในโลกแห่งประสาทสัมผัส ซึ่งก่อนหน้านั้นมองไม่เห็น ณ ที่นี้ย่อมเปิดให้ศิลปินได้เห็นโลกที่เต็มไปด้วยสิ่งประหลาด ๆ และมหัศจรรย์ต่าง ๆ

9. โลกของศิลปินเป็นโลกแห่งการสร้างสรรค์ที่เสรีและจะเกิดมีได้ก็จะสหัชญาณที่เกิดจากภาวะของสิ่งทั้งหลายที่มิได้มีประสาทสัมผัสและพุทธิปัญญาคอยขัดขวางโดยตรงและอย่างไม่มีประนีประนอมศิลปินได้สร้างรูปและเสียงจากความไม่มีรูปและความไม่มีเสียง โลกของศิลปินจึงสอดคล้องกับโลกของเซนอยู่บ้าง

10. สิ่งที่ทำให้เซนแตกต่างจากศิลปะก็คือว่า : เมื่อศิลปินต้องอาศัยผืนผ้าใบและพู่กันหรือเครื่องมือกล หรือสื่อกลางอื่น ๆ บางอย่างเพื่อแสดงตัวเอง เซนไม่ต้องการสิ่งทั้งหลายในภายนอกเลย นอกจาก “ร่าง” ที่ก่อให้เกิดเป็นตัวผู้ถือเซนนั้น จากทัศนะที่สมบูรณ์แล้วข้อนี้ยังไม่ถูกต้องนัก ที่ข้าพเจ้าพูดอย่างนี้ก็โดยยอมให้วิธีแบบโลก ๆ พูดถึงสิ่งทั้งหลายเท่านั้นเอง สิ่งที่เซนได้ทำลงไปก็คือวาดภาพตัวเองลงบนผื้นผ้าใบแห่งกาละและเทศะที่เป็นอนันตะให้เป็นห่านฟ้า (หงส์) ที่กำลังบินมีเงาทอดลงไปในน้ำเบื้องล่าง โดยมิได้มีความคิดใด ๆ ที่จะทำเช่นนั้นเลย ในขณะที่น้ำสะท้อนภาพห่านตามปรกติธรรมดาและโดยมิได้ตั้งใจเลย

11. นักปฏิบัตินิกายเซน นับว่าพอเป็นศิลปินได้บ้างในข้อที่ว่า ช่างแกะสลักย่อมเอาสิ่วสลักรูปขนาดใหญ่ให้ลึกลงไปในมวลวัตถุที่ไม่มีชีวิตชีวาอะไรฉันใด นักปฏิบัตินิกายเซนย่อม เปลี่ยนรูปชีวิตของตนเองให้เป็นงานสร้างสรรค์ซึ่งมีอยู่จริง ๆ ดังที่คริสต์ศาสนิกชนอาจกล่าวว่า ในประจิตของพระผู้เป็นเจ้า ฉันนั้น

หัวใจแห่งคำสอนของท่านเว่ยหล่าง

พระสูตรทางพระพุทธศาสนานิกายเซนที่โด่งดังและเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวาง ก็คือสูตรของท่านเว่ยหล่าง ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาต่าง ๆ เป็นเรื่องของการใช้ปัญญาเพื่อแสวงหาหนทางแห่งความเป็นพุทธะ เพื่อความหลุดพ้นจากเครื่องร้อยรัดทั้งปวง

เคยมีคนที่สวดมนต์ชี้คำหลายคำในคัมภีร์ที่ไม่เข้าใจความหมายแล้วถามท่านเว่ยหล่าง ท่านยิ้มแล้วตอบว่า “ข้าพเจ้าไม่รู้หนังสือท่านถามมาเลยดีกว่า”

คนคนนั้นรู้สึกแปลกใจแล้วพูดขึ้นว่า “ท่านอ่านหนังสือไม่ออก ท่านจะเข้าใจความหมาย เข้าใจหลักธรรมได้อย่างไร”

ท่านเว่ยหล่างตอบว่า “หลักธรรมของพุทธะ กับตัวหนังสือ ไม่เกี่ยวกัน ตัวหนังสือเป็นเพียงเครื่องมือที่จะเรียนรู้ สิ่งที่จะเข้าใจ หลักธรรมคือจิต คือตัวรู้ ไม่ใช่ตัวหนังสือ”

หลักคำสอนสำคัญของท่านเว่ยหล่างก็คือเรื่อง “จิตเดิมแท้” จิตเดิมแท้มีลักษณะอย่างไร ขอตอบด้วยคำอรรถาธิบายของท่านเอง

“จิตเดิมแท้ของเราซึ่งเป็นเมล็ดพันธุ์หรือแก่นของการตรัสรู้นั้น เป็นของบริสุทธิ์ตามธรรมชาติ และต้องอาศัยจิตเดิมแท้นี้เท่านั้น มนุษย์จึงจะเข้าถึงความเป็นพุทธะได้โดยตรง ๆ”

“จิตเดิมแท้ของเรา เป็นของบริสุทธิ์โดยเด็ดขาด และถ้าเราได้รู้จักใจของเราเอง และรู้ชัดว่าตัวธรรมชาติของเราคืออะไรแล้ว เราจะบรรลุถึงพุทธภาวะได้ทุก ๆ คน”

“วิปัสสนาปัญญาเกิดขึ้นในใจของกระผมเสมอ ๆ เมื่อผู้ใดผู้หนึ่งไม่มีจิตเลื่อนลอยไปจากเดิมแท้ของตนแล้ว ก็ควรจะเรียกเขาผู้นั้นว่า ผู้เป็นเนื้อนาบุญของโลก เหมือนกัน

แหม! ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้นั้น เป็นของบริสุทธิ์ อย่างบริสุทธิ์แท้จริง!

ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้นั้น เป็นอิสระ ไม่อยู่ภายใต้อำนาจความเป็นอยู่ หรือภายใต้ความดับสูญ อย่างอิสระแท้จริง!

ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์อยู่ในตัวของมันเองอย่างสมบูรณ์แล้วแท้จริง!

ใครจะไปคิดว่า จิตเดิมแท้นั้น เป็นสิ่งที่อยู่นอกเหนือความเปลี่ยนแปลงอย่างนอกเหนือแท้จริง!

ใครจะไปคิดว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่ปรากฏออกมานี้ ไหลเทออกมาจากจิตเดิมแท้!

หัวใจแห่งคำสอนของท่านฮวงโป

คำสอนสำคัญของท่านฮวงโปสามารถแบ่งเป็นสามประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

1. จิตหนึ่ง

ขอยกตัวอย่างจากคำสอนของท่านที่กล่าวกับศิษยานุศิษย์มาให้พิจารณา

“พระพุทธเจ้าทั้งปวงและสัตว์โลกทั้งสิ้น ไม่ได้เป็นอะไรอื่นเลย นอกจากเป็นเพียงจิตหนึ่ง นอกจากจิตหนึ่งนี้แล้ว มิได้มีอะไรตั้งอยู่เลย จิตหนึ่ง ซึ่งเป็นสิ่งปราศจากการตั้งต้นนี้ เป็นสิ่งไม่ได้เกิดขึ้น และไม่อาจจะถูกทำลายได้เลย มันไม่ใช่เป็นของมีสีเขียวหรือเหลืองและไม่มีทั้งรูป ไม่มีทั้งการปรากฏ มันไม่ถูกนับรวมในบรรดาสิ่งที่มีการตั้งอยู่และไม่มีการตั้งอยู่ มันไม่อาจถูกลงความเห็นว่าเป็นของใหม่ หรือของเก่า มันไม่ใช่ของยาวของสั้น ของใหญ่ ของเล็ก ทั้งนี้เพราะมันอยู่นอกเหนือขอบเขต เหนือการวัด เหนือการตั้งชื่อ เหนือการทิ้งร่องรอยเอาไว้และเหนือการเปรียบเทียบทั้งหมดทั้งสิ้น จิตหนึ่งนี้ เป็นสิ่งที่เธอเห็นตำตาเธออยู่แท้ ๆ แต่จงลองไปใช้เหตุผล (ว่ามันเป็นอะไรเป็นต้น) กับมันเข้าดูสิ เธอจักหล่นลงไปสู่ความผิดพลาดทันที สิ่งนี้เป็นเหมือนกับ ความว่าง อันปราศจากขอบเขตทุก ๆ ด้านซึ่งไม่อาจหยั่งหรือวัดได้”

“จิตหนึ่งนั้นแหละ คือ พุทธะ ไม่มีพุทธะอื่นใดที่ไหนอีก ไม่มีจิตอื่นใดที่ไหนอีก มันแจ่มจ้าและไร้ตำหนิ เช่นเดียวกับ ความว่าง คือ มันไม่มีรูปร่างหรือปรากฏการณ์ใด ๆ เลย การใช้จิตของเธอให้ปรุงความคิดฝันไปต่าง ๆ นั้น เท่ากับเธอละทิ้งเนื้อหาอันเป็นสาระเสีย แล้วไปผูกตนเองกับรูปธรรม ซึ่งเป็นเสมือนกับเปลือก”

“จิต เป็นเหมือน ความว่าง ซึ่งภายในนั้น ย่อมไม่มีความสับสนและความไม่ดีต่าง ๆ ดังจะเห็นได้ในเมื่อดวงอาทิตย์ผ่านไป ในที่ว่างนั้น ย่อมส่องแสงไปได้ทั้งสี่มุมโลก เพราะว่าเมื่อพระอาทิตย์ขึ้น และให้ความสว่างทั่วทั้งพื้นโลก ความว่าง ที่แท้จริงนั้นก็ไม่ได้สว่างขึ้น และเมื่อพระอาทิตย์ตก ความว่าง ก็ไม่มืดลง ปรากฏการณ์ของความสว่างและความมืด ย่อมสับเปลี่ยนซึ่งกันและกัน แต่ธรรมชาติของ ความว่าง ยังคงไม่เปลี่ยนแปลงอยู่นั่นเอง”

2. ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร

เมื่อจิตหนึ่ง หรือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันกับพุทธะทั้งหลายมีอยู่เป็นปกติแล้ว ก็ไม่ควรพยายามจะเพิ่มเติมอะไรให้แก่สิ่งซึ่งสมบูรณ์อยู่แล้วนั้น ด้วยการบำเพ็ญวัตรปฏิบัติต่าง ๆ ได้แก่ ทาน ศีล ขันติ ความเพียร สมาธิ และปัญญา หรือการได้บุญมากมายนับไม่ถ้วนซึ่งไร้ความหมาย เมื่อไรโอกาสอำนวยให้ทำ ก็ทำไป และเมื่อโอกาสผ่านไปแล้ว อยู่เฉย ๆ ก็แล้วกัน เพราะจิตนั้นคือพุทธะ ถ้ายังยึดมั่นถือมั่นต่อรูปธรรมต่าง ๆ ต่อวัตรปฏิบัติต่าง ๆ และต่อพิธีการบำเพ็ญบุญกุศลต่าง ๆ แนวความคิดก็ยังไม่เข้าร่องเข้ารอยกับทางแห่งพุทธะ การปรุงแต่งความคิดฝันไปต่าง ๆ นานาเท่ากับไปผูกพันตัวเองกับเปลือกกระพี้เท่านั้น

การปฏิบัติต่าง ๆ ด้วยเจตนาที่จะได้เป็นพุทธะนั้น เป็นการปฏิบัติแบบคืบหน้าไปทีละขั้น แต่พุทธะ ซึ่งมีอยู่ตลอดกาล ไม่ใช่พุทธะที่บรรลุถึงได้ด้วยการปฏิบัติเป็นขั้น ๆ เพียงแต่ตื่นและลืมตาก็จะเห็นได้เลย ไม่มีอะไรที่จะต้องบรรลุถึงอะไร พุทธะและสัตว์โลกทั้งหลาย คือจิตหนึ่งเดียวกัน เท่านั้นเอง ไม่มีอะไรอื่นนอกไปจากนี้อีกเลย

3. เซนไม่พึ่งพิงคัมภีร์หรือตัวอักษร

มีอำมาตย์ท่านหนึ่งในราชวงศ์ถัง นอกจากเป็นผู้มีชื่อเสียงแล้ว ยังปฏิบัติธรรมในแนวนิกายเซน ท่านสนใจและชอบค้นคว้าเรื่องราวเกี่ยวกับนิกายเซน และยังชอบจดบันทึกเรื่องราวการปฏิบัติธรรมของตัวเองไว้ แล้วรวบรวมทำเป็นเล่ม วันหนึ่ง ท่านนำหนังสือที่รวบรวมไว้ไปให้ท่านฮวงโปอย่างนอบน้อม เพื่อขอคำชี้แนะ โดยไม่นึกว่าท่านฮวงโปเมื่อรับไปแล้วจะโยนทิ้งไว้บนโต๊ะอย่างไม่ไยดี ท่านอำมาตย์รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ พลางนึกว่าท่านฮวงโปคงตำหนิที่ไม่ได้นำอะไรติดมือมาด้วย

ขณะที่กำลังเอ่ยปากจะพูด ท่านฮวงโปก็บอกว่า “เจ้าเข้าใจความหมายที่ทำหรือไม่” ท่านอำมาตย์ตอบ “ไม่เข้าใจ” ท่านฮวงโปพูดต่อ “เซนเป็นการสืบทอดนอกขอบข่ายของศาสนา ไม่พึ่งพิงตัวอักษร แล้วเจ้าทำไมถึงนำหลักธรรมมาทำเป็นตัวอักษร เป็นหนังสือ นี่ไม่ใช่เป็นการทำลายหลักธรรมอันแท้จริงหรอกหรือ”

พื้นฐาน 5 ประการของพุทธนิกายเซน

ถึงแม้จะมีสาขาแตกต่างกันออกไป อย่างไรก็ตาม พุทธศาสนานิกายเซน ก็มีหลักพื้นฐาน 5 ประการเช่นเดียวกัน ได้แก่

1. ความจริงสูงสุดเป็นสิ่งที่ไม่สามารถแสดงได้ด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือ

พุทธะคือธรรมชาติที่มีอยู่ภายในชีวิตของเรานี้เอง เมื่อความคิดปรุงแต่งหยุดลง ธรรมชาติดั้งเดิมก็พลันปรากฏ คือความเป็นพุทธะ ความสงบหรือดับร้อนที่เรียกว่า นิพพาน

2. การฝึกฝนในทางธรรมไม่อาจฝึกได้ด้วยความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง

เพราะในความคิดปรุงแต่งจะมีความรู้สึกที่มีตัวตนอยู่ด้วยเสมอทำให้เกิดการแบ่งแยกระหว่างสิ่งที่เป็นภายในกับสิ่งที่เป็นภายนอก และทำให้เกิดความยึดมั่นผูกพันกับวัตถุภายนอก ความพยายามที่เกิดจากการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นการฟังคำสอนของพระพุทธเจ้า การท่องพระสูตร การบูชาพระพุทธรูป การประกอบพิธีต่าง ๆ นั้น โดยแท้จริงแล้วเป็นสิ่งที่ไม่มีประโยชน์ ตรงข้ามบุคคลควรปล่อยจิตใจให้เป็นอิสระ เฝ้าดูและขจัดกระแสแห่งความคิดปรุงแต่ง และเข้าถึงธรรมชาติของความเป็นเช่นนั้นเอง การปฏิบัติธรรมที่แท้จริงจึงเกิดขึ้นได้

3. ผลบั้นปลายสุดท้าย ไม่มีอะไรที่ใหม่

ประสบการณ์ของการตื่นรู้ถึงธรรมชาติของสรรพสิ่ง เป็นเพียงสิ่งที่มีอยู่ในตัวเองตลอดเวลาอยู่แล้วเท่านั้นเอง ที่เราไม่ได้รู้สึกถึงสิ่งนี้เป็นเพราะอวิชชาของเราเอง เมื่อตัวตนที่ปรุงแต่งถูกขจัดออกไป ธรรมชาติที่แท้จริงก็ปรากฏตัวขึ้นแทนที่ และผู้นั้นก็จะกระทำสิ่งต่าง ๆ อย่างปราศจากตัวตน ซึ่งเป็นธรรมชาติของเขาจริง ๆ

4. ไม่มีอะไรมากในคำสอนทางพุทธศาสนา

สิ่งสำคัญมีเพียงประการเดียวคือ ประสบการณ์ของความตื่นรู้ถึงสภาวธรรม ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าพระพุทธเจ้า ไม่มีสิ่งที่เรียกว่าชาวพุทธ และไม่มีแม้กระทั่งสิ่งที่เรียกว่าพุทธศาสนา เพราะตราบใดที่ยังยึดติดในสิ่งเหล่านี้ก็ยังไม่อาจรู้แจ้งความจริงแท้ของสรรพสิ่ง

5. ในขณะที่กำลังทำงานตามปกติเป็นขณะแห่งการสัมผัสกับชีวิตทางธรรม

การตรัสรู้นั้นไม่จำกัดรูปแบบ ในขณะทำงานในชีวิตประจำวัน ก็อาจเป็นขณะแห่งการตรัสรู้ได้ ธรรมชาติแห่งความเป็นพุทธะเป็นสิ่งที่มีอยู่ปกติตามธรรมชาติ เราพบได้ในทุกหนทุกแห่งทุกเวลา

มรรคมีองค์ 8

เซนเป็นสาขาหนึ่งของพุทธศาสนา นิกายมหายาน ซึ่งยึดถือหลักปฏิบัติธรรมตามหลักของพระพุทธเจ้า ตามหลักของอริยสัจ 4 และ มรรค 8 เซน ได้รับการยอมรับจากบุคคลที่ไม่ใช่พุทธศาสนิกชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งบุคคลนอกทวีปเอเชีย ที่สนใจในเซนสามารถศึกษาและปฏิบัติธรรมได้ และได้เกิดนิกายสายย่อยออกมาที่เรียกว่าคริสเตียนเซน

มรรคมีองค์ 8 ในพุทธนิกายเซนนี้ ไม่มีการแสดงเป็นพระสูตรอย่างในพระคัมภีร์ใด ๆ เพราะนิกายเซนนี้ เน้นที่การปฏิบัติหรือวิธี มากกว่าการท่องจำจากพระสูตร ดังนั้นคำสอนในเรื่องมรรค 8 นี้จึงรวบรวมมาจากวิธีปฏิบัติของท่านพระอาจารย์ในนิกายเซน ที่มีการสอนในลักษณะวิธีปฏิบัติเพื่อให้เกิดการรู้แจ้งแห่งสัจธรรม ดังนี้



1. สัมมาทิฏฐิ

สัมมาทิฏฐิในความหมายของเซ็นคือ ทัศนะอันชอบในการมองสรรพสิ่ง
ผู้สัมมาทิฏฐิ ย่อมเห็นหนทางที่ชอบในการใช้ชีวิต แต่กว่างผู้นั้นจะทำเช่นนี้ได้ ก็ต้องใช้เวลากันยาวนานทีเดียว

ท่านพุทธทาสกล่าวถึงสัมมาทิฏฐิว่า “(คือความ) ถูกต้องในเรื่องของความรู้ ความคิด ความเชื่อ ความเข้าใจ… ถ้ามีสัมมาทิฏฐิก็สว่างไสว คือมันไม่ปรุง ก็ไม่เป็นทุกข์”

เซ็นกับชีวิตประจำวัน

ท่านอาจารย์มิจิโมโต้ต้องฝ่าฟันความลำบากยากเข็ญอย่างยิ่งกว่าที่ท่านจะได้พบกับอาจารย์ของท่าน เพราะทุกอย่างล้วนแต่มีความยากลำบากนานัปการด้วยกันทั้งสิ้น ซึ่งหาเป็นเรา เราก็คงยอมแพ้ไปนานแล้ว ไม่ยอมทนลำบากอย่างนี้แน่ แต่ท่านอาจารย์มิจิโมโต้กลับยอมเสี่ยงชีวิตเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังประเทศจีน ด้วยเพราะต้องการไปตามหาอาจารย์ของท่าน
แต่ก็ใช่ว่า พอถึงเมืองจีนแล้ว ท่านจะได้พบกับอาจารย์เลยทันทีก็เปล่า ท่านยังต้องเที่ยวตามหาไปตามวัดต่าง ๆ ทั่วทุกแห่งจนท่านเองเกือบจะเลือกล้มความตั้งใจอยู่แล้ว ท่านถึงได้พบกับท่านอาจารย์หยูจิ้ง

ซึ่งถ้าตอนนั้น ท่านยังไม่ได้พบกับท่านอาจารย์หยูจิ้ง บางทีท่านอาจจะเดินทางต่อไปยังชมพูทวีปดินแดนต้นกำเนิดพระพุทธศาสนาก็เป็นได้ แต่ในที่สุดท่านก็ได้พบกับท่านอาจารย์หยูจิ้ง ด้วยท่านคิดว่าการตามหาอาจารย์เป็นสุขอันยิ่งใหญ่ ซึ่งความรู้สึกปีติในตอนนั้น คงยากที่จะพรรณนาด้วยคำพูดใดใดได้

ท่านจึงได้อยู่ปฏิบัติธรรม โดยมีท่านอาจารย์หยูจิ้งคอยสอนคอยชี้แนะ จนรู้แจ้งในพระธรรมคำสอนทั้งกายและวิญญาณ

หลังจากที่ท่านปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมที่เมืองจีนแล้ว ท่านก็เก็บข้าวของเดินทางกลับญี่ปุ่นทันที และคำแรกที่ท่านกล่าวเมื่อกลับถึงประเทศญี่ปุ่นก็คือ “ตาอยู่ขวาง จมูกอยู่ตั้ง”หากเราตีความตามคำนี้ จะเห็นได้ว่า ดวงตาวางขวางอยู่บนใบหน้า ในขณะที่จมูกกลับตั้งในแนวดิ่ง ซึ่งดูขัดตายังไง ๆ อยู่ แต่ความจริง มันก็มีเหตุผลที่ควรเป็นเช่นนี้ของมัน เวลาที่เราพูดถึงพุทธศาสนาหรือเซ็น เรามักตั้งอกตั้งใจกันเป็นพิเศษ ด้วยถือว่าเป็นเรื่องพิเศษเรื่องหนึ่ง เพราะมีแต่ผู้ที่มองตัวเองอย่านี้และมองว่าการใช้ชีวิตประจำวันคือ การปฏิบัติธรรมอันเคร่งครัดเท่านั้น ที่จะรู้แจ้งธรรมะแห่งพุทธศาสนาได้

หรืออีกนัยหนึ่งคือ ไม่ว่าจะทานอาหาร อาบน้ำ ปัดกวาด หรือ ซักล้าง ก็ล้วนเป็นการปฏิบัติธรรมตามนิกายเซ็นทั้งสิ้น

รวมความว่า ถ้าใช้ชีวิตประจำวันอย่างเคร่งครัดได้ เมล็ดพันธุ์แห่งพุทธะที่อยู่ในใจของแต่ละคน ก็จะแตกหน่อ แตกกิ่งก้าน และผลิดอกออกผล ซึ่งก็หมายความว่า ถ้าเราลงแรงไถหว่านเมล็ดพันธุ์ เราก็จะได้รับผลเก็บเกี่ยว

ดับขันธ์

พุทธศาสนาที่ถือกำเนิดขึ้นในอินเดีย ได้เผยแผ่ไปยังดินแดนต่าง ๆ อย่างกว้างขวางด้วยเส้นทางสองสาย

เส้นทางสายหนึ่งข้ามผ่านภูเขาหิมาลัย เข้าไปในประเทศจีน ต่อมาก็เผยแผ่ไปยังเกาหลีและต่อไปจนถึงญี่ปุ่น ฝ่ายนี้คือพุทธศาสนาฝ่ายเหนือ หรือที่เรียกกันว่า พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน

ส่วนเส้นทางอีกสายหนึ่งเผยแผ่จากอินเดียไปยังศรีลังกา พม่าและประเทศไทย คือ พุทธศาสนาฝ่ายใต้ หรือที่เรียกกันว่า พุทธศาสนา ฝ่ายหินยาน

คำว่า “มหายาน” นั้น เดิมทีหมายถึงยานพาหนะขนาดใหญ่ อันมีความหมายว่า พาหนะที่บรรทุกผู้คนไปยังพุทธพิภพได้คราวละมาก ๆ ส่วน “หินยาน” นั้น ช่วยคนคราวละมาก ๆ ไม่ได้ เพราะมีที่นั่งน้อยกว่า แต่คำกล่าวนี้เป็นทัศนะเดิมของฝ่ายมหายานแต่ฝ่ายเดียว ไม่มีอยู่ในพุทธศาสนาฝ่ายใต้

การ “ดับขันธ์” เป็นเอกลักษณ์ของพุทธศาสนาฝ่ายใต้ อันหมายความว่า เมื่อสังขารหรือร่างกายถูกเผาไหม้จนมอดสิ้นแล้วแม่แต่ดวงจิตก็ไม่เหลืออยู่ เพราะพลอยถูกเผามอดสิ้นไปด้วย ซึ่งสำหรับเรา ๆ ท่าน ๆ แล้ว นั่นมิใช่หมายถึงภาวะที่เป็น “ความตาย” ดอกหรือ ?

หากเปรียบ “การดับขันธ์” เป็นเสมือนดอกไม้กระถางหนึ่ง มันก็เป็นดอกไม้ในกระถางที่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เพาะเลี้ยงเป็นอย่างดีดังนั้นดอกไม้นั้นจึงต่างจากดอกไม้อื่น ๆ ทั่วไป และเป็นธรรมดาอยู่เองที่ย่อมจะไม่มีหญ้าขึ้นรกให้เห็นในกระถางเลย

แต่พุทธศาสนาฝ่ายมหายานจะรู้สึกอึดอัดใจกับ “กระถางดอกไม้” นี้มาก ดอกไม้ในที่ปลูกในกระถางนั้น จะมีหลายพันธุ์ได้หรือไม่ ไม่ได้เพราะพันธุ์ไม้ที่หลากหลายนั่นเอง ที่ทำให้ชีวิตมีสีสันหลากหลายขึ้นสวยงามละลานตา คุณดูสิ ต้นหญ้าในกระถางดอกไม้นั่น หากคุณสังเกตดูให้ดี มันมิเป็นความงามอีกแบบซึ่งสุดจะพรรณนาได้ดอกหรือ ?

แม้ว่า “การดับขันธ์” จะเป็นสภาวะที่อยู่ในความใฝ่ฝันของพุทธศาสนา แต่บางครั้งต้นหญ้าก็มีความงามของมันเหมือนกัน




ไม่ยึดติดกับตัวหนังสือ

ดื่มน้ำหวานในแก้วแล้วรู้สึกหวานอร่อยมาก แต่ควรจะบอกคนอื่นด้วยวิธีใด เขาถึงจะรู้ว่ารสชาติอร่อย แม้จะบอกเล่าด้วยคำพูด แต่ก็ยังมีข้อจำกัดอยู่มากทีเดียว และไม่ว่าจะแสดงออกให้เห็นแบบแยบยลเพียงใด ก็ยังไม่สามารถถ่ายทอดรสชาติชนิดนั้นออกมาได้หมดสิ้น และถึงแม้จะเปลี่ยนมาเขียนเป็นหนังสือ มันก็ยังเหมือนเดิมทุกอย่าง โดยเฉพาะยิ่งอธิบายได้ฉลาดล้ำเท่าใด ก็ดูจะยิ่งพูดเท็จมากขึ้นเท่านั้น

ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน ภาวการณ์รู้แจ้งในเซ็นก็เป็นเช่นนี้เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคำพูดหรือตัวหนังสือ ต่างก็มีข้อจำกัดด้วยกันทั้งสิ้นนิกายเซ็นจึงกล่าวว่า “ไม่ยึดติดในตัวหนังสือ” แสดงว่าไม่อาจจะอธิบายภาวะการรู้แจ้งธรรมแห่งเซ็นได้ด้วยคำพูดหรือตัวหนังสือ

ในการนั่งสมาธิแบบเซ็นนั้น จะมีการอธิบายท่านั่งสมาธิให้ฟังเช่น นั่งขัดสมาธิ หลังตรงสอบมือประสานกัน เป็นต้น ซึ่งเมื่ออธิบายให้ฟังแล้ว คนที่เข้ามานั่งสมาธิจะเข้าใจได้ทันที แต่ส่วนที่เหลือต่างคนต่างก็จะได้รับรู้ความรู้สึกซึมซาบไม่เหมือนกัน

ตัวอย่างเช่น รสชาติของน้ำหวานในแก้ว คนกินต่างก็มีความรู้สึกลึก ๆ ที่ไม่เหมือนกัน คนที่หิวกระหายดื่มเข้า จะรู้สึกว่ารสหวานอร่อย แด่คนที่เพิ่งทานของหวานมาดื่มเข้า อาจจะไม่รู้สึกอร่อยด้วยเลยก็ได้

ด้วยเหตุผลอย่างเดียวกัน แม้ต่างก็มีประสบการณ์ในการนั่งสมาธิแต่ก็จะได้รับการซึมซับไม่เหมือนกันเลยทีเดียว ซึ่งก็ควรที่ต่างคนต่างมีความรู้สึกซึมซาบถึงจะถูก เพราะถ้าทุกคนมีความรู้สึกซึมซาบเหมือนกันหมด ก็คงพูดไม่ได้ว่าเป็นโลกของเซ็น และเพราะต่างคนต่างมีความรู้สึกซึมซาบไม่เหมือนกันนี่เอง จึงทำให้เกิดคำในนิกายเซ็นขึ้นมามากมาย กล่าวคือมีหนังสือให้เรียนรู้ธรรมะมากมายแต่ก็มีเป้าหมายอยู่ที่การ “ไม่ยึดติดกับตัวหนังสือ”

คนที่เคยชินกับการยึดติดในรูปแบบ พอก้าวเข้าไปนั่งในห้องปฏิบัติธรรมในวัดเซ็น จะเกิดความรู้สึกสับสนขึ้นมา ทั้งนี้เพราะรูปแบบที่ตายตัวนั้น ใช้ไม่ได้กับการนั่งสมาธิแบบเซ็น

ดังนั้น แม้จะนั่งสมาธิจนควบคุมจิตให้เคลื่อนไปตามรูปแบบที่กำหนดได้ ก็ไม่ได้ช่วยอะไรเขาได้เลย

รวมความแล้วคงพูดได้ว่า คงมีแต่คนที่นั่งสมาธิแบบเซ็นเท่านั้น ที่จะรู้ว่ารสชาติของน้ำหวานเป็นอย่างไร




2. สัมมาสังกัปปะ

สัมมาสิงกัปปะ คือ ความดำริชอบ

ซึ่งก็คือ ไม่คิดดำริโดยเห็นแก่ตัวเอง แต่ต้องพิจารณาเรื่องราวทั้งหลายอย่างถูกต้อง
ท่านพุทธทาสกล่าวถึงสัมมาสังกัปปะว่าคือ “ความประสงค์อย่างถูกต้อง… ต้องการด้วยปัญญา ด้วยความรู้ คือสัมมาทิฏฐิก็มีแล้ว แล้วก็ต้องการด้วยอำนาจของสัมมาทิฏฐิ ก็เรียกว่า สัมมาสังกัปปะ”

ความอัศจรรย์

“ความอัศจรรย์” หมายถึง สิ่งที่ไม่ใช่จะอธิบายได้ด้วยความคิดหรือคำพูดได้ ซุ่งแม้จะคล้ายคลึงกับ “ปาฏิหาริย์” มาก แต่ก็ต่างกันอยู่บ้าง

แม้ในพุทธศาสนาจะไม่มีปาฏิหาริย์ แต่ก็มีสิ่งที่อัศจรรย์อยู่ ซึ่งบางทีดูผลแล้ว จะเป็นสิ่งที่คล้ายกันมาก แต่ก็ไม่เหมือนกันโดยสิ้นเชิง คุณจะทำอย่างไร ถ้าคุณมีเจ้านายที่มีทัศนะคติไม่ตรงกัน ?

ชวนเพื่อนไปดื่นแก้กลุ้มแก้เซ็งหลังเลิกงาน หรือฝืนใจทำงานกับเขาต่อไป หรือยอมอดทนสัก๒-๓ปีแล้วดูว่าฝ่ายไหนจะถูกย้ายหรือเปลี่ยนงานไปก่อน

ไม่ว่าคุณจะเลือกอย่างไร ก็ยังเปลี่ยนแปลงสภาวะปัจจุบันไม่ได้ถ้าคุณรอ ๒-๓ปี แล้วไปเจอเจ้านายที่แย่ยิ่งกว่าเก่า คุณจะทำอย่างไรต่อไป ?

ดังนั้น จึงต้องแก้ไขปัญหาตามสภาวะในปัจจุบัน ถึงจะถูก

มันก็เหมือนเอาแก้วสองใบมากระทบกัน ย่อมจะต้องมีใบหนึ่งแตกเสียหาย แต่ถ้าเอาแก้วไปกระทบกับฝ้าย แก้วก็จะไม่แจกด้วยเหตุผล อย่างเดียวกัน บางครั้งจึงจำเป็นต้องเปลี่ยนความคิดที่ “เกลียดชังเจ้านาย” ของตนเสียคือต้องเปลี่ยนให้เป็นวัสดุที่กระทบแล้วไม่ทำให้แตกเสียหาย

แม้เราจะเรียกร้องให้เจ้านายเปลี่ยนจากแก้วเป็นฝ้ายก็ตามแต่ในความจริงแล้ว มันไม่ง่ายเลยที่จะเปลี่ยนแปลงนิสัยของคนอื่นนับประสาอะไรกับเรื่องนี้เป็นปัญหาทางใจเท่านั้น ซึ่งสิ่งที่ตัวเองมองทะลุได้ง่ายที่สุดคือ ใจของตัวเอง ดังนั้น สิ่งที่เรารู้ชัดแจ้งที่สุด นอกจากจะแก้ไขได้ง่ายแล้ว ยังแก้ไขได้รวดเร็วอีกด้วย

แต่ในความเป็นจริงเรามักวางจุดหนังในการแก้ไขปัญหาไว้ที่ภาพภายนอกเสียเป็นส่วนใหญ่จึงทำให้ปัญหายุ่งเหยิงสับสนมากยิ่งขึ้นไปอีก

รวมความว่า เราต้องสังเกตสาเหตุของความไม่ปรองดองกันให้ดีและพยายามค้นหาข้อดีของอีกฝ่ายหนึ่ง เพื่อจะได้เข้าใจในตัวเรานอกจากนี้ การแสดงน้ำใจกับอีกฝ่ายด้วยน้ำใสใจจริง ก็เป็นทางออกอย่างหนึ่งเหมือนกัน

อาตมาคิดว่า ความพยายามแบบนี้น่าจะก่อตัวกลายเป็น “ความอัศจรรย์” ในหมู่เพื่อนฝูงได้

เป็นตัวของตัวเองในทุกที่

คนทำงานบริษัทจะกังวลเรื่องถูกโยกย้ายกันมากที่สุด ยิ่งถ้าเป็นบริษัทใหญ่ ก็ยิ่งมีโอกาสที่จะถูกย้ายมากขึ้น แต่ถ้าไม่ย้าย ก็จะไม่มีโอกาสก้าวหน้า ซึ่งบางทีก็ไม่ได้จำกัดอยู่แค่ว่าจะย้ายงานอยู่แต่ภายในประเทศเท่านั้น โดยอาจถูกย้ายไปอยู่ที่ไหนก็ได้ทั่วโลก ดังนั้น เวลาที่เพื่อนฝูงมาพบปะกันในงานสมาคมศิษย์เก่า ทุกคนก็จะคุยปรับทุกข์ถึงเรื่องที่ถูกย้ายกัน และถ้าคุณถูกย้ายงานหลังจากที่เพิ่งซื้อบ้านหลังใหม่ได้ไม่ทั้งที่นาน คุณก็ยังคงต้องผ่อนบ้านหลังนั้นอยู่ ทั้งที่คุณยังไม่ได้ย้ายเข้าไปอยู่ด้วยซ้ำไปแล้วถ้ามีใครสักคนในบ้านติดสอบ เขาก็คงต้องไปเช่าหอพักอยู่คนเดียว ไม่รู้ว่าเจ้านายในบริษัทเขากำลังคิดอะไรกันแน่ สังคมเราจะเปลี่ยนไปเป็นอะไรกันแน่ ?

คำของเซ็นมีว่า “จงเป็นตัวของตัวเองในทุกที่ เพราะทุกที่ที่อยู่นั้นคือ สัจธรรม” อันนี้หมายความว่า ไม่ว่ากาลเทศะนั้นจะเป็นอย่างไรก็ตาม ขอเพียงให้เราตื่นอยู่ตลอดเวลา ไม่ว่าจะเป็นกาลเทศะใด ก็มีสัจธรรมแห่งพุทธศาสนาดำรงอยู่ทั้งสิ้น

วิถีชีวิตของคนเรา ไม่ใช่เส้นทางที่กว้างใหญ่ราบเรียบ ดังที่ผู้ใหญ่บอกไว้ว่า ชีวิตคนเรามีภูเขา มีหุบเหว ลำบากยากเข็ญอย่างยิ่ง มีความโศกเศร้าและทุกขเวทนา เกิดขึ้นอยู่เสมอ แล้วเราก็ยังหลีกเลี่ยงความล้มเหลวไม่ได้ เราจะต้องเอาชนะอุปสรรคทีละอย่าง ๆ ด้วยการพึ่งตนเองเท่านั้น ดังคำพระที่ว่า อฺตตาหิอฺตตาโน นาโถ ตนแลเป็นที่พึ่งแห่งตน

เราต้องเผชิญหน้ากับชีวิตของตัวเองท่ามกลางความทุกข์เข็ญอย่างยิ่ง พระศากยมุนีกล่าวว่า “จงถือตัวเองเป็นประทีป และพึ่งพามัน” หมายความว่า ท้ายที่สุดคนที่เราจะพึ่งได้ก็มีแต่ตัวเราเองเท่านั้น

สิ่งที่เป็น “เสาหลัก” ของชีวิตได้ ก็คือคุณสมบัติที่ “เป็นตัวของตัวเองในทุกที่” คนเราเมื่อถึงจุดที่เป็นทางแพร่งของชีวิต ก็ไม่รู้ว่าจะทำอย่างไรดี แม้จะเห็นว่า ทางนี้ดีกว่า และเริ่มเดินไปในทางนี้ แต่ก็มักนึกเสียใจกลางคันว่า ไม่น่าจะเดินทางนี้ แล้วกลับมองว่าอีกทางหนึ่งดีกว่า แต่เราก็ยังจะไม่มีดวงจิตที่ผ่องใส ยกเว้ยเสียแต่ว่า เรามองเห็นว่าเส้นทางที่เราเลือกไว้นั้นดีที่สุด

ความเป็นกับความตาย

หลวงจีนจ้าวโจวถามพระเซ็นชื่อ โถจื่อ ว่า “คนเราตายแล้ว” จะฟื้นคืนชีพได้อีกเมื่อไหร่?”

ท่านตอบว่า “ไม่เดินทางกลางคืน ถ้ามีธุระ ก็พึงเดินทางเมื่อมีแสงสว่างนำแสง”

“คนตายแล้วกลับฟื้นคืนชีพขึ้นมาได้อีก” นี้ มันหมายถึงอะไรกันแน่?

“ความตาย” ในความหมายของเซ็น หมายถึงการตัดขาดความดึงดันหรือความแตกแยกทางความคิดทั้งปวง โดยสิ้นเชิง ซึ่งหมายความว่า การเริ่มรู้แจ้งก็คือ “การฟื้นคืนชีพอีกครั้ง”

ดังนั้น ที่หลวงจีนจ้าวโจวถามไปนั้น จึงเท่ากับถามว่า “เราจะรู้แจ้งในธรรมะเมื่อไร”

ส่วนคำตอบของหลวงจีนโถจื่อหมายถึงอะไร ? “เดินทางกลางคืน” หมายถึง การหลงมัวเมา ส่วน “เมื่อมีแสงสว่าง” นั้น หมายถึงเมื่อรู้แจ้งในธรรมะ

ซึ่งในภาษาเซ็นกล่าวไว้ว่า “ตายหนึ่งครั้ง เพื่อเกิดใหม่ในปัจจุบัน”

การละวางภาวะความรับรู้คือ “ตาย” และการฟื้นคืนชีพอีกครั้งจากภาวะนี้คือ “เกิด” ใครที่ตายแล้วเกิดใหม่ได้ ความรับรู้เดิมที่มีอยู่อย่างเดียว จะเปลี่ยนไปเป็นความรับรู้ที่น่าทึ่งทีเดียว

พึงรู้ไว้ว่า คนที่ตกลงในเหวลึกคือ คนที่เข้มแข็งที่สุด ดังนั้น หากคิดอยาก “เกิด” ก็ต้องตายครั้งหนึ่ง ซึ่งก็คือ จะต้องละวางการยึดติดให้ได้

รวมความว่า ถ้าเราคิดเปลี่ยนแปลงตัวเองเสียใหม่ ก็จึงอย่ายึดติดกับเรื่องที่ไร้สาระก่อน

3. สัมมาวาจา

สัมมาวาจาคือ การพูดและการกระทำที่ชอบ นอกจากจะ “ไม่พูดเท็จ” แล้วยังต้องใช้คำยกย่องสรรเสริญเป็นด้วย

ท่านพุทธทาสกล่าวถึงสัมมาวาจาว่าคือ “(ความ) ถูกต้องทางวาจา... ถ้าพูดดี แล้วก็ไม่กระทบใคร แล้วก็ไม่มีอะไรมารบกวน เราก็มีความถูกต้องทางการพูดจา”

ทำดีเงียบ

“ทำดีเงียบ ๆ” เป็นคำพูดของท่านโดยาม่า โยชิโตโม ซึ่งหมายถึง “การพยายามทำดีในเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือเรื่องที่ไม่มีใครสนใจให้ความสำคัญ โดยทุ่มเทความจริงใจให้มากที่สุด ไม่ใช่เพื่อหวังผลประโยชน์หรือสร้างชื่อเสียง”

แต่จะทำเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ไม่มีใครสนใจให้ดีได้อย่างไรล่ะ ? แน่นอนว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยจริงๆ ดังคำที่พระท่านว่า “ทุ่มเทแรงใจให้กับเรื่องที่คนอื่นมองไม่เห็นให้มากสักหน่อย เพื่อความสุขของคนอื่น” แต่คนเรายิ่งตั้งใจลงเรี่ยวลงแรงทำอะไรมากเท่าไร ก็ยิ่งชอบป่าวประกาศให้คนอื่นรู้มากเท่านั้น คุณลองดูอย่างพระสิ ท่านมิใช่กำลังป่าวประกาศบอกถึงการทำความดีอยู่สุดความสามารถของท่านตามสถานที่ที่เผยแพร่ธรรมได้ดีที่สุดกันอยู่ดอกหรือ ?

ทำไมเราจึงชอบนำการทำดีของตัวเองไปเที่ยวบอกให้คนอื่นรู้กัน

เรื่องแบบนี้อย่าว่าแต่ผู้ใหญ่เลย แม้แต่เด็กอนุบาลก็มีความโน้มเอียงแบบนี้เหมือนกัน เช่น “เพื่อนผมคนนั้นเขาทำไม่ดีละ ผมเลยเตือนให้เขาทำดี” พอคุณแม่ได้ฟังก็พูดว่า “เก่งมากลูก นี่จ้ะแม่ให้รางวัล”

นิสัยที่พอทำดีแล้ว จะต้องมีรางวัลตอบแทนให้นี้ ยังแพร่หลายอยู่ในมากในญี่ปุ่น (ในบานเราก็เริ่มเพาะนิสัยนี้ให้เด็กกันบ้างแล้ว โดยเฉพาะในรายที่พ่อแม่มีลูกคนเดียว)

แม้แต่ผู้ใหญ่เองก็เถอะ พอทำความดีสักเรื่อง ก็ยังได้รับความชื่นชมจากผู้คนรอบข้างเหมือนกัน เลยพลอยดังขึ้นมาด้วย แต่ความดังนี้กลับนำผลเสียมาให้ นั่นคือ ทำให้อยากได้รับเสียงปรบมือจากคนอื่นและความดังมากยิ่งขึ้น ซึ่งหมายความว่า ทำความดีเพราะอยากดังนั่นเอง

เพื่อนอาตมาคนหนึ่งสนใจเรื่องการถอดและวางรองเท้าให้เป็นระเบียบก่อนเข้าบ้านมาก อาตมาเองยังเคยได้ยินมาว่า เขาคิดว่า นี่เป็นงานที่เขาต้องทำไปตลอดชั่วชีวิตทีเดียว แม้คนอื่นจะคัดค้านเรื่องนี้กันมากก็ตาม แต่เขากลับบอกว่า ถ้าเราถอดรองเท้า และวางให้เป็นระเบียบเรียบร้อยก่อน แล้วค่อยเข้าบ้าน มันมิง่ายกว่าหรือ ?

รวมความว่า การทำความดีในจุดที่คนอื่นมองไม่เห็นนี่แหละ ถึงจะเป็นคุณค่าที่แท้จริงของคนคนหนึ่ง

ตาบอดคลำช้าง

นิทานเรื่อง “ตาบอดคลำช้าง” เป็นนิทานที่มีชื่อเสียงเรื่องหนึ่งของอินเดียว

“คนตาบอด” ตามความหมายเดิมหมายถึง คนที่ตามองอะไรไม่เห็น แต่ในแง่พุทธศาสนาแล้ว ไม่ได้หมายความว่า “ตาบอดจริง ๆ” หากแต่หมายถึง จิตที่รู้แจ้งชัดหรือไม่ต่างหาก ซึ่งก็มีมากเหมือนกันที่คนตามีปัญหา (ตาบอด) พิจารณาอะไร ๆ ได้อย่างถูกต้อง ในที่นี้จะหมายถึงคนที่ดวงจิตมองไม่เห็น (ธรรมะ) มีช้างเชือกใหญ่อยู่ในห้องมืด พระเจ้าแผ่นดินรับสั่งให้ไปตรวจดูว่าเป็นสัตว์อะไร

คนคลำถูกเท้าช้างบอกว่า เหมือนต้นไม้ต้นใหญ่ คนคลำถูกหางบอกว่า เหมือนแส้ คนคลำถูกท้องช้างบอกว่า เป็นผนังห้อง ส่วนคนที่คลำถูกใบหูบอกว่า เหมือนพัด

เพราะพวกเขาเห็นแค่ส่วนหนึ่งของทั้งหมดเท่านั้น จึงไม่อาจเข้าใจโฉมหน้าทั้งหมดของสิ่งนั้นได้ เราจะอธิบายนิทานเรื่องนี้กันยังไงดี

โดยเฉพาะ เมื่อคุณได้ไปคลำช้างในห้องมืดจริง ๆ แล้วมาถกเถียงกับคนอื่น คุณก็ย่อมต้องบอกว่า ความเห็นของคุณไม่ผิด แต่ต้องขอถามหน่อยว่า การถกเถียงกันครั้งนี้ คุณได้ทำร้ายคนอื่นหรือถูกคนอื่นทำร้ายหรือไม่

เราได้รับข่าวสารอันมากมายที่หลั่งไหลเขาหูเราเรื่อย ๆ แต่เราก็พูดไม่ได้ว่า เหตุนี้เองที่ทำให้เราไม่อาจพิจารณา (เรื่องราว) ได้อย่างถูกต้องแม้คลำช้างแล้วจะมีความเห็นต่าง ๆ กันไป แต่เมื่อไม่ได้คลำมันหมดทั้งตัว พูดแต่เฉพาะส่วนที่คลำได้ มันก็เป็นเรื่องถูกต้อง

รวมความว่า เราพึงรับฟังความเห็นของคนอื่นให้มาก ไม่เช่นนั้นดวงจิตจะรู้แจ้งได้หรือ ?

ทานข้าว

เรื่อง “ทานข้าว” เป็นเรื่องที่ทุกครอบครัวทำกันเป็นกิจวัตรอยู่แล้วและเนื้อแท้ของการปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนา ก็อยู่ที่การใช้ชีวิตประจำวันนี่แหละ

เมื่อเราพูดถึงการปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนา เราก็มักเข้าใจว่า คือ การเข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่ในป่าเขา ทำตัวผิดแผกไปจากคนทั่วไปแต่ความจริงกลับตรงกันข้าม

แม้ว่าเราสามารถเรียนรู้ฝึกฝนนิสัย เช่น การทานข้าวฯลฯกันได้แต่ถ้าจะให้รู้ว่า เนื้อแท้ของพุทธศาสนาอยู่ท่ามกลางชีวิตประจำวันอันแสนจะปกติแล้ว เราก็ยังต้องใช้เวลาทำความเข้าใจกันอีกระยะหนึ่ง

เราจะปฏิบัติธรรมท่ามกลางชีวิตประจำวันกันอย่างไร ? เช่น คนทั่วไปจะเรียกการทานข้าวว่า “กิน” แต่ผ็ใหญ่จะพูดว่า “ทาน” นี่ไม่ใช่เรื่องว่าจะใช้คำพูดกันอย่างไร แต่เป็นการมองสภาวะจิตว่า เป็นอย่างไรต่างหาก

การใช้คำว่า “ทาน” ดูจะเปี่ยมไปด้วยความรู้สึกขอบคุณ และมีความหมายอวยพรทุกคนอยู่ในทีด้วย คำว่า “กิน” นี้ จึงดูเหมือนจะใช้กับสัตว์ไปเลย ในเมื่อเราเกิดมาเป็นคน ก็ต้องรู้จักไหว้ และมีสัมมาคารวะถึงจะถูก และอย่างเรื่องการแต่งกายในเวลาทานข้าว ก็ต้องคำนึงถึงด้วย เช่นกัน ไม่ใช่พอถึงหน้าร้อน ผู้ชายใส่กางเกงขาสั้นตัวเดียว ผู้หญิงเองก็ไม่ยอมน้อยหน้าใส่แต่เสื้อชั้นใน จริงอยู่ที่คุณไม่ได้ทำอย่างนี้เวลามีแขกอยู่ด้วย แต่ถึงจะอยู่กับคนในบ้าน ก็ไม่ควรทำอย่างนี้เหมือนกัน เพราะมีผลไปถึงเด็กด้วย

ตามทางเดินในวัดเซ็นจะมีกระดานตั้งอยู่ บนกระดานจะเขียนว่า “เกิดและตายเป็นเรื่องอนิจจังและรวดเร็ว” หมายความว่า ชีวิตของคน ๆ หนึ่งอาจสลายหายไปอย่างไร้ร่องรอยได้ในฉับพลัน ไม่ทราบว่าคุณเห็นคำนี้จะคิดกันอย่างไร

4. สัมมากัมมันตะ

สัมมากัมมันตะ หมายถึง การประพฤติชอบ

พฤติกรรมไม่ฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ไม่ลักทรัพย์และหลีกเลี่ยง ไม่ประพฤติไปในทางมิชอบ ก็คือ การประพฤติชอบนั่นเอง

ท่านพุทธทาสภิกขุบอกว่า “สัมมากัมมันตะ มีการกระทำทางกายถูกต้อง... (เรา) ไม่ไปกระทบใครก็ไม่มีใครมากระทบเรา”

จิตที่ปราศจากอุปสรรค

“จิตปราศจากอุปสรรค” วลีนี้ หมายความว่า ไม่มีอุปสรรคใด ๆ อยู่ในใจเลยแม้แต่น้อย

เวลาที่เราโกรธ อารมณ์ของเราจะแปรปรวน หรือมีเรื่องให้เสียอกเสียใจ อารมณ์ก็แปรปรวณได้เช่นกัน จิตใจจึงว้าวุ่นสับสน กลุ้มอกกลุ้มใจ

ในพระสูตร “ปันโยซินจิง”(ปรัชญาหฤทัยสูตร) เปรียบอารมณ์แปรปรวนเป็น “อุปสรรค” หมายถึง ภาวะที่อารมณ์ของคนเราถูกแหคลุมเอาไว้ หรือสะดุดถูกหินก้อนใหญ่ล้มลง

คนเรานั้น ขอเพียงให้จิตใจปราศจากความเศร้าโศกหรือกลัดกลุ้มก็นับว่าดีแล้ว แต่ความจริงมันเป็นไปไม่ได้ เพราะคนเรามีชีวิตเลือดเนื้อจึงมักหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะมีความโสกเศร้าและกลัดกลุ้มมารุมเร้าตัวเอง

เมื่อใดก็ตามที่ คุณมีเรื่องให้ต้องกลุ้มใจ คุณก็จะหนีไม่พ้นทะเลแห่งความทุกข์ จนอาจนอนไม่หลับ หรือถึงขนาดกลายเป็นโรคประสาทไปเลยก็มี นี่คือภาวะเครียดด้วยความกลัดกลุ้มจนอารมณ์แปรปรวน

ดังนั้น ในพระสูตรจึงกล่าวไว้ว่า จะต้องปล่อยวาง “ความว้าวุ่น สับสน” และ “ความเครียด” ของอารมณ์ ยอมรับความทุกข์ความเศร้า เสียใจอย่างซื่อ ๆ ไม่สะทกสะท้าน นี่ก็คือ “จิตที่ปราศจากอุปสรรค” นั่นเอง

เราทุกคนมีความเศร้าและความทุกข์ด้วยกันทั้งสิ้น แต่ปัญหาคือจะจัดการความกระทบกระเทือนใจที่จิตใจได้รับกันอย่างไรต่างหาก

ใครก็ตามที่มีศาสนาอยู่ประจำใจ ก็จะลุกขึ้นยืนและฟื้นตัวเป็นปกติได้อย่างรวดเร็ว รวมความว่า เราจะต้องมีใจที่ “ไม่ผูกมัด” กับการ “ผูกมัด” ถึงจะถูก

เปียกน้ำคลุกโคลน

ชาวพุทธนิกายเซ็นของวัดโซโดโช ได้ยกย่องท่านอาจารย์มิจิโมโต้ ผู้ก่อตั้งวัดนางาฮิระว่าเป็น “โคโซชิ” (ปรมาจารย์) ส่วนท่านอาจารย์เทรุยาม่าผู้ก่อตั้งวัดโซโมสุ ก็ได้รับการยกย่องว่าเป็น “ไตโซชิ” (หรือไท่โจวซือ) และยังยกย่องท่านอาจารย์ทั้งสองเสมอกับพระพุทธเจ้าว่า “พระพุทธเจ้าหนึ่งองค์ โซชิสององค์” อันเป็นหลักฐานยืนยันความศรัทธาที่มีต่อท่าน

บางทีคุณอาจสงสัยว่า ทำไมพุทธศาสนานิกายเซ็นฝ่ายเดียวกันจึงสร้างวัดไว้สองแห่ง เรื่องนี้คงบอกได้แต่ว่า เป็นการอุทิศแรงใจที่มากที่สุดของท่านอาจารย์เทรุยาม่า

แม้คำ “เปียกน้ำคลุกโคลน” จะเป็นคำพูดของท่านอาจารย์มิจิโมโต้ แต่ก็บอกถึงชีวิตของท่านอาจารย์เทรุยาม่าได้ตลอดชั่วชีวิต

อันนี้หมายความว่า ถ้าคุณคิดจะช่วยเหลือผู้อื่น คุณก็ต้องทำตัวให้อยู่ในสภาพของโคลนคลุกน้ำ

ไม่เช่นนั้น คุณก็จะช่วยเหลือผู้อื่นไม่ได้

ท่านอาจารย์เทรุยาม่าไม่ได้เผยแพร่พระศาสนาอยู่ในวัดป่าที่ห่างไกลจากตัวเมือง แต่ท่านกลับเผยแพร่พระพุทธศาสนาอยู่ในตัวเมืองที่มีคนอาศัยอยู่กันอย่างมากมาย ทั้งนี้เพื่อช่วยเหลือพวกเขา และท่านยังจัดพิธีถวายอาหารและสวดมนตร์ให้กับบุรพาจารย์ด้วย บางทีอาจมีคนคิดว่า การทำอย่างนี้เป็นการหันเหออกจากพิธีกรรมดั้งเดิมของท่านอาจารย์มิจิโมโต้ แต่ความจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่เลย

พุทธศาสนาในญี่ปุ่นเมื่อสมัยคามาคูระ (พ.ศ. ๑๗๓๕-๑๘๗๖) ได้เปลี่ยนจากพุทธศาสนาที่สวดเพื่อความเป็นสิริมงคลสำหรับคนกลุ่มหนึ่งไปเป็นสวดเพื่อความผาสุกของทุกคน ซึ่งท่านอาจารย์เทรุยาม่าก็ได้ปฏิบัติ ตามพิธีกรรมของท่านอาจารย์มิจิโมโต้มาโดยตลอด โดยเฉพาะการเผยแพร่ พระศาสนาแก่ปวงชน คือการกระทำที่เห็นเป็นรูปธรรมที่สุด

คนที่กำลังจมน้ำ ย่อมต้องการให้คนอื่นช่วยเหลืออย่างยิ่ง ซึ่งหากเราอยากช่วยเขาแต่ไม่อยากให้ตัวเองเปียกน้ำและเปื้อนดินโคลน เราก็คงช่วยเขาไม่ได้ และถ้าว่ายน้ำไม่เก่งอีกด้วยแล้ว เราก็อาจกลับถูกเขาดึงจมน้ำเสียชีวิตไปก่อนก็ได้

กิจกรรมเผยแพร่พระศาสนาของท่านอาจารย์เทรุยาม่าคือ การทำตัวเองให้เปื้อนดินโคลนก่อน จากนั้นจึงกระโดดลงไปในหมู่ชน ทำไมท่านถึงทำอย่างนี้ ก็เพราะคำพูดของท่านอาจารย์มิจิโมโต้ที่ว่า “เปียกน้ำคลุกโคลน” นั่นแหละ ที่ทำให้ท่านมีความคิดและความเชื่อที่หนักแน่นมั่นคง

ผู้รู้แจ้งย่อมหลับสบาย

“เมื่อคืนนอนหลับกันสบายดีไหม ?” พระศากยมุนีถามออกไปเช่นนี้ และได้รับคำตอบกลับมาว่า “ผู้ใดก็ตามที่รู้แจ้งในธรรมห่างเหิน จากความโลภทั้งหลายทั้งปวง ย่อมมีจิตใจสงบยิ่ง จึงนอนหลับได้สบายไม่ว่าจะนอนอยู่ที่ใด” นี่คือการอธิบายถึงวลีที่ว่า “ผู้รู้แจ้ง (ในธรรม) ย่อมหลับสบาย” ได้ดีที่สุด คนที่นอนหลับได้สบายทุกวัน ย่อมไม่รู้ว่าการนอนไม่หลับนั้นมันทุกข์อย่างไร

ร้านขายแผ่นเสียงหรือร้านขายหนังสือในญี่ปุ่น มักจะมีเทปเสียงหรือหนังสือสำหรับช่วยให้นอนหลับวางขายกันอยู่ไม่น้อย แสดงว่ามีคนที่ทุกข์เพราะนอนไม่หลับกันมากจริงๆ

อาตมาเคยซื้อเทปกลับมาฟังเองดูบ้างด้วยความสนใจ เสียงดนตรีมันไพเราะเพราะพริ้งจริง ๆ เป็นวิธีช่วยให้นอนหลับได้วิธีหนึ่ง บางทีคุณอาจถามว่า ใช้ของพวกนี้แล้วจะช่วยให้นอนหลับได้จริงหรือ ? อาตมาว่าคนที่เขานอนไม่หลับ เขาจะจริงจังกับของพวกนี้มาก ซึ่งหากมองในสายตาของคนนอกแล้ว ของพวกนี้กลับจะทำให้สมองตื่นตาสว่างมากขึ้นก็ได้

สังคมยิ่งซับซ้อน คนเราก็ยิ่งมีความกดดันทางจิตใจมากขึ้น ซึ่งถ้าเราทำงานมาก จนร่างกายอ่อนเพลีย ปัญหาคงไม่เท่าไร แต่ถ้าร่างกายเราสดชื่นดีมาก นั่นแสดงว่าจิตกับกายมีช่องว่างห่างกันอยู่ช่วงหนึ่ง ดังนั้น ก็จะยิ่งเครียดและกดดันมากขึ้น

พระลูกวัดที่ปฏิบัติธรรมอยู่ในวัดนี้ ไม่มีสักรูปที่เป็นโรคนอนไม่หลับ เพราะพวกเขาทำงานกันทั้งวัน ร่างกายจึงอ่อนเพลียมาก พอตกค่ำหัวถึงหมอนก็นอนหลับกันสนิท ถ้าจะมีใครถามว่า “พระลูกวัดมีระเบียบ การใช้ชีวิตอะไรบ้าง ?” คำตอบก็คือ “ทำงานให้มากเข้าไว้” สำหรับทางฝ่ายฆราวาสแล้ว ก็คือ “เที่ยวให้มาก ทำงานให้มาก” ซึ่งคำ “มาก” นี้คือ มุ่งทำอย่างใดอย่างหนึ่งโดยเฉพาะ แต่คนเราส่วนใหญ่จะเป็นพวก“ฟุ้งซ่าน” ไม่ว่าจะทำงานหรือเที่ยว คือเรามักทำงานไปคิดเรื่องเที่ยวไปด้วย หรือไม่ก็เที่ยวไปคิดแต่เรื่องงานไป สำหรับพวกนักเรียน นักศึกษา ก็จะดูหนังสือไปพร้อม ๆ กับฟังเพลงหรือฟังวิทยุไปด้วย หรือว่าทำอย่างนี้แล้วจะช่วยให้อ่านหนังสือหรือทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น แต่ถ้าเป็นคนที่กลุ้มใจกับการนอนไม่หลับ ผลย่อมจะเป็นในทางตรงข้ามแน่นอน

5. สัมมาอาชีวะ

สัมมาอาชีวะ หมายถึง การดำรงชีพโดยชอบ

ซึ่งก็หมายความว่าการประกอบสัมมาอาชีพ และใช้ชีวิตประจำวันอย่างมีระเบียบ

ท่านพุทธทาสภิกขุพูดไว้ว่า “สัมมาอาชีวะ-ดำรงชีวิตอย่างถูกต้อง... คือการดำรงชีวิตทั้งหมด ทั้งระบบชีวิต อยู่อย่างถูกต้องเรียกว่า ดำรงชีพชอบ”

ห้ามเสพสุรา

ในศีลห้าของพุทธศาสนามีศีลข้อห้ามดื่มสุรา ซึ่งพุทธศาสนิกชนทางเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ยังคงถือปฏิบัติศีลข้อนี้กันอยู่อย่างเคร่งครัดประเทศแถบร้อนทำให้เมาง่าย หรือไม่ก็ไม่กล้าแตะต้องเพราะคิดว่า สุราเป็นน้ำบั่นทอนชีวิต

แต่ในญี่ปุ่นมีอากาศหนาวมาก ดังนั้น แม้ญี่ปุ่นจะเป็นเมืองพุทธถึงมีศีลข้อ “ห้ามดื่มสุรา” ก็ไม่ต่างอะไรกับไม่มี เพราะแม้แต่พระญี่ปุ่นก็ยังดื่มและเรียกสุราว่าเป็น “น้ำแห่งปัญญา” หากผู้ใดดื่มสุราอย่างมีสติมีความสุข แอลกอฮอล์ก็จะเป็นน้ำมันหล่อลื่นชีวิต แต่คนเราส่วนใหญ่มักจะดื่มกันแบบเข้าทำนอง “แก้วแรกคนกินเหล้า แก้วสองเหล้ากินเหล้า แก้วสามเหล้ากินคน”

และยังมีเรื่องการสูบบุหรี่ก็เช่นกัน พระบางท่านบอกว่า พระศากยมุนีไม่ได้ห้ามสูบบุหรี่ไว้ เพราะในสมัยนั้นยังไม่มีบุหรี่ให้สูบกัน อันที่จริงสุราและบุหรี่นั้น โดยตัวมันเองแล้วไม่มีความผิด

มีดก็เช่นกัน ต้องดูว่านำไปใช้ในทางใด เพราะบางครั้งเอาไปใช้ผ่าตัดก็สามารถช่วยชีวิตคนได้ แต่ถ้าตกอยู่ในมือฆาตกร ก็จะกลายเป็นอาวุธฆ่าคนได้ มีดผ่าตัดกับมีดฆ่าคนนั้นก็เป็นเพียงแค่มีดเท่านั้น ถ้าคิดว่ามีดคือ เครื่องมือที่ใช้ฆ่าคน แล้วเลยห้ามใช้มีดกัน ศัลยแพทย์ก็คงต้องยกสองมือยอมแพ้ จึงเห็นได้ว่า ความผิดไม่ได้อยู่ที่ตัวมีด แต่อยู่ที่จิตใจของผู้ใช้ต่างหาก ว่าเป็นอย่างไร

ถ้าความรับผิดชอบนั้นตกอยู่กับเรา เราก็ต้องใช้มีดด้วยความระมัดระวัง แต่ถ้าเป็นคนที่ไม่เชื่อมั่นในตัวเอง ก็อย่าวางมีดไว้ใกล้ตัวเขาจะดีกว่า เว้นเสียแต่จะจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

ถ้าคุณอยากให้คนอื่นเลิกกินเหล้าหรือเลิกสูบบุหรี่ คุณจะไปพูดกับเขาว่า “เลิกกินเลิกสูบซะ” คงไม่ได้ผลแน่ คุณน่าจะลองอ่อนข้อให้เขาสักนิด บอกให้เขา “กินหรือสูบให้น้อยลงสักนิด” ยังจะมีโอกาสได้ผลมากกว่า เพราะว่าการพูดอย่างนี้ ไม่ได้กระทบถึงปมด้อยในตัวเขาที่ต้องกินเหล้าหรือสูบบุหรี่ มันจึงกลับใช้ได้ผล

รู้แจ้งโดยถ่องแท้

ท่านอาจารย์หลินจี่อี้เสวียน ซึ่งเป็นพระเซ็นในสมัยราชวงศ์ถาง ได้เคยพูดไว้ว่า “รู้แจ้งโดยถ่องแท้” คือ อย่าหลงอยู่กับความพึงพอใจแต่เปลือกนอก แต่จะต้องบรรลุให้ถึงขั้นรู้แจ้งอย่างถ่องแท้

ความพึงพอใจที่เปลือกนอก หมายถึง ความอยากได้ในยศถาบรรดาศักดิ์ ทรัพย์ศฤงคาร และอำนาจราชศักดิ์กันมากขึ้น หากว่าเราหลงหรือเกิดความอยากได้ขึ้น เราก็ยิ่งถลำลึกลงไป จนไม่สามารถถอนตัวได้ แล้วเราจะสูญเสียความเป็นตัวของตัวเองไป จนเกิดภาพลวงตาในเรื่องยศภาบรรดาศักดิ์ได้ เราพึงรู้ว่า เราไม่สามารถนำทรัพย์สมบัติหรือยศถาบรรดาศักดิ์ใดก็ตามไปยังอีกโลกหนึ่งได้ นั่นคือ ตายแล้วก็เอาไปไม่ได้ จึงควรสำเหนียกข้อนี้ไว้ด้วย

เพราะไม่ว่าเราจะตกแต่งตัวเองให้ดีอย่างไร เราก็เป็นแค่ตัวแบบเท่านั้น แต่เราก็กลับลำเอียงรักตัวแบบตัวนี้กันนัก

ท่านอิกคิว พระเซ็นมีชื่อเสียงในสมัยเอโดะของญี่ปุ่น เคยทำเรื่องน่าสนใจเกี่ยวกับจีวรไว้ คือ ครั้งหนึ่ง เศรษฐีท่านหนึ่งได้นิมนต์ท่านอิกคิวไปทำพิธีที่บ้านเศรษฐีคนนี้ร่ำรวยมาก จึงชอบดูแคลนผู้อื่น ท่านอิกคิวได้ปลอมตัวให้ดูเหมือนขอทาน ไปยังบ้านของเศรษฐี บอกกับคนเฝ้าประตูว่า

“อาตมามาขอพบนายท่าน” ว่าแล้วก็จะเดินเข้า
แต่คนเฝ้าประตูกลับตะคอกไล่ท่าน เพราะคิดว่าท่านเป็นขอทาน “ไป ไปที่อื่น”
เศรษฐีก็ออกมาไล่ “ไล่มันไปให้พ้น ๆ ไป”

ท่านอิกคิวถูกเหยียดหยามอย่างรุนแรง และสุดท้ายท่านก็ถูกไล่ออกจากบ้านเศรษฐีไปจนได้ อีกสักครู่ ท่านอิกคิวก็ครองจีวรอย่างดีมาที่บ้านเศรษฐีอีกครั้ง คราวนี้เศรษฐีกลับต้อนรับท่านเป็นอย่างดี ถึงหน้าประตูบ้าน พร้อมทั้งนิมนต์ท่านเข้าไปในบ้าน แต่ท่านอิกคิวกลับยืนอยู่ที่หน้าประตูบ้านไม่ไปไหน “เมื่อสักครู่ อาตมาแต่งตัวเหมือนขอทานมาพบท่าน กลับถูกท่านเหยียดหยามดูแคลนอย่างรุนแรง แต่ตอนนี้ อาตมาครองจีวรอย่างดีมา ท่านถึงได้ต้อนรับเป็นอย่างดี ในเมื่อท่านรักจีวรฝืนนี้นักอาตมาก็ขอยกให้ท่านแล้วกัน” ว่าแล้วท่านอิกคิวก็ถอดจีวรทิ้งไว้ที่หน้าประตูบ้านเศรษฐี และเดินผละจากไป จะเห็นได้ว่า สิ่งสำคัญ คือ สิ่งที่อยู่ข้างใน ไม่ใช่สิ่งที่ปรุงแต่งอยู่ภายนอก

สรรพสิ่งเป็นพุทธะ

“สรรพสิ่งทั้งหลายย่อมมีธรรมชาติแห่งพุทธะ (ธรรมชาติของการตรัสรู้หรือรู้แจ้งในธรรมะ) ด้วยกันทั้งสิ้น” หมายความว่า สัตว์โลกทั้งปวงต่างก็มีคุณสมบัติที่จะสำเร็จเป็นพระพุทธเจ้าได้ทั้งสิ้น สิ่งอื่น ๆ เช่น หิน ดิน ก็เช่นกัน ดังเช่นคำที่ว่า “พฤกษาชาติแลแผ่นดิน ล้วนเป็นพุทธะได้ทั้งสิ้น” อันนี้แสดงถึงความรักหวงแหนที่คนญี่ปุ่นมีต่อสรรพสิ่ง เพราะหวงแหนในของทุกอย่างนี่เอง ทำให้เข้าใจจิตใจของผู้อื่นได้ว่าเป็นอย่างไร

แต่คนหนุ่มสาวกลับเข้าใจผิดว่า เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องล้าสมัยหรือเต่าล้านปี เพราะพวกเขาเติบโตขึ้นมาจากทัศนะคติที่ว่า การบริโภคคือสิ่งอันเป็นอเนกประสงค์ ดังนั้น เมื่อมาบอกพวกเขาว่า ให้ “รักหวงแหนของทุกอย่าง” จึงไม่เข้ากับพฤติกรรมของพวกเขาเลย

เมื่อเราเห็นข้าวของถูกทิ้งกองพะเนินเป็นภูเขา อย่างเช่นพวก เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ อาทิ เครื่องรับโทรทัศน์ ตู้เย็น โคมไฟตั้งโต๊ะ รวมไปถึงพวกเครื่องเรือน เช่น เก้าอี้โซฟา เตียง ฯลฯ ซึ่งยังใช้งานได้ถูกทิ้งกองไว้ เราก็จะเห็นความฟุ่มเฟือยของคนสมัยนี้ อาตมาก็อดถามไม่ได้ ญี่ปุ่นในวันนี้ได้เปลี่ยนไปเป็นประเทศแบบไหนกันแน่ ?

คนที่เกิดมาในยุคที่ยังต้องสู้อย่างลำบาก ต่างก็ถอนใจเมื่อเห็นภาพอย่างนี้แต่สำหรับคนหนุ่มสาวที่เกิดในยุคที่มีทุกสิ่งทุกอย่างพร้อมมูลเรื่องที่จะให้พวกเขารักหวงแหนข้าวของ ดูจะเป็นเรื่องที่เข้าใจกันไม่ได้

เมื่อไม่กี่วันก่อน เครื่องรับโทรทัศน์ที่ซื้อมาเมื่อสัก ๑๒ ปีเกิดเสียขึ้นมา อาตมาจึงนำไปให้ร้านซ่อม แต่เจ้าของร้านกลับยกเครื่องรุ่นใหม่เอี่ยมออกมาให้ดู บอกว่า ซ่อมแล้วไม่คุ้ม สู้ซื้อใหม่เลยดีกว่า อาตมาถามเขาว่า จะคิดราคาค่าซ่อมเท่าไร เจ้าของร้านตอบว่าก็หลายสตางค์ทีเดียวและยังบอกว่า โทรทัศน์เคร่องนี้เป็นรุ่นเก่ามากแล้ว ไม่น่าจะซ่อม เข้าจะขายเครื่องรุ่นกลางเก่ากลางใหม่ให้อาตมาในราคาสองหมื่นเยนเท่ากัน

ตัวเปลี่ยนช่องของโทรทัศน์เครื่องใหม่เป้นแบบปุ่มกด และยังมีอุปกรณ์อื่น ๆ ดีกว่าเครื่องเก่าของอาตมามากทีเดียว แต่สิ่งที่อาตมาเป็นห่วงคือ ไม่รู้ว่าโทรทัศน์เครื่องเก่าเครื่องนั้น จะประสบชะตากรรมอย่างไร

6. สัมมาวายามะ

สัมมาวายามะ คือ ความเพียรในทางที่ถูกต้อง

หากไม่มีความเพียรอันเอกอุ หรือเพียรพยายามอย่างหลับหูหลับตา ล้วนไม่ใช่ความเพียรที่ถูกต้อง และยังต้องไม่หลงในผลตอบแทนแต่ควรให้ความสำคัญกับขั้นตอนก่อนมีผลตอบแทน

ท่านพุทธทาสได้กล่าวถึงสัมมาวายะว่า “เพียรละที่ไม่ดี ระวังอย่าให้มันเกิดขึ้นมา ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้วละเสียที่ไม่ดี ที่ดี ๆ ทำให้มันเกิดขึ้นมา เกิดขึ้นมาแล้วรักษาเอาไว้ ถ้าทำอย่างนี้เรียกว่า ความเพียรนั้นถูกต้อง”

ดับไฟในใจ

“ดับไฟในใจ ย่อมเย็น” คือคำพูดอันลือชื่อของท่านโยชิกาวา แห่งวัดเคริน ซึ่งถูกท่านโนบูนากะเผาทำลาย หลายคนมักยกคำกล่าวนี้ขึ้นมาถามว่า เวลานั่งสมาธิ จนเริ่มรู้แจ้งในธรรมะ จะอยู่เหนือความร้อนหนาวได้อย่างท่านโยชิกาวาหรือไม่ ? ถ้ากระโดดเข้าไปในกองไฟเหมือนท่านโยชิกาวา ไม่รู้จะเป็นอย่างไร ?

บางทีคนทั่วไปอาจมองพระอย่างพวกเราเหมือนกันหมดก็ได้ บางคนก็พวกเราว่า เหมือนพระเซ็นที่มีชื่อเสียงในประวัติศาสตร์ หรือถึงขนาดมองว่าพวกเราเป็นพระเถระที่บำเพ็ญเพียรเพื่อให้พ้นทุกข์ แต่ถ้าจะถามว่าทำไมถึงได้มาบวชเป็นพระ ก็กลับตอบไม่ได้

ผู้ที่กระโดดลงกองไฟได้โดยที่หน้าที่ไม่ถอดสี คือพระเซ็นชั้นครูหรือ ? ไม่ใช่นักแสดงมายากลดอกหรือ?

“การสงบนิ่งอยู่ในกองไฟ” ของท่านโยชิกาวา มันคือโลกเซ็นของท่าน ถ้าให้เรากระโดดเข้าไปในกองไฟ ก็ประกันได้เลยว่าไฟจะคลอกไหม้เราทั้งตัว เจ็บปวดแสนสาหัสจนบอกไม่ถูก

แต่ทว่า เวลาที่เรากำลังร้อนรุ่มอยู่ในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง เรากลับลืมความร้อนหนาวได้เสียสนิท แสดงว่า สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ เราสามารถรวบรวมสมาธิได้หรือไม่ได้ต่างหาก

ดังนั้น เราต้องมีเรื่องที่ช่วยให้เรารวบรวมสมาธิไว้ได้ และมีเป้าหมายที่เราสนใจถึงจะถูก ซึ่งสำหรับพระเซ็น คือการนั่งสมาธิแบบเซ็นและก็เป็นเช่นนี้ด้วยสำหรับพระหนุ่มๆที่กำลังมุมานะอยู่

ถ้าเรื่องที่เราสนใจเป็นเป็นเรื่องต่อต้านศาสนา ต่อต้านสังคม แล้วทำอย่างไร อย่างนี้มันก็น่าเสียใจมาก เพราะเราคงทำอะไรไม่ได้ มีแต่ต้องรอให้เจ้าตัว ลดความร้อนรุ่มลงก่อน ไม่มีหนทางอื่นเลย ซึ่งหมายความว่ามีแต่ต้องรอให้เจ้าตัวสำนึกตนได้เองเท่านั้น

“ดับไฟใจได้ ย่อมเย็น” หมายถึงให้พยายามทำความดีให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ด้วยจุดยืนของตนเองเฉกเช่นท่านโยชิกาวา

รวบความว่า ถ้าเรามีความหมายเพียรพยายาม ก็แทบจะไม่มีอะไรให้ต้องละอายใจเลย

7. สัมมาสติ

สัมมาสติ คือ การรู้สึกตัวอันถูกต้อง การใช้ชีวิตประจำวันนั้น เราจะมีพฤติกรรมสุกเอาเผากิน และเลินเล่อไม่ได้ ท่านพุทธทาสกล่าวถึงเรื่องสัมมาสติไว้ว่า “ต้องรู้สึกตัวอยู่อย่างถูกต้อง อย่าเผลอให้ความโง่ครอบงำ อย่าให้อวิชชาครอบงำ”

พอใจในสิ่งที่ตนมี

ศาสนาที่ชาวนาและพรานป่านับถือ คงมีศาสนาพุทธกับศาสนาคริสต์ และการทำนากับการล่าสัตว์ก็มีอิทธิพลต่อวัฒนธรรมของแต่ละฝ่ายมากทีเดียว เช่น ชาวนาขยันขันแข็งมาก ซึ่งถ้าเขาขยันทำงาน ก็ประกันไป เขาจะได้รับผลเก็บเกี่ยวพอสมควรทีเดียว แต่พรานป่าถึงเหนื่อยแรงไป ก็จะไม่ได้รับผลลัพธ์เช่นนี้ เพราะถึงจะออกท่องป่าหาล่าสัตว์ทั้งวัน ก็ไม่แน่ว่าจะได้ล่าสัตว์เสมอไป แต่ทว่าบางครั้งสัตว์ก็เข้ามาติดกับเอง

ถ้าเราเอาสองคนที่มีภูมิหลังทางวัฒนธรรมต่างกัน เข้ามาทำงานอยู่ในโรงงานคนเดียว จะต้องเกิดความแตกต่างระหว่างพวกเขาสองคนขึ้นแน่ เช่น คนที่มองว่าการใช้แรงงานเป็นการลงโทษ จะรู้สึกอิจฉาคนญี่ปุ่นมาก

แล้วทำไมคนในชาติที่ขยันขันแข็งนี้ จึงถูกด่าว่าเป็น “สัตว์เศรษฐกิจ” บางทีคนญี่ปุ่นอาจใช้ความขยันไปแบบผิดที่ผิดทางก็ได้

“พอใจในสิ่งที่ตนมี” จึงเป็นวลีที่สำคัญมากสำหรับคนญี่ปุ่น
เราไม่ควรหวังอยากได้โดยไม่มีขีดจำกัด แต่จะต้องยับยั่งชั่งใจให้เหมาะให้ควร
พระศากยมุนีกล่าวว่า “คนที่รู้จักพอ จิตใจจะสงบ ส่วนคนที่ไม่รู้จักพอ จิตใจจะ สับสนวุ่นวาย”
คนที่อยากแสวงหาความสงบทางใจ จะต้องทำความเข้าใจกับความหมายของคำว่า
“พอใจใน สิ่งที่ตนมี” ให้ลึกซึ้ง พูดเป็นรูปธรรมคือ เป็นสภาวะจิตใจที่รู้จักคำว่า
“สิ้นเปลืองเปล่า”“พอแล้วละครับ”

ถ้าเป็นงานเลี้ยงบางทีเราอาจพูดอย่างนี้ได้ ถ้าเราอิ่มแล้ว แต่ถ้าเป็นของที่ใจเรานึกอยากได้ และมีของมากองอยู่ตรงหน้า เราจะพูดเพราอย่างนี้ได้หรือ?

“พอใจในสิ่งที่ตนมี” จึงไม่ใช่เรื่องที่จะเข้าใจกันง่ายได้เลย และเพราะเข้าใจยากนี่เอง จึงต้องตั้งอกตั้งใจฟังวลีนี้ไว้

ทุ่มเทสุดความสามารถ

ชาวต่างชาติที่สนใจลัทธิเซน ส่วนมากจะชอบ “รูปกลม” เช่นเวลาที่เขาจะกลับประเทศ ก็มักเอากระดาษสีมาขอให้เขียนอะไรเป็นที่ระลึก และยังขอให้เขียนตัวหนังสือให้เป็น “รูปกลม” ด้วยเดิมทีอาตมาคิดว่า ชาวต่างชาติคงไม่ชอบตัวอักษรคันจิ (ตัวอักษรจีนในภาษาญี่ปุ่น) แต่ความจริงไม่เป็นเช่นนั้น เพราะพวกเขากลับชอบตัวอักษรที่มีลักษณะสามเหลี่ยมบ้าง สี่เหลี่ยมบ้างกันมาก

วงกลมไม่มีจุดสูงสุดยอด และถึงแม้จะมี แต่ถ้าเราหมุนวงกลมไป ๑๘๐ องศา จุดสูงสุดยอดนั้นก็จะไปอยู่ตรงจุดล่างสุด วงกลมจะขาดส่วนไหนไม่ได้ ถ้าขาดแล้ว วงกลมก็จะไม่เป็นวงกลม

วงกลมที่เขียนลงบนกระดาษที่ขาวสะอาด ย่อมแสดงให้เห็นถึงทัศนะที่ให้ความเสมอภาคของพุทธศาสนา และโลกของการ “อยู่ร่วมกัน”

“สรรพวิชาย่อมรวมเป็นหนึ่ง” ก็เป็นวงกลมเช่นกัน คนที่ศึกษาวิชาใดอย่างลึกซึ้ง ย่อมเป็นคนฉลาดรอบรู้ชีวิตด้วย

ในสมัยที่เป็นนักเรียน อาตมาเคยไปฟังคุณคาวาคามิ เทซึจิ นักเบสบอลชื่อดังพูด ตอนนั้นอาตมานึกแคลงใจมากว่า ทำไมคนที่ศึกษาเซ็นจึงยังต้องมาฟังนักเบสบอลพูด ความจริง ยังมีหลายอย่างที่เราต้องเรียนรู้กันอีกมาก เช่น เมื่อแข่งขันถึงจุดที่น่าตื่นเต้นที่สุด นักกีฬาจะเห็นลูกที่คนขว้างออกมาเป็นลูกอยู่นิ่ง จึงตีไปยังทิศที่ไม่มีคู่ต่อสู้ได้ง่าย ก็จะได้แต้มแต่จะทำให้ได้ถึงขั้นนี้ คนเล่นจะต้องมีความเพียรพยายามมากทีเดียวและเมื่อการแข่งขันเริ่มตกลง ก็ยิ่งสร้างบุคลิกอันน่าทึ่งมากขึ้น

ขอให้คุณลองทำงานสำคัญอย่างโดยลืมตัวเองไปชั่วขณะ ผมคิดว่า รอยเท้าที่คุณก้าวไปจะต้องกลายเป็นสมบัติอันล้ำค่าแน่

รวมความว่า ไม่ว่าคุณจะอยู่ในโลกแบบไหนก็ตาม สิ่งสำคัญที่สุดคือ คุณต้องทุ่มเทให้กับงานอย่างคิดสุดความสามารถ




มองความเป็นจริง

เราจะไม่มองสรรพสิ่งด้วยการ “คิด” แต่จะมองตามที่เป็นจริง นั่นคือ การ “มองความเป็นจริง”

เรามักจะมองอะไรด้วยการ “คิด” เสมอ เช่น ลูกของตนเองดูน่ารักกว่าลูกของคนอื่น คนรักของตนสวยกว่าผู้หญิงคนอื่นๆ แม้จะถูกเยาว่า “ตาถั่ว” แต่คนที่เราคิดว่าน่ารัก ก็ยังคงน่ารักอยู่นั่นเอง

เราเห็นภาพสิงโตในอัฟริกาไล่ตะปปม้าลาย มันจะจู่โจมม้าลายที่กำลังร้องโหยหวนโดยไม่ปรานี ปากเปื้อนเลือดไปหมด ช่างเป็นภาพที่น่าสยดสยองจริงๆ

แต่ขอให้คุณอ่านที่จะเขียนต่อไปนี้ดู

ถ้าเรากำจัดพวกสัตว์กินเนื้อ เช่น สุนัขป่า เสือโคล่ง เสือดาว ฯลฯ ให้หมดไป เพื่อปกป้องกวางซึ่งเป็นสัตว์กินพืชให้ได้แพร่ขยายพันธุ์ต่อไป อย่างนี้ถือว่ากวางได้สันติภาพแล้ว แต่กลับไม่อาจอยู่ไปได้นาน

เพราะกวางจะเพิ่มจำนวนจนมากเกินไป ทุ่งหญ้าก็แทบจะถูกกวางกินหมด ถ้าใบอ่อนของต้นไม้จะถูกกินไปหมด ต้นไม้ก็จะไม่โตขึ้นอีกแล้วในที่สุด กวางก็จะอดตายกันเป็นฝูงๆ นี่คือภาพของโลกที่มีสันติภาพที่ไม่มีสัตว์กินเนื้อแล้ว

ดังนั้น ภาพที่เราเห็นว่าน่าสยดสยองนั้น ความจริงเป็นโลกของการอยู่ร่วมกันของสัตว์กินเนื้อกับสัตว์กินพืช จุดนี้เองที่ทำให้มองไม่เห็นภาพอันแท้จริงของสิงโตหรือม้าลาย

เมื่อครั้งที่พระศากยุมุนียังเยาว์วัย ได้เห็นวัฎจักรแห่งธรรมชาติ จึงรู้สึกเจ็บปวดมาก และเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้พระศากยมุนีตัดสินใจออกบวช ซึ่งถือเป็นหลักฐานยืนยันคำว่า “มองความเป็นจริง” ได้ดีที่สุด

8. สัมมาสมาธิ

สัมมาสมาธิ คือ การรวมจิตที่ถูกต้อง สำหรับพระรุ่นหนุ่ม ก็คือการนั่งสมาธิ แต่คนทั่วไป ก็อย่าได้ใช้ชีวิตอย่างประมาท เพราะบางครั้งเราก็ต้องพบกับการรวบรวมสมาธิเหมือนกัน

ท่านพุทธทาสกล่าวถึงเรื่องสัมมาสมาธิว่า “สมาธิ คือ การดำรงจิตไว้อย่างมั่นคง แต่ก็มีถูกต้อง หรือไม่ถูกต้องเหมือนกัน ดำรงจิตไว้อย่างมั่นคงนี้ต้องถูกต้อง คือชนิดที่ว่า กิเลสจะเกิดไม่ได้ ชนิดที่เป็นประโยชน์แก่การมองเห็นอะไรยิ่งๆขึ้นไป”




การอยู่รอด

“โลกธรรมชาติ” หมายถึงจักรวาลอันกว้างใหญ่ไพศาล ไร้ขอบเขต ความจริงของจักรวาล คือ ร่างกายคน แต่จักรวาลเป็นทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่นอกร่างกายคน

หมายความว่า คนเราหายใจเอาจากจักรวาล เพื่อรักษาจักรวาลเอาไว้ ผู้เฒ่าผู้แก่ของญี่ปุ่นอธิบายถึงจักรวาลนี้ว่า

“เรากินอาหารของฟ้าดิน

ดื่มน้ำของฟ้าดิน

หายใจเอาอากาศของฟ้าดิน

มีชีวิตอยู่ได้จากชีวิตของฟ้าดิน

ถูกดึงดูดไว้ด้วยแรงดึงดูดของฟ้าดิน

ทำให้ฟ้าดินใสขึ้น

ฟ้าดินคือที่พักพิงของเรา

ครั้งแรกที่นั่งสมาธิ เราอาจปวดเข่าหรือง่วงนอนกันได้ แต่ทันทีที่ผ่านความว้าวุ่นนี้ไปได้ เราจะรู้สึกถึง “การมีชีวิตอยู่” เช่น รู้สึกเหมือนเสียงนกร้อง หรือเสียงสายน้ำไหล

“โลกเรานี้แบ่งออกเป็นสามประเภท คนประเภทแรก คือคนในปัจจุบัน มีตัวตนจริง กินอาหารได้ พูดคุยได้ คนประเภทต่อมา คือบรรพชน ซึ่งถึงเราจะไม่เห็นพวกเขา แต่พวกเขาก็เคยมีชีวิตเมื่อนานมาแล้ว และคนประเภทสุดท้าย คือลูกหลานของเราที่จะเกิดมาในอนาคต ซึ่งโลกเราก็ก่อตัวขึ้นจากคนสามประเภทนี้”

คนสมัยนี้มอง “การมีชีวิต” ว่าเป็น “การเสวยสุข” จึงเอาแต่หาความสุขใส่ตัวเฉพาะหน้าเท่านั้น

เรามีอดีต ถึงได้มีปัจจุบัน เมื่อสำเหนียกในอนาคต ก็เท่ากับได้ยืดต่อปัจจุบันด้วย เราถึงได้มีความรู้สึก “มีชีวิต” หรือ “ถูกทำให้ชีวิต”

รวมความว่าฟ้าดิน ก็คือ ที่ว่างของการดำรงอยู่ของเรา

หยดน้ำแข็ง

หยดน้ำแข็ง หมายถึง น้ำที่หยดลงมาแล้วแข็งตัวไปในทันที ถ้าจะอธิบายกันในแง่พุทธศาสนา ก็คงได้ว่า จะต้องแก้ไขขจัดความคิดที่คิดไปในทางมิชอบ ซึ่งเกิดขึ้นในใจให้ได้ฉับพลันทันที

ในเมื่อเราไม่ใช่ปราชญ์โสดาบัน และไม่ใช่เทวดาผู้อยู่เหนือมนุษย์ถ้าเราพบเห็นสาวสวยเข้าสักคน ใจเราคงเต้นโครมครามหวั่นไหวไปด้วยหรือเห็นเงินทองแล้วตาโต โดยเฉพาะคนที่ฟันฝ่าความตื่นเต้นในชีวิตมาได้อย่างยอดเยี่ยม จะยิ่งน่าอิจฉามาก

คนเรามักพกพาเอาแต่ “ความคิดที่คิดไปในทางมิชอบ” เช่น โกรธ ทุกข์ เกลียด ไว้ตลอดชั่วชีวิต แต่ในทางกลับกัน ความคิดแบบนี้แหละที่เป็นหลักฐานยืนยันการดำรงอยู่ของตัวเราได้ดีที่สุด

พุทธศาสนาเรียกโลกที่เราอยู่ว่าเป็นโลกต้องคำ “สาป” “สาป” ในที่นี้ หมายถึง โลกที่ภายในใจมีทุกข์กลัดกลุ้ม ส่วยภายนอกก็ทุกข์ด้วยลมฝนหนาวร้อน

เหมือนรถประจำทางที่เบียดเสียดเยียดยัดไปด้วยผู้โดยสาร คนที่มีที่นั่งจะมีน้อยกว่า คนส่วนใหญ่จะต้องยืนโยนตัวไปมาตามแรงเหวี่ยงของรถ จนเกิดการชนกระแทก หรือเหยียบเท้าผู้อื่นเข้าเมื่อเขาร้องว่า “เจ็บ !” เราก็จะรีบขอโทษขอโพยว่า “ขอโทษครับ คนมันแน่น” แต่ถ้าเราถูกเหยียบเท้าเข้าบ้าง เราคงด่าไปแล้วว่า “ไม่มีตาดูหรือไง (วะ) ?” ทุกคนต่างก็คิดโดยถือเอาตัวเองเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญ ซึ่งเราคงจะหาน้ำใจจากการคิดแบบไม่เป็นมิตรนี้กันไม่ได้แน่

บางคนถึงขนาดบอกว่า ก็อย่าไปขึ้นรถคันที่แน่นซี มันก็ไม่มีปัญหาไม่ใช่หรือ ? ถูกของท่าน ถ้าเราไม่เกิดมาโลกนี้เลย มันก็ไม่มีปัญหาแน่นอน แต่น่าเสียใจที่เราได้เกิดมาเป็นคนแล้ว และยังต้องขึ้นรถประจำทางที่มีคนเบียดเสียดเยียดยัดกันแน่นเสียด้วยซี “หยดน้ำแข็ง” จึงสื่อความหมายว่า ความทุกข์โดยตัวมันเองไม่ใช่ว่าจะไม่ดี แต่ถ้าเราทิ้งทุกข์ไว้ให้กับคนรุ่นหลัง นั่นแหละคือบาปแหละ

ธรรมจิตต์

สิ่งสำคัญที่สุดในการปฏิบัติธรรมตามหลักพุทธศาสนา คือ ธรรมจิตต์ เช่นถ้าพระรูปใดไม่ได้ตั้งใจ พระอาวุโสก็จะตำหนิว่า “ท่านไม่มีธรรมจิตต์”

ผู้ชี้แนะในสถานปฏิบัติธรรม (ของเซ็น) มักพูดเสมอว่า “ต้องปลูกฝังให้มีธรรมจิตต์” “ธรรมจิตต์” หมายถึง ใจที่แสวงหาพุทธธรรม และเพียรพยายามให้รู้แจ้งธรรมะจนถึงขั้นนิพพาน ซึ่งนี่คือ จิตของพระโพธิสัตว์ ใจที่เริ่มมีหน่อธรรมจิตต์ และดำรงตนอยู่ในหลักธรรม

ผู้ที่ได้รับขนานนามว่า “พระสงฆ์” จะต้องเพาะหน่อธรรมจิตต์ขั้นในใจ และต้องผ่านพิธีโกนผมบวชเสียก่อน แต่จะมีความตั้งใจแรงกล้าในเวลาบวชหรือไม่นั้น ก็ต้องดูว่าความตั้งใจของผู้เป็นอาจารย์บังเกิดผลหรือไม่ และมีอิทธิพลต่อท่าทีการปฏิบัติธรรมของศิษย์เท่าไร

ถ้าคุณเข้าวัด (เซ็น) เพียงเพื่อได้มีที่พักพิงอย่างสงบ การประพฤติธรรมแบบนี้ คงทุกข์เกินไปจริง ๆ ส่วนจะประพฤติธรรมได้อย่างแท้จริงหรือไม่ คงเป็นปัญหาของเจ้าตัวเอง นี่คือ “ธรรมจิตต์” ที่ผู้ใหญ่หรือผู้ชี้แนะกล่าวถึงกัน

เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องที่ใช้ได้กับเซ็นเท่านั้น แต่ใช้ได้กันหมดไม่ว่าวงการใดทั้งสิ้น เช่น เวลาที่พ่อแม่หรือผู้ใหญ่เรียกร้องอะไรสักอย่างจากเด็ก ถ้าเจ้าตัวเองไม่มีความตั้งใจอย่างนั้น ไม่เท่ากับเสียความตั้งใจดีไปเปล่า ๆ ดอกหรือ ?

ในหมู่พระเซ็นก็มีคนที่ไม่ชอบโกนผม และไม่ชอบห่มจีวร ซึ่งหากเข้าพิธีบวชแล้ว ยังต้องมาเพาะให้เกิด “ธรรมจิตต์” อีก แสดงว่าเจ้าตัวคงมีความตั้งใจน้อยเกินไป

รวมความว่า ใครที่คิดทำอะไรสักอย่างให้สำเร็จ สิ่งที่สำคัญที่สุดคือเข้ามี “ธรรมจิตต์” (หรือความตั้งใจ) หรือไม่ ?

ปริศนาธรรมผ่านนิทานเซน

นิทานปรัชญาเซนมีอยู่เป็นจำนวนมากมายหลายร้อยเรื่อง แต่ละเรื่องแม้จะมีเนื้อหาแตกต่างกัน แต่เป้าหมายลงรอยเป็นหนึ่งเดียวกันนั่นคือ เน้นให้ผู้ศึกษาตื่นจากความหลับใหลในศาสนา ลัทธินิกาย ทฤษฎี ศาสตร์ หลักการ รวมทั้งความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งมากมายหรือเปลือกแห่งชีวิตอย่างกิน กาม เกรียติ เงินตรา อำนาจ ราชศักดิ์ และความหลงเพลินในโลกียารมณ์และทรัพย์สมบัติ อย่าสุดโต่ง

กล่าวอย่างสั้นที่สุด นิทานเซนทุกเรื่องมุ่งไปที่การปลุกให้คนตื่นจากความโง่ หันมาดำรงชีวิตอยู่ในปัจจุบันขณะด้วยปัญญาบริสุทธิ์ อย่างรู้ตัวทั่วพร้อมทุกนาทีแห่งชีวิต อย่างไรก็ตาม แม้จะได้ชื่อว่าเป็น “นิทาน” แต่หลายเรื่องมีเค้ามูลแห่งความจริงปรากฏอยู่ และเคยเกิดขึ้นจริงในประวัติศาสตร์

นิกายเซนถือว่าสัจจภาวะนั้น ย่อมอยู่เหนือการพูดการคิดเราจะค้นสัจธรรมในหนังสือพระไตรปิฎกย่อมไม่พบ นอกจากเราจะต้องหันมาบำเพ็ญดูจิตใจของตนเอง เพราะเราจะหาความจริงได้ภายในตัวเรานี้เอง จะไปค้นหาภายนอกไม่ได้ จึงมีคำขวัญประจำนิกายนี้ว่า “ปุกลิบบุ่งยี่ ติกจี้นั่งซิม เกียงแส่เซ่งฮุก” แปลว่า ไม่ต้องอาศัยตัวหนังสือ แต่ชี้ตรงไปยังจิตใจของคน ให้เห็นแจ้งในภาวะที่แท้จริง แล้วบรรลุเป็นพุทธะ

ดังนั้น นิกายนี้จึงสอนว่า สรรพสัตว์มีพุทธภาวะหรือธรรมกายรุ่งเรืองสุกใสอยู่ด้วยกันทุก ๆ คน คำพูดหรือตัวหนังสือหาเพียงพอที่จะอธิบายถึงสัจจภาวะอันนี้ไม่ เพราะฉะนั้น บางคราวจำเป็นต้องอาศัยปริศนาธรรมและคำพูดที่เสียดแทงเข้าไปถึงหัวใจ ช่วยพาไปให้รู้จัก วิธีนี้นิกายเซนเรียกว่า “โกอาน” ซึ่งแปลว่า ปริศนาธรรม สำหรับมอบให้ศิษย์นำไปขบคิด ผู้ใดขบคิดปัญหาโกอานแตก ผู้นั้นก็ดวงตาเห็นธรรมได้

นอกจากนี้นิกายเซนกล่าวว่า การปฏิบัติธรรมโดยผ่านตามลำดับขั้นแห่งไตรสิกขานั้น เป็นการเนิ่นนานล่าช้า สู้วิธีการของเซนไม่ได้ วิธีการของเซนเข้าถึงโดยปัญญาอย่างเดียว เมื่อมีปัญญารู้แจ้งแล้ว ศีล สมาธิ ก็ย่อมปรากฏเอง

คณาจารย์เซนอธิบายถึงลักษณะของพุทธภาวะว่า คือจิตเดิมแท้ของแต่ละบุคคลนั่นเอง ดังวาทะของท่านผู้หนึ่งว่า

“มหึมาหนอเจ้าจิต ฟ้าที่สูงไม่อาจประมาณได้ ถึงสุดยอดแล้ว แต่จิตก็อยู่สูงเหนือฟ้านั้นขึ้นไป แผ่นดินที่หนาไม่อาจวัดได้ แต่จิตก็อยู่พ้นแผ่นดินนั้นลงไป แสงสว่างของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ไม่อาจข้ามได้ แต่จิตก็อยู่พ้นแสงสว่างของดวงอาทิตย์และดวงจันทร์นั้นไปอีก โลกธาตุทั้งปวงมีปริมาณดุจเม็ดทรายไม่มีที่สิ้นสุด แต่จิตก็อยู่นอกเหนือจักรวาลทั้งหลายดังกล่าวไปอีกจะว่าเป็นอากาศหรือ จะว่าเป็นธาตุสภาวะหรือ จิตก็ครอบงำอากาศ ทรงไว้ซึ่งธาตุภาวะเดิม อาศัยตัวของเรา ฟ้าจึงครอบจักรวาล และดินจึงรับรองจักรวาล อาศัยตัวเรา ดวงอาทิตย์และดวงจันทร์จึงหมุนเวียนไป อาศัยตัวเรา ฤดูทั้ง 4 จึงมีการเปลี่ยนแปลง อาศัยตัวเรา สรรพสิ่งจึงอุบัติขึ้น ใหญ่โตจริงหนา! เจ้าจิตนี่ ข้าให้นามแก่เจ้าละว่า ปรมัตถสัจจะและอนุตตรสัมโพธิ หรือศูรางคมสมาธิและสัมมาธรรมจักษุครรภ์ หรือนิพพานจิต”

นอกจากนี้ วิธีขบปริศนาโกอาน หรือที่เรียกว่า ปริศนาธรรมนั้น มีวิธีการแปลก ๆ เช่น ครั้งหนึ่งในฤดูหนาว มีหลวงจีนรูปหนึ่ง ชื่อ ตั้งเฮี้ย เดินทางมาขออาศัยพักแรมในวัดแห่งหนึ่ง เมื่อหิมะตกจัดหลวงจีนรูปนี้จึงเข้าไปในโบสถ์ แล้วนำเอาพระพุทธรูปออกมาทำฟืนเผาไฟ บังเอิญสมภารวัดเดินผ่านมาพบเข้า จึงทักท้วงการกระทำเช่นนั้น หลวงจีนตังเฮี้ยกล่าวว่า “ที่เผาพระพุทธรูปก็เพราะต้องการหาพระบรมธาตุ” สมภารแย้งว่า “พระพุทธรูปไม้จะเอาพระบรมธาตุมาแต่ไหน” หลวงจีนตังเฮี้ยจึงย้อนเอาว่า “เมื่อหาพระบรมธาตุไม่ได้ ก็ขอเอาพระพุทธรูปมาเผาอีกสัก 2-3 องค์” สมภารเมื่อได้ฟังดังนั้น ก็มีดวงตาเห็นธรรมทันที

โกอานอีกเรื่องหนึ่งเล่าว่า คราวหนึ่งมีขุนนางไจ๊เสี่ยงเดินทางไปถามปัญหาธรรมกับพระกัมมัฏฐานรูปหนึ่งว่า “พระนิพพานมีลักษณะอย่างไร พุทธภาวะมีลักษณะอย่างไร” พระรูปนั้นตอบว่า “เชิญท่านไจ๊เสี่ยงไปนั่งเก้าอี้ ดื่มน้ำชาก่อน” ขุนนางตอบไปว่า “ผมมาที่นี้เพราะอยากถามเรื่องนิพพานกับพุทธภาวะ ท่านโปรดอธิบายให้ฟังก่อน” พระรูปนั้นตอบว่า “อากาศข้างนอกเย็นสบายดีจริง” ขุนนางไม่พอใจแสดงกิริยาเคืองออกมาให้เห็นพร้อมกับกล่าวว่า “ผมไม่ต้องการฟังคำพูดอย่างนั้น ผมอยากรู้เรื่องพระพุทธภาวะและพระนิพพานเท่านั้น” พระรูปนั้นจึงว่า “ไม่มีภาษา ไม่มีบัญญัติ ไม่มีโวหาร สิ่ง ๆ นั้นมีอยู่ในตัวของท่านเอง”

นิทานปรัชญาเซนนับเป็นนวัตกรรมทางปัญญา ที่พุทธศาสนานิกายเซนมอบให้เป็นมรดกทางปัญญาแก่ประชาคมโลก ลักษณะเฉพาะของนิทานปรัชญาเซนก็คือ เป็นเรื่องเล่าสั้น ๆ เกี่ยวกับประสบการณ์ในการฝึกปฏิบัติในสำนักเซนระหว่างอาจารย์กับศิษย์ หรือเป็นเรื่องเล่าทั่ว ๆ ไปที่เกิดขึ้นในจีนหรือญี่ปุ่น อันเป็นแผ่นดินมาตุภูมิที่เซนถือกำเนิดขึ้น ก่อนจะมีวิวัฒนาการแพร่หลายไปยังส่วนต่าง ๆ ของโลก




ตัวอย่างนิทานเซน

ชาล้นถ้วย

ในยุคที่พุทธศาสนานิกายเซนรุ่งเรืองในญี่ปุ่นนั้น คนญี่ปุ่นแทบทุกชั้นวรรณะต่างพากันสนใจศึกษาเซน กล่าวกันว่า ความสนใจเซนในยุคนั้นมีอยู่อย่างแพร่หลาย ถึงขนาดที่ว่า แม้แต่ขอทานบางคนก็ยังเป็นผู้รอบรู้เรื่องเซนอย่างลึกซึ้ง ถึงขั้นเป็นอาจารย์ของศิษย์มากมาย

บ่ายวันหนึ่ง ศาสตราจารย์ผู้มีชื่อเสียงคนหนึ่งเกิดอยากจะศึกษาพุทธศาสนานิกายเซนขึ้นมาบ้าง เขาจึงเดินทางไปหา อาจารย์นันอิน ซึ่งเป็นอาจารย์เซนระดับปรมาจารย์คนหนึ่งถึงที่สำนัก

เมื่อไปถึงแล้ว ท่านนันอินรินชาต้อนรับศาสตราจารย์คนนั้นอย่างสงบ

ศาสตราจารย์ผู้มากด้วยความอหังการ เพราะคิดว่าตนก็เป็นหนึ่งในบรรดาปัญญาชนของยุคสมัยเหมือนกัน เฝ้ามองถ้วยชาของพระผู้เฒ่าเงียบ ๆ แล้วก็สังเกตเห็นความผิดปกติ คือ แม้จะรินชาจนล้นถ้วยแล้ว ทว่าอาจารย์เซนก็ยังคงรินไม่หยุด เขาจึงโพล่งออกไปหมายจะเตือนสติอาจารย์เซนว่า “อาจารย์ ชาล้นถ้วยแล้วขอรับ”

อาจารย์เซนเงยหน้าขึ้นมาจากป้านชา พลางเอ่ยขึ้นว่า “คุณก็ไม่ต่างอะไรกับชาถ้วยนี้ ตราบใดที่สมองของคุณยังล้นไปด้วยความคิด ทฤษฎี คุณจะศึกษาเซนอย่างไรได้ จงทำถ้วยของคุณให้ว่างเสียก่อนสิ”

ศาสตราจารย์ได้ฟังแล้วก็พลันเกิดอาการตื่นรู้ขึ้นมาในฉับพลันทันที

คำถามเก่าแก่

มนุษย์ทุกชาติ ทุกภาษา และทุกศาสนา ล้วนมีความเชื่อในเรื่องนรก สวรรค์

บางกลุ่มเชื่อว่า นรก สวรรค์ มีอยู่จริง หลังจากตายแล้ว

บางกลุ่มเชื่อว่า นคร สวรรค์ มีอยู่จริง ในชีวิตนี้

บางกลุ่มเชื่อว่า นรก สวรรค์ มีอยู่จริงก็แต่ในนิยายหรือเรื่องปรัมปราคติ

บางกลุ่มเชื่อว่า นคร สวรรค์ เป็นเพียงกุศโลบายในการสอนจริยธรรมของพวกนักบวช

ในทัศนะของเซน นรก สวรรค์ เป็นอย่างไรหนอ

นักดาบซามูไรหนุ่มผู้หนึ่ง ก็เช่นเดียวกับคนทั่ว ๆ ไปในยุคสมัยของตัวเองที่มีปัญหาค้างคาใจมานานแล้ว ว่านรกและสวรรค์ มีจริงหรือไม่ เขาเที่ยวถามหาคำตอบกับใครต่อใครไปทั่ว แต่ก็ไม่เคยได้รับคำตอบอันเป็นที่พอใจ

วันหนึ่งเขาได้พบกับ ท่านฮะกูอิน อาจารย์เซนผู้มีชื่อเสียงจึงปรี่เข้าไปถาม

“นรก สวรรค์ มีจริงไหมครับ”

“เจ้าเป็นใคร” อาจารย์ถาม

“ผมเป็นซามูไรครับหลวงพ่อ”

“เจ้าเนี่ยนะเป็นซามูไร” ท่านฮะกูอินพูด หางเสียงมีสำเนียงเย้ยหยันนิด ๆ

“สารรูปยังกะขอทานเช่นนี้ เจ้านายคนไหนเขาจะอยากรับเจ้าไว้เป็นราชองครักษ์”

ซามูไรหนุ่มได้ยินถ้อยคำเย้ยหยันเช่นนั้น พลันบันดาลโทสะ จึงคว้าดาบออกมากระชับไว้ในมือ นาทีนั้นเองท่านฮะกูอินจึงเอ่ยว่า

“โอ๊ะโอ๋! มีดาบมาด้วย แต่ดาบทื่อ ๆ อย่างนี้คงตัดคอข้าไม่ขาดหรอก”

มาถึงตอนนี้เจ้าของดาบฉุนจัด ชักดาบออกจากฝักทันที ท่านฮะกูอินจึงปล่อยหมัดน๊อก

“นี่ไง ประตูนรกเปิดแล้ว”

ประโยคนี้สะกดนักดาบหนุ่มเจ้าโทสะให้ฉุกคิด เขาเกิดความสว่างโพลงขึ้นมาในใจ พร้อมกับความรู้สึกผิดวูบใหญ่ที่ไหลท่วมท้นเข้ามาในมโนธรรม จึงเก็บดาบเข้าฝัก ก้มลงกราบท่านฮะกูอินอย่างนอบน้อม พร้อมกับยอมเอ่ยขอโทษที่หยาบคาย

ท่านฮะกูอินเห็นกิริยาหมดพิษสงเช่นนั้น จึงเอ่ยขึ้นมาว่า

“นี่ไง ประตูสวรรค์เปิดแล้ว”

คุณยังไม่วางอีกหรือ

แก่นคำสอนสำคัญประการหนึ่งที่โดดเด่นมากของพุทธศาสนาก็คือ การปล่อยวาง พิจารณาในแง่ถ้อยคำ คำว่า “การปล่อยวาง” ดูเหมือนไม่น่าจะทำยาก แต่หากพิจารณาในทางปฏิบัติแล้ว ไม่ง่ายเลยที่ใคร ๆ จะทำได้ อุปสรรคของการปล่อยวางที่สำคัญก็คือ การยึดติดถือมั่นในสิ่งต่าง ๆ อย่างเหนียวแน่น

การยึดติดถือมั่นเกิดจากการที่จิตยังไม่ตื่น ยังไม่รู้ ยังไม่เบิกบาน ยังไม่ตื่นจากความหลงไปในอดีต หรือในอนาคต ยังไม่รู้ว่าสรรพสิ่งล้วนเป็นเพียงของใช้ ไม่ใช่ของฉัน ยังไม่เบิกบาน เพราะยังจมอยู่ในความทุกข์ที่เกาะกุมจิตใจมาอย่างยาวนาน จนกลายเป็นความเคยชิน ที่แยกจิตออกมาจากความทุกข์ไม่ได้

แต่เมื่อใครก็ตาม “ตื่นอยู่เสมอ” เพราะจิตมีสติคอยกำกับอยู่ตลอดเวลา โอกาสที่คนคนนั้นจะเผลอไปยึดสิ่งใดสิ่งหนึ่งก็เป็นไปได้ยาก ทว่าสำหรับผู้ที่ขาดสติเสียแล้ว แม้ตื่นอยู่แต่ก็ดูเหมือนจะยังคงหลับใหล

บางคนหลับอยู่ เพราะหลงฟุ้งไปในอดีต

บางคนหลับอยู่ เพราะหลงฟุ้งไปในอนาคต

เมื่อจิตยังพัวพันอยู่กับอดีต หรืออนาคต จึงไม่ต้องสงสัยเลยว่า ความสดชื่นรื่นเย็นของชีวิตจะเกิดขึ้นมาได้อย่างไร

ความสดชื่นรื่นเย็นของชีวิตจะเกิดขึ้นก็เฉพาะกับบุคคลผู้มีสติซึ่ง “ตื่นอยู่ในปัจจุบันขณะ” เท่านั้น ส่วนผู้ที่ยังถูกกักขังอยู่ในเรือนจำของความคิดในอดีต หรือความกังวลในอนาคต ยากมากที่จะสัมผัสกับชีวิตที่สดชื่น ยากเหลือเกินที่จะปล่อยวาง ยากที่สุดที่จะค้นพบสวรรค์อันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง ณ ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ณ วินาทีนี้

วันหนึ่ง ขณะฝนกำลังตกหนัก อาจารย์ตันซานกับอาจารย์เอกิโด อยู่ในระหว่างเดินทางไปตามถนนสายหนึ่ง ขณะที่กำลังสาวเท้าก้าวไปบนพื้นถนนที่ชื้นเฉะและมีน้ำเจิ่งนองไปทั่วนั่นเอง อาจารย์ทั้งสองก็เผอิญพบกับหญิงสาวคนหนึ่ง ซึ่งสวมชุดกิโมโนมีพู่ห้อยยาว เธอกำลังยืนหันรีหันขวางอยู่ ณ หัวมุมของถนนสายหนึ่ง

โดยไม่คาดคิด อาจารย์ตันซานตรงเข้าไปอุ้มหญิงสาวคนนั้นพาข้ามโคลนไปอย่างฉับไว

อาจารย์เอกิโดเห็นเหตุการณ์นั้นโดยตลอด ท่านตกใจมาก เพราะตระหนักรู้เป็นอย่างดีว่าพระไม่ควรถูกตัวผู้หญิงเช่นนั้น ครั้นจะห้าม เหตุการณ์นั้นก็ผ่านไปแล้ว ท่านวุ่นวายใจ เฝ้าถามตัวเองตลอดการเดินทาง ว่าทำไมอาจารย์ตันซานถึงทำอะไรลงไปโดยพลการเช่นนั้น

เมื่อทนแบกความสงสัยว้าวุ่นไว้ในใจต่อไปไม่ไหว พลันที่เดินทางมาถึงสำนักในเพลากลางคืน ท่านจึงตรงเข้าไปถามอาจารย์ตันซานด้วยความเป็นห่วงทันที

“ท่านไม่รู้ดอกหรือว่า พระอย่างเรานั้นแตะเนื้อต้องตัวผู้หญิงไม่ได้ ยิ่งผู้หญิงสวย ๆ อย่างคนเมื่อกลางวันด้วยแล้ว ยิ่งไม่ควรถูกเนื้อต้องตัวด้วยประการทั้งปวง”

อาจารย์ตันซานหันมาตอบด้วยสีหน้าเรียบเฉย แต่คมคายยิ่ง

“ผมวางเธอไว้ที่นั่นตั้งนานแล้ว ไม่น่าเชื่อว่าคุณยังอุ้มเธออยู่อีกหรือนี่”

กระทบ – ไม่กระเทือน

กลอนของท่านสุนทรภู่บทหนึ่งเขียนว่า

“อันนินทากาเลเหมือนเทน้ำ

ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน

ถึงองค์พระปฏิมายังราคิน

มนุษย์เดินดินหรือจะสิ้นคนนินทา”

ทั้ง ๆ ที่รู้ว่านินทาเป็นธรรมดาประจำโลก แต่เมื่อถูกโลกธรรมคือนินทากระทบ น้อยคนนักที่จะไม่หวั่นไหว ยิ่งเป็นปุถุชนคนมีกิเลสด้วยแล้ว ถูกนินทาทีหนึ่งก็สะเทือนสะท้ายไปหลายวัน บางคนนานเป็นปีก็ยังสะดุ้งไม่หาย ขาดความมั่นใจไปทั้งชีวิต

แต่หากใครล่วงรู้เป็นอย่างดีว่า เมื่อเกิดมาในโลก ไม่มีใครหนีพ้นการถูกนินทาได้ เขาก็ย่อมจะครองตนเป็นคนปกติอยู่ได้อย่างสงบสุข

ในยุคที่พุทธศาสนานิกายเซนกำลังรุ่งโรจน์ในญี่ปุ่น มีอาจารย์เซนมากมายที่ได้รับการยอมรับนับถือให้เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณของประเทศ แต่กว่าจะฝ่าด่านขึ้นมาเป็นผู้นำได้ ก็ต้องผ่านวิกฤตการณ์มามิใช่น้อย

หญิงสาวคนหนึ่งชอบเข้าวัดเซนแห่งหนึ่งเป็นประจำ เธอเข้า ออกวัด จนใคร ๆ ก็รู้กันทั่ว ต่อมาเธอพลาดท่าให้กับชายหนุ่มขายปลาคนหนึ่งในตลาดจนท้องโต เมื่อชาวบ้านถามว่าใครเป็นพ่อเธอก็อ้ำอึ้ง วันหนึ่งเมื่อถูกรุกหนักเข้า เธอจึงโพล่งออกไปว่า หลวงพ่อเจ้าอาวาสในวัดนั่นแหละเป็นพ่อของเด็กในท้อง

ชาวบ้านอ้าปากค้าง ป้องปากพูดกันเกรียวทั่วตลาด “ตูว่าแล้ว มันต้องออกมาเป็นเช่นนี้”

นับแต่วันนั้น ชาวบ้านแห่ไปถามเอาความจริง กับหลวงพ่อหลายคนไปเล่าให้ท่านฟังว่า หญิงสาวกล่าวหาว่าท่านเป็นพ่อเด็ก แต่ท่านไม่สะทกสะท้าน เมื่อชาวบ้านเล่าจบ ท่านเพียงแต่ยิ้มแล้วตอบสั้น ๆ ว่า

“ยังงั้นรึ”

วันต่อมา พ่อแม่หญิงสาวบุกไปหาท่านถึงวัด ด่าท่าน สาดเสียดเทเสียว่าทำให้ชื่อเสียงเสื่อมเสียไปทั้งวงศ์ตระกูล เมื่อด่าจบ ท่านก็ตอบสั้น ๆ ว่า

“ยังงั้นรึ”

ไม่ว่าใครจะกล่าวหาอย่างไร หลวงพ่อไม่เคยแสดงอาการว่า หวั่นไหว เหตุการณ์ผ่านไปจนกระทั่งข่าวเริ่มซา

แล้ววันหนึ่งสาวเจ้าต้นเรื่องก็คลอดลูกออกมาเป็นเด็กชาย

เธอรู้อยู่แก่ใจว่าใครเป็นพ่อเด็ก แม้จะโยนข้อหาให้หลวงพ่อเป็นคนรับ แต่กลับไม่ทำให้ท่านหวั่นไหว ทั้งยังไม่เคยได้ค่าปิดปากใด ๆ อีกต่างหาก เมื่อทางวัดเงียบ เธอจึงร้อนตัว กินไม่ได้ นอนไม่หลับ กลัวบาปตามรังควาน วันหนึ่งจึงสารภาพกับพ่อแม่ว่า พ่อที่แท้จริงของเด็กเป็นเพียงคนขายปลาในตลาดเท่านั้น

พ่อแม่รู้ความจริงต่างสะเทือนใจ กลัวบาปใหญ่หลวงจะตกแก่ตัวเองตามไปด้วย จึงรีบกุลีกุจอไปวัด เพื่อกราบขอขมาหลวงพ่อเจ้าอาวาส

เมื่อสารภาพความจริงให้หลวงพ่อฟัง และขอขมาแล้ว แทนที่จะกล่าวอะไรบ้าง หลวงพ่อกลับตอบด้วยถ้อยคำเดิม ๆ

“ยังงั้นรึ”

วิธีการหลากหลายแต่เป้าหมายเป็นหนึ่งเดียว

พุทธศาสนานิกายเซน เมื่อมองในแง่ลัทธินิกายก็จัดเป็นนิกายมหายานอันเป็นปีกที่สองของนก (คือพระพุทธศาสนา) ตัวเดียวกัน ปรีชาญาณที่มีอยู่ในพุทธศาสนานิกายเซนได้รับความสนใจศึกษากันอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตก ก่อนที่จะรู้จักแพร่หลายในสังคมไทยเสียอีก แต่คนไทยที่รู้จักพุทธศาสนานิกายเซนช้ากว่าชาวตะวันตกนั้นไม่ได้หมายความว่าเซนไม่น่าสนใจ แต่เพราะคนไทยมีความเชื่อมั่นว่าพุทธศาสนาแบบเถรวาทของตนนั้นสมบูรณ์แบบที่สุดแล้ว จึงไม่จำเป็นต้องแสวงหาภูมิพิชชาอื่นอีกให้มากความ

ต่อเมื่อท่านพุทธทาสภิกขุ เป็นต้น นำพุทธศาสนานิกายเซนมาสู่โลกแห่งการศึกษาพุทธศาสนาของคนไทย ผ่านผลงานแปลอย่างสูตรของเว่ยหล่าง คำสอนของฮวงโป และภาพปริศนาเซนจำนวนมากที่ท่านให้ปั้นไว้ที่โรงมหรสพทางวิญญาณที่สวนโมกขพลาราม ไชยา แล้วนั่นแหละ นับแต่นั้นมา เซนก็กลายเป็นสายธารทางปัญญาเชิงพุทธอีกแหล่งหนึ่งที่ได้รับความสนใจศึกษา ค้นคว้ากันอย่างกว้างขวาง กระทั่งถึงวันนี้ เมื่อเอ่ยคำว่าเซน ไม่มีใครตั้งข้อสงสัยอีกแล้วว่าหมายถึงอะไร ซึ่งผิดกับตอนที่ท่านพุทธทาสนำเซนมาสอนใหม่ ๆ มาก เพราะคราวนั้นมีผู้ตั้งข้อสังเกตเอากับท่านไปต่าง ๆ นานา กระทั่งหาว่าท่านกำลังทำความเสียหายให้กับพระพุทธศาสนาอย่างใหญ่หลวง จนท่านต้องออกมาแก้ต่างว่า

“ที่ว่าผมทำความเสียหายให้แก่พระพุทธศาสนาโดยเอาลัทธิเซนมาเผยแผ่ในประเทศไทยนั้น ผมก็ไม่ได้ทำความเสียหาย กลับเป็นผลดีเสียอีก คือให้คนไทยได้หายโง่ว่า เซนนั้นเขาปฏิบัติกันอย่างไร คนไทยจะได้หายโง่ไปเป็นกอง

ถ้าคนไทยบางคนยังมีปัญญาเฉียบแหลม จะใช้วิธีอย่างเซนบ้าง มันก็อาจจะใช้ได้ ซึ่งก็เป็นพระพุทธศาสนารูปหนึ่ง ไม่เป็นการเสียหายแก่พระพุทธศาสนาตรงไหน เพราะมันเป็นพุทธศาสนาเดียวกัน ซึ่งมันมีวิธีต่าง ๆ กัน

อย่างจะไปกรุงเทพ ฯ นี้ คนหนึ่งจะไปเรือบินก็ได้ ได้ยินว่าเสีย 100 เท่านั้น ที่สถานีอากาศยานบินในกรุงเทพ ฯ คนหนึ่งเสียพันบาท แต่คนหนึ่งจะคลานไปก็ได้ จะว่าอะไรมันเล่า แล้วใครผิด ใครถูกเล่า มันก็ถูกเฉพาะของตน ๆ อย่าไปดูถูก ดูถูกเข้ามันจะโง่ คนหนึ่งมันขี่เกวียนไปก็ได้ คนหนึ่งมันจะขี่รถยนต์ไปก็ได้ แต่คนหนึ่งมันจะคืบคลานไปอย่างกลับปลิงหรือหอยทากก็ได้ อย่าไปว่าเขาซี มันก็เป็นวิธีที่ไปถึงได้

พระพุทธศาสนาต้องการจะให้มีจิตใจที่ไม่เป็นทุกข์ มีวิธีใดที่จะไม่ให้เป็นทุกข์ได้ละก็ ใช้ได้ทั้งนั้น”

ทุกวันนี้มีการศึกษาเซนกันหลายลักษณะ ทั้งในฐานะที่เป็นสาขาหนึ่งของพระพุทธศาสนา ทั้งในฐานะที่เป็นพุทธปรัชญาและทั้งในฐานะที่เป็นภูมิปัญญาอันโดดเด่นที่โลกตะวันออกมอบให้แก่อารยธรรมของโลก อย่างไรก็ตาม ก็ศึกษาเซนจะมีความหมายอย่างแท้จริงต่อชีวิต ก็ต่อเมื่อผู้ศึกษาน้อมนำเอาธรรมรสมาประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวันอย่างแยบคายเท่านั้น หากศึกษาเซนในฐานะเป็นศาสตร์อย่างหนึ่งเช่นเดียวกับที่ศึกษารัฐศาสตร์ เศรษฐศาสตร์ นิติศาสตร์ วิทยาศาสตร์ ประวัติศาสตร์ เป็นต้น โดยไม่สนใจว่าจะนำมาแก้ปัญหาชีวิตได้อย่างไร การศึกษาเซนก็ดูเหมือนจะเป็นเรื่องสูญเปล่าและห่างไกลออกไปจากจุดมุ่งหมายที่เซนต้องการ

ผู้ศึกษาเซนจึงต้องถามตัวเองอยู่เสมอว่า ทุกนาทีแห่งชีวิตของเราได้รับประโยชน์จากเซน คือ ความสงบ ร่วมเย็น และเป็นสุขอย่างรู้ตัวทั่วพร้อมบ้างแล้วหรือยัง หากยัง แสดงว่าการศึกษาเซนของท่าน ก็มิต่างอะไรกับการอ่านแผนที่แต่ไม่ยอมออกเดินทางไปยังจุดหมาย อ่านไปเถอะ อ่านจนแผนที่พรุน ท่านก็จะยังคงย่ำเท้าอยู่กับที่ ไม่มีอะไรก้าวหน้าขึ้นมาแต่อย่างใด

**********************************************************************************

บทที่ 3

วิถีแห่งเซน

เซน ซามูไร

เป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่พวกซามูไรต้องพกดาบสองเล่ม คือดาบยาวใช้สำหรับฟาดฟันข้าศึกและป้องกันตัว ส่วนดาบสั้นใช้ทำลายตัวเองในเมื่อถึงคราวจำเป็นจะฝึกฝนตนเองอย่างเอาจริงเอาจังที่สุดในศิลปะการฟันดาบไม่เคยเลยที่เขาจะอยู่ห่างจากอาวุธซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่สูงสุดแห่งศักดิ์ศรีและเกียรติยศของเขา การฝึกฝนในการใช้ดาบนี้ นอกจากประสงค์เพื่อให้มีความชำนิชำนาญแล้ว ยังเป็นการนำไปสู่การทำให้ศีลธรรมและวิญญาณสูงส่งยิ่งขึ้นอีกด้วย ตรงนี้แหละที่นักดาบได้เป็นมิตรกับนิกายเซน แม้ว่าข้อเท็จจริงในเรื่องนี้จะได้มีการสาธิตแสดงมาบ้างแล้ว ข้าพเจ้าก็ยังปรารถนาจะคัดข้อความต่าง ๆ มาแสดงเพื่อจะได้มองเห็นความสัมพันธ์อย่างใกล้ชิดสนิทสนมระหว่างนิกายเซนกับดาบ ในรูปแห่งจดหมายที่ตะกวน ที่มีไปถึง ยะกีว ทะยิมะ โนะ คะมิ มุเนะ โนะริ (พ.ศ. ๒๑๑๔-๘๙) ในส่วยที่เกี่ยวกับสัมพันธภาพระหว่างนิกายเซนกับความชำนาญในการฟันดาบ

โดยเหตุที่จดหมายนั้นยากมาก และมีข้อความซ้ำไปซ้ำมาข้าพเจ้าจึงขอย่อหรือถอดความมาไว้ ณ ที่นี้โดยพยายามจะรักษาความคิดที่สำคัญ ๆ ของจดหมายฉบับเดิมไว้ และบางทีก็จะเพิ่มคำอธิบายและเชิงอรรถหรือหมายเหตุเข้าไว้เพื่อจะได้เข้าใจชัดยิ่งขึ้น จดหมายนี้นับว่าเป็นเอกสารที่สำคัญมากกว่าอย่างหนึ่ง ทั้งนี้ เพราะว่าเอกสารฉบับนี้เกี่ยวกับคำสอนที่เป็นสารัตถะสำคัญของนิกายเซน และความลับแห่งศิลปะโดยทั่ว ๆ ไปในประเทศญี่ปุ่นและบางทีจะในประเทศอื่น ๆ ด้วย อาจเห็นว่าเพียงความรู้ศิลปะทางด้านเทคนิคอย่างเดียวไม่พอที่จะทำให้คนเรามีความชำนิชำนาญในศิลปะนั้นได้จริง ๆ เลยเขาควรจะขุดคุ้ยหรือล้วงให้ลึกเข้าไปจนถึงเจตนารมณ์ชั้นในของศิลปะนั้น ๆ เขาจะยึดเจตนารมณ์นี้ได้ก็ต่อเมื่อจิตของเข้ามีความบรรสานสนิทกับหลักการแห่งชีวิตเท่านั้น นั่นคือเมื่อเขาบรรลุถึงจิตขั้นหนึ่งเรียกว่า “มุชิน” (ในภาษาจีนเรียกว่า “หวู่สิน”) คือ “ไม่มีจิต” หรือ “จิตว่าง” (no-mind) ในการใช้ถ้อยคำทางพระพุทธศาสนาคำนี้หมายถึงการไปพ้นความเป็นสองแห่งรูปฟอร์มของชีวิตและความตาย แห่งความดีและความชั่ว แห่งภาวะและอภาวะทั้งหมดตรงนี้แหละที่ศิลปะทั้งปวงได้จมหายเข้าไปในเซน ในจดหมายฉบับนี้ที่มีไปถึงอาจารย์ดาบผู้ยิ่งใหญ่นั้น ตะกวนได้เน้นถึงความสำคัญของ “มุชิน” มาก ซึ่งในทางหนึ่งอาจถือว่าสอดคล้องต้องกันกับมโนภาพเกี่ยวกับภวังคจิต หรือจิตที่ดับความรู้สึกได้หมด (unconscious)เมื่อกล่าวในด้านจิตวิทยาแล้ว จิตในสถานะนี้ได้มอบตัวเองให้แก่ “อำนาจ” ที่ไม่รู้จักอย่างไม่สงวนท่าทีใด ๆ ไว้เลยซึ่งอำนาจนี้ไม่ทราบว่ามาจากไหน แต่จะมาสู่จิตและดูเหมือนจะเข้มแข็งพอที่จะครอบครองขอบเขตแห่งดวงวิญญาณทั้งหมดและทำให้วิญญาณต้องทำงานให้แก่สิ่งที่ไม่รู้จัก ตอนนี้เมื่อว่าถึงวิถีจิตหรือจิตสำนึกของเขาเองแล้ว มันก็จะกลายเป็นดุจหุ่นยนต์ชนิดหนึ่งนั่นเอง แต่ตะกวนได้อธิบายไว้ว่า ไม่ควรเอาไปสับสนกับลักษณาการอันอยู่เฉย ๆ อย่างช่วยไม่ได้ของสิ่งที่เป็นอนินทรีย์ เช่น ก้อนหินหรือท่อนไม้ เป็นต้น เขาก็จะ “มีความรู้สึกอย่างไม่รู้สึกตัว” หรือ “ไม่รู้สึกตัวอย่างมีความรู้สึก” ได้ อาศัยข้อสังเกตเบื้องต้นนี้เข้าช่วยก็คงจะทำให้พอเข้าใจคำแนะนำสั่งสอนของท่านตะกวนต่อไปนี้ได้

ลิขิตของท่านตะกวนที่มีไปถึง
ยะกีว ทะยิมะ โนะ คะมิ มุเนะโนริ
ในเรื่องความช่ำชองปรัชญาปารมิตา
กิเลสที่เกิดขึ้น ณ ขั้นที่ไม่เปลี่ยนแปลงแห่งอวิชชา

คำว่า “อวิชชา” (อวิทยา) หมายถึง ความไม่รู้แจ้ง นั่นคือ ความโง่งมงาย (โมหะ) คำว่า “ขั้นที่ไม่เปลี่ยนแปลง หมายถึง “จุดที่จิตพักอาศัย” ในการปฏิบัติทางพระพุทธศาสนา เราพูดถึงขั้นต่าง ๆ รวม ๕๒ ขั้น ขั้นหนึ่ง คือ ขั้นที่จะยึดมั่นอยู่กับอารมณ์ที่มันประสบ การยึดมั่นนี้เรียกว่า “โทะมะรุ” คือ “การยึดหน่วง” หรือ “การอยู่” จิตยึดหน่วงอยู่กับอารมณ์หนึ่ง แทนที่จะผละจากอารมณ์หนึ่งไปสู่อีกอารมณ์หนึ่ง (ดังที่จิตปฏิบัติอยู่ตามธรรมชาติของมัน)

ในกรณีเกี่ยวกับความชำนาญในการฟันดาบ เช่น เมื่อข้าศึกพยายามที่จะฟันท่าน ตาของท่านจะต้องจ้องจับอยู่ที่การเคลื่อนไหวแห่งดาบของเขาทันทีและท่านอาจพยายามติดตามความเคลื่อนไหวนั้นได้ แต่ตราบเท่าที่เหตุการณ์ยังดำเนินไปเช่นนี้อยู่ ท่านก็ชื่อว่าสิ้นสุดการเป็นนายตัวเอง และแน่ใจได้เลยว่าท่านจะต้องถูกข้าศึกฟันแน่ นี่เรียกว่า “การหยุด” (แต่ก็มีวิถีทางที่จะพบกับดาบของข้าศึกอยู่อีกวิถีทางหนึ่ง)

ไม่ต้องสงสัยละว่า ท่านจะต้องมองเห็นดาบที่ฟันฟาดฉวัดเฉวียนอยู่ใกล้ ๆ ตัวท่าน แต่จงอย่าปล่อยให้ใจ “หยุด” อยู่ที่ดาบนั้นจงอย่าตั้งใจฟันตอบเพื่อเป็นการแก้แค้นที่เขามีการเคลื่อนไหวเป็นการคุกคามท่าน ไม่ต้องดีดลูกคิดรางแก้วใด ๆ ทั้งสิ้น เพียงท่านเห็นการเคลื่อนไหวของฝ่ายตรงข้ามอย่างประจักษ์แจ้งเท่านั้นก็พอ จงอย่าปล่อยให้จิต “หยุด” อยู่กับการเคลื่อนไหวนั้นท่านจะต้องเคลื่อนไหวดุจดังว่าท่านเดินเข้าหาข้าศึก และเอาการโจมตีของข้าศึก มาใช้ให้เป็นประโยชน์ โดยการทำให้การโจมตีของข้าศึกนั้นไปตกที่ตัวเขาเองแล้วดาบของเขาที่หมายจะฆ่าท่านก็จะกลายมาเป็นดาบของท่านเอง และอาวุธนั้นก็จะกลับไปฟันข้าศึกของท่านนั่นเอง

ในนิกายเซน วิธีนี้เรียกกันว่า “การยึดหอกของข้าศึกแล้วใช้หอกนั้นเป็นอาวุธประหารข้าศึก” มโนคติก็มีอยู่ว่า ดาบของข้าศึกที่ถูกเปลี่ยนมาอยู่ในมือของท่านจะกลายเป็นเครื่องมือที่ทำลายล้างข้าศึกเอง นี่คือ “ดาบว่าง” (“no-sword”) ในการใช้ถ้อยคำของท่านในทันทีที่จิต “หยุด” อยู่กับอารมณ์คือธรรมชาติจะแบบใดก็ตามไม่ว่าจะเป็นดาบของข้าศึกหรือดาบของตัวท่านเองก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นชายผู้นั้นซึ่งก้มตัวลงฟันหรือจะเป็นดาบในมือเขาก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวิธีหรือมาตรการแห่งการเคลื่อนไหวใด ๆ ก็ตาม ท่านจะสิ้นสุดความเป็นนายตัวท่านเอง แล้วแน่นอนที่ท่านจะต้องตกเป็นเหยื่อคมดาบของข้าศึก เมื่อท่านตั้งตัวเป็นปฏิปักษ์กับเขา เขาก็จะเอาจิตของท่านไป ดังนั้น จงอย่าคิดถึงแม้ตัวท่านเอง (นั่นคือ จะต้องอยู่เหนือความเป็นปฏิปักษ์กันแห่งประธานและกรรมหรือแห่งจิต และวัตถุ)

สำหรับผู้เริ่มต้น ก็มิได้ถือว่าเป็นความคิดที่เลวเลยที่จะต้องระมัดระวังรักษาจิตดดยเอามาประยุกต์ใช้กับการฝึกฝนตนให้มีระเบียบวินัยได้ ที่นับว่าเป็นเรื่องสำคัญก็คือท่านจะต้องไม่สนใจต่อดาบและมาตรการเกี่ยวกับความเคลื่อนไหวของดาบ เมื่อจิตของท่านกังวลอยู่กับดาบ ท่านก็จะกลายเป็นเชลยตัวเอง นี่คือสิ่งทั้งปวงที่เนื่องมาจากการที่จิตของท่านยึดมั่นอยู่กับอะไรบางอย่างในภายนอกและสูญเสียความเป็นนายเหนือจิตนั้น ข้าพเจ้าเชื่อว่านี่คือสิ่งทั้งปวงที่ท่านทราบดีอยู่แล้ว ข้าพเจ้าเพียงเรียกร้องให้ท่านสนใจจากทัศนะของเซนเท่านั้นเองในพระพุทธศาสนา จิตที่ “ข้อง” อยู่นี่เรียกว่า โมหะ ดังนั้นจึกเรียกว่า “กิเลสที่เกิดมีขึ้นมาพร้อมกับอวิชชา”

(อย่าเอาคำว่า “ไม่รู้สึกตัว” ของนักดาบมาปนเปกับคำว่า “ไม่รู้สึกตัว” ของนักจิตวิเคราะห์เข้า ทั้งนี้เพราะคำว่า “ไม่รู้สึกตัว” ของนักดาบนั้นพ้นจากมโนภาพเกี่ยวกับตัวตน นักดาบที่สมบูรณ์แบบจะต้องไม่รับรู้บุคลิกภาพของข้าศึกอย่างเป็นทางการยิ่งไปกว่าบุคลิกภาพของตนเลย เพราะเขาเป็นคนดูที่วางตัวเป็นกลางที่มองดูนาฏกรรมแห่งชีวิตและความตาย ซึ่งตัวเขาเองเป็นผู้มีส่วนร่วมที่เข้มแข็งจริงจังที่สุด ทั้ง ๆ ที่เขาต้องมีหรือควรจะมีภารกิจทั้งปวง แต่เขาก็อยู่เหนือตัวเอง อยู่เหนือการเข้าใจสถานการณ์แบบทวินิยม เขายังไม่เป็นผู้วิเศษที่เข้าฌาน เขายังจะต้องต่อสู้อย่างเอาเป็นเอาตายอย่างที่สุด ข้อแตกต่างกันอยู่เด่นชัดนี้ เราคงพอระลึกได้ ถ้าหากเราเอาวัฒนธรรมตะวันออกกับวัฒนธรรมตะวันตกมาเปรียบเทียบกันดู แม้ในศิลปะต่าง ๆ เช่น ศิลปะการฟันดาบ ซึ่งจะมองเห็นหลักการว่าด้วยความเป็นปฏิปักษ์กันได้อย่างแจ่มชัดที่สุดนั้น บุคคลที่ควรจะมีความสนใจอย่างที่สุดในเรื่องนี้ก็ได้รับคำแนะนำให้เปลื้องตนออกจากมโนคตินั้นเสีย)

“ดาบเป็นวิญญาณของซามูไร” : เพราะฉะนั้น เมื่อซามูไรเป็นคนที่อยุ่ในบังคับ ดาบก็ย่อมมากับซามูไรด้วยอย่างหลักเลี่ยงไม่ได้ ซามูไรที่ปรารถนาจะเป็นคนซื่อสัตย์ต่ออาชีพตน ประการแรกจะต้องถามตัวเองเสียก่อนว่า เราจะอยู่เหนือความเกิดและความตายเพื่อที่เราจะได้พร้อมเสมอที่จะเสียสละชีวิตเพื่อเจ้านายของเราในเมื่อถึงคราวจำเป็นได้อย่างไร? ข้อนี้หมายความว่า พร้อมที่จะเอาตัวเข้ารับคมดาบของข้าศึกหรือใช้ดาบของตนสังหารตนเอง ดังนั้นดาบจึงนับว่ามีความสัมพันธ์กับชีวิตของซามูไรอย่างใกล้ชิดที่สุด และได้กลายเป็นสัญลักษณ์แห่งความจงรักภักดีและการอุทิศชีวิตตนเอง การที่ซามูไรได้แสดงความเคารพดาบในวิถีทางต่าง ๆ นั้น นับว่าเป็นการพิสูจน์ให้เห็นถึงความจริงข้อนี้โดยแท้

ดังนั้น ดาบจังต้องทำหน้าที่๒ อย่างด้วยกัน คือ ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างที่ขัดขวางเจตจำนงของเจ้าของดาบ และประหารความรู้สึกทุกอย่างที่เกิดจากสัญชาตญาณ (สัญชาตเวค) ในอันที่จะคุ้มครองตนเอง อย่างหนึ่งทำให้ตนเองมีความสัมพันธ์กับเจตนารมณ์แห่งความรักชาติหรือบางทีก็สัมพันธ์กับเจตนารมณ์แห่งลัทธิทหาร ส่วนอีกอย่างหนึ่งก็แสดงให้เห็นความจงรักภักดีและการอุทิศตนเองทางด้านศาสนา ในกรณีแรก บ่อยทีเดียวที่ดาบอาจหมายถึงการทำลายสิ่งที่บริสุทธิ์และง่าย ๆ แล้วก็เลยกลายเป็นสัญลักษณ์แห่งกำลังหรืออำนาจไปแต่บางทีก็หมายถึง การทำลายล้างอำนาจที่เลวร้าย ดังนั้น จึงจำต้องมีหน้าที่อย่างที่ ๒ มาทำหน้าที่ควบคุมและทำให้ดาบศักดิ์สิทธิ์ขึ้น เจ้าของดาบผู้มีมโนธรรมมักจะคำนึงถึงความจริงข้อนี้อยู่เสมอ จึงได้ใช้ดาบนั้นหันไปทำลายล้างเจตภูตที่ชั่วร้าย จึงถือกันว่าดาบนั้นเป็นเอกลักษณ์กับการทำลายล้างสิ่งทั้งหลายที่ขวางทางแห่งสันติสุข ความยุติธรรม ความก้าวหน้า และมนุษยธรรมดาบยืนหยัดเพื่อทุกสิ่งทุกอย่างที่พึงปรารถนาสำหรับที่จะก่อให้เกิดสวัสดิภาพทางด้านจิตใจของโลกในที่สุด บัดนี้ดาบจึงเป็นการทำชีวิตให้เป็นรูปร่างขึ้นมา หาใช่เป็นการทำความตายให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาไม่

เซนกล่าวถึงดาบแห่งชีวิตและดาบแห่งความตาย และนับว่าเป็นงานของอาจารย์เซนที่ยิ่งใหญ่ที่จะทราบว่าเมื่อใดควรจะใช้ดาบอย่างไหนและจะใช้อย่างไร พระมัญชุศรีพุทธเจ้าก็ทรงถือดาบอยู่ในพระหัตถ์ขวา และพระหัตถ์ซ้ายทรงถือพระสูตร (คัมภีร์) ข้อนี้ทำให้เราระลึกถึงนบีมุฮัมมัด (มุฮัมมัด) แต่ดาบอันศักดิ์สิทธิ์ของพระมัญชุศรีมิได้มีไว้เพื่อประหัตประหารสิ่งที่มีชีวิตใด ๆ เลย หากเอาไว้ประหารความโลภ ความโกรธ และความหลงของเราเอง เรามุ่งใช้ดาบนั้นเพื่อตัวเราเอง เพื่อว่าเมื่อเราทำเช่นนี้ โลกภายนอกซึ่งเป็นภาพสะท้อนของสิ่งที่อยู่ภายในตัวเราก็จะพ้นจากโลภ โกรธ และหลง อจลเทพ (ฟุโด เมียวโอ) ก็ทรงถือดาบด้วยเช่นกัน และจะทรงทำลายล้างข้าศึกศัตรูทั้งปวงที่ขัดขวางการปฏิบัติธรรมทางพระพุทธศาสนา พระมัญชุศรีทรงเป็นฝ่ายบวก อจลเทพทรงเป็นฝ่ายลบ ความโกรธของอจลเทพย่อมเผาผลาญเช่นเดียวกับไฟ และจะไม่สงบลงจนกว่าจะเผาค่ายสุดท้ายของศัตรูลงได้เสียก่อน แล้วอจลเทพก็จะทรงดำรงลักษณะที่สำคัญเดิมของตนในฐานะเป็นพระไวโรจนพุทธเจ้า ซึ่งอจลเทพทรงเป็นผู้คอยรับใช้ และเป็นการสำแดงพระองค์ให้ปรากฏของพระไวโรจนพุทธเจ้านั้น พระไวโรจนพุทธเจ้ามิได้ทรงถือดาบ ตัวพระองค์เองนั่นแหละทรง

นักรบบูชิโด เป็นผู้ที่แสดงความรู้สึกถึงสิ่งที่มีอยู่ในจิตใจของพวกซามูไรโดยทั่ว ๆ ไป ออกมาโดยไม่รู้ตัว ในแง่หนึ่ง ความนึกถึงความตาย (มรณัสติ) ทำให้ความคิดของเราขยายออกไปเกินของเขตแห่งชีวิตที่กำหนดไว้แน่นอนนี้ และในอีกแง่หนึ่ง ความนึกถึงความตายนี้จะทำให้คนเราต้องใช้ชีวิตให้จริงจังยิ่งขึ้น ดังนั้นจึงเป็นธรรมดาที่บุคคลที่มีจิตใจสงบจะเข้าถึงเซนด้วยความคิดที่จะเอาชนะความตายให้ได้ การที่เซนอ้างว่าจะรับมือกับปัญหานี้โดยไม่ต้องเรียนหรือฝึกฝนทางด้านศีลธรรมหรืออาศัยพิธีรีตองเข้าช่วยนั้น จึงเป็นที่สนอกสนใจของพวกซามูไรที่มีจิตใจไม่มีเล่ห์เหลี่ยมนักมากทีเดียว มีความสัมพันธ์ที่สมเหตุสมผลอย่างหนึ่งในระหว่างความเห็นทางด้านจิตวิทยากับการสอนภาคปฏิบัติโดยตรงของเซน

“บูชิโด หมายถึง การยอมตาย เมื่อท่านมาถึงทางแยก จงอย่ารีรอที่จะเลือกเอาทางตายเลย สำหรับเรื่องนี้ไม่มีเหตุผลพิเศษใด ๆ นอกจากท่านจะต้องตัดสินใจพร้อมที่จะพบกับความตายเพียงอย่างเดียว บางคนอาจกล่าวว่า ถ้าหากท่านตายโดยที่ยังไม่บรรลุผลสมดังวัตถุประสงค์ ก็นับว่าเป็นความตายที่ไร้ประโยชน์ เป็นการตายอย่าสุนัขแต่เมื่อท่านอยู่ในทางสองแพร่ง ไม่จำเป็นที่ท่านจะต้องวางแผนเพื่อให้บรรลุถึงซึ่งวัตถุประสงค์นั้น พวกเราทุกคนชอบการมีชีวิตอยู่มากกว่าที่จะชอบความตายถ้าหากท่านผิดหวังและก็ยังมีชีวิตอยู่ ก็นับว่าท่านเป็นคนขี้ขลาดโดยแท้ ข้อนี้นับว่าเป็นเรื่องสำคัญที่เราจะต้องพิจารณา ในกรณีที่ท่านตายโดยที่ยังไม่บรรลุผลสมดังที่มุ่งหมายไว้ ก็อาจเป็นการตายอย่างสุนัข อันเป็นการกระทำบ้า ๆ ณ ที่นี้จะไม่มีการสะท้อนภาพให้เห็นเกียรติยศใด ๆ ของท่านเลย ในลัทธิบูชิโดเกียรติยศสำคัญที่สุด เพราะฉะนั้น ทุกเวลาเช้าเย็น การนึกถึงความตายจะต้องประทับใจท่านอย่างชัดแจ้ง เมื่อท่านได้ตัดสินใจอย่างแน่วแน่พร้อมที่จะตายได้ทุกเมื่อแล้ว ท่านก็จะบรรลุถึงซึ่งความรอบรู้ในบูชิโดอย่างสมบูรณ์ ชีวิตของท่านก็จะไม่มีโทษภัยใด ๆ และก็ชื่อว่าท่านได้ปฏิบัติหน้าที่ของท่านสมบูรณ์แล้ว”

ผู้ที่ถือนิกายเซน จะพูดถึงสิ่งที่ชอบธรรมหรือถูกต้อง (โช) และสิ่งที่เป็นฝักเป็นฝ่ายในคำสอนของพวกเขา เมื่อจิตมีอยู่ทั่วร่างกายหมดแล้ว ก็กล่าวได้ว่าเป็นการชอบธรรม ถ้าจิตตั้งอยู่ ณ ส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย ก็ถือว่าจิตนั้นลำเอียงหรือเป็นฝักเป็นฝ่าย จิตที่ชอบธรรมจะถูกแจกจ่ายไปทั่วร่างกายโดยเท่าเทียมกับโดยมิได้มีความลำเอียงใด ๆ เลย ส่วนจิตที่ลำเอียงเป็นฝักเป็นฝ่ายจะถูกแบ่งแยกและเป็นฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยเฉพาะ เซนไม่ชอบการทำจิตให้ตั้งอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่ง หรือการทำจิตให้เป็นฝักเป็นฝ่าย เมื่อจิตถูกกักไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง มันก็จะไม่สามารถแทรกซึมหรือแผ่ซ่านไปทั่วทุกส่วนของร่างกายได้ เมื่อจิตมิได้ถูกทำให้เป็นฝักเป็นฝ่ายตามที่แผนที่วางไว้ ก็เป็นธรรมดาที่จิตจะต้องกระจายตัวเองไปทั่วสรรพางค์กาย ดังนั้น จิตก็สามารถพบฝ่ายตรงข้าม ในขณะที่ฝ่ายข้าศึกเคลื่อนไหวโดยพยายามจะฟันท่านให้หมอบ เมื่อจำเป็นจะต้องใช้มือทั้งสองมือทั้งสองก็อยู่ที่นั่นพร้อมที่จะปฏิบัติตามคำสั่งของท่านในเรื่องขาก็เช่นเดียวกัน ไม่ว่าเราจะต้องการใช้ขาในขณะใดก็ตาม จิตไม่เคยผิดหวังที่จะใช้ขาให้สอดคล้องต้องกันกับสถานการณ์เลย ไม่มีความต้องการใด ๆ ที่จิตจะทำอุบายให้ตัวเองออกมาจากสถานที่ที่จิตตั้งมั่นแล้วใด ๆ ในเมื่อที่นั้นได้ถูกจัดแจงไว้ล่วงหน้าเพื่อให้จิตพักอยู่แล้ว

เราไม่ควรปฏิบัติต่อจิตดุจแมวที่ถูกล่ามไว้ด้วยเชือกเลย เราจะต้องปล่อยจิตไว้ตามลำพัง ให้มีโอกาสที่จะเคลื่อนไหวไปไหนมาไหนได้อย่าเสรีตามธรรมชาติของมัน การไม่จำกัดที่ให้อยู่ หรือทำจิตให้เป็นฝักเป็นฝ่ายนั้น นับว่าเป็นขั้นสุดท้ายแห่งการฝึกฝนจิต เมื่อมันไม่อยู่ ณ ที่ไหนเลย มันก็ย่อมอยู่ทุกหนทุกแห่ง เมื่อมันครอบครองหนึ่งในสิบ มันก็ไม่มีอยู่ในเก้าในสิบ ขอให้นักดาบฝึกฝนตนเองใฝห้มีระเบียบวินัย ทั้งนี้ก็เพื่อจะได้มีจิตดำเนินไปตามวิถีทางของมันเอง แทนที่จะพยายามพิจารณาหาทางจำกัดจิตไว้ ณ ที่ใดที่หนึ่ง

บทยันหลักแห่งจดหมายของตะกวนที่มีไปถึงยะกีว ทะยิมะ โนะ คะมิ เกือบทั้งหมดได้ถูกใช้ในข้อความที่แปลไว้ตามอักษรข้างบนนั้นไม่มากก็น้อยบทยันนั้นเกิดจากการรักษาการหลั่งไหลแห่งจิตอย่างเด็กขาด(โคะโกะโระ) โดยการรักษาจิตให้เป็นเสรีจากการพิจารณาทางด้านสติปัญญาอย่างรอบคอบและความวุ่นวายที่ก่อให้เกิดความสะเทือนใจไม่ว่าชนิดใด ๆ ที่อาจเกิดจากอวิชชาและโมหะได้ ลักษณาการที่ไหลได้แห่งจิตกับปรัชญาที่ไม่เปลี่ยนแปลงอาจปรากฏเหมือนกับว่าขัดแย้งกัน แต่ในชีวิตที่แท้จริงแล้ว เป็นเอกลักษณ์กัน เมื่อท่านมีอย่างหนึ่ง ท่านก็จะต้องมีอย่างอื่นด้วย เพราะในตถตาแห่งจิตนั้น

นักดาบที่สมบูรณ์แบบย่อมหลีกเลี่ยงการทะเลาะวิวาท หรือการต่อสู้ การต่อสู้ หมายถึง การฆ่า มนุษย์คนหนึ่งจะนำตัวเองไปฆ่าเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้อย่างไร? เราควรจะรักกัน ไม่ใช่ฆ่ากัน นับว่าเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจที่ใครก็ตามจะคิดถึงการต่อสู้และตนเป็นฝ่ายชนะอยู่ตลอดเวลา เราเป็นคนที่มีศีลธรรมเราไม่ควรลดฐานะเราให้ต่ำลงจนเป็นสัตว์เดรัจฉาน ถ้าหากเขาขาดศักดิ์ศรีแห่งความเป็นมนุษย์แล้ว การเป็นนักดาบที่ดีจะมีประโยชน์อะไร? สิ่งที่ดีที่สุดก็คือการเป็นผู้ชนะโดยไม่ต้องต่อสู้

ดาบเป็นเครื่องมือที่เป็นอัปมงคลที่จะต้องใช้ฆ่าคนในเหตุการณ์ที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ในบางครั้ง เพราะฉะนั้น เมื่อจะใช้ดาบมันก็ควรจะเป็นดาบที่ให้ชีวิต ไม่ใช่ดาบที่ฆ่าคน แต่เมื่อเข้าเกิดมาในตระกูลซามูไร เขาก็ไม่ควรหลีกเลี่ยงการศึกษาศิลปะการฟันดาบ เพราะมันเป็นอาชีพของเข้าที่จะต้องได้รับการฝึกฝนในการฟันดาบ แต่จุดของมันอยู่ที่การเอาศิลปะนั้นมาใช้ให้เป็นประโยชน์ในฐานะเป็นวิถีทางที่จะนำไปสู้ความก้าวหน้าในการศึกษาเรื่องวิถีทาง (เต๋า) ต่างหาก เมื่อได้ศึกษาศิลปะการฟันดาบเป็นอย่างดีแล้ว ก็จะช่วยเราปลูกฝังจิตใจและเจตนารมณ์ในวิถีทางที่มีประสิทธิภาพได้

มีอะไรบางอย่าทำนองนี้อยู่ในเรื่องความชำนาญในการฟันดาบอยู่เหมือนกัน ข้าพเจ้าเรียกมันว่า “ศิลปะ” และการฟันดาบนับว่าเป็นศิลปะที่น่ากลัวอย่างหนึ่ง เพราะถ้าหากก้าวผิดจังหวะ เขาก็จะต้องเสียชีวิตอย่างแน่นอนมันเป็นเกมชีวิตและความตาย ดาบอยู่ตรงหน้าท่าน และพร้อมที่จะฟันท่านอยู่ทุกขณะ ในพระพุทธศาสนา เราอาจกล่าวได้ว่า การต่อสู้อยู่ในระหว่างความคิดเรื่อง “นิพพาน” กับ “สังสารวัฏ” ส่วนในศิลปะการฟันดาบ การต่อสู้อยู่ในระหว่างชีวิตกับความตาย การต่อสู้ทางพระพุทธศาสนาอยู่ในเรื่องลัทธิมโนภาพนิยมมากกว่า ส่วนการต่อสู้ของพวกนักดาบเป็นสัจนิยมอย่างที่สุดและดังนั้นในด้านจิตวิทยาจึงรู้สึกว่าออกจะแหลมคมมากกว่า แต่ว่าตราบเท่าที่เราแสดงการต่อสู้ทั้งสองอย่างนี้ โดยอาศัยกายต่อสู้และการทำให้เป็นสองแล้ว วิธีที่ดีที่สุดและมีอยู่เพียงวิธีเดียวเท่านั้นที่ทำให้การต่อสู้นั้นหมดไป ตามวิถีทางแห่งการคิดแบบธรรมดา ๆ ก็คือ การเลือกเอาเขาหนึ่งในบรรดาเขาทั้งสองและมุ่งหน้าต่อไป โดยมิต้องคำนึงถึงผลที่เกิดแก่เขาผู้ที่ทำหน้าที่ตัดสินใจในกรณีของนักดาบ ข้อนี้อาจหมายถึงความตายบางประการ แต่ตราบใดที่ยังมีความกังวลถึงความตายอยู่ในความรู้สึกนึกคิด มันก็มีแต่จะนำนักดาบไปสู่ทิศทางที่เขาปรารถนาจะหลีกเลี่ยงอย่างที่สุดโดยมิได้ตั้งใจ และอย่างเลี่ยงไม่พ้นยังมีอีกทางหนึ่งที่เปิดโดกาสให้เขาเลือก ก็คือการเลือกความคิดที่จะให้การต่อสู้นี้มีอยู่ต่อไป เพราะบ่อยทีเดียวที่ปรากฏว่าผู้ที่รักชีวิตได้สูญเสียชีวิต ดังที่พวกคริสต์ศาสนิกชนมักชอบพูดเล่นกัน แต่ความจริงมีอยู่ว่า : “ท่านอาจรักหรือเกลียด” สิ่งใด ๆ ก็ได้ ตราบเท่าที่ความรู้สึกอย่างใดอย่างหนึ่งอาจหลบซ่อนอยู่ ณ ที่ใดที่หนึ่งในสมองของท่าน มันจะระบายสีทำให้พฤติกรรมของท่านเป็นอย่างไรก็ตาย และดาบของท่านก็อาจได้รับความกระทบกระเทือนจากพฤติกรรมนั้นบางก็ได้ นักดาบที่แท้จริงจะต้องเป็น “คนที่สมบูรณ์แบบ” ในความรู้สึกของเต๋าที่ว่า : เขาจะต้องอยู่เหนือชีวิตและความตาย เช่นเดียวกับปรัชญาเมธีทางพระพุทธศาสนาอยู่เหนือ “นิพพาน” และ “สังสารวัฏ” ฉะนั้น การต่อสู้ของธรรมชาติไม่ว่าจะเป็นชนิดใดก็ตาม ไม่เคยยุติได้อย่างเป็นที่น่าพอใจเลยจนกว่าจะได้บรรลุถึงจุดที่ไม่มีฝ่ายใดมีผลกระทบกระเทือนถึงอีกฝ่ายหนึ่งเลยสิ่งที่เราต้องการไม่ใช่ความเป็นกลาง ไม่ใช่อุเบกขา แต่หากเป็นความสูงส่งยิ่งกว่านั้น และนี่คือสิ่งที่นับดาบมุ่งหมายถึงละ อาจจะดูเป็นเรื่องแปลกประหลาดที่เขาปรารถนาจะเป็นปรัชญาเมธี แต่ในประเทศญี่ปุ่นและประเทศจีนศิลปะมิใช่เรื่องของเทคโนโลยี หากเป็นเรื่องของการเห็นแจ้งและฝึกฝนทางด้านจิตใจต่างหาก แม้ศิลปะการฟันดาบก็มิได้รับการยกเว้นในข้อนี้

เซนกับศิลปะการปรุงน้ำชา

สิ่งที่นับว่าเป็นธรรมดาสามัญสำหรับนิกายเซนและศิลปะการปรุงชา

คือ ความพยายามที่จะทำให้เป็นของง่ายๆ การขจัดสิ่งที่ไม่จำเป็นทั้งหลายให้หมด จะเป็นไปได้ต้องอาศัยเซน ในเวลาที่ยึดความแท้จริงขั้นสุดท้ายทางด้านสหัชญาณ (และ) ต้องอาศัยศิลปะการปรุงน้ำชา ในวิถีการครองชีวิตที่ทำกันเป็นแผน โดยถือการเลี้ยงน้ำชาในห้องน้ำชาเป็นหลัก ศิลปะการปรุงน้ำชาเป็นสุทธินทรียศาสตร์เกี่ยวกับความง่ายดึกดำบรรพ์ อุดมคติแห่งศิลปะการการปรุงน้ำชาที่ใกล้น้ำชาที่ใกล้ธรรมชาติเข้าไปนั้นจะรู้แจ้งโดยถ่องแท้ได้ก็โดยการให้ตัวเราเข้าไปอย่างใต้ห้องหลังคา เซนก็เช่นกัน มีจุดหมายที่จะเปลื้องสิ่งที่หุ้มอย่างมีศิลปะที่มนุษย์ได้ประดิษฐ์ขึ้นมา ที่นับว่าสำคัญที่สุดก็คือเซนได้ต่อสู้กับพุทธิปัญญา เพราะทั้งๆที่มีประโยชน์ในทางภาคปฏิบัติ แต่พุทธิปัญญาก็มักจะเป็นปฏิปักษ์ต่อความพยายามของเราที่จะล้วงเข้าไปในความลึกล้ำของภาวะ

ในประเทศญี่ปุ่น ได้รู้จักชากันมาตั้งแต่ก่อนยุคคามะคูระ (พ.ศ. 1728 - 1881) แล้ว แต่ในด้านการโฆษณาให้คน ทั่ว ๆ ไปรู้จักชากันอย่างแพร่หลาย โดยทั่วๆ ไปเราต้องให้เกียรติแก่ท่าน เออิไซ (พ.ศ. 1684 – 1768) อาจารย์เซนผู้นำพันธุ์ชามาจากเมืองจีนและเอามาปลูกไว้ที่ลานวัดของสหายผู้หนึ่ง กล่าวกันว่าหนังสือเรื่องการปรุงน้ำชาของท่านพร้อมกับชาจำนวนหนึ่งที่เอามาจากไร่ชาของท่านได้ถูกนำไปมอบให้แก่ มินะโมโตะ ซาเนะโตะโมะ (พ.ศ. 1735 – 1772) ผู้เป็นโชกุนสมัยนั้น ซึ่งบังเอิญตอนนั้นไม่สบายอยู่ด้วย ดังนั้นท่านเออิไซจึงเป็นที่รู้จักกันว่าเป็นบิดาแห่งการปลูกชาในประเทศญี่ปุ่น ท่านคิดว่ามีคุณสมบัติในทางยาบางอย่างและแก้โรคภัยไข้เจ็บหลายชนิดปรากฏว่าท่านมิได้สอนถึงวิธีประกอบพิธีปรุงน้ำชา พระเซนที่นำเอาพิธีปรุงน้ำชาเข้ามาสู่ญี่ปุ่นก็คือ ท่านไดโอ อาจารย์แห่ชาติ (พ.ศ. 1779 – 1851) ซึ่งภายหลังท่านเออิไซตั้งครึ่งศตวรรษ ต่อจากท่านไดโอมา ก็มีพระหลายรูปที่ได้เป็นอาจารย์ในศิลปะและในที่สุดการปรุงน้ำชา และในที่สุด ท่านอิกกีว (พ.ศ. 1937 - 2024) สมภารวัดไดโตยุกุยิผู้มีชื่อเสียงก็ได้สอนเทคนิคให้แก่ลูกศิษย์ผู้หนึ่งชื่อ ชุโก (พ.ศ. 1965 – 2045 ) ซึ่งความอัจฉริยะทางด้านศิลปะของท่านได้ทำให้ศิลปะการปรุงชาพัฒนาและประสบความ สำเร็จในการปรับให้เข้ากับรสนิยมของญี่ปุ่นได้ดังนั้นชุโกจึงกลายเป็นผู้ให้กำเนิดศิลปะการปรุงน้ำชาและได้สอนศิลปะนี้ให้แก่ อะชิกะงะ โยชิมะสะ (พ.ศ. 1978 -2033) ถ้าหากชาเป็นสัญลักษณ์ของพระพุทธศาสนา เราจะไม่สามารถจะกล่าวได้ดอกหรือว่าเหล้าองุ่นเป็นสัญลักษณ์ของศริสต์ศาสนา? คริสต์ศาสนิกชนใช้เหล้าองุ่นกันอย่างแพร่หลาย ในโบสถ์ก็ใช้เหล้าองุ่นเป็นสัญลักษณ์แห่งพระโลหิตของพระเยซู ซึ่งตามปรัมปราประเพณีทางศริสต์ศาสนาถือว่าพระเยซูหลั่งเลิอดเพื่อมนุษยชาติผู้มีบาป เหล้าองุ่นนับว่าตรงข้ามกับน้ำชาในหลายวิถีทางด้วยกันและความตรงข้ามนี้ก็เป็นความตรงข้ามระหว่าง พระพุทธศาสนากับศริสต์ศาสนาด้วย ศิลปะการปรุงน้ำชานับว่ามีความสัมพันธ์กับนิกายเซนอย่างใกล้ชิดที่สุด

ตะกวนในเรื่องศิลปะการปรุงน้ำชา (ชาโนะยุ)

หลักการแห่ง “ชาโนะยุ” ก็คือ เจตนารมณ์แห่งการทำฟ้าและดินให้กลมกลืนบรรสานกัน และอำนวยให้ซึ่งวิถีทางที่จะสถาปนาสันติสุขสากลขึ้นมา ประชาชนในสมัยปัจจุบันนี้ได้ทำให้ “ชาโนะยุ” เป็นเพียงโอกาสที่จะให้เพื่อนฝูงมาพบกัน พูดกันเกี่ยวกับเรื่องโลก ๆ และปล่อยตัวให้อภิรมย์อยู่ในอาหารและเครื่องดื่มที่ถูกปากเท่านั้น นอกจากนั้นพวกเขาก็ภาคภูมิใจที่มีห้องน้ำชาที่ประดับตกแต่งเสียหรูหราและมีศิลปวัตถุที่หายากอยู่รอบห้อง พวกเขาจะเลี้ยงน้ำชาในลักษณาการที่สมใจพวกเขาอย่างที่สุด และหัวเราะเยาะพวกที่ไม่มีความชำนิชำนาญเหมือนตัวเขา ข้อนี้นับว่าห่างไกลจากเจตนารมณ์เดิมแห่ง “ชาโนะยุ” มากทีเดียว

ขอให้เราสร้างห้องเล็ก ๆ สักห้องหนึ่งขึ้นในป่าไผ่ หรือใต้หมู่ไม้จัดให้มีลำธาร ก้อนหิน พืช และพุ่มไม้ประดับประดา และ (ภายในห้อง) ก็ขอให้เราเอาถ่านมากองเข้าไว้ หากาน้ำมาไว้ จัดดอกไม้ และจัดเครื่องใช้ไม้สอยเท่าที่จำเป็นในการปรุงน้ำชา ทั้งหมดนี้จะต้องทำให้สอดคล้องกันมโนคติที่ว่า ในห้องนี้เราอาจชื่นชมยินดีกับธารน้ำและก้อนหิน ดุจดังที่เราชื่นชมกับแม่น้ำและภูเขาตามธรรมชาติ และนิยมชมชื่นต่ออารมณ์และเจตสิกธรรมต่าง ๆ ที่เกิดเนื่องมาจากหิมะ ดวงจันทร์ ต้นไม้ และดอกไม้ ดังที่สิ่งเหล่านี้มันเปลี่ยนรูปไปตามฤดูกาล คือบางครั้งปรากฏตัวให้เห็น บางครั้งก็หายไป และออกดอกบ้าง ร่วงโรยไปบ้าง เมื่อเราต้อนรับอาคันตุกะด้วยความเคารพพอสมควร เราจะได้ยินเสียงน้ำในกาเดือดอย่างเงียบ ๆ ซึ่งเสียงของมันคล้าย ๆ ลมอ่อน ๆ ที่พัดผ่านใบสน แล้วก็จะลืมข้าศึกศัตรูและความกังวลใจทางโลก ๆ จนหมดสิ้นแล้วเราก็จะตักน้ำกระบวยหนึ่งออกจากกา ซึ่งจะทำให้เรานึกถึงลำธารที่ภูเขาแล้วผงธุลีในใจของเราก็ถูกขจัดไปอย่างสิ้นเชิง นี่เป็นโลกของนักบวชนักบุญในโลกโดยแท้

หลักการว่าด้วยความเหมาะสม ก็คือความเคารพ ซึ่งในชีวิตภาคปฏิบัติ มันได้ทำหน้าที่เป็นสัมพันธภาพที่มีความกลมกลืมกัน นี่เป็นวาทะของขงจื้อที่กล่าวไว้ เมื่อท่านกำหนดประโยชน์แห่งความเหมาะสม และเป็นท่าทีทางด้านจิตใจที่เราควรปลูกฝังในฐานะที่เป็น “ชาโนะยุ” ด้วย

ศิลปะการปรุงน้ำชาและเซนมีอะไรบางอย่างที่มีส่วนสนับสนุนความมีอยู่แห่งวิญญาณประชาธิปไตยในชีวิตทางสังคมของญี่ปุ่นบ้างไหม? ทั้งๆที่มีการสถาปนาการปกครองทางสังคมที่สูงต่ำลดหลั่นกันลงมาอย่างเข้มงวดกวดขันในยุคเจ้าขุนมูลนาย แต่มโนคติเกี่ยวกับความเสมอภาคและภราดรภาพ ก็ยังคงมีอยู่ในหมู่ประชาชน ในห้องน้ำชา ซึ่งมีเนื้อที่ 10 ตารางฟุตนั้น โดยมิได้มีการแบ่งชั้นวรรณะเลย เพราะในทันทีที่เข้าไปนั่งในห้องน้ำชา เข่าของสามัญชนคนธรรมดาก็จะกระทบกับเข่าของพวกผู้ดี และพวกเขาจะพูดจากันในเรื่องที่เขาทั้งสองสนใจด้วยความเคารพในกันและกัน แน่นอนที่ในนิกายเซนย่อมไม่ยอมให้มีความแตกต่างกันในทางโลกใดๆเลย และพวกพระนิกายเซนสามารถเข้าถึงคนในสังคมทุกชั้นและเข้าไปหาเขาเหล่านั้นถึงบ้านได้อย่างสบาย

โตโยะโตมิ ฮิเมโยชิ นับว่าเป็นผู้ให้ความอุปถัมภ์การปรุงน้ำชาที่สำคัญคนหนึ่งในสมัยนั้น และเป็นผู้ชมเชย เซนโนะ ริกีว (พ.ศ. 2064 - 2134) ซึ่งเป็นผู้ให้กำเนิดศิลปะการปรุงน้ำชาที่แท้จริง แม้ท่านมักขะชอบแสวงหาอะไรบางอย่างที่ครึกโครม มโหฬาร และโอ่อ่า แต่ก็ดูเหมือนว่าท่านจะเข้าใจอะไรบางอย่างเกี่ยวกับเจตนารมณ์ของศิลปะที่ริกีว และบรรดาสานุศิษย์ของริกีวได้ประกาศสนับสนุน ในเมื่อท่านกล่าวโคลงบทนี้ยกย่องริกีวในคราวที่ริกีวจัดให้มี “การเลี้ยงน้ำชา”

คราวหนึ่ง :
เมื่อน้ำชาถูกปรุงด้วยน้ำที่ทดมาจากความลึกของจิต
ซึ่งก้นบึ้งของจิตอยู่ลึกสุดที่จะวัดได้
เราก็ได้มีสิ่งที่เรียกว่า “ชาโนะยุ” จริง ๆ

ฮิเดโยชิ เป็นผู้ที่มีอำนาจเด็ดขาดที่ชอบทารุณโหดร้ายคนหนึ่งในหลายวิถีทางด้วยกัน แต่ในการที่ท่านชอบศิลปะการปรุงน้ำชาแล้วนี้ ชาก็มีแนวโน้มที่จะหาอะไรบางอย่างที่แท้จริงนอกเหนือเพียง “การใช้” ศิลปะเพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองของเขา บทกลอนของเขาสัมผัสกับเจตนารมณ์แห่งความเคารพเมื่อ เขาอาจอ้างถึงน้ำที่ตักขึ้นมาจากสระที่ลึกคือจิต ริกีวสอนว่า “ศิลปะ ชาโนะยุ ไม่ได้เกิดจากอะไรเลยนอกจากการต้มน้ำ การชงชา และการดื่มน้ำชาเท่านั้นเอง” ข้อนี้นับว่าธรรมดาสามัญพอแล้ว เราอาจกล่าวว่าชีวิตมนุษย์เกิดจากการปฏิสนธิขึ้นมา การกินและการดื่ม การทำงานและการหลับ การแต่งงานและการให้กำเนิดบุตรธิดา และในที่สุดก็ตายไป ไม่มีใครเลยที่จะทราบว่า เขาจะไป ณ ที่ใด ไปทางไหน ถ้าหากกล่าวเช่นนั้นละก็ย่อมจะไม่มีอะไรที่จะดูธรรมดาสามัญยิ่งไปกว่าการดำรงชีวิตนี้เลย แต่จะมีพวกเราสักกี่คนที่จะดำรงชีวิตตามความเป็นจริง หรือดำรงชีวิตแบบเมาพระเจ้าชนิดนี้ ไม่มีความต้องการอยู่เลย ไม่ทิ้งความเสียใจไว้เลย หากมีแต่ความจงรักภักดีต่อพระผู้เป็นเจ้าเพียงอย่างเดียวเท่านั้น ? ขณะที่มีชีวิตอยู่เราก็คิดถึงความตาย ขณะที่จะตายเราก็อยากมีชีวิตอยู่ เมื่อเราประสบความสำเร็จในสิ่งหนึ่งแล้ว สิ่งอื่น ๆ อีกมากมาย ซึ่งไม่จำเป็นจะต้องมีแหล่งกำเนิดอย่างเดียวกัน และมักจะไม่เกี่ยวข้องกัน ก็ประดังกันเข้ามาสู่สมองของเรา หันเหและทำพลังงานซึ่งจะต้องเพ่งอยู่ที่วัตถุในมือให้หมดไป เมื่อเราเทน้ำลงไป มีหลายสิ่งทีเดียวที่ตกลงไปในอ่าง มีทั้งดีและชั่ว ทั้งบริสุทธิ์ และไม่บริสุทธิ์ สิ่งที่เราจะต้องขวยอาย สิ่งที่ไม่เคยถูกเทลงไป ณ ที่ใด นอกจากสิ่งที่ไม่มีพิชานหรือความรู้สึกนึกคิดส่วนลึกของเราเอง น้ำชาเมื่อวิเคราะห์แล้วจะเห็นว่าประกอบด้วยสิ่งสกปรกทั้งปวงที่จะรบกวนและทให้กระแสธารแห่งพิชานของเรามีมลทิน ศิลปะจะสมบูรณ์ก็ต่อเมื่อมันได้สิ้นสุดความเป็นศิลปะลงเท่านั้น คือ เมื่อมีความสมบูรณ์แห่งความไร้ศิลปะ (และ) เมื่อความจริงใจชั้นในสุดแห่งภาวะของเรายืนยันตัวเอง และนี่คือความหมายแห่งความเคารพในศิลปะการปรุงน้ำชา ดังนั้นความเคารพก็คือความจริงใจและความตรงไปตรงมาของหัวใจนั่นเอง“ความบริสุทธิ์”ที่ประมาณว่าก่อให้เกิดเป็นวิญญาณแห่งศิลปะการปรุงน้ำชานั้นเราอาจกล่าวว่าเป็นการอำนวยให้ซึ่งภาวะทางด้านจิตใจของประชาชนชาวญี่ปุ่นนั่นเอง ความบริสุทธิ์ก็ คือความสะอาดหรือบางทีก็หมายถึง ความมีระเบียบ ซึ่งสามารถปฏิบัติได้ในทุกสิ่งทุกอย่าง ทุกหนทุกแห่งที่เกี่ยวกับศิลปะ น้ำจืดได้ถูกนำมาใช้กันอย่างเสรีในสวนที่เรียกว่า “โรยิ” (สนามหญ้า) ในกรณีที่หาน้ำที่ไหลตามธรรมชาติ ไม่ได้ก็จะมีแอ่งหินที่เต็มด้วยน้ำในตอนที่เขาไปถึงห้องน้ำชา ซึ่งตามปรกติสะอาดไม่มีฝุ่นธุลีเลย

ความบริสุทธิ์ในศิลปะการปรุงน้ำชาทำให้เราระลึกถึงคาสอนเรื่อง ความบริสุทธิ์ในลักธิเต๋า มีอะไรบางอย่างที่ธรรมดาสามัญร่วมกัน ทั้งในศิลปะการปรุงน้ำชาและลัทธิเต๋า นั่นก็คือ การที่จะต้องทำจิตใจของต้นให้พ้นจากกิเลส ซึ่งเกิดที่ประสาทต่าง ๆ

อาจารย์น้ำชากล่าวว่า : “เจตนารมณ์แห่ง ‘โชโนะยุ’ ก็คือ การทำประสาททั้งหกให้หมดจดจากกิเลสเครื่องเศร้าหมองต่าง ๆ โดยการเห็น ‘คะโกะโมะโนะ’ ใน ’โทะโกะโนะมะ’ (มุมเว้าในกำแพง) และดอกไม้ในแจกัน ก็จะทำให้ฆานประสาทของเขาสะอาด โดยการถือภาชนะที่ใส่น้ำชา ก็จะทำให้กายประสาทของเขาสะอาด ดังนั้นเมื่อประสาทสัมผัสทั้งปวงสะอาดหมดจดแล้ว ตัวจิตเองก็จะสะอาดปราศจากกิเลสทั้งหลายด้วย ศิลปะแห่งการปรุงน้ำชาที่นับว่าสำคัญยิ่ง ก็คือ ความเป็นระเบียบวินัยทางด้านจิตใจและประณิธานของข้าพเจ้าที่มีอยู่ตลอดเวลานั้น มิใช่การเริดร้างไปจากเจตนารมณ์แห่งน้ำชา ซึ่งไม่มีทางที่จะเป็นเพียงเรื่องความสนุกสนานเพลิดเพลินเลย”

มูลธาตุที่ 4 ที่ทำให้เกิดเจตนารมณ์แห่งศิลปะการปรุงน้ำชา แต่อาจไม่เป็นคำที่ดีพอสำหรับสิ่งทั้งปวงที่มีระบุอยู่ในอักษรจีนว่า จิ หรืออักษรญี่ปุ่นว่า ยะกุ ยะกุ ก็คือ ซะบิ แต่ ซะบิ มีมากกว่า “ความเงียบสงบ” คำสันสกฤตที่สมนัยกับ ซะบิ ก็คือ ศานตะ หรือศานติ นับว่าถูกต้อง คำนี้หมายถึง “ความเงียบสงบ” “ความสงบสุข” “ความเงียบสงบ” และในวรรณกรรมทางพระพุทธศาสนาก็มักเอาคำว่า ยะกุ ไปใช้หมายถึง “ความตาย” หรือ นิรวาน (นิพพาน) อยู่บ่อยๆ แต่เท่าที่เอามาใช้ในเรื่องน้ำชาหมายถึง “ความยากจน” “ความง่ายๆ” “ความโดดเดี่ยว” และตรงนี้แหละที่ “ซะบิ” มีความหมายอย่างเดียวกับ “”วะบิ” การนิยมความยากจน การรับสิ่งที่มีผู้ให้จำเป็นจะต้องมีจิตเชิงลบที่สงบ แต่ทั้งใน “ซะบิ” และ “วะบิ” ต่างก็มีข้อเสนอแนะเกี่ยวกับภาวะเชิงวัตถุวิสัยอยู่ เพียงสงบเงียบหรือเป็นเชิงรับเท่านั้นหาได้ชื่อว่าเป็น “ซะบิ” หรือ “วะบิ” ไม่ มักจะมีอะไรบางอย่างที่เป็นเชิงวัตถุวัตถุซึ่งปลุกอารมณ์ที่เรียกว่า “วะบิ” ให้เกิดขึ้นตัวเขา และ “วะบิ” ก็มิใช่เพียงเป็นฏิกิริยาทางจิตวิทยาที่มีสิงแวดล้อมบางแบบเท่านั้นมีหลักการที่กระปรี้กระเปร่าแห่งสุนทรียศาสตร์อย่างหนึ่งอยู่ใน “วะบิ”

ห้องน้ำชาเป็นสัญลักษณ์แห่งโฉมหน้าบางอย่างของวัฒนธรรมตะวันออก โดยเฉพาะวัฒนธรรมญี่ปุ่น ในห้องน้ำชานั้น เราจะพบธาตุมูลเกือบทั้งหมดที่ก่อให้เกิดเป็นสิ่งที่เรียกว่าอัตลักษณ์แห่งจิตใจของชาวญี่ปุ่นที่มีทัศนะในเชิงสถิติอยู่ในรูปลักษณะที่เป็นสมาธิอย่างลึกซึ้งและรุนแรงที่สุด สำหรับโฉมหน้าที่เป็นแบบพลวัตของห้องน้ำชานั้น ก็มีนิมิตสองสามอย่างที่นำตัวของมันเข้าไปในห้องน้ำชา ซึ่งในห้องน้ำชานั้นแม้แต่ความเคลื่อนไหวทั้งหลายก็ควบคุม ซึ่งเท่ากับเป็นการเพิ่มความสงบเงียบที่แผ่คลุมอยู่ทั่วไป ณ ที่นี้ให้มีมากยิ่งขึ้น

พระนิกายเซนำเอาชามาจากเมืองจีนเข้ามาสู่ญี่ปุ่นครั้งแรกเมื่อกลางพุทธศตวรรษที่ 18 พระรูปนี้ได้ศึกษาเรื่องการปรุงน้ำชาอยู่ที่ประเทศจีน ท่านมิเพียงนำพันธุ์ชามาปลูกเท่านั้น หากยังได้น้ำเอาพิธีรีตองเกี่ยวกับการปรุงน้ำชาที่บรรดาสานุศิษย์นิกายเซนชาวจีนถวายน้ำชา แก่ พระโพธิธรรม สังฆปริณาองค์แรกเข้ามาอีกด้วย ความจริงมีอะไรบางอย่างในรสนิยมของชาที่ทำให้ผู้ปรุงน้ำชาเกี่ยวข้องกับลัทธิที่เหลือจะเข้าใจได้ของเซน

ในศิลปะแห่งการปรุงน้ำชา ความสงบเงียบจึงเป็นคุณสมบัติทางจิตใจที่สูงส่งเหนือการเกิดและการตาย และไม่ใช่คุณสมบัติทางกายภาพหรือทางจิตวิทยาเท่านั้น ข้อนี้เราจะต้องระลึกถึงอย่างรอบคอบ ในเมื่อเราพูดถึงน้ำชาในฐานะเป็นขั้นหนึ่งที่จะนำไปสู่กาอุทิศชีวิตของเราให้แก่ระดับที่สูงกว่า ซึ่งจากระดับนั้นเราก็จะได้เห็นโลกตามปรกติของเรา และอยู่ในโลกนั้น ดุจดังว่ามิได้อยู่ในโลกนั้นเลย

อิกคิวซัง

อิกคิวเป็นพระนิกายเซน แสวงหาคำสอนที่แท้จริงของพระพุทธเจ้าและมีชีวิตอย่างเข้มงวด เกิดเมื่อ 1 เดือน 1 พ.ศ. 1937 ที่เมืองเกียวโต มารดา เป็นธิดาของขุนนาง บิดา กล่าวว่าเป็นพระจักรพรรดิ อิกคิวเกิดในวันขึ้นปีใหม่ 1394 ในเมืองชางะ ซึ่งเป็นเมืองที่ห่างไกลเมืองโตเกียว อันเป็นสถานที่ ที่คนชั้นสูงไม่เป็นที่โปรดปรานของราชสำนักจะปลดเกษียนลงอย่างเงียบๆ

อายุ 6 ปีเข้าไปอยู่วัดเริ่มปฏิบัติธรรมฉลาดเฉลียวตั้งแต่เด็ก มีชื่อเสียงด้านเชาวน์ปัญญา ไม่สนใจตำแหน่งหรือเกียรติยศชื่อเสียงแสวงหาหนทางสู่นิกายเซนบริสุทธิ์

อิคคิวเกิดในวันขึ้นปีใหม่ปี1394 ในเมืองซางะ ซึ่งเป็นชานเมืองที่ห่างไกลจากเมืองเกียวโต อันเป็นสถานที่ซึ่งคนชั้นสูงที่ไม่เป็นที่โปรดปรานของราชสำนักจะปลดเกษียณลงอย่างเงียบๆ มารดาที่กำลังตั้งครรภ์อิคคิวศัตรูบีบบังคับให้ละจากจักรพรรดิ โกโคมัทสึ คู่รักวัย 17 ปีของเธอ และได้มาเก็บตัวที่คฤหาสน์แห่งหนึ่งในซางะด้วยความยินดีที่ได้รับการละเว้นชีวิต ทารกถูกเลี้ยงดูโดยคนรับใช้และแยกจากมารดาอย่างถาวรตอนอายุห้าขวบเมื่อเขาถูกนำไปฝากไว้ในวัดอันโกกุ-จิซึ่งเป็นวัดรินไซเซนใกล้ๆเพื่อป้องกันไม่ให้เขาเกิดความปรารถนาทางการเมืองในอนาคต อันจะเป็นการช่วยให้เขารอดพ้นจากการถูกลอบสังหาร ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติอะไรสำหรับชนชั้นสูงของยุคมุโรมาชิที่จะนำบุตรชายไปฝากไว้ในวัดเซน เนื่องจากวัดทำหน้าที่เป็น “โรงเรียนฝึกกุลบุตร” ในยุคที่พระภิกษุถือกุญแจไปสู้วัฒนธรรมชั้นสูง ในฐานะพระภิกษุ อิคคิวสามารถผสมกลมกลืนไปกับเด็กผู้ชายคนอื่นๆในห้องเรียน และมีชีวิตรอดสืบมาแม้ว่าท่านจะเป็นโอรสนอกสมรสของจักรพรรดิ

หลักสูตรของวัดอันโกกุ-จิประกอบด้วยการอบรมภาษาและวัฒนธรรมจีน ซึ่งเป็นแม่พิมพ์อย่างดีเลิศในการเข้าถึงวงสังคมชั้นสูงของญี่ปุ่น อาจารย์วัดอันโกกุ-จิของอิคคิวซึ่งเหมือนกับวัดอื่นๆใช้เวลาไปกับการสอนวิชาทางวรรณคดีและศิลปะมากกว่าที่จะฝึกพระนวกะให้โกนหัวทำสมาธิ โกซานเซนเป็นที่นิยมมากเสียจนกระทั่งตัวโชกุนเองก็โกนหัวและถือบวชเป็นพระเซนเช่นเดียวกัน

ในฐานะพระนวกะ โอรสนอกสมรสของจักรพรรดิได้รับสมณฉายาว่า ชูเซ็น จนกระทั่งอีก 19 ปีให้หลังที่ท่านจะกลายเป็นอิคคิวซึ่งมีความหมายว่า “การหยุดชั่วคราวครั้งหนึ่ง”ทอันเป็นชื่อที่ประสาทให้โดยอาจารย์กาโชของท่านเพื่อเป็นการยืนยันการบรรลุธรรม เด็กชายชูเก็นปรากฏว่าเป็นนักดนตรีและกวีโดยกำเนิด ท่านศึกษากวีนิพนธ์ ศิลปะ วรรณคดีในรูปแบบที่ประณีตต่างๆจากครูพระของท่าน และจากการเลียนแบบโคลงจีนของท่านในตอนเป็นเด็ก เห็นได้ว่าท่านน่าจะมุ่งไปสู่การมีชีวิตตามแบบฉบับของพระภิกษุโกซาน อย่างไรก็ดีอิคคิวผิดจากเด็กวัดคนอื่นตรงที่ท่านไม่มีครอบครัวให้พูดถึง ท่านถูกกันตัวให้แยกจากมารดาของท่านอย่งเคร่งครัด ท่านมักปลอบโยนตัวเองด้วยการแต่งบทกวีเศร้าๆเกี่ยวกับนางสนมจีนโบราณที่ประสบชะตากรรมตกอับและทนทุกข์กับการถูกเนรเทศ นอกจากนี้แล้ว ท่านยังมีหน้าตาไม่น่าดู ด้วยใบหน้าม่อต้อรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า จมูกที่หักอย่างไม่มีลักษณะของชนชั้นสูง และนัยน์จาที่ละห้อย ความหลักแหลมทางสติปัญญาของท่านคงจะชดเชยลักษณะหน้าตาที่ธรรมดาและเชื้อสายที่เป็นข่าวลือนี้

เมื่ออายุ 13 อิคคิวย้ายไปวัดเคนนิน-จิซึ่งเป็นวัดเซนเก่าแก่ที่สุดในเกียวโต เพื่อศึกษาภายใต้การสอนของท่านโบเท็ทสึ พระภิกษุผู้มีชื่อเสียงโดดเด่นในความเป็นนักวิชาการและการสอนกวี วัดเคนนิน-จิในฐานะที่เป็นวัดหนึ่งในห้าอันดับสูงสุดขอโชกุนอาชิกางะนั้นมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือด เต็มไปด้วยกวีหนุ่มแตกพานที่ดีที่สุดของสมัยนั้น ที่นี่อิคคิวเขียนบทกวีสมัยราชวงศ์ถังฉบับวัยหนุ่มของท่าน ถึงขนาดที่ผลงานเล่มหนึ่งของท่านได้รับการตีพิมพ์ แต่ก็เป็นที่นี่ด้วยเช่นกัน ณ ศูนย์กลางของอำนาจและอิทธิพลทางการเมือง ที่เป็นตัวเองของอิคคิวระเบิดออกมา ในไม่ช้าบทกวีวัยรุ่นของท่านที่เต็มไปด้วยดอกท้อและจันทร์เสี้ยวก็หลีกทางให้กับการวิจารณ์ระบบการปกครองของวัดเคนนิน-จิอย่างเผ็ดร้อน โดยโจมตีวัดในเรื่องความฝักใฝ่ในทางโลก ขาดการฝึกฝนทางจิตวิญญาณ การทำตัวหัวสูงแยกชั้นวรรณะในระหว่างพระภิกษุ การเน้นเรื่องทางการเมืองยิ่งกว่าการหยั่งรู้ธรรม อิคคิวนั่งปฏิบัติสมาธิอย่างพากเพียรด้วยตัวเองจนกระทั่งท่านไม่สามารถทนกับสภาพแวดล้อมของวัดเคนนิน-จิได้อีกต่อไป ในฤดูใบไม้ร่วงปี 1410 ท่านก็ย้ายไปวัดมิบูที่ปกครองโดยเจ้าอาวาสเซอิโซ ซึ่งเชี่ยวชาญในลัทธิขงจื๊อและเป็นพระนักสวด การอยู่ที่นี่เป็นระยะเวลาสั้นๆปรากฏว่าเหลือทนพอๆกัน อิคคิวหนุ่มจึงย้ายวัดอีกครั้ง คราวนี้ออกจากระบบโกซานที่มีอำนาจไปยังวัดห่างไกลไร้ชื่อเสียงบนชายฝั่งทะเลสาบบิวา ที่ที่ท่านพบว่าตัวเองเป็นศิษย์เพียงคนเดียวของท่านเคโน พระชราผู้ถ่อมตนซึ่งเป็นเจ้าอาวาสของวัดสุวรรณทักษิณหรือวัดไซคิน-จิ ในที่สุด ณ วัดเก่าซอมซ่อแห่งนี้ พร้อมกับอาจารย์ที่สันโดษเคร่งวินัยผู้ปฏิเสธที่จะให้อินคะเป็นลายลักษณ์อักษร ก็ทำให้อิคคิวพบหนทางอันแท้จริงของรินไซเซนที่มองหา

การปฏิเสธของรินไซที่ไม่รับอินคะจากโอบากุซึ่งเป็นอาจารย์และปฏิเสธของโคเนที่จะให้ดึงดูดความเป็นนักปฏิรูปและความนอกรีตในตัวอิคคิว แท้จริงแล้วไม่ใช่อินคะหรอกหรือที่ถูกซื้อขาย พร้อมกับการอุปถัมถ์ในตลาดโกซาน ตัวอย่างของเคโนและรินไซก่อนหน้านั้นมีอิทธิพลอย่างแรงต่อจิตใจของอิคคิวจนท่านไม่เคยรับหรือให้อินคะในฐานะศิษย์หรือว่าอาจารย์เซนตลอดชีวิตของท่าน สำหรับทายาทที่ถูกต้องตามกฎของรินดซนั้น การส่งผ่านที่เป็นความมุ่งหมายแท้จริงของเซนอยู่เหนือคำพูด เหนือคัมภีร์หรือใบรับรอง การบรรลุธรรม และเคโนเป็นอาจารย์เช่นกัน ไม่มีการทำตามประเพณี ไม่มีการอนุโลม เคร่งครัดต่อการอุทิศตัวต่อการทสมาธิ โดยไม่มีความทะเยอทะยานทางโลกใดๆทั้งสิ้น อิคคิวใช้เวลาสี่ปีฝึกฝนปฏิบัติในวัดไซคิน-จิที่โดดเดี่ยว จนกระทั่งการมรณภาพอย่างกะทันหันของอาจารย์เคโนได้ทำให้ชีวิตอันสงบสันตินี้สิ้นสุดลง

ในเดือนธันวาคมปี 1414 อิคคิวผู้มีอายุ 20 ปีทำการอดอาหารและประกอบพิธีศพตามลำพังให้กับพระชราผู้ไม่มีศิษย์อื่นใด อีกหลังการปฏิบัติศาสนกิจเป็นเวลาเจ็ดวันแล้ว ด้วยความสะเทือนใจ ความหิวและความสิ้นหวัง ท่านได้พยายามกระโดดน้ำตายในทะเลสาบบิวา การพยายามฆ่าตัวตายครั้งแรกของท่านนี้ก็เป็นเช่นเดียวกับเมื่อครั้งที่เลือกเคโนเป็นครู คือแสดงถึงด้านที่ไม่ยอมประนีประนอม เต็มไปด้วยอารมณ์และคิดไปเองมากเกินไปตามลักษณะนิสัยของอิคคิว ในภายหลังเมื่อท่านได้กลายเป็นอาจารย์เซนซึ่งเป็นที่เคารพ ท่านก็ไม่ได้ลังเลที่จะพยายามฆ่าตัวตายอีกครั้ง ในการประท้วงต่อเรื่องที่ท่านเห็นว่าเป็นความพยายามของโชกุนที่จะทำลายสายการปฏิบัติของท่านและทำความหายนะให้กับประเทศชาติ

การพยายามฆ่าตัวตายทั้งสอครั้งถูกขัดขวางโดยคนของพระราชวงศ์ ที่ชายฝั่งของทะเลสาบบิวานี้มีคนส่งสารของมารดาท่านซึ่งถูกส่งมาให้คอยติดตามพระหนุ่มผู้เต็มไปด้วยความว้าวุ ได้ช่วยชีวิตของท่านพร้อมกับขอร้องให้มีชีวิตอยู่ต่อเพื่อเห็นแก่เธอ ในการประท้อวงเมื่อท่านอดอาหารจนตายเมื่อท่านอายุ 53 นั้นเป็นจักรพรรดิโกฮานาโซโนะผู้สืบราชสมบัติของบิดาท่านซึ่งเป็นลูกพี่ลูกน้องกับท่าน ตั้งแต่แรกเริ่มแล้วที่อิคคิวไม่ใช่คนซ่อนเร้นความรู้สึก ความอ่อนแอและความบกพร่องในอุปนิสัยของตัวเอง การวิจารณ์อย่างเผ็ดร้อนของท่านสามารถหันไปต่อต้านระบบการปกครองทาศาสนาที่เสื่อมไปขณะหนึ่ง และก็สามารถเล็งมาที่ตัวท่านเองในความพยายามฆ่าตัวตายด้วยความเข้มข้นเท่าเทียมกันในอีกขณะต่อมา

ความปรารถนาอย่างยิ่งในการบรรลุธรรมทำให้อิคคิวเริ่มหาอาจารย์ใหม่ ท่านได้ยินถึงพระเซนชราผู้เคร่งวินัยอีกรูปหนึ่งมีนามว่าอาจารย์กาโซ ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดสาขาของวัดไดโตกุ-จิซึ่งตั้งอยู่บนทะเลสาบบิวา สถานที่แห่งเคราะห์กรรมในการพยายามฆ่าตัวตายของท่านเช่นกัน และจะเป็นสถานที่ที่ท่านประสบการตายอันยิ่งใหญ่ (ซาโตริ) ในอีกหกปีต่อมาด้วย

วัดของท่านกาโซ วัดเซนโก-อันนี่นเก่าแก่ทรุดโทรมไม่น้อยไปกว่าวัดของท่านเคโน กาโซเกลียดความฉ้อฉลเสื่อมทรามของเมืองหลวงเช่นกัน และปฏิเสธข้อเสนอที่มาถึงท่านหลายครั้งให้ไปดำรงตำแหน่งสูงๆในคณะสงฆ์ของวัดไดโตกุ-จิ แต่อย่างน้อยกาโซก็มีพระสองสามรูปและมีแม่ชีหนึ่งรูปศึกษาอยู่ด้วย พระหัวหน้าของท่านชื่อโยโซ ผู้ได้รับการฝึกปฏิบัติมาเป็นเวลา 20 ปีทำหน้าที่เป็นพระวินัยธร และเพื่อศึกษาธรรมเนียมเซนในการต้อนรับผู้มาใหม่ โยโซใช้น้ำสกปรกถังหนึ่งรดศีรษะของอิคคิวเมื่อท่านปรากฏตัวที่หน้าประตูวัด อิคคิวรออยู่หน้าประตูอย่างไม่ย่อท้อเป็นเวลาสามวัน ในขณะที่ท่านกาโซลังเลและไตร่ตรองว่าจะยอมรับพระนวกะผู้ไม่เพียงแต่จะพยายามฆ่าตัวตายมาหยกๆ แต่ยังมีข่าวลืมว่าเป็นโอรสนอกสมรสของจักรพรรดิอีกด้วย ในวันที่สี่ท่านจึงค่อนผ่อนปรนลง แล้วต้อนรับอิคคิวเข้าสู้สถานที่ที่ทรหดที่สุดของวัดเซน ที่ซึ่งครูและพระนวกะทำงานอย่างเดียวกันในความหนาวที่เกาสะกัดจนกระทั่งมือมีเลือดออกและหยาดน้ำแข็งก่อตัวบนผ้าห่มที่พวกเขาใช้คลุมตัว

เป็นเวลาเก้าปีที่อิคคิวพยายามเข้าใจบทโกอันที่ท่านได้รับมอบโดยทำสมาธิที่ได้รับทุกวัน แล้วเข้าพบอาจารย์กาโซทั้งเช้าเย็นเพื่อสนทนาธรรมตัวต่อตัว และตอบคามเพื่อตรวจสอบการหยั่งถึงบทโกอันของท่าน เพื่ออธิบายถึงการทุกข์ทรมานของการหยั่งถึงญาณทัศนะของท่านนี้ อิคคิวได้แต่งบทกวีชื่อ “ฉันทนทรมานกับความเจ็บปวดของนรก” ในฤดูร้อน ท่านจะทำสมาธิอยู่เพียงลำพังบนเรือลำเล็กในทะเลสาบบิวาที่เพื่อนชาวประมงของท่านให้ยืม พรสวรรค์ในการทำศิลปะของท่านถูกผันไปในการทำตุ๊กตาในร้านค้าแห่หนึ่งที่เกียวโต ซึ่งท่านใช้เวลาทำงานนานไปจนถึงหนึ่งเดือนเพื่อหาเงินเข้าวัด ในช่วงเวลาว่างน้อยนิดที่ม ท่านจะเข้าไปร่วมวงกับพวกหมอดู พ่อค้าสาเก โสเภณี และชาวประมงยากจนและป่าเถื่อน ซึ่งเป็นพลเมืองของเมืองซากาดะที่อยู่รอบๆวัด

ในฐานะที่เป็นนักดนตรีและนักกวี ไม่น่าแปลกใจเลยที่ประสบการณ์การหยั่งรู้ธรรมครั้งแรกขออิคคิวเกิดขึ้นจากเสียง ในปี 1418 ท่านกำลังปฏิบัติในเรื่อง 15 ของ มูมอนคาน, “การตี 60 ครั้งของโตซาน” ในโกอันบทนี้ โดซาน เรียวไกเข้าพบปรมาจารย์อุนมอน (อวิ๋นเหมินเหวินเหยี่ยน) ซึ่งถามคำถาม “ธรรมดา” หลายคำถามกับท่านอย่างเช่น “เจ้ามาจากที่ไหน?” “เจ้าไปฝึกที่ไหนมาในระหว่างหน้าร้อน?” และคำถามอื่นๆอย่างนี้เป็นต้น โตซานให้คำตอบที่ตรงไปตรงมาและถูกอุนมอนบอกว่า “ฉันจะละเว้นไม่ตีเจ้า 60 ครั้ง” เมื่อท่านกลับไปในวันรุ่งขึ้น ท่านถามอุนมอนว่าทำอะไรผิดตรงไหนให้อาจารย์ต้องโมโห อุนมอนพูดว่า “เจ้าถุงข้าว! เจ้าท่องไปตามทิศตะวันตกของแม่น้ำ ไปทางใต้ของทะเลสาบหรือ!” โตซานจึงประสบกับซาโตริที่ยิ่งใหญ่

วันหนึ่งคณะดนตรีของนักร้องตาบอดมาหยุดที่วัดเซนโก-อันเพื่อบรรเลงเพลงโศกนาฏกรรมความรักที่เลื่องชื่อ ขณะที่ท่านกำลังฟังการแสดงดนตรีนั้นอยู่ ท่านหยั่งถึงบทโกอันของโตซานทันทีทันใด ประสบการณ์ของท่านถูกยืนยันในการสนทนาธรรมกับกาโซอย่างเป็นทางการ และท่านได้รับมอบฉายาทางธรรมว่า อิคคิว ซึ่งมีความหมายว่า หยุดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง เพื่อเฉลิมฉลองการหยั่งรู้ “ชั่วขณะหนึ่ง” ที่ท่านได้รับ อิคคิวเขียนบทกวีเป็นการตอบว่า




จากโลกแห่งกิเลสตัณหา

กลับสู่โลกแห่งกิเลสตัณหา

มีการหยุดอยู่ชั่วขณะหนึ่ง

ถ้าฝนจะตก ก็ให้มันตกไป

หากลมจะพัด ก็ให้มันพัดไป

แล้วในฤดูร้อนของปี 1420 ขณะที่ท่านกำลังนั่งสมาธิอยู่บนเรือน้อยของท่านในทะเลสาบบิวา เสียงหนึ่งก็กระตุ้นการตระหนักรู้อีกครั้ง แต่ครั้งนี้เป็นเสียงร้องของกาตัวหนึ่งในขณะเย็น อิคคิวประสบซาโตริครั้งใหญ่ จักรวาลทั้งใบกลายเป็นเสียงร้องกาๆ ของอีกา และแม้แต่การหยุดอยู่ชั่วขณะหนึ่งครั้งก็หายไป กาโซยืนยันซาโตริทดสอบท่านด้วยคำถามว่า “นี่เป็นคำตอบของอรหัตต์ (ผู้บรรลุธรรม ผู้ไม่ยอมก้าวไปเหนือความหยั่งรู้ของตนเพื่อที่จะช่วยสรรพชีวิต) แต่ยังไม่ใช่คำตอบของอาจารย์เซน”

“ฉะนั้นข้าพเจ้าก็เป็นอรหัตต์”อิคคิวตอบ “ข้าพเจ้าไม่จำเป็นต้องเป็นอาจารย์เซน”

ด้วยการตอบอย่างนั้นกาโซจึงร้องว่า “อา ถ้าอย่างนั้นเธอก็เป็นอาจารย์เซนจริงๆด้วย” และออกใบรับรองอินคะให้ท่านทันที อิคคิวรับใบรับรองมาทิ้งลงพื้นแล้วจึงหันหลังออกจากห้องไป

เมื่อหัวหน้าพระโยโซทราบว่าการกระทำนี้ของอิคคิวก็รู้สึกโกรธแค้น ในฐานะศิษย์เซนที่เอาจริงเอาจังมาเป็นเวลา 20 ปี ท่านต้องทนรับไม่เพียงการหยั่งรู้ธรรมที่ยิ่งใหญ่ของผู้บุกรุกโอหังซึ่งมีแค่อายุ 26 ปีเท่านั้น แต่ยังต้องทนการดูหมิ่นตรารองรับซึ่งเป็นที่ปรารถนามากที่สุดในวงการเซนอีกด้วย ในส่วนของตัวเองนั้น โยโซถือว่ากาโซเป็นภาพลักษณ์ของ “สัญลักษณ์” แห่งการสืบทอดทางธรรมและการหยั่งรู้ของตัวท่านเอง แต่กาโซทำลายความหวังของท่านเมื่อเห็นท่านอวดมันไปทั่วด้วยการตะโกนใส่ว่า “หากเจ้าเรียกม้วนกระดาษนี้ว่าอินคะอีก ฉันจะเผามันทิ้ง” ความทระนงของอิคคิวเป็นดุจดั่งการราดน้ำเกลือลงบนบาดแผลของโยโซ และในไม่ช้าทั้งคู่ก็กลายเป็นศัตรูที่ขมขื่น แต่ละคนพยายามแสดงความภักดีของตนต่อครูด้วยวิธีของตัวเอง เมื่อกาโซป่วยด้วยโรคบิด อิคคิวผู้ซึ่งการบรรลุธรรมได้เอื้อให้ท่านพัฒนารูปแบบของการแสดงออกที่แปลกประหลาด ทำความสะอาดอุจจาระของกาโซด้วยมือเปล่า ขณะที่โยโซและศิษย์คนอื่นๆใช้ไม้กวาด เมื่อเผชิญหน้ากับโยโซในเรื่องการแสดงออกถึงการอุทิศตนที่แปลกประหลาดของท่าน ท่านตอบว่า “เนื่องจากมันเป็นสิ่งสกปรกของอาจารย์ ข้าพเจ้าต้องไม่รังเกียจมัน”

พฤติกรรมของอิคคิวเริ่มสร้างความขุ่นเคืองเพิ่มขึ้นเรื่อยๆไม่เพียงเฉพาะโยโซเท่านั้น แต่กับกาโซด้วยเช่นกัน เวลาที่ฆราวาสผู้อุปถัมถ์วัดมาเยี่ยม พระหนุ่มจะโพล่งคำสบประมาทอย่างเช่น “เซนไม่ใช่เรื่องของการทำตามสมัยนิยม” แล้วเดินผลุนผลันออกไปจากห้อง ในงานเลี้ยงรำลึกครั้งหนึ่งที่ท่านเข้าร่วม ท่านได้พูดโจมตีอย่างตรงไปตรงมาต่อชีวิตที่หรูหราในวัดไดโตกุ-จิซึ่งเป็นวัดแม่ของวัดเซนโก-อัน และวิจารณ์ “พระปลอมในกระโปรงขอสัตว์เพศเมีย” อย่างเปิดเผย

แล้วในที่สุดพฤติกรรมนอกลู่นอกทางของท่านกับชาวเมืองทากาดะ การเที่ยวสนุกสนานเมามายและการเยาะเย้ยพิธีการสืบช่วงแบบเซนของท่านปรากฏว่าเป็นสิ่งล้ำเส้นแม้แต่ผู้ไม่นิยมทำตามประเพณีอย่างกาโซ ผู้ซึ่งในปี 1423 ได้มอบอินคะให้แก่โยโซเป็นทายาททางธรรมอย่างเป็นทางการ อิคคิวใช้การโต้ตอบอย่างฉับพลันด้วยการออกจากอารามเพื่อใช้ชีวิตเร่ร่อน โดยปรากฏตัวเป็นครั้งคราวนานพิธีของวัดไดโตกุ-จิในจีวรปุปะและรองเท้าแตะที่ทำด้วยฟางสำหรับขอทาน เมื่อถูกเตือนโดยกาโซเรื่องลักษณะการปรากฏกายที่หยาบคายของท่าน อิคคิวอ้างคำพูดของรินไซที่ว่า “อย่ายึดถือในจีวร” แล้วจากไป กาโซผู้เคราะห์ร้ายตอบคำถามที่ว่าใครจะเป็นทายาทผู้สืบทอดของท่านอย่างตระหนักถึงอัจฉริยภาพของอิคคิวที่อยู่ใต้หน้ากากนักอนาธิปไตยภายหลังในวันนั้นว่า “ย่อมเป็นเจ้าบ้าคนนั้น” ตัวเลือกทางจิตวิญญาณของกาโซสำหรับผู้เป็นทายาทคืออิคคิว“บ้า” แต่เมื่อาจารย์เฒ่ามรณภาพนั้น โยโซ “ผู้เพาะบ่มแล้ว”กลายเป็นเจ้าอาวาสแห่งวัดไดโตกุ-จิ

อิคคิวออกร่อนเร่ด้วยจิตวิญญาณของท่านรินไซและท่านไดโตะ ซึ่งเป็นวีรบุรุษอันเป็นที่รักยิ่งของท่าน ท่านอธิบายลักษณะของตัวท่านเองในบทกวีว่าเป็นเคียวอุน เมฆบ้า ซึ่งเป็นคำเล่นสำนวนของคำว่า “เมฆ” อันเป็นคำนำหน้าชื่อที่ประกอบด้วยคำตามประเพณีสำหรับสงฆ์ อุน-ซูอิ หรือ ”เมฆ-น้ำ” และชี้ไปยังรูปแบบเซนเฉพาะตัวที่ “บ้า” อย่างประหลาดของท่าน ท่านไม่เหมือนกับบูรพาจารย์ผู้ซึ่งมีช่วงเวลาของการจาริกที่ค่อนข้างสั้น การร่อนเร่จาริกของอิคคิวมีระยะยาวนานตั้งแต่อายุ 19 จนกระทั่งอายุ 57 ปี ต่างกับรินไซและไดโตะตรงที่อิคคิวจะปฏิเสธไม่ยอมรับบทบาทอาจารย์เซนหรือการเป็นเจ้าอาวาสวัด ทว่าในที่บางแห่งท่านสามารถดึงดูดผู้แสวงธรรมจำนวนหนึ่งที่มีความคิดเหมือนกันพร้อมด้วยบุตรภรรยา จดหมายเหตุอิคคิว ซึ่งเป็นบันทึกเรื่องราวปีต่อปีของชีวิตท่านที่บันทึกไว้โดยโบกุไซศิษย์เอกของท่านอธิบายแวดวงอิคคิวว่าเป็นศิษย์ที่ประกอบด้วย “ธาตุแท้ที่เข้มงวดซึ่งสามารถลืมความสบายทางกายเพื่อเห็นประโยชน์ทางธรรม พวกเขาจะรวบรวมกิ่งไม้แห้งเพื่อทำเป็นเชื้อเพลิงและวักน้ำดื่มจากกระแสน้ำเชี่ยว พวกเขาขยันขันแข็งและไม่เคยเหน็ดเหนื่อย” ในที่พำนักทรุดโทรมโย้เย้ซึ่งมีชื่อว่ากระท่อมลาตาบอด ที่ตั้งเพื่อเป็นเกียรติในการตั้งชื่อของรินไซให้กับทายาทของท่านนั้น อิคคิวพำนักอยู่เพื่อทำการสอนตามแบบของท่านเอง คือแนวคำสอนของรินไซที่ว่า “อึและฉี่ และแค่เป็นอยู่อย่างธรรมดาๆ” เมื่อภรรยาของท่านเสียชีวิตลง ท่านรับบุตรชายเข้าเป็นศิษย์วัดลาตาบอดที่มีผนังแตกๆและขื่อที่บุพังของท่าน นี่นับเป้นเกียรติอย่างไม่ต้องสงสัยเนื่องจากอิคคิวปฏิเสธที่จะรับใครก็ตามที่มาเพื่อสิ่งอื่นนอกจากการศึกษาเซนอย่างจริงจัง

ณ สถานที่แห่งนี้เองที่ท่านยังคงเขียนบทกวีปลุกระดมและเปิดเผยความเลวทรามของวัดเซนที่ขูดรีด และพวกศักดินาที่ร่ำรวยและมีอำนาจของวัด ท่านจะเข้าข้างเกษตรกรและชาวเมืองที่อยู่ในฐานะลำบากผู้ที่ท่านนบเนื่องว่าเป็นศิษย์ โดยเขียนระหว่างการจลาจลของประชาชนครั้งหนึ่งในจำนวนหลายครั้งเพื่อเรียกร้องให้มีการยกเลิกหนี้สินจากพวกโชกุนโฮโซกาว่า

โจรไม่เคยจู่โจมบ้านที่ยากจน

ความมั่งคั่งของคนคนหนึ่งไม่ใช่ความมั่งคั่งของทั้งประเทศ

ฉันเชื่อว่าความหายนะมีมูลเหตุอยู่ในโชคลาภ

คนสูญเสียจิตวิญญาณด้วยอีแปะหนึ่งแสนเหรียญ

ในปี 1425 โยชิกาซาซึ่งเป็นโชกุนที่ได้รับการแต่งตั้งใหม่เสียชีวิตลงด้วยพิษสุราเรื้อรัง โยชิโมชิผู้เป็นบิดาที่เกษียณอายุแล้วต้องกลับเข้าไปดำรงตำแหน่งโชกุนอีกครั้ง ตัวโยชิโมชิเองนั้นฟั่นเฟือนทางจิตด้วยโรคพิษสุราเรื้อรังเสียจนไม่สามารถปกครองได้และหลีกทางให้กับทายาทผู้หนึ่งซึ่งถูกลอบสังหารในเวลาต่อมาไม่นานท่ามกลางการแตกสลายของสังคมนี้ อิคคิววิพากษ์วิจารณ์อย่างไม่กลัวเกรงไม่เพียงแต่ในเรื่องการฉ้อฉลของเซน แต่ในเรื่องสถานกการณ์ทางการเมืองด้วยเช่นกัน ในรวมบทกวีเมฆบ้าที่ปลุกเร้าอย่างเปิดเผยฉบับหนึ่ง ท่านเขียนไว้ว่า

การละโมบต่อความหรูหราฟุ่มเฟือยเพื่อข้าวและเงิน

บ่อนทำลายพระราชวังพระจักรพรรดิ

มันไม่ใช่สิ่งดีที่ฉันจะทำแม้เพียงจะคิดเกี่ยวกับผู้หญิงสวยๆ

ในขณะที่ทั้งประเทศญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะที่น่าสลดใจที่สุด

ข้าแผ่นดินผู้นี้มีหัวใจแตกสลาย!

ด้วยไม่สามารถซ่อนตัวจากความจริงของชีวิตอันโหดร้ายของญี่ปุ่นในยุคมุโรมาชิได้ ท่านจึงหันไปดำเนินชีวิตเป็นฆราวาสนอกอาราม รับประทานเนื้อและปลา ดื่มสาเก มีเพศสัมพันธ์กับผู้หญิง และเฉลิมฉลองสิ่งเหล่านี้ในบทกวีของท่าน ในฐานะที่เป็นตัวอย่างที่มีชีวิตของภาษิตรินไซเพื่อหลีกเลี่ยง “การรักสิ่งศักดิ์สิทธิ์และเกลียดทางโลกย์” อิคคิวแสวงหาหนทางที่จะนำการปฏิบัติเซนที่แท้จริงออกมานอกวัดสู่ท้องถนนที่ซึ่งท่านรู้สึกว่าเป้นที่ของมัน เช่นเดียวกับไดโตะผู้มาก่อนหน้าท่าน ในการโจมตีอย่างเปิดเผยต่อสถาบันรินไซเซนต่างๆที่เหลวไหลในเมืองหลวง ท่านได้พัฒนาบุคลิกของพระบ้าขึ้นในตัวเพื่อเน้นถึงข้อความที่ท่านสื่อว่า “เป็นการง่ายที่จะเข้าไปในอาณาจักรของพระพุทธองค์ ทว่ายากยิ่งที่จะเข้าสู่โลกของพวกมาร” บัดนี้ท่านได้ฝึกปฏิบัติเป็นเวลากว่า 15 ปีตามแบบแผนประเพณีที่เคร่งครัดและ “อย่างเป็นลูกผู้ชาย” ตอนนี้ท่านมุ่งมั่นจะ “เข้าสู่ตลาดด้วยมือที่พร้อมจะแจกจ่ายความสุขอันล้นพ้น” ปะปนไปกับคนธรรมสามัญ มีชีวิตอย่างที่คนธรรมดาใช้ชีวิต และสั่งสอนธรรมะด้วยวิธีการนอกแบบแผน

อย่างไรก็ดีอิคคิวไม่เหมือนกับรินไซตรงที่ท่านไม่ใช่คนดุเดือดและใช้ความรุนแรงทางกาย แต่ท่านเป็นนักรัก นักกวีซึ่งสามารถเขียนถึงนกแก้วที่เป็นสัตว์เลี้ยง และเขียนเกี่ยวกับความงามของผู้หญิงได้อย่างละเมียดละไม ขณะเชือดเฉือนสถาบันเซนในเวลาเดียวกัน แม้ บันทึกของรินไซ ที่หยาบและยุ่งเหยิงจะเป็นคัมภีร์ของท่าน (ท่านถึงขนาดท่องจำมัน) อิคคิวแปลคำสอนของรินไซผ่านธรรมชาติและประสบการณ์ที่มีคุณสมบัติละเอียดอ่อนของตัวท่านเอง และแม้ว่าท่านจะเลียนแบบรินไซทางกายภาพด้วยการไว้หนวดและไว้ผมยาวในขณะที่เป็นพระสงฆ์ก็ตาม อิคคิวกับแยกตัวเองจากรูปแบบเซน “แบบเพศชาย” ของรินไซ ด้วยการรับผู้หญิงเข้าไว้เป็นศิษย์ เป็นกัลยาณมิตร และเป็นผู้ที่เท่าเทียมกันทางสังคมและทางสติปัญญา การที่ท่านละทิ้งชีวิตในวัดเซนเกิดจากความเกลียดชังต่อการใช้ลักเพศไปในทางที่ผิดของพวกพระเท่าๆกับความหน้าไหว้หลังหลอกของพวกเขา แน่นอนว่าในสังคมที่ซามูไรผู้ปกครองโอ้อวดการเกลียดผู้หญิงด้วยเลือกรักเด็กผู้ชายนั้น แค่ทัศนคติของอิคคิวที่เป็น “ผู้สนับสนุนความเสมอภาคของบุรุษและสตรี” เท่านั้นก็เพียงพอที่เขาจะนิยามท่านว่าบ้า ในซ่องโสเภณีและโรงเกอิชาที่ท่านพัฒนาเซนด้ายแดงของท่านขึ้น เป็นความคิดที่ท่านยืมมาจากอาจารย์เซนจีนท่านคิโดแล้วขยายไปสู่ระดับการหยั่งรู้ที่ลึกซึ้งและละเอียดอ่อนใน “ร่างกายนี้" ว่าเป็น “ดอกบัวแห่งหลักธรรมที่แท้จริง” ซึ่งโยใยชีวิตมนุษย์ไปสู่การเกิดและการตายด้วยด้ายแดงขอกิเลสตัณหา และสายสะดือที่เต็มไปด้วยโลหิต ซึ่งสัมพันธ์ใกล้ชิดกับพุทธศาสนานิกายตันตระที่ใช้การเสพสังวาสเป็นพิธีกรรมทางศาสนาอย่างหนึ่ง รูปแบบการปฏิบัติเซนด้ายแดงของอิคคิวเป็นการตีความอทวิลักษณ์อย่างสุดขั้วผ่านเพศสัมพันธ์เท่าที่เคยมีการนำเสนอโดยอาจารย์เซนท่านใดทั้งก่อนหน้าท่านและภายหลัง

ด้วยการสนับสนุนความหลากหลายอย่างโลกๆในการปฏิบัติเซนอิคคิวได้พัฒนาสุนทรียศาสตร์ อย่างใหม่ขึ้นในระหว่างกระบวนการท่านสร้างสรรค์รูปแบบใหม่ๆของการเขียนอักษรประดิษฐ์ กวีนิพนธ์ ละครโนพิธีชงชาและเครื่องเคลือบดินเผา รูปแบบอักษรประดิษฐ์ที่ “ไหลเลื่อน"และบทกวีแบบเคียวหรือ“บ้า”หรือแม้กระทั่งลามกในบางครั้งถูกนำไปขยายโดยศิษย์ฆราวาสของท่าน ซึ่งหลายคนเป็นจิตรกร นักแสดงและประติมากรชั้นนำของยุคนั้น หนึ่งในนั้นคือโจเตอิ บุตรชายของท่านผู้ซึ่งภายหลังกลายเป็นอาจารย์พิธีชงชาชั้นนำของญี่ปุ่น ยิ่งกว่านี้อิคคิวยังได้เพาะบ่มชีวิตอันสันโดษสมถะที่ส่งผลเป็นหลักการวะบิอันสูงส่ง อันเป็นอุดมคติของความเรียบง่ายอย่างถึงที่สุด ซึ่งกลายเป็นสุนทรียศาสตร์ของประเทศตราบกระทั่งทุกวันนี้

รูปแบบทางศาสนาที่เข้ามาถึงประชาชนของท่านปรากฏขึ้นตอนท่านย้ายไปซาไกซึ่งเป็นเมืองที่กำลังเจริญตามแนวชายฝั่งของทะเลสาบบิวา เช่นเดียวกับเมืองกาทาดะที่มีพลเมืองเป็นอันธพาลผู้หญิงเร่ร่อน โจรสลัด พ่อค้าที่มั่งคั่งและนักต้มตุ๋นอันเป็น “ชุมชน” ในอุดมคติของอิคคิว ในบรรยากาศเช่นนี้ อิคคิวมีอายุครบ ๔๑ ปี ในวันหลังปีใหม่ของปี ๑๔๓๕ โดยมีพระสงฆ์และศิษย์ฆราวาสที่ภัคดีคณะเล็กๆของท่านอยู่ร่วมกัน อย่างไรก็ดีแทนที่จะแสดงเทศน์ในโอกาสขึ้นปีใหม่ตามธรรมเนียม ท่านกลับตื่นแต่เช้าแล้วรุดออกไปยังถนนสายต่างๆ ในเมือง กวัดแกว่งดาบไม้เล่มยาวเล่มหนึ่งและตีกระทบด้ามของมันเพื่อเรียกความสนใจของผู้คน ตามบันทึกของโบซูไซ ชาวเมืองที่งงงวยมารวมตัวกันแล้วร้องว่า “พระจะใช้ดาบเพื่อทำอะไรกัน ดาบมีไว้เพื่อฆ่านี่” ซึ่งอิคคิวตอบว่า “ท่านยังไม่รู้อะไร ทุกวันนี้โลกเต็มไปด้วยความรู้สึกผิดๆ ที่เหมือนกับดาบไม้นี้ตราบใดที่มันถูกเก็บไว้ในฝัก ก็จะเห็นว่ามันเป็นเพียงดาบไม้ที่ไม่สามารถฆ่าคนได้ และยิ่งไม่อาจมอบชีวิตให้กับเขาได้ ประชาชนชาวเมืองซาไกเข้าใจประเด็นพากันขบขันและปรบมือให้กับพระประหลาดผู้นี้อิคคิวรู้สึกว่าท่านเป็นเพียงผู้เดียวที่ถือดาบอันยิ่งใหญ่ของพระโพธิสัตว์มัญชุศรี อันเป็นดาบแห่งปัญญาที่จะตัดมายาภาพทุกอย่างและมอบการหยั่งเห็นให้

ถึงแม้ท่านแลดู “บ้า” ภายนอก อิคคิวกลับเป็นผู้ที่ยึดมั่นอย่างเคร่งครัดต่อการปฏิบัติเซนสายรินไซ การเรียกร้องของท่านให้มีความมุ่งมั่นในการปฏิบัติสมาธิและบทโกอัน และการสนธนาธรรมกับครูที่บรรลุธรรมแล้ว ก่อรูปเป็นแกนหลักของการงานของท่าน แม้สภาพแวดล้อมอาจสบายๆ ศิษย์ของท่านมักเป็นฆราวาสมากกว่าเป็นพระที่บวชตามพิธีการ แต่การปฏิบัติเซนของท่านดำเนินไปอย่างเคร่งครัดตามแบบแผนยิ่งกว่าพุทธพาณิชย์ในระบบวัดโกซานเสียอีกมีอยู่สิบวันอันโชคร้ายที่ท่านพยายามทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสของวัดย่อยนิโออิ - อันในเขตวัดไดโตกุ – จิ หลังจากที่ท่านถูกเกลี้ยกล่อมโดยลูกศิษย์ให้รับตำแหน่งเพื่อเป็นเกียรติเนื่องในวาระครบรอบรำลึกถึงกาโซอาจารย์ผู้เป็นที่รักของท่าน ท่านจึงยอมรับข้อเสนอของโยโซอย่างไรก็ดีในงานเลี้ยงเพื่อแสดงการรำลึกนั้น แขกที่ร่ำรวยของโยโซบอกอย่างชัดเจนว่า พวกเขาคาดหวังให้อิคคิวขายอินคะที่เป็นลายลักษณ์อักษรให้พวกเขาเพื่อเป็นการแลกเปลี่ยนกับเงินบริจาคก้อนใหญ่ อิคคิวจึงลุกออกจากห้องกลางงานเลี้ยงนั้นตามด้วยศิษย์เอกของท่านคือโบกูไซและดบกูชิทสึ

ท่านร่างรายการทรัพย์สินสิ่งของทั้งหมดภายในวัดและติดมันกับบทกวี แล้วแขวนไว้ที่ผนังเป็นการประกาศการลาออกของท่าน

สิบวันในวัดแห่งนี้จิตใจของฉันหมุนติ้ว

ตัณหา “ด้ายแดง” มีกำลังแรงมากในช่วงล่างของตัวฉัน

หากท่านต้องการพบฉันในวันข้างหน้า

ลองมองหาได้ตามแผงขายปลา ร้านสาเก หรือไม่ก็ในช่อง

ทว่าที่จริงแล้วอิคคิวใช้เวลาในเดือนถัดมานั่งซาเซนอยู่ในทุ่งที่เป็นเขตที่ดินแดนของซิเตน โชอิกุ ผู้เป็นอุปัฏฐากทางตอนใต้ของเกียวโตร่วมกับศิษย์ของท่าน พร้อมทั้งแสดงธรรมบรรยายและตอบคำถามของศิษย์ เซนของท่านสอนกันตรงๆ ด้วยการเผชิญหน้าตัวต่อตัวและเพื่อทำให้คำสอนของท่านเป็นระบบและกระตุ้นให้ศิษย์ปฏิบัติต่อไป ท่านมอบม้วนกระดาษให้พวกเขาแต่ละคนซึ่งมีข้อความว่า

ฉันเป็นคนง่ายๆและไม่ได้ให้คำรับรองแก่ใครเลยตลอด

ชีวิตที่ผ่านมา ฉันเกรงว่าหลังจากที่ตายไปแล้วจะไม่มีใคร

พูดแทน เนื่องจากฉันได้รับคำรองเป็นการส่วนตัว จึงไม่

ได้บอกกล่าวให้ผู้คนรับรู้ แต่ถ้าใครจะรับเอามันมาเพื่อเผย

แพร่ธรรมะและก่อตั้งนิกายของตัวเองอย่างลับๆ กฎเกณฑ์ก็

จะสับสน คนเช่นนี้ควรต้องถูกรายงานให้ผู้มีอำนาจหน้าที่รู้

และควรถูกลงโทษ พวกเราทรยศต่อพุทธศาสนาและเป็น

ศัตรูที่ฉันเกลียดชัง แน่นอนว่าสิ่งที่สำคัญก็คือการปกป้อง

ธรรมะ ใครเล่าจะสามารถยืนอยู่อีกข้างหนึ่งแล้วกอดอกมอง

แนวคิดของอิกคิว ไม่ยึดติดกับกฏเกณฑ์ของสังคม ใช้ชีวิตตามความคิดของตัวเอง

สตีฟ จอบส์

ก้าวไปในเซน

โดยปกติแล้วคนส่วนใหญ่จะสามารถทำงานที่เกี่ยวกับเทคโนโลยีล้ำยุคได้มักจะต้องเป็นพวกที่ผ่านการเรียนในสายอาชีพที่เกี่ยวข้องมาอย่างหนัก ทว่ากฎข้อนี้ใช้ไม่ได้กับจอบส์ เพราะเขาคือคนหนุ่มที่ลาออกจากมหาลัยชื่อดังที่เรียนได้แค่ 6 เดือนหลังจากนั้นก็เริ่มใช้ชีวิตแบบปล่อยไปตามหัวใจ เขาเริ่มต้นหาคำตอบให้ตัวเองโดยการเดินทางไปในอินเดียไม่ใช่แบบแบ็กแพ็กเกอร์เพื่อชื่นชมวัฒนธรรมท้องถิ่นไม่ใช่ไปแบบทักท่องเที่ยวสะพายกล้องตัวโตและพักค้างคืนตามโรงแรมของพวกฝรั่งตะวันตกแต่เป็นการเดินทางแบบพระธุดงด์มากกว่า

จอบส์รอนแรมไปในดินแดนภารตะวันเดือนเพื่อเติมเต็มตนเองด้วยการทราบซึ้งกับเหล่าคำสอนของเหล่านักบวชต่างๆเป็นอีกช่วงชีวิตหนึ่งของชีวิตวัยหนุ่ม เอาจริงเอาจังถึงเคยขนาดวางแผนที่จะออกบวชในญี่ปุ่นซึ่งเป็นประเทศต้นกำเนิดของเซนให้ได้ในครั้งหนึ่งของชีวิต

โชคดีที่หลังจากนั้นไม่นาน เรื่องท้าทายในชีวิตวัยหนุ่มของเขาเกี่ยวกับโครงการสร้างเรื่องคอมพิวเตอร์กับเพื่อนคู่หูสตีป วอชเนียกก็กลายมาเป็นความจริงเสียก่อน ไม่เช่นนั้นโลกเราก็อาจจะได้ต้อนรับพระหนุ่มที่ชื่อสตีป จอบส์ไปแล้ว

แต่การที่เขาปฏิเสธการศึกษาในระบบและหันหลังให้มหาลัยอย่างไม่ไยดี ด้วยการเบนเข็มชีวิตมุ่งศึกษาทางธรรมจึงกลายเป็นการฝึกฝนความคิดชองเขาให้ลุ่มลึกและช่วยสร้างบุคลิกของเขาให้แตกต่างจากนักธุรกิจทั่วไปอย่างชนิดที่เจ้าตัวเองก็คาดไม่ถึง

ความจริงก่อนหน้าที่เค้าจะออกเดินทางแสวงหาสัจะรรมทิ่อินเดียจอบส์ได้แสดงออกอย่างชัดเจนถึงความอยากเข้าใจโลกและชีวิตด้วยการนำตัวตนของเขาเข้าทดลองความจริงในหลายๆช่องทางเช่น การเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมฮิปปี้ อ่านหนังสือและฟังเพลงแบบคนหนุ่มยุดบุพผาชนเขาชื่อชอบวงเดอะบีทเทิลรวมไปทั้งบทเพลงของโจอันบาเอสหนึ่งในนักร้องที่มีชีวิตผู้ที่มีชื่อเสียงโด่งดังในยุค 60 ของอเมริกา

อลัย ดอยชแมน เพื่อนร่วมวิทยาลัยของจอบส์เขียนหนังสือกล่าวไว้ว่าทั้งจอบส์และโจอันเคยมีช่วงเวลาที่ดีด้วยกันทั้งคู่ออกเดทร้องเพลงทำกิจกรรมต่อสู้เพื่อสังคมด้วยกันแต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆก่อนที่จอบส์จะหันไปทดลองเสพยากล่อมประสาทแอลเอสดีและโจอันก็แยกทางไปคบกับบ็อบ ดีแลน นักร้องเพลงเพื่อชีวิตของอเมริกาในยุคนั้น

จอบส์เชื่อมาตลอดว่า ส่วนหนึ่งของความสำเร็จในชีวิตเขาได้มาจากการแสวงบุญ ความกล้าบ้าบอลองทำสิ่งใหม่ๆซึ่งเขาเคยพูดถึงการใช้ชีวิตของเชาแบบห่ามๆมาบ้าง 2-3 ครั้ง ให้สัมภาษณ์พลาดพิงถึงบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งไมโครซอฟท์

“ผมปรารถนาให้เขาประสบความสำเร็จสูงสุด ผมหวังเช่นนั้นจริงๆผมเพียงคิดว่า เขากับไมโครซอฟท์ออกจะคับแคบไปหน่อยเขาน่าจะเป็นคนที่เปิดโลกกว้างก่านี้ หากเขาปล่อยวางและทดลองทำอะไรๆหรือออกไปลองใช้ชีวิตอยู่ตามอาศรมบ้างในตอนที่มีอายุยังน้อย”

แม้ว่าฟังดูเหมือนจะเป็นวัยหนุ่มที่เต็มไปด้วยความสับสนแต่จอบส์กล่าวถึงชีวิตช่วงนั้นว่า การทดลองเสพยาเป็นหนึ่งในสองสิ่งที่สำคัญที่สุดในชีวิตเขา เพราะฤทธิ์ยามักจะทำให้เขาเกิดความคิดอ่านที่แตกต่างได้เสมอ ซึ่งเขาชื่อว่าการเสพยาเหมาะกับคนเราในบางครั้งแม้ในภายหลังที่เขากลายมาเป็นซีอีโอของแอปเปิ้ลแล้ว จอบส์ก็ยังให้การสนับสนุนเงินทุนกับอัลเบิร์ต ฮอฟแมนเป็นนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ทำการวิจัยยากล่อมประสาทเพื่อใช้ประโยชน์ในทางวิชาการ

หลังจากที่หลายๆหนทางที่เขาทดลองไม่ตอบโจทย์ของชีวิตจอบส์จึงได้เบนเข็มไปสนใจการนั่งสมาธิกับอาจารย์เซนชื่อโคบุน ชิโนะ โอโกกาวะ ในแคลิฟอเนีย

เขาได้ทดลองการบำบัดหลายรูปแบบเช่น การกีดร้องดังๆหรือทานแต่ผลไม้เป็นอาหาร การนั่งสมาธิด้วยการอดอาหาร จนเชาเริ่มค้นพบหนทางใหม่ ๆ และสรุปกับตัวเองว่า การหยั่งรู้โดยสัญชาตญาณจะเป็นเส้นทางนำไปสู่ปัญญาได้ เขาเริ่มนั่งสมาธิในห้องนอนแคบๆท่ามกลางกลิ่นธูปตลบอบอวลและสายตาของเพื่อนที่มองอย่างไม่ค่อยเข้าใจนัก

สิ่งที่เขาทำถือเป็นการใช้ชีวิตวัยหนุ่มที่ค่อนข้างแปลกและแตกต่างจากเพื่อนรุ่นราวคราวเดียวกัน เพราะในขณะที่เพื่อนวัยคะนอง ออกไปเที่ยวเฮฮาและแต่งรถจอบส์กับใช้เวลาอยู่ในโลกส่วนตัวเพื่อศึกษางงานวรรณกรรมในพุทธศาสนาหลายเล่มซึ่งเขียนโดย ชุนริว ซูซูกิผู้ก่อตั้งสำนักฝึกปฏิบัติเซนแห่งแรกในอเมริกา

สมัยนั้นจอบส์มีเพื่อนร่วมห้องที่หลุดโลกพอกันคนหนึ่งชื่อแดเนียล ค็อตเค ซึ่งภายหลังได้กลายมาเป็นพนักงานคนหนึ่งในแอปเปิ้ลด้วยทั้งคู่เก็บเงินเดินทางไปอินเดียด้วยกันและบอกกับทุกๆคนถึงเหตุผลการเดินทางไปในดินแดนที่เต็มเปี่ยมไปด้วยอารยธรรมโบราณครั้งนั้นว่า “เพื่อแสวงหาคำตอบเกี่ยวกับการรู้แจ้งเห็นจริงด้านจิตวิญญาณ”

ที่อินเดีย จอบส์ได้พบกับกูรูที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่งคือบาบา ซึ่งน่าจะสร้างความประทับใจอะไรบ้างอย่างให้เขามากที่เดียวพอหลังจากเดินทางกลับมาเขาก็ประกาศตนเป็นสาวกเซนอย่างจริงจังหยุดกินเนื้อสัตว์ บริโภคเฉพาะผลไม้และเนื้อปลาโกนศรีษะจนเกรียน นุ่งห่มผ้าทอมือของอินเดียโบราณดำรงชีวิตอย่างเรียบง่ายและใกล้ชิดธรรมชาติมากขึ้น

แม้กระทั่งเขามีหน้าที่การงานใหญ่โตร่ำรวยด้วยเงินทองแต่ในยามเจ็บป่วยจอบส์ก็เลือกใช้แพทย์แผนตะวันออกควบคู่ไปกับแผนปัจจุบัน เขาต้องเผชิญหน้ากับมะเร็งร้ายเขาก็ยังหาการรักษามะเร็งด้วยสูตรของเขาเองจนในที่สุดจอบส์ต้องฝืนใจผ่าตัดมะเร็งครั้งแรกในปี 2004

ในขณะที่จอบส์เป็นหนุ่มเนิร์ดสุดไฮเปอร์ ในหัวของเขาเต็มไปด้วยไอเดียใหม่ๆทางเทคโนโลยี เอาแต่ใจชอบเอาชนะไม่ค่อยฟังใครก้าวร้าวปฏิเสธสิ่งที่คนอื่นบอกว่าดีหรือถูกต้อง แต่มักเลือกหนทางที่จะคิด พูดและทำในสิ่งที่ตนเองพิจารณาอย่างถ่องแท้

เมื่อจอบส์เข้าพิธีแต่งงานกับรอเลน พาเวลล์ ในวันที่ 18 มีนาคม 1991 พระอาจารย์โอโตกาวะได้รับเชิญมาเป็นอาจารย์ในพิธีสมรสที่จัดขึ้นแบบเรียบง่าย ในฐานะที่ปรึกษาในจิตวิญญาณ ตำแหน่งอย่างเป็นทางการที่จอบส์ตั้งให้โดยเฉพาะเมื่อเขาก่อตั้งบริษัทเนกซ์ธุรกิจที่เขาก่อตั้งขึ้นหลังจากถูกออกจากแอปเปิ้ล

ความสัมพันธ์ระหว่าง จอบส์และโอโตกาวะ เป็นไปได้ด้วยดีตลอดชีวิตของทั้งคู่จอบส์กำลังง้วนอยู่กับโครงการของเขาในโรงรถจอบส์มีแฟนคนนึงเป็นเพื่อนร่วมมหาวิทยาลัย คริสต์ แอนน์ แบนแนน ทั้งคู่มีลูกคนนึง ชื่อลิซ่า แบนแนน จอบส์ไม่รับการเป็นพ่อของลิซ่า จนกลายเป็นคดีความ โดยจอบส์อ้างว่าเขาเป็นหมัน

แต่อย่างไรก็ตาม จอบส์ก็นำชื่อของลิซ่ามาตั้งเป็นชื่อ คอมพิวเตอร์ ที่เจขาชื่นชอบมากที่สุด ตอนหลังเขาก็ได้ส่งเสียเลี้ยงดู ลิซ่า ด้วยการจ่ายเงินค่าเรียน ปัจจุบันทำงานเป็นนักเขียน

ปัจจุบัน ภรรยาของเขา มีบุตร สาม คน จอบส์ดูแลครอบครัวเป็นอย่างดี ครั้งหนึ่งเขาเคยยกเลิกประชุมเพื่อออกเดทกับแฟนสาว

“ผมอยู่ที่จอดรถ กำลังสอดกุญแจเพื่อจะสตาร์ แล้วผมก็ถามตัวเองว่า หากนี้เป็นคืนสุดท้ายที่ผมจะมีชีวิตบนโลกใบนี้ ผมจะใช้เวลากับงานธุรกิจของผม หรือผมจะออกไปกับผู้หญิงคนนี้ดี ทันใดนั้น ผมก็ตัดสินใจ วิ่งข้ามที่จอดรถ เพื่อไปดักหน้าเอไว้ ผมถามเธอว่า จะออกไปทานอาหารกันมั้ย เอตอบตกลง แล้วเราก็เข้าไปในเมือง จากนั้นเราก้ใช้ชีวิตด้วยกันตลอดมา “

ชีวิตคือ ความเรียบง่าย

อาจกล่าวได้ว่า ศาสนาเป็นดั่งนาฬิกาปลุกให้จอบส์ตื่นมาจากความฝัน เขามองเห็นตัวเองในอนาคตอย่างชัดเจน บุคคลอีกผู้หนึ่งที่มีอิทธิพลในทางความคิดของความเชื่อของจอบส์ ก็คือ ริชาร์ด เบเกอร์ หัวหน้าศูนย์ของเซน ในซานฟรานซิสโก ตั้งแต่ปี 1971 – 1984 เขาได้รับการยอมรับในฐานะคนที่ให้แนวคิดด้านเซนผู้นิยมหลักคิดด้านตะวันออกและประสบความสำเร็จที่สุดในอเมริกา

เบเกอร์เป็นผู้สอนให้จอบส์เข้าสู่วิธีเสริมสร้างศักยภาพส่วนตัว จอบส์เคยให้สัมภาษณ์เรื่องความสมดุล ซึ่งเป็นต้นกำเนิดไอเดียดีๆในการบริหารจัดการธุรกิจ โดยนำไปเปรียบเทียบกับภาพของวงสี่เต่าทองขวัญใจในวัยหนุ่มมของเขาแม้ว่าแต่ละคนจะมีด้านลบของตนอยู่ด้วยก็ตาม แต่เมื่อมีการประสมประสานแล้วโดยเลือกแต่สิ่งดีๆของแต่ละคนมารวมไว้เหมือนกับเรื่องธุรกิจที่ไม่สามารถทำได้โดยลำพังโดยคนใดคนหนึ่ง

นอกจากนี้จอบส์ยังกล่าวอีกว่าที่สุดของการคัดสรรสิ่งดีๆที่สุดมาอยู่ด้วยกัน คือเรืองของการมุ่งเน้นในความเรียบง่าย ซึ่งเป็นรากฐานทางจริยธรรมของแอปเปิลจอบส์กล่าวไว้ในบทสัมภาษณ์ของ บีส เนสวีกในปี 1998 ว่า

“ความเรียบง่ายนั้นยากกว่าการซับซ้อน คุณต้องทำงานอย่างหนักเพื่อให้ความคิดของคุณเกลี้ยงเกลาพอที่จะทำทุกอย่างให้ง่ายและงาม แต่มันจะคุ้มค่ามาก เพราะเมื่อถึงที่สุดแล้วความง่ายและความงามนั้นทรงพลังมากพอที่จะเคลื่อนย้ายได้แม้จะขุนเขา”

สตีป จอบส์นำหลักของความเรียบง่ายมาใช้กับทุกสิ่งทุกอย่างในชีวิต ในตอนที่เขาเริ่มมีออฟฟิตของเขาใหม่ๆตอนแรกเขามักจะอยู่ในชุดประจำการเต็มยศนั่นก็คือเสื้อยืดคอเต่าสีดำกับกางเกงยีนส์และเดินทางไปสำนักงานโดยที่ไม่สวมรองเท้าจนร่ำรวยเป็นมหาเศรษฐีโลกแต่เขาก็ยังคงแต่งกายด้วยเสื้อผ้าสไตล์เดิม ลาวกับว่านั่นคือส่วนหนึ่งในชีวิตเขา

มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับเครื่องแต่งกายของสตีป จอบส์ ซึ่งถูกเปิดเผยหลังจากเขาเสียชีวิตไปแล้วว่า ประธานของบริษัทโซนี่ตั้งคำถามว่าทำไมพนักงานโซนี่จึงต้องสวมเครื่องแบบด้วย โมริตะอธิบายว่าเป็นผลมาจากยุคสงครามที่ทุกอย่างขาดแคลน โซนี่จึงจัดหาเสื้อผ้าให้กับคนงานเมื่อเวลาผ่านไป ก็กลายเป็นบุคลิกอย่างหนึ่งขององค์กร

ด้วยเหตุผลดังกล่าวจอบส์จึงนำแนวคิดการสวมเครื่องแบบมาใช้ที่แอปเปิลด้วย แต่ปรากฎว่าทุกคนที่แอปเปิลถูกสร้างให้คุ้นเคยกับการคิดนอกกรอบมาตลอดและลงมติว่าไอเดียนี้แย่เกินจะรับไหว

ครั้งหนึ่งจอบส์เอ่ยปากกับมิยาเกะว่าเค้าสวมเสื้อผ้าซ้ำๆราวกับว่าเป็นยูนิฟอร์มของเค้าดังที่ทุกคนเห็นอยู่ เพราะสะดวกสบายและไม่เคยคิดจะเปลี่ยนแปลงสไตล์การแต่งตัวของตนเองเลยแม้แต่น้อยไม่นานหลังจากนั้นมิยาเกะก็จัดการออกแบบตัดเย็บเสื้อยืดสีดำคอเต่าและกางเกงยีนส์สีน้ำเงินนับร้อยมาบรรณาการ

ก่อนที่เขาจะเสียชีวิตได้ไม่นาน มีนักข่าวสัมภาษณ์เรื่องนี้และทำท่าไม่อยากจะเชื่อสิ่งที่เขาเล่านักเท่าไหร่ จอบส์คงจะสังเกตุเห็น เขาจึงเปิดตู้เสื้อผ้าของตัวเองเพื่อให้นักข่าวดู ผมว่าเขามีเสื้อผ้าที่เหมือนๆกันแขวนยาวตลอดแนว โดยจอบส์ได้กล่าวกับนักข่าวคนนั้นด้วยสีหน้าอมยิ้มว่า “ผมคิดว่าผมมีมากพอที่จะใส่ไปถึงจนวันสุดท้ายของชีวิตเลยนะ”

แม้แต่ในเรื่องการออกแบบผลิตภัณฑ์ นับตั้งแต่แมคอินทอชตัวแรกในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 จนถึงไอแพดในปี 2010 ล้วนแต่สะท้อนให้เห็นอย่างเด่นชัดถึงบุคลิกภาพของเขาที่รู้กันในหมู่พนักงานและวงการธุรกิจว่า จอบส์มีความเป็นนักออกแบบพอๆกับวิศวกรสมองใส เพราะผลิตภัณฑ์ทุกอย่างที่จะออกสู่ท้องตลาดในนามของแอปเปิลนอกจากจะต้องสวยลามไร้ที่ติและไร้ขอผิดพลาดแล้ว ยังต้องเนี๊ยบเรียบหรู แต่ดูดีโดยไม่มีอะไรขาดหรือแม้แต่น้อยนิด

บริษัทคอมทั่วไปจะมีวิธีคิดที่จะมีวิธีคิดที่จะนำไปสู่สูตรสำเร็จ เข้าไปในสินค้า แล้วนำออกมาขาย ในขณะที่จอบส์ กลับใช้กลักการของ จิ๋วแต่แจ๋ว คือถามตัวเองว่าต้องการอะไรใส่เข้าไปอีก ด้วยการตั้งโจทย์ให้กับทีมงานตลอดเวลา

“มีอะไรที่ไม่จำเป็นบ้าง เอามันออกไปให้หมด”

จอบส์ไม่ได้เชื่อว่าทุกสิ่งที่เรียบง่ายจะสง่างามเสมอไป ไอดฟนจึงเป็นข้อพิสูจน์ ที่หลายคนตกตะลึงและหลงไหลทันที่ที่เปิดตัว เพราะมันไม่ใช่แค่โทรศัพท์ แต่น่าจะเรียกว่างานศิลปะดีๆ ชิ้นหนึ่งเลยทีเดียว ไม่มีอะไรต่อมิอะไรให้เลอะเทอะไว้ด้านใน มีเพียงปุ่มโฮมที่กดหน้าเรียกหน้าหลักเพียงปุ่มเดียวเท่านั้น ที่วางไว้อย่างหรูหราตรงกลางด้านล่างของจอ

ไม่ว่าจะมองด้วยสายตาของนักธุรกิจ นักออกแบบ ไอโฟนนับเป็นงานออกแบบที่ดีที่สุดที่เคยมีมา เป้นการลดทอนความซับซ้อนให้สินค้าใช้งานง่ายที่สุด ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้ ไอโฟนมียอดขายไปได้แล้วกว่า 51 ล้านเครื่องทั่วโลก

ด้วยหลักการเยวกันนี้ถูกนำมาใช้กับทุกผลิตภัณฑ์ของแอปเปิล มันเป็นการได้รับอิทธิพลาทงสุนทรียภาพของเซน ซึ่งมีลักษณะเฉพาะตัว เช่น หลักของ มิยาบิ แปลว่า สละสลวย สง่างาม ชิบูอิ หมายถึง ความกระชับ พอดิบพอดี อิไก หมายถึง ความนำสมัย มีสไตล์ และ ยุเก็น แปลว่า ความรุ่มรวย มีค่า ความงามอย่างลึกซึ้ง

“คุณภาพและความงามคือเป้าหมายสูงสุด หลายคนมักไม่คุ้นเคยกับสภาวะการทำงานที่อาสัยความเป็นเลิศ เพราะไม่ต้องใช้บ่อยนัก เพราะฉะนั้นความเป็นเลิศคือหัวใจที่สำคัญที่สุดของการทำงาน”

เขามีความสามารถเป็นเลิศเป็นหัวใจในการทำงาน โดยมีความเรียบงานเป็นอาวุธสำคัญ การพิชิตความสำเร็จจึงเป็นเรื่องไม่เหนือบ่ากว่าแรง สินค้าของแอปเปิลมีเพียงไม่กี่ตัว แต่ทุกตัวที่ออกมาสามารถเขย่าโลกจนทุกคนต้องแห่ทำตามวิธีของเขา เพราะของเรียบๆเหล่านั้นทำเงินให้แอปเปิลมากถึง 4 หมื่นล้านเหรียญ

เอริก ชมิดต์ แห่งกูเกิล กล่าวว่า

“สตีฟ จอบส์ มีความเป็นอัจฉริยะที่ผสมผสานศาสตร์และศิลป์เข้ากันอย่างสมบูรณ์ และเหมาะสมอย่างยิ่งกับฉายา มีเกลันเจโล แห่งโลกยุคไซเบอร์ ที่เขาได้รับ”

จิตของผู้เริ่มต้น

ความที่เซนไม่มีหลักการสอนหรือคัมภีร์ตายตัว ไม่ยึดติดกับอะไรทั้งสิ้น หลัการมุ่งไปที่การทำลายกรอบแห่งความเคยชิน จนมีคนร่วมสมัยบางกลุ่ม กล่าวขานกันว่า เซนเป็นพุทธะแบบนอกกรอบ

ผู้ที่ศึกษาเซนก็เริ่มไปด้วยการใช้ปัญญาเป็นสำคัญ เพราะตำราเซน ส่วนใหญ่ประกอบไปด้วยรูปภาพปริศนา โกอาน (ปริศนาธรรม) ให้ต้องขบคิด สิ่งที่อยู่เหนือกว่านั้นคือ จิตที่เป็นสมาธิแล้วปล่อยวาง ทำให้นึกคิดถูกผิด การเปรียบเทียบผิด ถูก ดี เลว จนอาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าถึงความว่างได้

ปริศนาธรรมที่โดดเด่นบทหนึ่ง ได้กล่าวไว้ว่า “หากพบพระพุทธเจ้า จงฆ่าพระองค์เสีย” ความหมายก็คือ การสอนให้ไม่ยึดติดกับสิ่งใดทั้งสิ้น แม้กระทั่งศาสดา ศาสนา หรือคัมภีร์ใดๆ เพื่อให้เรามุ่งสู่การบรรลุธรรม โดยไม่ต้องสนใจพิธีกรรมหรือ เปลือกนอกอื่นใดทั้งสิ้น

สตีฟ จอบส์ เข้าถึงเรื่องนี้มานานแล้ว และพยายามพูดถึงในหลายโอกาส ครั้งหนึ่งเขาเคยให้สัมภาษณ์ นิตยสารไวร์ด ที่ขายดีอันดับต้นๆของอเมริกา ในบทสัมภาษณืกล่าวถึงแนวคิดที่นำมาใช้ในการออกแบบแนวคิด และการใช้งานของสินค้าที่มีแนวทางบริสุทธ์ โดยอาศัยหลัการของจิตที่ว่างเปล่าเป็นสรณะ

“มีคำคำหนึ่งในศาสนาพุทธ คือ จิตของผู้เริ่มต้น คำนี้เป็นสิ่งมหัศจรรย์อย่างยิ่งที่ทุกคนควรจะมี เพื่อให้มองเห้นทุกสิ่งทุกอย่างที่ควรจะมี เพื่อให้มองเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามความเป็นจริง”

เป็นคำกล่าวจากผู้ที่ยกย่องว่า จอบส์เป็นดั่งมีเกลันเจโล แห่งโลกยุคไซเบอร์ ก็คงด้วยเหตุผลที่ทั้งคู่เหมือนกัน ตรงที่มองเห็นคนอื่นมองไม่เห็น เป็นการมองทะลุลงไปมากกว่าภาพที่ปรากฎด้วยภายนอกด้วยจิตใจลึกซึ้งกว่า

มีเกลันเจโล บอกว่า นักสร้างสรรค์ต้องไม่ยึดติดกับแบบแผนเดิมๆ ที่เคยทำ ต้องค้นหาและลองสิ่งใหม่ๆ ในขณะที่ จอบส์ กล่าวถึงการกวาดล้างสิ่งเก่าๆ ให้หมดไป เพื่อเปิดทางรับแก่สิ่งใหม่ๆ

แอปเปิลทำธุรกิจที่มุ่งเน้นเฉพาะในสิ่งที่ตนเองต้องการจริงๆ การลดทอน และตัดสินใจเป็นเรื่องที่สำคัญที่สุด ไม่ใช่ตัดสินใจทำอะไร แต่เป็นการตัดสินใจไม่ทำอะไรมากกว่า

แต่สำหรับจอบส์แล้ว เขาได้ค้นพบนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงโลกได้บ่อยราวกับเปลี่ยนทรงผมใหม่ โดยที่คิดจากความว่าง เริ่มต้นการกำจัดสิ่งที่ไม่ใช่ออกไปให่พ้นทาง รวมทั้งวิธีปล่อยให้จิตสำนึก ทำงานอย่างเต็มที่

สตีฟ จอบส์นำเอาปัญญาญาณที่เกิดขึ้นจากการปล่อยวาง จิตสงบ มีสมาธิ และมองทุกสิ่งด้วยจิตของผู้เริ่มต้น จนเกิดการรับรู้ที่ก้าวข้ามเรื่องของการรับรู้ของตรรกะและเหตุผลไปได้อย่างง่ายดาย

เป็นเคล็ดลับวิชากำลังภายในที่รู้โดยไม่ต้อง ถกเถียง ยามเมื่อภาพของธงที่กำลังปลิวไสวนั้นว่า นั่นคือลมไหวหรือธงกันแน่เพราะที่จริงนั้น คือจิตของตนนั่นเองที่ไหว

นวัตกรรม ไอโฟน

สตีฟ จอบส์ ทำให้บริษัทแอปเปิล เป็นผู้นำนวัตกรรม นำหน้าคู่แข่งได้นั้น ส่วนหนึ่ง ก็เพราะ เขาใช้ วิธีคิดแบบเซน มาประยุกต์ใช้ ดังนั้นเรามาเรียนรู้วิถีของเซน ที่สตีฟจอบส์ นำความคิดแบบพุทธศาสนา นิกายเซนของเขามาปรับใช้ ซึ่งสะท้อนให้เห็นอยู่ในผลิตภัณฑ์ของแอปเปิลได้อย่างน่าสนใจ

วิถีชีวิตของเซนเป็นวิถีชีวิตที่ต้องการความสำรวมอย่างยิ่ง สำรวมของเซนไม่ได้หมายถึง พอดี เท่านั้น แต่ยังหมายถึงยิ่งน้อยยิ่งดี เพราะคำว่า พอดีของแต่ละคนไม่เท่ากัน และโดยมากต้องมีมากเกินจำเป็นก่อนคนจึงยอมรับว่าพอดี แต่สตีฟ เชื่อว่ายิ่งน้อยเท่าไหร่ ยิ่งเรียบง่ายเท่าไหร่ ยิ่งดีต่อชีวิตเท่านั้น เพราะเนื่องจากจะไม่ยุ่งยากต่อการใช้งานและเข้าใจในการใช้ผลิตภัณฑ์ เขาจึงยืนกรานที่จะให้ไอโฟนมีเพียงปุ่มเดียว (ปุ่ม Home) ต่างจากโทรศัพท์มือถือถั่วไปในท้องตลาด ซึ่งแม้ว่าจะทำได้ยาก แต่ในที่สุดแอปเปิลก็สามารถพัฒนาโทรศัพท์มือถือแบบ Touch Screen ซึ่งใครๆ ก็ทำตามในที่สุด



ความหมายและที่มาของปุ่มโฮม

ในโทรศัพท์ตระกูลไอโฟน จะมีปุ่มกดเพียงปุ่มเดียวเท่านั้น ที่สามารถออกจาก โปรแกรมของทุกโปรแกรมที่เปิดใช้งานอยู่ได้ เนื่องจากจอบส์ เน้นการออกแบบ เพื่อใช้งานที่เรียบง่าย ใช้พื้นที่น้อย ไม่ต้องมีปุ่มกดอะไรมากมาย ยุ่งยาก สามารถกลับสู่หน้าจอหลัก ได้เพียงกดปุ่มโฮมเพียงครั้งเดียวเท่านั้น ปุ่มโฮมมีลักษณะเป็นวงกลม เปรียบเสมือน กับ สัญลักษณ์ของ เซน ที่เป็นวงกลมเช่นเดียวกัน ซึ่งมีความหมายคือ ความว่างเปล่า และการกลับสู่จุดเริ่มต้น

พระพุทธทาส

ทางเลือกกับความฝัน

เมื่อแปดสิบปีก่อน ในสมัยที่สังคมไทยของเรายังไม่ยกย่องคนรวยเท่ากับนับถือผู้มีคุณธรรม ยังไม่ได้บูชาวัตถุเท่ากับเชิดชูคุณค่าทางจิตใจ ในสมัยที่ผู้คนส่วนใหญ่ไม่ว่าอยู่ในชนชั้นในก็ยังละอายต่อบาป และยังพอใจกับชีวิตที่กินอยู่อย่างพอเพียง อันเป็นยุคสมัยแห่ง “ อดีต ” ที่อาจไม่มีทางหวนคืนมาอีกแล้ว

ณ หมู่บ้านกลาง ตำบลพุมเรียง จังหวัดไชยา (สุราษฎร์ธานีในปัจจุบัน )

เย็นวันหนึ่งหนุ่ม เงื่อม ปลีกตัวออกจากงานค้าขายที่บ้าน มานั่งพักกายพักใจ ณ มุมสงบ ริมบึงอันที่เป็นที่ประจำของเขา เพื่อครุ่นคิดปัญหาชีวิตบางประการที่เค้ายังคิดไม่ตก

นับตั้งแต่ที่พ่อ เซี้ยงเตี่ยของเค้าได้เสียชีวิตไปอย่างกะทันหันด้วยโรคลมปัจจุบันตั้งแต่เมื่อสี่ปีก่อน เด็กหนุ่มก็จำเป็นต้องออกจากโรงเรียนกลางคัน ในขณะที่เค้ากำลังเรียนอยู่ชั้นมัธยมปีที่สาม โดยเขาพึ่งมีอายุแค่สิบหกปีเท่านั้น

เขาจำต้องออกมาช่วยแม่ เคลื่อน มารดาของเขาดูแลธุรกิจร้านค้าของชำที่บ้านแทนมารดาของเขาที่สุขภาพไม่ค่อยแข็งแรงนัก

การที่เด็กหนุ่มอย่างเขาต้องเข้ามารับผิดชอบงานค้าขายของทางบ้านตั้งแต่วัยแตกพาน ทำให้ เงื่อม ต้องเสีย”โอกาสในวัยรุ่น” อย่างที่เด็กหนุ่มรุ่นกระทงทั่วไปพึงมีหลายอย่าง

อย่างแรก เขาเป็นคนที่รักดนตรีเป็นชีวิตจิตใจ แต่ตัวเขาไม่มีโอกาสได้ฝึกมันเลยเพราะนอกจากตัวเขาจะไม่มีเวลาฝึกหัดแล้ว มารดาของเขายังห้ามไม่ให้ตัวเขาเรียนดนตรีอีกด้วย เพราะท่านมองว่าดนตรีเป็นของเสื่อม เป็นของที่ทำให้วัยรุ่นใจแตก จนไม่ใส่ใจกับการเล่าเรียนและการงาน

อันที่จริงนิสัยชอบดนตรี รวมทั้งชอบกาพย์กลอนนี้ เงื่อมก็ได้รับอิทธิพลมาจากเตี่ยของเขาซึ่งเป็นลูกคนจีนแซ่โค้วที่ปู่ของเขาหรือบิดาของท่านเดินทางมาจากเมืองจีน มณฑลฮกเกี้ยน โดยมีอาชีพเป็นศิลปินช่างเขียนภาพมาก่อนตัวบิดาของเงื่อมเองก็มีวิญญาณกวี ชอบแต่งกลอน และยังชอบงานช่างเป็นงานอดิเรก แต่ทำการค้าเป็นเครื่องเลี้ยงชีพ ขณะที่มารดาของเงื่อมเป็นคนไทยที่เข้มงวดในการดำรงชีวิต แม้จะทำอาหารเก่งแต่ก็ใช้ชีวิตอย่างประหยัด มัธถยสถ์และกระเหม็ดกระแหม่

นอกจากดนตรีแล้ว เงื่อมยังชอบไปตกปลาในทะเลเพราะเขาถือว่ามันเป็นการออกไปผจญภัยอย่างหนึ่ง มันเหมือนกับทำให้ตัวเขาได้หลุดออกไปอยู่อีกโลกหนึ่งเป็นการชั่วคราว ไปให้พ้นจากชีวิตประจำวันที่จำเจของเขา แต่เงี่อมก็มีโอกาสออกไปผจญภัยเช่นนี้ไม่กี่ครั้งเท่านั้นเพราะเขาถูกมารดาของเขาห้ามเด็จขาด เนื่องจากท่านถือว่าการไปตกปลาเล่นเป็นการฆ่าสัตว์ตัดชีวิต ซึ่งเป็นบาปไม่สมควรทำ

เมื่อออกไปตกปลาไม่ได้ เงื่อมจึงหันไปเลี้ยงปลากัดแทน แต่ตัวเขาไม่เลี้ยงปลากัดเพื่อไปแข่งหรอก เขาเลี้ยงปลากัดไว้ชื่นชมมากกว่า เขาชอบเอาปลากัดเอามาใส่ขวดดูเพื่อความชื่นชม เพื่อความประทับใจในสีสันที่สวยงามและแปลกตาของมัน

จะว่าไปแล้ว เงื่อมก็เป็นเด็กหนุ่มธรรมดาคนหนึ่งที่หลงใหลความงามอันละเอียดละอ่อนที่เป็นความน่าอัศจรรย์ใจของชีวิต ไม่ว่าจะเป็นดนตรีหรือสิ่งมีชีวิตในธรรมชาติ เพียงแต่ตัวเขาจนบัดนี้ยังไม่ได้มีโอกาสสัมผัสกับมันอย่างลึกซึ้ง เพราะข้อจำกัดทางสภาพแวดล้อมขอดงชีวิตที่ตัวเขาต้องยุ่งอยู่กับการทำมาหากินกับการทำมาหากินจนไม่เคยมีเวลาว่างเลยเท่านั้น

แม้แต่ เกมกระดาน อย่างหมากรุก เงื่อมก็ยังสนใจและชอบเล่นแต่ทางบ้านหรือมารดาของเขาก็ห้ามเด็ดขาด เพราะท่านมองว่ามันเป็นอบายมุขอย่างหนึ่งที่ทำให้มัวเมาลุ่มหลงได้ ขณะที่ในใจของเงื่อมแอบคัดค้านอยู่ในใจอย่างเงียบๆโดยไม่กล้าแสดงออกมาว่า หมากรุกเป็นเกมกระดานที่ควรมองว่าเป็นการศึกษาอย่างหนึ่งมากกว่ามองว่าเป็นการเล่นฆ่าเวลาที่เปล่าประโยชน์ เพราะเกมหมากรุกจะสอนให้ผู้นั้นฉลาดเฉลียวยิ่งขึ้น คิดเก่งขึ้นและมีไหวพริบ ช่วยฝึกสติสัมปชัญญะของผู้นั้น ให้มีความรอบครอบเป็นนักกลยุทธ์หรือมีหัวเสนาธิการได้ด้วย

แม้แต่เรื่องของความรักเขาก็พอมีบ้างเหมือนกันที่แอบไปชอบหญิงสาวบางคนอยู่ แต่เงื่อมไม่มีโอกาสไปจีบสาวคนไหนเลย เพราะชีวิตในปัจจุบันของเขามีแต่งาน งาน งาน ! เขามีแต่งานที่ต้องทำอยู่ตลอดจนไม่มีเวลาที่จะไปคบชู้กับใคร หรือแม้แต่จะไปเที่ยวมหรสพ ซึ่งบ้านนอกภาคใต้อย่างที่เขาอยู่นี่ก็นานครั้งถึงจะมีสักทีหนึ่ง

ตัวเขาน้องจากจะต้องขายของที่ร้านชำของครอบครัวแล้ว เขายังต้องไปแบกของส่งให้ตามบ้านที่เขามาสั่งซื้อของที่ร้านด้วย เพราะตัวเขาไม่มีลูกจ้างช่วยงานที่ร้าน แม้แต่ฝืนเชื้อเพลิงที่ใช้เผาผ่านในบ้าน ตัวเขายังเป็นคนเลื่อยเอง ผ่าเองเลย

ชีวิตมีแต่งานรัดตัวทั้งวัน วันแล้ววันเล่า จนไม่มีเวลาและโอกาสได้กระทำในสิ่งที่ตัวเขาเองคิดว่า น่าท้าทายและใจรัก จึงเป็นสาเหตุหลักที่ทำให้เงื่อมต้องมานั่งจมจ่อมอยู่คนเดียวริมบึงยามเย็นในขณะนี้

“ ชีวิตน่าจะเป็นสิ่งที่มีความมากกว่า

การหาเช้ากินค่ำไปวันๆมิใช่หรอ ? ”

เด็กหนุ่มเฝ้าถามตัวเองอยู่ในใจซ้ำแล้วซ้ำเล่านับครั้งไม่ถ้วน แต่”อะไรคือความหมายล่ะ? ” แม้แต่ตัวเขาเองก็ยังไม่มีคำตอบที่แจ่มชัดแม้พอจะมีเค้าเงื่อนจางๆอยู่บ้าง

สิ่งนั้นก็คือหนัง!

เนื่องจากที่บ้านของเขาจะขายของชำแล้ว ยังขายหนังสือด้วยหนังสือที่ตัวเขาขายแล้วก็ได้มีโอกาสอ่านเองด้วนนั้น ยังมีหนังสืออ่านสมัยใหม่ เป็นเรื่องที่แปลมาจากฝรั่งประปรายแต่ที่บ้านนอกนี้ขายไม่ค่อยออกนัก

จะมีแต่หนังสือธรรมะกับการตั้งวงโต้เถียง ในเรื่องธรรมะเท่านั้น ที่เป็นห้วงเวลาที่เด็กหนุ่มอย่างเขารูสึกว่ามันเป็นห้วงเวลาที่มีสีสันที่สุดสำหรับเขา เพราะมันทำให้เขารู้สึกได้ถึงความพึงพอใจอย่างล้ำลึก ยินดีกับการมีความหมายและการมีชีวิตอยู่รวมทั้งได้ตระหนักถึงศักยภาพที่แท้จริง และซ้อนเร้นยุในตัวเขาเอง

แต่การได้อ่านหนังสือธรรมะ กับการได้คุยธรรมะในตอนนั้นของเงื่อมก็ยังเป็นแค่งานอดิเรกในยามว่าง ซึ่งหาได้ยากในขณะนี้ของตัวเขาเท่านั้น

อย่างน้อยการได้อ่านหนังสือธรรมะของเงื่อมก็ทำให้เด็กหนุ่มในวัยยี่สิบอย่างเขาได้มีโอกาสครุ่นคิด พิจารณา คำถามต่างๆซึ่งเขาไม่เคยได้ตั้งคำถาม และครุ่นคิดมาก่อน คำถามต่างๆที่ว่านั้นก็คือ

“อะไรคือจุดมุ่งหมายที่แท้จริงของการเกิดมา? ”

“ ชีวิตที่ดีอย่างแท้จริงคืออะไร?“

“ ธรรมชาติของมนุษย์ที่เกิดมา ดีหรือเลวมาแต่กำเนิด“

บางครั้งเงื่อมถึงกับต้องปิดหนังสือธรรมะลงหลับตาพริ้มด้วยความรู้สึกปีติจนถึงกับคนจนถึงกับขนลุกซู่ และแผ่ซ่านไปทั่วร่าง นั้นไม่ใช่แค่เพราะคำพูดหรืออักษรในหนังสือธรรมะที่กระทบใจเขาเท่านั้นหรอก แต่เพราะตัวเขาได้แลเห็นโลกใหม่ที่เปิดกว้างขึ้นจากการได้อ่านหนังสือเหล่านี้ ราวกลับว่าตัวเขาได้พบโลกอีกโลกหนึ่งในจิตใจของเขา ซึ่งต่างจากโลกแห่งการทำมาหากิน ที่เขาเป็นต้องอยู่กับมันทางกายภาพนี้มากนัก

“กำลงคิดไรอยู่หรือหลาน? “

อาเสี้ยงของเขา ซึ่งเป็นน้องชายแท้ๆของพ่อเซี้ยงบิดาของเขาเอ่ยทักขึ้น ทำให้เด็กหนุ่มต้องตื่นจากห้วงคำนึงหันมาสนทนาด้วย อาของเขาอยู่อีกจังหวัดหนึ่งนานๆจะแวะมาที่นี้สักครั้ง อาของเขาเคยบวชอยู่ที่กรุงเทพฯ พักหนึ่งก่อนจะสึกมาเป็นผู้จัดการเดินเรือ

อาคนนี้ของเขาเป็นคนที่เรียนสูงที่สุดในตระกูล จัดว่าเป็นคนที่ทันสมัยที่ชอบติดตามความเป็นไปของบ้านเมือง ทั้งยังชอบอ่านหนังสือ จึงมักจะเขียนจดหมายมาเล่าถึงความเป็นไปของบ้านเมืองให้เงื่อมได้รับทราบเป็นระยะๆ

จะว่าไปแล้ว เงื่อมสนิทกับอาคนนี้ของเขามากที่สุด ในแง่ของความรู้สึกนึกคิด บางทีอาจจะมากกว่าเตี่ยของเขาด้วยซ้ำ

ดังนั้นเงื่อมจึงไม่ลังเลใจที่จะขอรับคำปรึกษาจากอาที่เขาเคารพคนนี้ว่า เขาควรจะเลือกทางเดินชีวิตของเขาอย่างไรดีจึงจะมีความหมายแก่ชีวิตอย่างแท้จริง

“ทำไมเธอไม่บวช ล่ะเงื่อม? บวชที่จะเรียนรู้ธรรมะให้ถึงแก่นแท้รวมกับนักดนตรีที่เคยฝึกศิลปะดนตรีอย่างทุ่มเทชีวิตจิตใจให้จนเชี่ยวชาญ จะแสดงโชว์ให้เป็นที่ประจักษ์แก่สายตาของผู้อื่นได้ “

“ แล้วงานทางบ้านล่ะครัว คุณอา? ”

“อย่าไปห่วงเลยเงื่อม ทุกอย่างมีทางออกเสมอ แล้วอาจจะพูดกับแม่ของเธอให้เอง อีกอย่าง ยี่เกย น้องชายของเธอก็เริ่มโตพอที่จะช่วยงานทางบ้านแทนเอได้แล้วด้วย อาคิดว่า เธอควรจะลองบวชสักพรรษาหนึ่งก่อนนะ”

“ครับคุณอา”

“อ้อ เงื่อมหลานรัก แต่อามีข้อแม้ข้อหนึ่งที่อาขอให้หลานรับปากอาก่อนนะ หากหลานจะคิดบวช อาขอให้หลานตั้งใจศึกษาธรรมะอย่างเข้าถึงหัวใจของพุทธธรรมจริงๆ จงอย่าบวชครึ่งๆ กลางๆ เหมือนอย่างอาและคนอื่นๆ อีกเป็นจำนวนมาก...”

“...อาอยากให้หลานประสบความสำเร็จในสิ่งที่อา และคนเป็นจำนวนมากเคยมีโอกาส แต่กลับทำไม่สำเร็จ นั้นคือการเข้าถึงพุทธธรรม”

สิ้นเดือนกรกฎาคมของปีนั้นเอง หนุ่มเงื่อมก็ได้บวชพระ โดยมีฉายาว่า “อิน.ทปัญโญ” ที่แปลว่า ผู้มีปัญญาอันยิ่งใหญ่

ในขณะนั้น ยังไม่มีใครคาดคิดได้เลยว่า พระหนุ่มบ้านนอกคนรูปนี้จะก่อให้เกิด “การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเชิงลึก” แก่สังคมไทยครั้งมโหฬารในแค่ไม่กี่สิบปีหลังจากนั้น



ก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง

ไม่มีจุดเปลี่ยนแปลงใดที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อความเป็นไปของพุทธศาสนา ในปัจจุบันเท่ากับการปฏิรูปพุทธศาสนาโดย วชิรญาณภิกขุ ซึ่งต่อมาได้ขึ้นครองราชย์เป็นพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 4) เพราะการปฏิรูปที่เริ่มจากวชิรญาณภิกขุ และสืบทอดโดยคณะธรรมยุตของท่านนั้น ได้ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในการตีความที่พยายามสนองตอบต่อความทันสมัย อย่างพยายามอธิบายหลักธรรมให้สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์และเหตุผลนิยม เน้นของผลประโยชน์อันประจักษ์รับรู้ได้ในชีวิตนี้ ซึ่งการลดทอนพุทธศาสนา ให้เหลือแต่หลักโลกียธรรม โดยมองว่าโลกุตตรธรรมเป็นเรื่องเหลือวิสัย หรือสุดวิสัยสำหรับผู้คนในยุคนี้ และเหตุผลสำคัญที่เปิดทางให้รัฐและลัทธิชาตินิยมเข้ามาครอบงำและกำกับพุทธศาสนามาจนทุกวันนี้

ขนาดผู้นำการปฏิรูปอย่างวชิรญาณภิกขุเอง แม้โดยคติจะยังถือเอานิพพานเป็นอุดมคติสูงสุดของชีวิต แต่ท่านก็ตระหนักแก่ใจของท่านเองว่านิพพานหรือโลกตตรธรรมเป็นสิ่งที่ตัวท่าน หรือคนทั่วไปยากจะเข้าถึงได้ในชาตินี้เพราะเหตุนี้ โลกียธรรมก็เลยกลายเป็นจุดหมายหมายของชีวิตนี้ไปในที่สุด แม้ในหมู่พระสงฆ์เองก็ตาม

นิพพานหรือหลักธรรมขั้นโลกุตตระนั้น เมื่อตกมาถึงสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ก็ถูกทำให้กลายเป็นเรื่องวิชาการล้วนๆ ที่ไม่สัมพันธ์หรือเกี่ยวข้องกับชีวิตของคนทั่วไป เพราะฉะนั้น การบวชจึงไม่ใช่เป็นเรื่องของการทำนิพพานให้แจ้งอีกต่อไป แต่เป็นเรื่องของการมีหน้ามีตา การไต่เต้ายกระดับทางสังคงเป็นสำคัญ

แม้ว่าการศึกษาสำหรับพระสงฆ์จะมีเรื่องกรรมฐานอยู่บ้าง แต่เป็นการศึกษาในระดับปริยัติล้วนๆ การศึกษาที่เป็นการปฏิบัติธรรม ไม่ว่าสมถกรรมฐาน หรือวิปัสสนากรรมฐาน ถูกตัดทิ้งออกไปจากหลักสูตรในสมัยนั้นเพราะเป็นวิชาที่ไม่มีหลักที่จะจัดสอบไล่ได้

ในสมัยสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิญาณวโรรส พระที่มีบทบาทในคณะสงฆ์ล้วนเป็นที่เชี่ยวชาญด้านปริยัติธรรมแทบทั้งสิ้น ไม่มีนโยบายส่งเสริม พระสงฆ์ให้ใฝ่กรรมฐานในฐานที่เป็นเครื่องหล่อเลี้ยงพรหมจรรย์ มีแต่นโยบายส่งเสริมให้พระส่งใส่ใจในเรื่องปริยัติธรรมและการปกครอง โดยใช้ระบบสมณศักดิ์เป็นเครื่องหนุน ผลที่ตามมาก็คือ สมาธิภาวนาได้ถูกกันไปจากชีวิตของพระสงฆ์ส่วนใหญ่อย่างเป็นระบบในช่วงที่รัฐไทยกำลังแปลเปลี่ยนไปเป็นรัฐชาติภายใต้การปฏิรูปการบริหาราชการแผ่นดินขอพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่5)

เนื่องจากการสร้างชาติเป็นภาระกิจสำคัญที่สุดของผู้นำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาเสริมสร้างสถานะของผู้ปกครองอันได้แก่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และลืมต่อมาอย่างเห็นได้ชัดในพระบาทสมเด็จพระมุงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่6 )

เพราะพระองศ์ทรงตระหนักดีว่า “ชาติ ” ยังเป็นสิ่งใหม่สำหรับคนไทยในยุคของพระองศ์ วิธีเดียวที่จะทำให้ ”ชาติ ” เป็นที่รักที่หวงแหนของคนไทยได้ก็ต่อเมื่อเชื่อมโยง “ชาติ ” เข้ากับของเดิมที่คนไทยผูกพันมาช้านานแล้วนั้นคือพุทธศาสนา

ในสมัยรัชการที่ 6 นี้เอง “ ชาติ” ได้เริ่มกลายเป็นสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ทุกสิ่งทุกอย่าง และทุกชีวิตจะต้องยอมรับและต้องยอมเสียสละเพื่อความคงอยู่ของมัน “ความเชื่อ “ อันนี้นำไปสู่การตีความหลักการทางพุทธศาสนา ให้หันมารับใช้ชาติเป็นสำคัญ

จึงไม่ใช่เรื่องแปลกอันใดที่จุดหมายของพระพุทธศาสนา แต่เดิมซึ่งมุ่งให้ปัจเจกได้ลุถึงอิสรภาพในจากความทุกข์ทั้งปวง ครั้นเมื่อถึงสมัยรัชกาลที่ 6 คุณค่าของพุทธศาสนาในฐานะวิถีแห่งความหลุดพ้นของชีวิตด้านในจึงถูกลดความสำคัญ ถูกลดทอนเป็นแค่เรื่องศีลธรรม จริยธรรม หรือเรื่องของความดีความชั่วเท่านั้น

ปลายปี พ.ศ.2474( ค.ศ. 1931)

ณ วัดประทุมคงคา กรุงเทพฯ

พระหนุ่มอินทปัญโญ หรือพระเงื่อม เดินกลับกุฏิโบราณอยู่ข้างหอสวดมนต์ของวัด เสียงหมูกัดกันที่อยู่ใต้กุฏิดังแว่วเข้ามาเป็นระยะๆ

ห้าพรรษาผ่านไปแล้ว หลังจากที่เขาบวชแต่ตัวเขาก็ยังรู้สึกเหมือนพายเรืออยู่ในอ่าง ไม่ได้ก้าวหน้าไปถึงไหนเลย ยกเว้นภาษบาลีเท่านั้นที่เขาชำนาญขึ้นกับการสอบเปรียบธรรม 3 ประโยคได้เมื่อปลายปีที่แล้ว

การเข้าถึงพุทธธรรมที่เป็นจุดมุ่งหมายเดิมในการบวชของเขา เมื่อห้าปีก่อนดูเหมือนจะยากกว่าที่ เค้าคิดเอาไว้มากนักเพราะสิ่งแวดล้อม รอบๆตัวเขาไม่เอื้ออำนวยเอาเสียเลย

พระส่วนใหญ่ที่เขารู้จักมุ่งแสวงหาความนับหน้าถือตาจากสังคมมากกว่าที่จะมุ่งดับทุกข์อย่างจริงจัง

ตอนที่เขาพึ่งบวชใหม่ๆ ตัวเขานึกว่าจะมีเวลามากพอที่ศึกษาธรรมอย่างจริงจัง แต่กลับปรากฏว่า เขาก็ยังไม่ค่อยมีเวลาเหมือนเดิมเพราะง่วนอยู่กับกิจกรรมต่างๆ โดยเฉพาะการเทศน์ เนื่องจากท่านสมภารเห็นเขาเป็นคนที่พูดจาเป็นหลักเป็นฐาน ตัวท่านสมภารเองก็เทศน์บ่อยจนเบื่อเต็มทีแล้ว จึงอยากให้พระใหม่อย่างเขาได้ลองเทศน์ดูบ้าง เพราะท่านได้ยินเสียงเล่าลือจากคนบางคนว่า เขาเทศน์สนุกและแปลกกว่าคนอื่น

พระหนุ่มสนุกอยู่กับการเทศน์อยู่ทุกวันโดยไม่เบื่อ แต่กลับรู้สึกสนุกและท้าทาย จนเขาลืมเลือนปณิธานที่ตั้งใจเอาไว้ก่อนบวชไปเลย กลายเป็นว่าเขาสนุกกับการเป็นพระเพราะได้แสดงออก เพราะได้ถูกใช้งานโดยที่อุดมคติยังไม่ได้ทันได้ก่อตัวชัดเจนความอุทิศตัวที่คิดจะกอบกู้พระพุทธศาสนาก็ยังไม่เกิด สมาธิภาวนาก็ยังไม่มีการปฏิบัติอย่างจริงจัง

จริงๆแล้วเขาก็ยังเป็นหนุ่มเงื่อมที่ชอบถกธรรมะ คุยเรื่องธรรมะคนเดิมที่แต่งกายเป็นพระ โดยยังไม่รู้เป็นพระโดยสมบูรณ์เท่าไหร่นักนั่นเพราะ พระหนุ่มยังไม่เจอ “ คุรุ“ (ครูทางจิตวิญญาณ) ที่ทำให้เขาเลื่อมใสอย่างหมดใจแม้แต่รูปเดียว มิหนำซ้ำ การทำวิปัสสนาแบบโบราณก็ขาดการสืบทอดจนหมดไปก่อนที่เขาเกิดเสียอีก จึงทำให้ในแต่ละแวกที่เขาพำนักอยู่ไม่มีผู้ใดจะมาชี้นำทางจิตวิญญาณให้แก่ตัวเขาได้เลย มีแต่พระที่เป็นผู้ใหญ่ที่น่าเคารพเท่านั้น

พระเงื่อมบวชได้สองพรรษา จนสอนนักธรรมโทได้ในปี พ.ศ.2471 (ค.ศ.1928 ) อาเสี้ยงของเขาจึงยัดเยียดให้เขาไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ ก่อนไปถึงกรุงเทพฯ พระหนุ่มบ้านนอกอย่างเขาเคยคิดว่า พระที่กรุงเทพฯ น่าจะมีพระอรหันต์เต็มไปหมด พระกรุงฯ ดีที่สุด ถูกต้องที่สุดใครได้เปรียญ 9 ก็คือคนที่เป็นพระอรหันต์

แต่ครั้นพระหนุ่มมาอยู่ที่กรุงเทพฯ จริงๆ เขาจึงรู้ว่าสิ่งที่ตัวเองเคยคิดวาดเอาไว้ช่างร้ายเรียงสาจริงๆ

พอไปเจอเข้าจริงๆ เขาก็รู้ว่า มหาเปรียญมันไม่มีความหมายอะไรเลย แต่ที่เขารับไม่ได้มากที่สุด เห็นจะเป็นเรื่องพระเณรในกรุงเทพฯ ไม่ค่อยมีวินัย โดยเฉพาะเรื่องสตางค์กับเรื่องผู้หญิง ขนาดที่บ้านนอกของเขา เขาว่ายังไม่ค่อยเคร่งแล้ว ที่กรุงเทพฯยังไม่เคร่งขึ้นไปใหญ่ พระกรุงเทพฯ ไม่สำรวมแม้เรื่องการกินการฉัน ยังสรวลเฮฮาตลอดทั้งวันเหมือนคนเมา

ไม่มีอะไรที่น่าเลื่อมใสเลยในกรุงเทพฯ และเขายังไม่เคยเจอพระที่น่าเลื่อมใสจนหมดหัวใจเลย

ปีนั้นเป็นปีแรกที่พระเงื่อมรู้สึกผิดหวังกับการบวช และคิดจะสึก เขามากรุงเทพฯ โดยมีความใฝ่ฝันอย่างแรงกล้า อย่างหาที่พึ่งที่หาไม่ได้ในบ้านนอกของเขา และคิดที่จะมาหาในกรุงเทพฯ นั่นคือหาผู้ที่จะสามารถถ่ายทอดพุทธธรรมที่แท้จริงให้กับตัวเขาได้ แต่เขากับพบแต่ความน่าผิดหวังเขาพบเห็นแต่สิ่งที่เขารู้สึกว่าไม่ถูกต้องเต็มไปหมดในสังคมพระกรุงเทพฯ และเขาต้องกำลังรู้สึกว่าตัวแงกำลังถูกกลืนเป็นไปกับพวกเขาด้วย ทั้งๆที่เขาพึ่งมาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้แค่ 2 เดือนเท่านั้น

เขาจึงเดินทางกลับมาบ้านนอก คิดจะมาสึกที่นั่น แต่พอมาถึงบ้านนอกมันจวนที่จะเขาพรรษาแล้ว มีคนท้วงว่าไม่ดีหรอก จะสึกทำไม เพราะจะเขาพรรษาอยู่รอมร่อแล้ว เขาจึงตัดสินใจบวชต่ออีกหนึ่งพรรษาที่วัดใหม่พุ่มเรียง

ในพรรษาที่สามนี้ พระเงื่อมจริงจังทุ่มเทกับการอ่านหนังสือมากขึ้นกว่าเดิม เขาอ่านหนังสือมากขึ้น กว้างขวางขึ้น เรียกได้ว่า เขาอ่านทุกอย่างเท่าที่จะไขว่คว้าหามาอ่านได้ การที่เขาอ่านหนังสือมากขึ้น ทำให้พระเงื่อมสามารถสอบนักธรรมเอกได้ และถูกทาบทามให้เป็นครูสอนนักธรรมของโรงเรียนนักธรรมวัดบรมธาตุไชยาที่บ้านเกิดในปี พ.ศ. (ค.ศ. 1929) เขาจึงอยู่ช่วยสอนปีหนึ่งในพรรษาที่4 จึงไม่ได้สึก และความรู้สึกที่คิดจะสึกก็ลดน้อยลงไป

พอเขาสอนนักธรรมเสร็จแล้ว อาเสี้ยงของเขาก็เร่งเร้าให้ตัวเขากลับไปเรียนต่อที่กรุงเทพฯ เพื่อเรียนบาลีต่อ

พระหนุ่มกลับมาที่กรุงเทพฯ อีกครั้ง แต่เขาก็ยังมาชอบกรุงเทพฯ อยู่ดี เขาไม่ชอบฝุ่น กลิ่นคลอง เสียงรถราง และอากาศที่ร้อน และเขาจะทนอยู่ที่นี้เท่าที่จำเป็นจริงๆเท่านั้น

ความสนใจในสินค้าไฮเทคของยุคนั้น อย่างวิทยุ พิมพ์ดีด กล้องถ่ายรูป และแผ่นเสียง ทำให้พระเงื่อมมีงานอดิเรกทำนอกเหนือจากการเรียนบาลี เขาจึงอยู่กรุงเทพฯ ได้นานกว่าเก่า เขาอยู่กรุงเทพเกือบสองปี จึงเบื่ออีกครั้ง พระอินปัญโญกลับเข้ากุฏิของตนอีกครั้งเพื่อเขียนจดหมายถึงน้องชายของเขาที่บ้านเกิด มีใจความตอนหนึ่งว่า

“ฉันได้พบคัมภีร์ดีๆ พอที่ฉันจะตัดสินใจเด็ดขาดได้แล้ว ว่าฉันจะออกจากกรุงเทพฯ เป็นการออกครั้งสุดท้าย...”

“ฉันตั้งใจว่าจะไปหาที่สงัดปราศจากการลบกวน ทั้งภายนอกและภายในสักแห่ง เพื่อสอบสวนค้นคว้าวิชาธรรมที่ได้เรียนมาแล้ว”

“และเมื่อได้หลักธรรมพอที่จะเชื่อได้ว่า การค้นคว้าของฉันไม่ผิดทางแล้ว ฉันก็จะทิ้งตำราที่ฉันเคยรัก และหอบหิ้วมาโดยไม่เหลือเลย...”

“ ฉันจะมีชีวิตที่เป็นอิสระและปลอดโปร่งสูงที่สุด เพื่อค้นหาความบริสุทธิ์และความจริงต่อไป...“

“กรุงเทพฯมิใช่ที่ที่จะพบความบริสุทธิ์ พวกเราถลำเข้ามาเรียนปริยัติธรรมที่เจอด้วยยศศักดิ์ ฉันรู้ตัวว่า ก้าวผิดไปก้าวหนึ่ง และถ้าหากรู้ไม่ทันก็อาจจะก้าวผิดไปอีกหลายก้าว และยากที่จะถอนออกมาได้เหมือนบางคน”

“การรู้ตัวว่าก้าวผิดนั้นเอง ทำให้ฉันพบเงื่อนว่าทำอย่างไร ฉันจึงจะก้าวถูกด้วย ฉันยังพบอีกว่า ความเป็นห่วงญาติพี่น้อง ลูกศิษย์มิตรสหายเป็นการทำลายความสำเร็จแห่งการค้นคว้าหาความสุขและความบริสุทธิ์ การปลงตกเช่นนี้ได้ ทำให้ฉันเป็นอิสระได้อีกเปลาะหนึ่ง...”

“เรื่องของฉัน บัดนี้ได้เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ฉันเกลียดทั้งอลัชชี และเกลียดกรุงเทพฯ เพราะฉันรู้ว่าที่เป็นมา และกำลังเป็นอยู่ ฉันไม่มีทางที่จะพบพระพุทธเจ้าได้เป็นอันขาด”

จดหมายฉบับนี้ คือจุดเริ่มต้นของ “พระพุทธทาส” ที่คนไทยและทั่วโลกจะได้เป็นที่รู้จักในเวลาต่อมา

พระบ้า

เดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2475 (ค.ศ. 1932) หลังเกิดการเปลี่ยนแปลงการปกครองที่กรุงเทพฯ เพียงไม่กี่วัน

ณ วัดร้างตระพังจิก (สวนโมกข์เก่า) ที่ไชยา

อินทปัญโญ เพิ่งกลับจากบิณฑบาต ขณะที่กำลังเดินทางกลับมาเขารู้สึกกระหายน้ำเป็นกำลัง แต่ไม่สามารถหาน้ำที่ไหนได้ พอดีเห็นใบหญ้ารังไก่ที่เป็นเฟินชนิดหนึ่งเป็นหญ้าที่มีน้ำค้างเกาะมากที่สุด ทุกปลายใบจะมีหยดน้ำเป็นหยดๆ เขาจึงเอามือไปลูบใบหญ้ารังไก่ดูดกินน้ำค้างจากใบดับกระหายเขาพึ่งสังเกตเห็นว่า น้ำค้างแต่ละหยดที่เกาะอยู่บนใบหญ้ารังไก่นี้เปล่งประกายที่มีชีวิตชีวาเหลือเกิน

ขณะที่อินทปัญโญกำลังจะเข้าวัดร้างตระพังจิกซึ่งเขาเพิ่งมาจำวัดอยู่คนเดียวได้ไม่นานนัก พวกเด็กๆ ละแวกนั้น ก็ตะโกนบอกต่อๆ กันว่า

“พระบ้ามาแล้ว พระบ้ามาแล้ว”

พวกเด็กๆ คิดกันไปเองว่า เขาเป้นพระบ้าที่ถูกเอามากักตัวเพื่อรักษาที่วัดร้างแห่งนั้น

วัดตระพังจิกที่อินทปัญโญเลือกเป็นที่ที่ตัวเขาจะมาใช้เป็นที่ปฏิบัติธรรม ส่งเสริมการปฏิบัติธรรมนี้เป็นวัดร้างมากว่า 80 ปีแล้ว จนกลายเป็นป่ารกครึ้มไปหมด สำหรับชาวบ้านแถบนั้น วัดนี้ได้หมดสภาพความเป็นวัดไปนานแล้ว แต่เป็นแค่ที่เก็บเห็ดเผาะเห็ดโคน ล่าหมูป่า และเป็นที่กลัวผีของพวกเด็กๆ เท่านั้น

“พระบ้า พระบ้า พระบ้า”

อินทปัญโญก้มหน้าดินต่อไปอย่างสงบ แม้จะถูกพวกเด็กๆ โห่ไล่เขาต้องทำใจยอมรับการถูกเข้าใจผิด ซึ่งไม่ได้มีแค่พวกเด็กๆ เท่านั้น เขาตระหนักดีว่า การที่จะริเริ่มทำอะไรใหม่ๆ ที่แปลกไปจากที่ผู้คนกระทำกันอยู่นั้น มักจะถูกมองในแง่ร้ายบ้างส่วนหนึ่งเสมอ ไม่ว่าผู้ทำจะมีกำลังและอิทธิพลมากหรือน้อย ถ้ามีอิทธิพลมากจะแตกต่างอยู่บ้างก็ตรงที่เขาไม่กล้าพูดซึ่งหน้าเท่านั้น

อินทปัญโญ จึงกล่าวในใจให้กำลังใจตัวเองว่า “เรากำลังคิดที่จะทำสิ่งซึ่งเป็นการปฏิวัติจิตใจ แก้ไขรื้อฟื้นพุทธศาสนาให้ดีขึ้น เราจึงไม่ควรไปใส่ใจกับการนินทาว่าร้ายของผู้เข้าใจผิดซึ่งก็ย่อมต้องมีเป็นธรรมดา ขอเพียงตัวเรากระทำไปด้วยสุจริตใจก็พอแล้ว ผลจักเกิดขึ้นแก่การกระทำอันบริสุทธิ์ของเรา ไม่ช้าก้เร็ว”

ขณะที่ปัญโญเดินมาถึงพงรกริมสระใหญ่หน้าโบสถ์เก่าของวัด เขาพบนากถึกโทนตัวผู้ตัวหนึ่งออกมากลิ้งเกลือกกลางพื้นทราย ยืดตัวสองขาชะเง้อดูเขาอยู่พักใหญ่ราวกับนักเลงโตที่ยืนขวางทางไม่ให้เขาเดินเข้าไป อิทปัญโญจนใจได้แต่ยืนนิ่งๆ ยืนคอยอย่างสงบ จนกว่าเจ้านากถึกโทนตัวนั้นจะเดินจากไป

พออินทปัญโญเดินเข้ามาจนถึงกุฏิของเขาที่อยู่โบสถ์เก่า อีกาฝูงใหญ่ก้บินมารับ มันบินตามเขาไปเพื่อรอกินเศษอาหารที่เขาโยนให้ มันบินเกาะกลุ่มคล้ายกับหลังคาตามเขาไปติดๆ เขาเคยลองนับจำนวนอีกาที่มากินอาหารจากเขาเขานับได้ 49 ตัว

ที่พักของเขาเป็นเพียงโรงพื้นดิน กั้นและมุงด้วยจากเล็กๆ ขนาดวางแคร่ได้ 3-4 แคร่ อยู่ติดกับโรงสังกะสี ซึ่งยกขึ้นสำหรับมุงพระพุทธรูปองค์ใหญ่องค์หนึ่งไว้สวมทับลงตรงโบสถ์เก่า เพื่อรักษาพระพุทธรูปเอาไว้ มีต้นไม้ขนาดเขื่องมีเงาครึ้มงอกรุกล้ำเขามาในแนวพัทธสีมา นอกนั้นก้เป็นป่าไม้ที่แน่นทึบอยู่โดยรอบ กับมีบ่อน้ำโบราณอยู่ห่างจากโบสถ์เก่าประมาณ 50 เมตร กับมีสระน้ำเป็นสระใหญ่ที่กันว่าสระตระพังจิกเท่านั้น

พอตกเที่ยง นกกระปูดผู้ทำหน้าที่เป็นผู้ให้สัญญาณระฆังพักผ่อนก็ส่งเสียงร้อง อินทปัญโญตระหนักได้ถึงความสงัดตามธรรมชาติอีกครั้งหนึ่งในป่านั้น เพราะนกทุกตัวจับเจ่า กระรอกก็อยู่นิ่งๆ ไก่ป่าก็กกแปลงสัตว์เล็กตามพื้นดินก็หลบตัวพักผ่อน มันเป็นความเงียบสงัดทำนองเดียวกับเวลาดึกสงัด อินทปัญโญจึงสงบอารมณ์ดื่มด่ำกับความสงบสุขในช่วงหลังเที่ยงจนถึงบ่าย จนกว่านกกระปูดจะให้สัญญาณอีกครั้งหนึ่ง การเคลื่อนไหวของสัตว์ต่างๆ เริ่มมีขึ้น จนเป็นป่าที่ตื่นตามปกติ

อินทปัญโญเอาข้าวสุกจำนวนหนึ่งวางบนฝาบาตรสีเหลืองอ่อนแล้วนำไปวางไว้บนน้ำตื้นๆ ริมสระดูปลาเล็กปลาน้อยที่มาตอมวนเวียนกันอยู่เป็นกลุ่มในวงฝาบาตรสีเหลืองอ่อนนั้น เพียงแค่เพ่งดูไปชั่วขณะเดียวนิมตรของฝาบาตรสีเหลืองอ่อนนี้ก็ติดขาเขาจนเขาสามารถนำไปขยายเป็นภาพเล็กภาพใหญ่ได้ดั่งใจปรารถนานี่คือ “สมาธิเล่นสนุกแบบเด็กๆ” ของเขาที่เขาลองทำเล่นดูเท่านั้น ไม่ได้ยึดติดอะไรเลย

จากนั้น อินทปัญโญก็นั่งอ่านข้อความในพระไตรปิฎกอยู่เงียบๆการอ่านพระไตรปิฎกในที่สงัดอย่างในวัดร้างกลางป่าแห่งนี้ สำหรับตัวเขาแล้วได้รสชาติที่จับใจที่กรุงเทพฯ หลายเท่านัก เพราะเขาสามารถขบข้อธรรมได้ต่อเนื่องติดต่อกันเป็นสาย อบอวลไปด้วยกระแสจิตกระแสธรรมอีกชนิดหนึ่งที่แปลกใหม่สำหรับตัวเขาที่เพิ่งทิ้งเมืองหลวงมาเป็นพระป่า ได้ไม่นานนัก

ที่หน้าโบสถ์เก่ามีต้นโมกกับต้นพลาอยู่หลายต้น โมกมาจากคำว่า โมกขะ แปลว่า ความหลุดพ้น พลามาจากคำว่า พละ แปลว่า กำลัง อาราม แปลว่า ที่รื่นรมย์ เขาจึงดำริที่จะตั้งชื่อสถานที่แห่งนี้ว่า สวน โมกขพลาราม แปลว่า สถานที่อันเป็นพลังเพื่อความหลุดพ้น

ตกเย็น อินทปัญโญนั่งสมาธิอยู่บนพื้นดินกลางป่า อากาศที่นั้นแปรปรวนอย่างรวดเร็ว เมฆขาวที่กระจายอยู่เต็มท้องฟ้า อยู่ดีๆ ก็บ้าคลั่งจับกลุ่มกันเป็นเมฆก้อนดำทะมึนอยู่เหนือวัดร้างแห่งนี้ แต่อินทปัญโญคร้านที่จะลุกขึ้น เมื่อครู่เขาเพิ่งเห็นนกกระเต็นบินโฉบลงมา จับปลาในสระน้ำอย่างรวดเร็วและแลเห็นฝูงนกเป็ดน้ำกำลังว่ายน้ำอย่างมีความสุข

เขารำพึงในใจว่า สัตว์เหล่านี้กำลังมีชีวิตอย่างเบิกบานสำราญใจ ใช่หรือไม่ว่า ธรรมชาติต้องการสอนอะไรแก่ตัวเรากระมัง? เขารำลึกถึงความทุกข์ใจ ความกระวนกระวายใจที่ตัวเขามีขณะที่อยู่กรุงเทพฯ จนถึงขนาดต้องตัดสินใจไปตายเอาดาบหน้า มาทดลองปฏิบัติธรรมใช้ชีวิตแบบอุดมคติในพระพุทธศาสนาที่นี่ ตัดขาดจากความอัปลักษณ์แห่งความเป็นจริงของสถาบันสงฆ์ในกรุงเทพฯ อย่างสิ้นเชิง

อินทปัญโญหลับตานั่งสมาธิแน่วแน่นิ่งในความสงบ ฝนเริ่มตกลงมาเป็นหยาดหยดเล็กๆก่อนที่จะตกแรงขึ้นจนตัวเขาเปียกโชก แต่เขาก็คงยังนั่งนิ่งอย่างเดิมไม่ได้ลุกหนี หยาดฝนนี้ทำให้เขาคิดถึงหยาดน้ำค้างบนใบหญ้ารังไก่ที่เขาพึ่งเลียกินมาตอนเช้านี้

ความเขียวขจีของใบหญ้า ความสดใสของหยาดน้ำค้าง ความชุ่มฉ่ำของน้ำฝน กลิ่นดินสดจากพื้นดินที่ตัวเขากำลังนั่งสมาธิอยู่ ได้ให้พลังแก่ความมีชีวิตชีวาแก่เขา

โอชีวิตนี้ แท้จริงเป็นสิ่งที่น่ารื่นรมย์เป็นยิ่งนัก !

อินทปัญโญดื่มด่ำอยู่กันธรรมชาติ ถือเอาธรรมชาติเป็นครู เป็นตัวแทนที่ยิ่งใหญ่ของพระพุทธะ จนลืมเลือนแม้กระทั้งกาลเวลา เขาได้รู้แกใจแล้วว่า เส้นทางใหม่ที่เขาได้เลือกเดินมานี้ เป็นสิ่งที่ถูกต้องแล้วแบบไม่ต้องสงสัย ไม่มาเขาจะต้องเดินอยู่บนเส้นทางสายนี้ไปอีกสักแค่ไหนก็ตาม

อินทปัญโญนั่งสมิด้วยใจที่เปิดกว้างดุจท้องฟ้า แต่ในขณะเดียวกันก็ดำรงอยู่และหยั่งรากอย่างมั่นคงกับพื้นพสุธา เขารู้ดีว่า ชีวิตคือการเชื่อมโยงสิ่งสูงสุดกับสิ่งสามัญเข้าด้วยกัน จึงเป็นชีวิตที่แท้จริงตามความหมายพุทธ และตัวเขาพึ่งได้ตระหนักว่า ตัวเขากำลังมี “ชีวิตที่แท้จริง” ก็ต่อเมื่อเขาได้มาอยู่ที่นี้แล้วเท่านั้น

ฝนหยุดตกแล้ว ลมแรงเมื่อครู่พลันสงบลง อินทปัญโญน้อมนำดวงจิตออกจากสมาธิลืมตาขึ้นช้าๆ หวนคืนกับสู่ชีวิตประจำวันอย่างเปี่ยมไปด้วยปัญญา ความกรุณา ความเปิดกว้าง ความไม่ยึดติด และความมีอารมณ์ขันอีกครั้ง

พุทธทาส

การขบถและการแสวงหาโดยลำพังของพระหนุ่มอินทปัญโญเกิดขึ้นท่ามกลางบริบทแห่งความขัดแย้งสองวัฒนธรรมของศาสนาพุทธในเมืองไทย วัฒนธรรมหนึ่ง โน้มเอียงไปในทางความเป็นเหตุเป็นผล มีเนื้อหาชัดเจน มุ่งผลที่เห็นได้ในชาตินี้ ยึดอิงตำราว่าเป็นหัวใจของการเข้าถึงธรรมะและความจริง ขณะที่ในอีกวัฒนธรรมหนึ่งนั้น ยังเชื่อในสิ่งที่ฝังหัวในสิ่งที่อยู่เหนือเหตุผล โดยยอมรับว่ายังมีอีกโลกหนึ่งที่พ้นไปจากโลกนี้ เรียนรู้จากประสบการณ์และผ่านตำนานเรื่องเล่าเชิงอุปมาอุปไมย ที่เป็นรูปธรรมหรือบุคลาอธิษฐาน อีกทั้งยังเห็นว่าธรรมะกับความบันเทิงไม่ได้แยกออกจากกัน

นี้คือความขัดแย้งทางโลกทัศน์ที่จะสะท้อนถึงความแตกต่างของระดับจิตของคนเมืองกับคนชนบท ความแตกต่างระหว่างโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยม แบบเป็นวิทยาศาสตร์กับโลกทัศน์แบบปรัมปราคติ ซึ่งสะท้อนออกมาให้เห็นในรูป

ของความขัดแย้งระหว่างพระปริยัติจากในเมืองพระท้องถิ่นในบ้านนอก ปัญหาของพระหนุ่มอินทปัญโญนั้นที่ว่า ตัวเขาไม่สามารถนิยามตัวเองได้ว่าสังกัดอยู่กับกลุ่มใด

จริงอยู่ แม้ตัวเขาจะไม่ค่อยเชื่อใจเรื่องโหราศาสตร์และไสยศาสตร์มาตั้งแต่ก่อนบวชแล้ว เขาจึงมีความโน้มเอียงที่จะไม่ยอมรับ “พุทธธรรมแบบปรัมปราคติ” พวกพระท้องถิ่นที่อยู่รอบข้าง นี่จึงเป้นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ตัวเขาต้องดิ้นรบไปศึกษาต่อที่เมืองเพื่อค้นหา “พุทธธรรมที่สูงส่งกว่านั้น” เพื่อพบกับความผิดหวังที่ว่า

“พุทธธรรมแบบเหตุผลนิยม” ของพวกเขาพระเมืองที่ย่อหย่อนในการปฏิบัติสมาธิภาวนานั้นน่าผิดหวังยิ่งกว่า การศึกษาอย่างใหม่ในทางโลกและทางศาสนา ทำให้นักเรียนดูถูกพ่อแม่ปู่ย่าตายายว่าโง่คร่ำครึ การครอบงำของโลกทัศน์แบบเหตุผลนิยมที่มีรากฐานจากในเมือง โดยได้รับอิทธิพลจากวิทยาศาสตร์-เทคโนโลยีและรัฐทำให้ “ความศักดิ์สิทธิ์” ของพุทธศาสนา ซึ่งแต่เดิมมีชุมชนท้องถิ่นเป้นพื้นฐานหาที่ยืนได้ลำบากยิ่งขึ้นทุกที และนับวันก็จะยิ่งรุกล้ำเข้ามาล่วงเกิน แม้กระทั่ง “ความศักดิ์สิทธิ์ของชีวิต”... ของทุกสรรพชีวิตบนโลกใบนี้

อินทปัญโญรู้สึกปวดร้าว แม้มันเป้นความปวดร้าวของค้างคาวที่รู้ตัวเองว่าไม่ใช่ทั้งนกและหนู และไม่อาจสังกัดในกลุ่มหนูหรือกลุ่มนกอย่างยินยอมพร้อมใจได้ การมีชีวิตอยู่อย่างงมงายไปวันๆโดยไม่คิดแสวงหาความรู้ใหม่ๆใส่ตัว มิใช่ทางเลือกของพระหนุ่มๆอย่างเขา แต่การยึดถือพุทธศานาโดยยึดตำรา และการใช้เหตุผลล้วนๆจนปฏิเสธแม้กระทั่งการใช้สมาธิภาวนาเพื่อเข้าถึงความจริงก็เป้นสิ่งที่ตัวเขายอมรับไม่ได้เช่นกัน ตัวเขาจึงต้องออกแสวงหาและทดลองเดินบนเส้นทางแห่ง “ทางเลือกที่สาม”เพียงลำพัง...ทางเลือกที่ศึกษาปริยัติเพื่อรับใช้การปฏิบัติธรรม มิใช่ไร้ปริยัติเหมือนพวกปรัปราคติ แต่ก็มิใช่ปริยัติเหมือนพวกเหตุผลนิยม

พระหนุ่มอินทปัญโญได้ตัดสินใจอย่างเด็ดเดี่ยวแล้วว่า จากนี้ไปเขาจะยึดถือพระพุทธเจ้าเป็นคุรุหรือครูทางจิตวิญญานของเขาโดยตรง ยิ่งเมื่อตัวเขากลายเป็นพระป่าที่พำนักอยู่คนเดียวตามลำพังในวัดร้างแห่งนี้ จึงมีเวลาอ่านพระไตรปิฏกจากมุมมองที่มุ่งจะค้นหาร่องรอยแห่งการศึกษาค้นคว้าการปฏิบัติ และการเป็นอยู่ประจำวันตลอดจนวิธีการอบรมสั่งสอนและการแก้ปัยหาเฉพาะหน้าต่างๆ ของพระพุทธเจ้า โดยมุ่งจะนำเอาหลักเกรฑ์เหล่านี้มาใช้ในการที่จะทำความเข้าใจโลกภายใน หรือชีวิตด้านในของพระพุทธเจ้า เพื่อที่ตัวเขาจะได้เจริญลอยตามท่าน

ความยากลำบากอยู่ตรงที่เรื่องราวเหล่านี้ในพระไตรปิฏกมิได้รวมอยู่ตอนใดตอนหนึ่งทั้งหมด แต่ไปมีแทรกอยู่ที่นั่นบ้างที่นี่บ้าง และบางแห่งก็มีนิดหน่อยและแร้นลับ ต้องตั้งใจเลือกเก็บกันจริงๆ ถึงจะค้นพบโดยเฉพาะอย่างยิ่ง สำหรับตัวเขาจะมุ่งจะสืบค้นการ่องรอยการปฏิบัติธรรมของพระอรหันต์ที่ยังเร้นลับอยู่ในพระไตรปิฏก



อินทปัญโญมีความเชื่อมั่นอย่างแน่นแฟ้นไม่คลอนแคลนว่า ชีวิตแห่งความเป็นพระอรหันต์ ในพระพุทธศาสนาคือ บรมธรรมชิ้นเอกที่โลกต้องการ และนี่เป็นสิ่งเดียวที่อาจนำความสุขที่แท้จริงมาให้แก่โลกๆได้ เพราะนี่คือ วิถีแห่งการทำให้จิตมีอำนาจเหนือโลก เหนือโลกานุวัตร เพื่อไม่ต้องหมุนเวียนไปในกระแสแห่งความทุกข์ทรมานของ โลก และเพื่อถึงที่สุดแห่งความสุขอันจะไม่กลับไปเป็นทุกข์อีกต่อไป

วิถีแห่งพระอรหันต์นี้พระพุทธเจ้าเป็นผู้ทำสำเร็จเป็นคนแรก แล้วสอนให้ผู้อื่นทำตามบ้าง จนมีพระอรหันต์คือผู้ที่พ้นทุกข์เป็นจำนวนมาก การได้เห็นและศึกษาตัวอย่างจากผู้ที่พ้นทุกแล้ว มีใจที่เป็นอิสระจากธรรมชาติฝ่ายต่ำ ไม่ติดขัดดุจท้องฟ้ากลางหาว และสดชื่นเบิกบานได้ถึงที่สุดของใจ เป็นวิธีการเดียวที่จะนำความสุขมาสู่โลกได้แท้จริง โลกมีความจริงเป็นเช่นนี้

แต่มนุษย์ส่วนมากในโลก ไม่ได้ยึดเอาความจริงนี้เป็นหลัก จึงดำเนินชีวิตที่ขัดขวางต่อความจริงของโลกโดยไม่รู้ตัว

อินทปัญโญไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งกับความเชื่อของพวกพระผู้ใหญ่ทั้งหลายในกรุงเทพฯ ที่อ้างว่า พระอรหันต์ไม่มีในโลกแล้วและจะไม่มีอีกต่อไป เขาไม่เข้าใจว่าทำไมพวกนั้นจึงพยายามยกเหตุผลต่างๆมากล่าวอย่างจริงจังเพื่อรองรับความเชื่อข้างต้นราวกับว่า พวกเขาจะได้รับผลอะไรบางอย่างจากดการกระทำเช่นนี้ เช่น สมณศักดิ์กระนั้นหรือ

ความเชื่อที่หลงผิดเช่นนี้ จะทำให้ไม่มีใครพยายามเพื่อเป็นพระอรหันต์อีกต่อไป และจะทำให้พุทธธรรมอันสูงสุดกลายเป็นคำพูดความสอนที่เหลวไหล

พระอรหันต์ไม่มีเครื่องหมายภายนอกแสดงให้รู้ จึงยากที่จะรู้จักพระอรหันต์ด้วยรูปร่างภายนอก คนที่เรียนเรื่องพระอรหันต์รู้แล้วแต่ไม่ทำจริงๆตามนั้น ด้วยเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเป็นโมฆบุรุษหรือคนว่างเปล่า การเรียนจบพระไตรปิฎกก็ไม่ได้ทำให้พ้นจากข้อตินี้ ถ้าไม่ปฏิบัติดูบ้างตามที่เรียนมา

ตัวพุทธศาสนาที่แท้จริง ไม่รู้จักคร่ำคร่าหรือเสื่อมสูญ เพราพุทธธรรมเป็นกฎที่แท้จริงประจำอยู่ในโลก ย่อมไม่เหลวไหล แต่ผู้คนที่เข้าไปเกี่ยวข้องกับพุทธศาสนานั่นไม่แน่นอน ผู้นั้นอาจเข้าไปเกี่ยวข้องเพื่ออาศัยประโยชน์ทับซ้อนแอบแฝงก็เป็นได้

การเรียนรู้เชิงปริยัติก็ต้องใช้ความบากบั่นอย่างเต็มที่อยู่แล้วแต่อย่าหยุดแค่นั้น จะต้องพยายามต่อไปในขั้นปฏิบัติธรรมด้วย ส่วนปฏิเวธธรรมหรือการเก็บเกี่ยวผลอันเกิดจากการกระทำจริงๆนั้น ไม่ต้องบากบั่นอะไร เพราะเมื่อมีการกระทำจริงๆแล้ว ก็ย่อมหวังได้แน่นอนว่า จะต้องได้รับผลจากความพยายามนั้น

อะไรคือ ความยากลำบากในการตามรอยพระอรหันต์

อินทปัญโญเห็นว่า คือความไม่แข็งแรง กล้าแข็งของจิตใจ ของคนผู้นั้น การจะลอยตามพระอรหันตืได้ คนผู้นั้นจะต้องกล้าที่จะใช้ชีวิตที่เรียบง่ายโดยเต็มใจ ยินยอมที่จะอดทนต่อความยากลำบากอันเกิกจากความพากเพียรค้นหาความจริง ยอนทนต่อการถูกหัวเราะเยาะ ถูกเย้ยหยันของผู้ที่ไม่มีความรู้เรื่องพระอรหันต์ ไม่หวั่นไหวต่อคำชักชวนของสังคมให้กลับการเดินทางเพราะด้วยเหตุนี้กระมัง จึงไม่ค่อยมีใครเป็นผู้เดินตามพระอรหันต์ด้วยหัวใจอันแท้จริง ยิ่งพุทธธรรมเป็นปักจัตลักษณ์คือ ผู้ที่มีปัญญาจะเห็นได้เฉพาะตนด้วยแล้ว การจะทำให้สังคมคล้อยตามจึงเป็นเรื่องยาก

แต่ไม่เป็นไรดอก อินทปัญโญปลอบจัยตัวเองและให้กำลังใจตัวเอง ตัวเขาซึ่งได้ตั้งจิตปณิพานขอมอบชีวิตและร่างกายนี้ถวายแด่พระพุทธเจ้าดุจเป็นทาสรับใช้ของพระองค์ จนตัวเขายินดีเรียกตัวเองว่า พุทธทาส

พระอาจารย์ ติช นัท ฮันห์

ติช นัท ฮันห์ กำเนิดในปี พ.ศ. 2469 ที่จังหวัดกวงสี ในตอนกลางของประเทศเวียดนาม ท่านมีชื่อเดิมว่า เหงียน ซวน เบ๋า "ติช นัท ฮันห์" เป็นฉายา เมื่อท่านได้รับ การอุปสมบทแล้ว คำว่า "ติช" ในเวียดนามใช้เรียกพระ มีความหมายว่าเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา ส่วน "นัท ฮันห์" เป็นนามทางธรรมของท่าน มีความหมายว่า "การกระทำเพียงหนึ่ง" (One Action) หมู่ศิษย์ในทางตะวันตก เรียกท่านว่า "Thay" (ไถ่) ซึ่งในภาษาเวียดนามมีความหมายว่า "ท่านอาจารย์"

ในปี พ.ศ. 2485 เมื่ออายุได้ 16 ปี ท่านได้บรรพชา เป็นสามเณรที่วัดตื่อฮิ้ว วิถีชีวิต ในวัดเซนแห่งนี้ เป็นรากฐานอันสำคัญ ต่อชีวิตนักบวชของท่าน สามเณรต้องเรียนรู้ การมีชีวิตอยู่ ในปัจจุบันขณะ ในทุกการกระทำ อาจารย์ได้มอบหนังสือเล่มเล็กๆ กำชับให้ศึกษาหนังสือนั้น จนกว่าจะเข้าใจ "การนำสารัตถะแห่งพระวินัย มาประยุกต์ ใช้ในชีวิตประจำวัน" เป็นตอนแรกของคู่มือเล่มเล็กนั้น กล่าวถึงอากัปกิริยาของพระฝึกหัด จะต้องเกิดขึ้นพร้อมไปกับ สัมมาสติ หรือการกำหนดรู้ในปัจจุบัน

ปี พ.ศ. 2492 ติช นัท ฮันห์ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ เมื่ออายุ 23 ท่านได้เดินทางไปไซ่ง่อน เพื่อช่วยฟื้นฟูพุทธศาสนา และเขียนบทความ ซึ่งถูกต่อต้านอย่างมาก จากผู้นำองค์กรชาวพุทธ และจากรัฐบาล ในปี พ.ศ. 2505 เมื่อท่านได้รับการเสนอทุนจากมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน เพื่อ ศึกษาศาสนาเปรียบเทียบ จึงเดินทางไปยังประเทศสหรัฐอเมริกา จากนั้น 1 ปี ท่านได้รับทุนจาก มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แต่ท่านตัดสินใจเดินทางกลับเวียดนาม เพื่อกลับมาทำงานด้านความ ร่วมมือ ระหว่างพุทธมหายานและหินยานในประเทศ และตั้งรร.ยุวชนรับใช้สังคม เพื่อรักษาสังคม ที่เสียหายจากสงคราม สานต่อแนวคิดเรื่องพุทธศาสนาที่ผูกสัมพันธ์กับสังคม และพัฒนาวงการ สงฆ์ ด้วยการสอนและเขียน ในสถาบันพุทธศาสนาขั้นสูง เป็นการบ่งบอกถึงแนวคิดของท่านว่า การกระทำและปัญญา ต้องก้าวไปด้วยกัน (action and wisdom must go together) และจัดตั้งคณะเทียบหิน ในปี 2509

ท่านตระหนักว่า ต้องมีการเปลี่ยนแปลง วิธีการการต่อสู้เพื่อสันติภาพ เพื่อแก้ปัญหาที่ต้นเหตุ คือ หยุดการสนับสนุนสงครามและมุ่งเน้นสันติภาพ โดยปลุกจิตสำนึกต่อคนทั่วโลก จนกระทั่ง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ ( Martin Luther King, Jr.) เสนอนามท่านติช นัท ฮันห์ เพื่อรับรางวัล โนเบลเพื่อสันติภาพ การทำงานเช่นนี้ ทำให้รัฐบาลเวียดนามใต้ ปฏิเสธการกลับประเทศของท่าน จนแม้ รวมประเทศแล้วก็ตาม ท่านจึงลี้ภัยอย่างเป็นทางการในประเทศฝรั่งเศส โดยสอน ประวัติศาสตร์พุทธศาสนาเวียดนาม ที่มหาวิทยาลัย และสร้างอาศรมแห่งหนึ่งนอกเมืองปารีส เพื่อเขียนหนังสือ และปลูกพืชผักสมุนไพร ซึ่งท่านติดต่อลับๆ กับพระภิกษุที่ถูกจำคุกในเวียดนาม เพราะไม่เห็นด้วย กับรัฐบาลคอมมิวนิสต์ ระหว่างนั้นท่านยังคงทำงาน เพื่อสันติภาพและผู้ลี้ภัย จากประสบการณ์ ของท่าน ที่ได้พบเห็นชะตากรรมของผู้ลี้ภัยด้วยตนเอง จนสามารถช่วยเหลือ ผู้คนได้อีกมาก

ติช นัท ฮันห์ คำว่า "ติช" ในเวียดนามใช้เรียกพระ มีความหมายว่าเป็นผู้สืบทอดพุทธศาสนา "นัท ฮันห์" เป็นนามทางธรรมของท่าน มีความหมายว่า "การกระทำเพียงหนึ่ง" (One Action)



ท่าน ติช นัท ฮันห์ พระมหาเถระในพุทธศาสนามหายานนิกายเซน ชาวเวียดนาม ผู้ซึ่งนำพาให้ผู้คนได้ประจักษ์ถึงการนำพุทธศาสนามาประยุกต์ใช้ให้เข้ากับ ชีวิตประจำวันอย่างสอดคล้องกลมกลืน

ตลอดชีวิตนักบวชของท่านได้เขียนหนังสือและบทกวี ไว้มากมายเพื่อเผยแพร่วิถีแห่งพุทธธรรม ผลงานของท่านได้รับการตีพิมพ์เผยแพร่ทั่วโลกมากกว่า 80 เล่ม จำนวนตีพิมพ์มากกว่า 1.5 ล้านเล่ม เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวางในโลกตะวันตก

ในช่วงที่บ้านเมืองของท่านมีความเดือดร้อนจากภัยสงคราม ท่านพยายามอย่างยิ่งที่จะใช้หลักพุทธศาสนาเพื่อนำพาผู้คนให้กลับสู่สันติภาพ ในจิตใจของตน เพื่อนำไปสู่การหยุดการก่อสงครามในทุกระดับ จนกระทั่ง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ (Martin Luther King, Jr.) ได้เสนอ ท่านติช นัท ฮันห์ รับรางวัลโนเบลสาขาสันติภาพ

ปัจจุบันท่าน ติช นัท ฮันห์ พำนักอยู่ในชุมชนหมู่บ้านพลัม (Plum Village) ซึ่งตั้งอยู่ทางตะวัน ตกเฉียงใต้ของฝรั่งเศส เป็นชุมชนแห่งการฝึกปฏิบัติเพื่อดำเนินชีวิตอย่างมีสติของพุทธบริษัท 4 อันประกอบด้วย ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก และ อุบาสิกา ชุมชนหมู่บ้านพลัมมีกระจายอยู่ในหลายประเทศ อาทิประเทศฝรั่งเศส อเมริกา เยอรมัน ฮ่องกง และล่าสุดที่ประเทศไทย

โดยมีนักบวชมากกว่า 500 รูป กว่า 20 ประเทศทั่วโลก และมีกลุ่มปฏิบัติธรรมตามแนวทางของหมู่บ้านพลัม หรือ "สังฆะ" เกือบหนึ่งพันกลุ่มกระจายอยู่ใน 31 ประเทศทั่วโลก ปัจจุบัน ท่าน ติช นัท ฮันห์ ยังคงเบิกบานกับการฝึกปฏิบัติร่วมกับคนรุ่นใหม่ และเดินทางไปนำการภาวนาในประเทศต่าง ๆ เพื่อสรรค์สร้างความรัก ความเข้าใจ และสันติภาวะภายในให้กับผู้คนทั่วโลก

********************************************************************************

บทที่ 4

สภาพในปัจจุบัน

วัดเส้าหลิน

วัดเส้าหลิน (วัดเสี้ยวลิ้มยี่) เป็นวัดทางพระพุทธศาสนานิกายมหายานที่มีความเก่าแก่อายุมากกว่า 1,500 ปี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน หนึ่งในจำนวนห้ายอดเขาอันศักดิ์สิทธิ์ตามความเชื่อของชาวจีน เป็นเทือกเขาที่มีชื่อเสียงมากที่สุดทั้งในด้านของประวัติศาสตร์และในแวดวงยุทธภพ ประกอบด้วยยอดเขาน้อยใหญ่จำนวน 72 ยอด แบ่งเป็นสองกลุ่มคือในกลุ่มของเขาไท่ซื่อ จำนวน 36 ยอด และกลุ่มของเขา เส้าซื่อ จำนวน 36 ยอด ในอำเภอเติงเฟิง เมืองเจิ้งโจว มณฑลเหอหนาน ประเทศจีน อยู่กึ่งกลางระหว่างเมืองเจิ้งโจวและเมืองลั่วหยาง บริเวณรอบ ๆ วัดเส้าหลินเป็นพื้นที่โล่งกว้าง ใช้สำหรับฝึกวิทยายุทธของหลวงจีน รายล้อมด้วยป่าเจดีย์หรือถ่าหลิน ซึ่งเป็นสุสานของอดีตเจ้าอาวาสและหลวงจีน ซึ่งมีมาตั้งแต่ในยุคสมัยของราชวงศ์ถัง

วัดเส้าหลินมีชื่อเสียงโด่งดังมากที่สุดในประเทศจีนและในต่างประเทศ ได้รับการกล่าวขานในเรื่องของกระบวนท่าวิทยายุทธ เพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลินเป็นอย่างมาก เป็นแหล่งวิชาการต่อสู้และศิลปะการป้องกันตัวที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของจีน ปรากฏชื่อในนิยายกำลังภายในหลายต่อหลายเรื่อง ซึ่งล้วนแต่กล่าวถึงวิชาเพลงหมัดมวย พลังลมปราณและกังฟูเส้าหลินอยู่เสมอ โดยเฉพาะนิยายกำลังภายในของกิมย้งเช่น มังกรหยก, จอมใจจอมยุทธ์, จิ้งจอกภูเขาหิมะ เป็นต้น ปัจจุบันมีหลวงจีนที่บวชเพื่อศึกษาธรรมะและกังฟูจำนวน 180 รูป มีหลวงจีน ซือ หย่งซิน ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์ปัจจุบัน เป็นหนึ่งในสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญทางประวัติศาสตร์แห่งหนึ่งในประเทศจีน ที่ทางรัฐบาลจีนได้ร้องขอต่อองค์กรยูเนสโกให้เป็นมรดกโลก และได้รับการพิจารณาให้เป็นมรดกโลกเมื่อวันที่ 1สิงหาคม พ.ศ. 2553 ร่วมกับโบราณสถานอีก 5 แห่ง

วัดเส้าหลิน สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 1038 ในสมัยของไท่เหอเจ้าผู้ครองรัฐวุ่ยเหนือ ในปี พ.ศ. 929 - พ.ศ. 1077 เนื่องจากตั้งอยู่บนยอดเขาเส้าซื่อ ทางด้านทิศตะวันตกของเทือกเขาซงซาน ครอบคลุมอาณาเขตพื้นที่เกือบทั้งหมดด้วยป่าหรือ "หลิน" ในภาษาจีนกลาง จึงกลายเป็นที่มาของชื่อ วัดเส้าหลิน ในยุคสมัยบุกเบิกยังไม่เป็นที่รู้จักกันในวงกว้าง ภายหลังจากสร้างขึ้นมาได้ประมาณ 32 ปี ในปี พ.ศ. 1070 พระโพธิธรรมเถระหรือตั๊กม้อ พระภิกษุจากประเทศอินเดีย ได้เดินทางเข้ามาเผยแผ่พุทธศาสนานิกายเซนที่วัดเส้าหลินเป็นครั้งแรก อีกทั้งแลเห็นว่าวัดเส้าหลินอยู่ท่ามกลางธรรมชาติ มีความสงบร่มรื่น เหมาะแก่การบำเพ็ญเพียรปฏิบัติธรรมจนบรรลุธรรมตามนัยของพุทธศาสนานิกายเซน ปรมาจารย์ตั๊กม้อจึงเข้าพำนักและดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสองค์แรก ทำให้ชื่อเสียงของวัดเส้าหลิน อยู่ในฐานะเป็นต้นกำเนิดของศาสนาพุทธนิกายเซนในประเทศจีน กลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น

ตั๊กม้อสร้างความเลื่อมใสศรัทธาแก่ชาวจีนเป็นอันมาก โดยเฉพาะการพัฒนาวิทยายุทธเส้าหลินให้ลึกล้ำขึ้นกว่าเดิม ถ่ายทอดธรรมะและวิชากังฟูให้แก่หลวงจีนได้ฝึกฝนเพื่อออกกำลังกายและฝึกสมาธิ เนื่องจากเห็นว่าหลวงจีนส่วนใหญ่มีสุขภาพร่างกายอ่อนแอ ไม่สามารถนั่งสมาธิวิปัสสนาและเจริญกรรมฐานอย่างเคร่งครัด จึงหัดให้หลวงจีนเริ่มฝึกฝนร่างกายให้แข็งแกร่งควบคู่กับการปฏิบัติธรรม การฝึกสอนวิทยายุทธและกังฟูของตั๊กม้อ ได้รับการพัฒนาจนกลายเป็นที่มาของวิทยายุทธเส้าหลินที่สง่างามและทรงพลังเช่น หมัดเส้าหลิน หรือเพลงหมัดเส้าหลิน รวมทั้งหมด 18 กระบวนท่า อีกทั้งเป็นการปฏิรูปวิทยายุทธครั้งสำคัญเช่น การขยายท่าฝ่ามืออรหันต์จาก 18 ท่า เป็น 72 ท่า โดยเล็งเห็นว่าวิชากังฟูเส้าหลิน ควรได้รับการถ่ายทอดให้ขยายออกไป เช่นเดียวกับนิกายเซนที่ตั๊กม้อได้เดินทางมาเผยแผ่

เจตนารมณ์ของตั๊กม้อประสบความสำเร็จอย่างใหญ่หลวง ศิษย์ของตั๊กม้อเมื่อลาสิกขาออกไปจากวัดเส้าหลินแล้ว ส่วนใหญ่กลายเป็นวีรบุรุษของชาวจีนที่รู้จักกันเป็นอย่างดีเช่น งักฮุย แม้ในประเทศจีนจะมีวัดนิกายต่าง ๆ อยู่เป็นจำนวนมาก แต่เนื่องจากความเก่าแก่ประกอบกับชื่อเสียงอันโด่งดัง เลื่องลือกล่าวขานในด้านวิชากังฟูของเส้าหลิน เป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้หลวงจีนหลาย ๆ องค์ นิยมเดินทางมาบวชเรียนเพื่อศึกษาธรรมะ กระบวนท่าวิทยายุทธและกังฟู ทำให้ชาวจีนจำนวนมากเริ่มเดินทางมาวัดเส้าหลินเพื่อฝึกฝนวิชากังฟูของตั๊กม้อ จนได้รับความนิยมอย่างมากในเวลาอันรวดเร็ว และกลายเป็นมหาอำนาจกำลังภายในของจีนมากกว่าพันปี รวมทั้งยังเกิดสาขาของวัดเส้าหลินอีกนับสิบแห่งทั่วทุกมุมของโลก

ตามตำนานจีนโบราณ ศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลิน มีต้นกำเนิดจากการที่หลวงจีนใช้วิชากังฟู ฝึกฝนร่างกายและออกกำลังกาย เพื่อเป็นการขจัดความเมื่อยล้าจากการนั่งสมาธิวิปัสนากรรมฐานเป็นเวลานาน ต่อมาได้มีการพัฒนาจนกลายเป็นรูปแบบที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของวัดเส้าหลิน ชาวจีนเชื่อกันว่าผู้ที่คิดค้นสุดยอดวิชากังฟูคือตั๊กม้อ จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์ตามบันทึกบน "ถังไท่จงชื่อเส้าหลินซื่อจู่เจี้ยวเปย" แท่นหินสลักคำสอนหลักของวัดเส้าหลินระบุว่า หลวงจีน 13 องค์ ได้เข้าช่วยเหลือจักรพรรดิถังไท่จง หรือหลี่ซื่อหมินแห่งราชวงศ์ถัง ในระหว่างปี พ.ศ. 1161 - พ.ศ. 1450 ฝ่าวงล้อมในระหว่างการสู้รบกับทหารของราชวงศ์สุยตอนปลายจนได้รับชัยชนะ

ต่อมาถังไท่จงได้ทรงแต่งตั้งให้เฟิงถันจง หนึ่งในหลวงจีนที่ร่วมในการสู้รบให้ดำรงตำแหน่งเป็นแม่ทัพ พร้อมกับพระราชทานแท่นปักธงคู่และสิงโตหิน ซึ่งตั้งอยู่บริเวณอารามหน้าวัดเส้าหลินจนกระทั่งถึงปัจจุบัน รวมทั้งได้ทรงอนุญาตให้หลวงจีนเข้าร่วมฝึกซ้อมแบบทหารร่วมกับกองกำลังทหารในราชสำนัก รวมทั้งให้หลวงจีนสามารถฆ่าสัตว์ตัดชีวิต และสามารถฉันเนื้อสัตว์ได้ จากการสนับสนุนในด้านต่าง ๆ จากทางราชสำนัก ทำให้วัดเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างรวดเร็ว จนเป็นที่รู้จักทั้งในประเทศจีนและต่างประเทศในสมัยซ่งหรือซ้อง

ในปี พ.ศ. 1503 - พ.ศ. 1822 วิชากังฟูเส้าหลินได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องจนถึงขีดสุด จนถึงสมัยราชวงศ์ชิง ในปี พ.ศ. 2159 - พ.ศ. 2454 และในปี พ.ศ. 2270 หลังการขึ้นครองราชย์ของจักรพรรดิหย่งเจิ้งแห่งราชวงศ์ชิงได้ประมาณ 5 ปี จากเหตุผลทางด้านการเมือง ราชสำนักได้เข้ามามีส่วนสำคัญในการลดบทบาทของวัดเส้าหลินลง แม้ว่าหลวงจีนจะถูกห้ามไม่ให้ฝึกกังฟู แต่ยังคงมีการลักลอบแอบฝึกกังฟูกันอย่างลับ ๆ ทั้งในบริเวณวัดและตามสถานที่ต่าง ๆ ทำให้วิชากังฟูเส้าหลินไม่สูญหายไปตามกาลเวลา และได้รับการสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน

วัดเส้าหลินดั้งเดิมนั้นถูกจักรพรรดิหยงเจิ้ง ส่งกองทัพมากวาดล้างและเผาทำลาย แต่ถึงอย่างไรก็ตามกังฟูที่มีรากฐานมาจากวัดเส้าหลินแห่งแรกในเทือกเขาซงซาน มณฑลเหอหนาน ได้แพร่กระจายไปทั่วประเทศจีนและทั่วทุกแห่งในโลก ในส่วนที่ถูกเผาทำลาย ปัจจุบันมีการทำนุบำรุงบูรณะหลายต่อหลายครั้ง ตลอดระยะเวลา 1,500 ปี วัดเส้าหลินการถูกเผาครั้งยิ่งใหญ่จำนวน 3 ครั้งด้วยกัน และตั้งแต่ใน ปี พ.ศ. 2000 มีการปรับปรุงครั้งยิ่งใหญ่ รื้อบริเวณรอบ ๆ ที่ถูกไฟเผาไหม้ ปลูกต้นไม้ มีการสร้างอารามต่าง ๆ ขึ้นใหม่อีกครั้งอย่างสวยงามในปี พ.ศ. 2400

ปัจจุบันในประเทศจีนมีวัดเส้าหลินทั้งหมดสามแห่งแห่งแรกตั้งอยู่บนเทือกเขาซงซาน มณฑลเหอนาน ซึ่งเป็นต้นกำเนิดพุทธศาสนานิกายเซนและกังฟูเส้าหลิน แห่งที่สองตั้งอยู่ที่เทือกเขาผานซานสร้างขึ้นในสมัยราชวงศ์หงวน และแห่งที่สามตั้งอยู่ที่เทือกเขาจิ่วเหลียนซานมณฑลฮกเกี้ยน เรียก "สำนักเสี้ยวลิ้มใต้" คู่กับ "สำนักเสี้ยวลิ้มเหนือ" ที่เทือกเขาซงซาน สำนักใหญ่ของวัดเส้าหลิน แบ่งออกเป็น 2 สายหลัก ๆ คือสายพระบู๊ซึ่งเป็นสายของการการสืบทอดศิลปะการต่อสู้และกังฟูเส้าหลินของตั๊กม้อและสายพระวินัยซึ่งเป็นสายที่เน้นการปฏิบัติธรรมตามคำสอนของพุทธศาสนาเป็นสำคัญ

สวนเซ็นญี่ปุ่น

สวนหินญี่ปุ่น หรือรู้จักกันทั่วไปในนาม เซนการ์เดน คือสวนพื้นภูมิแห้งแล้งนั้นจัดเป็นชนิดของสวนเซนญี่ปุ่นที่ได้รับอิทธิผลจากนิกายเซนในพุทธศาสนาของญี่ปุ่น และสามารถหาชมได้ตามวัดเซนแห่งการฝึกสมาธิ

สวนที่ดูธรรมดาเหมือนไม่ได้มีความหมายอะไร แต่แท้จริงแล้ว ในทางพุทธศาสนานิกายเซนของญี่ปุ่นนั้น สวนแต่ละสวนซ่อนความหมายเชิงปรัชญาในการดำรงชีวิตไว้มากมาย ซึ่งการจัดสวนแบบที่เรียกว่า ‘Karesansui’ หรือ แปลเป็นไทยได้ความว่า ‘สวนแบบแห้ง’ ซึ่งก็เป็นการจัดภูมิทัศน์ตามธรรมชาติ และแฝงไปด้วยปรัชญาในนิกายเซน

สวนเหมือนกัน ก้อนหินก้อนเดียวกัน แต่คนเราอาจจะเห็นได้ไม่เหมือนกัน บางคนอาจจินตนาการไปว่า เป็นก้อนเมฆ บางคนก็ว่าเหมือนเกาะร้าง กลางทะเล บ้างว่า มันก็เป็นเพียงหินธรรมดาๆ ก้อนหนึ่ง แต่ไม่ว่าจะเห็นเป็นอะไร ก็เห็นได้ว่า จิตเรานั้นสามารถปรุงแต่งได้มากมายจากหินก้อนเดียว เช่นเดียวกันกับเหตุการณ์ หรือสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตเรา เมื่อเข้ามากระทบกับเรา เราก็ปรุงแต่งมากมาย ปรุงแต่งด้วยสัมมาทิฐิก็ดีไป แต่เมื่อปรุงแต่งด้วยอวิชชา ก็ยิ่งทำให้การรับรู้นั้นยุ่งเหยิง มีแต่ทุกข์

บางครั้งการนั่งมองสวนเซนก็เพียงพอแล้วกับการที่จะฝึกจิตของเราให้นิ่ง เฝ้าระวังจิตของเรา ไม่ให้ไปปรุงแต่งอะไรมากมาย ไม่ให้จิตเราท่องเที่ยวไปไหนต่อไหน ให้อยู่กับก้อนหินและสวนตรงหน้า แน่นอนว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะลักษณะจิตที่ไม่ได้ฝึกมักจะเต็มไปด้วยความวุ่นวาย เช่น นั่งอยู่ที่ทำงาน แต่จิตเราดันคิดไปถึงวันพักร้อนเดือนหน้า หรือไม่ก็คิดไปว่าเย็นนี้จะกินอะไร หรือเมื่อไหร่จะถึงเวลากลับบ้าน มีครั้งใดบ้างที่ใจเราจดจ่ออยู่เพียงสิ่งที่อยู่ตรงหน้า

ในอดีตสวนเซนนั้นก็ใช้ในการฝึกเหล่าบรรดานักรบซามูไร ให้มีสมาธิ ผ่านการพิจารณาสวนเซน แต่ปัจจุบันสวนเซนเหล่านี้ก็กลายเป็นที่ดึงดูดใจของเหล่าบรรดานักท่องเที่ยว แม้เพียงได้เข้ามาชมเพียงไม่กี่นาที แต่หากมองเห็นสิ่งที่ปรัชญาแห่งเซนซ่อนไว้ ก็นับได้ว่าเป็นผู้เห็นธรรม

มนุษย์เรามักจะหลงอยู่ในภาพลวงตา และมายาภาพมากกว่าจะมองทะลุเข้าไปสู่ความจริง บ่อยครั้งเราจึงโดนสิ่งที่เราเห็นลวงตาลวงใจเรา เพราะไปทึกทักเอาว่าเป็นของจริง และนำเราไปสู่การตัดสินใจที่ผิดพลาด เพราะเราเชื่อในสิ่งที่เห็น ยกตัวอย่างง่ายๆ คนธรรมดาอย่างเราๆ เวลาเห็นสิ่งหนึ่งสิ่งใด ก็รีบร้อนที่จะแยกแยะ ตีความไปตามการรับรู้ของเรา แล้วการรับรู้ของเรามาจากไหน ก็มาจากการที่เราถูกป้อนความรู้นั้นๆ ใส่ไว้ในหัวเรา ตั้งแต่เกิดจนเติบโตขึ้นมา ดังนั้น เราจึงมิอาจเห็นความจริงได้โดยปราศจากการกระบวนการตีความ และการรับรู้ดั้งเดิมของเรา ซึ่งกระบวนการตีความ และการเอาความรู้ของเราไปจับนี้เอง มีส่วนทำให้เราบิดเบือนสิ่งที่เราเห็นอย่างบิดเบี้ยวไปจากภาวะที่แท้จริงของมัน

วัดในนิกายเซนที่เกียวโตมีมากมายหลายวัดที่มีชื่อเสียงเรื่องการจัดสวนแบบเซน ปัจจุบันนักท่องเที่ยวสามารถไปเที่ยวชมได้ เช่น วัดเรียวอันจิ(พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเคยเสด็จเยือนวัดนี้เมื่อปีพ.ศ.2506) ขึ้นชื่อเรื่องการจัดสวนหิน

ในสวนของวัดเรียวอันจิ มีการจัดวางก้อนหินทั้งหมด 15 ก้อน แต่มีเพียง 14 ก้อนเท่านั้นที่สามารถมองเห็น นี้เองที่สะท้อนว่า แท้จริงแล้ว มีหินอยู่กี่ก้อน และกี่ครั้งกี่หนที่เราถูกหลอกโดยการมองเห็น และการรับรู้ของเรา สวนนี้พยายามที่จะสอนให้เห็นถึงสถานการณ์จริงในชีวิต ว่าเราไม่สามารถจะเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตลอดเวลา แต่จิตที่มีการฝึก และจิตที่เป็นสมาธิสามารถจะรับรู้และเห็นความจริงแท้ได้ เพราะจิตที่ฝึกมาแล้วจะละการปรุงแต่ง ดังนั้นเมื่อไม่มีการปรุงแต่ง ไม่ว่าจะเป็นรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ต่างๆ ก็จะไม่เกิดภาพลวงตา หรือหากมีภาพลวงตา ก็สามารถที่จะก้าวข้ามภาพลวงตาไปสู่ความจริงแท้ได้ด้วย ‘พุทธิปัญญา’ เมื่อนั้นทุกข์ก็ไม่ทุกข์ สุขก็ไม่ทุกข์

นอกจากนั้นสวนเซน ยังสอนให้เห็นถึงกฎของเหตุและผล น้ำที่หยดลงในอ่างหินก็เพื่อจะให้เห็นว่า แต่ละหยดน้ำนั้น สามารถทำให้เกิดเป็นมหาสมุทรได้ เช่นเดียวกันกับการกระทำแม้เพียงเล็กน้อยของเรานั้นก็เป็นเหตุให้เกิดผลมากมายตามมาได้เช่นกัน

ดังนั้น หากเราหมั่นเติมธรรมะลงไปในจิตใจของเรา ความขุ่นข้องหมองใจต่างๆ ก็จะเลือนไป นานวันเข้า จิตใจของเราก็จะใส สะอาด สว่าง และสงบขึ้นเอง

สวนโมกขพลาราม

ท่านพุทธทาสภิกขุจากกรุงเทพฯ กลับมายังพุมเรียงเมื่อปลายปี พ.ศ. 2474 โดยใช้วัดพุมเรียงเป็นที่อาศัยชั่วคราว ขณะเดียวกันก็เริ่มเสาะหาสถานที่เหมาะสมในการจะสร้างสถานปฏิบัติธรรม จนในที่สุดก็พบวัดตระพังจิต ซึ่งเป็นวัดร้าง และมีป่ารก ท่านพุทธทาสภิกขุเขียนถึงเรื่องการสร้างสถานปฏิบัติธรรม และเล่าถึงสภาพวัดตระพังจิตเอาไว้ว่า

ในปลายปี พ.ศ. 2474 ระหว่างที่ฉันยังศึกษาอยู่ในกรุงเทพฯ ได้มีการติดต่อกับ นายธรรมทาส พานิช โดยทางจดหมายอยู่เสมอ ในเรื่องเกี่ยวกับการจัดการส่งเสริมปฏิบัติธรรม ตามความสามารถ ในที่สุดในตอนจะสิ้นปีนั่นเอง เราได้ตกลงกันถึงเรื่องจะจัดสร้างสถานที่ส่งเสริมปฏิบัติธรรมโดยเฉพาะขึ้นสักแห่งหนึ่ง เพื่อความสะดวกแก่ภิกษุสามเณรผู้ใคร่ในทางนี้ ซึ่งรวมทั้งตัวเองด้วย โดยหวังไปถึงว่า ข้อนั้นจะเป็นการช่วยกันส่งเสริมความรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา ในยุคซึ่งเราสมมติกันว่า เป็นกึ่งพุทธกาลส่วนหนึ่งด้วย เมื่อไม่มีที่ใดที่เหมาะสำหรับพวกเราจะจัดทำยิ่งไปกว่าที่ไชยา เราก็ตกลงกันว่า จำเป็นที่เราจะต้องจัดสร้างที่นี่

เมื่อลงมาแล้วก็เริ่มหาที่ที่เหมาะสม โดยมีคณะอุบาสกธรรมทาน 4-5 คน เป็นคนออกไปสำรวจ ไม่นานนัก สักเดือนกว่าๆ จึงตกลงกันว่าจะใช้วัดร้างชื่อวัดตระพังจิก เป็นวัดที่ผมไม่เคยรู้ด้วยซ้ำไป พวกนายเที่ยง นายกวย พวกนี้เขารู้มาอย่างไรก็ไม่ทราบ แล้วก็แนะกันไปดู ไปดูครั้งเดียวเห็นว่าพอใช้ได้ก็เอาเลย ต่อจากนั้นเขาก็ไปทำที่พักให้ง่ายๆ หลังพระพุทธรูป

มันก็ไม่มีเรื่องอะไรนัก เป็นวัดร้างมานาน เป็นป่ารก ครึ้มไปหมด เป็นที่ ๆ ชาวบ้านเขาชอบไปเขี่ยเห็ดเผาะ เขาใช้เหล็กอันเล็ก ๆ เขี่ยดินหาเห็ดเผาะ แถวนั้นมันมีมาก ผู้หญิงจะไปหาเห็ดเผาะ ผู้ชายจะไปหาเห็ดโคน พวกชอบกินหมูป่าก็จะไปล่าหมูป่าที่แถวนั้น และเป็นที่กลัวผีของเด็ก ๆ พวกผู้หญิงที่ไม่มีลูก ก็ไปบนบานขอลูกกับพระพุทธรูปในโบสถ์ร้างที่เขาถือกันว่าศักดิ์สิทธิ์ในทางนั้น ในสระก็ว่ามีผีดุ มีผีอยู่ในสระ มีไม้หลักที่เรียกว่าเสาประโคนปักอยู่กลางสระ

ท่านพุทธทาสภิกขุย้ายเข้าอยู่วัดตระพังจิตเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม พ.ศ. 2475 ซึ่งเป็นวันวิสาขบูชา (ก่อนการเปลี่ยนระบอบการปกครองประมาณ 1 เดือน) ที่วัดตระพังจิก ท่านพุทธทาสภิกขุพบว่ามีต้นโมกและต้นพลาขึ้นอยู่ทั่วไป ซึ่งพ้องกับคำในภาษาบาลีคือ โมกข แปลว่าความหลุดพ้น และ พลา แปลว่ากำลัง ท่านพุทธทาสภิกขุจึงนำสองคำนี้มาต่อกัน และใช้ตั้งชื่อสถานปฏิบัติธรรมแห่งนี้ว่า สวนโมกขพลาราม ซึ่งแปลว่า สวนป่าอันเป็นกำลังแห่งความหลุดพ้น

การดำเนินชีวิตในสวนโมกขพลาราม ท่านพุทธทาสภิกขุยึดคติที่ว่า เป็นอยู่อย่างต่ำ มุ่งกระทำอย่างสูง โดยชีวิตประจำวันของท่านพุทธทาสภิกขุนั้นเป็นไปอย่างสันโดษและสมถะ สำหรับวัตถุสิ่งของภายนอก ท่านพุทธทาสภิกขุจะพึ่งพาก็แต่เพียงวัตถุสิ่งของที่ทำให้ชีวิตดำรงอยู่ต่อไปได้ และวัตถุสิ่งของที่จำเป็นในการเผยแพร่ธรรมะเท่านั้น โดยไม่พึ่งพาวัตถุสิ่งของฟุ้งเฟ้ออื่นใดที่เกินจำเป็นเลย เรียกได้ว่ามีความเป็นอยู่อย่างต่ำที่สุด หากแต่การกระทำในความเป็นอยู่นั้นเป็นการกระทำอย่างสูงที่สุด นั่นคือเป็นการกระทำเพื่อศึกษา ปฏิบัติ และเผยแพร่พระพุทธศาสนา การศึกษาและปฏิบัตินั้นเป็นการกระทำอันนำไปสู่มรรคผล และแม้กระทั่งนิพพาน ซึ่งเป็นอุดมคติที่สูงที่สุดที่ชีวิตมนุษย์ควรจะบรรลุถึง ส่วนการเผยแพร่นั้นเป็นการกระทำเพื่อนำกระแสธรรมอันบริสุทธิ์ให้อาบหลั่งไหลรินรดคนทั้งโลก และทุกโลก เป็นการชี้ทางสว่างให้เพื่อนมนุษย์ ที่เป็นเพื่อนทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ให้บรรลุถึงอุดมคติที่สูงที่สุดของชีวิตมนุษย์ไปด้วยกัน หรืออย่างน้อย ก็จะทำให้มนุษย์เรานั้นได้ลดการเบียดเบียนตนเอง และลดการทำร้ายผู้อื่น อันจะก่อให้เกิดทั้งสันติสุขและสันติภาพ ซึ่งเป็นสิ่งที่ทั้งตัวมนุษย์และโลกมนุษย์ปรารถนา

นอกจากนี้ ในปี พ.ศ. 2476 ท่านพุทธทาสยังได้เริ่มจัดทำหนังสือพิมพ์พุทธสาสนา (ซึ่งเป็นหนังสือพิมพ์เผยแพร่หลักธรรมรายตรีมาศ) ด้วยเช่นกัน

ความมุ่งหมายของสวนโมกข์

เรามีสวนโมกข์ไว้เพื่อให้เพื่อนมนุษย์ได้รู้จักสิ่งที่เรียกว่า ธรรม ในลักษณะที่สำคัญที่ลึกลงไปเข้าไปถึงตังจริง หรือถึงความสมบูรณ์ แล้วมนุษย์ก็จะหมดปัญหา ปัญหาทั้งหมดเลิกล้างไปด้วยคำว่า ธรรม เพียงคำเดียว เพราะมันทำให้มนุษย์เป็นคนเดียวกันหมดไป คือ ธรรม เมือไม่มีตังตน ไม่มี Self ไม่มีตัวตนมันก็ไม่มีกู ไม่มีสู ไม่มีเรามีเขา มันก็จะรบกันอย่างไรได้ เมื่อมันไม่มีเรามีเขา มันจะรบกันได้อย่างไรได้ นี้ความวิเศษสูงสุดของสิ่งที่เรียกว่า ธรรม เพื่อให้มนุษย์หลุดพ้น

ดำเนินชีวิตตามแบบพุทธเจ้า

ที่นี้ ถ้าจะเลือกคำว่า “สวนโมกขพลาราม” มาเป็นข้อคิด คำนี้จะแปลว่า อารามที่เป็นกำลังหลุดของความหลุดรอด แต่ที่สวนโมกขพลารามจะจำลองบรรยากาศอย่างเดียวกันครั้งพุทธกาล หมายความว่า ต้องการเป็นอยู่ตามแบบของพุทธเจ้าในครั้งพุทธกาล เรียกสั้นว่า “เป็นอยู่อย่างต่ำ แต่มีการกระทำที่อย่าสูงสุด ดังเช่น พระเณรที่สวนโมกข์นี้ ให้เถือคำขวัญว่า

“ฉันข้าวจานแมว” “อาบน้ำที่คู” “เป็นอยู่เหมือนกะตายแล้ว” หมายความว่า การฉันแบบรวมทุกอย่างที่รับประทานได้ อาบน้ำตาม ลำธาร คูคลอง แล้วอยู่อย่างเหมือนเราตายไปแล้ว การอยู่การกินตามแบบพระพุทธเจ้า เช่น การไม่นอนการมุ้ง เป็นต้น

ดำเนินชีวิตใกล้ชิดธรรมชาติ

เดี๋ยวท่านทั้งหลายก็มาทีสวนโมกข์ ฉะนั้น ขอให้รู้จักกันคำว่าสวนโมกข์ คือที่เห็นๆอยู่นี้ ในทางรูปธรรมฝ่ายวัตถุ มันแสดงอยู่ด้วย ต้นไม้ ก้อนหิน แผ่นดิน ในสภาพตามธรรมชาติอันปรกติ เพราะว่าพระพุทธเจ้าท่านอยู่มีชีวิตอยู่ ดำรงชีวิตแบบเป็นเกลอกับธรรมชาติ นี้เรื่อยๆไป เพราะนึกเสนอกว่า พระเจ้าประสูติกลางดิน ท่านตรัสรู้ที่ดิน แล้วท่านปรินิพานก็กลางดิน ทุกอย่างของท่านเกี่ยวกับธรรมชาติทั้งหมด การที่เป็นอย่างเป็นเกลอธรรมชาติ ช่วยให้รู้ธรรมชาติ เข้าถึงธรรมชาติอย่างเดียวกันที่พระพุทธเจ้าท่าน ท่ารู้สึก ท่านตรัสรู้ แล้วก็สอนพวกเรา แล้วให้เข้าถึงพระธรรมง่ายขึ้น





แก้ปัญหาจิตวิญญาณ

ที่สวนโมกข์นี้ มุ่งหมายจะแก้ หัวใจ คือเรื่องทางจิตทางวิญญาณ โดยใช่อุบายให้คนคิด เช่น มะพร้าวนาฬิเกร์ ที่ว่า “มะพร้าวนาฬิเกร์ ต้นเดียวโนเน กลางทะเลขี้ผึ้ง ฝนตกไม่ต้อง ฟ้าร้องก็ไม่ถึง กลางทะเลขี้ผึง ถึงได้แต่ผู้พ้นบุญ” เปรียบเหมือนการพ้นทุกข์ไปแล้ว ข้ามวัฎฎสงสารไปแล้ว ต้นมะพร้าวเหมือน นิพพาน น้ำ หมายถึง วัฏฏสงสาร

วัดถ้ำเขาน้อย และวัดมังกรบุปผาราม

สมัยรัชกาลที่ 5 มีพระอาจารย์เซ็นมาจากเมืองจีน 3 องค์ ยังค้นชื่อที่แน่ชัดไม่พบ แต่พอจะได้หลักฐานเค้ามูลบ้างแล้ว พวกนี้มาถึงก็ปลงสังขารตกว่า ถ้าสอนได้ก็สอน สอนไม่ได้ก็เอาตัวรอดดับขันธ์ไป ไม่กลับเมืองจีน คนรุ่นเก่า ๆ บอกต่อ ๆ มาว่าอาจารย์ 3 องค์หายไปในเมืองไทยได้อย่างไร ในที่นี้จะขอพระเซ็นที่สำคัญ 2 องค์ด้วยกัน ดังนี้

1. รูปหนึ่งไปนั่งดับแห้งตายอยู่ในถ้ำเขาน้อย ท่าม่วง (กาญจนบุรี) ช่วงนั้นฝนไม่ตกมา 3 – 4 ปี ชาวบ้านหาว่าหลวงพ่อนั่งแห้งที่อยู่บนถ้ำ ทำให้ฝนไม่ตกแห้งแล้งไป จึงอัญเชิญมาเข้ากองฟืนซะ แต่ศพนั่งไม่เน่า เพราะเซ็นเก่งเรื่องนี้เขามีสูตรวิธีทำได้

2. หลวงพ่อพวงโพธิ์ อยู่ในถ้ำเมืองกาญจน์ พระยิ้งฮ้วง วัดมังกรบุปผาราม จันทบุรี ธุดงค์เข้าไปในแดนกะเหรื่ยง มีกะเหรี่ยงที่พูดภาษาไทยได้บอกว่า มีถ้ำแปลกเขาบอกว่าคนนั่งตายนอนตายตัวแห้งแข็ง พระท่านก็สงสัยว่าเป็นไปได้อย่างไรเข้าไปแล้วไม่ออก (เรื่องนี้ในฝ่ายเซ็นมีคำว่า “ป่าช้าเซ็น” เข้าไปแล้วไม่ออกหมายถึงตั้งใจเข้าไปตาย) ท่านก็เลยให้กะเหรี่ยงคนนั้นพาไป และถ่ายรูปหลวงพ่อโพธิ์ออกมาได้ ศพนั่งแห้งจนนึกว่าปั้นแทบไม่น่าเชื่อ เรื่องนี้ทำให้พอจับเค้าได้ว่า สมัยก่อน พระมหายานมาเมืองไทย ก็จะเข้าเมืองกาญจน์หมด

วัดถ้ำเขาน้อย

วัดถ้ำเขาน้อย เป็นอีกเก่าแก่อีกวัดหนึ่งในฝ่ายอนัมนิกาย ตั้งอยู่ ณ ตำบลม่วงชุม อำเภอท่าม่วง จังหวัดกาญจนบุรี ก่อตั้งมาเมื่อปี พ.ศ.2426 โดยมี พระหลวงปู่แห้ง (กั๊กเง้ง) เป็นพระจีนมาพำนักเป็นรูปแรก ต่อมายังมีพระจีนอีก 2 รูปมาปกครองดูแล จากนั้น พระอาจารย์เตี๊ยบถ่อ ซึ่งเป็นพระสงฆ์มหายาน ฝ่ายอนัมนิกาย (ญวน) มาบูรณะดูแลต่อจนเจริญรุ่งเรืองสวยงามมาจนถึงปัจจุบันเป็นเวลาร้อยกว่าปีมาแล้ว ภายในวัดประกอบไปด้วยวิหาร ด้านในมีรูปสมมุติขององค์พระโพธิสัตว์ที่มีร่างกายอ้วนท้วนสมบูรณ์ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส พระหัตถ์ขวาถือลูกประคำ ตามประวัติกล่าวว่า ท่านมีลักษณะเบิกบานใจเป็นสุขอยู่ตลอดเวลา ไปที่ใดจะมีย่ามใหญ่ติดไปด้วยบรรจุของเล่นมากมายสำหรับเด็กๆ จึงได้รับฉายาว่า “หลวงพ่อย่ามใหญ่” ทางด้านขวาและซ้ายมือของท่านจะเป็นที่ประดิษฐานรูปปั้น 18 อรหันต์ ซึ่งแต่ละองค์เป็นตัวแทนแห่งปริศนาธรรมตามตำนานของอนัมนิกายของจีนโบราณ ที่วิหารกลาง เป็นที่ประดิษฐานพระกวนอิมโพธิสัตว์ หรือพระอวโลกิเตศวรภาคหนึ่ง ที่เชื่อกันว่า เป็นพระผู้คอยสอดส่องสดับตรับฟังเสียงทุกข์ของสรรพสัตว์ เพื่อปลดเปลื้องให้พ้นทุกข์ ผู้มากราบไหว้ขอพรจากองค์กวนอิม มักได้สมปรารถนา ด้านหลังมีวิหารพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ตามแบบมหายาน ต่อไปเป็นพระพุทธบาทจำลอง จากนั้นขึ้นบันไดต่อไปชมพระเจดีย์คีรีบรมธาตุ “บ่วงฮุกถะ” แปลว่า เจดีย์หมื่นพระองค์ ด้านหน้าพระเจดีย์เป็นทิวทัศน์ของแม่น้ำแม่กลอง ด้านหลังพระเจดีย์ เป็นวิวทุ่งนา เขียวขจี ที่ผู้มาเยือนสามารถเพลิดเพลินกับทิวทัศน์รอบด้านที่งดงาม และเห็นสภาพความเป็นอยู่ของชาวม่วงชุม และเมืองท่าม่วงในแบบรอบทิศทาง หากขึ้นถึงเจดีย์ชั้น 7 เป็นที่ประดิษฐานขององค์พระบรมสารีริกธาตุ ซึ่งการได้กราบนมัสการถือเป็นมงคลชีวิตอย่างสูงสุด

วัดมังกรบุปผาราม

วัดมังกรบุปผาราม มีชื่อเรียกในภาษาจีนว่า เล่งฮั้วยี่ สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2520 มีพื้นที่จำนวน 8 ไร่เศษ เป็นวัดในพุทธศาสนา มหายานฝ่ายจีนนิกาย มีประวัติเกี่ยวข้องกับ พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ปฐมเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย เจ้าอาวาสวัดมังกรกมลาวาส (เล่งเน่ยยี่) กรุงเทพฯ และวัดจีนประชาสโมสร (เล่งฮกยี่) จังหวัดฉะเชิงเทรา ในแผ่นดินสมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง รัชกาลที่ 5 ท่านพระอาจารย์สกเห็งเป็นชาวมณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน ท่านได้ยินกิตติศัพท์ว่าประเทศไทยเป็นศูนย์กลางความเจริญรุ่งเรือง พระพุทธศาสนาจึงเดินทางเข้ามาเพื่อนมัสการปูชนียสถานในประเทศไทย เมื่อแรกที่ท่านเข้ามานั้นได้จำพรรษาอยู่ ณ วิหารพระกวนอิมข้างวัดกุศลสมาคร ชาวจีนในพระนครเห็นความเคร่งครัดในศิลาจารวัตรก็พากันเลื่อมใสจึงชวนกันเรี่ยไรเงินบูรณะเป็นอารามฝ่ายจีนนิกายชื่อ วัดย่งฮกยี่ ต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดเป็นภาษาไทยว่า “วัดบำเพ็ญจีนพรต” จึงเป็นวัดที่มีพระสงฆ์จีนจำพรรษาตั้งแต่นั้นมา เมื่อมีพระสงฆ์จีนมากขึ้น

ท่านพระอาจารย์สกเห็งเห็นว่า ควรจักขยับขยายวัดฝ่ายจีนนิกายให้กว้างออกไป ท่านได้เลือกชัยภูมิแห่งหนึ่งตรงบริเวณถนนเจริญกรุง เขตป้อมปราบฯ สร้างอารามใหญ่ขึ้น ทั้งนี้โดยพระบรมราชูปถัมภ์และการช่วยเหลือของพุทธบริษัทไทย-จีน ได้ชื่อทางภาษาจีนว่า “วัดเล่งเน่ยยี่” ต่อมาพระอาจารย์สกเห็งได้รับพระราชทานสมณศักดิ์ เป็น พระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร เจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย ซึ่งต่อมาได้รับพระราชทานนามวัดเป็นภาษาไทยว่าวัดมังกรกมลาวาส

ต่อมาพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) กับศิษย์ผู้หนึ่งชื่อ “พระกวยเล้ง” ได้ไปสร้างวัดเล่งฮกยี่ หรือ “วัดจีนประชาสโมสร” ที่จังหวัดฉะเชิงเทรา และท่านเตรียมจะสร้างวัดเล่งฮั้วยี่ หรือวัดมังกรบุปผาราม ที่จังหวัดจันทบุรี อีกแห่งหนึ่ง โดยท่านได้จาริกมาจำพรรษาที่นี่ตั้งแต่ราวปี พ.ศ. 2417

ซึ่งต่อมาพระอาจารย์จีนวังสสมาธิวัตร(สกเห็ง) ได้นำคณะพุทธศาสนิกชนชาวจีนเข้ารับเสด็จ และกราบทูลรายงานการก่อสร้างวัด เมื่อคราวพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 เสด็จพระราชดำเนินประพาสน้ำตกพลิ้ว ปีวอก พ.ศ. 2427 (มีปรากฏในจดหมายเหตุพระราชกิจรายวันภาค 24 พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินประพาสหัวเมืองฝั่งทะเลตะวันออก)



แต่ต่อมาท่านพระอาจารย์สกเห็ง เกิดอาพาธถึงแก่มรณภาพเสียก่อน จึงเหลือแต่มงคลนามสำนักแห่งนี้ ซึ่งท่านได้ตั้งชื่อภาษาจีนว่า เล่งฮั้วยี่ ศิษย์ของท่าน คือ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต (กวยล้ง) ได้ดำเนินการต่อ แต่ท่านพระอาจารย์กวยเล้ง ก็ได้มรณภาพลงเสียก่อน สำนักแห่งนี้จึงไม่สำเร็จตามโครงการที่วางไว้

หลังจากนั้นเป็นเวลา 80 ปีเศษ สำนักแห่งนี้รกร้างและมีหลักฐานเป็นที่ดินแปลงหนึ่งของธรณีสงฆ์ ตั้งอยู่บริเวณปากทางเข้าน้ำตกพลิ้ว ด้วยเหตุที่การคมนาคมไม่สะดวกเหมือนปัจจุบัน และยังชุกชุมด้วยไข้ป่า ทางราชการสมัยนั้น จึงได้ยกธรณีสงฆ์แห่งนี้ถวายวัดเขตต์นาบุญญาราม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ในสังกัดอนัมนิกายปกครองรักษาสืบต่อมาจนถึงปัจจุบันเหลือแต่มงคลนามของวัด

จนประมาณปี พ.ศ. 2508 ได้มีพระเจตชฎา ฉายาเย็นฮ้วง ศิษย์ของท่านพระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร(โพธิ์แจ้ง) อดีตเจ้าคณะใหญ่จีนนิกาย บังเกิดกุศลเจตนาที่จะสืบสานงานก่อสร้าง สำนักวัดมังกรบุปผาราม(เล่งฮั้วยี่) ให้สำเร็จตามเจตนารมณ์ของบูรพาจารย์ โดยท่านได้ปฏิบัติธรรมหาความวิเวกเดินตามแนวทางของท่านอาจารย์จีนนิกายในอดีต ณ บริเวณน้ำตกพลิ้ว อาศัยพุทธบารมีเป็นที่ตั้ง ด้วยความศรัทธามั่นคงของพุทธศาสนิกชนในจังหวัดในการนำของอุบาสก-อุบาสิกา ได้แก่ 1.อึ้งชุงฮ้อกอี 2.จีนล่งเส็งอี 3.บ้วนแซอี 4.นายสำรอง จิตตสงวน 5.นายซ้อน ริผล จึงได้รวบรวมปัจจัย ทั้งด้านทุนทรัพย์และวัสดุอุปกรณ์ก่อสร้างและแรงงานเพื่อพระพุทธศาสนาได้จัดหาที่ดินแปลงหนึ่ง เป็นสถานที่ก่อสร้างวัดที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลาย มีความยินดีได้ร่วมแรงร่วมใจปฏิสังขรณ์ก่อสร้างวัดมังกรบุปผารามขึ้นใหม่ แต่ต่อมาพระเย็นฮ้วง มรณภาพลงด้วยไข้มาเลเรีย เมื่อ พ.ศ. 2518 พระมหาคณาจารย์จีนธรรมสมาธิวัตร(โพธิ์แจ้ง) เจ้าคณะใหญ่จีนนิกายในครั้งนั้น จึงได้มีบัญชามอบภารกิจให้ หลวงจีนคณาณัติจีนพรต(เย็นบุญ) เจ้าอาวาสวัดทิพยวารีวิหาร ได้ดูแลนำพุทธศาสนิกชนร่วมสนับสนุนจนการก่อสร้างวัดได้สำเร็จลง

1 ความคิดเห็น: