วันพุธที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2557

สมาธิแบบประยุกต์

การตีความคำสอนเรื่องสมาธิแบบประยุกต์

การตีความคำสอนเรื่องสมาธิแบบประยุกต์
ได้จำแนกการปฏิบัติสมาธิด้วยแนวคำสอนแบบประยุกต์ไว้อีกกลุ่มหนึ่ง เพราะเห็นว่าผู้ปฏิบัติและสอนสมาธิแบบประยุกต์แต่ละกลุ่มนี้ มีการประยุกต์แนวการปฏิบัติแบบเก่ามาใช้จนเกิดการสังเคราะห์รูปแบบเป็นแนวใหม่ขึ้น ซึ่งมีลักษณะเด่นของแต่ละกลุ่ม จะขอยกมาอธิบายในรายละเอียดดังต่อไปนี้

๑. การปฏิบัติสมาธิแนวสันติอโศก
๒. การปฏิบัติสมาธิแนวอาจารย์พร รัตนสุวรรณ
๓. การปฏิบัติสมาธิแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ
๔. การปฏิบัติสมาธิแนวอาจารย์แนบ มหานีรานนท์
๕. การปฏิบัติสมาธิแนว ดร. สิริ กรินชัย




 ๑. การปฏิบัติสมาธิแนวสันติอโศก

                  ใน พ.ศ. ๒๕๑๙ ท่านเริ่มก่อตั้งพุทธสถานสันติอโศก แขวงคลองกุ่ม เขตบางกะปิ กรุงเทพมหานคร โดยในบริเวณที่พำนักทุกแห่งของพระชาวอโศก ร่มรื่นไปด้วยต้นไม้น้อยใหญ่ อาคารภายในพุทธสถานซึ่งประกอบด้วยด้วย ศาลา โบสถ์ และกุฏิ สร้างขึ้นอย่างเรียบง่าย สะอาด สอดคล้องกับการปฏิปทาของชาวอโศก คือ ประโยชน์สูง ประหยัดสุด และได้มีการขยายและต่อเติมอาคารทรงไทย ซึ่งเป็นที่ตั้งของสันติอโศกออกไป ให้เพียงพอกับงานเผยแพร่ธรรม ซึ่งขยายตัวอย่างรวดเร็ว ภายในพุทธสถานมีโรงพิมพ์ ห้องเรียงพิมพ์ ห้องล้างอัดขยายภาพ และผลิตอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ใช้สำหรับการเผยแพร่ธรรม

                 ต่อมาทางคณะสงฆ์มีคำสั่งให้พระรักษ์ โพธิรักขิโตกับพวกกลับมาจำพรรษาที่วัดหนองกระทุ่ม ทำให้ท่านประกาศลาออกจากมหาเถรสมาคมในที่ประชุมพระนวกะ ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๑๘ เป็นต้นมา และเมื่อวันที่ ๖ มิถุนายน ๒๕๓๒ คณะการกสงฆ์ก็ได้มีการกระทำประกาศนียกรรมให้พระโพธิรักษ์สละสมณะเพศภายใน ๗ วัน หลังจากวันประกาศ ซึ่งเป็นสาเหตุให้ท่านเปลี่ยนคำนำหน้านามของท่านและพระชาวอโศกเป็น “สมณะ”



                ๑. ทัศนะต่อการสอนสมาธิของสันติอโศก

การสอนสมาธิของสายสันติอโศก จะถือหลักอธิบายว่า “สมาธิ” เป็นการศึกษาต่อเนื่องจากศีล การที่จะมีสมาธิได้นั้นจะต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน การจะเป็นผู้มีสมาธิได้จะต้องเป็นผู้มีศีลที่สมบูรณ์ ทั้งนี้มีการอธิบายไว้ว่า

“การจะได้สภาพ “สมาธิ” คงจะต้องผ่านสภาวะของความมีศีลมาแล้วอย่างแน่นอนและจะต้องมีวิถีทางปฏิบัติที่มีเงื่อนไขขั้นตอนละเอียดลึกซึ้งมากกว่าขั้นตอนของศีลด้วย”

ศีลนี้เป็นส่วนหนึ่งของไตรสิกขา ซึ่งถือว่าเป็น “พหุลธัมมักถา” คือ เป็นคำสอนที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงบ่อยที่สุด เพราะเป็นข้อสรุปสาระสำคัญของการประพฤติปฏิบัติธรรม อาจกล่าวได้ว่า สาระสำคัญทั้งหมดของพระพุทธศาสนา รวมอยู่ในไตรสิกขา ๓ ซึ่งประกอบด้วย อธิศีล อธิจิต อธิปัญญา ไตรสิกขานี้มักเป็นที่นิยมเรียกกันโดยทั่วไปว่า ศีล สมาธิ ปัญญา

จากไตรสิกขานี้ จะเห็นได้ว่า ศีล เป็นเบื้องต้นและเป็นส่วนสำคัญมากส่วนหนึ่งของการปฏิบัติธรรมในพุทธศาสนา ในจูฑาเวทัสสูตรกล่าวว่า ศีลเป็นพื้นฐานแห่งสมาธิและปัญญา และในเสขปฏิปทาสูตร ซึ่งเป็นสูตรว่าด้วย จรณะ ๑๕ หมายถึง ข้อปฏิบัติที่เป็นทางบรรลุวิชชา หรือข้อปฏิบัติที่เป็นทางบรรลุนิพพาน ก็เริ่มต้นด้วยศีล เป็นอันดับแรกเช่นกัน

ศีลจึงเป็นพื้นฐานอันสำคัญของกระบวนการฝึกอบรม ซึ่งมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันกับสมาธิและปัญญาในไตรสิกขา ดังปรากฏในโกสัมพียสูตร มัชฌิมนิกาย มูลปัณณาสก์ ข้อ ๕๔๒ ดังนี้

“ดูกรภิกษุทั้งหลาย อีกข้อหนึ่งภิกษุมีศีลไม่ขาด ไม่เป็นช่อง ไม่ด่าง ไม่พร้อย เป็นไทย อันท่านผู้รู้สรรเสริญอันตัณหาทิธรรม ไม่ครอบงำ เป็นไปเพื่อสมาธิ (สมาธิสํวัตตนิกานิ) ถึงความเป็นผู้ มีศีลเสมอกันในศีล เช่นนั้นกับเพื่อนสหพรหมจารีทั้งหลาย ทั้งใน ที่แจ้งและในที่ลับอยู่...”

ดังนั้น ศีลจึงเป็นไปเพื่อสมาธิ หรือสมาธินั้นมาจากการปฏิบัติของตถาคศีล ศีลจึงเป็นตัวเหตุ เป็นตัวรู้หลักการ รู้องค์ประกอบในการปฏิบัติ รู้วิธีการปฏิบัติและลงมือปฏิบัติให้ถูกต้องตรงตามวิธีการ ส่วนสมาธินั้นเป็นตัวเกิด ตัวได้ ตัวเป็น เป็นผล เป็นความเป็นไปตามหลักการได้จริง ทั้งนี้โดยมีปัญหาเป็นตัวรู้เห็นรู้ผลที่เกิดจริง มีจริง เป็นได้จริงของตนๆ จึงพอสรุปได้ว่าวิธีการปฏิบัติธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะต้องมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

สันติอโศกมีทัศนะต่อการปฏิบัติสมาธิสายอื่นๆ ว่าเป็นสิ่งที่น่าสงสัย และค้านแย้ง เพราะสันติอโศก ถือว่าการนั่งหลับตาทำสมาธิหรือทำอื่นๆก็ดี มีส่วนเกี่ยวอย่างกับมรรคมีองค์ ๘ และผลของการเกี่ยวข้องนั้นจะทำให้เกิดสภาพของผู้ประเสริฐของพุทธได้ส่วนใดขั้นตอนใดและในลักษณะใด ดังที่ปรากฏความเห็นในกรณีต่อไปนี้

“แต่... เท่าที่พบเห็นอย่างแพร่หลาย วิถีทางปฏิบัติเพื่อความมีสมาธิ ทำด้วยการพิจารณาและมักจะมีอิริยาบถหนึ่ง... แท้จริงในอิริยาบถอื่น เช่น การยืน หรือการเดิน ก็มีได้ แต่...สภาพที่เห็นทั่วไปที่สะท้อนมาจาก “ผู้มีสมาธิ” ตามวิถีทางดังกล่าว ค่อนข้างจะ “ตลก” เพราะดูแล้วเหมือนตุ๊กตาล้มลุกบ้าง ตุ๊กตาไขลานบ้าง ...เมื่อมองโดยส่วนรวมแล้ว ไม่แน่ใจว่าลักษณะสมาธิที่เป็นผลมาจากสภาพเหล่านี้จะทำให้เกิดปัญญาได้ นี่หรือคือสภาพของผู้มีศีล มีสมาธิ ที่จะก้าวไปสู่ความมีปัญญา ซึ่งเป็นส่วนสูงสุดของไตรสิกขา ผู้ประเสริฐของพุทธ ควรจะมีสภาพน่าเลื่อมใสมากกว่านี้กระมัง ”

คำว่า “สมาธินั้น” เป็นสิ่งที่นำมากล่าวทั่วไปไม่ได้ เพราะถือว่าเป็นการอวดอุตริมนุสสธรรม ดังที่ท่านสมณะโพธิรักษ์อธิบายว่า

“... เนื่องจากเรื่อง ‘สมาธิ’ นี้ โดยเฉพาะความมี ‘สมาธิ’ ในทางพุทธศาสนา ถือว่าไม่ใช่ ‘สมาธิ’ พื้นๆ ธรรมดา อันใครๆ จะละลาบละล้วง พูดเดาเล่น ไม่ควรจะทำกันเล่นๆ เป็นของตลาดนั้นไม่ได้ เพราะมันคือ ‘อุตริมนุสสธรรม’ แท้ๆเทียว หมายความว่า เป็นความรู้และความจริงรู้แจ้งและถึงแท้ได้แล้ว จะต้องนับมนุษย์ผู้นั้นว่า เป็นผู้มีอันวิเศษ ”

                ๒.แนวการสอนวิธีการฝึกสมาธิของสำนักสันติอโศก

                การสอนสมาธิของสำนักสันติอโศกจะยึดตามแนวใน “มหาจัตตารีสกสูตร” พระสุตตันตปิฎก มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ซึ่งกล่าวว่า

“พระผู้มีพระภาคได้ตรัสดังนี้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราจักแสดงสัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบแก่เธอทั้งหลาย พวกเธอจะฟังสัมมาสมาธินั้น...

... สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุ มีองค์ประกอบ คือ สัมมาทิฏฐิ สัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ สัมมาอาชีวะ สัมมาวายามะ สัมมาสติ เป็นไฉน ดูกรภิกษุทั้งหลายความที่จิตมีอารมณ์เป็นหนึ่ง ประกอบแล้วด้วยองค์ ๗ เหล่านี้แล เรียกว่า สัมมาสมาธิของพระอริยะ อันมีเหตุบ้าง มีองค์ประกอบบ้าง”

สัมมาทิฏฐินั้นเป็นองค์ประธานของมรรคองค์อื่นๆ แล้วตามมาด้วยสัมมาสังกัปปะ สัมมาวาจา สัมมากัมมันตะ และสัมมาอาชีวะ โดยมีสัมมาวายามะ กัปสัมมาสติ ช่วยหนุนสัมมาทิฏฐิ ทั้งนี้องค์มรรคทุกองค์จะต้องมีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างมาก และมีระเบียบ มีบทบาทแต่ละองค์อย่างต่อเนื่อง เป็นเหตุเป็นผลซึ่งกันและ จนเกิดความเห็นแจ้ง เป็นสัมมาสมาธิเพื่อความความดับทุกข์อย่างแท้จริง

สำนักสันติอโศกเน้นด้วยว่า พระพุทธองค์ทรงยืนยันไว้ชัดเจนว่า “สัมมาสมาธิ” เป็นได้ในขณะที่ตื่นลืมตา มีความคิด มีกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม มีการงาน มีอาชีพ มีอิริยาบถ มีผัสสะ มิใช่ว่าจะต้องนั่งอยู่เฉยๆ เท่านั้น พูดไม่ได้ หรือทำการงานไม่ได้ หรือต้องอยู่ในป่าเท่านั้น จึงจะปฏิบัติสมาธิได้

นอกจากนี้ ยังมีการเน้นอีกด้วยว่า ในการสร้างให้เกิดสัมมาสมาธิซึ่งเป็นขั้นตอนสูงสุดตามแนวอธิบายของสำนักสันติอโศกนั้น ถือว่าต้องมีศีลเป็นพื้นฐาน ดังคำอธิบายตอนหนึ่งว่า

“การรอจังหวะ หรือการสร้างฐานรองรับสัมมาอริยมรรค 8 องค์ ถึงองค์สัมมาสมาธินี้ ต้องใช้ศีล เป็นเครื่องกำหนดขัดเกลาจิตให้เป็นสมาธิ”

          ๓. การตีความสมาธิ

สำนักสันติอโศกได้ตีความคำว่า “สมาธิ” ไว้ดังนี้

“สมาธิ” มาจากคำว่า สม + อธิ สม = การต่อเนื่อง การยืนยันตามนั้นเสมอ การทำอย่างนั้นไปอยู่เรื่อย อธิ = ยิ่ง ในที่นี้คือ การปรับจิตตามหลักการ (ศีล) อยู่รู้ตัวจริงนั้นๆ เห็นตัวจริงนั้นๆ อยู่ในปัจจุบันนั้นเอง (ปัญญา) ให้ดีขึ้นๆ

ทั้งนี้ การปฏิบัติศีล คือ การยืนยันศีลด้วยกาย วาจา ใจ ซึ่งต้องมีได้ เป็นได้ดังจิตใจ ทางสำนักสันติอโศกถือว่า เป็นการสร้างสมาธิจิต จนกระทั่งจิตหมดความยากลำบาก หมดความขัดข้อง จิตรู้สึกว่าง โล่ง เป็นปกติสมบูรณ์ตามหลักศีลข้อนั้น ทั้งนอกและใน ดังนั้น สมาธิจึงเป็นการ “ทำให้เกิดอธิศีล อธิจิต อธิปัญญาไปพร้อมๆกัน เป็นสภาพแท้ถาวร เรียกว่า การทำสมาธิ”

อธิปัญญานี้จะทำให้รู้ชัดแจ้งถึงความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันของสรรพสิ่งในโลก ที่เรียกว่า “อิทัปปัจจยตา” ซึ่งหมายความว่า เพราะมีสิ่งนี้จึงเกิดต่อไปเป็นสิ่งนั้น เพราะทำสิ่งนี้จึงสืบต่อไปเป็นสิ่งโน้น สืบต่อกันไปเรื่อยๆ เป็นเหตุ เป็นปัจจัยสืบต่อกันอย่างไม่รู้จบ ดังนั้นจึงเรียกว่า “อิทัปปัจจยตา”

การปฏิบัติสมาธิในสำนักสันติอโศก

จากการศึกษาแนวคำสอนและการสังเกตพบว่า สำนักสันติอโศกจะไม่นิยมการนั่งหลับตาทำสมาธิ หรือด้วยอิริยาบถดังที่สำนักอื่นๆ ได้กระทำแต่จะเน้นในการนำมาปฏิบัติ โดยเป็นไปในรูปแบบของการรักษาศีล ซึ่งจะมีการปฏิบัติละเอียด ลึกซึ้งลงไปจากศีล เป็นอธิศีล เป็นต้น และเพื่อให้ได้ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมเกี่ยวกับการปฏิบัติสมาธิในสำนักสันติอโศก ผู้วิจัยจึงได้เดินทางไปสัมภาษณ์สมณะและสิกขมาตบางรูป ดังมีรายละเอียดต่อไปนี้

สมณะกุสโล อายุ ๔๓ ปี จบการศึกษาชั้นประถมปีที่ ๔ จากโรงเรียนศรัสวัสดิ์ จังหวัดมหาสารคาม บวชเมื่อวันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๒๒ เหตุจูงใจที่มาบวชก็เพราะ ขณะนั้นท่านเป็นทหารเกณฑ์ และใน พ.ศ. ๒๕๒๒ ได้ฟังท่านโพธิรักษ์เทศน์ที่วัดมหาธาตุฯ ทำให้ได้ทราบสัจจะของชีวิต และท่านโพธิรักษ์ได้แสดงธรรมอย่างชัดเจน กล่าวถึงบาป อกุศล ยืนยันสิ่งที่ท่านมั่นใจในอาการสงบสำรวม ทำให้ท่านรู้สึกเลื่อมใส

หลังจากบวชในสำนักสันติอโศกแล้ว ก็คิดว่าชีวิตเปลี่ยนแปลงไปมาก ขณะนี้รู้สึกว่าสบายดี ไม่มีกิเลส เพราะหลักปฏิบัติสมาธิของสำนักสันติอโศกคือ การที่เราได้ลดกิเลศลง จิตที่มีสมาธิคือจิตที่ถูกนิวรณ์ (เครื่องขวางกั้นจิต) เราจะต้องหาว่าอะไรเป็นศัตรูของจิต ที่ทำให้จิตไม่ตั้งมั่น เราต้องพยายามรู้โทษร้ายของกิเลส เพราะกิเลสเข้ามาทำลายจิตที่ดีของเรา เราจึงต้องคิดในสิ่งที่เป็นกุศล

นอกจากนี้ ท่านเห็นว่าการปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนานั้น อาศัยผัสสะเป็นปัจจัย จึงเห็นว่า การทำสมาธิ สามารถทำในขณะลืมตาได้ ไม่ต้องหลับตาปฏิบัติเหมือนการปฏิบัติสมาธิสายอื่น และเราต้องมีสติ ต้องมีปัญญาที่จะทำให้เกิดการวาง คลาย หน่าย ถอน ให้ได้ จนกระทั่งจิตของเราสงบดังนั้น ถ้าเราอยากเห็นศาสนาว่ามีค่าอย่างไร ก็ต่อเมื่อเราได้ปฏิบัติจนคลายจากกิเลส ไม่เกิดกิเลสขึ้นในจิตของเรา เราจะได้เห็นโลกใหม่ ชีวิตใหม่ จิตของเราจะปลอดจากโลภะ โสะ โมหะ

สมณะถิระจิตโต อายุ ๓๙ ปี เป็นชาวกรุงเทพมหานคร สนใจศาสนามานานแล้ว เมื่อจบมัธยมศึกษาปีที่ ๕ ใน พ.ศ.๒๕๑๖ ก็ตัดสินใจมาที่สำนักสันติอโศก ปฏิบัติธรรมอยู่ ๒ ปี จึงบวชเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๘ ด้วยความเลื่อมใสในตัวท่านโพธิรักษ์ ซึ่งเป็นนักจัดรายการโทรทัศน์ที่มีชื่อเสียง แต่ก็สละความสุขสบายทางโลกออกบวช ท่านเห็นว่า ชีวิตเรานั้นจะดับทุกข์ได้ก็ต้องดับที่ต้นเหตุจึงจะเป็นการดับทุกข์ที่แท้จริง

หลักจากบวชแล้ว ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไป อารมณ์เอาแต่ใจตนก็ลดลง ชีวิตเปลี่ยนไปเป็นคนละคน จะทำอะไรก็จะดูว่าผิดศีล ๕ หรือไมซึ่งก่อนหน้านี้ จะทำตามความชอบ ไม่ชอบของตนเท่านั้น นอกจากนี้ยังหันมารับประทานมังสวิรัติ งดเว้นอาหารเนื้อสัตว์ทั้งหมด และถือศีลตลอดเวลาจิตใจลดความฟุ้งซ่านลง ลดการรับประทานอาหารลงมาเหลือ ๒ มื้อต่อวันและปฏิบัติสังวรศีล สำรวมอินทรีย์ หันมารับประทานอาหารมื้อเดียว การถือศีลทำให้เกิดความสงบและเกิดปัญญา เมื่อลดเลิกสิ่งที่คิดว่าจำเป็นในชีวิตซึ่งจริงๆ แล้วไม่จำเป็นก็ทำให้จิตสงบชีวิตมีความเรียบง่ายมากขึ้น

สำหรับหลักการปฏิบัติในสำนักสันติอโศกนั้น เน้นศีลเป็นหลักและสมาธิจะต้องประกอบไปด้วยมรรคองค์ ๘ โดยมีสัมมาทิฏฐิเป็นประธาน และศีลเป็นหลัก สมาธิของสำนักสันติอโศกจึงใช้ศีลกรองเหมือนกับน้ำที่มีตะกอนแล้วเรากรองฝุ่นละอองออกไป ฉะนั้นนอกจากนี้ยังต้องมีสัมมาวาจา สัมมากัมมันตะด้วย คือแม้ปฏิบัติสมาธิก็สามารถทำงานให้เกิดประโยชน์ได้ด้วย ดังที่พระพุทธเจ้าทรงสอนให้สาวกขวนขวายในประโยชน์ทั้งสองสถาน มีทั้งประโยชน์ตนและประโยชน์ท่านตลอดเวลา

เมื่อบุคคลใดมีสมาธิแก่กล้าก็จะดำรงอยู่ได้เหนือผัสสะต่างๆ ไม่ใช่หนีผัสสะต่างๆ จากการที่ท่านได้ทดลองปฏิบัติสมาธิแบบนี้ ก็มั่นใจว่านี้คือ สมาธิ ซึ่งถ้าเราปฏิบัติตามขั้นตอนก็จะเกิดผลขึ้น ทุกวันนี้ฉันมื้อเดียวมั่นใจว่าชีวิตคนเราอยู่ได้ นี่เป็นศีลประการหนึ่ง เมื่อมีศีลแล้วทำให้เกิดสมาธิแล้วก็ทำให้เกิดปัญญา ทำให้ดำรงอยู่ได้โดยไม่อาศัยวัตถุเป็นหลักค้ำประกันให้กับตนเอง อยู่ได้โดยสิ้นเปลืองน้อยที่สุด

สิกขมาตจินดา ตั้งเผ่า อายุ ๔๘ ปี ได้เริ่มเข้ามาที่แดนอโศกเมื่อวันที่ ๑๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗ ท่านจบการศึกษาวิทยาศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๗๘ โดยเริ่มเป็นปะ เมื่อวันที่ ๒ มีนาคม ๒๕๑๗ ได้เลื่อนเป็นกรัก เมื่อวันที่ ๒๗ พฤษภาคม ๒๕๑๗ และเลื่อนเป็นสิกขมาต เมื่อวันที่ ๑๕ พฤษภาคม ๒๕๑๘ สนใจศาสนาตั้งแต่เด็ก โดยมีจิตใจเลื่อมใสพระพุทธเจ้า ได้เริ่มการศึกษาศาสนาทั่วๆ ไปที่บ้านธรรมประสิทธ์ ข้างวัดปากน้ำภาษีเจริญ ฝึกปฏิบัติพิจารณาตนเอง

เมื่อศึกษาปริญญาตรีจบแล้ว ได้เข้างานที่สำนักงานพลังงานปรมานูเพื่อสันติ แล้วได้ทุน UNDP ไปสหรัฐอเมริกา ๑ ปี กลับมาใช้ทุน ๒ ปี แต่มาที่แดนอโศกแล้วเกิดความเลื่อมใส จึงใช้ทุนแล้วมาปฏิบัติธรรมที่แดนอโศก เหตุที่ตัดสินใจบวชก็เพราะไม่เห็นด้วยกับการใช้ชีวิตที่เป็นอยู่รอบด้านมีบทบาทซ้ำซาก เห็นว่าผู้หญิงน่าจะมีบทบาทเหนือชั้นกว่านี้มากกว่าการเกิด เรียนแต่งงาน มีลูก เลี้ยงลูก และตาย

วิธีการศึกษาธรรมของสิกขมาตจินดา เริ่มด้วยดุพฤติกรรมตนเองจริงๆ ระลึกย้อนว่าสภาพจิตใจของเราเป้นอย่างไร แล้วอบรมตัวเองให้ดำเนินชีวิตไปในทิศทางที่ถูกกต้อง ท่านจึงไม่สนใจการนั่งสมาธิแบบหลับตา ในตอนแรกที่ท่านเริ่มปฏิบัติธรรม และยังไม่รู้จักสำนักสมาธิแบบหลับตา ในตอนแรกที่ท่านเริ่มปฏิบัติธรรม และยังไม่รู้ยังไม่รู้จักสำนักสันติอโศก ได้อ่านหนังสือของท่านโพธิรักษ์เรื่องสายธารชีวิต ก็เกิดความเลื่อมใส จึงเริ่มต้นปฏิบัติโดยการเลิกกินเนื้อสัตว์ กินอาหารง่ายๆ ในระยะที่ยังไม่ได้ติดต่อกับสันติอโศก ท่านใช้วิธีนั่งสมาธิหลับตา แต่เมื่อมาที่สันติอโศกนี้แล้ว ก็ไม่ได้ทำวิธีนั้นอีก

สิกขมาจินดาพบว่า ชีวิตขณะนี้มีสติปัญญาแจ่มชัดกว่าเมื่อก่อนจิตใจปลอดโปร่งขึ้น เพราะท่านต้องศึกษาเรียนรู้วิถีชีวิตอีกแบบหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงใช้เพื่อความหลุดพ้น เป็นการฝึกจิตให้เคลื่อนที่ ด้วยการสังวรศีลไม่ให้บกพร่อง มีการพิจารณาระลึกรู้ พากเพียรในสิ่งที่เป็นกุศล ทั้งกายกรรมวจีกรรม และมโนกรรม

นายอุทัย สิทธินาวิน อายุ ๓๗ ปี จบการศึกษา เภสัชศาสตรบัณฑิต เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๔ เป็นชาวจังหวัดอุดรธานี เมื่อจบปริญญาตรีแล้วก็เป็นผู้แทนขายยา บริษัท เมอคชาฟ แอนด์โดม มีความสนใจศาสนาก่อนที่จะพบสันติอโศก เนื่องจากปัญหาทางบ้าน คือมีปัญหาความยากจน คิดว่าความยากจนคือความทุกข์ ทางแก้คือ ต้องขยันหมั่นเพียร มานะบากบั่นเพื่อให้จบการศึกษา จะได้มีงานทำ มีเงินใช้ แต่ปรากฏว่า เมื่อมีเงินใช้แล้วความทุกข์ทางกายหมดไป แต่ความทุกข์ทางใจยังมีเหลืออยู่

หลักจากนั้น ก็ลาออกจาก บริษัท เมอคซาฟแอนด์โดม ไปเป็นผุ้แทนขายเครื่องมือแพทย์อยู่ที่บริษัท แองโกลไทย ทำงานอยู่ประมาณ ๑ ปี ก็ย้ายไปทำงานที่บริษัทขายยาบีกริมแอนด์โก ระหว่างนั้นก็สะสมเงินทองได้เพียงพอที่จะเปิดร้านขายยาของตัวเอง และได้ทราบจากเพื่อนร่วมงานเรื่องเกี่ยวกับสันติอโศก เกิดความสนใจ โดยเฉพาะในประเด็นเกี่ยวกับสมาธิของสันติอโศกที่ว่า สมาธินั้นเกิดจากการที่เรามีศีลบริสุทธิ์ เมื่อมีสมาธิแล้ว จิตใจก็ตกตะกอน จะเห็นความใสของน้ำ จะพบสภาพนี้ในคนที่ “ถึง” แล้ว ไม่ใช่การนั่งหลับตาเพ่งอย่างใดอย่างหนึ่ง ซึ่งเรียกว่ากสิณอย่างเดียว การมีศีลเข้าสู่สมิพุทธ เป็นสมาธิที่ไม่แปรปรวน ไม่เปลี่ยนแปลง ไม่เสื่อม แตกต่างจาการนั่งสมาธิพุทโธ หรือเพ่งดวงแก้ว

เมื่อเดือนที่แล้ว จึงขายกิจการร้านขายต่อให้เพื่อนไป และตัดสินใจแน่วแน่แล้วว่าจะมาปฏิบัติธรรมที่สันติอโศก เมื่อได้มั่นใจว่าสมารถทำให้กิเลสเบาบางได้แล้ว ก็จะบวชเป็นสมณะต่อไป

                         ดังนั้นรูปแบบการปฏิบัติสมาธิของสำนักสันติอโศกแม้จะมีการสอนแต่จะกลมกลืนในการสอนเรื่องศีลในการศึกษาเรื่องการตีความสมาธิของสำนักนี้ จึงสามารถอธิบายคำสอนและแนวการปฏิบัติได้ดังที่กล่าวมาแล้ว

                      แนวการเผยแผ่และขยายคำสอนของสันติอโศกปัจจุบันไม่อยู่ในการปกครองของมหาเถรสมาคมโดยมีการนุ่งห่มที่แตกต่างจากพระภิกษุสงฆ์ทั่วไป ไม่โกนคิ้ว ฉันอาหารมังสวิรัติ ฉันอาหารมื้อเดียว และมีคำนำหน้านามผิดแผกออกไปจากพระสงฆ์ และแม่ชีทั่วไป แม้กระนั้นสำนักนี้ก็ได้มีสาขาและศิษยานุศิษย์มากมายทั่วไป ดังต่อไปนี้

๑. พุทธสถาน “สันติอโศก” ตำบลคลองกุ่ม อำเภอบางกะปิ จังหวัดกรุงเพทพมหานคร

๒. พุทธสถาน “ศีรษะอโศก”ตำบลกระแชงใหญ่ อำเภอกันทรลักษณ์ จังหวัดศรีสะเกษ

๓. พุทธสถาน “ สาลีอโศก” ตำบลโคกเดื่อ อำเภอไพศาลี จังหวัดนครสวรรค์

๔. พุทธสถาน “ปฐมอโศก” ตำบลพระประโทน อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม

*******************************************************************************

๒. การปฏิบัติสมาธิแนวอาจารย์พร รัตนสุวรรณ


อาจารย์พร รัตนสุวรรณ เกิดเมื่อวันที่ ๑๘ พฤษจิกายน ๒๔๖๑ ในตระกูลช่างทอง ณ ตำบลบ้านอก่ง อำเภอตรอน จังหวัดอุครดิตถ์ เป็นบุตรคนที่สองในสองในจำนวน ๕ คน ของนายบุนนาค และนางพิณ

นายบุนนาคนั้นมีอาชีพเป็นช่างทอง ประกอบอาชีพนี้มาตั้งแต่สมันปู่จนได้รับพระราชทานนามสกุลว่า “รัตนสุวรรณ” ต่อมาเปลี่ยนอาชีพมาทำการค้าขายข้าว เมื่อมีฐานะดีขึ้นจากการค้าข้าว จึงเปลี่ยนแปลงมาทำการค้าไม้ ล่องแพมาขายทางจังหวัดอ่างทอง อยุธยา จนมีฐานะดี เป็นคหบดีของจังหวัดและโดยเหตุที่ท่านสนใจพระพุทธศาสนามาก จึงได้สร้างศาลาธรรมใหญ่ที่สุดที่วัดบ้านเก่ง สร้างธรรมมาส บุษบก อาสนะ พรมปูพื้น ตะเกียงวอชิงตัน และข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ถวายวัด เมื่อว่างจากการงานชอบเข้าวัดฟังธรรม ทุกวันพระจะถือศีลอุโบสถ อาจารย์พรมักจะตามบิดาไปวัดด้วยเสมอ จนบิดาปรารภว่าโตขึ้นจะส่งไปเรียนนักธรรมที่กรุงเทพ

พ.ศ. ๒๔๗๑ เมื่ออาจารย์พรอายุได้ ๙ ขวบ บิดาเสียชีวิตและอีก ๒ ปีต่อมา มารดาของท่านก็เสียชีวิต ทรัพย์ที่มีอยู่ละลายหายสูญไปหมด เพราะท่านก็ยังเด็กอยู่ น้องๆ ก็ยังเล็ก ลุงกับอาที่มาช่วยเหลือดูแลกิจการค้าของบิดาไม่สามารถรักษาทรัพย์ไว้ได้ จนอาจารย์พรและน้องๆต้องอาศัยอยู่ที่วัดบ้านแก่ง ครั้นต่อมา พ.ศ. ๒๔๗๔ สามเณรอาทร อังสุธรรม เป็นญาติผู้ที่คนบ้านเดียวกัน มาศึกษาพระปริยัติธรรมบาลี อยู่ที่วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ ท่านพระจันทร์ กรุงเทพมหานคร เป็นปรียญธรรม ๔ ประโยค ได้กลับไปเยี่ยมบ้าน พบอาจารย์พรยากจนมาก เงินทองไม่มีจึงขอบริจาคเงินเป็นค่ารถจากญาติพี่น้องหลายคน เดินทางเข้ากรุงเทพมหานครพร้อมสามเณรอาทร อังสุธรรม และพักอยู่ที่วัดมหาธาตุ เมื่ออายุท่านครบ ๑๗ ปี ท่านได้บรรพชาเป็นสามเณร ณ วัดมหาธาตุ และใน พ.ศ. ๒๔๘๑ เมื่ออายุย่างเข้า ๒๑ ปี ท่านได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุ และขออนุญาตสมเด็จพระวันรัต พระอุปัชฌาย์ ไปปฏิบัติธรรมกับท่านพุททาส ที่วัดสวนโมกข์ ท่านศึกษาอยู่กับท่านพุทธทาสเป็นเวลา ๑ ปี

ต่อมา พ.ศ. ๒๔๘๔ อาจารย์พรลาท่านพุทธทาสกลับมาอยู่ที่วัดมหาธาตุ อีก เพราะเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย ท่านเป็นห่วงน้อง ๒ คน ซึ่งกำลังเรียนหนังสืออยู่ที่กรุงเทพ หลังจากนั้นท่านได้ใช้เวลาศึกษาค้นคว้าพระไตรปิฎก และปฏิบัติธรรมโดยตลอด

ใน พ.ศ. ๒๔๙๑ เจ้าชื่น เจ้าสุรินฉาย สิโรรส ได้นิมนต์อาจารย์พรให้ไปจำพรรษาที่วัดอุโมงค์ จังหวัดเชียงใหม่ โดยท่านได้ร่วมกับพระมหาเฉวียงมิตตศิริ เริ่มตั้งคณะพุทธนิคมเชียงใหม่ขึ้น มีผู้มาฟังอาจารย์พรสอนธรรมกันมากมาย จนทานทำงานคนเดียวไม่ไหว ท่านจึงมีจดหมายไปกราบเรียนท่านพุทธทาส ขอให้ท่านส่งพระภิกษุมาช่วย ท่านพุทธทาสได้แจ้งมาว่าจะส่งท่านปัญญานันทะภิกขุมา ท่านปัญญานั้นทะภิกขุ และอาจารย์พรเริ่มการสอนที่วัดอุโมงค์ด้วยกัน มีผู้มาฟังธรรมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ บางคืนนั้นได้มากกว่า ๒,ooo คน จนถึง ๕,ooo คนจะต้องก่อตั้งพุทธสถานเชียงใหม่ขึ้น เพื่อให้เป็นศูนย์กลางของการทำงานที่นี่ ต่อมาก็ได้มีพระภิกษุรูปอื่นๆ มารออยู่วัดอุโมงค์ร่วมด้วยอีกหลายรูป

เมื่ออาจารย์พร อายุได้ ๓๔ ปี ท่านเป็นวัณโรค จึงจำเป็นต้องลาสิขาบทรักษาตัวอยู่ที่เชียงใหม่และกรุงเทพ เป็นเวลาถึง ๒ ปี ท่านจึงหายเป็นปกติ ต่อมาใน พ.ศ. ๒๔๙๑ อาจารย์พรเดินทางกลับเชียงใหม่และได้เขียนหนังสือชื่อ พุทธวิทยา ซึ่งกล่าวถึงถึงทฤษฎีเกี่ยวกับกฎแห่งกรรม ปฏิจจสมุปาบท หรือปัจจยการ ให้เป็นหลักทางปัญญาแห่งชีวิตของมนุษย์

พ.ศ. ๒๔๙๘ มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัย เชิญอาจารย์พรสอนวิชาธรรมประยุกต์ ในคณะพุทธศาสตร์ ท่านจึงตัดสินใจเดินทางกลับกรุงเทพ ฯ นอกจากนี้ ท่านยังได้รับเชิญสอนพระพุทธศาสนาตามโรงเรียนต่าง ๆ กว่า ๑๐ โรง จึงทำให้ท่านเกิดความคิดตั้งโรงเรียนพุทธศาสนาวันอาทิตย์ขึ้นที่มหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยใน พ.ศ. ๒๕๐๒ ซึ่งก็ประสบผลสำเร็จเป็นอย่างมาก มีนักเรียนจากโรงเรียนต่าง ๆ มาเรียนกันมากมายและในปีเดียวกันนั้นเอง ท่านก็เริ่มจัดตั้งแผนกธรรมวิจัยขึ้นที่วัดมหาธาตุ ฯ มีวัตถุประสงค์เพื่อสอนธรรมะควบคู่กับการฝึกสมาธิให้กับประชาชนผู้สนใจทั่วไป

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านเริ่มเขียนหนังสือ คู่มือการฝึกอานาปานัสสติสมาธิ โดยค้นคว้า นั่งสมาธิ และสอนสมาธิให้กับคนกลุ่มหนึ่ง เพื่อใช้เป็นข้อพิสูจน์ในทางหลักวิชา และอาศัยข้อเท็จจริงเขียนหนังสือเล่มนี้ขึ้น และ พ.ศ. ๒๕๐๔ ท่านได้จัดตั้งสำนักค้นคว้าทางวิญญาณ และโรงพิมพ์วิญญาณขึ้น เพื่อออกหนังสือรายเดือนชื่อหนังสือวิญญาณ มีผลงานค้นคว้าปรากฏการณ์ทางวิญญาณของอาจารย์พรเอง และบุคคลอื่น ๆ ลงตีพิมพ์จนถึงปัจจุบันมาก กว่า ๘๐ เรื่อง

หลังจากก่อตั้งสำนักทางวิญญาณและโรงพิมพ์วิญญาณขึ้น มีผลงานเผยแพร่ออกสู่สาธารณชนทั่วไปอย่างสม่ำเสมอ ๑๒ ปีต่อมา อาจารย์พรเริ่มงานใหม่ คือการร่วมกับมหาจุฬาลงกรณ์ราชวิทยาลัยจัดตั้งศูนย์พัฒนาศาสนา โดยได้ไปพบสถานที่เหมาะสมคือที่แคมป์สน อำเภอหล่มสัก จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งเป็นสถานที่เงียบสงัด อากาศเย็นสบาย มีป่าเขาต้นไม้ร่มรื่นเพื่อจะพาพระนักศึกษา และนิสิตศึกษา เยาวชนออกมาเรียนธรรม และส่งพระนิสิตที่เรียนสำเร็จได้ปริญญาแล้วไปอยู่ประจำที่ศูนย์นี้ เพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนาต่อไป

อาจารย์พรเริ่มทำงานก่อสร้างศูนย์พัฒนาศาสนาเมื่ออายุได้ ๕๗ ปีแล้ว ท่านต้องวิ่งเต้นติดต่อหาเงินมาจ่าย ต้องทำงานหนัก และเหน็ดเหนื่อยมาก ทำให้สุขภาพของท่านทรุดโทรมลงอย่างมาก นอกจากนี้ท่านต้องเร่งการเขียนหนังสือ ตำราทางพระพุทธศาสนาอีกหลายเล่ม หาเวลาพักผ่อนไม่ได้ ในที่สุดเมื่อวันพุธ ๒๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๖ อาจารย์พรก็ถึงแก่กรรมด้วยโรคตับวาย ยังความเศร้าโศกเสียใจให้แก่ลูกศิษย์ลูกหาของท่านเป็นอย่างมากนับเป็นความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงต่อวงการพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างอเนกอนันต์

แนวการสอนวิธีฝึกสมาธิของ อาจารย์พร รัตนสุวรร


แนวทางการสอนสมาธิของอาจารย์พร รัตนสุวรรณนั้น ท่านยึดหลักอานาปานัสสติเป็นพื้นฐาน คือ การใช้สติกำหนดลมหายใจเข้า – ออก ท่านได้อธิบายไว้ในหนังสือ คู่มือการฝึกอานาปานัสสติสมาธิ ว่า อานาปานัสสติสมาธิ แปลว่า สมาธิที่ประกอบด้วยสติกำหนดลมหายใจเข้า – ออก ทั้งนี้สมาธิทุกอย่างจะเกิดขึ้นได้ต้องอาศัยสติเป็นปัจจัยสำคัญ ถ้าขาดสติแล้ว สมาธิจะเกิดขึ้นไม่ได้เลย และสตินั้นกำหนดอารมณ์ได้หลายอย่าง เช่น จะกำหนอที่กายที่เวทนา ที่จิต หรือที่ธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ทั้งสิ้น

สติคืออะไร สติแปลว่า ความรู้สึกตัว หรือสำนึกได้ว่า กำลังนึกถึงอะไรอยู่ สติจึงหมายถึงความรู้สึกตัวว่า กำลังมีความรู้สึกนึกคิดเกิดขึ้นอย่างไร ดังนั้นผู้ที่ฝึกสมาธิได้เป็นผลสำเร็จ คือทำจิตใจให้แน่วแน่อยู่ในอารมณ์เดียวได้ปัจจัยสำคัญอยู่ที่การมีสติ ถ้ามีสติอยู่เสมอ สมาธิต้องเกิดอย่างแน่นอน

ส่วนคำว่า “อานาปาน” มาจากคำว่า อาน กับ อปาน ต่อกัน อาน แปลว่า ลมหายใจเข้า อปาน แปลว่า ลมหายใจออก เมื่อเอาสองคำนี้มารวมกัน จึงได้รูปศัพท์เป็นอานาปาน แปลว่า ลมหายใจออก ซึ่งอาจารย์พรได้กล่าว่า การทำสมาธิโดยวิธีใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออกนี้ “เป็นวิธีที่ประเสริฐที่สุด ในบรรดากรรมฐานทั้งหลายที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้” เนื่องจากว่า วิธีการฝึกสมาธิแบบนี้ไปสู่การปฏิบัติในกรรมฐานข้ออื่น ๆ ได้ง่ายและคนส่วนมากสามารถปฏิบัติได้ เนื่องจากทุกคนมีลมหายใจเข้าออกเป็นปกติอยู่แล้ว ใครก็ตามสามารถใช้สติกำหนดลมหายใจเข้าออกได้ ซึ่งหมายความว่าเมื่อหายใจเข้า ก็รู้สึกตัวว่าหายใจเข้า เมื่อหายใจออกก็รู้สึกตัวว่ากำลังหายใจออก และสามารถที่จะรู้สึกถึงลมได้ทุกระยะทุกขณะจิต เมื่อลมหายใจยาวก็รู้สึกว่ายาว เมื่อลมหายใจสั้นก็รู้สึกว่าสั้น ลมจะหยาบหรือละเอียดอย่างไรก็รู้สึกตัวได้โดยตลอดทุกขณะ ดังนั้น ถ้าสามารถควบคุมใจให้มีสติรู้สึกถึงลมหายใจเข้าออกได้ดังที่กล่าวก็หมายความว่าสามารถฝึกสมาธิได้เป็นผลสำเร็จ

อาจารย์พร รัตนสุวรรณ ได้เน้นว่า พระพุทธเจ้าได้ตรัสถึงอานิสงส์ของวิธีเจริญอานาปานัสสติสมาธิไว้ดังนี้

“ภิกษุทั้งหลาย อานาปานัสสติสมาธินี้ ในเมื่ออบรมทำให้มากแล้ว ย่อมทำใจให้สงบ ทำใจให้ประณีต ทำให้เยือกเย็นเป็นที่อยู่อย่างสบายของใจ และบรรดาบาปธรรมหรืออกุศลธรรมทั้งหลาย ที่บังเกิดขึ้นแล้วก็สามารถที่จะทำให้อันตรธานสงบไปได้อย่างรวดเร็ว”

หลังจากนั้น พระพุทธองค์ก็ได้ตรัสถึงวิธีปฏิบัติสมาธิแบบอานาปานัสสติ ดังต่อไปนี้

ภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยที่ย่อมไปสู่ป่า หรือไปสู่โคนไม้หรือไปสู่อาคารที่ว่างเปล่า แล้วนั่งขัดสมาธิตั้งกายตรง ดำรงสติไว้ที่ปลายจมูกหรือที่ริมฝีปากเบื้องบน เธอเป็นผู้มีสติหายใจเข้า มีสติหายใจออก กล่าวคือ

๑. เมื่อหายใจเข้า ก็รู้สึกตัวชัดว่า กำลังหายใจเข้ายาว เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวชัดว่ากำลังหายใจออกยาว

๒. เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวชัดว่า กำลังหายใจเข้าสั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวชัดว่ากำลังหายใจออกสั้น

๓. เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอด ซึ่งกองลมทั้งปวง ในขณะที่กำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอด ซึ่งกองลมทั้งปวงในขณะกำลังหายใจออก

๔. เธอพยายามศึกษาที่จะให้กายสังขารสงบ ในขณะที่กำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะให้กายสังขารสงบในขณะที่กำลังหายใจออก

จบกายานุปัสสนา

๕. เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอดซึ่งปีติ ในขณะกำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอดซึ่งปีติ ในขณะที่กำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอดซึ่งปีติ ในขณะที่กำลังหายใจออก

๖. เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอดซึ่งสุข ในขณะที่กำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอดซึ่งสุข ในขณะที่กำลังหายใจออก

๗. เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอดซึ่งจิตสังขาร ในขณะกำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอดซึ่งจิตสังขารในขณะกำลังหายใจออก

๘. เธอพยายามศึกษาที่จะให้จิตสังขารสงบในขณะกำลังหายใจเข้าเธอพยายามศึกษาที่จะให้จิตสังขารสงบในขณะกำลังหายใจออก

จบเวทนานุปัสสนา

๙. เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ ให้ตลอดซึ่งจิต ในขณะที่กำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะกำหนดรู้ให้ตลอดซึ่งจิต ในขณะกำลังหายใจออก

๑๐. เธอพยายามศึกษาที่จะยังจิตให้เกิดความปราโมทย์ยิ่ง ในขณะที่กำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะยังจิตให้เกิดความปราโมทย์ยิ่ง ในขณะกำลังหายใจออก

๑๑. เธอพยายามศึกษาที่จะยังจิตให้ตั้งมั่นในขณะกำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่ยังจิตให้ตั้งมั่น ในขณะที่กำลังหายใจออก

๑๒. เธอพยายามศึกษาที่จะยังจิตให้หลุดพ้นในขณะที่กำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะยังจิตให้หลุดพ้นในขณะที่กำลังหายใจออก

จบจิตตานุปัสสนา

๑๓. เธอพยายามศึกษาที่จะติดตามดูซึ่งอนิจจํทุกขณะจิต ในขณะที่กำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะติดตามดูซึ่งอนิจจํทุกขณะจิต ในขณะที่กำลังหายใจออก

๑๔. เธอพยายามศึกษาที่จะติดตามดูซึ่งวิราคะทุกขณะจิต ในขณะกำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะติดตามดูซึ่งวิราคะทุกขณะจิต ในขณะกำลังหายใจออก

๑๕. เธอพยายามศึกษาที่จะติดตามดูซึ่งนิโรธะทุกขณะจิต ในขณะกำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะติดตามดูซึ่งนิโรธะทุกขณะจิต ในขณะกำลังหายใจออก

๑๖. เธอพยายามศึกษาที่จะติดตามดูซึ่งปฏินิสสัคคะทุกขณะจิต ในขณะกำลังหายใจเข้า เธอพยายามศึกษาที่จะติดตามดูซึ่งปฏินิสสัคคะทุกขณะจิต ในขณะกำลังหายใจออก

จบธัมมานุปัสสนา

วิราคะ แปลว่า ธรรมเป็นที่หน่ายกิเลส นิโรธะ แปลว่า ธรรมเป็นที่ดับสนิทของกิเลส ปฏินิสสัคคะ แปลว่า ธรรมเป็นที่สละคืน หรือเป็นที่ปล่อยวางซึ่งกิเลส ทั้งสามคำนี้เป็นชื่อของนิพพาน

อย่างไรก็ตาม แนวทางการสอนสมาธิสานอานาปานัสสติของอาจารย์พร รัตนสุวรรณ ก็ได้มีการประยุกต์ความเชื่อเรื่องวิญญาณเข้าไปด้วย จนกระทั่งอาจารย์พรได้รับฉายาจากศิษย์ว่า “อาจารย์พร วิญญาณ” ทั้งนี้เพราะท่านได้อุทิศเวลาในการค้นคว้าเรื่องวิญญาณอย่างลึกซึ้ง ท่านได้อธิบายเน้นว่า “วิญญาณ” โดยความหมายแปลว่า ความรู้สึก หรือ ความรับรู้สิ่งต่าง ๆ โดยรากศัพท์มาจากคำว่า วิ แปลว่า วิเศษ แจ้งต่าง ๆ ญาณ แปลว่า ความรู้ ( วิ + ญาณ ซ้อน ญ สำเร็จรูปเป็น วิญญาณ )

อาจารย์พร รัตนสุวรรณ ได้กล่าวถึง ทฤษฎีวิญาณไว้ ดังต่อไปนี้

“วิญญาณเป็นพลังชนิดหนึ่งที่เป็นนามธรรม แทรกซึมอยู่ในสรรพสิ่งทั้งปวง เป็นที่มาของกฎธรรมชาติ เป็นที่กำหนดของกฎธรรมชาติ ฉะนั้นเมื่อเอาชนะวิญญาณได้ หรือมีอำนาจเหนือวิญญาณได้โดยเด็ดขาด ก็สามารถเอาชนะธรรมชาติอยู่เหนือกฎธรรมชาติได้”

วิญญาณเป็นสิ่งมีอยู่โดยธรรมดาอย่างหนึ่ง เช่นเดียวกับสสารในพลังงานในวัตถุ สสารพลังงานเริ่มต้นมาตั้งแต่ไหน เกิดมาจากอะไร และตั้งแต่เมื่อไร และจะสิ้นสุดลงที่ไหน ไม่มีนักวิทยาศาสตร์คนใดตอบได้ เรารู้กันแต่เพียงว่าสากลจักรวาลกว้างใหญ่ไพศาลเหลือเกิน ใคร ๆ ไม่รู้ถึงที่สุด เนื้อแท้แห่งสากลจักรวาลก็คือพลังงาน และเท่าที่รู้กันอยู่ทั่วไปในเวลานี้ก็คือ สสารพลังงานไม่มีการสูญหาย มีแต่การเปลี่ยนแปลงสภาพหนึ่ง ไปสู่อีกสภาพหนึ่ง

กล่าวโดยสรุปคือ วิญญาณเป็นผู้สร้างชีวิต เป็นรากฐานของสิ่งทั้งปวง กฎเกณฑ์ของชีวิต สภาพชีวิตในสากลจักรวาลนั้นขึ้นอยู่กับสภาพของวิญญาณ ตาเห็นคือวิญญาณเห็น หูได้ยินคือวิญญาณได้ยิน ฯลฯ สมองนักคิดคือวิญญาณนักคิด ผู้ที่ยังมีกิเลสอยู่แล้วจะต้องเกิดอีก และทุกวิญญาณจะเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ดังพุทธพจน์ที่ว่า “วิญญาณ ปจจฺยา นามรูป ” หมายความว่า วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนามรูป วิญญาณเป็นรากฐานของสิ่งทั้งปวง

นามรูป คำนี้แยกออกเป็น ๒ คำ นามกับรูป

นาม หมายถึง เวทนา สัญญา และสังขาร ทั้ง ๓ อย่างที่เรียกว่า นาม เพราะเป็นนามธรรม

รูป หมายถึง ร่างกาย และพฤติกรรมแห่งร่างกาย

พระพุทธเจ้าตรัสว่า “วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดนาม” หมายความว่า “วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดเวทนา สัญญา สังขาร” และ “วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดรูป” หมายความว่า “วิญญาณเป็นปัจจัยให้เกิดร่างกายและพฤติกรรมแห่งร่างกาย”

ในขณะเดียวกัน แม้นามรูปก็เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณด้วย ซึ่งอธิบายแยกนามกับรูป กล่าวคือ นามเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณ โดยพิจารณาว่าสังขารเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณและสังขารที่เป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณนั้น มิใช่มีแต่เจตนาอย่างเดียว และเจตนาที่จะเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณได้ ก็ต้องประกอบด้วยอวิชชา ตัณหา อุปาทาน จะดำรงอยู่ได้สืบต่ออยู่ได้เสมอ ก็เพราะกิเลสเหล่านี้ประกอบด้วย สัญญา เวทนา ด้วยการพิจารณาเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า นามเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณได้อย่างไร

ส่วนรูปเป็นปัจจัยให้เกิดวิญญาณนั้น ก็พิจารณาได้จากประเด็นที่ว่า ถ้าร่างกายไม่มี วิญญาณก็มีไม่ได้ หรือ ถ้าตา หู จมูก ลิ้น กาย สมองไม่มี วิญญาณทั้ง ๖ ก็จะมีไม่ได้เช่นเดียวกัน หรือถ้าร่างกายแข็งแรงมีอนามัยดี จิตใจก็สดชื่นแจ่มใส ถ้าร่างกายอ่อนแอ จิตใจก็อ่อนแอ ถ้าหัวใจหยุดเต้นวิญญาณก็ดับ ดังนั้นเป็นการชัดเจนที่ว่า วิญญาณมีความสัมพันธ์กับร่างกายและพฤติกรรมของร่างกายอย่างใกล้ชิดที่สุด วิญญาณเจริญเติบโตพร้อมกันมากับร่างกาย และต้องอาศัยพฤติกรรมทุกขณะจิต ถ้าพฤติกรรมของร่างกายหยุดเมื่อใด วิญญาณจะดับวูบลงทันที

ด้วยเหตุนี้เอง สำหรับผู้ที่รู้แจ้งว่าวิญญาณมีเพราะมีนามรูปเป็นปัจจัย นามรูปมีเพราะมีวิญญาณเป็นปัจจัย ถ้าพิจารณา ๒ ประเด็นนี้แล้ว ก็จะเห็นการเกิดเป็นทุกข์ เห็นตัณหาว่าเป็นต้นเหตุแห่งความทุกข์ เห็นความดับไม่มีเหลือของตัณหาเป็นความพ้นทุกข์ และพร้อมกันนั้นก็จะเห็นมรรค ๘ หรือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางให้ถึงซึ่งความพ้นทุกข์

แนวทางการสอนสมาธิสายอาจารย์พร รัตนสุวรรณ นี้ มีผู้เสื่อมใสศรัทธามาก จนกระทั่งท่านได้ออกนิตยสารราย ๒ เดือน ชื่อ “วิญญาณ” ดังที่ได้กล่าวมาแล้วในหัวข้อความเป็นมาและประวัติของอาจารย์พร รัตนสุวรรณ ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเผยแพร่ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับวิญญาณเพื่อให้ทุกคนเห็นว่า

“การมีชีวิตอยู่เพื่อความดีเป็นสิ่งที่มีค่าเหนือสิ่งอื่นทั้งหมดเพราะความดีเป็นสมบัติที่ติดตัวไปทุกชาติ คนที่พยายามปรับปรุงตัวเองจนกระทั่งภายในมีความสมบูรณ์ จะรู้สึกว่าตัวเองเป็นคนไม่ตาย ทั้งจะไม่ประสบกับความยากจน ความลำบาก และจะประสบกับความทุกข์ทรมานไปตลอดกาล”

แม้อาจารย์พร รัตนสุวรรณ ได้ล่วงลับไปเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๕ บรรดาศิษยานุศิษย์ของท่านก็ยังคงช่วยเหลืองานพิมพ์หนังสือต่ออายุพระธรรมคัมภีร์รวมทั้งดูแลงานก่อตั้งมูลนิธิศูนย์พัฒนาศาสนาให้สำเร็จสมดังปณิธานที่อาจารย์พร รัตนสุวรรณ ได้ตั้งไว้ การปฏิบัติสมาธิแนวหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

+++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๓. หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ


หลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ ได้คิดค้นและเผยแผ่แนวการทำสมาธิที่มีการกำหนดสติอยู่ที่อาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งมีการเปลี่ยนไปเป็นจังหวะไม่ต้องกำหนดอาการเข้าออกของลมหายใจหรือใช้กสิณนิมิต วิธีทำสมาธิแนวนี้เริ่มได้รับความนิยมกันอย่างแพร่หลายในยุคพุทธศตวรรษที่ ๒๕ นี้











๑. ความเป็นมาและประวัติหลวงพ่อเทียน จิตตสุโภ

 ชาติภูมิ กำเนิดและการศึกษา

หลวงพ่อเทียนเกิดที่หมู่บ้านบุฮุม อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย เมื่อวันที่ ๕ กันยายน พ.ศ. ๒๔๕๔ มีชื่อจริงว่า พันธ์ อินทผิว แต่เหตุที่รู้จักกันในนามว่า “เทียน” นั้น เนื่องจากเป้นความนิยมของท้องถิ่นที่จะเรียกชื่อพ่อแม่ตามชื่อลุกคนหัวปี ทั้งนี้บุตรชายคนแรกของท่านชื่อเทียน ขณะเดียวกันภรรยาของท่านชื่อหอม ก็ได้รับการเรียกว่า “แม่เทียน” เช่นกัน

ในวัยเด็กหลวงพ่อเทียนมีชีวิตอยู่ในชนบท ทำให้ไม่มีโอกาสเข้าเรียนหนังสือ ได้แต่ช่วยพ่อแม่ ทำนา เลี้ยงสัตว์ที่บ้าน ต่อมาเมื่ออายุได้ ๑๐ ขวบ ก็ได้บวชเป็นสามเณรติดตามคอยรับใช้พระภิกษุที่เป็นญาติ คือ “หลวงน้า”จึงทำให้หลวงพ่อเทียนมีโอกาสเรียนหนังสือ โดยเรียนอักษรลาวและอักษรธรรมในใบลาน ได้เรียนรู้วัตรปฏิบัตรในทางศาสนา นอกจากนี้ก็ได้ฝึกการปฏิบัติธรรมจากหลวงน้าในการเดินจงกรมและการฝึกสมาธิ โดยการนั่งสมาธิเพชรหลับตาภาวนาหายใจเข้าภาวนาว่า “พุทธ”หายใจออกว่า “โธ” ได้ฝึกเพ่งกสิณ โดยใช้เท้าขีดเป็นวงกลมห่างสายตาประมาณ ๑ เมตร แล้วเพ่งให้เห็นเป็นแสงจนสายตาสู้แสงพระอาทิตย์ ซึ่งเชื่อว่าจะทำให้เป็นฤๅษีตาไฟได้

ระยะเวลาที่บวชเป็นสามเณร ๑ ปี ๖ เดือนนี้ ทำให้หลวงพ่อเทียนได้เรียนรู้ทางคาถาอาคม ทำให้เมื่อลาสิขาออกมาแล้วได้มาเป็นหมอกลางบ้านช่วยรักษาคนเจ็บไข้ด้วยเวทมนต์คาถาดังกล่าว

ครั้งอายุได้ประมาณ ๒๑ ปี หลวงพ่อเทียนก็มีโอกาสได้เป็นพระภิกษุ เป็นเวลา ๖ เดือน โดยเป็นการบวชตามประเพณีก่อนแต่งงาน ซึ่งต่อมาท่านก็ได้แต่งงาน มีภรรยาชื่อหอม มีบุตรชาย ๓ คน ประกอบอาชีพทำนา ทำสวน และทำการค้าขายทางเรือติดต่อระหว่างประเทศลาว และจังหวัดหนองคาย มีฐานะดี บางครั้งก็เป็นหมอกลางบ้านช่วยรักษาโรคให้ชาวบ้านด้วย

 ความสนใจในการทำสมาธิและการออกศึกษาธรรมะ

จากการที่หลวงพ่อเทียนเคยบวชเรียนและได้ปฏิบัติธรรมมาบ้างในวัยเยาว์ ทำให้ท่านสนใจที่จะนำกรรมฐานมาใช้ในชีวิตการครองเรือน ต่อมาเกิดความทุกข์ใจ จึงมุ่งที่นำธรรมปฏิบัติมาเพื่อช่วยให้หมดทุกข์ร้อนในใจ แต่ก็ยังไม่มีวิธีการที่เหมาะสมที่จะสามารถช่วยได้ ดังบันทึกเหตุที่ท่านออกแสงหาสัจธรรมความว่า

“…หลวงพ่อเล่าว่า ครั้งหนึ่งคนที่เมืองลาวมาขอให้ท่านนำกฐินไปทอดที่เมืองลาว ในขณะนั้นมีการทำกฐินถึง ๕ กอง...และในการทำกองกฐินจะต้องมีมหรสพ เช่น หมอลำ ภาพยนตร์ให้คนชม หลวงพ่อได้ตกลงกับภรรยาแล้ว่า การใช้จ่ายต่างๆและการจัดหาอาหารให้แขกยกให้เป็นหน้าที่ของภรรยาท่าน ตัวท่านเองจะรับอุโบสถและรับแขกทางไกล...”

สิ่งที่ทำให้ท่านทุกข์ใจนั้น มาจากความขัดแย้งกับภรรยาในเรื่องค่าใช้จ่าย ค่าจ้างมหรสพ ซึ่งทำให้ท่านเก็บความรู้สึกไม่พอใจไว้ ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านรู้ว่าเป้นความทุกข์ดังความต่อไปอีกว่า

“…ครั้นเวลาเช้า ภรรยาของท่านมาถามท่านว่าจะต้องจ่ายค่าหมอลำเท่าไร ท่านรู้สึกโกรธมาก ซึ่งท่านเล่าว่า มันหนักจนลุกแทบ จะไม่ได้ มันตำเข้าไปในใจ แต่ท่านข่มอารมณ์ไว้ไม่ให้ภรรยาทราบ...”

ต่อมาเมื่อได้ปรับทำความเข้าใจกับภรรยาแล้ว ท่านจึงรู้ว่าความรู้สึกดังกล่าวเป็นทิฐิมานะของท่าน ความโกรธดังกล่าวจึงเป็นเหตุให้ท่านรู้จักและเข้าใจความทุกข์ ทำให้ท่านเกิดความตั้งใจจะหาวิธีออกจากสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์ทั้งหลาย ดังท่านได้กล่าวไว้ต่อมาว่า

“…ท่านคิดในใจว่า หากท่านยังเอาชนะความทุกข์แบบนี้ไม่ได้ ก็จะไม่เลิกละในการปฏิบัติธรรม”

ไม่นานหลังจากนั้น ท่านก็เตรียมการที่จะออกไปปฏิบัติธรรมโดยทำการค้าน้อยลง สะสางภาระ หน้าที่ จนเลยเวลา ๓ ปี ท่านจึงออกจากบ้าน ออกแสวงหาสัจธรรม ขณะนั้นท่านอายุได้ ๔๕ ปี


 การออกศึกษาธรรมะและประสบการณ์ก่อนคิดค้นแนวคำสอน

ก่อนที่จะเลิกทำการค้าเพื่อออกแสวงหาสัจธรรมนั้น หลวงพ่อเทียนได้เคยไปศึกษาธรรมกับพระมหาศรีจันทร์ ในจังหวัดหนองคาย โดยได้มีการซักถามถึงปัญหาทางวิปัสสนาเป็นอย่างมาก จนได้ข้อสรุปว่า เรื่องวิปัสสนากรรมฐานนั้น หากจะถามไปก็ไม่รู้จักจบสิ้น ผู้ใดอยากรู้ต้องลงมือปฏิบัติเอง ดังนั้น เมื่อเกทำการค้าแล้ว ท่านจึงไปศึกษาการปฏิบัติธรรมที่วัดสังสีมุกนารตามศรีเชียงใหม่ อำเภอท่าบ่อ จังหวัดหนองคาย โดยมีพระอาจารย์ชาวลาวชื่ออาจารย์ปาน เป็นผู้สอบอารมณ์ ซึ่งพระอาจารย์ปานผู้นี้เคยไปเรียนวิธีกำหนดสติยุบ-พอง และวิธีติง-นิ่ง มาจากประเทศพม่า ซึ่งวิธีติง-นิ่งนั้น เป็นการฝึกสติกำหนดรู้อาการประกอบคำบริกรรมภาวนา “ติง-นิ่ง” คือเมื่อเคลื่อนมือก็จะภาวนาว่า “ติง” เมื่อหยุดเคลื่อนไหวก็จะภาวนาว่า “นิ่ง” ก่อนการคิดแนวของตนเอง หลวงพ่อเทียนได้ไปปฏิบัติกรรมฐานกับหลวงพ่อวันทอง ในจังหวัดหนองคาย โดยการพิจารณากำหนดสติที่หายใจเข้า-ออก แล้วให้ภาวนาว่า “ตาย ๆ ๆ”

 การเห็นธรรมและค้นพบแนวคำสอน

เมื่อหลวงพ่อเทียนออกมาแสวงหาธรรมอย่างจริงจัง ตอนแรกยังเป็นฆราวาสอยู่ ยังไม่ได้บวช ก็ได้ไปปฏิบัติธรรมอยู่หลายแห่งดังกล่าวข้างต้น แต่ที่รู้เห็นธรรมก็เกิดจากการคิดเทคนิควิธีการของตนเอง ดังคำที่ท่านกล่าวไว้

“หลวงพ่อรู้จักธรรมะ ให้ว่าพริบตาเดียวก็ได้ หรือว่าจะอึดใจเดียวก็ได้ ในขณะนั้นหลวงพ่อรู้เรื่องรูป เรื่องนาม รู้รูปธรรม นามธรรม รู้รูปโรค นามโรค มี ๒ อย่าง โรคทางเบื้องหน้าอันหนึ่ง โรคทางจิตใจอันหนึ่ง ...เมื่อหลวงพ่อรู้จักรูปโรค นามโรค โรคทางจิตใจดีขึ้นแล้ว หลวงพ่อก็รู้จักอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา รู้จริง ๆ ไม่ใช่รู้กับตำรา รู้โดยญาณความรู้ หรือว่าสัญญาความหมาย รู้จำได้ มันเฉพาะตัวมันเอง เมื่อรู้ทุกขัง อนิจจัง อนัตตาแล้ว หวงพ่อก็รู้สมมุติ รู้สมมุติผี สมมุตติเทวดา สมมุตินรก สมมุติสวรรค์...”

การรู้จักสมมุติดังกล่าว ทำให้เกิดการรู้ในศาสนาและนำไปสู่ความรู้ในคำสอนของพระพุทธเจ้า ดังท่านกล่าวต่อตอนหนึ่งว่า

“...เมื่อรู้จักสมมุติอย่างนี้ หลวงพ่อก็เลยรู้จักศาสนา ไม่ใช่ศาสนาอย่างที่เราเคยถือกันมา ...ศาสนาแปลว่า คำสอนของท่านผู้รู้ ใครมีความรู้เรื่องอะไรก็ต้องสอน สอนให้เราไหว้ผี สอนเรื่องฤกษ์งามยามดี สอนอะไร คำสอนของผู้รู้ทั้งนั้น ...สอนตัวเรานี่แหละ ตัวคนเป็นศาสนา ...พุทธศาสนาคือตัวผู้รู้ นี่แหละสติ ตัวปัญญา ตัวสมาธิ จะว่าตัวอะไรก็รู้แหละ พลิกมือขึ้นก็รู้ตัวรู้อันนี้นี่แหละ ความรู้สึกนี่แหละเป็นตัวพุทธศาสนา พุทธะ จึงแปลว่า ผู้รู้...”

จากความรู้ดังกล่าวก็ได้เกิดการขยายผล โดยหลวงพ่อเทียนได้พิจารณารู้ถึงความคิดของตน โดยรู้เท่าทันความคิด รู้อาการของตนว่ากำลังทำอะไรอยู่ เกิดมีความมั่นใจในตนเองในการประพฤติปฏิบัติธรรม โดยมิใช่ติดอยู่แต่ตำรา เพราะถือว่าตำรามีอยู่ในตัวเราเอง ท่านจึงได้ปฏิบัติจิตคอยจับการเคลื่อนไหวของตนเอง จะเคลื่อนไหวโดนวิธีใดก็ให้รู้ ยกแขน ยกขา ยกมือ ฯลฯ ก็ให้มีความรู้สึกตัว การรู้ในอาการต่าง ๆ นี้ทำให้รู้และเข้าใจในสิ่งต่าง ๆ ทำให้เห็นธรรมดังกล่าวของท่านตอนหนึ่งว่า

“...บัดนี้ทิ้งตำราให้หมดเลย มาคอยจับการเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ ยกแข้ง ยกขา ยกมือ ... ให้มีสติหรือให้รู้ตัว ..ความรู้จึงว่ามากที่สุด เร็วที่สุด ...ความรู้จึงว่ารอบตัว สัญญาณจึงแปลว่ารู้ หลวงพ่อรู้วิญญาณขึ้นมา พอดีเป็นอย่างนั้น หลวงพ่อก็เลยรู้ เห็น เข้าใจ เห็นวัตถุ วัตถุ วัตถุนี่หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่างทีเดียว แต่ไม่อธิบายแล้ว มันเข้าใจ แต่วัตถุนี่ก็หมายถึงทุกสิ่งทุกอย่าง เข้าใจไหม ก็รู้ปรมัตถ์ ...ปรมัตถ์แปว่าของจริง ..แล้วก็เห็นอาการ อาการสภาพความเปลี่ยนแปลงของคนหรือสัตว์มันมีการเปลี่ยนแปลงได้อย่างนี้ หลวงพ่อเข้าใจอย่างนี้นะ เห็น วัตถุ เห็นปรมัตถ์ เห็นอาการแล้วก็เห็นโทสะ เห็นโมหะ เห็นโลภะ ไม่ใช่ตาเห็น ใจมันเห็น ใจมันรู้ ...ในสมัยที่หลวงพ่อไม่สบาย ทุกข์ก็ได้ ...หลวงพ่อไม่เห็น ไม่เห็นว่าโทสะ โมหะ โลภะ หลวงพ่อไม่รู้ มันหนักใจแต่หลวงพ่อทำกรรมฐานมาแล้ว ดังนั้นกรรมฐานของหลวงพ่อจึงไม่มีอารมณ์ คนอื่นอาจจะมีก็ได้ จึงว่าอารมณ์ของกรรมฐานหลวงพ่อไม่รู้ พอดีมาเห็นอันนี้หลวงพ่อรู้เลยเป็นอารมณ์ ...สิ่งที่มันอยู่ในตัวเรา พอดีรู้ อันนี้แล้วก็เวทนาไม่ทุกข์ สัญญาไม่ทุกข์ สังขารไม่ทุกข์ สัญญาไม่ทุกข์เพราะ โทสะ โมหะ โลภะ ปรุงไม่ได้ แต่ว่าเวทนาก็มีอยู่ สัญญาก็มีอยู่ สังขารก็มีอยู่ แต่มันไม่ได้รู้อย่างนี้นะ มันเร็วที่สุด พอดีพูดอย่างนี้คล้าย ๆ คือมีสิ่งใดสิ่งหนึ่งขวางหน้าไว้ หลวงพ่อก็ทำความรู้สึก ตึ๊บ อึดใจเดียวนั้นเอง เห็นกิเลส เห็นตัณหา อุปาทานกรรม เห็น ๔ ข้อนี่เลย พอดีเห็นอันก็ กิเลส ตัณหา อุปาทานกรรม จงคลายไป พอดีรู้อันนี้หลวงพ่อ หลวงพ่อเปรียบตัวหลวงพ่อทันทีเลย ตัวหลวงพ่อน้ำหนักนัก ๑๐๐ กิโล ถ้าหลวงพ่อพูดเบา ๆ ๖๐ กิโลไปแล้ว หลุดไปแล้ว แต่ในขณะนั้นเดินอยู่ ๘๐ กิโลไปแล้ว ยังเหลืออยู่ ๒๐ กิโล หลวงพ่อ อ้อ...นี่ความเป็นพระอยู่ตรงนี้”

ดังนั้นแนวการสอนของหลวงพ่อเทียน ท่านจึงมีแนววิธีฝึกสติด้วยการรู้อาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งจะมีการคิดจังหวะเคลื่อนไหว เพื่อการเจริญสติขึ้น

๒. แนวการสอนวิธีฝึกสมาธิ

แนวการสินของหลวงพ่อเทียน มีหลักการโดยอ้างพระพุทธธรรมที่ว่า ให้มีสติ รู้จักการทำ การพูด การคิด และให้มีสติรู้ในอิริยาบถต่าง ๆ ให้ว่าจะเป็น ยืน เดิน นั่ง นอน ฯลฯ การมีสติรู้ในอาการต่าง ๆ จะทำให้เกิดปัญญา สามารถพัฒนาปัญญาให้มีมากขึ้นได้ ซึ่งการรู้สึกตัวตามอาการเคลื่อนไหวนั้นถือว่าเป็นการเจริญสติ อันเป็นฐานของการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา และจะทำให้ธาตุพุทธในตัวบุคคลแตกตัวและเบ่งบานขึ้น พุทธะหรือโพธิจิตตามความหมายของหลวงพ่อเทียนนี้ เมื่อได้รับการกระตุ้นในระดับหนึ่ง จะตื่นขึ้นและผลิบาน จึงเรียก บุคคลนี้ว่า ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ซึ่งมนุษย์ทุกคนสามารถกระทำได้

๑ การปฏิบัติขั้นเบื้องต้น

แนวการทำสมาธิของหลวงพ่อเทียนนั้น โดยหลักการจะมุ่งเน้นให้มีสติ รุ้เท่าทันอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ซึ่งท่านได้คิดท่าอาการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อเป็นบทฝึกสติ ซึ่งก็เป็นที่รู้จักทั่วไปของผู้ไปฝึกปฏิบัติว่า ท่านั่งทำจังหวะ ซึ่งจากการออกสำรวจภาคสนาม อธิบายขั้นตอนต่าง ๆ ได้คือ

- เริ่มท่านั่ง ขัดสมาธิ หรือนั่งพับเพียบก็ได้ ให้มือทั้งสองวางคว่ำบนหัวเข่า กายตั้งตรง ไม่ต้องหลับตา

- พลิกมือข้างขวา ตั้งขึ้นเป็นมุม ๙๐ องศา กับหัวเข่าขวา

- ยกมือข้างขวาขึ้น ฝ่ามือระดับหัวไหล่

- เคลื่อนมือข้างขวา ให้ฝ่ามือแตะหน้าท้องระดับเหนือสะดือ

- พลิกมือข้างซ้าย ตั้งขึ้นเป็น ๙๐ องศา กับหัวเข่าซ้าย

- ยกมือข้างซ้ายขึ้น ฝ่ามือระดับหัวไหล่

- เคลื่อนมือข้างซ้ายลงมาแตะที่ระดับหน้าท้องทาบเหนือมือขวา

- ยกมือขวาขึ้น วางทาบระดับหน้าอก

- เคลื่อนมือขวาออกไประดับข้างลำตัวระดับหัวไหล่

- วางมือขวาลงบนหัวเข่าขวา ลักษณะมือตั้งฉาก

- วางมือข้างขวาราบคว่ำบนหัวเข่าขวา

- ยกมือซ้ายขึ้นทาบระดับหน้าอก

- เคลื่อนมือซ้ายออกไปด้านข้างลำตัว มือระดับหัวไหล่

- วางมือซ้ายลงบนหัวเข่าซ้ายในลักษณะตั้งฉาก

- วางมือซ้ายคว่ำราบบนหัวเข่าซ้าย

การปฏิบัติตามขั้นตอนดังกล่าวแสดงเป็นภาพได้ดังนี้



ภาพแสดงการเคลื่อนไหวร่างกายเพื่อการเจริญสติแนวหลวงพ่อเทียน

การเคลื่อนไหวร่างกายตามจังหวะดังกล่าว จะต้องมีการกำหนดความรู้สึกตัวเท่าทันอาการที่ร่างกายเคลื่อนไหว หลวงพ่อเทียนท่านถือว่าการรู้สึกในอาหารเคลื่อนไหวนั้น เป็นการปฏิบัติธรรม เพราะเป็นการเจริญสติ เจริญปัญญา ส่วนสมาธิก็คือการตั้งใจ ตอนแรก ๆ อาจจะไม่คุ้นแต่ครั้นได้ทำไปแล้วบ่อย ๆ หลวงพ่อเทียนกล่าวว่า เมื่อได้สัดส่วนสมบูรณ์แล้วมันจะเป็นเอง ไม่เว้นใคร ๆ อยู่ที่ไหนก็ทำได้

๒ การอธิบายแนวปฏิบัติเปรียบเทียบกับหลักไตรสิกขา

ศัลสิกขา แนวการปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียน ได้มีการสอนที่อธิบายเทียบกับไตรสิกขาว่า “ศีลคือความปกติ ศีลคือผลของจิตที่เป็นปกติ นี้เป็นสิ่งเดียวกับสติ สมาธิ ปัญญา วิธีปฏิบัติคือ การรู้ตัวเท่าทันความคิด เมื่อความคิด ความทุกข์ หรือความสับสนเกิดขึ้น อย่าได้พยายามหยุดมันแต่ให้สังเกตมัน”

การสอนในเรื่องศีลนั้น ในวิธีการของหลวงพ่อเทียนจะไม่เน้นเท่าใดนัก แต่จะเน้นหนักชัดในเรื่องการบำเพ็ญเพียรทางจิต ทั้งนี้ท่านได้กล่าวว่า การรักษาศีล โดยทั่วไปแล้วเป็นสิ่งที่มีมานาน หรือเป็นสิ่งที่มีอยู่คู่โลกแล้ว จะมีพระพุทธเจ้าหรือไม่มี ก็เป็นสิ่งที่มีการสอนโดยครูอาจารย์ในสมัยโบราณทั่วไปหลายลัทธิอยู่แล้ว โดยท่านได้กล่าวว่า

“การบำเพ็ญทางจิตนี่แหละ คือคำสอนของพระพุทธเจ้า ส่วนเรื่องการทำบุญให้ทาน รักษาศีล และทำสมถกรรมฐานนั้น ไม่ใช่คำสอนของพระพุธเจ้า เป็นคำสอนของอาจารย์ทั่วไป ในประเทศอินเดียนั้นมีหลายลัทธิ หลายนิกาย….” แต่อย่างไรก็ตาม การบำเพ็ญทางจิตตามแนวหลวงพ่อเทียน ก็สามารถทำให้เกิดศีลขึ้นในตัวได้จากการมีสตินั่งเอง ดังที่ท่านกล่าวว่า

“ใช้สติดูจิตใจ ไม่ว่ามีความคิดอะไรเกิดขึ้น เห็นมันทันทีและเราจะรู้ถึงความหลอกลวง รู้ทันเวลา รู้ป้องกัน และรู้การแก้ไข รู้ถึงการเอาชนะความคิดปรุงแต่ง ศีลจะเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราเอง ไม่ใช่คนดอกที่รักษาศีล แต่ศีลต่างหากที่รักษาคน”

สมาธิสิกขา สมาธิตามคำอธิบายของหลวงพ่อเทียนหมายถึง ความตั้งใจ โดยคุณประโยชน์ของสมาธินั้น หลวงพ่อเทียนกล่าวว่า สมาธิเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างกลาง ดังคำกล่าวของท่าน

“ศีลเป็นเครื่องกำจัดกิเลสอย่างหยาบ สมาธิเป็นเครื่องขจัดกิเลสอย่างกลาง ปัญญาเป็นเครื่องขจัดกิเลสอย่างละเอียด

ซึ่งตามคำอธิบายนี้ หลวงพ่อเทียนได้จำแนกกิเลสอย่างหยาบ หมายถึง ความโลภ โกธร หลง กิเลสอย่างกลางคือกิเลส ตัณหา อุปาทาน กรรม ส่วนกิเลสอย่างละเอียด ได้แก่ กาม ภพ อวิชชา

การเจริญสมาธินั้นจะต้องมีการเจริญสติ ซึ่งยอมจะทำให้เกิดความรู้ตัว มีความเป็นผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน ดังคำกล่าวของหลวงพ่อเทียนตอนหนึ่งว่า

“การเจริญสติ อันเป็นฐานการเจริญสมาธิ เจริญปัญญา จะทำให้ธาตุพุทธะในตัวเราแตกตัวและเบ่งบาน”

ซึ่งการเจริญสติดังกล่าวนี้ก็คือ การรู้สึกถึงความเคลื่อนไหวของร่างกาย การเคลื่อนไหวของร่างกายนี้จะต้องมีความรู้ตัว ดังคำกล่าวของอีกตอนหนึ่งว่า

“ให้ลืมตาทำเคลื่อนไหวโดยวิธีใดก็ให้รู้ มันเป็นการไหลไปตามธรรมชาติของมัน ตาไม่ต้องไปบังคับให้หลับ ให้มันกะพริบ ขึ้นลงได้ตามธรรมชาติ เหลือบซ้ายแลขวาก็ได้ มันจึงเป็นการปฏิบัติธรรมกับธรรมชาติ และมันก็รู้กับธรรมชาติจริง ๆ

ปัญญาสิกขา ในเบื้องต้นหลวงพ่อเทียนจำแนกปัญญาออกเป็น ๒ แบบ คือ ปัญญาโลกียธรรม กับปัญญาโลกุตรธรรม ปัญญาโลกียธรรม คือ ปัญญาที่ใช้สำหรับการดำเนินชีวิตในทางโลก สามารถเอาตัวรอดได้ในสังคม แต่ปัญญาโลกุตรธรรม เป็นปัญญาที่ใช้เพื่อกำจัด โลภะ โทสะ โมหะในจิตใจ เพื่อให้รู้จักมีสัมมาทิฐิและดำเนินไปตามมัชฌิมาปฏิปทา

การจะทำให้เกิดปัญญาได้นั้น หลวงพ่อเทียนกล่าวว่าวิปัสสนากรรมฐานเป็นอุบายให้เกิดปัญญาในระดับสมถกรรมฐาน ยังไม่สามารถทำให้ปัญญาเกิดขึ้นได้ การทำสมาธิแนวหลวงพ่อเทียนที่มีการเคลื่อนไหวด้วยรู้สึกตัวหรือในการเคลื่อนไหวอาการต่าง ๆ จะต้องมีความรู้สึกตัวนั้น จะทำให้เกิดความรู้ซึ่งหลวงพ่อเทียนกล่าวว่าก็คือปัญญาหรือญาณปัญญา อันเป็นวิปัสสนานั่นเอง ปัญญาของวิปัสสนานี้ท่านถือว่าเป็นสิ่งที่รู้ขึ้นมาเอง ไม่ใช่รู้จากการพิจารณาดังกล่าวของท่านว่า

“…พุทธะคือตัวเรา เคลื่อนไหวรู้ ลองพลิกมือดูรู้ไหม นั่นแหละตัวรู้ตัวนี้ จึงเป็นปัญญาพุทธะ พุทธะจึงแปลว่าผู้รู้….”

ทั้งนี้เมื่อปัญญาเกิดขึ้น ย่อมทำให้บุคคลนั้นรู้ธรรมะ เราก็เข้าใจว่าทุก ๆ สิ่งนั้นไม่ได้เป็นอย่างที่เราคิด ทุก ๆ สิ่งคือสมมุติ นี้คือปัญญาที่เกิดขึ้น”

๓ หลักสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานตามแนวคำสอนหลวงพ่อเทียน

สมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานตามแนวหลวงพ่อเทียนท่านอธิบายจำแนกไว้สรุปความได้ดังนี้

ก. สมถกรรมฐาน

เป็นอุบายให้สงบจิต ไม่ได้ทำให้เกิดปัญญา เป็นเพียงได้ความสงบ ทั้งนี้ท่านเคยฝึกการหายใจเข้า-ออกแบบพุทโธ หรือจะเป็นแบบนับ ๑-๒-๓ มาแล้ว นั่นเป็นระดับสมถกรรมฐาน เพื่อให้เกิดความสงบในจิตใจชั่วคราว โดยท่านเปรียบไว้ว่าเหมือนดั่งหินทับหญ้า ในขณะเมื่อหินยังทับอยู่นั้นจะไม่มีหญ้า ครั้นพอยกหินออก ต่อมาไม่นานหญ้าที่นั้นก็จะกลับงอกขึ้นมาอย่างเดิม ดังนั้นสมถกรรมฐาน จึงเป็นการฝึกจิตเบื้องต้น ยังไม่ใช่ทำให้เกิดปัญญา

ข. วิปัสสนากรรมฐาน

หลวงพ่อเทียนกล่าวถึงวิปัสสนากรรมฐานว่า เป็นอุบายให้เกิดปัญญา ดังนั้นความว่า

“วิปัสสนาแปลว่าความรู้แจ้ง ความเห็นจริง เห็นอะไร เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เมื่อเห็นแจ้งรู้จริงแล้ว มันก็ต่างจากเก่าส่วนการกระทำ การพูด การคิด เดิมเมื่อเรายังไม่เห็นแจ้ง ยังไม่รู้จริง การทำการพูด การคิด ก็อย่างเก่า จัดเป็นวิปัสสนาไม่ได้ต่อเมื่อเรามีความรู้สึกต่างจากเดิม ความโลภ ความโกธร ความหลง ลดลง จึงเป็นวิปัสสนา”

การปฏิบัติวิปัสสนาตามแนวหลวงพ่อเทียน ก็คือการกำหนดสติตามการเคลื่อนไหวของร่างกายนั่นเอง ดังท่านกล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า

“…หลวงพ่อทำการเคลื่อนไหว ยกมือ ยกเท้า ให้รู้สึกตัวก้มเงย ให้รู้สึกตัว…หายใจก็รู้ จิตใจมันนึกมันคิดก็รู้ รู้อันนี้ ความรู้อันนี้มากขึ้น มากขึ้น มันเกิดญาณปัญญา อันนี้ เป็นวิปัสสนาตรงนี้….”

หลวงพ่อเทียนอธิบายเปรียบวิปัสสนาว่า คล้ายกับรถแทรกเตอร์ไถถนน เมื่อกำจัดต้นไม้ก็จะกำจัดใบทั้งรากทั้งโคน ทั้งนี้เพราะวิปัสสนาทำให้เกิดปัญญา และปัญญาทำให้เกิดการจางหายคลายลงของกิเลสนั่นเอง

๔ ลักษณะการบรรลุธรรมแบบหลวงพ่อเทียน

การปฏิบัติด้วยการรู้สึกตัว รู้เท่าทันอารมณ์ ความคิด หรืออาการเคลื่อนไหวของร่างกายนั้นจะทำลายกิเลส เพราะการรู้เท่าทันจำทำให้เกิดความรู้จักป้องกันและแก้ไข ด้วยเหตุที่รู้จักสมุฏฐาน การบรรลุธรรมหรือการเห็นสัจธรรมนั้น หลวงพ่อเทียนอธิบายว่า

“…แม้คนนั้นจะเข้าวัด ฟังธรรม ให้ทาน รักษาศีล เจริญกรรมฐาน วิปัสสนาก็ตาม ถ้าบุคคลนั้นยังไม่เคยเห็นความคิดของตัวเองแล้ว ก็แสดงว่าผู้นั้นยังไกลจากสัจธรรม คำสอนของพระพุทธเจ้า”

การจะรู้เห็นธรรมได้นั้นหลวงพ่อเทียนอธิบายอีกว่า

“…แต่บุคคลอีกคนหนึ่งที่ตรงข้าม คือ เขาไม่เคยเข้าวัด ไม่เคยฟังธรรม ไม่เคยให้ทาน ไม่เคยรักษาศีล แต่เขาทำความรู้สึกภายในจิตใจของเขาเสมอไป พอจิตมันนึกคิดอะไร เขารู้เท่ารู้ทัน รู้จักกัน รู้จักแก้ รู้จักเอาชนะได้ทุกครั้งทุกคราว คนนี้แหละ ได้ชื่อว่าเป็นผู้ได้เข้าสัจธรรม หรือธรรมะคำสอนของพระพุทธเจ้า”

ซึ่งการเห็นธรรมตามคำอธิบายของหลวงพ่อเทียนนั้นคือ

“คำว่าเห็นธรรมนั้น หมายถึง ให้เราเห็นจิตเห็นใจของเราในขณะที่เรากำลังทำ กำลังพูด กำลังคิด นั่นแหละ จึงจะเรียกว่าเห็นธรรม”

๓. จุดเด่นและการเผยแผ่แนวคำสอนของหลวงพ่อเทียน

 จุดเด่นของแนวคำสอน

ลักษณะที่เป็นจุดเด่นของแนวการสอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ นั้น มีประโยชน์อย่างยิ่งในการที่จะทำให้ผู้ฝึกเกิดความรู้เท่าทัน กิเลสภายในตน ก่อให้เกิดปัญญา นอกจากนี้ สามารถใช้ปัญญาเป็นเครื่องกำจัดกิเลสได้ด้วย แนวการสอนหรือการตีความอธิบายแนวปฏิบัติของหลวงพ่อเทียนที่แตกต่างและถือเป็นจุดเด่นก็คือ

๑) เป็นวิธีที่จะประสบผลได้ด้วยการปฏิบัติโดยหลวงพ่อเทียนถือว่าไม่ให้ยึดติดตำรา ทั้งนี้จะเห็นว่าแนวการสอนของท่านเป็นแนวปฏิบัติสังเคราะห์ขึ้นมา ไม่เคยปรากฏในตำราใด ๆ มาก่อน

๒) เชื่อว่าทำให้เกิดความเข้าใจในธรรมะได้อย่างรวดเร็ว ดังที่หลวงพ่อเทียนมักจะกล่าวว่า แนวทางของท่านเป็น “ทางลัด” หรือ “สูตรสำเร็จอึดใจเดียว” เป็นต้น

การเผยแผ่แนวคำสอน

การสอนสมาธิสายหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภนั้นเป็นแนวการทำสมาธิสายหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นแนวการประยุกต์หลักการปฏิบัติมาจากแบบอานาปานัสสติ การเดินจงกรม การเคลื่อนไหวกายให้มีสติคล้ายกับแนวการสอนสายวัดมหาธาตุ ฯ เป็นต้น ซึ่งวิธีการดังกล่าวหลวงพ่อเทียนได้เคยศึกษาปฏิบัติมาก่อนแล้วจึงได้คิดแนวของตนเอง เป็นการสังเคราะห์แนวปฏิบัติเพื่อให้เข้าถึงธรรม ซึ่งหลวงพ่อเทียนกล่าวว่าเข้าถึงได้เร็วขึ้น บางความเห็นกล่าวว่าลักษณะคล้ายกับการปฏิบัติธรรมแบบเซ็นที่มุ่งเจริญสติ ให้มีความตื่นอยู่เสมอ แม้จะไม่ปรากฏในตำราใดมาก่อน แต่ในการศึกษาแล้วิจัยการตีความในคำสอนของ พระพุทธศาสนาในแนวทางการทำสมาธิของสายวัดหลวงพ่อเทียนนี้ เป็นแนวตีความและนำสู่รูปแบบของการปฏิบัติ จนได้มีการสอนถ่ายทอดออกไปอย่างกว้างขวาง

จากการศึกษาประวัติและความเป็นมาของหลวงพ่อเทียนจนท่านได้คิดค้นแนวปฏิบัติของตนเองนี้ ในการสอนถ่ายทอดปฏิบัติได้เริ่มตั้งแต่ครั้งที่ท่านยังไม่ได้เป็นพระภิกษุ ครั้นท่านได้อุปสมบทแล้วเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๐๓ ที่วัดบรรพตคีรี อำเภอเชียงคาน จังหวัดเลย ท่านก็มีการเผยแผ่ที่เป็นรูปแบบมากขึ้น เพราะการเป็นฆราวาสสอนธรรมะนั้น ความเชื่อถือก็มีอยู่ในวงกำจัด แต่การเป็นพระภิกษุที่มีเพศพรหมจรรย์ในร่มผ้ากาสาวพัสตร์ ก็ยิ่งเพิ่มความน่าเชื่อถือมากขึ้น แม้หลักการปฏิบัติจะเป็นแนวเดิม

ตั้งแต่พรรษาแรกของการบวชเป็นพระภิกษุ หลวงพ่อเทียนได้ออกเผยแผ่แนวปฏิบัติทั้งในแถบจังหวัดใกล้เคียงกับภูมิลำเนา คือจังหวัดเลยและจนถึงเขตประเทศลาว ท่านได้สร้างสำนักสงฆ์ ได้ทำนุบำรุงวัดเพื่อพัฒนาให้เป็นที่สอนสมาธิ ตลอดจนได้เข้าไปเป็นพระอาจารย์สอนสมาธิในวัดใหญ่ เพื่อเป็นศูนย์กลางการสอนโดยตรง แต่มีลักษณะเป็นสาขาหรือสำนักย่อยที่ท่านได้ไปสอนอยู่ในระยะไม่นาน แล้วท่านก็ย้ายไปบุกเบิกสร้างสอนที่อื่นต่อ กล่าวคือในช่วงที่ท่านบวชได้ ๑-๖ พรรษา ท่านไปสอนแนวการปฏิบัติสมาธิที่ประเทศลาวบ้าง ที่ภูลำเนาเดิมบ้าง จนพรรษาที่ ๗ ท่านจึงได้สร้างสำนักปฏิบัติธรรมป่าพุทธยานขึ้น ที่จังหวัดเลย แต่ท่านก็อยู่ที่นี่ไม่นาน พ้นพรรษาที่ ๑๑ ท่านก็ย้ายไปสอนที่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่น ซึ่งท่านได้ทำการเผยแผ่จนเป็นที่นิยมแพร่หลายขึ้น ต่อมาหลังจากนั้น ๒ ปี ท่านก็ย้ายไปสอนและจำพรรษาที่อื่น ได้เคยไปสอนและจำพรรษาที่วัดชลประทานรังสฤษฎิ์ (นนทบุรี) บ้าง วัดสวนแก้ว ซึ่งพระพะยอม กัลยาโณ เป็นเจ้าอาวาสบ้าง และได้บุกเบิกพัฒนาวัดสนามใน (นนทบุรี) ให้เป็นสถานที่สอนสมาธิบ้าง จนบั้นปลายชีวิตของท่าน ท่านจึงไปสร้างสำนักชื่อ “สำนักทับมิ่งขวัญ” อำเภอเมือง จังหวัดเลย หลังจากนั้นไม่นาน ท่านก็ได้มรณภาพ ใน ปี พ.ศ. ๒๕๓๑ รวมได้ ๒๙ พรรษา

หลวงพ่อเทียนเป็นพระภิกษุผู้เป็นที่เคารพสักการะของเหล่าศิษยานุศิษย์ทั้งหลาย แม้ชีวิตของท่านจะไม่เหมือนพระภิกษุที่มีชื่อเสียงหลายรูปที่มีโอกาสบวชตั้งแต่อายุยังน้อยแล้วได้ครองเพศบรรพชิตอยู่ตลอดอายุขัย แต่ท่านก็เป็นแบบอย่างที่ดีของผู้ที่ได้เคยผ่านชีวิตการครองเรือนที่ไม่ได้ละเลยที่จะสนใจธรรมะ แต่มีความฝักใฝ่ศึกษาแนวการปฏิบัติอยู่เสมอมาท่านจึงเป็นแบบอย่างชีวิตที่ดีทั้งในทางโลกและทางธรรมผู้หนึ่ง

ในการออกสำรวจศึกษาภาคสนาม ผู้วิจัยได้เข้าสัมภาษณ์ พระภิกษุและฆราวาสที่เคยมีประสบการณ์ในการทำสมาธิตามแนวหลวงพ่อเทียน ซึ่งส่วนใหญ่มีลักษณะที่ใกล้เคียงกันทั้งสาเหตุความสนใจ ทั้งการเปลี่ยนแปลงทางใจและบุคลิกภาพ ตลอดจนผลที่ได้รับอันเป็นคุณค่าที่เกิดจากการปฏิบัติธรรมเจริญสมาธิภาวนา โดยเฉพาะมีข้อสังเกตว่า ผลมี่ได้มักจะกล่าวกันตรงกันหลายท่านคือ เมื่อปฏิบัติแล้วจะ “เกิดปัญญา” ดังนั้นในการนำเสนอจึงเลือกตัวอย่างของประชากรกลุ่มเป้าหมายที่สัมภาษณ์เพื่อเป็นตัวแทนการนำเสนออธิบายปรากฏการณ์ ผล และความเปลี่ยนแปลงตามรูปแบบของการวิจัยเชิงคุณภาพของแนววิธีการทางมานุษยวิทยา แต่มีข้อจำกัดในการออกสำรวจภาคสนามในสายหลวงพ่อเทียนอยู่ประการหนึ่งคือ หลังจากที่หลวงพ่อเทียนท่านมรณภาพไปแล้วเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๑ ครูอาจารย์ที่สืบทอดแนวการสอนผู้ที่จะสามารถอธิบายให้เป็นที่เสมอทัดเทียมหรือใกล้เคียงหลวงพ่อเทียนนั้นมีน้อย ส่วนใหญ่ของบครูอาจารย์หรือผู้สอนจะแนะนำให้ผู้วิจัยศึกษาเพิ่มเติมจากเอกสาร หนังสือและเทปบันทึกการแสดงธรรมของหลวงพ่อเทียน นอกเหนือจากการสัมภาษณ์ดังนั้นในการค้นคว้าจากเอกสารของผู้วิจัยเพื่อจะนำมาศึกษาวิเคราะห์จึงอาศัยจากการบันทึกต่าง ๆ ที่ปรากฏในเอกสารบ้าง ประกอบเข้ากับการสัมภาษณ์ของผู้ที่เกี่ยวข้องในสายปฏิบัติธรรมบ้างเพื่อให้เกิดความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

ก. สาเหตุความสนใจในการฝึกสมาธิ

สาเหตุความสนใจในการฝึกสมาธิแนวหลวงพ่อเทียนนี้ พระสมบูรณ์ อายุ ๓๐ ปี ซึ่งอยู่จำพรรษาที่วัดโมกขวนาราม จังหวัดขอนแก่น ได้กล่าวถึงสาเหตุความสนใจว่า ตั้งแต่มีความศรัทธาบวชเป็นพระภิกษุมาจนปัจจุบันได้ ๓ พรรษา เคยฝึกสมาธิแนววิธีวัดมหาธาตุ ฯ (ยุบ-พอง) มาก่อนแต่ยังไม่ถูกอัธยาศัย แต่เหตุด้วยเห็นความทุกข์อยู่ในตนจึงพยายามหาแนวทางปฏิบัติที่สามารถทำให้เข้าใจธรรมะได้ จึงได้ลองฝึกแบบเคลื่อนไหว (เมื่อ ปี พ.ศ. ๒๕๓๓) ตามคำสอนของพ่อเทียน ก็ปรากฏว่าได้ผลดี จึงยิ่งมีความสนใจและมีความอุตสาหะที่จะฝึกให้มากยิ่งขึ้น และจากการมีประสบการณ์ในการเจริญสติแบบเคลื่อนไหว ก็พอที่จะให้คำแนะนำแก่ญาติโยมในการปฏิบัติได้

เกี่ยวกับสาเหตุความสนใจ เพราะเกิดจากการได้ทราบกิตติศัพท์บารมีของหลวงพ่อเทียนก่อน จึงเป็นแรงบันดาลใจนั้นพระสมบูรณ์ไม่ได้กล่าวถึง หากแต่ครูอาจารย์ที่เคยอบรมแนวปฏิบัตินั้นเป็นพระภิกษุรุ่นศิษย์ของหลวงพ่อเทียนอีกทอดหนึ่ง เช่น พระอาจารย์ทอง พระอาจารย์คำเขียน พระอาจารย์ดา เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าหลวงพ่อเทียนท่านเป็นครูอาจารย์ที่เป็นแบบอย่างที่สำคัญที่สุด

ในกรณีพระสมบูรณ์นี้เป็นตัวอย่างหนึ่งซึ่งสาเหตุความสนใจเข้าฝึกสมาธิตามแนวหลวงพ่อเทียนนั้น เป็นเพราะอยากรู้อยากลองปฏิบัติเป็นการแสวงหาวิธี หากเพียงแต่ทรายแนวปฏิบัติที่แตกต่างจากแห่งอื่นก็เกิดความสนใจใคร่จะลองปฏิบัติเผื่อว่าจะสามารถแก้ปัญหาชีวิตและความสงสัยในใจได้ ต่อมาเมื่อได้ประพฤติปฏิบัติ ได้เห็นแบบอย่างที่ดีของครูอาจารย์ เช่น กิริยามารยามและการปฏิบัติตนที่ดี จึงได้เพิ่มศรัทธาปสาทะที่จะฝึกร่วมในคณะเพื่อช่วยในการเผยแผ่แนววิธีปฏิบัติต่อไป ดังเช่น พระอาจารย์คำเขียน (พระอาจารย์คำเขียน สุวัณโณ) แห่งวัดป่าสุคโต อำเภอแก้งคร้อ จังหวัดชัยภูมิ ซึ่งเป็นศิษย์ของหลวงพ่อเทียน และได้สืบสานงานเผยแผ่แนวปฏิบัติของหลวงพ่อเทียนจนปัจจุบัน ได้บันทึกไว้ว่า

“…ที่ได้มาเป็นลูกศิษย์ลูกหานี้ ไม่ใช่เพราะประวัติของหลวงพ่อ ไม่ใช่เพราะกิริยามารยาท ไม่ใช่เพียงแต่ได้ยินคำ คำเล่าลือของผู้คนทั้งหลาย หากแต่เมื่อได้ทดลองวิธีการเจริญสติสัมปชัญญะแบบการเคลื่อนไหว เกิดผลแก่ตนเองมากมายหลายอย่าง...”

แต่อย่างไรก็ตาม สาเหตุการเข้าไปเรียนรู้แนวปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนของพระอาจารย์คำเขียนนั้นท่านเคยเล่าว่า มีสาเหตุหนึ่งเพราะได้รับการชักชวนจากผู้อื่นและจากพระที่เป็นญาติ (หลวงพ่อทอง) และเคยไปปฏิบัติกับหลวงพ่อเทียนมาก่อนจึงได้ไปฝึกอยู่ที่ป่าพุทธยาน จังหวัดเลย โดยแต่ก่อนนั้นท่านก็ได้ฝึกแบบ “พุทธ-โธ” มาก่อน และได้รับผลทางจิตใจมาก่อนบ้างแล้ว ดังนั้นเมื่อหันมาลองแบบหลวงพ่อเทียน จึงเป็นการเริ่มต้นแนวที่แปลกใหม่ ทำให้ต้องปรับตนเองเป็นเวลานาน จึงสามารถรู้และเข้าใจ จนเกิดความนิยมแนวปฏิบัติตามหลวงพ่อเทียนในที่สุด ทั้งนี้จากคำบอกเล่าของศิษยานุศิษย์ที่ปฏิบัติธรรมสายหลวงพ่อเทียนนี้ได้ยกย่องพระอาจารย์คำเขียนว่าเป็นครูอาจารย์ที่ถ่ายทอดแนวหารสอนของหลวงพ่อเทียน ตลอดจนอธิบายตอบและแก้ปัญหาแก่ผู้มาฝึกได้ดีมากรูปหนึ่งในสายนี้

นายชัช มีชัย อายุ ๓๓ ปี เป็นชาวขอนแก่น เคยไปบวชและฝึกอยู่ที่วัดโมกขวนารามเป็นเวลาหลายเดือน ได้เล่าสาเหตุความสนใจที่เข้าไปฝึกในแนวนี้ว่า เดิมตนชอบที่จะศึกษาธรรมะอยู่แล้ว เคยไปอาศัยอยู่ในวัดที่กรุงเทพฯ ครั้นเมื่อศรัทธาอยากจะบวชจึงกลับบ้านที่จังหวัดขอนแก่นโดยเลือกบวชที่วัดโมกขวนาราม เป็นเพราะได้ทราบว่าเป็นแหล่งที่สอนการปฏิบัติธรรม การทำสมาธิภาวนากันอย่างจริงจัง วัดอื่น ๆ ก็ดี แต่ตนอยากจะมุ่งปฏิบัติธรรมจึงเลือกบวชวัดนี้ ทั้งนี้ก็ไม่ใช่ว่าเคยศึกษาแนวหลวงพ่อเทียนมาก่อน จึงอยากจะมาฝึกจริง ๆ และฝึกให้มากขึ้นแต่อย่างใด เพียงแต่เข้าใจว่าเป็นแนวปฏิบัติหนึ่งในพระพุทธศาสนาเท่านั้น แต่เมื่อได้บวชและฝึกก็ทำให้เกิดความศรัทธา สนใจที่จะฝึกและนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน เพราะเป็นแนวฝึกสมาธิของหลวงพ่อเทียนเป็นการตั้งสติกำหนดอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้นทุก ๆ วันเราก็ต้องเคลื่อนไหวทำกิจการงานอยู่แล้ว จึงสามารถทำสมาธิได้ทุกอิริยาบถ

สาเหตุความสนใจจากการสัมภาษณ์นายชัชนี้อธิบายได้ว่า ผู้เข้าฝึกอบรมไม่ได้มีความสนใจเป็นพิเศษในแนวการทำสมาธิแบบหลวงพ่อเทียน แต่ครั้นได้ฝึกก็เกิดความรู้แจ้งเห็นจริง แล้วจึงเกิดความศรัทธาแล้วสนใจใคร่จะปฏิบัติให้มากขึ้น จากกรณีนี้มีลักษณะคล้ายกับนายกำภู สท้านไตรภพ ที่ได้บันทึกเกี่ยวกับปัจจัยที่เป็นสาเหตุให้เข้าไปฝึกปฏิบัติธรรมสายหลวงพ่อเทียน และเกิดศรัทธาโดยสรุปได้ว่า เดิมนั้นเป็นผู้สนใจในธรรมอยู่บ้างแล้ว แต่ก็ไม่ได้มีความสนใจแนวปฏิบัติแบบหลวงพ่อเทียนมาก่อน เมื่อมีโอกาสไปบวชที่วัดชลประทานรังสฤษฎิ์ นนทบุรี ก็ได้มีโอกาสฝึกเจริญสติตามแนวหลวงพ่อเทียน ซึ่งเป็นการสอนจากหลวงพ่อเทียนโดยตรง (หลวงพ่อเทียนได้รับอาราธนาให้เป็นพระอาจารย์พิเศษสอนการเจริญสติที่วัดชลประทานฯ) นายกำภูเล่าไว้อีกว่า ในครั้งนั้นได้ฝึกปฏิบัติแต่ก็ไม่ทราบความหมายและไม่ได้ใส่ใจว่าตนเองปฏิบัติได้ถึงขั้นไหนแล้ว อีกทั้งได้เคยไปกราบเรียนถามพระธรรมะจากหลวงพ่อเทียนหลายวัน ก็ยังไม่เกิดความสนใจศรัทธาอย่างไรขึ้นเป็นพิเศษ จนลาสึกออกมาก็ได้ไปปฏิบัติสมาธิแนวอื่นจนกระทั่งมีโอกาสลางานราชการเพื่อบวช (พ.ศ. ๒๕๓๐) ก็ไม่ได้ตั้งเป้าหมายว่าจะไปบวชฝึกตนเองที่วัดสนามใน นนทบุรี หากแต่มุ่งไปที่วัดอื่น แต่ด้วยเหตุขัดข้องของวัดอื่นดังกล่าวทำให้มาเลือกบวชฝึกที่วัดสนามใน ได้มีโอกาสศึกษางานและแนวการสอนของหลวงพ่อเทียน ซึ่งการศึกษาครั้งนี้ก่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในธรรมะมากขึ้น เริ่มมีความสนใจและศรัทธาในแนวการทำสมาธิแบบหลวงพ่อเทียนมากขึ้นด้วย และหลังจากนั้นได้มีโอกาสเวียนไปปฏิบัติสมาธิที่วัดสนามในเมื่อมีโอกาส ซึ่งก็ได้รับความรู้แจ้งในธรรมะมากขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ตามนายคำภูได้มีบันทึกตอนหนึ่งในเอกสารเดียวกันถึงสาเหตุหนึ่งที่น่าสนใจในการทำสมาธิ คือความต้องการอย่างจะมีอิทธิฤทธิ์ มีอภินิหาร สามารถล่วงรู้จิตใจคนได้

จากตัวอย่างข้างต้น สามารถสรุปสาเหตุความสนใจได้ว่าเกิดจากการปฏิบัติสมาธิตามแนวคำสอนของหลวงพ่อเทียน จนบังเกิดผล จึงมีความสนใจและเพิ่มศรัทธาที่จะฝึกปฏิบัติมากขึ้น ทั้งที่เดิมก็ไม่ได้มีจิตศรัทธาหรือสนใจในแนวนี้มาก่อนเป็นพิเศษ

ข. แนวการที่ทำให้เกิดความสนใจ

จากการที่ผู้วิจัยได้ไปสัมภาษณ์เหล่าศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อเทียน อาจจะกล่าวในเบื้องต้นนี้ว่า หลวงพ่อเทียนท่านได้สร้างให้เกิดความสนใจใคร่ปฏิบัติสมาธิ แนวการสอนของท่านส่วนใหญ่ทำให้ผู้เข้ามารับการสอนประสบผลสำเร็จ บังเกิดผลดีในจิตใจ มากกว่าความประทับใจในบุคลิกลักษณะ กิริยามารยาท ตลอดจนวัตรปฏิบัติซึ่งเป็นสิ่งที่ทำให้เกิดความศรัทธาตามมาภายหลังเหล่านั้น

ทั้งนี้พระสมบูรณ์ (ที่ได้ยกมาอ้างแล้ว) ได้เล่าว่าท่านเพิ่งบวชได้มาไม่นาน โอกาสจะได้สัมผัสหรือฝึกกับหลวงพ่อเทียนนั้นไม่มากเลย แต่อาศัยการศึกษาจากชั้นศิษย์ จากการถ่ายทอดและวิธีการสอน โดยการให้เคลื่อนไหว มีสติรู้เท่าทัน กล่าวคือ ยิน เดิน นั่ง นอน เคลื่อนไหวให้มีสติรู้ มีการสร้างจังหวะ อีกทั้งครูอาจารย์ท่านก็สามารถตอบคำถาม แก้ข้อข้องใจได้กระจ่างมองเห็นทุกข์อยู่เบื้องหน้า จึงถือว่าเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เกิดความสนใจ และได้เป็นแนวทางในการอบรมสั่งสอนญาติโยมอีกต่อไป

นายชัชก็ได้กล่าวในทำนองเดียวกัน โดยอธิบายเพิ่มเติมว่าแนวคำสอนของหลวงพ่อเทียนทำให้ตนรู้ว่าอะไรคือรูป อะไรคือนาม การรู้รูปนามมีค่าอย่างยิ่งการนั่งสร้างจังหวะด้วยการเคลื่อนไหวร่างกายในรูปแบบอิริยาบถที่หลวงพ่อท่านสอน สามารถทำให้เกิดความรู้ในรูปนามดี มีความรู้สึกรู้เท่านั้นในตนเอง และปรากฏการในภายนอก นายชัชได้เปรียบเทียบไว้ว่าคล้ายกับการฝึกสติแบบเซน ซึ่งมีความนิยมกันในแถบญี่ปุ่นและตะวันตก โดยมีหลักการให้มีสติรู้ตัวอยู่เสมอ จึงถือว่าแนวการสอนของหลวงพ่อท่านไม่ล้าสมัยและเชื่อว่าถ้ามีการเผยแผ่ออกไปทางตะวันตก อาจจะได้รับความนิยมเป็นอย่างสูง โดยเฉพาะผู้ที่เคยฝึกสติแบบเซนมาก่อน ทั้งนี้นายชัชได้เล่าและอ้างอิงเอกสารหนังสือเกี่ยวกับหลวงพ่อเทียนที่ท่านเคยไปสอนยังประเทศสิงคโปร์และได้รับผลเป็นที่นิยมของชาวสิงคโปร์อย่างมาก ทั้งนี้โดยที่เขาเหล่านั้นได้เคยเรียนการฝึกสติแบบเซนจากอาจารย์ญี่ปุ่นมาก่อน

ความเด่นในเรื่องเทคนิคหรือแนวการสอนของหลวงพ่อเทียนเป็นแนวทางที่ปฏิบัติให้เกิดผลดีได้นี้ นายแพทย์วัฒนา สุพรหมจักร ได้บันทึกให้ทราบและสามารถตั้งข้อสังเกตในเรื่องความสำเร็จในแนวการสอนที่ทำให้เกิดความสนใจ สรุปความได้ว่า หลวงพ่อเทียนท่านมีลักษณะภายนอกคล้ายกับพระหลวงตาทั่วไป (พระหลวงตาหมายถึงพระที่บวชเมื่ออายุมากแล้ว) มีความสงบ พูดน้อย แต่ในท่ามกลางความสงบนั้น ท่านมีความตื่นตัว รู้ตัวเองตลอดเวลา ท่านไม่รู้หนังสือ แต่สามารถสอนและอธิบายธรรมะได้อย่างน่าอัศจรรย์ด้วยปัญญาหลักแหลม โดดเด่นในการตอบปัญหา สามารถใช้คำพูดที่กระชับเข้าใจง่ายในทุกระดับชั้น มีความชัดเจนสามารถทำให้หมดข้อสงสัยได้

แนวการสอนของหลวงพ่อเทียน หากพิจารณาในอีกแง่มุมหนึ่งจะพบว่าท่านเป็นนักปฏิบัติธรรมที่ไม่ยึดติดตำรา ความรู้และแนวการสอนที่เกิดขึ้น ล้วนมาจากประสบการณ์ปฏิบัติจริง ดังนั้นการอธิบายหัวข้อธรรมจึงมีลักษณะเด็ดขาด แต่ไม่ใช่ลักษณะโผงผางดังเช่น นายแพทย์วัฒนาได้บันทึกเล่าไว้ความสรุปว่าหลวงพ่อเทียนท่านสอนแบบฉีกตำรา กล่าวคือ ในการศึกษาพระพุทธศาสนาแบบทั่วไปโดยทั่วไปย่อมจะยึดถือพระไตรปิฎกเป็นหลัก แต่หลวงพ่อท่านให้ความเห็นว่า พระไตรปิฎกนั้นจารึกหลังพระพุทธเจ้าปรินิพพานหลายร้อยปี และคัดลอกต่อกันมาหลายพันปี คนเขียนกับคนอ่านอาจจะเข้าใจไม่ตรงกัน ถ้าจะยึดอ้างแต่ตำรา ก็เหมือนกับว่าเราต้องรับรองคำพูดคนอื่นซึ่งไม่แน่ว่าจะเชื่อได้หรือไม่ แต่สิ่งที่ท่านสอนนั้น เกิดจากการปฏิบัติธรรมและมีประสบการณ์จริงๆ ท่านยังได้เปรียบเทียบอีกว่า ตำราเปรียบเสมือนแผนที่ เหมาะสำหรับผู้ที่ยังไม่รู้ทางไปหรือยังไปไม่ถึงจุดหมายผู้ที่ไปถึงแล้วแผนที่ก็หมดความหมาย แต่อย่างไรก็ตามหลวงพ่อเทียนก็ไม่ได้ปฏิเสธตำราเสียเลย ดังที่ท่านกล่าวอีกว่า การศึกษาพระไตรปิฎกนั้นดี แต่อย่าติดและเมาในตัวหนังสือ วรรคท่านเปรียบเทียบให้เห็นชัดเจนอีกว่า เหมือนมะม่วงมีชื่อเรียกหลายภาษา ถ้ามีแต่เพียงการตีความหรือต้องมีการยึดถือก่อนว่าจะเรียกว่าอะไรมะม่วงคงจะเน่าเสียก่อน ส่วนคนที่กินเลยย่อมจะได้รับรู้รสชาติของมะม่วงนั้นว่าเป็นอย่างไร

จากความเห็นข้างต้น สามารถอธิบายตั้งข้อสังเกตในที่นี้ว่า หลวงพ่อเทียนมีสิ่งที่ก่อให้เกิดความสนใจแก่ผู้ใฝ่ในการปฏิบัติสมาธิ ก็คือแนวการสอนที่เช้าใจง่ายและสามารถทำให้ผู้ปฏิบัติบังเกิดผลได้ในตนเอง ซึ่งผู้วิจัยได้ประมวลสรุปถึงลักษณะสำคัญและวิธีการสอนของท่านดังนี้คือ

- หลวงพ่อเทียน ท่านอ่านหนังสือไทยไม่ได้ แต่สามารถอธิบายในภาคภาษาไทยแก่ผู้มาฝึกได้เป็นที่เข้าใจอย่างดี ซึ่งแสดงว่าท่านไม่ได้อ่านจากตำรามาสอน จึงเป็นที่ศรัทธาและน่าสนใจแก่ผู้เช้าอบรม

- ท่านเข้มงวดในการปฏิบัติ นอกจากจะสอนแล้ว ท่านยังปฏิบัติให้เห็นเป็นแบบอย่าง และยังควบคุมดูแลผู้ฝึกอย่างใกล้ชิด จึงทำให้เกิดความก้าวหน้าในตัวผู้ปฏิบัติ และความบังเกิดผลดังกล่าวส่งผลให้มีการเผยแผ่ขยาย และปรากฏการเหล่านี้ต่อ ๆ กันไปถึงความสามารถของท่าน

- แนวคำสอนของหลวงพ่อเทียน เกิดจากการปฏิบัติด้วยตนเอง หลังจากการลองฝึกมาหลายวิธี แนวการปฏิบัติด้วยวิธีที่ท่านคิดขึ้นมานั้น ท่านมีความชำนาญที่สุด การถ่ายทอดจากต้นแบบจึงปรากฏผลดี

ค. การเปลี่ยนแปลงและผลที่ได้รับหลังจากการฝึกสมาธิ

พระสมบูรณ์ (อ้างแล้วข้างต้น) ว่าหลังจากที่ท่านได้มาฝึกแบบของหลวงพ่อเทียนแล้ว ท่านมความเปลี่ยนแปลงคือ ในเรื่องความเข้าใจหลักธรรมต่อศาสนานั้น ท่านมีความเข้าใจศาสนาได้ลึกซึ้งแท้จริงไม่เหมือนก่อนที่เคยเสาะแสวงหาแนวปฏิบัติแต่ก็ยังไม่เข้าใจ ยังไม่สามารถทำให้ท่านเข้าใจในทุกข์ได้อย่างแท้จริง การฝึกด้วยหารเคลื่อนไหวหรือการสร้างจังหวะ เป็นวิธีธรรมชาติทำให้เจริญสติสามารถเข้าใจในชีวิตของตนเอง มีความสุขสงบในใจมากขึ้น ซึ่งสามารถสังเกตเห็นการเปลี่ยนแลปงนี้ด้วยตนเองได้

ผลที่ได้รับกล่าวว่ามีคุณค่ามากมาย เพราะทำให้เกิดปัญญาหายสงสัยในทุกข์ที่บังเกิดต่อหน้า ซึ่งผลดีดังกล่าวท่านก็ได้นำไปถ่ายทอดสอนแก่ญาติโยมเพื่อให้ได้รับสิ่งที่ดีนี้ตามมาด้วย

นอกจากประสบการณ์การฝึกตามแนวหลวงพ่อเทียนจะเป็นแนวที่ปฏิบัติได้ผลหลังจากลองมาหลายวิธีแล้วนั้น จากบันทึกของหลวงพ่อคำเขียน ซึ่งท่านก็ได้อธิบายขยายความให้เข้าใจมากขึ้น กล่าวคือ แต่ก่อนท่านเคยฝึกแบบพุท-โธ พอมาฝึกแบบหลวงพ่อเทียน ที่ไม่ต้องอาศัยการกำหนดลมหายใจ ทำให้ท่านต้องปรับแนวปฏิบัติ เหมือนกับมีทิฐิที่ไม่อยากเปลี่ยนวิธี แต่หลังจากได้รับการแนะนำจากหลวงพ่อเทียนก็ตั้งใจจะลองปรับเปลี่ยนดู ก็ปรากฏบังเกิดผล ซึ่งการนั่งสร้างจังหวะ การกำหนดสติให้รู้เท่าทันอาการนั้น ทำให้ท่านเกิดปัญญาและความกระจ่างในการปฏิบัติ ดังท่านกล่าวไว้สรุปความว่า เมื่อปฏิบัติไปเกิดเผลอคอดก็ได้ พยายามจะดึงความรู้ตัว สติให้กลับมาอยู่กับการสร้างจังหวะ จากนั้นก็จะสงบทีละน้อยโดยที่รู้สึกตัว รู้กายรู้ใจชัดเจนขึ้น มีสติสัมปชัญญะมากขึ้น รู้ทันต่อกายเคลื่อนไหวทันต่อใจที่คิด เกิดปัญญาญาณขึ้น รู้เรื่องรูป-นาม เรื่องกาย เรื่องใจ ตามความเป็นจริง ลำดับไปจนจบอารมณ์รูป-นามเบื้องต้น จิตใจเปลี่ยนไป พ้นภาวะเดิม ความลังเลสงสัยหมดไป รู้เรื่องของสมถะและเรื่องของวิปัสสนา ความทุกข์หมดไป ๖๐% มีความมั่นใจในคำสอนของหลวงพ่อเทียนมาก ความรู้เก่าเดิมจืดจางไปหมด เคยเรียนคาถาอาคมเครื่องรางของขลังเห็นว่าเป็นเพียงสิ่งสมมุติ พิธีรีตองต่าง ๆ ที่เคยยึดมั่นถือมั่นวางได้ มีความเชื่อในการกระทำรู้เรื่องบุญ เรื่องบาป เรื่องนรกสวรรค์ รู้เรื่องศาสนา เหมือนกับแบกของหนักมา ๑๐๐ กิโลกรัม พอเกิดปัญญาขึ้นน้ำหนักหลุดออกไป ๖๐ กิโลกรัม

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นข้างต้นถือว่าเป็นการเปลี่ยนภายในจิตใจโดยตรง เป็นการทำให้เกิดการพัฒนาทางปัญญาและความเข้าใจในพระพุทธศาสนา

นายชัช (อ้างแล้ว) ก็ได้เล่าถึงการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับตนหลังจากได้ไปฝึกสมาธิและปฏิบัติตามแนวสอนของหลวงพ่อเทียนว่ามีความเข้าใจในเรื่องรูปนาม เข้าใจชีวิต ทำให้เกิดความรักในการปฏิบัติสมาธิหรือการสร้างจังหวะ การเคลื่อนไหวด้วยการมีสติอย่างนี้มากขึ้น จิตใจสงบขึ้นและที่สำคัญก็คือมีความรู้หรือปัญญามากกว่าแต่ก่อน เข้าใจว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือบุญคือบาป ซึ่งนายชัชกล่าวว่า หลวงพ่อท่านสอนว่า บุญเหนือบุญ ก็คือการรู้จักตนเอง ตนมีความเชื่อมั่นที่สุดว่าวิธีปฏิบัตินี้สามารถแก้ทุกข์และปัญหาชีวิตได้ การปฏิบัติตามแนวทางของหลวงพ่อเทียนนี้ ท่านได้กล่าวไว้เป็นวิธีที่สั้น ลัด หรือกล่าวว่าเป็นวิธีปฏิบัติและสามารถเห็นธรรมสำเร็จอึดใจเดียวได้ ทั้งนี้ด้วยเหตุผลที่เกิดจาก การมีสติกำหนดรู้เท่าทันความคิด ความคิดที่จะเปลี่ยนไปมีสิ่งที่เข้ามาปรุงแต่ง ผลที่ได้รับย่อมจะทำให้รู้ เวทนา ตัณหา อุปาทาน รู้ในอริยสัจ กล่าวคือรู้ทุกข์ วิธีแก้ทุกข์ เป็นต้นการมีสติก็สามารถดับทำลายกิเลสหรือสาเหตุแห่งทุกข์ได้ แต่การปฏิบัติเพื่อจะให้ได้รับผลดังกล่าวก็จำเป็นต้องมีการฝึกบำเพ็ญเพียร มีศรัทธา การปฏิบัติให้ได้ผลในเบื้องต้น สามารถจะทำให้เกิดความเพียรที่จะปฏิบัติให้สูงยิ่ง ๆ ขึ้นไป

ประโยชน์และผลที่จะได้รับเมื่อประพฤติปฏิบัติตามแนวทางนี้นั้น แม่ดอกไม้ ศรีสวัสดิ์ (นางดอกไม้ ศรีสวัสดิ์ ศิษย์ที่เคยไปปฏิบัติธรรมกับหลวงพ่อเทียน รุ่น ๓ ณ ทับมิ่งขวัญ จังหวัดเลย) ซึ่งเป็นขจ้าราชการบำนาญได้อธิบายถึงผลที่ได้รับจากการปฏิบัติธรรมนี้สรุปความว่า นอกจากจะนำไปใช้กับการงานได้ทุกอย่างแล้วยังทำให้มีประสิทธิภาพในหารทำงาน กล่าวคือ ทำงานไม่ผิดพลาด การมีสติช่วยให้เรารู้จักรักษาตน ป้องกันตนให้พ้นภัยได้ สำหรับในด้านชีวิตประจำวันและครอบครัว เมื่อเกิดมีปัญหาก็สามารรถใช้ความรู้ สติปัญญาที่เกิดขึ้นแก้ปัญหาได้ ทั้งยังช่วยสังคมบุคคลอื่นได้ โดยทั้งนี้แม่ดอกไม้ได้สรุปไว้ว่า เท่าที่ปฏิบัติมาหลายปี แม้จะไม่รู้อะไรมากนัก แต่ก็มีความมั่นใจว่าวิธีการนี้สามารถแก้ทุกข์ และปัญญาชีวิตได้จริงจนไม่อาจจะเทียบค่าได้ การรู้จักความพอดี อยู่อย่างไม่กังวล มีความเป็นสุขตามธรรมชาติของมนุษย์ผู้มีศีล สมาธิ ปัญญา ย่อมจะเป็นชีวิตที่มีความสุขและล่วงทุกข์ได้

จากการที่หลวงพ่อเทียนได้เดินทางไปเผยแผ่ในต่างประเทศคือ ที่ประเทศสิงคโปร์ ก็ปรากฏว่ามีผู้มารับการฝึกอบรมและได้รับผลดี ดังเช่นนายหยกเหลียน ได้บันทึกไว้สรุปความว่าหลังจากได้ฝึกเจริญสติตามแนวของหลวงพ่อเทียนไปได้ระยะหนึ่งก็รู้สึกได้รับผลดีในตนคือ รู้สึกว่าตนเองมีชีวิตอยู่กับปัจจุบันมากขึ้นเรื่อย ๆ การรู้สึกและการเห็นความคิด กลายเป็นการฝึกปฏิบัติทีได้กระทำจนเป็นกิจวัตรประจำวัน ช่วยให้ความทุกข์ลดลงอย่างมากมายด้วย

หลังจากหลวงพ่อเทียนได้ค้นพบแนวคำสอนให้เข้าถึงธรรม อันเป็นแบบฉบับของตนแล้ว ท่านได้ออกสั่งสอนประชาชน ซึ่งมีผู้มาปฏิบัติกับท่านแพร่หลายขึ้น ในเบื้องต้นท่านได้จัดตั้งสำนักขึ้นในท้องถิ่นที่เป็นภูมิลำเนา คือจังหวัดเลย ต่อมาได้ขยายออกไปหลายแก่ง เช่น

- พ.ศ. ๒๕๐๙ ได้ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรม ณ ป่าพุทธญาณ จังหวัดเลย ครั้นต่อมาสถานที่นี้ได้กลายเป็นที่ตั้งของวิทยาลัยครูเลย จึงได้ย้ายสำนักไปที่บ้านกำเนิดเพชร อำเภอเมือง จังหวัดเลย

- พ.ศ. ๒๕๑๔ ได้มาสอนแนวปฏิบัติที่วัดโมกขวนาราม ตำบลบ้านเป็ด อำเภอเมือง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งสถานที่นี้ได้กลายเป็นสาขาสอนการปฏิบัติที่มีผู้นิยมมากแห่งหนึ่ง แต่ปัจจุบันพบว่า ยังมีผู้มาสนใจอยู่บ้างแต่ผู้ที่จะสอนได้จริง ๆ ไม่ค่อยมี

- พ.ศ. ๒๕๒๓ ได้เป็นผู้บุกเบิกปรับปรุงวัดสนามใน จังหวัดนนทบุรี ให้เป็นสถานที่สอนปฏิบัติธรรมแนวของท่าน ซึ่งปัจจุบันก็ยังมีการสอนอยู่

- พ.ศ. ๒๕๒๖ ก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมทับมิ่งขวัญ ที่อำเภอเมือง จังหวัดเลย ซึ่งสถานที่นี้ได้เป็นที่ที่ท่านกลับมามรณภาพ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๑

นอกจากนี้ท่านยังได้เดินทางไปสอนธรรมในต่างประเทศ เช่น เคยไปสิงคโปร์ ๒ ครั้ง ซึ่งทำให้มีชาวต่างประเทศสนใจแนวการปฏิบัติเป็นอย่างดี

วิธีปฏิบัติโดยการเจริญสติแบบเคลื่อนไหวของหลวงพ่อเทียนนี้ นับเป็นวิธีหนึ่งที่ได้มีการเผยแผ่แนวปฏิบัติในประเทศไทย แม้ท่านจะมรณภาพไปเมื่อวันที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๓๑ แต่ผลงาน คำสอนของท่านยังคงมีการเผยแผ่เป็นเอกสารหนังสือ หรือเทปบันทึกเสียงด้วย

 หนังสือ เอกสาร บันทึกการเทศน์สอนของหลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

แม้หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ ได้มรณภาพไปแล้ว แต่ก็ยังมีศิษยานุศิษย์ได้นำบทเทศนาและผลงานอื่นๆ ของท่านจัดพิมพ์เป็นหนังสือและสื่อต่างๆ เช่น

- หนังสือปฏิบัติธรรม โดย หลวงพ่อเทียน จิตฺตสุโภ

- วิธีปฏิบัติธรรมเพื่อเอาไปประยุกต์ใช้กับการงานทุกอย่าง

- วิธีปฏิบัติธรรมทางลัด

- แสงสว่างทางชีวิต

- ธรรมะอึดอัดใจเดียว

- หลักพุทธศาสนาที่แท้จริง

- สว่างที่กลางใจ เล่ม ๑-๒ เป็นต้น

ส่วนเทปเสียงมีเผยแพร่หลายชุด เช่น

- พูดความจริง

- ทิฐิหลวงพ่อเทียน

- วิธีแก้ทุกข์ เป็นต้น

++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๔. การปฏิบัติสมาธิแนวอาจารย์แนบ มหานีรานนท์


การสอนการปฏิบัติสมาธิในแนวประยุกต์ที่กำลังได้รับความนิยมกันมากทั้งในหมู่ชาวไทยและชาวต่างประเทศ แห่งหนึ่งคือ การสอนโดย อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ แห่งสำนักปฏิบัติธรรมบุณย์กัญจนารามมูลนิธิ ถนนสุขุมวิท เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี

๑. ความเป็นมาและประวัติของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์

อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เกิดเมื่อวันที ๓๑ มกราคม ๒๔๔๐ บิดามารดาของท่านคือ พระยาสุทธยานุกูล กับคุณหญิงแปลก ขณะที่ท่านเกิดนั้นบิดาของท่านดำรงตำแหน่งเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดกาญจนบุรี ในปี พ.ศ. ๒๔๗๔ เมื่อท่านอายุได้ ๓๔ ปี มีประสบการณ์อย่างหนึ่งเกิดขึ้นกับตัวท่าน ซึ่งจัดเป็นการเปลี่ยนชีวิตทั้งชีวิตของท่านเลยทีเดียว เหตุการณ์นั้นก็คือ เมื่อท่านมองดูวัตถุสิ่งหนึ่ง ท่านก็ได้เห็นสภาวะอันแท้จริงของการเห็นนั้น ในอารมณ์ปัจจุบันที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้าในขณะนั้น ท่านตระหนักว่าไม่ใช่ตัวของท่านที่เป็นผู้เห็น นั่นคือไม่มีตัวตนของท่าน กล่าวอีกนัยหนึ่งที่คิดว่าเป็น “เขา” เป็น “ตัวตนของเรา” นั้น แท้จริงแล้วประกอบด้วยสภาวธรรม (รูปธรรมและนามธรรม) มากมาย มีการเกิดขึ้นและดับไปอย่างรวดเร็วมาก การค้นพบนี้ทำให้ท่านแน่ใจว่าวิธีเดียวที่จะกำจัดกิเลสและสิ้นสุดทุกขเวทนาได้จะต้องกระทำในขณะปัจจุบันเท่านั้น


อย่างไรก็ตาม ในขณะที่ท่านตระหนักถึงความจริงดังกล่าวนี้ท่านไม่เคยเข้ารับการฝึกธรรมะ หรือฝึกปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานมาก่อนเลย ท่านจึงเริ่มสนใจการฝึกปฏิบัติธรรมะและได้พบกับพระพม่ารูปหนึ่งคือ มหาวิลาสญาณวโร (เดิมจำพรรษาและสอนวิปัสสนากรรมฐานอยู่ที่วัดมหาธาตุฯ ปัจจุบันเป็นพระราชาคณะที่พระเทพมุนี วัดยานนาวา กรุงเทพมหานคร)

อาจารย์แนบเริ่มฝึกปฏิบัติกรรมฐานตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๗๕ หลังจากฝึกได้ ๔ เดือน ท่านก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก ท่านได้ศึกษาพระอภิธรรมจนแตกฉาน จนได้ชื่อว่าเป็น “ผู้นำของขบวนการอภิธรรม” เนื่องจากท่านเป็นบุคคลแรกที่ได้นำเอาการสอนอภิธรรมเข้ามาเผยแผ่ในประเทศไทย ท่านเป็นอาจารย์สอนวิปัสสนากรรมฐานตามศูนย์ปฏิบัติสมาธิต่างๆ เป็นเวลากว่า ๔๐ ปี โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่สำนักปฏิบัติธรรมบุณย์กัญจนารามมูลนิธิ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ท่านถึงแก่กรรมเมื่อวันที่ ๖ ธันวาคม ๒๕๒๖ เมื่ออายุ ๘๖ ปี

สำหรับนักปฏิบัติธรรมบุณย์กัญจนารามมูลนิธินี้ ตั้งอยู่ที่ถนน สุขุมวิท กม. ๑๕๐ เมืองพัทยา จังหวัดชลบุรี ก่อตั้งขึ้นใน พ.ศ. ๒๕๐๖ โดยนาย บุณย์ เจริญชัย ซึ่งในขณะนั้นดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม และบุคคลอื่นๆ ที่มีบทบาทในการก่อตั้งสำนักปฏิบัติธรรมแห่งนี้ได้แก่ หลวงปริวรรตวรวิจิต นายเชื้อ และนางอนงค์ จันทน์ตรูผล นายสมัยชัย เอกอุ่น และนาวาอากาศเอกอำนวย ทัพพะรังสี ทั้งนี้โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญ ๓ ประการดังต่อไปนี้

ก. บำรุงการศึกษาพระปริยัติธรรม

ข. บำรุงการปฏิบัติธรรม

ค. บำรุงการเผยแผ่ธรรมในพระพุทธศาสนา

๑. การศึกษาธรรมและการคิดค้นแนววิธีการสอน

อาจารย์แนบ มหานีรานนท์ เริ่มต้นศึกษาธรรมด้วยการศึกษาว่าพระพุทธศาสนาที่แท้จริงคืออะไร ท่านคิดว่าพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นคืออะไร ท่านคิดว่าพระพุทธศาสนาที่แท้จริงนั้นมีความหมาย ๒ นัยคือ

นัยที่ ๑ พระพุทธศาสนาได้แก่สภาวธรรม

ในประเด็นนี้ พุทธปรัชญาที่อธิบายให้เห็นส่วนประกอบของสภาวธรรม คือ รูปธรรมและนามธรรม นี้ มีอย่างละเอียดลึกซึ้งอยู่ในพระอภิธรรมปิฎกซึ่งได้อธิบายไว้โดยพิสดารว่า พระพุทธศาสนาได้แก่ สภาวธรรม หรือธรรมชาติที่ชื่อว่าจิต เจตสิก รูป และนิพพาน สภาวธรรมทั้ง ๔ นี้ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ตัวตน ไม่ใช่เรา ไม่ใช่หญิง ไม่ใช่ชาย ซึ่งท่านเรียกว่า ปรมัตถธรรม คือ ปฏิเสธความเป็นสัตว์บุคคล ตัวตนในธรรมชาติเหล่านี้

คนเราทุกคนก็ประกอบด้วยสภาวธรรม ๓ ประการคือ จิต เจตสิก กับรูป ที่เรียกว่า ขันธ์ ๕ หรือรูปธรรม และนามธรรม ซึ่งวนเวียนไปในความ เกิด แก่ เจ็บ ตาย โดยอาศัยเหตุปัจจัยอุดหนุนซึ่งกันละกัน เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป หมุนเวียนกันเช่นนี้ไม่รู้จักจบสิ้นลง ลักษณะเรียกว่า โลกียธรรม ขันธ์ ๕ หรือรูปนามนี้คือทุกขสัจ ซึ่งเป็นตัวทุกข์ อันเป็นผลมาจากเหตุ คือ กิเลสตัณหาที่มีชื่อว่าสมุทัยสัจ ดังที่อาจารย์แนบได้อธิบายไว้ว่า

“…กิเลสตัณหา นี้แหละ เป็นผู้สร้างอันแท้ ถามว่าสร้างใครก็สร้างสภาวธรรมที่ชื่อทุกขสัจ แล้วก็สมมุติเรียกทุกขสัจว่าเป็นคน เป็นเรา เป็นตัวตนของเรา เป็นคนนั้น ชื่อนั้น ชื่อนี้ เป็นต้น ซึ่งทั้งตัวผู้สร้างกับผู้สร้างก็ตกอยู่ในกฎของความไม่เที่ยงเป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ด้วยกันทั้งสิ้น โดยไม่มีใครผู้ใด หรือผู้วิเศษปานใดที่จะได้รับยกเว้นไม่ต้องตกอยู่ในกฎแห่งลักษณะทั้ง ๓ ประการนี้ไปได้เลย”

การที่จะดับทุกข์อันเกิดการกิเลสนี้ ก็จะต้องปฏิบัติธรรม เพื่อให้พ้นทุกข์ ไปสู่นิพพาน ซึ่งเป็นธรรมชาติที่ดับกิเลสและดับทุกข์ อันเป็นธรรมที่พ้นไปจากทุกข์ คือ ขันธ์ ๕ หรือรูปนามหรือพ้นไปจากโลกนิพพานเป็นอารมณ์ของบรรดาจิตและผลจิต ซึ่งเรียกว่า โลกุตธรรม

นัยที่ ๒ พระพุทธศาสนาคือ คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนเรื่องเกี่ยวกับประโยชน์ ๓ อย่าง ตามความเหมาะสมแก่อุปนิสัยของคนผู้ควรรับฟัง ที่จะนำไปปฏิบัติ ได้แก่

๑. ประโยชน์เพื่อความสุขในชาตินี้ เช่น สอนว่าอย่าเบียดเบียนจิตใจของตนเองให้เดือดร้อน เศร้าหมอง เช่น ไม่โกรธตอบผู้ที่โกรธเรา หรือไม่มีความพยาบาท เป็นต้น

๒. ประโยชน์เพื่อความสุขในชาติหน้า เช่น สอนให้ประพฤติอยู่ในศีลธรรม และเจริญสมถะภาวนา เป็นต้น

๓. ประโยชน์เพื่อความสุขโดยส่วนเดียวเท่านั้น ได้แก่ ความพ้นทุกข์ คือ นิพพาน ซึ่งเป็นประโยชน์อันประเสริฐสุด หรือยิ่งใหญ่ในพระพุทธศาสนา เพราะเป็นสุขที่ไม่กลับมาทุกข์อีก

๓. แนวการสอนวิธีฝึกสมาธิ

หลักสำคัญในการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน ในสำนักปฏิบัติธรรมบุณย์กัญจนารามมูลนิธินี้ คือ มหาสติปัฏฐานสูตร อันเป็นพระสูตรที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งจะทำให้ผู้ปฏิบัติเข้าถึงปัญญาเบื้องสูง อันนำไปสู่ความพ้นทุกข์มหาสติปัฏฐานสูตรนั้น แบ่งออกเป็น ๔ หมวด ได้แก่

หมวด ๑

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การพิจารณาเห็นกายในกายเนือง ๆ โดยมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกให้หมดสิ้นไป ซึ่งมีข้อพิจารณา ๑๔ ข้อ คือ

๑. อานาปา ได้แก่ ข้อกำหนดรู้ลมหายใจเข้ายาวหรือสั้น หายใจออกยาวหรือสั้น รวม ๔ อย่าง โดยตั้งสติไว้ที่ปลายจมูก หรือริมฝีปากเพียง ๒ แห่งนี้เท่านั้น

๒. อิริยาบถ ๔ ได้แก่ ข้อกำหนดรู้อิริยาบถใหญ่ คือ ยืน เดิน นั่ง นอน โดยตั้งกายอยู่ในอาการอย่างไร ๆ ก็ให้รู้ในอาการนั้น ๆ หรือท่าทางนั้น ๆ

๓. สัมปชัญญา ๗ ได้แก่ ข้อกำหนดรู้อิริยาบถบ่อย คือ

๓.๑ ในการก้าวไป ในการถอยกลับ

๓.๒ ในการแล ในการเหลียว

๓.๓ ในการคู้แขนเข้า ในการเหยียดแขนออก

๓.๔ ในการใช้ผ้าสังฆาฏิ บาตร และจีวร

๓.๕ ในการกิน ดื่ม เคี้ยว ลิ้ม (เลีย)

๓.๖ ในการถ่ายอุจจาระ ถ่ายปัสสาวะ

๓.๗ ในการเดิน ยืน นั่ง นอน หลับ ตื่น พูด นิ่ง

๔. ปฏิกูล ได้แก่ ข้อกำหนดรู้อาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน เป็นต้น

๕. ธาตุ ได้แก่ ข้อกำหนดรู้ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ

๖.ซากศพ ได้แก่ กำหนดรู้ซากศพในป่าช้า มี ๙ ข้อคือ

๖.๑ พิจารณาซากศพ ที่ตายแล้ว ๑ วัน หรือ ๒-๓ วัน จนขึ้นพอง เป็นต้น

๖.๒ พิจารณาซากศพ ที่สัตว์กิน มีแร้งและสุนัขกัดกิน เป็นต้น

๖.๓ พิจารณากระดูกศพ ที่มีเนื้อและเลือดติดอยู่บ้าง เส้นเอ็นยังรัดอยู่

๖.๔ พิจารณากระดูก ที่ไม่มีเนื้อ มีแต่เลือดติดอยู่บ้าง และเส้นเอ็นยังรัดอยู่

๖.๕ พิจารณากระดูก ที่ไม่มีเนื้อและเลือด แต่ยังมีเส้นเอ็นรัดอยู่

๖.๖ พิจารณากระดูก ที่ปราศจากเส้นเอ็นแล้วกระจัดกระจายไปในทิศต่างๆ

๖.๗ พิจารณากระดูก ที่มีสีขาว เปรียบด้วยสีสังข์

๖.๘ พิจารณากระดูก ที่ล่วงเลย ๑ ปีไปแล้ว กองอยู่เป็นหย่อมๆ

๖.๙ พิจารณากระดูก ที่ผุจนป่นแล้ว

หมวด ๒

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นเวทนาเนือง ๆ โดยมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกให้หมดสิ้นไป ซึ่งมีจ้อพิจารณา ๘ ข้อคือ

๑. สุขเวทนา ก็รู้ว่า เสวยสุขเวทนา

๒. ทุกขเวทนา ก็รู้ว่า เสวยทุกขเวทนา

๓. อทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่า เสวยเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข

๔. สามิสสุขเวทนา ก็รู้ว่า เสวยสุขเวทนาที่มีอามิส

๕. สามิสทุกขเวทนา ก็รู้ว่า เสวยทุกขเวทนาที่มีอามิส

๖. สามิสอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่า เสวยเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุขที่มีอามิส

๗. นิรามิสสุขเวทนา ก็รู้ว่า เสวยสุขเวทนา ที่ไม่มีอามิส

๘. นิรามิสทุกขเวทนา ก็รู้ว่า เสวยทุกขเวทนา ที่ไม่มีอามิส

๙. นิรามิสอทุกขมสุขเวทนา ก็รู้ว่า เสวยเวทนาที่ไม่ใช่ทุกข์ ไม่ใช่สุข ที่ไม่มีอามิส

คำว่า อามิส ในที่นี้หมายถึง กามคุณ ๕ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ

หมวด ๓

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นจิตในจิตเนืองๆ โดยมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌาและโทมนัสในโลกเสียให้ พินาศ ซึ่งมีข้อพิจารณา ๑๖ ข้อคือ

๑. สราคจิต เมื่อจิตมีราคะ ก็รู้ว่าจิตมีราคะ

๒.วีตราคจิต เมื่อจิตไม่มีราคะ ก็รู้ว่าจิตไม่มีราคะ

๓. สโทจิต เมื่อจิตมีโทสะ ก็รู้ว่าจิตมีโทสะ

๔. วีตโทสจิต เมื่อจิตไม่มีโทสะ ก็รู้ว่าจิตไม่มีโทสะ

๕. สโมหจิต เมื่อจิตมีโมหะ ก็รู้ว่าจิตมีโมหะ

๖. วีตโมหจิต เมื่อจิตไม่มีโมหะ ก็รู้ว่าจิตไม่มีโมหะ

๗. สังขิตตจิต เมื่อจิตหดหู่ ก็รู้ว่าจิตไม่มีโมหะ

๘. วิกขิตตจิต เมื่อจิตฟุ้งซ่าน ก็รู้ว่าจิตฟุ้งซ่าน

๙. มหัคคตจิต เมื่อจิตเป็นรูปาวจาร หรืออรูปาวจร ก็รู้ว่าจิตเป็นรูปาวจรหรืออรูปาวจร

๑๐. อมหัคคตจิต เมื่อจิตไม่เป็นรูปาวจร หรืออรูปาวจร ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นรูปาวจร หรืออรูปาวจร

๑๑. สอุตตรจิต เมื่อจิตเป็นกามาวจร ก็รู้ว่าจิตเป็นกามาวจร

๑๒. อนุตตรจิต เมื่อจิตเป็นกามาวจร ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นกามาวจร

๑๓. สมาทิตจิต เมื่อจิตเป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตเป็นสมาธิ

๑๔. อสมาทิตจิต เมื่อจิตไม่เป็นสมาธิ ก็รู้ว่าจิตไม่เป็นสมาธิ

๑๕. วิมุตตจิต เมื่อจิตพ้นจากกิเลส ก็รู้ว่าจิตพ้นจากกิเลส (พ้นโดยตทังคและวิกทัมภนวิมุตติ)

๑๖. อวิมุตตจิต เมื่อจิตไม่พ้นจากิเลส ก็รู้ว่าจิตไม่พ้นจากกิเลส

หมวดที่ ๔

ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาเห็นธรรมในธรรมเนือง ๆ โดยมีความเพียร มีสัมปชัญญะ มีสติ กำจัดอภิชฌา และโทมนัสในโลกเสียให้หมดสิ้นไป ซึ่งมีข้อพิจารณา ๕ ข้อ คือ

๑. นิวรณ์ ๕ คือ ข้อกำหนดพิจารณานิวรณ์ ซึ่งมี ๕ ประการ คือ

๑. กามฉันท์

๒. พยาบาท

๓. ถีนมิทธะ

๔. อุทธัจจกุกกุจจะ

๕. วิจิกิจฉา

๒. ขันธ์ ๕ คือ ข้อกำหนดพิจารณาขันธ์ ๕ ได้แก่ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ

๓. อายตนะ ๑๒ คือ ข้อกำหนดพิจารณาอายตนะ ๑๒ ได้แก่ อายตนะภายใน ๖ อายตนะภายนอก ๖

๔. โพชฌงค์ ๗ คือ ข้อกำหนดพิจารณาในโพชฌงค์ ๗ ประการ ได้แก่

๑. สติสัมโพชฌงค์

๒. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์

๓. วิริยสัมโพชฌงค์

๔. ปิตสัมโพชฌงค์

๕. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์

๖. สมาธิสัมโพชฌงค์

๗. อุเบกขาสัมโพชฌงค์

๕. อริยสัจ ๔ คือ ข้อกำหนดพิจารณาอริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค

มหาสติปัฏฐาน ๔ นี้ เป็นธรรมที่สำคัญยิ่งในพระพุทธศาสนา แต่โดยทั่วไปในปัจจุบันนี้คนเราหมกมุ่นอยู่แต่ในเรื่องของวัตถุ ซึ่งเป็นการเพิ่มพูนกิเลส และเป็นเหตุให้ปัญญาที่จะเห็นธรรมอ่อนลง ด้วยเหตุนี้เอง อาจารย์จึงเน้นเฉพาะหมวดที่ ๑ เท่านั้น คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ท่านแนะนำให้ผู้ปฏิบัติใหม่ใช้การกำหนดรูป (กาย) เฉพาะอิริยาบถ ๔ และอิริยาบถย่อย ซึ่งเป็นการง่ายต่อการปฏิบัติ เพราะรูปเป็นของหยาบ เห็นได้ง่าย กายนั้นเรียกว่ารูป ส่วนใจนั้นเรียกว่านาม นามคือธรรมชาติที่รู้อารมณ์ ส่วนรูปคือสิ่งที่ถูกรู้ ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความรู้สึกตัว อยู่ในรูปหรือนามที่เป็นอารมณ์ปัจจุบันอยู่ตลอดเวลา ดังที่อาจารย์แนบได้อธิบายไว้ในหนังสือการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน เล่มหนึ่ง ของท่านว่า

“ในเวลาที่นั่งอยู่ ก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดู

รูปนั่ง เวลานอนก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดู

รูปนอน เวลายืนก็ให้มีความรู้สึกตัวว่าดู

รูปยืน เวลาเดินก็ให้มีความรู้สึกว่าดู

รูปเดิน ผู้ปฏิบัติจะต้องมีความรู้สึกตัวอย่างนี้อยู่เสมอ”



“...อนึ่ง อาการหรือท่าทางของรูปแสดงการนั่งอย่างไร แสดงการยืนอย่างไร แสดงการนอนอย่างไร แสดงการเดินอย่างไร ก็ให้รู้ในอาการหรือท่าทางของรูปนั้น ๆ ไม่ใช่รู้ที่ตรงนั้นตรงนี้ เช่น รูปนั่ง ก็ไม่ใช่รู้ที่ตรงก้นหรือที่เขาว่า เป็นรูปนั่ง หรือไม่ใช่รู้ที่ท่อนบนหรือท่อนล่างของร่างกายว่าเป็นรูปนั่ง และไม่ใช่รู้ที่รูปถูกกับพื้น เพราะรูปที่ถูกกับพื้นกับรูปนั่งเป็นคนละรูปและคนละกาล ฉะนั้น การกำหนดอิริยาบถ นั่ง นอน ยืน เดิน ก็คือ กำหนดรู้ในอาการหรือท่าทางของรูปนั้น ว่าเป็นรูปอะไร เพราะรูปแต่ละรูปมีลักษณะท่าทางไม่เหมือนกัน เป็นคนละรูป ๆ ไป การกำหนดอย่างนี้เป็น กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน”

พระอาจารย์อัมพร สาริมาน (อนลโส) เป็นพระสอนวิปัสสนาที่สำนักปฏิบัติธรรม บุณย์กัญจนารามมูลนิธิ บวชมา ๓๐ พรรษา เดิมท่านทำงานอยู่การรถไฟแห่งประเทศไทย มีครอบครัวแล้ว และเกิดเบื่อหน่ายทางโลก จึงตัดสินใจบวช เหตุที่สนใจการปฏิบัติสมาธิแนวอาจารย์แนบก็เพราะยังไม่เคยพบแนวทางการสอนสมาธิแบบอาจารย์แนบมาก่อน ต่อข้อถามว่า พระอาจารย์ของอาจารย์แนบก็เป็นผู้สอนสมาธิสายวัดมหาธาตุฯ เหตุใดอาจารย์แนบจึงไม่สอนสมาธิแบบยุบหนอ – พองหนอ ท่านได้อธิบายว่า อาจารย์แนบได้เคยปฏิบัติ ยุบหนอ – พองหนอ ท่านได้อธิบายว่า อาจารย์ได้เคยปฏิบัติ ยุบหนอ – พองหนอ มาแล้ว หรือที่อาจารย์แนบเรียกว่า “พองยุบ” ซึ่งก็เป็นการอาศัยลมหายใจเข้าออก เช่นเดียวกับการปฏิบัติสายอานาปานัสสติเหมือนกัน แต่แทนที่จะดูลมหายใจกระทบที่ริมฝีปากหรือที่งอยจมูก ก็มากำหนดลมที่ท้องพอง ท้องยุบ ซึ่งอันที่จริงแล้ว อาจารย์แนบเห็นว่า วิธีพองยุบไม่มีในคำสอนของพระพุทธเจ้า ในคำสอนไม่มีวิธีให้ทำอย่างนี้เลย


ส่วนวิธีอานาปานัสสตินั้น ในธรรมศึกษาบอกว่าให้รู้ในกองลมทั้งปวง แล้วให้รู้เบื้องต้นของลมหายใจเข้า ให้รู้เบื้องกลางของลมหายใจเข้า ให้รู้เบื้องปลายของลมหายใจเข้า แต่ไม่ได้อธิบายให้รู้อย่างไร ทำไมจึงให้รู้ และจะรู้ได้เพราะอะไร ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคกล่าวไว้ว่า ให้สังเกตธรรมชาติของลมหายใจเรา ถ้าจิตละเอียดเข้า ละเอียดเข้า ลมหายใจจะแผ่วเบาเข้า เบาเข้า จนกระทั่งไม่รู้ตัวว่าหายใจหรือเปล่า ละเอียดมากเข้า ๆ จนทำให้ไม่รู้ว่าลมหายใจเข้า หรือลมหายใจออก ก็ให้ใช้ความสังเกต มิฉะนั้นจะไม่รู้สึกตัวว่า ตัวหายใจหรือเปล่า

เพราะฉะนั้น วิธีที่ดีที่สุด เพื่อให้บรรลุสัจธรรม ในทัศนะของอาจารย์แนบคือ การเจริญสติปัฏฐาน ก็เพื่อให้วิปัสสนาปัญญาเกิด และที่สุดของวิปัสสนาก็คือการรู้แจ้งอริยสัจ ๔ จึงจะได้พระนิพพานอันเป็นผลให้ผู้ปฏิบัติถึงความพ้นทุกข์ทั้งปวง

นายเชื้อ จันทน์ตรูผล อายุ ๘๙ ปี เดิมเคยบวชเป็นพระ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๕ ท่านได้ฟังการบรรยายของอาจารย์แนบที่พุทธสมาคม หน้าวัดบวรนิเวศวิหาร รู้สึกว่าอาจารย์แนบ มีความรู้จริง เกิดความเลื่อมใส กระทั่งเมื่ออาจารย์แนบจัดตั้งสำนักปฏิบัติธรรมบุณย์กัญจนารามมูลนิธิ ท่านเป็นผู้หนึ่งที่บุกเบิกสถานปฏิบัติธรรมนี้ด้วย

ท่านเห็นด้วยว่าการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแนวอาจารย์แนบนี้เป็นไปโดยถูกต้องตามหลักคำสอนในสติปัฏฐาน ซึ่งเป็นธรรมเบื้องแรกของโพธิปักขิยธรรม ๓๗ ประการ อันเป็นธรรมเครื่องตรัสรู้ ในขั้นแรกของการเจริญสติปัฏฐาน หรือการเจริญวิปัสสนา ก็คือต้องทำลาย สิ่งที่ปิดบัง ไตรลักษณ์นั้นคือ สันสติ เพราะสันสติปิดบัง จึงไม่เห็นอนิจจัง เพราะการที่ไม่พิจารณาอิริยาบถ จึงปิดบังทุกข์ เพราะฆนสัญญาปิดบังไม่ให้เห็นอนัตตา และการทำลายสิ่งที่ปิดบัง ก็ไม่มีวิธีอื่นใด นอกเหนือไปจากการปฏิบัติตามคำสอน ในสติปัฏฐาน

ในปัจจุบัน สำนักปฏิบัติธรรมบุณย์กัญจนารามมูลนิธิ มีพระประจำพรรษาอยู่ประมาณ ๑๕ รูป ในระยะเข้าพรรษา ถ้าเป็นเวลาปกติมีพระจำพรรษาอยู่ประมาณ ๗ – ๘ รูป มีแม่ชีประมาณ ๑๕ คน และมีชาวต่างประเทศมาฝึกปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเกือบ ๓๐ ประเทศ
++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++++

๕. การปฏิบัติสมาธิแนว ดร.สิริ กรินชัย


ยังมีการสอนการทำสมาธิในแนวประยุกต์ที่กำลังได้รับความนิยมกันมาก อีกแห่งหนึ่ง คือ การสอนโดยนางสิริ กรินชัย หรือที่ผู้นิยม เรียกท่านว่า “คุณแม่สิริ กรินชัย” หรือ “ดร.สิริ กรินชัย” เนื่องจากท่านได้รับพระราชทานปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาจิตวิทยา จากมหาวิทยาลัยรามคำแหง เมื่อวันที่ ๘ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑



ความเป็นมาและประวัติของ ดร.สิริ กรินชัย

ดร.สิริ กรินชัย มีนามสกุลเดิมว่า “พจนสิทธิ์” เกิดเมื่อวันที่ ๒๒ สิงหาคม พ.ศ. ๒๔๖๐ ที่จังหวัดนครราชสีมา หรือชาวโคราชโดยกำเนิด ท่านเป็นบุตรสาวคนโตของคุณหลวงสิทธิโยธา (สังวาลย์ พจนสิทธิ์) กับนางสาคร มีพี่น้องที่ยังมีชีวิตอยู่ ๖ คน เมื่ออายุ ๑๙ ปี ได้ทำการสมรสกับ นายไชย กรินชัย มีบุตรธิดา รวม ๔ คน คือ นางกาบแก้ว ไชยะบุรินทร์ นายวีระเกียรติ กรินชัย นายพันธ์เทพ กรินชัย (ถึงแก่กรรม) และ นางสาวพรทิพย์ กรินชัย

ดร.สิริ กรินชัย เป็นผู้สนใจใฝ่ธรรมมะมาตั้งแต่เยาว์ ได้ศึกษาและปฏิบัติธรรมกับครูอาจารย์ ๔ ท่านคือ คุณยายชีพัฒน์ ดั่นประดิษฐ์ แม่ชีแดง พจนสิทธิ์ พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ์ ป.ธ. ๙ อดีตรองเจ้าอาวาสวัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฎิ์ เจ้าคณะภาค ๙ หัวหน้าพระธรรมธาตุ สายที่ ๖ พระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ) และพระครูภาวนาวิสิฏ เจ้าอาวาสวัดแสงธรรม เวฬุราราม จังหวัดนครราชสีมา


ในการศึกษาและปฏิบัติธรรมในช่วงแรก ๆ นั้น ดร.สิริ กรินชัย มีความคิดเพียงการปฏิบัติเพื่อประโยชน์ของตนเองเท่านั้น แต่ต่อมาท่านเกิดมีกุศลจิต จึงได้อบรมสั่งสอนผู้อื่น โดยไม่เลือกชั้นวรรณะ อาชีพ ศาสนา โดยการรับผู้ต้องการฝึกปฏิบัติธรรมซึ่งท่านเรียกว่า “ลูกโยคี” เข้าวิปัสสนากรรมฐานที่บ้านกรินชัย จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งเป็นบ้านตึก ๒ ชั้น ท่านเอาใจใส่ ดูแล อบรม สั่งสอนผู้ปฏิบัติธรรมเหล่านี้ ด้วยตนเองตลอดระยะเวลา ๗ วัน ๗ คืน โดยไม่เรียกร้องค่าใช้จ่ายใด ๆ ทั้งสิ้น

ต่อมาท่านได้รับเชิญไปสอนวิปัสสนากรรมฐานตามบ้านลูกโยคี ที่เคยปฏิบัติกับท่านแล้ว ตามมหาวิทยาลัย วิทยาลัย ตามวัด และสถานที่อื่น ๆ อีกมาก ทั้งหน่วยงานภาครัฐและเอกชน ทั้งในประเทศและในสหรัฐอเมริกา มีผู้เข้าฝึกปฏิบัติครั้งละประมาณ ๑๐๐ – ๕๐๐ คน ผู้เข้าฝึกมีอายุตั้งแต่ ๖ ปี จนถึง ๙๑ ปี มีตั้งแต่ความรู้อ่านไม่ออกเขียนไม่ได้ จนกระทั่งปริญญาเอก มีทั้งยากจนถึงเศรษฐีและระดับราชวงศ์

แนวการสอนสมาธิของสำนัก ดร.สิริ กรินชัย

แนวทางการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานที่ ดร.สิริ กรินชัย ใช้คือ การสอนที่เน้นการปฏิบัติตามแนวสติปัฏฐาน ๔ เพื่อพัฒนาจิตของผู้ปฏิบัติเกิดปัญญา (การเห็นความจริง) และเกิดความสันติสุขแก่ชีวิต ครอบครัว และสังคม วิธีการที่ ดร.สิริ กรินชัย ให้ลูกโยคีปฏิบัติ คือ ใช้การเดินจงกรม นั่งสมาธิ กำหนดอิริยาบถใหญ่ และย่อย โดยใช้คำบริกรรมภาวนา พอง ยุบ และหนอ เน้นการเคลื่อนไหวที่ช้า ๆ เพื่อให้สติมีการเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดเวลาของการปฏิบัติ นอกจากนั้นการแสดงธรรมจะมีการบรรยายธรรม ในหัวข้อต่าง ๆ เพื่อเพิ่มพูนความเข้าใจ และสร้างศรัทธาในการปฏิบัติธรรม ในช่วงการปฏิบัติธรรม จะมีการสอบอารมณ์ เพื่อสำรวจความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมของผู้ปฏิบัติ ๒ ครั้งต่อ ๑ หลักสูตร

โดยปกติกำหนดการฝึกอบรมประจำเป็นเวลา ๖ วัน คือ

๐๔.๐๐ น. ตื่นนอน ทำสรีระกิจ

๐๔.๓๐ น. ฝึกปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ

๐๕.๓๐ น. สวดมนต์ ฟังธรรม

๐๗.๐๐ น. ทานอาหารเช้า

๐๘.๐๐ น. ฝึกปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ

๑๒.๐๐ น. ทานอาหารกลางวัน

๑๓.๐๐ น. ฝึกปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ

๑๖.๓๐ น. รับประทานอาหารเย็น

๑๗.๔๕ น. สวดมนต์เย็น

๑๘.๓๐ น. ฟังธรรมบรรยาย

๑๙.๓๐ น. ฝึกปฏิบัติ เดินจงกรม นั่งสมาธิ

๒๑.๐๐ น. พักผ่อน

ด้วยเหตุนี้หากเปรียบเทียบแนวทางการปฏิบัติสมาธิของ ดร.สิริกรินชัย และอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ ซึ่งต่างก็เน้นการเจริญสติปัฏฐาน ๔ ทั้งสองสำนัก ก็จะพบว่า แนวทางการปฏิบัติสมาธิของ ดร.สิริ กรินชัย นั้น เน้นสติปัฏฐาน ๔ ทั้ง ๔ หมวด ในขณะที่แนวทางการสอนสมาธิของอาจารย์แนบ มหานีรานนท์ นั้น เน้น เฉพาะหมวดที่ ๑ คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณาอิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน และอิริยาบถ พักผ่อนเท่านั้น





ผลงานการสอนของ ดร.สิริ กรินชัย

ในปัจจุบันนี้มีผู้ผ่านการอบรมจาก ดร.สิริ กรินชัย กว่าแสนคน ซึ่งผู้ที่ได้เข้ามาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานกับท่านแล้ว และตั้งใจปฏิบัติจริงมักได้รับผลดีต่าง ๆ เช่น เปลี่ยนพฤติกรรมไปในทางที่ดีขึ้น โรคภัยบรรเทาลงหรือหายไป จิตใจเยือกเย็นลง สติปัญญาดีขึ้น ผิวพรรณดีขึ้น ประสบความสำเร็จในชีวิตการงาน

ผลงานการสอนวิปัสสนากรรมฐานของท่านได้รับการยกย่องเชิดชูจากบุคคลและสถาบันต่าง ๆ ได้แก่

๑. ได้รับพระราชทานรางวัลบุคคลผู้ทำคุณประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนา ด้านส่งเสริม และชักชวนให้คนมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง คัดเลือกโดยคณะกรรมการอำนวยการสัปดาห์ส่งเสริมพระพุทธศาสนา เนื่องในวันวิสาขบูชา จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๒๖ พฤษภาคม ๒๕๒๘ ณ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์ ท่าพระจันทร์ กทม.

๒. ได้รับโล่เกียรติคุณจากพระเทพโสภณ เจ้าอาวาสวัดไทยในนครลอสแองเจลิส สหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ ๔ กันยายน พ.ศ. ๒๕๓๐ ในฐานะผู้บำเพ็ญประโยชน์ช่วยเผยแผ่พระพุทธศาสนาด้วยการสอนปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานให้แก่คนไทยและชาวต่างประเทศ ณ วัดไทยในนคร ลอสแองเจลิส โดยติดต่อกันเป็นเวลา ๔ ปี และในรัฐอื่น ๆ ของประเทศสหรัฐอเมริกา รวมเวลา ๘ ปี

๓. ได้รับพระราชทานปริญญาปรัชญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาวิชาจิตวิทยา โดยมหาวิทยาลัยรามคำแหง จากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เมื่อวันที่ ๙ มกราคม พ.ศ. ๒๕๓๑ ณ อาคารใหม่ส่วนอัมพร

๔. ได้รับโล่เกียรติคุณนักสังคมสงเคราะห์ดีเด่น ประจำปี ๒๕๓๐ ประเภทอาสาสมัคร ในสาขาพัฒนาจิตใจ โดยมูลนิธิศาสตราจารย์ปกรณ์ อังศุสิงห์ จาก ฯพณฯ ท่านศาสตราจารย์สัญญา ธรรมศักดิ์ ประธานองคมนตรี เมื่อวันที่ ๑๐ กุมภาพันธ์ พ.ศ. ๒๕๓๑ ณ หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

๕. ได้รับพระราชทานรางวัล ประกาศเกียรติคุณ เป็นแม่ดีเด่นแห่งชาติ ปี พ.ศ. ๒๕๔๐ จากพระวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าโสมสวลี พระวรราชาทินัดดามาตุ เสนอโดยจังหวัดนครราชสีมา และสภาสังคมสงเคราะห์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ จตุรถาภรณ์มงกุฏไทย เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๘

๖. ได้รับโล่และประกาศเกียรติคุณเป็นสตรีตัวอย่างแห่งปี พ.ศ. ๒๕๔๑ สาขาด้านการส่งเสริมและเผยแพร่พระพุทธศาสนาของมูลนิธิเพื่อสังคมไทย

๗. ได้รับการประกาศเกียรติคุณเชิดชูเกียรติเป็น “คนดีศรีแผ่นดิน” จากสมาคมสื่อมวลชนส่วนภูมิภาคประเทศไทย เมื่อวันที่ ๙ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๓

๘. ได้รับรางวัล “OUTSTANDING WOMAN IN BUDDHISM” หรือ “สตรีผู้โดดเด่นแห่งพุทธศาสนาโลก” จากองค์การพุทธศาสนิกสัมพันธโลก เมื่อวันที่ ๖ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

๙. ได้รับมอบโล่ประกาศเกียรติคุณ “ผู้สูงอายุตัวอย่างประจำปี ๒๕๔๔” ของสมาคมคลังปัญญาอาวุโสแห่งประเทศไทยเมื่อวันที่ ๓๐ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๕

๑๐. ได้รับโล่เกียรติคุณยกย่องในฐานะธรรมาจารย์และ ปูชนียบุคคลผู้ควรแก่การเคารพบูชาอย่างยิ่ง จากยุวพุทธิกสมาคมแห่งประเทศไทยฯ

๑๑. ได้รับรางวัลกิตติคุณสัมพันธ์ “สังข์เงิน” ของสมาคมนักประชาสัมพันธ์แห่งประเทศไทย เมื่อวันศุกร์ที่ ๑๒ กรกฎาคม พ.ศ. ๒๕๔๕ ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล ประเภทบุคคลภาคเอกชน

๑๒. ได้รับโล่ประกาศเกียรติคุณ “โล่พุทธคุณูปการกาญจนเกียรติคุณ” จากคณะกรรมาธิการการศาสนา ศิลปะ และวัฒนธรรม สภาผู้แทนราษฎร เมื่อวันที่ ๒๒ เมษายน พ.ศ. ๒๕๕๒

ท่านได้รับความสนใจสัมภาษณ์จากสื่อมวลชลทุกแขนง ทั้งหนังสือพิมพ์ วิทยุ โทรทัศน์ เผยแพร่เกียรติคุณการเผยแพร่ธรรมอยู่เสมอ

ดร. สิริ กรินชัย ได้ถึงแก่กรรม เมื่อวันศุกร์ที่ ๒ ธันวาคม พ.ศ. ๒๕๕๔ สิริอายุได้ ๙๔ ปี ๓ เดือน ๙ วัน

ที่ได้กล่าวมาทั้งหมดนี้เป็นแนวการสอนและปฏิบัติสมาธิสายประยุกต์ของศูนย์และสำนักปฏิบัติธรรมต่าง ๆ ที่มีชื่อเสียงรู้จักกันดีทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละแห่งมีแนวทางต่างกันไป แล้วแต่ “จริต” ของผู้ฝึกปฏิบัติ และผู้ปฏิบัติส่วนใหญ่ ล้วนแต่เป็นผู้ที่เคยได้รับการฝึกสมาธิมากกว่า ๑ แห่งทั้งสิ้น จนกระทั่งพบสำนักปฏิบัติที่เหมาะกับ “จริต” ของตน


------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรณนานุกรม


วริยา ชินวรรโณ และคณะ. (2543). วิวัฒนาการการตีความคำสอนเรื่องสมาธิ ในพระพุทธศาสนาฝ่าย

เถรวาทในประเทศไทย. พิมพ์ครั้งที่ 1. กรุงเทพฯ : จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.




ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น