วันศุกร์ที่ 10 มกราคม พ.ศ. 2557

นิกายอวตังสกะ



นิกายอวตังสกะ
ความหมาย

คําว่า อวตังสกะ แปลว่า พวงดอกไม้ พวงมาลัย เป็นชื่อของพระสูตรหลักที่นิกายนี้ยอมรับ คือ อวตังสกสูตร จึงตั้งชื่อนิกายตามชื่อพระสูตรนี้ นิกายนี้เชื่อว่า พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรนี้ภายหลังจากการตรัสรู้ใหม่ แต่เนื่องจากพระสูตรนี้ลึกซึ้ง และยากแก่การเข้าใจ คนที่ได้ฟังไม่สามารถจะเข้าใจทันที พระพุทธองค์จึงทรงเปลี่ยนวิธีใหม่ โดยแสดงพระสูตรแบบหินยาน


ประวัติการก่อตั้งนิกาย

พุทธศาสนานิกายอวตังสกะ มีชื่อในภาษาจีนว่า ฮัว-เหยน (Hua Yen) เป็นพุทธศาสนานิกายที่ก่อตั้งขึ้นในประเทศจีนในราวคริสต์ศตวรรษที่ 7-8 ซึ่งตรงกับยุคสมัยของราชวงศ์ถัง และเป็นยุคทองของพุทธศาสนาในประเทศจีน คณาจารย์ที่สําคัญแห่งนิกายอวตังสกะ ดังต่อไปนี้ คือ

1) ท่านฟา-ชุน

ท่านฟา-ชุน (Fa-shun) (พ.ศ. 1100-1183) เรียกกันอีกชื่อหนึ่งว่า ตู-ชุน (Tu-shun) ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ก่อตั้งนิกายอวตังสกะเป็นครั้งแรก เมื่ออายุได้ 18 ปี ได้ออกบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ท่านมีชื่อเสียงในการรักษาโรคและสั่งสอนธรรมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย จนได้รับการสรรเสริญว่าเป็น “พระโพธิสัตว์ตุนฮวง”(Tun-huang Bodhisattva)

2) ท่านชิ-เยน

ท่านชิ-เยน (Chih-yen) (พ.ศ. 1145-1211) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ยุน-หัว (Yun-hua) เหตุที่ได้ชื่อนี้เพราะท่านได้สาธยาย “อวตังสกสูตร” แก่สานุศิษย์ที่วัดยุน-หัว (Yun-hua Temple) เป็นประจํา นับเป็นอาจารย์แห่งนิกายอวตังสกะองค์ที่สองสืบต่อมาจากท่านฟา-ชุน


3) ท่านฟา-ฉ่าง

ท่านฟา-ฉ่าง (Fa-tsang) (พ.ศ. 1186-1255) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า เสียน-โจว (Haien-shou) ท่านเป็นสานุศิษย์คนสําคัญของท่านชิ-เยน ท่านมีบทบาทสําคัญและได้รับการกล่าวถึงมากที่สุดในนิกายนี้เพราะท่านเป็นผู้วางระบบคําสอนในนิกายอวตังสกะให้เป็นระบบระเบียบเรียบร้อย ท่านฟาฉ่างพํานักอยู่ในวัดที่พระนางวูเซอเทียนหรือพระนางบูเช็กเทียนซึ่งเป็นจักรพรรดินีองค์แรกของประเทศจีนทรงสร้าง โดยท่านฟาฉ่างมีหน้าที่ถวายคําสอนในพระสูตรต่างๆ แก่พระนาง

4) ท่านเชง-กวน

ท่านเชง-กวน (Ch’eng-kuan) (พ.ศ. 1281-1381) เรียกอีกชื่อหนึ่งว่า ชิง-เหลียง (Ch’ing-liang) ท่านศึกษาคัมภีร์ทางพุทธศาสนามาตั้งแต่เด็ก ได้บวชเณรตั้งแต่อายุ 11 ปี ครั้นอายุครบ 20 ปีก็ได้บวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนา ท่านจาริกไปทั่วภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคเหนือของประเทศจีน ได้เยี่ยมเยียนศูนย์กลางพระพุทธศาสนาหลายแห่งและศึกษาคัมภีร์ต่างๆ จากอาจารย์หลายท่าน แต่ความสนใจ หลักของท่านอยู่ที่ อวตังสกสูตร ท่านมีผลงานที่เป็นอรรถาธิบายเกี่ยวกับ อวตฺสกสูตร มีมากกว่า 400 บท งานเขียนและคําสั่งสอนของท่านมีอิทธิพลต่อสานุศิษย์อย่างใหญ่หลวง คนรุ่นหลังสรรเสริญท่านว่าเป็น พระโพธิสัตว์ฮัว-เหยน

5) ท่านซุง-มี่

ท่านซุง-มี่ (Tsung-mi) (พ.ศ. 1323-1384) อาจารย์แห่งนิกายอวตังสกะองค์ที่ห้า แรกเริ่มทีเดียวนั้นท่านสนใจศึกษาคัมภีร์ของลัทธิขงจื้อ จนกระทั่งในปี พ.ศ. 1350 เดิมทีท่านออกบวชเป็นพระภิกษุและปฏิบัติตามพุทธศาสนานิกายฌาน (เชน) ต่อมาภายหลังท่านได้อ่านอรรถาธิบายของเชง-กวนเกี่ยวกับอวตังสกสูตร ท่านจึงได้หันมาปฏิบัติตามแนวทางของนิกาย อวตังสกะ และมอบตัวเป็นสานุศิษย์ของเชง-กวน ภายหลังจากซุง-มี่มรณภาพไม่นาน ก็เกิดการกวาดล้างพุทธศาสนาอย่างขนานใหญ่ขึ้นในแผ่นดินจีน และติดตามด้วยความสับสนวุ่นวายทางการเมือง ภายใต้สภาวการณ์เช่นนี้ไม่มีอาจารย์แห่งนิกายอวตังสกะเกิดขึ้นอีก นิกายนี้จึงค่อยๆ เสื่อมลงเป็นลําดับ



หลักคำสอนสำคัญ


นิกายอวตังสกะ มีหลักคําสอนที่สําคัญ ดังต่อไปนี้

1) แนวคิดเรื่องความจริงแท้สูงสุด

นิกายอวตังสกะมีแนวความคิดเช่นเดียวกับนิกายโยคาจารซึ่งมีทัศนะว่า สรรพสัตว์มีพุทธภาวะหรือพุทธจิตอันเดียวกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ดํารงอยู่ตลอดเวลา ไม่มีการเปลี่ยนแปลง พุทธจิตนี้เป็นบ่อเกิดของสิ่งทั้งหลายที่ปรากฏทั้งฝ่ายดีและชั่ว สรรพสิ่งมีแหล่งกําเนิดอันเดียวกัน คือ พุทธจิตหรือจิตหนึ่งเดียวนี้ การที่จิตหนึ่งเดียวนี้เป็นที่มาของสิ่งทั้งหลาย เป็นพุทธภาวะที่แผ่ไปอยู่ในปรากฏการณ์ทั้งหลาย เป็นความจริงเพียงหนึ่งเดียวเท่านั้น จึงเรียกว่า เอกสัตย์ธรรมธาตุ

2) แนวคิดเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างความจริงแท้สูงสุดกับสิ่งที่ปรากฏ

เพื่อแสดงความสัมพันธ์ระหว่างสิ่งที่เป็นความจริงสูงสุดกับปรากฏการณ์ทั้งหลายคณาจารย์ของนิกายนี้ จึงแบ่งธรรมชาติทั้งหลายที่มีอยู่ออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ

(1) ความจริงสูงสุด หรือ หลี่ (Li) คือ คุณสมบัติที่ปกแผ่ไปทั่วสากลจักรวาล เป็นความจริงของสิ่งทั้งหมด

(2) ปรากฏการณ์ หรือ ชิ (Shih) คือรูปแบบที่ปรากฏออกมาทางวัตถุ อยู่ภายใต้ขอบเขตของเวลาและสถานที่ธรรมทั้งสองส่วนนี้ มีความสัมพันธ์กันในลักษณะ 2 ประการ ดังต่อไปนี้ (1) ความจริงสูงสุดและปรากฏการณ์เป็นสิ่งที่กลมกลืนกัน ไม่อาจแบ่งแยกกันได้ หมายความว่า ในสิ่งที่เป็นปรากฏการณ์หรือสิ่งที่ปรากฏในโลกทั้งหลายนั้นมีคุณสมบัติของความจริงสูงสุดอยู่ด้วยเสมอ เปรียบเหมือนทองกับกําไลทอง กําไลทองจะมีอยู่โดยปราศจากธาตุทองไม่ได้ และธาตุทองก็ไม่ได้ดํารงอยู่ต่างหากจากกําไลทอง เมื่อมีกําไลทองย่อมมีธาตุทองเสมอ หรือเปรียบเหมือนสิงห์โตทองคําไม่อาจแยกจากทองคําได้เลย ทองคําเปรียบเหมือนความจริงสูงสุด สิงโตเปรียบเหมือนปรากฏการณ์ ความจริงสูงสุดนั้นไม่มีรูปร่างลักษณะ แต่มันปรากฏออกมาในรูปของปรากฏการณ์ทั้งหลาย

(2) ปรากฏการณ์แต่ละอย่างที่เห็นแตกต่างกัน โดยลักษณะที่แท้จริงย่อมมีเอกภาพเดียวกันทั้งนั้น หมายความว่า ปรากฏการณ์แต่ละอย่างไม่ว่าจะมีรูปร่างลักษณะแตกต่างกันเพียงใดก็ตามย่อมมีความจริงสูงสุดอยู่ด้วยทั้งนั้น และความจริงสูงสุดนี้ก็คือเอกภาพของปรากฏการณ์ ทั้งหมด โดยมีคําอธิบายโดยการเปรียบเทียบดังต่อไปนี้

เปรียบเหมือนเราเห็นกําไลทอง แหวนทอง สร้อยทอง เป็นต้น แม้จะมีรูปร่าง แตกต่างกัน แต่ธาตุทองย่อมไม่ต่างกัน ธาตุทองก็คือเอกภาพของกําไลทอง แหวนทอง สร้อยทอง ตุ้มหูทองและสิ่งที่ทําด้วยทองทั้งหมดนั่นเอง

เปรียบเหมือนอวัยวะทั้งหมดของสิงโตทองคํา ย่อมจะมีคุณสมบัติของทองคําเหมือนกันหมด ดังนั้น เมื่อเราชี้ไปที่อวัยวะส่วนใดส่วนหนึ่งของสิงห์โตทองคํา มันย่อมจะรวมเอาคุณสมบัติของอวัยวะส่วนอื่นๆ ไว้ด้วย

เปรียบเหมือนพระพุทธรูปในกระจก เมื่อนํากระจกมาสิบแผ่น ให้กระจกแปดแผ่นหันหน้าเข้าหากันเป็นรูปแปดเหลี่ยม แผ่นหนึ่งอยู่บนและอีกแผ่นหนึ่งอยู่ล่าง แล้วนําพระพุทธรูปไปตั้งอยู่ตรงกลาง พวกสานุศิษย์ไม่เพียงแต่เห็นกระจกสะท้อนภาพจากพระพุทธรูปเท่านั้น หากกระจกยังสะท้อนภาพจากภาพสะท้อนในกระจกอื่นๆ ด้วย และกระจกอื่นๆ ต่างก็สะท้อนภาพสะท้อนซึ่งกันและกัน ทําให้เห็นพระพุทธรูปมากมาย เหลือที่นับได้ พระพุทธรูปที่ตั้งอยู่ตรงกลางเปรียบเหมือนความจริงสูงสุด ส่วนภาพสะท้อนในกระจกเปรียบเหมือนปรากฏการณ์ ปรากฏการณ์ย่อมสามารถสร้างปรากฏการณ์ขึ้นมาใหม่ได้ แต่ปรากฏการณ์ทั้งหมดย่อมมีคุณสมบัติของความจริงสูงสุดอยู่ด้วยอย่างครบถ้วนเสมอ ดังนั้น ปรากฏการณ์หนึ่งย่อมรวมเอาคุณสมบัติของ ปรากฏการณ์อื่นทั้งหมดไว้ด้วย


เปรียบเหมือนสะเก็ดทองชิ้นเล็กๆ ก็รวมเอาคุณสมบัติของความเป็นทองไว้ทั้งหมด ดังนั้น เมื่อไปพบทองที่ไหน ก็ไม่มีคุณสมบัติอะไรมากไปกว่าคุณสมบัติของสะเก็ดทองชิ้นเล็กๆ นั้น ฉะนั้น ไม่ว่าเราจะยกธรรมสิ่งไหนขึ้น ธรรมสิ่งนั้นย่อมรวมธรรมทั้งหมดลงไปด้วย ไม่ว่าเราจะยกปรากฏการณ์สิ่งไหนขึ้น ปรากฏการณ์สิ่งนั้นก็ย่อมรวมปรากฏการณ์ทั้งหมดลงไปด้วย แม้เพียงขนสักเส้นหนึ่ง ทรายสักเม็ดหนึ่ง ก็รวมเอาสิ่งทั้งหลายอยู่ภายในด้วย

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น